“ครองแผ่นดินโดยธรรม”

ในห้อง 'ในหลวงกับพุทธศาสนา' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 7 พฤษภาคม 2019.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    0b89ce0b988e0b899e0b894e0b8b4e0b899e0b982e0b894e0b8a2e0b898e0b8a3e0b8a3e0b8a1-e0b984e0b897e0b8a2.jpg

    เนื่องในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 4 พฤษภาคม 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ความว่า “เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป” จากนั้นทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงตั้งพระราชสัตยาธิษฐาน จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ปกครองราชอาณาจักรไทย โดยทศพิธราชธรรม


    พระปฐมบรมราชโองการเป็นพระราชสัตยาธิษฐานของพระมหากษัตริย์ จะทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจทั้งหลาย เป็นพระราชประเพณีที่สืบทอดมายาวนาน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งพระราชจักรีวงศ์ ทรงเปลี่ยนแปลงให้เป็น 2 ภาษา คือภาษาไทยกับภาษามคธ

    พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงมีพระปฐมบรมราชโองการ ความว่า “ดูกรพราหมณ์ บัดนี้เราทรงราชภาระครองแผ่นดินโดยธรรมสม่ำเสมอ เพื่อประโยชน์เกื้อกูลและสุขแห่งมหาชน เราแผ่ราชอาณาเหนือท่านทั้งหลาย
    กับโภคสมบัติ เปนที่พึ่งจัดการปกครองรักษาป้องกัน อันเปนธรรมสืบไป ท่านทั้งหลายจงวางใจอยู่ตามสบายเทอญฯ”

    ภายหลังประเทศไทยเปลี่ยนแปลง การปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย พระปฐมบรมราชโองการก็เปลี่ยนไปตามสถาน-การณ์ ดังพระปฐมบรมราชโองการของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่มีข้อความสั้นๆว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” และมีการสืบสานต่อโดยรัชกาลที่ 10

    “ครองแผ่นดินโดยธรรม” หมายถึง การยึดหลักทศพิธราชธรรม 10 ประการของพระพุทธศาสนา อันได้แก่ ทาน คือการให้ ศีล การประพฤติทางกายและวาจาที่ปราศจากโทษ ปริจาคะ การเสียสละ อาชชวะ ความซื่อตรง มัททวะ ความอ่อนโยน ตปะ มีความเพียร อักโกธะ การไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ อวิหิงสา การไม่เบียดเบียน ขันติ ความอดทน และอวิโรธนะ การตั้งอยู่ในขัตติยราชประเพณี

    พระพุทธศาสนายังมีจักรวรรดิวัตร เป็นธรรมะของจักรพรรดิ 12 ประการ ได้แก่ การอนุเคราะห์คนในราชสำนัก และคนนอกราชสำนักให้มีความสุข การผูกไมตรีกับประเทศอื่น การเกื้อกูลพราหมณ์และคหบดีในเมือง การดูแลชาวชนบท การอนุเคราะห์สมณะชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล การดูแลหมู่เนื้อ นก และสัตว์ต่างๆ ไม่ให้สูญพันธุ์ การชักนำให้คนอยู่ในกุศลสุจริต การสงเคราะห์คนจน การเข้าใกล้สมณพราหมณ์ การห้ามลุแก่อำนาจ ความกำหนัดยินดีที่ผิดธรรม และห้ามปรารถนา ในลาภที่มิควรได้

    การให้ การพูดจาไพเราะ การบำเพ็ญประโยชน์ และการวางตนสม่ำเสมอ ที่พระพุทธศาสนาเรียกว่า “สังคหวัตถุธรรม” ก็เป็นพระจริยวัตรสำคัญของพระราชา เป็นที่ตั้งแห่งความสงเคราะห์ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวน้ำใจของประชาชน.



    ขอขอบคุณที่มา
    https://www.thairath.co.th/newspaper/columns/1561293
     

แชร์หน้านี้

Loading...