รบกวนสอบถามเรื่องเทวดาสิงร่างเพื่อถามปัญหา

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย บดิน25, 23 สิงหาคม 2021.

  1. บดิน25

    บดิน25 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2018
    โพสต์:
    15
    ค่าพลัง:
    +47
    ผมขอรบกวนสอบถามด้วยนะครับ ผมเคยอ่านเจอเมื่อนานมาแล้วเรื่องเทวดา ที่มาสิ่งร่าง กุมารีหรืออะไรนี่ละครับ เพื่อสอบถามปัญหาพระพุทธเจ้า คือ อยู่ในบทใดของพระไตรปิฎกครับ ขอบคุณครับ
     
  2. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,218
    กระทู้เรื่องเด่น:
    251
    ค่าพลัง:
    +23,891
    ผมขออนุญาตออกตัวกับคุณ @บดิน25 ก่อนนะครับว่าทั้งหมดนี้นั้นเป็นแค่ความคิดเห็นส่วนตัวของกัลยาณมิตรธรรมดาๆคนหนึ่งที่พอจะมีความรู้อยู่บ้างในทางธรรมะนะครับ (^ ^) ขอให้คุณ @บดิน25 ลองพิจารณาอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์นะครับ _/|\_

    ... เท่าที่ผมเคยทราบมานะครับ… พระพุทธเจ้าท่านมีวัตรปฏิบัติประจําวันอยู่ 5 ประการครับ เรียกกันว่า “พุทธกิจ” ครับ


    พุทธกิจ 5 ประการของพระองค์ท่านที่ทรงบำเพ็ญเป็นประจำในแต่ละวันนั้นมีระบุไว้ว่า…

    1. ปุพฺพณฺเห ปิณฺฑปาตญฺจ เวลาเช้าเสด็จบิณฑบาต

    2. สายณฺเห ธมฺมเทสนํ เวลาเย็นทรงแสดงธรรม
    3. ปโทเส ภิกฺขุโอวาทํ เวลาค่ำประทานโอวาทแต่เหล่าภิกษุ
    4. อฑฺฒรตฺเต เทวปณฺหนํ เที่ยงคืนทรงตอบปัญหาเทวดา ตอบปัญหา—หรือสนทนาธรรมกับเทวดา
    5. ปจฺจุสฺเสว คเตกาเล ภพฺพาภพฺเพ วิโลกนํ จวนสว่างทรงตรวจพิจารณาสัตว์ที่สามารถ และที่ยังไม่สามารถบรรลุธรรม อันควรจะเสด็จไปโปรดหรือไม่

    สรุปว่า เอเต ปญฺจวิเธ กิจฺเจ วิโสเธติ มุนิปุงฺคโว พระพุทธเจ้าองค์พระมุนีผู้ประเสริฐทรงยังกิจ 5 ประการนี้ให้หมดจด (อ้างอิงข้อมูลจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตโต) หน้า 189 – 190)


    ... จะเห็นได้ว่าพระพุทธเจ้านั้นทรงตอบปัญหาแก่เทวดาและมนุษย์ได้ทุกเมื่อครับ ท่านจึงได้สมญาว่า “สัตถา เทวมนุสสานัง” ซึ่งแปลว่า “เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” ครับ
     
  3. rachotp

    rachotp เป็นที่รู้จักกันดี สมาชิก Premium ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    1,218
    กระทู้เรื่องเด่น:
    251
    ค่าพลัง:
    +23,891
    ... สำหรับเทวดาที่มาถามตอบปัญหากับพระพุทธเจ้านั้นมีอยู่ “หลายชั้น” ครับ และมากันแบบหลายจุดประสงค์ครับ ทั้งเทวดาชั้นกามาพจร เทวดาชั้นรูปาวจร และเทวดาชั้นอรูปาวจร แต่ละตนแต่ละท่านนั้นก็มาด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไปครับ บางท่านเป็นทุกข์ กลัวจะต้องพลัดพรากจากสมบัติทิพย์ของตนเองจึงมาทูลถามถึงวิธีที่จะทาให้ดำรงอยู่ในสมบัติทิพย์นานๆ บางท่านเกิดความสงสัยในธรรมจึงมาทูลถามเพื่อแก้ข้อสงสัยนั้น บางท่านมาทูลถามเพื่อทดลองภูมิธรรมของพระพุทธเจ้าก็มีครับ

    อาจไล่ระดับชั้นของปัญหาไปได้ดังนี้ครับ

    ปัญหาของพระพรหม

    ในพระไตรปิฎกระบุไว้เหมือนกันครับว่า พระพรหมกับพระพุทธเจ้ามีความสัมพันธ์กันในการถามตอบปัญหาอยู่บ้าง แต่มีปรากฏไม่มากเหมือนเทวดาชั้นล่างๆ อาจเป็นเพราะว่าในระดับชั้นพรหมนั้นท่านก็เหมือนกับผู้รู้ที่เรียนและศึกษามามากแล้ว ปัญหาที่จะถามพระพุทธองค์จึงไม่มากเท่ากับเหล่าเทวดาชั้นล่างๆครับ

    การตอบปัญหาของพระพุทธเจ้ากับพระพรหมนั้นมีข้อความปรากฏอยู่ในหลายพระสูตรด้วยกันครับ พระสูตรที่สำคัญนั้นชื่อว่า “พกสูตร” ปัญหาในพระสูตรนี้เป็นไปเพื่อสนองความอยากรู้ของ พกพรหม ครับ


    ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวันเมืองสาวัตถี พระองค์ได้ทรงทราบความคิดคำนึงของท้าวพกพรหม จึงเสด็จไปปรากฏที่พรหมโลกและในครั้งนั้นพกพรหมได้ทูลถามถึงเรื่องอายุขัยของพรหมดูว่า ระดับพรหมนั้นมีอายุขัยยาวนานมากเท่าใด

    พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า อายุของพรหมนั้นสั้นนักไม่ยืนยาวเลย เมื่อสิ้นอายุขัยในพรหมโลกแล้วก็สามารถไปบังเกิดในที่อื่นๆ เช่น สามารถเกิดในอบายภูมิได้เหมือนกัน พกพรหมจึงทูลถามพระพุทธเจ้าต่อไปว่า

    “พระองค์ตรัสว่า เราเป็นผู้มีปกติเห็นในสิ่งที่ไม่มีที่สิ้นสุด ล่วงแล้วซึ่งชาติชราและความเศร้าโศกได้แล้ว อะไรเป็นข้อปฏิบัติในอดีตของข้าพระองค์ที่ทาให้ข้าพระองค์มาบังเกิดที่พรหมโลกนี้พระเจ้าข้า”

    พระพุทธองค์จึงเฉลยถึงข้อปฏิบัติในการทำให้เกิดมาเป็นพรหมก็คือ การหาน้ำให้คนหิวน้ำได้ดื่ม การช่วยเหลือชาวบ้านที่ถูกโจรจับไป การช่วยเหลือชาวเรือให้พ้นจากพญานาคร้าย และความเป็นผู้มีปัญญาดีของท่าน จึงส่งผลให้ท่านมาบังเกิดที่พรหมโลกนี้

    ผลจากการฟังคำตอบปัญหาจากพระพุทธเจ้าทำให้พระพรหมเกิดความเห็นชอบขึ้นและทำให้พร้อมจะดำรงไว้ซึ่งธรรมแห่งความเป็นพรหมต่อไป นั่นก็คือ พรหมวิหาร 4 นั่นเองครับ

    พระพรหมมาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า บางครั้งก็มีจุดประสงค์อื่นที่ไม่ใช่เพื่อจะฟังธรรมหรือถามปัญหาเท่านั้น แต่บางทีพระพรหมท่านเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเพื่อกราบทูลให้ทรงแสดงธรรมโปรดสัตว์บ้าง เข้าเฝ้ากราบทูลเพื่อแสดงความรู้ของตนให้พระพุทธเจ้าพอพระทัยบ้าง

    ยกตัวอย่างเช่น ใน “พรหมายาจนสูตร” ระบุไว้ว่า ท้าวสหัมบดีพรหมเข้าเฝ้ากราบทูลให้พระพุทธเจ้าไปแสดงธรรมโปรดสัตว์เพื่อสัตว์ทั้งหลาย เมื่อสัตว์ทั้งหลายได้ฟังแล้วธรรมแล้วก็จะเป็นผู้รู้ธรรมนำมาซึ่งประโยชน์สุขต่อไป ซึ่งนับเป็นความเมตตาแบบหนึ่งของความเป็นพรหม เมื่อตนเองไม่สามารถแสดงธรรมได้จึงขอให้พระพุทธเจ้าช่วยแสดงธรรมโปรดสัตว์ครับ


    ปัญหาของพระอินทร์


    พระอินทร์นับว่าเป็นเทวดาเจ้าปัญหาครับ อาจเป็นเพราะว่าท่านมีเทวดาบริวารพากันมาถามปัญหากับท่านมากมาย ตัวท่านเองก็มีความสงสัยมากในเรื่องราวต่างๆ ของความเป็นเทวดา ทั้งเรื่องความเป็นอยู่ สาเหตุแห่งผลกรรมดี การได้รับผลกรรมชั่วต่างๆ ของมนุษย์และเทวดา บางทีก็เลยเถิดถามถึงข้อปฏิบัติของความเป็นภิกษุที่ดีว่าภิกษุที่ดีควรปฏิบัติตนอย่างไรบ้าง เป็นต้นครับ

    พระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาของพระอินทร์ได้หมดทุกข้อทุกแนวคำถามครับ เช่นครั้งหนึ่งพระพุทธองค์ทรงย้อนคำถามกลับไปยังพระอินทร์บ้างว่า

    “ทรงจำได้หรือไม่ว่าเคยตรัสถามปัญหาเหล่านี้กับเหล่าสมณะพราหมณ์เหล่าอื่นมาแล้ว”

    พระอินทร์ก็ทูลตอบว่าจำได้ คือ ตัวของพระอินทร์เคยตรัสถามสมณะพราหมณ์ที่พระอินทร์เคยเข้าใจว่าเป็นผู้บรรลุธรรมแล้วซึ่งความจริงยังไม่ได้บรรลุ พอเหล่าพราหมณ์พวกนั้นทราบว่าคนที่ตนเองกำลังจะตอบคำถามเป็นพระอินทร์ ก็เลยยอมศิโรราบยอมยกตนเองให้เป็นสาวกของพระองค์ แล้วพราหมณ์เหล่านั้นก็ประกาศยืนยันว่าพระอินทร์ได้บรรลุเป็นพระโสดาบันแล้วเพราะได้สดับพระธรรมเทศนาครั้งนี้ไปครับ

    พระพุทธเจ้าจึงได้แสดงธรรมโปรดพระอินทร์ ซึ่งสรุปใจความของพระธรรมได้ว่า “สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงก็ย่อมมีความดับเป็นเป็นธรรมดา”


    พระอินทร์ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจบแล้วก็ได้ใช้พระหัตถ์ตบแผ่นดินเปล่งอุทาน 3 ครั้งเป็นการบูชาสาธุการในพระพุทธเจ้าว่า “นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมฺพุทธัสสะ”


    การฟังการพยากรณ์ปัญหาจากพระพุทธเจ้าในครั้งนั้น นับว่าส่งผลอันยิ่งใหญ่ทำให้พระอินทร์และเทวดาอีกประมาณ 8 หมื่นตน ได้เกิดดวงตาเห็นธรรม เพราะมีความเข้าใจถูกต้องในเรื่องกฎของไตรลักษณ์ขึ้นมาแล้วนั่นเองครับ

    บางปัญหาที่พระอินทร์ท่านถามกับพระพุทธเจ้าก็เป็นปัญหาในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่ให้แง่คิดโดยจุดมุ่งหมายการถามก็คือ “ถามเพราะอยากรู้” เช่น คำถามใน “รามเณยยกสูตร” คือพระสูตรที่ว่าด้วยสถานที่อันรื่นรมย์พระสูตรนี้พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่ท้าวสักกะ ขณะประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหารครับ


    ในครั้งนั้นพระอินทร์ได้เสด็จเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้วถามคำถามว่า “สถานที่เช่นไรหนอเป็นสถานที่น่ารื่นรมย์”


    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “อารามอันวิจิตร ป่าอันวิจิตร หรือสระโบกขรณีที่สร้างอย่างดียังไม่ถึงเศษส่วน 6 แห่งภูมิสถานอันรื่นรมย์ของมนุษย์ พระอรหันต์ทั้งหลายอยู่ในที่ใด เป็นบ้านหรือเป็นป่า เป็นที่ลุ่มหรือที่ดอนก็ตาม ที่นั้นเป็นภูมิสถานที่น่ารื่นรมย์”


    โดยนัยยะคำตอบนี้พระพุทธองค์ทรงแสดงให้พระอินทร์เห็นว่า ต่อให้อยู่ในสถานที่ที่สวยงามวิจิตรปานใดก็ตามก็ยังไม่น่าสงบร่มเย็นเท่าการได้อยู่ในที่ที่คนดีเขาอยู่กัน คือการอยู่กับพระอรหันต์ผู้ละกิเลสแล้วนั่นเอง พระอรหันต์นั้นต่อให้ไปอยู่ ณ ที่แห่งใดที่ได้ชื่อว่าสกปรก ไม่รื่นรมย์ อยู่ๆ ไปเดี๋ยวก็สงบร่มเย็น รื่นรมย์ไปเองครับ

    บางคำถามของพระอินทร์ก็นำไปสู่จุดมุ่งหมายอื่นๆ นอกเหนือจากความอยากรู้ นั่นก็คือถามเพื่อให้ถึงความหลุดพ้นได้เหมือนกันดังเช่นที่ปรากฏใน “สักกปัญหสูตร สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค”


    ครั้งหนึ่งพระอินทร์ได้ทูลถามปัญหาว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ยังไม่ปรินิพพานในปัจจุบันและเหตุปัจจัยใดบ้างที่ทำให้สัตว์บางจำพวกในโลกนี้ปรินิพพานในปัจจุบันพระเจ้าข้า”


    พระพุทธเจ้าทรงตรัสตอบว่า “เมื่อยังเพลิดเพลินรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ และธรรมารมณ์อันเป็นอายตนะภายนอกที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ยังเพลิดเพลิน เชยชม ยึดติดอยู่ในอายตนะภายนอกดังกล่าวนี้ วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นความยึดมั่นตัณหานั้นก็มีอยู่จึงยังมีอุปาทาน (ความยึดมั่น) ย่อมไม่ปรินิพพานในปัจจุบัน


    เมื่อไม่เพลิดเพลินรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะและธรรมารมณ์อันเป็นอายตนะภายนอกที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ชวนให้รัก ชักให้ใคร่ พาใจให้กำหนัด ไม่เพลิดเพลิน ไม่เชยชม ไม่ยึดติดอยู่ในอายตนะภายนอกดังกล่าวนี้ วิญญาณที่อาศัยตัณหานั้นก็ไม่มี ความยึดมั่นตัณหาก็ไม่มี จึงไม่มีอุปาทาน (ความยึดมั่น) ย่อมปรินิพพานในปัจจุบัน”

    สรุปใจความแห่งธรรมง่ายๆ ก็คือ เมื่อยังยึดติดกับประสาทสัมผัสทั้งหลาย และยังยึดติดในกามคุณอยู่ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป แต่เมื่อใดที่ไม่ยึดติดในกามคุณ ในประสาทสัมผัสทั้งหลายก็ไม่มีความยึดมั่นได้แล้วก็ทำให้ถึงนิพพานได้นั่นเองครับ

    การตอบปัญหาในลักษณะนี้ของพระพุทธเจ้าต่อพระอินทร์ ทุกคำถามล้วนเป็นไปเพื่อสนองความอยากรู้เพื่อความหลุดพ้นทั้งสิ้น และในการตอบปัญหานี้มีพระพุทธเจ้าเท่านั้นที่ตอบได้ เพราะเป็นวิสัยของพระพุทธเจ้าไม่ใช่วิสัยของพระอินทร์ หรือเทวดาอื่นๆ ที่จะตอบได้ เรียกได้ว่าเป็นองค์ความรู้ที่สูงเกินกว่าภูมิเทวดาจะเข้าใจได้นั่นเองครับ

    ปัญหาของเทวดาที่ปรากฏชื่อ

    ปัญหาของเทวดาที่ปรากฏชื่อนั้น เป็นปัญหาระดับที่มีความลึกน้อยกว่าของพระอินทร์ จุดมุ่งหมายในการถามก็ต่างกัน ส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อสนองความอยากรู้และเพื่อพัฒนาตนเอง ปัญหาบางอย่างก็ถามหาในสิ่งที่เป็นที่สุด และถ้าเป็นเทวดาที่มีภูมิปัญญาทางธรรมสูงหน่อยก็ถามเพื่อเหตุแห่งความหลุดพ้นครับ

    ปัญหาที่เทวดาชื่อดังบางองค์ถามเพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาตนเอง ก็คือปัญหาของ “มาฆเทพบุตร” จนปรากฏชื่อของเทวดาองค์นี้เป็นชื่อพระสูตรเลยว่า “มาฆสูตร” คือตั้งชื่อพระสูตรเอาตามเทวดาที่ถามคำถามนั่นเอง


    มาฆเทพบุตร ถามพระพุทธเจ้าว่า “บุคคลฆ่าอะไรได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าอะไรได้จึงไม่เศร้าโศก ข้าแต่พระโคดม พระองค์ทรงพอพระทัยการฆ่าธรรมอย่างหนึ่งคืออะไร”


    พระพุทธเจ้าตอบว่า “บุคคลฆ่าความโกรธได้จึงอยู่เป็นสุข ฆ่าความโกรธได้จึงไม่เศร้าโศก ท้าววัตรภู (พระอินทร์) และ พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญการฆ่าความโกรธได้ซึ่งมีรากเป็นพิษ มียอดหวาน เพราะบุคคลฆ่าความโกรธนั้นได้แล้ว จึงไม่เศร้าโศก”


    พระสูตรนี้พระพุทธองค์ทรงชี้ให้เห็นว่า การฆ่าความโกรธได้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและส่วนรวม คือตนเองก็มีจิตที่ผ่องใสไม่เศร้าหมองเพราะความโกรธ และเมื่อฆ่าความโกรธได้ก็ย่อมเป็นประโยชน์ที่จะไม่ใช้ความโกรธนั้นไปทำร้ายคนอื่นหรือส่วนรวมเป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและสังคมได้ครับ

    ปัญหาบางอย่างเทวดาก็ถามพระพุทธเจ้าหาในความเป็นที่สุดก็มี เหมือนที่มนุษย์ชอบถามว่าอะไรๆ บ้างที่เป็นที่สุดในโลก เทวดาก็ถามพระพุทธเจ้าในลักษณะเดียวกันครับ

    “มาคธเทพบุตร” เป็นเทวดาที่ถามคำถามนี้กับพระพุทธเจ้าเพราะอยากรู้ และพระสูตรนี้ทำให้ทราบว่า “แสงสว่างของพระพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย”


    มาคธเทพบุตรทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “โลกรุ่งเรืองเพราะแสงสว่างเหล่าใด แสงสว่างเหล่านั้นมีอยู่เท่าไรในโลก พวกข้าพระองค์มาเพื่อทูลถามพระผู้มีพระภาคว่าจะรู้แสงสว่างนั้นได้อย่างไร”


    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่าในโลกมีแสงสว่างอยู่ สี่อย่างในโลกนี้คือ


    “แสงของดวงอาทิตย์ที่ส่องสว่างในกลางวัน แสงของดวงจันทร์ส่องสว่างในกลางคืน แสงไฟที่ส่องสว่างทั้งกลางวันและกลางคืนทุกหนทุกแห่ง และแสงแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประเสริฐกว่าแสงสว่างทั้งหลาย แสงสว่างนี้ เป็นแสงสว่างอย่างยอดเยี่ยม”


    พระพุทธเจ้าทรงตอบคำถามนี้มิใช่เพื่อเป็นไปในการยกย่องตัวพระองค์เอง แต่ทรงต้องการชี้ให้เทวดาทราบว่า แสงสว่างนั้นมีอยู่ตลอดเวลาแต่แสงที่จะสามารถนำพาพึ่งได้ก็คือแสงแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้า เป็นแสงที่ใช้นำทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุขอย่างแท้จริงโดยการนำพระธรรมนั้นไปปฏิบัติ ถือว่าเป็นแสงที่สว่างที่สุดในโลกนี้นั่นเองครับ

    สำหรับเทวดาผู้มีปัญญาทางธรรมดีหน่อยก็จะถามปัญหาอันเป็นไปเพื่อความหลุดพ้นยกตัวอย่างเช่น “โรหิตัสสสูตร” คือพระสูตรถามปัญหาโดย “โรหิตัสสเทพบุตร”


    เรื่องเกิดขึ้นที่กรุงสาวัตถีสรุปใจความของพระสูตรนี้ไว้ว่า ผู้รู้ที่สุดแห่งโลกย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้านั่นแหละคือการถึงโลกแล้ว


    โรหิตัสสเทพบุตรได้กราบทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์สามารถหรือหนอที่จะทรงรู้ทรงเห็นหรือทรงถึงที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ด้วยการไป”


    พระพุทธเจ้าตอบว่า “ดูกร เทพบุตรเราไม่กล่าวที่สุดแห่งโลกที่สัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ ว่าพึงรู้ พึงเห็น พึงถึงได้ ด้วยการไป เราไม่กล่าวว่า การที่บุคคลยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราบัญญัติโลก ความเกิดแห่งโลก ความดับแห่งโลก และข้อปฏิบัติที่ให้ถึงความดับแห่งโลก


    ในร่างกายที่มีประมาณวาหนึ่ง มีสัญญา มีใจนี้เอง ไม่ว่าเวลาไหนที่สุดแห่งโลกใครก็ถึงไม่ได้ด้วยการไป และเมื่อยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลก ย่อมไม่มีการเปลื้องตนจากทุกข์ เพราะเหตุนั้นแล ผู้รู้แจ้งโลก มีปัญญาดี ถึงที่สุดแห่งโลก อยู่จบพรหมจรรย์ สงบระงับ รู้ที่สุดแห่งโลก ย่อมไม่หวังทั้งโลกนี้และโลกหน้า”

    พระสูตรนี้เป็นคำสอนที่สอนให้ทราบว่า การจะไปให้ถึงที่สุดของโลกไม่สามารถไปได้ด้วยการเดินทาง หรือจะเอาชนะอะไร การจะไปให้ถึงที่สุดแห่งโลกนี้ได้ก็คือ การกระทำตนเองให้สงบจากกิเลสทั้งหลาย รักษาพรหมจรรย์ ไม่หวังอะไรจากโลกและไม่คิดเอาอะไรจากโลกนั่นแหละเป็นการเข้าถึงโลกโดยแท้จริงครับ

    ปัญหาของเทวดาที่ปรากฏชื่อเป็นพระสูตรที่พบในพระไตรปิฎกนั้นปรากฏอยู่ 8 พระสูตร คือ พระพุทธเจ้าได้ตอบคำถามเทวดาที่มีชื่อ 8 ตน ซึ่งเมื่อพระพุทธองค์ได้สาธยายธรรมแล้วก็ล้วนทำให้เหล่าเทวดาทั้ง 8 ได้ดวงตาเห็นธรรมบรรลุเป็นอริยบุคคล ได้แก่ มาฆเทพบุตร มาคธเทพบุตร นันทนเทพบุตร จันทนเทพบุตร สุพรหมเทพบุตร กกุธเทพบุตร โรหิสตัสสะเทพบุตร และ นันทิวิศาลเทพบุตร ครับ

    แต่ละพระสูตรแม้จะมีความต่างกันในเรื่องข้อปลีกย่อย แต่สรุปใจความแห่งธรรมะ แล้วเหมือนกันก็คือ การละกิเลสกองใหญ่คือ ความโลภ โกรธ หลง ให้ได้ ย่อมทำให้เป็นสุขที่แท้โดยมีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งอย่าได้หาที่พึ่งอย่างอื่นครับ


    ปัญหาของเทวดาที่ไม่ปรากฏนาม

    ปัญหาในประเด็นนี้เป็นปัญหาที่ไม่ปรากฏชื่อของเทวดาที่ถามปัญหา แต่ใช้ชื่อของปัญหานั้นมาเป็นตัวตั้งชื่อในพระสูตร หรือใช้ชื่อวิธีการแก้ปัญหานั้นมาตั้งชื่อ พระพุทธเจ้าแสดงธรรมแก้คำถามในพระสูตรนั้นๆ จนทำให้ทั้งเหล่าเทวดาได้ดวงตาเห็นธรรม ซึ่งบางทีเทวดาก็ไม่ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าโดยตรงแต่ถามกับพระสาวกก็มี โดยมีจุดมุ่งหมายในการถามก็เพราะว่าอยากรู้และต้องการหลุดพ้นมีปรากฏอยู่มากถึง 51 พระสูตรครับ

    ตัวอย่างปัญหาหนึ่งที่เทวดาได้ถามปัญหาแบบง่ายๆ เพื่อความหลุดพ้นแห่งจิตเป็นที่ตั้ง ซึ่งเรียกได้ว่า “สั้นๆ แต่ได้ใจความดี” ก็คือ “กุฏิกาสูตร” หรือพระสูตรที่ว่าด้วย “กระท่อม” คือเอากระท่อมซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยแสนธรรมดานี่เองเอามาถามพระพุทธเจ้าซึ่งเต็มไปด้วยความแยบคาย เป็นการแสดงให้เห็นถึงพระปัญญาของพระพุทธองค์อย่างแท้จริง โดยเทวดาตนหนึ่งทูลถามพระพุทธองค์ว่า


    “ท่านไม่มีกระท่อมหรือ ท่านไม่มีรังหรือ ท่านไม่มีผู้สืบสกุลหรือ ท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้วหรือ”

    พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า “แน่นอนเราไม่มีกระท่อม แน่นอนเราไม่มีรัง แน่นอนเราไม่มีผู้สืบสกุล แน่นอนเราเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้ว”


    เทวดาทูลถามต่อไปว่า “กระท่อมที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านคืออะไร รังที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่าน คืออะไร ผู้สืบสกุลที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านคืออะไรและเครื่องผูกที่ข้าพเจ้ากล่าวกับท่านคืออะไร”


    พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า “กระท่อมที่ท่านกล่าวกับเราคือมารดา รังที่ท่านกล่าวกับเราคือภรรยา ผู้สืบสกุลที่ท่านกล่าวกับเราคือบุตร เครื่องผูกที่ท่านกล่าวกับเรา คือตัณหา”


    ตอนท้ายของพระสูตร เมื่อพระพุทธเจ้าทรงตอบปัญหาเสร็จแล้ว เทวดาองค์นั้นก็ได้กล่าวชื่นชมพระปัญญาคุณของพระพุทธเจ้าว่า “ดีจริง ท่านไม่มีกระท่อม ดีจริง ท่านไม่มีรัง ดีจริง ท่านไม่มีผู้สืบสกุล ดีจริงท่านเป็นผู้หลุดพ้นจากเครื่องผูกแล้ว


    ... ทั้ง 51 พระสูตรที่ได้แสดงธรรมแก่เทวดานั้นหากจะกล่าวโดยรวมถึงใจความสำคัญทั้งหมดก็สามารถขมวดรวมเป็นธรรมได้ คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นั่นเองเพียงแต่รายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละพระสูตรนั้นมีข้อปลีกย่อยที่มีความแตกต่างกันในเรื่องรายละเอียดครับ แต่ก็ล้วนแล้วแต่ใช้หลักการพ้นทุกข์ด้วย อริยมรรคมีองค์แปดที่ขมวดรวมเป็นไตรสิกขาคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ด้วยกันทั้งสิ้นครับ


    ประมาณนี้ครับ… ขอบคุณสำหรับพื้นที่ตรงนี้ครับ _/|\_
    ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัย อีกทั้งหรหม เทพเทวดาและญาติทิพย์ทั้งหลายจงช่วยปกป้องคุ้มครองรักษาคุณ @บดิน25 และ กัลยาณมิตรทุกๆท่านที่เข้ามาอ่านกระทู้นี้ด้วยเทอญ _/\_

    ... บุญรักษาครับ _/\_
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 23 สิงหาคม 2021
  4. บดิน25

    บดิน25 สมาชิกใหม่

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 กันยายน 2018
    โพสต์:
    15
    ค่าพลัง:
    +47
    ขอขอบคุณ คุณrachotp มากครับ ที่กรุณาเข้ามาตอบ แต่ที่ผมสงสัยคือ เรื่องหนึ่งเคยได้ยินมานานแล้วครับ มีผู้ยกขึ่้นมาให้อ่านแต่ผมหาไม่เจอ และจำไม่ได้ คือการที่เทวดา มาสิงร่างเพื่อสอบถามปัญหา นะครับ ผมสงสัยว่าอยู่ในบทใด และเรื่องราวเป็นอย่างไรนะครับ ขอบคุณครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...