**ไตรสิกขา// ในชีวิตประจำวัน

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย @^น้ำใส^@, 20 มีนาคม 2008.

  1. @^น้ำใส^@

    @^น้ำใส^@ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    2,330
    ค่าพลัง:
    +4,673
    พระพุทธศาสนา พัฒนาคนและสังคม

    พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต)







    การศึกษา (สิกขา)


    แยกซอยออกไปเป็น ๓ ด้าน โดยสอดคล้องกับองค์ประกอบแห่งการดำเนินชีวิต ของมนุษย์ ที่มี ๓ ด้าน คือ พฤติกรรม จิตใจ และปัญญา เรียกว่า ไตรสิกขา ซึ่งมีสาระสำคัญดังนี้

    ๑. ศีล คือ การฝึกฝนพัฒนาด้านพฤติกรรม หมายถึง การพัฒนาพฤติกรรมทางกาย และวาจา ให้มีความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง มีผลดี สิ่งแวดล้อม
    ที่เราเกี่ยวข้องสัมพันธ์ มี ๒ ประเภท คือ

    (๑) สิ่งแวดล้อมทางสังคม ได้แก่ เพื่อนมนุษย์ (ในความหมายเดิมทางพระพุทธ ศาสนา รวมทั้งสัตว์อื่นทั้งหลายทั้งปวงด้วย)

    (๒) สิ่งแวดล้อมทางวัตถุ ได้แก่ ปัจจัย ๔ เครื่องใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้ง
    เทคโนโลยี และสิ่งทั้งหลายที่มีในธรรมชาติ

    ศีลแบ่งเป็นหมวดใหญ่ๆ ๔ หมวด คือ

    (๑) การรักษาวินัยแม่บทของชุมชน (ปาฏิโมกขสังวร) เมื่อคนอยู่ร่วมกัน หรือทำงานทำกิจการร่วมกัน เป็นชุมชน เป็นหน่วยงาน เป็นองค์กร ตลอดจนเป็นประเทศชาติ จะต้องมี กฎเกณฑ์กติกา ตลอดจนกฎหมาย เพื่อจัดระเบียบระบบให้เกิดความเรียบร้อย ความประสานสอดคล้อง ความเกื้อหนุนต่อกันความร่วมรับผิดชอบและสามัคคี ที่จะเอื้อโอกาส หรือเป็นหลักประกันให้ชีวิตความเป็นอยู่ และกิจการต่างๆ ดำเนินไปด้วยดี สมตามวัตถุประสงค์แห่งชีวิตหรือกิจการของชุมชนนั้น ดังเช่นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา มีวินัยแม่บทที่เรียกชื่อเฉพาะว่า ปาฏิโมกข์ ซึ่งเรามักเรียกกันง่ายๆว่าศีล ๒๒๗ชุมชนอื่น เช่น โรงเรียนก็ต้องมีกฎกติกาที่เป็นวินัยแม่บทของตนเช่นเดียวกัน

    วินัยแม่บทสำหรับสังคมคฤหัสถ์หรือสังคมแห่งมนุษยชาติทั้งหมด ก็คือ ศีล ๕ ซึ่งถือว่าเป็นมนุษย์ธรรม เพราะเป็นบรรทัดฐานที่จะทำให้มนุษย์มีวิถีชีวิตที่สูงกว่าสัตว์ดิรัจฉาน อยู่ร่วมกันโดยไม่เบียดเบียนกัน และรักษาสังคมให้มีสันติสุข
    สังคมมนุษย์ส่วนย่อยลงไป เช่น ประเทศ สถาบัน องค์กร และหน่วยงานต่างๆ นอกจากจะต้องรักษาศีล ๕ แล้ว ก็ยังต้องปฏิบัติตามวินัยแม่บทที่เป็นส่วนเฉพาะของตนเองย่อยลงไปอีก เช่น

    กฎหมาย ตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา
    จรรยาบรรณของวิชาชีพต่างๆ เช่น จรรยาแพทย์ จรรยาบรรณของ
    ข้าราชการพลเรือน เป็นต้น ฯลฯ


    การจัดตั้งวางระเบียบชีวิตและระบบสังคม ด้วยการบัญญัติกฎกติกาอันชอบธรรม ที่เรียกว่าวินัยแม่บทนั้น พึงมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ

    ก. เพื่อความสงบเรียบร้อยอยู่ร่วมกันผาสุก
    ข. เพื่อความสอดคล้องประสานกลมกลืน
    ค. เพื่อความเกื้อหนุนกัน โดยไม่เบียดเบียน ไม่เอาเปรียบกัน
    ง. เพื่อความมีส่วนร่วมและร่วมรับผิดชอบ
    จ. เพื่อความพร้อมเพรียงสามัคคี
    ฉ. เพื่อป้องกันความชั่วและความเสื่อมเสียหาย
    ช. เพื่อกั้นคนชั่วร้าย และให้โอกาสคนดี
    ญ. เพื่อเอื้อโอกาสให้ชีวิตและกิจการพัฒนาและดำเนินสู่จุดหมาย
    ฎ. เพื่อความดีงามงดงามมีวัฒนธรรมของสังคม
    ฏ. เพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงแห่งหลักการ

    (๒) การรู้จักใช้อินทรีย์ (อินทรียสังวร) เรารับรู้สิ่งแวดล้อมโดยผ่านทางอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารับรู้ใช้หูตาไม่เป็น เช่น ดูไม่เป็น ฟังไม่เป็น แทนที่จะได้ประโยชน์ก็จะเกิดโทษ เช่น เกิดความลุ่มหลงมัวเมา ถูกหลอกลวงและเสื่อมเสียสุขภาพเป็นต้น ตลอดจนนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อการแย่งชิงหรือทำลาย จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมในการใช้ อินทรีย์ ให้ดู ฟัง เป็นต้นอย่างมีสติ เมื่อดูเป็น ฟังเป็น เช่น ดูทีวีเป็น ฟังวิทยุเป็น รู้จักใช้ตาหู แสวงหาความรู้เป็นต้น ก็จะได้ปัญญา ได้คุณภาพชีวิต และนำไปสู่การใช้มือและสมองเพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลกันและทำการสร้างสรรค์


    หลักปฏิบัติที่สำคัญในการใช้อินทรีย์ คือ

    ก) รู้จักพิจารณาเลือกเฟ้นสิ่งที่จะดู จะฟัง เป็นต้น แยกแยะได้อย่างรู้เท่าทันว่าสิ่งใด รายการใดดีงามหรือไม่ เป็นคุณประโยชน์หรือเป็นโทษเป็นภัย แล้วหลีกละเว้นสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นโทษภัย และรับดูรับฟังสิ่งที่ดีงาม เป็นประโยชน์
    ข) ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ ควบคุมตนเองได้ รู้จักประมาณ รู้พอดี ไม่ปล่อยตัวให้ลุ่มหลงมัวเมา ตกเป็นทาสของสิ่งที่ดูที่ฟังเป็นต้นนั้น อันจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง สูญเสียเวลา เสียสุขภาพ เสียการงาน เสียการเล่าเรียน เป็นต้น
    ค) ไม่เห็นแก่ความสนุกสนานบันเทิง ไม่ติดอยู่แค่ความชอบใจไม่ชอบใจ แต่รู้จักดู รู้จักฟัง ให้ได้คุณค่าที่ดีงามเป็นประโยชน์สูงขึ้นไปกว่านั้น โดยเฉพาะที่สำคัญคือ ต้องให้ได้ปัญญา และคติที่จะนำมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาชีวิตและสังคม

    (๓) การหาเลี้ยงชีพที่บริสุทธิ์ (อาชีวปาริสุทธิ) การทำมาหาเลี้ยงชีพเป็นพฤติกรรมหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ถ้ามีผู้หาเลี้ยงชีพโดยวิธีทุจริต เป็นมิจฉาชีพ นอกจากชีวิตของคนนั้นเองจะชั่วร้ายเสื่อมเสียแล้ว ก็จะก่อความเดือดร้อนแก่สังคมอย่างมาก จึงต้องย้ำเน้นกันอย่างยิ่งในเรื่องการพัฒนา
    สัมมาชีพ และส่งเสริมให้ประชาชนฝึกฝนตนให้สามารถประกอบสัมมาชีพ
    คือหาเลี้ยงชีวิตโดยทางสุจริต ไม่ผิดกฎหมาย สัมมาชีพพึงมีลักษณะที่สำคัญๆ
    ดังนี้

    เป็นอาชีพการงานที่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่ก่อเวรภัย หรือ
    สร้างความเดือดร้อนเสียหายแก่สังคม
    เป็นอาชีพการงานที่ช่วยแก้ไขปัญหา หรือสร้างสรรค์ชีวิต
    และสังคมในทางใดทางหนึ่ง
    เป็นอาชีพการงานที่ช่วยให้ผู้ทำได้พัฒนาชีวิตของตนให้งอกงามยิ่งขึ้น
    ทั้งด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ และด้านปัญญา
    เป็นอาชีพการงานที่ไม่ทำลายคุณค่าของชีวิต และไม่เสื่อมเสีย
    คุณภาพชีวิต แต่ทำให้ชีวิตของตนมีคุณค่าน่าภาคภูมิใจ
    เป็นอาชีพการงานที่ทำให้ได้ปัจจัยเลี้ยงชีวิตมาด้วยเรี่ยวแรงกำลังกาย
    กำลังสติปัญญา ความเพียรพยายาม ความสามารถและฝีมือของตน
    และทำให้ได้ฝึกฝนพัฒนาความเชี่ยวชาญจัดเจน หรือฝึกปรือฝีมือ
    ในทางสร้างสรรค์ยิ่งขึ้นไป

    (๔) การเสพบริโภคปัจจัยโดยใช้ปัญญา (ปัจจัยปฏิเสวนา) พฤติกรรมของมนุษย์ ในที่สุดก็มาลงที่การกิน ใช้ เสพ บริโภค ถ้ามนุษย์ไม่พัฒนาพฤติกรรมในการเสพบริโภค ก็จะก่อปัญหาอย่างมากทั้งแก่ชีวิต แก่สังคม และแก่โลก เพราะเขาจะกิน ใช้ บริโภคปัจจัย ๔ และสิ่ง ของเครื่องใช้ทั้งหลาย รวมทั้งเทคโนโลยี ด้วยโมหะ ก่อให้เกิดความลุ่มหลง มัวเมา ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ความเสื่อมเสียคุณภาพชีวิต การใช้จ่ายสิ้นเปลือง การขัดแย้ง แย่งชิง เบียดเบียนกันในสังคม การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และการก่อมลภาวะ เป็นต้น จึงต้องพัฒนาพฤติกรรมในการกิน ใช้ เสพ บริโภค ให้เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากปัญญาที่รู้เข้าใจ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของปัจจัย ๔ ตลอดจนเทคโนโลยีนั้นๆ เริ่มแต่รับประทานอาหารเพื่อบำรุงเลี้ยงร่างกายให้แข็งแรงมีสุขภาพดี ไม่ใช่กินเพียงเพื่อเอร็ดอร่อย อวดโก้ อวดฐานะ หรือตื่นตามค่านิยมฟู่ฟ่า ให้เป็นการกินด้วยปัญญาที่ทำให้รู้จักประมาณในการบริโภค หรือกินพอดี ที่เรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา ตลอดจนการใช้สอยสิ่งต่างๆ อย่างประหยัด ซึ่งทำให้ได้ประโยชน์มากที่สุดโดยสิ้นเปลืองน้อยที่สุดปัจจัยปฏิเสวนา หมายถึง การใช้ปัญญาทำความเข้าใจ แล้วบริโภคปัจจัยทั้งหลายให้ได้ผลตรงพอดี ตามคุณค่าแท้ที่เป็นจุดหมายของการบริโภคสิ่งนั้นๆ ศีลหมวดนี้มีหลักในการปฏิบัติดังนี้

    ก) บริโภคด้วยความรู้ตระหนักว่าการมี-ใช้-บริโภคสิ่งเหล่านั้นมิใช่เป็น
    จุดหมายของชีวิต แต่มันเป็นปัจจัย เครื่องช่วยเกื้อหนุนให้เรา
    สามารถพัฒนาชีวิตและทำการสร้างสรรค์ประโยชน์สุขที่สูงยิ่งขึ้นไป

    ข) บริโภคด้วยความรู้เท่าทันต่อวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการบริโภค
    ใช้สอยสิ่งนั้นๆ เช่น การสวมรองเท้ามีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยปกป้องเท้า มิให้เป็นอันตรายจากสิ่งกระทบกระทั่งและเชื้อโรคเป็นต้น และเพื่อช่วยให้เดินวิ่งได้สะดวกรวดเร็ว ทนนาน เป็นต้น มิใช่สวมใส่เพื่ออวดโก้แสดงฐานะกันตามค่านิยมที่เลื่อนลอย

    ค) บริโภคโดยพิจารณาจัดสรรควบคุมให้ได้ปริมาณ ประเภท
    และคุณสมบัติของสิ่งที่บริโภคตรงพอดีกับวัตถุประสงค์ที่แท้จริง
    ของการบริโภคสิ่งนั้น เช่น บริโภคอาหารในปริมาณและประเภท
    ซึ่งพอดีกับความต้องการของร่างกายที่จะช่วยให้มีสุขภาพดี

    ง) สามารถละเว้นหรือเลิกเสพบริโภคสิ่งที่ไม่เป็นปัจจัยเกื้อหนุนชีวิต
    เช่นสิ่งที่ทำลายสุขภาพเป็นต้น โดยไม่เห็นแก่การเสพรส หรือ
    ความโก้หรูหรา เป็นต้น

     
  2. @^น้ำใส^@

    @^น้ำใส^@ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    2,330
    ค่าพลัง:
    +4,673
    ๒. สมาธิ หมายถึงการฝึกฝนพัฒนาในด้านจิตใจ มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจิตใจ เป็นฐานของพฤติกรรม เนื่องจากพฤติกรรมทุกอย่างเกิดขึ้นจากความตั้งใจ หรือ เจตนาและเป็นไปตามเจตจำนงและแรงจูงใจที่อยู่เบื้องหลัง ถ้าจิตใจได้รับการพัฒนา ให้ดีงามแล้ว ก็จะควบคุมดูแลและนำพฤติกรรมไปในทางที่ดีงามด้วย แม้ความสุข ความทุกข์ในที่สุดก็อยู่ที่ใจ

    ยิ่งกว่านั้น ปัญญาจะเจริญงอกงามได้ ต้องอาศัยจิตใจที่เข้มแข็งสู้ปัญหา เอาใจใส่
    มีความเพียรพยายามที่จะคิดค้น ไม่ท้อถอย ยิ่งเรื่องที่คิดหรือพิจารณานั้นยาก
    หรือละเอียดลึกซึ้ง ก็ยิ่งต้องมีจิตใจที่สงบแน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่พลุ่งพล่าน
    กระวนกระวาย คือต้องมีสมาธิจึงจะคิดได้ชัดเจน เจาะลึกทะลุได้ และมองเห็น
    ทั่วตลอด จิตที่ฝึกดีแล้ว จึงเป็นฐานที่จะให้ปัญญาทำงานและพัฒนาอย่างได้ผล

    การพัฒนาจิตใจนี้มีสมาธิเป็นแกน หรือเป็นศูนย์กลาง จึงเรียกง่ายๆ ว่า "สมาธิ" และ อาจแยกออกได้เป็นการพัฒนาคุณสมบัติของจิตใจในด้านต่างๆ คือ

    ก) พัฒนาคุณธรรมซึ่งเป็นคุณภาพของจิตใจ กล่าวคือ คุณสมบัติที่เสริมสร้าง
    จิตใจให้ดีงาม ให้เป็นจิตใจที่สูง ประณีต และประเสริฐ เช่น

    เมตตา คือ ความรัก ความปรารถนาดี เป็นมิตร อยากให้ผู้อื่นมีความสุข

    กรุณา คือ ความสงสาร อยากช่วยเหลืออื่นให้พ้นจากความทุกข์

    มุทิตา คือ ความพลอยยินดี พร้อมที่จะส่งเสริมสนับสนุน
    ที่ประสบความสำเร็จ มีความสุขหรือก้าวหน้าในการทำสิ่งที่ดีงาม

    อุเบกขา คือ ความวางตัววางใจเป็นกลาง เพื่อรักษาธรรม เมื่อผู้อื่นควรจะต้องรับ ผิดชอบต่อการกระทำของเขาตามเหตุและผล

    จาคะ คือ ความมีน้ำใจเสียสละ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ไม่เห็นแก่ตัว
    กตัญญูกตเวทิตา คือ ความรู้จักคุณค่าแห่งการกระทำของผู้อื่น และแสดงออกให้ เห็นถึงการรู้คุณค่านั้น

    หิริ คือ ความอายบาป ละอายใจต่อการทำความชั่ว

    โอตตัปปะ คือ ความกลัวบาป เกรงกลัวต่อความชั่ว
    คร้ามขยาดต่อทุจริต

    คารวะ คือ ความเคารพ ความใส่ใจรู้จักให้ความสำคัญแก่สิ่งนั้นนั้น
    อย่างถูกต้องเหมาะสม

    มัทวะ คือ ความอ่อนโยน สุภาพ นุ่มนวล ไม่กระด้าง


    ข) พัฒนาสมรรถภาพและประสิทธิภาพของจิตใจ โดยเสริมสร้างคุณสมบัติ
    ที่ทำให้จิตใจมีความเข้มแข็ง หนักแน่น มั่นคง แกล้วกล้าสามารถ
    ทำกิจหน้าที่ได้ผลดี เช่น

    ฉันทะ คือความใฝ่รู้ใฝ่สร้างสรรค์ อยากให้ความจริงและใฝ่ที่จะทำ
    สิ่งดีงามให้สำเร็จ อยากเข้าถึงภาวะดีงามอันเลิศสูงสุด

    วิริยะ คือ ความเพียร บุกฝ่าไปข้างหน้า เอาธุระรับผิดชอบ
    ไม่ยอมทอดทิ้งกิจหน้าที่

    อุตสาหะ คือ ความขยัน ความอึดสู้ ความสู้ยากบากบั่น ไม่ยั่น ไม่ถอย
    ขันติ คือ ความอดทน ความเข้มแข็ง ความทนทาน หนักแน่น มั่นคง

    จิตตะ คือ ความมีใจจดจ่อ ใส่ใจ อุทิศตัว อุทิศใจให้แก่กิจหน้าที่
    หรือสิ่งที่ทำ

    สัจจะ คือ ความตั้งใจจริง จริงใจและจริงจัง เอาจริงเอาจัง
    มั่นแน่วต่อสิ่งที่ทำ ไม่เหยาะแหยะ ไม่เรรวน ไม่กลับกลาย

    อธิษฐาน คือ ความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ความุ่งมั่นแน่วแน่ต่อจุดหมาย

    ตบะ คือ พลังเผากิเลส กำลังความเข้มแข็งพากเพียรในการทำกิจหน้าที่
    ให้สำเร็จ โดยแผดเผาระงับยับยั้ง กิเลสตัณหาได้ ไม่ยอมแก่ทุจริต
    และไม่เห็นแก่ความสุขสำราญปรนเปรอ

    สติ คือ ความระลึกนึกได้ ไม่เผอเรอ ไม่เลื่อนลอย ทันต่อสิ่งที่เกิดขึ้น
    เป็นไป ซึ่งจะ ต้องเกี่ยวข้องทุกอย่าง กำหนดจิตไว้กับกิจหน้าที่
    หรือสิ่งที่ทำ กั้น ยั้งใจจากสิ่งที่เสื่อมเสียหายเป็นโทษ และไม่ปล่อย
    โอกาสแห่งประโยชน์ หรือความดีงามความเจริญให้เสียไป

    สมาธิ คือ ภาวะจิตที่ตั้งมั่น แน่วแน่ ได้ที่ อยู่ตัว สงบอยู่กับสิ่งที่
    ต้องการทำ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่แกว่งไกว ไม่มีอะไรรบกวนได้


    ค) พัฒนาความสุขและภาวะที่เกื้อหนุนสุขภาพของจิตใจ คุณสมบัติที่ควรเสริมสร้างขึ้นให้มีอยู่ประจำในจิตใจ เพื่อความมีสุขภาพจิตที่ดี พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้หลายอย่างโดยเฉพาะ

    ปราโมทย์ คือความร่าเริง สดชื่น เบิกบานใจ ไม่หดหู่หรือห่อเหี่ยว

    ปีติ คือ ความอิ่มใจ ปลาบปลื้ม เปรมใจ ฟูใจ ไม่โหยหิวแห้งใจ

    ปัสสัทธิ คือ ความสงบเย็น ผ่อนคลายกายใจ ไม่คับ ไม่เครียด

    สุข คือ ความคล่องใจ สะดวกสบายใจ สมใจ ไม่มีอะไรบีบคั้น
    ติดขัดคับข้อง

    สันติ คือ ความสงบ ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย ซึ้ง

    เกษม คือ ความปลอดโปร่ง ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย โล่งโปร่งใจ
    ไร้กังวล

    สีติภาพ คือ ความเย็นสบาย ไม่มีอะไรแผดเผาใจ ไม่ตรอมตรม

    เสรีภาพ คือ ความมีใจเสรี เป็นอิสระ ไม่ถูกผูกมัดติดข้อง
    จะไปไหนก็ไปได้ตามประสงค์

    ปริโยทาตตา คือ ความผ่องใส ผุดผ่อง แจ่มจ้า กระจ่างสว่างใจ
    ไม่มีความขุ่นมัว เศร้าหมอง

    วิมริยาทิกัตตา คือ ความมีใจไร้พรมแดน ไม่กีดกั้นจำกัดตัว หรือหมกมุ่นติดค้าง มีจิตใจใหญ่กว้างไร้ขอบคันเขตแดน


    คุณสมบัติทั้งหลายที่กล่าวมานี้ แม้จะดีงามเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง แต่บางอย่าง
    อาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด ก่อให้เกิดโทษได้ (เช่น เพียรในการลักของเขา)
    หรือนำไปพ่วงกับการ กระทำที่ไม่ดี (เช่น ปีติปลื้มใจที่รังแกเขาได้) หรือใช้ผิดเรื่อง
    ผิดที่ ผิดกรณี ผิดสถานการณ์ (เช่น มุทิตาพลอยยินดีส่งเสริมคนที่ได้ลาภ หรือ
    ประสบความสำเร็จโดยทางทุจริต) เป็นต้น จึงต้องศึกษาให้เข้าใจความหมาย
    ความมุ่งหมาย และการใช้งานเป็นต้นให้ชัดเจน และรู้จัก ปฏิบัติให้ถูกต้องพอดี

    การ พัฒนาในด้านจิตใจนี้ เมื่อปฏิบัติสูงขึ้นไป ความสำคัญของสมาธิที่เป็นแกน
    หรือเป็นศูนย์กลาง จะยิ่งเด่นชัดมากขึ้น และเมื่อสมาธิเจริญขึ้นไปจนจิตแน่วดิ่ง
    อยู่ตัวอย่างแท้จริงแล้ว ผู้บำเพ็ญสมาธินั้นก็จะบรรลุภาวะจิตที่เรียกว่า "ฌาน"
    ซึ่งเป็นสมาธิจิตขั้นสูง

    การพัฒนาจิตใจ หรือเรื่องของสมาธิทั้งหมดนี้ แม้จะมีประโยชน์มากมาย นำไปใช้
    เพื่อวัตถุประสงค์ได้หลายอย่าง เช่น ในเรื่องพลังจิต และในด้านการหาความสุข
    ทางจิตใจ แต่คุณค่าแท้จริงที่ท่านมุ่งหมาย ก็คือเพื่อเป็นฐานหรือเป็นเครื่องเกื้อหนุน
    การพัฒนาปัญญา

    การทำงานทางปัญญาที่ยิ่งละเอียดซับซ้อน และลึกซึ้งมากขึ้น ก็ยิ่งต้องการสมาธิจิต
    สูงขึ้น การพัฒนาจิตใจหรือสมาธินี้จึงมีความสำคัญมาก
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 20 มีนาคม 2008
  3. @^น้ำใส^@

    @^น้ำใส^@ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    2,330
    ค่าพลัง:
    +4,673
    ๓. ปัญญา หมายถึง การพัฒนาปัญญา ซึ่งมีความสำคัญสูงสุด เพราะปัญญาเป็นตัว นำทาง และควบคุมพฤติกรรมทั้งหมด คนเราจะมีพฤติกรรมอะไร อย่างไร
    และแค่ไหน ก็อยู่ที่ว่าจะมีปัญญาชี้นำหรือบอกทางให้เท่าใด และปัญญาเป็นตัว
    ปลดปล่อยจิตใจ ให้ทางออกแก่จิตใจ เช่น เมื่อจิตใจอึดอัดมีปัญหาติดตันอยู่
    พอเกิดปัญญารู้ว่าจะทำอย่างไร จิตใจก็โล่งเป็นอิสระได้ การพัฒนาปัญญา
    เป็นเรื่องกว้างขวาง แยกออกไปได้หลายด้าน และมี หลายขั้นหลายระดับ เช่น

    ) ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินชีวิตอย่างมีประสิทธิภาพประสบความสำเร็จ

    + ความรู้ความเข้าใจข้อมูลความรู้ รวมทั้งศิลปวิทยาการต่างๆ
    เข้าถึงเนื้อหาความหมายได้ถูกต้องชัดเจน

    + การรับรู้เรียนรู้อย่างถูกต้องตามเป็นจริง ตรงตามสภาวะของสิ่งนั้นๆ
    หรือตามที่มันเป็น

    + ความรู้จักจับสาระของความรู้หรือเรื่องราวต่างๆ รู้จุด รู้ประเด็น
    สามารถยกขึ้นพูด ยกขึ้นชี้แสดง หรือยกขึ้นวางเป็นหลักได้

    + ความรู้จักสื่อสารถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจและความต้องการของตน
    ให้ผู้อื่นรู้ตาม เห็นตาม เป็นต้น

    + การคิดการวินิจฉัยที่ถูกต้องชัดเจนและเที่ยงตรง
    ความรู้จักแยกแยะวิเคราะห์วิจัยสืบสาวเหตุปัจจัยของเรื่องราวต่างๆ
    ที่จะทำให้สามารถแก้ไขปัญหา และทำการสร้างสรรค์ต่างๆ ได้
    ความรู้จักจัดทำดำเนินการหรือบริหารจัดการกิจการต่างๆ ให้สำเร็จผล
    ตามที่มุ่งหมาย

    + ความรู้จักเชื่อมสัมพันธ์ประสบการณ์ ข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ
    โยงเข้ามาประสานเป็นภาพองค์รวมที่ชัดเจน หรือโยงออกไปสู่

    + ความหยั่งรู้ หยั่งเห็นใหม่ๆได้


    ข) ปัญญาที่ช่วยให้ดำเนินเข้าสุ่วิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม

    + ความรู้เข้าใจในระบบความสัมพันธ์ของสิ่งทั้งหลาย ที่อิงอาศัย
    สืบเนื่องส่งผลต่อกันตามเหตุปัจจัย มองเห็นภาวะและกระบวนการ
    ที่ชีวิต สังคม และโลกคือหมู่สัตว์ มีความเป็นมา และจะเป็นไป
    ตามกระแสแห่งเจตจำนง และเหตุปัจจัยที่ตนประกอบ สร้างสม
    จัดสรร และ มีปฏิสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นทั้งหลาย เรียกง่ายๆ ว่า
    เป็นไปตามกรรม


    ค) ปัญญาที่ช่วยให้บรรลุจุดหมายสูงสุดของชีวิตที่ดีงาม

    + ความรู้เข้าใจเข้าถึงเท่าทันความจริงของสังขาร คือโลกและชีวิต
    ที่เปลี่ยนแปลงเป็นไปตามกฎธรรมดาของธรรมชาติ จนสามารถ
    วางใจถูกต้องต่อสิ่งทั้งหลาย ทำจิตใจให้หลุดพ้นเป็นอิสระได้
    โดยสมบูรณ์ และมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาอย่างแท้จริง


    การศึกษา ๓ ด้านที่เรียกว่าไตรสิกขา คือศีล สมาธิ ปัญญานี้ เป็นหลักใหญ่ของ
    พระพุทธศาสนา เป็นระบบและเป็นกระบวนการทั้งหมดของการ
    พัฒนาคน จากหลักไตรสิกขานี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงหลักธรรม
    และข้อธรรมแยกย่อยออกไปมากมาย อย่างที่เรามักเห็นหรือได้ยิน
    เป็นหมวดๆ หรือเป็นชุด ๆ มี ๓ ข้อบ้าง ๔ ข้อ บ้าง ๕ ข้อบ้าง ฯลฯ
    หลักธรรมแต่ละหมวด แต่ละชุดเหล่านั้น ก็คือข้อปฏิบัติเพื่อการพัฒนาชีวิตพัฒนาสังคมในขั้นตอน หรือในส่วนปลีกย่อยต่างๆ
    แต่ละหมวด แต่ละชุดมักจะมีสาระบางส่วนของไตรสิกขา
    ครบทั้ง ๓ อย่าง ประสานหรือ บูรณาการกันอยู่ในลักษณะใด
    ลักษณะหนึ่งตามความเหมาะสมกับกรณีนั้นๆ


    ---------
    ขอบคุณที่มาค่ะ http://board.dserver.org/e/easydharma/00000297.html
     
  4. เฮียปอ ตำมะลัง

    เฮียปอ ตำมะลัง ทุกสิ่งจบสิ้นลงด้วยความตาย วุ่นวายทำไม ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 มีนาคม 2007
    โพสต์:
    24,969
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +91,129
    อ นุ โ ม ท น า ส า ธุ...ศีลเป็นพื้นฐานที่จะทำให้ สมาธิและปัญญา พัฒนาได้ดี
     

แชร์หน้านี้

Loading...