ต้นไม้ในพุทธประวัติ

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 14 มิถุนายน 2008.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นตีนเป็ดขาว (ต้นสัตตบรรณ)


    ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์แรก พระนามว่า “พระตัณหังกรพุทธเจ้า” ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สัตตบรรณ

    ต้นตีนเป็ดขาว ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นสัตตบรรณ” หรือ “ต้นสัตตปัณณะ” มีชื่อเรียกในอินเดียว่า “สตฺตปณฺณรุกข” ซึ่งแปลว่าเป็นไม้ที่มี 7 ใบ เป็นต้นไม้ที่ขึ้นปากถ้ำที่เมืองราชคฤห์ จึงเรียกถ้ำนี้ว่า “สตฺตปณฺณคูหา” ในบริเวณนี้เป็นที่ทำการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งแรก โดยพระเจ้าอชาตศัตรู ทรงรับเป็นผู้อุปการะในการสังคายนา รวมทั้ง ได้ทรงสร้างธรรมศาลา และกุฏิสำหรับพระภิกษุสงฆ์จำนวน 500 รูป

    [​IMG]

    ต้นสัตตบรรณ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Alstonia scholaris R. Br. ถิ่นกำเนิดอยู่ที่หมู่เกาะโซโลมอนและมาเลเซีย และป่าดงดิบภาคใต้ ตะวันออกเฉียงใต้ และภาคตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศไทย เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ โตเร็ว ลำต้นตรง สูงราว 15-30 เมตร ผิวลำต้นมีสะเก็ดเล็กๆ สีขาวปนน้ำตาล เปลือกสีเทา มียาง สีขาว เนื้อไม้สีขาวอมเหลือง แตกกิ่งก้านสาขามากตามยอด ใบเป็นใบเดี่ยวมนรี ปลายใบมนโคนใบแหลมก้านใบสั้น แตกใบออกรอบข้อเป็นวง เรียงกันคล้ายตีนเป็ด จึงมักเรียกกันทั่วไปว่า “ต้นตีนเป็ด”

    ดอกของสัตตบรรณ มีขนาดเล็ก สีขาวอมเขียว มีกลิ่นหอม ออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง ซ้อนกันเหมือนฉัตรประมาณ 2-3 ชั้น ช่อหนึ่งๆ จะติดกลุ่มเป็นพุ่มย่อยๆ ช่อละ 7 พุ่มเหมือนกันทุกช่อ มักจะบานพร้อมกัน โดยเริ่มบานประมาณเดือนตุลาคม-ธันวาคม ส่วนผลเป็นฝักกลมยาว เมื่อแก่จัดจะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดซึ่งมีขนยาวอ่อนนุ่มปุกปุยติดอยู่เป็นกระจุกที่ปลายทั้งสองข้าง จะปลิวกระจายไปตามลม

    ต้นสัตตบรรณเป็นไม้กลางแจ้งชอบแสงแดด และดินร่วนซุย เป็นไม้ที่ทนแล้งได้เป็นอย่างดี เนื้อไม้อ่อนแต่ค่อนข้างเหนียวและทนทานมาก มักใช้ในการก่อสร้างทำเครื่องใช้ต่างๆ เช่น หีบใส่ของ ลูกทุ่นอวน ของเล่นเด็ก มีคุณค่าทางเศรษฐกิจมาก นอกจากนี้ยังเป็นพืชสมุนไพรอีกด้วย ส่วนต่างๆ ของต้นสัตตบรรณ หรือตีนเป็ด มีสรรพคุณทางยา ดังนี้

    [​IMG]

    - เปลือก ใช้แก้ไข้หวัด หลอดลมอักเสบ ขับระดู ขับพยาธิ ขับน้ำเหลืองเสีย ขับน้ำนม รักษามาเลเลีย แก้ท้องเสีย แก้บิด แก้ไอ เบาหวาน

    - น้ำยางจากต้น ใช้อุดฟัน แก้ปวดฟัน แก้แผลอักเสบ หยอดหูแก้ปวด

    - ใบ ใช้พอกดับพิษต่างๆ ส่วนใบอ่อนใช้ชงดื่ม รักษาโรคลักปิดลักเปิด แก้ไข้หวัด

    สัตตบรรณได้ชื่อว่าเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่ง ซึ่งบางครั้งก็เรียกว่า “พญาสัตตบรรณ” โดยเชื่อกันว่าบ้านใดปลูกพญาสัตตบรรณไว้ในบ้าน จะทำให้มีเกียรติยศดั่งพญา ได้รับการยกย่องและนับถือจากบุคคลทั่วไป

    ปัจจุบัน สัตตบรรณเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสมุทรสาคร

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 ธันวาคม 2546 17:05 น.
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นทองกวาว (ต้นกิงสุกะ)


    ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 2 พระนามว่า “พระเมธังกรพุทธเจ้า” ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ทองกวาว

    ต้นทองกวาว มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Butea monosperma Kuntze.” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกิงสุกะ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดีย มักพบในทุกส่วนของประเทศ มีชื่อเรียกในภาษาสันสกฤตว่า “ปารัช” (Palasha) ซึ่งแปลว่า “ทอง”

    ส่วนในเมืองไทยนั้นจะพบต้นทองกวาวอยู่ตามที่ราบลุ่มในป่าผลัดใบ ป่าหญ้า หรือป่าละเมาะที่แห้งแล้ง พบมากทางภาคเหนือ ส่วนภาคอื่นขึ้นกระจัดกระจาย ยกเว้นภาคใต้ มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละภาค ได้แก่ กวาว ก๋าว (ภาคเหนือ), จอมทอง (ภาคใต้), ทองธรรมชาติ ทองพรหมชาติ ทองต้น (ภาคกลาง), จาน (ภาคอีสาน), จ้า (เขมร) เป็นต้น

    ทองกวาวเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบ ขนาดสูงประมาณ 10-18 เมตร ลำต้นส่วนมากจะคดงอ และแตกกิ่งต่ำ เปลือกสีเทาคล้ำ แตกเป็นร่องตื้นๆ มีน้ำยางใสๆ ใบหนาและมีขน ใต้ใบสีเขียวอมเทา เป็นใบประกอบแบบขนนก มีใบย่อย 3 ใบออกสลับกัน รวมกันเป็นกระจุกตามปลายกิ่ง ก้านช่อยาว ก้านใบย่อยสั้นออก ดอกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง คล้ายดอกแค สีแดงอมส้ม หรือสีเหลือง (แต่ที่พบโดยทั่วไปเป็นสีแสด เพราะสีเหลืองเป็นพันธุ์ไม้หายาก) ไม่มีกลิ่น

    [​IMG]

    ดอกยาวประมาณ 5-6 ซม. มีกลีบดอก 5 กลีบ มีเกสรตัวผู้ 10 ตัว กลีบเลี้ยงรูประฆัง ผลมีลักษณะเป็นฝักแบน โค้งงอเล็กน้อย มีขนนุ่มปกคลุม ฝักยาวประมาณ 10-14 ซม. เปลือกนอกสีน้ำตาลอ่อน ภายในมีเมล็ดขนาดเล็กที่ปลายฝัก การแตกกิ่งก้านสาขาของทองกวาวค่อนข้างกระจัดกระจายไม่เป็นระเบียบ ราวเดือนธันวาคม-มีนาคม เป็นช่วงเวลาที่ทองกวาวออกดอก และเวลาออกดอกนั้นจะผลัดใบทั้งต้น

    ทองกวาวเป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินร่วนหรือดินปนทราย ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง แสงแดดจัด ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค เพราะเป็นไม้ที่ทนต่อโรคพอสมควร ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

    ประโยชน์ของทองกวาวมีมากมาย ในบางท้องที่ใช้เนื้อไม้ทำกระดานกรุบ่อน้ำหรือทำเรือขุด หรือเรือโปงใช้ชั่วคราว ใช้กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำ และทำกังหันน้ำ เพราะเนื้อไม้เมื่อแห้งจะมีน้ำหนักเบา และหดตัวมาก เส้นใยจากเปลือกใช้ทำเชือก ส่วนดอกสีแดงหรือสีแสดใช้ย้อมผ้า ใบสดใช้ห่อของ ใช้ตากมะม่วงกวน ในอินเดียได้นำใบมาปั้นเป็นถ้วยใส่อาหารและขนมแทนพลาสติก

    [​IMG]

    สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพร ได้แก่

    ยางใช้รับประทานแก้ท้องร่วง เลือดออกในกระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะอักเสบ ขับพยาธิ

    ใบใช้ตำพอกแก้ฝีและสิว ถอนพิษ แก้ปวด แก้ท้องขึ้น แก้ริดสีดวง ขับพยาธิ

    ดอกรับประทานถอนพิษได้ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ ลดความกำหนัด ขับพยาธิ ใช้หยอดตาแก้ตาแดง ปวดเคืองตา ตาแฉะ ตามัว

    เมล็ดบดให้ละเอียดผสมน้ำมะนาวใช้ทาแก้ผิวหนังเป็นผื่นแดง อักเสบ คันและแสบร้อน (ข้อควรระวัง พบสารในเมล็ดออกฤทธิ์คล้ายเอสโตรเจน มีผลเสียต่อสตรีที่กำลังตั้งครรภ์)

    แก่นทาแก้ปวดฟัน

    รากประคบบริเวณที่เป็นตะคริว ขับพยาธิ

    ในประเทศอินเดียเรียกต้นทองกวาวว่า “Kamarkas” มีความหมายว่า กล้ามเนื้อหลังที่แข็งแรงและยืดหยุ่น เพราะสมัยก่อนผู้หญิงอินเดียทั่วไปมักจะมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังในระหว่างมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หรือหลังคลอดบุตร จึงได้ใช้สรรพคุณทางยาของทองกวาวเป็นยาบำรุงร่างกายโดยเฉพาะกระดูกเชิงกรานและกล้ามเนื้อหลัง นอกจากนี้ยังช่วยฟื้นฟูสภาพร่างกายจากความเจ็บไข้ได้ป่วย รวมทั้งการกลับมามีรูปร่างดังเดิมหลังคลอด รวมทั้งนำมาใช้ในการบำรุงรักษาผิวพรรณ เพื่อเพิ่มความงาม

    คนไทยโบราณเชื่อว่า หากบ้านใดปลูกต้นทองกวาวไว้ จะทำให้มีทองมาก เพราะชื่อทองกวาวเป็นมงคลนาม นอกจากนี้ดอกยังมีความสวยงามเรืองรองดั่งทองธรรมชาติ ยิ่งถ้าผู้ปลูกเป็นผู้ที่ประกอบแต่คุณงามความดีแล้วละก็นับว่าเป็นสิริมงคลแก่ผู้อยู่อาศัยยิ่งนัก

    ปัจจุบัน ทองกวาวเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดเชียงใหม่

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 ธันวาคม 2546 13:28 น.
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นแคฝอย (ต้นปาตลี)


    ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 พระนามว่า “พระสรณังกรพุทธเจ้า” และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ วิปัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 22 พระนามว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า” ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม ทั้งสองพระองค์ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้แคฝอย เช่นเดียวกัน

    ต้นแคฝอย มีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า “ต้นปาตลีหรือต้นปาฏลิ” (Patali หรือ Patli) เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งจัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ แคฝอย (กรุงเทพฯ), ศรีตรัง (ตรัง) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล นิยมปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนแถบเอเชีย เช่น อินเดีย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ฯลฯ

    ต้นแคฝอย มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda minosifolia D.Don

    2. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ซอกใบตามกิ่งและปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda filicifolia D.Don ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำมาปลูกครั้งแรกที่เมืองตรัง ในปี พ.ศ.2444 ดังนั้น แคฝอยจึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ศรีตรัง”

    [​IMG]

    เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ 4-10 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 ซม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดโปร่ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบย่อยขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบมน ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่ง ดอกมีสีม่วงปนน้ำเงิน กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกติดกันเป็นรูประฆังยาว 3-4 ซม. ปลายแยกกันเป็น 5 กลีบ

    ผลเป็นฝักแบนๆ ฝักแก่สีน้ำตาลอมเทา จะแตกทั้งสองซีก เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้ม มีปีกใสๆ 2 ปีก ปลิวตามลมได้ จะผลัดใบในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และจะออกดอกราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกจะบานพร้อมๆ กัน และคงอยู่ประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะร่วงโรยไป

    ต้นแคฝอย เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารและถนนหนทางต่างๆ เพราะยามออกดอกจะผลัดใบเกือบหมด ดอกบานพร้อมกันเป็นสีม่วงทั้งต้นแลดูสวยสดงดงาม

    แคฝอยหรือศรีตรังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ ใบแห้ง ใช้ในการรักษาบาดแผล เปลือกไม้ ใช้ทา ล้างแผลเปื่อยแผลพุพอง และเปลือกไม้และใบไม้ ใช้ผสมกันรักษาโรคซิฟิลิสและโกโนเรีย ส่วน เนื้อไม้ มีรสเฝื่อน ฝาด แก้ท้องบวม ขับพยาธิ ตกเลือด

    ด้วยเหตุที่เนื้อไม้มีลักษณะบางเบา มีลายสวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมักนำมาใช้ทำเป็นโครงของเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น พื้นปาร์เก้ กีตาร์ เป็นต้น

    ปัจจุบัน ศรีตรังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตรัง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2547 11:32 น.
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นเลียบ (ต้นปิปผลิ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ทีปังกรพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 4 พระนามว่า พระทีปังกรพุทธเจ้า ผู้ทรงรู้แจ้งโลกในกาลทั้งปวง ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้เลียบ

    ต้นเลียบ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นปิปผลิ” หรือ “ต้นปิลกฺโข” (พระคัมภีร์อภิธานนัปปทีปิกา) ไม้เลียบเป็นพืชที่จัดอยู่ในสกุล Ficus lacor วงศ์ Moraceae มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ ไกร (กรุงเทพฯ), ผักเลือด, เลียบ (ภาคกลาง), ผักฮี, ผักเฮือก, ผักเฮือด (ภาคเหนือ), ผักเฮียด (ภาคอีสาน) ส่วนทางเพชรบุรี เรียกว่า ผักไฮ, ประจวบคีรีขันธ์ เรียกว่า ไทรเลียบ และนครราชสีมา เรียกว่า โพไทร เป็นต้น

    [​IMG]

    ต้นไกรหรือต้นเลียบนี้ เป็นไม้ป่า พบในทุกสภาพป่าทั่วประเทศ เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงประมาณ 8-15 เมตร ลักษณะคล้ายต้นไทร มียาง ลำต้นเป็นพูพอน เรือนยอดแผ่กว้าง กิ่งก้านแผ่สาขา เปลือกสีเทาเรียบ ใบเรียวยาวปลายแหลมคล้ายใบหอก ดอกออกเป็นกระจุกบนช่อสั้นๆตามกิ่ง ผลอ่อนสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีชมพูแดงม่วง หรือดำ เมื่อแก่เต็มที่ภายในมีเมล็ดมาก มักเป็นอาหารของนก

    ช่วงเดือนธันวาคม-มกราคม จะผลัดใบ และในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมจะผลิใบใหม่ ใบอ่อนสีชมพู หรือชมพูอมเขียว ดูใสแวววาวไปทั้งต้น ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือปักชำ

    เหตุที่เรียกต้นเลียบว่า “ผัก” นั้น ก็เพราะยอดอ่อน หรือใบอ่อน สามารถรับประทานเป็นผักได้ มีรสเปรี้ยวมัน ยอดผักเฮือด 100 กรัม ให้พลังงานต่อร่างกาย 39 กิโลแคลอรี่

    แพทย์พื้นบ้านไทยใช้เปลือกของต้นเลียบ มาสับเป็นชิ้นเล็กๆ ต้มดื่มแก้ปวดท้อง ท้องร่วง แต่แม่ลูกอ่อนที่มีอาการไอ ห้ามกินผักเฮือด เพราะจะทำให้โรคกำเริบขึ้น ส่วนยางไม้เลียบนั้นชาวบ้านมักนำมาใช้ดักนกหรือแมลง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 มีนาคม 2547 11:55 น.
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นสาละใหญ่ (ต้นมหาสาละ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ โกณฑัญญพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 5 พระนามว่า พระโกณฑัญญพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สาละใหญ่

    ต้นสาละใหญ่ (ต้นสาละอินเดีย) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Shorea robusta Roxb.” อยู่ในวงศ์ Dipterocarpaceae ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นมหาสาละ” มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศอินเดียทางเหนือ ซึ่งปัจจุบันคือประเทศเนปาล มักขึ้นเป็นกลุ่มๆ ตามบริเวณที่ค่อนข้างจะชุ่มชื้น ชาวอินเดียเรียกกันโดยทั่วไปว่า “ซาล” (Sal, Sal of India) เป็นไม้พันธุ์ที่อยู่ในตระกูลยาง มีมากในแถบแคว้นเบงกอล อัสสัม ลุ่มน้ำยมุนา เป็นไม้ยืนต้น ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 10-25 เมตร และสามารถสูงได้ถึง 35 เมตร ไม่ผลัดใบ

    เป็นไม้ที่มีความสง่างาม ด้วยว่ามีลำต้นตรง เปลือกสีน้ำตาลอมดำ แตกเป็นร่องสะเก็ดทั่วไป เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบดกหนา รูปไข่ ปลายใบหยักเป็นติ่งแหลมสั้น ผิวใบเป็นมันเกลี้ยง กิ่งอ่อนเกลี้ยง ปลายกิ่งห้อยลู่ลง ดอกจะออกในช่วงต้นฤดูร้อน มีสีเหลืองอ่อน ออกรวมกันเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและง่ามใบ กลีบดอกและกลีบรองกลีบดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ผลแข็ง มีปีก 5 ปีก ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ดหรือตอนกิ่ง

    [​IMG]

    สาละใหญ่เป็นไม้เนื้อแข็งที่มีประโยชน์มาก ชาวอินเดียมักนำมาสร้างบ้านเรือน ต่อเรือ ทำเกวียน ทำไม้หมอนรถไฟ ทำสะพาน รวมถึงทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ เป็นต้น ส่วนเมล็ดนำมาใช้เป็นอาหารสัตว์ และน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาทำอาหาร เช่น ทำเนย และใช้เป็นน้ำมันตะเกียง รวมทั้งใช้ทำสบู่ด้วย

    นอกจากนี้ ยังมีสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรด้วย คือ ยางใช้เป็นยาสมานแผล ยาห้ามเลือด ใช้แก้โรคผิวหนัง ตุ่มพุพอง โรคซิฟิลิส โกโนเรีย วัณโรค โรคท้องร่วง บิด โรคหูอักเสบ เป็นต้น, ผลใช้แก้โรคท้องเสีย ท้องร่วง เป็นต้น

    สมัยก่อนคนไทยเข้าใจกันว่า ต้นสาละใหญ่เป็นต้นเดียวกับ ต้นรัง ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Shorea siamensis Miq.” และใช้ในความหมายเดียวกันในพุทธประวัติ เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก ส่วนที่แตกต่างกันที่เด่นชัดคือ ต้นสาละใหญ่มีใบแก่ที่ร่วงหล่นเป็นสีเหลือง เกสรเพศผู้จำนวน 15 อัน เส้นแขนงใบย่อยมี 10-12 คู่ ผลมีเส้นปีก 10-12 เส้น มีขนสั้นรูปดาวปกคลุมประปราย ส่วนต้นรังใบแก่มีสีแดง เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก เส้นแขนงใบย่อยมี 14-18 คู่ ผลมีเส้นที่ปีก 7-9 เส้น และไม่มีขนปกคลุม

    [​IMG]

    รวมทั้งยังเข้าใจว่า ต้นสาละใหญ่เป็นต้นเดียวกับ ต้นสาละ (ลังกา) หรือต้นลูกปืนใหญ่ หรือต้นแคนนอนบอล ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Couroupita guianensis Aubl.” มีดอกขนาดใหญ่สีแดงอมส้ม ซึ่งมีผู้นำมาจากประเทศศรีลังกา และได้รับการบอกเล่ามาว่าเป็นต้นสาละ ดังนั้น ในบางแห่งจึงได้เขียนบอกไว้ว่า ต้นสาละ (ลังกา) เพื่อป้องกันความสับสนนั่นเอง

    ในประเทศไทย หลวงบุเรศรบำรุงการ ได้นำเอาต้นสาละใหญ่หรือต้นซาลมาถวายสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) วัดพระศรีมหาธาตุ วรมหาวิหาร เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร โดยปลูกไว้ที่หน้าพระอุโบสถ 2 ต้น กับได้น้อมเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2510 อีก 2 ต้น ในจำนวนนี้ได้ทรงปลูกไว้ในพระตำหนักจิตรลดารโหฐาน 1 ต้น กับทรงมอบให้วิทยาลัยเผยแพร่พระพุทธศาสนา ต.กระทิงลาย อ.บางละมุง จ.ชลบุรี อีก 1 ต้น

    อาจารย์เคี้ยน เอียดแก้ว และอาจารย์เฉลิม มหิทธิกุล ก็ได้นำต้นสาละใหญ่มาปลูกไว้ในบริเวณคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เขตบางเขน กรุงเทพมหานคร และที่ค่ายพักนิสิตวนศาสตร์ สวนสักแม่หวด อ.งาว จ.ลำปาง

    พระพุทธทาสภิกขุ ก็ได้นำมาปลูกไว้ที่สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี และนายสวัสดิ์ นิชรัตน์ ผู้อำนวยการกองบำรุง ก็ได้นำมาปลูกไว้ในสวนพฤกษศาตร์พุแค จ.สระบุรี ซึ่งต่างก็มีความเจริญงอกงามดี และคาดว่าคงจะให้ผลเพื่อขยายพันธุ์ไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เพิ่มขึ้นในเวลาอันควร

    [​IMG]

    ต้นสาละอินเดียกับพระพุทธศาสนา

    สาละ เป็นคำสันสกฤต อินเดียเรียกต้นสาละใหญ่ว่า “Sal” เป็นไม้ที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง ทั้งตอนประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน มีความสำคัญในพุทธประวัติดังนี้

    ตอนพระพุทธเจ้าประสูติ

    ก่อนพุทธศักราช 80 ปี พระพุทธมารดาคือพระนางสิริมหามายา ทรงครรภ์ใกล้ครบกำหนดพระสูติการ จึงเสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อไปมีพระสูติการ ณ กรุงเทวทหะ อันเป็นเมืองต้นตระกูลของพระนาง ตามธรรมเนียมประเพณีพราหมณ์ (ที่การคลอดบุตร ฝ่ายหญิงจะต้องกลับไปคลอดที่บ้านพ่อ-แม่ของฝ่ายหญิง) เมื่อขบวนเสด็จมาถึงครึ่งทางระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับกรุงเทวทหะ ณ ที่ตรงนั้นเป็นสวนมีชื่อว่า “สวนลุมพินีวัน” เป็นสวนป่าไม้ “สาละใหญ่”

    พระนางได้ทรงหยุดพักอิริยาบท (ปัจจุบันคือตำบล “รุมมินเด” แขวงเปชวาร์ ประเทศเนปาล) พระนางประทับยืนชูพระหัตถ์ขึ้นเหนี่ยวกิ่งสาละใหญ่ และขณะนั้นเองก็รู้สึกประชวรพระครรภ์ และได้ประสูติพระสิทธัตถะกุมาร ซึ่งตรงกับวันศุกร์ วันเพ็ญเดือน 6 ปีจอ ก่อนพุทธศักราช 80 ปี คำว่า “สิทธัตถะ” แปลว่า “สมปรารถนา”

    ตอนก่อนพระพุทธเจ้าจะตรัสรู้และแสดงธรรมเทศนา

    เมื่อพระองค์เสวยข้าวมธุปายาสที่บรรจุอยู่ในถาดทองคำของนางสุชาดาแล้ว ได้ทรงอธิษฐานว่า ถ้าพระองค์ได้สำเร็จพระโพธิญาณ ขอให้การลอยถาดทองคำนี้สามารถทวนกระแสน้ำแห่งแม่น้ำเนรัญชลาได้ เมื่อทรงอธิษฐานแล้วได้ทรงลอยถาด ปรากฏว่าถาดทองคำนั้นได้ลอยทวนกระแสน้ำ จากนั้นพระองค์เสด็จไปประทับยังควงไม้สาละใหญ่ ตลอดเวลากลางวัน ครั้นเวลาเย็นก็เสด็จไปยังต้นพระศรีมหาโพธิ์ ประทับนั่งบนบัลลังก์ภายใต้ร่มเงาต้นโพธิ์ และได้ทรงบำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในเวลารุ่งอรุณยามสาม ณ วันเพ็ญเดือน 6 ก่อนพุทธศักราช 45 ปี

    ครั้นวันเพ็ญเดือน 8 สองเดือนหลังตรัสรู้ พระพุทธองค์เสด็จมาถึงบริเวณป่าสาละใหญ่อันร่มรื่น ณ อุทยานมฤคทายวันหรืออิสิปตนมฤคทายวัน ทางทิศเหนือใกล้เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ณ ที่นี้ พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมเทศนากัณฑ์แรกคือธัมมจักกัปปวัตตนสูตร โปรดปัญจวัคคีย์ พระรัตนตรัยจึงเกิดครบบริบูรณ์ครั้งแรกในโลกนี้ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

    ตอนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

    เมื่อมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์สาวก ได้เสด็จถึงเขตเมืองกุสินาราของมัลละกษัตริย์ ใกล้ฝั่งแม่น้ำหิรัญวดี เป็นเวลาใกล้ค่ำของวันเพ็ญเดือน 6 วันสุดท้ายก่อนการกำเนิดพุทธศักราช ได้ประทับในบริเวณสาลวโณทยาน พระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อยมาก จึงมีรับสั่งให้พระอานนท์ซึ่งเป็นองค์อุปัฏฐากปูลาดพระที่บรรทม โดยหันพระเศียรไปทางทิศเหนือ ระหว่างต้นสาละใหญ่ 2 ต้น แล้วพระองค์ก็ทรงเอนพระวรกายลง ประทับไสยาสน์แบบสีหไสยาเป็นอนุฏฐานไสยา คือการนอนครั้งสุดท้าย โดยพระปรัศว์เบื้องขวา (นอนตะแคงขวาพระบาทซ้ายซ้อนทับพระบาทขวา) และแล้วเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพาน

    [​IMG]
    [ต้นสาละอินเดีย ในป่าดั้งเดิมของประเทศอินเดีย]
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    [​IMG]
    [ต้นสาละลังกา]
    ......................................................


    ต้นสาละลังกา (Cannon-ball Tree)

    ต้นสาละ มีอยู่ด้วยกันสองชนิด คือ ต้นสาละใหญ่หรือต้นสาละอินเดีย (Sal of India) และต้นสาละลังกา (Cannon-ball Tree)

    ต้นสาละ (ลังกา) หรือต้นลูกปืนใหญ่ หรือต้นแคนนอนบอล (Cannon-ball Tree) มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Couroupita guianensis Aubl.” เป็นพืชอยู่ในวงศ์จิก วงศ์ Lecythidaceae (ปัจจุบัน จิกอยู่ในวงศ์ Barringtoniaceae)

    สาละลังกา มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศ Guiana และประเทศอื่นๆ ในแถบทวีปเอเมริกาใต้ โดยเฉพาะที่ราบลุ่มแม่น้ำอเมซอน นิยมปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไปในประเทศเขตร้อน โดยเฉพาะในสวนพฤกษศาสตร์

    เป็นพันธุ์ไม้นำมาจากประเทศคิวบา ศรีลังกาได้มาปลูกประมาณปี พ.ศ.2422 ส่วนประเทศไทยปลูกเมื่อปี พ.ศ.2500 เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบสูง 15-25 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแตกเป็นร่องและเป็นสะเก็ด ใบเดี่ยวออกเวียนสลับตามปลายกิ่งรูปใบหอกกลับ กว้าง 5-8 ซม. ยาว 15-30 ซม. ปลายแหลม โคนสอบ มน ขอบใบจักตื้นๆ

    [​IMG]
    [ต้นสาละลังกา]


    ดอกช่อใหญ่ ยาว ออกตามโคนต้น ดอกสีชมพูอมเหลืองและแดง กลิ่นหอมแรง ออกเป็นช่อใหญ่ตามลำต้น กลีบดอก 4-6 กลีบ แข็ง หักง่าย เกสรตัวผู้มีจำนวนมาก เมื่อบานเส้นผ่านศูนย์กลาง 5-8 ซม. โคนของเกสรตัวผู้เชื่อมติดกันเป็นรูปโค้ง ผลกลม ใหญ่สะดุดตา ผลแห้งเปลือกแข็ง ผิวสีน้ำตาลปนแดง เส้นผ่านศูนย์กลาง 10-20 ซม. ผลสุกมีกลิ่นเหม็น ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก รูปไข่ ออกดอกเกือบตลอดปี ต้องการแสงแดดจัด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขึ้นได้ดีในดินทุกประเภท

    ต้นสาละลังกากับพระพุทธศาสนา

    ถือว่าเป็นต้นไม้มงคลในพระพุทธศาสนา เนื่องจากชาวลังกาเห็นว่าดอกมีลักษณะสวยและมีกลิ่นหอมจึงนำไปถวายพระ อีกทั้งนิยมปลูกภายในวัดมากกว่าตามอาคารบ้านเรือน

    [​IMG]
    [ผลแห้ง ต้นสาละลังกา]


    ......................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    1. ผู้จัดการออนไลน์ 1 กุมภาพันธ์ 2548 14:35 น.
    2. http://www.rspg.thaigov.net/
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกากะทิง (ต้นนาคะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ มังคลพุทธวงศ์, สุมนพุทธวงศ์, เรวตพุทธวงศ์ และโสภิตพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 4 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 6 พระนามว่า พระมังคลพุทธเจ้า ผู้ทรงชูดวงไฟคือพระธรรมให้สว่างไสว ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 7 พระนามว่า พระสุมนพุทธเจ้า ผู้ไม่มีใครเสมอเหมือนโดยธรรมทั้งปวง ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 8 พระนามว่า พระเรวตพุทธเจ้า ผู้ทรงยศ มีพระปัญญามาก ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 เดือนเต็ม และพระพุทธเจ้าองค์ที่ 9 พระนามว่า พระโสภิตพุทธเจ้า ผู้ทรงมีพระทัยมั่นคงสงบระงับไม่มีใครเสมอเหมือน ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน ทั้งสี่พระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กากะทิง เช่นเดียวกัน

    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 84 ของ ส.ธรรมภักดี กล่าวไว้ว่า ต้นกากะทิงจะเป็นพันธุ์ไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าในอนาคตกาลข้างหน้า ซึ่งมีนามว่า “พระศรีอริยเมตไตรย”

    [​IMG]

    ต้นกากะทิง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Calophylum inophyllum Linn.” อยู่ในวงศ์ “Guttiferae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นนาคะ” ถิ่นกำเนิดอยู่ในอินเดียและฝั่งตะวันตกของแปซิฟิค ในบ้านเรานั้นเรียกชื่อต่างกันไป ได้แก่ กากะทิง, กระทิง (ภาคกลาง) เนาวกาน, สารภีแนน (ภาคเหนือ) ทิง, สารภีทะเล (ภาคใต้) เป็นต้น

    เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่สูงประมาณ 8-20 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมทึบ เปลือกนอกสีน้ำตาลอมเทา ใบมนรูปไข่กลับ ผิวใบเกลี้ยง เนื้อใบหนาเป็นมัน สีเขียวเข้ม ไม่ผลัดใบ ใบมียางสีขาว

    ดอกเล็กสีขาวถึงเหลืองนวล กลิ่นหอม ดอกบานไม่พร้อมกัน ออกเป็นช่อสั้นตามปลายกิ่งและซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกตูมมักอยู่ที่ปลายช่อดอก ดอกบานเต็มที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 ซ.ม. กลีบดอกงองุ้มโค้งเข้าหากัน มีเกสรตัวผู้สีเหลืองเข้มจำนวนมาก เมื่อใกล้โรยเกสรตัวผู้จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล ออกดอกช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม

    ผลทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2.5 ซม. ผลอ่อนสีเขียว ปลายผลเป็นติ่งแหลม และเมื่อแก่จะมีสีน้ำตาล แห้ง ผิวย่น แต่ละผลมี 1 เมล็ด

    [​IMG]

    ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด แต่จากการที่กระทิงเป็นพันธุ์ไม้ที่ชอบขึ้นตามป่าที่อยู่ใกล้ชายทะเลตอนที่น้ำทะเลขึ้นไม่ถึงและป่าที่ชื้นทั่วไป ที่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 50-100 เมตร ทำให้ลมและน้ำเป็นตัวการสำคัญที่จะมีส่วนช่วยในการแพร่กระจายพันธุ์ของไม้กระทิงในสภาพธรรมชาติ

    เนื่องจากต้นกากะทิงมีเนื้อไม้สีน้ำตาลอมแดง หนักและแข็ง ทนน้ำ จึงมักนำมาใช้ทำเรือ กระดูกงูเรือ สร้างบ้านเรือน ทำตู้ ไม้หมอนรถไฟ เครื่องมือเกษตรกรรม เช่น แอก ฯลฯ เมล็ดนำมาสกัดน้ำมันใช้ ในอุตสาหกรรมสบู่ ทำเทียนไข และผสมทำเครื่องสำอาง

    ส่วนสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น ใบสดนำมาขยำแช่น้ำ ใช้น้ำล้างตา แก้ตาฝ้า ตามัว ตาแดง, สำหรับน้ำมันที่ได้จากเมล็ดนำมาใช้ทาถูนวด แก้ปวดข้อ เคล็ดบวม รักษาโรคเรื้อน, ดอกปรุงเป็นยาหอม บำรุงหัวใจ, รากเป็นยาเบื่อปลา แก้ซาง, เปลือกใช้ชำระล้างแผล แก้คัน และเป็นยาเบื่อปลา แต่ยางทำให้อาเจียน และถ่ายอย่างรุนแรง

    ปัจจุบัน กากะทิงหรือสารภีทะเล เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดระยอง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2547 14:16 น.
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกุ่ม (ต้นกักกุธะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อโนมทัสสีพุทธวงศ์, สิขีพุทธวงศ์ และปิยทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 10 พระนามว่า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 23 พระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 16 พระนามว่า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กุ่ม เช่นเดียวกัน

    ต้นกุ่ม (ต้นกุ่มบก) ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” เป็นพันธ์ไม้ในสกุล Crateva วงศ์ Capparidaceae ชาวฮินดูเรียกกันว่า “มารินา” ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้านำผ้าบังสกุลห่อศพมามณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็มาที่ที่ผ้าบังสกุลดังกล่าว พฤกษเทวาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลงเพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

    [​IMG]

    ต้นกุ่ม มี 2 ชนิดคือ ต้นกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva adansonii DC.subsp.trifoliata (Roxb.) Jacobs” และ ต้นกุ่มน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva magna (Lour.) DC. และ Crateva Religiosa Forst.f.”

    ต้นกุ่มบก เป็นไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดกลางสูง 10-25 เมตร ลักษณะคล้ายต้นก้ามปูแผ่พุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทา มีรูระบายอากาศสีขาวอยู่ทั่วไป เนื้อไม้สีขาวปนเหลือง มีเนื้อละเอียด ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน ขอบขนานเรียบ ปลายแหลมเป็นติ่ง ก้านใบยาว ช่อดอก ออกตรงซอกใบใกล้ปลายกิ่ง

    ดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมเขียว แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนภาย ในดอกมีเกสรตัวผู้ ก้านเกสรสีม่วง สวยงาม มีเกสรตัวเมียรังไข่เหนือวงกลีบ 1 อัน กลีบในแบนป้าน 4 กลีบ ตอนเริ่มบานจะเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีขาวนวล และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

    [​IMG]

    ผลกลมหรือรูปไข่ ผิวนอกแข็งและสาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 ซม. เปลือกมีจุดสีน้ำตาลอมแดง ผลจะแก่ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และจะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ก้านผลยาว เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้า

    คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค โดยนำใบอ่อนและดอกอ่อน ซึ่งออกในช่วงฤดูฝน มาดองก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือก ใช้ เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง คุมธาตุ ขับผายลม ขับน้ำดี ขับนิ่ว แก้บวม แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาท และยาบำรุง แก่น ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว บำรุงเลือด ราก ใช้ขับหนอง ใบ ใช้ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนัง และกลากเกลื้อน แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ เจริญอาหาร ดอก เป็นยาเจริญอาหาร แก้เจ็บคอ แก้ไข้

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 มิถุนายน 2548 11:13 น.
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นอ้อยช้างใหญ่ (ต้นมหาโสณกะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปทุมพุทธวงศ์, นารทพุทธวงศ์ และเวสสภูพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 11 พระนามว่า พระปทุมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 12 พระนามว่า พระนารทพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 พระนามว่า พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ เช่นเดียวกัน

    จากการค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์ไม่พบ ‘ต้นอ้อยช้างใหญ่’ มีแต่เพียง ‘ต้นอ้อยช้าง’ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นอ้อยช้างที่มีขนาดใหญ่ ตามที่มีการระบุในภาษาบาลีไว้ว่า ‘ต้นมหาโสณกะ’ ซึ่ง ‘มหา’ แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น จึงขอนำเรื่องราวของต้นอ้อยช้างมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

    [​IMG]

    ต้นอ้อยช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.” อยู่ในวงศ์ Anacardiaceae มีชื่อพื้นเมืองเรียกกันมากมาย เช่น คำมอก, กอกกั๋น, กุ๊ก, ช้างโน้ม, ตะคร้ำ, หวีด เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้นมีร่องเล็กๆ ตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบแหลมโคนใบมน ขอบใบเรียบ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง และใบจะร่วงหมดในช่วงที่ออกดอกจน ถึงออกผลในราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

    ดอกขณะตูมมีสีม่วงแดง เมื่อบานสีด้านในของกลีบเป็นสีเหลืองแต้มสีม่วงแดงเรื่อๆ ขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบรองดอกและกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ ออกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลรูปรี มีขนาดเล็กสีเขียวอมแดง ภายในมีเมล็ดกลมหรือรี 1 เมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง

    [​IMG]

    อ้อยช้างมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ส่วนของรากซึ่งเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำไว้จำนวนมาก น้ำในรากสามารถนำมาดื่มแก้กระหายได้ เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต งานแกะสลัก เปลือกใช้ทำที่รองหลังช้าง ใช้ฟอกหนังสัตว์ ส่วนยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ฝาด จึงนิยมรับประทานเป็นผัก

    ส่วนสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือกเป็นยาสมานแผล แก้อาการปวดฟัน แก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย แก้ฝี โรคเรื้อน โรคผิวหนัง และแก้เจ็บตา แก่นมีรสหวาน แก้เสมหะ บรรเทาอาการกระหายน้ำ ชุ่มคอ ใบใช้แก้ผิว หนังพุพอง เน่าเปื่อย รากใช้เข้าตำรับยา เพื่อชูรสยาในตำรับนั้นๆ

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2548 16:35 น.
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นสน (ต้นสลฬะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปทุมุตรพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 13 พระนามว่า พระปทุมุตรพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สน

    ด้วยเหตุที่ไม้สนเป็นชื่อไม้ต้นหลายชนิดในหลายวงศ์ จึงไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นไม้สนชนิดใดกันแน่ ดังนั้น ในที่นี้จึงขอนำเรื่องของ ‘สนอินเดีย’ มาเสนอ

    ต้นสนอินเดีย ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นสลฬะ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Grevillea robusta A. Cunn ex R.Br.” อยู่ในวงศ์ Proteaceae ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดในสกุล Grevillea วงศ์ Proteaceae ซึ่งไม้ในวงศ์ Proteaceae นี้ก็มีแตกย่อยออกไปกว่า 75 สกุล 1,700 ชนิด

    ต้นสนอินเดียนี้ขึ้นได้ดีในซีกโลกใต้ เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่ผลัดใบ สูงประมาณ 18-30 เมตร เป็นไม้พุ่ม ลำต้นเปลาตรง เรือนยอดแผ่เป็นพุ่มปานกลาง เปลือกลำต้นเป็นสีเทาดำ หนา แตกเป็นร่องลึกตามความยาวของลำต้น ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก เรียงสลับ มีร่องลึกกลางใบ ใบยาวประมาณ 15-30 ซม. เนื้อใบแข็ง ปลายใบแหลม และมีขนสีน้ำอ่อนใต้ใบ มีลักษณะคล้ายใบเฟิร์น ช่วงใบอ่อนขอบใบจะงอโค้ง

    [​IMG]

    ดอกมีสีส้มอมเหลือง ลักษณะเป็นช่อกระจุกแน่น ก้านดอกยาวประมาณ 2-3 ซม. ส่วนช่อดอกยาวประมาณ 8-15 ซม. เป็นดอกสมบูรณ์ มีเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน จะเริ่มออกดอกราวเดือนมีนาคม และบานเต็มต้นในเดือนมิถุนายน มีรูปร่างคล้ายแปรงล้างขวด ส่วนผล เป็นรูปกลมรี มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อผลแก่จัดเปลือกจะอ้าออก ทำให้เมล็ดหลุดออกมาได้ แต่ละผลจะมีเมล็ดที่มีปีก 2 เมล็ด ซึ่งสามารถปลิวไปตกยังที่ไกลๆ ได้

    ประโยชน์ของสนอินเดียมีหลายอย่าง เช่น ลำต้นใช้ในการก่อสร้างที่พักอาศัย ปูพื้นผนัง ต่อแพ เนื้อไม้เหนียว มันวาวคล้ายไหม น้ำหนักเบา จึงมักนำมาทำเฟอร์นิเจอร์เครื่องเรือนต่างๆ งานแกะสลัก รวมทั้งดินสอ และเยื่อกระดาษ นอกจากนี้ยังสามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้เป็นอย่างดี เพราะมีน้ำยางที่มีคุณสมบัติติดไฟง่าย และน้ำยางของสนนำมาทำเป็นน้ำมันสนใช้ผสมสำหรับทำน้ำมันชักเงา ทำเทียน ทำสบู่ ทำชันสน และใช้ประโยชน์ในด้านอุตสาหกรรมต่างๆ อีกหลายประเภท

    สำหรับสรรพคุณในทางพืชสมุนไพรนั้น ได้นำน้ำยางนำมาใช้ผสมทำยาทาและสูดดมแก้หวัด แก้ปวดเมื่อย โรคผิวหนัง แผลพุพอง และตาอักเสบ และใบยังมีส่วนในการช่วยยับยั้งการก่อตัวของจุลินทรีย์บางชนิดด้วย

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 4 กรกฎาคม 2548 15:19 น.
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นสะเดา (ต้นนิมพะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สุเมธพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 14 พระนามว่า พระสุเมธพุทธเจ้า ผู้ทรงแสวงหาประโยชน์เพื่อสรรพสัตว์ ทรงเปลื้องสัตว์ให้พ้นจากเครื่องผูกเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้สะเดา หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม

    ในบ้านเรานั้นสะเดามี 3 พันธุ์ คือ

    1. สะเดาอินเดีย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียวแคบมากคล้ายเส้นขร ผลสุกในเดือน ก.ค.- ส.ค.

    2. สะเดาไทย มีลักษณะขอบใบหยักเป็นฟันเลื่อย แต่ปลายของฟันเลื่อยทู่ โคนใบเบี้ยวแต่กว้างกว่า ปลายใบแหลม ผลสุกในเดือน เม.ย.- พ.ค.

    3. สะเดาช้าง หรือต้นเทียม ไม้เทียม ขอบใบจะเรียบ หรือปัดขึ้นลงเล็กน้อย โคนใบเบี้ยว ปลายเป็นติ่งแหลม ขนาดใบและผลใหญ่กว่า 2 ชนิดแรก ผลสุกในเดือน พ.ค.- ส.ค.

    [​IMG]

    ในที่นี้จะพูดถึง ต้นสะเดาอินเดีย ที่เป็นโพธิญาณพฤกษาของพระสุเมธพุทธเจ้า สะเดาอินเดีย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Azadirachta indica A. Juss.” อยู่ในวงศ์ “Meliaceae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นนิมพะ” หรือ “ต้นมหานิมพะ” ชาวฮินดูเรียกว่า “นิมะ” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ กะเดา (ภาคใต้), สะเลียม (ภาคเหนือ), คินินหรือขี้นิน (ภาคอีสาน), ควินิน, ควินนิน, จะตัง, ไม้เดา, เดา เป็นต้น

    ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า ในพรรษาที่ 11 พระพุทธเจ้าได้จำพรรษาภายใต้จิมมันทพฤกษ์ คือไม้สะเดา อันเป็นมุขพิมานของเพรุยักษ์ ใกล้นครเวรัญชา

    สะเดาเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-16 เมตร เปลือกสีน้ำตาลแกมเทา ลำต้น เปลา ตรง เรือนยอดเป็นพุ่มหนาทึบ ใบประกอบแบบขนนก มีสีเขียวเข้ม และหนาเป็นมันวาว ขอบใบหยัก เป็นฟันเลื่อย ปลายใบแหลมเรียว ดอกสีขาวออกเป็นช่อตามปลายกิ่ง มีกลิ่นหอม ผลกลมรี ผิวบาง มีเมล็ดภายในเมล็ดเดียว เมื่อสุกจะมีสีเหลืองและมีกลิ่นหอม

    สรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นมีมากมาย ใบอ่อนและดอกนำมารับประทาน เพื่อบำรุงโลหิตและน้ำดี ช่วยย่อยอาหาร แก้ลม แก้พยาธิ แก้เลือดกำเดาไหล แก้ริดสีดวงในคอ แก้ลม บิดมูกเลือด, ผล ใช้บำรุงหัวใจที่เต้นไม่เป็นปกติ, รากใช้แก้โรคผิวหนัง ยางใช้ดับพิษร้อน, เปลือกใช้แก้ไข้มาเลเรีย และน้ำมันจากเมล็ดใช้เป็นสารกำจัดแมลงศัตรูพืช

    [​IMG]

    ทางคติอินเดียถือว่า ผู้ใดนอนใต้ต้นสะเดาแล้วโรคภัยไข้เจ็บจะหายไป เพราะสะเดาเวลาคายน้ำออกจะมีสารระเหยบางชนิด ที่เข้าใจว่ามีคุณสมบัติทางยาใช้รักษาโรค ถึงกับมีเรื่องเล่ากันว่า ภรรยาชาวอินเดียที่ไม่ยอมให้สามีออกไปต่างบ้าน พยายามสั่งสามีว่า เมื่อจะไปให้ได้ก็ไม่ว่า แต่ในระหว่างเดินทางไปจะพักนอนที่ไหน ขอให้นอนใต้ต้นมะขาม เมื่อนึกจะกลับบ้านก็ขอให้นอนใต้ต้นสะเดา สามีก็เชื่อฟังภรรยา เมื่อออกจากบ้านก็นอนใต้ต้นมะขามเรื่อยไป ต้นมะขามกล่าวกันว่าเป็นต้นไม้ที่ทำให้เกิดความเจ็บไข้ เมื่อนอนใต้โคนอยู่เรื่อยๆ ก็เกิดอาการไม่สบาย ไม่สามารถจะเดินทางต่อไปได้จึงคิดเดินทางกลับบ้าน

    เมื่อนึกถึงคำภรรยาสั่งไว้ว่าขากลับให้นอนใต้ต้นสะเดา จึงนอนใต้ต้นสะเดาเรื่อยมา ฤทธิ์ทางยาของไม้สะเดาก็รักษาอาการไข้ของชายคนนั้นให้หายไปทีละน้อยๆ และหายเด็ดขาดเมื่อกลับมาถึงบ้านพอดีนับว่า หญิงอินเดียมีกุโศลบายดีมาก การที่พระพุทธเจ้าจำพรรษาใต้ต้นสะเดาจะเกี่ยวข้องกับคติดังกล่าวหรือไม่คงไม่มีใครทราบ

    แต่คตินี้ก็น่าจะให้ข้อคิดบางอย่าง เพราะแพทย์แผนปัจจุบันพยายามสกัดสารพวกอัลคอลอยด์บางอย่างไปใช้ผสมยา เช่น ทำยาธาตุ ยาแก้ท้องเสีย ฯลฯ ฉะนั้น เวลากลางคืนสะเดาจะคายน้ำรวมทั้งคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา ย่อมจะมีสารระเหยพวกนี้ออกมาด้วย เมื่อสูดเข้าไปเรื่อยๆ ก็อาจเป็นการบริโภคได้ทางหนึ่ง

    มะขามมักจะอยู่ตามโคกและตามโคกมักจะมีสัตว์พวกงูพิษซุ่มอยู่ คนนอนก็จะต้องคอยระมัดระวัง จะไม่เป็นอันหลับอันนอน ก็ย่อมจะเพลียไม่มีแรงเดินทางต่อ และพาลจะเจ็บป่วยไปด้วย แต่สะเดาชอบขึ้นตามที่ราบโล่ง บรรดาสัตว์ร้าย เช่น งูไม่ชอบอาศัย คนนอนก็นอนสบายทำให้มีกำลังแข็งแรง คนเราถ้านอนได้เต็มที่ก็สามารถสร้างภูมิต่อสู้กับโรคภัยได้เช่นกันก็เป็นได้

    สะเดาอินเดีย ค่อนข้างจะหายาก แหล่งปลูกใหญ่คือทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการตอนกิ่งปักชำ

    ปัจจุบัน สะเดาเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอุทัยธานี

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 พฤษภาคม 2547 10:51 น.
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นไผ่ใหญ่ (ต้นมหาเวฬุ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สุชาตพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 15 พระนามว่า พระสุชาตพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 9 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ไผ่ใหญ่

    ต้นไผ่ใหญ่โพธิพฤกษ์นั้น ลำต้นแข็ง ไม่เป็นโพรง มีใบแน่นหนา ลำต้นตรงใหญ่ น่าดูน่าชม ต้นหนึ่งเจริญงอกงามแล้วแตกกิ่งสาขาออกไป ไม้ไผ่นั้นไม่มีหนาม แม้ช่องใหญ่ก็ไม่มี มีกิ่งชิดไม่ห่าง เงาทึบ น่ารื่นรมย์ใจ

    ต้นไผ่ นั้นในภาษาบาลีเรียก “เวฬุ” ซึ่งคำว่า “เวฬุวัน” ที่เรารู้จักกันดีก็แปลว่า “ป่าไผ่” นั่นเอง พันธุ์ไม้ไผ่ในโลกมีจำนวน ถึง 1,250 ชนิด ไม้ไผ่เป็นพวกพืชยืนต้น จัดอยู่ในวงศ์ Gramineae แต่เมื่อพิจารณาจากพระไตรปิฎกดังกล่าว ต้นไผ่ใหญ่ ซึ่งในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นมหาเวฬุ” น่าจะอยู่ในสกุล Dendrocalamus เพราะไผ่สกุลนี้มีขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ไม่มีหนาม ลำตั้งตรง กาบมีขนาดใหญ่ และมักหลุดร่วงเร็ว ใบยอดกาบเป็นรูปสามเหลี่ยมเรียว ซึ่งที่พบในบ้านเรามี 10 ชนิด คือ ไผ่ตง, ไผ่บงใหญ่, ไผ่เป๊าะ, ไผ่หก, ไผ่ซางคำหรือไผ่เขาควาย, ไผ่เซิมหรือไผ่ซาลวาย, ไผ่ลำมะลอก, ไผ่ซางนวล, ไผ่ซางหม่น และไผ่ซาง

    เมื่อศึกษาข้อมูลของแต่ละชนิดแล้ว พบว่าไผ่ตงและไผ่เป๊าะ มีข้อที่น่าสังเกต กล่าวคือ

    ไผ่ตง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrocalamus asper Back. มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศอินเดียและจีน เป็นไผ่ที่มีขนาดใหญ่ สูงราว 25 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6-12 ซม. ไม่มีหนาม ปล้องยาวประมาณ 20-30 ซม. บริเวณโคนลำต้นมีลายขาวสลับเทา และมีขนาดเล็กๆ อยู่ทั่วไปของลำ หน่อมีน้ำหนักประมาณ 3-10 กก.

    ไผ่เป๊าะ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dendrocalamus giganteus Munro มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศพม่า ต่างประเทศเรียกกันว่า Giant Bambo หรือไผ่ยักษ์ เพราะสูงราว 30 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-35 ซม. ปล้องยาวประมาณ 30 ซม. ข้อเรียบ เนื้อแข็ง เปราะ หน่อมีขนาดโตพอๆ กับลำ โดยมีสีขาวปนเหลือง

    [​IMG]

    ไผ่ทั้งสองชนิดนี้มักพบขึ้นอยู่ในป่าดิบ โดยขึ้นรวมกับไม้ยืนต้นขนาดใหญ่หลายชนิด เมื่อขึ้นในที่หุบหรือที่ร่องน้ำ ไม้ไผ่เหล่านี้จะสามารถผลิตหน่อและลำขนาดใหญ่และสมบูรณ์เต็มที่

    อย่างไรก็ตาม ในที่นี้มิอาจชี้ชัดลงไปได้ว่าไผ่ชนิดใดเป็นต้นไผ่ใหญ่ อันเป็นโพธิญาณพฤกษาแห่งองค์พระสุชาตพุทธเจ้า เป็นเพียงการนำเสนอข้อมูลเพื่อพินิจพิจารณากันต่อไป

    สำหรับลักษณะโดยรวมของต้นไผ่โดยทั่วไปนั้น เป็นไม้พุ่ม ขึ้นเป็นกอ ลำต้นเป็นปล้องๆ ดอกไผ่มีลักษณะเป็นช่อ ซึ่งไม้ไผ่แต่ละชนิดมีการพัฒนาลักษณะของช่อดอกแตกต่างกันออกไป การออกดอกของไม้ไผ่ เรียกกันว่า “ไผ่ตายขุย” เป็นการพัฒนาขั้นสุดท้ายของไม้ไผ่ที่นำไปสู่การผลิตเมล็ด (fruiting) ก่อนที่ไม้ไผ่ต้นนั้นจะตาย เมล็ดของไม้ไผ่ซึ่งที่จริง คือ ผล (fruit) แต่ด้วยลักษณะของเมล็ดที่คล้ายกับเมล็ดข้าวหรือผลของข้าว จึงนิยมเรียกว่า “เมล็ด” ความสามารถในการผลิตเมล็ดของไม้ไผ่แต่ละชนิดจะขึ้นอยู่กับประเภท และลักษณะของการออกดอกของไม้ไผ่

    ต้นไผ่เป็นพืชที่มีการใช้ประโยชน์อย่างกว้างขวาง ทั้งบริโภค ทั้งเป็นวัตถุดิบเพื่อการอุตสาหกรรม เช่น ทำเยื่อกระดาษ ทำเครื่องจักสาน ทั้งใช้ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ เป็นต้น

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 26 ตุลาคม 2547 14:29 น.
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นจำปาป่า (ต้นจัมปกะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อัตถทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 17 พระนามว่า พระอัตถทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้จำปาป่า

    ต้นจำปาป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Michelia champaca Linn.” วงศ์ Magnoliaceae ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นจัมปกะ” มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ จำปา (Champa-ทั่วไป), จำปาทอง (นครศรีธรรมราช), จำปาเขา (ตรัง), จำปาป่า (สุราษฎร์ธานี), จำปากอ (มลายู, ภาคใต้) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศจีน, อินเดีย, ไทย, มาเลเซีย, อินโดนีเซีย และพม่า

    [​IMG]

    พระราชนิพนธ์บทละครใน ‘เรื่องอิเหนา’ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ‘จำปา’ ว่า

    “พระบุตรีเก็บแก้วกาหลง เด็ดดวงพวงประยงค์แซมเกศา
    นางกำนัลน้อยน้อยสวยจำปา บ้างวิ่งชิงแย่งยื้อ”

    และ ‘บทเห่เรือ’ ที่พวกฝีพายใช้ขับลำนำ คือ กาพย์เห่เรือ พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือรู้จักกันทั่วไปในพระนาม “เจ้าฟ้ากุ้ง” มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ‘จำปา’ ว่า

    “จำปาหนาแน่นเนื่อง คลี่กลีบเหลืองเรืองอร่าม
    คิดคะนึงถึงนงราม ผิวเหลืองกว่าจำปาทอง”

    จำปาเป็นไม้ยืนต้น สูง 10-30 ม. เรือนยอดเป็นพุ่มโปร่ง ลำต้นขนาดกลาง ลำต้นกลม เปลือกต้นสีขาวปนเทา ค่อนข้างเรียบ ยอดอ่อนมีหูใบหุ้ม ใบสีเขียวคล้ายใบมะม่วง ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ แผ่นใบรูปรีแกมขอบขนาน ถึงรูปใบหอก กว้าง 4-10 ซม. ยาว 5-20 ซม. ปลายใบแหลมถึงเรียวแหลม โคนใบกลม มน หรือสอบ เส้นแขนงใบ 16-20 คู่ ก้านใบยาว 2-4 ซม.

    ดอกเป็นดอกเดียว สีเหลืองส้ม ออกตามง่ามใบ มีกลีบเลี้ยงและกลีบดอกรวมกัน 12-15 กลีบ กลีบยาว กลีบด้านนอกรูปหอกกลับ ยาว 4-4.5 ซม. กว้าง 1-1.5 ซม. ปลายเรียวแหลม กลีบดอกชั้นในสั้นและแคบกว่าชั้นนอก เกสรเพศผู้มีจำนวนมาก รังไข่รวมกันเป็นแท่ง ก้านดอกยาว 1-2 ซม. ดอกเริ่มแย้มและมีกลิ่นหอมมากในช่วงพลบค่ำ ในเช้าวันถัดมากลีบดอกจะกางออกจากกัน และร่วงหล่นในตอนเย็น ออกดอกเกือบตลอดปี แต่จะมีมากในช่วงฤดูฝน ปลูกนานกว่า 3 ปี ถึงจะออกดอก

    [​IMG]

    ผล รูปรีหรือรูปไข่ เปลือกแข็ง ขนาดยาว 1-2 ซม. ออกเป็นกลุ่ม เปลือกผลมีจุดสีขาวขรุขระโดยรอบ ผลแก่สีน้ำตาล แตกด้านข้าง ฝักบิดๆ งอๆ เมล็ดสีดำ ค่อนข้างกลม เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5 ซม. เยื่อหุ้มเมล็ดสีแดงส้ม

    จำปามีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติในป่าดิบ ทั่วทุกภาคของประเทศ ในต่างประเทศพบที่เนปาล อินเดีย จีน และภูมิภาคอินโดจีน ปัจจุบันเป็นพันธุ์ไม้ที่ค่อนข้างหายากในป่าธรรมชาติ

    เนื้อไม้ใช้ก่อสร้างบ้านเรือน และเครื่องใช้ต่างๆ และมีสรรพคุณทางยา คือ เปลือกต้น ฝาดสมาน ใช้แก้ไข เป็นยาถ่าย, รากแห้งและเปลือกหุ้มราก ใช้ผสมกับนมสำหรับบ่มฝี, ดอก ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง ขับลม ขับปัสสาวะ ใช้แก้วิงเวียน อ่อนเพลีย หน้ามืดตาลาย โรคเรื้อน, ใบ ใช้แก้โรคประสาท แก้ป่วง, เนื้อไม้ ใช้บำรุงประจำเดือนสตรี นิยมปลูกเป็นไม้ประดับ

    นอกจากนี้ ดอกจำปายังใช้ทำอุบะในมาลัย มะลิบูชาพระ หรือหุ้มไตรบวชนาค

    [​IMG]


    ......................................................

    http://www.dnp.go.th/main_plant.asp
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นมะพลับ (ต้นพิมพชาละ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ธัมมทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 18 พระนามว่า พระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะพลับ

    ต้นมะพลับ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นพิมพชาละ” หรือ “ต้นพิมพละ” อยู่ในวงศ์ Ebenaceae ซึ่งทางพฤกษศาสตร์ได้มีการรวบรวมไว้นั้นมีหลายสายพันธุ์ แต่สายพันธุ์ที่บ้านเรารู้จักกันดี คือ

    1. มะพลับ ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากประเทศมาเลเซีย ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ คือ พลับ (ภาคกลาง), ม่ากาลับตอง ม่ากับต๋อง (เชียงราย), มาสูละ มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Diospyros areolata King & Gamble” และ

    2. มะพลับไทย ที่มีถิ่นกำเนิดมาจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชื่อพื้นเมืองอื่นๆ คือ ตะโกสวน, มะพลับใหญ่ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Diospyros malabarica (Desr.) Kostel. var. siamensis (Hochr.) Phengklai” อันเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดอ่างทอง

    ในที่นี้ไม่สามารถระบุได้ว่า ไม้มะพลับชนิดใดเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระธัมมทัสสีพุทธเจ้า ดังนั้น จะขอเลือกพูดถึงลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของต้นมะพลับ เฉพาะตามข้อ 1 เท่านั้น

    มะพลับเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลาง สูงถึง 15 เมตร ลำต้นมักคดงอ เปลือกค่อนข้างเรียบ สีน้ำตาลปนเขียวอ่อน หรือปนดำ, ใบเป็นใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ตัวใบรูปขอบขนาน กว้าง 4-7 ซม. ยาว 7-20 ซม. โคนใบโค้งมน ขอบใบเรียบ ปลายใบเรียวทู่ เนื้อใบหนา ผิวเกลี้ยงทั้งสองด้าน หรือมีขนประปรายบ้างตามเส้นกลางใบด้านล่าง เส้นใบมี 6-12 คู่ แต่ละเส้นคดงอไปมา พอมองเห็นทั้งสองด้าน ก้านใบยาว 1-1.5 ซม. มีขนประปราย

    [​IMG]

    ดอกมีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่ต่างกัน ดอกเพศผู้ออกเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบ ก้านดอกยาวประมาณ 2 มม. มีขนหนาแน่น ดอกเพศเมียมักออกเดี่ยวๆ ตามกิ่งเล็กๆ ก้านดอกยาว 5-10 มม. มีขนคลุมแน่น

    ผลกลมหรือค่อนข้างกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง 2.5-3.5 ซม. ยาว 3-5 ซม. ผลแก่ค่อนข้างนุ่ม ผิวมีเกล็ดสีน้ำตาลแดงคลุม เกล็ดเหล่านี้หลุดง่าย กลีบจุกผลแต่ละกลีบเกือบไม่ติดกัน เกลี้ยงหรืออาจมีขนบ้างทั้งสองด้าน กลีบส่วนมากจะพับกลับ มีบ้างที่แผ่กางออก ขอบกลีบมักเป็นคลื่น ไม่มีเส้นลายกลีบ ออกดอกระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ผลแก่ระหว่างเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์ ขยายพันธุ์โดยเมล็ด

    มะพลับเป็นพันธุ์ไม้ป่าดงดิบ พบขึ้นในป่าที่ลุ่มต่ำบริเวณแนวกันชนระหว่างป่าบกและป่าชายเลน บริเวณชายคลอง และชายป่าพรุ เหนือระดับน้ำทะเล 2-30 เมตร ทางภาคใต้ของประเทศไทย ในต่างประเทศพบที่มาเลเซีย

    ประโยชน์ทางยา อาทิ ตามตำรายาไทยกล่าวว่า เปลือกต้นและเนื้อไม้มีรสฝาดมีสรรพคุณ บำรุงธาตุ เจริญอาหาร แก้บิด แก้ท้องร่วง ขับผายลม แก้กามตายด้าน บำรุงความกำหนัด เป็นยาสมานแผลและห้ามเลือด, ผลแก่รับประทานได้

    ประโยชน์อื่นๆ มีมากมาย อาทิ เนื้อไม้ใช้ทำเครื่องมือทางการเกษตร เครื่องกลึงและแกะสลัก, เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง, ยางของลูกมะพลับให้สีน้ำตาลนำมาละลายน้ำใช้ย้อมผ้า แห และอวน เพื่อให้ทนทานเช่นเดียวกับตะโก แต่ยางของลูกมะพลับใช้ได้ดีกว่ามาก เพราะไม่ทำให้เส้นด้ายแข็งกรอบเหมือนผลตะโก จึงทำให้ยางของมะพลับมีราคาดีกว่าตะโกมาก จึงมีพ่อค้าหัวใสนำยางของผลตะโกปลอมขายเป็นยางมะพลับ จึงได้เกิดมีคำพังเพยว่า “ต่อหน้ามะพลับ ลับหลังตะโก”

    คติความเชื่อ มะพลับเป็นไม้มงคลชนิดหนึ่งของคนไทย กำหนดปลูกไว้ทางทิศใต้ (ทักษิณ) ตามโบราณเชื่อกันว่า การปลูกต้นมะพลับในบริเวณบ้านจะทำให้ร่ำรวยยิ่งขึ้น

    [​IMG]


    ......................................................

    http://ittm.dtam.moph.go.th/
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกรรณิการ์ (ต้นกณิการระ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ สิทธัตถพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 19 พระนามว่า พระสิทธัตถพุทธเจ้า (มิใช่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน) ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กรรณิการ์

    ต้นกรรณิการ์ ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกณิการระ” หรือ “ต้นกัณณิการะ” ในบ้านเราเป็นพันธุ์ไม้ที่รู้จักกันดีนั้น มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Nyctanthes arbortristis (Linn.) อยู่ในวงศ์ Verbenaceae ซึ่งเอกสารเกี่ยวกับพรรณไม้หลายแห่งระบุว่า เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร

    แต่เมื่อพิจารณาจากต้นไม้ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ จะพบว่าเป็นต้นไม้ที่มีขนาดใหญ่ ให้ร่มเงาแผ่กว้าง ดังนั้น “ต้นกรรณิการ์อินเดีย” ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Pterospermum acerifolium (Linn.) Willd. อยู่ในวงศ์ Sterculiaceae ซึ่งเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่สูงถึง 30 เมตร น่าจะเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระสิทธัตถพุทธเจ้ามากกว่า

    [​IMG]

    อย่างไรก็ดี มิอาจระบุชัดเจนลงไปว่าเป็นต้นใดแน่ เป็นเพียงการสันนิษฐานเท่านั้น เพราะเวลาผ่านมาหลายกัปกัล ต้นไม้ก็กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ สิ่งที่นำมาเสนอก็หวังเพียงให้ความรู้เล็กๆ น้อยๆ เท่าที่พอจะค้นคว้ามาได้เท่านั้น

    ดังนั้น จึงขอนำภาพและข้อมูลย่อๆ ของต้นกรรณิการ์ทั้งสองประเภทมาบอกเล่ากัน

    กรรณิการ์ (Nyctanthes arbortristis) เป็นไม้พุ่มขนาดเล็ก สูงประมาณ 3-4 เมตร เปลือกลำต้นเป็นสีขาว ลำต้นจะมีรอยคาดรอบลำต้นเป็นช่วงๆ ใบเป็นใบเดี่ยว ออกเป็นคู่ๆ ใบแข็งหนาและสากคาย ใบรูปไข่ โคนใบโตปลายใบแหลม ดอกมีขนาดเล็กออกเป็นช่อๆ ช่อหนึ่งจะมีดอกราว 5-8 ดอก แต่ละดอกจะผลัดกันบาน มีสีขาว มี 6 กลีบ หมุนไปทางขวา ลักษณะคล้ายกังหัน โคนกลีบติดกันเป็นหลอดสีแสด มีกลิ่นหอมแรงในเวลากลางคืนและจะร่วงตอนเช้า ผลแบน รูปร่างค่อนข้างกลม ปลายผลมีติ่งแหลมเล็กน้อย แต่ละผลมีเมล็ด 2 เมล็ด

    สรรพคุณทางด้านพืชสมุนไพร เปลือกต้นใช้แก้ปวดศีรษะ ใบใช้เป็นยาขมเจริญอาหาร บำรุงน้ำดี ดอกใช้แก้ไข้และลมวิงเวียน รากใช้บำรุงธาตุ บำรุงกำลัง แก้ท้องผูก แก้ผมงอก ช่วยบำรุงผิวให้สดชื่น ส่วนก้านดอกสีแสด นำมาใช้เป็นสีทำขนมและย้อมผ้า นอกจากนี้ยังสามารถสกัดน้ำมันหอมระเหยจากดอกนำไปใช้ทำน้ำหอมได้อีกด้วย

    [​IMG]

    ส่วน กรรณิการ์อินเดีย (Pterospermum acerifolium) เป็นไม้ยืนต้นที่มีขนาดใหญ่ สูงถึง 30 เมตร เปลือกลำต้นสีเทา ใบมีลักษณะคล้ายใบบัว มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางใบ ราว 35 ซม. ดอกมีสีขาวแกมเหลือง กลิ่นหอมมากขณะอยู่ บนต้น ผลกลมรีเป็นสีแดงเรื่อๆ เนื้อไม้นำมาใช้ทำกระดาน ใบนำมาใช้แทนจาน และดอกนำไปสกัดเป็นน้ำหอม ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อให้ร่มเงา

    กาพย์ห่อโคลงนิราศธารโศก พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ หรือรู้จักกันทั่วไปในพระนาม “เจ้าฟ้ากุ้ง” มีความตอนหนึ่งที่กล่าวถึง ‘กรรณิการ์’ ว่า

    “กรรณิการ์ก้านสีแสด คิดผ้าแสดติดขลิบนาง
    เห็นเนื้อเรื่อโรงราง ห่มสองบ่าอ่าโนเนฯ
    ผ้าสีมีขลิบเนื้อ บางดี
    ก้านกรรณิการ์สี แสดเถ้า
    โนเนนาดน้องสี ลาเลิศ
    เมียมิ่งเรียมดูเจ้า ห่อนได้วางตา”

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 2 มีนาคม 2548 17:30 น.
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นประดู่ลาย (ต้นอสนะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ติสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 20 พระนามว่า พระติสสพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ครึ่งเดือนเต็ม จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้ประดู่ลาย

    ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอสนะ” ชาวอินเดียเรียกว่า “ลิสโซ” และชาวฮินดูเรียกว่า “สิสสู” ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อพระพุทธเจ้ากลับจากเทศนาโปรดพระเจ้าสุทโทธนะ พระราชบิดา แล้วก็เสด็จพาพระอานนท์ พระราหุล พร้อมทั้งพระภิกษุสาวกบริวาร สู่กรุงราชคฤห์ ประทับยังสีสปาวัน คือ ป่าประดู่แขกหรือประดู่ลาย

    ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก เป็นพันธุ์ไม้อยู่ในกลุ่มพวกไม้พยุง ไม้ชิงชันของไทย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. จัดอยู่ในวงศ์ Leguminosae (วงศ์พืชในตระกูลฝักถั่ว ซึ่งมีมากมายหลายร้อยชนิด) ต้นประดู่ในวงศ์นี้ที่รู้จักคุ้นเคยกันดีในบ้านเรา ได้แก่

    [​IMG]

    ประดู่บ้าน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งมักทอดย้อย เปลือกสีเทา มีน้ำยางน้อย ปลูกเป็นไม้ให้ร่มตามถนน

    ประดู่ป่า มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz ดอกสีเหลือง มีกลิ่นหอม กิ่งชูขึ้นเล็กน้อย เปลือกสีน้ำตาลเข้ม มีน้ำยางมาก ขึ้นตามป่าเบญจพรรณทั่วไป เนื้อไม้สีแดง

    “ประดู่แขก” มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia sissoo Roxb. เปลือกสีเทา ดอกสีเหลืองอ่อนๆ

    ประดู่ชิงชัน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia oliveri Gamble มีเนื้อไม้แข็ง แก่นสีแดงเข้มถึงม่วงแก่

    ประดู่แดง มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Phyllocarpus septentrionalis Donn.Smith เปลือกสีน้ำตาลดำ ดอกสีแดง

    ประดู่ลาย มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Dalbergia errans Craib ดอกสีม่วงอ่อน

    [​IMG]

    ประดู่ลายหรือประดู่แขก เป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูงราว 10-25 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกสีเทา แก่นสีน้ำตาล และมีริ้วสีดำแซม เรือนยอดเป็นพุ่มใหญ่โปร่ง ใบออกเป็นช่อหนึ่งๆ มีใบย่อย 3-5 ใบ ใบย่อยรูปมน-ป้อม หรือมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม ใบอ่อนมีขนนุ่ม แต่พอแก่ขนจะหลุดร่วงไป ดอกสีเหลืองอ่อนๆ ปนขาว ออกรวมกันเป็นช่อสั้นๆ ตามง่ามใบตามกิ่ง เมื่อออกดอกใบจะร่วงหมด เกสรผู้มี 9 อัน รังไข่รูปยาวรีๆ และจะยาวกว่าหลอดท่อรังไข่ ฝักรูปบันทัดแคบๆ ปลายฝักแหลม แต่ละฝักมีเมล็ด 1-3 เมล็ด

    ประดู่ลายหรือประดู่แขกนี้ เป็นพันธุ์ไม้ดั้งเดิมของอินเดียและกลุ่มประเทศแถบหิมาลัย นิยมปลูกกันแพร่หลายทั่วไป ในประเทศไทยเท่าที่ทราบได้มีการนำเข้ามาปลูกไว้ที่บริเวณที่ทำการป่าไม้เขตลำปาง จ.ลำปาง ที่สวนรุกขาติมวกเหล็ก จ.สระบุรี ทั้งสองแห่งทราบว่าสามารถให้เมล็ดพันธุ์สำหรับที่จะนำไปเพาะขยายได้แล้ว สำหรับที่สวนพฤกษศาสตร์พุทธมณฑล จ.นครปฐม ทราบว่าได้เตรียมกล้าไม้ประดู่ไว้ปลูกบริเวณองค์พระในพุทธมณฑลเช่นกัน

    เกี่ยวกับไม้ประดู่นี้ ในบ้านเราที่รู้จักกันแพร่หลายกัน คือ “ต้นประดู่ป่า” ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus macrocarpus Kurz กับ “ต้นประดู่บ้าน, ต้นประดู่อินเดีย หรือต้นประดู่อังสนา” ที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Pterocarpus indicus Willd. ซึ่งอยู่คนละสกุลกับ “ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก” อันเป็นโพธิญาณพฤกษาของพระติสสพุทธเจ้า

    บางท่านให้ความเห็นว่า พระพุทธเจ้าน่าจะเสด็จประทับในป่าประดู่บ้านหรือประดู่อินเดียมากกว่า เพราะมีร่มเงาดีและชื่อก็บอกว่า India อยู่แล้ว แต่ปรากฏว่า ประดู่บ้าน, ประดู่อินเดีย หรือประดู่อังสนานี้ กลับเป็นไม้พื้นเดิมของมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ชาวมาเลเซียเรียกว่า ไม้สะโน แต่อินเดียไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองเรียกไม้ชนิดนี้

    [​IMG]

    สำหรับประดู่ป่านั้น ก็เป็นไม้ถิ่นเดิมของพม่า และแถบภาคตะวันออกของพม่าไปตลอดคาบสมุทรอินโดจีน ชาวพม่าเรียกว่าประดู่ (Padauk) และก็ไม่ปรากฏว่ามีชื่อพื้นเมืองของอินเดียเรียกเช่นกัน ฉะนั้น เมื่อสังเกตจากชื่อพื้นเมืองประดู่ลายหรือประดู่แขกที่ชาวอินเดียเรียกแล้ว จึงน่าสัณนิษฐานว่าพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสาวกบริวารน่าจะเข้าพักในป่าประดู่ลายมากกว่า

    ประโยชน์ของประดู่มีมากมาย ได้แก่ ใช้ปลูกเป็นไม้ร่มเงา ไม้ริมทาง, เนื้อไม้ใช้ทำสิ่งก่อสร้าง และเครื่องเรือนต่างๆ ทำเครื่องดนตรี เช่น ระนาด, เปลือกให้น้ำฝาดสำหรับฟอกหนัง และแก่นให้สีแดงคล้ำสำหรับย้อมผ้า

    สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น ก็มีมากเช่นเดียวกันคือ รากใช้แก้ไข้ บำรุงโลหิต คุมธาตุ แก้เสมหะ แก่นใช้บำรุงโลหิต แก้พิษเบื่อเมา แก้คุดทะราด แก้ผื่นคัน แก้ปัสสาวะพิการ แก้กษัย, เปลือกใช้สมานบาดแผล แก้ท้องเสียใบ ใช้พอกแผล พอกฝีให้สุกเร็ว แก้ผดผื่นคัน, ยางแก้โรคท้องเสีย โรคปากเปื่อย ปากแห้งแตกระแหง

    ปัจจุบัน ต้นประดู่ป่า เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดชลบุรี และประดู่บ้าน เป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดภูเก็ต

    [​IMG]


    ......................................................

    1. ผู้จัดการออนไลน์ 27 กันยายน 2547 16:00 น.
    2. http://www.dnp.go.th/
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นมะขามป้อม (ต้นอามัณฑะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปุสสพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 21 พระนามว่า พระปุสสพุทธเจ้า ผู้ทรงกำจัดความมืดทั้งปวง ทรงสางความรกชัฏเป็นอันมาก ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะขามป้อม หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน

    ต้นมะขามป้อม มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า “Phyllanthus emblica Linn.” อยู่ในวงศ์ “Euphorbiaceae” ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นอามัณฑะ” หรือ “ต้นอามลกะ” มีถิ่นกำเนิดอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวฮินดูเรียกกันว่า “อะมะลา (AMLA)” แต่บ้านเรารู้จักกันทั่วไปในชื่อ “มะขามป้อม” แต่ก็ยังมีชื่ออื่นๆ ที่เรียกกันในแต่ละท้องที่ ได้แก่ กันโตด (เขมร-จันทบุรี), กำทวด (ราชบุรี), มั่งลู่ สันยาส่า (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน)

    ลักษณะทั่วไป เป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 8-20 เมตร เปลือกค่อนข้างเรียบเกลี้ยง สีน้ำตาลปนเทา เรือนยอดรูปร่ม ใบเป็นใบประกอบแบบขนนกรูปขอบขนานติดเป็นคู่ ขนาดเล็ก เรียงสลับออกดอกเป็นช่อหรือกระจุกเล็กๆ ตามซอกใบ ดอกมีขนาดเล็กสีเหลืองนวล ออกดอกช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ผลค่อนข้างกลมเกลี้ยง มีรอยแยกแบ่งออกเป็น 6 กลีบ เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 2 ซม. ผลอ่อนสีเขียวออกเหลือง ผลแก่สีน้ำตาล มีเมล็ดสีน้ำตาล ให้ผลในช่วงเดือนตุลาคม-พฤษภาคม เป็นพันธุ์ไม้ที่ทนแล้งได้ดี ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด

    [​IMG]

    สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้นพบว่า เกือบทุกส่วนสามารถนำมาทำยาได้ทั้งสิ้น เริ่มจาก เปลือกและใบใช้พอกแผลสด แผลฟกช้ำ อักเสบ แก้โรคผิวหนัง เป็นผื่นคันมีน้ำเหลือง บิดแบคทีเรีย ฝีคัณฑสูตร, ปมที่ก้านใช้แก้ปวดกระเพาะอาหาร ปวดเมื่อยในกระดูก เด็กเป็นตานขโมย ไอ ปวดฟัน ปวดท้องน้อย และไส้เลื่อน, รากใช้แก้ร้อนใน ท้องเสีย ความดันเลือดสูง โรคเรื้อน และใช้พอกแก้พิษตะขาบกัด, ผลใช้ละลายเสมหะ กระตุ้นน้ำลาย แก้กระหายน้ำ ไอ หวัด เจ็บคอ คอแห้ง คอตีบ และขับปัสสาวะ

    นอกจากนี้ ที่ประเทศอินเดียยังมีงานวิจัยว่ามะขามป้อมช่วยเพิ่มระบบภูมิคุ้มกันในผู้ป่วยโรคเอดส์ สารที่มีรสฝาดในมะขามป้อมจะช่วยยับยั้งเอนไซม์ของเชื้อเอดส์ หยุดยั้งการเจริญเติบโต นอกจากนี้ในการทดลองยังนำเอาน้ำสกัดจากมะขามป้อมมาทดลองกับผู้ป่วยวัณโรคและในผู้ที่เป็นโรคไข้หวัดใหญ่ เพื่อช่วยสร้างภูมิต้านทานทำให้อาการดีขึ้น

    ปัจจุบัน มะขามป้อมเป็นไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดสระแก้ว

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 เมษายน 2547 11:36 น.
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นแคฝอย (ต้นปาตลี)


    ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตำราชินกาลมาลีปกรณ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 3 พระนามว่า “พระสรณังกรพุทธเจ้า” และในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ วิปัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าองค์ที่ 22 พระนามว่า “พระวิปัสสีพุทธเจ้า” ซึ่งทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม ทั้งสองพระองค์ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้แคฝอย เช่นเดียวกัน

    ต้นแคฝอย มีชื่อเรียกในภาษาบาลีว่า “ต้นปาตลีหรือต้นปาฏลิ” (Patali หรือ Patli) เป็นพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งจัดอยู่ในวงศ์ BIGNONIACEAE มีชื่อพื้นเมืองที่เรียกกันต่างไปในแต่ละท้องถิ่นของไทย คือ แคฝอย (กรุงเทพฯ), ศรีตรัง (ตรัง) เป็นต้น มีถิ่นกำเนิดอยู่ในประเทศบราซิล นิยมปลูกกันทั่วไปในเขตร้อนแถบเอเชีย เช่น อินเดีย มาเลเซีย พม่า เวียดนาม ฯลฯ

    ต้นแคฝอย มีอยู่ 2 ชนิด คือ 1. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda minosifolia D.Don

    2. ชนิดที่มีช่อดอกเกิดที่ซอกใบตามกิ่งและปลายยอด มีชื่อทางพฤกษศาสตร์ว่า Jacaranda filicifolia D.Don ซึ่งเป็นชนิดที่นิยมปลูกกันโดยทั่วไปในประเทศไทย โดยพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี้ ณ ระนอง) เจ้าเมืองตรัง ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้นำมาปลูกครั้งแรกที่เมืองตรัง ในปี พ.ศ.2444 ดังนั้น แคฝอยจึงเป็นที่รู้จักกันในนามว่า “ศรีตรัง”

    [​IMG]

    เป็นไม้ยืนต้นผลัดใบสูงประมาณ 4-10 เมตร ลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 20-30 ซม. เปลือกสีน้ำตาลอ่อนปนเทา เรือนยอดโปร่ง ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ใบย่อยขนาดเล็ก ปลายใบแหลม โคนใบมน ออกดอกเป็นช่อใหญ่ตามกิ่ง ดอกมีสีม่วงปนน้ำเงิน กลิ่นหอมอ่อนๆ กลีบดอกติดกันเป็นรูประฆังยาว 3-4 ซม. ปลายแยกกันเป็น 5 กลีบ

    ผลเป็นฝักแบนๆ ฝักแก่สีน้ำตาลอมเทา จะแตกทั้งสองซีก เมล็ดมีขนาดเล็กสีน้ำตาลเข้ม มีปีกใสๆ 2 ปีก ปลิวตามลมได้ จะผลัดใบในช่วงฤดูหนาวระหว่างเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ และจะออกดอกราวเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ดอกจะบานพร้อมๆ กัน และคงอยู่ประมาณ 3-5 วัน หลังจากนั้นจะร่วงโรยไป

    ต้นแคฝอย เป็นไม้กลางแจ้ง เจริญเติบโตได้ดีในสภาพดินแทบทุกชนิด ต้องการน้ำและความชื้นปานกลาง ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด นิยมปลูกเป็นไม้ประดับตามอาคารและถนนหนทางต่างๆ เพราะยามออกดอกจะผลัดใบเกือบหมด ดอกบานพร้อมกันเป็นสีม่วงทั้งต้นแลดูสวยสดงดงาม

    แคฝอยหรือศรีตรังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร คือ ใบแห้ง ใช้ในการรักษาบาดแผล เปลือกไม้ ใช้ทา ล้างแผลเปื่อยแผลพุพอง และเปลือกไม้และใบไม้ ใช้ผสมกันรักษาโรคซิฟิลิสและโกโนเรีย ส่วน เนื้อไม้ มีรสเฝื่อน ฝาด แก้ท้องบวม ขับพยาธิ ตกเลือด

    ด้วยเหตุที่เนื้อไม้มีลักษณะบางเบา มีลายสวยงาม และมีกลิ่นหอม จึงมักนำมาใช้ทำเป็นโครงของเฟอร์นิเจอร์เครื่องใช้ต่างๆ เช่น พื้นปาร์เก้ กีตาร์ เป็นต้น

    ปัจจุบัน ศรีตรังเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจำจังหวัดตรัง

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 28 มกราคม 2547 11:32 น.
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นกุ่ม (ต้นกักกุธะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ อโนมทัสสีพุทธวงศ์, สิขีพุทธวงศ์ และปิยทัสสีพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 10 พระนามว่า พระอโนมทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 10 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 23 พระนามว่า พระสิขีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 16 พระนามว่า พระปิยทัสสีพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้กุ่ม เช่นเดียวกัน

    ต้นกุ่ม (ต้นกุ่มบก) ในภาษาบาลีเรียกว่า “ต้นกักกุธะ” หรือ “ต้นกกุธะ” เป็นพันธ์ไม้ในสกุล Crateva วงศ์ Capparidaceae ชาวฮินดูเรียกกันว่า “มารินา” ตามพระพุทธประวัติกล่าวว่า พระพุทธเจ้านำผ้าบังสกุลห่อศพมามณพาสี ในอามกสุสาน (ป่าช้าผีดิบ) ไปทรงซัก เมื่อซักเสร็จแล้วก็มาที่ที่ผ้าบังสกุลดังกล่าว พฤกษเทวาซึ่งสิงสถิตอยู่ ณ ต้นกุ่มบก ได้น้อมกิ่งต้นกุ่มให้ต่ำลงเพื่อให้เป็นที่ตากจีวร

    [​IMG]

    ต้นกุ่ม มี 2 ชนิดคือ ต้นกุ่มบก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva adansonii DC.subsp.trifoliata (Roxb.) Jacobs” และ ต้นกุ่มน้ำ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Crateva magna (Lour.) DC. และ Crateva Religiosa Forst.f.”

    ต้นกุ่มบก เป็นไม้ผลัดใบยืนต้นขนาดกลางสูง 10-25 เมตร ลักษณะคล้ายต้นก้ามปูแผ่พุ่มกว้าง เปลือกต้นสีเทา มีรูระบายอากาศสีขาวอยู่ทั่วไป เนื้อไม้สีขาวปนเหลือง มีเนื้อละเอียด ใบเป็นใบประกอบ มีใบย่อย 3 ใบ ใบรูปรีหรือรูปไข่ ปลายใบมน ขอบขนานเรียบ ปลายแหลมเป็นติ่ง ก้านใบยาว ช่อดอก ออกตรงซอกใบใกล้ปลายกิ่ง

    ดอกออกเป็นช่อสีขาวแกมเขียว แล้วจึงเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนภาย ในดอกมีเกสรตัวผู้ ก้านเกสรสีม่วง สวยงาม มีเกสรตัวเมียรังไข่เหนือวงกลีบ 1 อัน กลีบในแบนป้าน 4 กลีบ ตอนเริ่มบานจะเป็นสีเขียวอ่อนเมื่อบานเต็มที่จะเป็นสีขาวนวล และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง มีกลิ่นหอมอ่อนๆ ออกดอกราวเดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

    [​IMG]

    ผลกลมหรือรูปไข่ ผิวนอกแข็งและสาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว 2-3 ซม. เปลือกมีจุดสีน้ำตาลอมแดง ผลจะแก่ในเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม และจะกลายเป็นสีน้ำตาลเข้ม ก้านผลยาว เมล็ดรูปคล้ายเกือกม้า

    คนไทยสมัยก่อนนิยมปลูกต้นกุ่มไว้เป็นอาหารและเป็นยารักษาโรค โดยนำใบอ่อนและดอกอ่อน ซึ่งออกในช่วงฤดูฝน มาดองก่อนแล้วจึงนำไปรับประทาน สำหรับสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือก ใช้ เป็นยาขับลม แก้ปวดท้อง แก้ลงท้อง คุมธาตุ ขับผายลม ขับน้ำดี ขับนิ่ว แก้บวม แก้อาการสะอึก แก้อาเจียน บำรุงไฟธาตุ กระตุ้นลำไส้ให้ย่อยอาหาร บำรุงหัวใจ แก้โรคผิวหนัง ใช้เป็นยาระงับประสาท และยาบำรุง แก่น ใช้แก้โรคริดสีดวงทวาร โรคนิ่ว บำรุงเลือด ราก ใช้ขับหนอง ใบ ใช้ขับลม ฆ่าพยาธิ แก้โรคผิวหนัง และกลากเกลื้อน แก้ไข้ตัวร้อน ขับเหงื่อ เจริญอาหาร ดอก เป็นยาเจริญอาหาร แก้เจ็บคอ แก้ไข้

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 มิถุนายน 2548 11:13 น.
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    โพธิญาณพฤกษา
    พันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้า 28 พระองค์ ประทับตรัสรู้


    ต้นอ้อยช้างใหญ่ (ต้นมหาโสณกะ)


    ในพระไตรปิฎกเล่มที่ 33 พระสุตตันตปิฎก เล่ม 25 ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ ปทุมพุทธวงศ์, นารทพุทธวงศ์ และเวสสภูพุทธวงศ์ กล่าวไว้ว่า

    พระพุทธเจ้า 3 พระองค์ คือ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 11 พระนามว่า พระปทุมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 8 เดือนเต็ม, พระพุทธเจ้าองค์ที่ 12 พระนามว่า พระนารทพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 7 วัน และ พระพุทธเจ้าองค์ที่ 24 พระนามว่า พระเวสสภูพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ 6 เดือนเต็ม ทั้งสามพระองค์จึงได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้อ้อยช้างใหญ่ เช่นเดียวกัน

    จากการค้นคว้าทางพฤกษศาสตร์ไม่พบ ‘ต้นอ้อยช้างใหญ่’ มีแต่เพียง ‘ต้นอ้อยช้าง’ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นต้นอ้อยช้างที่มีขนาดใหญ่ ตามที่มีการระบุในภาษาบาลีไว้ว่า ‘ต้นมหาโสณกะ’ ซึ่ง ‘มหา’ แปลว่า ใหญ่ ดังนั้น จึงขอนำเรื่องราวของต้นอ้อยช้างมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

    [​IMG]

    ต้นอ้อยช้าง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า “Lannea coromandelica (Houtt.) Merr.” อยู่ในวงศ์ Anacardiaceae มีชื่อพื้นเมืองเรียกกันมากมาย เช่น คำมอก, กอกกั๋น, กุ๊ก, ช้างโน้ม, ตะคร้ำ, หวีด เป็นต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงราว 8-15 เมตร ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีน้ำตาลปนเทา กิ่งอ่อนมีขนปกคลุม ลำต้นมีร่องเล็กๆ ตามยาว ใบเป็นใบประกอบแบบขนนก ปลายใบแหลมโคนใบมน ขอบใบเรียบ ออกเป็นช่อตรงปลายกิ่ง และใบจะร่วงหมดในช่วงที่ออกดอกจน ถึงออกผลในราวเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม

    ดอกขณะตูมมีสีม่วงแดง เมื่อบานสีด้านในของกลีบเป็นสีเหลืองแต้มสีม่วงแดงเรื่อๆ ขนาดเล็กออกเป็นช่อ กลีบรองดอกและกลีบดอกมีประมาณ 4-5 กลีบ ออกราวเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ผลรูปรี มีขนาดเล็กสีเขียวอมแดง ภายในมีเมล็ดกลมหรือรี 1 เมล็ด ขยายพันธุ์โดยการเพาะเมล็ด หรือการตอนกิ่ง

    [​IMG]

    อ้อยช้างมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น ส่วนของรากซึ่งเป็นกระเปาะใหญ่เก็บสะสมน้ำไว้จำนวนมาก น้ำในรากสามารถนำมาดื่มแก้กระหายได้ เนื้อไม้ใช้เป็นแบบเทคอนกรีต งานแกะสลัก เปลือกใช้ทำที่รองหลังช้าง ใช้ฟอกหนังสัตว์ ส่วนยอดอ่อนมีรสเปรี้ยว ฝาด จึงนิยมรับประทานเป็นผัก

    ส่วนสรรพคุณด้านพืชสมุนไพรนั้น เปลือกเป็นยาสมานแผล แก้อาการปวดฟัน แก้ธาตุพิการและอ่อนเพลีย แก้ฝี โรคเรื้อน โรคผิวหนัง และแก้เจ็บตา แก่นมีรสหวาน แก้เสมหะ บรรเทาอาการกระหายน้ำ ชุ่มคอ ใบใช้แก้ผิว หนังพุพอง เน่าเปื่อย รากใช้เข้าตำรับยา เพื่อชูรสยาในตำรับนั้นๆ

    [​IMG]


    ......................................................

    โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 มีนาคม 2548 16:35 น.
     

แชร์หน้านี้

Loading...