ไม่ท้อ-ไม่หมดกำลังใจ “พ่อพระของเด็กยากไร้” มอบโอกาส-กินฟรี-อยู่ฟรี

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ ชาวพุทธ, 17 มกราคม 2020.

  1. โพธิสัตว์ ชาวพุทธ

    โพธิสัตว์ ชาวพุทธ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    5,297
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,273
    ค่าพลัง:
    +9,528
    b8ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988.jpg
    เมื่อโอกาสยังเข้าไม่ถึงเด็กที่ยากไร้บนพื้นที่ห่างไกล กว่า 14 ปี ที่ “พระครูวิวัฒน์ปุญญากร” ได้อุปถัมภ์เด็กกว่า 49 ชีวิตในวัดเจ้าบุญเกิด ให้มีที่อยู่-ที่กิน-มีการศึกษาที่ดี หลุดพ้นจากวงจรยาเสพติด บนเส้นทางแห่งความเสียสละที่หาได้ยากในสังคมไทย


    สละเวลา อุทิศตนเพื่อเด็กยากไร้ !!



    ณ ชุมชนแห่งหนึ่ง ที่มีสภาพปัญหาห่างไกลความเจริญ ยังมีอนาคตของชาติที่อาศัยอยู่กับครอบครัวยากจน บางครั้งก็ไม่สามารถออกไปเรียนที่ไหนได้ แต่ “วัดเจ้าบุญเกิด” อ.ไชโย จ.อ่างทอง แห่งนี้ เป็นสถานที่แห่งความหวัง ที่มีเจ้าอาวาสเสียสละ อุทิศเวลาและร่างกาย เพื่อรับเลี้ยงเด็กยากไร้กว่า 49 คน โดยไม่ต้องการสิ่งใดตอบแทน

    “ไม่ท้อ ถามว่าเหนื่อยมั้ย ก็เหนื่อย มันเลิกไม่ได้ เราก็ต้องอุปถัมภ์จนกว่าเราจะตาย แต่ถามว่าหยุดได้มั้ย ไม่ได้หรอก ญาติโยมเขาฝากความหวัง อนาคตอยู่กับหลวงพ่อ เด็กดีขึ้น เราก็ภูมิใจ”

    “พระครูวิวัฒน์ปุญญากร” เจ้าอาวาสวัดเจ้าบุญเกิด ผู้ที่เปรียบเสมือนพ่อของเด็กยากไร้ บอกเล่าถึงความรู้สึกถึงการอุปถัมภ์เลี้ยงดูเด็กยากไร้ และเด็กชาวเขามานานกว่า 14 ปี ว่าเหนื่อยบ้างแต่ไม่เคยท้อ

    “อาตมาบวชเมื่อปี 40 หลวงพ่อ (พระครูธรรมาภิวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาส ) เขาอุปถัมภ์ตั้งแต่ต้น แล้วหลวงพ่อเขาละสังขารปี 48 เขาฝากดูแลเด็กไว้ เขาบอกมีไม่เยอะมีประมาณ 20 คน เป็นเด็กจากอำเภอแตง,เชียงดาว,เชียงของ และ จ.น่าน

    ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988-1.jpg

    หลังจากหลวงพ่อมรภาพเมื่อปี 48 ใครไม่รู้บอกว่ามีวัดอยากได้เด็ก ก็มีอพยพมา 5-10 คน พอเปิดเทอมเขาก็จะไปรับลูกหลาน พี่ๆ น้องๆ เขามาเรียน เราก็อุปถัมภ์”

    ย้อนกลับไป วัดแห่งนี้ได้ให้การดูแลเด็กยากจน และเด็กชาวเขาเผ่าม้ง มานานกว่า 50 ปี จนปัจจุบันมีเด็กนักเรียนจากพื้นที่ และชาวเขาตั้งแต่ระดับอนุบาล-มัธยมศึกษา

    “คือสภาพครอบครัวที่ไปเห็นมันแย่เลย ไม่ใช่แค่พ่อแม่ มันดิ้นรนอะไรไม่ได้ จึงต้องไปตรงนี้ และเด็กโตมาไม่รู้ที่มาที่ไป
    ให้เด็กส่งยาเสพติด เด็กก็ไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แล้วพอเด็กถูกจับก็เสียอนาคต ทั้งๆที่เด็กไม่รู้ ให้เงิน 20 บาท เด็กก็ไปแล้ว

    ชุมชนเขาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด เป็นหมู่บ้านห่างไกลความเจริญ การกินอยู่ก็แย่ พ่อแม่ก็แยกกัน ต้องไปอยู่กับยาย แล้วอนาคตเด็กคงไม่ไปไหน เดินไปโรงเรียน 4-5 กม. ก็เลยให้มาอยู่กับวัด กินนอนอยู่นี่ ปิดเทอมค่อยกลับบ้าน”

    ไม่เพียงเปรียบเหมือน “พ่อ” ที่ให้ชีวิตใหม่แก่เด็ก ได้มี ที่อยู่-ที่กิน-มีการศึกษา แต่ยังช่วยให้เด็กมีอนาคตที่สดใส ไม่ตกอยู่ในวงจรยาเสพติดอีกด้วย

    “เราคิดว่าเราเป็นพ่อ และเด็กเป็นลูกเรา สอนให้พวกเขาเป็นเด็กดี ก็เลี้ยงไปตามปกติแบบนี้ ขาดเหลืออะไรเราก็ช่วย

    วันหนึ่งก็กวาดทำความสะอาด คนโตหุงข้าว คนเล็กแยกไปกวาดลานวัด บิณฑบาตก็พระ คนที่ไม่ได้ทำอะไรก็ไปทยอยอาบน้ำ หมุนเวียนไปแบบนี้

    แนวคิดคือให้เป็นเด็กดี รักการศึกษา ถ้าใครเกเรก็ให้กลับไป เกเรเอาเรื่องก็มี ไปเรียนไม่ไป ให้เด็กกลับบ้านเลย

    บอกให้กลับไปช่วยปู่ย่าตายายปลูกพริก ข้าวโพดบนดอย อย่ามาอยู่ตรงนี้เสียเวลา เราต้องการอนาคตของเด็กๆ บางคนก็ไม่ดีบ้าง แต่อย่างน้อยจบม.3 เราก็ส่งเท่าที่จะส่งได้”

    เนื่องจากวัดเป็นศาสนสถาน เมื่อต้องปรับบทบาทมาเป็นสถานสงเคราะห์ แนวคิดในการดูแลเด็กเหล่านี้ที่สำคัญ คืออยากให้เขาเติบโตมีอนาคตที่ดี โดยหลวงพ่อมีหลักการง่ายๆ เพียงแค่สอนธรรมะ ใครให้ของก็ขอบคุณ และการรู้จักหน้าที่ของตนเอง โดยเด็กจะมีทักษะอาชีพ จากการเรียนรู้ในกิจวัตรประจำวัน

    “ทั้งหมดก็ธรรมะ บทอาขยาน การลักเล็กขโมยน้อย สอนทางดี ใครให้ของก็ขอบคุณครับ ขอบคุณค่ะ มาเรียนนะไม่ได้มาเกเร เสร็จภารกิจก็ทำการบ้าน คนไหนที่ไม่มีการบ้านก็ช่วยพระทำนู่นทำนี่”

    ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988-2.jpg

    ด้าน จารึก นิลศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเจ้าบุญเกิด เปิดเผยว่า เด็กๆ ในความดูแลของวัดเจ้าบุญเกิด ไม่ใช่แค่ยากจน แต่ยังมาจากพื้นที่เสี่ยงจากยาเสพติด การได้มาใช้ชีวิตกินอยู่ และเรียนอยู่ที่วัด จึงไม่เป็นแค่เกราะคุ้มภัยให้เด็กห่างไกลยาเสพติด แต่ยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เด็กๆ เหล่านี้อีกด้วย

    “เด็กทั้งหมดจำนวน 49 คน ส่วนใหญ่แล้วเป็นเด็กชาวเขาเผ่าม้ง และเป็นเด็กที่อยู่บ้านเรา 7 คน ที่เหลือเป็นชาวเขาทั้งหมด

    โดยสอนตั้งแต่ชั้นป.1-ป.6 แต่จริงๆ เปิดตั้งแต่อนุบาล 2 แต่ตอนนี้เด็กอนุบาลเราไม่มีเลย เพราะว่าเด็กในพื้นที่ไปเรียนเทศบาล หรือไม่ก็เข้าตัวเมืองจังหวัดทั้งหมด ก็เลยจะไม่มีเด็กอนุบาลอยู่ที่นี่

    ครอบครัวส่วนใหญ่เป็นคน อ.พบพระ อ.อุ้มผาง และ อ.แม่สอด พ่อแม่เขาจะเป็นคนชาติพันธุ์ที่อยู่ทางบนดอย บนภูเขา แถวๆ จ. ตาก ทั้งหมดเลย

    เด็กส่วนใหญ่ถ้าไม่กำพร้า พ่อแม่แตกแยก และส่วนใหญ่แล้วจะยากจนมาก ทั้งเด็กบ้านและเด็กม้ง พ่อแม่ไปทำงานเด็กต้องอยู่คนเดียวที่บ้าน เขาก็เลยเลือกที่จะส่งมาอยู่กับเรา เพราะว่าช่วงหลังเลิกเรียนก็ยังมีพระดูแล แต่ถ้าอยู่บ้านพ่อแม่ไม่ได้อยู่ด้วย ก็จะไม่มีใครดูแลเด็กหลังเลิกเรียน

    เด็กก็จะอยู่ตามลำพัง เคยไปเยี่ยมบ้านเด็กพบว่าเด็กอยู่กัน 5 คน แต่เป็นเด็กทั้งหมดเลย เด็กอายุสูงสุดก็คือเด็กป.6 ที่เหลือก็ไล่ลงไปเป็นอนุบาล ยังไม่เข้าโรงเรียน 1 คน ตอนที่ไปเจอ เด็กยังไม่ได้กินข้าวมาแล้ว 2 วัน เราก็รู้สึกว่า ตรงนี้มันขาดจริงๆ คนที่ไม่มีประสบการณ์ตรงนี้ก็จะไม่รู้”


    หวังเด็กมีอนาคตไกล!!

    พระครูวิวัฒน์ปุญญากร ไม่ใช่แค่อุทิศตัว ดูแลเด็กในโรงเรียน และวัด เพื่อให้มีความรู้ ทักษะอาชีพติดตัว แต่หลวงพ่อเป็นมากกว่านั้น เพราะเมื่อใดก็ตามที่ปิดเทอม เด็กๆ กลับบ้าน หลวงพ่อมักไปลงพื้นที่ เยี่ยมบ้านด้วยตนเอง นำมาม่า และขนมไปให้ ไม่ปล่อยให้เด็กเหล่านั้นต้องเผชิญปัญหาตามยถากรรม

    “ไปดูสภาพ สถานที่ กินนอนอยู่กับดิน มาม่ากินกัน 6 คน แล้วมันจะไปกันยังไง เจตนาที่เราใส่ของเต็มรถไปให้คนอื่น สรุปไม่ได้ไป เราก็นำลงไปให้หมู่บ้านตรงนั้นหมดเลย มองสภาพแล้วมันไม่ได้จริงๆ

    ปิดเทอมก็ไปเยี่ยม ก็จะเอาของใส่รถเข้าไป มาม่า ขนม อะไรอย่างนี้ ไปเยี่ยมตามจุดๆ บ้านหนึ่งมีกี่คน เราก็เอามาม่า 10-20 กล่อง ขนมให้ ค้างคืนหนึ่งแล้วก็กลับ ก็เหมือนไปสอบถามเด็กว่าปีหน้าใครจะมาเรียนบ้าง อะไรบ้าง เข้าไปคุยกับพ่อแม่ เขาก็จะบอกว่าเดี๋ยวฝากคนนั้นมา คนนี้มา”

    การลงพื้นที่ของหลวงพ่อไม่ใช่แค่ไปดูสภาพชีวิตของเด็กอุปถัมภ์ แต่ยังนำอนาคตไปสู่เด็กๆ อีกหลายชีวิต และเมื่อถามว่า ทำไมผู้ปกครองต้องมาพึ่งวัดเจ้าบุญเกิด ทั้งๆ ที่มีวัดแถวบ้าน แถมใกล้บ้านด้วย อะไรที่ทำให้เขาพาลูกมาเรียนที่นี่ หลวงพ่อให้คำตอบเอาไว้ว่า วัดแถวบ้านเขารับภาระไม่ไหว

    “วัดใกล้ๆ เขาไม่เลี้ยง ไม่มีใครเลี้ยง วัดก็ไม่เอา เขาบอกว่าขี้เกียจมีภาระ ไม่ไหว”

    โดยเหตุผลที่ต้องรับอุปถัมภ์เด็กเพราะอยากให้เด็กๆ มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีการศึกษา ไม่ต้องอยู่ในสังคมที่ต้องพึ่งพายาเสพติด เพราะส่วนใหญ่สภาพแวดล้อมตรงนั้นยากจน และหากผู้ปกครองท่านใดไปทำงาน ลูกต้องอยู่ลำพัง ไม่มีใครดูแล

    “โอ้ย!! ดีใจ ที่เขาไปถึงจุดหมายปลายทางที่เขาตั้งใจไว้” ความภาคภูมิใจของหลวงพ่อผ่านน้ำเสียงที่มีความสุข บอกเล่าถึงการได้เห็นผลผลิตที่ได้อบรมเลี้ยงดู ได้มีอนาคตที่ดี มีงานทำ สังคมยอมรับ

    ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988-3.jpg

    “คนก็โทร.มาถามว่าหลวงพ่อสบายดีหรือเปล่า ตอนนี้มีไปเรียนอยู่เชียงใหม่ ,เชียงราย ,เพชรบูรณ์ เด็กรักเรียนก็โอเค อนาคตก็ดี เด็ก 100 คน ก็มีไม่ดีบ้าง
    มีจบแพทย์อยู่เมืองนอก 1 คน เมื่อต้นปีก็จบปริญญาที่เพชรบูรณ์ 1 คน และมีที่มหา’ลัยเชียงใหม่ ก็ไปจากที่นี่ทั้งนั้นแหละ

    แบบนี้เขาเรียกว่ารักเรียน มีอีกคนที่อยู่บางเสด็จ ได้ทุนจากกรมสมเด็จพระเทพฯ เรียนอยู่ที่อยุธยา อีก 1 ปีก็จะจบ”

    ด้าน จารึก นิลศรี ยังเสริมอีกว่าในบางพื้นที่ที่ได้ลงไป ก็พบเด็กส่วนใหญ่กำพร้าพ่อแม่ และส่วนใหญ่แล้วจะยากจนมาก ซึ่งการที่หลวงพ่ออุทิศตนช่วยเหลือเด็กๆ ให้มีอนาคตที่สดใส ถือว่าท่านได้เสียสละตัวเอง ทั้งความสุข และเวลา

    “ต้องขอชื่นชมท่าน ท่านดูแลเด็กๆ อย่างไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ เลย ช่วยเหลือทุกอย่างทั้งด้านการเงิน ให้ความรัก ความอบอุ่น หาเสื้อผ้า อาหาร ที่อยู่อาศัยให้ ค่ารถรับส่งไปกลับ ก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะมากสำหรับเด็ก 49 คน ซึ่งท่านไม่ได้อุปการะเด็กประถม ยังมีเด็กมัธยมที่เรียนอยู่ที่ ร.ร. ใกล้ๆ นี้ด้วย

    เราเลี้ยงลูกคนเดียวยังแย่เลย นี่เลี้ยงทั้ง 49 คน ถือว่าท่านเมตตากับเด็กๆ มาก แบบนี้หายากเนอะ ถือว่าท่านได้เสียสละตัวเอง ทั้งเวลา และความสุข เพราะว่าตอนเช้าๆ ท่านก็ต้องออกไปจ่ายกับข้าว คอยดูแลทุกอย่าง ทั้งด้านการกิน เสื้อผ้า อาหาร ตอนนี้ก็สร้างโรงพักนอน ระดมทุนจากหลายหน่วยงานมา หลวงพ่อก็เป็นแกนนำในการช่วยเหลือ”


    “ความสุขคือ ได้อุปถัมถ์เด็ก”

    ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988-4.jpg

    “เขาก็ถามว่าหลวงพ่อมีเด็กกี่คน เดี๋ยวจะมีคนมาเลี้ยง บางทีก็มากันทั้งโรงงาน บางทีก็มาเป็นร้อย เขาก็เรี่ยไรคนละ 100-300 บาท แล้วซื้ออุปกรณ์ ขนม เสื้อผ้า หมดไป 20,000-30,000 บาท เหลือก็เอามาถวายเป็นค่าอาหารอะไรแบบนี้ ทางวัดก็จดบัญชีแยกกันคนละเล่ม อันนี้สมุดของเด็ก รายรับ รายจ่าย

    บางเสาร์อาทิตย์ หลวงพ่อมีกิจนิมนต์ที่ไกลๆ ก็โทร.มาวัดว่ากลางวันมีอะไรกินรึเปล่า ถ้าไม่มีเราก็แวะตลาด จ่าย 1,000-2,000 บาท ซื้ออะไรก็แล้วแต่ เพื่อมาทำกับข้าวเย็น”

    ด้วยความรักและความเชื่อ ผ่านสายตาของการเป็นพ่อ และผู้ดูแลเด็กชาวเขาเผ่าม้ง ทุกครั้งที่รับกิจนิมนต์ไกลๆ หลวงพ่อจะอดเป็นห่วงลูกๆ เหล่านี้ไม่ได้ จึงต้องแวะซื้อของมาประกอบอาหารให้ลูกๆ กิน ซึ่งแต่ละครั้งมักจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง

    และปฏิเสธไม่ได้ว่าวัดเจ้าบุญเกิดอยู่ได้ด้วยธารน้ำใจจากญาติโยม ที่มาเลี้ยงอาหารกลางวันเด็กๆ สนับสนุนปัจจัยในการดำรงชีวิตบ้าง

    “ถ้าพูดถึงสิ่งที่ขาดแคลนมันก็เยอะ จะเป็นเรื่องของปัจจัย ไม่ใช่โยมจะมาช่วยเป็นแสนเป็นอะไร วันเกิดวันอะไรก็มาเลี้ยงเด็ก อุปถัมภ์ก็มาดู อย่างเจ้าภาพ ที่ลูกหลานเขาใช้แล้ว เขาซักรีด ก็เอามาบริจาค เราก็ยินดีต้อนรับอยู่แล้ว”

    หลายคนสงสัย มีใครเข้ามาช่วยเหลือทางวัดหรือไม่ ทางหลวงพ่อได้บอกกับทีมข่าวว่า มีเข้ามาช่วยเหลือเรื่อยๆ ส่วนใหญ่จะช่วยด้านอาหาร สนับสนุนปัจจัยดำรงชีวิตแก่เด็กๆ เพราะมีพระที่มาบวชได้แชร์เรื่องราวที่เกิดขึ้นผ่านโซเชียลฯ จึงมีความช่วยเหลือเข้ามาบ้าง

    “อนาคตมีเงินเดือนกิน มีงานทำ ให้มีอนาคต ความสุขของเราคือได้อุปถัมถ์เด็ก หวังให้เขาเติบโตขึ้นไป ไม่เป็นเด็กเกเร มีอนาคตที่ดี มีงานทำ มีเงินเดือนกิน”

    พระครูวิวัฒน์ปุญญากร ผู้เป็นดั่งพ่อ ได้นำพาชีวิตเด็กให้มีอนาคตที่ดีขึ้น เลี้ยงดูจุนเจือเด็กทั้ง 49 คน ที่พ่อแม่เอามาฝากให้ดูแล และมีค่าใช้จ่ายต่างๆ มากมาย วางอนาคตถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่าจะดูแลเด็กๆ จนกว่าถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

    “อาตมาได้รับความสุข ความสุขของเราที่ได้อุปถัมถ์เด็ก ก็เหมือนทำบุญ เมตตาคือบุญอยู่แล้ว บุญมหาศาลที่ได้ช่วยชีวิตร้อยๆ กว่าชีวิตโตขึ้นไปมีอนาคตวันข้างหน้า”

    สำหรับผู้ที่สนใจ เข้าไปทำบุญ ติดต่อได้ที่เบอร์ 09-9195-9951 หรือสามารถร่วมบุญได้ที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาอ่างทอง ชื่อบัญชี “วัดเจ้าบุญเกิด” เลขที่บัญชี 384-0-74248-4

    ad-e0b984e0b8a1e0b988e0b8abe0b8a1e0b894e0b881e0b8b3e0b8a5e0b8b1e0b887e0b983e0b888-e0b89ee0b988-5.jpg
    [embedded content]


    สัมภาษณ์ รายการ “ฅนจริง ใจไม่ท้อ”
    เรียบเรียง : ผู้จัดการ Live
    เรื่อง : ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
    ขอบคุณภาพ : FB “เด็กกำพร้า วัดเจ้าบุญเกิด จ.อ่างทอง



    ** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **

    ขอขอบคุณที่มา
    https://mgronline.com/live/detail/9630000005462
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 22 มกราคม 2020

แชร์หน้านี้

Loading...