เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๖

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 9 กันยายน 2023.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +26,112
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันเสาร์ที่ ๙ กันยายน ๒๕๖๖


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +26,112
    วันนี้ตรงกับวันเสาร์ที่ ๙ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖ เป็นวันแรม ๙ ค่ำ เดือน ๙ ฟังดูแล้วน่าจะขายของออนไลน์ได้ดี..!

    ในเรื่องของวันเวลา ส่วนใหญ่แล้วพวกเราไปถือมงคลกันเอง ซึ่งในเรื่องของมงคลนั้น แม้กระทั่งพรหมเทวดาก็ยังถกเถียงกันมาเป็นระยะเวลาที่ยาวนานมาก จนกระทั่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้น ถึงได้ไปกราบทูลถามพระองค์ท่านว่า สิ่งที่เป็นมงคลอย่างแท้จริงนั้นคืออะไร ?

    พระพุทธเจ้าจึงได้ทรงตรัสไว้ในมังคลสูตร ตั้งแต่ อะเสวะนา จะ พาลานัง ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา ไปจนถึง ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะนะกัมปะติ ก็คือตั้งแต่ไม่คบคนพาล ให้คบเฉพาะบัณฑิต ไปจนถึงจิตที่กระทบโลกธรรมแล้วไม่หวั่นไหว ทั้ง ๓๘ อย่างนี้ มีตั้งแต่ปุถุชนถือปฏิบัติ ไปจนถึงพระอริยเจ้า และท้ายที่สุดก็คือพระอรหันต์

    อย่างการไม่คบคนพาล คบแต่บัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชา ชาวบ้านทั่ว ๆ ไปก็ทำได้ แต่พอไป ทานัญจะ ธัมมะจะริยา จะ ก็คือการบริจาคให้ทาน การประพฤติปฏิบัติธรรม ก็จะเริ่มเน้นเข้ามาในเรื่องของการปฏิบัติ เบื้องต้น เบื้องกลาง ไปจนถึงเบื้องปลาย แต่ว่าส่วนใหญ่แล้วพวกเราไม่ค่อยได้ศึกษาให้ละเอียดลึกซึ้ง ก็มักจะจำว่ามงคล ๓๘ อย่างมีอะไรบ้างเท่านั้นเอง ดังนั้น..ในเรื่องของวันดี เดือนดี ปีดี เป็นเรื่องที่ไม่ใช่ดีแท้ เรื่องที่ดีแท้ เป็นมงคลแท้ คือเรื่องที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้

    ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายอ่านพระไตรปิฎกให้มากขึ้นสักนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในเทวตาสังยุตต์ หรือพรหมสังยุตต์ในสังยุตตนิกาย จะเห็นว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้น แทบจะไม่ได้หลับไม่ได้นอนกับใครเลย ถ้านับพุทธกิจ ๕ ประการที่พระองค์ท่านทรงบำเพ็ญไว้ ตั้งแต่วันตรัสรู้ไปจนถึงปรินิพพาน มีสรุปเป็นภาษาบาลีว่า

    ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ ก็คือ เช้าขึ้นมาเสด็จออกบิณฑบาต

    สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตกเย็นมาก็แสดงธรรมโปรดญาติโยมทั่วไป

    พวกเราต้องเข้าใจว่าดินฟ้าอากาศของประเทศอินเดียไม่เหมือนกับบ้านเรา กลางวันร้อนตับแตก..! ท่านอาจารย์พลตรีเฉลิมชัย เสียงใหญ่ อดีตผู้อำนวยการกองอนุศาสนาจารย์กองทัพบก ตอนท่านเรียนปริญญาโทที่อินเดีย ท่านบอกว่าต้องเอาผ้าม่านชุบน้ำ ปิดทั้งประตู หน้าต่าง แล้วก็เอาผ้าขนหนูชุบน้ำโปะหัวไว้ ถึงจะเดินท่องหนังสือได้ ไม่อย่างนั้นแล้วก็ร้อนจนกระทั่งจะสิ้นชีวิตเอาได้..! แล้วผ้าม่านหรือว่าผ้าที่โปะหัวตัวเองก็อยู่ได้ไม่นาน เดี๋ยวก็แห้งหมดแล้ว..!
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +26,112
    ดังนั้น..ถ้าให้ไปฟังธรรมตอนกลางวัน ต่อให้องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม คนฟังก็คงไม่มีอารมณ์เหมือนกัน พระองค์ท่านจึงต้องรอให้แดดร่มลมตก ก็คือ สายณฺเห ธมฺมเทสนํ ตอนเย็นแสดงธรรมโปรดญาติโยมทั้งหลาย แล้วถ้าท่านสังเกตลึกเข้าไปอีก สิ่งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ อย่างในทีฆนิกาย พระสุตตันตปิฎก มีแต่พระสูตรยาว ๆ ทั้งสิ้น แต่ยาวที่สุดก็ไม่เกิน ๑ ชั่วโมง เอามหาสติปัฏฐานสูตรก็แล้วกัน

    กระผม/อาตมภาพเอง ตอนที่สอบนักธรรมชั้นเอก ด้วยความที่มาลาเรียรับประทาน แม้แต่หายใจยังเหนื่อย ไม่มีเวลาอ่านหนังสือ ก็เลยใช้วิธีบนพระท่านว่า ถ้าสอบนักธรรมชั้นเอกได้ กระผม/อาตมภาพจะเขียนมหาสติปัฏฐานสูตรเต็มบท ด้วยลายมือตัวเอง จำไม่ได้ว่าตอนนี้ไปอยู่กับใคร ก็คือเขียนเป็นเล่มสมุดเลย เนื่องเพราะว่าช่วงท้าย ๆ ของแต่ละบรรพ หรือว่าแต่ละตอน ถ้าภาษาอังกฤษก็คงประมาณ Chapter จะเป็นถ้อยคำที่ซ้ำ ๆ กันทั้งหมด เขาก็เลยใช้ไปยาล ฯ ก็คือย่อ

    แต่กระผม/อาตมภาพเขียนเต็ม มหาสติปัฏฐานสูตรถ้าว่ากันเต็ม ๆ ก็ประมาณ ๑ ชั่วโมงเท่านั้น ก็แปลว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงธรรม ต่อให้ยาวที่สุดก็แค่ชั่วโมงเดียว ตีเสียว่าถ้าเริ่ม ๖ โมงเย็น ก็จบไม่เกิน ๑ ทุ่ม

    ถัดไปก็คือเวลาค่ำก็คือ ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำ ให้โอวาทภิกษุ ภิกษุณี สามเณร สามเณรี และนางสิกขมานา ก็คือสอนต่อจากญาติโยม ที่พอเทศน์จบก็คงกราบลากลับบ้านกัน พระองค์ท่านก็สอนพระสอนเณรต่อ

    คราวนี้พระเณรถ้าอยู่เป็นจำนวนมาก ท่านที่ปฏิบัติแล้วติดขัดตรงไหนก็กราบทูลถวาย องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็จะแก้ไขจุดที่ติดขัดให้ จึงต้องใช้เวลานานหน่อย บางทีก็มีการบัญญัติศีลขึ้นมาด้วย ก็จะตรัสถึงบุรพกรรมว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สิ่งที่บุคคลนั้นทำไม่มีประโยชน์ ดังนั้น..ควรที่จะระวังป้องกันอย่างไร ? การรักษาศีลแล้วจะอานิสงส์อย่างไร ? แล้วก็ทรงบัญญัติศีลขึ้นมา ทำให้กินระยะเวลายาวนาน กว่าที่พระเณรจะลากลับ

    ลำดับต่อไป ก็คือ อฑฺฒรตฺเต เทวปญฺหนํ อฑฺฒรตฺเต ครึ่งคืน ก็คือเที่ยงคืน แก้ไขปัญหาที่พรหม เทวดามาถาม ในเรื่องของมังคลสูตรก็มาจากการที่พรหมเทวดาท่านมาถามปัญหาว่ามงคลที่แท้จริงคืออะไร ? ตีเสียว่าถ้าหากว่าอยู่รบกับพรหมเทวดาสัก ๒ ชั่วโมง ก็ตี ๒ เข้าไปแล้ว..!
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +26,112
    ไปตอนสุดท้ายก็ ปจฺจุสฺเสว คเต กาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ ใกล้รุ่งลุกขึ้นตรวจอุปนิสัยสัตว์โลก เพื่อรอที่จะเสด็จไปโปรดตอนบิณฑบาต

    ถ้าหากว่าแก้ไขปัญหาของพรหมเทวดาจนถึงตี ๒ แล้วค่อยจำวัด แล้วใกล้รุ่งควรจะเป็นเวลาไหน ? ตีเสียว่าตี ๕ แล้วได้นอนกี่ชั่วโมง ? ไอ้ประเภทนอนทั้งกลางวันนอนทั้งกลางคืนแล้วยังไม่พอนี่ ต้องนึกถึงพระพุทธเจ้าบ้างนะ พระองค์ไม่ได้สอนให้พวกเรานอน ไอ้ที่จะให้พวกเรานอนส่วนใหญ่ก็ญาติพวกเรานั่นแหละ ถึงเวลาจัดบวชพระ แหม..แบกมาเลย ทั้งเสื่อทั้งหมอน แย่งกันถือหมอนอีกต่างหาก..!

    กระผม/อาตมภาพเจอนาคอยู่รายหนึ่ง หมอน ๑๑ ใบครับ สาวถือหมอน ๑๑ คน..! ก็เลยไม่รู้ว่าสึกไปแล้วจะไปกับคนไหน ? แปลว่าญาติเขาตั้งใจจะให้มานอน ไม่ใช่พระพุทธเจ้าตั้งใจให้นอน ฉะนั้น..ต่อไปถ้าหากว่าใครจะบวชใหม่ บอกญาติโยมทั้งหลายด้วย บอกว่าให้แบกจอบ แบกเสียม เครื่องมือก่อสร้างอะไรมาก็ได้ ถวายพระท่านไป จะได้ไม่เอาแต่นอน..! หรือจะเป็นไม้กวาด ไม้ถูพื้นอะไรก็ยังดี..!

    คราวนี้เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงปฏิบัติกิจทั้ง ๕ อย่างตลอดพระชนมชีพ พวกเราเองที่ถือว่าเป็นศากยบุตรพุทธชิโนรส เราต้องดูว่าเราทำอะไรได้อย่างที่พ่อของเราทำบ้าง ? ออกบิณฑบาตเป็นปกติหรือเปล่า ? มีการเทศนาสั่งสอนญาติโยมไหม ? มีการสอนพรหม สอนเทวดาหรือเปล่า ? เอาแค่เทศน์ให้โยมฟังก็ไม่รอดแล้วกระมัง..!?

    สมัยออกธุดงค์ใหม่ ๆ บางสถานที่เขามาขอให้กระผม/อาตมภาพเทศน์ให้ฟัง บอกกับพวกเขาว่า "ยังเป็นพระบวชใหม่อยู่ ไม่มีความรู้หลักธรรมอะไรที่จะไปบังอาจสอนท่านทั้งหลาย" เขาก็เปลี่ยนใหม่ว่า "ขอให้สวดพระสูตรใดพระสูตรหนึ่งเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าก็ได้" บังเอิญกระผม/อาตมภาพตั้งแต่เป็นนาคก่อนบวชก็สวด ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนานได้หมดแล้ว..ค่อยยังชั่วหน่อย ก็เลยสวดให้เขาทั้งหลายที่ตั้งใจฟัง พรหมเทวดาเวลาฟังธรรมเขายืนฟังครับ ยืนพนมมือฟังเป็นระเบียบเรียบร้อยมาก จะมีกราบก็เฉพาะตอนที่มาหรือลากลับเท่านั้น
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,349
    ค่าพลัง:
    +26,112
    ดังนั้น..เราจะเห็นว่าโดยโบราณของเรา การยืนเป็นการแสดงความเคารพ การปฏิบัติต่อวัดวาอาราม หรือพระภิกษุสามเณร ก็จะมีข้อที่เรายึดถือปฏิบัติว่าเป็นการแสดงความเคารพ อย่างเช่นว่าถ้าถือร่มก็ลดร่มลง ถ้าห่มคลุมเข้าในวัด ก็ต้องห่มเฉวียงบ่า จะต้องไม่ใส่รองเท้า เมื่อเช้านี้โยมจะใส่บาตร กระผม/อาตมภาพเดินเลยไป ทิดเป้ (ฉัตรมงคล สุขเกษม) ยังสงสัยว่าทำไมหลวงพ่อไม่รับบาตร ? เดินเลยไปหน่อยจึงอธิบายให้ฟังว่า เขาไม่ยอมถอดรองเท้า ถ้ายังหวงรองเท้าก็ไม่ต้องใส่บาตรหรอก..!

    เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ บางทีสิ่งที่เขายึดถือและทำต่างกับเรา เรามักจะไปคิดว่าเขาจะต้องนั่งฟังพับเพียบเรียบร้อย ในเมื่อเป็นเช่นนั้น สวดมนต์ได้จะได้เปรียบ ถ้าออกป่าแล้วไม่มีปัญญาเทศน์ให้พรหมเทวดาฟัง ก็สวดมนต์ให้เขาฟัง..ใช้ได้เหมือนกัน โดยเฉพาะถ้าสวดมนต์ก็ของแท้เลย คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น

    ดังนั้น..ในเรื่องของการประพฤติปฏิบัติของตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นการขัดเกลา กาย วาจา หรือว่าใจอย่างไรก็ตาม ต้องดูตัวอย่างองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ดูตัวอย่างพระเถระสมัยพุทธกาล อย่างพระอนุรุทธเถระ นั่งโดยไม่นอน ตลอด ๕๕ ปี..! ไหวไหม ? แล้วลองคิดดูว่า ๕๕ ปีที่ท่านบวช แล้วท่านอายุเท่าไร ? กว่าจะบวชได้ ต่ำสุดก็ ๒๐ ปี
    ดูตัวอย่างหลวงปู่หลวงพ่อ ครูบาอาจารย์ของเรา แล้วปฏิบัติตามนั้น ไม่ใช่ว่าต้องรอให้มาจ้ำจี้จ้ำไช ปากเปียกปากแฉะกันอยู่ทุกวัน ถ้าอย่างนั้นโอกาสที่จะเอาดีแทบไม่มีเลย เพราะว่าเราไม่สอนตัวเราเอง

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายพระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันเสาร์ที่ ๘ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๖๖
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...