มาร 5 และวิธีปราบมาร

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย plaspirit, 3 กุมภาพันธ์ 2017.

  1. plaspirit

    plaspirit เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 กันยายน 2008
    โพสต์:
    367
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +1,118
    %E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A3.JPG

    มาร 5 และวิธีปราบมาร
    มาร คือ เครื่องขวางกั้นแห่งความดี ในทางพระพุทธศาสนา จำแนกมารได้ 5 ประเภท


    (มารประเภทเดียวที่อยู่นอกตัวเรา คือ เทวดาที่เป็นมาร ที่เหลืออีกสี่ประเภทอยู่ในตัวเรานี่เอง)


    1. กิเลสมาร : มารคือ กิเลส


    2. ขันธมาร : มารคือ ขันธ์ 5


    3. อภิสังขารมาร : มารคือ อภิสังขาร


    4. มัจจุมาร : มารคือ ความตาย


    5. เทวปุตมาร : มารคือ เทวบุตร


    ในบรรดามารทั้ง 5 นั้น มารที่รบกวนเราบ่อยที่สุดคือ กิเลสมาร และ ขันธมาร จะขอกล่าวรายละเอียดของมารแต่ละประเภทดังนี้


    1. กิเลสมาร


    มาร คือ กิเลส


    กิเลสมาร นี้เป็นรากเหง้าแห่งมารทั้งปวง กิเลสเป็นมาร ก็เพราะเป็นตัวกำจัดและขัดขวางความดี ทำให้สัตว์ประสบความพินาศทั้งในปัจจุบันและอนาคต (พจนานุกรมพุทธศาสตร์ : พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))


    ดังนั้นเราจึงควรทำความเข้าใจและรู้จักกิเลสแต่ละประเภทให้ดี เพื่อจะได้รู้เท่าทันพวกมัน โดยทั่วไป ถ้าเป็นกิเลสตัวใหญ่ ๆ อย่าง ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เราก็คงจะรู้ๆ กันอยู่ แต่หากเราเริ่มปฏิบัติธรรมไป จิตละเอียดขึ้น ก็จะเจอกิเลสที่ละเอียดขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลายครั้ง นักปฏิบัติไม่รู้จักมันก็จะเสียท่าได้


    เรื่องนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างประสบการณ์ของตัวผู้เขียนเอง…


    ในช่วงแรกๆ ที่ผู้เขียนสำนึกได้ถึงความเลวของตัวเองที่ผ่านมา และเริ่มหันมาปฏิบัติธรรมมากขึ้น โดยการตั้งใจให้ ทาน รักษาศีล เจริญพรหมวิหาร 4 และกรรมบถ 10 ช่วงนั้นผู้เขียนรู้สึกว่าชีวิตเปลี่ยนไปอย่างมาก จากที่ส่วนใหญ่จะทุกข์ประมาณ 80-90% ในแต่ละวัน เปลี่ยนเป็นชีวิตมีความสุขมากกว่าทุกข์ ผู้เขียนรู้จักการให้อภัย มันทำให้รู้สึกดีมากๆ มีความสุขทุกครั้งที่ให้อภัยทานอย่างไม่มีขอบเขต ต่อมาผู้เขียนได้เริ่มการภาวนาบ้าง ปรากฏว่า ได้เกิดเหตุวิปลาสกับผู้เขียน คือ ก่อนหน้านั้นอารมณ์จิตของผู้เขียนคือ ชีวิตนี้รักพระพุทธเจ้าสุดหัวจิตหัวใจ ยอมตายแทนพระองค์ได้ แต่อยู่ๆ วันหนึ่ง จิตของผู้เขียนกับคิดปรามาสพระพุทธเจ้าทุกครั้งที่นึกถึงพระองค์ ด้วยถ้อยคำที่ไม่สุภาพ โดยที่ตัวผู้เขียนเองไม่สามารถห้ามความคิดชั่วนี้ได้เลย ตอนนั้นผู้เขียนรู้สึกตกใจและทุกข์ใจมาก ผู้เขียนไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับตัวเอง ความรู้สึกบอกว่า ทำไมยิ่งปฏิบัติกลับยิ่งแย่ลง ผู้เขียนเรียกว่าไอ้ตัวคิดชั่วนี้ว่า จิตมาร มันเป็นเหมือนอีกคนหนึ่งที่อยู่ในตัวเรา แต่ก็ไม่ใช่เรา แต่เราจะปฏิเสธความรับผิดชอบก็ไม่ได้ เพราะการปรามาสพระรัตนตรัย มันเกิดขึ้นจริง…


    หลังจากนั้นผู้เขียนก็พยายามหาคำตอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร จนได้มาอ่านหนังสือของหลวงพ่อฤาษีลิงดำ พระอรหันต์แห่งวัดท่าซุง เหมือนพระมาโปรด หลวงพ่ออธิบายไว้หมดเลยว่า ไอ้อาการอย่างนี้คือ กิเลสมาร ชนิดหนึ่ง นักปฏิบัติเป็นกันเกือบทุกคน หลวงพ่อบอกว่า กิเลสมาร พวกนี้มันเห็นว่าเราจะพ้นอำนาจมัน ก็เลยหาทางลากเราลงนรก ท่านบอกว่าให้ขอขมาพระรัตนตรัยไปเรื่อยๆ จะหายเอง ผู้เขียนก็ทำตามที่ท่านบอก ใช้เวลา 3 – 4 เดือนจึงเบาบางลง ตอนนั้นก็หวั่นๆ ใจว่า ถ้าหากผู้เขียนพลาดพลั้งตายไปก็คงนู่นแหล่ะ อเวจีมหานรก (กรรมก่อนตายคือ การปรามาสพระรัตนตรัย)


    มาคิดใคร่ครวญดูดีๆ ก็ทำให้เห็นได้ง่ายขึ้น ว่า ขันธ์ 5 นี้ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เพราะการปรามาสที่เกิดขึ้นนี้ ที่เราคิดว่าเกิดจากจิตเรานี้ แต่จริงๆ แล้ว เราควบคุมมันไม่ได้เลย ถ้าความคิดมันเป็นเราจริง ทำไมเราบังคับมันไม่ได้ เหมือนกับว่า ยิ่งกิเลสมารมันพยายามลากเราลงนรก แต่ถ้าเรารู้ทันมัน กลับกลายเป็นประโยชน์กับตัวเราในการดูจิต


    ผู้เขียนเคยไปอ่านในเวบพลังจิต ปรากฏว่าเป็นกันเยอะมาก อาการแบบนี้ สำหรับใครที่มีอาการ ปรามาสพระรัตนตรัยจากกิเลสมาร ให้กล่าวคำ ขอขมาพระรัตนตรัย ทุกครั้งที่คิดปรามาส ดังนี้ครับ….


    “สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง

    สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต”


    หรือจะกล่าวเป็นภาษาไทยก็ได้..
    “หากข้าพระพุทธเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยกายก็ดี วาจาก็ดี ด้วยใจก็ดี ด้วยเจตนาก็ดี ไม่เจตนาก็ดี ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยะสงฆ์ทั้งหลาย และผู้มีพระคุณทุกท่าน ได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า
    ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่พระนิพพานด้วยเทอญ”


    นอกจากนี้จากที่ผู้เขียนเคยอ่านเจอ ประสบการณ์ของบางคนจะเจอกิเลสมาร ที่มาในรูปแบบอื่นๆ เช่น บางคนหลังจากปฏิบัติไปได้สักระยะ จะมีความคิดชั่วผุดขึ้นมา โดยที่ห้ามตัวเองไม่ได้ ทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

    บางคนจากปกติที่เป็นคนไม่โกรธ แต่ไม่รู้เป็นอะไร เวลาเจริญกรรมฐาน กลับมีอารมณ์โกรธแค้นแบบไม่เคยมีมาก่อน อันนี้หลวงพ่อสอนว่ามันเป็น อนุสัย หมายถึง กิเลสละเอียดที่นอนนิ่งอยู่ในใจ เวลาปกติจะไม่แสดงตัว แต่พอจิตเราละเอียดขึ้น มันก็จะแสดงตัวออกมาเล่นงานเรา วิธีแก้ไขคือ ให้กำหนดรู้ สภาวะจิตต่างๆ เหล่านี้ว่า คือ กิเลสมาร มีเกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วดับไป ให้เราปล่อยวางความคิดเหล่านี้ ไม่ต้องไปเศร้าหมองกับมัน หากเรากำหนดรู้และปล่อยวางบ่อยๆ หลวงพ่อบอกว่า เดี๋ยวจะหายไปเอง….



    สรุป : วิธีต่อสู้กับกิเลสมาร


    เบื้องต้นคือ การรู้เท่าทันมัน เมื่อรู้แล้วก็ใช้กฎ ไตรลักษณ์ ดูว่า มันไม่เที่ยง มีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป(อนิจจัง) นำมาซึ่งความทุกข์(ทุกขัง) และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของเรา(อนัตตา) สุดท้ายก็ให้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ เหล่านั้น นั่นก็คือ การดูจิต หรือ เจริญหนึ่งในสติปัฏฐานสี่ นั่นคือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน นั่นเอง…


    ดังนั้นเราจึงควรจะศึกษาให้รู้ว่า กิเลส นั้นมีกี่ประเภท อะไรบ้างเพื่อประกอบการดูจิต…

    สำหรับวิธีการกำจัดกิเลสมารทั้งหลายให้สิ้นซาก ก็คือ การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน แต่การที่จะเจริญวิปัสสนาจนถึงขั้นตัดกิเลสได้ ต้องมีพื้นฐานที่ดีคือ การทำบารมี 10 ให้เต็ม และต้องปฏิบัติตามหลัก ไตรสิกขา 3 นั่นคือ ศีล สมาธิ ปัญญา…

    ****************************************


    ส่วนเสริม (เพื่อประกอบการดูจิต)


    ประเภทของกิเลส

    กิเลส สามารถแบ่งประเภทได้หลายแบบ แต่รากเหง้าของกิเลสทั้งหลาย เกิดจาก กิเลส 3 ประเภท หรือที่เรียกว่า อกุศลมูล 3 ดังนี้


    1. โลภะ ความอยากได้
    2. โทสะ ความคิดประทุษร้าย
    3. โมหะ ความหลง


    นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทกิเลสให้ละเอียดมากยิ่งขึ้น ออกเป็นแบบต่างๆ ดังนี้


    อุปกิเลส 16
    โทษเครื่องเศร้าหมอง, สิ่งที่ทำจิตใจให้เศร้าหมองขุ่นมัว รับคุณธรรมได้ยาก มี ๑๖ อย่าง คือ

    ๑. อภิชฌาวิสมโลภะ ละโมบ จ้องจะเอาไม่เลือกควรไม่ควร

    ๒. โทสะ คิดประทุษร้าย

    ๓. โกธะ โกรธ

    ๔. อุปนาหะ ผูกโกรธไว้

    ๕. มักขะ ลบหลู่คุณท่าน

    ๖. ปลาสะ ตีเสมอ

    ๗. อิสสา ริษยา

    ๘. มัจฉริยะ ตระหนี่

    ๙. มายา เจ้าเล่ห์

    ๑๐. สาเถยยะ โอ้อวด

    ๑๑. ถัมภะ หัวดื้อ

    ๑๒. สารัมภะ แข่งดี

    ๑๓. มานะ ถือตัว

    ๑๔. อติมานะ ดูหมิ่นท่าน

    ๑๕. มทะ มัวเมา

    ๑๖. ปมาทะ เลินเล่อหรือละเลย


    นิวรณ์ 5


    ธรรมที่กั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี, สิ่งที่ขัดขวางจิตไม่ให้ก้าวหน้าในคุณธรรม มี ๕ อย่าง คือ

    ๑. กามฉันท์ พอใจในกามคุณ

    ๒. พยาบาท คิดร้ายผู้อื่น

    ๓. ถีนมิทธะ ความหดหู่ซึมเซา ความท้อแท้ ง่วงเหงา รวมถึงความขี้เกียจ

    ๔. อุทธัจจกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่านและรำคาญ

    ๕. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย


    วิปัสสนูปกิเลส 10 (เป็นกิเลสที่เกิดขึ้นกับผู้เจริญภาวนา)


    อุปกิเลสแห่งวิปัสสนา, สภาพ น่าชื่นชม แต่ที่แท้เป็นโทษเครื่องเศร้าหมองแห่งวิปัสสนา ซึ่งเกิดแก่ผู้ได้วิปัสสนา อ่อนๆ ทำให้เข้าใจผิดว่า ตนบรรลุมรรคผลแล้ว จึงไม่ดำเนินก้าวหน้าต่อไปในวิปัสสนาญาณ มี ๑๐ คือ

    ๑. โอภาส แสงสว่าง

    ๒. ปีติ ความอิ่มใจ

    ๓. ญาณ ความรู้

    ๔. ปัสสัทธิ ความสงบกายและจิต

    ๕. สุข ความสบายกาย สบายจิต

    ๖. อธิโมกข์ ความน้อมใจเชื่อ

    ๗. ปัคคาหะ ความเพียรที่พอดี

    ๘. อุปัฏฐาน สติชัด

    ๙. อุเบกขา ความวางจิตเป็นกลาง

    ๑๐. นิกันติ ความพอใจ


    เนื่องจากที่กล่าวมามีแต่เพียงหัวข้อ >>>>อ่านเพิ่มเติมเรื่อง วิปัสสนูปกิเลส


    อนุสัย 7


    กิเลสที่แฝงตัวนอนเนื่องอยู่ในสันดาน มี ๗ คือ

    ๑. กามราคะ ความกำหนัดในกาม


    ๒. ปฏิฆะ ความหงุดหงิด

    ๓. ทิฏฐิ ความเห็นผิด

    ๔. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย

    ๕. มานะ ความถือตัว

    ๖. ภวราคะ ความกำหนดในภพ

    ๗. อวิชชา ความไม่รู้จริง


    สังโยชน์ 10


    กิเลสที่ผูกมัดใจสัตว์, ธรรมที่มัดสัตว์ไว้กับทุกข์ มี ๑๐ อย่าง คือ

    โอรัทภาคิสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องต่ำเป็นอย่างหยาบ เป็นในภพอันต่ำ


    ๑. สักกายทิฏฐิ มีความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นเรา เป็นของเรา เป็นว่ามีตัวตน ยึดกายของตน ความเห็นเข้าข้างตน


    ๒. วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย ความเคลือบแคลงในกุศลธรรมทั้งหลาย สงสัยเพราะไม่รู้


    ๓. สีลัพพตปรามาส ความยึดถือศีลถือพรตอย่างงมงาย คิดว่าขลังว่าศักดิ์สิทธิ์ คิดว่าจะบริสุทธิ์หลุดพ้นได้โดยไม่ต้องอาศัยสมาธิและปัญญา เชื่อถือโชคลาง เพื่อเชื่อพิธีกรรม เป็นการลูบคลำศีล


    ๔. กามราคะ ความกำหนัดยินดีใน กามคุณ ๕

    ๑.รูป

    ๒.เสียง

    ๓.กลิ่น

    ๔.รส

    ๕.โผฏฐัพพะ


    ๕. ปฏิฆะ ความกระทบกระทั่งทางใจ ทำให้ไม่พอใจ ความขัดใจ หงุดหงิดด้วยอำนาจ โทสะ


    อุทธัมภาคิยสังโยชน์ สังโยชน์เบื้องสูงเป็นอย่างละเอียด เป็นไปแม้ในภพอันสูง


    ๖. รูปราคะ ติดใจใน รูปธรรม (สิ่งที่มีรูป) ติดใจในอารมณ์แห่ง รูปฌาน ๔ (ฌานมีรูปธรรมเป็นอารมณ์)


    ๗. อรูปราคะ ติดใจใน อรูปธรรม ติดใจในอารมณ์แห่ง อรูปฌาน ๔ (ฌานที่มีอรูปธรรมเป็นอารมณ์)


    ๘. มานะ ความถือตนโดยความรู้สึกว่าเป็นนั่นเป็นนี่ เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา


    ๙. อุทธัจจะ อารมณ์ฟุ้งซ่าน จิตส่าย ใจวอกแวก


    ๑๐. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง (ไม่รู้ใน อริยสัจจ์ ๔) อวิชชา ๔


    ๑. ไม่รู้ใน ทุกข์

    ๒. ไม่รู้ใน ทุกขสมุทัย

    ๓. ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธ

    ๔. ไม่รู้ใน ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ไม่รู้ใน อดีต ไม่รู้เหตุการณ์ ไม่รู้ใน อนาคต ไม่รู้ทั้ง อดีต ทั้ง อนาคต ไม่รู้ ปฏิจจสมุปบาท


    พระโสดาบัน ละสังโยชน์ ๓ ข้อต้นได้

    พระสกิทาคามี ทำสังโยชน์ข้อ ๔ และ ๕ ให้เบาบางลงด้วย

    พระอนาคามี ละสังโยชน์ ๕ ข้อต้นได้หมด

    พระอรหันต์ ละสังโยชน์ทั้ง ๑๐ ข้อ


    พุทธวิธีเอาชนะกิเลสมาร…จากพระสูตร


    “…อีกอย่างหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า วิปัสสี ฯลฯ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพระนามว่า กัสสปะ เป็นฉันใด พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราแม้นี้ก็เป็นฉันนั้นเหมือนกัน
    คือพระองค์ทรงละกามฉันท์ด้วยเนกขัมมะเสด็จไปแล้ว, ทรงละพยาบาทด้วยความไม่พยาบาท ทรงละถีนมิทธะด้วยอาโลกสัญญา ทรงละอุทธัจจกุกกุจจะด้วยความไม่ฟุ้งซ่าน ทรงละวิจิกิจฉาด้วยการกำหนดธรรมเสด็จไปแล้ว,
    ทรงทำลายอวิชชาด้วยญาณเสด็จไปแล้ว, ทรงบรรเทาความไม่ยินดีด้วยความปราโมทย์ ทรงเพิกถอนเครื่องกั้นคือนิวรณ์ด้วยปฐมฌาน ยังความมืดคือวิตก วิจารให้สงบระงับด้วยทุติยฌาน ทรงสำรอกปีติด้วยตติยฌาน ทรงละสุข และทุกข์ด้วยจตุตถฌาน ทรงล่วงพ้นรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา และนานัตตสัญญาด้วยอากาสานัญจายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นอากาสานัญจายตนสัญญาด้วยวิญญาณัญจายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นวญญาณัญจายตนสัญญาด้วยอากิญจัญญายตนสมาบัติ ทรงล่วงพ้นอากิญจัญญายตนสัญญาด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติเสด็จไปแล้ว,
    ทรงละนิจจสัญญาด้วย อนิจจานุปัสสนาญาณ ทรงละสุขสัญญาด้วยทุกขานุปัสสนาญาณ ทรงละอัตตสัญญาด้วยอนัตตานุปัสสนาญาณ ทรงละความเพลิดเพลินด้วยนิพพิทานุปัสสนาญาณ ทรงละราคะด้วยวิราคานุปัสสนาญาณ ทรงละสมุทัยด้วยนิโรธานุปัสสนาญาณ ทรงละการถือมั่นด้วยปฏินิสัคคานุปัสสนาญาณ ทรงละฆนสัญญาด้วยขยานุปัสสนาญาณ ทรงละการประมวลมาด้วยวยานุปัสสนาญาณ ทรงละธุวสัญญาด้วยวิปริณามานุปัสสนาญาณ ทรงละนิมิตตสัญญาด้วยอนิมิตตานุปัสสนาญาณ ทรงละความปรารถนาด้วย อัปปณิหิตานุปัสสนาญาณ ทรงละอภินิเวสด้วยสุญญานุปัสสนาญาณ ทรงละการยึดถือโดยเป็นสาระด้วยอธิปัญญาธัมมวิปัสสนาญาณ
    ทรงละการยึดมั่นเพราะความหลงด้วยยถาภูตญาณทัสสนญาณ ทรงละความยึดถือด้วยความอาลัย ้วยอาทีนวานุปัสสนาญาณ ทรงละการไม่พิจารณาด้วยปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ทรงละการยึดมั่นด้วยอำนาจสังโยชน์ด้วยวิวัฏฏานุปัสสนาญาณ ทรงหักรานกิเลสในปัจจุบันด้วยโสดาปัตติมรรค ทรงละกิเลสอย่างหยาบด้วยสกทาคามิมรรค ทรงเพิกถอนกิเลสซึ่งยังเหลืออยู่เล็กน้อยด้วยอนาคามิมรรค ทรงตัดขาดกิเลสทุกอย่างด้วยอรหัตตมรรค เสด็จไปแล้ว.
    พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปแล้วอย่างนั้น ด้วยอาการ ดังพรรณนามาอย่างนี้ ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า ตถาคต.”


    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนที่2)
    2. ขันธมาร
    มาร คือ กายใจเรานี่เอง


    ขันธมาร : มารคือ ขันธ์ทั้ง 5 ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสถึง ขันธมาร ไว้ใน มารสูตร ใจความว่า


    “ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ มารเป็นไฉนหนอ?
    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญาเป็นมาร สังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร ดูกรราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น
    ครั้นหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”


    “ขันธมาร หมายความว่า เวลาจะทำความดี ปฏิบัติกรรมฐาน ทำสมาธิจิต หรือ ทำบุญทำทาน ไอ้ความป่วยไข้ไม่สบาย(หรือความเจ็บปวด)มันเข้ามาขวาง” (หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง)


    วิธีต่อสู้กับขันธมาร : คือ การเจริญสติปัฏฐาน 4 (การมีสติตามดู กาย เวทนา จิต ธรรม) โดยเฉพาะหมวดกาย และ เวทนา ดังจะขอยกตัวอย่างพุทธพจน์จาก สติปัฏฐานสูตร ในหมวด กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน มาบางส่วนดังนี้


    ปฏิกูลบรรพ
    [๑๓๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ เบื้อง
    บนแต่พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบเต็มด้วยของไม่สะอาดมี
    ประการต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก
    ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า ดี เสลด
    หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร ไถ้มีปากสองข้าง
    เต็มด้วยธัญญชาติต่างอย่าง คือ ข้าวสาลี ข้าวเปลือก ถั่วเขียว ถั่วเหลือง งา ข้าวสาร บุรุษ
    ผู้มีนัยน์ตาดี แก้ไถ้นั้นแล้ว พึงเห็นได้ว่า นี้ข้าวสาลี นี้ข้าวเปลือก นี้ถั่วเขียว นี้ถั่วเหลือง
    นี้งา นี้ข้าวสาร ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ เบื้องบนแต่
    พื้นเท้าขึ้นไป เบื้องต่ำแต่ปลายผมลงมา มีหนังเป็นที่สุดรอบ เต็มด้วยของไม่สะอาดมีประการ
    ต่างๆ ว่า มีอยู่ในกายนี้ ผม ขน ฯลฯ ไขข้อ มูตร ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายใน
    กายอยู่.
    จบ ปฏิกูลบรรพ.


    ธาตุบรรพ
    [๑๓๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้ง
    อยู่ตามที่ตั้งอยู่ตามปกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม
    คนฆ่าโค หรือลูกมือของคนฆ่าโคผู้ฉลาด ฆ่าแม่โคแล้ว แบ่งออกเป็นส่วนๆ นั่งอยู่ ที่หนทาง
    ใหญ่ ๔ แพร่ง ฉันใด ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน ย่อมพิจารณาเห็นกายนี้แหละ ซึ่งตั้งอยู่ตามที่ตั้ง
    อยู่ตามปกติ โดยความเป็นธาตุว่า มีอยู่ในกายนี้ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ดังพรรณนา
    มาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุ
    ชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.

    จบ ธาตุบรรพ.

    นวสีวถิกาบรรพ
    [๑๓๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุพึงเห็นสรีระที่เขาทิ้ง
    ไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด น้ำ
    เหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็น
    ธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็น
    กายในกายภายในบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกิน
    อยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอก
    กัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้
    เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่า
    พิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูก
    ยังมีเนื้อและเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก เปื้อนเลือด แต่ปราศจากเนื้อ
    ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ปราศจากเนื้อและเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัด
    อยู่ ฯลฯ เป็นร่างกระดูก ปราศจากเส้นเอ็นผูกรัดแล้ว เรี่ยรายไปในทิศน้อยทิศใหญ่ คือกระดูก
    มือไปทางหนึ่ง กระดูกเท้าไปทางหนึ่ง กระดูกแข้งไปทางหนึ่ง กระดูกขาไปทางหนึ่ง กระดูก
    สะเอวไปทางหนึ่ง กระดูกข้อสันหลังไปทางหนึ่ง กระดูกซี่โครงไปทางหนึ่ง กระดูกหน้าอกไป
    ทางหนึ่ง กระดูกแขนไปทางหนึ่ง กระดูกไหล่ไปทางหนึ่ง กระดูกคอไปทางหนึ่ง กระดูกคาง
    ไปทางหนึ่ง กระดูกฟันไปทางหนึ่ง กระโหลกศีรษะไปทางหนึ่ง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละ
    ว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้
    ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง ฯลฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้
    อย่างนี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
    อีกประการหนึ่ง เปรียบเหมือนภิกษุ พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นกระดูก
    มีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์ … เป็นกระดูก เป็นกองเรี่ยรายแล้ว เก่าเกินปีหนึ่งไปแล้ว … เป็น
    กระดูกผุละเอียดแล้ว เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่า ก็มีอยู่อย่างนี้เป็น
    ธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณา
    เห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายใน
    ทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อม
    ในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่ อนึ่ง
    สติของเธอตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่า อาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็น
    ผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่าง
    นี้ ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นกายในกายอยู่.
    จบ นวสีวถิกาบรรพ


    ขันธบรรพ
    [๑๔๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ
    อุปาทานขันธ์ ๕ ภิกษุพิจารณาเห็นธรรมในธรรม คืออุปาทานขันธ์ ๕ อย่างไรเล่า? ภิกษุในธรรม
    วินัยนี้พิจารณาเห็นดังนี้ว่า อย่างนี้รูป อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งรูป อย่างนี้ความดับแห่งรูป
    อย่างนี้เวทนา อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งเวทนา อย่างนี้ความดับแห่งเวทนา อย่างนี้สัญญา
    อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่งสัญญา อย่างนี้ความดับแห่งสัญญา อย่างนี้สังขาร อย่างนี้ความ
    เกิดขึ้นแห่งสังขาร อย่างนี้ความดับแห่งสังขาร อย่างนี้วิญญาณ อย่างนี้ความเกิดขึ้นแห่ง
    วิญญาณ อย่างนี้ความดับแห่งวิญญาณ ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรม
    ภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
    พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง
    พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ อนึ่ง สติของเธอตั้งมั่น
    อยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิ
    ไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า
    พิจารณาเห็นธรรมในธรรม คือ อุปาทานขันธ์ ๕ อยู่


    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนที่3)
    3. อภิสังขารมาร
    มาร คือ อภิสังขาร


    อภิสังขาร

    (สภาพที่ปรุงแต่ง, ธรรมมีเจตนาเป็นประธานอันปรุงแต่งผลแห่งการกระทำ, เจตนาที่เป็นตัวการในการทำกรรม)


    อภิสังขาร เป็นมารเพราะเป็นตัวปรุงแต่งกรรม นำให้เกิดชาติ ชรา เป็นต้น ขัดขวางมิให้หลุดพ้นไปจากสังขารทุกข์ (ทุกข์เพราะเป็นสังขาร คือ เพราะเป็นสภาพอันถูกปัจจัยปรุงแต่งขึ้น จึงต้องผันแปรไปตามเหตุปัจจัยเป็นสภาพอันปัจจัยบีบคั้นขัดแย้ง คงทนอยู่มิได้) – พจนานุกรมพระไตรปิฎก

    อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับความหมายของอภิสังขารมาร

    อภิสังขารมาร = มาร คือ เจตนากรรมในอดีตภพ ซึ่งมีอยู่ 3 ประการ อันได้แก่

    1. ปุญญาภิสังขาร เจตนาอันเป็นบุญได้แก่ เจตนาในมหากุศล ๘ รูปฌานกุศล ๕

    2. อปุญญาภิสังขาร เจตนาคือบาป ได้แก่ เจตนาในอกุศล ๑๒

    3. อาเนญชาภิสังขาร เจตนาที่ไม่หวั่นไหวคือเจตนาในอรูปฌานกุศล ๔
    ก็อภิสังขารมาร คือ เจตนาในอภิสังขารทั้ง ๓ นี้เป็นเหตุให้ปฏิสนธิในภพภูมิต่างๆ เมื่อยังต้องปฏิสนธิคือยังต้องเกิดในภพต่างๆ อยู่ย่อมไม่พ้นไปจากความทุกข์ได้ อภิสังขารคือเจตนากรรมเหล่านี้ที่ชื่อว่ามาร ก็เพราะเป็นผู้ทำลายหรือกีดกันปิดกั้นหนทางที่บุคคลจะเข้าถึงความพ้นทุกข์ พูดง่ายๆ ก็คือ อภิสังขารมารนั้นปิดกั้นทางที่จะให้ถึงมรรคผลนิพพาน…



    ตามความเข้าใจของผู้เขียน เข้าใจว่า อภิสังขารมาร มีความหมายอยู่ 2 นัย

    - นัยที่ 1 อภิสังขารมาร คือ วิบากหรือผลกรรมที่จะมาขัดขวางการทำความดีของเราในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลมาจาก เจตนากรรมในอดีต(อภิสังขารทั้ง 3 คือ บุญ บาป และ ฌานที่เจือด้วยกิเลส) ผลกรรมนี้ถ้าขนาดเบาก็แค่ทำให้เราเดินหลงออกนอกหนทาง แต่ถ้าเราตั้งสติทัน เราก็ยังสามารถบรรลุธรรมได้ ขอเพียงอย่าทำกรรมหนักหรือครุกรรมเท่านั้นเป็นพอ

    ยกตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ พระเจ้าอชาตศัตรู ที่หลงเชื่อคำยุยงของพระเทวทัตจนได้ทำ อนันตริยกรรม คือ ฆ่าพ่อตัวเอง บุคคลที่ทำอนันตริยกรรมแล้ว วิบากคือต้องลงนรกอย่างเดียว หมดสิทธิ์บรรลุมรรคผลแม้แต่เป็นพระโสดาบันก็ไม่ได้ ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูนี้เป็นผู้มีบุญที่พระพุทธองค์ทรงตรัสมีใจความว่า “พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว หากท้าวเธอไม่ได้ทำอนันตริยกรรม แล้วมีโอกาสฟังธรรมกับตถาคต ก็จะบรรลุมรรคผลทันที”

    ผลกรรมอื่นๆ ที่จะปิดกั้นมรรคผล เช่น การปรามาสพระรัตนตรัย หรือบิดามารดา ตัวอย่างคือ พระพุทธองค์ของเราเอง สมัยพระกัสสปะพุทธเจ้า พระโพธิสัตว์เกิดเป็นมานพ ชื่อว่า โชติปาละ ได้กล่าวดูถูกพระกัสสปะพุทธเจ้า ว่าการตรัสรู้เป็นของได้โดยยาก ท่านจะได้จากควงไม้โพธิ์ที่ไหนกัน ด้วยผลแห่งกรรมนั้น ในชาติสุดท้ายนี้ต้องบำเพ็ญทุกกรกริยาเป็นอันมาก สิ้นเวลาถึงหกปี ต่อจากนั้น จึงได้บรรลุการตรัสรู้
    “เรามิได้บรรลุการตรัสรู้โดยทางนั้น ได้แสวงหาโดยทางที่ผิด เพราะถูกกรรมเก่าทวงเอา”


    - นัยที่ 2 ของอภิสังขารมาร หากมองในปัจจุบันและอนาคต ก็คือ ต้องดูจิตของเรา ณ ตอนนี้ว่าเรายังอยู่ในข่ายของมาร คือจิตยังปรุงแต่งกรรม หรือมีเจตนากรรมให้เรายังต้องการสร้างภพสร้างชาติต่อไปอยู่อีกหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการทำบุญหรือฌานโดยหวังมนุษย์สมบัติ เทวสมบัติ หรือพรหมสมบัติ ยังมีอยู่ในใจเราหรือไม่ ยิ่งไม่ต้องพูดถึงการสร้างบาปทั้งหลาย เพราะจะทำให้เราต้องเวียนว่ายตายเกิดอีกไม่รู้กี่ภพกี่ชาติ… เป็นการปิดกั้นทำให้ไม่ได้มรรคผลในอนาคต

    ยกตัวอย่างกรณีนี้ เช่น ปรุงให้อยากรวย อยากเป็นเทวดา พรหม อยากได้ฌาน อยากได้อิทธิฤทธิ์

    ท่านพ่อลี เคยสอนเอาไว้ว่า หัวหน้ามาร คือ อวิชชาความไม่รู้ ส่วนอภิสังขารเป็นเหมือนลูกน้องมาร ดังนี้

    “เพราะความไม่รู้ (อวิชชา) จึงเป็นเหตุแห่งสังขารทั้ง 3 คือ ปุญญาภิสังขาร นึกคิดปรุงแต่ง ไตร่ตรอง พินิจพิจารณา หาทางจะสร้างคุณงามความดีของตนให้เกิดขึ้น อาทิ หลงบุญ อยากได้บุญแต่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร อปุญญาภิสังขาร นึกคิดปรุงแต่ง เสกสรรในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ ซึ่งเป็นฝ่ายชั่ว ทุจริต ทำดวงจิตให้เศร้าหมอง ไม่ผ่องใส อเนญชาภิสังขาร ความคิดเป็นกลางจะเรียกว่าบุญก็ไม่ใช่ จะเรียกว่าบาปก็ไม่ใช่ เช่น พรุ่งนี้ เราจะไปซื้อของในตลาดหรือพรุ่งนี้จะไปทำนา หรือเราจะไปอาบน้ำ เราจะไปกินข้าว ความคิดนึกตรึกตรองเกิดขึ้นในดวงจิตอย่างนี้เป็นอเนญชาภิสังขาร สังขารยังไม่เป็นบุญ สังขารยังไม่เป็นบาป”


    วิธีต่อสู้กับอภิสังขารมาร

    ขอแยกเป็น 2 นัย ตามที่ผู้เขียนกล่าวถึงอภิสังขารมาร ว่าอาจแบ่งเป็น 2 ประเภทดังกล่าวข้างต้น

    - นัยที่ 1 หากเป็นผลกรรมจากกรรมเก่าที่เราต้องได้รับแล้ว อันนี้ก็สุดวิสัย เพราะแม้แต่พระพุทธองค์ก็ทรงหนีไม่พ้นกฎแห่งกรรมไปได้ สิ่งที่เราต้องทำคือ เข้าใจและยอมรับกฎแห่งกรรม เพราะหากเป็นเศษกรรมแล้ว เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่หากเป็นเรื่องของเจ้ากรรมนายเวร อันนี้ยังพอต่อรองกันได้ โดยการขออโหสิกรรมและทำบุญอุทิศไปให้ท่าน….

    ในประเด็นนี้ผู้เขียนคิดว่า สิ่งที่เราทำได้คือ อันดับแรกต้องไม่สร้างกรรมใหม่เพิ่มโดยเด็ดขาด ทั้งทางกาย วาจา และใจ (ศีลและกรรมบถ 10) ต่อมาก็ต้องเร่งทำความดีตามหลัก บุญกิริยาวัตถุ 10 ประการ เร่งสร้าง บารมี 10 ประการ ให้เต็ม และการทำบุญทุกอย่างอย่าหวังผลตอบแทนใดๆ อย่าหวังการสร้างภพสร้างชาติ ให้ตั้งจิตมุ่งสู่พระนิพพานอย่างเดียว ทำได้อย่างนี้แล้ว ถึงแม้ว่า ณ ตอนนี้เรายังต้องรับวิบากกรรมซึ่งเป็นเหตุให้ยังไม่สามารถบรรลุธรรมได้ แต่สักวันหนึ่งข้างหน้า เราย่อมสามารถบรรลุธรรมตามที่ตั้งไว้อย่างแน่นอน (หากไม่เลิกล้มความตั้งใจเสียก่อน)

    เรื่องนี้ก็ขอให้ดูอย่างพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นตัวอย่าง ที่ถึงแม้ท่านจะถูกปิดกั้นด้วยวิบากกรรมแล้วว่าไม่สามารถบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่ท่านก็ไม่ได้ท้อพระทัยในการทำความดีสร้างบารมีให้เต็ม ผลที่สุดเมื่อท่านสิ้นพระชนม์ ด้วยอานิสงส์แห่งบุญบารมีที่ท่านสร้าง ก็ทำให้ท่านต้องไปอยู่ในนรกขุมที่ตื้นที่สุด(แทนที่จะเป็นอเวจีมหานรก) และในอนาคตเมื่อท่านพ้นจากนรกแล้วมาเกิด ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้านามว่า ชีวิตวิเสส นั่นเอง….

    - นัยที่ 2 ว่าด้วยวิธีเอาชนะ อภิสังขาร 3 อันได้แก่ ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร และ อเนญชาภิสังขาร ข้อนี้ขอนำคำสอนหลวงพ่อฤาษีฯ มากล่าวดังนี้ครับ…


    “สังขารคือสภาพที่ปรุงแต่งจิต ไอ้นี่หมายความถึงอารมณ์ของจิต อารมณ์ที่เข้ามาแทรกจิต ท่านกล่าวว่า อปุญญาภิสังขาร อเนญชาภิสังขาร อย่างนี้บรรดาพระคุณเจ้าบางท่านคงพอจะรับทราบ บางองค์ก็คงไม่เข้าใจ ญาติโยมพุทธบริษัทบางท่านเรียนมาแล้วคงเข้าใจ ท่านที่ไม่เรียนคงไม่เข้าใจ ก็มาพูดกันเสียให้เข้าใจเลย สังขารมี 3 ปุญญาภิสังขาร คือ อารมณ์ที่มีความสุข อปุญญาภิสังขาร ได้แก่อารมณ์ที่มีความทุกข์ ท่านพูดว่าบุญหรือบาปมันฟังยาก อารมณ์ที่มีความสุขก็คือบุญ อารมณ์ที่มีความทุกข์ก็คือบาป ความชั่ว และอเนญชาภิสังขาร คืออารมณ์ที่วางเฉยเป็นอารมณ์กลางได้แก่อุเบกขารมณ์ เป็นอารมณ์ว่างจากกิเลส ว่างจากความสุขหรือความทุกข์ อันนี้เป็นอารมณ์ที่ปรารถนาพระนิพพานนี่นะ ถ้าอารมณ์อย่างนี้เข้ามาสิงจิต ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายกุศลมันก็มีความสุขใจ ถ้าเป็นอารมณ์ฝ่ายอกุศลมันก็มีความทุกข์ใจกลัดกลุ้มใจ ถ้าเป็นอารมณ์พระนิพพานก็มีแต่ความเยือกเย็น อารมณ์อย่างนี้มันเกิดขึ้นแล้วมันก็ดับไปนะขอรับ มันไม่คงสภาพ เดี๋ยวเกิด เดี๋ยวดับ ไม่คงที่ เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนี้ เดี๋ยวมีอารมณ์อย่างนั้น ข้อนี้เป็นวิปัสสนาญาณนะขอรับ ให้พิจารณาว่ามันเป็นอนัตตา ไม่มีอะไรทรงตัว”


    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนที่4)
    4. มัจจุมาร
    มาร คือ ความตาย



    มัจจุมาร มารคือความตาย ความตายจัดเป็นมาร เพราะเป็นตัวการตัดโอกาสในการทำคุณงามความดี บางคนไม่เคยสนใจศึกษาและปฏิบัติธรรมเลย พอหันมาสนใจก็มีเหตุให้ต้องตายไปเสียก่อนที่จะได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมตามที่ตั้งใจ ความตายจึงเป็นมารอย่างนี้

    ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเลยก็คือ ท่านอาจารย์สอนกรรมฐานทั้งสองของพระพุทธองค์ คือ ท่านอาฬารดาบส กาลามโคตร และ ท่านอุทกดาบส รามบุตร ซึ่งสำเร็จฌานขั้นสูง หากได้คำแนะนำจากพระพุทธองค์เพียงเล็กน้อยก็จะบรรลุอรหัตผลได้โดยง่าย แต่เมื่อพระพุทธองค์ตรัสรู้แล้ว ลำดับแรกคิดจะไปโปรดท่านอาจารย์ทั้งสองนี้ ปรากฏว่าตายซะแล้ว ต้องไปติดอยู่ในพรหมชั้นสูงอีกไม่รู้กี่กัป (พรหมในชั้น อากิญจัญญายตนภูมิ มีอายุ 60,000 มหากัป ส่วนชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ มีอายุ 80,000 มหากัป) จึงจะได้ลงมาเกิดใหม่….อย่างนี้คือมัจจุมารโดยแท้


    พูดถึงเรื่อง ความตาย ในทางพุทธศาสนาแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

    ๑. กาลมรณะ หมายถึง ความตายในเวลาอันสมควร เหมือนมนุษย์หรือสัตว์โลกทั้งหลายที่ดำเนินชีวิตไปตามปกติ ก็สิ้นชีวิตตามธรรมชาติ อันเนื่องมาจาก

    - ตายเพราะสิ้นอายุ (อายุกขมรณะ) หมายความว่า เป็นความตายของสัตว์ทั้งหลายที่ต้องตายโดยสิ้นอายุขัย สัตว์ทั้งหลายย่อมมีชีวิตอยู่ด้วยการกำหนดขอบเขตแห่งการตั้งอยู่ของชีวิตรูป มีกำหนดขอบเขตอายุขัยของตนไปตามภูมิที่ตนเกิด

    - ตายเพราะสิ้นกรรม (กัมมักขยมรณะ) หมายความว่า เป็นความตายของสัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้น เพราะชนกกรรม ที่มีหน้าที่ส่งผลให้เกิดปฏิสนธิในภพนั้น ๆ และอุปถัมภกกรรม ที่มีหน้าที่ช่วยอุดหนุนให้รูปนามที่เกิดจากชนกกรรมให้ตั้งอยู่ได้ในภพนั้น ๆ ได้มีการสิ้นสุดแห่งกรรมทั้งสองดังกล่าวนี้

    - ตายเพราะสิ้นอายุและสิ้นกรรม (อุภยักขยมรณะ) หมายความว่า เป็นความตายของสัตว์ทั้งหลายที่ถึงแก่ความตายนั้น มีอายุยืนอยู่ได้จนกระทั้งครบอายุขัยและอำนาจของกุศลชนกกรรม หรืออกุศลชนกกรรม ก็พอดีหมดลงพร้อมกับความสิ้นสุดแห่งอายุ

    ๒. อกาลมรณะ หมายถึง ความตายในเวลาที่ยังไม่สมควร คือ ตายเพราะถูกกรรมเข้ามาตัดรอน (อุปฆาตกรรม) ทำให้ต้องตายด้วยสาเหตุต่าง ๆ อันเนื่องมาจาก ตายเพราะประสบอุปัทวเหตุ (อุปจเฉทกมรณะ) หมายความว่า เป็นความตายของสัตว์ทั้งหลายที่ต้องประสบกับเหตุให้ต้องตายลงด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น ถูกฆ่าตายบ้าง ถูกรถชนตายบ้าง เป็นความตายที่อายุและกรรมของสัตว์ทั้งหลายยังไม่สิ้น เมื่อตายก่อนอายุขัยเช่นนี้ ต้องกลายเป็น วิญญาณที่รอการเกิด หรือที่เรียกว่า สัมภเวสี จนกว่าจะถึงอายุขัยของตนเอง จึงจะได้ไปเกิดตามภพภูมิต่างๆ สุดแท้แต่กรรมที่ตนสั่งสมมา (สัมภเวสีในที่นี้ผู้เขียนหมายถึง วิญญาณที่รอการไปเกิด แต่ในพระไตรปิฎก สัมภเวสี หมายความรวมถึง พรหม เทวดา มนุษย์ และสัตว์ในอบายภูมิทั้งหมดเพราะยังอยู่ในวิสัยที่ต้องเวียนตายเวียนเกิดทั้งหมด)

    หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง เคยพูดถึงเรื่อง สัมภเวสี ว่าพวกนี้มีชีวิตที่น่าสงสาร จะไปรับผลบุญหรือผลบาปของตัวเองยังไม่ได้เพราะต้องรอจนครบอายุขัยก่อน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบากต้องรอให้ญาติทำบุญอุทิศไปให้ โดยหลวงพ่อแนะนำว่าให้ถวายสังฆทาน ผ้าไตรจีวร และพระพุทธรูป แล้วอุทิศบุญให้ผู้ตาย (โดยต้องระบุชื่อผู้ตายด้วยจึงจะได้บุญ เพราะการอุทิศบุญแบบรวมๆ สัมภเวสีจะไม่สามารถโมทนาบุญได้….แต่พวกเปรตนี่รับได้ ดังนั้นเวลาทำบุญแล้วอุทิศบุญควรระบุชื่อว่าทำให้ใคร เสร็จแล้วอุทิศต่อไปว่าให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งที่ใช่ญาติและไม่ใช่ญาติด้วย เพราะพวกเปรตที่เขาอยู่ได้ด้วยการรับส่วนบุญ เวลามีงานบุญเขาก็มารอ แต่บางทีไม่ใช่ญาติพี่น้องเราจึงไม่สามารถโมทนาได้เพราะคนอุทิศบุญบอกแต่ว่าทำให้ญาติ)

    เพิ่มเติมเรื่องการอุทิศบุญอีกสักเล็กน้อย คือถ้าวิญญาณหรือคนที่เราอุทิศบุญให้เขามาอยู่ ณ ที่นั้นก็จะสามารถโมทนาบุญได้เลย แต่มีบางกรณีที่ไม่สามารถมารับบุญได้ เช่นไปอยู่ในภพบางภพ ได้แก่ สัตว์นรก อสุรกาย และเปรตบางประเภท ผลกรรมจะปิดกั้นทำให้บุญส่งไปไม่ถึง ท่านพญายมเคยบอกหลวงพ่อว่า ลูกหลานหลวงพ่อก็เหมือนลูกหลานท่านพญายม เวลาอุทิศบุญให้เพิ่มไปว่า อุทิศบุญฝากไว้กับท่านพญายมด้วย เผื่อวิญญาณเหล่านั้นไปเจอท่าน ท่านจะได้บอกให้โมทนาบุญได้ โดยเฉพาะพวกที่ต้องผ่านการตัดสินที่สำนักพญายม หากเราอุทิศฝากท่านไว้ ท่านจะช่วยให้ไปสวรรค์ได้ทันที

    รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ในเรื่อง การอุทิศบุญที่ถูกต้องและได้ผล


    การป้องกัน อุปฆาตกรรมที่ทำให้ตายก่อนอายุขัย หลวงพ่อแนะนำว่า ให้ทำบุญต่ออายุ โดยการปล่อยสัตว์ที่เขากำลังจะฆ่า เช่น ปล่อยปลาในตลาด ไถ่ชีวิตโค-กระบือ เป็นต้น แล้วอุทิศบุญให้กับเจ้ากรรมนายเวร ควรทำเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้งหรือได้เดือนละครั้งยิ่งดี เพราะเราไม่รู้ว่า อุปฆาตกรรม จะมาเมื่อใด แต่อย่าเข้าใจผิดว่าจะต่ออายุได้เรื่อยๆ นะครับ เพราะหากสิ้นอายุขัยหรือสิ้นกรรมแล้ว ทุกคนก็ต้องตายหมด….

    มารู้จักชีวิตหลังความตาย


    คนเรามักกลัวความตายกัน ผู้เขียนคิดว่าสาเหตุหนึ่งน่าจะเป็นเพราะความไม่รู้นั่นเอง ว่าตายแล้วจะไปไหน คำตอบในเรื่องนี้ก็คงบอกได้กว้างๆ ว่า หากยังไม่บรรลุอรหัตผล ก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่ในภพภูมิทั้ง 31 ภูมินี่แหล่ะครับ (รายละเอียดมีมาก ขอให้ศึกษาเพิ่มเติมใน แผนภูมิ 31 ภูมิ )แต่ตายแล้วจะไปไหนนั้น ในเรื่องกฎของกรรมนั้น มีวิธีสังเกตดังนี้ครับ

    ว่าด้วยลำดับแห่งการให้ผลของกรรมหลังตาย

    - กรรมที่ให้ผลอันดับแรก หากชีวิตนี้เราได้ทำ ครุกรรม คือ กรรมหนัก จะส่งผลก่อน มีทั้งฝ่ายดี ได้แก่ ฌานสมาบัติ 8 หากตายในฌาน ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลกทันทีตามแต่ขั้นของฌานนั้นๆ (คงเคยเห็นคนนั่งสมาธิตายนะครับ) และครุกรรมฝ่ายไม่ดี ได้แก่ นิยตมิจฉาทิฏฐิกรรม ๓ และอนันตริยกรรม ๕ หากตายไปต้องลงนรกทันทีเช่นกัน(หากไม่ได้ทำความดีไว้ก็ต้องลงอเวจีมหานรก) ตัวอย่างคือ พระเทวทัต ที่ถูกธรณีสูบลงอเวจีมหานรก

    - กรรมที่ให้ผลอันดับสอง หากไม่ได้ทำครุกรรม กรรมที่ส่งผลเป็นอันดับสองคือ อาสันนกรรม หรือ กรรมก่อนตาย ถึงแม้จะเป็นกรรมเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็ส่งผลก่อน เปรียบเสมือนโคแก่ปากคอก ถึงแม้กำลังไม่เยอะ แต่ก็ออกจากคอกได้ก่อน หากแม้นทั้งชีวิตทำแต่ความดีแต่ก่อนตายจิตเศร้าหมองคิดถึงความชั่วเพียงเล็กน้อย ก็ลงอบายภูมิ หรือตรงกันข้าม บางคนทั้งชีวิตทำแต่ความชั่ว แต่ก่อนตายได้ทำความดีและมีจิตที่เบิกบานในความดีนั้น ก็ต้องไปรับผลบุญในสุคติภูมิก่อน จนกว่าจะหมดบุญ

    - กรรมที่ให้ผลอันดับสาม หากไม่มีครุกรรมและอาสันนกรรมแล้ว กรรมที่จะให้ผลคือ อาจิณณกรรม หรือ กรรมที่ทำเป็นประจำ เช่นใส่บาตรประจำ ไหว้พระสวดมนต์ทุกวัน หรือฆ่าสัตว์ประจำ

    - กรรมที่ผลลำดับสุดท้าย ถ้าไม่มีครุกรรม อาสันนกรรม และอาจิณณกรรมแล้ว ก็เป็นหน้าที่ของ กตัตตากรรม หรือ กรรมที่ได้กระทำไปโดยไม่ตั้งใจไว้ก่อน หรือ กรรมที่ทำด้วยเจตนาอันอ่อน กรรมนี้จัดเป็นกรรมเล็กๆน้อยๆ ถ้าเป็นกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่สุคติ แต่ถ้าเป็นอกุศลกตัตตากรรม ก็นำไปสู่ทุคติ

    สรุปว่า หากทำความดีมากๆ ก็ไปพรหมหรือสวรรค์ทันที แต่ถ้าทำความชั่วมากๆ ก็ลงอบายภูมิทันทีเช่นกัน แต่เท่าที่ผู้เขียนเคยศึกษามาเข้าใจว่า คนที่ทำทั้งบุญและกรรมแบบก้ำกึ่ง ต้องผ่านสำนักพญายม ท่านพญายมจจะพยายามช่วยให้ไปสุคติภูมิโดยจะถามถึงความดีที่เคยทำมา ผู้เขียนมีกระทู้แนะนำอยู่ 3 กระทู้ที่ควรศึกษาเพิ่มเติม คือ

    1. พญายมราชไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด

    2. วิธีทำบุญหนีนรก

    3. ทางไปนิพพานที่ตรงและง่ายที่สุด

    หากใครได้อ่าน 3 บทความนี้แล้วปฏิบัติตาม ผู้เขียนคิดว่าอย่างน้อยก็คุ้มสำหรับการเกิดมาในชาตินี้ และคงจะทำให้ไอ้ความกลัวตายมันลดน้อยลงได้แน่ๆ เพราะเรารู้แล้วว่า ยังไงเราก็ไปดีแน่ ขออนุโมทนากับทุกท่านผู้น้อมปฏิบัติตามคำสอนหลวงพ่อด้วยนะขอรับ….

    วิธีต่อสู้กับมัจจุมาร


    ข้อนี้ผู้เขียนขอนำวิธีที่หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง ท่านเมตตาสอน มาแนะนำท่านผู้อ่านนะครับ คือหลวงพ่อสอนให้เราระลึกถึงความตายอยู่เสมอ หายใจเข้าไม่หายใจออกก็ตายแล้ว ก่อนนอนทุกครั้งให้ระลึกไว้เสมอว่าเราอาจจะตายตอนหลับก็ได้ หลวงพ่อยังได้สอนถึงวิธีไปนิพพานที่ง่ายและลัดตรงที่สุด ซึ่งต้องมีมรณานุสติอยู่ตลอดเวลาด้วยดังนี้….




    การเข้าพระนิพพานในวิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด
    โดย…หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

    สำหรับการที่จะเข้าพระนิพพานนั้น จิตจะต้องถูกฝึกมาแล้วเป็นอย่างดี ซึ่งก็แยกย่อยออกไปได้หลายวิธี แต่วิธีที่ง่ายที่สุด ลัดตัดตรงที่สุด คือ

    1. ไม่สงสัย เชื่อมั่น และเคารพพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งสูงสุด (สุดจิตสุดใจ) ตลอดชีวิต ซึ่งความเชื่อนี้ รวมไปถึงพระธรรมคำสอนในข้อที่ว่า…

    “นิพพานัง ปรมัง สุขัง… *พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง*”

    “นิพพานัง ปรมัง สูญญัง… *พระนิพพานเป็นที่ที่สูญจากกิเลส จากอวิชชาทั้งมวล*”

    จากพระธรรมทั้ง ๒ ประโยคนี้ ทำให้เราเชื่อมั่นได้ว่า พระนิพพานเป็นสถานที่ที่มีอยู่จริง ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านประทับอยู่จริง เมื่อเราเชื่อมั่นอย่างสุดจิตสุดใจ ว่า พระนิพพานมีจริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีพระองค์อยู่จริง การที่เราจะได้มโนมยิทธิหรือไม่ นั้น ไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด

    สิ่งที่สำคัญที่สุด นั่นคือ ความเชื่อมั่น เชื่อมั่นว่าพระนิพพานมีอยู่จริง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีอยู่ จริง พระองค์ทรงเป็นผู้ที่ประทับอยู่บนพระนิพพานจริง เมื่อเชื่อมั่นในสิ่งเหล่านี้แล้ว ให้ลงมือปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอน ที่พระองค์ท่านทรงชี้แนะเอาไว้ สิ่งนั้นคือ ขั้นตอนต่างๆ ที่ลัดที่สุด เร็วที่สุด ตัดตรงที่สุด ซึ่งมีดังนี้

    2. มีศีล 5 (เป็นอย่างน้อย)

    3. ทุกครั้งที่ทำความดี (ไม่ว่าจะเล็กน้อยเพียงใด หรือยิ่งใหญ่เพียงไหนก็ตาม)ให้อธิษฐานขอไปพระนิพพาน
    ว่า…ด้วยกุศลผลบุญนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพเจ้าเข้าสู่พระนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ด้วยเถิด
    … ภพภูมิอื่นใด ไม่ว่าจะเป็น อบายภูมิ โลกมนุษย์ สวรรค์ พรหม หรืออรูปพรหมก็ตาม ข้าพเจ้าไม่ปรารถนา…ข้าพเจ้าปรารถนาเพียงพระนิพพานเป็นที่สุด..ตายเมื่อ ไหร่ขอไปพระนิพพานเมื่อนั้น..

    4. พิจารณานึกถึงความตายอยู่เสมอ

    พร้อมกับพิจารณาให้เห็นว่าสังขารร่างกายนี้ไม่ใช่ เรา ไม่ใช่ของๆ เรา เราไม่มีในสังขาร ร่างกายนี้ สังขารร่างกายนี้ไม่มีในเรา… นึกน้อมพิจารณาจนจิตยอมรับสภาพตามความเป็นจริง… และมีการปล่อยวางในสังขารร่างกายนี้

    5. พิจารณาตัดขันธ์ 5 และพิจารณาถึงความทุกข์ ความไม่เที่ยงของสรรพสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ…

    เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้ว มีแต่โรคภัยไข้เจ็บแบบนี้ ต้องกระทบกระทั่งกับสิ่งที่ไม่ชอบใจ ไม่พอใจทั้งหลาย
    ต้องพลัดพรากจากคนที่ เรารักและคนที่รักเรา… สิ่งเหล่านี้มันทุกข์ใช่ไหม… เมื่อทุกข์ขนาดนี้แล้วเรายังอยากที่จะเวียนว่ายตายเกิดอีกหรือไม่

    6. เมื่อพบความจริงของชีวิตแล้ว… ต่อมา ให้จิตเชื่อมั่น และ จับภาพพระพุทธเจ้า หรือ ภาพพระพุทธรูปที่เรารักชอบ

    ที่พระนิพพานซึ่งเป็นที่ประทับแห่งองค์สมเด็จพระผู้มีพระ ภาคเจ้าเป็นที่สุด… (ไม่ว่าเราจะได้ มโนมยิทธิหรือไม่ก็ตาม) … หมั่นทำความดี ละเว้นความชั่ว และอธิษฐานให้บ่อยๆ ทำจนจิตชิน จนเขาภาวนาของเขาเองได้ยิ่งดี ว่า…

    “สังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ เป็นรังของโรค มีแต่ความสกปรกโสโครก น่าเบื่อหน่าย …ถ้าข้าพเจ้าตายลงเมื่อไหร่ ขอให้ดวงจิต ของข้าพเจ้าพุ่งตรงสู่พระนิพพานเป็นที่สุดด้วยเถิด และขอให้ข้าพเจ้าได้พบองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าบนพระ นิพพานนั้นโดยทันทีด้วยเถิด“

    ข้อสำคัญของการเข้าพระนิพพาน คือ จิตจะต้องเกิดอาการเบื่อหน่ายในร่างกาย(ขันธ์5) อย่างจริงๆ จัง…

    ดังนั้น ต้องมีการพิจารณาตัดขันธ์ 5 พิจารณาถึงความตาย ความทุกข์ทั้งหลาย อยู่เสมอๆ
    …พิจารณาบ่อยๆ วันละหลายๆ ครั้งได้ก็จะดีมาก…

    แต่เมื่อพิจารณามากเข้าๆ จิตอาจจะเบื่อจนนึกอยากจะฆ่าตัวตาย

    ดังนั้นเราจึงต้องพิจารณาสมทบเข้าไปว่า… “ถึงสังขารร่างกายนี้เป็นทุกข์ น่าเบื่อหน่าย แต่ข้าพเจ้าจะยังคงรักษาธาตุขันธ์นี้ต่อไป เพื่อยังประโยชน์ต่อสรรพชีวิตอื่น และ ธำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา ตราบจนกว่าจะ ถึงอายุขัยของข้าพเจ้าเอง”
    เสร็จแล้ว พยายามพิจารณาทุกสิ่งให้เป็น “ธรรมดา” ยอมรับสภาพของชีวิตตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น…
    เมื่อใกล้ตายจิตจะมารวมตัวกันเองโดยไม่ต้องบังคับ… เพราะจิตมีความชินกับการที่ จิตเราจับอยู่ที่พระพุทธองค์ และพระนิพพานเสมอ…

    ให้เชื่อมั่น ว่า…ตายเมื่อไหร่เราขึ้นพระนิพพานแน่นอน…




    *************จบมัจจุมาร*************


    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนที่5)
    5. เทวปุตมาร
    มารคือ เทวบุตร


    เทวบุตรมาร หมายถึง เทวดาบางตนที่มีนิสัยเสีย เห็นใครทำความดีหรืออยากไปนิพพานก็มักจะทนไม่ได้ เกิดอาการทุรนทุราย อยากเข้าไปขัดขวาง กลั่นแกล้ง เหนี่ยวรั้ง บางตนถึงกับมุ่งร้ายหมายเอาชีวิต หรือชักนำให้บุคคลผู้บำเพ็ญธรรมไม่กล้าหาญในการเสียสละเพื่อบำเพ็ญบารมีให้ยิ่งใหญ่ได้


    เทวบุตรมาร เป็นเทวดามิจฉาทิฏฐิ ที่อาศัยอยู่ในสวรรค์ชั้น ปรนิมมิตวสวัตตี (เป็นสวรรค์ชั้นสูงสุด คือชั้นหก สวรรค์ชั้นนี้มีความพิเศษคือ มีผู้ครองแบ่งเป็นสองฝ่าย คือฝ่ายเทวดาสัมมาทิฐิ และฝ่ายเทวดามิจฉาทิฐิ ซึ่งทั้งสองฝ่ายจะไม่ยุ่งเกี่ยวกัน) ฝ่ายมาร มีหัวหน้าคือ พญาวสวัตตีมาร มีพระธิดามาร 3 องค์ รูปโฉมสวยงามเกินพรรณนา คือ นางตัณหา นางอรดี และนางราคา และมีบุตรชายที่เรียกว่า เทวบุตรมาร อีกพันองค์ แวดล้อมด้วยเสนามาร เมื่อครั้งสมัยที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เหล่ามารต่างพากันมาขัดขวาง โดยการนำของพญามาร กองทัพมารมีเหล่าสมุนมารมากมาย เช่น ยักษ์ นาค อสูร และเทวดาจากทั่วจักรวาล

    เรื่องราวของเหล่าเทวบุตรมาร

    จากเรื่องราวของท่านพญามารที่จะกล่าวแยกไว้ในบทความต่อไป จะเห็นว่าท่านคงไม่มายุ่งเกี่ยวกับเราๆ ท่านๆ แล้ว เพราะท่านกลับมาเป็นสัมมาทิฐิแล้ว และท่านยังเป็น นิยตโพธิสัตว์ อีกด้วย ต้องขอบคุณพระอุปคุตตเถระ ที่ทำให้ท่านละวางหน้าที่มารได้ ไม่เช่นนั้น ชาวพุทธเราอาจจะไม่ได้อยู่อย่างสงบเช่นทุกวันนี้ แต่อย่างไรก็ตาม เหล่าเทวบุตรมาร ก็ยังมีอยู่บ้างและพวกท่านเหล่านั้นก็ยังคงทำหน้าที่ขัดขวางผู้ทำความดีอยู่ ดังที่เราคงเคยได้ยินจากประวัติครูบาอาจารย์ต่างๆ ที่ต้องผจญกับเหล่ามารมาก่อนที่จะสำเร็จธรรม มีหลวงปู่มั่น เป็นต้น เป็นเสมือนอีกหนึ่งด่านทดสอบที่ต้องผ่านไปให้ได้ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็ง….


    สาเหตุที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นเทวบุตรมาร

    เทวดาที่เป็นมารพวกนี้เกิดจากคุณสมบัติที่เป็นการปรุงแต่งจิตด้วยกิเลสมาตั้งแต่สมัยที่ยังเป็นมนุษย์ซึ่งใช้ชีวิตโดยขาดการตั้งจิตให้อยู่ในธรรม บางคนแม้จะทำบุญมามาก แต่จิตกลับผ่านการปรุงแต่งในลักษณะที่ว่า นี่ของฉัน นี่บุญของฉัน ฉันอยากเป็นคนสำคัญ ฉันอยากได้ ฉันอยากรวย อยากเด่น อยากดัง อยากเก่ง อยากมีอำนาจ อยากมีพลังจิต ฯลฯ

    คนที่จิตใจจดจ่อหมกมุ่นอยู่กับกิเลสจนนำไปสู่การปรุงแต่งให้เกิดชาติภพของมารหรือเหล่าเทพเทวดากลุ่มที่เป็นมาร จิตของเขาจะเป็นมิจฉาทิฏฐิ คือมีความคิดเห็นที่ผิด


    ท่าน อ.เธียรนันท์ ได้กล่าวในหนังสือ มารมีจริง ว่า เหตุที่ทำให้เป็นมาร จากที่ค้นพบในพระไตรปิฎกและประสบการณ์ครูบาอาจารย์ มีดังนี้

    1. เป็นเทวบุตรมาร เพราะ ความริษยา

    ตัวอย่างคือ พระโมคคัลลานะ ในอดีตชาติระหว่างที่ยังบำเพ็ญบารมีเพื่อหวังเป็นพระอัครสาวกผู้เป็นเลิศทางฤทธิ์ของพระพุทธเจ้านั้น มีอยู่ชาติหนึ่งที่พระโมคคัลลานะเกิดเป็นเทวบุตรมาร นามว่า “ทูสีมาร” ในสมัยพระกกุสันธพุทธเจ้า มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายและขวานามว่า “วิธุระ” และ “สัญชีวะ”

    ในครั้งนั้น ทูสีมารดลใจพวกพราหมณ์และคหบดีให้ด่าเสียดสี พระมหาสาวกสัญชีวะ ว่าเป็นสมณะหัวโล้น เป็นค่าง เป็นผู้เกิดจากหลังเท้าของพรหม เป็นผู้คอตก ก้มหน้า เกียจคร้าน ฯลฯ เมื่อพวกพราหมณ์และคหบดีเหล่านั้นตาย อกุศลกรรมที่ก่อไว้จึงส่งผลให้ตกนรกทุกคน

    เมื่อเห็นดังนั้น พระพุทธเจ้ากกุสันธะจึงสอนให้พระภิกษุสงฆ์และชาวบ้านเรียนรู้ที่จะแผ่เมตตาโดยไม่มีประมาณ แผ่ให้แม้กระทั่งมารเพื่อกั้นไม่ให้มารมาดลใจ

    ต่อมาไม่นาน พระพุทธเจ้ากกุสันธะครองสบงแล้วทรงบาตร มีพระมหาสาวกวิธุระเป็นปัจฉาสมณะ เสด็จเข้าไปสู่หมู่บ้านเพื่อบิณฑบาต ทูสีมารจึงเข้าสิงร่างเด็กคนหนึ่ง แล้วเอาก้อนหินขว้างที่ศีรษะท่านพระวิธุระจนศีรษะแตก พระพุทธเจ้ากกุสันธะทรงชำเลืองมองดู ทันใดนั้น ทูสีมารจากที่เป็นเทวดาอยู่ดีๆ ก็ตกลงมหานรกทันที ถูกหลาวเหล็กเสียบแทงที่หัวใจอยู่อย่างนั้นพันปี และหมกไหม้อยู่ในอุททสนรกแห่งมหานรกนั้นแล เสวยทุกขเวทนาหนักกว่านั้นอีกหมื่นปี นี่คือกรณีของการกลายเป็นมารเพราะความริษยา

    2. เป็นเทวบุตรมาร เพราะ คิดว่ามนุษย์เป็นสมบัติของตน

    เนื่องจากมาร สามารถเดินทางจากภพภูมิที่ตนอยู่อาศัยข้ามมาปั่นป่วนภพมนุษย์ ภพสวรรค์ และยังสามารถเข้าไปสิงร่างพรหมที่สถิตอยู่ในชั้นพรหมโลก เพื่อบังคับให้พรหมพูด คิด หรือทำในสิ่งที่ตนเองต้องการ ความน่ากลัวของมารจึงอยู่ที่ความสามารถในการท่องไปในสังสารวัฏได้อย่างง่ายดาย และสามารถเข้าไปบงการใครต่อใครให้ทำชั่ว (ที่เรียกว่า การดลใจ) ให้ละเว้นการทำดี และนี่คือคำอธิบายว่าทำไมพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า “บรรดาผู้ยิ่งใหญ่ มารเป็นเลิศ” (ปัญญัติสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ 21) หมายถึง การที่มารมีพลังอำนาจในด้านมืด (อวิชชา) มากถึงขนาดที่สามารถครอบงำสรรพสัตว์ทั้งหลายทั้งปวงในสังสารวัฏ….

    ด้วยเหตุนี้จึงเป็นนิสัยพื้นฐานของมารที่คิดว่า มนุษย์ผู้ต่ำต้อย ไม่ได้เสพของทิพย์ มีความยากลำบากในภพมนุษย์ ไม่มีสิ่งใดเทียบเท่าความสุขที่เทวบุตรมารพบเจอบนสวรรค์ จึงคิดว่ามนุษย์เป็นสัตว์เลี้ยงหรือสมบัติของตน ต่อให้เก่งกล้าสามารถอย่างไรก็หนีไม่พ้นมาร ดังนั้น ไม่ว่ามารจะทำอย่างไรมนุษย์ก็ไม่มีวันมองเห็นหรือสู้ได้ ดังเช่นครั้งหนึ่ง มีมารตนหนึ่งเฝ้ามองดูพระโมคคัลลานะมาตลอด มารตนนี้เคยเกิดเป็นหลานชายของพระโมคคัลลานะในอดีตชาติ วันหนึ่งมารตนนี้ได้เข้าไปสิงที่ท้องน้อยของพระโมคคัลลานะ จนท่านมีอาการปวดท้องน้อยจนผิดสังเกต และได้ทราบว่าเป็นเพราะมารผู้เป็นหลานชายมาสิง จึงบอกให้มารออกมาจากท้องเพราะนั่นเป็นการสร้างบาปกรรม ฝ่ายมารแม้จะได้ยินพระโมคคัลลานะกล่าวอย่างนั้นก็ยังนึกดูถูกในใจว่า ไม่มีทางที่สมณะนี้จะเห็นเราได้ พระโมคคัลลานะจึงพูดดักคอว่า มารกำลังคิดอะไรอยู่ มารรู้สึกตกใจ แต่ไม่แน่ใจว่าสมณะรูปนี้มีฤทธิ์มองเห็นได้จริงหรือว่าแกล้งอำ จึงออกจากท้องแล้วไปยืนยังตำแหน่งต่างๆ ซึ่งพระโมคคัลลานะก็บอกตำแหน่งได้ถูกต้อง จึงยอมเชื่อแล้วหนีไป

    นอกจากนี้ยังมีตัวอย่างในพระสูตรหลายแห่งที่มารจำแลงแปลงกายเป็นคนบ้าง เป็นสัตว์บ้าง เพื่อมาล่อลวงพระสาวกถึงหน้าที่ประทับของพระพุทธเจ้า โดยคิดว่าพระพุทธเจ้าจะมองไม่ออกว่านั่นเป็นมารจำแลงมา

    3. เป็นเทวบุตรมาร เพราะ ความคึกคะนอง

    ตัวอย่างที่พบเห็นได้บ่อยคือ เวลาพระป่าเข้าธุดงค์มักพบเจอเทวดาเจ้าถิ่นประเภทนาค ยักษ์ รุกขเทวดา มาลองของว่า ศีลสมาธิของพระภิกษุมั่นคงพอหรือไม่ ดังเช่นกรณีการรบกันทางจิตครั้งสุดท้ายของหลวงปู่มั่น ภูริฑัตโต กลางป่า ได้เกิดมีนิมิตเป็น “ยักษ์สูงใหญ่” ถอนต้นไม้เป็นตะบองมาทุบจนตัวท่านจมลงดิน แต่หลวงปู่ก็ไม่หวั่นไหว รักษาสมาธิมั่น พิจารณาสภาวธรรมจนสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ยักษ์ตนนั้นจึงวางตะบองต้นไม้ ก้มลงกราบเป็นการขอขมาลาโทษ หลวงปู่มั่น ท่านจึงเน้นให้พระภิกษุสงฆ์รักษาศีลให้บริสุทธิ์เพื่อให้ศีลคุ้มครองความปลอดภัย เวลาเข้าป่าหรืออยู่ที่ไหนๆ ก็ให้หมั่นเจริญเมตตาให้กับเจ้าที่เจ้าทางเสมอ

    เทวบุตรมารเหล่านี้พบเห็นได้ง่าย ขณะที่เรากำลังเข้าสมาธิ มีความตั้งใจมั่นที่จะเจริญภาวนา ก็มักจะมีเหตุให้ตกใจ เกิดนิมิตเข้ามาแทรก หรือมีเสียงประหลาด ซึ่งบางครั้งเกิดจากการเนรมิตของมาร

    4. เป็นเทวบุตรมาร เพราะ ความหลงผิด

    เช่น พวกเทวดาเจ้าถิ่นหรือเทวดาที่เหาะมา เมื่อเห็นนักปฏิบัตินั่งสมาธิอยู่ จิตมีความสว่างไสว ก็ชวนให้คิดว่าจะมาแย่งถิ่นที่อยู่อาศัยหรือกลัวเขาจะได้ดีกว่าตัวเอง เพราะเทวดาเขาจะวัดบารมีกันที่ความสว่างของจิต เทวดาพวกนี้ก็จะมาแกล้งให้เจริญสมาธิไม่ได้ เช่น ทำให้เกิดเหตุให้ตกใจกลัวหนีไปบ้าง ทำให้เห็นเป็นเสือบ้าง เป็นต้น

    5. เป็นเทวบุตรมาร เพราะ อยู่มานาน

    เทวดาบางท่านที่อยู่สวรรค์ชั้นสูงๆ หรือพรหม จะมีอายุยืนยาว โลกเกิดดับไปไม่รู้กี่รอบแล้วก็ยังไม่หมดบุญ จึงทำให้คิดว่าตนเองเป็นผู้พ้นแล้ว ไม่ต้องลงมาเกิดอีกแล้ว นี่คือ อวิชชาที่ทำให้เป็นมาร




    อำนาจของเทวบุตรมาร

    ดูได้จากตอนหนึ่งในพระไตรปิฎกว่าด้วยบทสนทนาระหว่างมาร กับพระพุทธองค์

    กัสสกสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 15

    [๔๗๐] สาวัตถีนิทาน ฯก็สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพาน และภิกษุเหล่านั้นทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ น้อมนึกมาด้วยความเต็มใจ เงี่ยโสตลงสดับธรรมอยู่ ฯครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปได้มีความคิดว่า พระสมณโคดมนี้แล ทรงยังภิกษุทั้งหลายให้เห็นแจ้ง ให้สมาทาน ให้อาจหาญ ให้ร่าเริง ด้วยธรรมีกถาเกี่ยวด้วยพระนิพพาน ถ้ากระไร เราพึงเข้าไปใกล้พระสมณโคดมถึงที่ประทับเพื่อการกำบังตาเถิด ฯ๔๗๑] ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปจึงนิรมิตเพศเป็นชาวนาแบกไถใหญ่ถือปะฏักมีด้ามยาว มีผมยาวรุงรังปกหน้าปกหลัง นุ่งผ้าเนื้อหยาบ มีเท้าทั้งสองเปื้อนโคลน เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่สมณะท่านได้เห็นโคทั้งหลายบ้างไหม ฯพระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า แน่ะมารผู้มีบาป ท่านจะต้องการอะไรด้วยโคทั้งหลายเล่า ฯมารกราบทูลว่า ข้าแต่พระสมณะ จักษุเป็นของเราแท้ รูปก็เป็นของเราอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแก่จักษุสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้นข้าแต่สมณะ โสตเป็นของเรา เสียงเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ จมูกเป็นของเรากลิ่นเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัส ก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ ลิ้นเป็นของเรา รสเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ชิวหาสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ กายเป็นของเรา โผฏฐัพพะเป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่กายสัมผัสก็เป็นของเรา ท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ข้าแต่สมณะ ใจเป็นของเราธรรมารมณ์เป็นของเรา อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่มโนสัมผัสก็เป็นของเราท่านจะหนีเราไปไหนพ้น ฯ๔๗๒] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรมารผู้มีบาป จักษุเป็นของท่านรูปเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่จักษุสัมผัสก็เป็นของท่านแท้ ดูกรมารผู้มีบาป แต่ในที่ใด ไม่มีจักษุ ไม่มีรูป ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่จักษุสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน โสตเป็นของท่าน เสียงเป็นของท่านอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัสก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีโสต ไม่มีเสียง ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่โสตสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน จมูกเป็นของท่าน กลิ่นเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ฆานสัมผัสเป็นของท่าน ฯลฯ ลิ้นเป็นของท่าน รสเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่ชิวหาสัมผัสเป็นของท่าน ฯลฯ กายเป็นของท่าน โผฏฐัพพะเป็นของท่านอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่กายสัมผัสเป็นของท่าน ฯลฯ ใจเป็นของท่านธรรมารมณ์ทั้งหลายเป็นของท่าน อายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่มโนสัมผัสก็เป็นของท่าน แต่ในที่ใด ไม่มีใจ ไม่มีธรรมารมณ์ ไม่มีอายตนะคือวิญญาณอันเกิดแต่มโนสัมผัส ที่นั้นมิใช่ทางดำเนินของท่าน ฯ๔๗๓] มารกราบทูลว่าชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใดว่า นี้ของเรา และกล่าวว่า นี้เป็นเราถ้าใจของท่านมีอยู่ในสิ่งนั้น ข้าแต่สมณะ ท่านก็จะไม่พ้นเราไปได้ ฯ[๔๗๔] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ชนเหล่าใดกล่าวถึงสิ่งใด สิ่งนั้นไม่มีแก่เรา ชนเหล่าใดกล่าว ชนเหล่านั้นไม่ใช่เรา ดูกรมารผู้มีบาป ท่านจงรู้อย่างนี้ ท่านย่อมไม่เห็นแม้ทางของเรา ฯลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า พระผู้มีพระภาคทรงรู้จักเราพระสุคตทรงรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้หายไปในที่นั้นนั่นเอง ฯ
    สรุปเป็นภาษาง่ายๆ ก็คือ ตราบใดที่มนุษย์ก็ดี เทพก็ดี รับรู้ “โลก” ผ่าน “ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ” และปรุงแต่งว่าสิ่งต่างๆ เหล่านั้นเป็น “ตัวกู ของกู” เข้าไปผสมโรง ตราบนั้นมนุษย์ก็ดี เทพก็ดี ยังเสี่ยงต่อการรุกรานของมารทั้งสิ้น กิเลสจึงเปรียบเสมือนประตูมิติของภพภูมิต่างๆ ที่เปิดช่องให้มารเข้าแทรกแซงหรือเดินทางได้ทั่วทั้งจักรวาล

    ระวังจะกลายเป็นมารซะเอง


    หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เรียกคนที่มีจิตฝักใฝ่ในทางอกุศลว่า “ไม่พ้นวิสัยของมาร” หรือบางคนไม่รู้ตัวเองว่ากำลังยินดีหรือดื่มด่ำกับอารมณ์ที่เป็นมาร ผู้ที่ยินดีในวิสัยมารถือว่ากำลังเสี่ยงต่อการก้าวเข้าสู่วิถีมาร แต่คนโดยทั่วไปที่มี “วิสัยของมาร” บางครั้งก็รู้ตัวเองหรือบางครั้งก็ไม่รู้ตัวเองว่ากำลังจะกลายเป็นมาร

    คนที่อยากรวย อยากมีอำนาจบงการใครต่อใคร อยากยิ่งใหญ่ มีข้าทาสบริวาร มีเกียรติยศ สิ่งเหล่านี้คือ “โลกธรรม” ที่ผูกมนุษย์ เทวดา พรหม ให้ติดอยู่ใน “บ่วงมาร” จนดิ้นไม่หลุดจากสังสารวัฏ นี่คือบันไดขั้นแรกที่ทำให้มนุษย์หรือเทวดาค่อยๆ แยกห่างจากธรรมะซึ่งเป็นภูมิคุ้มกัน

    หรือแม้แต่คนที่หันมาปฎิบัติธรรม มีความสุขความพอใจขั้นละเอียดมากขึ้น ซึ่งการที่คนเหล่านี้พยายามปฏิบัติธรรมเพื่อพ้นทุกข์นั้น ในแง่หนึ่งพวกเขากำลังท้าทายอำนาจของมารอย่างรุนแรง ทั้งมารที่เป็น “กิเลส” และ “เทวบุตรมาร”

    หลายคนจึงโดนกิเลสที่ละเอียดเล่นงานทั้งแบบรู้ตัวและแบบไม่รู้ตัวนั้น กรณีนี้อาจกล่าวได้ว่าจิตใจของเขายังเสพติดอยู่ใน “วิสัยของมาร” เมล็ดพันธุ์แห่งความชั่วร้ายอันยิ่งใหญ่ หลุมพรางที่ดักสรรพสัตว์บนเส้นทางจิตวิญญาณ ส่งผลให้กลายเป็นมารในที่สุด ถึงตรงนี้คงจะเห็นแล้วว่า มารนั้นมีฤทธิ์มากเพียงใด เพราะแม้แต่ธุลีกิเลสเพียงน้อยนิด หากไม่รู้เท่าทันก็สามารถครอบงำชีวิตของเราได้ในท้ายที่สุด…….

    **********************จบเทวปุตมาร*************************


    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนที่6)
    เรื่องราวของพญามาร

    (ที่มา : พระพุทธประวัติ เรียบเรียงโดย อ.สุรีย์ มีผลกิจ และ มารมีจริง เรียบเรียงโดย เธียรนันท์ และเวบไซต์ palungjit.com)


    พญาวสวัตตีมาร หรือ พญามาร นั้น ก่อนที่จะมาเสวยชาติเกิดเป็นพญามาร ครั้งหนึ่งได้เกิดเป็นมนุษย์ และได้มีชีวิตอยู่ในสมัยพุทธกาลของพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ พญามารผู้นี้ได้เกิดเป็นมนุษย์มีนามว่า โพธิอำมาตย์ เป็นถึงอัครเสนาบดีของพระเจ้ากิงกิสสะมหาราช ผู้ที่มีพระทัยเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก

    วันหนึ่งทรงทราบว่า พระพุทธเจ้าได้เข้านิโรธสมาบัติ ซึ่งผู้ที่ได้ถวายทานเป็นคนแรกหลังจากพุทธเจ้าออกจากนิโรธสมาบัติ จะเป็นบุญมหาศาลยิ่งนัก ถึงขั้นขออะไรก็จะสำเร็จดังนั้นทุกประการทีเดียว พระเจ้ากิงกิสสะจึงประกาศห้ามผู้ใดไปถวายทานก่อนพระองค์เป็นอันขาด ใครฝ่าฝืนจะประหารชีวิตในทันที

    โพธิอำมาตย์ แม้จะทราบคำสั่งของเหนือหัว แต่ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้าที่จะถวายทาน ถึงกับไม่กลัวตาย รุ่งขึ้นจึงได้ชวนภรรยาพร้อมด้วยเครื่องไทยทานรวม 2 ห่อ ตรงไปยังบริเวณต้นไทรใหญ่ที่พระพุทธเจ้าทรงเข้านิโรธสมาบัติอยู่ ทหารรักษาการณ์เห็นดังนั้น จึงตรงเข้าขัดขวาง แต่โพธิอำมาตย์ได้ตั้งใจไว้แล้วว่าจะถวายทานให้ได้ ที่จริงจะบอกไปก็ได้ว่าเหนือหัวให้มาอาราธนาเข้าไปในวัง แต่ไม่ควรจะโกหกเช่นนั้น จึงได้บอกความจริงไปแม้จะต้องถูกประหารก็ไม่กลัว เช่นนั้นแล้วจึงได้ถูกทหารจับตัวไป เมื่อพระเจ้ากิงกิสสะได้ทราบข่าวว่าเสนาบดีของตนเองได้ละเมิดคำสั่งเสียเอง จึงพิโรธเป็นอันมาก จึงได้สั่งประหารทันที

    ฝ่ายพุทธองค์ทรงทราบด้วยพระญาณว่าโพธิอำมาตย์ได้มีศรัทธาแรงกล้าจะถวายทาน แม้จะถูกประหารก็ไม่กลัว จึงทรงกรุณาแก่เสนาบดีมาก จึงเนรมิตพุทธนิมิตให้สถิตย์แทนพระองค์ แล้วไปปรากฎตัวแก่โพธิอำมาตย์ โดยให้เห็นเฉพาะโพธิอำมาตย์เท่านั้น แล้วได้กล่าวว่า
    “ดูก่อนโพธิอำมาตย์ ท่านทำถูกแล้ว จงมีศรัทธามั่นเถิด อย่าอาลัยในชีวิต ไทยทานของท่านอยู่ที่ไหน จงถวายเราเถิด”
    เสนาบดี ผู้น่าสงสาร เมื่อได้ฟังคำตรัสของพุทธเจ้าแล้ว ได้เกิดความเลื่อมใสอย่างสุดใจ รีบนำเครื่องไทยทานของตนและภรรยามาถวายด้วยความศรัทธาอย่างที่สุด และได้ตั้งความปรารถนาแทบพระบาทเอาไว้ว่า


    “ด้วยอำนาจแห่งผลทานครั้งนี้ ขอจงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นพุทธเจ้าเช่นเดียวกับพระองค์ในอนาคตกาลโน้นเถิด”


    พระกัสสปะพุทธเจ้าได้ยกพระหัตถ์ลูบศีรษะของโพธิ์อำมาตย์และได้กล่าวพยากรณ์ว่า
    “ท่านปรารถนาสิ่งใด ขอสิ่งนั้นจงสำเร็จเถิด ท่านจะได้อุบัติเป็นพุทธเจ้าในอนาคตในอนาคตเบื้องหน้าโน้น”








    หลังจากนั้น เสนาบดีก็ถูกประหารชีวิต แล้วไปเกิดบนสวรรค์ชั้นดุสิต และจุติจากดุสิตสวรรค์ลงมาเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎมาช้านาน จนถูกมิจฉาทิฏฐิเข้าครอบงำในระหว่างบำเพ็ญเพียร จนล่าสุดได้ไปเกิดเป็นพญามาร เนื่องจากมีจิตริษยาในพระพุทธโคดม คือ พุทธเจ้าของเรา ที่จะมาตรัสรู้ก่อนตน จึงได้ตามเฝ้าประจัญขัดขวางต่างๆ พญามารเคยพบเจอและขัดขวางพระพุทธเจ้ามาแล้วในอดีตระหว่างที่กำลังสร้างบารมี ในช่วงที่เสวยพระชาติเป็นพระโพธิสัตว์ จนถึงขั้นเคยคิดฆ่าพระโพธิสัตว์ เลยทีเดียว(แต่ไม่สำเร็จ)

    พญามารขัดขวางการออกผนวช

    ในสมัยพุทธกาล เมื่อครั้งพระโพธิสัตว์ตัดสินใจออกผนวช พญามารได้ออกมาขวางทาง พร้อมกล่าวกับพระโพธิสัตว์ว่า นับแต่นี้ 7 วัน จักรรัตนะทิพย์จะปรากฏแก่ท่าน ท่านจักได้ครอบครองราชสมบัติแห่งทวีปใหญ่ทั้ง 4 มีทวีปน้อยสองพันเป็นบริวาร ขอท่านจงกลับไปเสียเถิด พระโพธิสัตว์ตรัสถามว่า ท่านเป็นใคร มารตอบว่า เราคือ วสวัตตีมาร พระโพธิสัตว์ตรัสว่า เราทราบว่าจักรรัตนะจะปรากฏแก่เรา แต่เราไม่มีความต้องการด้วยราชสมบัติ เราจักเป็นพระพุทธเจ้า ไปเสียเถิดมาร มารนั้นกล่าวว่า นับแต่บัดนี้เป็นต้นไปเราจักคอยแสวงหาโอกาส และจักติดตามพระองค์ไปดุจเงาฉะนั้น……

    พญามารขัดขวางการตรัสรู้

    ต่อมาเมื่อถึงวันเพ็ญวิสาขมาส เมื่อพระโพธิสัตว์ตั้งสัจจะยอมพลีชีพเพื่อบรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โพธิบัลลังก์ ณ เวลานั้น เทวดาจากทุกจักรวาล ได้ยืนสดุดีพระโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหมกั้นเศวตฉัตร ท้าวสักกเทวราชเป่าสังข์วิชยุตร (สังข์นี้เมื่อเป่าให้กินลมไว้คราวเดียว จะมีเสียงดังอยู่ตลอดถึง 4 เดือน) คนธรรพ์เทพบุตรชื่อปัญจสิขะ ดีดพิณขับลำนำอันประกอบด้วยมงคล ท้าวสุยามเทวราชถือวาลวิชนีถวายงานพัด พญามหากาฬนาคราชอันมีนาคฟ้อนรำแวดล้อม พรรณนาพระคุณเกินกว่าร้อยบท ปวงเทพทุกจักรวาลบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยดอกไม้ ของหอม และจุรณอันเป็นทิพย์ พากันยืนถวายสาธุการอยู่

    ฝ่ายพญามารที่เฝ้าดูอยู่ตลอด คิดว่า สิทธัตถะนี้ประสงค์จะก้าวล่วงอำนาจของเรา เราจักไม่ให้สิทธัตถะล่วงพ้นไปได้ จึงยกพลมารออกมา สั่งให้พลมารล้อมพระโพธิสัตว์ไว้ทั้ง 4 ด้าน ข้างหน้าและข้างหลังมีระยะทางยาวด้านละ 12 โยชน์ ข้างซ้ายและข้างขวาด้านละ 9 โยชน์ ซึ่งเมื่อเสียงโห่ร้องนั้นบันลือขึ้น จะได้ยินเสียงเหมือนแผ่นดินทรุด

    เมื่อพลมารเข้าไปใกล้โพธิมณฑล บรรดาเทพทั้งหลายแม้แต่สักองค์ก็ไม่อาจยืนอยู่ ณ ที่นั้นได้ พากันหนีไปทันที ท้าวสักกเทวราชลากวิชยุตรสังข์ไปยืนที่ขอบจักรวาล ท้าวมหาพรหมจับยอดเศวตฉัตรเสด็จไปยังพรหมโลกทันที แม้พญากาฬนาคราชก็ดำดินไปยังเชริกนาคภพ เหลือแต่พระโพธิสัตว์ประทับนั่งอยู่บนบัลลังก์เพียงพระองค์เดียว

    พญามารคิดจะทำให้พระโพธิสัตว์ตกใจกลัวแล้วเสด็จหนีไปจึงแสดงฤทธ์ทั้ง 9 คือ โจมตีด้วย ลม ฝน ก้อนหิน เครื่องประหาร ถ่านไฟ เถ้ารึง ทราย โคลน และความมืด แต่พระโพธิสัตว์ก็เอาชนะการจู่โจมทั้งหมดได้ด้วยการระลึกถึงบารมี 10 ที่ได้สั่งสมมา

    เมื่อไม่สามารถเอาชนะได้ พญามารจึงโกรธมาก บังคับหมู่มารว่า พวกเจ้าจะหยุดอยู่ไย จงทำสิทธัตถะให้ไม่เป็นสิทธัตถะ จงทำให้สิทธัตถะหนีไป ส่วนตัวเองนั่งอยู่บนคอช้างคิรีเมขล์ ถือจักราวุธเข้าไปใกล้พระโพธิสัตว์ แล้วกล่าวว่า สิทธัตถะ ท่านจงลุกขึ้นจากบัลลังก์ บัลลังก์นี้ไม่ควรแก่ท่าน บัลลังก์นี้ควรแก่เรา

    พระโพธิสัตว์ ได้ฟังคำของพญามารแล้ว ตรัสว่า ดูกรมาร ท่านไม่ได้บำเพ็ญบารมี 10 ไม่ได้บริจาคมหาบริจาค 5 (ได้แก่ การบริจาคร่างกาย บริจาคดวงตา บริจาคทรัพย์ การสละราชสมบัติและการบริจาคบุตรภรรยา) ไม่ได้บำเพ็ญโลกัตถจริยา ญาตัตถจริยา และพุทธัตถจริยา ทั้งหมดนั้นเราได้บำเพ็ญมาแล้ว ดังนั้นบัลลังก์นี้จึงไม่ควรแก่ท่าน บัลลังก์นี้ควรแก่เราเท่านั้น

    พญามารอดกลั้นกำลังแห่งความโกรธไว้ไม่ได้ จึงขว้างจักราวุธใส่พระโพธิสัตว์ เมื่อพระโพธิสัตว์ทรงรำพึงถึงบารมี 10 จักราวุธนั้นได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ เหล่ามารจึงพากันกลิ้งก้อนหินใหญ่ให้กลิ้งมา ด้วยคิดว่าให้พระโพธิสัตว์หนีไป แต่ก้อนหินเหล่านั้นก็กลายเป็นกลุ่มดอกไม้ ตกลงยังพื้นดิน

    พระโพธิสัตว์ตรัสว่า บัลลังก์นี้เป็นบัลลังก์ที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลายผู้ได้บำเพ็ญบารมีมาแล้ว ดังนั้นย่อมถึงแก่เรา มาร ท่านบำเพ็ญบารมีเพื่อบัลลังก์นี้มาแต่ครั้งไร ในภาวะที่ท่านได้ให้ทาน ใครเป็นสักขีพยานของท่าน พญามารเหยียดมือออกไปตรงหน้าหมู่มาร กล่าวว่า เหล่ามารมีประมาณเท่านี้เป็นสักขีพยานของเรา ขณะนั้นพลมารส่งเสียงอื้ออึงว่า เราเป็นสักขีพยานๆ

    พญามารถามกลับบ้างว่า สิทธัตถะในภาวะที่ท่านให้ทานไว้แล้ว ผู้ใดเป็นสักขีพยาน พระโพธิสัตว์ตรัสว่า ในที่นี้เราไม่มีผู้ใดที่มีจิตใจจะเป็นสักขีพยานให้ได้ ทานที่เราให้แล้วในอัตภาพอื่นๆ จงยกไว้ เอาเพียงในภาวะที่เราดำรงอยู่ในอัตภาพเป็นพระเวสสันดร แล้วได้ให้ สัตสดกมหาทาน (คือให้สิ่งของอย่างละร้อยรวม 7 อย่าง) มหาปฐพีอันหนาทึบนี้ แม้จะไม่มีจิตใจก็เป็นสักขีพยานแก่เราได้

    พระโพธิสัตว์ทรงเหยียดพระหัตถ์ขวา ชี้ลงพื้นมหาปฐพี ทันใดนั้น มหาปฐพีอันกว้างใหญ่ก็บันลือเสียงสนั่นหวั่นไหว ประหนึ่งจะท่วมทับพลมาร ว่า เราเป็นสักขีพยานให้แก่ท่าน ๆ

    (ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส กล่าวว่า นางพระธรณีมิอาจนิ่งอยู่ได้เมื่อถูกพระโพธิสัตว์อ้างเป็นพยาน จึงได้บันดาลเป็นรูปนารีผุดขึ้นมาจากพื้นดิน ยืนอยู่เฉพาะพระพักตร์ของพระโพธิสัตว์ ร้องประกาศว่า ข้าแต่พระมหาบุรุษ ข้าพระองค์ทราบอยู่ซึ่งบุญที่พระองค์สั่งสมมาตั้งแต่ต้น ด้วยว่าทักษิโณทกที่พระองค์หลั่งลงเหนือพื้นปฐพีนั้น ได้ตกลงมาชุ่มอยู่ในมวยผมของข้าพระองค์มากมายประมาณมิได้ ข้าพระองค์จะได้บิดน้ำในมวยผมให้ไหลออกมาประจักษ์ ณ บัดนี้ ว่าแล้วก็บิดน้ำจากมวยผมให้ไหลออกมา น้ำนั้นมากมายไหลท่วมท้นเสนามารทั้งหลายให้ลอยไป)

    ขณะที่พระโพธิสัตว์กำลังพิจารณาถึงทาน ที่ถวายในอัตภาพพระเวสสันดร ช้างคีรีเมขล์ ก็ทรุดตัวคู้เข่าลง พญามารที่นั่งบนคอช้างพลัดตกลงมายังพื้นดิน ขณะเดียวกัน อสนีบาตก็ฟาดเปรี้ยงลงมา มหาเมฆก็ร้องครืนครั่นปานภูเขาจะถล่มทลาย มหาสาครก็ปั่นป่วนกัมปนาท ทั่วจักรวาลเกิดโกลาหลสะท้านสะเทือน หมู่มารทั้งหลายตื่นตระหนกตกใจต่างพากันทิ้งศัสตราวุธหนีหายไปจนหมดสิ้น

    พญามารเห็นเช่นนั้นก็ให้อัศจรรย์ใจ ด้วยความครั่นคร้ามในพระเดชานุภาพของพระโพธิสัตว์ หนีกลับไปยังปรนิมมิตวสวัตตี ประนมมือนมัสการ กล่าวสรรเสริญพระโพธิสัตว์ว่า

    บุคคลในโลกและเทวโลก ที่จะเสมอด้วยพระองค์ไม่มี

    พระองค์จักได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า

    จักขนสัตว์ผู้ชาญฉลาดให้ข้ามพ้นวัฏฏสงสาร

    บรรลุพระนิพพาน ในครั้งนี้แน่นอน

    (ปฐมสมโพธิกถา พระนิพนธ์ในสมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส มารวิชัยปริวัตต์ กล่าวว่า ด้วยอำนาจการกล่าวสรรเสริญคุณพระโพธิสัตว์ในครั้งนี้ พญามารจักได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณในกาลภายหน้า)

    พระโพธิสัตว์ทรงเอาชนะพญามาร และเสนามาร ด้วยอำนาจบารมี 10 ประการ คือ ทาน ศีล เนกขัมมะ ปัญญา วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐาน เมตตา และ อุเบกขาบารมี ที่ได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นเวลายาวนานถึง 4 อสงไขยกับอีกแสนกัป ตั้งแต่ยังไม่ได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า ด้วยประการฉะนี้…

    พญามารทูลขอให้ปรินิพพาน

    พญามารได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ปรินิพพาน 2 ครั้ง ครั้งแรก หลังจากที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ พระพุทธองค์ตรัสว่า ดูกรมาร ตราบใดที่บริษัท 4 อันได้แก่ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ซึ่งเป็นสาวกสาวิกาของเรายังไม่เป็นผู้ฉลาด เป็นพหูสูต ยังไม่สามารถจำแนกธรรมที่สุขุมลุ่มลึกให้แจ่มแจ้ง และสามารถแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ (คำสอนที่เห็นผลได้จริง) ข่มปรับวาท (คำโต้แย้งของลัทธิอื่น) ที่เกิดขึ้นให้เรียบร้อยได้โดยสหธรรม ตราบนั้น เราจักยังไม่ปรินิพพาน

    มารได้ยินดังนั้นก็อันตรธานไปในทันที

    ครั้งที่สอง ในพรรษาที่ 45 ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เมืองเวสาลี ได้ทรงตรัสกับพระอานนท์ถึงอานุภาพของอิทธิบาทสี่ ความว่า “อานนท์ ผู้หนึ่งผู้ใดเจริญอิทธิบาท 4 เป็นนิตย์ ผู้นั้นเมื่อปรารถนาก็จักพึงดำรงชีพอยู่ได้ตลอดกัปหรือเกินกว่ากัป แม้ตถาคตก็เช่นกัน” (คำว่า กัป ในความหมายนี้ท่านกล่าวว่าหมายถึง ชั่วอายุของมนุษย์ในแต่ละยุค หรือ ประมาณ 100 ปี)

    พระบรมศาสดาตรัสย้ำความนี้ถึง 3 ครั้ง พระอานนท์มิได้เฉลียวใจ มิได้กราบทูลอาราธนา เมื่อพระอานนท์หลีกไป พญามารได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์แล้วกล่าวว่า บัดนี้ บริษัท 4 เหล่านั้นมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ ตามพระประสงค์ของพระองค์แล้ว ข้าพระองค์จึงมาทูลขอให้ปรินิพพาน ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงปรินิพพานเถิด พระพุทธองค์จึงตรัสว่า มารผู้มีบาป ท่านจงเป็นผู้ขวนขวายน้อยเถิด จากนี้ล่วงไป 3 เดือน ตถาคตจักปรินิพพาน…….

    พระอุปคุตปราบพญามาร

    ต่อมา หลังจากพระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานได้ 200 ปีเศษๆ พระเจ้าธรรมาโศกราช (พระเจ้าอโศกมหาราช) กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีป ทรงมีศรัทธาอุตสาหะ สร้างพระสถูปเจดีย์ถึงแปดหมื่นสี่พันองค์ เพื่อเป็นการบูชาพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ และยังปรารถนาจะทำการฉลองใหญ่ มีกำหนดถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน ให้สมกับความตั้งใจของพระองค์ที่มีมานาน และการฉลองใหญ่ครั้งนี้ พระองค์เกรงว่าจะถูกรบกวนจากพญามาร ผู้มีอิทธิฤทธิ์สูงส่งนักและมีจิตริษยา พระเจ้าธรรมาโศกราชจึงได้อาราธนาภิกษุสงฆ์เพื่อให้ช่วยป้องกันภัยจากพญามารนี้ แต่เหล่าสงฆ์ทั้งหลายในสังฆมณฑลรู้ตัวดีว่าไม่อาจสู้ฤทธิ์ของพญามารนี้ได้ แต่มีพระภิกษุรูปหนึ่งจำพุทธพยากรณ์ได้ว่า ในอนาคตจะมีภิกษุนามว่า “อุปคุตตเถระ” สามารถกำราบพญามารให้หายพยศ พร้อมทั้งตักเตือนให้พญามารระลึกถึงความปรารถนาในพุทธภูมิได้

    กล่าวกันว่า พระอุปคุตตเถระ ผู้นี้ มีปกติสันโดษอยู่องค์เดียว ชอบแผลงฤทธิ์ลงไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ และเนรมิตปราสาทล้วนด้วยแก้ว 7 ประการ ประดิษฐานอยู่ในท้องมหาสมุทร นั่งเหนือรัตนบัลลังก์ เข้าฌานสมาบัติเสวยวิมุติสุขอยู่ลำพัง เป็นเวลาหลายวัน จนวันพุธเพ็ญกลางเดือน จึงออกจากสมาบัติ เหาะขึ้นมาบิณฑบาต บนโลกมนุษย์ครั้งหนึ่ง แล้วจึงกลับลงไปเข้าฌาน เป็นแบบนี้ตลอดเวลา

    และในครั้งนี้นี่เอง พระอุปคุตตเถระ ได้ถูกภิกษุ 2 รูป ผู้ได้อภิญญาชำแรกมหาสมุทรลงมาแจ้งโทษแก่ท่าน ว่าไม่มีสังฆกรรมร่วมกับสงฆ์ กลับมาหาความสบายแต่ผู้เดียว บัดนี้คำสั่งจากสงฆ์นำมาถึงท่าน ให้ท่านเป็นธุระป้องกันพญามาร อย่าให้ได้รบกวนงานฉลองของพระเจ้าธรรมาโศกราชได้ พระเถระน้อมรับคำสั่งโดยมิได้โต้แย้งใดๆ

    วันเปิดงานมาถึง พระเจ้าธรรมาโศกราชได้เข้าสู่บริเวณงาน พร้อมด้วยคณะสงฆ์มากมาย ขณะนั้นนั่นเอง พญามารผู้มีใจริษยา อดใจไม่ไหว จึงลงมาจากปรนิมมิตวสวัตตี บันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดกระหน่ำ หวังจะทำลายงานดับประทีปบูชาที่จุดสว่างไสว ฝ่ายพระอุปคุตตเถระซึ่งได้คอยระวังอยู่แล้ว จึงบันดาลให้พายุนั้นอันตรธานหายไป

    พญามารโมโหโกรธายิ่งขึ้น และรู้ได้ด้วยฤทธิ์ว่าพระรูปนี้นั่นเอง ที่เป็นผู้ต่อกร จึงเปลี่ยนแผน แปลงร่างเป็นวัวกระทิงตัวใหญ่ยักษ์ เขาโง้งแหลมคมราวกับหอก วิ่งพุ่งออกมาจากพุ่มไม้ หวังจะทำลายโรงพิธีให้แหลกไป พระเถระเห็นเช่นนั้น ก็ไม่รอช้า แปลงกายเป็นเสือลายพาดกลอนตัวใหญ่ ตรงเข้าตะลุมบอน ต่อสู้กันอย่างดุเดือด ไม่นานนักวัวกระทิงก็โดนเสือตะปบไปนอนกองแทบจะตายแหล่ แต่ไม่นานก็เปลี่ยนร่างเป็นพญานาค 7 เศียร พ่นไฟใส่เสือโคร่ง หมายจะเอาชีวิต พระเถระเห็นว่าเสียเปรียบจึงแปลงกายเป็นพญาครุฑตัวใหญ่ โดดเข้าจิกหัวพญานาคลากกลิ้งไปอย่างไม่ปราณี เล่นเอาพญานาคร้องโอดโอยและได้เปลี่ยนร่างเป็นยักษ์ใหญ่ นัยน์ตาดุดัน ถือกระบองยักษ์เท่าต้นตาล กวัดแกว่งทุบหัวพญาครุฑโดยไม่รั้งรอ พญาครุฑเห็นเช่นนั้น จึงเปลี่ยนร่างเป็นยักษ์ที่ใหญ่กว่าถึง 2 เท่า ถือกระบองยักษ์ 2 อัน เหวี่ยงเข้าทุบศีรษะพญามารอย่างรุนแรง และรวดเร็วราวกับจักรผัน ยากที่พญามารจะป้องกันได้ ในที่สุดก็กลับร่างและยอมแพ้ไปในที่สุด

    พระเถระเห็นดังนั้น ไม่รอช้า ได้เนรมิตร่างหมาเน่า กลิ่นเหม็นฟุ้งเต็มไปด้วยหนอน และดึงประคตจากเอวของท่าน ออกมาผูกร่างหมาเน่าและเหวี่ยงไปคล้องคอพญามาร พร้อมว่าตั้งสัจจาฤทธิ์ไว้ว่า
    “ไม่ว่าใครก็ตาม ย่อมไม่อาจเอาหมาเน่าออกจากคอพญามารได้”
    จากนั้นก็ขับไล่พญามารให้ออกไปจากพื้นที่นั้น

    พญามารผู้เลิศฤทธิ์ พอถูกหมาเน่าคล้องคอก็พาลหมดฤทธิ์เอา ไม่อาจทำอะไรได้ จะเอาออกเองก็มิได้ ได้แต่ไปวอนขอให้เพื่อนเทวดา ตั้งแต่เทวกษัตริย์สวรรค์ชั้นที่ 1 – 6 ให้ช่วยเอาออกให้ ก็ไม่มีใครเอาออกได้ ได้แต่แนะนำว่า ให้ไปขอขมากับพระเถระดีกว่า ให้ท่านช่วยแก้ให้ พญามารไม่มีทางเลือก ได้แต่จำใจกลับไปหาพระอุปคุตตเถระ เพื่อขอขมาและบอกให้ท่านช่วยเอาออกให้ พระเถระยินดีเอาออกให้ แต่ก่อนอื่น อยากให้ตามมาทางนี้ก่อน พระเถระได้นำพญามารมายังภูเขาใหญ่ลูกหนึ่ง แล้วหยิบเอาหมาเน่าออกและโยนทิ้งไปในเหว พร้อมกันนั้น ก็เนรมิตประคตนั้นให้ยาวขึ้น และพันรอบตัวพญามารไว้กับภูเขา แล้วกล่าวว่า


    “ท่านจงอยู่ที่นี่ จนกว่าพระเจ้าธรรมาโศกราชจะทำพิธีฉลองสถูปเจดีย์ครบ 7 ปี 7 เดือน 7 วันให้เสร็จสิ้นไปก่อน”


    กล่าวจบก็เดินไปโดยไม่เหลียวหลังกลับมามอง

    พญามารได้รับทุกขเวทนาอยู่ที่นั่นเป็นเวลานานถึง 7 ปี 7 เดือน 7 วัน จนเมื่อครบกำหนด พระเถระได้กลับมาเพื่อจะปลดปล่อยพญามาร แต่ได้เดินมาแอบดูก่อน พญามารเป็นอย่างไรบ้าง พญามารเอง ก่อนเคยมีวิมาน มีสุข เมื่อมารับทุกขเวทนาเช่นนี้จึงละพยศในสันดาน และนึกถึงพระพุทธโคดมและกล่าวออกมาว่า


    “เมื่อพระองค์สถิตย์ใต้ต้นมหาโพธิ์ ข้าพระองค์ขว้างจักราวุธอันคมกล้าไป หมายจะปลิดชีพพระองค์ แต่จักรนั้นกลับกลายเป็นดอกไม้บูชาพระองค์ และไม่ว่าจะขว้างอาวุธอะไรไป ก็กลายเป็นดอกไม้ไปเสียหมด คราวนั้นข้าพ่ายแก่พระองค์ แต่พระองค์ก็ไม่ได้โต้ตอบอันใด บัดนี้สาวกของพระองค์มีจิตใจเหี้ยมโหดทำร้ายข้า ทำให้ข้าพระองค์ได้รับทุกข์สาหัสเหลือเกิน”


    คิดแล้วก็เศร้าโศกและโมโห เอาบาทกระทืบพื้นดังลั่น แต่แล้วก็หวนคิดถึงพุทธภูมิที่เคยตั้งใจไว้ที่แทบพระบาทพระกัสสปะพุทธเจ้า ในที่สุดพญามารก็สำนึกได้ จึงลดละความริษยา ตั้งใจอยู่ในคุณธรรม เพื่อที่จะเป็นพระพุทธเจ้า เป็นที่พึ่งแก่สัตว์ทั้งหลายในอนาคต

    ครั้นกล่าวจบ พระเถระได้แสดงตนออกมา และแก้มัดให้กับพญามาร
    “ดูก่อนพญามาร ขอท่านยกโทษให้ข้าด้วย แม้การกระทำของข้าครั้งนี้จะทำร้ายท่าน แต่ก็ทำให้ท่านระลึกถึงพุทธภูมิที่ท่านเคยตั้งใจปรารถนาไว้”
    ต่อจากนั้น พระเถระได้ขอให้พญามารได้แปลงกายเป็นพุทธองค์ เพื่อจะได้เห็นพุทธานุสติบ้าง พญามารรับคำ แต่บอกว่า ห้ามลืมตัวกราบไหว้เด็ดขาด มิฉะนั้นตนจะบาปหนัก

    ครั้นแล้ว พญามารก็เนรมิตตนเป็นพุทธเจ้า ประกอบด้วยมหาปุริสลักษณะ และฉัพพรรณรังสีอันวิจิตร มีพระอัครสาวกเบื้องซ้ายขวา แวดล้อมด้วยมหาสาวกทั้งหลายเป็นบริวารเสด็จเยื้องย่างด้วยพุทธลีลางดงามยิ่งนัก

    พระเถระและพุทธบริษัทเห็นเช่นนั้น ก็เกิดความปิติอย่างสูงยิ่ง เกิดปิติลืมตัวพร้อมกันนมัสการด้วยเบญจางคประดิษฐ์ทั้งสิ้น ทำให้พญามารตกใจกลับร่างเดิม
    “ทำไมท่านลืมสัญญามากราบไหว้ข้าเล่า”
    “พวกเรามิได้ไหว้ท่านหรอก เพียงแต่กราบไหว้บูชาพระพุทธเจ้าและพระสาวกต่างหาก”
    “แต่ข้าก็บาปนะท่าน”
    “ไม่บาปหรอก ท่านได้ทำกุศลแก่พวกเราต่างหาก”

    จากนั้น พญามารก็กลับคืนสู่สวรรค์ และตั้งแต่นั้นมา พญามารก็มีจิตเลื่อมใสในพุทธศาสนามาตลอด และบำเพ็ญตนเพื่อจะได้มาตรัสรู้เป็นพุทธเจ้าในอนาคตต่อไป… พญามารจะมาบังเกิดเป็นพุทธเจ้ามีพระนามว่า “พระพุทธธรรมสามี” เป็นพุทธเจ้าองค์เดียวในกัลป์นั้น ต่อไปในอนาคตอันไกลโพ้น

    ตอนที่พญามารขัดขวางพระพุทธเจ้า ท่านบำเพ็ญบารมี มา8อสงไขย
    เหลืออีก 8 อสงไขยจึงจะครบตามที่ปรารถนา












    แถมอีกเล็กน้อย…

    หลวงพ่อฤาษีไปเยี่ยมพญามาร

    อ้างอิง เรื่องจริง อิงนิทาน โดยพระราชพรหมยาน วัดท่าซุง

    วันที่ไปเยี่ยมจาตุมหาราชที่เล่ามาแล้ว นั้น ก็เลยไปดาวดึงส์ ไปยามาแล้วก็ดุสิต ที่ชั้นดุสิตหลวงพ่อปานมารับ ก็กราบๆ ท่าน ท่านถามว่า เออ อยากพบพระศรีอาริย์ไหมล่ะ ตอบว่า อยากจะเจอะ จะเจอะยังไงได้ล่ะ ท่านบอกว่า ไม่ต้องไปหรอก ท่านมาแล้ว สวย ดุสิตนี่สวยจริง ๆ ยามาน่ะ เขาขาวพรึ่ดหมด ต้นไม้น่ะมีแค่ ดาวดึงส์แห่งเดียวนะ เทวดานักฟ้อนก็มีแต่ดาวดึงส์แห่งเดียวเพราะว่า เป็นเมืองหลวง ชั้นยามาสวดมนต์ ตะพึด ดุสิตสวยสดงดงาม ไปถึงชั้นนิมมานรดี เทวดาที่ทำหน้าที่นิรมิตต่างๆเป็นชั้นที่ 5 ที่ว่า “ชั้น”น่ะไม่ใช่เป็นชั้นซ้อนๆ กันนะ เป็นพื้นเดียวอย่างโลกเรานี่แหละ แบ่งเป็นเขตเท่านั้นเองแต่เป็นทิพย์ ไปถึงแวะ เยี่ยมท่านแก้วจินดาก่อน ท่านแก้วจินดา ท่านก็มาด๊งเด๊ง ๆ ตามสภาพของท่าน องค์นี้เคยทะเลาะกันมาเรื่อย

    ท่านถามว่ามาไงล่ะ ตอบว่า มาเที่ยวซี
    ถามท่านว่า เออ วิมาน พระยามาราธิราช อยู่ไหน หัวเราะก้ากเลย บอกว่า พระโง่ยังงี้ก็มีด้วย
    ถามว่าทำไมล่ะ ตอบว่า ที่นี่เขาเรียก ท้าวมาลัย ครับ ที่นี่ไม่มีพระยามาราธิราชหรอก มีแต่สมัยพระพุทธเจ้า

    ชื่อแกจริงๆ ชื่อ ท้าวมาลัย เป็นหัวหน้าเทวดาชั้น ที่ 6 เป็นผู้ว่าการ ก็เลยไปหากัน ท่านก็ออกมารับแหม สวยแฉ่งเลย รัศมีกายผ่องใส มารับที่เขตวิมานเชียวนะ ที่ไปกันตอนนี้สมทบกันไปหลายชั้น จำนวนมันก็หลายหมื่นซี ท่านเชิญเข้าไป ไอ้หน้ามุขมันนิดเดียวแหละถามท่านว่า ขึ้นหมดรึนี่ ท่านตอบว่า ไม่เป็นไรหรอก วิมานเทวดายืดได้ แน่ะ เก่งเสียด้วย ไม่เหมือนเมืองมนุษย์หรอก ตั้งแค่ไหนก็แค่นั้น มองดูกะว่า จุสัก 200 ก็แย่แล้ว แต่เราเข้าไป เป็นหมื่นยังเต็มไม่ถึงครึ่ง คุยไปคุยมา

    ถามท่านว่า ทำไมถึงไปริดรอนพระพุทธเจ้า ตอบว่า ปัดโธ่ ท่านไม่รู้จักความโง่ของผม
    ถามว่า ทำไมล่ะ ตอบว่า ผมกลัวพระพุทธเจ้าจะเทศน์สอนเอาคนไปนิพพานเสียหมด พอเวลาผมเป็นพระพุทธเจ้าบ้างแล้ว ผมจะสอนใครล่ะ

    เราก็นึกในใจว่า โธ่ ไม่น่าโง่เลย จะขนไปยังไงหมด ถามท่านว่า เวลานี้ยังเป็น พระยามาร ไหม ท่านตอบ ไม่ ๆ ๆ ๆ พวกท่านมีหลายคน แหม เขากลัวพระยามารกันจริง ๆ ก็ไอ้มารอยู่ในตัวเองน่ะไม่ยักกลัว พระยามารนี้เวลานี้ช่วยชาวบ้าน พวกพุทธมามกะทุกคน พระยามารต้องบังคับให้ลูกน้องไปช่วยเหลือ คือ ที่ประคับประคอง พวกเรานี่แหละ จะเรียกว่า พระยามาร ไม่ได้แล้วนะ ต้องเรียกว่า ท้าวมาลัย

    มาร 5 และคัมภีร์ปราบมาร (ตอนจบ)
    คัมภีร์ปราบมาร


    จากที่กล่าวในแต่ละเรื่องข้างต้น ผู้เขียนก็ได้สอดแทรกวิธีต่อสู้กับมารแต่ละประเภทไปบ้างแล้ว ซึ่งมารแต่ละแบบก็ต้องใช้เทคนิคต่างๆ เข้าสู้ เช่น

    - เทวบุตรมาร อาจใช้การแผ่เมตตาให้ท่าน เพื่อป้องกันไม่ให้มารดลใจเราได้ (อย่างพระพุทธองค์ทรงระลึกถึงบารมี 10 ที่ได้บำเพ็ญมา สามารถเอาชนะเหล่ามารได้ แต่บารมีระดับผู้เขียน ก็ไม่รู้จะเป็นยังไง แต่ผู้เขียนคิดว่าหากเรานึกถึงบารมีของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ก็น่าจะสู้กับมารได้ อย่างมากก็แค่ตาย แต่หากเขาจะฆ่าเราตายจริง ก็ขอตั้งใจไปอยู่กับพระพุทธองค์ละกันครับ)

    - กิเลสมารประเภทปรามาสพระรัตนตรัย ต้องใช้การขอขมาพระรัตนตรัยบ่อยๆ เข้าสู้

    - กิเลสมารประเภทอนุสัย อันหมายถึง กิเลสที่นอนเนื่องอยู่ในสันดาน ได้แก่ กามราคะ (ความกำหนัดในกาม), ปฏิฆะ (ความขัดใจ, ความหงุดหงิดขัดเคืองคือโทสะ), ทิฏฐิ (ความเห็นผิด), วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย), มานะ (ความถือตัว), ภวราคะ(ความกำหนัดในภพ), อวิชชา (ความไม่รู้จริง คือ โมหะ)

    เช่น การที่เรามีความคิดที่เป็นอกุศลผุดขึ้นมา ทั้งที่ไม่เคยมีในความคิดมาก่อนเลย หลวงพ่อฤาษีฯ วัดท่าซุง ท่านแนะนำว่า ให้รู้เท่าทัน และปล่อยวาง อย่าเอาจิตไปยึดจนเศร้าหมอง (เพราะหากตายไปตอนนั้นที่จิตกำลังเศร้าหมอง จะตกนรก) ให้ทำบ่อยๆ ก็จะหายไปเอง

    ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร แนะนำว่า ต้องเจริญพละธรรม 5 (ศรัทธา วิริยา สติ สมาธิ ปัญญา) ให้มีกำลังกล้าแข็ง และเมื่อใดความคิดที่เป็นอกุศลผุดขึ้นในจิต ให้ใช้สติและปัญญาที่มีกำลังกล้าแข็ง ตามดูความคิดที่เป็นอกุศลนั้น เวียนเข้าสู่อนัตตาคือความคิดอกุศลไม่มีตัวตนแท้จริง ตามกฎไตรลักษณ์ได้แล้วความคิดเป็นอกุศลจะหมดไปจากใจ

    - กิเลสมารประเภท ความขี้เกียจ (ถีนมิทธะ) หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แนะนำให้ใช้ “วินัย” เข้าสู้ ดังคำกล่าวของหลวงพ่อพุธ ที่แนะวิธีเอาชนะตนเอง คือ จงมี วินัย แล้วเราจะมีพลังจิตเข้มแข็งขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ดังนี้

    “การนอนเป็นเวลา การตื่นเป็นเวลา การรับประทานเป็นเวลา การขับถ่ายเป็นเวลา การอาบน้ำเป็นเวลา ทำอะไรให้ตรงต่อเวลา แล้วก็ให้มีสัจจะไว้ในใจว่า เราจะทำอะไรให้มันจริงใจสักอย่างหนึ่ง ให้เป็นวิหารธรรมเครื่องอยู่ของใจ นี่คือแผนการสร้างพลังจิตพลังใจ การทำอะไรเป็นเวลาตรงไปตรงมา มันเป็นการสร้างสัจจบารมี ถ้าใครมีสัจจะความจริงใจ มีสัจจบารมีใกล้ต่อการตรัสรู้ ถ้าขาดสัจจะความจริงใจแล้ว ยังห่างพระพุทธเจ้า”


    และในบทนี้จะขอกล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีเอาชนะมาร จากพระไตรปิฎกและที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมา…..

    วิธีเอาชนะมารทั้ง 5

    พุทธวิธีพิชิตมาร

    มารเธยยสูตร

    “ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้ประกอบด้วยธรรม ๓ ประการ ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารแล้ว ย่อมรุ่งเรืองดุจพระอาทิตย์ฉะนั้น

    ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้

    เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยศีลขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑

    เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยสมาธิขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑

    เป็นผู้ประกอบแล้วด้วยปัญญาขันธ์อันเป็นของพระอเสขะ ๑

    ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุผู้ประกอบแล้วด้วยธรรม ๓ ประการนี้แล ก้าวล่วงบ่วงแห่งมารแล้ว ย่อมรุ่งเรืองดุจพระอาทิตย์ฉะนั้นฯ”

    พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๗

    สังยุตตนิกาย สคาถวรรค สุภสูตรที่ ๓

    “สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคได้ตรัสรู้แล้วใหม่ๆ ประทับอยู่ที่ต้นไม้อชปาลนิโครธใกล้ฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ณ อุรุเวลาประเทศ ก็โดยสมัยนั้นแลพระผู้มีพระภาคประทับนั่งในที่กลางแจ้งในราตรีอันมืดทึบ และฝนกำลังตกประปรายอยู่ ฯ

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปใคร่จะให้เกิดความกลัว ความครั่นคร้ามขนลุกขนพองแด่พระผู้มีพระภาคจึงเข้าไปใกล้พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วแสดงเพศต่างๆ หลากหลาย ทั้งที่งามทั้งที่ไม่งาม ในที่ไม่ไกลแต่พระผู้มีพระภาค ฯ

    ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบว่า นี่มารผู้มีบาป ดังนี้จึงตรัสกะมารผู้มีบาปด้วยพระคาถาทั้งหลายว่า ท่านจำแลงเพศทั้งที่งามทั้งที่ไม่งาม ท่องเที่ยวอยู่ตลอดกาลอันยืดยาวนาน มารผู้มีบาปเอ๋ย ไม่พอที่ท่านจะทำการจำแลงเพศนั้นเลย ดูกรมารผู้กระทำซึ่งที่สุด ตัวท่านเป็นผู้ที่เรากำจัดเสียได้แล้ว ฯ

    และชนเหล่าใดสำรวมดีแล้ว ด้วยกาย ด้วยวาจา และ ด้วยใจ ชนเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นผู้ตกอยู่ในอำนาจของมาร ชนเหล่านั้น ย่อมไม่เป็นผู้เดินตามหลัง ฯ

    ครั้งนั้นแล มารผู้มีบาปเป็นทุกข์เสียใจว่า พระผู้มีพระภาค ทรงรู้จักเรา พระสุคตทรงรู้จักเรา จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง ฯ”

    นั่นคือ การสำรวมระวังอายตนะ อันได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ไม่ให้พลั้งเผลอกระทำผิดคิดชั่ว ปรุงแต่งฟุ้งซ่านไปตามกิเลสมาร ก็เพียงพอที่จะทำให้เราไม่ตกอยู่ในอำนาจมาร ทำให้เรามีกำลังสติในการต่อสู้กับมารต่อไปได้ เมื่อสำรวมระวังได้แล้วก็ต้องระวัง อย่ายึดมั่นหรือหวงแหนสิ่งที่เกิดจาก “ตัวกู ของกู” ปล่อยวางขันธ์ 5 ว่า “ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา” มันจะปวด จะทุกข์ หรือจะตายก็ช่างมัน เอาจิตของเรามุ่งสู่พระนิพพานเท่านั้น


    ดังพุทธพจน์ที่พระพุทธเจ้าเคยตรัสไว้ ณ พระนครสาวัตถี ความว่า

    “ครั้งนั้นแล ท่านพระราธะได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกว่า มาร มาร ดังนี้ มารเป็นไฉนหนอ?

    พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรราธะ รูปเป็นมาร เวทนาเป็นมาร สัญญาเป็นมารสังขารเป็นมาร วิญญาณเป็นมาร ดูกรราธะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในรูป ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในเวทนา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสัญญา ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในสังขาร ย่อมเบื่อหน่ายทั้งในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น

    ครั้นหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้วพรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี”


    เอาชนะมาร ด้วยพละ 5

    ท่านอาจารย์ ดร.สนอง วรอุไร เคยสอนในเรื่อง ทางสายเอก ว่า การที่เรามี พละธรรม 5 ประการ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา เป็นการสร้างกำลังใจให้กล้าแข็ง สร้างความดีให้คงอยู่ได้ ให้เจริญเสมอเมื่อเราตื่น จะสามารถสู้มารได้ทุกประเภท

    สำหรับเทวบุตรมาร เขามีหน้าที่มาทดสอบ จะหลุดจากวัฏสงสารได้ต้องผ่านด่านทดสอบของเขาก่อน ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังเรื่อง เจอเทวบุตรมารมาทดสอบ เมื่อครั้งที่ท่านบวชและนั่งสมาธิอยู่ในโบสถ์วัดมหาธาตุ ท่าพระจัน ปรากฏว่า นั่งๆ อยู่ มีผีมาบีบคอ ที่แรกไม่รู้ท่านอาจารย์กลัวมากด้วยนึกว่าผี ท่านว่าตอนนั้นกลัวมากถึงขนาดเป็นพระนุ่งห่มเหลืองผมโล้น ขนหัวยังตั้งเลย กลัวมากที่สุดในชีวิตไม่มีอะไรเท่า แต่ด้วยศรัทธาในครูบาอาจารย์ จะบีบยังไงก็ไม่ตาย ถึงตายก็ขอให้ได้ธรรมะของพระพุทธเจ้า พอคิดได้ดังนี้สุดท้ายผีก็เลิกบีบคอ แล้วหายไปไม่มาอีกเลย สุดท้ายท่านอาจารย์เลยได้วิปัสสนาญาณ….



    สมเด็จองค์ปฐมสอนให้เอาชนะมารด้วยการเจริญมรณานุสติควบกับอาณาปาณสติ

    สมเด็จองค์ปฐม ทรงพระเมตตามาสอนเรื่อง มรณานุสติกับอย่ากลัวกิเลสมารและขันธมาร มีใจความสำคัญ ดังนี้
    ๑. “เจ้าจงหมั่นจำอารมณ์ตัดตายนั้นไว้ เพื่อ เป็นแนวทางปฏิบัติครั้งต่อ ๆ ไป ทางที่ดีอย่าเลือกตั้งอารมณ์นี้เฉพาะเวลา ควรตั้งไว้ให้จิตพร้อมอยู่เสมอตลอดเวลา เพราะเป็นอารมณ์สละร่างกาย คลายความเกาะเวทนาลงไปได้เด็ดขาด”
    ๒. “จิตกำหนดรู้ลมหายใจอยู่ตลอดเวลา อย่าพึงคิดว่าทำไม่ได้ จักต้องคิดว่าทำได้ ทุกอย่างสำเร็จลงได้ด้วยความเพียร”
    ๓. “อย่ากลัวการประจัญหน้ากับขันธมารและกิเลสมาร เพราะนั่นคือครู ที่จักทดสอบอารมณ์จิตของพวกเจ้าว่า จักผ่านอุปสรรคเหล่านี้ไปได้หรือไม่ ขันธมารและกิเลสมารเป็นของจริง ที่นักปฏิบัติพระกรรมฐานจักต้องลุยผ่านทุกคน ถ้าชนะได้ก็ถึงพระนิพพาน แต่ถ้าแพ้ก็ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป อย่าหนีความจริง ขันธมารกับกิเลสมารเป็นของคู่มากับร่างกาย ซึ่งมันได้ผูกจิตจองจำ กักขังเรามานานนับอสงไขยกัปไม่ถ้วน อดทนต่อสู้เข้าไว้”
    ๔. “ถ้าชาตินี้ยอมพ่ายแพ้แก่มัน ชาติต่อ ๆ ไป ก็ไม่มีทางชนะมันได้ ทำกำลังใจให้เต็ม เมื่อรู้แล้วว่าร่างกายนี้มีแต่ทุกข์หาสุขไม่ได้ เป็นเหยื่อของกิเลส ตัณหา อุปทาน และอกุศลกรรม เราโง่หลงผูกติดกับร่างกายนี้มานาน หลงอารมณ์ที่เพลินไปกับกิเลสมาร ชาติแล้วชาติเล่า อย่างไม่รู้เท่าทันความทุกข์ อันเกิดจากขันธมารและกิเลสมารนั้น”
    ๕. “มาบัดนี้ พวกเจ้ารู้ทุกข์ อันเกิดจากกิเลสมารและขันธมารมาพอสมควรแล้ว จง รักษาอารมณ์ตัดตาย สละร่างกายนี้ทิ้งไป เพื่อเป็นฐานกำลังของจิต ควบคู่กับอานาปานุสติให้ทรงอยู่เสมอ ๆ จุดนี้เป็นจุดสำคัญที่จักทำให้การเจริญสมณธรรมของพวกเจ้า มีผลเจริญขึ้นตามลำดับ จงจำเอาไว้ให้ดี”
    ๖. “ถ้าคราวใดขึ้นต้นตั้งอารมณ์นี้ไม่ถูก ก็ให้พิจารณาร่างกาย ไม่ว่าภายในหรือภายนอก วัตถุธาตุใด ๆ ทรัพย์สินต่าง ๆ พังสลายไปหมด กล่าวคือพิจารณาไตรลักษณ์ เห็นทุกสิ่งทุกอย่างพังหมด ไม่มีอะไรเหลือ (อารมณ์อากิญจัญญายตนะฌาน) จนในที่สุด หาสิ่งยึดถือมาเป็นสาระแก่นสารไม่ได้ โลกและขันธโลกมีความเสื่อมสลายไปในที่สุด ค่อย ๆ คิดพิจารณาจนจิตยอมรับ แล้วจึงจับลมหายใจเข้าออก จนจิตเข้าถึงฌาน (หมายความว่า เริ่มต้นให้พิจารณาก่อนจนจิตสงบ แล้วจึงค่อยจับลมหายใจเข้าออก) ให้จิตทรงตัวอยู่ระยะหนึ่ง จึงหวนกลับมาจับวิปัสสนาญาณตามความต้องการต่อไป”
    ๗. “อย่าลืม ทำกรรมฐานทุกครั้ง ให้แผ่เมตตาไปทั่วจักรวาลก่อน เป็นการทำอารมณ์จิตให้เยือกเย็นอยู่ในพรหมวิหาร ๔ จนเกิดวิสัยเคยชิน ฝึกได้เมื่อไหร่ แผ่เมตตาไปเมื่อนั้น มีเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้แก่จิตและกายของตนเอง และพร้อมกันนั้นมีให้แก่จิตและกายของบุคคลอื่นด้วย”
    ๘. “อารมณ์พรหมวิหาร ๔ นี้ จะลดไฟโมหะ โทสะ ราคะ ให้เจือจางไปจากจิตได้ และในบางขณะที่ระลึกได้ ก็ควรจักนำพรหมวิหาร ๔ ขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้เป็นคุณแก่อารมณ์ของจิตอย่างเอนกอนันต์ด้วย”

    ที่มา : ธรรมที่นำไปสู่ความหลุดพ้น เล่ม ๖
    รวบรวมโดย พล.ต.ท. นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน




    *****************จบเรื่องมาร 5*******************

    ที่มา: http://www.dhamma-of-buddha.com/php/simple/?t377.html
     

แชร์หน้านี้

Loading...