Loka

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย 00p, 20 มีนาคม 2007.

  1. 00p

    00p สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    13
    ค่าพลัง:
    +22
    โลกคืออะไร

    ในสมัยพุทธกาล มีลูกมหาเศรษฐีออกบวช ชาวบ้านมากมายสงสัยกันว่า ท่านมีเงินทอง ทรัพย์สมบัติมากมาย สามารถซื้อความสุข สิ่งของทุกอย่างในโลกนี้ได้หมด แต่ทำไม? ท่านกลับละทิ้งทรัพย์สมบัติทางโลก แล้วออกบวชแสวงหาธรรมดับทุกข์ พระที่เป็นลูกเศรษฐี จึงตอบว่า...สาเหตุที่ออกบวชมีอยู่ ๔ ประการ คือ
    ๑..โลก คือ หมู่สัตว์อันชราเข้ามาใกล้ไม่ยั่งยืน
    หมายถึง ร่างกายชีวิตเรามีความแก่ เจ็บ ทรุดโทรมลงทุกวัน แม้เป็นเศรษฐีมีทรัพย์สินสมบัติเงินทอง แต่ท่านมองเห็นแล้วว่า เราจะตายวันไหนยังไม่รู้เลย ถ้าตายวันนี้ ทุกสิ่งที่เราเคยครอบครองมีอยู่ มันก็ไม่ใช่ของเราอีกต่อไป คนอื่นก็มาครอบครองยึดถือแทนเรา ความเจ็บป่วย แก่ชรา ความทุกข์ทรมานของร่างกาย นับว่าเป็นทุกข์ที่สุด เพราะฉะนั้น ชีวิตนี้จึงไม่น่ายินดี หรือดีใจเมื่อได้ร่างกายนี้มา เพราะเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์มากมาย บางคนก็ตายเร็ว บางคนก็ตายช้า มันเป็นไปตามเหตุปัจจัยปรุงแต่งของสังขาร ตามเวรกรรมที่เราได้สร้างสมมาจนนับชาติไม่ถ้วน
    ๒..โลก คือ หมู่สัตว์พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่รู้จักอิ่ม เป็นทาสของตัณหา
    ความอยากได้ เป็นสัจธรรม ตั้งแต่ครั้งพุทธกาลมาจนถึงปัจจุบันนี้ คนเราก็ยังอยากได้ อยากมี อยากเป็น อยู่เช่นนี้ตลอดกาล ความอยากไม่มีที่จบสิ้น ไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีวันจบ ยิ่งความเจริญทางวัตถุสิ่งของมันยั่วยวนมากขึ้น ต้องแสวงหาเงินทองมาแลกซื้อวัตถุสิ่งของ เพื่ออาศัยอยู่กินเสวยสุข ได้เท่าไหร่ ก็ไม่มีวันพอ ใจพร่องอยู่เป็นนิตย์ ไม่มีวันอิ่ม เป็นทาสของความต้องการ
    เมื่อเกิดมาแล้ว ต้องมาดิ้นรนตามความอยาก ความปรารถนาอยู่แค่นี้ คุณค่าของความเป็นมนุษย์ก็หมดลง เพราะมนุษย์เป็นผู้มีจิตใจสูง และ ประเสริฐกว่าสัตว์ ต้องมีปัญญาแสวงหาสิ่งดีกว่า วัตถุสิ่งของทรัพย์สมบัติ แสวงหาสิ่งที่ดีกว่าความสุขทางโลก นั่นคือ การหลุดพ้นจากความทุกข์ เพียงแต่เราเอาความอยากออกไปจากใจอย่างเดียว ปัญหาชีวิตจะหมดไป
    เราต้องมาฝึกจิตใจให้สงบ ( สมาธิ) แล้วพิจารณาปัญหาต่างๆ ให้ลงสู่กฏไตรลักษณ์ทุกครั้ง จนจิตสามารถยอมรับสภาพเรื่องราวปัญหาต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นได้ว่า บางเรื่องก็แก้ไขได้ แต่บางครั้งก็แก้ไขไม่ได้ มันเป็นธรรมดาของสรรพสิ่งในโลกนี้ เราไม่ต้องไปตกใจเครียด กลุ้มใจกับปัญหานั้น เมื่อใจเราเป็นกลาง สามารถยอมรับทุกเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แล้ววางอารมณ์ ปลดปล่อยออกไปจากจิต ความทุกข์จะหมดไป
    ๓..โลก คือ หมู่สัตว์ ไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าเรื่องของตัวเอง
    คนเรารักตัวเองมากที่สุด หาอยู่ หากิน หาความสุข ก็เพื่อให้ตัวเองสุขสบาย ไปมองคุณค่าทางวัตถุสิ่งของ มากกว่า มองคุณค่าทางด้านจิตใจที่สงบ ไปหลงความเอร็ดอร่อยกับ เรื่อง กิน กาม เกียรติ์ จึงมีแต่ความโลภ โกรธ หลง มากยิ่งขึ้น ใจก็เร่าร้อน วุ่นวาย เหมือนอยู่ในที่มืด ไม่มีทางออกไปพบแสงสว่าง
    ถ้าเราต้องการหาทางออกมาจากปัญหา คือ ความทุกข์ จะต้องมีธรรมะเป็นที่พึ่งทางใจ รู้จักการฝึกจิตใจให้สงบและไม่ยึดถือความคิด มองโลกและชีวิตให้ถึงแก่นแท้ว่า มันจะได้อะไร แล้วเราจะมาดิ้นรนแสวงหาอะไรกัน เราจะได้ทุกสิ่งจากโลกนี้ จริงไหม ทางที่จะหมดความทุกข์ทางใจ หาเจอหรือยัง สิ่งที่ดีที่สุดเพื่อชีวิต คืออะไร? ต้องรู้จักคิดพิจารณาหาคำตอบให้ได้?
    ๔..โลก คือ หมู่สัตว์ ไม่มีอะไรเป็นของตัวเองจริงๆ จะสูญเสียทุกสิ่งไป
    ทุกสิ่งที่เราได้อิงอาศัยกันอยู่บนโลกนี้ เราอยู่กับมัน ครอบครองมัน ขณะที่มีลมหายใจเท่านั้น มันไม่อยู่กับเราเช่นนั้นตลอดไป บางทีก็เปลี่ยนแปลงสูญหายไปจากเรา กลับกลายเป็นของคนอื่น เราจึงเป็นเจ้าของโดยสมมติชั่วคราวเท่านั้น วัตถุสิ่งของ ทรัพย์สิน ลูก เมีย ผัว หน้าที่การงาน จึงเป็นมายาลวงชั่วคราว ให้เราไปลุ่มหลงมัวเมาว่า เป็นของเราตลอดไป ทำให้ต้องเหน็ดเหนื่อย ทุกข์ยาก ดิ้นรนแสวงหามาโดยคิดว่า จะนำมาซึ่งความสุข แต่ส่วนมาก สุขนิดเดียว ทุกข์มากกว่าเยอะ แล้วมันคุ้มค่ากับคุณค่าของชีวิตหรือ ลองคิดดู?
    บางครั้งกว่าจะได้มาต้องเอาชีวิตเข้าแลก ต้องรบราฆ่าฟัน แย่งชิงกัน มันจึงเป็นบ่วงคล้องคอโซ่ตรวนตรึงตรา เป็นลูกกรงขังใจเรา ยากที่จะเป็นอิสระเสรีได้ กลับจะมีแต่ความทุกข์ทรมานไม่มีที่สิ้นสุด ผู้มีปัญญาจึงมองเห็นว่า ความสุขที่สุดของชีวิต คือ จิตใจ เราต้องเข้าถึงความสงบระงับจากการคิดปรุงแต่ง ไม่ไปอยากได้อะไร แล้วพิจารณาด้วยปัญญา ไม่ไปยึดติดผูกพัน ลุ่มหลงมัวเมากับสิ่งใด หรือเรื่องใด ฝึกจิตให้อิสระเสรี ปลอดโปร่ง ปลดปล่อยความคิด อารมณ์ออกไปจากจิต เพื่อให้จิตใจเป็นกลาง ว่างเปล่า ไม่ติดในความสุข หรือ ความทุกข์ แต่ทำการงาน หน้าที่ให้ดี ถูกต้องที่สุด ไม่ไปเป้นทุกข์ หรือ วุ่นวายกับมัน.....

    ความสุข ไม่มีอยู่จริง

    ทุกชีวิตต้องเหนื่อยยากลำบาก ทั้งกายใจ เพื่อแสวงหา ลาภ ยศ ศักดิ์ศรี หน้าตา ชื่อเสียง สรรเสริญ เงินทอง ทรัพย์สมบัติ ครอบครัว และ กามารมณ์ โดยคิดว่า นี่คือ ความสุขที่สุดของมนุษย์ แต่ความเป็นจริงของชีวิต ร่างกาย จิตใจเรานี้ จะต้องดิ้นรนแสวงหา ทุกสิ่งทุกอย่าง มาเพื่อบำบัดความทุกข์ที่มีอยู่ เพื่อระงับไม่ให้ความทุกข์เกิดขึ้น เช่น ร่างกายต้องหิวอาหาร ต้องกินทุกวัน ความหิวจึงเป็นทุกข์ เมื่อหาอาหารมากินจนอิ่ม เท่ากับว่า ได้บำบัดระงับความทุกข์นั่นเอง แต่คนเรามองไม่ออก จึงไปคิดว่า กินเพื่อความสุข แต่ที่จริง ความสุขจากการกิน มันอร่อยแค่ถูกลิ้นแป๊ปเดียว พอผ่านลิ้นลงคอไปแล้ว ความอร่อย หรือ ความสุขก็หมดไป..
    ทุกสิ่งที่หามาเพื่อตอบสนองใจเรา มันเหมือนกับการกินอาหารนั่นแหละ ชีวิตจึงมีแต่ความทุกข์เท่านั้น ที่เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และก็ดับไป ที่เรารู้สึกว่ามีความสุข ก็เพราะ ความทุกข์มันเบาตัวลง มันได้บำบัดระงับลงไปชั่วขณะหนึ่ง จึงรู้สึกสบายขึ้น จึงหลงกันไปว่า เรามีความสุข ความสุข ก็คือ ความรูสึกขณะหนึ่ง ๆ ที่ความทุกข์มันลดระดับลง จะรู้สึกว่าสุขสบายขึ้น พอสักพัก เมื่อความทุกข์มันก่อตัวเพิ่มมากขึ้น เราก็จะทนต่อสภาพนั้นไม่ไหว ต้องวิ่งหาวัตถุสิ่งของมาบำบัดอีก ผู้มีปัญญาจึงมองเห็นทั้งสุขและทุกข์ ว่ามันไม่น่ายินดี ที่เราจะเข้าไปติดใจมัน เพราะ มันเป็นเพียงความรู้สึกที่คิดปรุงแต่ง ไปตามความต้องการของเราเอง มันไม่มีอยู่จริง อย่าไปติดใจในรสชาติของมันเลย จะนำมาซึ่งความทุกข์เดือดร้อน เหน็ดเหนื่อยที่ต้องดิ้นรน แสวงหามาตอบสนองความอยากไม่สิ้นสุด แต่เราต้องดิ้นรนแสวงหามาเท่าที่ความจำเป็นต้องกินอยู่ใช้ แล้วรู้จักพอดี พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่...

    ทุกปัญหาแก้ไขได้ด้วยปัญญา

    เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา บางปัญหาถ้าอยู่ในเงื่อนไขเวลาปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ เพราะมันต้องใช้เวลารอคอยโอกาสนั้นมาถึงก่อน เราต้องรอเวลาปล่อยวาง เก็บปัญหานั้นไว้ก่อน หยุดคิดถึงปัญหาที่ยังแก้ไม่ตก ให้หันเหความคิดออกจากปัญหานั้น ไปทำสิ่งอื่นก่อน แล้วจึงกลับมาคิดใหม่ เมื่อจิตใจเราพร้อม จะทำให้จิตเราผ่อนคลายลง การที่เราไปจมปลักอยู่กับปัญหาที่แก้ไม่ตก เป็นความทุกข์อย่างยิ่ง หาความสุขไม่ได้ จงหยุดแล้วหลุดรอดออกจากมันก่อน แล้วค่อยหาทางแก้ไขในโอกาสต่อไปจะดีกว่า
    จิตใจของเราเปรียบเหมือนลิง ที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง ชอบคิดฟุ้งซ่าน ทำให้เป็นสุข เป็นทุกข์ คิดหาเรื่องใส่ตัวแบบเรื่องไม่เป็นเรื่อง คิดเรื่อยเปื่อย น้อยอกน้อยใจ นี่คือ ธรรมชาติของจิต ชอบคิดไปในอดีต อนาคต จึงนำมาซึ่งความทุกข์ วุ่นวาย เพราะจิตไม่หยุดนิ่ง ไม่สงบ ขาดการฝึกฝนควบคุม ขอเพียงให้ท่านตั้งสติระลึกรู้อยู่กับปัจจุบัน สลัดขจัดความคิดที่ไร้สาระ ไม่มีแก่นสาระ ไม่เป็นประโยชน์ออกไปจากจิต ด้วยการตั้งสติให้มั่นคง จิตใจจะไม่เหนื่อยล้า มีพลังผลักดันความคิดฟุ้งซ่านออกไป
    การคิดมากมายหลายเรื่อง ไม่ได้ทำให้ความคิดนั้นบรรลุผลสำเร็จ มีแต่จะทำให้สับสน จับต้นชนปลายไม่ถูก สติ สมาธิ จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จิตจะต้องมีอยู่ทุกเวลานาทีอย่าเผลอ จงมีสติรู้เท่าทันกับปัญหาเรื่องราวต่างๆ ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น มั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วคิดด้วยความสงบไม่วุ่นวาย คิดแบบเบาสบาย ไม่เครียด ด้วยปัญญาที่ฉลาด มีเหตุผลถูกต้อง ก็จะสามารถแก้ไขบรรลุความสำเร็จได้ไม่ยาก

    เจ็บป่วยไม่หาย อย่าตกใจ มีทางออก

    คนเราจะเป็นโรคทางกายและจิตใจ ถ้าเป็นทางกายต้องรักษาด้วยยา หรือ บริหารร่างกายให้แข็งแรง จะได้มีภูมิต้านทานโรค แต่ถ้าเป็นโรคทางใจ ต้องใช้ธรรมะรักษาใจ ต้องมาฝึกจิตใจให้เข้มแข็ง และ มีปัญญารู้กฏไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นกฏเกณฑ์ของชีวิตและโลกนี้ ทุกคนต้องประสบพบเจออย่างแน่นอน ถ้าคิดพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นชัดเจนว่า มันต้องเป็นอย่างนั้นเอง ใจจะไม่มีความทุกข์เลย
    ถ้าท่านเจ็บป่วยเป็นโรครักษาไม่หาย ก็ไม่ต้องไปคิดโทษโชคชะตา หรือน้อยอกน้อยใจว่า ทำไม? เราถึงเป็นคนเดียว ทำไม? เราโชคร้ายแบบนี้ มีแต่จะทำให้จิตใจทรุดโทรม ทรุดหนักย่ำแย่ลงไปอีก มันขึ้นอยู่กับความคิดของท่านเอง ถ้าท่านคิดไม่เป็น ท่านก็จะเป็นทุกข์ทรมานในทันที แต่ถ้าท่านคิดในแง่บวกแง่คูณ คือ คิดเป็น ท่านจะไม่เป็นทุกข์ โดยคิดเสียว่า ถ้าท่านไม่เจ็บป่วยแบบนี้ วันหน้าท่านก็ยังต้องตายอยู่ดี หรือ ถ้าตายในวันนี้ ก็จงยินดีน้อมรับ เพราะจะได้ไม่ต้องรอนาน ไม่ต้องทุกข์ทรมานมาก อยู่นานจนอายุ ๗๐-๘๐-๙๐ ปี มีแต่ความทรมานเจ็บปวด ถ้าเราป่วยตายเสียเดี๋ยวนี้ก็ดีซี จะได้ไม่ต้องแก่ตายแบบทรมานสังขาร
    การมีความทุกข์ เพราะ เจ็บป่วยทรมานนี้ จะทำให้เรารู้จักชีวิตมากขึ้น โดยทั่วไปคนเรามักจะลืมตัว ลืมแก่ ลืมเจ็บ ลืมตาย เพราะชอบไปหลงเพลิดเพลินอยู่กับรูป รส กลิ่น เสียง ฯ ความอร่อยทางโลก (จึงลืมพิจารณา) ท่านจงมองให้เห็นว่า สังขารร่างกายไม่น่ายินดีเลย ที่เห็นว่าสวยงาม ก็เพียงแค่ผิวหนังเท่านั้น เมื่อลอกเอาหนังออกหมด ทุกคนจะน่าเกลียดเหมือนกันไปหมด จะมีแต่น้ำเลือด น้ำหนองไหลเยิ้ม หมดความสวยงามทันที ร่างกายเรานี้เป็นของน่าเกลียด สกปรกโสโครก แต่เราต้องอยู่กับสังขารร่างกายด้วยปัญญา ใช้ประโยชน์มัน ทำกับมันให้ดีที่สุด แต่ต้องทำใจไม่ยึดติดผูกพัน ว่าเป็นของเราจริง ๆ เดี๋ยวต้องจากไปแล้ว ต้องทิ้งร่างกายนี้ให้สัปเหรื่อช่วยเผาให้ หรือไม่ก็ฝังดินเป็นปุ๋ย...

    อย่าเปรียบเทียบเรากับผู้อื่น

    คนเราที่เป็นทุกข์กลัดกลุ้มใจอยู่ทุกวัน เพราะ ไม่เข้าใจธรรมชาติของโลกและชีวิต มัวไปเปรียบเทียบกับคนอื่น เช่น เราจนกว่า ด้อยกว่าเขา ตำแหน่ง ลาภ ยศ ศักดิ์ศรี น้อยกว่าเขา ต้องมานั่งเป็นทุกข์กับเรื่องไม่เป็นเรื่อง จนกระทั่งตายไป จึงคิดผิด คิดให้ตัวเองต้องเป็นทุกข์ คิดไปในทางลบตกต่ำ แต่ถ้าคิดเสียใหม่ว่า ถึงแม้เราจะม่รวยเท่าเขา ไม่เก่งเท่าเขา ไม่มีอะไรเหมือนเขา แต่เราก็มีอะไรดี ๆ ที่ผู้อื่นไม่มีเหมือนเรา ให้เห็นคุณค่าความสามารถที่เรามีอยู่ ในตัวเองที่เหนือกว่าเขา เป็นความสามารถเฉพาะตัวเราเอง เขาก็จะมามี มาเป็นแบบเราไม่ได้ จงพอใจยินดีในสิ่งที่มีที่เป็นอยู่ ทำหน้าที่อยู่ โดยไม่ต้องไปเปรียบเทียบกับคนอื่นให้วุ่นวาย เป็นทุกข์ เพราะ ความสามารถของคนเราไม่เหมือนกัน ในทุก ๆ ด้าน ให้ดูตัวเอง ปรับปรุงตัวเอง อย่าไปดูผู้อื่น ไม่ไปเปรียบเทียบกับใครทั้งนั้น..

    เปิดใจกว้าง ยอมรับผู้อื่น

    คนเราเป็นทุกข์ ในเรื่องอยากจะให้ผู้อื่นเป็นไปตามใจที่เราต้องการ ทั้งการทำงาน นิสัยใจคอ อยากให้ถูกใจเรา ให้ดีเหมือนเรา เมื่อเขาทำไม่ถูกใจก็ตัดสินว่า เขาไม่ดี ไม่ถูกต้อง โดยเอาความคิดเห็นเราเป็นใหญ่ เราต้องเปิดใจให้กว้างออก ต้องยอมรับว่า ทุกคนเติบโตมาไม่เหมือนกัน ตามสภาพสิ่งแวดล้อม การอบรมบ่มนิสัย การศึกษา เป็นต้น การตัดสินว่าเป็นคนดี หรือ เลวก็อยู่ที่ความคิดเรานั่นเอง ถ้าเขาทำถูกใจ เราชอบก็ว่าเขาดี ถ้าเขาทำไม่ถูกใจ ขัดแย้งไม่ลงรอย เราไม่ชอบ ก็ว่าเขาไม่ดี
    ทุกคนอยากให้คนอื่นตามใจเรา ตามที่ปรารถนา เป็นการไปบังคับธรรมชาติ ให้เป็นไปตามใจที่เราต้องการ ซึ่งความจริงแล้ว เราจะไปบังคับบีบคั้นให้ทุกอย่างมันเป็นไปตามใจไม่ได้ เราไม่มีอำนาจอะไร แต่เรามาปรับเปลี่ยนใจให้มันปรับปรุงเปลี่ยนแปลงความรู้สึกใหม่ได้ โดยให้เข้าใจธรรมชาติจิตของทุกคน ตามเป็นจริง คนเรามีอุปนิสัยใจคอไม่เหมือนกัน เช่น ขี้บ่น อิจฉา ริษยา ชอบทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ยอมกัน บางครอบครัวอยู่ด้วยกัน แรก ๆ ก็รักกัน เกรงใจกัน พออยู่ต่อมาก็ลายออก มีปากเสียงไม่ลงรอยกัน ด่าว่า ทำร้าย ต้องหย่าร้างเลิกกัน ก็มีมากมาย ทั้งนี้เพราะ ความโง่ โกรธ หลง ไม่เข้าใจธรรมชาติของชีวิต และจิตใจนั่นเอง ทุกคนมีอุปนิสัยใจคอ เป็นของเขาเช่นนั้นเอง ถ้าเรายอมรับความเป็นธรรมดาเช่นนี้ได้ ก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขสบายใจ...

    ความโกรธ ริษยา ทำให้ใจเร่าร้อน

    ความโกรธ ริษยา อิจฉา ทำให้ชีวิตเราเร่าร้อน อยู่ไม่เป็นสุข มันจะเผาผลาญจิตใจตัวเองให้มอดไหม้ เป็นเถ้าถ่านร้อนแรง จะหาความสุขได้ยากยิ่งนัก เหมือนกับกำถ่านไฟแดงฉานไว้ในมือ จะทนไม่ได้ถูกกดทับ บีบคั้น ไม่ปลอดโปร่ง ทำให้จิตใจคับแคบ บั่นทอนสุขภาพทั้งกายใจ เหมือนไฟสุมขอนเผาไหม้ตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องไปโกรธ อิจฉา ริษยาใคร โดยเข้าใจชีวิตว่า อุปนิสัยใจคอ การศึกษา วิถีชีวิตสิ่งแวดล้อม คนเราไม่เหมือนกัน จงให้อภัย ขอโทษ ซึ่งกันและกันอยู่เสมอ อย่าเก็บความไม่พอใจ อาฆาต พยาบาทไว้ในอก รังแต่จะทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ จงให้อภัยแก่ทุกคน ไม่ว่าจะผิดหรือถูกก็ตาม โดยไม่มีเงื่อนไข จะช่วยให้ใจเราผ่อนคลายลง มีความสงบสุขเพิ่มขึ้น เพียงเท่านี้ เรื่องร้ายก็จะกลายเป็นเรื่องดี เราและทุกคนจะมีความสุขกันถ้วนทั่ว
    จงคิดว่า ทุกชีวิต เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีความทุกข์ท่วมหัว ท่วมใจด้วยกันทุกคน จงเห็นอกเห็นใจกัน เพราะต่างคนต่างก็มีปัญหาความทุกข์ด้วยกัน แล้วเราจะมาหาเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกัดกันทำไม จะมาเบียดเบียนซ้ำเติมกันทำไม จงค่อยพูดค่อยจา ปรับความเข้าใจกันด้วยใจเย็น ๆ ยอมถอยมาหนึ่งก้าว เพื่อพบเจอกันครึ่งทาง แล้วยอมรับความคิดเห็น เหตุผลซึ่งกันและกัน จงยอมรับฟังเหตุผลของคนอื่นด้วยความเต็มใจ เพื่อหาทางออกด้วยดีทุกฝ่าย แล้วจงร่วมมือกัน ร่วมชีวิตอยู่ด้วยความผาสกสามัคคี มีธรรมะเป็นแนวทางดำรงชีวิตอยู่ร่วมกันดัวยสันติสุข...

    ชีวิตเสรี (จิตอิสระ จึงไร้ทุกข์)
    พระอาจารย์ ยุทฺธนา เตชปัญโญ

    สวัสดี
    00p
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 01-7.gif
      01-7.gif
      ขนาดไฟล์:
      8.7 KB
      เปิดดู:
      149
    • f25c.jpg
      f25c.jpg
      ขนาดไฟล์:
      41.2 KB
      เปิดดู:
      87

แชร์หน้านี้

Loading...