เอตทัคคะ ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 3 กรกฎาคม 2013.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    เอตทัคคะ
    ผู้ประเสริฐสุดในทางใดทางหนึ่ง

    เอตทัคคะ เป็นตำแหน่งทางพระพุทธศาสนาที่พระบรมศาสดาได้ประทานแต่งตั้งให้พุทธบริษัท คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ผู้มีความรู้ความสามารถเป็นเลิศเด่นกว่าท่านอื่นๆ ในด้านนั้นๆ และแต่ละตำแหน่งพระบรมศาสดาประทานแต่งตั้งเพียงรูปเดียว ท่านเดียวเท่านั้น เอตทัคคะในพระพุทธศาสนา

    -- หมวดภิกษุ มีทั้งหมด ๔๑ ท่าน
    -- หมวดภิกษุณี มีทั้งหมด ๑๓ ท่าน
    -- หมวดอุบาสก มีทั้งหมด ๑๐ ท่าน
    -- หมวดอุบาสิกา มีทั้งหมด ๑๐ ท่าน

    การที่พระบรมศาสดาทรงยกย่องพุทธบริษัททั้ง ๔ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะนั้น พระพุทธองค์ทรงใช้หลักเกณฑ์และเหตุผล ๔ ประการ คือ

    (๑) โดยเหตุเกิดเรื่อง คือ ได้รับการยกย่องตามเรื่องที่เกิดขึ้น (อตฺถุปฺปตฺติโต) ได้แสดงความสามารถให้ปรากฏโดยสอดคล้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

    (๒) โดยการมาก่อน คือ ได้รับการยกย่องตามที่ได้สะสมบุญมาในอดีตชาติ (อาคมนฺโต) ได้สร้างบุญสะสมในด้านนั้นมาตั้งแต่อดีตชาติ พร้อมทั้งตั้งจิตปรารถนาเพื่อบรรลุตำแหน่งเอตทัคคะนั้นด้วย

    (๓) โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ คือ ได้รับการยกย่องตามความเชี่ยวชาญ (จิณฺณวสิโต) มีความเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องเป็นพิเศษ

    (๔) โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ คือ ได้รับการยกย่องตามความสามารถเหนือผู้อื่น (คุณาติเรกโต) มีความสามารถในเรื่องที่ทำให้ได้รับตำแหน่งเอตทัคคะ เหนือกว่าผู้อื่นที่มีความสามารถอย่างเดียวกัน

    ที่มาของข้อมูล : http://www.dhammajak.net
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    “ภิกษุ” ที่ได้รับยกย่องเป็นเอตทัคคะมี ๔๑ ท่าน

    ๑. พระอัญญาโกณฑัญญเถระ
    เอตทัคคะในทางรัตตัญญูรู้ราตรีนาน



    [​IMG]


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระปทุมุตตรพุทธเจ้า

    ปลายแสนกัปแต่ภัทรกัปนี้ พระพุทธเจ้าทรงพระนามว่าปทุมุตตระอุบัติขึ้นในโลก มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร เสด็จเที่ยวภิกษาในคามนิคมและราชธานี เพื่อสงเคราะห์มหาชน เมื่อเสด็จถึงกรุงหังสวดี มหาราชาผู้เป็นพระพุทธบิดา ทรงทราบข่าวว่าพระศาสดานั้นเสด็จมา จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับ พระศาสดาได้ตรัสธรรมกถา แด่พระพุทธบิดา จบเทศนาบางพวกเป็นพระโสดาบัน บางพวกเป็นพระสกทาคามี บางพวกเป็นพระอนาคามี บางพวกบรรลุพระอรหัต พระราชาทรงนิมนต์พระทศพล เพื่อเสวยภัตตาหารในวันพรุ่งนี้ ในวันรุ่งขึ้นทรงให้แจ้งเวลาภัตตาหาร ได้ถวายมหาทาน ในพระราชนิเวศน์ของพระองค์แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้มีภิกษุแสนรูปเป็นบริวาร พระศาสดาทรงกระทำภัตตานุโมทนาแล้วเสด็จไปพระวิหารตามเดิม โดยทำนองนั้นนั่นแล ได้ถวายทานตลอดกาลยืดยาวนาน คือ วันรุ่งขึ้นชาวเมืองถวาย วันรุ่งขึ้นต่อไปพระราชาถวาย

    ครั้งนั้น พระอัญญาโกณฑัญญะเถระนี้บังเกิดในตระกูลคฤหบดีมหาศาล กรุงหังสวดี วันหนึ่งในเวลาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม เห็นชาวกรุงหังสวดี ต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น ไปยังที่แสดงธรรม จึงได้เดินตามไปพร้อมกับมหาชนนั้น เวลานั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้า ทรงสถาปนาภิกษุรูปหนึ่ง ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้แทงตลอดธรรมก่อนในพระศาสนาของพระองค์ ท่านได้ทราบเหตุนั้นแล้วจึงปรารถนาที่จะได้เป็นอย่างภิกษุนี้ในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาลเช่นนั้นบ้าง

    ดังนั้นท่านจึงนิมนต์พระปทุมุตตระพุทธเจ้า พร้อมภิกษุ ๑๐๐,๐๐๐ รูปเป็นบริวาร และทำการถวายมหาทานอยู่ ๗ วัน. แล้วท่านจึงหมอบลงแทบพระบาทของพระศาสดา แสดงความปรารถนาว่า ด้วยผลแห่งการถวายทานสักการะนี้ ข้าพระองค์ไม่ปรารถนาสมบัติอื่นใด เพียงแต่ในอนาคตกาล ขอข้าพระองค์พึงได้ตำแหน่งเอตทัคคะนั้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคตกาล เหมือน ภิกษุที่พระองค์ทรงสถาปนาไว้ในตำแหน่ง ในวันสุดท้าย ๗ วัน นับแต่วันนี้

    พระศาสดาทรงตรวจดูอนาคตกาลด้วยพุทธญาณ ทรงเห็นว่าความปรารถนาของกุลบุตรนี้จักสำเร็จ จึงทรงพยากรณ์ว่ากุลบุตรผู้เจริญ ในที่สุดแห่งแสนกัปในอนาคต พระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม จักทรงอุบัติขึ้น ท่านจักดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล พร้อมด้วยพรหม ๑๘ โกฎิ เวลาจบพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ด้วยการแสดงธรรมครั้งแรกของพระโคดมพุทธเจ้านั้นดังนี้

    พระศาสดาครั้นทรงพยากรณ์กุลบุตรนั้นดังนี้แล้ว ทรงแสดงธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ชนทั้งหลายได้สร้างเจดีย์ทองคำบรรจุพระสรีระของพระองค์ สูง ๗ โยชน์ เศรษฐีนั้นให้สร้างเครื่องประดับอันมีค่ามากล้อมเจดีย์บรรจุพระสรีระของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย.ในวันประดิษฐานพระเจดีย์ ให้สร้างเรือนแก้วภายในเจดีย์ เศรษฐีนั้นกระทำทานเป็นอันมากถึงแสนปี เมื่อสิ้นชีวิตแล้วแล้วบังเกิดในสวรรค์ วัฏฏะแห่งชีวิตวนอยู่ในภูมิเทวดา และมนุษย์ทั้งหลายนั่นเอง


    ๐ บุรพกรรมในสมัยพระวิปัสสีพุทธเจ้า

    ล่วงไป ๙๙,๙๐๙ กัป ในท้ายกัปที่ ๙๑ จากภัทรกัปนี้ กุลบุตรนี้บังเกิดในเรือนแห่งคฤหบดี ในรามคามใกล้ประตูกรุงพันธุมดี ได้นามว่า มหากาล ส่วนน้องชายของท่าน นามว่า จุลกาล

    สมัยนั้น พระโพธิสัตว์พระนามว่า วิปัสสี จุติมาบังเกิดเป็นพระโอรสของพระเจ้าพันธุมะ กรุงพันธุมดี ตรัสรู้แล้วทรงแสดงธรรมแก่ ขัณฑะ ผู้เป็นพระอนุชาของพระองค์ และบุตรปุโรหิต ชื่อ ติสสะ ทั้งสองดำรงอยู่ในพระอรหัตผล พระศาสดาทรงสถาปนาพระขัณฑเถระไว้ในตำแหน่งพระอัครสาวกรูปที่ ๑ ทรงสถาปนาพระติสสะเถระไว้ในตำแหน่งอัครสาวกรูปที่ ๒

    ฝ่ายพระราชา ทรงทราบเรื่องนั้นแล้ว จึงเสด็จไปสดับพระธรรมเทศนา ดำรงอยู่ในรัตนะ ๓ และทรงปรารถนาจะอุปัฏฐาก พระบรมศาสดา ผู้เป็นพระโอรส พร้อมหมู่พระภิกษุแต่ผู้เดียว ไม่ยอมให้ชนทั้งหลายได้มีโอกาสเช่นนั้นบ้าง จึงให้สร้างรั้วไม้ตะเคียนสองข้าง ตั้งแต่ซุ้มประตูพระวิหารจนถึงทวารพระราชวัง ให้ปิดล้อมด้วยผ้า แล้วนิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้า พร้อมหมู่ภิกษุเสด็จไปสู่พระราชมณเฑียร เพื่อกระทำภัตกิจ แล้วเสด็จกลับมายังวิหาร โดยทางเดิม มหาชนอื่น แม้จะดูก็ยังไม่ได้ดู แล้วไฉนจะได้ถวายภักษาหารและการบูชาเล่า.ทรงกระทำเช่นนี้มาตลอด ๗ ปี ๗ เดือน

    ชาวพระนครคิดว่าเมื่อพระศาสดาเสด็จอุบัติขึ้นในโลก เป็นเวลานานถึงเพียงนี้แล้ว ถึงวันนี้ พวกเราแม้เพียงปรารถนาจะเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ก็ยังไม่ได้เฝ้า จะป่วยกล่าวไปไย ถึงการที่จะได้ถวายภิกษา หรือกระทำการบูชา หรือฟังธรรมเล่า พระราชาทรงยึดถือว่า พระพุทธเจ้า และพระสงฆ์เป็นของพระองค์เองผู้เดียว ที่ถูกแล้ว พระศาสดาเมื่อเสด็จอุบัติ ก็อุบัติเพื่อประโยชน์แก่มหาชนทั้งหลาย มิใช่อุบัติเพื่อประโยชน์เฉพาะแก่พระราชาเท่านั้นไม่ เพราะฉะนั้น เราจะกราบทูลพระราชาเพื่อขอโอกาสกระทำบุญแด่พระศาสดาบ้าง ถ้าไม่ให้พวกเราก็จะรบกับพระราชา คิดดังนี้แล้วมหาชนจึงแต่งตัวแทนเข้าไปหาเสนาบดี แจ้งเรื่องนั้นแก่ท่าน เสนาบดีก็รับปากจะเข้าร่วมเป็นฝ่ายมหาชน โดยมีข้อแม้ว่า ต้องให้เสนาบดีมีโอกาสทำบุญกับพระศาสดาเป็นคนแรก ชาวพระนครก็รับคำ

    เสนาบดีเข้าไปเฝ้าพระราชากราบทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ พระราชาทรงเห็นว่า ชาวพระนครมีกำลัง ทั้งเสนาบดีก็เป็นฝ่ายของชาวพระนครเหล่านั้นเหมือนกัน จึงตรัสต่อรองว่า ขอเวลาให้ท่านได้ทำบุญกับพระศาสดากับหมู่พระสงฆ์อีก ๗ ปี ๗ เดือน ชาวพระนครไม่รับ พระราชาทรงให้ลดลงอย่างนี้คือ ๖ ปี ๕ ปี ชาวพระนครก็ไม่ยินยอม สุดท้ายจึงขออีก ๗ วัน ชาวพระนครก็ยินยอม

    พระราชาทรงนำสิ่งที่เตรียมไว้ถวายพระพุทธองค์และหมู่ภิกษุ สำหรับระยะเวลา ๗ ปี ๗ เดือน มารวมกันเพื่อถวายใน ๗ วันเท่านั้น แล้วพระราชาถวายบังคม กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า บัดนี้ ข้าพระองค์อนุญาตให้ชาวพระนครได้ถวายทานแล้ว ตั้งแต่พรุ่งนี้ไป โปรดทรงอนุเคราะห์แก่ชาวพระนครเหล่านั้นเถิด

    ครั้นในวันต่อมา เสนาบดีได้ถวายมหาทานตามสัญญา ต่อจากนั้น ชาวพระนครก็ได้เวียนกันกระทำสักการะพระพุทธองค์และหมู่พระสาวก เมื่อถึงลำดับของชาวพระนคร ทั่วๆ ไป ที่อยู่ใกล้ประตูพระนคร มหากาล จึงกล่าวกับ จุลกาลผู้น้องชายว่า วันพรุ่งนี้ ถึงคราเราได้โอกาสสักการะแด่พระทศพล เราจะทำสักการะ โดยนำข้าวสาลีที่มีอยู่ในนาของเรา ที่กำลังออกรวงอ่อน แล้วนำเอาข้าวอ่อนนั้นเอามาเคี่ยวเป็นน้ำนมจนข้นปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง และน้ำตาลกรวด ถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข จุลกาลผู้น้องไม่เห็นด้วยเพราะจะเป็นการทำลายข้าวที่กำลังตั้งท้องอยู่ให้เสียหาย

    มหากาลจึงให้แบ่งที่นาออกเป็น ๒ ส่วนเท่าๆ กัน และนำข้าวในส่วนของตนไปทำเป็นภัตตาหารตามที่ตนตั้งใจ แล้วถวายแด่พระบรมศาสดาและเหล่าพระภิกษุทั้งหลาย ในกาลเสร็จภัตกิจ เขาได้ทราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานอันเลิศของข้าพระองค์นี้ จงเป็นไปเพื่อความแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนกว่าสาวกทั้งปวง” พระศาสดาตรัสว่า “จงเป็นอย่างนั้นเถิด” แล้วได้ทรงทำอนุโมทนา

    ข้าวในนาส่วนที่ถูกนำมาเป็นภัตตาหารก็กลับมีขึ้นเต็มดังเดิม มหากาลผู้พี่ในเวลาต่อ ๆ มาก็ได้ทำทานเช่นนั้นเป็นระยะๆ รวม ๙ ครั้ง ในเวลาข้าวเม่า ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเม่า ได้ถวายข้าวกล้าอย่างเลิศพร้อมกับชาวบ้าน ในเวลาเกี่ยว ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวเกี่ยว ในเวลาทำเขน็ด ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวเขน็ด ในเวลามัดเป็น ฟ่อนเป็นต้น ก็ถวายส่วนเลิศในข้าวฟ่อน ได้ถวายส่วนเลิศในข้าวในลาน ในเวลานวดก็ถวายส่วนเลิศในข้าวนวด ในเวลาข้าวขึ้นยุ้งก็ถวายส่วนเลิศในข้าวขึ้นยุ้ง ได้ถวายทานตามคราว ๙ ครั้ง สำหรับข้าวกล้าอย่างเดียวเท่านั้น ดังกล่าวมาฉะนี้ ข้าวกล้าแม้นั้นก็คงยังตั้งขึ้นเหลือเฟือ

    ท่านกระทำเช่นนั้นตลอดเวลาที่พระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ และตราบเท่าที่พระสงฆ์ยังมีอยู่ ครั้นสิ้นชีพแล้ว ก็บังเกิดในเทวโลก ท่านท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ เสวยสมบัติตลอด ๙๑ กัป
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอัญญาโกณฑัญญเถระ

    ๐ กำเนิดเป็นโกณฑัญญพราหมณ์
    ในสมัยพระสมณโคดมพุทธเจ้า


    ในสมัยของพระสมณโคดมบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานี้ ท่านเกิดในเวลาก่อนที่พระบรมศาสดาของเราจะทรงอุบัติขึ้นในโลก ในตระกูลพราหมณ์มหาศาล ในหมู่บ้านพราหมณ์โทณวัตถุ ไม่ไกลจากกรุงกบิลพัสดุ เมื่อเกิดแล้วพวกญาติตั้งชื่อท่านว่า โกณฑัญญมาณพ ครั้นเจริญวัยแล้วก็ได้เรียนไตรเพทจนจบ และรู้ลักษณะมนต์ทั้งหลาย (ตำราทายลักษณะ)

    [​IMG]

    ๐ เข้าทำนายพุทธลักษณะ

    ครั้นเมื่อเจ้าชายสิทธัตถะประสูติได้ ๕ วัน พระประยูรญาติก็ได้จัดพระราชพิธีเฉลิมพระนาม โดยได้เชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คน มาประกอบพิธี โดยถวายผ้าใหม่ให้ครอง และถวายภัตตาหาร ครั้นเสร็จภัตกิจแล้วจึงได้เลือกพราหมณ์ ๘ คน จากพราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้น พราหมณ์ ๘ คนเหล่านี้คือ พราหมณ์ชื่อรามะ ชื่อธชะ ชื่อลักขณะ ชื่อสุชาติมันตี ชื่อโภชะ ชื่อสุยามะ ชื่อโกณฑัญญะ ชื่อสุทัตตะ ซึ่ง่พราหมณ์เหล่านี้ก็เป็นกลุ่มที่ได้ทำนายพระสุบินในวันที่ทรงประสูตินั่นเอง

    ครั้นเมื่อพราหมณ์ทั้ง ๘ ได้ตรวจดูพระสรีระของพระมหาบุรุษแล้ว มีพราหมณ์ ๗ คน (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๓ คน) ได้ทำนายออกเป็น ๒ แนว ว่า ถ้าอยู่ครองฆราวาส จักได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ ถ้าเสด็จออกทรงผนวช จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยที่สุดในหมู่พราหมณ์ทั้ง ๑๐๘ คนนั้นทำนายเป็นทางเดียว (อรรถกถาบางแห่งบอกว่า ๕ คน ทำนายเป็นทางเดียว ซึ่งทั้ง ๕ พราหมณ์นี้ก็คือปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ นั่นเอง) ว่าพระองค์จะเสด็จออกทรงผนวช แล้วจะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นศาสดาเอกในโลกแน่นอน พวกพราหมณ์เหล่านั้น เมื่อกลับไปสู่เรือนของตัวเองแล้วก็ได้ปรารภกับบุตรทั้งหลายว่า ตัวพ่อนั้นอายุมากแล้ว คงจะไม่ได้อยู่ชมพระบารมีของพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนมหาราช ผู้จะบรรลุพระสัพพัญญุตญาณ พวกเจ้าเมื่อพระกุมารทรงตรัสรู้แล้วเจ้าจงบวชในพระศาสนาของพระองค์เถิด


    [​IMG]


    ๐ กำเนิดปัญจวัคคีย์

    อีก ๒๙ ปีต่อมา เจ้าชายสิทธัตถะ ทรงเห็นโทษในกาม เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ในวันที่พระราหุลกุมารประสูติ จึงได้เสด็จออกทรงผนวช ในครั้งนั้นพราหมณ์ ๗ คน ได้สิ้นชีวิตไปตามกรรมแล้ว ส่วนโกณฑัญญมาณพ ซึ่งอายุน้อยกว่าเขาทั้งหมด เมื่อท่านทราบว่า พระมหาบุรุษทรงผนวชแล้ว จึงเข้าไปหาพวกบุตรพราหมณ์ของพราหมณ์ทั้ง ๗ และชักชวนให้ออกบวชตามเสด็จ แต่ก็มีบุตรพราหมณ์เพียง ๔ คนเท่านั้นที่เห็นดีด้วย บุตรพราหมณ์ทั้ง ๔ คน เหล่านี้ คือ ท่านภัททิยะ ท่านวัปปะ ท่านมหานาม และท่านอัสสชิ และท่านโกณฑัญญพราหมณ์จึงได้บวช

    เมื่อบวชแล้วบรรพชิตทั้ง ๕ นี้อันมีท่านโกณฑัญญะเป็นหัวหน้า จึงได้มีชื่อว่า พระปัญจวัคคีย์เถระ ก็ได้เที่ยวบิณฑบาตในคามนิคมและราชธานี และได้เดินทางไปอุปัฎฐากพระโพธิสัตว์ ตลอด ๖ ปีที่พระโพธิสัตว์ทรงเริ่มกระทำทุกรกิริยา ด้วยหวังว่า พระสมณโคดมจักบรรลุธรรมใดก็จักบอกธรรมนั้นแก่เราทั้งหลาย ครั้นพระโพธิสัตว์ทรงพิจารณาเห็นว่าการบำเพ็ญทุกรกิริยามิใช่หนทางไปสู่อริยธรรม จึงทรงกลับมาเสวยพระกระยาเช่นเดิม หมู่ปัญจวัคคีย์คิดว่าพระมหาสัตว์ทรงละความเพียรเสียแล้ว จึงหมดความเลื่อมใส เกิดความเบื่อหน่าย พากันละพระองค์เสีย ไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี

    ครั้นเมื่อพระโพธิสัตว์ ทรงกลับมาเสวยพระกระยาหารดังปกติ ล่วงมาถึงวันวิสาขบุรณมี ทรงเสวยโภชนะอย่างดีที่นางสุชาดาถวาย ทรงลอยถาดทองไปให้ทวนกระแสแม่น้ำตามที่ทรงอธิษฐาน จึงตกลงพระทัยที่จะปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุพระมหาอมตธรรมให้ได้ในวันนั้น จึงทรงประทับใต้ร่มมหาโพธิ บ่ายพระพักตร์ไปสู่ด้านตะวันออก นั่งขัดสมาธิ อธิษฐานความเพียร ทรงกำจัดมารและพลมารและบรรลุธรรมเป็นลำดับ จนกระทั่ง ทรงตรัสรู้เป็นพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าในปัจฉิมยามแห่งราตรีนั้นเอง

    ครั้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงพิจารณาถึงบุคคลที่พระองค์สมควรจะแสดงธรรมให้ก่อน จึงทรงพิจารณาถึง อาฬารดาบสและอุททกดาบส ก็ทรงทราบด้วยพระญาณว่าบุคคลทั้งสองสิ้นชีวิตไปแล้ว เมื่อทรงพิจารณาต่อไปก็ทรงเห็นว่า ภิกษุปัญจวัคคีย์ผู้อุปัฏฐากครั้งเมื่อทรงตั้งความเพียรนับว่าเป็นผู้มีอุปการะมากแก่เรา อีกทั้งโกณฑัญญพราหมณ์ก็เป็นผู้กระทำกรรมสะสมบารมีมาถึง๑๐๐,๐๐๐ กัป ก็เพื่อประสงค์จะเป็นผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้สามารถบรรลุธรรมก่อนผู้อื่น

    ลำดับนั้น พระศาสดา จึงเสด็จไปยังป่าอิสิปตมฤคทายวัน ที่ปัญจวัคคีย์อาศัยอยู่ เสด็จเข้าไปหาพระปัญจวัคคีย์
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    พระอัญญาโกณฑัญญเถระ

    [​IMG]


    ๐ ทรงแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตร

    ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้ว จึงเสด็จพุทธดำเนินไปสู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ฯ ฝ่ายปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ ได้เห็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาแต่ไกล เข้าใจว่าพระองค์เสด็จมาเพื่อแสวงหาผู้อุปฐาก จึงได้ตกลงกันว่า พระสมณโคดมนี้คลายความเพียรเวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากแล้ว เสด็จมา ณ บัดนี้ พวกเราทั้งหลายไม่พึงไหว้ ไม่พึงลุกขึ้นต้อนรับ ไม่พึงรับบาตรและจีวรของพระองค์เลย แต่ว่าท่านนี้เกิดในตระกูลใหญ่ เป็นวรรณกษัตริย์ เราควรปูลาดอาสนะที่นั่งไว้ เพื่อพระองค์ปรารถนาก็จักประทับนั่ง ฯ ครั้นพระองค์เสด็จเข้าไปถึงแล้ว อาศัยความเคารพที่เคยประพฤติต่อพระองค์ มาบันดาลให้ลืมข้อตกลงที่ทำกันนั้นไว้จนหมดสิ้น ลุกขึ้นต้อนรับพระพุทธองค์ รูปหนึ่งรับบาตรจีวรของพระผู้มีพระภาค รูปหนึ่งปูอาสนะ รูปหนึ่งจัดหาน้ำล้างพระบาท รูปหนึ่งจัดตั้งตั่งรองพระบาท รูปหนึ่งนำกระเบื้องเช็ดพระบาทเข้าไปถวาย ดังที่เคยทำมา แต่ยังพูดกับพระองค์ด้วยถ้อยคำไม่เคารพ คือ เรียกโดยการเอ่ยพระนามโดยตรง หรือเรียกโดยใช้คำแทนพระพุทธองค์ว่า อาวุโส ฯ

    พระพุทธองค์ทรงห้ามพวกปัญจวัคคีย์ มิให้เรียกพระองค์เช่นนั้น (ซึ่งถือว่าเป็นการไม่เคารพ ที่ทรงห้ามก็เพื่อจะมิให้เกิดโทษแก่เหล่าปัญจวัคคีย์เหล่านั้น) และทรงตรัสต่อไปว่า ตถาคตได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟังธรรมเถิด เราจะสั่งสอนอมตธรรมที่เราบรรลุแล้ว เพื่อที่เมื่อท่านทั้งหลายปฏิบัติตามที่เราสั่งสอนอยู่ ไม่ช้า ก็จักบรรลุถึงที่สุดแห่งพรหมจรรย์

    เหล่าปัญจวัคคีย์ก็ยังไม่เชื่อ ได้กล่าวเป็นเชิงสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์ว่า แต่เดิมที่ท่านปฏิบัติ แม้โดยการอดอาหาร กระทำทุกรกิริยาอย่างยิ่งยวด ถึง ๖ ปี ก็ไม่สามารถแทงตลอดพระสัพพัญญุตญาณได้ มาบัดนี้เมื่อท่านคลายความเพียรนั้น กลับมาเป็นผู้มักมาก ท่านจะบรรลุธรรมใดๆ อย่างไรได้

    พระพุทธองค์ทรงมีพระดำรัสว่า ท่านไม่ได้เป็นคนมักมาก คลายความเพียร เวียนมาเพื่อความเป็นผู้มักมากเลย ท่านบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว และทรงขอให้เหล่าปัญจวัคคีย์ตั้งใจฟังธรรมที่ท่านจะแสดง แต่ปัญจวัคคีย์เหล่านั้นก็ยังได้กล่าวสงสัยในจริยาของพระพุทธองค์อีกถึง ๒ ครั้ง

    จนในครั้งที่ ๓ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสเตือนให้เหล่าปัญจวัคคีย์ทั้งหลาย นึกถึงถ้อยคำของพระพุทธองค์ในครั้งก่อนว่า วาจาที่ท่านกล่าวว่าท่านได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว เช่นนี้ ท่านได้เคยพูดออกมาในกาลก่อนหรือไม่ พวกภิกษุปัญจวัคคีย์จึงระลึกขึ้นได้ว่าพระวาจาเช่นนี้พระองค์ไม่เคยได้ตรัสมาก่อนเลย จึงพากันตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาที่พระองค์จะตรัสเทศนาสั่งสอนสืบไป

    ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสแสดง พระปฐมเทศนาประกาศพระสัมโพธิญาณ ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่พระปัญจวัคคีย์ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระธรรมเทศนาจบ ดวงตาเห็นธรรม ปราศจากธุลีปราศจากมลทิน ได้เกิดขึ้นแก่ท่านพระโกณฑัญญะว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งมวล มีความดับเป็นธรรมดา ได้บรรลุเป็นพระโสดาบัน ในวันอาสาฬหปุรณมี เพ็ญกลางเดือน ๘ นั่นเอง

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทราบด้วยพระญาณว่า ท่านโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว จึงได้ทรงเปล่งพระอุทานว่า โกณฑัญญะ ได้รู้แล้วหนอ, โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ (อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ, อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ) เพราะเหตุนั้น คำว่า อัญญาโกณฑัญญะนี้ จึงได้เป็นชื่อของท่านตั้งแต่นั้นมา


    ๐ ทรงประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา

    ครั้นเมื่อท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ได้บรรลุธรรม ดำรงอยู่ในโสดาปัตติมรรคแล้ว จึงได้ทูลขอบรรพชาต่อพระผู้มีพระภาคเจ้า ซึ่งสมเด็จพระบรมศาสดาก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา โดยตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ดังนี้ แล้วตรัสต่อไปว่าธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว เธอจงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำที่สุดทุกข์โดยชอบเถิด.

    บัดนั้น ถือว่าโลกมี พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์สาม เป็นครั้งแรก

    ในวันต่อมา เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงประทานโอวาทสั่งสอนด้วยธรรมีกถา ทรงให้พระภัททิยเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล.และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๒ ในวันแรม ๑ ค่ำ

    ในวันแรม ๒ ค่ำ ทรงให้พระวัปปเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๓

    ในวันแรม ๓ ค่ำ ทรงให้พระมหานามเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๔

    ในวันแรม ๔ ค่ำ ทรงให้พระอัสสชิเถระตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล และประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นเอหิภิกษุรูปที่ ๕

    อนึ่งในวันแรม ๕ ค่ำ ทรงเทศนาอนัตตลักขณสูตร ให้พระปัญจวัคคีย์ทั้งหมดตั้งอยู่ในพระอรหัตด้วย ครั้งนั้น มีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลก ๖ องค์


    ๐ ทรงตั้งพระเถระเป็นเอตทัคคะผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน

    ครั้นกาลต่อมา พระศาสดาประทับนั่งบนบวรพุทธอาสน์ที่เขาปูลาดไว้ในท่ามกลางภิกษุสงฆ์ ในพระเชตวันมหาวิหาร เมื่อจะทรงแสดงความที่พระเถระเป็นผู้รู้แจ้งธรรมก่อนเพื่อน จึงทรงตั้งพระเถระนั้นไว้ในเอตทัคคะว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อัญญาโกณฑัญญะนี้ เป็นเลิศแห่งภิกษุสาวกทั้งหลายของเราผู้เป็นรัตตัญญูรู้ราตรีนาน


    ๐ พวกภิกษุติเตียนพระศาสดา

    ครั้งเมื่อ พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน ทรงประทานตำแหน่งพระอัครสาวกแก่พระเถระทั้งสองแล้วทรงแสดงพระปาติโมกข์

    พวกภิกษุ ติเตียนกล่าวว่า “พระศาสดา ประทานตำแหน่งแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยเห็นแก่หน้า อันพระองค์เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ควรประทานแก่พระปัญจวัคคีย์ผู้บวชก่อน เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระปัญจวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๕๕ รูป มีพระยสเถระเป็นประมุข เมื่อไม่เหลียวแลถึงภิกษุเหล่านั้น ก็ควรประทานแก่พระพวกภัทรวัคคีย์ เมื่อไม่เหลียวแลถึงพระพวกภัทรวัคคีย์เหล่านั้น ก็ควรประทานแก่ภิกษุ ๓ พี่น้อง มีพระอุรุเวลกัสสปะเป็นต้น แต่พระศาสดา ทรงละเลยภิกษุเหล่านั้น เมื่อจะประทานตำแหน่งอัครสาวก ก็ทรงเลือกประทานแก่ผู้บวชภายหลังเขาทั้งหมด”

    พระศาสดา ตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอพูดอะไรกัน ?” เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า “เรื่องเช่นนี้พระพุทธเจ้าข้า” พระศาสดาจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราหาเลือกหน้าให้ตำแหน่งแก่พวกภิกษุไม่ แต่เราให้ตำแหน่งที่แต่ละคนๆ ตั้งความปรารถนาไว้แล้วในอดีตแก่ภิกษุเหล่านี้ แล้วทรงเล่าบุรพกรรมของพระอัญญาโกณฑัญญะในสมัยที่ตั้งความปรารถนาจะเป็นผู้แทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนผู้อื่น ไว้เมื่อสมัยกระทำมหาทานแด่พระวิปัสสีพุทธเจ้า และทรงกล่าวอีกว่า

    อนึ่ง แม้ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า ปทุมุตตระ ในหงสาวดีนคร ในแสนกัลป์ก่อนหน้านี้ เขาถวายมหาทานตลอด ๗ วันแล้ว หมอบลงแทบบาทมูลของพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ตั้งปรารถนาเพื่อแทงตลอดธรรมอันเลิศก่อนเขา เหมือนกัน สิ่งที่เราได้ให้ เป็นผลที่อัญญาโกณฑัญญะนี้ปรารถนาในอดีตทีเดียว เราหาได้เลือกหน้าให้ไม่”


    ๐ พระเถระบวชหลานชาย

    ครั้งหนึ่ง พระอัญญาโกณฑัญญเถระ มายังกรุงกบิลพัสดุ์ เพื่อบวชให้กับปุณณมาณพ หลานชายของท่านผู้เป็นบุตรของนางมันตานีพราหมณี (ผู้ซึ่งตำราบางแห่งบอกว่า เป็นน้องสาวของท่าน) โดยที่ชื่อของท่านปุณณมาณพเหมือนกับพระเถระอีกรูปหนึ่งซึ่งชื่อ ปุณณะ เช่นเดียวกัน จึงเรียกท่านว่า พระปุณณมันตานีบุตร พระปุณณมันตานีบุตรท่านนี้ เมื่อบวชแล้วก็ได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุพระอรหัตผล ต่อมาพระบรมศาสดาได้ทรงสถาปนาท่านไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะของเหล่าภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก


    ๐ พระเถระปลีกตัวไปอยู่ป่า

    ในระยะเวลาประมาณ ๑๒ ปีสุดท้ายแห่งอายุของท่าน ท่านได้ไปอยู่ในถิ่นช้างตระกูลฉันททันตะ ใกล้สระมันทากินีโปกขรณี ซึ่งเป็นสถานที่อยู่แห่งพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็เนื่องจากท่านเป็นพระมหาสาวกผู้เป็นที่เคารพนับถือทั้งเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เมื่อเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายไปยังสำนักของพระตถาคต กระทำการบูชาด้วยของหอมและดอกไม้แล้วก็จะเข้าไปบูชาพระเถระด้วยเสมอ เป็นธรรมดาว่าเมื่อมีผู้มาสู่สำนัก ท่านก็ต้องแสดงธรรมกถา หรือปฏิสันถารด้วย พระเถระเป็นผู้ปรารถนาความสงัด ท่านจึงคิดจะปลีกตนไปอยู่ ณ ที่ดังกล่าว

    อีกเรื่องหนึ่ง ก็คือ วันหนึ่ง พระเถระเห็นภิกษุรูปหนึ่ง ผู้เป็นสัทธิวิหาริกของตน เป็นคนเกียจคร้าน ไม่ประกอบด้วยความเพียร มีจิตฟุ้งซ่าน มักคลุกคลีอยู่กับบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร จึงไปหาศิษย์ผู้นั้นแล้วให้โอวาทภิกษุนั้นว่า ท่านอย่ากระทำอย่างนี้เลย ท่านจงละบุคคลผู้ไม่เป็นกัลยาณมิตร คบหาบุคคลผู้เป็นกัลยาณมิตรทั้งหลาย.ภิกษุนั้นไม่สนใจต่อคำสอนของพระเถระ.พระเถระถึงธรรมสังเวช ต่อจริยาของภิกษุนั้น

    อีกเหตุหนึ่ง ในเวลาแสดงธรรม เมื่อพระศาสดาประทับนั่งบนพุทธอาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ตรงกลาง พระธรรมเสนาบดีนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องขวา พระโมคคัลลาะนั่ง ณ ข้างพระหัตถ์เบื้องซ้าย ส่วนเบื้องหลังแห่งพระสาวกทั้ง ๒ นั้น เขาปูอาสนะไว้สำหรับพระอัญญาโกณฑัญญะ เหล่าภิกษุที่เหลือนั่งแวดล้อมท่าน พระอัครสาวกทั้ง ๒ มีความเคารพในพระเถระ เพราะท่านแทงตลอดธรรมอันเลิศและเป็นพระเถระผู้เฒ่า พระเถระเห็นว่า ภิกษุเหล่านี้เกรงใจต่อเรา เราพึงจะทำให้ภิกษุเหล่านั้นอยู่โดยความสำราญ คิดดั่งนั้นแล้วพระเถระจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลขอประทานอนุญาตไปอยู่ในชนบท พระศาสดาก็ทรงอนุญาต

    ครั้นพระเถระเก็บงำเสนาสนะแล้ว ถือบาตรจีวรไปยังริมสระมันทากินีโปกขรณี ถิ่นช้างตระกูลฉัททันตะ ซึ่งเมื่อกาลก่อน โขลงช้างประมาณ ๘,๐๐๐ เชือก เคยปรนนิบัติพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย มาครั้งนี้ โขลงช้างเมื่อเห็นพระเถระก็ยินดีคิดว่าบุญเขตของพวกเรามาถึงแล้ว จึงเอาเท้าปรับที่สำหรับจงกรม เอาหญ้าออก นำกิ่งไม้เครื่องกีดขวางออก จัดแจงที่อยู่ของพระเถระ ทำวัตรทั้งหมด ประชุมปรึกษากันตั้งเวรกันไว้สำหรับอุปัฏฐากพระเถระ


    ๐ พระเถระทูลลาพระพุทธองค์เพื่อไปนิพพาน

    พระเถระอยู่ในป่านี้ตลอด ๑๒ ปี ครั้นท่านได้ตรวจดูอายุสังขารก็ทราบว่าสิ้นแล้ว จึงพิจารณาถึงสถานที่ที่ควรจะปรินิพพาน ท่านพิจารณาว่า เหล่าช้างทั้งหลายบำรุงเราถึง ๑๒ ปี กระทำกิจยากที่ผู้อื่นจะทำได้ เราจักขออนุญาตพระศาสดาปรินิพพานในที่ใกล้ๆ ช้างเหล่านั้นแหละ แล้วจึงเหาะไปยังสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า

    ครั้นถึงท่ามกลางสงฆ์อันมีพระบรมศาสดาเป็นประธาน แวดล้อมด้วยหมู่พุทธบริษัทแล้ว ท่านจึงถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วจึงประกาศชื่อ ด้วยพิจารณาว่า ท่านละเมืองไปอยู่ป่านานถึง ๑๒ ปี ในหมู่ชนทั้งหลายที่มาเฝ้าพระพุทธองค์ คนบางพวกจำพระเถระได้ บางพวกจำไม่ได้ บรรดาคนเหล่านั้น คนเหล่าใดที่ไม่รู้จักพระเถระ จักคิดร้ายว่า พระแก่ศีรษะขาวโพลนหลังโกงซี่โครงคดรูปนี้ทำปฏิสันถารกับพระศาสดา คนเหล่านั้นจักตกในอบาย แต่คนเหล่าใดรู้จักพระเถระ ก็จักเลื่อมใสว่า เป็นมหาสาวกปรากกฎในหมื่นจักรวาลเหมือนพระศาสดา คนเหล่านั้นจักเข้าถึงสวรรค์ ดังนี้ เพื่อจะปิดทางอบาย เปิดทางสวรรค์สำหรับชนเหล่านั้น ท่านจึงได้ประกาศชื่อของท่าน

    ครั้นแล้วพระเถระจึงทำปฏิสันถารกับพระศาสดาขออนุญาตกาลปรินิพพานว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อายุสังขารของข้าพระองค์สิ้นแล้ว ข้าพระองค์จักปรินิพพาน พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า โกณฑัญญะเธอจักปรินิพพานที่ไหน พระเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ช้างทั้งหลายที่เป็นอุปัฏฐากของข้าพระองค์ได้กระทำกิจที่ผู้อื่นทำได้ยาก ข้าพระองค์จักปรินิพพานในที่ใกล้ๆ ช้างเหล่านั้น พระศาสดาทรงอนุญาต

    พระเถระทำประทักษิณพระทศพลแล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ การเห็นครั้งนั้น เป็นการเห็นครั้งแรกของข้าพระองค์ ครั้งนี้เป็นการเห็นครั้งสุดท้าย มหาชนเมื่อทราบข่าวก็ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ พระเถระถวายบังคมพระศาสดาแล้วออกมายืนที่ซุ้มประตู สั่งสอนมหาชนเหล่านั้นว่า ท่านทั้งหลาย อย่าเศร้าโศกเลยอย่าคร่ำครวญเลย เป็นพระพุทธเจ้าก็ตาม เป็นพุทธสาวกก็ตาม สังขารที่เกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าไม่แตกทำลาย ย่อมไม่มี แล้วท่านก็เหาะไปลงที่ริมสระมันทากินี สรงน้ำในสระโบกขรณีนุ่งสบงห่มจีวรแล้ว เก็บงำเสนาสนะ เข้าผลสมาบัติล่วง ๓ ยาม ปรินิพพานเวลาจวนสว่าง ต้นไม้ทุกต้นไม้หิมวันตประเทศได้โน้มน้อมออกผลบูชาพร้อมกับเวลาพระเถระปรินิพพาน

    ช้างตัวเข้าเวรไม่รู้ว่าพระเถระปรินิพพานจัดน้ำบ้วนปากและไม้ชำระฟันทำวัตรปฏิบัติแต่เช้าตรู่ นำของควรเคี้ยวและผลไม้มายืนอยู่ที่ท้ายที่จงกรม ช้างนั้นไม่เห็นพระเถระออกมาจนพระอาทิตย์ขึ้นคิดว่า นี่อะไรกันหนอ เมื่อก่อน พระผู้เป็นเจ้าจงกรม ล้างหน้าแต่เช้าตรู่วันนี้ยังไม่ออกจากบรรณศาลา จึงเขย่าประตูกุฎี และดูเห็นพระเถระกำลังนั่ง จึงเหยียดงวงออกลูบคลำค้นหาลมอัสสาสปัสสาสะ รู้ว่าลมอัสสาสปัสสาสะขาด พระเถระปรินิพพานแล้ว จึงสอดงวงเข้าในปากร้องเสียงดังลั่น ทั่วหิมวันตประเทศได้มีเสียงบันลือเป็นอันเดียวกัน ช้าง ๘,๐๐๐ ประชุมกันยกพระเถระขึ้นนอนบนกระพองของหัวหน้าโขลง ถือกิ่งไม้ที่มีดอกบานสะพรั่ง แวดล้อมแห่ไปทั่วหิมวันต์แล้วมายังที่ของตนตามเดิม.

    ท้าวสักกเทวราชปรึกษาพระวิษณุกรรมเทพบุตรว่า พระอัญญาโกณฑัญญะเถระปรินิพพานเสียแล้ว เราจักกระทำสักการะ ท่านจงเนรมิตปราสาทยอดขนาด ๙ โยชน์ล้วนแล้วด้วยรัตนะทุกอย่าง พระวิษณุกรรมเทพบุตรทำตามเทวบัญชาแล้ว ให้พระเถระนอนในปราสาทนั้น ได้มอบหมายปราสาทให้แก่ช้างทั้งหลาย ช้างเหล่านั้นยกปราสาทเวียนเขาหิมวันต์ประมาณ ๓,๐๐๐ โยชน์หลายรอบ พวกอากาศเทวดารับจากงวงของช้างเหล่านั้น แล้วแห่แหนปราสาทขึ้นไปจนถึงพรหมโลกครั้นแล้วพวกพรหมได้ให้ปราสาทแก่พวกเทวดา พวกเทวดาได้ให้ปราสาทแก่ช้างทั้งหลายตามเดิม

    เทวดาแต่ละองค์ได้นำท่อนจันทร์ประมาณ ๔ องคุลีมา ได้มีจิตกาธานประมาณ ๙ โยชน์ พวกเทวดายกเรือนยอดขึ้นสู่จิตกาธาน ภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป เหาะมาสาธยายตลอดคืน พระอนุรุทธเถระแสดงธรรม เทวดาเป็นอันมากได้ตรัสรู้ธรรม ในวันรุ่งขึ้นเวลาอรุณขึ้นนั่นอง เทวดาทั้งหลายให้ดับจิตกาธานแล้ว เอาพระธาตุมีสีดังดอกมะลิตูมบรรจุผ้ากรองน้ำ นำมาวางไว้ในพระหัตถ์ของพระศาสดา ในเมื่อพระองค์เสด็จออกถึงซุ้มประตูพระวิหารเวฬุวัน พระศาสดาทรงรับผ้ากรองน้ำบรรจุพระธาตุแล้ว ทรงเหยียดพระหัตถ์ไปที่แผ่นดิน พระเจดีย์เหมือนฟองเงินชำแรกแผ่นดินใหญ่ออกมา พระศาสดาทรงบรรจุพระธาตุในพระเจดีย์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ได้ยินว่า พระเจดีย์นั้นก็ยังดำรงอยู่จนถึงทุกวันนี้แล



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    Home Main Page
    Dhamma and Life - Manager Online
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๒. พระสารีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก

    [​IMG]


    พระสารีบุตรเถระ เป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะคือได้รับการยกย่องจากพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่าเป็นผู้เลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านมีปัญญามาก

    พระสารีบุตร มีเดิมนามเดิมว่า อุปติสสะ ได้บรรลุโสดาบันเมื่อได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ ภายหลังได้มาอุปสมบทในพระธรรมวินัยนี้แล้ว มีชื่อเรียกใหม่ว่า พระสารีบุตร (แปลว่า บุตรของนางสารี) และต่อมาไม่นานก็บรรลุอรหัตผล

    ท่านมีคุณความดีและบำเพ็ญประโยชน์ให้พระพุทธศาสนาอย่างมาก และธรรมภาษิตที่ท่านได้แสดงไว้ก็ปรากฏอยู่มากมายในพระไตรปิฎก มีคำเรียกเพื่อยกย่องท่านอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดี (ซึ่งเป็นคู่กับพระบรมศาสดาว่า พระธรรมราชา) พระสารีบุตร นิพพานเมื่อวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ (ก่อนพระบรมศาสดา)


    ๐ อุปติสสะ

    อุปติสสะเกิดในตระกูลพราหมณ์ ในบ้านตำบลอุปติสสคาม เมืองนาลันทาหรือนาลกะ เป็นบุตรของพราหมณ์ชื่อ วังคันตะ ซึ่งเป็นนายบ้านอุปติสสคามนั้น (ท่านจึงได้ชื่อว่า อุปติสสะ) ส่วนมารดาชื่อ สารี มีน้องชาย ๓ คน คือ พระจุนทะ พระอุปเสน พระเรวัตตะ มีน้องสาว ๓ คน คือ นางจาลา นางอุปจาลา และนางสีสุปจาลา

    มีเพื่อนสนิทซึ่งเกิดวันเดียวกันชื่อว่า โกลิตะ (ซึ่งภายหลังรู้จักกันในนาม พระมหาโมคคัลลานะ) เมื่ออุปติสสะและโกลิตะเจริญวัยขึ้น ก็สำเร็จศิลปศาสตร์ทุกอย่าง


    ๐ พบพระอัสสชิ

    พระคันถรจนาจารย์พรรณนาว่า อุปติสสมาณพนั้น เป็นบุตรแห่งสกุลผู้บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติและบริวาร ได้เป็นผู้เรียนรู้ศิลปศาสตร์ ได้เป็นมิตรชอบพอกันกับโกลิตมาณพ โมคคัลลานโคตร ผู้รุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกันมาแต่ยังเยาว์

    วันหนึ่ง สองสหายนั้นชวนกันไปดูการเล่น บนยอดเขาในกรุงราชคฤห์ แต่รู้สึกไม่เบิกบาน ไม่ร่าเริงเหมือนในวันก่อนๆ โกลิตะถามอุปติสสะว่า ดูท่านไม่สนุกเหมือนในวันอื่น วันนี้ดูใจเศร้า ท่านเป็นอย่างไรหรือ โกลิตะ อะไรที่ควรดูในการเล่นนี้มีหรือ คนเหล่านี้ทั้งหมดยังไม่ทันถึง ๑๐๐ ปี ก็จักไม่มีเหลือ จักล่วงไปหมด ดูการเล่นไม่มีประโยชน์อะไร ไม่มีแก่นสารเลย ควรขวนขวายหาธรรมเครื่องพ้นสำหรับตนดีกว่า

    ส่วนท่านเล่า เป็นอย่างไร อุปติสสะ ตอบว่า ก็คิดเหมือนอย่างนั้น สองสหายนั้น มีความเห็นร่วมกันอย่างนั้นแล้ว พาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้ทั้งหมดแล้ว อาจารย์ให้เป็นผู้ช่วยสั่งสอนหมู่ศิษย์ต่อไป สองสหายนั้น ยังไม่พอใจในลัทธิของครูนั้น จึงนัดหมายตกลงกันว่า “ในเราสองคน ผู้ใดได้บรรลุอมตธรรมก่อน ผู้นั้นจงบอกแก่กัน”

    ครั้นพระศาสดาได้ตรัสรู้แล้ว ทรงแสดงธรรมสั่งสอนประชุมชน ประกาศพระพุทธศาสนา เสด็จมาถึงกรุงราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน วันหนึ่ง พระอัสสชิ ผู้นับเข้าในพระปัญจวัคคีย์ อันพระศาสดาทรงส่งให้จาริกไปประกาศพุทธศาสนากลับมาเฝ้า เข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์

    อุปติสสปริพาชก เดินมาจากสำนักของปริพาชก ได้เห็นท่านอาการน่าเลื่อมใส จะก้าวไปถอยกลับแลเหลียว คู้แขนเหยียดแขนเรียบทุกอิริยาบถ ทอดจักษุแต่พอประมาณ มีอาการแปลกจากบรรพชิตในครั้งนั้น อยากจะทราบความว่าใครเป็นศาสดาของท่าน แต่ยังไม่อาจถาม ด้วยเห็นว่าเป็นกาลไม่ควร ท่านยังเที่ยวไปบิณฑบาตอยู่ จึงติดตามไปข้างหลังๆ

    ครั้นเห็นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว จึงเข้าไปใกล้ พูดปราศรัยแล้ว ถามว่า ผู้มีอายุ อินทรีย์ของท่านหมดจดผ่องใส ท่านบวชจำเพาะใคร ใครเป็นศาสดาผู้สอนของท่าน ท่านชอบใจธรรมของใคร พระอัสสชิตอบว่า เราบวชจำเพาะพระมหาสมณะ ผู้เป็นโอรสศากยราชออกจากศากยสกุล ท่านเป็นศาสดาของเรา เราชอบใจธรรมของท่าน พระศาสดาของท่านสั่งสอนอย่างไร

    พระอัสสชิตอบว่า รูปเป็นผู้ใหม่ บวชยังไม่นาน เพิ่งมายังพระธรรมวินัยนี้ ไม่อาจแสดงธรรมแก่ท่านโดยกว้างขวาง รูปจักกล่าวความแก่ท่านแต่โดยย่อพอรู้ความ อุปติสสปริพาชก กล่าวว่า ช่างเถิด ท่านจะกล่าวน้อยก็ตาม มากก็ตาม กล่าวแต่ความเถิด รูปต้องการด้วยความ ท่านจะกล่าวคำให้มากเพื่อประโยชน์อะไร

    พระอัสสชิก็แสดงธรรมแก่อุปติสสประพาชก พอเป็นความว่า “พระศาสดาทรงแสดงความเกิดแห่งธรรมทั้งหลาย เพราะเป็นไปแห่งเหตุ และความดับแห่งธรรมเหล่านั้น เพราะดับแห่งเหตุ พระศาสดาตรัสอย่างนี้”

    อุปติสสปริพาชกได้ฟัง ก็ทราบว่า ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า ธรรมทั้งปวง เกิดเพราะเหตุ และจะสงบระงับไป เพราะเหตุดับก่อน พระศาสดาทรงสั่งสอน ให้ปฏิบัติเพื่อสงบระงับเหตุแห่งธรรม เป็นเครื่องก่อให้เกิดทุกข์ ได้ดวงตาเห็นธรรมว่า

    “สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งหมด ต้องมีความดับเป็นธรรมดา”

    แล้วถามพระเถระว่า พระศาสดาของเราเสด็จอยู่ที่ไหน พระอัสสชิ ตอบว่า เสด็จอยู่ที่เวฬุวัน อุปติสสปริพาชก กล่าวว่า ถ้าอย่างนั้น พระผู้เป็นเจ้าไปก่อนเถิด รูปจักกลับไปบอกสหาย จักพากันไปเฝ้าพระศาสดา ครั้นพระเถระไปแล้ว ก็กลับมาสำนักของปริพาชก บอกข่าวที่ได้ไปพบพระอัสสชิให้โกลิตปริพาชกทราบแล้ว แสดงธรรมนั้นให้ฟัง โกลิตปริพาชกก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเหมือนอุปติสสะแล้ว ชวนกันไปเฝ้าพระศาสดา


    ๐ ชักชวนอาจารย์สัญชัยไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    อุปติสสปริพาชกและโกลิตปริพาชกจึงไปลาสัญชัยผู้อาจารย์เดิม สัญชัยห้ามไว้ อ้อนวอนให้อยู่เป็นหลายครั้ง ก็ไม่ฟัง มาณพทั้งสองได้ไปชักชวนสัญชัยปริพาชก ให้ไปบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าด้วยกัน ทั้งนี้ด้วยความหวังที่จะให้อาจารย์ได้บรรลุอมตธรรมอันเป็นธรรมที่นำไปสู่ความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง แต่สัญชัยปริพาชกไม่ยอมไป มาณพทั้งสองก็รบเร้าว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้ตรัสรู้เอง เป็นผู้รู้แจ้งจริง ต่อไปคนทั้งหลายจะหลั่งไหลไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วอาจารย์จะอยู่ได้อย่างไร

    “ฉันขอบใจเธอทั้ง ๒ ที่หวังดี” สัญชัยปริพาชกเอ่ยขึ้น หลังจากได้ทราบความประสงค์ของศิษย์เอกที่มาหา “แต่ฉันก็ไปไหนไม่ได้หรอก และไม่คิดที่จะไปด้วย เพราะทุกวันนี้ฉันมีสภาพที่ไม่ต่างอะไรไปจากจระเข้ในตุ่มน้ำ จะกลับหัวกลับหางก็ลำบากเสียแล้ว”

    คำพูดของสัญชัยปริพาชกเป็นการตัดบทโดยสิ้นเชิง ลาภสักการะและความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าลัทธิ ทำให้สัญชัยปริพาชกไม่อาจลดฐานะของตนลงมาเป็นศิษย์ใครได้ แม้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะจะพูดโน้มน้าวใจด้วยประการต่างๆ ก็ไม่สำเร็จ

    “ท่านอาจารย์” ปริพาชกทั้ง ๒ พยายามเป็นครั้งสุดท้าย “ขณะนี้ใครต่อใครต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้ากันทั้งนั้นนะ”

    สัญชัยปริพาชกมองหน้าปริพาชกผู้เป็นศิษย์แล้วถามว่า

    “ในโลกนี้คนโง่มากหรือคนฉลาดมาก”

    “คนโง่มีมาก คนฉลาดมีน้อย”

    “ถ้าอย่างนั้น ปล่อยให้คนฉลาดไปเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ให้คนโง่ซึ่งมีจำนวนมากกว่ามาเป็นลูกศิษย์ของเรา เราจะได้รับเครื่องสักการะจากคนจำนวนมาก คนฉลาดอย่างเธอทั้งสองจะไปเป็นศิษย์ของพระสมณโคดมก็ตามใจ”

    จากคำพูดประโยคสุดท้าย ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็แน่ใจว่าไม่สามารถโน้มน้าวให้อาจารย์ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกันได้ ดังนั้นจึงอำลาและพาปริพาชกบริวารจำนวน ๒๕๐ ที่พร้อมจะไปกับตนเดินทางไปวัดเวฬุวัน


    ๐ ไปเฝ้าพระพุทธเจ้า

    วันและเวลาที่ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ พาบริวารเดินทางไปเฝ้าพระพุทธเจ้านั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดพุทธบริษัทอยู่ พระองค์ทรงทราบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดด้วยพระญาณ จึงได้ตรัสบอกว่า “อุปติสสะกับโกลิตะกำลังมาหาตถาคต ทั้ง ๒ เป็นเพื่อนกัน เขาจะมาเป็นคู่อัครสาวกของตถาคต”

    เมื่อตรัสบอกแล้วพระพุทธเจ้ายังทรงแสดงธรรมต่อไปเรื่อยๆ แม้ปริพาชกทั้ง ๒ จะพาปริพาชกบริวารมาถึงแล้วก็หาได้ทรงหยุดแสดงธรรมไม่ ทั้งนี้เป็นด้วยทรงเห็นว่าปริพาชกบริวารทั้ง ๒๕๐ นั้น ได้ฟังธรรมนี้แล้วจะได้บรรลุอรหัตผล ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะยังคงเป็นพระโสดาบันอยู่เช่นเดิม

    เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า ปริพาชกบริวารปรารถนาเพียงแค่ได้บรรลุอรหัตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ส่วนปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะ นอกจากจะปรารถนามาให้ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว ยังปรารถนาเป็นพระอัครสาวก และได้ตำแหน่งเอตทัคคะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ในการช่วยพระพุทธเจ้าประกาศพระพุทธศาสนานั่นเอง โดยเหตุที่อุปนิสัยน้อมไปเพื่อทำประโยชน์อันยิ่งใหญ่นั้น จึงจำเป็นอยู่เองที่จะต้องผ่านการฝึกหัดที่ยากลำบาก ซึ่งทำให้ได้บรรลุผลสูงสุดคืออรหัตผล ช้ากว่าปริพาชกบริวาร

    ฝ่ายพระโมคคัลลานะอุปสมบทได้เจ็ดวัน จึงได้สำเร็จพระอรหัต ฝ่ายพระสารีบุตรต่ออุปสมบทแล้วได้กึ่งเดือน จึงได้สำเร็จพระอรหัต

    กล่าวถึงการบวชของปริพาชกทั้งหมดนั้น เมื่อปริพาชกบริวารได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะก็ได้นำปริพาชกบริวารเหล่านั้นกล่าวคำทูลขอบวชในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าทรงบวชให้ทั้งหมดด้วยวิธีบวชแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา ต่างแต่ว่าเวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกอุปติสสะและปริพาชกโกลิตะนั้น พระองค์ตรัสว่า

    “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำทุกข์ให้หมดสิ้นไปโดยชอบเถิด” เหมือนอย่างที่ตรัสแก่พระปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕

    แต่เวลาที่ทรงบวชให้ปริพาชกบริวาร พระองค์ตรัสว่า “จงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์เถิด”


    ๐ ความสำเร็จพระอรหัตแห่งพระสารีบุตร

    มีเรื่องเล่าถึงความสำเร็จพระอรหัตแห่งพระสารีบุตรว่า เวลาผ่านไปครึ่งเดือน (หลังจากที่พระสารีบุตรบวชในพระพุทธศาสนา) วันนั้นพระศาสดาเสด็จอยู่ในถ้ำสุกรขาตา เขาคิชฌกูฏ แขวงกรุงราชคฤห์ ปริพาชกผู้หนึ่งชื่อ ทีฆนขะ อัคคิเวสสนโคตร ผู้เป็นหลาน (ลุง) พระสารีบุตร เข้าไปเฝ้าพระศาสดา กล่าวปราศรัยแล้ว ยืน ณ ที่ควรข้างหนึ่ง ทูลแสดงทิฏฐิของตนว่า ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่ชอบใจหมด

    พระศาสดาตรัสตอบว่า อัคคิเวสสะ ถ้าอย่างนั้น ความเห็นอย่างนั้น ก็ต้องไม่ควรแก่ท่าน ท่านก็ต้องไม่ชอบความเห็นอย่างนั้น ตรัสตอบอย่างนี้แล้ว ทรงแสดงสมณพราหมณ์ มิทิฏฐิสามจำพวกว่า อัคคิเวสสนะ สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด พวกหนึ่งมีทิฏฐิว่า บางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกต้น ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ยินดีในสิ่งนั้นๆ

    ทิฏฐิของสมพราหมณ์พวกที่สอง ใกล้ข้างความเกลียดชังสิ่งนั้นๆ ทิฏฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สาม ใกล้ข้างความกำหนัดรักใคร่ในของบางสิ่ง ใกล้ข้างความเกลียดชังในของบางสิ่ง ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราจักถือมั่นทิฏฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด กล่าวว่า สิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นเปล่าหาจริงไม่ ก็จะต้องถือผิดจากคนสองพวกที่มีทิฏฐิไม่เหมือนกับตน ครั้นความถือผิดกันมีขึ้น ความวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น ครั้นความวิวาทมีขึ้น ความพิฆาตหมายมั่นก็มีขึ้น ครั้นความพิฆาตมีขึ้น ความเบียดเบียนก็มีขึ้น ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้ว ย่อมละทิฏฐินั้นเสียด้วย ไม่ทำทิฏฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย ความละทิฏฐิสามอย่างนี้ ย่อมมีด้วยอุบายอย่างนั้น

    ครั้นแสดงโทษแห่งความถือมั่นด้วยทิฏฐิสามอย่างนั้นแล้ว ทรงแสดงอุบายเครื่อง ไม่ถือมั่นต่อไปว่า อัคคิเวสสนะ กาย คือ รูป ประชุมมหาภูตทั้งสี่ (ดิน น้ำ ไฟ ลม) มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมสดนี้ ต้องอบรมกันกลิ่นเหม็นและขัดสีมลทินเป็นนิตย์ มีความแตกกระจัดกระจายไปเป็นธรรมดา ควรพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ อดทนได้ยาก เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร โดยความยากลำบากชำรุดทรุดโทรม เป็นของว่างเปล่าไม่ใช่ตน เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจรักใคร่กระวนกระวายในกามเสียได้

    อนึ่ง เวทนาเป็นสามอย่าง คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา คือ ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ในสมัยใดเสวยสุข ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยทุกข์ และอุเบกขา ในสมัยใด เสวยทุกข์ ในสมัยนั้น ไม่ได้เสวยสุข และอุเบกขา สุข ทุกข์ อุเบกขา ทั้งสามอย่างนี้ ไม่เที่ยง ปัจจัยประชุมแต่งขึ้น อาศัยปัจจัยเกิดขึ้นแล้วมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา

    อริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว เมื่อเห็นอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย ทั้งในสุข ทุกข์ อุเบกขา เมื่อเบื่อหน่าย ก็ปราศจากกำหนัด เพราะปรากศจากกำหนัด จิตก็พ้นจากความถือมั่น เมื่อจิตพ้นแล้ว ก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว อริยสาวกนั้นรู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำจะต้องทำได้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ภิกษุผู้พ้นแล้วอย่างนี้ ไม่วิวาทโต้เถียงกับผู้ใด ด้วยทิฏฐิของตน โวหารใด เขาพูดกันอยู่ในโลก ก็พูดตามโวหารนั้น แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฏฐิ

    สมัยนั้น พระสารีบุตรนั่งถวายอยู่งานพัด เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา ได้ฟังธรรมเทศนาที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพาชก จึงดำริว่า พระศาสดาตรัสสอนให้ละการถือมั่นธรรมเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันรู้ยิ่ง เมื่อท่านพิจารณาอย่างนั้น จิตก็พ้นจากอาสวะ ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน ส่วนทีฆนขปริพาชกนั้น เป็นแต่ได้ดวงตาเห็นธรรม สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาและแสดงตนเป็นอุบาสก
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๒. พระสารีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก

    [​IMG]


    ๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องขวา เลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา

    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต ให้กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป (รวมพระสารีบุตร ผู้เพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นด้วย) จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

    พระสารีบุตรนั้น เป็นผู้มีปัญญาเฉลียวฉลาด ได้เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในการสอนพระศาสนา พระองค์ทรงยกย่องว่า เป็นเอตทัคคะในทางปัญญา เป็นผู้สามารถจะแสดงพระธรรมจักร และพระจตุราริยสัจ ให้กว้างขวางพิสดารแม้นกับพระองค์ได้ ถ้ามีภิกษุมาทูลลาจะเที่ยวจาริกไปทางไกล มักตรัสให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน เพื่อท่านจะได้สั่งสอนเธอทั้งหลาย เช่นครั้งหนึ่ง พระศาสดาเสด็จอยู่เมืองเทวทหะ ภิกษุเป็นอันมากเข้าไปเฝ้าพระศาสดา ทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท

    พระองค์ตรัสถามว่า ท่านทั้งหลายบอกสารีบุตรแล้วหรือ ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ยังไม่ได้บอก จึงตรัสสั่งให้ไปลาพระสารีบุตร แล้วทรงยกย่องว่า พระสารีบุตรเป็นผู้ปัญญา อนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต ภิกษุเหล่านั้นก็ไปลาตามรับสั่ง ท่านถามว่า ผู้มีอายุ คนมีปัญญาผู้ถามปัญหากะภิกษุ ผู้ไปต่างประเทศมีอยู่ เมื่อเขาลองถามว่า ครูของท่านสั่งสอนอย่างไร ท่านทั้งหลายได้เคยฟังเคยเรียนแล้วหรือ จะพยากรณ์อย่างไร จึงจะเป็นอันไม่กล่าวให้ผิดคำสอนของพระศาสดา อันไม่เป็นการใส่ความ และพยากรณ์ตามสมควรแก่ทางธรรม ไม่ให้เขาติเตียนได้ ภิกษุเหล่านั้นขอให้ท่านสั่งสอน

    ท่านกล่าวว่า ถ้าเขาถามอย่างนั้น ท่านพึงพยากรณ์ว่า ครูของเราสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่เสีย ถ้าเขาถามอีกว่า ละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งอะไร พึงพยากรณ์ตอบว่า ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ถ้าเขาถามอีกว่า ครูของท่านเห็นโทษอะไร และเห็นอานิสงส์อะไรจึงสั่งสอนอย่างนั้น

    พึงพยากรณ์ตอบว่า เมื่อบุคคลยังมีความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นแล้ว ครั้นสิ่งเหล่านั้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่นไป ก็เกิดทุกข์มีโศกและร่ำไรเป็นต้น เมื่อละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นได้แล้ว ถ้าสิ่งเหล่านั้นวิบัติแปรปรวนไป ทุกข์เหล่านั้นก็ไม่เกิด ครูของเราเห็นโทษและอานิสงส์อย่างนี้ อนึ่ง ถ้าบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรม จะได้อยู่เป็นสุข ไม่ต้องคับแค้น ไม่ต้องเดือดร้อน และบุคคลผู้เข้าถึงกุศลธรรมจะต้องอยู่เป็นทุกข์ คับแค้นเดือดร้อน พระศาสดาคงไม่ทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม เพราะเหตุบุคคลเข้าถึงอกุศลธรรมต้องอยู่เป็นทุกข์ คับแค้นเดือดร้อน บุคคลเข้าถึงกุศลธรรมอยู่เป็นสุข ไม่คับแค้น ไม่เดือดร้อน พระศาสดาจึงทรงสั่งสอนให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม ภิกษุเหล่านั้นรับภาษิตของท่านแล้วลาไป

    ตรัสยกย่องพระสารีบุตรเป็นคู่กับพระโมคคัลลานะก็มี ดังตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายคบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด เธอเป็นผู้มีปัญญา อนุเคราะห์สพรหมจารีเพื่อนบรรพชิตทั้งหลาย สารีบุตร เปรียบเสมือนมารดาผู้ให้เกิด โมคคัลลานะเปรียบเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้วนั้น สารีบุตร ย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล โมคคัลลานะย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณเบื้องบนที่สูงกว่านั้น

    มีคำเรียกยกย่องพระสารีบุตรอีกอย่างหนึ่งว่า พระธรรมเสนาบดีนี้ เป็นคำเลียนมาจากคำเรียกแม่ทัพ กองพระสงฆ์ผู้ประกาศพระศาสนา ได้ชื่อว่า ธรรมเสนา กองทัพฝ่ายธรรมหรือประกาศธรรม จาริกไปถึงไหน ย่อมแผ่หิตสุขถึงนั่น พระศาสดาเป็นจอมธรรมเสนา เรียกว่าพระธรรมราชา พระสารีบุตรเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา ในภารธุระนี้ ได้สมญาว่า พระธรรมเสนาบดี นายทัพฝ่ายธรรม

    พระสารีบุตร มีปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาอย่างไร พึงเห็นในเรื่องสาธกต่อไปนี้ มีภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ยมกะ มีความเห็นเป็นทิฏฐิว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ภิกษุทั้งหลายค้านเธอว่า เห็นอย่างนั้นผิด เธอไม่เชื่อ ภิกษุเหล่านั้นไม่อาจเปลื้องเธอจากความเห็นนั้นได้ จึงเชิญพระสารีบุตรไปช่วยว่า ท่านถามเธอว่า ท่านถามเธอว่า ยมกะท่านสำคัญความนั้นอย่างไร ท่านสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณห้า ขันธ์นี้ว่าพระขีณาสพ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพในขันธ์ ๕ นั้นหรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นว่าพระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ นั้นหรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นพระขีณาสพว่าเป็นขันธ์ ๕ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ท่านเห็นพระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ

    ย. ไม่ใช่อย่างนั้น

    สา. ยมกะ ท่านหาพระขีณาสพในขันธ์ห้านั้นไม่ได้โดยจริงอย่างนี้ ควรหรือจะพูดยืนยันอย่างนั้นว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ ดังนี้

    ย. แต่ก่อนข้าพเจ้าไม่รู้ จึงได้มีความเห็นผิดเช่นนั้น บัดนี้ข้าพเจ้าได้ฟังท่านว่า จึงละความเห็นผิดนั้นได้ และได้บรรลุธรรมพิเศษด้วย

    สา. ยมกะ ถ้าเขาถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร ท่านจะแก้อย่างไร

    ย. ถ้าเขาถามข้าพเจ้าอย่างนี้ ข้าพเจ้าจะแก้ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ที่ไม่เที่ยงดับไปแล้ว

    สา. ดีละๆ ยมกะ เราจะอุปมาให้ท่านฟัง เพื่อจะให้ความข้อนั้นชัดขึ้น เหมือนหนึ่งคฤหัสบดีเป็นคนมั่งมี รักษาตัวแข็งแรง ผู้ใดผู้หนึ่งคิดจะฆ่าคฤหบดีนั้น จึงนึกว่า เขาเป็นคนมั่งมี และรักษาตัวแข็งแรง จะฆ่าโดยพลการเห็นจะไม่ได้ง่าย จำจะต้องลอบฆ่าโดยอุบาย ครั้นคิดอย่างนั้นแล้ว จึงเข้าไปเป็นคนรับใช้ของคฤหบดีนั้น หมั่นคอยรับใช้ จนคุ้นเคยกันแล้ว ครั้นเห็นคฤหบดีนั้นเผลอ ก็ฆ่าเสียด้วยศัสตราที่คม ยมกะ ท่านจะเห็นอย่างไร คฤหบดีนั้น เวลาผู้ฆ่านั้นเขามาขออยู่รับใช้สอยก็ดี เวลาให้ใช้สอยอยู่ก็ดี เวลาฆ่าตัวก็ดี ไม่รู้ว่าผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา อย่างนี้ มิใช่หรือ

    ย. อย่างนี้แล ท่านผู้มีอายุ

    สา. ปุถุชนผู้ไม่ได้ฟังแล้วก็ฉันนั้น เขาเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นตนบ้าง เห็นตนว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง เห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ในตนบ้าง เห็นตนในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ไม่รู้จักขันธ์ ๕ นั้น อันไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน ปัจจัยตกแต่งดุจเป็นผู้ฆ่า ตามเป็นจริงอย่างไร ย่อมถือมั่นขันธ์ ๕ นั้นว่าตัวของเรา ขันธ์ ๕ ที่เขาถือมั่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์และทุกข์สิ้นกาลนาน ส่วนอริยสาวกผู้ได้ฟังแล้ว ไม่พิจารณาเห็นเช่นนั้นรู้ชัดตามเป็นจริงแล้วอย่างไร ท่านไม่ถือมั่นในขันธ์ ๕ ว่าตัวของเรา ขันธ์ ๕ ที่ท่านไม่ถือมั่นนั้น ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์และสุขสิ้นกาลนาน

    ธรรมบรรยายอื่นอีกของพระสารีบุตร พระธรรมสังคาหกาจารย์ สังคีติไว้ในพระสุตตันตปิฏก ที่เป็นสูตรยาวๆ ก็มี เช่น สังคีติสูตร แล ทสุตตรสูตร แสดงธรรมเป็นหมวดๆ ตั้งแต่หนึ่งขึ้นไป ถึงสิบในทีฆนิกายที่เป็นสูตรปานกลางก็มี เช่น สัมมาทิฏฐิสูตร แสดงอาการแห่งสัมมาทิฏฐิละอย่างๆ และอนังคณสูตร แสดงกิเลสอันยวนใจ ที่เรียกว่า อังคณะ และความต่างแห่งบุคคลผู้มีอังคณะ และ หาอังคณะมิได้ในมัชฌิมนิกายธรรมบรรยายประเภทนี้ ยังมีอีกหลายสูตร ยังมีปกรณ์ที่ว่าเป็นภาษิตของพระสารีบุตรอยู่อีก คือ ปฏิสัมภิทามรรค กล่าวถึงญาณต่างประเภทยกพระพุทธภาษิตเสีย ภาษิตของพระสารีบุตรมีมากกว่าของพระสาวกอื่น
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๒. พระสารีบุตรเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปัญญามาก

    ๐ เป็นผู้มีความกตัญญู

    พระสารีบุตรนั้น ปรากฏโดยความเป็นผู้กตัญญู ท่านได้ฟังธรรมอันพระอัสสชิแสดง ได้ธรรมจักษุแล้ว มาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา ดังกล่าวแล้วในหนหลัง ตั้งแต่นั้นมา ท่านนับถือพระอัสสชิเป็นอาจารย์ มีเรื่องเล่าว่า พระอัสสชิอยู่ในทิศใด เมื่อท่านจะนอนนมัสการไปทางทิศนั้นก่อน และนอนหันศีรษะไปทางทิศนั้น ภิกษุผู้ไม่รู้เรื่อง ย่อมสำคัญว่า ท่านนอนน้อมทิศตามลัทธิของพวกมิจฉาทิฏฐิ

    ความทราบถึงพระศาสดา ตรัสแก้ว่า ท่านมิได้นอบน้อมทิศ ท่านนมัสการพระอัสสชิผู้เป็นอาจารย์ แล้วประทานพระพุทธานศาสนีว่า พุทธมามกะ รู้แจ้งธรรมอันพระสัมมาสัมพุทธะแสดงแล้วจากท่านผู้ใด ควรนมัสการท่านผู้นั้นโดยเคารพ เหมือนพราหมณ์ผู้หนึ่ง ชื่อราธะ ปรารถนาจะอุปสมบท แต่เพราะเป็นผู้ชราเกินไป ภิกษุทั้งหลายไม่รับอุปสมบทให้

    ราธะเสียใจ เพราะไม่ได้สมปรารถนา มีร่างกายซูบซีดผิวพรรณไม่สดใส พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นผิดไปกว่าปกติ ตรัสถามทราบความแล้ว ตรัสถามภิกษุทั้งหลายว่า มีใครระลึกถึงอุปการะของราธะได้บ้าง พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านระลึกได้อยู่ ครั้งหนึ่ง ท่านเข้าไปบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์ ราธะได้ถวายภิกษาแก่ท่านทัพพีหนึ่ง พระศาสดาทรงสรรเสริญว่า ท่านเป็นผู้กตัญญูดีนัก อุปการะเพียงเท่านี้ก็ยังจำได้ จึงตรัสให้ท่านรับบรรพชาอุปสมบทราธพราหมณ์


    ๐ โปรดมารดาก่อนจะนิพพาน

    พระสารีบุตรนั้น ปรินิพพานก่อนพระศาสดา สันนิษฐานว่าในมัชฌิมโพธิกาล คือปูนกลางแห่งตรัสรู้ ในสาวกนิพพานปริวัตรแห่งปฐมสมโพธิ ๓๐ ปริเฉท กล่าวว่า พระสารีบุตรอยู่มาถึงปัจฉิมโพธิกาล พรรษาที่ ๔๕ ล่วงไปแล้ว แต่ในมหาปรินิพพานสูตรมิได้กล่าวถึงเลย ในปกรณ์ต้น เล่าถึงเรื่องปรินิพพานแห่งพระสารีบุตรว่า

    ท่านพิจารณาเห็นว่าอายุสังขารจวนสิ้นแล้ว ปรารถนาจะไปโปรดมารดาเป็นครั้งสุดท้าย แล้วปรินิพพานในห้องที่ท่านเกิด อธิบายว่า นางสารีมารดาท่าน เป็นผู้ไม่ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา โทมนัสเพราะท่านและน้องๆ พากันออกบวชเสีย

    ท่านพยายามชักจูงมาในพระพุทธศาสนาหลายครั้งแล้ว ยังมิสำเร็จ จึงดำริจะไปโปรดเป็นครั้งสุดท้าย ท่านทูลลาพระศาสดาไปกับพระจุนทะผู้น้องกับบริวาร ไปถึงบ้านเดิมแล้ว เกิดโรคปักขันทิกาพาธขึ้นในคืนนั้น ในเวลากำลังอาพาธอยู่นั้น ได้เทศนาโปรดมารดาสำเร็จ นางได้บรรลุพระโสดาปัติผล พอเวลาปัจจุสมัย สุดวันเพ็ญแห่งกัตติกมาส พระเถรเจ้าปรินิพพาน

    พระสารีบุตรเถระ ปรินิพพานก่อนพระพุทธเจ้าประมาณ ๖ เดือน กล่าวคือ ปรินิพพานในวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลาใกล้รุ่ง ที่บ้านตนเอง

    รุ่งขึ้นพระจุนทะได้ทำฌาปนกิจสรีระพระเถรเจ้าเสร็จ เก็บอัฐิธาตุนำไปถวายพระศาสดา ในเวลาประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กรุงสาวัตถี โปรดให้ก่อพระเจดีย์บรรจุอัฐิธาตุของพระเถรเจ้าไว้ ณ ที่นั้น เมื่อพระผู้มีพระภาคปวารณาพระวัสสาแล้ว เสด็จออกจากเวฬุวนารามพร้อมพระสงฆ์เป็นอันมาก บ่ายพระพักตร์ต่อเมืองสาวัตถี ครั้นถึง พระพุทธองค์เสด็จสำราญอินทรีย์ในเชตวนาราม

    ฝ่ายพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ท่านกระทำวัตรปฎิบัติพระพุทธองค์แล้ว ออกมาสั่งอยู่ในที่สบายกลางวันแล้วได้เข้าสู่ผลสมาบัติ เป็นที่สบายระงับกระวนกระวายในกายา ออกจากผลสมาบัติ แล้วเกิดปริวิตกว่า องค์พระพุทธเจ้ากับอัครสาวกใครจะเข้าพระนิพพานก่อน เมื่อท่านรำพึงไปก็รู้แท้ว่า ธรรมดาพระอัครสาวกทั้ง ๒ ย่อมนิพพานก่อนพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เมื่อท่านรู้ชัดฉะนี้แล้ว จึงเล็งแลพิจารณาอายุสังขารว่าท่านจะนิพพานเมื่อใด ครั้นพิจารณาไปก็รู้แจ้งว่ายังอีก ๗ วัน จะเข้าสู่นิพพาน

    ครั้นพิจารณาถึงที่จะนิพพาน ท่านจึงระลึงถึงมารดา ก็ตระหนักว่ามารดาของท่านเป็นคนมีวาสนา ได้ทรงครรภ์พระอรหันต์ถึง ๗ องค์ คือตัวท่านเอง พระเสนเถระ พระเรวัตเถระ พระอุปเสนเถระ พระภคินิยเถระ พระญาณอุปวาณะ พระสปวาลา แม้กระนั้นตัวมารดาของท่านจะได้มีน้ำใจเลื่อมใส ศรัทธาในพระพุทธคุณ พระสังฆคุณ ก็หามิได้

    เมื่อท่านพิจารณาถึงอุปนิสัยของมารดาก็ทราบว่า อุปนิสัยพระโสดาปัตติมรรคมีอยู่ในสันดาน และเมื่อพิจารณาต่อไปว่า มารดาท่านชอบเทศนาของผู้ใด ก็เห็นว่าเฉพาะการเทศนาของท่าน มารดาจึงจะได้สำเร็จมรรคและผล

    ถ้าตัวท่านนิ่งเสีย ที่ไหนมารดาจะได้สำเร็จมรรคผล มหาชนจะนินทาว่า มารดาพระสารีบุตรเป็นมิจฉาทิฏฐิ ตัวพระสารีบุตรเป็นถึงอัครสาวก แต่จะโปรดมารดาให้เป็นสัมมาทิฏฐิก็ไม่ได้ จำท่านจะไปเทศนาโปรดมารดา แล้วตัวท่านก็จะเข้าพระนิพพานในห้องที่ท่านเกิดในบ้านนาลันทคาม ในการนี้ ท่านจะต้องไปทูลลาพระบรมศาสดาก่อน จากนั้นท่านได้พาภิกษุบริวาร ไปสู่สำนักพระบรมศาสดา กราบทูลขอลาเข้าสู่นิพพาน

    พระผู้มีพระภาคตรัสถาม ถึงสถานที่ที่จะเข้านิพพาน เมื่อพระสารีบุตรกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระพุทธองค์ให้พระสารีบุตรเทศนาให้ภิกษุทั้งหลายฟัง พระสารีบุตรได้ฟังพุทธฎีกา ก็แจ้งในพุทธฎีกานั้นว่า พระพุทธองค์ปราถนาจะให้ท่านสำแดงอิทธิปาฎิหาริย์ถวายนมัสการ ท่านจึงได้สำแดงเอนกปาฎิหาริย์มากกว่าร้อย แล้วจึงสำแดงธรรมเทศนาแก่บริษัทด้วยเอนกปาฎิหาริย์

    เมื่อท่านได้แสดงปาฎิหาริย์แล้ว จึงได้มาถวายบังคมพระบรมศาสดา แล้วกราบทูลว่า ตัวท่านได้สร้างบารมีช้านาน ประมาณ อสงไขยแสนกัปป์ บัดนี้ได้สมประสงค์แล้ว จะขอเข้าสู่พระนิพพาน พระบรมศาสดาก็ตรัสว่า พระสารีบุตรจะนิพพานเมื่อใด ก็จงกำหนดกาลให้แน่นอนเถิด ครั้งนั้นได้เกิดอัศจรรย์ขึ้น ทั้งในแผ่นดินแผ่นน้ำและในห้วงนภากาศ ในขณะเมื่อพระสารีบุตรเถระ ท่านยืนประดิษฐาน จะไปเข้าพระนิพพานในนาลันทคามนั้น

    พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร เดินเวียนวงประทักษิณสามรอบพระผู้มีพระภาคแล้ว จึงถวายบังคมลาพระบรมศาสดาว่า ตัวท่านนี้ได้หมอบลงแทบพระบาท แห่งพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าในที่สุดอสงไขยแสนกัปป์ ปรารถนาจะใคร่พบพระองค์ มาบัดนี้ก็ได้พบสมประสงค์แล้ว ครั้งนี้เล่าก็เป็นปัจฉิมที่สุด แล้วท่านก็เดินถอยหลังออกมา จนลับพระเนตรพระพุทธองค์ จากนั้นก็ได้บ่ายหน้าไปสู่นาลันทคาม

    พระผู้มีพระภาคจึงได้มีพุทธฎีกาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ท่านจงไปส่งพี่ชายของท่าน เป็นที่สุดครั้งนี้เถิด บรรดาภิกษุและมหาชนชาวเมืองสาวัตถีเมื่อรู้ว่าข่าว ต่างก็พากันไปส่งพระสารีบุตร พระสารีบุตรจึงเทศนาสั่งสอนว่า ท่านอย่าร้องไห้ร่ำพิไรไปเลย จงเร่งเคารพในพระรัตนตรัยอย่าได้ขาด จงกลับไปอาวาสที่อยู่ของท่านเถิด แล้วท่านก็พาบริวารเดินทางไป คนทั้งหลายในระหว่างทาง ก็เดินตามกันเป็นหมู่ๆ ไม่ขาดสาย พระสารีบุตรเถระก็กล่าวธรรมปริยายเทศนาว่า อันเกิดมาเป็นรูปกายแล้ว ก็มีแต่จะทำลายไปในที่สุด ตามอำนาจอนิจจัง อุปไมยเหมือนบุคคลเกิดมา มีแต่มรณาเป็นที่สุด

    พระสารีบุตรเถระรอนแรมมาได้ ๗ ราตรี ก็บรรลุถึงนาลันทคาม จึงพาพระสงฆ์บริวาร เข้าหยุดอาศัยอยู่ใต้ไม้ไทรต้นหนึ่ง ขณะนั้น พระเรวัตเถระผู้เป็นหลานชายพระสารีบุตรเถระออกมาภายนอกบ้าน แลเห็นเข้าจึงเข้าไปถวายนมัสการ พระมหาเถระจึงสั่งให้ไปบอกมหาอุบาสิกาที่เป็นยายว่า ท่านได้มาถึงแล้วและจะขออาศัยอยู่สักราตรีหนึ่ง

    นางสารีพราหมณ์มารดาพระสารีบุตร เมื่อได้ทราบความจากพระเรวัตเถระก็คิดในใจว่า พระสารีบุตรคงจะสึกแล้วเป็นมั่นคง แล้วรำพึงว่าเมื่อยังหนุ่มแน่นก็ทำทนงบวชเสีย เมื่อตัวแก่ถึงเพียงนี้จะสึกออกมาทำไม คิดแล้วก็ให้จัดแจงที่อยู่ให้ ตามที่พระมหาเถระประสงค์ เสร็จแล้วจึงให้ไปอาราธนาพระมหาเถระ

    พระสารีบุตรเถระจึงเข้าไปสู่บ้านมารดา ไปอาศัยอยู่บนปราสาทที่เป็นที่ไสยาสน์ แต่หนหลังเมื่อครั้งเป็นคฤหัสถ์ เมื่อล่วงเข้าปฐมยาม ท่านอาพาธหนัก ลงโลหิตไม่หยุด ประกอบด้วยเวทนายิ่งนัก นางสารีพราหมณ์เห็นท่านเป็นไข้หนัก จะเข้าไปก็มิได้ เพราะในห้องนั้นเต็มไปด้วยภิกษุผู้เป็นบริวารจำนวนมาก นางจึงนั่งพิงประตูคอยดูอาการอยู่

    ครั้งนั้นบรรดาเทวดาผู้ใหญ่ มีท้าวจตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ ท้าวโกสีย์ และท้าวมหาพรหม ต่างได้ทะยอยกันมาถวายนมัสการพระมหาเถระ เมื่อท่านว่าผู้ใดมานมัสการแล้ว ท่านก็บอกให้บรรดาผู้มานมัสการเหล่านั้น กลับไปที่อยู่ของตน นางสารีพราหมณีเห็นเทวดาทั้งหลาย เข้ามาสู่สำนักพระสารีบุตรเถระ นางไม่รู้ว่าเป็นเทวดา จึงถามพระจุนทภิกษุผู้เป็นลูกชายน้อย พระจุนทเถระจึงบอกมารดาว่า เทวดาเขามานมัสการพระมหาเถระ ฝ่ายพระสารีบุตรเถระได้ยินถามว่า อุบาสิกามาไยปานฉะนี้เล่า

    มารดาจึงบอกว่า มาถามถึงเทวดาที่มาเป็นอันมาก และถามว่าเทวดาเหล่านั้นมีนามใด พระมหาเถระตอบว่า เทวดาที่มาก่อนคือ ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ นางได้ฟังก็มีความสงสัย จึงถามต่อไปว่า ท่านเป็นใหญ่กว่าท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ อีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ท้าวจาตุมหาราชนี้อุปมาเหมือนโยมวัด สำหรับได้ปฎิบัติพระสงฆ์ ปางเมื่อพระบรมครูของเรา ลงมาถือปฎิสนธิ์ในครรภ์พระมารดา ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ องค์ ก็ประชุมสโมสร รักษาพระบรมโพธิสัตว์ทั้ง ๔ ทิศ

    นางพราหมณีได้ฟัง จึงถามต่อไปถึงเทวดาที่เข้ามาองค์ต่อมา พระมหาเถระตอบว่าคือองค์ท้าวอินทรา เจ้าเมืองดาวดึงส์สวรรค์ นางได้ฟังจึงถามต่อไปว่า พ่ออุปดิสนี้เป็นใหญ่กว่าพระอินทราอีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ท้าวอินทรานี้อุปมาดังสามเณร สำหรับถือเครื่องบริขารแห่งพระพุทธเจ้า ปางเมื่อพระบรมครูเสด็จขึ้นไปสวรรค์ชั้นดาวดังส์ เทศนาพระสัตตปกรณาภิธรรมทั้ง ๗ พระคัมภีร์ โปรดพุทธมารดาครั้งนั้น ครั้นสำเร็จแล้วจึงเสด็จลงมาจากดาวดึงส์ ท้าวอทรินทราธิราชถือบาตรและจีวรมาส่ง ตามเสด็จพระพุทธองค์ลงมา ตราบเท่าถึงแผ่นปฐพี

    นางพราหมณีจึงถามต่อไปว่า เทวดาผู้ที่มาเป็นคำรบ ๓ คือใคร พระมหาเถระตอบว่า เป็นท้าวมหาพราหม ที่พวกพราหมณ์ทั้งหลายถือว่าเป็นครูอาจารย์ของตน นางพราหมณีจึงถามต่อต่อไปว่า พ่ออุปดิสนี้เป็นใหญ่กว่าท้าวมหาพรหมอีกหรือ พระมหาเถระตอบว่า ปางเมื่อพระบรมโพธิสัตว์ประสูติจากคัพโภทรพระชนนี ท้าวจาตุมหาราชทั้ง ๔ กับพวกท้าวมหาพรหมก็ชวนกันชื่นชม เอาข่ายทองมาประคองรับพระมหาบุรุษ พระบรมครูของเราเป็นใหญ่ยิ่งกว่าท้าวมหาพรหมได้ร้อยเท่าพันทวี

    นางพราหมณีได้ฟังแล้วก็คิดอยู่ในใจว่า แต่เจ้าอุปดิสลูกชายเรายังเป็นใหญ่กว่ามหาพรหม ก็พระสมณโคดมที่เป็นครูของเจ้าอุปติส จะมีอิทธิศักดานุภาพสักปานใด เธอย่อมเป็นใหญ่กว่าเทวดาอินทร์พรหมเป็นแน่แท้ นางคิดพลางทางมีปิติโสมนัสในพระมหากรุณา ปิติทั้ง ๕ ก็แผ่สร้านไปทั่วสรีรกาย ปางนั้นเพราะมหาเถระก็รู้แจ้งด้วยพระญาณว่า บัดนี้ มารดาของท่านบังเกิดปิติโสมนัสในพระพุทธเจ้า บัดนี้ ก็เป็นกาลที่ท่านจะเทศนา ทดแทนคุณค่าน้ำนมของพระชนนีเถิด

    ท่านจึงอุตส่าห์กลั้นทุกเวทนาที่อาพาธ เทศนาสรรเสริญ พระคุณพระพุทธเจ้า เริ่มตั้งแต่ประสูติ เมื่อปีระกาวันพฤหัสบดี เพ็ญเดือนหก บังเกิดอัศจรรย์บรรลือลั่นทุกแห่งหน เมื่อเสด็จออกสู่มหาภิเนษกรมณ์ ก็เป็นที่ชื่นชมยินดีกันไปทั่ว

    ครั้นเมื่อตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ เมื่อปีวอก วันพุธ เพ็ญเดือนหก ก็เกิดแสนมหัศจรรย์ เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วทุกหมู่เหล่า เกิดความเกษมสันต์ต่อกันทุกตัวสัตว์ทั้งโลก มหาอัศจรรย์ตั้งแต่เบื้องต่ำ ตลอดถึงภพเบื้องบน เป็นโกลาหลอันใหญ่ยิ่ง พ้นที่จะคณนา เทพยดาทั้งหลายมาแต่หมื่นจักรวาฬ มาประชุมพร้อมกันในมงคลจักรวาฬนี้ ที่แต่พอจุปลายขนจามรี มีเทพยดานั่งกันอยู่ ๑๐ องค์บ้าง ๒๐ องค์บ้าง นิรมิตตัวน้อยๆ ละเอียดเป็นอณูปรมาณู นั่งเสียดสีกันชมพระบารมีพระพุทธเจ้า กระทำสักการะบูชาพระพุทธเจ้า

    จากนั้น พระมหาเถระก็ได้สำแดงพระพุทธคุณโปรดมารดาต่อไปว่า อันว่าสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใด ย่อมประกอบด้วยบุญราศีไม่มีผู้ใดจะเปรียบปาน ประกอบด้วยพระอนาวรณญาณมิได้มีที่จะสิ้นสุด ประกอบด้วยอิทธิศักดายิ่งกว่าผู้ใดในไตรภพ ประกอบด้วยพระคุณเป็นอนันต์อเนกา จะกำหนดนับมิได้ ด้วยพระนวหรคุณ คือ พระนามทั้ง ๙ ว่า อิติปิโส ภควา ฯลฯ ภควาติ คือ

    พระองค์ทรงพระนามชื่อว่า อรหํ เหตุว่าพระองค์ทรงหักเสียซึ่งกงกำแห่งสังสารจักร อันพัดผันไปในเตภูมิกวัฏมิได้ขาดสายให้แตกหักไป

    พระนามคำรบที่ ๒ ชื่อว่าสัมมาสัมพุทโธ เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้ในไญยธรรมด้วยพระองค์เอง

    พระนามเป็นคำรบที่ ๓ ชื่อว่าวิชาจรณสัมปันโน เหตุว่าพระองค์ประกอบไปด้วยวิชชา ๘ และจรณธรรม ๑๕

    พระนามเป็นคำรบที่ ๔ ชื่อว่าสุคโต เหตุว่าพระองค์เสด็จพระดำเนินไปสู่ที่เกษม คือ พระอมตมหานิพพาน

    พระนามคำรบที่ ๕ ชื่อว่าโลกวิทู เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้ซึ่งโลก ๓ ประการ

    พระนามเป็นคำรบที่ ๖ ชื่อว่า อนุตตโร ปุริสทัมมสารถี เหตุว่าพระองค์ฉลาดที่จะทรมานเวไนยสัตว์ หาผู้เสมอมิได้

    พระนามคำรบที่ ๗ ชื่อว่า สัตถา มนุสสานัง เหตุว่าพระองค์เป็นครูชักนำสัตว์ ให้พ้นจากกันดารได้ด้วยปัญญา

    พระนามคำรบที่ ๘ ชื่อว่าพุทโธ เหตุว่าพระองค์ตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ ประการ

    พระนามเป็นคำรบที่ ๙ ชื่อว่า ภควา เหตุว่าพระองค์ประกอบไปด้วยพระภาค คือบุญราศีอันสร้างสมมานาน

    ครั้นพระมหาเถระเทศนาจบลง นางสารีพราหมณีก็ได้พระโสดาปัตติผล เป็นอริยบุคคลในพระศาสนา นางยินดีปรีดาหาที่สุดมิได้ จึงมีวาจาว่า พ่ออุปดิส เป็นลูกชายร่วมชีวิตของแม่ พระพุทธเจ้ามีคุณถึงเพียงนี้ น่าอัศจรรย์ใจ เหตุไฉนพ่อจึงมิได้สำแดงให้แจ้งแก่มารดา ละไว้ให้เนิ่นช้าถึงเพียงนี้

    ฝ่ายพระมหาเถระคิดอยู่ในใจว่า มารดาของท่านได้พระโสดาบันแล้ว ทำลายล้างเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิที่ถือผิดมาแต่หลัง มีปัญญาหยั่งลงสู่พุทธาธิคุณมิได้หวั่นไหว ท่านรำพึงแล้วจึงถามพระจุนทะว่า เพลานี้ล่วงไปได้สักเท่าใดแล้ว พระจุนทเถระจึงตอบว่า เพลานี้จวนสว่างอยู่แล้ว และเมื่อท่านทราบว่าพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันอยู่แล้ว พระมหาเถระจึงลาพระสงฆ์ทั้งหลายว่า ท่านที่เป็นสัทธิวิหาริกก็ดี เป็นสิสสานุสิสของเราก็ดี ได้ตั้งใจภักดีตามปฏิบัติเรามาช้านาน ประมาณ ๔๔ ปี เราได้กระทำผิดด้วยกายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดีท่านทั้งหลายจงอดโทษานุโทษในครั้งนี้

    ฝ่ายพระสงฆ์ทั้งหลายก็ขมาโทษพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรสำเร็จแล้ว พระมหาเถระก็เอาชายจีวรปิดหน้า เอนกายเบื้องขวาลงเหนืออาสน์ ยังสีหไสยาสน์ ท่านก็เข้าสมาบัติ เป็นอนุโลมปฏิโลมถอยหน้าถอยหลัง ตั้งแต่ปฐมฌานเป็นที่สำราญแห่งพระอริยเจ้า ออกจากปฐมฌานแล้วก็เข้าทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน เป็นอนุโลม เป็นปฏิโลม ถอยหน้า ถอยหลัง ตั้งแต่จตุตถฌาน เป็นต้นไป ครั้นออกจากจตุตถฌานแล้วจึงเข้าตติยฌาน ทุติยฌาน ปฐมฌาน เป็นปฏิโลม ถอยหลังลงมาฉะนี้ เมื่อพระมหาเถระกลับย้อนเข้าฌานเป็นอนุโลมขึ้นไปแล้ว ครั้นออกจากจตุตถฌานก็ดับสูญเข้าสู่พระอมตมหานิพพาน ทั้งวิบากขันธ์และกรรมชรูปก็ดับสิ้นหาเศษมิได้ ขณะนั้นก็เกิดอัศจรรย์หวั่นไหวไปทั้งโลก

    ฝ่ายนางสารีพราหมณี เมื่อรู้ว่าพระมหาเถระดับสูญแล้ว ก็โศกาพิไรรำพันว่า แต่ก่อนตัวนางไม่รู้เลยว่า พระมหาเถระมีคุณถึงเพียงนี้ พอรู้ก็พอมาสิ้นชีวิตอินทรีย์เสีย ตัวนางตั้งใจจะกระทำการกุศลถวายไตรจีวร สร้างพระวิหารเป็นจำนวนมาก เป็นเครื่องบูชาพระรัตนตรัย แล้วนางจึงเอาทองคำออกมาโกฏิหนึ่ง ให้นายช่างทำบุษบกห้าร้อยยอด สำหรับไว้พระศพพระมหารเถระ ทำพนมดอกไม้ ๕๐๐ สำหรับเป็นเครื่องบูชาศพพระมหาะเถระ

    บรรดามหาชนที่มีศรัทธา ก็ชวนกันเล่นนักขัตฤกษ์ตามประสาสัปบุรุษ สิ้นคำรบ ๗ วัน ๗ ราตรี แล้วจึงกระทำเชิงตะกอนสำหรับปลงศพ เชิญพระศพขึ้นสู่เชิงตะกอน ถวายพระเพลิงในเวลาเย็นเป็นคำรบวัน ๗ นั้น พระมหาเถระทั้งหลายก็สำแดงเทศนาสิ้นราตรียังรุ่ง

    ครั้งเพลาเช้า พระอนุรุทธิ์ ถือเอาน้ำหอมมาประพรมเถ้าถ่านเพลิงให้ดับสิ้น พระอนุรุทเถระเก็บพระธาตุเสร็จแล้วจึงเอาผ้ากรองน้ำห่อพระธาตุ จัดจีวรของพระสารีบุตรเถระ ปรารถนาจะนำไปถวายพระพุทธองค์ ณ เมืองสาวัตถี พระจุนทเถรได้นำพระธาตุกับบาตจีวรไปสาวัตถี เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่าพระสารีบุตรเถระนิพพานแล้ว บาตรจีวรและพระธาตุที่ห่อมา เป็นของพระสารีบุตรเถระ

    พระผู้มีพระภาครับเอาพระธาตุไว้ แล้วทรงเชิดชูในท่ามกลางพระสงฆ์ทั้งหลาย ตรัสว่า ธาตุนี้มีสีขาวดังสีสังข์ เป็นธาตุแห่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ผู้เป็นอัครสาวก พระธรรมเสนาบดีองค์นี้ได้สร้างบารมีมาช้านาน เป็นผู้มีปัญญาฉลาดยิ่งกว่าคนทั้งหลายในโลกธาตุ เว้นไว้แต่พระตถาคตผู้เดียว เป็นผู้มีปัญญามาก มีปัญญายังมหาชนให้ชื่นชม มีปัญญารวดเร็ว มีปัญญาแหลมลึกละเอียด อาจจะกำจัดเสียได้ซึ่งคำปรัปปวาท อันเป็นเสี้ยนหนามในพระศาสนา มีสัลเลขสันโดษมักน้อยในจตุปัจจัยทั้ง ๔ ย่อมติเตียนผู้เป็นอลัชชีใจบาปหยาบช้า สงฆ์ทั้งหลายจงเร่งนมัสการคุณพระสารีบุตร อันประกอบด้วยคุณวิเศษเห็นฉะนี้ แล้วพระพุทธองค์ก็ให้ก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้ในพระเชตวนาราม



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www1.mod.go.th/heritage/religion/priest/priest5.html
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓. พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์มาก

    [​IMG]


    พระมหาโมคคัลลานเถระ มีชื่อเดิมว่า โกลิตะ เป็นบุตรพราหมณ์ท้ายบ้านผู้หนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากกรุงราชคฤห์ โกลิตมาณพเป็นเพื่อนสนิทกับอุปติสสมาณพหรือพระสารีบุตร ทั้งสองคนอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นบุตรแห่งสกุลผู้มั่งคั่งเหมือนกัน เบื่อชีวิตการครองเรือนที่วุ่นวาย จึงพาบริวารไปขอบวชอยู่ในสำนักสัญชัยปริพพาชก เรียนลัทธิของสัญชัยได้หมด จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ช่วยสอนหมู่ศิษย์ต่อไป ทั้งสองมาณพยังไม่พอใจในคำสอนของสัญชัยปริพาชก เพราะไม่ใช่แนวทางที่ตนต้องการ จึงตกลงกันที่จะแสวงหาอาจารย์ที่สามารถชี้แนะแนวทางที่ดีกว่านี้ หากใครได้โมกขธรรม ก็ขอให้บอกแก่อีกฝ่ายหนึ่ง


    ๐ ได้ดวงตาเห็นธรรมและอุปสมบทเป็นภิกษุ

    เมื่ออุปติสสมาณพได้ไปพบพระอัสสชิในกรุงราชคฤห์ ได้ฟัง "พระคาถาเย ธัมมา" จากพระอัสสชิ ทำให้ได้ดวงตาเห็นธรรม คือ บรรลุโสดาบัน อุปติสสมาณพได้นำคำสอนของพระอัสสชิไปแจ้งให้โกลิตมาณพทราบ โกลิตมาณพก็ได้ดวงตาเห็นธรรมเช่นดียวกัน ทั้งสองมาณพได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเวฬุวนาราม และได้ทูลขออุปสมบทต่อพระพุทธเจ้า พระองค์ก็ได้ทรงอนุญาตให้อุปสมบทเป็นภิกษุ โกลิตมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระมหาโมคคัลลานะ บำเพ็ญความเพียงได้ 7 วัน ก็สำเร็จพระอรหันต์ ส่วนอุปติสสมาณพซึ่งอุปสมบทเป็นพระสารีบุตรอุปสมบทได้กึ่งเดือน จึงสำเร็จพระอรหันต์


    ๐ ทรงแสดงอุบายแก้ง่วงแก่พระโมคคัลลานะ

    จำเดิมแต่ท่านได้อุปสมบทแล้วในพระธรรมวินัยนี้ได้เจ็ดวัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตคาม แขวงมคธ ขณะบำเพ็ญสมณธรรมอยู่นั้น ท่านเกิดง่วงเหงาหาวนอนอย่างหนัก จนไม่สามารถบำเพ็ญเพียรได้ พระพุทธเจ้าทรงทราบอยู่ตลอดเวลา วันที่ ๘ จึงเสด็จมาสอนท่านให้หาทางแก้ง่วงด้วยวิธีต่างๆ ดังนี้

    โมคคัลลานะ เมื่อท่านมีสัญญาอย่างไร ความง่วงนั้นย่อมครอบงำได้ ท่านควรทำในใจถึงสัญญานั้นให้มาก ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นควรตรึกตรองพิจารณาถึงธรรม อันตนได้ฟังแล้วและได้เรียนแล้วอย่างไร ด้วยน้ำใจของตน ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ ท่านควรสาธยายธรรมอันตนได้ฟังและได้เรียนแล้วอย่างไร โดยพิสดาร ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรยอนช่องหูทั้งสองข้าง และลูบตัวด้วยฝ่ามือ ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรลุกขึ้นยืน แล้วลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหวนดูดาวนักษัตรฤกษ์ ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือความสำคัญในแสงสว่าง ตั้งความสำคัญว่ากลางวันไว้ในจิต ให้เหมือนกันทั้งกลางวันกลางคืน มีใจเปิดเผยฉะนี้ ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ทำจิตอันมีแสงสว่างให้เกิด ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านลำความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรอธิษฐานจงกรม กำหนดหมายเดินกลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ มีจิตไม่คิดไปภายนอก ข้อนี้จักเป็นเหตุให้ท่านละความง่วงนั้นได้

    ถ้ายังละไม่ได้ แต่นั้นท่านควรสำเร็จสีหไสยา คือ นอนตะแคงข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความหมายในอันจะลุกขึ้นไว้ในใจ พอท่านตื่นแล้วรีบลุกขึ้น ด้วยความตั้งใจว่า เราจักไม่ประกอบสุขในการนอน เราจักไม่ประกอบสุขในการเอนข้าง (เอนหลัง) เราจักไม่ประกอบสุขในการเคลิ้มหลับ อนึ่ง ท่านควรสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า เราจักไม่ชูงวง (คือถือตัว) เข้าไปสู่สกุล ดังนี้ เพราะว่า ถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสุ่สกุล ถ้ากิจการในสกุลนั้นมีอยู่ อันเป็นเหตุที่มนุษย์เขาจักไม่นึกถึงภิกษุผู้มาแล้ว ภิกษุก็คงคิดว่า เดี๋ยวนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกร้าวจากสกุลนี้ เดี๋ยวนี้ดูมนุษย์พวกนี้มีอาการอิดหนาระอาใจในเรา เพราะไม่ได้อะไร เธอก็จักมีความเก้อ ครั้นเก้อ ก็จักเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ครั้นคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จักเกิดความไม่สำรวม ครั้นไม่สำรวมแล้ว จิตก็จักห่างจากสมาธิ

    อนึ่ง ท่านสำเหนียกใจอย่างนี้ว่า เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดต่อกันดังนี้ เพราะว่า เมื่อคำอันเป็นเหตุเถียงกัน ถือผิดต่อกันมีขึ้น ก็จำจักต้องหวังความพูดมาก เมื่อความพูดมากมีขึ้น ก็จักเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ครั้นคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จักเกิดความไม่สำรวม ครั้นไม่สำรวมแล้ว จิตก็จักห่างจากสมาธิ อนึ่ง โมคคัลลานะ เราสรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงหามิได้ แต่มิใช่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยประการทั้งปวงเลย คือ เราไม่สรรเสริญความคลุกคลีด้วยหมู่ชน ทั้งคฤหัสถ์ ทั้งบรรพชิต ก็แต่ว่า เสนาสนะที่นอนที่นั่งอันใดเงียบเสียงอื้ออึง ปราศจากลมแต่คนเดินเข้าออก ควรเป็นที่ประกอบกิจของผู้ต้องการที่สงัด ควรเป็นที่หลีกออกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย เราสรรเสริญความคลุกคลีเสนาสนะเห็นปานนั้น

    เมื่อพระศาสดาตรัสสอนอย่างนี้แล้ว พระโมคคัลลานะกราบทูลถามว่า โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

    พระศาสดาตรัสตอบว่า โมคคัลลานะ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ได้สดับว่า บรรดาธรรมทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญาอันยิ่ง ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญาอันยิ่งดังนั้นแล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนั้นแล้ว เธอได้เสวยเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี มิใช่ทุกข์มิใช่สุขก็ดี เธอพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องหน่าย พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องประดับ พิจารณาเห็นด้วยปัญญาเป็นเครื่องสละคืน ในเวทนาทั้งหลายนั้น เมื่อพิจารณาเห็นดังนั้น ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งอะไรๆ ในโลก เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่น ย่อมกับกิเลสให้สงบจำเพาะตน และทราบชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กิจที่จำต้องทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นที่ต้องทำอย่างนี้อีกมิได้มี

    โดยย่อด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้แล ภิกษุชื่อว่า น้อมไปแล้วในธรรมที่สิ้นตัณหา มีความสำเร็จล่วงส่วน เกษมจากโยคธรรมล่วงส่วน เป็นพรหมจารีบุคคลล่วงส่วน มีที่สุดล่วงส่วนประเสริฐสุดกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พระโมคคัลลานะปฏิบัติตามพระพุทธโอวาทที่พระศาสดาทรงสั่งสอน ก็ได้สำเร็จพระอรหัตในวันนั้น
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓. พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์มาก

    [​IMG]


    ๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอัครสาวกเบื้องซ้าย เลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

    ในวันที่พระสารีบุตรบรรลุพระอรหันต์ ตรงกับวันเพ็ญ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนมาฆะ ในคืนวันนั้น พระพุทธเจ้าทรงประทานพระโอวาทปาติโมกข์แก่จาตุรงคสันนิบาต ให้กับพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป (รวมพระสารีบุตร ผู้เพิ่งบรรลุเป็นพระอรหันต์ ในวันนั้นด้วย) จากนั้น พระพุทธเจ้าทรงประกาศแต่งตั้งพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกเบื้องขวาเลิศกว่าผู้อื่นในทางปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเลิศกว่าผู้อื่นในทางฤทธิ์

    พระศาสดาทรงยกย่องพระโมคคัลลานะเป็นคู่กับพระสารีบุตร ในอันอุปการะผู้เข้ามาอุปสมบทใหม่ในพระธรรมวินัย ดังกล่าวแล้วในหนหลัง อีกประการหนึ่ง ทรงยกย่องพระโมคคัลลานะว่าเป็นเยี่ยมแห่งภิกษุสาวกผู้มีฤทธิ์นี้ ฤทธิ์นี้หมายเอาคุณสมบัติเป็นเครื่องสำเร็จแห่งความปรารถนา สำเร็จด้วยความอธิษฐาน คือตั้งมั่นแห่งจิต ผลที่สำเร็จด้วยอำนาจฤทธิ์นั้น ท่านแสดงล้วนแต่พ้นวิสัยของมนุษย์ ดังมีแจ้งอยู่ในอิทธิวิธี อันนับเป็นอภิญญาอย่างหนึ่ง จัดว่าเป็นอสาธารณคุณ ไม่มีแก่พระสาวกทั่วไปก็ได้

    การที่พระศาสดาทรงยกย่องพระโมคคัลลานะว่า เป็นเอตทัคคะในฝ่ายสาวกผู้มีฤทธิ์นั้น ประมวลเข้ากับการที่ทรงยกย่องพระสารีบุตรว่า เป็นเอตทัคคะในฝ่ายภิกษุผู้มีปัญญาจะพึงให้ได้สันนิษฐานว่า พระโมคคัลลานะ เป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดาในอันยังการที่ทรงพระพุทธดำริไว้ให้สำเร็จ พระศาสดาได้สาวกผู้มีปัญญา เป็นผู้ช่วยดำริการ และได้สาวกผู้สามารถยังภารธุระที่ดำริแล้วนั้นให้สำเร็จ จักสมพระมนัสสักปานไร แม้โดยนัยนี้ พระโมคคัลลานะ จึงได้รับยกย่องว่าเป็นพระอัครสาวกคู่กับพระสารีบุตรเป็นฝ่ายซ้าย โดยหมายความว่า เป็นคณาจารย์สอนพระศาสนาในฝ่ายอุดรทิศดังกล่าวแล้ว หรือโดยหมายความว่าเป็นที่ ๒ รองแต่พระสารีบุตรลงมา

    พระธรรมเทศนาของพระโมคคัลลานะอยู่ข้างหายาก ที่เป็นโอวาทให้แก่ภิกษุสงฆ์ มีแต่อนุมานสูตร ว่าด้วยธรรมอันทำตนให้เป็นผู้ว่ายากหรือว่าง่าย พระธรรมสังคาหกาจารย์ สังคีติไว้ในมัชฌิมนิกาย

    พระโมคคัลลานะนั้น เห็นจะเข้าใจในการนวกรรมด้วย พระศาสดาจึงได้โปรดให้เป็นนวกัมมาธิฏฐายี คือ ผู้ดูนวกรรมแห่งบุรพาราม ที่กรุงสาวัตถี อันนางวิสาขาสร้าง


    ๐ เป็นผู้มีอภิญญา

    พระมหาโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกผู้มีอภิญญา ซึ่งแปลว่าความรู้ยิ่งยวด อภิญญามี ๖ ประการ ดังนี้

    ๑. อิทธิวิธิ แสดงฤทธิ์ได้ เช่น คนเดียวนิรมิตเป็นหลายคนได้ ล่องหนผ่านไปในวัตถุกั้นขวางอยู่ เช่น ฝา กำแพงได้ ดำดินคือไปใต้ดินได้ เดินบนน้ำ ดุจเดินบนพื้นดินได้ เหาะไปในอากาศได้

    ๒. ทิพพโสต มีหูทิพย์ ล่วงหูของสามัญมนุษย์ ฟังเสียง ๒ อย่างได้ คือทั้งเสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ได้ ทั้งเสียงไกล ทั้งเสียงใกล้

    ๓. เจโตปริยญาณ กำหนดใจคนอื่นได้ รู้ได้ซึ่งใจของบุคคลอื่นอันบริสุทธิ์หรือเศร้าหมองอย่างไร

    ๔. ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติได้ตั้งแต่ชาติหนึ่งสองชาติ จนตั้งหลายๆ กัป ว่าในชาติที่เท่านั้น ได้มีชื่อโคตร ผิวพรรณ มีอาหารอย่างนั้นๆ ได้เสวยสุข ได้เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีอายุเท่านั้นๆ จุติจากชาตินั้นแล้ว เกิดในชาติที่เท่านั้น ได้เป็นอย่างนั้นๆ แล้วมาเกิดในชาตินี้

    ๕. ทิพพจักขุ มีตาทิพย์ มีชื่ออีกอย่างหนึ่งว่า จุตูปปาตญาณ มีจักษุทิพย์ บริสุทธิ์ล่วงจักษุสามัญมนุษย์ เห็นเหล่าสัตว์กำลังจุติก็มี กำลังเกิดก็มี เลวก็มี ดีก็มี ผิวพรรณงามก็มี ผิวพรรณไม่งามก็มี ได้ดีก็มี ตกยากก็มี รู้ชัดว่าสัตว์เป็นไปตามกรรม

    ๖. อาสวักขยญาณ ทำให้อาสวะสิ้นไป รู้ชัดตามความจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกข์สมุทัย นี้ทุกข์นิโรธ คามินีปฏิปทาเหล่านี้ อาสวะนี้เหตุเกิดอาสวะนี้ ความดับอาสวะนี้ ทางไปถึงความดับอาสวะ เมื่อรู้เห็นอย่างนี้จิตพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ รู้ชัดว่าชาตินี้พ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว กรณียะทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอันจะต้องทำเช่นนี้ไม่มีอีก

    อภิญญา ๕ ข้อแรก เป็นโลกิยอภิญญา ข้อ ๖ สุดท้ายเป็นโลกุตตรอภิญญา ผู้ที่จะบรรลุอรหันต์ จะต้องได้โลกุตตรอภิญญา คือ อาสวักขยญาณ ได้อภิญญา ๕ ข้อแรก ยังไม่บรรลุพระอรหันต์


    ๐ ทิพพจักขุของพระมหาโมคคัลลานะ

    เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันในกรุงราชคฤห์ พระมหาโมคคัลลานะกับพระลักขณะ ได้ขึ้นไปจำพรรษาอยู่บนเขาคิชกูฎ เวลาเช้าพระเถระทั้งสองได้ถือบาตรเดินลงมาจากยอดเขาเพื่อไปบิณฑบาตในเมือง ในระหว่างที่กำลังเดินลงมานั้น พระลักขณะได้เห็นพระมหาโมคคัลลานะยิ้ม จึงได้ถามถึงสาเหตุ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ให้ถามเรื่องนี้ในที่เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า กลับจากบิณฑบาตแล้ว พระเถระทั้งสองได้พร้อมกันเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า พระลักขณะได้ถามถึงสาเหตุที่พระมหาโมคคัลลานะยิ้ม พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าสาเหตุที่ยิ้ม เพราะได้เห็นโครงร่างกระดูกร่างหนึ่งลอยไปมาอยู่ในอากาศ ถูกแร้งกาบินตามจิกกิน เนื้อที่ยึดซี่โครงเอาไว้ ยังผลให้ร่างกระดูกนั้นส่งเสียงร้องครวญครางด้วยความเจ็บปวด

    พระพุทธเจ้าตรัสรับรองว่า โครงกระดูกที่พระมหาโมคคัลลานะเห็นนั้นมีอยู่จริง และพระองค์เองก็ได้เห็นมาแล้วในวันตรัสรู้ แต่ที่ยังไม่ตรัสบอกใครก็เพราะยังไม่มีพยาน แต่บัดนี้พระองค์ได้พระมหาโมคคัลลานะเป็นพยานแล้วจึงตรัส เนื่องจากทรงเห็นว่า หากไม่มีพยานรับรอง เมื่อตรัสไปแล้ว สำหรับผู้ที่เชื่อไม่มีปัญหา แต่สำหรับผุ้ที่ไม่เชื่อจะเป็นผลร้ายอย่างใหญ่หลวงแก่เขา

    จากนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสบุพกรรมของโครงร่างกระดูกนั้นว่า เมื่อครั้งเป็นมนุษย์ได้มีอาชีพเป็นนายโคฆาตก์ฆ่าวัวชำแหละเนื้อขายเลี้ยงชีวิตอยู่ในกรุงราชคฤห์นี้เอง ด้วยวิบาก (ผล) ของกรรมนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดอยู่ในนรกหลายแสนปี พ้นจากนรกแล้วด้วยวิบากกรรมที่ยังเหลืออยู่จึงได้มาเกิดเป็นเปรตมีแต่โครงร่างกระดูก

    พระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกับพระมหาโมคคัลลานะทางทิพพจักขุ และทิพพโสต

    ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเชตวัน เมืองสาวัตถี ส่วนพระมหาโมคคัลลานะกับพระสารีบุตรได้พักอยู่ที่วัดเวฬุวัน เมืองราชคฤห์

    วันหนึ่ง พระสารีบุตรได้ออกจากที่เร้นในตอนเย็นและเข้าไปหาพระมหาโมคคัลลานะ พระสาระบุตรเห็นพระมหาโมคคัลลานะผ่องใสจึงพูดว่า โมคคัลลานะผู้อาวุโส อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก สีหน้าของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง วันนี้ท่านโมคคัลลานะอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อันละเอียดหรือ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส วันนี้ผมอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างหยาบ แต่ว่าผมได้สนทนาธรรม

    พระสารีบุตรถามว่า ท่านโมคคัลลานะได้สนทนาธรรมกับใคร พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า กับพระผู้มีพระภาคเจ้า พระสารีบุตรถามว่า ผู้มีอายุ ขณะนี้พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในวัดเชตวันในเมืองสาวัตถีซึ่งอยู่ไกลจากที่นี่ ท่านโมคคัลลานะเข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์หรือ หรือว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาหาท่านโมคคัลลานะด้วยฤทธิ์ พระมหาโมคคัลลานะตอบว่า ท่านผู้อาวุโส ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง คือ ผมมิได้ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยฤทธิ์ ทั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าก็มิได้เสด็จมาหาผมด้วยฤทธิ์ แต่ว่า ผมกับพระพุทธเจ้าสนทนาธรรมกันทางทิพพจักขุและทิพพโสต เพราะว่า ผมมีทิพพจักขุ และทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับพระพุทธเจ้าและพระพุทธเจ้าก็มีทิพพจักขุและทิพโสตบริสุทธิ์เท่ากับผม
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๓. พระมหาโมคคัลลานเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีฤทธิ์มาก

    [​IMG]


    ๐ ปราบนันโทปนันทะนาคราช

    ในคาถาพาหุง บทที่ ๗ มีข้อความเป็นภาษาบาลี และคำแปลเป็นไทยมีใจความว่า "พระจอมมุนี ทรงโปรดให้พระมหาโมคคัลลานะเถระพุทธชิโนรส (นิรมิตกายเป็นนาคราช) ไปทรมานพระยานาคราชชื่อนันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิด มีฤทธิ์มาก ด้วยวิธีอันให้อุปเท่ห์แห่งฤทธิ์แก่พระเถระ ขอชัยมงคลทั้งหลาย จงเกิดมีแก่ท่านด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้น"

    พระพุทธชัยมงคลในบทนี้ กล่าวถึงพระผู้มีพระภาคทรงมีชัยแก่นันโทปนันทะนาคราช ซึ่งมีเรื่องดังนี้

    ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วิหารเชตวัน เมืองสาวัตถี เช้าวันหนึ่งก่อนที่พระผู้มีพระภาคจะเสด็จไปรับภัตตาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เวลาใกล้รุ่ง พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูสัตว์โลก ก็ทรงเห็นนันโทปนันทะนาคราชปรากฏอยู่ในข่ายพระญาณ ในตอนเช้าพระผู้มีพระภาคตรัสสั่งพระอานนท์ให้บอกสงฆ์ทราบว่า พระองค์จะเสด็จไปเทวโลก และได้ทรงพาพระสาวกผู้มีอภิญญาเหาะไปยังเทวโลก

    นันโทปนันทะนาคราชเห็นพระผู้มีพระภาคและพระสาวกเหาะมาก็โกรธ โดยถือว่าตนเป็นผู้มีอานุภาพมาก ถ้าสมณะเหล่านั้นเหาะข้ามไป ฝุ่นละอองที่ติดเท้าก็จะล่วงหล่นมาบนหัว จะต้องหาทางไม่ให้เหาะข้ามไป จึงเอาหางรัดเขาพระสุเมรุไว้ ๗ รอบ และบันดาลให้เป็นหมอกควันมืดมัวไปหมด

    มีสาวกหลายองค์ทูลอาสาที่จะปราบพระยานาค แต่พระผู้มีพระภาคไม่ทรงอนุญาต ครั้นเมื่อพระมหาโมคคัลลานะทูลอาสา พระผู้มีพระภาคจึงทรงอนุญาต พร้อมทั้งทรงให้พรให้มีชัยชนะแก่พระยานาค พระมหาโมคคัลลานะได้เนรมิตกายเป็นพระยานาคที่มีร่างกายยาวใหญ่กว่าพระยานันโทปนันทะถึง ๒ เท่า แล้วรัดกายพระยานาคให้แน่นเข้ากับเขาพระสุเมรุมิให้เคลื่อนไหว

    ฝ่ายพระยานาคถูกนาคพระมหาโมคคัลลานะรัดจนแทบกระดูกแตก ก็โกรธเกรี้ยวยิ่งนัก จึงพ่นพิษให้เป็นควันแผ่ไปโดยรอบ พระมหาโมคคัลลานะก็บันดาลให้ควันเกิดขึ้นมากยิ่งกว่า ปราบฤทธิ์ของพระยานาคนั้นเสีย พระยานาคจึงพ่นควันพิษเป็นเปลวไฟอันร้ายแรง พระมหาโมคคัลลานะก็เนรมิตไฟที่ร้อนแรงกว่าให้เกิดขึ้น ไฟของพระยานาคไม่อาจทำอันตรายแก่พระมหาโมคคัลลานะได้ แต่ไฟที่พระมหาโมคคัลลานะเนรมิตขึ้นกลับรุมล้อมพระยานาคทั้งภายนอกภายในให้รุ่มร้อนกระสับกระส่ายเป็นกำลัง

    พระยานาคคิดว่าสมณะนี้ชื่อใด จึงมีฤทธิ์มากอย่างนี้ คิดแล้วก็ถามชื่อ พระมหาโมคคัลลานะก็บอกให้ทราบว่า เป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระผู้มีพระภาค พระยานาคได้กล่าวว่า ท่านเป็นสมณะเหตุใดจึงมาทำร้ายข้าพเจ้า การกระทำของท่านไม่สมควรแก่สมณะ พระมหาโมคคัลลานะได้ตอบว่าเราไม่ได้โกรธและลงโทษท่าน แต่ที่ทรมานท่านก็เพื่อจะช่วยท่านให้พ้นจากความเห็นผิดและพยศร้าย ให้ท่านอยู่ในทางตรงคืออริยมรรค

    ในที่สุดพระมหาโมคคัลลานะก็ได้ปราบนันโทปนันทะนาคราชจนยอมจำนน พ้นจากการเป็นมิจฉาทิฏฐิ รู้จักบาปบุญคุณโทษ เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระยานาคได้กราบนมัสการพระผู้มีพระภาคและขอบูชาพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งตลอดไป พระผู้มีพระภาคได้ทรงประทานศีล ๕ ให้รักษา จากนันพระผู้มีพระภาคก็ได้พาพระสาวกไปเรือนของอนาถบิณฑิกเศรษฐีเพื่อรับภัตตาหาร


    ๐ ถูกโจรทุบตีก่อนนิพพาน

    แม้พระโมคคัลลานะก็ปรินิพพานก่อนพระศาสดา มีเรื่องเล่าว่าถูกผู้ร้ายฆ่า ดังต่อไปนี้ ในคราวที่พระเถรเจ้าอยู่ ณ ตำบลกาฬสิลาแขวงมคธ พวกเดียรถีย์ปรึกษากันว่า พระโมคคัลลานะเป็นกำลังใหญ่ของพระศาสดา สามารถนำข่าวในสวรรค์และนรกมาแจ้งแก่มนุษย์ชักนำให้เลื่อมใส ถ้ากำจัดพระโมคคัลลานะเสียได้แล้ว ลัทธิฝ่ายตนจักรุ่งเรื่องขึ้น จึงจ้างผู้ร้ายให้ลอบฆ่าพระโมคคัลลานะเสีย ท่านยังไม่ถึงมรณะ เยียวยาอัตภาพด้วยกำลังฌานไปเฝ้าพระศาสดาทูลลาแล้ว จึงกลับมาปรินิพพาน ณ ที่เดิม พระโมคคัลลานะอยู่มาจนถึงพรรษาที่ ๔๕ แต่ตรัสรู้ล่วงแล้ว ปรินิพพานในวันดับแห่งกัตติกมาส ภายหลังพระสารีบุตรปักษ์หนึ่ง พระศาสดาได้เสด็จไปทำฌาปนกิจแล้ว รับสั่งให้เก็บอัฐิธาตุมาก่อพระเจดีย์บรรจุไว้ ณ ที่ใกล้ซุ้มประตูแห่งเวฬุวนาราม ระยะทางเสด็จพุทธจาริกแต่บ้านเวฬุวคาม

    ครั้งหนึ่งนั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่เวฬุวันวิหาร อาศัยเมืองราชคฤห์เป็นที่ภิกขาจาร พระองค์ได้ปรารภพระมหาโมคคัลลานเถระให้เป็นเหตุ จึงได้ตรัสเรื่องราวนี้มีความว่า พระมหาโมคคัลลานเถระเป็นทุติยสาวกปรากฏด้วยอิทธิศักดายิ่งกว่าผู้ใดในไตรภพเว้นไว้แต่พระตถาคตองค์เดียว พระตถาคตให้เป็นเอตทัคคะว่า ประเสริฐเลิศด้วยอิทธิฤทธิ์ยิ่งกว่าสาวกในพระศาสนา ท่านได้เที่ยวไปสู่เทวจาริกในสวรรค์ นำเอาการกุศลที่เทพบุตรเทพธิดา กระทำอย่างนั้นๆ เอามาบอกแก่มหาชนชาวมนุษย์ แล้วท่านลงไปสู่นรก นำเอาข่าวมาบอกแก่คนทั้งหลายว่า บุคคลกระทำบาปมีชื่อนี้ๆ ไปทนทุกขเวทนาในนรกขุมนั้นๆ ท่านได้โปรดสัตว์ที่ไปทนทุกข์ให้เป็นสุขสบาย ท่านขวนขวายในกิจของท่านมาช้านาน

    ครั้นอยู่มาสมัยหนึ่ง พระมหาเถระจำพระวัสสาอยู่ ณ กาฬศิลาประเทศ พวกเดียรถีย์นิครนถ์ทั้งหลายก็ปราศจากลาภสักการบูชา มหาชนเลื่อมใสในพระศาสนาเป็นอันมาก เดียรถีย์นิครนถ์ผู้ใหญ่จึงปรึกษาว่า ลาภสักการะจะเกิดแก่พระสมณโคดม ก็อาศัยพระโมคคัลลานเถระผู้เดียว เพราะพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์ เที่ยวขึ้นไปบนสวรรค์ และลงนรก ได้เห็นความเป็นไปในที่นั้นๆ แล้ว นำมาบอกแก่มหาชนชาวมนุษย์ ถึงผลของกุศลกรรมของผู้ที่อยู่บนสวรรค์ และอกุศลกรรมของผู้ที่อยู่ในนรก

    ดังนั้นถ้าคิดพิฆาตฆ่าพระโมคคัลลานะให้ตายแล้ว พระสมณโคดมก็จะเสื่อมจากลาภสักการบูชา พวกเดียรถีย์ทั้งหลายก็เห็นจริงพร้อมกัน เดียรถีย์ผู้ใหญ่จึงคิดเรี่ยไรทรัพย์จากพวกอุปัฏฐากของตน ได้ทรัพย์พันตำลึง แล้วไปจ้างโจรให้ไปฆ่าพระโมคคัลลานะ พวกโจรได้ไปล้อมกุฎีของท่าน คอยฆ่าท่านเมื่อเพลาปัจจุสมัยใกล้รุ่ง ฝ่ายพระโมคคัลลานเถระ เมื่อรู้เหตุว่าโจรมาล้อมกุฎี ก็หนีออกมาโดยช่องดาล โจรหาตัวท่านไม่พบก็กลับไป อยู่มาวันหนึ่งจึงพากันไปล้อมอีก ท่านก็หนีออกไปทางช่องช่อฟ้า พวกโจรพากันมาล้อมจะจับตัวท่านฆ่าให้ตาย แต่หาท่านไม่พบต้องพากันกลับไปโดยนัยดังนี้ถึง 2 เดือน

    ครั้นถึงเดือนเป็นที่สุดจะออกพระวัสสา โจรทั้งหลายก็มาล้อมกุฎีอีก พระมหาเถระพิจารณาดู ก็รู้ประจักษ์ใจว่า กรรมของท่านได้กระทำไว้แต่ปางหลังตามมาทันแล้วในครั้งนี้ แม้ท่านจะหนีไปอยู่ในที่ใดๆ ที่จะพ้นภัยนั้น อย่าสงกา เมื่อท่านพิจาณาเห็นดังนั้นแล้ว ก็นั่งอยู่ในกุฎี ไม่ได้หนีไปดังหนหลัง โจรทั้งหลายเห็นท่าน จึงเข้าไปทุบตีด้วยศาสตราวุธต่างๆ จนกระดูกท่านแหลก ปานประหนึ่งว่าเม็ดข้าวสาร แหลกละเอียดไปทั้งกาย แล้วพวกโจรก็นำร่างของท่านไปทิ้ง

    ฝ่ายพระมหาเถระได้เสวยทุกขเวทนา พ้นที่จะอุปมา แต่ยังทรงชีวิตอยู่ จึงคิดอยู่ในใจว่า ตัวท่านนี้จะดับสูญเข้าสู่นิพพานแล้ว จำจะไปถวายนมัสการลาพระผู้มีพระภาค แล้วจึงกลับมาเข้าสู่พระนิพพานในที่นี้ คิดดังนั้นแล้วจึงเข้าฌานสมาบัติ อธิษฐานผูกรัดร่าง กระดูกที่แหลกละเอียดก็คุมกันเข้าเป็นแท่งเดียวดังเก่าด้วยกำลังฌาน แล้วจึงเหาะไปสู่เวฬุวันมหาวิหาร เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลลาเข้าสู่พระนิพพาน พระผู้มีพระภาคจึงมีพุทธฎีกาตรัสถามว่า จะนิพพานที่ใด ท่านกราบทูลว่า จะนิพพานที่กาฬศิลาประเทศ อันเป็นที่อยู่ของท่าน พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า ตถาคตได้เห็นท่านก็เป็นที่สุดแล้ว ท่านจงเทศนาให้ตถาคตฟังก่อน พระสงฆ์ทั้งหลายจะได้เห็นท่านได้ฟังเทศนาของท่านก็เป็นที่สุดในครั้งนี้

    ฝ่ายพระมหาเถระได้ฟังพุทธฎีกาดังนั้น จึงได้สำแดงปาฏิหาริย์เป็นเอนกอนันต์ ครั้นสำแดงแล้ว ก็สำแดงธรรมเทศนาแก่บริษัทเป็นปัจฉิมที่สุด เหมือนธรรมเสนาบดีสารีบุตร กระทำปาฏิหาริย์ถวายพระผู้มีพระภาค เมื่อท่านไปกราบทูลลาจะเข้าสู่พระนิพพาน เมื่อพระมหาเถระกระทำปาฏิหาริย์ เห็นปานดังพระสารีบุตร เสร็จแล้วจึงทูลลาว่า กระหม่อมฉันอุตส่าห์สร้างบารมีมาก็ช้านาน ประมาณได้อสงไขยยิ่งด้วยแสนกัปป์โดยคณนา หวังจะพบพระพุทธองค์ และพระศาสนาของพระพุทธองค์ บัดนี้ก็สำเร็จสมปรารถนาแล้ว จะได้ถวายนมัสการบรมบาทพระชินสีห์ก็เป็นที่สุดแล้ว จึงถวายบังคมลาพระสัพพัญญูบรมครูแล้วกลับไปกาฬศิลาประเทศ เข้าไปสู่กุฎีที่อยู่จำพระวัสสา จึงเข้าสมาบัติตั้งแต่ปฐมญานขึ้นไป แล้วกลับถอยหลังลงมาเป็นอนุโลมปฏิโลมหลายครั้ง ครั้นออกจากสมาบัติแล้ว พระมหาเถระก็เข้าสู่พระนิพพาน

    กิตติศัพท์ที่พวกโจรเข้าทุบตีพระโมคคัลลานะนั้น ได้เลื่องลือไปในนิคมชนบทนานาประเทศ บรรดาอำมาตย์ได้นำความเข้ากราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อพระองค์ทรงทราบก็เกิดสังเวชสลดพระทัย ทรงเห็นว่าการกระทำของพวกโจรไม่บังควร จำจะเสาะเอาตัวมาลงโทษให้จงได้ แล้วได้ทรงสั่งให้พวกอำมาตย์ ไปดำเนินการจนได้ตัวพวกโจร แล้วนำเข้าไปถวายพระเจ้าอชาตศัตรู เมื่อซักไซ้ไต่สวนได้ความว่า พวกสมณชีเปลือยใช้โจรให้ไปกระทำการดังกล่าว พระองค์จึงสั่งให้ไปจับพวกเดียรถีย์ชีเปลือยมาได้เป็นจำนวนมาก เมื่อซักไซ้ไต่ถามได้ความจริงแล้ว จึงสั่งให้ราชบุรุษ เอาพวกเดียรถีย์ชีเปลือย และพวกโจรที่จับมาได้ ฝังดินลึกเพียงสะดือ แล้วให้เอาใบไม้แห้งและฟางเกลี่ยไป จากนั้นจึงจุดไฟคลอก ครั้นเพลิงไหม้ทั่วกันแล้ว จึงให้เอาไถเหล็กมาไถ ให้ร่างกายขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ตายด้วยกันทั้งหมด

    อยู่มาวันหนึ่ง บรรดาพระสงฆ์ทั้งหลาย สันนิบาตประชุมกันในโรงธรรมสภาศาลา สนทนากันว่าน่าอัศจรรย์ใจ ด้วยพระโมคคัลลานะประกอบด้วยฤทธานุภาพเป็นอันมาก ควรหรือมาตายด้วยมือโจร ฝ่ายองค์พระบรมโลกนาถได้ทรงได้ยินการสนทนาดังกล่าว จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎีมาสู่โรงธรรมศาลา แล้วตรัสถามว่า ได้สนทนาเรื่องอันใดอยู่ เมื่อบรรดาพระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้ว พระผู้มีพระภาคจึงได้มีพุทธฎีกาว่า สำแดงโมคคัลลานโอรสพระตถาคต ถูกโจรทุบตีให้ตาย จะได้มีแต่ปัจจุบันชาตินี้หามิได้ แต่ชาติก่อนๆ ก็ตายด้วยโจรตีเช่นกัน ก็อาศัยอกุศลกรรมที่ได้กระทำไว้แต่ชาติหลังยังติดตามมา จึงถึงแก่ความมรณาไม่สมควรแก่ตน

    พระทศพลตรัสดังนี้แล้วก็ดุษณีนิ่งไป พระสงฆ์ทั้งหลายจึงทูลถาม ถึงกรรมที่พระโมคคัลลานะกระทำไว้ พระพุทธองค์จึงนำอดีตมาประทานเทศนาว่า ในอดีตกาลแต่ปางหลัง มีกุลบุตรผู้หนึ่งปฏิบัติรักษามารดาบิดาตามืด ทั้ง 2 คน โดยไม่เกียจคร้าน ต่อมา มารดาบิดาจึงคิดอ่านจะหาภรรยาให้ลูกชาย เมื่อปรึกษาเรื่องนี้กับลูกชาย ก็ได้รับคำปฏิเสธว่าตนไม่ปรารถนา จะขอเลี้ยงมารดาบิดาไปจนตลอดชีวิต มารดาบิดาก็เฝ้าวอนว่าอยู่แล้วๆ เล่าๆ ฝ่ายลูกชายขัดไม่ได้จึงยินยอมตามใจของมารดาบิดา มารดาบิดาจึงได้ไปขอกุมารี มาให้แก่ลูกชายของตน หญิงนั้นครั้นมาอยู่กับสามีแล้วปฏิบัติแม่ผัวพ่อผัวอยู่ไม่นาน ก็มีความเกียจคร้านเบื่อหน่าย คิดจะไปเสียให้พ้น จึงว่าแก่สามีของตนว่าตนไม่สบายใจ มารดาบิดาขี้บ่น ตนจะอยู่ต่อไปไม่ได้แล้ว สามีจึงตอบว่าก็ตามอัธยาศัยของท่านเถิด ที่เราจะทิ้งมารดาบิดาของเราเสียนั้นมิได้

    นางได้ฟังดังนั้นก็จนใจ จึงคิดกลอุบายจะให้ลูกชายทิ้งมารดาบิดาเสีย จะได้พากันไปอยู่ที่อื่นตามสบายใจ ครั้นสามีออกไปนอกบ้าน หญิงนั้นก็เที่ยวทิ้งของไว้เกลื่อนกลาด ครั้นสามีกลับมาพบเห็นก็บอกว่า มารดาบิดาของท่านทำเอาไว้ หญิงนั้นทำเช่นนี้อยู่เนืองๆ ฝ่ายบุรุษผู้นั้นเป็นสัตว์มีวาสนา ได้บำเพ็ญบารมีมาช้านาน ได้ฟังคำหญิงพาลมาวอนเจรจาใส่โทษมารดาบิดา ก็ให้เร่าร้อนในหัวใจ ความรักใคร่ในมารดาแต่หนหลังนั้น ก็แตกออกเป็นสองภาค ด้วยความรักใคร่ในหญิงพาลส่งจิตไปตามภรรยา จึงตอบวาจาว่า มารดาบิดาของเรากระทำชั่วฉะนี้ ตกพนักงานพี่จะกระทำเอง ชายนั้นจึงให้มารดาบิดาบริโภคอาหารแล้วจึงมีวาจาว่า บัดนี้ญาติวงศาของท่านอยู่ในบ้านโน้น สั่งมาให้ตนพามารดาบิดาไป แล้วจึงให้มารดาบิดาขึ้นนั่งบนเกวียน แล้วจึงรีบไปตามมรรคา

    ครั้นถึงราวป่าแห่งหนึ่ง บุรุษนั้นคิดจะฆ่ามารดาบิดาให้ตาย จึงคิดอุบายบอกแก่มารดาบิดาว่า ราวป่านี้โจรส้องสุมอยู่เป็นอันมาก ถ้ารู้ว่าตนมามันก็จะฆ่าเสียให้ตาย บิดาจงเอาเชือกสายชักโคนี้เถิด แล้วเขาก็ลงจากเกวียนไป ชายนั้นเดินไปให้ไกลสักหน่อยหนึ่ง แล้วก็แกล้งแปลงเป็นเสียงโจรว่าคนสองคนนั้นจะไปไหน แล้วฉวยได้ไม้เข้าทุบตีมารดาบิดาแห่งตน ฝ่ายมารดาบิดาทั้งสองคนคิดว่าเป็นโจรจริง จึงร้องบอกลูกชายให้หนีไปให้พ้นมือโจร ส่วนตนทั้งสองแก่ชราแล้ว จะตายด้วยโจรก็ตามทีเถิด ฝ่ายลูกชายเมื่อทุบตีมารดาบิดาตายเสียแล้ว จึงเอาซากศพนั้นทิ้งเสียในราวป่า แล้วกลับมาสู่บ้านตนพร้อมภรรยา ตราบจนสิ้นชมม์วัสสาอายุแล้ว จุติไปเกิดโดยควรแก่อกุศลกรรม ที่ตนได้ทำไว้ในปัจจุบันชาติ

    เมื่อพระบรมศาสดา สำแดงบุพพกรรมแห่งพระโมคคัลลานะด้วยประการฉะนี้แล้ว จึงมีพุทธฎีกาตรัสว่า สำแดงโมคคัลลานะกระทำกรรมอันหยาบช้า ฆ่ามารดาบิดา ครั้นตนทำกาลกิริยาตาย ได้ไปทนทุกขเวทนาในนรกช้านาน มากกว่าหมื่นปีแสนปี ด้วยกรรมที่ตีมารดาบิดา ครั้นพ้นจากนรกแล้ว เศษบาปนั้นยังติดตามมา แต่โจรทั้งหลายฆ่าให้ตายดังนั้นถึง 500 ชาติ เป็นกำหนด สำแดงโมคคัลลานะได้ทำอกุศลกรรมไว้ จึงได้เสวยวิบากผลสมควรแก่กรรมที่ตนได้กระทำมาแต่หนหลัง ยังพวกโจรและเดียรถีย์ที่ทุบตี สำแดงโมคคัลลานะเล่า ก็ถึงซึ่งความวินาศฉิบหายน่าอเน็จอนาถ ฉะนี้

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสเทศนาด้วยพระคาถาต่อไปว่า บุคคลใดเป็นคนเมามาก ประกอบด้วยโทโส มาประทุษร้ายแก่พระขีณาสพเจ้าอันหาโทษทัณฑ์มิได้ บุคคลนั้นจะต้องทุกข์ทั้ง 10 ประการ ทุกข์ใดจะถึงแก่ตน เห็นประจักษ์ตาในอัตภาพชั่วนี้ คือต้องทุกขเวทนาอันทารุณโทษ โรคนั้นแต่ล้วนสาหัส จะบังเกิดมีแก่อัตภาพในชาตินี้ ประการหนึ่ง ทรัพย์สินเงินทองที่ตนหามาได้ด้วยกสิกรรม วาณิชกรรม ก็จะเสี่อมสูญไปไม่เหลือ ถ้ามิดังนั้นก็จะทนทุกขเวทนา มีเขาตัดตีนตัดมีอ ตัดหู ตัดจมูกของตน เป็นจมูกของตน เป็นต้น จะบังเกิดโรคาพยาธิอันหนัก จะเป็นเปลี้ยง่อยตัวตายไปตำหระหนึ่งโรคที่หนักๆ จักบังเกิดมี คือเป็นโรคเรื้อนกุฏฐัง ที่เหลือกำลังจะรักษาเยียวยาได้ ถ้ามิดังนั้นจะเป็นบ้าใบ้พิกลจริต เสียจิตเสียใจไม่เป็นสมประดีดังคนทั้งหลาย จะบังเกิดความฉิบหายแก่ราชทัณฑ์อาชญา ท้าวพระยามหากษัตริย์จะริบเอาโภคทรัพย์สมบัติพัสถานของตน ถ้ามิดังนั้นตัวอยู่ดีๆ มีคนมาโพนทนาว่า เป็นโจรกระทำผิดในราชศาสตร์ มีแต่เขาใส่โทษให้ต้องราชทัณฑ์อาญา มีแต่คนอิจฉาคือฉ้อส่อเสียด ให้เสียสมบัติพัสดุต่างๆ

    อนึ่ง จะมีทรัพย์พัสดุสิ่งใดอยู่ในเรือนตนจะมีโจรเข้าวิ่งชิงเอาไป อนึ่งญาติวงศา บุตร ภรรยา อันที่รักใคร่ จะบังเกิดมรณภัยล้มตายหายจาก พลัดพรากฉิบหายประลัยไป สุดแท้แต่จะวิบัติไปด้วย เหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อนึ่ง ทรัพย์วัสดุเงินทองของรัก จะกลับกลายเป็นกระดูก เป็นกระเบี้อง เป็นถ่านเพลิงไป โดยต่ำตั้งแต่ข้าวเปลือกอยู่ในยุ้งฉาง ก็วิบัตเปื่อยเน่าผุไปเอง อนึ่ง จะเกิดไฟไหม้ไต้ลน ปีละสองสามหนให้จงได้ มิไหม้ด้วยไฟบ้านก็ไหม้ด้วยไฟป่า ไหม้ด้วยไฟฟ้า ถ้ามิฉะนั้น อยู่ดีๆ จะมีไฟเกิดขึ้นด้วยธรรมดาเอง สุดแท้แต่จะเกิดไฟไหม้ให้ได้ อันบุคคลประทุษร้ายต่อผู้หาโทษมิได้ จะต้องทุกขฐานทั้ง 10 ประการ มิทุกข์สิ่งใดก็สิ่งหนึ่ง คงจะมาถึงตนในอัตภาพชั่วนี้ ครั้นสูญสิ้นชีวิตจากเมืองคน จะไปทนทุกขเวทนาในนรกสิ้นกาลช้านาน เพราะตนกระทำการทุจริตมิดี เห็นปานดังโจร และเดียรถีย์ทั้งหลายทำร้ายพระโมคคัลลานฉะนี้

    ครั้นพระพุทธองค์ตรัสเทศนาจบลง บริษัททั้งหลายก็สำเร็จมรรคผลธรรมวิเศษ ตามวาสนาบารมีที่ตนได้ก่อสร้างมา แต่ชาติหลังโน้น จึงเป็นอุปนิสัยให้สำเร็จความปรารถนา



    .............................................................

    คัดลอกมาจาก ::
    http://www1.mod.go.th/heritage/religion/priest/priest.html
    Home Main Page
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    [​IMG]


    ๐ กระทำมหาทานพระปทุมุตตระพุทธเจ้า กับภิกษุหกล้านแปดแสนองค์

    ได้ยินว่า ในอดีตกาลปลายแสนกัป ในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนาม พระปทุมุตตระ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปอาศัยกรุงหงสวดี ประทับอยู่ในเขมมฤคทายวัน มีเศรษฐีผู้หนึ่งชื่อว่า เวเทหะ มีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฎิ เมื่อรับประทานอาหารเช้าแล้วก็สมาทานอุโบสถศีล ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปพระวิหาร เพื่อบูชาองค์พระศาสดา ครั้นถึงแล้วจึงไหว้แล้วนั่งอยู่ในพระวิหารนั้น ขณะนั้นพระปทุมุตตระพุทธเจ้าได้กระทำการสถาปนาสาวกองค์ที่ ๓ นามว่า มหานิสภเถระ ไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วก็บังเกิดความเลื่อมใส จนเมื่อเวลาจบพระธรรมกถาแล้ว หมู่พุทธบริษัทอื่นก็ได้ออกไปจากพระวิหารแล้ว เวเทหะอุบาสกจึงถวายบังคมพระศาสดาแล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระองค์ทรงรับอาราธนาของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้

    พระศาสดาตรัสว่า อุบาสก ภิกษุสงฆ์มากนะ

    อุบาสกทูลถามว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ภิกษุสงฆ์ทั้งสิ้นมีประมาณเท่าไร พระพุทธเจ้าข้า ?

    พระศาสดาตรัสว่า มีประมาณหกล้านแปดแสนองค์

    อุบาสกกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ขออาราธนาพระภิกษุสงฆ์ทั้งหมด แม้แต่สามเณรรูปเดียวก็อย่าเหลือไว้ในวิหาร

    พระศาสดาทรงรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ เวเทหะอุบาสกรู้ว่าพระศาสดาทรงรับนิมนต์แล้ว จึงทูลลาแล้วกลับไปยังเรือนของตน แล้วตระเตรียมมหาทานในวันรุ่งขึ้น พร้อมกับส่งคนให้ไปกราบทูลเวลาภัตตาหารแด่พระศาสดา

    ในวันรุ่งขึ้นพระศาสดาทรงถือบาตรและจีวร มีภิกษุสงฆ์ห้อมล้อมไปยังเรือนของเวเทหะอุบาสก ทรงประทับนั่งบนอาสนะที่อุบาสกจัดไว้ถวาย ทรงเสวยภัตาหาร มีข้าวต้มเป็นต้น ในระหว่างนั้น เวเทหะอุบาสกก็นั่งอยู่ที่ใกล้พระศาสดา


    ๐ พบพระภิกษุผู้ถือธุดงควัตร

    ระหว่างนั้น พระมหานิสภเถระ ผู้ซึ่งได้รับการสถาปนาเป็นเอตะทัคคะผู้เป็นยอดของภิกษุผู้สอนธุดงค์เมื่อวันวาน กำลังเที่ยวบิณฑบาต เดินไปยังถนนหน้าบ้านท่านเวเทหะอุบาสกนั้น อุบาสกเห็นพระเถระเดินบิณฑบาตอยู่ จึงลุกขึ้นไปไหว้พระเถระแล้วกล่าวนิมนต์ว่าว่า

    ท่านผู้เจริญ ขอท่านจงให้บาตร พระเถระได้ให้บาตร อุบาสกกล่าวว่า ท่านผู้เจริญ ขอนิมนต์เข้าไปในเรือนนี้แหละ ขณะนี้พระศาสดาก็ประทับนั่งอยู่ในเรือน

    พระเถระกล่าวว่า ไม่ควรนะอุบาสก

    อุบาสกรับบาตรของพระเถระใส่บิณฑบาตเต็มแล้ว ได้ นำออกไปถวาย จากนั้นได้เดินส่งพระเถระไป แล้วกลับมานั่งในที่ใกล้พระศาสดา กราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระมหานิสภเถระนี้ แม้ข้าพระองค์กล่าวว่า พระศาสดาประทับอยู่ในเรือน ท่านก็ไม่ปรารถนาจะเข้ามา พระมหานิสภเถระนั่น มีคุณยิ่งกว่าพระองค์หรือหนอ อันธรรมดาพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีวรรณมัจฉริยะ (ตระหนี่คุณความดีของคนอื่น)

    ลำดับนั้น พระศาสดาทรงตรัสว่า ดูก่อนอุบาสก เรานั่งคอยภัตตาหารอยู่ในเรือน แต่พระมหานิสภเถระนั้นไม่นั่งคอยภิกษาในเรือนอย่างนี้ เราอยู่ในเมือง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่ในป่าเท่านั้น เราอยู่ในที่มุมบัง พระมหานิสภเถระนั้นอยู่กลางแจ้งเท่านั้น ดังนั้น พระมหานิสภเถระนั้นมีคุณอย่างนี้


    ๐ ตั้งความปรารถนาจะเป็นเอตทัคคะ

    เวเทหะอุบาสกนั้น ตามปกติก็เป็นผู้เลื่อมใสดียิ่งอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธดำรัสดังนั้น จึงเป็นเสมือนไฟที่ลุกโพลงอยู่ แล้วยังถูกราดซ้ำด้วยน้ำมันฉะนั้น และคิดว่า สมบัติอื่นเราไม่ต้องการ เราเพียงปรารถนาความเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์เป็นวัตรในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

    เวเทหะอุบาสกนั้นจึงได้นิมนต์พระศาสดาอีก และได้ทำการถวายมหาทานอย่างนั้นต่อไปอีก ๗ วัน ในวันที่ ๗ ได้ถวายไตรจีวรแก่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน เมื่อถวายทานแล้วเวเทหะอุบาสกได้หมอบกราบพระบาทของพระศาสดา แล้วกราบทูลว่า

    ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ด้วยเมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม ของข้าพระองค์ ผู้ถวายมหาทาน ๗ วัน ข้าพระองค์มิได้ปรารถนาสมบัติของเทวดา หรือสมบัติของท้าวสักกะ มาร และพรหม แม้สักอย่างหนึ่ง ด้วยผลแห่งการถวายมหาทานนี้ จงเป็นปัจจัยให้ข้าพระองค์ได้เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ เช่นเดียวกับตำแหน่งของพระมหานิสภเถระ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอนาคต

    สมเด็จพระบรมศาสดาทรงตรวจดูว่า ที่เวเทหะอุบาสกปรารถนาตำแหน่งอันใหญ่นี้ จะสำเร็จหรือไม่ ครั้นทรงเห็นว่าความปรารถนาของอุบาสกนั้นสำเร็จ จึงทรงตรัสว่า ความปรารถนาในตำแหน่งนั้นของท่านจักสำเร็จในสมัยของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม ที่จักอุบัติขึ้นในอนาคตอีกแสนกัปนับจากนี้ ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้านั้น ชื่อว่ามหากัสสปเถระ เวเทหะอุบาสกได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้ว ก็ปิติยินดีเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบว่าพุทธพยากรณ์ของพระบรมศาสดาย่อมไม่มีเปลี่ยนเป็นอื่น ดังนั้นในระหว่างช่วงอายุที่เหลืออยู่ของอุบาสกนั้น เขาก็ได้ทำการถวายทานโดยประการต่างๆ รักษาศีล กระทำกุศลกรรมนานับประการ เมื่อเวเทหะอุบาสกสิ้นชีพแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์


    ๐ เอกสาฏกพราหมณ์

    นับแต่นั้น เขาได้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสุคติภูมิทั้งทั้งในภูมิเทวดาและมนุษย์ภูมิ จนในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ในสมัยของพระวิปัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงประทับอยู่ในมฤคทายวัน กรุงพันธุมดี อุบาสกนั้นก็จุติจากเทวโลกไปเกิดในตระกูลพราหมณ์เก่าแก่ตระกูลหนึ่ง อาศัยอยู่กับนางพราหมณี พราหมณ์ และ พราหมณีนั้น มีผ้านุ่ง อยู่เพียงผืนเดียวเท่านั้น คนทั้งหลายจึงเรียกพราหมณ์นั้นว่า เอกสาฏกพราหมณ์ เมื่อเหล่าพราหมณ์ประชุมกัน ด้วยกิจบางอย่าง พราหมณ์ก็ต้องให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองไปประชุมกับเหล่าพราหมณ์ เมื่อถึงคราวพวกพราหมณีประชุมกัน ตัวพราหมณ์เองก็ต้องอยู่บ้าน นางพราหมณีจะห่มผ้านั้นไปประชุม
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ พระวิปัสสีพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม

    ในสมัยพระผู้มีพระภาคเจ้าพระนามวิปัสสีนั้น พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนาทุกๆ ๗ ปี ในปีนั้น ซึ่งเป็นเวลาถึงกำหนดที่พระพุทธองค์จะทรงแสดงพระธรรมเทศนา ก็ได้มีความโกลาหลขึ้นอย่างใหญ่หลวง เทวดาทั้งหลายทั่วชมพูทวีป ได้บอกแก่เอกสาฏกพราหมณ์นั้นว่า พระศาสดาจะทรงแสดงธรรมในวันนี้ พราหมณ์ได้ทราบข่าวนั้น ก็พูดกะนางพราหมณีว่า

    แม่มหาจำเริญ เธอจักฟังธรรมกลางคืนหรือกลางวัน

    นางพราหมณีพูดว่า พวกฉันชื่อว่าเป็นหญิงแม่บ้าน ไม่อาจฟังกลางคืนได้ขอฟังกลางวันเถิด

    แล้วให้พราหมณ์อยู่เฝ้าบ้าน ส่วนตนเองนั้นก็ห่มผ้าซึ่งมีอยู่เพียงผืนเดียวไปฟังธรรมในตอนกลางวันพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นเมื่อฟังธรรมแล้ว ก็กลับมาพร้อมกับพวกอุบาสิกา ครั้นถึงเวลาค่ำพราหมณ์ ได้ให้นางพราหมณีอยู่บ้าน ตนเองก็ห่มผ้านั้นไปฟังพระธรรมเทศนายังพระวิหาร เวลานั้นสมเด็จพระบรมศาสดาประทับนั่งบนธรรมาสน์ที่เขาตกแต่งไว้ท่ามกลางพุทธบริษัท ทรงแสดงธรรมกถาอันวิจิตร

    เมื่อพราหมณ์นั่งฟังธรรมอยู่ท้ายเหล่าพุทธบริษัท ก็บังเกิดปิติ ขึ้นทั่วทั้งร่างในเวลาปฐมยามนั่นเอง พราหมณ์นั้นจึงดึงผ้าที่ตนห่มออกมาคิดว่า จะถวายผ้าที่ตนห่มนั้นแด่พระทศพล ในเวลาเดียวกันนั้นความหวงแหนในผ้าห่มซึ่งตนมีเพียงผืนเดียวก็บังเกิดขึ้นแก่พราหมณ์นั้น และคิดว่า พราหมณีกับเรามีผ้าห่มผืนเดียวเท่านั้น ผ้าห่ม ผืนอื่นใดๆ เราก็ไม่มี และถ้าไม่มีผ้าห่มก็ออกไปข้างนอกไม่ได้ พราหมณ์นั้นจึงตกลงใจไม่ต้องการถวายโดยประการทั้งปวง ครั้นเมื่อปฐมยามผ่านไป พราหมณ์ก็เกิดปีติเหมือนอย่างที่เกิดเมื่อช่วงปฐมยามขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงมัชฌิมยาม พราหมณ์คิดเหมือนอย่างนั้น แล้วไม่ได้ถวายเหมือนเช่นนั้นอีก

    ครั้นเมื่อมัชฌิมยามล่วงไป ปีติเหมือนอย่างนั้นนั่นแหละ ก็เกิดขึ้นแก่พราหมณ์อีกเป็นครั้งที่สามในช่วงปัจฉิมยาม พราหมณ์นั้นตัดสินใจว่า เป็นไรเป็นกัน ค่อยรู้กันทีหลัง คิดดังนั้นแล้วก็ดึงผ้าห่มมาวางแทบพระบาทพระบรมศาสดา ปรบมือขึ้น ๓ ครั้งแล้ว และร้องว่า ชิตํ เม, ชิตํ เม, ชิตํ เม (เราชนะแล้วๆ ๆ)

    เวลานั้น พระเจ้าพันธุมราชประทับนั่งสดับธรรมอยู่ภายในม่านหลังธรรมาสน์ ได้ทรงสดับดังนั้น จึงส่งราชบุรุษให้ไปถามพราหมณ์นั้นว่า เขาพูดทำไม เมื่อราชบุรุษไปถาม พราหมณ์จึงกล่าวว่า คนอื่นนอกจากข้าพเจ้า เมื่อจะเอาชัยชนะต่อกองทัพข้าศึก จะต้องขึ้นพาหนะ เช่นช้างเป็นต้น ถือโล่หนัง และดาบเป็นอาวุธ เข้าต่อกรกับข้าศึกจึงจะได้ชัยชนะ แต่ชัยชนะเช่นนั้นไม่น่าอัศจรรย์ ส่วนตัวเราได้ทำลายจิตตระหนี่แล้ว ถวายผ้าที่ห่มอยู่แด่พระทศพล ชัยชนะของเรานั้นจึงน่าอัศจรรย์

    ราชบุรุษจึงไปกราบทูลเรื่องราวนั้นแด่พระราชา พระราชารับสั่งว่า พวกเราไม่รู้สิ่งที่สมควรแก่พระทศพล แต่พราหมณ์นั้นรู้ จึงทรงรับสั่งให้ส่งผ้าสำรับหนึ่ง คือผ้านุ่งกับผ้าห่ม ไปพระราชทาน พราหมณ์เห็นผ้าคู่นั้นแล้วคิดว่า ถ้าเรามิได้กระทำอะไรพระราชาก็คงไม่พระราชทานอะไรให้แก่เรา เป็นเพราะเรากล่าวคุณทั้งหลายของพระบรมศาสดาหรอก ท่านจึงได้พระราชทาน ดังนั้นจะมีประโยชน์อะไรแก่เรากับรางวัลที่ได้รับโดยอาศัยพระคุณของพระบรมศาสดา คิดดังนั้นจึงได้ถวายผ้าสำรับนั้นแด่พระทศพลเสียเลย

    พระราชา ตรัสถามว่า พราหมณ์ทำอย่างไร ทรงสดับว่า พราหมณ์ถวายผ้าสำรับนั้นนั้นแด่พระตถาคต จึงรับสั่งให้ส่งผ้าคู่ ๒ สำรับพระราชทานไปอีก พราหมณ์นั้นได้ถวายผ้าคู่ ๒ สำรับนั้นแด่พระศาสดา พระราชาก็ทรงส่งผ้าคู่ ๔ สำรับไปพระราชทานอีก พราหมณ์ก็นำผ้าที่ได้รับถวายพระศาสดาอีกเช่นเดิม ทำเช่นนี้จนกระทั่งพระราชาทรงส่งผ้าไปพระราชทาน ถึง ๓๒ สำรับ พราหมณ์จึงคิดว่า การทำดังนี้ เป็นเหมือนตั้งใจจะให้พระราชทานเพิ่มขึ้นแล้วจึงจะรับเอา จึงถือเอาผ้า ๒ สำรับ คือ เพื่อตนเองสำรับ ๑ เพื่อนางพราหมณีสำรับ ๑ แล้วถวายพระทศพล ๓๐ สำรับ แต่นั้นมาพราหมณ์ก็ได้เป็นผู้คุ้นเคยกับพระบรมศาสดา

    ครั้นวันหนึ่งพระราชาทรงสดับธรรมในสำนักของพระบรมศาสดาในฤดูหนาว ได้พระราชทานผ้ากัมพลแดงสำหรับห่ม ส่วนพระองค์มีมูลค่าพันหนึ่งแก่พราหมณ์ แล้วรับสั่งว่า นับแต่นี้ไป ท่านจงห่มผ้ากัมพลแดงผืนนี้ฟังธรรมเถิด พราหมณ์นั้นคิดว่า ผ้ากัมพลแดงนี้จะมีประโยชน์อะไรกับกายอันโสโครก เปื่อยเน่าของเรานี้ จึงได้ถวายทำเป็นเพดานเหนือเตียงของพระตถาคตภายในพระคันธกุฎี

    อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาเสด็จไปพระวิหารแต่เช้าตรู่ ประทับนั่งในที่ใกล้พระบรมศาสดาในพระคันธกุฏี ในขณะนั้น พระพุทธรัศมีมีพรรณ ๖ ประการ ส่องไปกระทบที่ผ้ากัมพล สีแดงของผ้ากัมพลก็บรรเจิดจ้าขึ้น พระราชาทอดพระเนตรเห็นก็จำได้จึงกราบทูลพระศาสดาว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ผ้ากัมพลผืนนี้ของข้าพระองค์ๆ ให้เอกสาฏกพราหมณ์ พระทศพลทรงตรัสว่ามหาบพิตร พระองค์พระราชทานเพื่อบูชาพราหมณ์ พราหมณ์ถวายเพื่อบูชาอาตมภาพ พระราชาทรงเลื่อมใสว่า พราหมณ์รู้สิ่งที่เหมาะที่ควร พระองค์เองกลับไม่รู้ จึงพระราชทานสิ่งที่เป็นของเกื้อกูลแก่มนุษย์ทุกอย่างๆ ละ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ให้เป็นของประทานชื่อว่า สัพพัฏฐกทาน แล้วทรงตั้งให้เป็นปุโรหิต พราหมณ์นั้นคิดว่า ชื่อว่าของ ๘ ชนิด ๘ ครั้ง ก็เป็น ๖๔ ชนิด จึงตั้งสลากภัต ๖๔ ที่ ถวายแด่พระสงฆ์ แล้วให้ทาน รักษาศีลตลอดชีวิต จุติจากชาตินั้นไปเกิดในสวรรค์


    ๐ เกิดในระหว่างกาลของพระโกนาคมน์พุทธเจ้า และพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า

    จุติจากสวรรค์กลับมาเกิดในเรือนของกฏุมพี ในกรุงพาราณสี ในระหว่างกาลของพระพุทธเจ้า ๒ พระองค์ คือ พระผู้มีพระภาคเจ้าโกนาคมน์ และพระกัสสปทศพลในกัปนี้ ครั้นเจริญวัยขึ้นก็แต่งงานมีเหย้าเรือน อยู่มาวันหนึ่ง ระหว่างที่เดินเที่ยวพักผ่อนไปในป่า ก็พบพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงกระทำจีวรกรรม (คือการ เย็บจีวร) อยู่ที่ริมแม่น้ำ แต่ผ้าอนุวาต (ผ้าแผ่นบางๆ ที่ทาบไป ตามชายสบงจีวรและสังฆาฎิ) มีไม่พอจึงทรงเริ่มจะพับเก็บ เขาเห็นเข้าจึงกล่าวถามพระปัจเจกพุทธเจ้าว่า เพราะอะไรจึงจะพับเก็บเสียเล่า เจ้าข้า พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า ผ้าอนุวาตไม่พอ เขากล่าวว่า โปรดเอาผ้าสาฏกนี้ทำเถิดเจ้าข้า เขาถวายผ้าสาฏกแล้ว ตั้งความปรารถนาว่า ขอความเสื่อมใดๆ ขอจงอย่าได้มี ในที่ที่ข้าพเจ้าได้เกิดเถิด

    ต่อมาพระปัจเจกพุทธเจ้า เสด็จเข้าไปบิณฑบาต ณ ยังเรือนของเขา ในตอนนั้น ภรรยาและน้องสาวของเขากำลังทะเลาะกัน เมื่อน้องสาวของเขาถวายบิณฑบาตแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว ก็กล่าวพาดพิงถึงพี่สะใภ้ว่า ขอให้เราจงห่างไกลหญิงพาลเช่นนี้ร้อยโยชน์ ภรรยาของเขาที่กำลังยืนอยู่ที่ลานบ้านได้ยินเข้าจึงคิดว่า พระรูปนี้จงอย่าได้ฉันอาหารที่นางคนนี้ถวาย จึงจับบาตรพระปัจเจกพุทธเจ้ามาเทบิณฑบาตทิ้งแล้วเอาเปือกตมมาใส่จนเต็ม น้องสาวเขาเห็นพี่สะไภ้ทำเช่นนั้นจึงกล่าวว่า หญิงพาล เจ้าจงด่าจงบริภาษเราก่อนเถิด การเทภัตตาหารจากบาตรของท่านผู้ได้บำเพ็ญบารมีมา ๒ อสงไขยเช่นนี้ แล้วใส่เปือกตมให้ นั้นเป็นการไม่สมควรเลย

    ภรรยาของเขาครั้นได้ฟังก็เกิดความสำนึกขึ้นได้ จึงกล่าวว่า โปรดหยุดก่อนเจ้าข้า แล้วเทเปือกตมออก ล้างบาตรแล้วชะโลมด้วยผงเครื่องหอม แล้วได้ใส่ของมีรสอร่อย ๔ อย่างเต็มบาตร แล้ววางถวายบาตรลงในมือของพระปัจเจกพุทธเจ้า ตั้งความปรารถนาว่า สรีระของเราจงผุดผ่องเหมือนบิณฑบาตอันผุดผ่องนี้เถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าอนุโมทนาแล้วเหาะขึ้นสู่อากาศ
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ เกิดในสมัยพระกัสสปทศพลพุทธเจ้า

    ผัวเมียแม้ทั้งสองนั้นเมื่อครบชั่วอายุขัยแล้ว ตายลงก็ไปเกิดบนสวรรค์ จุติจากสวรรค์นั้นอีกครั้ง อุบาสกเกิดเป็นบุตรเศรษฐีมีสมบัติ ๘๐ โกฏิในกรุงพาราณสี ในครั้งพระกัสสปทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า ฝ่ายภรรยาเกิดเป็นธิดาของเศรษฐีเหมือนกัน เมื่อเขาเจริญวัย พวกญาติก็นำธิดาของเศรษฐีมายังเรือนบุตรเศรษฐีหมายจะตกแต่งเป็นภรรยาแก่บุตรเศรษฐี

    ด้วยอานุภาพของกรรมซึ่งได้กระทำไว้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้าในชาติก่อน พอนางถูกส่งตัวเข้าไปยังตระกูลของสามี ทั่วทั้งสรีระเกิดกลิ่นเหม็นเหมือนส้วมที่เขาเปิดไว้ ตั้งแต่ย่างเข้าไปภายในธรณีประตู เศรษฐีกุมารถามว่า กลิ่นเหม็นนี้เป็นของใคร ครั้นได้ฟังว่าเป็นกลิ่นของลูกสาวเศรษฐี จึงให้นำส่งนางกลับไปเรือนตระกูล ธิดาเศรษฐีถูกส่งกลับไปกลับมาในทำนองนี้ถึง ๗ ครั้ง

    ครั้นเมื่อพระกัสสปทศพลเสด็จปรินิพพานแล้ว พุทธศาสนิกชนเริ่มก่อพระเจดีย์สูงโยชน์หนึ่งด้วยอิฐทอง ทั้งหนาทั้งแน่น มีราคาก้อนละหนึ่งแสน เมื่อเขากำลังสร้างพระเจดีย์กันอยู่ ธิดาเศรษฐีคนนั้นคิดว่า เราต้องถูกส่งกลับถึง ๗ ครั้งแล้ว ชีวิตของเราจะมีประโยชน์อะไร จึงให้ยุบสิ่งของเครื่องประดับตัว แล้วนำไปทำอิฐทอง ยาวศอก กว้างคืบ สูง ๔ นิ้ว และถือก้อนหรดาลและมโนสิลา เก็บเอาดอกบัว ๘ กำ ไปยังสถานที่ที่สร้างพระเจดีย์

    ขณะนั้นก้อนอิฐแถวหนึ่งที่กำลังก่อมาต่อกันนั้นเกิดขาดอิฐแผ่นต่อเชื่อม นางจึงพูดกับช่างว่า ท่านจงวางอิฐก้อนนี้ลงตรงนี้เถิด นายช่างกล่าวว่า นางผู้เจริญ ท่านมาได้เวลาพอดี ขอท่านจงวางเองเถิด นางจึงขึ้นไปเอาน้ำมันผสมกับหรดาลและมโนสิลา วางอิฐติดอยู่ได้ด้วยเครื่องยึดนั้น แล้วบูชาด้วยดอกอุบล ๘ กำมือไว้ข้างบนอิฐทองนั้น นางยกมือไหว้แล้วตั้งความปรารถนาว่า ในที่ที่เราเกิด ขอจงมีกลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลจงฟุ้งออกจากปาก แล้วไหว้พระเจดีย์ ทำประทักษิณรอบพระเจดีย์แล้วกลับไป

    ครั้นแล้วในขณะนั้นเอง เศรษฐีบุตรก็เกิดระลึกถึงเศรษฐีธิดาที่เขานำมาที่เรือนครั้งแรก ในพระนครเวลานั้นก็มีงานนักขัตฤกษ์เสียงกึกก้อง เขาจึงพูดกับคนรับใช้ว่า คราวนั้น เจ้านำธิดาเศรษฐีมายังเรือนนี้ นางนั้นอยู่ที่ไหน คนรับใช้กล่าวว่าอยู่ที่เรือนตระกูลของนางขอรับ นายท่าน เศรษฐีบุตรกล่าวว่า พวกเจ้าจงพามา เราจักเล่นนักขัตฤกษ์กับนาง พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงไปยังเรือนตระกูลของนาง ไปไหว้นางแล้วยืนอยู่ นางจึงถามว่า ท่านทั้งหลายมาทำไมกัน พวกคนรับใช้ของบุตรเศรษฐีจึงบอกเรื่องราวที่มานั้น

    นางกล่าวว่า ท่านทั้งหลาย เราเอาเครื่องอาภรณ์บูชาพระเจดีย์เสียแล้ว เราไม่มีเครื่องอาภรณ์ คนรับใช้เหล่านั้นจึงไปบอกแก่บุตรเศรษฐีๆ จึงกล่าวว่า จงนำนางมาเถิด เราจะให้เครื่องประดับนั้นแก่นาง พวกคนรับใช้จึงไปนำนางมา กลิ่นจันทน์และกลิ่นอุบลขาบฟุ้งไปทั่วเรือน พร้อมกับที่นางเข้าไปในเรือน บุตรเศรษฐีจึงถามนางว่า ครั้งแรกมีกลิ่นเหม็นฟุ้งออกจากตัวเธอ แต่บัดนี้ กลิ่นจันทน์ฟุ้งออกจากตัว กลิ่นอุบลฟุ้งออกจากปากของเธอ นี่อะไรกัน ธิดาเศรษฐีจึงเล่ากรรมที่ตนกระทำตั้งแต่ต้น บุตรเศรษฐีเลื่อมใสว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลายเป็นนิยยานิกธรรมหนอ จึงเอาเครื่องปกคลุมที่ทำด้วยผ้ากัมพล ยาวประมาณโยชน์หนึ่งหุ้มพระเจดีย์ทองเป็นพุทธบูชา แล้วเอาดอกประทุมทองขนาดใหญ่เท่าล้อรถประดับที่พระเจดีย์ทองนั้น ดอกประทุมทองที่แขวนห้อยไว้มีขนาด ๑๒ ศอก บุตรเศรษฐีนั้นครั้นอยู่จนสิ้นอายุในมนุษยโลกแล้วก็ไปเกิดในสวรรค์


    ๐ กำเนิดในตระกูลอำมาตย์

    จุติจากสวรรค์นั้น บังเกิดในตระกูลอำมาตย์ตระกูลหนึ่ง ซึ่งพำนักอยู่ในที่ห่างจากกรุงพาราณสีประมาณโยชน์หนึ่ง ฝ่ายลูกสาวเศรษฐีจุติจากเทวโลกเกิดเป็นพระราชธิดาองค์ใหญ่ ในราชตระกูล

    เมื่อคนทั้งสองนั้นเจริญวัย ในหมู่บ้านที่กุมารอยู่มีงานนักขัตฤกษ์ กุมารนั้นต้องการจะไปเที่ยวงานกล่าวกับมารดาว่า แม่จ๋า แม่จงให้ผ้าสาฎกฉัน ฉันจะห่มไปเล่นนักขัตฤกษ์ มารดาได้นำผ้าที่ใช้แล้วมาให้เขา เขาปฏิเสธว่า ผ้านี้หยาบไปจ้ะแม่ นางก็นำผ้าผืนอื่นมาให้ แต่ไม่ว่าจะนำผ้าผืนใดมา เขาก็ปฏิเสธว่าผ้านั้นหยาบไป มารดาจึงกล่าวกะเขาว่า ลูก เราเกิดในตระกูลเช่นนี้ พวกเราไม่มีบุญที่จะได้ผ้าเนื้อละเอียดกว่านี้หรอก เขากล่าวว่า แม่จ๋า ถ้าอย่างนั้น ฉันจะไปยังที่ที่จะได้ผ้าที่มีเนื้อละเอียดกว่านี้ มารดากล่าวว่า ลูกเอ๋ย แม่ปรารถนาให้เจ้าได้ราชสมบัติในกรุงพาราณสีวันนี้ทีเดียวน่ะ เขาไหว้มารดาแล้วกล่าวว่า ฉันไปละแม่ มารดาว่า ไปเถอะลูก นัยว่ามารดาของเขามีความคิดว่า มันจะไปไหนเสีย คงจะนั่งที่นี่ ที่นั่นอยู่ในเรือนหลังนี้แหละ

    กุมารนั้นก็ออกไปตามเหตุแห่งกรรมที่กำหนดไว้ จนถึงกรุงพาราณสี แล้วเข้าไปนอนคลุมศีรษะอยู่บนแผ่นมงคลศิลาอาสน์ ในพระราชอุทยานของพระเจ้าพาราณสี ในวันนั้นเป็นวันที่พระเจ้าพาราณสีสวรรคตแล้วเป็นวันที่ ๗ เหล่าอำมาตย์ทั้งหลายเมื่อทำการถวายพระเพลิงพระศพแล้ว ก็นั่งปรึกษากันอยู่ที่พระลานหลวง ปรารภว่าว่า พระราชามีแต่พระธิดา ไม่มีพระราชโอรส ราชสมบัติไม่มีพระราชาปกครองเป็นเรื่องไม่สมควร ใครสมควรจะได้เป็นพระราชา

    เหล่าอำมาตย์ต่างก็ออกความเห็นว่า ท่านโน้นควรเป็น ท่านนี้ควรเป็น ปุโรหิตกล่าวว่า ไม่ควรเลือกมาก เอาเถอะ พวกเราจะบวงสรวงเทวดาแล้วเสี่ยงราชรถไปเพื่อหาผู้ที่สมควรจะครองราชย์ อำมาตย์เหล่านั้นจึงจัดแจงเทียมม้า ๔ ตัว แล้วตั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ๕ อย่าง กับเศวตรฉัตรไว้บนรถแล้วปล่อยราชรถนั้นไป แล้วให้ประโคมดนตรีตามไปข้างหลัง ม้านำราชรถออกทางประตูด้านทิศปราจีน บ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน

    อำมาตย์บางพวกกล่าวว่า รถบ่ายหน้าไปทางพระราชอุทยาน เพราะม้ามีความคุ้นเคยกับอุทยาน พวกท่านจงให้กลับมา ปุโรหิตกล่าวว่า อย่าให้กลับ ม้านำราชรถไปยังแท่นที่กุมารนอนอยู่ กระทำประทักษิณแก่กุมารแล้วจึงได้หยุดราวกับเตรียมพร้อมที่จะให้ขึ้น ปุโรหิตจึงเดินเข้าไปเลิกชายผ้าห่มด้านเท้าของกุมารที่นอนหลับอยู่เพื่อตรวจดูพื้นเท้าของกุมาร ครั้นตรวจดูแล้วจึงกล่าวว่า ไม่เพียงแค่ชมพูทวีปนี้ทวีปเดียว แต่ท่านผู้นี้สมควรได้ครองราชย์ในทวีปทั้ง ๔ มีทวีปสองพันเป็นบริวาร แล้วสั่งให้ประโคมดนตรีขึ้น ๓ ครั้ง
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ อำมาตย์ถวายราชสมบัติ

    เมื่อกุมารนั้นได้ยินเสียงประโคมดนตรีจึงตื่นขึ้น แล้วเปิดผ้าที่คลุมหน้าขึ้นมองดูเหล่าอำมาตย์ที่มาห้อมล้อมอยู่แล้วพูดว่า ท่านทั้งหลาย พวกท่านมาด้วยกิจกการอะไรกัน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ เหล่าข้าพระองค์ขอถวายราชสมบัติแก่พระองค์ กุมารถามขึ้นว่า แล้วพระราชาของพวกท่านไปไหนเสียเล่า ? อำมาตย์ตอบว่า ได้เสด็จทิวงคตเสียเมื่อ ๗ วันที่แล้ว กุมารถามต่อไปว่า พระราชโอรสหรือพระราชธิดาของท่านไม่มีหรือ ? อำมาตย์ ข้าแต่สมมติเทพ พระราชธิดามี พระราชโอรสไม่มี กุมารรับว่า ถ้าเป็นเช่นนั้น เราจักครองราชย์ เหล่าอำมาตย์ได้ยินรับสั่งเช่นนั้น จึงสั่งให้สร้างมณฑปสำหรับอภิเษกในขณะนั้นทันที แล้วประดับพระราชธิดาด้วยเครื่องอลังการทุกอย่างนำมายังพระราชอุทยานทำการอภิเษกกับกุมาร

    เมื่อพระกุมารทำการอภิเษกแล้ว ประชาชนนำผ้ามีราคาแสนหนึ่งมาถวาย พระกุมารกล่าวว่า นี้อะไรท่าน พวกอำมาตย์ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ผ้านุ่งพระเจ้าข้า, พระกุมาร ผ้านี้เนื้อหยาบไป มีผ้าอื่นที่เนื้อละเอียดกว่านี้หรือไม่ ? อำมาตย์ข้าแต่สมมติเทพ ในบรรดาผ้าที่มนุษย์ทั้งหลายใช้สอย ผ้าที่เนื้อละเอียดกว่านี้ไม่มี พระเจ้าข้า

    พระกุมารกล่าวว่า พระราชาของพวกท่านทรงผ้านุ่งเช่นนี้หรือ ?

    อำมาตย์ พระเจ้าข้า ข้าแต่สมมติเทพ

    พระกุมาร พระราชาของพวกท่านคงจะไม่มีบุญ พวกท่านจงนำพระเต้าทองมา เราจะทำให้ได้ผ้า อำมาตย์เหล่านั้นนำพระเต้าทองมาถวาย พระกุมารนั้นลุกขึ้นล้างพระหัตถ์ บ้วนพระโอฐ เอาพระหัตถ์วักน้ำสาดไปทางทิศตะวันออก ในขณะนั้นเอง ต้นกัลปพฤกษ์ก็ชำแรกแผ่นดินทึบผุดขึ้นมา ๘ ต้น ทรงวักน้ำสาดไปอีกทั่วทิศ ๓ ทิศอย่างนี้คือ ทิศใต้ ทิศตะวันออก ทิศเหนือ ต้นกัลปพฤกษ์ผุดขึ้นในทิศทั้ง ๔ ทิศละ ๘ ต้น รวมเป็น ๓๒ ต้น พระกุมารนั้นทรงปรารถนาผ้าทิพย์จากต้นกัลปพฤกษ์ ครั้นได้แล้วจึงทรงนุ่งผ้าทิพย์ผืนหนึ่ง ทรงห่มผืนหนึ่ง ดังนี้แล้วให้ยกฉัตรขึ้น ทรงประดับตกแต่งพระองค์ ทรงขึ้นช้างตัวประเสริฐเข้าพระนคร ขึ้นสู่ปราสาทเสวยมหาสมบัติ.

    ครั้งกาลเวลาผ่านไป วันหนึ่งพระเทวีเห็นมหาสมบัติของพระราชาแล้ว ทรงปรารภแก่พระสวามีว่า ข้าแต่สมมติเทพ ในอดีตกาลพระองค์ได้ทรงศรัทธาต่อพระพุทธทั้งหลาย ได้ทรงกระทำกรรมดีไว้ในอดีต ในชาตินี้จึงทรงได้มหาสมบัติเช่นนี้ ในชาติปัจจุบันนี้ ยังไม่ทรงกระทำกุศลที่จะเป็นปัจจัยแก่อนาคต พระราชาตรัสว่า เราจักทำกุศลแก่ใคร เรายังไม่เห็นผู้มีศีล พระเทวีทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ชมพูทวีปไม่ว่างจากพระอรหันต์ทั้งหลายดอก พระองค์โปรดทรงตระเตรียมทานไว้เท่านั้น หม่อมฉันจะอาราธนาพระอรหันต์ในวันรุ่งขึ้น

    พระราชารับสั่งให้ตระเตรียมทานไว้ที่ประตูด้านทิศปราจีน พระเทวีทรงอธิษฐานองค์อุโบสถศีลแต่ตรู่ ทรงบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันออกหมอบลงบนปราสาทชั้นบนแล้วกล่าวว่า ถ้าพระอรหันต์มีอยู่ในทิศนี้ พรุ่งนี้ขอนิมนต์มารับภิกษาหารของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ปรากฏว่าในทิศนั้นไม่มีพระอรหันต์มาปรากฏ พระนางก็ได้ให้แจกจ่ายสักการะที่เตรียมไว้นั้นแก่คนกำพร้า และยาจก ในวันรุ่งขึ้นทรงตระเตรียมทานไว้ทางประตูทิศใต้แล้วได้กระทำเหมือนอย่างนั้น ก็ไม่มีพระอรหันต์มาปรากฏในทิศนั้น ในวันรุ่งขึ้นทางประตูทิศตะวันตกก็เช่นเดียวกัน


    ๐ ถวายทานพระปัจเจกพุทธเจ้า

    ในวันที่ทรงตระเตรียมไว้ทางประตูทิศเหนือ พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นพี่ชายของพระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ ผู้เป็นโอรสของพระนางปทุมวดี อยู่ในป่าหิมพานต์ เรียกพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นน้องชายซึ่งถูกพระเทวีนิมนต์อย่างนั้นมาว่า ท่านผู้นิรทุกข์ทั้งหลาย พระเจ้านันทราชนิมนต์ท่านทั้งหลาย ท่านจงรับนิมนต์ของท้าวเธอเถิด พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นรับนิมนต์แล้ว ในวันรุ่งขึ้นเมื่อล้างหน้าที่สระอโนดาดแล้วเหาะไปลงที่ประตูทางด้านทิศเหนือ

    เหล่าชนมากราบทูลแก่พระราชาว่า ข้าแต่สมมติเทพ พระปัจเจกพุทธเจ้า ๕๐๐ องค์ มาแล้วพระเจ้าข้า พระราชาเสด็จ ไปพร้อมกับพระเทวี ทรงไหว้แล้วรับบาตรนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายขึ้นสู่ปราสาท ถวายทานแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้น ในเวลาเสร็จภัตตกิจ พระราชาทรงหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆเถระ พระเทวีหมอบที่ใกล้เท้าพระสังฆนวกะ แล้วกล่าวว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลาย ข้าพเจ้าทั้งหลายขออาราธนาท่านทั้งหลาย จงให้ปฏิญญาเพื่ออยู่ในที่นี้จนตลอดอายุของข้าพเจ้าทั้งหลายเถิด ครั้นท่านรับปฏิญญาแล้ว จึงให้ตกแต่งสถานที่สำหรับอยู่อาศัยแก่พระปัจเจกพุทธเจ้าเหล่านั้นในพระอุทยาน คือ บรรณศาลา ๕๐๐ หลัง ที่จงกรม ๕๐๐ ที่ แล้วให้ท่านอยู่ในที่นั้นนั่นแล


    ๐ เหล่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

    ครั้นกาลเวลาล่วงไป เมืองชายแดนของพระราชาก่อการกำเริบขึ้น พระองค์ทรงกล่าวแก่พระเทวีว่า พี่จะไประงับเหตุที่เมืองชายแดน เธออย่าละเลยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเสด็จออกไปจากพระนคร ในระหว่างที่พระองค์ยังไม่เสด็จกลับ พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายก็สิ้นอายุสังขาร.ในวันเดียวกัน

    ในวันนั้น พระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ทรงฌานตลอดราตรีทั้ง ๓ ยาม ในเวลาอรุณขึ้น ทรงยืนเหนี่ยวแผ่นกระดานสำหรับใช้เป็นที่ยึด แล้วทรงปรินิพพานด้วย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ พระปัจเจกพุทธเจ้าที่เหลือทั้งหมด ก็ปรินิพพานในลักษณะเดียวกัน

    ในวันรุ่งขึ้น พระเทวีทรงให้ตกแต่งที่นั่งของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายด้วยดอกไม้ จุดเครื่องหอม นั่งคอยพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายมา เมื่อไม่เห็นมาจึงส่งราชบุรุษไปดูว่าเกิดเหตุใดขึ้นกับพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ราชบุรุษนั้นไปเปิดประตูบรรณศาลาของพระมหาปทุมปัจเจกพุทธเจ้า ไม่พบท่านในบรรณศาลานั้น จึงไปยังที่จงกรม เห็นท่านยืนพิงแผ่นกระดานสำหรับยึด จึงไหว้ แล้วกล่าวว่า ได้เวลาแล้วเจ้าข้า ราชบุรุษนั้นเห็นว่าท่านไม่ทรงตอบจึงคิดว่าท่านหลับ จึงเดินไปเอามือลูบที่หลังเท้า จึงรู้ว่าท่านได้เสด็จปรินิพพานแล้ว เพราะเท้าทั้งสองเย็นและแข็ง จึงไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๒ เมื่อรู้ว่าองค์ที่ ๒ ปรินิพพานแล้วเช่นกัน ก็ไปยังสำนักของพระปัจเจกพุทธเจ้าองค์ที่ ๓ สุดท้ายก็รู้ว่าพระปัจเจกพุทธเจ้าทุกองค์ปรินิพพานแล้ว

    จึงไปกราบทูลว่า ข้าแต่พระเทวี พระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลายทรงปรินิพพานแล้ว พระเทวีทรงกรรแสงคร่ำครวญ เสด็จออกไปที่บรรณศาลานั้นพร้อมกับชาวเมือง รับสั่งให้เล่าสาธุกีฬา (การเล่นที่เกี่ยวกับเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา) กระทำฌาปนกิจสรีระของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย แล้วเก็บธาตุสร้างพระเจดีย์ไว้


    ๐ พระราชาเสด็จกลับ

    เมื่อพระราชาทรงปราบเมืองชายแดนให้สงบแล้วเสด็จกลับมา รับสั่งถามพระเทวีผู้เสด็จมาต้อนรับถึงพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย พระเทวีทูลว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งหลายปรินิพพานเสียแล้ว พระราชาทรงพระดำริ ว่า มรณะยังเกิดแก่บัณฑิตทั้งหลายเช่นนี้ พวกเราก็จะไม่พ้นไปเช่นกัน พระองค์จึงไม่เสด็จเข้าไปในพระนคร เสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานเลยทีเดียว รับสั่งให้เรียกพระโอรสองค์ใหญ่มาแล้วมอบราชสมบัติแก่พระโอรสนั้น แล้วทรงผนวชเป็นสมณะ ฝ่ายพระเทวีก็ทรงผนวชอยู่ในพระราชอุทยานนั้นเช่นกัน พระราชาและพระเทวีทั้งสองนั้น บำเพ็ญฌาน จนถึงอายุขัยจึงได้ตายแล้วไป บังเกิดในพรหมโลก
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ กำเนิดเป็นปิบผลิมาณพในสมัยพระโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้

    ในระหว่างที่คนทั้งสองนั้นอยู่ในพรหมโลก พระศาสดาของเราทั้งหลายทรงอุบัติขึ้นในโลกประกาศพระธรรมจักรอันประเสริฐ เสด็จเข้าไปยังกรุงราชคฤห์โดยลำดับ เมื่อครั้งพระศาสดาประทับอยู่ในกรุงราชคฤห์นั้น ปิบผลิมาณพนี้ก็จุติมาบังเกิดในท้องภรรยาหลวงของกบิลพราหมณ์ ในหมู่บ้านของพวกพราหมณ์ชื่อมหาติตถะ ในนครมคธ

    นางภัททากาปิลานี ก็มาเกิดในท้องของภรรยาหลวงของพราหมณ์ โกลิยโคตร ในสาคลนคร ในนครมคธเช่นกัน เมื่อท่านทั้งสองนั้นเติบโตขึ้นโดยลำดับ จนกระทั่งเมื่อนางภัททามีอายุได้ ๑๖ ปี และ ปิบผลิมาณพ มีอายุได้ ๒๐ ปี บิดามารดาได้เคี่ยวเข็นให้ท่านแต่งงานเพื่อดำรงวงศ์ตระกูล แต่ ปิบผลิมาณพก็ปฏิเสธเสียทุกครั้งโดยกล่าวว่า จะอยู่ปฏิบัติท่านทั้งสองตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ต่อเมื่อท่านทั้งสองล่วงลับไปแล้ว ท่านจะบวช

    ครั้นบิดามารดา เคี่ยวเข็ญหนักเข้า ปิบผลิมาณพคิดว่า เราจะทำให้มารดายอมจำนน จึงเอาทองคำสีสุกปลั่งพันลิ่ม ให้ช่างทองหล่อเป็นรูปหญิงคนหนึ่งแล้วจึงให้รูปหล่อหญิงนั้นนุ่งผ้าแดง ประดับด้วยดอกไม้และเครื่องประดับต่างๆ แล้วให้เรียกมารดามาพูดว่า คุณแม่ เมื่อลูกได้หญิงงามเช่นรูปหล่อนี้จึงจะแต่งงาน ถ้าไม่ได้จักไม่แต่ง นางพราหมณีเป็นคนมีปัญญาจึงคิดว่า บุตรของเราเป็นผู้มีบุญ เมื่อทำบุญไว้ในอดีตคงจะไม่ทำคนเดียว คงมีหญิงผู้ทำบุญร่วมกับบุตรของเรานี้ เป็นแน่แท้ จึงให้เรียกพราหมณ์ ๘ คนมา แล้วให้ยกรูปทองคำ ขึ้นตั้งบนรถแล้วสั่งให้พารูปหล่อตระเวนไป ถ้าพบเห็นทาริกา งามดังรูปทองนี้ และเกิดในตระกูลที่เสมอกันกับนางพราหมณีโดยชาติ เสมอกันโดยโคตรและเสมอกันโดยโภคทรัพย์ ในที่ใด ก็จงให้รูปทองนี้แหละให้เป็นบรรณการแก่นางในที่นั้น


    ๐ เหล่าพราหมณ์เสาะหาหญิงงาม

    พราหมณ์เหล่านั้นก็พารูปหล่อออกไปตระเวน และคิดว่าจะไปที่ไหนกันดี จึงได้คิดว่า แคว้นมัททรัฐเป็นบ่อเกิดแห่งสตรี พวกเราควรจะไปมัททรัฐ จึงได้ไปยังสาคลนครในมัททรัฐ

    ในครั้งนั้น แม่นมของนางภัททากาปิลานี ให้นางภัททากาปิลานีอาบน้ำแต่งตัว แล้วให้นั่งเล่นอยู่ในห้อง ตนเองก็จะไปอาบน้ำที่ท่าน้ำ ในระหว่างเดินทางไปท่าน้ำนางเห็นรูปทองนั้น จึงพูดขู่ด้วยเข้าใจว่านางภัททากาปิลานีหลบออกมาเที่ยว และกล่าวว่า แน่ะแม่หัวดื้อ มาที่นี้ทำไม แล้วเงื้อฝ่ามือตีที่ข้างแก้มของรูปหุ่น พร้อมกับพูดว่า จงรีบกลับไป เมื่อมือกระทบรูปทองก็สะท้อนเหมือนตีหิน จึงตระหนักว่าเป็นหุ่นจึงพูดเลี่ยงไปว่า เราเห็นรูปทองเข้าก็เกิดความเข้าใจว่าธิดาแห่งแม่เจ้าของเรา ก็นางนี้ แม้จะให้เป็นผู้ถือผ้านุ่งของธิดาแห่งแม่เจ้าของเราก็ยังไม่เหมาะสม

    พวกพราหมณ์เหล่านั้นพากันห้อมล้อมนางแล้วถามว่า ธิดาแห่งเจ้านายของท่าน งามเท่านี้ไหม ? หญิงแม่นมพูดว่า นางนี่น่ะหรือ ธิดาแห่งแม่เจ้าของเรางามยิ่งกว่านางนี้ร้อยเท่า พันเท่า เมื่อเธอนั่งอยู่ในห้องที่มืด ความมืดก็จะหมดไปด้วยแสงสว่างจากร่างของเธอนั้นแหละ พวกพราหมณ์จึงถือเครื่องบูชา ยกรูปทองคำขึ้นบนรถ แล้วไปยังบ้านของพราหมณ์โกสิยโคตร


    ๐ เหล่าผู้ถือจดหมายแปลงสารของ ปิบผลิมาณพและจดหมายของนางภัททากาปิลานี

    พราหมณ์โกสิยโคตรกระทำปฏิสันถารแล้วถามเหตุของการมา ? ชนเหล่านั้นตอบตามเหตุที่ได้รับบัญชามา พราหมณ์โกสิยโคตรจึงยินดีด้วยเหตุว่า มีชาติ โคตร และทรัพย์สมบัติเสมอกัน และยินดีที่จะยกลูกสาวให้ แล้วก็รับเครื่องบรรณาการ ชนเหล่านั้นจึงส่งข่าวแก่กบิลพราหมณ์ว่า ได้เจ้าสาวแล้ว กบิลพราหมณ์ได้สดับข่าวนั้นแล้วจึงบอกแก่ปิบผลิมาณพ มาณพไม่มีความต้องการจะแต่งงาน จึงได้เขียนหนังสือถึงนางภัททากาปิลานี ว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังนางภัททาปิลานี

    นางภัททากาปิลานีก็เช่นกัน เมื่อได้ฟังว่า บิดาจะยกเราให้แก่ปิบผลิมาณพ จึงได้เขียนหนังสือถึงปิบผลิมาณพว่าตนไม่ประสงค์จะแต่งงาน ประสงค์จะออกบวช และให้คนรับใช้นำไปส่งยังปิบผลิมาณพ ในระหว่างเดินทางผู้ถือหนังสือทั้งสองฉบับมาพบกันในระหว่างทาง จึงได้หยุดทักทายกัน เมื่อคนรับใช้ของปิบผลิมาณพถูกฝ่ายนางภัททากาปิลานีถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็ตอบว่าเป็นหนังสือของปิบผลิมาณพส่งให้นางภัททากาปิลานี และเมื่อคนรับใช้ของนางภัททากาปิลานีถูกฝ่ายปิบผลิมาณพถามว่าถือหนังสือของใครมา ก็กล่าวว่า เป็นหนังสือของนางภัททากาปิลานีส่งให้ปีบผลิมาณพ จึงพากันอ่านหนังสือทั้งสองฉบับ เมื่ออ่านแล้วจึงกล่าวว่า เป็นการกระทำของเด็กๆ แท้ๆ แล้วฉีกหนังสือทั้งสองทิ้งไป แล้วเขียนขึ้นใหม่เป็นจดหมายอันแสดงความพอใจซึ่งกันและกัน และแยกย้ายกันไปส่งให้คนทั้งสองนั้น ดังนั้น คนทั้งสองนั้นก็ได้แต่งงานกัน

    เมื่อแต่งงานกันแล้ว หนุ่มสาวทั้งสองก็ยังประพฤติพรหมจรรย์ โดยทั้งสองต่างก็เอาพวงดอกไม้พวงหนึ่งวางไว้ กลางที่นอน มาณพขึ้นที่นอนทางด้านขวา นางภัททากาปิลานีขึ้นที่นอนทางด้านซ้าย แล้วกล่าวว่า ดอกไม้ในด้านของคนใดเหี่ยว พวกเขาจะรู้ได้ว่า ราคจิตเกิดขึ้นแล้วแก่ผู้นั้น คนทั้งสองนั้นนอนไม่หลับตลอดทั้งราตรี เพราะกลัวจะถูกตัวของกันและกัน จนกระทั่งเช้า อนึ่งในเวลากลางวันก็ไม่มีแม้แต่การยิ้มหัว คนทั้งสองนั้นไม่เกี่ยวข้องด้วยเรื่องโลกามิส ไม่จัดการทรัพย์สมบัติตราบเท่าที่บิดามารดายังมีชีวิตอยู่

    เมื่อบิดามารดากระทำกาลกิริยาไปแล้ว จึงจัดการทรัพย์สมบัติ โดยปิบผลิมาณพมีสมบัติ ๘๗ โกฎิ เพียงเฉพาะผงทองคำที่ใช้ขัดสีสรีระแล้วทิ้งไปวันหนึ่งๆ มีประมาณ ๑๒ ทะนาน มีเหมืองน้ำประมาณ ๖๐ แห่ง ติดเครื่องยนต์ มีเรือกสวนไร่นาที่ทำกินเนื้อที่ประมาณ ๑๒ โยชน์ มีหมู่บ้านทาส ๑๔ บ้าน ขนาดเท่าเมืองอนุราธบุรี มีหัตถานึกคือกองช้าง ๑๔ กอง มีอัสสานึกคือกองม้า ๑๔ กอง มีรถานึกคือกองรถ ๑๔ กอง


    ๐ คิดสละสมบัติแล้วออกบวช

    วันหนึ่ง ปิบผลิมาณพขึ้นม้าพร้อมด้วยบริวารไปยังที่ทำงาน ยืนอยู่ปลายนา เห็นพวกนกมีกาเป็นต้น คุ้ยเขี่ยสัตว์มีไส้เดือนเป็นต้น จากรอยไถเอามากิน จึงถามว่า ท่านทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ? เหล่าบริวารตอบว่า นายท่าน มันกิน ไส้เดือน มาณพถามว่า บาปที่สัตว์เหล่านี้ทำตกอยู่แก่ใคร ? เหล่าบริวารตอบว่า นายท่าน บาปเป็นของท่าน มาณพคิดว่า ถ้าบาปที่สัตว์เหล่านี้กระทำตกเป็นของเราเช่นนี้ ทรัพย์ ๘๗ โกฎิ จะมีประโยชน์อันใด การงาน ๑๒ โยชน์ เหมืองน้ำติดเครื่องยนต์ ๖๐ แห่ง หมู่บ้านทาส ๑๔ แห่ง จะมีประโยชน์อันใด เราจะมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดนี้แก่ภัททากาปิลานี แล้วออกบวช

    ส่วนนางภัททากาปิลานีพร้อมกับเหล่าพวกแม่นมนั่งห้อมล้อมยู่ นางให้หว่านเมล็ดงา ๓ หม้อ ลงในไร่ เห็นพวกกากินสัตว์ในเมล็ดงาจึงถามว่า ท่านทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้กินอะไร ? พวกแม่นม ตอบว่า แม่เจ้า พวกมันกินสัตว์ นางถามว่า อกุศลจะเป็นของใคร ? พวกแม่นมตอบว่า เป็นของแม่เจ้า นางคิดว่า ก็ถ้าอกุศลนี้จะเป็นของเรา ชีวิตเราก็ต้องวนเวียนอยู่ในวัฎฎะตั้ง ๑,๐๐๐ ภพ เมื่อลูกเจ้าพอมาถึง เราจะมอบทรัพย์สมบัติทั้งหมดแก่ลูกเจ้านั้นแล้วออกบวช

    มาณพ และนางภัททากาปิลานีเมื่อกลับมาแล้วก็อาบน้ำขึ้นปราสาท รับประทานอาหารแล้ว ปิบผลิมาณพกล่าวกะนางภัททากาปิลานี ว่าแม่ภัททากาปิลานี ทรัพย์ที่เธอนำเอามาเมื่อจะมาเรือนนี้จำนวนห้าหมื่นห้าพันเล่มเกวียนนั่น กับทรัพย์ของเรา ๘๗ โกฎิ ในเรือนนี้ และสมบัติอื่นๆ ทั้งหมด เราขอมอบแก่เธอ เราจะออกบวช นางภัททากาปิลานีจึงกล่าวว่า เราก็จะบวชเช่นกัน คนทั้งสองนั้นให้คนรับใช้นำผ้ากาสายะ และบาตรดินมาจากตลาด ต่างปลงผมให้กันและกัน แล้วสอดบาตรลงในถุงคล้องที่ไหล่ลงจากปราสาท บรรดาทาสหรือกรรมกรทั้งหลายในเรือนก็ไม่มีใครจำได้

    ครั้งนั้น ชนหมู่บ้านทาส จำคนทั้งสองนั้นซึ่งกำลังเดินออกไปทางประตูบ้านทาสได้ ชนเหล่านั้นจึงร้องไห้แล้วหมอบลงที่เท้าของคนทั้งสองแล้วกล่าวว่า นายท่าน ท่านจะทำให้พวกข้าพเจ้าไร้ที่พึ่งหรือ คนทั้งสองกล่าวว่า พวกท่านเท่านั้น จงเป็นไท แก่ตัวแล้วเลี้ยงชีวิตอยู่เถิด เมื่อชาวบ้านทาสเหล่านั้นคร่ำครวญอยู่นั่นแหละ คนทั้งสองก็เดินหลีกไป พระเถระเดินไปข้างหน้าหันกลับมาแลดู พลางคิดว่าภัททากาปิลานีนี้ เป็นหญิง เดินมาข้างหลังเรา คนอื่นๆ จะคิดว่า เรานี้แม้บวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน เป็นการไม่สมควรดังนี้ และพิจารณาว่า ถ้ามีใครๆ คิดต่อเราในทางร้ายเช่นนี้ก็จะเป็นบาปเป็นโทษแก่คนเหล่านั้น เราควรที่จะแยกทางไปจากนางเสีย
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ แยกกันเดินทางที่ทางสองแพร่ง

    พระเถระเดินไปข้างหน้าเห็นทาง ๒ แพร่ง จึงได้หยุดอยู่ที่ปากทางนั้น ฝ่ายนางภัททากาปิลานีเมื่อเดินมาถึงแล้วจึงไหว้แล้วยืนอยู่ พระเถระจึงกล่าวกล่าวกับนางภัททากาปิลานีว่า ถ้ามีผู้เห็นสตรีเช่นเจ้าเดินมาข้างหลังเรา เขาจะคิดว่า เราทั้งสองนี้ถึงบวชแล้วก็ไม่อาจแยกกัน แล้วจะคิดต่อพวกเราในทางร้าย พวกเขาก็จะได้รับบาปรับโทษในอบาย ตรงนี้เป็นทาง ๒ แพร่งท่านจงถือเอาทางสายหนึ่ง ฉันจะไปทางอีกสายหนึ่ง นางภัททากาปิลานีดีด้วยแล้วนางจึงทำประทักษิณ ๓ ครั้ง ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ในที่ทั้ง ๔ แห่ง (คือ ข้างหน้า ข้างหลัง ข้างซ้าย ข้างขวา)

    แล้วกล่าวว่า ความสนิทสนมฐานมิตรซึ่งได้ทำไว้ตลอดกาลนานประมาณแสนกัปจะแตกในวันนี้ แล้วกล่าวว่าท่านมีชาติเบื้องขวา ทางขวาสมควรแก่ท่าน ฉันชื่อว่าเป็นมาตุคาม มีชาติเบื้องซ้าย ทางซ้ายสมควรแก่ฉัน แล้วเดินทางไปทางเบื้องซ้าย ในเวลาที่ท่านทั้งสองนั้นแยกทางกัน มหาปฐพีนี้ได้สะเทือนเลื่อนลั่น เหมือนจะพูดว่า เราสามารถรองรับเขาจักรวาล และเขาสิเนรุได้ แต่ไม่อาจรองรับคุณความดีทั้งสองของพวกท่านได้ ในอากาศมีเสียงเหมือนฟ้าผ่า ภูเขาจักรวาลก็โอนโน้มลง

    ขณะนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประทับนั่งในพระคันธกุฎี ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร ได้สดับเสียงแผ่นดินไหวจึงทรงพระรำพึงว่าแผ่นดินไหวเพื่อใครหนอ ทรงทราบว่า ปิบผลิมาณพ และนางภัททากาปิลานี สละสมบัติแล้วบวชอุทิศเรา แผ่นดินไหวนี้เกิดด้วยกำลังแห่งคุณของคนทั้งสอง เราก็ควรทำการสงเคราะห์คนทั้งสองนี้ จึงเสด็จออกจากพระคันธกุฎี โดยลำพังเพียงพระองค์เดียว ทรงถือบาตรและจีวร ไม่ตรัสเรียกใครๆ ในบรรดาพระมหาสาวก ๘๐ องค์ เสด็จไปต้อนรับสิ้นทาง ๓ คาวุต ประทับนั่งขัดสมาธิที่โคนต้นพหุปุตตกนิโครธ ระหว่างกรุงราชคฤห์กับเมืองนาลันทา ก็เมื่อประทับนั่ง มิได้ประทับนั่งเหมือนพระธรรมดารูปหนึ่ง ทรงแสดงพระองค์เป็นพระพุทธเจ้า เปล่งพระรัศมีออกจากพระวรกายประมาณ ๘๐ ศอก.ดังนั้นในขณะนั้น พระพุทธรัศมีก็ได้พุ่งกระจายออกไปรอบด้าน ทำให้เหมือนเวลาพระจันทร์ และพระอาทิตย์ขึ้นเป็นพันๆ ดวง ทำให้ชายป่าบริเวณนั้นให้มีแสงสว่างขึ้นบนท้องฟ้าระยิบระยับประหนึ่งหมู่ดาว.ธรรมดาต้นนิโครธจะมีลำต้นขาว มีใบเขียว ผลสุกแดง แต่วันนั้น ต้นนิโครธกลับมีกิ่งขาว มีสีเหมือนทอง


    ๐ พระพุทธเจ้าทรงอุปสมบทพระมหากัสสปะ ด้วยวิธีโอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา

    พระมหากัสสปเถระเห็นพระพุทธองค์ประทับอยู่เช่นนั้น ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างสูงสุด คิดว่าท่านผู้นี้จะเป็นพระศาสดาของเรา เราบวชอุทิศพระศาสดาพระองค์นี้ จึงเดินเข้าไปไหว้แล้วกราบทูลปวารณาตนเป็นสาวก ซึ่งในพระอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า เป็นการเข้าถึงด้วยวิธียอมเป็นศิษย์ โดยการกล่าวว่า “ข้าพระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นศาสดาของข้าพระองค์ ข้าพระองค์เป็นสาวก” ๓ ครั้ง การถวายสักการะต่อพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยสาวกผู้มีจิตเลื่อมใสทุ่มเทจิตใจทั้งหมดอย่างนี้ และได้ทำความเคารพอย่างยิ่งปานนี้ เหมือนเช่นที่พระมหากัสสปเถระกระทำต่อพระพุทธองค์นี้ ท่านเปรียบเอาไว้ว่า ถ้าท่านพระมหากัสสปเถระกระทำการเคารพเช่นนี้ต่อผู้อื่นที่มิใช่พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ศีรษะของผู้นั้น “พึงหลุดจากคอ ดุจตาลสุกหล่นฉะนั้น” และอรรถกถาก็อธิบายเพิ่มเติมว่า

    “หากพระมหากัสสปเถระพึงความเคารพ ด้วยจิตเลื่อมใสอย่างยิ่งนี้ ต่อมหาสมุทร.มหาสมุทรจะต้องถึงความเหือดแห้ง ดุจหยาดน้ำที่ใส่ในกระเบื้องร้อน.หากพึงทำความเคารพต่อจักรวาลจักรวาลต้องกระจัดกระจายดุจกำแกลบ หากพึงทำความเคารพต่อเขาสิเนรุ เขาสิเนรุต้องย่อยยับดุจก้อนแป้งที่ถูกกาจิก หากพึงทำความเคารพต่อแผ่นดิน แผ่นดินต้องกระจัดกระจายดุจผุยผงที่ถูกลมหอบมา”

    พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ประทานการอุปสมบทด้วยวิธี โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา แก่พระมหากัสสปเถระด้วยโอวาท ๓ ประการ ดังนี้

    เพราะเหตุนั้นแล กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอาย และความเกรงไว้ในภิกษุทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แหละ กัสสป !

    เพราะเหตุนั้นแล กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่าเราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล, เราเงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

    เพราะเหตุนั้นแล กัสสป ! เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย, เธอพึงศึกษาอย่างนี้แล กัสสป !

    ครั้นประทานแล้วพระพุทธองค์ก็ทรงหลีกไป ด้วยทรงดำริว่า เราจักทำภิกษุนี้ให้เป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตร มีอาสนะเดียวเป็นวัตร พระมหากัสสปเถระ จึงได้สมาทานธุดงค์คุณ ๑๓ ข้อและบำเพ็ญเพียรในการปฏิบัติธรรม เพียง ๗ วันและได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ในเช้าของวันที่ ๘

    ครั้งหนึ่งพระศาสดาเสด็จเดินทางมีพระเถระเป็นปัจฉาสมณะ พระสรีระของพระศาสดาตระการตาด้วยพระมหาปุริสลักษณะ ๓๒ ประการ สรีระของพระมหากัสสปประดับด้วยมหาปุริสลักษณะ ๗ ประการ พระมหากัสสปนั้นเดินตามเสด็จพระศาสดา เหมือนเรือพ่วงไปตามเรือใหญ่สีทอง ฉะนั้น

    พระศาสดาเสด็จเดินทางไปหน่อยหนึ่งแล้วแวะลงข้างทาง แสดงอาการจะประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง พระเถระรู้ว่า พระศาสดามีพระประสงค์จะประทับนั่ง จึงพับผ้าสังฆาฎิอันเป็นผ้าเก่าที่ตนห่มให้เป็น ๔ ชั้น แล้วปูลาดถวาย


    ๐ ทรงประทานจีวรเก่าของพระองค์แก่พระมหากัสสปเถระ

    พระศาสดาประทับนั่งบนผ้าสังฆาฎินั้นแล้วเอาพระหัตถ์ลูบคลำเนื้อผ้าตรัสว่า กัสสป สังฆาฎิอันทำด้วยผ้าเก่าผืนนี้ของเธอนุ่มดี พระเถระรู้ว่า พระศาสดาตรัสถึงสังฆาฎิของเรานุ่ม คงจักประสงค์จะห่ม จึงกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงห่มสังฆาฎิเถิด พระศาสดาตรัสว่า กัสสป เธอจะห่มอะไร ? พระเถระกราบทูลว่า ข้าพระองค์ได้ผ้านุ่งของพระองค์จึงจักห่ม พระศาสดาตรัสว่า กัสสป ก็เธอจักอาจทรงผ้าบังสุกุลที่ใช้จนเก่าผืนนี้อย่างนี้ได้หรือ ด้วยว่ามหาปฐพีได้ไหวจนถึงน้ำรองแผ่นดิน ในวันที่เราซักผ้าบังสุกุลผืนนี้ ธรรมดาว่าจีวรที่เก่าเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าของเราดังกล่าวนี้ สมควรแก่บุคคลผู้บำเพ็ญธุดงค์ในการถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตรมาแต่เดิมเช่นเธอ แล้วทรงเปลี่ยนจีวรกับพระเถระ

    เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระแล้ว ทรงห่มจีวรที่พระเถระห่มแล้ว พระเถระห่มจีวรของพระศาสดา ในขณะนั้น มหาปฐพีนี้ก็ไหวขึ้นด้วยเหตุที่ว่า ไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

    จีวรของพระมหาเถระนั้น อรรถกถากล่าวว่า

    “จีวรนี้ที่เราห่ม ทาสีชื่อปุณณะทิ้งไว้ในป่าช้าผีดิบ เราเข้าไปสู่ป่าช้านั้นอันมีตัวสัตว์กระจายอยู่ ประมาณทะนานหนึ่ง กำจัดตัวสัตว์เหล่านั้นแล้ว ตั้งอยู่ในมหาอริยวงศ์ ถือเอา.ในวันที่เราถือเอาจีวรนี้ มหาปฐพีในหมื่นจักรวาลส่งเสียงสั่นสะเทือน อากาศนั้นส่งเสียง ตฏะ ตฏะ เทวดาในจักรวาลได้ให้สาธุการว่า ภิกษุผู้ถือเอาจีวรนี้ ควรเป็นผู้ทรงผ้าบังสุกุลเป็นวัตรตามธรรมชาติ นั่งอาสนะเดียวเป็นวัตรตามธรรมชาติ เที่ยวไปตามลำดับตรอกเป็นวัตรตามธรรมชาติ ท่านจักอาจทำให้สมควรแก่จีวรนี้ได้ ดังนี้”

    ต่อมาได้ทรงสถาปนาพระเถระไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะด้วยพระดำรัสว่า มหากัสสปเป็นยอดของภิกษุทั้งหลายผู้ถือธุดงค์และสอนเรื่องธุดงค์ ในศาสนาของเราดังนี้แล


    ๐ พระมหากัสสปเถระกับการบัญญัติพระวินัยบางข้อ

    ในการบัญญัติพระวินัยของพระพุทธองค์นั้น จะทรงบัญญัติขึ้นก็ต่อเมื่อมีเหตุให้ทรงต้องบัญญัติ จะไม่ทรงบัญญัติโดยไม่มีเหตุ พระวินัยที่ทรงบัญญัติขึ้นนั้น หลายข้อก็มีเหตุเกี่ยวเนื่องกับพระมหากัสสปเถระดังนี้


    ๐ อุปสมบทกรรม สวดอุปสัมปทาเปกขะระบุโคตร

    ครั้งหนึ่ง มีผู้ประสงค์จะบวชในสำนักของท่านพระมหากัสสป ท่านพระมหากัสสปจึงส่งทูตไปยังสำนักท่านพระอานนท์เพื่ออาราธนาท่านพระอานนท์ให้มาสวดอุปสัมปทาเปกขะ ซึ่งการสวดอุปสัมปทาเปกขะนี้ผู้สวดจะต้องระบุนามของพระอุปัชฌาย์ ท่านพระอานนท์จึงตอบปฏิเสธไปเนื่องจากท่านไม่สามารถจะระบุนามของพระมหากัสสปได้ เพราะพระมหากัสสปเป็นที่เคารพของท่าน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงตรัสอนุญาตให้สวดระบุโคตรแทนการระบุนามได้


    ๐ อุปสมบทคู่

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมีผู้ประสงค์จะบวชอยู่ ๒ คน ทั้งสองแก่งแย่งกันเพื่ออุปสมบทก่อน ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูล เรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตให้ทำการอุปสมบทภิกษุ ๒ รูปในอนุสาวนาเดียวกัน


    ๐ พระมหากัสสปเถระเดินทางไปทำอุโบสถ

    สมัยหนึ่ง ท่านพระมหากัสสปมาจากอันธกวินทวิหาร สู่พระนครราชคฤห์ เพื่อทำอุโบสถ ในระหว่างทางข้ามแม่น้ำเชี่ยวท่านเกือบถูกน้ำพัดไป จีวรของท่านเปียก ภิกษุทั้งหลายจึงถามท่าน ท่านจึงเล่าเรื่องดังกล่าวให้ฟัง ภิกษุทั้งหลาย จึงกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคจึงทรงบัญญัติพระวินัยว่า สีมานั้นใดอันสงฆ์สมมติไว้แล้วให้มีสังวาสเสมอกัน มีอุโบสถเดียวกัน สงฆ์จงสมมติสีมานั้น ให้เป็นแดนไม่อยู่ปราศจากไตรจีวร


    ๐ พระพุทธานุญาตการเย็บดามผ้าด้วยด้าย

    สมัยหนึ่ง ผ้าอุตราสงค์ที่ทำด้วยผ้าบังสุกุล ของท่านพระมหากัสสปเป็นของหนัก ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค จึงทรงอนุญาตให้ทำการเย็บดามด้วยด้าย
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๖ เรื่องภิกษุชาวรัฐอาฬวี

    สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวัน อันเป็นสถานที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต เขตพระนครราชคฤห์ ครั้งนั้นภิกษุทั้งหลายชาวรัฐอาฬวี สร้างกุฎีซึ่งมีขนาดใหญ่ไม่มีกำหนด (ในขณะนั้นยังไม่มีพุทธบัญญัติเรื่องขนาดของกุฎี) กุฎีเหล่านั้นจึงไม่สำเร็จ พวกภิกษุเหล่านั้นจึงต้องมีการวิงวอน มีการขอเขาอยู่ร่ำไป ประชาชนที่ถูกเบียดเบียนด้วยการวิงวอนด้วยการขอ พอเห็นภิกษุทั้งหลายแล้ว หวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หนีไปเสียบ้าง เดินเลี่ยงไปเสียทางอื่นบ้าง เมินหน้าเสียบ้าง ปิดประตู เสียบ้าง แม้พบแม่โคเข้าก็หนี สำคัญว่าพวกภิกษุ

    ครั้งนั้น ท่านพระมหากัสสปจำพรรษาอยู่ในพระนครราชคฤห์ แล้วออกเดินทางมุ่งไปรัฐอาฬวี เที่ยวจาริกไปโดยลำดับถึงรัฐอาฬวีแล้ว พักอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ครั้นเวลาเช้า ท่านพระมหากัสสปเข้าไปบิณฑบาต ในรัฐอาฬวี ประชาชนเห็นท่านพระมหากัสสปแล้วหวาดบ้าง สะดุ้งบ้าง หลบหนีไปบ้าง เดินเลี่ยงไปทางอื่นบ้าง เมินหน้าบ้าง ปิดประตูบ้านบ้าง ครั้นท่านกลับจากบิณฑบาตแล้ว เรียกภิกษุทั้งหลายมาถามถึงเหตุดังกล่าว ภิกษุจึงกราบเรียนเรื่องนั้นให้ท่านพระมหากัสสปทราบ

    ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จจาริกไปถึงรัฐอาฬวีแล้ว ประทับอยู่ที่อัคคาฬวเจดีย์ในรัฐอาฬวีนั้น ท่านพระมหากัสสปจึงเข้าไปเฝ้า แล้วได้กราบทูลเนื้อความนั้นแด่พระผู้มีพระภาค


    ๐ ประชุมสงฆ์ทรงบัญญัติสิกขาบท

    ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งให้ประชุมภิกษุสงฆ์ แล้วทรงสอบถามภิกษุชาวรัฐอาฬวี ถึงเหตุดังกล่าวว่าจริงหรือไม่ ภิกษุชาวรัฐอาฬวีเหล่านั้นทูลรับว่า จริง พระพุทธเจ้าข้า

    พระผู้มีพระภาคพุทธเจ้าทรงติเตียนว่า การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เหมาะ ไม่สม ไม่ควร ไม่ใช่กิจของสมณะ ใช้ไม่ได้ ไม่ควรทำ การกระทำของพวกเธอนั่น ไม่เป็นไป เพื่อความเลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส หรือเพื่อความเลื่อมใสยิ่งของชุมชนที่เลื่อมใสแล้ว โดยที่แท้ การกระทำของพวกเธอนั่นเป็นไปเพื่อความไม่เลื่อมใสของชุมชนที่ยังไม่เลื่อมใส และเพื่อความเป็นอย่างอื่น ของชนบางพวกที่เลื่อมใสแล้ว

    ครั้นพระผู้มีพระภาค ทรงติเตียนภิกษุชาวรัฐอาฬวีโดยอเนกปริยายดั่งนี้ แล้วตรัสโทษแห่งความเป็นคนเลี้ยงยาก ความเป็นคนบำรุงยาก ความเป็นคนมักมาก ความเป็นคนไม่สันโดษ ความคลุกคลี ความเกียจคร้าน ตรัสคุณแห่งความเป็นคนเลี้ยงง่าย ความเป็นคนบำรุงง่าย ความมักน้อย ความสันโดษ ความขัดเกลา ความกำจัด อาการที่น่าเลื่อมใส การไม่สะสม การปรารภความเพียร โดยอเนกปริยายแล้ว จึงทรงบัญญัติพระวินัยไว้ดังนี้


    ๐ พระบัญญัติ

    อนึ่ง ภิกษุผู้จะสร้างกุฎีอันหาเจ้าของมิได้ เฉพาะตนเอง ด้วยอาการ ขอเอาเอง พึงสร้างให้ได้ประมาณ ประมาณในการสร้างกุฎีนั้นดังนี้ โดยยาว ๑๒ คืบ โดยกว้างในร่วมใน ๗ คืบ ด้วยคืบสุคต พึงนำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ ภิกษุเหล่านั้นพึงแสดงที่อันไม่มีผู้จองไว้ อันมีชานรอบ หากภิกษุสร้างกุฎีด้วยอาการขอเอาเอง ในที่อันมีผู้จองไว้ อันหาชานรอบมิได้ หรือไม่นำภิกษุทั้งหลายไปเพื่อแสดงที่ หรือสร้างให้ล่วงประมาณเป็นสังฆาทิเสส ดังนี้


    ๐ พระเกียรติคุณของท่านพระมหากัสสปเถระ

    พระมหากัสสปะเถระ ได้รับการยกย่องให้เป็นพระเถระชั้นผู้ใหญ่ของพระพุทธองค์ ว่าโดยลำดับแล้วก็จัดอยู่ในลำดับที่สามของหมู่พระมหาสาวก รองจากพระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ ซึ่งเป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาและเบื้องซ้าย สมดังที่ท่านได้รับพุทธพยากรณ์จากพระปทุมุตตระพุทธเจ้า ท่านจะเป็นพระสาวกที่ ๓ ของพระโคดมพุทธเจ้า แต่ในทางปฏิบัติในสมัยพุทธกาลนั้น พระอัครสาวกทั้งสองต่างก็ได้นิพพานไปก่อนพระพุทธองค์ทั้งสิ้น ส่วนพระมหากัสสปะมีอายุยืนต่อมาหลังพุทธปรินิพพาน จึงนับได้ว่าท่านเป็นประธานของเหล่าภิกษุหลังพุทธปรินิพพาน

    ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์เป็นอันมาก รวมทั้งการสถาปนาเป็นเอตทัคคะ เป็นยอดของภิกษุผู้ทรงธุดงค์ ๑๓ ซึ่งตามอรรถกถาได้กล่าวไว้ว่า โดยปกติมหาสาวกผู้จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเอตทัคคะทางด้านใดด้านหนึ่งนั้น ก็ย่อมจะต้องได้มาด้วยเหตุ ๔ ประการคือ ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง ๒.โดยการมาก่อน ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ และ ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ในเหตุ ๔ อย่างนั้น พระเถระบางรูปย่อมได้ตำแหน่งเอตทัคคะ โดยเหตุอย่างเดียว บางรูปได้โดยเหตุ ๒ อย่าง บางรูปได้โดยเหตุ ๓ อย่าง บางรูปได้ด้วยเหตุทั้ง ๔ อย่าง ท่านพระมหากัสสปเถระก็เป็นท่านหนึ่งที่ได้ตำแหน่งดังกล่าวด้วยเหตุครบทั้ง ๔ อย่าง

    ๑. โดยเหตุเกิดเรื่อง เรื่องที่เป็นเหตุก็คือเรื่องพระศาสดาทรงทรงเปลี่ยนจีวรกับพระมหาเถระ ด้วยทรงพิจารณาว่า อันว่าจีวรที่เก่าเนื่องเพราะใช้ของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนี้ ถึงเก่าแล้วคนที่มีคุณเพียงนิดหน่อยไม่อาจครองได้ จีวรเก่าดังกล่าวนี้ เฉพาะบุคคลผู้อาจสามารถในการบำเพ็ญข้อปฏิบัติ ผู้ถือผ้าบังสุกุลมาแต่เดิม เช่นพระมหาเถระจึงจะควรรับเอา และไม่เคยมีการประทานจีวรที่ทรงห่มแล้วแก่พระสาวกองค์ใดเลย

    ๒. โดยการมาก่อน ก็คือ ท่านพระเถระนี้มิใช่เป็นผู้ทรงธุดงคคุณมาก แต่ในปัจจุบันเท่านั้น ถึงในอดีต แม้ท่านบวชเป็นฤาษี ท่านก็เป็นผู้บำเพ็ญบารมีในทางทรงธุดงคคุณมากมาถึง ๕๐๐ ชาติ

    ๓. โดยเป็นผู้ช่ำชองชำนาญ ก็คือ เมื่อท่านอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔ เมื่อแสดงธรรมย่อมไม่ละเว้นที่จะแสดงกถาวัตถุ ๑๐ ซึ่งเป็นธรรมที่ชักนำให้พุทธบริษัท มีความปรารถนาน้อย มีความสันโดษ มีความสงัดกาย สงัดใจ ชักนำให้ไม่คลุกคลีด้วยหมู่ ชักนำให้ปรารภความเพียร ฯลฯ ซึ่งเป็นคุณของการทรงธุดงควัตรทั้งสิ้น

    ๔. โดยเป็นผู้ยิ่งด้วยคุณ ก็คือ เว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสีย สาวกอื่นผู้เสมอเหมือนพระมหากัสสปะ ด้วยธุดงคคุณ ๑๓ ไม่มี เพราะฉะนั้นพระเถระได้โดยยิ่งด้วยคุณอย่างนี้

    นอกจากจะได้รับการสถาปนาเป็นเอตทัคคะแล้ว ท่านยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์อีกหลายประการ ดังที่ท่านได้ปรารภเมื่อครั้งสุภัททะภิกษุกล่าวจาบจ้วงพระพุทธองค์เมื่อทราบข่าวการเสด็จดับขันธปรินิพพาน และปรารถนาจะกระทำสังคายนาว่า

    “ทรงยกย่องเราเป็นกายสักขี (มีวิหารธรรมเสมอด้วยพระองค์) ทรงมอบความเป็นสกลศาสนทายาท ๓ ครั้ง” (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค เล่ม ๒ ภาค ๑)

    ตัวเราอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนกัสสปะ เธอจักห่มได้หรือไม่ ซึ่งผ้าป่านบังสุกุลที่ใช้เก่าแล้วของเรา ดังนี้ ทรงอนุเคราะห์ด้วยสาธารณบริโภคในจีวร และด้วยการสถาปนาไว้เสมอกับพระองค์ในธรรมอันยิ่งของมนุษย์ ต่างโดยอนุปุพพวิหาร ๙ และอภิญญา ๖ เป็นต้น โดยนัยเป็นต้นอย่างนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราต้องการสงัดจากกาม ทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงใด ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย แม้กัสสปะต้องการสงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรม ทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌานอยู่เพียงนั้น ดังนี้ (พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑)

    ยิ่งกว่านั้นยังสรรเสริญด้วยความเป็นผู้มีจิตไม่ติดอยู่ในตระกูล เหมือนสั่นมือในอากาศ และด้วยปฏิปทาเปรียบด้วยพระจันทร์ ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กัสสปะเปรียบเหมือนดวงจันทร์ เข้าไปหาตระกูล ไม่คะนองกายไม่คะนองจิต เป็นผู้ใหม่เป็นนิตย์ ไม่ทะนงตัวในตระกูล” (พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔)

    และในพระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๔ พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พราหมณ์ว่า

    “ในหมู่มนุษย์ทั้งปวง ผู้ใดเป็นกษัตริย์ หรือเป็นพราหมณ์สืบวงศ์ตระกูลมาเป็นลำดับๆ ตั้ง ๑๐๐ ชาติ ถึงพร้อมด้วยไตรเพท ถึงแม้จะเป็นผู้เล่าเรียนมนต์ เป็นผู้ถึงฝั่งแห่งเวท ๓ การกราบไหว้ผู้นั้นแม้บ่อยๆ ย่อมไม่ถึงเสี้ยวที่ ๑๖ ซึ่งจำแนกออก ๑๖ ครั้ง ของบุญที่ไหว้พระกัสสปะนี้เพียงครั้งเดียวเลย”
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ โปรดหญิงถวายข้าวตอก

    ความพิสดารว่า ครั้งหนึ่งท่านพระมหากัสสป อยู่ที่ปิปผลิคูหา เข้าฌานแล้ว ออกในวันที่ ๗ เมื่อออกจากฌานแล้วท่านได้พิจารณาด้วยทิพยจักษุเพื่อพิจารณาบุคคลที่ควรโปรด เห็นหญิงรักษานาข้าวสาลีคนหนึ่ง เด็ดรวงข้าวสาลีทำข้าวตอกอยู่ ท่านได้เห็นว่าหญิงนี้มีศรัทธาจึงได้เดินทางไปโปรด นางกุลธิดาพอเห็นพระเถระก็มีจิตเลื่อมใส จึงได้นำข้าวตอกไปถวายพระเถระแล้ว ไหว้ด้วยเบญจางคประดิษฐ์ และได้ทำความปรารถนา ขอเป็นผู้มีส่วนแห่งธรรมที่ท่านเห็นแล้ว

    ในระหว่างนางเดินทางกลับนางได้นึกถึงทานที่ตนได้ถวายไปเกิดจิตเป็นกุศลอยู่ แต่บนทางที่นางเดินทางกลับนั้น นางได้ถูกงูพิษร้ายกัด และถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นเอง

    ด้วยจิตอันเป็นกุศลก่อนที่จะตาย นางจึงได้ไปเกิดในวิมานทอง ในภพดาวดึงส์ ประดับเครื่องอลังการ แวดล้อมด้วยนางอัปสรตั้งพัน ที่ประตูวิมานอันประดับด้วยขันทองคำ เต็มไปด้วยข้าวตอกทองคำห้อยระย้าอยู่

    นางเทพธิดานั้นต้องการจะทราบว่าตนทำกรรมเช่นไรจึงได้สมบัตินี้ เมื่อพิจารณาด้วยทิพยจักษุแล้วจึงได้รู้ว่า สมบัตินี้ได้มาเพราะผลแห่งข้าวตอกที่ถวายพระมหากัสสปเถระนางจึงคิดว่า สมบัติที่นางได้เช่นนี้เป็นเพราะได้กระทำกรรมไว้เพียงนิดหน่อย นางไม่ควรประมาท,ควรจะกระทำการปฏิบัติแก่พระพระมหาเถระนั้นเพื่อทำสมบัตินั้นให้ถาวร

    นางจึงไปยังที่พักของพระมหาเถระ แล้วไปปัดกวาดบริเวณของพระเถระ แล้วตั้งน้ำฉันน้ำใช้ไว้แต่เช้าตรู่ พระเถระเห็นเช่นนั้น สำคัญว่าภิกษุหนุ่มหรือสามเณรบางรูปทำให้ท่าน ในวันรุ่งขึ้นนางก็ได้ทำเช่นเดียวกันอีก ฝ่ายพระเถระก็เข้าใจเช่นเดิม จนกระทั่งในวันที่ ๓ พระเถระได้ยินเสียงไม้กวาดของนางและเห็นรัศมีของนางฉายเข้าไปทางช่องลูกดาล จึงเปิดประตูออกมา ถามว่า “นั่นใคร ?”

    นางเทพธิดาจึงตอบแล้วเล่าเรื่องความประสงค์ของตนให้พระเถระฟัง

    พระเถระจึงห้ามมิให้นางกระทำต่อไป เพื่อมิให้ มีผู้กล่าวในอนาคตว่า มีนางเทพธิดามาทำวัตรปฏิบัติ เข้าไปตั้งน้ำฉันน้ำใช้ เพื่อพระมหากัสสปเถระ

    นางเทพธิดาจึงอ้อนวอนในความประสงค์ของตนซ้ำแล้วซ้ำอีก

    พระเถระเห็นว่านางเทวธิดาดื้อดึงไม่ยอมฟังถ้อยคำ จึงปรบมือขึ้น

    ด้วยเสียงปรบมือขับไล่ของพระมหาเถระดังกล่าว นางเทพธิดาไม่อาจอยู่ในที่นั้นได้ จึงเหาะขึ้นในอากาศ ยืนประนมมือร้องไห้ คร่ำครวญอยู่

    พระศาสดา ประทับนั่งในพระคันธกุฎี ทรงสดับเสียงนางเทวธิดานั้นร้องไห้ จึงทรงแผ่พระรัศมีดุจประทับนั่งตรัสอยู่ในที่หน้านางเทวธิดา ตรัสว่า

    “เทวธิดา การทำความสังวร (ในสมณจริยา) เป็นหน้าที่ของกัสสปผู้บุตรของเรา, แต่การกำหนดว่า ‘นี้เป็นประโยชน์ของเรา แล้วมุ่งกระทำแต่บุญ ย่อมเป็นหน้าที่ของผู้ที่ต้องการบุญ เพราะว่าการทำบุญทำให้เกิดสุขแต่อย่างเดียว ทั้งในภพนี้ ทั้งในภพหน้า” ดังนี้

    ในกาลจบเทศนาของพระพุทธองค์ นางเทพธิดานั้น จึงได้บรรลุโสดาปัตติผล


    ๐ โปรดท้าวสักกเทวราช นางอัปสรอยากทำบุญแต่ไม่สมหวัง

    วันหนึ่ง พระมหากัสสปเถระได้เข้านิโรธสมาบัติ เป็นเวลา ๗ วัน เมื่อท่านออกจากสมาบัติแล้ว จึงดำริที่จะออกเที่ยวบิณฑบาต ตามลำดับตรอก ในกรุงราชคฤห์ เพื่อโปรดคนยากไร้ ด้วยเหตุว่าการถวายทานแด่พระภิกษุที่ออกจากสมาบัตินั้นจะได้รับผลบุญทันตาเห็น ในสมัยนั้น นางอัปสรประมาณ ๕๐๐ ผู้เป็นบริจาริกา ของพระอินทร์ เกิดความปรารถนาที่จะได้บุญเช่นนั้น จึงตระเตรียมบิณฑบาต ๕๐๐ ที่ แล้วถือมายืนอยู่ในระหว่างทาง กล่าวนิมนต์ท่านพระมหากัสสปเถระ พระเถระได้ปฏิเสธโดยกล่าวว่าท่านประสงค์จะสงเคราะห์แก่คนเข็ญใจ

    เหล่านางเทพธิดาจึงได้อ้อนวอนอีก พระเถระเห็นว่านางเทพธิดาดื้อดึงจึงดีดนิ้ว ไล่นางเทพธิดาเหล่านั้นใหไปเสีย นางเทพธิดาเหล่านั้นเหล่านั้น เมื่อพระเถระดีดนิ้วไล่ก็ไม่อาจอยู่ได้ จึงเหาะกลับไปยังเทวโลกตามเดิม ท้าวสักกะจึงตรัสถาม นางเทพธิดาก็เล่าเนื้อความให้แก่ท้าวสักกะฟัง

    ท้าวสักกะแปลงตัวทำบุญแก่พระเถระ

    ท้าวสักกะได้ฟังดังนั้นก็มีประสงค์จะถวายบิณฑบาตแด่พระเถระด้วยพระองค์เอง จึงแปลงเป็นคนแก่ ฟันหัก ผมหงอก หลังโกง เป็น ช่างหูกผู้เฒ่า และทรงให้นางสุชาดาผู้เทพธิดา แปลงร่างเป็นหญิงแก่ เช่นเดียวกัน แล้วทรงนิรมิตถนนช่างหูกขึ้นสายหนึ่ง แล้วท้าวสักกกะก็ประทับขึงหูกอยู่

    ฝ่ายพระเถระ เดินบ่ายหน้าเข้าเมือง ด้วยปรารถนาจะทำความสงเคราะห์พวกเข็ญใจ เห็นถนนสายนั้น นอกเมืองท่านก็ได้เห็นคนชรา ๒ คน ซึ่งก็คือท้าวสักกะแปลงร่างกำลังขึงหูก นางสุชาดากำลังกรอหลอดด้าย พระเถระคิดว่า ผู้ชราสองคนนี้ แม้ในเวลาแก่เฒ่าก็ยังต้องทำงาน ในเมืองนี้เห็นจะหาผู้ที่เข็ญใจกว่าสองคนนี้คงจะไม่มี เราจักรับบิณฑบาตที่สองคนนี้ถวายแล้ว ทำความสงเคราะห์แก่คนสองคนนี้ ท่านคิดดังนั้นแล้วจึงบ่ายหน้าตรงไปยังเรือนของคนทั้งสองนั้นแล

    ท้าวสักกะ ทอดพระเนตรเห็นพระเถระเดินมา จึงตรัสอุบายกับนางสุชาดาว่า “พระเถระเดินมาทางนี้ เธอจงนั่งทำเป็นเหมือนไม่เห็นท่านเสีย ฉันจะลวงท่านสักครู่หนึ่ง แล้วจึงถวายบิณฑบาตครั้นพระเถระได้มายืนอยู่ที่ประตูเรือนของสองตายายแล้ว สองผัวเมียนั้นก็ทำเป็นเหมือนไม่เห็น ทำแต่การงานของตนไปเรื่อย เมื่อรอคอยอยู่ครู่หนึ่งแล้ว ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ที่ประตูเรือนดูเหมือนมีพระเถระยืนอยู่รูปหนึ่ง เธอไปดูซิ”

    นางสุชาดาตอบว่า “ท่านจงไปตรวจดูเถอะ” ท้าวเธอจึงเสด็จออกจากเรือนแล้ว ทรงไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์แล้ว เอาพระหัตถ์ทั้งสองยันพระชานุ แล้วถอนใจ เสด็จลุกขึ้น ย่อพระองค์ลงหน่อยหนึ่ง ตรัสว่า “พระผู้เป็นเจ้า เป็นพระเถระรูปไหนหนอ ? แล้วตรัสว่า “ตาของผม มองไม่ค่อยเห็น”

    แล้วทรงเอามือป้องหน้าแหงนดูแล้ว ตรัสว่า “โอ ตายจริง ! เป็นพระมหากัสสปเถระของเรา นานๆ จึงมายังประตูกระท่อมของเรา มีอะไรอยู่ ในเรือนบ้างไหม ?” นางสุชาดาทำเป็นกุลีกุจออยู่หน่อยหนึ่งแล้วตอบว่า “มีจ๊ะ”

    ท้าวสักกะจึงตรัสว่า “ท่านเจ้าข้า พระคุณเจ้า โปรดทำความสงเคราะห์ แก่กระผมทั้งสองเถิด” แล้วก็ทรงรับบาตรไว้ พระเถระคิดว่า “แม้อาหารที่สองผัวเมียนั่นถวาย จะเป็นน้ำผักดองหรือรำกำมือหนึ่งก็ตามที เราก็จะทำความสงเคราะห์แก่สองผัวเมียนั้น” ดังนี้แล้ว จึงได้ให้บาตรไป ท้าวสักกะนั้น เสด็จเข้าไปภายในเรือนแล้ว ทรงคดข้าวสุกออกจากหม้อ ใส่จนเต็มบาตรแล้ว มอบถวายในมือพระเถระ บิณฑบาตนั้นได้มีอาหารมากมายส่งกลิ่นหอมตลบทั่วกรุงราชคฤห์แล้ว

    ท้าวสักกะตรัสบอกความจริงแก่พระเถระ

    พระเถระเห็นดังนั้นก็คิดว่า “ภัตตาหารที่เฒ่าเข็ญใจนี้ถวายแก่เรา มีประมาณราวกับโภชนะของท้าวสักกะ เฒ่านี้เป็นใครกัน ?” พระเถระพิจารณาด้วยญาณแล้วจึงทราบว่าเฒ่านั้นก็คือท้าวสักกะนั่นเอง ท่านจึงกล่าวว่า “พระองค์ทรงกระทำเช่นนี้ เหมือนแย่งสมบัติจากคนเข็ญใจ จัดว่าท่านได้ทำกรรมหนักแล้ว ท่านเองก็ทราบว่าใครๆ ก็ตาม ที่เป็นคนเข็ญใจ ถวายทานแก่อาตมภาพในวันนี้ เขาได้ตำแหน่งเสนาบดี หรือตำแหน่งเศรษฐี”

    ท้าวสักกะจึงตอบว่า ผู้ที่เข็ญใจไปกว่ากระผม ไม่มีเลย ขอรับ

    พระเถระจึงถามว่า พระองค์เสวยสิริราชสมบัติในเทวโลก จะจัดว่าเป็นคน เข็ญใจ ได้อย่างไร ?

    ท้าวสักกะตอบว่า อย่างที่พระผู้เป็นเจ้าว่า ก็ถูกละ ขอรับ แต่ในสวรรค์ยังมีเทพบุตรผู้มีศักดิ์เสมอกัน ๓ องค์เหล่านี้ คือ จูฬรถเทพบุตร มหารถเทพบุตร อเนกวัณณเทพ ทั้ง ๓ องค์นี้ มีเดชมากกว่ากระผม เมื่อเทพบุตรทั้งสามนั้น พาพวกบริจาริกาออกมานอกวิมานเพื่อเล่นนักขัตฤกษ์’ กระผมก็ต้องหนีเข้าตำหนัก เพราะสู้รัศมีของเทพบุตรทั้งสามนั้นมิได้ ใครจะเข็ญใจกว่ากระผมเล่า ? ขอรับ

    พระเถระกล่าวว่า ถึงจะเป็นอย่างนั้นก็เถิด ตั้งแต่นี้ต่อไป พระองค์อย่าได้ลวงถวายทานแก่อาตมภาพอย่างนี้อีก

    ท้าวสักกะถามว่า เมื่อกระผมลวงถวายทานแก่ท่านเช่นนี้ กุศลกรรมจะมีแก่กระผมหรือ ไม่มีขอรับ ?

    พระเถระตอบว่า มี พระองค์

    ท้าวสักกะตอบว่า เมื่อพวกกระผมปรารถนาบุญ การทำกุศลกรรมก็จัดเป็นหน้าที่ของกระผม

    ท้าวเธอตรัสอย่างนั้นแล้ว ทรงไหว้พระเถระ พานางสุชาดา ทรงทำปทักษิณพระเถระแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส ทรงเปล่งอุทานว่า

    “โอ ทานที่เป็นทานอย่างเยี่ยม เราได้ตั้งไว้ดีแล้วในทานพระกัสสป”


    ๐ โปรดภรรยานายกาฬวฬิยะ

    ครั้งหนึ่งในพระนครราชคฤห์นั้น มีคนเข็ญใจคนหนึ่ง ชื่อว่า กาฬวฬิยะ ในขณะที่ภรรยาของเขากำลังหุงข้าวยาคูกับผักดองอยู่นั้น พระมหากัสสปเถระก็ออกจากนิโรธสมาบัติ แล้วพิจารณาเพื่อที่จะหาผู้ที่สมควรจะเคราะห์ พิจารณาแล้วเห็นภรรยาของนายกาฬวฬิยะเป็นผู้ที่สมควรจะสงเคราะห์ จึงได้ไปยืนที่ประตูบ้านเพื่อบิณฑบาต นางรับบาตรจากพระเถระมาแล้วใส่ข้าวยาคูทั้งหมดลงในบาตรนั้นแล้วถวายพระเถระ พระเถระไปยังพระวิหารแล้วน้อมถวายภัตตาหารนั้นแด่พระศาสดา พระศาสดาทรงรับเอาแต่พอสำหรับพระองค์.ด้วยเดชของพระพุทธองค์ข้าวยาคูที่เหลือก็เพียงพอสำหรับพระภิกษุ ๕๐๐ รูป

    พระมหากัสสปทูลถามวิบากของนายกาฬวฬิยะต่อพระศาสดา พระศาสดาทรงพยากรณ์ว่า ในวันที่ ๗ แต่วันนี้ไป เขาจักได้ฉัตรเศรษฐี นายกาฬวฬิยะได้ฟังพระดำรัสนั้นแล้วไปบอกภรรยา

    ครั้งนั้น พระราชาเสด็จเลียบพระนครนอกเมือง ได้ทอดพระเนตรเห็นบุรุษนั่งอยู่บนที่สำหรับประหารชีวิตนอกพระนคร นักโทษนั้นเห็นพระราชา จึงร้องตะโกน ทูลว่า ข้าแต่สมมติเทพ ขอพระองค์ได้โปรดส่งอาหารที่พระองค์เสวยมาให้ข้าพระองค์ เถิดพระเจ้าข้า พระราชารัปว่าจะส่งมาให้

    ครั้นตกเย็น ระหว่างพวกวิเสทเตรียมพระกระยาหารตอนเย็น พระราชาทรงระลึกสิ่งที่รับปากกับนักโทษนั้นขึ้นมาได้ จึงตรัสว่า พวกเจ้าจงหาคนที่อาสาจะนำอาหารนี้ไปให้นักโทษ ด้วยเหตุที่ระหว่างทางที่จะไปยังตะแลงแกงนั้นจะต้องผ่านที่อยู่ของยักษ์ ชื่อทีฆตาละ พวกราชบุรุษเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งเที่ยว ป่าวร้อง หาผู้สามารถในพระนคร ในการป่าวร้องครั้งที่ ๓ ภรรยาของนายกาฬวฬิยะจึงอาสา เนื่องจากต้องการทรัพย์นั้น และได้รับเอาห่อทรัพย์พันหนึ่งไป แล้วนางจึงปลอมตัวเป็นชาย ผูกสอดอาวุธ ๕ ประการ ถือถาดอาหารออกจากพระนครไป

    ระหว่างทางที่ผ่านที่อยู่ของยักษ์ ชื่อทีฆตาละที่สิงสถิตย์อยู่ที่ต้นตาลนอกพระนคร ยักษ์เห็นนางเดินผ่านโคนไม้ไปจึงกล่าวว่า “หยุด หยุด เจ้าจงมาเป็นอาหารของเรา”

    นางจึงตอบว่า “เราไม่ได้เป็นอาหารของท่าน เราเป็นราชทูตแห่งพระราชา”

    ยักษ์ถามว่า “เจ้าจะไปไหน ?”

    นางตอบว่า “เราจะไปยังตะแลงแกงที่นักโทษรอประหารชีวิต”

    ยักษ์ถามว่า “ถ้าเช่นนั้น เจ้าสามารถนำข่าวของเราไปประกาศสักข่าวหนึ่งได้ไหม ?”

    นางตอบว่า “ได้สิ”

    ยักษ์กล่าวว่า “เจ้าพึงประกาศดังนี้ว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์คลอดบุตรเป็นชายแล้ว และที่โคนตาลต้นนี้ มีขุมทรัพย์อยู่ ๗ ขุม เจ้าจงเอาขุมทรัพย์นั้นไปเป็นของเจ้า”

    นางจึงได้ไปป่าวร้องว่า นางกาฬีธิดาของเจ้าสุมนเทพ ผู้เป็นภริยาของทีฆตาลยักษ์ คลอดบุตรเป็นชายแล้วดังที่รับปาก

    ฝ่ายเจ้าสุมนเทพซึ่งนั่งอยู่ในยักขสมาคมได้ยินข่าวนั้น จึงกล่าวว่า มนุษย์คนหนึ่งนำข่าวอันน่ายินดีของพวกเรามาป่าวร้อง พวกเราจงไปนำเขามา

    เมื่อนางได้แจ้งข่าวนั้นแก่เจ้าสุมนเทพ เจ้าสุมนเทพได้ยินดังนั้นแล้ว ก็ยินดีจึงกล่าวว่า ขุมทรัพย์ในรัศมีปริมณฑลที่ร่มเงาของต้นไม้นี้แผ่ไปถึง เราขอมอบให้แก่เจ้า

    นางจึงกลับไปกราบทูลพระราชาให้ขนทรัพย์นั้นมา

    พระราชาตรัสถามว่า มีผู้อื่นในพระนครใครบ้างที่มีทรัพย์มากเท่านี้ ก็ปรากฎว่าไม่มีผู้ใดในพระนครที่จะมีทรัพย์มากเท่ากับทรัพย์ที่ขุดมานั้น พระราชาจึงทรงตั้งสามีของนางให้เป็นธนเศรษฐีในพระนครนั้น
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ พระมหากัสสปกับเด็ก ๕๐๐ คน

    วันหนึ่งพระศาสดามีภิกษุ ๕๐๐ เป็นบริวารพร้อมด้วยพระอสีติมหาเถระ เสด็จเข้าไปกรุงราชคฤห์ เพื่อบิณฑบาต ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็ก ๕๐๐ คน ยกกระเช้าขนมออกจากเมืองแล้วไปสวนในวันมหรสพวันหนึ่ง เด็กเหล่านั้นก็เพียงแต่ถวายบังคมพระศาสดาแล้วก็หลีกไป ไม่ปวารณาเพื่อถวายขนมแก่ภิกษุแม้สักรูปหนึ่ง

    พระศาสดาตรัสกะภิกษุทั้งหลาย ในกาลที่ภิกษุเหล่านั้นไปแล้ว ว่า “ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจักฉันขนมไหม ?”

    ภิกษุทูลถามว่า : ขนมที่ไหน ? พระเจ้าข้า

    พระศาสดา : เธอทั้งหลายไม่เห็นพวกเด็กถือกระเช้าขนมเดินผ่านไปแล้วดอกหรือ ?

    ภิกษุ : พวกเด็กนั้น ไม่ถวายขนมแก่ใครๆ พระเจ้าข้า

    พระศาสดา : ภิกษุทั้งหลาย เด็กเหล่านั้นไม่นิมนต์เราหรือพวกเธอด้วยขนมก็จริง ถึงกระนั้น ภิกษุผู้เป็นเจ้าของขนม ก็กำลังมาข้างหลัง ฉันขนมเสียก่อนแล้วไป จึงควร

    ตามธรรมดา พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ย่อมไม่มีความริษยาในบุคคลใดๆ เลย เพราะฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสคำนี้แล้วจึงพาภิกษุสงฆ์ไปประทับทั่งใต้ร่มเงาโคนไม้ต้นหนึ่ง

    ต่อมาพวกเด็กเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระเดินมาข้างหลัง ก็บังเกิดความรักและเลื่อมใสพระมหาเถระขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมจึงวางกระเช้า ไหว้พระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์ แล้วยกขนมพร้อมทั้งกระเช้าถวายแก่พระเถระ

    พระเถระจึงกล่าวแก่เด็กเหล่านั้นว่า “นั่น พระศาสดาพาพระภิกษุสงฆ์ไปประทับนั่งแล้วที่โคนไม้ พวกเธอจงถือไทยธรรมไปแบ่งส่วนถวายภิกษุสงฆ์เถิด”

    พวกเด็กจึงกลับไปพร้อมกับพระเถระ ถวายขนมพระบรมศาสดาและหมู่ภิกษุสงฆ์ แล้วได้ถวายน้ำในเวลาฉันเสร็จ

    ภิกษุทั้งหลายโพนทะนาว่า “พวกเด็กถวายภิกษาเพราะเห็นแก่หน้าพระมหากัสสปเถระ ในครั้งแรกไม่ต้อนรับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือพระมหาเถระอื่นทั้งหลายด้วยขนม ต่อเมื่อเห็นพระมหากัสสปเถระแล้ว จึงถือเอาขนมพร้อมด้วยกระเช้านั่นมาถวาย”

    พระศาสดา ทรงสดับถ้อยคำของภิกษุเหล่านั้นแล้วจึงตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้เช่นกับมหากัสสปผู้บุตรของเรา ย่อมเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ย่อมทำบูชาด้วยปัจจัย ๔ แก่เธอโดยแท้” ดังนี้ แล้วตรัสพระคาถาแสดงแก่เหล่าเด็กทั้ง ๕๐๐ นั้น

    ในกาลจบเทศนา เด็กเหล่านั้นทั้งหมด ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล ดังนี้


    ๐ อาจามทายิกาวิมาน

    พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันจทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์ สมัยนั้น ในกรุงราชคฤห์มีครอบครัวหนึ่งเป็นอหิวาตกโรค คนในครอบครัวนั้นตายกันหมด เหลือหญิงคนหนึ่ง หญิงนั้นทิ้งเรือนหนีไป หมดที่พึ่ง ไปเรือนของคนอื่น อาศัยอยู่ด้านหลังเรือนของเขา พวกผู้คนในเรือนนั้นคิดสงสาร ให้ข้าวต้มข้าวสวยและข้าวตังเป็นต้น ที่เหลือในหม้อข้าวเป็นต้นแก่นาง นางเลี้ยงชีวิตอยู่ด้วยข้าวตังของผู้คน เหล่านั้น

    วันนั้นท่านพระมหากัสสปะ เข้านิโรธสมาบัติ ๗ วัน เมื่อออกจากนิโรธนั้นแล้ว พิจารณาหาผู้ที่สมควรจะอนุเคราะห์ ได้เห็นหญิงนั้นถึงวาระใกล้ตาย และเห็นกรรมในอดีตของนางจะนำไปสู่นรก แต่ก็ยังเห็นโอกาสที่นางจะได้ทำบุญ ท่านได้พิจารณาว่า เมื่อเราไปยังบ้านนั้น หญิงคนนี้จักถวายข้าวตังที่ตนที่ตนได้มา เพราะบุญนั้นนางจะได้ไปเกิดในเทวโลกชั้นนิมมานรดี

    ดังนั้นในเวลาเช้า ท่านจึงเดินมุ่งหน้าไปยังที่อยู่ของนาง แล้วจึงยืนอยู่ข้างหน้าของหญิงนั้น

    นางเห็นพระเถระแล้ว คิดว่าพระเถระนี้เป็นพระเถระผู้ใหญ่ ในที่นี้ก็ไม่มีของกิน หรือของเคี้ยว ซึ่งควรที่จะถวายแก่พระเถระนี้ จะมีก็เพียง น้ำข้าวข้าวตังอันจืดเย็นไม่มีรส เต็มไปด้วยหญ้าและผงธุลี ซึ่งอยู่ในภาชนะสกปรกนี้ เราไม่อาจจะถวายแก่พระเถระเช่นนี้ได้

    นางจึงกล่าวว่า ขอท่านจงโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด

    พระเถระยืนนิ่งไม่ขยับเท้าแม้แต่ข้างเดียว

    ผู้คนอยู่ในเรือนนำภิกขาเข้าไปถวาย พระเถระก็ไม่รับ

    หญิงเข็ญใจนั้น รู้ว่าพระเถระประสงค์จะรับเฉพาะของเรา จึงมาในที่นี้ก็เพื่ออนุเคราะห์เรา เท่านั้น มีใจเลื่อมใส เกิดความเอื้อเฟื้อ ก็เกลี่ยข้าวตังนั้นลงในบาตรของพระเถระ

    พระเถระแสดงอาการว่าจะฉันเพื่อเพิ่มความเลื่อมใสของนางให้มากขึ้น ผู้คนปูอาสนะแล้ว พระเถระก็นั่งบนอาสนะนั้นฉันข้าวตังนั้น ดื่มน้ำแล้วชักมืออกจากบาตร ทำอนุโมทนาแก่หญิงเข็ญใจ นั้นแล้วก็ไป

    ในคืนนั้นนางก็สิ้นชีวิต ก็ไปบังเกิดร่วมกับเหล่าเทพในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    ๔. พระมหากัสสปเถระ เอตทัคคะในทางผู้ทรงธุดงค์

    ๐ ศิษย์เผากุฏิของพระมหากัสสปเถระ

    ในกรุงราชคฤห์ มีพระ ๒ รูปเป็นผู้อุปัฏฐากพระมหากัสสปเถระผู้อาศัยอยู่ในถ้ำปิปผลิ.ภิกษุ ๒ รูปนั้น รูปหนึ่งกระทำการปฏิบัติต่อท่านพระมหาเถระโดยเคารพ ส่วนอีกรูปหนึ่งเป็นคนมักตู่เอากิจที่พระอีกรูปหนึ่งกระทำเป็นเสมือนหนึ่งว่าตนเป็นผู้กระทำเอง เมื่อภิกษุผู้ปฏิบัติต่อพระเถระโดยอาการอันเคารพนั้นตั้งน้ำบ้วนปากเพื่อถวายพระมหาเถระเป็นต้น ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะไปยังสำนักของพระเถระ ไหว้แล้วกล่าวว่า ท่านขอรับ น้ำ กระผมตั้งไว้แล้ว ขอท่านจงล้างหน้าเถิดขอรับ เมื่อภิกษุรูปแรกนั้นลุกขึ้นแต่เช้าตรู่ปัดกวาดบริเวณกุฏิไว้แล้ว ในเวลาพระเถระออกมา ภิกษุขี้ตู่รูปนั้นก็จะทำอย่างโน้นอย่างนี้ไปมา ทำทีเสมือนว่าบริเวณนั้นทั้งสิ้นตนเป็นผู้ปัดกวาดไว้ ภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงคิดจะทำให้กรรมของพระหัวดื้อนี้ปรากฏต่อพระเถระ

    เมื่อภิกษุขี้ตู่นั้นฉันแล้วหลับอยู่นั้น ภิกษุรูปแรกจึงต้มน้ำเพื่อถวายพระเถระสำหรับอาบแล้ว ก็ตักใส่ในหม้อใบหนึ่ง ตั้งไว้หลังซุ้ม แต่เหลือน้ำไว้ในหม้อต้มน้ำประมาณกระบวยหนึ่ง แล้วตั้งไว้ให้เดือดพลุ่งเป็นไออยู่


    ๐ กรรมตามทัน

    ภิกษุนี้ตื่นขึ้น เห็นไอพลุ่งออกจากหม้อต้มน้ำ จึงคิดว่า น้ำที่ภิกษุนั้นต้มแล้วคงไว้ในซุ้ม จึงรีบไปเรียนพระเถระว่า “น้ำกระผมตั้งไว้ในซุ้มแล้วขอรับ นิมนต์ท่านสรงเถิด” แล้วเข้าไปในซุ้มพร้อมกับพระเถระ พระเถระเมื่อไม่เห็นน้ำ จึงถามว่า“น้ำอยู่ที่ไหน ? คุณ” ภิกษุหนุ่มไปยังโรงต้มน้ำ จ้วงกระบวยลงในภาชนะที่มีไอน้ำพลุ่งอยู่ เมื่อกระบวยกระทบพื้นภาชนะเปล่าที่ไม่มีน้ำก็มีเสียงดังเหมือนเสียงระฆัง ตั้งแต่นั้นมาภิกษุนั้นจึงมีชื่อว่า อุฬุงกสัททกะ พระภิกษุนั้นเมื่อพบว่าหม้อน้ำนั้นไม่มีน้ำ จึงโพนทะนาว่า “ขอท่านจงดูกรรมของภิกษุหัวดื้อเธอยกภาชนะเปล่าขึ้นตั้งไว้บนเตา แล้วไปไหนเสีย ? กระผมเรียนด้วยเข้าใจว่าน้ำมีอยู่ในซุ้ม” แล้วก็ได้ถือหม้อน้ำไปยังท่าน้ำ

    ฝ่ายภิกษุผู้สมบูรณ์ด้วยวัตรจึงนำเอาน้ำมาจากหลังซุ้มแล้วตั้งไว้ในซุ้ม.พระเถระเห็นดังนั้นจึงพิจารณาดูก็รู้ว่า “ภิกษุอุฬุงกสัททกะนั้น ชอบกระทำกิจที่ตนไม่ได้ทำ ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าตนเป็นผู้กระทำเอง” ท่านจึงได้ให้โอวาทแก่พระอุฬุงกสัททกะผู้มานั่งอุปัฏฐากในเวลาเย็นถึงความไม่ควรของความประพฤติของภิกษุนั้น

    ภิกษุนั้นโกรธ แล้วในวันรุ่งขึ้นจึงไม่เข้าไปบิณฑบาตกับพระเถระ เมื่อพระเถระไปแล้ว ภิกษุนั้นไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากของพระเถระ เมื่อถูกอุปัฏฐากถามถึงพระเถระ พระอุฬุงกสัททกะจึงบอกว่าพระเถระนั่งอยู่ในวิหาร นั่นแหละ เพราะไม่ผาสุก เมื่อเขากล่าวว่า ได้อะไรจึงจะควรขอรับ จึงกล่าวว่า ท่านจงให้สิ่งนี้และสิ่งนี้ แล้วถือเอาสิ่งที่อุปัฏฐากถวายพระเถระนั้นไปยังที่ชอบใจของตน ฉันแล้วจึงได้ไปยังวิหาร


    ๐ พระเถระจับความเลวทรามของศิษย์ได้

    ในวันรุ่งขึ้น พระเถระไปสู่ตระกูลอุปัฏฐากนั้น เมื่อพวกอุปัฏฐากกล่าวว่า “ได้ยินว่า ความไม่ผาสุกเกิดแก่ท่าน’ จึงจัดแจงอาหารส่งไปตามที่ภิกษุหนุ่มแจ้ง ความผาสุกเกิดแก่ท่านแล้วหรือ ?” พระเถระได้ฟังก็นิ่งเสีย ครั้นเมื่อพระเถระไปสู่วิหารแล้ว จึงกล่าวกับภิกษุหนุ่มนั้นผู้มาอุปัฏฐากในเวลาเย็น ว่า “การกระทำของเธอเมื่อวานนี้ เป็นการกระทำที่ไม่สมควรแก่บรรพชิตทั้งหลาย”


    ๐ ประทุษร้ายแก่ผู้มีคุณตายไปเกิดในอเวจี

    ภิกษุนั้นโกรธแล้วผูกอาฆาตในพระเถระในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระเถระเข้าไปสู่บ้าน ส่วนตนพักอยู่ในวิหาร จึงจับท่อนไม้ ทุบวัตถุทั้งหลาย มีภาชนะสำหรับใช้สอยเป็นต้น แล้วจุดไฟที่บรรณศาลาของพระเถระ สิ่งใดไฟไม่ไหม้ก็เอาพลองทุบทำลายสิ่งนั้นแล้วหนีออกไป พระอุฬุงกสัททกะนั้น ขณะที่ยังมีชีวิตอยู่เป็นเหมือนดังเปรต ผอมโซ ครั้นตายแล้วก็ได้บังเกิดในอเวจี


    ๐ เกิดร่วมสมัยกับพระโพธิสัตว์

    ท่านได้เกิดร่วมชาติกับพระโพธิสัตว์อยู่หลายชาติ ดังที่ปรากฎในชาดกต่างๆ เช่น

    เกิดเป็นพระสูระ พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นพระเจ้าจันทราช ใน จันทกุมารชาดก

    เกิดเป็นน้องชายหนึ่งใน ๖ คน พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นมหากัญจนดาบส ใน ภิงสจริยาชาดก

    เกิดเป็นทุกูละดาบส พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นสุวรรณสาม ใน สุวรรณสามชาดก

    เกิดเป็นบิดาของมาณพผู้เสาะหาวิชา พระพุทธองค์เสวยพระชาติเป็นอาจารย์ ใน อสาตมันตชาดก
     

แชร์หน้านี้

Loading...