“พระมหาสัญญา” ชวนชาวพุทธกระทำ “อามิสบูชา-ปฏิบัติบูชา” ช่วงวันอาสาฬฯ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 15 กรกฎาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b8b2e0b8aae0b8b1e0b88de0b88de0b8b2-e0b88ae0b8a7e0b899e0b88ae0b8b2e0b8a7e0b89ee0b8b8e0b897e0b898.jpg
    ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ แนะชาวพุทธกระทำ “อามิสบูชา-ปฏิบัติบูชา” เนื่องในวันอาสาฬหบูชา บูชาทั้งสิ่งของ และประพฤติปฏิบัติธรรม

    วันนี้ (15 ก.ค.) พระมหาสัญญา ขนฺติธมฺโม ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กล่าวถึงการปฏิบัติบูชาในช่วงวันอาสาฬหบูชา ซึ่งตรงกับวันที่ 16 ก.ค.นี้ ว่า วันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมธรรมเทศนา คือ ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ โดยมีพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้ดวงตาเห็นธรรม จึงขออุปสมบทเป็นพระภิกษุองค์แรก ทำให้มีพระรัตนตรัยครบ 3 ดวง คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ สำหรับหลักธรรมที่ทรงแสดงนั้น คือ การแสดงหลักปฏิบัติที่สุดโต่ง 2 อย่าง คือ การหมกมุ่นในกามคุณ รูปรสกลิ่นเสียงสัมผัส หรือวัตถุนิยม และการบำเพ็ญทางจิตที่หนักเกินไป หรือจิตนิยม ทั้ง 2 ทางไม่เหมาะที่จะปฏิบัติ จึงต้องมีทางสายกลาง

    พระมหาสัญญา ขนฺติธมฺโม กล่าวว่า เมื่อวันสำคัญทางศาสนาพุทธเวียนมาถึง ชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไร ในทางพระพุทธศาสนากล่าวถึงการบูชา 2 อย่าง คือ 1.อามิสบูชา คือ การบูชาด้วยสิ่งของ และ 2.ปฏิบัติบูชา คือ การประพฤติปฏิบัติธรรม ซึ่งการปฏิบัติบูชาจะมีอานิสงส์มาก แต่สำหรับพุทธบริษัทต้องทำให้ครบทั้งอามิสบูชาและปฏิบัติบูชา โดยอามิสบูชา หรือการบูชาด้วยสิ่งของ เช่น การเวียนเทียน การถวายดอกไม้เป็นเครื่องสักการะบูชา อย่างที่มีการกล่าวเอาไว้ว่า ธูป 3 ดอก เป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้า คือ พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ เทียน 2 เล่ม เป็นตัวแทนของพระธรรมและพระวินัย ส่วนดอกไม้ เป็นตัวแทนของพระสงฆ์ ซึ่งถือว่ามาจากตระกูลต่างๆ กันมีอัธยาศัยต่างกัน แต่เมื่อมาอยู่ในพระธรรมวินัยเดียวกัน เปรียบเสมือนดอกไม้ที่มารวมอยู่ในแจกันเดียว หรือพวงดอกไม้เดียวกัน ก็จะมีความสวยงดงาม
    8b2e0b8aae0b8b1e0b88de0b88de0b8b2-e0b88ae0b8a7e0b899e0b88ae0b8b2e0b8a7e0b89ee0b8b8e0b897e0b898-1.jpg
    พระมหาสัญญา ขนฺติธมฺโม กล่าวว่า สำหรับประวัติของการถวายดอกไม้ คือ เรื่องราวของนายสุมนมาลาการ นายช่างเก็บดอกไม้แก่พระเจ้าพิมพิสาร โดยจะเก็บดอกมะลิไปถวายพระเจ้าพิมพิสารเป็นประจำทุกวัน วันละ 8 ทะนาน เพื่อรับเงิน 8 กหาปณะทุกวัน แต่วันหนึ่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จออกบิณฑบาตรพร้อมพระสงฆ์ 500 รูป ในสุมนมาลาการ เห็นแล้วเกิดศรัทธา เลื่อมใส แต่ไม่มีอาหารถวาย มีเพียงดอกไม้ จึงนำดอกไม้มาบูชา โดยนำดอกไม้ 2 กำมือโปรยไปเบื้องบนพระเศียรพระพุทธเจ้า อีก 2 กำมือซัดไปทางขวา ทางซ้าย และเบื้องหลังพระพุทธเจ้า กลายเป็นเพดานและกำแพงลอยล้อมพระองค์ดูสวยสดงดงาม ทำให้นายสุมนมาลาการเลื่อมใสอย่างมาก แต่เมื่อกลับไปที่บ้านเล่าให้ภรรยาฟัง ภรรยาก็เกรงว่าจะได้รับอาญา จึงไปเล่าเรื่องให้พระเจ้าพิมพิสารฟัง และบอกว่าตนเองจะขอหย่าขาดจากนายสุมนมาลาการ

    พระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งนับถือพระพุทธเจ้าอยู่แล้ว จึงแกล้งทำเป็นโกรธ จากนั้นเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จและถวายภัตตาหาร พระพุทธองค์เพื่อประกาศเกียรติคุณของนายสุมนมาลาการให้ประชาชนทราบ จึงประทับที่พระลานหลวงไม่เสด็จเข้าไปในพระราชวัง พระราชาได้ถวายภัตตาหารแก่พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์ ตามส่งพระพุทธเจ้าเสด็จกลับแล้ว จึงมีรับสั่งให้นายสุมนมาลาการเข้าเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารฟังเรื่องราวแล้วตรัสยกย่องสรรเสริญนายสุมนมาลาการ แล้วพระราชทานสิ่งของ 8 ชนิด คือช้าง ม้า ทาส ทาสี เครื่องประดับ นารี อย่างละแปด ทรัพย์อีก 8 พันกหาปณะและบ้านส่วยอีก 8 ตำบล นี้คืออานิสงส์จากการบูชาด้วยวัตถุสิ่งของ ยังมีอานิสงส์ขนาดนี้ การบูชาด้วยการปฏิบัติตามคำสอนพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงระบุว่า การปฏิบัติบูชามีอานิสงส์มากกว่าสิ่งของ เพราะเป็นการสืบทอดคำสอนพระพุทธองค์ สืบทอดพระพุทธศาสนา ตราบใดที่คนยังประพฤติปฏิบัติมรรค 8 อยู่ก็จะไม่ขาดพระอรหันต์
    8b2e0b8aae0b8b1e0b88de0b88de0b8b2-e0b88ae0b8a7e0b899e0b88ae0b8b2e0b8a7e0b89ee0b8b8e0b897e0b898-2.jpg


    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/qol/detail/9620000067342
     

แชร์หน้านี้

Loading...