บทความให้กำลังใจ(ความชั่วร้ายที่ปลายจมูก)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,171
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,039
    (ต่อ)
    ไม่มีใครคาดคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงพยาบาลต่าง ๆ มาเป็นเวลานาน อย่างการติดเชื้อบริเวณท่อที่ใส่เข้าไปในร่างกายนั้น จะแก้ได้ด้วยวิธีง่าย ๆ แบบนี้ และเมื่อเอาวิธีเช็คลิสต์ไปใช้กับการแก้ปัญหาอย่างอื่นที่ยืดเยื้อเรื้อรังมานาน ก็สามารถลดความสูญเสียทั้งชีวิตและเงินทองไปได้มากมายเช่นกัน สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วิธีการดังกล่าวมักถูกต่อต้านจากแพทย์และพยาบาล เหตุผลประการหนึ่งก็คือ มันง่ายเกินไป บางคนถึงกับบอกว่ามันเป็นวิธีการที่ “งี่เง่า” เพราะสิ่งที่ระบุให้ทำในเช็คลิสต์นั้นเป็นเรื่องที่รู้ดีกันอยู่แล้ว แต่เมื่อติดตามสังเกตกันจริง ๆ กลับพบว่า วิธีที่ว่าง่ายเหล่านี้กลับถูกละเลยหรือมองข้ามไป (เมื่อโปรโนวอสท์นำวิธีการนี้ไปใช้กับโรงพยาบาลของรัฐมิชิแกน ปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ มีห้องไอซียูไม่ถึง ๑ ใน ๓ ที่มีสบู่ฆ่าเชื้อคลอเฮกซิดิน)

    สิ่งง่าย ๆ มักถูกมองข้าม ทั้ง ๆ ที่ก่อผลดีมากมาย ก็เพราะผู้คนมองว่าเป็นเรื่องหญ้าปากคอกหาไม่ก็ดูแคลนว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เรื่องเล็กน้อยนี้แหละที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ย้อนหลังไปเมื่อ ๑๗๐ ปีก่อนก็เคยมีเรื่องราวทำนองนี้เกิดขึ้น

    ช่วงคริสต์ทศวรรษ ๑๘๔๐ โรงพยาบาลชั้นนำในยุโรปได้ประสบปัญหาอย่างหนึ่งที่แก้ไม่ตก นั่นคือแม่ที่เพิ่งคลอดบุตรจำนวนไม่น้อยตายด้วยโรคชนิดหนึ่งซึ่งเรียกว่าไข้หลังคลอด (puerperal fever) หญิงที่มาคลอดที่โรงพยาบาลนั้น ทุกคนไม่มีความเจ็บป่วยมาก่อน แต่หลังจากคลอดได้ไม่นานก็เสียชีวิต ในโรงพยาบาลบางแห่งการอุบัติของโรคนี้สูงมาก กล่าวคือ ๑ ใน ๖ ของหญิงที่มาคลอดในโรงพยาบาลตายด้วยโรคนี้

    ไม่มีใครรู้ว่าสาเหตุเกิดจากอะไร มีการสันนิษฐานต่าง ๆ นานา เช่น อากาศไม่ดี อาหารไม่ถูกสุขลักษณะ เครื่องแต่งกายของผู้หญิงรัดแน่นเกินไป แต่มีแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งเห็นต่างออกไป อิกนาซ เซมเมลไวส์ (Ignas Semmelweis) สังเกตว่า แม่ซึ่งคลอดที่บ้านนั้น มีโอกาสที่จะตายด้วยโรคนี้น้อยกว่าที่โรงพยาบาลของเขาในกรุงเวียนนาถึง ๖๐ เท่า ใช่แต่เท่านั้นแม่ซึ่งคลอดด้วยหมอตำแยในโรงพยาบาลก็ตายด้วยโรคนี้แค่ ๑ ใน ๓ ของแม่ที่ทำคลอดด้วยแพทย์

    วันหนึ่งเขาได้ข่าวว่าแพทย์ผู้หนึ่งถึงแก่กรรมอย่างกะทันหัน เขาเสียชีวิตไม่กี่วันหลังจากที่พานักศึกษาแพทย์ผ่าศพ ระหว่างที่ผ่าศพ มีดได้บาดมือเขา หลังจากนั้นเขาก็ป่วย อาการคล้ายกับแม่ที่ตายหลังคลอด คือเป็นไข้สูง และเมื่อชันสูตรศพก็พบว่ามีการอักเสบที่เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มสมอง เยื่อหุ้มหัวใจ และเยื่อบุช่องท้อง

    กรณีดังกล่าวทำให้เขาพบคำตอบว่าแท้จริงแล้วไข้หลังคลอดนี้มาจากแพทย์นั่นเอง กล่าวคือสมัยนั้นเมื่อแพทย์ผ่าศพเสร็จ มักจะตรงเข้าห้องผู้ป่วยเลย รวมทั้งทำคลอด โดยไม่ได้ล้างมือให้สะอาด (อย่าลืมว่าตอนนั้นเป็นช่วงก่อนที่หลุยส์ปาสเตอร์จะพบว่าโรคติดต่อเกิดจากแบคทีเรีย) ดังนั้นเชื้อโรคจากศพ โดยเฉพาะศพที่ตายด้วยไข้หลังคลอด จึงติดมือแพทย์แล้วต่อไปยังหญิงที่มาทำคลอด นี้คือเหตุผลว่าทำไมหญิงที่คลอดด้วยหมอตำแยไม่ว่าที่บ้านหรือที่โรงพยาบาลจึงตายด้วยโรคนี้น้อยมาก

    การค้นพบดังกล่าวจึงทำให้เซมเมลไวส์เสนอให้แพทย์ทุกคนล้างมือด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากผ่าศพและก่อนทำคลอด ปรากฏว่าหลังจากนั้นไม่นานอัตราการตายของผู้หญิงหลังคลอดในโรงพยาบาลของเขาลดเหลือไม่ถึงร้อยละ ๑ ในเวลา ๑๒ เดือนเขาสามารถช่วยชีวิตแม่ได้ถึง ๓๐๐ คนและทารก ๒๕๐ คน

    ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเซมเมลไวส์ถูกต่อต้านมากเพียงใดจากแพทย์ เพราะการค้นพบของเขาชี้ชัดว่าสาเหตุการตายของแม่และเด็กนั้นเกิดจากแพทย์ มิใช่จากอะไรอื่น อีกทั้งยังเสนอให้ปรับพฤติกรรมของแพทย์ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแพทย์ก็เช่นเดียวกับผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่น ๆ ที่มักเรียกร้องให้ผู้อื่นเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากกว่า

    ไม่มีใครนึกว่าปัญหาร้ายแรงที่ยืดเยื้อเรื้อรังนั้นสามารถแก้ได้อย่างชะงัดด้วยวิธีง่าย ๆ เช่นนี้ นั่นก็เพราะผู้คนมักคิดซับซ้อน ยิ่งปัญหาร้ายแรงใหญ่โตมากเท่าใด ก็ต้องใช้วิธีการที่ซับซ้อน ทุ่มทุนด้วยทรัพยากรที่มากมาย ซึ่งมักหนีไม่พ้นการใช้เทคโนโลยีที่ล้ำยุคพิสดารและราคาแพง แต่บ่อยครั้งเพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็สามารถแก้ปัญหาสำคัญได้มากมาย อตุล ได้ชี้ว่า มาถึงวันนี้วิธีการของโปรโนวอสท์ซึ่งกระตุ้นให้แพทย์หันมาใส่ใจกับการทำสิ่งง่าย ๆ ขั้นพื้นฐานอย่างครบถ้วนได้ช่วยชีวิตผู้คนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์ในห้องทดลองคนใดจะทำได้ แต่ถึงกระนั้นความสำเร็จของเขาก็ได้รับความสนใจจากวงการแพทย์หรือสื่อมวลชนน้อยกว่าความสำเร็จของนักวิทยาศาสตร์ที่พัฒนาเทคโนโลยีแปลกใหม่

    นี้ก็ทำนองเดียวกับการช่วยชีวิตคนจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เพียงแค่การออกกฎหมายและรณรงค์ให้ผู้ขับขี่ใช้หมวกกันน็อคเท่านั้นสามารถลดจำนวนคนตายไปได้มากมาย น.พ.วิทยา ชาติบัญชาชัย หัวหน้าศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด โรงพยาบาลขอนแก่น เคยกล่าวว่า “ผมผ่าตัดไปตลอดชีวิต ยังช่วยชีวิตคนไม่ได้เท่ากับที่รณรงค์(ให้สวมหมวกกันน็อค) ๖ เดือนเลย” แต่วิธีง่าย ๆ เหล่านี้ย่อมไม่มีวันได้รับความสนใจมากเท่ากับความสำเร็จในการผ่าสมองของผู้ที่ได้รับอุบัติเหตุอย่างหนักจนรอดตายได้

    ว่ากันอย่างถึงที่สุดแล้ว สาเหตุที่สิ่งง่าย ๆ กลับเกิดขึ้นได้ยาก ก็เพราะเราถูกฝึกมาให้คิดและทำอย่างซับซ้อน จนสิ่งง่าย ๆ กลายเป็นเรื่องยากขึ้นมา ระหว่างการทำ กับ การไม่ทำ ใคร ๆ ก็รู้ว่าการไม่ทำนั้นง่ายกว่า แต่ในชีวิตจริงผู้คนส่วนใหญ่กลับไม่สามารถอยู่นิ่ง ๆ หรืออยู่เฉย ๆ ได้ (แม้ไม่ต้องทำมาหากินเลยก็ตาม) กลับดิ้นรนทำอะไรต่ออะไรมากมาย ทั้ง ๆ ที่ทำแล้วก็ใช่ว่าจะมีความสุข กลับกลายเป็นการหาเรื่องใส่ตัวด้วยซ้ำ เพราะเหตุนี้ผู้คนจึงกลัวการนั่งสมาธิเป็นอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ต้องทำอะไรนอกจากนั่งนิ่ง ๆ และดูลมหายใจเฉย ๆ เท่านั้น แม้แต่คนที่สามารถพาตนมานั่งสมาธิได้แล้วก็ตาม ก็ยังมีปัญหาอีกเพราะพยายามเข้าไปจัดการกับความคิดปรุงแต่งไม่หยุดหย่อน แทนที่จะดูมันเฉย ๆ ทั้ง ๆ ที่การดูเฉย ๆ โดยไม่ต้องทำอะไรกับมันนั้น เป็นเรื่องง่ายแสนง่าย แต่คนส่วนใหญ่ทำไม่ได้และไม่ยอมทำ เพราะถูกฝึกมาให้ทำอะไรต่ออะไรมากมาย จนอยู่เฉย ๆ หรือทำใจเฉย ๆ ไม่ได้ จะยอมอยู่เฉยได้ก็ต่อเมื่อมองว่านั่นเป็น “การกระทำ” อย่างหนึ่ง

    เมื่อขึ้นสูงแล้วจะกลับคืนสู่สามัญ ย่อมทำได้ยาก แต่สามัญธรรมดานี้แหละที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัญหาของชีวิตและโลกมักเกิดขึ้นเพราะเรารังเกียจสิ่งสามัญ ง่าย ๆ พื้น ๆ และเมื่อเห็นปัญหาแล้ว มักแสวงหาทางออกด้วยวิธีการที่ซับซ้อน ทั้ง ๆ ที่วิธีการง่าย ๆ ก็มีอยู่

    มีนิทานเรื่องหนึ่งซึ่งค่อนข้างแพร่หลาย เป็นเรื่องของนักธุรกิจที่เห็นชายชรานั่งเล่นอยู่บนสะพานปลายามสาย ชายชราเพิ่งเสร็จจากการหาปลา นักธุรกิจแปลกใจที่ชายชราไม่ออกไปหาปลาอีก ชายชราถามว่าเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้นไงล่ะ” ชายชราถามว่า มีเงินมาก ๆ เพื่ออะไร “เพื่อจะได้ซื้อเรือลำใหญ่ขึ้น” ชายชราถามต่อว่ามีเรือลำใหญ่เพื่ออะไร “ลุงจะได้หาปลาได้มากขึ้น จะได้มีเงินซื้อเรือหลาย ๆ ลำ” ชายชราถามอีกว่า ทำเช่นนั้นเพื่ออะไร “เพื่อจะได้มีเงินมากขึ้น ต่อไปลุงจะได้ไม่ต้องทำงาน มีเวลาพักผ่อน” ชายชราจึงตอบว่า “ก็ฉันกำลังทำอยู่ตอนนี้แล้วไงพ่อหนุ่ม”

    เส้นทางที่ลัดตรงนั้นมีอยู่ แต่เป็นเพราะเราชอบหนทางที่ซับซ้อน กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางก็เหนื่อย หาไม่ก็หลงทางไปเลย
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255403.htm
     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,171
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,039
    ความชั่วร้ายที่ปลายจมูก
    พระไพศาล วิสาโล
    ถ้าถามว่าเตะลูกฟุตบอลตรงไหนถึงจะเข้าประตูได้ง่ายที่สุด ทุกคนคงตอบเป็นเสียงเดียวกันว่าตรงจุดโทษ แต่สำหรับนักฟุตบอลเจนสนาม เตะตรงนั้นกลับเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ยากเสียจนนักฟุตบอลระดับโลกหลายคน ไม่ว่าเบคแคม โรนัลดินโย่ แลมพาร์ด นอกจากจะเตะไม่เข้าแล้ว บางครั้งยังปฏิเสธที่จะเป็นมือสังหารที่จุดโทษ โดยเฉพาะในนัดสำคัญที่ชี้ชะตาทีมของตน

    ความยากของการเตะบอลที่จุดโทษนั้นอยู่ตรงไหน ก็อยู่ที่ความง่ายของมันนั่นเอง ความที่มันเป็นตำแหน่งที่เตะเข้าประตูได้ง่ายที่สุด ดังนั้นหากนักฟุตบอลคนไหนเตะไม่เข้า ก็จะถูกโห่ฮาจนอาจเสียผู้เสียคนได้ง่าย ๆ นี้เป็นเหตุผลที่นักฟุตบอลที่ขึ้นชื่อว่าเตะได้แม่นยำราวจับวาง หลายคนจะรู้สึกเกร็งมากเมื่อได้รับมอบหมายให้ยิงที่จุดโทษ และความเกร็งนั่นเองที่ทำให้ยิงไม่เข้า หลายคนเตะออกนอกกรอบประตูไปอย่างไม่น่าเชื่อ

    ในความง่ายมีความยากอยู่ ใช่หรือไม่คุณสมบัติที่อยู่ตรงข้ามกันนั้นมักจะอยู่ด้วยกันเสมอ สารหนูสามารถฆ่าคนได้ แต่ก็ใช้ทำยารักษาโรคได้ด้วย ไนโตรกลีเซอรีนเป็นสารทำวัตถุระเบิด แต่ก็สามารถรักษาโรคหัวใจได้ โรคหัดทำให้เด็กล้มป่วย แต่ก็ช่วยป้องกันไม่ให้เป็นโรคหอบหืดหรือภูมิแพ้ ออกซิเจนให้กำเนิดและหล่อเลี้ยงชีวิต แต่ในเวลาเดียวกันก็ทำลายเซลในร่างกายและเร่งความแก่และความตายให้มาเร็วขึ้น

    พระพุทธองค์ตรัสว่า “ความแก่มีอยู่ในความเป็นหนุ่มสาว ความเจ็บไข้มีอยู่ในความไม่มีโรค ความตายก็มีอยู่ในชีวิต” สั้นกับยาว ขาวกับดำ ต่ำกับสูง เย็นกับร้อน ไม่ได้อยู่คนละขั้วหรือแยกจากกัน ไม้บรรทัดถือว่าสั้นเมื่อวางข้างไม้เมตร แต่กลับยาวเมื่อเทียบกับดินสอ

    ในทำนองเดียวกัน ดีกับชั่ว ก็ไม่ได้อยู่แยกกัน คนดีนั้นสามารถทำสิ่งที่ชั่วได้ จะอธิบายว่าเป็นเพราะเขามีทั้งความดีและความชั่วอยู่ในตัวก็ได้ เพราะตราบใดที่ยังเป็นปุถุชนอยู่ ก็ยังมีกิเลสหรือโลภ โกรธ หลง ที่สามารถผลักดันให้เอาเปรียบ เบียดเบียน หรือคดโกงผู้อื่นได้ โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยหนุนเสริมหรือยั่วยุ บางคนหักห้ามใจไม่ได้ที่จะยักยอกเงินหลวงเพราะบ้านกำลังจะถูกยึด หรือขโมยนมผงในร้านเพื่อเอาไปเลี้ยงลูกที่กำลังหิวโหย แม้แต่ครูที่เคร่งศีลธรรมก็อาจผลักดันให้ลูกสาววัยเรียนไปทำแท้งเพราะกลัวเป็นขี้ปากของผู้คนในโรงเรียน สามีที่สุภาพอ่อนหวานอาจทำร้ายร่างกายภรรยาเมื่อรู้ว่าฝ่ายหลังนอกใจ หรือเพียงเพราะเขาเครียดหนักจากที่ทำงานก็ได้

    ปัจจัยที่หนุนเสริมให้ “คนดี” ทำชั่วนั้น บางครั้งก็ไม่ใช่เพราะเหตุผลหรือความจำเป็นส่วนตัว แต่อาจเป็นเพราะสิ่งแวดล้อมกระตุ้นเร้าหรือผลักดันก็ได้ ฟิลิป ซิมบาร์โด(Philip Zimbardo)แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด เคยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักโทษกับผู้คุม โดยทดลองทำคุกเทียมขึ้นมา แล้วรับอาสาสมัครมารับบทดังกล่าว ปรากฏว่าการทดลองซึ่งกำหนดไว้ ๑๔ วันต้องยุติหลังจากผ่านไปได้เพียง ๖ วัน เพราะผู้คุมใช้ความรุนแรงกับนักโทษอย่างนึกไม่ถึง แถมบังคับให้กระทำสิ่งที่วิตถาร จนนักโทษหลายคนสติแตก

    ผลของการทดลองดังกล่าวทิ้งคำถามไว้มากมาย ที่สำคัญก็คือ ทำไมจึงเกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น ถ้าดูอย่างเผิน ๆ ก็ต้องตอบว่า เป็นเพราะผู้คุมเหล่านี้เลวโดยสันดาน แต่ข้อเท็จจริงก็คือ ผู้คุมเหล่านี้คัดเลือกจากนักศึกษาที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีสภาพจิตปกติ หลายคนให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นการทดลองว่า คิดไม่ถึงว่าตนเองจะทำเช่นนั้น บางคนเป็น “นักสันตินิยม” ด้วยซ้ำ คือปฏิเสธสงครามและความรุนแรง แต่แล้วอะไรทำให้เขาเปลี่ยนไปเป็นคนละคน คำตอบก็คือ สภาพในคุกซึ่งให้อำนาจอย่างล้นเหลือแก่ผู้คุม อำนาจเหล่านี้เมื่อผนวกกับกิเลสที่เรียกว่า “มานะ” คือความอยากเป็นใหญ่ ซึ่งรวมถึงความต้องการให้ทุกอย่างเป็นไปดังใจตน ทำให้อดใจไม่ได้ที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่กับผู้ที่ด้อยกว่า โดยเฉพาะหากเขาขัดขืนคำสั่งของตน

    การทดลองของซิมบาร์โดผ่านไปได้ ๓๕ ปีแล้ว แต่ก็ทุกวันนี้ก็ยังมีผู้พูดถึงการทดลองนี้อยู่ โดยเฉพาะเมื่อมีข่าวการทรมานนักโทษอิรักที่อาบูเกรบ ๓ ปีที่แล้ว ภาพนักโทษชายถูกผู้คุมสาวชาวอเมริกันลากคอในสภาพที่เปลือยกายและนอนพังพาบไม่ต่างจากการลากจูงสุนัข ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทหารอเมริกันที่คุมนักโทษเหล่านี้ถูกประณามว่าเป็นพวกวิปริตผิดมนุษย์ แต่นั่นไม่ใช่ภาพประทับที่อยู่ในใจของคนที่รู้จักผู้คุมเหล่านี้ เพื่อนร่วมชั้นพูดถึงผู้คุมสาวคนหนึ่งว่า “เป็นคนที่มีน้ำใจมาก และมีน้ำใจเสมอ” ส่วนผู้คุมสาวที่ปรากฏอยู่ในภาพดังกล่าว เพื่อนบ้านของเธอในสหรัฐอเมริกาก็พูดตรงกันว่าเธอเป็นคนร่าเริงและไม่มีนิสัยทารุณโหดร้าย

    คนดี ๆ หรือคนปกติธรรมดาสามารถทำสิ่งเลวร้ายที่เราอาจนึกไม่ถึง อดอล์ฟ ไอค์มานน์ (Adolf Eichmann) นาซีคนสำคัญผู้อยู่เบื้องหลังการสังหารโหดชาวยิวร่วม ๖ ล้านคนในสงครามโลกครั้งที่สอง หาใช่คนจิตวิปริตไม่ จิตแพทย์ที่ตรวจสภาพจิตของเขาหลังจากถูกจับกุม ยืนยันว่าเขามีสภาพจิตปกติ รูดอล์ฟ ฮอสส์ (Rudolf Hoss) ผู้บัญชาการค่ายเอาชวิตซ์ ซึ่งขึ้นชื่อว่าโหดเหี้ยมที่สุดในบรรดาค่ายกักกันชาวยิว เป็นคนที่รักครอบครัวและเสียสละ อีกทั้งเป็นคนที่มีน้ำใจในสายตาของเพื่อน ๆ เขายืนยันว่า ไม่มีความเกลียดชังชาวยิวเป็นส่วนตัวเลย แต่หน้าที่เป็นสิ่งสำคัญที่เขาต้องทำให้ลุล่วง ในทำนองเดียวกันฟรานซ์ สแตนเกิล (Franz Stangl)ผู้บัญชาการค่ายทรีบลิงกา (Treblinka) ค่ายนรกที่อื้อฉาวเป็นอันดับสองรองจากเอาชวิตซ์ ก็หาใช่เป็นคนซาดิสต์วิปริตไม่ หากเป็นคนสุภาพ พูดเสียงเบา และอุทิศตัวให้แก่การงาน เช่นเดียวกับฮอสส์ งานคือความสุขและความภาคภูมิใจของเขา

    ฮอสส์เป็นแบบอย่างของคนที่มีวินัยสูงมาก เสียสละและทุ่มเทเพื่อภารกิจ จิตใจของเขาจดจ่ออยู่กับงานจนไม่รับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของนักโทษในค่ายของเขา สิ่งที่เขาสนใจก็คือรถไฟจะขนนักโทษมาตรงเวลาไหม ควรขนส่งมาวันละกี่เที่ยว และควรใช้เตา(สำหรับรมควันพิษนักโทษ)แบบไหน ด้วยเหตุนี้ค่ายกักกันที่เขาบัญชาการจึงสามารถฆ่าชาวยิวได้เป็นจำนวนมากมาย หากการทำงานด้วยความทุ่มเท เสียสละ โดยไม่คำนึงถึงความเหนื่อยยากและประโยชน์ส่วนตัว เป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คุณธรรมดังกล่าวก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการทำความชั่วร้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเมื่อความชั่วร้ายนั้นทำในนามของความดี

    มองในแง่นี้ คนดี ๆ ทำความชั่ว ไม่ใช่เพราะในใจเขามีความชั่วอยู่เคียงคู่ความดีเท่านั้น หากความดีนั้นเองก็เป็นปัจจัยให้ทำความชั่วได้ มีนาซีชั้นนำเป็นจำนวนมากที่ร่วมล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวด้วยความเชื่อว่า ยิวนั้นมิใช่เป็นอันตรายต่อเยอรมันเท่านั้น หากยังเป็นภัยคุกคามยุโรป หรือถึงกับเป็นภัยต่ออารยธรรมสมัยใหม่เลยทีเดียว เขาเหล่านี้เชื่อว่าการขจัด “เชื้อโรคยิว” คือความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดของเยอรมันและยุโรป กล่าวอีกนัยหนึ่ง พวกเขากำลังทำประโยชน์ใหญ่หลวงให้แก่โลก ดังนั้นจึงต้องเข้มแข็ง ไม่อ่อนไหวง่าย ๆ กับความตายของผู้คน

    ความดีนั้นสามารถเป็นปัจจัยให้ทำสิ่งชั่วร้ายได้หากเชื่อว่าเป็นการกระทำในนามของความดี ชาวบ้านที่มีเมตตาสัตว์จึงอาจไม่ลังเลที่จะเข้าไปร่วมวงประชาทัณฑ์ผู้ต้องหาคดีฆ่าข่มขืนจนสลบเหมือด ทั้งนี้เพื่อพิทักษ์ความถูกต้องดีงามในชุมชน แต่นอกจากศีลธรรมแล้ว อุดมการณ์ทางการเมืองก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สามารถผลักดันให้ผู้คนพร้อมทำความชั่วในนามของความดีได้ ศตวรรษที่แล้วมีผู้คนถูกฆ่าตายร่วมร้อยล้านคนในนามของอุดมการณ์ทางการเมืองนานาชนิด หนึ่งในนั้นคือลัทธิคอมมิวนิสม์ คอมมิวนิสม์นั้นต้องการสร้างโลกที่ยุติธรรม ปราศจากชนชั้น ผู้คนมีความสุขถ้วนหน้า จึงสามารถดึงดูดจิตใจผู้คนนับล้านที่มีอุดมคติแรงกล้าให้ร่วมขบวนการ แต่กลับลงท้ายด้วยการสังหารผู้คนหลายสิบล้านโดยเฉพาะในรัสเซียและจีน

    อุดมการณ์แม้จะมีจุดมุ่งหมายที่ดี แต่หากยึดมั่นอย่างแรงกล้าจนเห็นว่ามันสำคัญเหนือทุกสิ่ง อีกทั้งมีความยึดมั่นว่าเป็น “ตัวกู ของกู” เป็นพื้นฐานด้วยแล้ว ก็สามารถผลักดันให้ผู้คนทำอะไรก็ได้เพื่ออุดมการณ์ ไม่มีอะไรที่ยืนยันความข้างต้นได้ดีเท่ากับคำพูดของผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซียผู้หนึ่งในยุคสตาลินว่า “เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของเราคือชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสม์ในทุกหนแห่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทุกอย่างทำได้ทั้งนั้น ไม่ว่ากล่าวเท็จ ขโมย หรือทำลายผู้คนนับแสนหรือแม้กระทั่งเป็นล้าน หากคนเหล่านี้ขัดขวางงานของเราหรือสามารถจะขัดขวางเรา”
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    44,171
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,039
    (ต่อ)
    เมื่อคิดว่า “เรา”คือความดี หรือเป็นตัวแทนของอุดมการณ์ที่ดีเลิศประเสริฐสุดแล้ว คนดี ๆ ก็สามารถทำอะไรก็ได้ทั้งนั้น ไม่เว้นแม้กระทั่งความชั่วร้าย โดยยังคิดว่านั่นเป็นความดีอยู่ นี้คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ชาวเขมรตายไปถึง ๒ ล้านคนในชั่วเวลาไม่ถึง ๔ ปีที่เขมรแดงครองอำนาจ เขมรแดงนั้นไม่ได้ต้องการอะไรมากไปกว่าการปฏิวัติกัมพูชาให้เป็นสังคมที่เสมอภาค ปลอดพ้นจากการกดขี่เอารัดเอาเปรียบ แต่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้นำเขมรแดงเชื่อว่าจำต้องสังหารผู้ที่เป็น “ซากเดนของจักรวรรดินิยม ลัทธิอาณานิคม และชนชั้นผู้กดขี่ทั้งหลาย” ด้วยเหตุนี้คำขวัญหนึ่งของเขมรแดงก็คือ “หนุ่มสาวเพียงหนึ่งหรือสองล้านคนก็พอแล้วสำหรับสร้างกัมพูชาใหม่” ที่เหลือนอกนั้นหามีประโยชน์ไม่

    ด้วยความเชื่อเช่นนี้ “กัมพูชาใหม่”ภายใต้การนำของพอลพต จึงกลายเป็นแผ่นดินเลือด “ทุ่งสังหาร”เกิดขึ้นทุกหนแห่ง ในสายตาของคนทั่วไป พอลพตคือตัวแทนของมนุษย์ที่โหดเหี้ยมวิปริต แต่ตรงข้ามกับที่เข้าใจกัน เขาเป็นคนที่มีบุคลิกน่าประทับใจ ผู้คนที่รู้จักเขาไม่ว่าในวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ ตลอดจนผู้ที่ได้พบเขาเมื่อเป็นผู้นำคอมมิวนิสต์ และผู้นำเขมรแดง ไม่เว้นแม้แต่นักหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ พูดสอดคล้องกันว่า เขาเป็นคนที่สงบเย็น เรียบร้อย สุภาพ เป็นกันเอง อบอุ่นและน่าเชื่อถือ จึงไม่น่าแปลกที่เขาได้รับความเคารพรักและศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชามาก “แทบไม่ต่างจากนักบุญเลย” ดังคำของเดวิด แชนด์เลอร์ (David Chandler) ผู้เขียนชีวประวัติพอลพต แม้ภายหลังจะมีผู้แปรพักตร์จากเขมรแดงเป็นจำนวนมาก แต่แทบไม่มีใครเลยที่ทำเช่นนั้นเพราะไม่พอใจพฤติกรรมหรือบุคลิกนิสัยของเขา

    ไม่ใช่พอลพตเท่านั้น ผู้นำเขมรแดงหลายคนก็มีบุคลิกตรงข้ามกับภาพที่ปรากฏ หนึ่งในนั้นคือสหายดุค (Duch) ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยตำรวจลับ (“สันติบาล”) และเป็นผู้บัญชาการคุกตุลแสลงอันลือชื่อในความหฤโหด คาดว่ามีประมาณ ๑๒,๐๐๐-๒๐,๐๐๐ คนที่ตายอย่างทรมานในคุกนั้นในช่วง ๔ ปีที่เขมรแดงปกครองประเทศ คนที่รู้จักเขายืนยันว่าเขาเป็นเด็กเรียบร้อย เรียนเก่ง และเป็นครูที่ดี ขยันขันแข็ง ฟรังซัวส์ บิโซต์ (Francois Bizot) นักวิชาการชาวฝรั่งเศสซึ่งเคยพบเขาขณะถูกจับกุมด้วยข้อหาว่าเป็นสายลับ กล่าวว่าเขาเป็นคนเงียบ พูดค่อย และมีใจเป็นนักเลง ประการหลังนั้นเป็นเหตุให้ฟรังซัวส์ถูกปล่อยออกมาหลังจากที่มีการโต้เถียงอย่างดุเดือดกับสหายดุคในเรื่องนโยบายของเขมรแดง

    ในช่วงที่คุมคุกตุลแสลง สหายดุคได้ชื่อว่าโหดเหี้ยมในการทรมานนักโทษ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพลพรรคเขมรแดงที่ถูกกล่าวหาว่าทรยศ แต่อีกภาพหนึ่งของเขาคือเป็นคนรักครอบครัว ทุกเช้าเขาจะล่ำลาและกอดภรรยาก่อนออกไปทำงาน เหตุผลประการหนึ่งซึ่งเปิดเผยในภายหลังคือเขาเองก็ไม่แน่ใจว่าจะมีชีวิตรอดกลับมาบ้านหรือไม่ เพราะบรรยากาศหวาดระแวงในพรรคสูงมาก

    เรื่องราวของสหายดุคได้รับความสนใจทั่วโลกเมื่อเขาถูกจับในปี ๒๕๔๒ ฟรังซัวส์ บิโซต์ได้กลับไปเยี่ยมเขา ๔ ปีต่อมา นับเป็นการพบปะครั้งที่ ๒ หลังจากเหินห่างถึง ๓๒ ปี บิโซต์พบว่าบุคลิกของเขาไม่ได้เปลี่ยนไปจากที่เคยพบปะกันครั้งแรก คือเป็นคนปกติธรรมดา พูดค่อย ไม่มีวี่แววของคนโหดเหี้ยมผิดมนุษย์

    เรื่องราวของผู้นำนาซีและเขมรแดงเหล่านี้บอกกับเราว่า การทำสิ่งชั่วร้ายอันน่าสะพรึงกลัวนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำมือของคนปกติธรรมดา หรือคนดี ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ คนเหล่านี้ไม่ได้ต่างจากเรา และเราก็ไม่ได้ต่างจากเขา คือมีกิเลสที่ผลักดันให้ทำความชั่วได้ หรืออาจทำชั่วในนามของความดี ด้วยแรงจูงใจที่ดี หรือด้วยความยึดมั่นในสิ่งที่ถือว่าดี ความดีกับความชั่วจึงไม่ได้แยกจากกัน ความดีสามารถเป็นปัจจัยให้เกิดความชั่วได้ เช่นเดียวกับที่ความหอมหวานของผลไม้เป็นปัจจัยให้เกิดกลิ่นเน่าเหม็นเมื่อกลายเป็นขยะ

    คนดีกับคนชั่วไม่ได้แยกจากกัน คนดีสามารถทำชั่วหรือกลายเป็นคนชั่วได้ แต่ถ้ามองเพียงเท่านี้ก็เท่ากับมองโลกในแง่ร้ายเกินไป อีกด้านหนึ่งของความจริงที่มองข้ามมิได้ก็คือ คนชั่วก็สามารถทำดีหรือกลายเป็นคนดีได้ด้วย สหายดุคเป็นตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจ หลังจากที่มีการทำข้อตกลงหยุดยิงของเขมรสามฝ่ายเมื่อปี ๒๕๓๔ เขาได้กลับไปใช้ชีวิตเยี่ยงสามัญชน ดำรงชีพด้วยการสอนหนังสือ และเปลี่ยนชื่อเสียงเรียงนาม เขามีกิตติศัพท์ว่าเป็นครูที่ดี แต่อารมณ์ร้าย วันหนึ่งในปี ๒๕๓๘ เพื่อน ๆ ชักชวนเขาไปร่วมการอบรมผู้นำชาวคริสต์ที่พระตะบอง ที่นั่นเองที่เขาเกิดศรัทธาในพระเจ้า และเปลี่ยนมานับถือศาสนาคริสต์ เขาเปิดเผยกับครูสอนศาสนาว่า เขาไม่เคยได้รับความรักมาเลยตั้งแต่เล็กจนโต แต่เมื่อหันมารับพระคริสต์ ความรักได้ท่วมท้นหัวใจเขา หลังจากนั้นเขาได้เปลี่ยนมาเป็นครูสอนศาสนา และทำงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยทั้งในเขมรและในค่ายอพยพใกล้ชายแดนไทย

    คริสโตเฟอร์ ลาเปล (Christopher Lapel) ผู้ชักนำดุคมาสู่ศาสนาคริสต์โดยไม่รู้ประวัติของเขามาก่อน เล่าว่าก่อนเข้ารีต ดุคมาสารภาพกับเขาว่าเขาได้ทำสิ่งชั่วร้ายมามากมาย และไม่แน่ใจว่าผู้คนจะให้อภัยเขาหรือไม่ แต่เขาก็ไม่ได้เปิดเผยว่าได้ทำอะไรลงไป อย่างไรก็ตามลาเปลสังเกตว่าเขาได้เปลี่ยนไปมากหลังจากเปลี่ยนศาสนา คือผ่อนคลายมากขึ้น หยอกล้อกับเพื่อน ๆ และแต่งตัวสุภาพกว่าเดิม

    ดุคคงใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบหากไม่ได้พบกับนักหนังสือพิมพ์อเมริกันผู้หนึ่ง ซึ่งตามหาเขามาหลายปี เมื่อถูกซักถาม ดุคยอมรับอย่างไม่ปิดบังว่าเขาเป็นใคร รวมทั้งสารภาพว่าได้ทำอะไรไว้บ้างในช่วงที่เป็นใหญ่ในเขมรแดง เขาถูกจับกุมไม่นานหลังจากที่บทสัมภาษณ์ดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐ เขาถูกตั้งข้อหาว่ากระทำอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ และจะต้องขึ้นศาลที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ

    คนที่ทำความชั่วแม้ร้ายแรงถึงขั้นเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ น้อยนักที่จะเป็นคนชั่วโดยสันดาน (หากคนที่ชั่วโดยสันดานมีอยู่จริงในโลกนี้) อย่างน้อยเขาก็เคยเป็นคนดี ๆ อย่างเรา ๆ ท่าน ๆ มาก่อน อีกทั้งยังมีความดีหลงเหลือในใจอยู่ไม่มากก็น้อย ความดีดังกล่าวหากได้รับการหนุนเสริมเพิ่มกำลัง ก็สามารถเอาชนะความชั่วร้ายในใจ หรือชักนำเขาให้ทำความดีได้ คำถามก็คือเขาจะได้รับโอกาสให้ทำเช่นนั้นได้หรือไม่ ตอบอาจไม่ยาก แต่ทำใจให้ได้กลับยากกว่า ทั้งนี้ก็เพราะเราทุกคนมีความโกรธแค้นพยาบาทอยู่ด้วยกันทั้งนั้น แต่ถ้าไม่รู้จักการให้อภัยเลย เราจะเอาชนะความชั่วร้ายในใจตนได้อย่างไร
    :- https://visalo.org/article/sarakadee255011.htm
     

แชร์หน้านี้

Loading...