บทความให้กำลังใจ(เสียของ – ของเสีย)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    คนสมัยนี้ก็เหมือนกัน โดยเฉพาะเด็กสมัยนี้แทบไม่รู้อะไรเลยว่า อาหารหรือปัจจัย ๔ที่ตนเองใช้บริโภคนั้นสัมพันธ์หรือผูกโยงกับธรรมชาติอย่างไร ถ้าเราเปิดใจหรือไตร่ตรองสักนิดก็จะพบว่า ธรรมชาติมีคุณค่ากับเรามากมาย มีคุณค่าขนาดที่ว่าเรายังไม่ทันได้ใช้ ไม่ทันได้สัมผัส ไม่ทันได้ใส่ปาก เราก็ได้ประโยชน์จากธรรมชาติแล้ว ประโยชน์ของธรรมชาตินั้นมีหลายระดับ
    เริ่มตั้งแต่ ด้านสุขภาพ มีการศึกษาวิจัยพบว่า มนุษย์เราจะมีสุขภาพดีขึ้นเพียงแค่ได้เห็นธรรมชาติ
    มีงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบคนไข้ที่ผ่านการผ่าตัดใหญ่ เขาพบว่าคนไข้เหล่านี้เมื่อพักฟื้นที่โรงพยาบาลหรือที่บ้านก็ดี ถ้าได้เห็นธรรมชาติจากทางหน้าต่าง จะหายเร็วขึ้น กินยาแก้ปวดน้อยลง ขณะที่คนไข้ที่ผ่าตัดแล้วอยู่ในห้องที่มีกำแพงสี่ด้าน ไม่เห็นธรรมชาติเลย แผลผ่าตัดจะหายช้า และกินยาแก้ปวดมากกว่า
    มีการศึกษานักโทษที่มีความเจ็บป่วยเพราะความเครียด นักโทษอยู่ในที่แออัดจะเครียดและป่วยง่าย การศึกษาพบว่าถ้านักโทษมีโอกาสได้เห็นธรรมชาติ อย่างที่เราเห็นตรงนี้ แม้จะเป็นธรรมชาติที่ผ่านการปรุงแต่งของมนุษย์มาแล้ว เขาก็จะมีความเครียดน้อยลง หายจากความเจ็บป่วยเพราะโรคเครียด
    เคยมีการทดลองให้คนทั่วไปดูภาพที่น่ากลัว เช่น ภาพอุบัติเหตุ ภาพคนตาย ภาพสยดสยอง เขาพบว่า คนที่เห็นภาพนี้จะตื่นตกใจ มีความเครียด ลมหายใจเปลี่ยนไป กล้ามเนื้อเกร็ง แต่พอเปลี่ยนให้เขาดู VDO ที่เป็นภาพป่า ภาพธรรมชาติ ความเครียดของคนเหล่านั้นจะหายอย่างรวดเร็ว ลมหายใจจะกลับมาเป็นปกติอย่างรวดเร็ว อันนี้แสดงให้เห็นว่าธรรมชาติมีคุณูปการต่อจิตใจและสุขภาพของเรามาก

    ความสัมพันธ์ของธรรมชาติและสุขภาพเป็นเรื่องที่รู้กันมานาน โดยที่ยังไม่ต้องกินผัก กินสมุนไพร เพียงแค่ได้เห็นจิตใจก็สบาย สุขภาพดีขึ้น เพราะฉะนั้น คนป่วยก็ดี คนที่มีความเครียดก็ดีมีความจำเป็นมากที่จะได้อยู่ใกล้หรือได้เห็นธรรมชาติ
    น่าเสียดายปัจจุบันเราไม่ค่อยมีธรรมชาติให้เห็นมากนักในเมือง ถ้าช่วยกันฟื้นฟูให้เมืองมีสีเขียวมากขึ้น คนจะมีความสุขมากขึ้น เครียดน้อยลง ทะเลาะเบาะแว้งกันน้อยลง สิ่งแวดล้อมมีส่วนในการกล่อมเกลา จิตใจของเราให้สงบ เมื่อใจสงบแล้ว ก็น้อมไปในทางทำความดีได้ง่ายขึ้น

    มนุษย์กับธรรมชาติแยกจากกันไม่ออก เพราะเรามีความผูกพันกับธรรมชาติมาตลอดจนเมื่อไม่กี่ร้อยปีมานี้ ถ้าเราไกลธรรมชาติเมื่อไหร่ เราจะโหยหาธรรมชาติ อาจเป็นเพราะว่ามนุษย์เรามีความเป็นมาผูกพันกับธรรมชาติมาช้านานตั้งแต่จุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการเลยก็ได้ เคยมีการวิจัยศึกษาผู้คนในวัฒนธรรมต่างๆ ตั้งแต่อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ ไปจนถึงแอฟริกา และเอเซีย สิ่งหนึ่งที่พบก็คือ ภาพที่สะดุดใจหรือดึงดูดใจของคนทุกวัฒนธรรมก็คือภาพธรรมชาติ โดยเฉพาะภาพทุ่งหญ้าโล่ง มีต้นไม้ประปราย มีลำห้วย ลำธารไหลผ่าน ที่น่าคิดก็คือภาพดังกล่าว คล้ายๆ กับทุ่งหญ้าสะวันนา ในแอฟริกา อาจเป็นเพราะมนุษย์เรากำเนิดมาจากที่นั่น มนุษย์สมัยใหม่เกิดที่แอฟริกาเมื่อหลายหมื่นปีก่อน แล้วเดินทางข้ามทวีป มาจนถึงตะวันออกไกล ตอนหลังมาจนถึงอเมริกา ความที่เราถือกำเนิดมาท่ามกลางธรรมชาติ เราจึงมีความผูกพัน กับธรรมชาติ เป็นความผูกพันที่ฝังอยู่ในยีน เพราะฉะนั้นไม่ว่าคนในวัฒนธรรมไหนก็รักธรรมชาติ

    ปัจจุบันธรรมชาติกำลังทวีความสำคัญมากขึ้นเพราะว่า ธรรมชาติกำลังเหลือน้อยลงเนื่องจากถูกทำลายมากขึ้น ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย การที่ผู้คนกลัวภัยพิบัติในปี 2012 ก็เป็นผลจากการที่เราเราทำลายธรรมชาติกันมาช้านาน อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรกังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น สิ่งที่ควรทำก็คือช่วยกันทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ช่วยกันฟื้นฟูธรรมชาติ โดยเฉพาะสิ่งที่เราทำในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูธรรมชาติ นั่นคือการเอาทุนที่ได้จากการทอดผ้าป่า ไปเป็นทุนปลูกต้นไม้ ฟื้นฟูป่าใน 12 พื้นที่ ถึงแม้ว่าต้นไม้ที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นยา แต่ก็ไม่ใช่ประเภทไม้พุ่ม ไม้เลื้อย แต่เป็นไม้ยืนต้น ซึ่งจะก่อให้เกิดอานิสงส์มากมาย นอกจากเป็นยาแล้ว ยังให้น้ำให้อากาศ ให้ความสุขเมื่อเราได้มองเห็น ให้ความสงบเย็นเมื่อเราได้อยู่ในร่มไม้

    คุณประโยชน์ของยา เป็นส่วนหนึ่งที่ได้จากธรรมชาติ ถ้าจะว่าไปแล้วไม่มีต้นไม้ไหนเลยที่ไม่เป็นยา อันนี้คนโบราณเขารู้กันมานานแล้ว มีเกร็ดสมัยพุทธกาลว่า หมอชีวกโกมารภัจจ์ ซึ่งเป็นหมอประจำตัวของพระพุทธเจ้า ตอนฝึกเป็นหมอยา อาจารย์ให้ไปในป่า แล้วให้ดูว่าต้นไม้ต้นไหนที่ไม่ใช่ยา เมื่อท่านไปดูอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ก็พบว่าไม่มีต้นไหนเลยที่ไม่เป็นยา แม้กระทั่งวัชพืช ก็เป็นยาเหมือนกัน แม้ต้นไม้ที่มีพิษก็เป็นยาถ้ารู้จักใช้ อันนี้เป็นเป็นเกร็ดจากพุทธประวัติที่ชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้ทุกต้น ต้นไม้ทุกชนิดมีประโยชน์ทางเภสัช มีความเป็นยาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง นี่ขนาดเรายังมีความรู้ไม่มาก เรายังสามารถบอกได้ว่าต้นไม้นับพันชนิดเป็นยา ถ้าเรามีความรู้มากขึ้น ถึงระดับยีนของพืชพันธุ์ต่าง ๆ เราก็จะยิ่งพบความอัศจรรย์ของต้นไม้ ต้นไม้บางชนิดหรือบางส่วนที่ไม่น่าจะมีคุณสมบัติในทางเภสัชเลย แต่ว่ายีนของมันมีประโยชน์ในการรักษาโรคได้ เชื่อว่า แม้แต่โรคมะเร็ง หรือเอดส์ ต้นไม้บางชนิดก็สามารถทำเป็นยารักษาได้ เพียงแต่ว่าตอนนี้ความรู้ของเรายังมีไม่พอว่าเป็นต้นไม้ หรือส่วนของต้นไม้ชนิดใดบ้างที่รักษาโรคเหล่านี้ได้

    เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีใดดีกว่าการอนุรักษ์ต้นไม้เอาไว้ อย่าให้สูญพันธุ์ ที่ใดที่เคยเป็นป่าและเสื่อมสภาพไป ก็ช่วยกันปลูกให้มีมากขึ้น รวมทั้งปลูกที่บ้านของเราด้วย ถ้าพวกเราร่วมกันคนละไม้ คนละมือ รักษาป่าไว้ ก็จะเป็นการรักษาขุมทรัพย์ให้เป็นประโยชน์กับลูกหลาน ปัจจุบันนี้ความหลากหลายทางชีวภาพ กลาย เป็นสินทรัพย์ที่หาค่ามิได้ ไม้บางชนิดที่คนไทยมองข้ามไป สามารถผลิตเป็นยาให้รายได้เป็นพันล้านหมื่นล้านก็มี เช่น ต้นเปล้าน้อย ที่ญี่ปุ่นทำเป็นยารักษาโรคกระเพาะอาหาร มันก็มีคุณค่าวัดเป็นตัวเงินได้นับพันล้านหมื่นล้าน แต่ต้นไม้เหล่านี้เราไม่เห็นประโยชน์จนกระทั่งต่างประเทศมาทำเงินมหาศาลจากมัน ยังมีอีกมากมายที่เรา ยังไม่เห็นค่า มองข้ามหรือไม่มีความรู้ แต่ถ้าคนรุ่นหลังเขาเกิดมีความรู้ เห็นคุณค่าขึ้นมา และพบว่าสิ่งเหล่านี้ยังมีการอนุรักษ์ไว้ในบ้านเมืองของเรา ในป่าผืนต่างๆ ของเรา เขาจะขอบคุณคนรุ่นเรา ที่ช่วยอนุรักษ์สมบัติอันมีค่าเหล่านี้ไว้ให้เขาได้ใช้ประโยชน์ ใครจะไปรู้ว่าต่อไปมันอาจมีประโยชน์มีค่า คิดเป็นตัวเงินมากกว่าน้ำมันก็ได้

    ดังนั้นขอให้เราร่วมกันอนุโมทนาบุญในการทอดผ้าป่าครั้งนี้
    :- https://visalo.org/article/NaturePhaPa55.htm

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เปลี่ยนวิธีคิด พลิกวิกฤตสิ่งแวดล้อม
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อเรามองท้องฟ้ายามค่ำคืนอันเงียบสงัด ดวงดาวที่ส่องแสงระยิบระยับเต็มฟ้า ไม่เพียงน้อมใจให้สงบ หากเรายังได้สัมผัสกับความงามอันลึกล้ำของธรรมชาติ ในยามนั้นเราอาจตระหนักถึงความเล็กกระจิดริดของตัวเราเอง เพราะความมโหฬารของจักรวาลได้ปรากฏต่อหน้าเราอย่างเต็มตา ขณะที่อายุขัยของเรากลับมีค่าเพียงชั่วกะพริบตาเมื่อเทียบกับกาลเวลากว่าหมื่นล้านปีของเอกภพ เพียงแค่ระยะห่างนับล้านปีแสงของดาวบางดวงที่เราเห็น ก็ทำให้ประวัติศาสตร์แค่พันปีของชาติเรากลายเป็นเศษเสี้ยวของจักรวาลไปในทันที

    แต่ธรรมชาติไม่ว่าจะยิ่งใหญ่มโหฬารเพียงใด ก็ยังเล็กกว่าสิ่ง ๆ หนึ่ง นั่นคือความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน” ความรู้สึกว่าเป็น “ของฉัน” นั้นไม่เคยมีขอบเขต มันสามารถแผ่ไปครอบครองทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาลนี้ได้ ไม่เว้นแม้แต่ตัวจักรวาลเอง ไม่สำคัญว่าเราจะเคยไปเดินเหินบนดาวดวงไหนหรือไม่ ทันทีที่เราเห็นบนพื้นโลก หรือจากกล้องโทรทัศน์ เราก็ทึกทักว่ามันเป็น “ของฉัน”ทันที ด้วยเหตุนี้ สุริยจักรวาลจึงเป็นของฉัน ดาราจักร(galaxy)จึงเป็นของฉัน ทางช้างเผือกจึงเป็นของฉัน ไม่มีอะไรในจักรวาลนี้ที่ใหญ่จนความรู้สึกว่า “ของฉัน”คลุมไปไม่ถึง


    ด้วยเหตุนี้มนุษย์เราจึงถือสิทธิที่จะเข้าไปทำอะไรก็ได้กับทุกสิ่งทุกอย่างในธรรมชาติ นี้คือทัศนคติสำคัญที่ขับเคลื่อนมนุษยชาติตลอดมา โดยเฉพาะในช่วง ๔ ศตวรรษที่แล้ว จริงอยู่เมื่อมนุษย์ยังมีอำนาจน้อย เราย่อมหวาดกลัวธรรมชาติ จนเกิดศาสนาขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและปกป้องมนุษย์จากภัยนานาชนิดในธรรมชาติ แต่เมื่อเรามีความรู้และเทคโนโลยีมากขึ้น ก็เริ่มเชื่อมั่นในอำนาจของตนเองขึ้นมา จนไม่เพียงเอาชนะสัตว์ร้ายรอบตัวเท่านั้น หากยังเหิมเกริมถึงขั้นที่จะเป็นนายเหนือธรรมชาติ และนี้คือจุดมุ่งหมายของศาสตร์ต่าง ๆ ในตะวันตกนับแต่ศตวรรษที่ ๑๗ เป็นต้นมา ดังเดส์กาตส์ บิดาแห่งปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ได้เคยกล่าวว่า “เมื่อรู้จักธรรมชาติและพฤติกรรมของไฟ น้ำ อากาศ ดวงดาว สวรรค์ และสิ่งรอบตัว....เราย่อมสามารถใช้ความรู้เหล่านี้เพื่อเป้าหมายอเนกอนันต์ ดังนั้นจึงทำให้เราเป็นนายและผู้ครอบครองธรรมชาติ” แต่ฟรานซิส เบคอน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกับเดส์กาตส์ พูดชัดเจนกว่านั้นอีกว่า ความรู้นั้นเป็นสิ่งสำคัญที่เราจะต้องแสวงหาและเพิ่มพูน ทั้งนี้เพื่อกดธรรมชาติให้เป็น “ทาส” และ “รับใช้”มนุษย์ รวมทั้งเพื่อ “ทรมาน” และ “ไล่ล่าไม่หยุดหย่อน”เพื่อให้ธรรมชาติเปิดเผยความจริงออกมาให้มากที่สุด

    นับแต่นั้นมาการผลาญทำลายธรรมชาติจึงเกิดขึ้นอย่างมโหฬาร ไม้ถูกตัด สัตว์ถูกฆ่า ป่าถูกทำลายแทบทุกหนแห่ง อย่างไม่เคยมีมาก่อน หญิงแก่ชาวอินเดียนแดงเผ่าวินตูในแคลิฟอร์เนียได้พูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อชาวอเมริกันเข้ามาทำลายแผ่นดินของเธอเพื่อทำเหมืองทอง

    “คนขาวไม่เคยเอาใจใส่แผ่นดิน กวาง หรือหมีเลย เวลาเราชาวอินเดียนฆ่าสัตว์ เราจะกินเนื้อให้หมด เวลาเราขุดเอาราก เราจะขุดดินเป็นหลุมเล็ก ๆ เวลาเราสร้างบ้าน เราจะทำช่องเล็ก ๆ เวลาเราเผาหญ้า เราจะไม่ทำลายจนพินาศ เราจะเขย่าต้นไม้เมื่อต้องการลูกโอ๊กและลูกสน แต่จะไม่โค่นทั้งต้น เราใช้แต่ไม้ที่ตายแล้ว แต่คนขาวจะขุดดินเป็นหลุมใหญ่ โค่นไม้ทั้งต้น ฆ่าทุกอย่าง ต้นไม้บอกว่า “อย่า ฉันเจ็บ อย่าทำร้ายฉัน” แต่พวกเขาก็ยังโค่นและตัดต้นไม้ วิญญาณของแผ่นดินเกลียดพวกเขา พวกเขาห้ำหั่นต้นไม้และถอนทั้งรากทั้งโคน พวกเขาเลื่อยต้นไม้เป็นแผ่น ๆ การทำเช่นนั้นเป็นการทำร้ายต้นไม้ ชาวอินเดียนไม่เคยทำร้ายสิ่งใด แต่คนขาวทำลายทุกอย่าง พวกเขาระเบิดหินจนกระจายไปทั่วผืนดิน ก้อนหินพูด “อย่า เธอกำลังทำร้ายฉัน” แต่คนขาวไม่สนใจ ...ทุกแห่งที่คนขาวไปถึงมีแต่ความเจ็บปวด”

    ทัศนคติและพฤติกรรมดังกล่าว ได้สร้างความมั่งคั่งให้แก่มนุษย์อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวได้ว่าอารยธรรมสมัยใหม่ซึ่งพรั่งพร้อมด้วยวัตถุเกิดขึ้นจากทัศนคติที่มุ่งครอบครองและเป็นนายเหนือธรรมชาติ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือธรรมชาติถูกพร่าทำลายอย่างยับเยิน จนกระทั่งส่งผลเสียต่อมนุษย์ เช่น เกิดน้ำท่วม ฝนแล้ง มลพิษ และทรัพยากรธรรมชาติขาดแคลน ถึงตอนนี้จึงเริ่มมีการพูดถึงการอนุรักษ์ธรรมชาติ แต่ถึงแม้ธรรมชาติจะได้รับการดูแลมากขึ้น ศูนย์กลางก็ยังอยู่ที่มนุษย์เหมือนเดิม ดังนักอนุรักษ์ธรรมชาติผู้หนึ่งให้นิยามว่า การอนุรักษ์ธรรมชาติ คือ “การดูแล ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อป้องกันมิให้ร่อยหรอ สูญเปล่าหรือถูกทำลาย เพื่อว่ามนุษย์จะสามารถใช้มันได้ในยามต้องการตลอดกาลนาน” ภายใต้แนวความคิดดังกล่าว การอนุรักษ์จึงมีความหมายรวมถึงการดัดแปลง ตกแต่ง หรือ “พัฒนา” ธรรมชาติเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เอง

    แนวความคิดดังกล่าว พูดอย่างสรุปก็คือมองว่า ธรรมชาตินั้นเป็น “ของฉัน” จึงต้องควบคุมโดยฉัน และเพื่อฉัน แต่ลืมมองความจริงอีกด้านหนึ่งว่า มนุษย์เรานั้นเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ ตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่สามารถแยกตัวออกจากธรรมชาติได้เลย เราทำอย่างไรกับธรรมชาติ ในที่สุดก็ส่งผลย้อนกลับมาที่ตัวเราเอง หากเราย่ำยีธรรมชาติ นอกจากส่งผลกระเทือนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของเราแล้ว ยังก่อผลร้ายต่อจิตใจของเราเอง กล่าวคือทำให้เราเห็นแก่ตัวมากขึ้น จิตใจหยาบกระด้างยิ่งกว่าเดิม ใช่หรือไม่ว่าวันนี้เราทำลายต้นไม้และสิงสาราสัตว์ พรุ่งนี้ก็อดไม่ได้ที่จะต้องทำลายเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน คำกล่าวของหญิงอินเดียนแดงข้างต้น สะท้อนให้เห็นเป็นอย่างดีถึงจิตนิสัยของคนที่ไม่เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็เหมือนจะบอกต่อไปว่า หลังจากที่คนขาวทำลายธรรมชาติที่ขวางหน้าแล้ว เหยื่อรายต่อไปก็คือชาวอินเดียนแดง

     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    อย่างไรก็ตาม ความรู้ที่ค้นพบใหม่ในชั่วไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมาทำให้เราเริ่มตระหนักว่า มนุษย์และทุกชีวิตอยู่ได้ก็เพราะการพึ่งพาอาศัยกัน นอกจากอากาศที่เราหายใจทุกเวลานาทีจะได้มาจากต้นไม้และมหาสมุทรแล้ว พลังงานที่หล่อเลี้ยงทุกเซลล์ในตัวเรายังได้มาจากสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่อยู่ในร่างกายของเรามาตั้งแต่เกิด คือไมโตคอนเดรีย จะว่าไปในแต่ละเซลล์ของเรายังมีชีวิตอื่นอีกหลายชนิดที่ผสานแนบแน่นจนไม่อาจแยกจากเราได้ เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศน์ ขณะเดียวกันระบบนิเวศน์ก็อยู่ในตัวเราด้วย ซึ่งเชื่อมโยงสัมพันธ์กับภูเขา ป่าไม้ หมู่เมฆ ลำธาร มหาสมุทร ไปจนถึงดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ มนุษย์กับธรรมชาติเชื่อมโยงสัมพันธ์แนบแน่น จน
    เราไม่อาจขีดเส้นแบ่งระหว่างเรากับธรรมชาติได้ การถือเอามนุษย์เป็นศูนย์กลาง โดยมีธรรมชาติคอยรับใช้เรานั้น นอกจากจะสะท้อนความเห็นแก่ตัวแล้ว ยังเป็นทัศนคติที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงอีกด้วย

    จักรวาลนั้นเป็นเครือข่ายแห่งความสัมพันธ์อันซับซ้อน ความสัมพันธ์ดังกล่าวเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากัน และทำให้ชีวิตของเรามิอาจแยกจากธรรมชาติหรือสรรพสิ่งในจักรวาลได้ ติช นัท ฮันห์ ได้กล่าวถึงสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งได้อย่างงดงามว่า

    “เมื่อคุณมองเก้าอี้ตัวนี้ คุณเห็นป่าไม้อันเป็นที่มาของไม้ที่ใช้ทำเก้าอี้ตัวนี้ไหม คุณเห็นดวงอาทิตย์ซึ่งสาดส่องป่าไม้ และหมู่เมฆซึ่งโปรยฝนบำรุงเลี้ยงป่าไหม คุณเห็นคนตัดไม้และครอบครัวของเขาไหม และข้าวที่เลี้ยงชีวิตของพวกเขาล่ะ คุณเห็นทั้งหมดนี้ในเก้าอี้ตัวนี้ไหม เก้าอี้ประกอบด้วยสรรพสิ่งที่มิใช่เก้าอี้ คุณเห็นดวงอาทิตย์ในหัวใจของคุณไหม เห็นบรรยากาศในปอดของคุณไหม สรรพสิ่งล้วนดำรงอยู่ในสภาพที่ต่างเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน และต่างเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน”

    เมื่อมองโลกด้วยความตระหนักถึงสายสัมพันธ์อันแนบแน่นกับสรรพชีวิตและสรรพสิ่ง เราจะเห็นผู้คนและชีวิตต่าง ๆ รวมทั้งธรรมชาติด้วยสายตาที่เป็นมิตรมากขึ้น มีความอ่อนโยนและเมตตากรุณายิ่งกว่าเดิม การดำเนินชีวิตของเราจะเป็นไปอย่างระมัดระวัง ด้วยความรู้สึกอ่อนไหวต่อความทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้อื่นหรือชีวิตอื่น เราจะไม่ถือเอาความสะดวกสบายหรือความมั่งคั่งพรั่งพร้อมทางวัตถุเป็นพระเจ้าอีกต่อไป เพราะรู้ดีว่าการกระทำเช่นนั้นจะส่งผลกระทบต่อผู้คนและสิ่งรอบตัวอย่างไรบ้าง การนึกถึงผู้อื่นและชีวิตอื่นมากขึ้น จะทำให้ตัวตนของเราเล็กลง และมีจิตใจที่โปร่งเบามากขึ้น ถึงตอนนั้นจะพบว่าความสุขนั้นเกิดขึ้นได้โดยไม่ต้องอิงวัตถุหรือสิ่งเสพแม้ดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายก็มีความสุขได้ เพราะถึงที่สุดแล้วสุขแท้นั้นอยู่ที่ใจเราแล้ว นี้คือธรรมชาติอีกด้านหนึ่งที่มักถูกมองข้ามไป จนทำให้ผู้คนหมกมุ่นกับการแสวงหาความสุขจากนอกตัว ส่งผลให้เกิดการเบียดเบียนธรรมชาติและผู้คนไม่รู้จบ

    ธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายในนั้นมิอาจแยกจากกัน ธรรมชาติภายนอกที่สงบสงัดร่มรื่น ย่อมก่อให้เกิดความรื่นรมย์สงบสุขแก่ธรรมชาติภายใน เมื่อใดที่ได้สัมผัสกับประสบการณ์ดังกล่าว เราจะเห็นคุณค่าของธรรมชาติภายนอก และไม่ถือตัวอย่างยโสโอหังว่าธรรมชาติภายนอกคือข้าทาสที่ต้องรองรับความปรารถนาของเรา
    วิกฤตการณ์ทางธรรมชาติ ไม่ว่ามลภาวะที่แพร่ระบาด ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ รวมถึงปัญหาโลกร้อน ซึ่งกำลังแสดงตัวเด่นชัดขึ้นทุกที โดยเนื้อแท้แล้วเป็นวิกฤตการณ์ด้านจิตวิญญาณ ที่เกิดจากทัศนคติที่ผิดพลาดในการมองโลกและชีวิต การเปลี่ยนแปลงทัศนคติดังกล่าว จนเห็นสหสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ และเห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างธรรมชาติภายนอกกับธรรมชาติภายใน คือกุญแจสำคัญที่จะนำมนุษย์ออกจากวิกฤตการณ์ดังกล่าวได้อย่างแท้จริง หากมนุษยชาติไปไม่ถึงจุดนั้น อนาคตก็ดูมืดมนเต็มที
    :- https://visalo.org/article/NaturePleanvitikid.htm





     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    เสียของ – ของเสีย
    พระไพศาล วิสาโล
    เมืองไทยสมัยก่อน วัดวาอารามมีให้เห็นทุกมุมเมือง แต่เวลานี้ไม่ว่าจะอยู่จุดไหนของเมืองสิ่งที่เห็นจนเจนตา ย่อมได้แก่ศูนย์การค้าอย่างไม่ต้องสงสัย มิใช่แต่กรุงเทพฯ เท่านั้นที่ศูนย์การค้าได้กลายเป็นตัวกำหนดภูมิทัศน์ของเมืองไปแล้ว แม้เมืองใหญ่น้อยทั้งหลายในอีก ๗๕ จังหวัดก็เห็นจะขาดสิ่งนี้เสียไม่ได้แล้ว แม้บางเมืองจะไม่มีกำลังสร้างอาคารทันสมัยหรือตึกสูงหลายชั้นติดแอร์เย็นฉ่ำ แต่ก็ต้องหาทางเนรมิตตึกแถวในตลาดให้กลายเป็นศูนย์การค้าให้ได้ โดยเรียกอย่างโก้หรูว่า “อาเขต” เพื่อไม่ให้น้อยหน้าที่อื่น

    พร้อมๆ กับศูนย์การค้า ร้านค้าอย่างใหม่ก็กำลังไล่ตามมาในรูปร้านมินิมาร์ท เชนสโตร์ แม้แต่ร้านชำก็เปลี่ยนรูปแปลงโฉมให้เป็นคอนวีเนียนท์สโตร์ เสียจนทั่วกรุง แต่นอกจากร้านค้าแล้ว มีใครเคยนึกไหมว่าร้านอาหารก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีอยู่เกลื่อนเมือง จนกระทั่งเวลานี้แม้แต่ในหมู่บ้านหลายแห่งก็เปิดร้านอาหารกันแล้วทั้งๆ ที่มีคนอยู่ไม่ถึงร้อยครัวเรือน กรุงเทพฯ เมื่อ ๒๐ ปีก่อน ตลาดโต้รุ่งมีไม่กี่แห่ง แต่ปัจจุบันอย่าว่าแต่กรุงเทพฯ เลย มีมุมไหนของหัวเมืองใดบ้างที่ปลอดร้านอาหารโต้รุ่ง

    มักพูดกันว่าคนไทยนั้นไม่ค่อยจริงจังกับอะไรเท่าไร ข้อนี้เห็นจะต้องเถียง เพราะอย่างน้อยก็มีอย่างหนึ่งที่คนไทยเอาจริงเอาจังอย่างยิ่ง นั่นคือการกินและจับจ่ายใช้สอย แม้จะดึกดื่นเพียงใดเราก็ยังแบกสังขารไปร้านอาหารหรือเสพสุรากันได้ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นธรรมดาอยู่เองที่คนต่างชาติเวลามาเมืองไทยย่อมอดสะดุดใจไม่ได้ที่คนไทยช่างมีความสุขกับการกินและการช็อปปิ้งเหลือเกิน

    ไม่ว่าคณะกรรมการเอกลักษณ์ไทยจะมีทัศนะอย่างไร แต่ถึงวันนี้เห็นจะต้องยอมรับว่าการใฝ่เสพใฝ่บริโภคได้กลายเป็นลักษณะประจำชาติไทยไปแล้ว กระนั้นก็ตามเอกลักษณ์ดังกล่าวหาใช่นิสัยที่สืบทอดกันมาแต่โบราณอย่างที่มักเข้าใจกันไม่ เมื่อนิโคลาส์แชรแวสมาเมืองไทยในสมัยพระนารายณ์เขาประทับใจอย่างมากกับความสมถะของคนไทย ดังได้บันทึกว่า “ไม่มีชนชาติใดที่จะบริโภคอาหารอดออมเท่าคนสยาม สามัญชนดื่มแค่น้ำเท่านั้น แล้วก็กินข้าวหุง ผลไม้ ปลาแห้งเล็กน้อย แล้วยังกินไม่ค่อยจะอิ่มท้องเสียด้วย ชนชั้นสูงก็มิได้บริโภคดีไปกว่านี้ ทั้งที่สามารถจะซื้อหามาบริโภคได้ตามปรารถนา”

    ชาวตะวันตกคนอื่นๆ ก็มีความเห็นทำนองเดียวกัน การที่คนไทยมัธยัสถ์เช่นนั้นมิใช่เพราะอาหารมีน้อย แท้ที่จริงกลับตรงข้าม แชรแวสบรรยายว่า “ปลานั้นชุกชุมมากเหลือเกิน จับชั่วโมงหนึ่งพอกินได้ไปหลายวัน” แต่แล้วคนไทยกลับพอใจที่จะกินปลาแห้งและปลาร้ายิ่งกว่าปลาสดทั้งๆ ที่หาได้ง่ายมาก ความข้อนี้สอดคล้องกับบันทึกของลาลูแบร์ซึ่งเป็นคนร่วมสมัยกับแชรแวส “แม่น้ำลำคลองก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา ส่วนใหญ่เป็นปลาไหลตัวงามๆ แต่ชาวสยามไม่สู้จะนิยมบริโภคปลาสดกันนัก” บาทหลวงเดอชัวซีย์ ซึ่งมาเจริญทางพระราชไมตรีสมัยพระนายราณ์ก็กล่าวเช่นเดียวกันว่า “(ปลา)มีอยู่เป็นอันมากในแม่น้ำ เวลาลงอาบน้ำมักว่ายมาชนแข้งชนขาเรา นี่เป็นความจริงอย่างยิ่งทีเดียว”

    นอกจากปลาแล้ว สัตว์ชนิดอื่นก็มีอยู่มาก แต่คนไทยก็หาได้ไล่ล่ามาเป็นอาหารไม่ ดัง
    ลาลูแบร์บันทึกว่า “ในกรุงสยาม มีสัตว์ป่าที่จะเป็นอาหารอยู่เป็นอันมากและสัตว์เลี้ยงที่เป็นอาหารได้ก็มีอยู่มาก เช่น วัว ควาย เป็ด ไก่และนก แต่ชาวสยามไม่นิยมบริโภคเนื้อสัตว์อื่นใดนอกจากปลา” แม้หลังจากนั้นถึง ๒๐๐ ปี ในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว คาร์ล ซิมเมอร์แมนก็ประสบพบเห็นสิ่งเดียวกัน ภายหลังการสำรวจสภาพชนบทกว่า ๓๐ จังหวัดในเวลา ๑ ปี เขาตั้งข้อสังเกตว่า “แม้ในที่ต่างๆ มีอาหารหลายอย่างบริบูรณ์ หรือในที่ซึ่งชาวจีนฆ่าสัตว์ขาย ราษฎรก็ไม่สู้นิยมอาหารเนื้อนัก และยังคงใช้ข้าวเป็นอาหารประจำวันตามเคย โดยมากเป็ดไก่และเนื้อสดบริโภคกันเฉพาะวันหยุดงานและในเวลาทำบุญเท่านั้น”

    คนสมัยนี้มักเข้าใจว่าความประหยัดมัธยัสถ์นั้นเป็นคุณค่าที่เกิดจากความจำเป็นบีบบังคับ เช่นอาหารมีน้อย ทรัพยากรขาดแคลน เป็นเพราะทุกวันนี้ฝนฟ้าแปรปรวน สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม ขยะกำลังจะล้นเมือง เราจึงหันมาเรียกร้องให้ช่วยกันประหยัดน้ำไม่ใช้ไฟอย่างฟุ่มเฟือย และลดการใช้ถุงพลาสติก แต่สำหรับคนสมัยก่อนความประหยัดมัธยัสถ์เป็นคุณธรรมโดยตัวมันเอง แม้ปลาจะมีอยู่มากมาย ลงไปหว่านแหเมื่อไร ก็ได้ปลามากินเมื่อนั้น แต่เขาก็กินเท่าที่จำเป็นและใช้ประโยชน์จากทุกอย่างที่หามาได้ ด้วยเหตุนี้ปลาที่จับมาได้ ถ้ากินไม่หมดก็ไม่ทิ้งให้เสียของ หากเอามาหมักหรือตากแห้งไว้กินต่อ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่คนแต่ก่อนจะกินปลาแห้งหมักมากกว่าปลาสด

    สมัยก่อนไม้ในป่ามีอยู่มากมายมหาศาล แต่บ้านของคนไทยส่วนใหญ่ก็เป็นแค่เรือนฝากระดาน หรือเรือนขัดแตะมุงหลังคาจาก มิได้สร้างอย่างใหญ่โตด้วยได้แผ่นหนาและเสาต้นอวบ โดยที่ไม้แต่ละต้นที่ตัดมาก็ใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่าทุกส่วน เช่นเดียวกับสัตว์ป่าหากล่ามาได้ แม้แต่กระดูกก็ไม่ทิ้งให้เสียเปล่า ทั้งๆ ที่ป่าเกลื่อนกล่นไปด้วยสัตว์นานาชนิด เวลาเข้าป่าหาหน่อไม้และสมุนไพร ก็ตัดแต่พอกินพอใช้เท่านั้น
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    49,301
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,051
    (ต่อ)
    นิสัยการบริโภคของคนไทยแต่ก่อนนับว่าผิดจากสมัยนี้แทบจะสิ้นเชิง อะไรที่มีมากหาได้ง่ายก็ตักตวงมาใช้อย่างสุรุ่ยสุร่ายแทบจะล้างผลาญกันเลยทีเดียว ป่าจึงหมดอย่างรวดเร็ว สัตว์นานาชนิดจึงสูญพันธุ์ ปลาที่ถูกทิ้งลงทะเลเพราะเอาไปขายไม่ได้ ใครรู้ว่าบ้างว่าปีหนึ่งๆ รวมกันแล้วมีกี่พันกี่หมื่นตัน ขณะเดียวกันน้ำก็เน่าขึ้นเรื่อยๆ ส่วนกระดาษและถุงพลาสติกก็กลายเป็นขยะเกลื่อนเมือง แม้แต่ในชนบทการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือยก็กำลังระบาดเข้าไปอย่างรวดเร็ว เศษไม้ตามหัวไร่ปลายนาและในป่าถูกทิ้งเกลื่อนกลาด เพราะสนใจแต่ตัวเสาและขื่อคาไม้กระดานเท่านั้น
    น่าศึกษาว่าคนไทยเริ่มตีตัวหนีห่างจากความประหยัดมัธยัสถ์ตั้งแต่เมื่อไร ในหนังสือเรื่อง เศรษฐกิจหมู่บ้านไทยในอดีต ฉัตรทิพย์ นาถสุภาชี้ว่า ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ หรือเมื่อร้อยปีที่แล้ว ก็เริ่มพบแล้วว่าคนไทยในภาคกลาง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวนาใช้เงินมือเติมขึ้น เงินที่หาได้จากการขายข้าวนอกจากจะหมดไปการกับซื้อเสื้อผ้าและอาหาร เช่น ปลาทูเค็ม ปูเค็ม หมากพลู ยาสูบ พริก หอม กระเทียมแล้ว ยังใช้ไปกับการจัดงานบวชอย่างใหญ่โต รวมทั้งงานแต่งงาน ขนาดต้องล้มวัวล้มควาย(ผลที่ตามมาคือสูญเสียที่ดินมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากเป็นหนี้สิน) โดยที่เราต้องไม่ลืมว่าก่อนหน้านั้นขึ้นไป ชาวบ้านล้วนทอผ้าหรือจับปลากินเองรวมถึงการปลูกพืชสวนครัวเองด้วย เช่นเดียวกับที่ไม่นิยมกินเนื้อสัตว์ใหญ่กันเท่าไรนัก ส่วนหนึ่งก็เพราะสำนึกในเรื่องบาปบุญยังมีอิทธิพลอยู่มาก

    ที่ชาวบ้านใช้เงินมือเติบนี้ เข้าใจว่าเป็นเพราะเพิ่งมีเงินเป็นกอบเป็นกำนั่นเอง และที่เงินสะพัดเข้าไปในหมู่บ้านได้ก็เป็นผลจากการขยายตัวของเศรษฐกิจระบบตลาด ตั้งแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ ๑๙ เป็นต้นมา ชาวนาในภาคกลางก็เปลี่ยนจากการปลูกข้าวไว้กินเอง มาเป็นการปลูกข้าวเพื่อขาย การทอผ้าเริ่มลดลงเช่นเดียวกับการปลูกพืชรอง ชาวบ้านต้องพึ่งตลาดมากขึ้นสำหรับสิ่งของที่จำเป็นแก่การยังชีพ จึงนับเป็นครั้งแรกในประวัติสาสตร์ที่ชาวบ้านได้กลายเป็น “ผู้บริโภค”

    ในเศรษฐกิจระบบตลาด เงินตราคืออำนาจ แต่ก็ดังที่ลอร์ดแอกตัน นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษได้กล่าวไว้ “อำนาจมักทำให้เสื่อมถอย” เงินตราที่ได้มา ได้กัดกร่อนนิสัยประหยัดมัธยัสถ์ในหมู่คนไทยลงไปเรื่อยๆ อำนาจในการจับจ่ายซื้อหาสินค้าถูกใช้อย่างพร่ำเพรื่อและไม่รู้ประมาณ ความสุขจากการบริโภคได้กลายเป็นสิ่งเสพติด มิหนำซ้ำคุณค่าแห่งความสันโดษยังถูกทำลายอย่างเป็นระบบในสมัยจอมพลสฤษดิ์(พระทั่วประเทศถึงกับถูกกำชับไม่ให้สอนคุณธรรมข้อนี้ ด้วยถือว่าขัดขวางการพัฒนา) ผลก็คือคนไทยในยุคนี้ได้กลายเป็นนักช็อปปิ้งหรือ“เซียมตือ” (หมูสยาม) ซึ่งลือชื่อไปทั่วโลก

    จะว่าไปแล้ว วัฒนธรรมบริโภคนิยมมาระบาดอย่างจริงจังในเมืองไทยก็ระยะ ๓๐ ปีที่ผ่านมานี้เองเห็นจะได้ คนที่มีอายุ ๓๐-๔๐ ปีขึ้นไปเมื่อตอนเด็กๆ อาจจะคุ้นกับคำสอนของพ่อแม่ว่าให้กินข้าวเกลี้ยงจาน หาไม่จะ ”เสียของ” สิ่งของต่างๆ แม้แต่น้ำประปา เราถูกสอนให้ใช่เท่าที่จำเป็นเพื่อไม่ให้เสียของ คำว่า “เสียของ” ได้กลายเป็นคำที่เด็กแต่ก่อนคุ้นเคยเป็นอย่างดี แต่เดี๋ยวนี้คำๆ นี้แทบจะเลือนหายไปแล้วจากชีวิตสมัยใหม่ จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบัน “ของเสีย” จึงเกิดขึ้นมากมายจนกลายเป็นปัญหาไปทั่ว

    ปัญหาของเสียและมลภาวะทั้งหลายไม่อาจจะแก้ได้เลย หากเราไม่สำนึกเรื่อง “เสียของ” ในด้านหนึ่งสำนึกดังกล่าวหมายถึงการบริโภคอย่างประหยัดมัธยัสถ์รู้จักประมาณเพื่อไม่ให้มีส่วนเกินส่วนเหลือโดยใช่เหตุ แต่อีกด้านหนึ่งหมายถึงการใช้ประโยชน์จากสิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่า สิ่งที่หมดประโยชน์ใช้สอยในด้านหนึ่งมักมีประโยชน์ในอีกด้านหนึ่งเสมอ กระดาษที่ใช้แล้วทั้งสองด้านแม้จะเอามาขีดเขียนไม่ได้อีก ก็ยังสามารถนำมาประดิษฐ์เป็นของใช้และเครื่องประดับได้มากมาย น้ำล้างจานมิใช่ของไร้ค่า เพราะสามารถรดน้ำต้นไม้ได้ ในสมัยพุทธกาล เมื่อพระอานนท์ได้รับจีวรผืนใหม่มา จีวรผืนเดิมที่เก่าคร่ำคร่า ก็มิได้ทิ้ง หากทำเป็นผ้าห่มส่วนผ้าห่มผืนเดิมก็เปลี่ยนเป็นผ้านุ่ง ขณะที่ผ้านุ่งผืนเก่าแปรสภาพเป็นผ้าปูนอน เช่นเดียวกับผ้าปูนอนผืนเดิม ทำเป็นผ้าปูพื้นและผ้าปูพื้นผืนเดิมถูกใช้เป็นผ้าเช็ดเท้า และแม้แต่ผ้าเช็ดเท้าผืนเดิมที่ทำอะไรแทบไม่ได้แล้ว ก็ยังมีประโยชน์โดยเอามาสับแล้วผสมกับดินเหนียวทาเป็นผนังกุฏิได้อีก โดยนัยนี้จึงไม่มีของเสียแม้แต่น้อย เพราะทุกอย่างถูกใช้อย่างไม่ให้เสียของ ไม่เกินไปเลยที่จะกล่าวว่าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าของเสียในสังคมที่รู้จักมัธยัสถ์ใฝ่สันโดษ

    จริงอยู่สมัยก่อนจีวรเป็นของหายาก จึงต้องใช้อย่างมัธยัสถ์ที่สุด แต่นั่นก็มิได้หมายความว่าเมื่อคนยุคนี้สามารถผลิตผ้าได้มากมาย เราจึงสมควรใช้อย่างฟุ่มเฟือย ถ้าเห็นด้วยกับตรรกะนี้ ก็สมควรส่งเสริมให้พระฉันอาหารได้หลายมื้อเหมือนกับโยมเพราะสมัยนี้เราสามารถผลิตอาหารได้มากมายก่ายกองอย่างที่ไม่เคยมีในสมัยพุทธกาล แท้ที่จริงความสันโดษเรียบง่ายนั้นมีคุณค่าในตัวมันเอง เพราะนอกจากจะเอื้อให้มนุษย์ได้ใช้ศักยภาพที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อความเจริญงอกงามในทางจิตใจแล้ว ยังอำนวยให้บุคคลได้บำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่นอย่างเต็มกำลังความสามารถอีกทั้งยังส่งเสริมให้มีความสัมพันธ์อย่างบรรสานสอดคล้องกับธรรมชาติ ยิ่งกว่าที่จะเบียดเบียนเพื่อปรนเปรอความสุขทางกายอย่างหาความพอดีไม่ได้

    ความก้าวหน้าของยุคสมัยไม่น่าจะวัดกันที่สมรรถนะในการผลิตสินค้าอาหารและบริการเท่านั้น หากควรดูที่ความสามารถในการเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งต่างๆ มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด ต่อเมื่อคนยุคนี้สามารถแปรสารพิษจากควันโรงงานต่างๆ เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ มาใช้ให้เป็นประโยชน์ แทนที่จะปล่อยทิ้งให้กลายเป็นมลพิษในอากาศ เราจึงจะบอกได้ว่ายุคนี้ก้าวหน้ากว่ายุคก่อนในทางเทคโนโลยี นิมิตดีก็ตรงที่เวลานี้สิ่งที่เคยเป็นของเสียจากโรงงาน สามารถหมุนเวียนมาเป็นประโยชน์ได้ใหม่ ทั้งนี้เป็นผลมาจากพัฒนาการในทางเทคโนโลยีนานาประเภท อย่างไนก็ตามความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจและแรงกดดันจากรัฐรวมทั้งผู้บริโภค พัฒนาการขั้นต่อไปก็คือการผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยสำนึกในความประหยัด มัธยัสถ์และสันโดษ

    แต่สำนึกดังกล่าวจะมีอิทธิพลต่อระบบการผลิตได้ ก็ต่อเมื่อสังคมยอมให้สำนึกเช่นนี้หยั่งรากลึก จุดเริ่มจึงอยู่ที่ประชาชน แม้จะปฏิเสธความเป็นผู้บริโภคได้ยาก แต่การเป็นผู้บริโภคที่ดี ก็มิได้หมายความว่า นิยมซื้อหาแต่สินค้าปลอดสารพิษ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และไม่ใช้สัตว์เป็นเครื่องทดลองเท่านั้น หากน่าจะไปถึงขั้นที่รู้จักประมาณ คือบริโภคเท่าที่จำเป็น รู้จักสันโดษคือพึงพอใจในสิ่งที่ตนมี มิใช่คอยแสวงหาความสุขจากการซื้อและการเสพเท่านั้น บ่อยครั้งการไม่ซื้ออะไรเลยนั้นสามารถช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมได้ดีกว่าการเลือกซื้อสินค้าสีเขียวเสียอีก ใช่แต่เท่านั้นการรู้จักใช้สิ่งต่างๆ อย่างคุ้มค่าไม่ให้เสียของ ยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราดีขึ้นอีกโสตหนึ่งด้วยโดยไม่สิ้นเปลืองเงินทองแต่อย่างใด

    :- https://visalo.org/article/chaladsue_4.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...