บทความให้กำลังใจ(สิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยพิบัติ)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    46,844
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,043
    (ต่อ)

    ทั้งหมดนี้กล่าวอย่างสรุปก็คือ ใจวิบัติเพราะลืมตัว จึงปล่อยให้ความโลภ ความโกรธ ความกลัวทำร้ายจิตใจ พอลืมตัวแล้วก็สามารถทำอะไรได้ทั้งนั้นรวมทั้งทำร้ายตนเอง บางคนเกิดอารมณ์ชั่ววูบจนลืมตัว กระโดดลงจากตึกบ้าง ลงจากสะพานบ้าง วิ่งไปให้รถชนบ้าง บางทีก็ไปซื้อปืนมายิงตัวเองบ้าง ทำร้ายคนอื่นบ้าง


    ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดที่ควรทำในตอนนี้ก็คือตั้งสติให้ดี อย่ากลัวหรือตื่นตระหนกกับภัยพิบัติจนลืมตัว หรือมองข้ามอันตรายที่ยิ่งกว่านั้นคือใจวิบัติ อันตรายชนิดนี้ไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ใจเรานี่แหละ ใจที่ควรจะสร้างสุขให้เรา แต่กลับกลายเป็นศัตรูที่น่ากลัวที่สุดของเรา อย่าลืมว่าไม่มีอะไรที่จะทำร้ายเราได้มากกว่าจิตใจของเรา พระพุทธเจ้าตรัสไว้ “จิตที่ฝึกฝนผิดทางย่อมทำความเสียหายให้ยิ่งกว่าศัตรูต่อศัตรูหรือคนจองเวรต่อคนจองเวรจะพึงทำให้กันเสียอีก”

    ศัตรูทำร้ายศัตรูด้วยกัน หรือคนจองเวรกัน ก็ยังไม่ก่อความเสียหายเท่ากับใจที่ตั้งไว้ผิด ใจที่คลาดเคลื่อนจากธรรมหรือที่อาตมาเรียกว่าใจวิบัตินี้แหละ สามารถทำร้ายหรือสร้างความฉิบหายได้ยิ่งกว่าที่ศัตรูทำร้ายกัน แม้แต่โจรก็ทำร้ายเราได้ไม่เท่ากับใจของเราเองด้วยซ้ำ อย่างมากที่โจรแย่งชิงไปได้ก็คือทรัพย์สินเงินทองหรือเพชรนิลจินดาไป แต่เขาไม่สามารถแย่งชิงหรือขโมยความสุขไปจากใจเราได้ ในทำนองเดียวกันศัตรูด่าว่าเราไม่สามารถทำให้เราทุกข์ได้หรอก ไม่ว่าเขาจะพูดเสียงดังหรือสรรหาคำรุนแรงมาด่าเราเพียงใดก็ตาม ถ้าหากว่าใจเราไม่เปิดใจรับคำด่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ แต่เพราะเราวางใจไม่ถูก คำพูดเพียงเล็กน้อยๆ ก็สามารถจะทำให้เราคลุ้มคลั่งเป็นบ้าหรือกลุ้มอกกลุ้มใจจนทำร้ายตัวเองได้

    มีหลายคนที่ฆ่าตัวตายเป็นเพราะเขาได้ยินคำพูดที่ไม่ถูกใจเพียงไม่กี่ประโยค ซึ่งอาจจะไม่ใช่คำพูดที่รุนแรงเช่น คำพูดว่า “แม่ไม่มีเงินซื้อโทรศัพท์มือถือให้นะ” หรือ “ถ้าแกสอบตก พ่อจะตัดหางปล่อยวัดแล้ว” คำพูดแค่นี้สามารถทำให้คนบางคนทำร้ายตัวเองหรือฆ่าตัวตายได้ ถามว่ามันเป็นคำพูดที่รุนแรงหรือเปล่า มันไม่รุนแรงเลย แต่เป็นเพราะผู้ฟังวางใจไว้ผิด พอฟังแล้วใจก็เลยวิบัติ พอใจวิบัติแล้วก็สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น รวมทั้งทำร้ายตัวเอง

    แต่ถ้าวางใจไว้ดี ใจไม่วิบัติ แม้เจอภัยพิบัติจมอยู่ในกองอิฐ ก็ยังเป็นปกติได้ ตอนเกิดแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น มีหลานกับยายสองคนถูกฝังอยู่ใต้ซากปรักหักพังนานถึง ๙ วัน ไม่มีใครคิดว่าจะรอด แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยไปพบและช่วยไว้ได้ คนที่ถูกช่วยออกมาจากซากปรักหักพังก่อนคือ หลานอายุ ๑๖ ปี พอหลานรู้ว่ามีคนมาช่วยก็ร้องห่มร้องไห้ด้วยความดีใจ แต่พอออกจากซากตึกได้ก็หมดแรงจนต้องนอนเปลขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ตรงกันข้ามกับยายอายุ ๘๐ ปีเดินออกมาสบายๆ ไม่มีอาการฟูมฟาย ไม่ต้องให้ใครพยุงหรือนอนเปล พูดถึงสภาพร่างกายแล้ว สองคนนี้แตกต่างกันมาก หลานแข็งแรงกว่ายายมาก แต่ทำไมหลานหมดสภาพทันทีที่ออกมาจากซากตึก ตรงข้ามกับยายที่เดินออกมาอย่างปกติ เป็นเพราะอะไร คำตอบอยู่ที่ใจนั่นเอง ใจของยายนั้นสงบตั้งแต่อยู่ในซากตึกแล้ว อาจเป็นเพราะมีความหวังว่าจะมีคนช่วยออกมาได้ หรือไม่ก็เพราะใจพร้อมจะตายตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเวลายายเจอเจ้าหน้าที่กู้ภัยก็เลยไม่ได้ดีอกดีใจอะไรมาก และเมื่อใจสงบ ไม่วิตกกังวลร่างกายก็เลยเข้มแข็ง ไม่ทรุดหรือหมดสภาพ ทั้งๆ ที่ไม่ค่อยมีอาหารกิน นี้ก็เช่นเดียวกับกรณีเหมืองถล่มที่ชิลีเมื่อปีที่แล้ว มีคนงาน ๓๓ คนถูกขังอยู่ใต้ดินลึกถึง ๖๐๐ เมตร นานถึง ๗๐ วัน ไม่มีใครรู้ว่าจะรอดหรือเปล่า ที่จริงโอกาสตายมีสูงมาก เพราะการช่วยเหลือทำได้ยากมาก แต่ว่าทุกคนก็รอดมาได้ ไม่ใช่เพราะเจ้าหน้าที่กู้ภัยเก่งอย่างเดียว แต่เป็นเพราะคนที่ถูกขังใต้ดินนั้นเขาดูแลจิตใจของตนเองดี ส่วนหนึ่งเพราะต่างช่วยกันดูแลจิตใจของกันและกัน ทำให้ไม่ตื่นตระหนก เสียขวัญ หรือท้อแท้ เห็นได้ชัดว่าแม้เจอภัยพิบัติแต่ถ้าใจไม่วิบัติ ใจเป็นปกติ สามารถพบกับความสุขหรืออย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ทรมานแม้จะอยู่ใกล้ชิดความตายอย่างยิ่งก็ตาม

    การรักษาใจจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ถ้าเราหันมาให้ความสำคัญกับการรักษาใจ รู้จักประคับประคองใจไม่ให้วิบัติ เราจะไม่กลัวภัยพิบัติ และไม่กังวลด้วย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย ในสภาพอย่างนี้เราต้องไม่ประมาท ควรเตรียมการป้องกันเต็มที่ แต่ก็ไม่ควรทำด้วยความตื่นตระหนก ขณะเดียวกันก็รู้ว่าอันตรายเหล่านี้ไม่อยู่ในวิสัยที่เราจะควบคุมได้ แม้แต่พยากรณ์ก็ยังทำได้ยาก โดยเฉพาะ แผ่นดินไหว ไม่มีทางพยากรณ์ได้เลย ดังนั้นจึงพร้อมเผชิญกับมันตลอดเวลา มิใช่แต่ภัยพิบัติที่เกิดจากธรรมชาติเท่านั้น แม้ภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เช่น ไฟไหม้ ก็ยังสามารถรักษาใจให้ปกติไม่อกสั่นขวัญแขวน หรือถึงจะไม่มีภัยพิบัติใดๆ เกิดขึ้นเลย แต่เป็นปรากฏการณ์ธรรมดาที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคนเช่น ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย แม้กระทั่งความตาย เมื่อเกิดขึ้นเราก็ยังสามารถรักษาใจได้ให้ปกติได้

    เราควรดูแลรักษาใจอย่างไรเพื่อไม่ให้ใจวิบัติ ขอกล่าวอย่างย่อ ๆ ดังนี้

    ๑.มีสติรู้เท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ อย่าปล่อยให้ความตื่นตระหนก ความกลัว ความโกรธ หรือความโลภ ครอบงำใจ เวลาได้ยินข่าวคราวหรือเสียงร่ำลือเกี่ยวกับภัยพิบัติ รวมทั้งคำพยากรณ์ต่าง ๆให้ตั้งสติให้ดี อย่าเพิ่งตื่นตระหนก หรือทำตัวเป็นกระต่ายตื่นตูม สืบสาวหาความจริงก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร หาไม่เราจะตกเป็นเหยื่อของข่าวลือ หรือทำให้ข่าวลือแพร่กระจาย พร้อมกันนั้นก็หมั่นเจริญสติอยู่เป็นประจำ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันเพื่อจะได้มีสติ รักษาใจไม่ให้หวั่นไหวไปตามสิ่งที่มากระทบ

    ๒.อยู่กับปัจจุบัน อย่ามัวห่วงกังวลกับอนาคตหรือสิ่งที่ยังมาไม่ถึง การเตรียมตัวป้องกันเหตุร้ายเป็นสิ่งที่ดี แสดงถึงการตั้งอยู่ในความไม่ประมาท แต่หากหมกมุ่นกับภัยพิบัติที่ยังไม่เกิด จนไม่รู้จักปล่อยวางเลย เราจะเป็นทุกข์โดยใช่เหตุ หรือกลายเป็นคนตีตนไปก่อนไข้ เมื่อเตรียมการเต็มที่แล้ว ก็ควรหันมาใส่ใจกับการอยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด รวมทั้งมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันด้วย อย่ากังวลกับอนาคตภัยจนกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือเคร่งเครียด เพราะการกระทำเช่นนั้น นอกจากเป็นการนำความทุกข์มาทับถมตนหรือซ้ำเติมตนเองแล้ว ยังเป็นการละทิ้งความสุขที่มีอยู่โดยชอบธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ไม่สรรเสริญ

    ๓.พร้อมยอมรับความจริงทุกอย่างที่เกิดขึ้น อะไรก็ตามเมื่อเกิดขึ้นแล้ว แม้เป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ ป่วยการที่เราจะตีโพยตีพาย โวยวาย หรือปฏิเสธผลักไส เพราะนอกจากจะไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้ว ยังทำให้เราเป็นทุกข์เพิ่มขึ้น สิ่งที่ควรทำคือยอมรับความจริง แล้วใคร่ครวญว่าควรจะทำอะไรต่อไป เช่น จะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เราจะทำใจพร้อมยอมรับเหตุร้ายที่เกิดขึ้นได้ก็ด้วยการหมั่นฝึกใจให้พร้อมยอมรับสิ่งที่ไม่ถูกใจในชีวิตประจำวันอยู่เสมอ เช่น รถติด ฝนตก เงินหาย ถูกตำหนิ ฯลฯ หากทำใจยอมรับสิ่งเหล่านี้ด้วยใจที่เป็นกลางได้ ก็จะช่วยให้เราสามารถเผชิญกับภัยพิบัติได้ด้วยใจสงบไม่ตื่นตระหนกหรือเสียขวัญ

    ๔.เจริญมรณสติอยู่เสมอ นั่นคือตระหนักถึงความจริงว่า ความตายเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้นกับทุกคน และสามารถเกิดขึ้นกับเราได้ตลอดเวลา ความตายจึงอยู่ใกล้ตัวเรายิ่งกว่าภัยพิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น และถึงแม้ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้นเลย เราก็หนีความตายไม่พ้น แต่ความตายจะเกิดขึ้นเมื่อใดไม่รู้ อาจเกิดขึ้นกับเราวันนี้คืนนี้ก็ได้ ดังนั้นจึงควรถามตัวเองว่า หากวันนี้ต้องตาย เราพร้อมหรือไม่ที่จะจากโลกนี้ไป เราทำความดีสร้างบุญกุศลมาพอหรือยัง กิจธุระที่สำคัญทำเสร็จสิ้นหรือยัง และพร้อมปล่อยวางสิ่งต่าง ๆ รวมทั้ง ทรัพย์สมบัติ ลูกหลาน พ่อแม่ คนรัก ตลอดจนร่างกายนี้หรือยัง หากไม่พร้อมก็ควรเร่งทำ อย่าปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ขณะเดียวกันก็ปฏิบัติกับทุกคนด้วยความใส่ใจโดยตระหนักว่าเขาอาจอยู่กับเราวันนี้เป็นวันสุดท้ายก็ได้ อย่าละเลยโอกาสที่จะทำดีกับทุกคนที่เราเกี่ยวข้องด้วย

    ๕.มีน้ำใจต่อผู้อื่นเสมอ ยิ่งนึกถึงตัวเองมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์ง่ายมากเท่านั้น ตรงกันข้ามการนึกถึงผู้อื่นที่ทุกข์มากกว่าเรา จะช่วยให้เราทุกข์น้อยลง เห็นความทุกข์ของเราเป็นเรื่องเล็กกว่าเดิม สามารถทนกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นได้

    ตอนที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองไทยเมื่อเร็ว ๆนี้ ผู้สื่อข่าวผู้หนึ่งซึ่งไปทำข่าวที่ปทุมธานีเล่าว่า ได้พบคุณลุงคนหนึ่ง กำลังลุยน้ำอยู่จึงรับขึ้นรถ คุณลุงเล่าว่าก่อนหน้านี้ได้ต่อเรือและรถหลายทอดมายังตัวเมืองปทุมธานี เพื่อหาซื้ออาหาร เพราะที่บ้านซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ ๒๐ กิโลเมตรนั้นน้ำท่วมสูงมากจนหาซื้ออะไรไม่ได้ กว่าจะมาถึงตัวเมืองก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า ๔ ชั่วโมง ปรากฏว่าฟ้ามืดแล้ว ไม่สามารถหารถหรือเรือกลับบ้านได้ จึงต้องนอนค้างที่ตัวเมือง และกลับวันรุ่งขึ้น โชคดีที่เจอรถผู้สื่อข่าวกลางทาง คุณลุงเล่าว่าที่บ้านนั้นมีคนอาศัยอยู่หลายคน ต่างขาดแคลนอาหารกันทั้งนั้น เมื่อรถของผู้สื่อข่าวเดินทางไปถึงจุดที่รถกระบะไม่สามารถลุยต่อไปได้ ก็ให้คุณลุงลุยต่อหรือหาเรือกลับบ้านเอาเอง ก่อนจากกันผู้สื่อข่าวซึ่งนำถุงยังชีพไป แจกจ่ายระหว่างทำข่าวด้วย ได้มอบถุงยังชีพให้คุณลุงหลายถุงเพราะทราบว่ามีคนอยู่ด้วยกันหลายคน แต่คุณลุงกลับขอรับไปเพียงถุงเดียว ด้วยเหตุผลว่า "ยังมีคนอื่นที่เขาต้องการอีกมาก" คุณลุงรู้ดีว่าถุงยังชีพเพียงถุงเดียวคงพอใช้ได้แค่วันสองวันเท่านั้น แต่คุณลุงเห็นว่าปัญหาที่จะเกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อนึกถึงความทุกข์ของผู้อื่นที่หนักหนากว่า

    ใจของเรานั้นหากปล่อยให้วิบัติ สามารถทำอันตรายแก่เราได้ยิ่งกว่าที่โจรผู้ร้ายจะทำได้ ในทางตรงข้ามหากดูแลรักษาใจให้ดี ใจก็จะกลายเป็นมิตรที่ประเสริฐที่สุดของเราได้ ไม่ว่าจะเจออันตรายร้ายแรงเพียงใด ก็ไม่หวั่นไหว หาสุขพบได้ท่ามกลางเหตุร้ายที่เกิดขึ้น หรือสามารถเปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดีได้

    ไม่มีใครหรืออะไรสามารถให้สิ่งประเสริฐแก่เราได้มากเท่ากับใจที่วางไว้ถูก ดังพระพุทธองค์ตรัสว่า “มารดาก็ทำให้ไม่ได้ บิดาก็ทำให้ไม่ได้ ญาติพี่น้องก็ทำให้ไม่ได้ แต่จิตที่ฝึกฝนไว้ชอบย่อมทำสิ่งนั้นให้ได้ และทำให้ได้อย่างประเสริฐด้วย” ถ้าเราตั้งจิตไว้ถูก มีธรรมรักษาใจ ก็จะได้พบสิ่งที่ประเสริฐสูงสุดที่แม้แต่พ่อแม่ก็ไม่สามารถให้ได้

    ดังนั้นหากกลัวภัยพิบัติ ก็ต้องเร่งฝึกฝนจิตใจเพื่อป้องกันไม่ให้ใจวิบัติ หมั่นใส่ใจดูแลเพื่อให้ใจกลายเป็นสมบัติอันประเสริฐสุดของเรา ถ้าหากวางใจได้อย่างนี้ ภัยพิบัติจะกลับกลายเป็นคุณต่อเรา มิใช่เป็นโทษสถานเดียวอย่างที่ใครต่อใครกำลังหวาดกลัวอยู่ในเวลานี้
    :- https://visalo.org/article/NaturePaipibut.htm

     

แชร์หน้านี้

Loading...