เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 25 มกราคม 2024.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,521
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,346
    ค่าพลัง:
    +26,109
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๗


     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,521
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,346
    ค่าพลัง:
    +26,109
    วันนี้ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗ กระผม/อาตมภาพเดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อที่จะไปทำการวางศิลาฤกษ์ที่วัดศิลาวาส ตำบลปิงโค้ง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ จึงไม่ได้อยู่ลงอุโบสถทบทวนพระปาฏิโมกข์ ทั้งที่วันนี้ตรงกับวันพระใหญ่ คือ วันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนยี่ (๒) จำเป็นต้องมอบฉันทะให้กับพระภิกษุวัดท่าขนุน ๓๗ รูป ลงอุโบสถเพื่อทบทวนพระปาฏิโมกข์แทน

    คำว่า มอบฉันทะ ในที่นี้ก็คือ มอบความไว้วางใจให้กับทางคณะสงฆ์ว่า ถ้ามีสิ่งหนึ่งประการใดที่จะลงมติในที่ประชุมสงฆ์นั้น ๆ กระผม/อาตมภาพขอมอบความไว้วางใจให้กับคณะสงฆ์เสียงข้างมาก เพื่อให้ท่านตัดสินใจในการนั้น ๆ แทนตัวกระผม/อาตมภาพเอง ส่วนตนเองนั้น ก็ยังต้องมา "อธิษฐานอุโบสถ" อีกต่างหาก

    เรื่องนี้อย่าว่าแต่ญาติโยมที่จะต้องงุนงงสงสัยกับการกระทำเช่นนี้เลย แม้แต่พระภิกษุ ถ้าหากว่ายังเป็นผู้ใหม่อยู่ บางทีก็อาจจะงุนงงสงสัยเช่นกัน เนื่องเพราะว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบัญญัติการลงอุโบสถเอาไว้ เพื่อที่ให้คณะสงฆ์ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง ก็คือถ้าหากว่าจำพรรษาอยู่แต่ผู้เดียว เมื่อถึงวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ - แรม ๑๕ ค่ำ หรือว่าแรม ๑๔ ค่ำในวันเดือนขาด ให้บุคคลนั้นอธิษฐานอุโบสถเพียงผู้เดียว เรียกว่า "ปุคคลอุโบสถ" โดยที่ตั้ง นะโม ฯ ๓ จบ แล้วตั้งใจรำลึกว่า "อชฺช เม อุโปสโถ" วันนี้เป็นวันอุโบสถของเรา

    ถ้าหากว่าอยู่กัน ๒ รูป ให้บอกบริสุทธิ์ต่อกัน แล้วค่อยอธิษฐานอุโบสถ การบอกบริสุทธิ์นั้น อย่างเช่นว่า กระผม/อาตมภาพเป็นผู้อาวุโสกว่า ด้วยอายุพรรษา ก็จะบอกกับผู้น้อยพรรษากว่าว่า "ปริสุทฺโธ อหํ อาวุโส ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรหิ" ถ้าหากว่าเป็นผู้น้อยกว่า ก็จะบอกว่า "ปริสุทฺโธ อหํ ภนฺเต ปริสุทฺโธติ มํ ธาเรถ" แล้วก็ไปอธิษฐานอุโบสถของใครของมัน

    แต่ถ้าหากว่าอยู่กัน ๓ รูป จำต้องตั้งญัตติก่อน ก็คือภิกษุทั้ง ๓ รูปมาอยู่รวมกัน แล้วมีภิกษุผู้หนึ่งตั้งญัตติว่า "สุณาตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส" ถ้าหากว่าเป็นวันแรม ๑๔ ค่ำก็ใช้ จาตุทฺทโส "สุณาตุ เม ภนฺเต อายสฺมนฺตา อชฺชุโปสโถ ปณฺณรโส ยทายสฺมนฺตานํ ปตฺตกลฺลํ มยํ อญฺญมญฺญํ ปาริสุทฺธิ อุโปสถํ กเรยฺยาม" เมื่อตั้งญัตติแล้วก็ค่อยบอกความบริสุทธิ์กันตามลำดับพรรษา อย่างที่เมื่อครู่นี้ได้กล่าวมา

    การที่อยู่ ๒ หรือ ๓ รูป แล้วทำอุโบสถนั้น เรียกกันว่า "คณะอุโบสถ" แต่ถ้าหากว่าอยู่ ๔ รูปขึ้นไป ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นพึงแสดงอาบัติเสียก่อน ถ้าหากว่ามีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งต้องอาบัติสังฆาทิเสส จำเป็นต้องสารภาพในท่ามกลางสงฆ์ก่อนว่า ข้าพเจ้าต้องอาบัติสังฆาทิเสสข้อนั้น ๆ แล้วขอคณะสงฆ์เพื่ออยู่ทบทวนพระปาฏิโมกข์ได้ แต่ตามที่กระผม/อาตมภาพปฏิบัติมานั้น บุคคลผู้ต้องอาบัติสังฆาทิเสส จะให้ท่านแยกออกไป โดยที่ให้ไปอธิษฐานอุโบสถอยู่เพียงผู้เดียวไปเลย
     
  3. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,521
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,346
    ค่าพลัง:
    +26,109
    การที่ทำ "สังฆอุโบสถ" ในลักษณะ ๔ รูปขึ้นไปนั้น ก็จะต้องมีวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้อง อย่างเช่นว่า ถ้ากำลังสวดปาฏิโมกข์ค้างอยู่ มีภิกษุอื่นเข้ามา ถ้าหากว่าจำนวนเท่ากันหรือน้อยกว่า องค์แสดงพระปาฏิโมกข์ก็ว่าต่อไปจนจบได้เลย แต่ถ้าหากว่าภิกษุอื่นที่เข้ามาร่วมลงพระอุโบสถนั้นมีมากกว่า ก็ให้ทำการขึ้นต้นในการแสดงพระปาฏิโมกข์เสียใหม่

    ในการกระทำลักษณะอย่างนี้ ในพระวินัยมีบัญญัติไว้ว่า เมื่อพระอาทิตย์คล้อยไปทางตะวันตก ค่อนบ่ายแล้ว ก็คือเข้าไปในช่วงบ่าย จึงให้ทบทวนพระปาฏิโมกข์ได้ เผื่อว่าผู้ที่ร่วมเข้าทบทวนพระปาฏิโมกข์ด้วยกันนั้น ท่านมาจากที่อื่น วัดอื่น ซึ่งอยู่ไกล ไม่ได้ใกล้เคียงซึ่งสามารถเดินทางไปทันเวลา ก็จะได้ลงฟังพระปาฏิโมกข์เพื่อทบทวนศีลกันได้ทันท่วงที เท่าที่กระผม/อาตมภาพเจอมา หลายต่อหลายวัด ท่านก็แสดงพระปาฏิโมกข์กันในเวลาค่ำไปเลย หมดเรื่องหมดราวกันไป แต่ถ้าหากว่าเป็นอย่างของวัดท่าขนุน ก็จะนัดกันลงอุโบสถที่เวลาบ่ายโมงครึ่ง เพื่อที่จะดำเนินการได้ถูกต้องตามพระวินัย

    คราวนี้ในส่วนของวัดท่าขนุนนั้น ถ้าหากว่าผู้ทรงพระปาฏิโมกข์กำลังแสดงปาฏิโมกข์ โดยที่การจบแต่ละอุทเทสนั้นจะมีการถามว่า ตตฺถายสฺมนฺเต ปจฺฉามิ กจฺจิตฺถ ปริสุทฺธา ? ทุติยมฺปิ ฯ ตติยมฺปิ ฯ ก็คือท่านทั้งหลายมั่นใจแล้วหรือว่าสิกขาบทเหล่านี้บริสุทธิ์ ? ถ้าเราระลึกได้ว่าเราล่วงสิกขาบทข้อใดข้อหนึ่ง ก็พึงสารภาพในท่ามกลางสงฆ์แล้วแสดงอาบัติ หลังจากนั้นก็จะมีการสวดพระปาฏิโมกข์ เพื่อทบทวนศีลกันต่อไป แต่ว่าในสมัยนี้พวกเรามักจะทำการแสดงคืนอาบัติเสียตั้งแต่ก่อนเริ่มแสดงพระปาฏิโมกข์ เพื่อที่จะได้หมดเรื่องหมดราวไปเลย

    การแสดงพระปาฏิโมกข์นั้น ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่ก็ตั้ง นะโมฯ ๓ จบ แล้วก็ประกาศในท่ามกลางสงฆ์เพื่อขอแสดงพระปาฏิโมกข์ แต่ว่ากระผม/อาตมภาพได้อยู่ทั้งพระอารามหลวง และวัดที่เป็นธรรมยุติกนิกาย ท่านจะมีการถามตอบกันระหว่างผู้แสดงพระปาฏิโมกข์ ซึ่งขอโอกาสแสดงพระปาฏิโมกข์ในท่ามกลางสงฆ์

    ในเมื่อถึงเวลาก็จะประกาศว่า "โอกาสํ เม ภนฺเต เถโร เทตุ ปาฏิโมกฺขํ อุทฺเทสิตุํ ฯ" เหล่านี้เป็นต้น จะมีการถามตอบกันเป็นระยะไป อย่างเช่นว่าตามประทีปไว้เรียบร้อยแล้วหรือไม่ ? ตั้งน้ำใช้น้ำฉันเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ? จัดอาสนะไว้พร้อมแล้วหรือไม่ ? ซึ่งในปัจจุบันนี้ สิ่งทั้งหลายเหล่านี้เราทำไว้เรียบร้อยแล้ว จึงมักที่จะประกาศในท่ามกลางสงฆ์ ขอโอกาสแสดงพระปาฏิโมกข์ไปเลยทีเดียว
     
  4. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,521
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,346
    ค่าพลัง:
    +26,109
    เรื่องของพระปาฏิโมกข์นั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพื่อที่ให้สงฆ์ทั้งหลาย มีโอกาสที่จะได้ทบทวนศีลของตนทุกครึ่งเดือน ถ้าภาษาบาลีเก่าใช้คำว่า ทุกกึ่งเดือน คือ อัฑฒมาสัง เพื่อที่เราจะได้แสดงอาบัติ ไม่ให้เผลอติดตัวไปจนสิ้นชีวิต

    อย่างในธรรมบทเรื่องเอรกปัตนาคราช ซึ่งในชาติก่อนท่านเป็นพระภิกษุ ได้ไปดึงต้นตะไคร้น้ำ จนกระทั่งขาดติดมือมา ตรงนี้ขอยืนยันคำว่าต้นตะไคร้น้ำ ไม่ใช่ตะไคร่น้ำ เนื่องเพราะว่าตะไคร่น้ำนั้น ก็คือวัตถุสีเขียว ที่เป็นเส้นเล็กละเอียดยาว ๆ เหมือนอย่างกับเส้นผมหรือหนวด แต่ว่าต้นตะไคร้น้ำนั้น เป็นพืชในตระกูลต้นอ้อกอแขม เป็นคนละประเภทกัน

    เอรกปัตนาคราชในช่วงที่เป็นพระภิกษุนั้น ท่านไปทำใบต้นตะไคร้น้ำขาด แล้วท่านไม่มีโอกาสแสดงอาบัติ เพราะว่าอยู่เพียงผู้เดียว จึงทำให้ผลของการจำพรรษาอยู่ถึง ๒๐,๐๐๐ ปี ในยุคนั้นของท่าน ไม่สามารถที่จะมีสุคติเป็นที่ไป เพราะว่าศีลไม่บริสุทธิ์ จนกระทั่งต้องไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน คือเป็นเอรกปัตตนาคราช ท่านจึงพยายามที่จะเสาะหาองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาตลอดระยะเวลาอันยาวนานนับพุทธันดร เพื่อที่จะตนเองจะได้เข้าไปฟังธรรม เพื่อสร้างบุญกุศลให้เพียงพอที่จะหลุดพ้นจากสภาวะของสัตว์เดรัจฉาน

    จนกระทั้งในยุคปัจจุบันนี้มาพบกับองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโคตมะ ซึ่งได้แนะนำให้อุตรมาณพไปร้องเพลงแก้กับนางนาควิกา ซึ่งเป็นธิดาของเอรกปัตนาคราช ซึ่งเอรกปัตนาคราช ด้วยความที่บวชมานาน ท่านจึงผูกโคลงกลอนขึ้นมาในลักษณะปริศนาธรรม ถ้าไม่ใช่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว ย่อมไม่มีใครที่สามารถจะแก้บทเพลงนี้ได้

    เมื่อท่านได้ฟังอุตรมาณพร้องเพลงแก้ได้ ก็ดีอกดีใจว่ามีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้ว จึงได้ขอให้อุตรมาณพพาไปเฝ้าองค์สมเด็จพระประทีปแก้ว ครั้นได้ฟังธรรมแล้ว อุตรมาณพบรรลุพระโสดาบัน เอรกปัตนาคราช ก็มอบนางนาควิกาให้กับอุตรมาณพเป็นเนื้อคู่ ส่วนตนเองก็กลับไปจำศีลภาวนาในสถานที่ของตน ซึ่งอานิสงส์ในการฟังธรรม นอกจากทิพยสมบัติจะดีขึ้นแล้ว เมื่อละจากอัตภาพสัตว์เดรัจฉาน ได้แก่การเป็นพญานาค ก็จะสามารถที่จะไปเป็นเทวดา หรือว่าไปเกิดเป็นมนุษย์ใหม่ได้
     
  5. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    17,521
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,346
    ค่าพลัง:
    +26,109
    ตรงจุดนี้ญาติโยมทั้งหลายที่เคารพบูชาพญานาคอยู่ อย่าลืมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระบรมครู ก็คือองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปด้วย หาไม่แล้ว กำลังใจของท่านไปยึดเหนี่ยวอยู่กับพญานาคอย่างเดียว มีโอกาสที่จะไปเกิดในเขตของพญานาค กลายเป็นสัตว์เดรัจฉานไปโดยใช่เหตุ..!

    เรื่องนี้อาจจะทำให้ท่านทั้งหลายต้องเสียเวลาเป็นหมื่นเป็นแสนปี กว่าที่จะได้กลับมาเป็นคนอีก ดังนั้น..เราจะเคารพบูชาพญานาค ก็เคารพบูชาไป แต่ให้รำลึกเป็นภาพองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าปางนาคปรกก็ได้ อย่างน้อยการที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า จะได้เป็นเครื่องยึดโยงใจ ให้เราท่านทั้งหลายมีสุคติเป็นที่ไป

    วันนี้ต้องขออภัยต่อญาติโยมทั้งหลาย ที่ได้ประโยชน์จากเสียงธรรมจากวัดท่าขนุนน้อยไปหน่อย เพราะว่าไปกล่าวถึงหลักปฏิบัติของพระภิกษุ ซึ่งท่านทั้งหลายที่ดำเนินชีวิตต่างจากพระภิกษุ ก็อาจจะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ ซ้ำยังมีบทพระบาลีเข้ามาแทรกเสียเยอะแยะไปหมด

    กระผม/อาตมภาพเมื่อเดินทางไปถึงจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ก็ยังจะต้องทำการต้อนรับ
    พระภิกษุและญาติโยมทั้งหลาย ที่จะมากราบไหว้และทำบุญด้วยอีกต่างหาก

    สำหรับวันนี้ก็ขอเรียนถวายแก่พระภิกษุสามเณรของเรา และบอกกล่าวแก่ญาติโยมแต่เพียงเท่านี้

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เสียงธรรมจากวัดท่าขนุน
    วันพฤหัสบดีที่ ๒๕ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๖๗
    (ถอดจากเสียงเป็นอักษร โดย เผือกน้อย)
     
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...