พระราชปุจฉาอันลึกซึ้ง

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย wmt, 17 กรกฎาคม 2012.

  1. wmt

    wmt เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    242
    ค่าพลัง:
    +1,432
    พระราชปุจฉาระหว่างในหลวงกับท่านพระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย

    ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ มีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธิเททองหล่อพระประธาน พระอัครสาวกทั้งสอง และพระอานนท์ ณ อุโบสถวัดเขาสุกิม ในวันที่ ๓ เมษายนน ๒๕๒๐ พร้อมทั้งเสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน และทรงเสด็จเยี่ยมพสกนิกรชาวจังหวัดจันทบุรี


    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปุจฉาว่า...พระคุณเจ้าโยมขอถามปัญหาธรรมบางประการ?

    หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วิสัชนาว่า...ขอถวายพระพรพระมหาบพิธราชสมภารเจ้า สิ่งใดที่ไม่เหลือสติ...ปัญญาของอาตมาแล้ว ขอพระองค์ทรงพระราชปุจฉาได้ ขอถวายพระพร...

    ในหลวง[/COLOR]...ผู้คนเขามาวัดทำไมกัน ?...

    หลวงปู่.....ผู้มาวัด มาด้วยเหตุต่าง ๆกัน บางคนเป็นคนดีอยู่แล้ว มาวัดด้วยการมุ่งทำความดีให้มากขึ้นด้วยการมาถือศิลภาวนา บางคนมาด้วยความอยากรู้ อยากเห็น ว่าทางวัดเขาทำอะไรกันบ้างบางคนก็มาด้วยความตั้งใจจริง ๆ ที่จะมาช่วยงานวัด เพราะเห็นว่าอยู่บ้านไม่มีธุระที่จะทำบางคนก็มาด้วยเหตุที่เห็นว่าอยู่บ้านมีแต่ปัญหา ล้วนแต่น่าเบื่อหน่าย สู้มาวัดหาความสงบดีกว่า อย่างนี้ก็มี เรียกว่ามาวัดทำให้สบายใจ..ขอถวายพระพร....


    ในหลวง...ที่พระคุณเจ้าว่าชาวบ้านเขาเบื่อหน่ายนั้น เขาเบื่ออะไรกัน ?...

    หลวงปู่ฯ...การเบื่อหน่ายของชาวบ้านมีด้วยกันสองอย่าง บางคนเบื่อหน่ายต่อการงานที่ต้องทำอย่างจำเจ ก็หาเวลามาวัดเพื่อพักผ่อนเป็นการเบื่ออย่างไม่จริงจัง บางคนมีความเบื่อจริง ๆ โดยเห็นว่าการเป็นอยู่ทางโลกนั้น ถึงจะมั่งมีสามารถหาความสุขได้ทุกอย่างก็จริง ล้วนแต่เป็นความสุขชั่วคราว ไม่เป็นความสุขที่แท้จริงเหมือนอย่างความสุขทางธรรม บางคนเห็นไปว่าเกิดมาแล้วก็หนีความตายไม่พ้น ก่อนจะตายก็ควรจะได้ทำอะไร ๆ ให้เป็เหตุให้ตายดี มีความสุข อย่างนี้ก็มี...ขอถวายพระพร...

    ในหลวง... การที่พระคุณเจ้าสอนคนให้นึกถึงความตายนั้น ถ้าหากสอนไม่ดีแล้ว ก็จะเป็นเหตุให้คนเกิดความเกียจคร้านในการแสวงหาเลี้ยงชีพ ทำให้เป็นคนจนเป็นภาระของสังคมก็เป็นได้ เพราะฉะนั้น ต้องระวังในการสอน อย่าให้เกิดผลร้าย ?...

    หลวงปู่ฯ...โดยปรกติ พระจะสอนให้เห็นโทษของความมัวเมา ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดความเห็นผิดเป็นชอบ มักจะสอนให้คิด ให้รู้เห็น ในทางถูกก่อน เช่น
    ก. อย่ามัวเมาในวัย ว่ายังเป็นหนุ่ม เป็นสาวอยู่
    ข. อย่ามัวเมาในความไม่มีโรคมาเบียดเบียน
    ค. อย่ามัวเมาในชีวิตว่าเวลาของเรายังมีอยู่ ด้วยเหตุดังถวายพระพรมาแล้ว ทางพระจึงสอนให้ทุกคนนึกถึงความตาย ถ้าไม่สอนให้เขาเข้าใจในทางถูกก่อนแล้ว กับจะเป็นผลร้ายดังพระราชปุจฉาโดยแท้ การเจริญมรณัสสตินั้น ชั้นต้นเพื่อให้รู้ว่า ทุกคนหนีความตายไม่พ้น ไม่ว่าจะเป็นคนมี คนจน มีความตายเหมือนกัน เท่ากัน ทั้งนั้น สำหรับผู้ทำการภาวนา การเจริญกัมมัฏฐาน เพื่อให้นิวรณ์สงบ ก็จำเป็นต้องพิจารณากำหนดเป็นอย่าง ๆ ไป ความตาย คือ นายเพชฌฆาต ความตาย คือ ต้องพลัดพรากจากสมบัติทุกอย่าง เขาตาย-เราก็ต้องตายเหมือนเขา ชีวิตเป็นของที่กำหนดเอาเองไม่ได้ หรือจะกำหนดเอาว่าอายุเท่านั้นเท่านี้จะตาย ก็กำหนดไม่ได้ ทั้งนี้ เมื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตเป็นของน้อย จะตายเมื่อไร ไม่มีใครรู้ได้ ขอถวายพระพร...


    ในหลวง...โยมขอถามพระคุณเจ้าอีกสักข้อว่า...ปุถุชนคนธรรมดาบางคน ที่มีลักษณะเหมือนพระอรหันต์บางอย่าง นั้นในโลกนี้จะมีบ้างไหม? โยมอยากเทียบเพื่อวิเคราะห์ถึงคุณสมบัติของพระอรหันต์ที่แท้จริง?


    หลวงปู่ฯ...ตามที่มหาบพิธอยากทราบว่าปุถุชนคนธรรมดาที่ลักษณะคล้ายพระอรหันต์บางอย่างในโลกนี้มีแน่นอน ขอถวายพระพร...

    ในหลวง...ที่พระคุณเจ้าว่ามีนั้นปุถุชนคนนั้นคือใคร? ลักษณะที่เหมือนนั้นเหมือนอย่างไร?

    หลวงปู่ฯ...ปุถุชนคนนั้นคือนักโทษที่รอการประหารชีวิต ลักษณะที่เหมือนนั้นคือจะนึกถึงความตายตลอดเวลา ขอถวายพระพร

    ในหลวง...มีตัวอย่างบ้างไหม?

    หลวงปู่ฯ...ขอถวายพระพร อาตมาภาพขอยกตัวอย่างเช่น นาย ก. ถูกพิพากษาความว่าอีก ๗ วันข้างหน้านี้ นายก.จะถูกประหารชีวิต ขณะนั้นนายก. ย่อมมีความรู้สึกบางอย่างเหมือนพระอริยบุคคล คือรู้สึกว่าตัวเองจะต้องตายแน่ ภายใน ๗ วัน ขอถวายพระพร...

    ในหลวง...เหมือนอย่างไร? ขอพระคุณเจ้าอธิบายด้วย ?...

    หลวงปู่ฯ...ขอถวายพระพร คืออย่างนี้นาย ก. เมื่อรู้ว่าตัวเองจะต้องตายภายในอีก ๗ วันข้างหน้า นาย ก.จะมีความตายขึ้นสมอง คือจะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา จะทำอะไรก็สักแต่ว่าทำไปอย่างนั้นเดี๋ยวก็จะต้องตายแล้วอย่างนี้เป็นต้น ใครจะเอาวัตถุสิ่งของ เงินทองหรือของมีค่าใด ๆ มาให้ก็แล้วแต่นาย ก.จะมีความรู้สึกว่าเราจะต้องตายจาก ในอีก ๗ วัน คำว่า “ตาย” จะมาตัดบทภายในดวงจิตของนายก.ทันที กิเลสตัวนี้จะไปมีความยินดีในข้าวของเงินทองสิ่งต่าง ๆ ที่คนนำมาให้นั้นไม่มีอีกแล้ว เพราะไม่รู้ว่าจะเอาไปทำอะไร อีก ๗ วันก็จะตายอยู่แล้ว พระอริยเจ้าท่านก็นึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลา ใครจะเอาปัจจัยสี่อย่างดีแค่ไหนมาถวายท่านก็สักแต่ว่าเป็นของนั้นของนี้ ไม่ใยดี ปล่อยวาง เดี๋ยวก็จะต้องตายจากวัตถุเหล่านี้ไปแล้ว ขอถวายพระพร...


    อีกตัวอย่างหนึ่ง อาตมาภาพในเวลานี้เช่นกันอาตมาภาพเคยสลบไป ถึง สิบห้าชั่วโมงพอฟื้นขึ้นมาแล้ว ก็ยังนึกถึงอยู่เสมอว่าเทพเจ้าชาวโลกทิพย์ที่เขาอนุญาตให้อาตมาภาพกลับมายังโลกมนุษย์ได้เพียงชั่วคราวนั้น เมื่อไร เวลาไหนเขาจะมาเอาอาตมาภาพกลับไปอีก เขาไม่ได้บอกอาตมาภาพเลยว่า อีก ๗ วัน หรือ ๗ เดือน หรือ ๗ ปี ท่านจะต้องตาย ไม่บอกเลยนักโทษเสียยังดีกว่าเพราะรู้แน่ ๆ ว่าจะต้องตายภายในวันนั้น วันนี้ เขารู้ว่าชีวิตของเขาเหลือ
    น้อยแล้ว จะมีชีวิตอยู่ได้แค่ ๗ วันเท่านั้น จะทำอะไรให้รีบทำซะ! ส่วนของอาตมาภาพนี้ไม่มีกำหนดอะไรเลย แต่อาตมาภาพก็ไม่ประมาท พยายามนึกถึงความตายอยู่เสมอ รีบทำความดีตลอดเวลา กลัวว่าความตายจะมาถึงเดี๋ยวนี้ นับตั้งแต่อาตมาภาพฟื้นขึ้นมาแล้ว ใครจะเอาอะไรมาถวาย ไม่ว่าจะดีประณีตสักแค่ไหน ไม่ว่าปัจจัยสี่ชนิดใดก็แล้วแต่อาตมาภาพรับแล้วก็ทำให้
    นึกถึงว่า “เราจะต้องตายจากปัจจัยสี่เหล่านี้” นักโทษที่ถูกตัดสินประหารชีวิตก็เช่นกัน มหาบพิธลองให้ใครไปถามดูก็ได้ว่า “คุณกินอาหารมื้อนี้อร่อยไหม? เขาจะตอบทันทีว่า อร่อย แต่ไม่ใยดีเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว !...พระอริยะบุคคลก็เช่นกัน จะนำของบริโภคชั้นดีขนาดไหนมาให้ ท่านก็สักแต่ว่า เดี๋ยวก็จะต้องตายจาก..คำว่า..ตาย ..ๆ จะมีอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออกของพระอริยบุคคล...ท่านจะไม่มีความใยดีต่อสมบัติของชาวโลกที่สมมุตติกันว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนี้ดี ทั้งสิ้น ! ท่านมีแต่ สักว่าสิ่งนั้น สักว่าสิ่งนี้ แล้วก็จะต้องตายจาก...


    ยังมีชาดกอยู่เรื่องหนึ่ง ขอเล่าถวายมหาบพิธ เพื่อเปลียบเทียบว่าลักษณะของปุถุชนกับพระอริยะบุคคลที่มีอะไรเหมือนกัน...สมัยพุทธกาลนั้น ยังมีพระราชาเมืองหนึ่ง องค์พี่เป็นพระราชา องค์น้องเป็นมหาอุปราช วันหนึ่งพระราชาเสด็จประพาสนอกเมือง มหาอุปราชผู้น้องอยู่ในพระนคร นึกขึ้นมาว่าเสด็จพี่ของเราเป็นพระราชามีความสุขอย่างไรหนอ? กว่าเราจะได้เป็นพระราชาก็ไม่รู้ว่าเมื่อไร?...อยากลองสวมชุดของพระราชาดูสักหน่อยว่าจะมีความสุขขนาดไหน? ว่าแล้วก็แอบเข้าไปในห้องทรงของเสด็จพี่ถือวิสาสะเอาชุดกษัตริย์ของเสด็จพี่มาลองสวมดู เอาพระขันธ์มากำไว้ในมือ แต่งองค์เสร็จแล้วก็ลองออกมาประทับบนพระแท่นที่ว่าราชการของกษัตริย์...เหล่าเสนาอำมาตย์มาพบเข้าก็พากันจับกุมส่งพระราชาตั้งข้อหาว่าอุปราชก่อการกบฏแอบเอาเครื่องทรงของพระมหากษัตริย์มาใส่ พระราชาเสด็จกลับจากประพาสนอกเมืองจึงสอบถามอุปราชผู้น้อง...อุปราชผู้น้องรับสารภาพว่ามิได้คิดคตกบฏต่อเสด็จพี่แต่อย่างไรเพียงแค่อยากลองทรงเครื่องของกษัตริย์ดูแค่นั้นว่ามีความสุขอย่งไร?...แต่กฏมณเทียรบาล ถือว่ามีความผิดต้องโทษถึงประหารชีวิตทันที ...แต่ด้วยมีความสงสารน้องชายจึงยืดเวลาให้น้องอยู่ต่อไปอีก ๗ วัน ก่อนประหารชีวิต ก็ต้องการให้น้องได้มีความสุขจึงสละราชสมบัติให้น้องได้สำเร็จราชการแทน ๗ วัน น้องจะทำอะไร ต้องการอะไร อย่างพระราชาให้ทำได้ทั้งหมดเพื่อความสุขของน้องก่อนตาย วันเวลาผ่านไป แต่และวันพระราชาตัวจริงก็ถามน้องชายอยู่ทุกวันว่า น้องเป็นอย่างไรบ้าง ที่เป็นพระราชาอยู่นี้มีความสุขบ้างไหม?เสวยอย่างพระราชา บรรทมอย่างพระราชา ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นพระราชาทุกอย่างมีความสุขบ้างวไหม? ...น้องชายตอบทันทีว่า “...หาความสุขมิได้เลย เพราะวันหนึ่ง ๆ ก็นึกเพียงเหลือเวลาอีก ๓ วันก็จะตาย เหลือเวลาอีก ๒ วัน เหลือเวลาเพียงพรุ่งนี้ก็ต้องตาย นึกแต่เพียงว่าความตายใกล้เข้ามาทุกขณะ ใกล้เข้ามาทุกวัน จนเหลือเพียงพระอาทิตย์ขึ้นพรุ่งนี้ก็จะต้องตายแล้ว...เครื่องทรงและสิ่งทั้งหลายที่เสด็จพี่ประทานมาให้นั้นก็เพียงสักแต่ว่า เท่านั้นไม่ได้คิดเลยว่านี่คือเครื่องทรงของพระราชา...สักแต่ว่าปกปิดอวัยวะไม่ให้ละอายเท่านั้น...พระกระยาหารรสเลิศของเมืองนี้ที่เสด็จพี่ประทานให้เสวยแต่ละวัน ก็เพียงแค่กินรอวันตายเท่านั้น ไม่ได้ยินดีว่าอันนี้รสเลิศอร่อย ไม่มีโปรดอะไรเลย เพราะพรุ่งนี้ก็จะต้องตายอยู่แล้ว...จะนึกอยู่อย่างเดียวว่า ตาย..ๆ..ๆ ตลอดเวลา...


    มหาบพิธ พระอริยะบุคคลก็เช่นกันย่อมมีลักษณะที่เหมือนกับปุถุชนก็คืออย่างนี้ คือจะมีมรณานุสสติขึ้นสมองทุกขณะจิต สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสถามพระอานนท์ ว่า “...อานนท์ เธอนึกถึงความตายวันละกี่หน...” พระอานนท์กราบทูลว่า “...๑๐๐ หนพระเจ้าข้า...” พระพุทธองค์ทรงเตือนว่า “...เธอทำไมประมาทนักเล่า ! อานนท์...” “...เราตถาคต ระลึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก...”


    มหาบพิธ ลักษณะของปุถุชน คนสามัญธรรมดา ส่วนที่เหมือนพระอริยบุคคลนั้นก็คือ ...นักโทษที่รู้ว่าจะต้องถูกประหารชีวิตในวันนั้นๆ คนๆนั้นเมื่อรู้ว่าจะต้องตายในวันนั้น ๆ จะต้องพลัดพรากจากพ่อ แม่ ลูก เมีย อันเป็นที่รักของตน ย่อมไม่มีความยินดีในเครื่องนุ่งห่มดี ๆ อาหารดี ๆ แม้แต่แก้วแหวนเงินทอง ใครจะเอาอะไรมาสวมใส่ให้แม้แต่เครื่องทรงของพระราชาก็ตาม เขาจะไม่มีความยินดีในสิ่งนั้น ๆ เลย เพราะรู้ตัวอยู่แล้วว่า จะต้องตาย..ความตายจะขึ้นสมอง หรือมีมรณัสสติทุกลมหายใจเข้าออกนั่นเอง...
    ปุถุชนกับพระอริยบุคคลย่อมไม่เหมือนกันเพราะพระอริยบุคคลท่านมีมหาสติอยู่ตลอดเวลา มีอาการสำรวมอินทรีย์อยู่ตลอดเวลา ส่วนปุถุชนคนธรรมดาเป็นผู้ขาดสติ ขาดการสำรวมอินทรีย์ จึงทำให้ลักษณะของปุถุชนกับพระอริยะบุคคลแตกต่างไม่เหมือนกัน แต่บางอย่างที่คล้ายกันนั้นก็คือพระอริยะบุคคลท่านจะมีมรณัสสติอยู่ทุกลมหายใจเข้า-ออก...ปุถุชนทั่วไปที่จะนึกถึงความตายอยู่ตลอดเวลานั้นน้อยนัก ตลอดทั้งปีบางคนถามได้เลยว่า เคยนึกถึงความตายบ้างไหม? ไม่มีใครนึกถึงเลย จึงถือว่าประมาท แต่ยังมีปุถุชนอีกประเภทหนึ่งอันได้แก่นักโทษประหารชีวิตที่รู้ว่าตนเองจะต้องตายในวันนั้น ๆ นั่นเอง ถึงแม้ว่าจะนึกถึงความตายไม่ได้ทุกลมหายใจเข้า-ออกแต่ก็บ่อยครั้งมากกว่าคนธรรมดา นักโทษนั้นเขาจะนึกถึงความตายอยู่บ่อย ๆ...ตาย...ๆ...ๆ ...ขอถวายพระพร....
     
  2. datchanee

    datchanee เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    10 มกราคม 2009
    โพสต์:
    2,947
    ค่าพลัง:
    +1,276
    สาธุ สาธุ สาธุ เป็นเรื่องที่มีสาระมาก ขอน้อมนำไปปฎิบัติตาม
     

แชร์หน้านี้

Loading...