แผ่นดินไหว ภัยที่เทคโนโลยีของคนยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด! แต่สัตว์กลับรู้ล่วงหน้า!!

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 25 พฤศจิกายน 2019.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    0b899e0b984e0b8abe0b8a7-e0b8a0e0b8b1e0b8a2e0b897e0b8b5e0b988e0b980e0b897e0b884e0b982e0b899e0b982.jpg
    เมื่อสัปดาห์ก่อนมีเรื่องเขย่าขวัญกันเล็กน้อย เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๖.๔ ขึ้นในลาวเมื่อเช้าวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน แต่สั่นสะเทือนมาถึงหลายจังหวัดในประเทศไทย รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑลที่ตั้งอยู่บนผืนดินอ่อนซึ่งเคยเป็นทะเลมาก่อน แรงสั่นสะเทือนจึงเพิ่มมากขึ้นเป็น ๓ เท่า ทั้งคนอยู่บนตึกสูงที่โยกตัวได้ ก็จะมีความรู้สึกมากกว่าคนอยู่ที่พื้นดินอีก ๓-๕ เท่า หลายคนจึงบอกในโลกออนไลน์ว่า รู้สึกเวียนหัวนึกว่าเป็นลม แต่พอเห็นโคมไฟแกว่งไปมาก็รู้ว่าแผ่นดินไหว

    นี่ขนาดไหวอยู่ในลาว แต่ถ้าเกิดไหวใกล้เข้ามา อย่างรอยเลื่อนสะแกงในทะเลอันดามัน ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพฯราว ๔๐๐ กม. หรือเกิดที่รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ และรอยเลื่อนศรีสวัสด์ ห่างจากกรุงเทพฯ ๒๐๐ กว่า กม. ก็จะเขย่าขวัญมากกว่านี้
    แต่ก็อย่าไปขวัญอ่อนให้มากนัก เพราะกรุงเทพฯสร้างมา ๒๐๐ กว่าปีแล้ว ยังไม่เคยมีคนตายจากแผ่นดินไหวเลยแม้แต่คนเดียว

    อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวก็เป็นภัยใกล้ตัวเข้ามาแล้ว หาวิธีป้องกันตัวหรือหาทีหนีทีไล่ไว้ก่อนก็ดี

    ขณะนี้เรามีระบบตรวจวัดแผ่นดินไหวได้รวดเร็วขึ้นมาก ทำให้รู้ขนาดความรุนแรงและตำแหน่งจุดศูย์กลางของแผ่นดินไหวที่อยู่ลึกลงไปในดินหลายกิโล และเชื่อมระบบโยงใยไปทั่วโลกด้วยดาวเทียม ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ไหน ก็จะรู้รายละเอียดไปได้ทั่วโลกภายในไม่กี่นาที

    แต่กระนั้น ก็ยังไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่า จะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นเมื่อใด ต้องให้เกิดขึ้นก่อนถึงจะรู้

    แต่แปลก ที่สัตว์หลายชนิดกลับรู้ล่วงหน้าว่าจะมีแผ่นดินไหวเกิดขึ้น และแสดงอาการผิดปกติเปลี่ยนไปจากเดิม เช่น

    แมลงสาบพากันวิ่งพล่าน
    หนูแตกตื่นวิ่งออกถนน
    เป็ดไก่พยายามบินออกจากเล้า
    วัวไม่ยอมเข้าคอก
    หมูมีอารมณ์ฉุนเฉียวกัดกัน และพยายามหนีออกจากเล้า
    ผึ้งแตกออกจากรัง
    กบเลิกจำศีล
    งูออกจากรูมาอยู่กลางแจ้ง
    ปลากระโดดขึ้นเหนือน้ำ
    เป็นต้น

    อาการเหล่านี้จะเกิดก่อนแผ่นดินไหวเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน
    นักวิทยาศาสตร์แผ่นดินไหวของจีนได้ให้ความสนใจในเรื่องนี้มาก และเชื่อปฏิกิริยาของสัตว์ในเรื่องแผ่นดินไหว จนทำให้จีนได้รับการบันทึกว่าเป็นชาติแรกที่สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้ล่วงหน้า และช่วยชีวิตคนไว้ได้มาก

    เหตุการณ์เกิดขึ้นในฤดูหนาวปี ๒๕๑๘ บรรดาสัตว์ในเมืองไฮเซ็ง ประเทศจีน เกิดอาการแตกตื่นพร้อมกันอย่างประหลาด บรรดาห่านพากันบินพล่านและหลบเข้าไปในอยู่ในพุ่มไม้ หมูไล่กัดกัน สุนัขทำจมูกฟุดฟิดและส่งเสียงเห่าหอนตลอดเวลา งูพากันเลื้อยออกจากรูมานอนตายบนน้ำแข็งของฤดูหนาว ส่วนหนูวิ่งกันพล่านออกมากลางถนน และไต่ขึ้นไปอยู่บนสายไฟฟ้าในเวลากลางวันแสกๆ ประกอบกับเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวรายงานการสั่นไหวเป็นระยะ เหมือนเตือนว่าจะมีการไหวใหญ่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจอพยพประชาชนออกจากเมือง ซึ่งมีประชากรอาศัยอยู่ ๑ ล้านคน และแล้วในวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ ก็ได้เกิดแผ่นดินไหวเกิดขึ้นตามที่คาด มีขนาด ๗.๓ ริกเตอร์ ทำลายเมืองไฮเซ็งถึงครึ่งเมือง แม้จะรักษาทรัพย์สินไว้ไม่ได้ แต่ก็รักษาชีวิตผู้คนไว้ได้จำนวนมาก

    นี่เป็นครั้งแรก และดูเหมือนจะเป็นครั้งเดียวที่ถูกบันทึกไว้ว่า มนุษย์สามารถทำนายแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้หลายวัน จากสัตว์แสดงอาการบอกให้รู้
    จีนจึงพยายามศึกษาเรื่องนี้ต่อไป โดยเจ้าหน้าที่สวนสัตว์ของเมืองกวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ได้ติดตั้งเครื่องมือในการติดตามพฤติกรรมของสัตว์ในสวนสัตว์ตลอด ๒๔ ชั่วโมง โดยติดไว้ที่บริเวณกรงนกยูง เต่า กวาง และกระรอก เพื่อนำไปศึกษาเรื่องแผ่นดินไหว

    อย่างไรก็ดี ยังไม่มีการเปิดเผยว่าพฤติกรรมของสัตว์เหล่านี้เปลี่ยนไปก่อนเกิดแผ่นดินไหวมากน้อยแค่ไหน แต่เจ้าหน้าที่เชื่อว่ามีสัตว์ราว ๑๓๐ ชนิดที่จะช่วยเตือนว่ากำลังจะเกิดภัยธรรมชาติในระยะเวลาอันใกล้ได้ โดยเฉพาะสัตว์จำพวกหนูและงู ที่ตามธรรมชาติจะไม่ออกจากที่ซ่อนในเวลากลางวัน แต่เมื่อจะเกิดแผ่นดินไหวจะเห็นสัตว์พวกนี้ออกมาสู่ที่โล่งแจ้ง หรือยีราฟจะออกให้ห่างต้นไม้

    แต่สัตว์ที่เจ้าหน้าที่ให้ความสนใจมากที่สุด ได้แก่สัตว์ประเภทเลื้อยคลาน อย่างงู เพราะถือว่าเปนสัตว์ที่มีประสาทสัมผัสไวมาก

    ความจริงทุกชีวิตในโลก เกิดจากธรรมชาติ แต่ ความเจริญ ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ หรือความสิวิไลซ์ ทำให้มนุษย์เราห่างธรรมชาติออกไปทุกที จนไม่สามารถรับรู้ในสิ่งที่ธรรมชาติเตือนได้

    ขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/onlinesection/detail/9620000112818
     

แชร์หน้านี้

Loading...