สติปัฏฐานสี่ตามแนววิชชาธรรมกาย

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย NAMOBUDDHAYA, 21 สิงหาคม 2014.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    “สังขาร ๓” มีปรากฏในพระบาลี (พระไตรปิฎก) คือ จูฬเวทัลลสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ (ม.มู.๑๒/๕๐๙) แสดงไว้ว่า “ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็นกายสังขาร, วิตกและวิจาร เป็นวจีสังขาร และสัญญาและเวทนา เป็นจิตตสังขาร”


    และได้อธิบายต่อไปว่า “ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า เป็นธรรมมีในกาย เนื่องด้วยกาย ดังนั้น ลมหายใจออกและลมหายใจเข้า จึงเป็นกายสังขาร, บุคคลย่อมตรึก-ย่อมตรองก่อนแล้ว จึงเปล่งวาจา ดังนั้น วิตกและวิจร จึงเป็นวจีสังขาร, สัญญาและเวทนา เป็นธรรมมีในจิต เนื่องด้วยจิต ดังนั้น สัญญาและเวทนา จึงเป็นจิตตสังขาร”


    ดังนั้น “กายสังขาร” คือ สภาพที่ปรุงแต่งกาย
    “วจีสังขาร” คือ สภาพที่ปรุงแต่งวาจา
    “จิตตสังขาร” คือ สภาพที่ปรุงแต่งใจ


    พระเดชพระคุณ หลวงพ่อวัดปากน้ำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้แสดงพระธรรมเทศนาเกี่ยวกับ “สังขาร ๓” นี้ ไว้ว่า “กายสังขารสงบ คือ ลมหายใจหยุด, วจีสังขารสงบ คือ ความตรึกตรองหยุด, จิตตสังขารสงบ คือ ใจหยุดอยู่ที่ศูนย์กลางกาย”

    เครดิตเพจ วัดป่าวิสุทธิคุณ

    c_oc=AQm9DdpsHgaHQsFH9PO2XPwYhRMjQ7E-S132IcWH8zxCJ_G03c42KC6L7wMGQp6CZX0&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  2. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    การปฏิบัติภาวนาที่จะให้ได้ผล นอกจากต้องระวังไม่ให้นิวรณ์เกิดแล้ว ต้องระวังอุปกิเลส ๑๑ ประการ อีกด้วย ซึ่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสไว้กับพระอนุรุทธะ พระนันทิยะ และพระกิมพิละ มีปรากฏในอุปกิเลสสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ (ม.อุ.๑๔/๔๓๙-๔๖๕)


    อุปกิเลส ๑๑ ประการ ได้แก่

    ๑. วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)

    ๒. อมนสิการ (การไม่ทำไว้ในใจ)

    ๓. ถีนมิทธะ (ความง่วง ท้อแท้ หดหู่แห่งจิตใจ)

    ๔. ความหวาดเสียว

    ๕. ความตื่นเต้น

    ๖. ความชั่วหยาบ

    ๗. ความเพียรที่ปรารภเกินไป

    ๘. ความเพียรที่ย่อหย่อนเกินไป

    ๙. ตัณหาที่คอยกระซิบ

    ๑๐. ความสำคัญสภาวะต่างกัน

    ๑๑. ลักษณะที่เพ่งเล็งรูปเกินไป (คืออยากเห็น)

    c_oc=AQn0yGPGajae61ZWbq878hohOrJLUZScWGPCE-SBrIEJ-06MZ4VV7YPR7KpgxPZQkao&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  3. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    .. ให้เอาใจติดอยู่ตรงนี้แหละ อย่าไปเที่ยวหาอื่น


    ให้มันอื่นจากศูนย์กลางกายมนุษย์ กลางกายของตัวไปเลย


    ตรงนั้นแหละ เอาใจไปจรดอยู่ตรงนั้นแหละ


    ถ้ายังไม่เห็น นานๆ เข้าก็เห็นเอง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นเอง ...

    c_oc=AQlKt92qY8ZdW2LaqhJ4Y8XeAdQhJbqmKMMJEQkRD3Gedcr7UGxbahg0wgw8bbw3d0w&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  4. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    การแสดงศีล (สีลุทเทส)


    lphor_tesna_vn.jpg


    3 พฤศจิกายน 2497

    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (3 หน)



    สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส. สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา. ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ. เสยฺยถีทํ กามาสวา ภวาสวา อวิชฺชาสวา. ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพนฺติ.

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงใน สีลุทเทส แสดงเรื่อง ศีลเป็นเหตุ มีสมาธิเป็น อานิสงส์ สมาธิเป็นต้นเหตุ มีปัญญาเป็นอานิสงส์ ปัญญาเป็นต้นเหตุ อบรมจิตให้หลุดพ้น จากอาสวะทั้งหลาย ในข้อนั้นท่านทั้งหลายพึงกระทำโดยความไม่ประมาทเถิดประเสริฐนัก ที่เกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดาทรงวางตำรับตำราไว้เป็นแบบแผน แน่นหนา ทรงตรัสเทศนาโปรดเวไนยสรรพสัตว์อยู่ 45 พรรษา เมื่อรวบรวมธรรมวินัย ไตรปิฎกของพระบรมศาสดาแล้ว ก็คงเป็น 3 คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก เรื่องนี้พระเถรานุเถระ มีพระมหาอริยกัสสปะเป็นประธาน ได้สังคายนาร้อยกรอง ทรงพระ ธรรมวินัยเป็นหลักฐาน เรียกว่า พระวินัย พระสูตร พระปรมัตถ์

    พระวินัย จัดเป็น ศีล ศีลมากนัก เป็น อปริยนฺตปาริสุทฺธิสีล ศีลของพระภิกษุไม่มี ที่สุดทีเดียว ศีลของอุบาสกอุบาสิกา มี 5 มี 8 มี 10 ตามหน้าที่ สามเณรมี 10

    ส่วนพระสูตรก็ตรัสเทศนามากอีกเหมือนกัน เรียกว่า พระสุตตันตปิฎก ยกเป็น พระสุตตันตปิฎกนั้น ถึง 21,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าจะสรุปเข้าแล้ว ถ้าจะสรุปรวบรวมเข้า ก็เป็น สมาธิ สมาธิจัดเป็นภูมิไปมาก มีมากอีกเหมือนกัน แต่ว่า ว่าสั้นๆ แล้วก็สมาธิ

    พระปรมัตถปิฎก 42,000 พระธรรมขันธ์ ถ้าย่นลงเป็นสั้นๆ แล้ว ก็คือ ปัญญา ปัญญาก็แยกออกมากอีกเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา นี่แหละ เป็นหลักเป็นประธานของพระพุทธศาสนา ผู้ปฏิบัติควรศึกษาเสียให้รู้ศีลชัด รู้ศีลแล้ว ให้รู้จักสมาธิชัด ให้รู้จักปัญญาเสียให้ชัด บัดนี้ จักแสดงให้จำไว้เป็นข้อปฏิบัติ ตามวาระพระบาลีที่ยกขึ้นไว้เป็นนิเขปกถาว่า สีลปริภาวิโต สมาธิ สมาธิที่ศีลอบรมแล้ว มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา ปัญญาที่สมาธิอบรมแล้ว มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ย่อมมีผลมาก มี อานิสงส์มาก ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ จิตที่ปัญญาอบรมแล้ว สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิต หลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายโดยชอบเทียว เสยฺยถีทํ อย่างไรเล่า อาสวะทั้งหลายนั้น คือ กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ เป็นอาสวะ 3 อาสวะมี 4 ในระหว่างอวิชชาสวะนั้น หน้า อวิชชาสวะ มีทิฏฐาสวะอีก อาสวะมี 4 แต่ท่านจัดไว้ในที่นี้มี 3 ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพํ ในข้อท่านทั้งหลายพึงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด ประเสริฐนัก นี้เนื้อความ ของพระบาลี คลี่เป็นสยามภาษา ได้ความเท่านี้

    ต่อจากนี้จะอรรถาธิบายเป็นลำดับไปว่า สีลปริภาวิโต ศีลเจริญขึ้นแล้วเป็นไฉน เจริญ นั้นคืองอกขึ้นเจริญขึ้นแล้ว ศีลถ้าว่าปริยายหยาบๆ ก็คือ ศีล 5 เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักฉ้อ ประพฤติผิดในกาม พูดปด เสพสุรา ศีล 8 เว้นจากการฆ่าสัตว์ ลักฉ้อ ล่วงสัทธรรม ประเวณี พูดปด เสพสุรา บริโภคอาหารในเวลาวิกาล ฟ้อนรำ ขับร้อง ดีดสี ตีเป่าต่างๆ ทัดทรง ประดับประดาร่างกาย เสียบดอกไม้ของหอม เครื่องลูบไล้ให้เกิดยั่วยวนใจต่างๆ เหล่านี้ นั่งนอนอาสนะอันสูงใหญ่ ไม่สมควร นี้เป็นศีล 8 ศีล 10 เติมเว้นหยิบเงินและทอง รับเงิน และทองไว้ นี่เป็นศีล 10 นี่โดยปริยาย หากว่าขั้นเข้าถึงภายใน ถึงเจตนาที่พระองค์ทรงรับ สั่งว่า เจตนาสีลํ เจตนาเป็นศีล เจตนาความคิดอ่านทางใจ คิดดีคิดชั่ว คิดไม่ดีไม่ชั่ว เรียกว่า เจตนาศีล ที่จะบริสุทธิ์ได้ก็เพราะอาศัยเจตนา เจตนามีภายในก่อน จึงรักษาศีลได้ ศีลแล้วแต่ เจตนา เจตนาเป็นศีล ศีลความคิดอ่านทางใจ คำว่า ใจ นั้นคืออะไร เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่าง หนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง เป็นจุดเดียวกัน เขาเรียกว่าใจ เห็นอย่างหนึ่ง จำอย่างหนึ่ง คิดอย่างหนึ่ง รู้อย่างหนึ่ง รวมเข้าเป็นจุดเดียว เรียกว่าใจ ใจนั่นแหละที่เกิดของใจนั้นอยู่ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ที่ตั้งอยู่กลางใจ มนุษย์นี้ สะดือทะลุหลัง ขึงด้ายกลุ่มเส้นตึง ขวาทะลุซ้าย ขึงด้ายกลุ่มเส้นตึงกลางสะดือ เชียวนะ เจาะให้ทะลุตรงกัน ไม่ให้ค่อนล่าง ค่อนบนละ ไม่ให้ค่อนหน้าค่อนปลายนะ ขวาก็ เจาะขวาทะลุซ้าย ไม่ค่อนหน้าค่อนปลายนะ ตรงดิ่งเชียว เอาด้ายร้อยเข้าเส้นหนึ่ง ข้างหน้า ข้างหลัง ร้อยเข้าเส้นขึงตึง ตรงกลางเส้นด้ายจรดกันตรงนั้นเรียกว่า “กลางกั๊ก” กลางกั๊ก นั้นแหละถูกกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์ เท่าฟองไข่แดงของไก่ ถูก กลางดวงธรรมพอดีเชียว กลางกั๊กนั้นแหละ เป็นที่เกิดที่ดับ ถ้ามนุษย์มาเกิดต้องเกิดตรงนั้น เวลาตายก็ต้องไปหยุดตรงนั้น หยุดกลางกั๊กนั้นแหละ เป็นที่เกิดที่ดับ ถ้ามนุษย์มาเกิด ต้อง เกิดตรงนั้น เวลาตายก็ต้องไปหยุดตรงนั้น หยุดกลางกั๊กนั้นจนตาย เวลาหลับ ใจก็ต้องไป หยุดตรงนั้นจึงหลับ หลับตรงไหนก็ตื่นตรงนั้น เกิดตรงไหนก็ตายตรงนั้น ให้รู้จักที่เกิดที่ตาย ให้รู้จักที่หลับที่ตื่น เกิดดับหลับตื่นๆ ให้รู้จักหลักอย่างนี้

    นี่แหละรู้จักอย่างนี้ ก็จะรู้จักศีล จะรู้จักศีลจริงๆ ศีลภายใน ไม่ใช่ศีลข้างนอก ศีลโดย ทางปฏิบัติ ไม่ใช่ศีลโดยทางปริยัติ

    เมื่อใจไปหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์นั้น ให้ถูกส่วนเข้า พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น เห็นดวงใสเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ผุดขึ้นมา ใจก็ไปติดอยู่กลาง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่ดวงใสนั้น ดวงใสนั้นแหละ เรียกว่า เอกายนมรรค ก็เรียก เป็นหนทางไปชั้นเอก ไม่มีทางไปอื่นดีกว่านั้นอีกต่อไป เรียกว่า เอกายนมรรค อีกนัยหนึ่ง ท่านเรียกว่า ปฐมมรรค หนทางเบื้องต้นมรรคผลนิพพาน ผู้ที่จะไปสู่มรรคผลนิพพาน ก็ไปกลางดวงนั้น ไปหยุดอยู่กลางดวงนั้น นี่หนทางเบื้องต้นมรรผลนิพพาน อีกนัยหนึ่ง ท่านเรียกว่า ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาน่ะ ดำเนินไปตามทางของพระ อริยเจ้าพระอรหันต์เหมือนกันทุกองค์ทั้งอดีต ปัจจุบัน อนาคต ยืนยันเหมือนกันหมด ไป ทางเดียวกัน ใจหยุดอยู่กลางดวงนั้น พอหยุดอยู่กลางดวงนั้น พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ กลางดวงนั่นเองจะเห็น ดวงศีล ดวงเท่ากัน นั่นดวงศีลเห็นเข้าแล้ว เมื่อเห็นดวงศีลแล้ว ก็ได้การหละ ถูกทางไปของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์หละ ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์สนิท ดุจกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า ใสเทียว นั่นไปเห็นนั่นนะ ถ้าเห็นเข้าเท่านั้น ใจก็ติดอยู่กลางดวงศีลนั้น กลางดวงศีลนั่น หยุดอยู่กลางดวงศีล พอถูกส่วนเข้าเท่านั้น แหละ หยุดในหยุดหนักเข้าๆ เมื่อถึงดวงศีลแล้ว ดวงศีลเป็นเหตุจะเข้าถึงดวงสมาธิ เท่ากันๆ แบบเดียวกัน ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน นั่นเรียกว่า ดวงสมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธินั่นเหมือนกัน พอถูกส่วนเข้าเท่านั้นแหละ เข้าถึง ดวงปัญญา ดวงเท่าๆ กัน เท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เหมือนกัน แต่ว่าตามตำราพระพุทธศาสนามี เบื้องต้น ถ้ามีดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เบื้องปลายของดวงศีล สมาธิ ปัญญา มีดวง วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ มีหนทางเบื้องต้นเบื้องปลายอีก หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงปัญญา นั่นแหละ ถูกส่วนเข้า เห็น ดวงวิมุตติ ดวงเท่ากัน หยุดอยู่ศูนย์กลางดวงวิมุตตินั่นแหละ ถูก ส่วนเข้า เห็น ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั่น หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลาง ดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็ไปเห็น กายมนุษย์ละเอียด ที่นอนฝันออกไป เอ๊! นี่แปลกจริง ไอ้กายนี้เราไม่เคยเห็นเลยเวลาฝัน เลิกจากฝันมันมัวๆ ไม่รู้อยู่ที่ไหน พอเข้ามาในทางกลาง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้า เอ๊! เจ้ากายมนุษย์ละเอียดนี่อยู่ กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนี่เอง ดวงเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ อ้ายกายมนุษย์ละเอียด อยู่ในนั้นเอง ถ้าว่ากายใหญ่ประมาณ 8 ศอก กายนั้น กายละเอียดนั่นแหละประมาณ 8 ศอก แต่ว่าลดส่วนเข้ามาเท่ากับกายมนุษย์ นี่ก็ไอ้กายที่นอนฝันออกไป มันก็เท่าๆ ตัวเรา นี่แหละ หญิงก็เท่าๆ กัน ชายก็เท่าๆ กัน แต่ว่าตามส่วนของมันสูง 8 ศอก กายละเอียดนั้น นั่นไปเห็นกายละเอียดเข้าแล้ว อยู่ในกลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ นี่เอง ที่เข้าถึงกายละเอียด

    ทำไมจึงเข้ามาถึงเล่า เดินถูกทางเข้า ปฏิบัติถูกต้องร่องรอยทางพระพุทธศาสนาเข้า ก็ไปเห็นกายมนุษย์ละเอียด เอาละเห็นกายมนุษย์ละเอียดแล้ว ก็สนุกหละเรา เออ! ข้า ไม่เคยเห็นเลย เจ้าเป็นคนเจ้าหน้าที่ฝัน ลองฝันให้ดูสักเรื่องซิ เอาเรื่องเชียงใหม่กันเชียวนะ กะพริบตาเดียว เอาดอยสุเทพมาเล่าให้ฟังแล้ว ไปเชียงใหม่มาแล้ว กะพริบตาเดียว นั่นแน่ ฝันเร็วขนาดนั้นแน่ะ เอ้า! ฝันในเรื่องภาคใต้ นครศรีธรรมราช กะพริบตาเดียว ไปเอาเรื่อง นครศรีธรรมราชมาให้ฟังแล้ว เรื่องพระเจดีย์ใหญ่ เอ้า! ฝันไปจังหวัดนครพนมซิ กะพริบ ตาเดียว เอาเรื่องพระธาตุพนมมาเล่าให้ฟังแล้ว ฝันได้อย่างนี้ นั่งเฉยอยู่นั่นแหละ เอ้า! ฝันถึงเรื่องเมืองเพชรเข้าซิ กะพริบตาเดียว เอาเรื่องเขาวังมาเล่าให้ฟังแล้ว พระเจ้าแผ่นดิน แกอยากเป็นเทวดาทั้งเป็นมนุษย์นี่ จะพาพระมเหสีของแกขึ้นไปโน้น บนยอดเขาวังโน้น ไปตั้งวังอยู่โน้น อยู่บนยอดเขาโน้น แกนึกว่าแกเป็นเทวดาแล้วทีเดียว ได้รับความสุข นั่น เอาเรื่องเขาวังมาเล่าให้ฟังแล้ว นี่กายที่ฝันๆ ได้อย่างนี้ ฝันได้ทั้งที่กำลังตื่นๆ หนา ไม่ต้อง หลับหนา ฝันได้จริงจังอย่างนี้

    อย่างขนาดวัดปากน้ำเขาฝันได้ 150 กว่าคน ทั้งภิกษุสามเณร อุบาสกอุบาสิกา เขาฝันได้ นี่เพราะเหตุอะไรเขาจึงฝันได้อย่างนี้ สีลปริภาวิโต สมาธิ มหปฺผโล โหติ มหานิสํโส สมาธิปริภาวิตา ปญฺญา มหปฺผลา โหติ มหานิสํสา ปญฺญาปริภาวิตํ จิตฺตํ สมฺมเทว อาสเวหิ วิมุจฺจติ จิตที่ปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายโดยชอบเทียว แล้วเข้าถึงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เห็นกายมนุษย์ละเอียดที่นอนฝันออกไป เขาทำได้ อย่างนี้ เป็นอย่างนี้จริงๆ ในทางปฏิบัติ ไม่ใช่ลวงไม่ใช่หลอกเล่น เป็นอย่างนี้จริง ถ้าพวก ปฏิบัติไม่เป็นอย่างนี้ ร่องรอยพระพุทธศาสนารู้จักได้ยากจริง ไม่ใช่ของง่ายเลย จะไม่เห็นศีล สมาธิ ปัญญาเลยทีเดียว จะไม่เห็นดวงศีล สมาธิ ปัญญา เลยทีเดียว

    ดวงศีลนั้น ตัววินัยปิฎกแท้ๆ กลั่นจากวินัยปิฎกมากน้อยเท่าไร มารวมเป็นดวงศีล ดวงเดียว ส่วนสมาธินั้นกลั่นมาจากสุตตันตปิฎก มากน้อยเท่าใดมารวมอยู่ในสมาธิดวงเดียว ตัวปัญญานั้น ปรมัตถปิฎกมากน้อยเท่าใด 42,000 พระธรรมขันธ์ สรุปเข้าในดวงปัญญานั้น ดวงเดียว ในดวงนั้นทั้งนั้น อยู่ในนั้น ก็อยู่ในกลางดวงธรรมกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟอง ไข่แดงของไก่ เดินในนั้นหนา เดินในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ไม่ใช่เดินเลอะๆ เทอะๆ เหลวๆ ไหลๆ เดินในทางไปเกิดมาเกิดของมนุษย์ทีเดียว ไม่ใช่เดินทางอื่น เลอะ เทอะไป เมื่อรู้จักหลัก เข้าใจเสียอย่างนี้ชัดแล้ว ก็ต่อไปอีกสักเท่าไรชั้นก็เดินอย่างเดียวกัน อย่างนี้

    เดี๋ยวจะแสดงลึกลงไปกว่านี่นะ ตั้งใจฟังเอาแค่นี้ก่อน นี่ตามศีล สมาธิ ปัญญา แล้วก็ เติมธัมมานุปัสสนาในเบื้องต้น และเบื้องปลายดวงวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ตำราเขามี อย่างนั้นจริงๆ คำในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย สุตตนิบาตปิฎก ยกข้อสำคัญขึ้นแสดงว่า ธรรมะของพระพุทธเจ้ามี 5 ประการ มี 5 นั้นคืออะไร คือ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ

    ตามตำราท่านวางไว้ว่า ทสหงฺเคหิ สมนฺนาคโต อรหนฺติ วุจฺจติ ผู้มาตามพร้อมแล้ว ด้วยองค์ 10 เป็นพระอรหันต์ องค์ 10 นั้นคืออะไร สัมมาทิฏฐิ 1 สัมมาสังกัปโป 2 สัมมาวาจา 3 สัมมากัมมันโต 4 สัมมาอาชีโว 5 สัมมาวายาโม 6 สัมมาสติ 7 สัมมาสมาธิ 8 มี 8 แล้ว สัมมาญาณ 9 สัมมาวิมุตติ 10 มีองค์ 10 อย่างนี้

    องค์ 8 นั่นย่นลงเป็นองค์ 3 สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปโป นี่ย่นเข้าเป็น ปัญญา สัมมาวาจา สัมมากัมมันโต สัมมาอาชีโว ย่นลงเป็น ศีล สัมมาวายาโม สัมมาสติ สัมมาสมาธิ ย่นลงเป็น สมาธิ รวมเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา 3 ถ้าได้ 3 แล้ว เติม สัมมาญาณ 4 สัมมาวิมุตติ เป็น 5

    นี่แหละผู้ใดมาตามพร้อมด้วยธรรม 5 ประการนี้แล้ว ผู้นั้นจะพบหลักฐานของ พระพุทธศาสนาอย่างแน่ นี่อาศัยดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้เห็นดวงศีล ดวงสมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ หลักนี้เป็นสำคัญนัก ต้องเข้าถึงหลักนี้ให้ได้ หญิงก็ดี ชายก็ดี คฤหัสถ์ บรรพชิต ไม่ว่า ถ้าเข้าถึงหลักนี้ไม่ได้ จะไม่ถึงพระพุทธศาสนา จะบวชเป็น พระเป็นเณร เป็นอุบาสกอุบาสิกก็อย่างนั้นแหละ ไม่มีรสชาติอะไร จะไว้ใจยังไม่ได้ๆ แน่นอน ถ้าเพลี่ยงพล้ำแล้วจะพาลไปถึงอื่นร่ำไป แต่เพียงว่าต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์เท่านั้นแหละ ถึงไหว้แล้ว เอาเข้าแล้ว ถึงเขาใหญ่ๆ ศักดิ์สิทธิ์ ถึงไหว้แล้ว เอาเข้าแล้ว ไหว้ภูเขาให้อีกแล้ว ไหว้ต้นไม้ ไหว้ภูเขา ไปถึงไอ้ป่าใหญ่ๆ เข้าดงใหญ่ๆ เข้า มีพวกผีดุ ผีร้ายหนัก พอไปเข้าก็ไหว้ก็บูชากัน เอาเข้าแล้ว ไปไหว้ไปบูชากันอีกแล้ว นั่นเลอะแล้ว ถือพุทธศาสนา ถือธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ถือศีล สมาธิ ปัญญา ไม่แน่นแล้วหละ เลอะเลือนเหลวไหล เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ก็เพราะ เหตุไรจึงเป็นเช่นนั้นละ เข้าร่องรอยพุทธศาสนาไม่ถูก จับหลักพุทธศาสนาไม่ได้ ตัวจริงของ พระพุทธศาสนาวางไม่ถูก ไม่ต้องอะไร เดี๋ยวจะแสดงให้ฟังว่ามันลึกซึ้งอย่างนี้ ทางพระพุทธศาสนาไม่ใช่เป็นของผิวเผิน ผู้เทศน์นี้เอง บวชด้วยเรียนด้วย เป็นครูสอนด้วย 12 พรรษา โน้นแน่ะ จึงจะรู้จักพระพุทธศาสนาชัดว่า อ้อ! พระพุทธศาสนานี่เป็นอย่างนี้เอง คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนี้เอง ที่จะเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ ไม่ใช่เป็น ของง่าย เข้าไปถึงยากนักลำบากนัก ต้องเข้าไปอย่างนี้แหละ

    พอเข้าไปถึง กายมนุษย์ละเอียด ละก้อ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายมนุษย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้า ก็ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายทิพย์ ทีเดียว

    ใจกายทิพย์หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ แบบเดียวกัน เข้าถึง ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายทิพย์ละเอียด

    ใจกายทิพย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายรูปพรหม

    ในกายที่ 5 ใจกายรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวง วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายรูปพรหมละเอียด

    ใจกายรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ละเอียด ถูกส่วนเข้า ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เข้าถึง กายอรูปพรหม

    ใจกายอรูปพรหมหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำเป็นกายอรูปพรหม ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แบบเดียวกัน เข้าถึง กายอรูปพรหมละเอียด

    ใจกายอรูปพรหมละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ละเอียดอีก พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง กายธรรม พอเข้าถึงกายธรรมเท่านั้นแหละ รูปของพระ พุทธปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า งดงามนัก จะปั้นทำให้ เหมือนที่เขาปั้นไว้ในโบสถ์ ในวิหารการเปรียญ นี่ก็เพราะธรรมกายนี่แหละ รูปธรรมกาย รูป พุทธรัตนะ นี่แหละ

    ใจของพระพุทธรัตนะ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะ ใหญ่วัด เส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย หน้าตักกว้างแค่ไหน 3 วา 4 วา อย่างไรก็เท่ากัน วัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตักธรรมกาย กลมรอบตัว อยู่กลางกาย กลางองค์พุทธรัตนะ นั้น ใจพุทธรัตนะหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นพุทธรัตนะ พอถูกส่วนเข้า เข้า ถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงเท่ากันกับดวงพุทธรัตนะนั้น เข้าถึงดวงศีลก็เท่ากัน ถึงดวงสมาธิก็เท่ากัน ดวงปัญญาก็เท่ากัน ดวงวิมุตติก็เท่ากัน ดวงวิมุตติญาณทัสสนะก็ เท่ากัน กลมรอบตัวเท่ากัน 6 ดวงด้วยกัน เข้าถึง กายธรรมละเอียด หน้าตัก 5 วา สูง 5 วา เกตุดอกบัวตูม ใสเหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้าหนักเข้า นั้นเรียกว่า ธรรมกาย ละเอียด พุทธรัตนะตอนต้น เรียกว่าพุทธรัตนะ เป็นพระพุทธเจ้า ธรรมรัตนะ ดวงใส วัดเส้น ผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตัก ดวงธรรมนั้น เรียกว่า ธรรมรัตนะ เรียกว่า ธรรมเจ้า ทีเดียว เฉพาะกายละเอียดอยู่ในดวงธรรมรัตนะนั่น เรียกว่า พระสังฆเจ้า

    คำว่า พุทฺโธ เป็นเนมิตตกนามเกิดขึ้นจากพุทธรัตนะ คำว่า ธมฺโม เป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นจากธรรมรัตนะ คำว่า สงฺโฆ นั่นเป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นจากสังฆรัตนะ เป็น ต้นยืน ให้เห็นของจริงเข้า เห็นความเกิด เหตุให้เกิด ความดับ เหตุให้ดับ เข้าจริง เห็นจริงเข้า เป็นเนมิตตกนามเกิดขึ้นกับพุทธรัตนะว่า พุทฺโธ ธรรมรัตนะ นั่นเอง

    ธรรมรัตนะ ดวงนั้นแหละ เมื่อสัตว์เข้าไปถึงแล้ว ทรงผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ถึงได้เป็นเนมิตตกนามเกิดขึ้นว่า ธมฺโม แล้วทรงจัดผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว

    สังฆรัตนะ รักษาธรรมรัตนะนั้นไว้ไม่หายไป ให้อยู่ในดวงธรรมรัตนะนั้น ปฏิบัติใน ดวงธรรมรัตนะนั้นไม่ให้สูญหายไป ธรรมรัตนะนั่นเป็นบ้านเป็นเรือนให้อยู่ทีเดียว อยู่ของ สังฆรัตนะทีเดียว ทิ้งไม่ได้ ห่างไม่ได้ มีที่อยู่เมื่อรักษาธรรมรัตนะไว้ได้เช่นนั้น จึงได้เกิดเป็น เนมิตตกนามยืนยันว่า สงฺโฆ แปลตามภาษาบาลีว่า ธมฺโม สงฺเฆน ธาริโต ธรรมอันพระสงฆ์ ทรงไว้ คือสังฆรัตนะนั้นแหละ ทรงรักษาไว้ เป็นเนมิตตกนามว่า สงฺโฆ

    พุทฺโธ ธมฺโม สงฺโฆ นี่แหละเป็นตัวจริงแหละ แต่ว่าเป็นตัวจริงนี้ยังไม่ถึงอริยบุคคล เป็น โคตรภู บุคคล พ้นจากปุถุชนไป เข้าถึงความเป็นโคตรภูบุคคล ถ้าว่ายังไม่ขาดจาก โคตรภูบุคคล ยังไม่เข้าถึงอริยภูมิ ยังเป็นโคตรภูสาวกอยู่ หรือยังเป็นปุถุชนสาวกอยู่ นี้ สาวกของพระพุทธเจ้ามีขีดแค่นี้ ถ้าเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ดังนี้แล้ว ก็ว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นสาวกของพระผู้มีพระภาค แต่ว่าชั้นสาวกชั้นเป็นโคตรภูนี้ ได้ชื่อว่า เป็นปุถุชนสาวก ไม่ใช่อริยสาวก

    ที่นี้จะเข้าถึงอริยสาวกต่อไป โคตรภูนั่นเอง ธรรมกาย-ธรรมกายละเอียด พุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะนั้นแหละ ปฏิบัติถูกส่วนเข้า ใจธรรมกายหยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายธรรมละเอียด ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา เท่ากับดวงธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดเท่าๆ กัน เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา กลมรอบตัว ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึง ธรรมกายพระโสดา หน้าตัก 5 วา สูง 5 วา เกตุดอกบัวตูม

    ใจธรรมกายพระโสดาหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายพระโสดา วัด เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 วา กลมรอบตัว ถูกส่วนเข้า ก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งตรงกลางนั่นก็ถึง ธรรมกาย พระโสดาละเอียด ธรรมกายพระโสดา-ธรรมกายพระโสดาละเอียดอย่างเดียวกัน นั่นเป็น พระโสดาแล้ว พอเป็นพระโสดาเท่านั้นแหละ เป็นอริยะทีเดียว อริโย สงฺโฆ ทีเดียว เป็น พระอริยบุคคล นี่แหละเป็นพระอริยบุคคลสาวกในพระพุทธศาสนา

    ใจธรรมกายพระโสดาละเอียด หยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระโสดา ละเอียด ถูกส่วนเข้า ก็เห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล ดวงสมาธิ ดวงปัญญา ดวงวิมุตติ ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดนิ่งตรงกลางนั่น ก็ถึง ธรรมกายพระสกทาคา หน้าตัก 10 วา สูง 10 วา เกตุดอกบัวตูม ใสหนักขึ้นไป นี่ ธรรมกายพระสกทาคา

    ดำเนินไปในแบบเดิมอีก ก็จะถึง ธรรมกายพระสกทาคาละเอียด ธรรมกายพระอนาคา-ธรรมกายพระอนาคาละเอียด, ธรรมกายพระอรหัต-ธรรมกายพระอรหัตละเอียด

    นี่ต่อจากธรรมกายโคตรภูขึ้นมาอีก 4 คู่ รวมเป็นพระอริยบุคคล 8 พระองค์ นี่ยกเป็น วาระพระบาลีว่า อฏฺฐ ปุริสปุคฺคลา จัดเป็นบุรุษบุคคล 8 จัดเป็นบุคคล 8 หรือจัดเป็น 4 คู่ คือ พระโสดาปัตติมรรค-พระโสดาปัตติผล, พระสกทาคามิมรรค-พระสกทาคามิผล, หยาบ นั้นเป็น มรรค, ส่วน ละเอียด นั้นเป็น ผล, พระอนาคามิมรรค-พระอนาคามิผล, พระอรหัตมรรค-พระอรหัตผล รวมเป็นพระอริยบุคคล 8 จำพวก หยาบ เป็น มรรค, ละเอียด เป็น ผล พระอริยบุคคล 8 นี้ เรียกว่า ภควโต สาวกสงฺโฆ เป็นสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยประการฉะนี้

    ท่านเหล่านี้ที่มาเป็นได้เช่นนี้ เพราะหลุดจากอาสวะได้ต้องไปสูง ส่วนโสดา-โสดาละเอียด ยังไม่หลุดจากอาสวะ หลุดแต่เพียง สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส เท่านั้น ส่วนพระสกทาคา พอหลุดจากกามราคะหยาบ อย่างหยาบเท่านั้น ส่วนพระอนาคาหลุดจาก กามราคะอย่างละเอียด ยังติดอยู่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา สัญโยชน์ เบื้องบนอีก 5 รูปราคะ กำหนัดยินดีในรูปฌาน อรูปราคะ กำหนัดยินดีในอรูปฌาน มานะ ยกเนื้อยอตัวยังมีอยู่ อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญยังมีอยู่ แต่พยายามให้ไปถึงพระอรหัต ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ยังมีกิเลสหมกหมุ่นอยู่ในสันดาน เรียกว่า สัญโยชน์เบื้องบน รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา แล้วก็เข้าไปถึงพระอรหัต-พระอรหัตละเอียด เป็นลำดับไป พอถึงพระอรหัตเท่านั้น วิราโค เตสํ อคฺคมกฺขายติ เป็นผู้ประเสริฐ หลุดจาก สราคธาตุสราคธรรม หลุดจากสราคธาตุสราคธรรมทีเดียว เข้าถึงวิราคธาตุวิราคธรรม ทีเดียว เป็นพระอรหัต หน้าตัก 20 วา สูง 20 วา เกตุดอกบัวตูม ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายพระอรหัต วัดเส้นผ่าศูนย์กลาง 20 วา กลมรอบตัว เมื่อเข้าถึงดังนี้แล้ว ก็จะได้ชื่อว่าพ้นจากอาสวะ แล้ว กามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ถ้าพูดอาสวะก็มี 3

    วันนี้ตั้งใจจะแสดงพระธรรมเทศนาถึงเรื่องอาสวะเหล่านี้ ที่แสดงมานี้เป็นเนื้อความ ท้าวเรื่องนะ ก็เปลืองเวลาอยู่เหมือนกัน จะแสดงถึงเรื่องอาสวะ อวิชชาสวะ ตั้งใจจะแสดง อย่างนี้ กามาสวะ กามก็มีอาสวะเหมือนกัน ตัดออกเป็น 2 บท กามอย่างหนึ่ง อาสวะอย่าง หนึ่ง กามกับอาสวะ ภวาสวะ ตัดออกเป็น “ภว” อันหนึ่ง แต่ว่า “ภว” นั่นตัดเป็นภพ อาสวะ อีกอันหนึ่ง ภพกับอาสวะติดกันอยู่ แสดงอาสวะทั้ง 4 ทีเดียว ทิฏฐาสวะ ความเห็นผิด ทิฏฐิ อันนั้น แปลว่า เห็นผิด อาสวะมีอันหนึ่งอีกเหมือนกัน อาสวะในความเห็นผิด อวิชชาสวะ อวิชชาบทหนึ่ง อาสวะอีกบทหนึ่ง มันติดกันได้อย่างนี้ นี่ถ้าไม่ได้เรียนบาลีก็ไม่เข้าใจ เนื้อ ความเหล่านี้ ก็เป็นอย่างเดียวกัน

    อาสวะ นะเรายังไม่เคยได้ยินได้ฟังนัก ยังไม่เคยได้ยิน แต่สิ่งอื่นนะเคยได้ยินได้ฟังกัน แต่ส่วนอวิชชานะ เคยได้ยินได้ฟังมาก จะแปลกันลงไปจริงๆ ว่ากระไร กามนะ กามก็ไม่ใช่ตัว อะไรตัว วัตถุกาม กิเลสกาม นั่นเอง วัตถุกามนั่นอะไร รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ คือ รสสัมผัสนั่นซิ คือ ตัววัตถุกาม รูปที่ชอบใจ เสียงที่ชอบใจ กลิ่นที่ชอบใจ รสที่ชอบใจ สัมผัส ที่ชอบใจนั่นแหละ นั่นแหละเขาเรียกว่ากาม เขาเรียกว่าวัตถุกาม ก็กิเลสกามละ ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสเหล่านั้นแหละ ยินดีในเสียง ยินดีในกลิ่น ยินดีในรส ยินดีในสัมผัส แกะไม่ออก ถอนไม่ออก ก็เหมือนพวกเราอย่างนี้แหละ ครองเรือนกันโด่ไปตามกันนั่นแหละ แกะไม่ออก ถอนไม่ออก พยายามฆ่ามันทุกวันทุกคืนเหมือนกันแหละ ฆ่าจนแก่คร่ำไป ตามกัน นั่นแหละ ไม่ตายซักที ไม่เลิกติดในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นซักที แก้ไม่หลุด แกะไม่หลุด พาให้ภิกษุสามเณรบวชเป็นสมภาร ติดอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่น ถึงหลุดหมดไปแล้วก็ตามเถอะ เป็นนักบวชก็ช่าง ไอ้ใจไปเจอะ กับรูป เสียง กลิ่น รส นั่น ถอยไม่ออกอีกเหมือนกัน ถอนไม่ออกอีกเหมือนกัน หนักเข้า ถึงกับเตรียมเครื่องมือ ได้เงินได้ทองเก็บไว้ เก็บไว้นี่พอสินสอดแล้วนี่ พอปลูกเรือนหอแล้ว อายุ 40-50 สึกหัวโด่ นั่นแน่จับได้ ติดอะไรละ ติดรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ

    รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ แก้มันไม่หลุด แกะไม่หลุด เพราะเหตุอะไร มันถึงแกะไม่หลุด เข้าไม่ถึงธรรมทางพุทธศาสนา ที่เข้าจริงเข้าไม่ถึงอะไร เข้าไม่ถึงศีล ดวงศีล จริงๆ เข้าไม่ถึง เป็นแต่รู้จักศีล รู้จักหลั่วๆ ไม่เห็นดวงศีลจริงๆ ในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็น กายมนุษย์ ไม่เห็น ทำไม่เป็น ไม่เห็นปรากฏก็ยังสงสัยไม่หมดสิ้นอยู่ร่ำไป ก็ต้องสึกออกมา เพราะเข้าไม่ถึงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ถ้าเข้าถึงธรรม 5 ข้อนี้ มันก็ เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด หลุดจากกายมนุษย์ไปเสีย มันก็ไม่เกี่ยวกับกายมนุษย์ไป ไอ้นี่มัน ไม่หลุด มันเข้าไม่ถึงนี่ ถ้าหลุดไปมันก็สบายหน่อย ถึงอย่างนั้นก็อย่าโง่ไว้ใจมัน ยังมีฤทธิ์ มีเดชมากนัก ให้สูงๆ ขึ้นไป นี่เข้าถึงศีลแล้ว นี่เขาเรียกว่ากาม อาสวะของกามเป็นอย่างไรละ เออ! รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ เป็นตัววัตถุกาม ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นเป็นตัวกิเลสกาม ก็อาสวะของกามนะ อะไรละ ไอ้รูปที่เราแลเห็นนะ มันมีรสนา มันมีรส ทีเดียวแหละ ถ้าตามไปเห็นถูกส่วนมันเข้าละก้อ โอ้! เอาละ กินไม่ลง นอนไม่ลงหละ กระสับ กระส่ายทีเดียว รสมันขึ้นแล้ว รสไอ้เห็นมันขึ้นแล้ว มันดึงดูดแล้ว ไอ้ดึงดูดเป็นรส นั่นแหละ เป็นตัวอาสวะทีเดียว ได้เสียงละ ถ้าฟังๆ พอดีพอร้ายละ ไม่ถนัดถนี่ ไปฟังเข้าช่อง เข้า กระแส เข้าคูมันละก้อ ติดมับทีเดียว ลืมไม่ได้ทีเดียว นั่งคิดนอนคิดทีเดียว ไอ้เสียงนั่นแหละ มันเป็นอาสวะ เป็นรสของเสียง ของกลิ่น รสของรส ไอ้รสของกลิ่นนะ ไอ้พวกที่ไปถูกกลิ่น พอดีพอร้ายเข้า ก็พอดีพอร้ายอยู่ ไอ้เมื่อไปถูกกลิ่นไปถูกตัวกามมันเข้า ไปถูกอาสวะมันเข้า เอาหละตานี้ไปติดไอ้กลิ่นนั่นเข้าอีกแล้ว ไอ้รสก็เหมือนกัน ลิ้มรสไปเถอะ ถ้าว่าไปถูกอาสวะ ของกามเข้า เอาหละ เข้าไปฆ่าสัตว์ตัดชีวิต จะเป็นจะตายหละ เพราะไอ้อาสวะนั่นมันบังคับ อยู่ ติดในรสอยู่ สัมผัส สัมผัสละ อย่างไรก็สัมผัสไปเถิด ถ้าไปถูกอาสวะของกามเข้าละก้อ เอ้าละ ถอนจากเรือนไม่ออกทีเดียว อยากจะให้ถึงเวลาสัมผัสอยู่ร่ำไป ว่าไอ้นี่ร้ายนักๆ ทีเดียว นี่สัมผัสนี่สำคัญนัก นี่อาสวะมันบังคับเราอย่างนี้นะ ทำไมจึงจะแก้มันได้

    ไม่ใช่อาสวะอย่างเดียว อวิชชา เข้าช่วยสนับสนุนด้วย อวิชชา เป็นอย่างไร ศึกษาไป เถอะ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่น รู้ไม่จริงทั้งสิ้น ยังสงสัยอยู่ร่ำไป สงสัยในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส นั่นแหละ ไอ้รูปดีๆ แค่นี้ก็ยังสงสัย จะให้ดีต่อไปอีก ไอ้เสียงดีแค่นี้ก็ยังสงสัย อยากจะให้ดีต่อไป กลิ่นดีแค่นี้ก็ยังสงสัย อยากจะให้ดีขึ้นไปอีก ไอ้สัมผัสดีแค่นี้ ไอ้รสดี แค่นี้ก็ยังสงสัยให้ดีต่อไปอีก ไอ้สัมผัสดีแค่นี้ก็ยังสงสัยให้ดีต่อไปอีก มันจะให้เกินนั้นต่อไป อีกนั่นแหละ ไอ้นั่นแหละสำคัญ ถ้ารู้ไม่จริง ไม่สิ้นสุดสงสัย เป็นอวิชชาทีเดียว

    นี่ให้รู้จักอย่างนี้ แต่ว่าพูดถึงอวิชชาก็มันเลยไปๆ จะว่าอาสวะของกามก่อน อาสวะ ของภพต่อไป อาสวะของภพเป็นอย่างไร อาสวะของภพนะ มีรสมีชาติแบบเดียวกัน ที่เรา อาศัยอยู่นี้ สิ่งที่มี ที่เป็นแก่เรา นี้เรียกว่า ภพ รูปมามีมาเป็นแก่เรา ก็มีเป็นภพอันหนึ่ง ไม่ว่า อะไรหละ ถ้ามันมามีแก่เราผืนหนึ่ง ก็เป็นภพอันหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งอะไร ผ้านุ่งผ้าห่มมามีแก่เรา ก็เป็นภพ เรียกว่า ภพ ภพ แปลว่า มี ว่า เป็น มันมีปรากฏว่าเป็นภพขึ้น สิ่งที่มามีมาเป็น สิ่งนั้นที่มาปรากฏขึ้นแล้ว อยากได้บ้านเรือน บ้านเรือนมาปรากฏเป็นภพขึ้นแล้ว อยากได้ไร่ ได้นา ไร่นามาปรากฏขึ้นเป็นภพขึ้นแล้ว อยากได้อะไรสิ่งนั้นมาปรากฏเป็นภพขึ้น ที่มีเป็น เห็นปรากฏ ที่เรากำหนดว่า เป็นเรา เป็นของเรา ก็นั่นแหละเป็นตัวภพ ทั้งนั้น กามภพ รูปภพ กามภพ ไอ้นั่นเป็นกามภพ รูปภพ ปรากฏ รูปภพ อรูปภพ 2 ประการนี้ กามภพติด อยู่ในกาม ติดอยู่กามนี้ รูปภพละ เอาพวกเทวดา พวกที่ได้รูปฌาน อรูปฌาน ไปติดอยู่ แกะไม่ออกอีกเหมือนกัน อรูปภพ ไปติดอยู่ในอรูปฌาน แกะไม่ออก ติดอยู่เหมือนกัน ต้อง กลับมาเกิด เวียนว่ายตายเกิดอยู่ ไม่จบไม่แล้ว เพราะไอ้ที่ไปยินดีติดอยู่ในรูปภพ อรูปภพนะ นั่นอาสวะ มันตรึงเข้าไว้ ชาติมันมีอยู่ ถอนไม่ออก ถอนเสียดายมัน จะทิ้งก็เสียดายมัน ถ้าจะถอนจริงๆ ก็เสียดายมัน มันไม่กล้าถอน เสียดายมัน ไอ้เสียดายนั่นตัวสำคัญนัก ถึงได้ติดอยู่ในภพ รูปภพ ก็ยิ่งติดอยู่ในรูปภพ อรูปภพ ติดแบบเดียวกันนั่น เพราะอาสวะ มันดึงเข้าไว้ มันเป็นเครื่องเหนี่ยวเครื่องรั้งดึงดูดไว้ ผักเสี้ยนแท้ๆ ยังไม่ได้ดอง รสชาติไม่ดี เหม็นเขียว แต่เมื่อดองเข้า เปรี้ยวเข้า เค็มๆ ดีเท่านั้นแหละ มีรสอร่อยเกินผักเสี้ยน ผักเสี้ยน อร่อยเหลือเกิน น้ำพริกขี้หนูจิ้มให้ดีๆ หาแกล้มให้ดีๆ เข้า ว่าลืมอื่นหมดทีเดียว นั่นแหละ รสของผักกาดดองหละ ไม่ใช่เล่นๆ ตัวสำคัญ รสเหมือนกันหมดแบบเดียวกัน กามภพก็ดี รูปภพก็ดี ที่ติดอยู่ในภพนะ ติดอยู่ในรสชาติของภพนั่นเอง ในกามภพที่มีรสชาติของภพ นั่นเอง ในกามภพที่มีรสชาติสำคัญนัก รูปภพก็มีรสชาติประเสริฐเลิศกว่ากามภพอีก อรูปภพก็เลิศประเสริฐกว่ากามภพอีก ประเสริฐเลิศกว่ารูปภพอีก นี้ให้รู้ว่า อาสวะของภพ นะเป็นอย่างนี้ ไม่ใช่แต่เพียงอาสวะของภพเท่านั้น อวิชชาก็มีอีกด้วย ไม่ใช่ละทิ้ง อวิชชานั่น ตัวไม่รู้ไม่จริงในภพ ไม่สิ้นสงสัย ติดอยู่ในภพนั่น อยากจะอยู่ในภพ อยากจะติดอยู่ในภพ ร่ำไป เพราะอวิชชานั่นเป็นตัวสำคัญนัก นี่เรียกว่า ติดอยู่ในภพ เรียกว่า ภวาสวะ ส่วน ทิฏฐาสวะ ไม่อยู่ในประเด็นนี้ แต่เอามาอธิบายด้วย ติดอยู่ในความเห็น (ผิด)

    ความเห็นนั่นไม่ใช่พอดีพอร้ายนะ รบกับเกาหลีนะ รบกับไต้หวันนะ เวลานี้นั่นนะ รบกันยุ่งเหยิงหมด ยุ่งยากมากมายเทียวนะ นั่นแหละ นั่นเรื่องอะไรละ ทิฏฐาสวะ ความเห็น นั่นมันไม่ตรงกันหละ มันแก่งแย่งกันหละ มันไม่ถูกต้องร่องรอยกัน อวดความเห็น อวดเชิด ความเห็นกันหละ ต้องประหารซึ่งกันและกัน ไม่ใช่พอดีพอร้าย ทิฏฐินะ นั่งอยู่ดีๆ นะ ลุกขึ้น รบ ขึ้นตี ขึ้นต่อย ขึ้นยิง ขึ้นแทงกันทีเดียว นั่นเพราะอะไร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะความเห็นของ ตัวไม่ตรงกัน ทำตามความเห็นของตัว ความเห็นมันก็มีรสมีชาติเหมือนกัน ไม่ใช่พอดีพอร้าย เออ! เวลาจะไม่พอ ย่อเสียเถอะ แบบเดียวกัน รู้จักความเห็นละก้อ เป็นอาสวะเหมือนกัน ยังมีอวิชชาแอบอยู่ด้วย อวิชชาสวะอยู่กลางๆ รู้ไม่จริงด้วย ไอ้รสชาติของรู้ไม่จริง มันก็เหมือน เกลือกกลั้วอยู่เต็มไปด้วยทีเดียว ถอนไม่ออกทีเดียว รู้ไม่จริง ด้วยรสชาติของรู้ไม่จริง มัน บังคับบัญชาแน่นหนาอยู่ ออกไม่ได้ ถ้าไก่ก็ติดอยู่ในกระเปาะฟองไข่ ถ้ามนุษย์ติดอยู่ใน กามภพ ติดอยู่ในรูปภพ ติดอยู่ในอรูปภพ ออกไม่ได้ เพราะอวิชชาสวะนี้เองออกไม่ได้ ถ้ารู้จัก อวิชชาสวะแล้ว เหมือนอย่างกับพระอรหัตที่แสดงในเบื้องต้นนั้นนั่นแหละ พ้นจากอวิชชาไป นี่อาสวะเป็นสำคัญ นี้ตั้งใจจะอธิบายในเรื่องอวิชชาสวะนี้ให้เข้าใจ กามาสวะ ภวาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ

    อวิชชาสวะ นี่สำคัญนักทีเดียว เมื่อเข้าใจดีแล้วจะได้พาตนหลีกลัดลุล่วงพ้นจาก เครื่องถ่วง เครื่องรั้ง เครื่องตรึงทั้งหลายเหล่านี้ มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ท่านได้วางใน บทเบื้องท้ายว่า ตตฺถ อปฺปมาเทน สมฺปาเทตพฺพํ ในเหตุนี้ ท่านทั้งหลายไม่ควรประมาท อย่าเลินเล่ออย่าเผลอตัว ถ้าเผลอตัวไป วันคืนล่วงไปๆๆ นะ ไม่รอใครนะ เรารอใครก็ช่าง เถอะ ความตายไม่รอเลย ความตายไม่รอเลยสักวินาทีเดียว วันคืนเดือนปีล่วงไปเท่านั้น ท่าน จึงได้วางตำรับตำราไว้ว่า อจฺเจนฺติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปพฺพํ ชหนฺติ เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน กุสลานิ กยิราถ สุขาวหานิ แปลเนื้อความว่า กาลเวลาผ่านไป ราตรี ล่วงไป ชั้นของวัยละลำดับไป ไม่เหลือเลย เด็กก็ละเรื่อยไปจนถึงแก่เฒ่าชรา ละหมดไม่เหลือ เลย ละไป ผู้มีปัญญาเห็นเหตุนี้ว่าเป็นภัยในความตายทีเดียว ก็ความตายทั้งนั้น พวกนี้ไม่ใช่ อะไร มีชีวิตอยู่ทั้งนั้น ว่าข้อนี้เป็นภัยในความตาย

    ท่านทั้งหลายเมื่อรู้จักเช่นนี้แล้ว ก็ควรเร่งทำบุญ บุญทั้งหลายนั่นแหละ อันจะนำ ความสุขมาให้ เหมือนเจ้าภาพได้อุตส่าห์มาทำบุญทำกุศลวันนี้ เข้าใจว่ากาลล่วงไปกาล ผ่านไป ราตรีล่วงไป ชั้นของวัยก็ละลำดับไปไม่เหลือเลย เพราะฉะนั้น จึงได้เร่งอุตส่าห์ พยายามอยู่ถึงนครชัยศรี รวมกันมาเกือบตั้ง 50 คน หรือ 50 คนกว่าเสียอีก วันนี้มาบริจาค ทานที่วัดปากน้ำ มาทำกุศลนี่แหละ ทำกุศลแล้วได้กุศลนั่นแหละ จะให้ถึงซึ่งความสุขแท้ เหตุนี้แล ท่านบรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า ด้วยอำนาจสัจจวาจาที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติเทศนามาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดา มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติยุติ ธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
     
  5. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    โพชฌงคปริตร


    lphor_tesna_vn.jpg


    4 มิถุนายน พ.ศ. 2497

    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (3 หน)

    ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา. เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส.

    โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา
    วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิ- โพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร
    สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา
    มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา
    สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
    เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ
    คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ
    เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
    เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต
    จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ
    สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา
    ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ
    มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ
    เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ
    ณ บัดนี้อาตมภาพจักได้แสดงความจริงความสัตย์ ซึ่งปรากฏชัดตามตำรับตำราอันมี มาในโพชฌงคปริตร จะแสดงตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการสนองประคองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านผู้พุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า

    เริ่มต้นธรรมเทศนาว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ เป็นอาทิ นี้เป็นคำของพระอังคุลิมาลเถรท่านแสดงไว้ ท่านเชิดความจริงความสัตย์ของท่าน ให้พุทธบริษัทจำไว้เป็นเนติแบบแผน เมื่อครั้งหนึ่งพระองคุลิมาลเถร ไปพบหญิงปวดครรภ์ เต็มที่ จะคลอดบุตร แต่มันคลอดไม่ออก มันจะถึงกับตาย ร้องให้พระองคุลิมาลเถรช่วย พระองคุลิมาลเถรจึงได้เปล่งวาจาช่วยหญิงคลอดบุตรนั้นว่า ยโตหํ ภคินิ อริยาย ชาติยา ชาโต นาภิชานามิ สญฺจิจฺจ ปาณํ ชีวิตา โวโรเปตา เตน สจฺเจน โสตฺถิ เต โหตุ โสตฺถิ คพฺภสฺส. แปลเป็นสยามภาษาว่า ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่มีใจแกล้งเลย ที่จะปลงสัตว์ที่มีชีพและชีวิต ด้วยความสัตย์อันนี้ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่าน พอขาดคำเท่านี้ หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว หายจากทุกข์ภัยกัน การคลอดบุตรเมื่อคลอดเสียแล้ว มันก็หายทุกข์หายภัย หายลำบากแก่มารดาผู้คลอด เหมือน ท้องผูกถ่ายอุจจาระไม่ออก มันก็เดือดร้อนแก่เจ้าของ แต่พอออกมาเสียแล้วก็หมดทุกข์กัน นี้ ด้วยความสัตย์อันนี้แหละ คลอดบุตรก็ง่ายเต็มที นี่บทต้น

    บทที่ 2 รองลงไป นี่พระองค์ทรงรับสั่งเองว่า โพชฺฌงฺโค สติสงฺขาโต ธมฺมานํ วิจโย ตถา วิริยมฺปีติปสฺสทฺธิโพชฺฌงฺคา จ ตถาปเร สมาธุเปกฺขโพชฺฌงฺคา สตฺเต เต สพฺพทสฺสินา มุนินา สมฺมทกฺขาตา ภาวิตา พหุลีกตา สํวตฺตนฺติ อภิญฺญาย นิพฺพานาย จ โพธิยา เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา. แปลเป็นสยามภาษาว่า โพชฌงค์ 7 ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, ธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, วิริยสัมโพชฌงค์ ประการ หนึ่ง, ปีติสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, สมาธิสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง, อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ประการหนึ่ง เหล่านี้ อันพระมุนีเจ้าผู้ทรงเห็นธรรม ทั้งปวง กล่าวไว้ชอบแล้ว ภาวิตา พหุลีกตา อันบุคคลเจริญธรรมให้มากแล้ว สํวตฺตนฺติ ย่อม เป็นไปพร้อม อภิญฺญาย เพื่อความรู้ยิ่ง นิพฺพานาย เพื่อนิพพาน โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความสัตย์อันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่เป็นบทต้น ของโพชฌงค์

    บทที่ 2 รองลงไป เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทา. เอกสฺมึ สมเย ในสมัยอันหนึ่ง นาโถ พระโลกนาถเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็น พระโมคคัลลานะและพระกัสสปะอาพาธถึงซึ่งความเวทนาแล้ว ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ท่านทั้ง 2 คือพระโมคคัลลานะกับพระกัสสปะ ยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า โรคก็หายไปในขณะนั้น ด้วยอำนาจความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านในกาล ทุกเมื่อ

    บทที่ 3 ต่อไป เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน สาทรํ สมฺโมทิตฺวา จ อาพาธา ตมฺหา วุฏฺฐาสิ ฐานโส เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพาทา. เอกทา ครั้งหนึ่ง ธมฺมราชาปิ แม้พระธรรมราชาคือพระพุทธเจ้าผู้เป็น เจ้าของธรรม เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ผู้อันอาพาธเบียดเบียนแล้ว จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงซึ่งโพชฌงค์นั้นแหละ พระองค์ทรงสดับโพชฌงค์ เช่นนั้นแล้ว ร่าเริงบันเทิงพระทัย อาพาธก็หายไปโดยฐานะอันนั้น เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วย อำนาจความสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ

    บทที่ 4 ต่อไป ปหีนา เต จ อาพาธา ติณฺณนฺนมฺปิ มเหสินํ มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ เอเตน สจฺจวชฺเชน โสตฺถิ เต โหตุ สพฺพทาติ. อาพาธทั้งหลายเหล่า นั้น อันท่านผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ทั้ง 3 ท่าน ละได้แล้ว ถึงซึ่งความไม่เกิดขึ้นอีกเป็น ธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคบำบัดแล้ว หรืออันมรรคกำจัดแล้ว ด้วยอำนาจสัจจวาจานี้ ขอ ความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่แปลมคธเป็นสยามภาษาฟังเพียงแค่นี้ ท่านผู้แปลบาลีฟัง ออก เข้าใจแล้ว แต่ว่าท่านผู้ไม่ได้เรียนอรรถแปลแก้ไขยังไม่เข้าใจ ต้องอรรถาธิบายลงไปอีก ชั้นหนึ่ง

    ในบทต้นว่าพระองคุลิมาลเถรเจ้า ท่านเป็นผู้กระทำบาปหยาบช้ามากนัก ก่อนบวชใน พระธรรมวินัยของพระศาสดา ฆ่ามนุษย์เสีย 999 ชั้นต้นก็ทำดีมา ได้เล่าเรียนศึกษาวิชา จวนจะสำเร็จแล้ว ถูกอาจารย์ลงโทษจะทำลายชีวิตเสีย เกิดต้องทำกรรมหยาบช้าลามก เศร้าโศกเสียใจเหมือนกัน ฆ่ามนุษย์เกือบพัน 999 คน พระทศพลเสด็จไปทรมานองคุลิมาลโจรนั้น ละพยศร้าย กลับกลายบวชเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ชาวบ้านชาวช่องกลัวกันนัก ขึ้นชื่อว่าองคุลิมาลโจรละก้อ ซ่อนตัวซ่อนเนื้อทีเดียว กลัวจะทำลายชีวิตเสีย กลัวนักกลัวหนา กลัวยิ่งกว่าเสือยิ่งกว่าแรด ไปอีก เพราะเหตุว่าองคุลีมาลโจรผู้นี้เป็นคนร้ายสำคัญ ถ้าว่าจะฆ่าใครแล้วไม่กลัวใครทั้งนั้น ฆ่าแล้วตัดเอาองคุลีไปร้อย จะไปเรียนวิชาเป็นเจ้าโลก เมื่อจำนนฤทธิ์พระบรมศาสดาเข้า ยอมบวชในพระธรรมวินัยของพระศาสดาแล้ว บวชแล้วไปบิณฑบาต หญิงท้องแก่ท้องอ่อน ไม่เข้าใจ พอได้ยินข่าวว่าพระองคุลิมาลมาละก้อ ซ่อนเนื้อซ่อนตัว วิ่งซุกวิ่งซ่อนกัน ได้ข่าว ว่าหญิงท้องแก่ลอดช่องรั้ว ลูกทะลักออกมาทีเดียว ด้วยกลัวพระองคุลิมาล คราวนี้ท่านไป ในที่สมควร หญิงที่กำลังจะคลอดบุตรอยู่นั่นหนีไม่พ้น ไปไม่ได้ ก็ร้องให้องคุลิมาลช่วย พระองคุลิมาลเป็นพระอรหันต์แล้ว สงสารหญิงที่กำลังคลอดบุตรนั้น ก็กล่าวคำสัตย์คำจริง ขึ้นว่า ยโตหํ ภคินิ ฯลฯ ว่า ดูก่อนน้องหญิง เราเมื่อได้เกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่ได้แกล้ง ปลงสัตว์จากชีวิตเลย ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่าน ขอความสวัสดี จงมีแก่ครรภ์ของท่าน ขาดคำเท่านี้หญิงนั้นคลอดบุตรผลุดทีเดียว นี่ยกข้อไหนให้จำไว้เป็น ตำรับตำรา เป็นภิกษุก็ดี เป็นอุบาสกอุบาสิกก็ดี ในพระธรรมวินัยของพระศาสดา ในศาสนา ของพระพุทธเจ้า นี้เป็นคำของพระอรหันต์ พระองคุลิมาลท่านเป็นพระอรหันต์เสียแล้ว ท่านจะกล่าวถ้อยคำว่าตั้งแต่ท่านเกิดมาไม่ได้ฆ่าสัตว์เลยนะ ไม่ได้มีใจแกล้งฆ่าสัตว์เลยนะ ท่านกล่าวไม่ได้ ท่านเป็นคนร้ายมา พึ่งกลับมาเป็นคนดีเมื่อได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์แล้ว เมื่อเกิดเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านจึงได้ชี้ชัดว่า จำเดิมแต่เราเกิดแล้วโดยชาติเป็นอริยะ ไม่ได้ แกล้งปลงสัตว์จากชีวิตเลย นี่ความจริงของท่าน ท่านยกเอาความจริงอันนี้แหละขึ้นเชิดที่ ท่านเป็นผู้ประเสริฐ เป็นอริยบุคคลในธรรมวินัยของพระศาสดา ขอความจริงอันนี้แหละ จงบันดาลเถิด ท่านขอความจริงอันนี้ อธิษฐานด้วยความจริงอันนี้ พอขาดคำของท่านเท่านั้น ลูกคลอดทันที นี่ความสัตย์ยกความจริงขึ้นพูด

    ไม่ใช่แต่พระองคุลิมาลเท่านั้นที่ยกความจริงขึ้นพูด หญิงแพศยาทำฤทธิ์ทำเดชได้ ยกความจริงขึ้นพูดเหมือนกัน หญิงแพศยาคนหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินยกพยุหเสนาไปพักอยู่ที่ แม่น้ำใหญ่ ว่ายข้ามก็จะไม่พ้น น้ำไหลเชี่ยวเป็นฟอง ไหลปราดทีเดียว เมื่อเขาตั้งพลับพลา ให้พักอยู่ที่คันแม่น้ำใหญ่เช่นนั้น ท่านทรงดำริว่า แม่น้ำใหญ่ไหลเชี่ยวขนาดนี้ จะมีใครผู้ใด ผู้หนึ่งอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้บ้าง ทรงดำริดังนี้ รับสั่งแก่มหาดเล็กเด็กชาของ พระองค์ มหาดเล็กเด็กชาของพระองค์ก็ไปเที่ยวป่าวร้องหาว่าผู้ใดใครผู้หนึ่งอาจสามารถ ทำให้น้ำในแม่น้ำนี้ไหลกลับขึ้นได้บ้าง หญิงแพศยาคนหนึ่งรับทีเดียว ว่าฉันเองจะทำให้ น้ำไหลกลับได้ เพราะนางเป็นแพศยาก็จึงมั่นใจว่าชายคนใดไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ให้เงินเพียงค่าบาทหนึ่ง ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ให้เงินค่า 2 บาท ปฏิบัติเพียงเท่านี้ 3 บาท ปฏิบัติเพียงเท่านี้ พอแก่ค่าของเงินเท่านั้น เหมือนกันไม่ได้ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าชั้นสูง ชั้นกลาง ชั้นต่ำ ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง ทำไปตามหน้าที่ของตัว ความสัตย์มีอย่างนี้ นางเมื่อ ราชบุรุษพาไปเฝ้าพระเจ้าแผ่นดิน พระเจ้าแผ่นดินทรงรับสั่งว่า เจ้าหรือ อาจจะทำให้น้ำไหล กลับได้ พะย่ะค่ะ หม่อมฉันอาจสามารถจะทำให้น้ำไหลกลับได้ เจ้าจะต้องการอะไร ธูปเทียนดอกไม้จะหาให้ ถ้าเจ้าทำน้ำให้ไหลกลับได้ตามคำกล่าวของเจ้าแล้ว เราจะรางวัล ให้หนักมือทีเดียว ถ้าว่าเจ้าทำน้ำไหลกลับไม่ได้ เจ้าจะมีโทษหนักทีเดียว นางจุดธูปเทียนตั้ง สัตยาธิษฐานหันหน้าไปทางด้านแม่น้ำ ยกเอาความสัตย์นั่นเองอธิษฐานว่า เดชะปุญญาภินิหารความสัตย์ความจริงของหม่อมฉันได้สั่งสมอบรมมา ตั้งแต่เป็นหญิงแพศยา ได้ปฏิบัติ ชายผู้หนึ่งผู้ใดที่มาหาข้าพเจ้า ข้าพเจ้าปฏิบัติโดยค่าควรแก่บาทหนึ่ง ควรแก่ 2 บาท ควร แก่ 3 บาท ตามหน้าที่ ความจริงทำอยู่ดังนี้ ไม่ได้เคลื่อนคลาดไปแต่อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าว่าความสัตย์จริงอันนี้ของหม่อมฉัน จริงดังหม่อมฉันอธิษฐานดังนี้แล้ว ขออำนาจความ สัตย์นี้ จงบันดาลให้น้ำไหลกลับโดยฉับพลันเถิด พออธิษฐานขาดคำเท่านั้น น้ำไหลกลับอู้ ไหลลงเชี่ยวเท่าใดก็ไหลขึ้นเชี่ยวเท่านั้นเหมือนกัน พอกันทีเดียว พระเจ้าแผ่นดินเห็นอัศจรรย์ เช่นนั้น ก็ให้เครื่องรางวัลแก่หญิงแพศยานั่นอย่างพอใจ ให้เป็นนายหญิงแพศยาต่อไป แล้ว ก็ให้บ้านส่วยสำหรับพักพาอาศัยอยู่ไม่ขาดตกบกพร่องใดๆ ละ เป็นสุขสำราญเบิกบานใจ ทีเดียว หญิงแพศยาผู้นั้น

    นี่ความสัตย์โดยความชั่วยังเอามาใช้ได้ ส่วนพระองคุลิมาลเถรเจ้านี้ ท่านยกสัตย์ ที่ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ขึ้นอธิษฐาน หญิงคลอดบุตรไม่ออก พอขาดคำ หญิงคลอดบุตร ผลุดออกไป อัศจรรย์อย่างนี้ นี่ใช้ความสัตย์อย่างนี้ ติดขัดเข้าแล้ว อย่าเที่ยวใช้เรื่องเลอะๆ เหลวๆ บนผีบนเจ้า นั่นไม่ได้ยินได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าพระอรหันต์เลย พวกนั้นไม่ได้ ฟังธรรมของสัตบุรุษเลย ความเห็นจึงได้เลอะเทอะเหลวไหลเช่นนั้น ไม่ถูกหลักถูกฐาน ถูกทางพุทธศาสนา ถ้าว่ารู้จักหลักทางพุทธศาสนาแล้ว ต้องยกความขึ้นพูดความสัตย์ความ จริง นั่นเป็นข้อสำคัญ ถ้าความบริสุทธิ์ของศีลมีอยู่ ก็ต้องยกความบริสุทธิ์นั่นแหละขึ้นพูด หรือความบริสุทธิ์ของสมาธิมีอยู่ ก็ยกความบริสุทธิ์ของสมาธิขึ้นพูดขึ้นอธิษฐาน หรือแม้ว่า ความจริงของปัญญามีอยู่ก็ยกความจริงของปัญญานั้นขึ้นอธิษฐาน หรือความสัตย์ความจริง ความดีอันใดที่ทำไว้แน่นอนในใจของตัว ให้ยกเอาความดีอันนั้นแหละขึ้นอธิษฐาน ตั้งอก ตั้งใจ บรรลุความติดขัดทุกสิ่งทุกประการ ให้รู้จักหลักฐานดังนี้

    นี่ในเรื่องพระองคุลิมาลเถรเจ้าเป็นสาวกของพระบรมศาสดา พระศาสดาทรงรับสั่ง ไว้ในโพชฌงคกถา หรือ โพชฺฌงฺคปริตฺตํ นั้น ปรากฏว่า โพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ ตั้งแต่ สติสัมโพชฌงค์ จนกระทั่ง อุเบกขาสัมโพชฌงค์ ทั้ง 7 ประการเหล่านี้แหละ อันพระมุนีเจ้า ผู้เห็นธรรมทั้งสิ้น ได้กล่าวไว้ชอบแล้ว ถ้าว่าบุคคลใดเจริญขึ้นกระทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน เพื่อความตรัสรู้ ความจริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ ข้อนี้เป็นข้อสำคัญ สติสัมโพชฌงค์ เราจะพึงปฏิบัติ อย่างไร จึงจะได้บรรลุมรรคผลสมมาดปรารถนา ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์

    สติสัมโพชฌงค์ เราต้องเป็นคนไม่เผลอสติเลย เอาสตินิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ ทำให้เป็นกายมนุษย์นั่น ตั้งสติตรงนั้นทำใจให้หยุด ไม่หยุดก็ไม่ยอม ทำให้หยุดไม่เผลอทีเดียว ทำจนกระทั่งใจหยุดได้ นี่เป็นตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ ไม่เผลอเลยทีเดียว ที่ตั้งที่หมายหรือ กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กนั่น ใจหยุด ตรงนั้น เมื่อทำใจหยุดตรงนั้น ไม่เผลอสติทีเดียว ระวังใจหยุดนั้นไว้ นั่งก็ระวังใจหยุด นอน ก็ระวังใจหยุด เดินก็ระวังใจหยุด ไม่เผลอเลย นี่แหละตัวสติสัมโพชฌงค์แท้ๆ จะตรัสรู้ต่างๆ ได้เพราะมีสติสัมโพชฌงค์อยู่แล้ว

    ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ เมื่อสติใจหยุดนิ่งอยู่ก็สอดส่องอยู่ ความดีความชั่วจะเล็ดลอด เข้ามาท่าไหน ความดีจะลอดเข้ามา หรือความชั่วจะลอดเข้ามา ความดีลอดเข้ามาก็ทำใจ ให้หยุด ความชั่วลอดเข้ามาก็ทำใจให้หยุด ดีชั่วไม่พ่องแพวไม่เอาใจใส่ ไม่กังวล ไม่ห่วงใย ใจหยุดระวังไว้ไม่ให้เผลอก็แล้วกัน นั่นเป็นตัวสติวินัย ที่สอดส่องอยู่นั่นเป็นธัมมวิจัยสัมโพชฌงค์

    วิริยสัมโพชฌงค์ เพียรรักษาใจหยุดนั้นไว้ไม่ให้หาย ไม่ให้เคลื่อนทีเดียว ไม่เป็นไปกับ ความยินดียินร้ายทีเดียว ความยินดียินร้าย เป็น อภิชฌา โทมนัส เล็ดลอดเข้าไปก็ทำใจหยุด นั่นให้เสียพรรณไป ให้เสียผิวไป ไม่ให้หยุดเสีย ให้เขยื้อนไปเสีย ให้ลอกแลกไปเสีย มัวไป ดีๆ ชั่วๆ อยู่เสียท่าเสียทาง เพราะฉะนั้นต้องมีความเพียรกลั่นกล้ารักษาไว้ให้หยุดท่าเดียว นี้ได้ชื่อว่า วิริยสัมโพชฌงค์ เป็นองค์ที่ 3

    ปีติสัมโพชฌงค์ เมื่อใจหยุดละก้อ ชอบอกชอบใจ ดีอกดีใจ ร่าเริงบันเทิงใจ อ้ายนั่นปีติ ปีติที่ใจหยุดนั่น ปีติไม่เคลื่อนจากหยุดเลย หยุดนิ่งอยู่นั่น นั่นปีติสัมโพชฌงค์ นี้เป็นองค์ที่ 4

    ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิ แปลว่า ระงับซ้ำ หยุดในหยุดๆๆ ไม่มีถอยกัน พอหยุด ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั่น หยุดในหยุด หยุดในหยุดนั่นทีเดียว นั่นปัสสัทธิ ระงับซ้ำเรื่อย ลงไป ให้แน่นหนาลงไว้ไม่คลาดเคลื่อน ปัสสัทธิ

    มั่นคงอยู่ที่ใจหยุดนั่น ไม่ได้เป็นสองไป เป็นหนึ่งทีเดียว นั่นเรียกว่า สมาธิ ทีเดียว นั่นแหละ

    พอสมาธิหนักเข้าๆ หนึ่งเฉยไม่มีสองต่อไป นี่เรียกว่า อุเบกขา เข้าถึงหนึ่งเฉยแล้ว อุเบกขาแล้ว

    นี่องค์คุณ 7 ประการอยู่ทีเดียว นี่อย่าให้เลอะเลือนไป ถ้าได้ขนาดนี้ ภาวิตา พหุลีกตา กระทำเป็นขึ้นแค่นี้ กระทำให้มากขึ้น สํวตฺตนฺติ ย่อมเป็นไปพร้อม อภิญฺญาย เพื่อรู้ยิ่ง นิพฺพานาย เพื่อสงบระงับ โพธิยา เพื่อความตรัสรู้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้แหละ ขอความ สวัสดีจงมีแก่ท่านในทุกกาลทุกเมื่อ ความจริงอันนี้ถ้ามีจริงอยู่อย่างนี้ละ รักษาเป็นแล้ว

    รักษาโพชฌงค์เป็นแล้ว อธิษฐานใช้ได้ ทำอะไรใช้ได้ โรคภัยไข้เจ็บแก้ได้ ไม่ต้องไป สงสัยละ ความจริงมีแล้วโรคภัยไข้แก้ได้ แก้ได้อย่างไร ท่านยกตัวอย่างขึ้นไว้ เอกสฺมึ สมเย นาโถ โมคฺคลฺลานญฺจ กสฺสปํ คิลาเน ทุกฺขิเต ทิสฺวา โพชฺฌงฺเค สตฺต เทสยิ เต จ ตํ อภินนฺทิตฺวา โรคา มุจฺจึสุ ตํขเณ. เอกสฺมึ สมเย ในสมัยหนึ่ง นาโถ พระโลกนาถเจ้าทรง ทอดพระเนตรทรงดูพระโมคคัลลานะและพระกัสสปะ อาพาธถึงซึ่งทุกขเวทนา อาพาธเกิด เป็นทุกขเวทนา ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 ดังกล่าวแล้ว ที่แสดงแล้วนี่ ทรงแสดงโพชฌงค์ ทั้ง 7 ให้ทำใจหยุดลงไว้ ให้นิ่งลงไว้ เมื่อพระองค์ทรงแสดงโพชฌงค์ทั้ง 7 แล้ว ท่านทั้ง 2 พระโมคคัลลานะ กับ พระกัสสปะ มีใจร่าเริงบันเทิงในภาษิตของพระองค์นั้น โรคหายใน ขณะนั้น นี่ความสัตย์อันนี้ ความจริงอันนี้ โรคหายทีเดียว ได้ศักดิ์สิทธิ์อย่างนี้ ทั้ง 3 ท่านนี้ พระโมคคัลลานะก็ดี พระกัสสปะก็ดี พระพุทธเจ้าก็ดี ท่านผู้แสวงซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ ท่านเป็น ผู้สำเร็จแล้วยังมีโรคเข้ามาเบียดเบียนได้ เบียดเบียนก็ใช้โพชฌงค์กำจัดเสีย ไม่ต้องไปกินหยูก กินยาที่ไหนเลยสักอย่างหนึ่ง โพชฌงค์เท่านั้นแหละโรคหายไปหมด ดังวัดปากน้ำบัดนี้ ก็ใช้ วิชชาบำบัดโรคเช่นนี้เหมือนกัน ใช้บำบัดโรคไม่ต้องใช้ยา ตรงกับทางพุทธศาสนาจริงๆ อย่างนี้ นี่ชั้นหนึ่ง

    นี่พระองค์เอง พระองค์ทรงเอง คราวนี้โดนพระองค์เข้าบ้าง เอกทา ธมฺมราชาปิ เคลญฺเญนาภิปีฬิโต ครั้งหนึ่งแม้พระธรรมราชาคือพระพุทธเจ้า ผู้เป็นเจ้าของพระธรรมเอง อันอาพาธเข้าบีบคั้นแล้ว จุนฺทตฺเถเรน ตญฺเญว ภณาเปตฺวาน ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดง โพชฌงค์ 7 ประการนั้นด้วยความยินดี สมฺโมทิตฺวา ทรงบันเทิงพระทัยในโพชฌงค์ที่พระจุนทเถร ทรงแสดงถวายนั้น อาพาธหายไปโดยฉับพลัน ด้วยฐานะอันสมควร ด้วยความสัตย์อันนี้ ขอ ความสวัสดีจงมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่พระองค์เองอาพาธ พระจุนทเถรแสดงสัมโพชฌงค์ระงับ ก็ หายอีกเหมือนกัน ในท้ายพระสูตรนี้ว่า ปหีนา เต จ อาพาธา อาพาธทั้งหลายเหล่านั้น อัน ท่านผู้แสวงหาซึ่งคุณอันยิ่งใหญ่ แม้ทั้ง 3 ละได้แล้ว มคฺคาหตกิเลสา ว ปตฺตานุปฺปตฺติธมฺมตํ ถึงซึ่งความไม่เกิดขึ้นอีกเป็นธรรมดา ดุจกิเลสอันมรรคกำจัดไปดังนั้น นี่ด้วยความสัตย์จริงอันนี้ ด้วยความกล่าวสัตย์อันนี้ ขอความสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทุกเมื่อ นี่ความจริงเป็นดังนี้

    ถ้าเรารู้จักพุทธศาสนาดังนี้ เราจะต้องปฏิบัติให้ถูกหลักฐานความจริงของพระพุทธศาสนา พระองคุลิมาลเถรเจ้า ท่านเป็นอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา เป็นขีณาสพแล้ว ท่าน ใช้ความสัตย์จริงของท่านขึ้นอธิษฐาน บันดาลให้หญิงคลอดบุตรไม่ออกให้ออกได้ตาม ความปรารถนา ส่วนโพชฌงค์ทั้ง 7 ประการ พระบรมศาสดาจารย์ทรงแสดงให้พระโมคคัลลานะ พระกัสสปะ กำลังอาพาธอยู่ก็หายโดยฉับพลัน แล้วส่วนพระองค์ท่านล่ะ อาพาธขึ้น ทรงรับสั่งให้พระจุนทเถรแสดงโพชฌงค์นั้น อาพาธของพระองค์ก็หายโดยฐานะอันสมควร ทีเดียว นี่หลักอันนี้โพชฌงค์เป็นตัวสำคัญ ประเสริฐเลิศกว่าโอสถใดๆ ในสากลโลกทั้งนั้น เหตุนี้ท่านผู้มีปัญญาเมื่อได้สดับมาในโพชฌงคปริตรนี้ จงมนสิการกำหนดไว้ในใจของตน ทุกถ้วนหน้า

    ที่ได้ชี้แจงแสดงมาตามวาระพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัตย์ที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติ ตั้งแต่ต้น จนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแด่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยม ความเพียงเท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
     
  6. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ในขณะนั่งสมาธิ เมื่อจิตเข้าถึงจุดที่ทำให้ตัวเรารู้สึกเบาสบาย จะเกิดความรู้สึกว่าหายใจไม่ออก รู้สึกว่าลมหายใจเบามาก ไม่ทราบว่า ปฏิบัติถูกวิธีหรือไม่ ? และมีวิธีแก้ไขอย่างไร ?

    ตอบ:

    ขณะที่จิตกำลังจะสงบได้ที่นั้น ลมหายใจจะค่อยๆ ละเอียด ค่อยๆ แผ่วไป จนเหมือนกับว่าไม่ได้หายใจ แต่ความจริงยังมี "ปราณ" คือลมละเอียดหล่อเลี้ยงอยู่ภายในร่างกายอยู่เป็นอย่างดี (อย่างโยคี ฤๅษี ที่อินเดีย เข้าฌานสมาธิ โดยไม่หายใจเลย บางคนก็เอาศีรษะฝังอยู่ในดิน ก็อยู่ได้หลายๆ ชั่วโมง ไม่ตาย ก็ด้วยเหตุผลเดียวกัน)

    เมื่อถึงจุดนี้ บางท่านก็ "ถอนจิตออก" มาจากศูนย์กลางกาย มาเกาะที่ร่างกายภายนอก แล้วรู้สึกเหมือนกับว่าตัวเองไม่ได้หายใจ จึงถอนจากสมาธิเพราะกลัวตายก็มี พยายามหายใจให้แรงขึ้น ทำให้จิตเคลื่อนจากสมาธิก็มี

    เพราะฉะนั้น ในเบื้องต้นโยมปฏิบัติมาถูกทางแล้ว จิตเริ่มสงบแล้ว แต่พยายามให้ใจหยุดนิ่งที่จุดเล็กใสกลางดวงใสที่ศูนย์กลางกายตลอด และปล่อยวางสิ่งต่างๆ รวมทั้งสังขารร่างกาย (ที่ยึดกันว่าเป็น) ของเราเสียทั้งหมด เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นของหยาบ การจะเข้าถึงธรรมชาติละเอียดภายในนั้น ต้องละวางของหยาบภายนอกได้ (อย่างน้อยที่สุดก็คือในขณะที่นั่งสมาธิอยู่นั้น)

    ดังเช่น เมื่อเห็นดวงใสแจ่มปรากฏขึ้นแล้ว ใจก็หยุดนิ่งที่ศูนย์กลางดวงนั้น ไม่ช้าศูนย์กลางดวงนั้นจะขยายออก ดวงใหม่ต่อๆ ไปจะปรากฏขึ้นอีก

    แล้วจะเห็นกายมนุษย์ละเอียดปรากฏขึ้นมา ก็ต้องปล่อยวางหรือ "ละ" ความรู้สึกอันเนื่องด้วยกายมนุษย์หยาบ สวมความรู้สึกเข้าไปเป็นกายมนุษย์ละเอียดที่เห็นนั้น (เรียกว่า ดับหยาบไปหาละเอียด) ใจหยุดนิ่งศูนย์กลางกายนั้น จะเห็นดวงในดวงผุดขึ้นมา

    แล้วจะเห็นกายละเอียดๆ กว่าเดิม ปรากฏขึ้นมาอีก เราก็ดับหยาบไปหาละเอียดต่อไปอีก จนถึงธรรมกาย
     
  7. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    วัตถุประสงค์ ของการตรวจจักรวาล ภพสาม( กามภพ รูปภพ อรุปภพ) และโลกันต์


    ก็เพื่อให้รู้เห็นธรรมชาติที่เป็นไปในภพ 3 และโลกันต์ ว่า เป็นสภาพที่ประกอบด้วยปัจจัยปรุงแต่ง (สังขาร/สังขตธรรม) อย่างไร ได้แก่ปรุงแต่งด้วยบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ปรุงแต่งด้วยบาป (อปุญญาภิสังขาร) และปรุงแต่งด้วยฌานสมาบัติที่ไม่หวั่นไหว (อเนญชาภิสังขาร)


    และเพื่อให้เห็นแจ้งรู้แจ้ง ในสามัญญลักษณะคือสภาวะที่เป็นเองเสมอกันหมดของสังขารธรรมทั้งหลายทั้งปวงว่า เป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา อย่างไร


    ให้เห็นสัจจธรรม คือ ทุกขสัจ และ สมุทัยสัจ ตามที่เป็นจริง และพัฒนาขึ้นเป็นความเห็นแจ้งรู้แจ้งในอีก 2 สัจจธรรมที่เหลือ คือ นิโรธสัจ และ มรรคสัจ


    อันเป็นการเจริญปัญญาจากการที่ได้ทั้งเห็นและทั้งรู้สภาวธรรมและสัจจธรรม ตามที่เป็นจริงอย่างแจ่มแจ้ง เป็นหนทางให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานตามรอยบาทพระพุทธองค์



    -----------------------------------------



    สำหรับผู้ที่ถึงธรรมกายแล้ว ก็ให้พิสดารกาย เจริญฌานสมาบัติพร้อมกันหมดทุกกายสุดกายหยาบกายละเอียด โดยอนุโลมปฏิโลมหลายๆ เที่ยว ให้ใสละเอียดหมดทุกกาย

    หากประสงค์จะตรวจดูความเป็นไปในภพ 3 ก็ให้น้อมเอาภพ 3 เข้ามาเป็นกสิณ คือมาไว้ ณ ศูนย์กลางกาย แล้วใช้ตาคือญาณพระธรรมกายตรวจดูความเป็นไปในแต่ละภพ เริ่มตั้งแต่ อรูปภพ 4 ชั้น รูปภพ 9 ชั้น (16 ภูมิจิต) ตลอดไปจนถึงกามภพ ทั้งสวรรค์ 16 ชั้น และ นรก 8 ขุมใหญ่ ซึ่งอยู่ใต้เขาพระสุเมรุลงไป ให้รู้เห็นความเป็นไปโดยตลอด หากประสงค์จะทราบบุพพกรรมคือกรรมเก่าที่กระทำไว้ในภพก่อนอย่างไร จึงได้มาเสวยผลบุญหรือผลบาปอยู่ในขณะนี้ ก็ไต่ถามดูได้
     
  8. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ในการบำเพ็ญภาวนา ความเพียรเป็นข้อสำคัญยิ่ง ต้องทำเสมอ ทำเนืองๆ ในทุก อริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน เดิน ยืน และทำเรื่อยไป อย่าหยุด อย่าละ อย่าทอดทิ้ง อย่า ท้อแท้ มุ่งรุดหน้าเรื่อยไป ผลจะเกิดวันหนึ่ง ไม่ต้องสงสัย ผลเกิดอย่างไร ท่านรู้ได้ด้วยตัว ของท่านเอง

    นี่หมายความว่ากระไร อะไรเป็นตน ตนคืออะไร นามรูปํ อนตฺตา ก็แปลกันว่า นามและรูปไม่ใช่ตน ถ้ากระนั้นอะไรเล่าจะเป็นตน ซึ่งจะได้ทำให้เป็นที่พึ่งแก่ตน

    รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เรียกว่าขันธ์ 5 เมื่อย่อเข้าเรียกอย่างสั้นก็เรียกว่า นามรูป โดย เอากองรูปคงไว้

    ส่วนกองเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ รวมกัน 4 กองนี้เรียกว่านาม ฉะนั้น ที่ว่านามรูปก็คือขันธ์ 5 นั่นเอง

    เมื่อขันธ์ 5 ไม่ใช่ตน จึงต้องถามว่าอะไรเล่าเป็นตน ถ้าค้นหาตนไม่พบก็ไม่รู้ว่าจะทำอะไรให้เป็นที่พึ่งแก่อะไร

    พระพุทธวจนะที่มีอยู่ว่า อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ ซึ่งแปลว่า ตนเป็นที่พึ่งแก่ตน จะมิได้มีทางออกหรือ ย่อมเป็นไปไม่ได้

    ได้เคยกล่าวมาข้างต้นบ้างแล้วว่า พระองค์ทรงสอน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็ด้วย พระปรีชาญาณอันสุขุมคัมภีรภาพ เพื่อให้คิดค้น

    พระองค์เน้นสอนทางอนัตตา ก็เพื่อให้ เห็นอัตตาเอาเอง สมในคำ สนฺทิฏฺฐิโก ซึ่งแปลว่า ธรรมของพระองค์นั้นผู้ที่ปฏิบัติย่อมเห็น เอง อกฺขาตาโร พระตถาคตเจ้าทั้งหลายเป็นแต่ผู้ทรงบอกแนวทางให้เท่านั้น

    ฉะนั้น เมื่อมีเรื่อง “อนัตตา” กับ “อัตตา” ยันกันอยู่ จึงต้องคิดค้นต่อไป ธรรมของ พระองค์จะขัดกันเองไม่ได้

    เพื่อที่จะไม่ให้ขัดแย้งกัน จึงต้องแบ่งอัตตาออกเป็น 2 อย่าง คือ อัตตาสมมติ กับ อัตตาแท้ อัตตาสมมติ ได้แก่ กายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม กายอรูปพรหม เพราะกายเหล่านี้ยังมีเกิด มีตาย เป็นกายส่วนโลกีย์

    ยังมีกายอีกกายหนึ่ง ซึ่งเป็นกายโลกุตตระ คือธรรมกาย ธรรมกายนี้แหละเป็นอัตตาแท้ หรือตนแท้...

    คัดลอกบางส่วนจาก
    พระธรรมเทศนา เรื่อง พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ
    เทศน์เมื่อ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๘ – ๓ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘
    โดย พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

    ghwWQ37LndDGPM6tZYgdM9exXTyA1L1ECNfT133Mnog2SLBMls3vFFe52KmQzjRrirgkHDKe&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  9. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ❓ถาม : ทำไมต้องมีดวงแก้วในการเจริญภาวนาธรรม ❓

    ตอบ : การที่เราจะสามารถเจริญวิชชาเพื่อดับอวิชชามูลรากฝ่ายเกิดได้นั้น จะต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนากัมมัฏฐาน

    สมาธิมุ่งกำจัดนิวรณ์
    ฝ่ายสมถะหรือภาคสมถะนั้นมุ่งหมายที่จะให้ใจสงบจากกิเลสนิวรณ์ ได้แก่ ความง่วงเหงาซึมเซาไม่กระปรี้กระเปร่าแห่งจิตใจ 1 ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรม 1 ความโกรธพยาบาท หงุดหงิดไม่สบายใจ 1 ความฟุ้งซ่านแห่งจิตใจ วิตกกังวลหรือนึกไปในเรื่องต่างๆ 1 ความยินดีพอใจยึดติดในกามคุณทั้ง 5 คือ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสทางกายอีก 1 ทั้ง 5 อย่างนี้รวมเรียกว่า กิเลสนิวรณ์ เครื่องกั้นปัญญา หัวหน้าใหญ่หรือรากเง่าของนิวรณ์ทั้ง 5 นี้ก็คือ อวิชชานิวรณ์ อวิชชานิวรณ์นี้เป็นกิเลสตัวสำคัญที่สุด จะต้องอาศัยวิชชาเป็นธรรมเครื่องกำจัด แล้วจะพลอยให้กิเลสต่างๆ ระงับลงได้ แต่การที่จะเข้าไปกำจัดอวิชชาได้ต้องเจริญวิชชา การที่วิชชาจะเจริญได้นั้น นิวรณ์ 5 ข้อแรกที่กล่าวถึงต้องหมดไป นี่มันเกี่ยวข้องกันอย่างนี้

    เมื่อนิวรณ์ 5 ข้อหมดไปแล้วใจจึงใส เมื่อใสแล้วหยุดรวมเป็นจุดเดียว ต้องเข้าใจว่าจิตใจที่ผ่องใสปราศจากนิวรณ์นั้น ใจต้องเป็นสมาธิแน่วแน่เป็นอารมณ์เดียว (เอกัคคตารมณ์) เพราะฉะนั้นบางครั้งเรามักพูดว่าทำสมาธิ ซึ่งหมายเอาว่าอบรมใจให้หยุดนิ่งอยู่ในอารมณ์เดียว แต่บางครั้งเราเรียกสมถกัมมัฏฐาน นั่นหมายเอาคุณสมบัติของใจ เมื่อจิตใจเป็นสมาธิแนบแน่นมั่นคงแล้วก็จะผ่องใสสะอาดบริสุทธิ์จากนิวรณ์

    องค์ฌาน
    แต่ความที่ใจจะสงัดจากนิวรณ์ได้ เป็นสมาธิแนบแน่นได้ ต้องยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ที่เรียกว่า วิตก วิจาร ตรึกตรองประคองนิมิต คือพอเราทำใจให้หยุด เกิดอุคคหนิมิต คือเห็นใสเพียงชั่วขณะแล้วหายไปนี่ เห็นๆ หายๆ อยู่เช่นนั้น จัดเป็นขั้นวิตก สมาธิได้แค่ขั้นอุปจารสมาธิ แต่ถ้าทำใจนั้นถึงเห็นปฏิภาคนิมิต คือนิมิตติดตา (แปลตามบาลีว่า นิมิตเทียบเคียง) หมายถึงว่า เห็นนิมิตติดตา จะนึกย่อนึกขยายก็ได้ พอจิตเข้าถึงปฏิภาคนิมิตแล้วน่ะ เรียกว่ายกจิตขึ้นสู่วิจาร และสมาธิระดับนี้เป็นสมาธิขั้น อัปปนาสมาธิ ความจริงนั้นวิตก คือเห็นอยู่ตั้งแต่อุคคหนิมิตนั่นแล้ว แต่ว่าทรงอยู่ไม่ได้นาน เมื่อทรงอยู่ได้นาน เรียกว่าวิจาร วันนั้นท่านเจ้าคุณราชปริยัติกวีท่านกล่าวถึงว่า ถ้าว่านกมันกำลังจะทะยานบินแล้วก็กระพือปีกบินพรึบๆๆ ไปเรื่อยนั้น อุปมาดั่งว่าวิตก จิตกำลังประคองนิมิตอยู่ ได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่ถ้าจิตเห็นปฏิภาคนิมิต ประคองเห็นได้นานติดตาอยู่อย่างนั้น เรียกว่า วิจาร เหมือนกับนกบินลอยอยู่ในนภากาศกางปีกก็ร่อนไปได้ วิตก วิจาร นี่เกิดขึ้นแล้วความมืดในใจก็หมดไป ใจก็สว่าง ถีนมิทธะคือความง่วงงุนก็หายไป ความท้อถอยก็หายไป จิตใจมีพลังขึ้นมาเชียว มีพลังสดชื่นขึ้น ใจสว่างก็หายง่วง และอีกประการหนึ่งวิจิกิจฉา ความลังเลสงสัยในการปฏิบัติธรรมในเบื้องต้นมันหมดไป นี่แหละ เมื่อจิตมีวิตก วิจาร เกิดขึ้น วิจิกิจฉาและถีนมิทธะมันหายไปเลย

    ทีนี้ ถ้าใจเป็นสมาธิสืบต่อไปอีกนิดเดียว คือหยุดในหยุดกลางของหยุดนิ่ง ปีติความยินดีที่ทรงความใสสว่างอยู่นั้นมันก็เกิด เมื่อปีติเกิดขึ้น ความโกรธพยาบาทหรือหงุดหงิดก็หายไป แต่ถ้าว่าตื่นเต้นมากเกินไป นิมิตก็จะหายไปเลย หรือว่าบางท่านว่า แหมอยากจะให้มันสว่างยิ่งกว่าเก่า บังคับใจกดใจลงไป ก็จะหายไปเลย เพราะฉะนั้นให้ทำใจกลางๆ สบายๆ หยุดในหยุด กลางของหยุด จิตมันจะลงศูนย์ หยุดนิ่ง แล้วจะยิ่งใสสว่างละเอียด พอมันพ้นจากปีติ ก็เข้าสู่สุข ด้วยความใสละเอียดของจิต ตรงนี้อุทธัจจกุกกุจจะคือความฟุ้งซ่านหมดไป ไม่มีแล้ว เพราะอะไร ? เพราะใจจะรวมหยุดนิ่งเสวยสุขอยู่ ในขณะที่เสวยสุขนี้เอง ใจก็ยิ่งหยุดในหยุดนิ่งเป็นเอกัคคตารมณ์ (เป็นหนึ่ง) ความที่ใจเป็นหนึ่งนี่ ความยินดีพอใจยึดติดอยู่ในกามคุณทั้ง 5 คือ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสทางกาย เป็นอันไม่มี ระงับไป นี่แหละองค์แห่งฌาน คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์ เมื่ออบรมจิตให้เกิดขึ้นแล้ว กิเลสนิวรณ์เครื่องกั้นปัญญาก็ดับไป ใจที่ขุ่นมัว ปัญญาที่ไม่แจ้งชัด เพราะเห็นไม่ชัด ไม่ได้รู้ได้เห็นเข้าไปถึงของจริงนี่แหละก็จะแจ้งขึ้น ถ้ายกจิตขึ้นสู่วิตกวิจารได้ กิเลสนิวรณ์เป็นอันหมด ใจก็ใส ได้รู้เห็นชัดแจ้งขึ้น

    ทีนี้ ทำอย่างไรถึงจะอบรมจิต ยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ คือ วิตก วิจาร ได้ ? คัมภีร์แสดงไว้ 40 วิธี คือ กสิณ 10 อสุภะ 10 อนุสสติ 10 ไปจนถึงอาหาเรปฏิกูลสัญญา 1 จตุธาตุววัตถานะ 1 อรูป 4 และพรหมวิหาร 4 ทั้งหมดนั้นคุณภาพของแต่ละข้อไม่เหมือนกัน แต่มีอยู่วิธีหนึ่งที่ดีมาก เหมาะกับจริตอัธยาศัยของทุกคน ทุกจริตอัธยาศัย วิธีนั้นคือ กสิณ กสิณนี่คือการเพ่ง เพ่งไม่ได้เพ่งแบบจ้องตาถลนนะ อย่าเข้าใจอย่างนั้น เพ่งคือ ตาเรามองดูเห็น แล้วก็จำติดตา แล้วก็ติดใจ คือให้เห็นได้ด้วยใจ เป็นอุคคหนิมิตกับปฏิภาคนิมิต โดยเริ่มที่บริกรรมนิมิต คือนึกให้เห็นด้วยใจเสียก่อน สมมติว่าเราเห็นดวงแก้วหรือหลอดไฟสว่าง เราก็นึกให้เห็นในใจของเรา นึกเห็นอยู่ในใจของเราทีเดียว นึกให้เห็นในใจนี่เรียกว่ากำหนดบริกรรมนิมิต บริกรรมนิมิต ตามตำราแปลว่านิมิตในบริกรรม ทางปฏิบัติ บริกรรมนิมิตก็คือนึกให้เห็นด้วยใจ นี่ในทางปฏิบัติ ถ้านึกเห็นแล้วนี่ แค่นึกเห็นหลัวๆ จินตนาการนะ มันเห็นได้หน่อยหนึ่งเท่านั้น พอนึกเห็น แล้วนี่เมื่อใจรวมหยุดเข้ามาอยู่ในอารมณ์เดียว จะเห็นภาพอันนี้ใสขึ้นมาชัดเจน แม้เพียงวาบหนึ่งหรือชั่วขณะหนึ่ง เขาเรียกว่า อุคคหนิมิต

    ระดับของสมาธิ
    สมาธิขณะที่เรานึกเห็น ที่เรียกว่าบริกรรมนิมิตนั้น สมาธิระดับนี้เขาเรียก ขณิกสมาธิ ถ้าเริ่มเห็นชัดเจนหรือถึงใสสว่างสักชั่วขณะหนึ่ง เรียกว่าอุคคหนิมิต สมาธิระดับนั้นชื่อว่า อุปจารสมาธิ แต่พอเห็นติดตาใสสว่างอยู่นั้น ตำราเขาเรียกนิมิตเทียบเคียง คือเหมือนของจริง และใสสว่างอยู่อันนั้นชื่อว่าปฏิภาคนิมิต สมาธิระดับนั้นชื่อว่า อัปปนาสมาธิ เป็นสมาธิแนบแน่น ทีนี้กสิณนี่แหละตามตำรามีของให้เพ่งให้ดู ให้จำหลายอย่าง เพ่งลมก็ได้ อากาศที่มันทำให้ใบไม้ไหวๆ ก็ได้ เพ่งแสงสว่างโดยเจาะรูดูแสงสว่างเล็กๆ แล้วจำได้ก็มี เพ่งดินก็มี สรุปแล้วคือเพ่งกสิณดิน กสิณไฟ กสิณลม กสิณอากาศ (ว่าง) แล้วก็กสิณแสงสว่าง (อาโลกกสิณ) ชื่อว่า อาโลกกสิณ กสิณทั้งหมดยังมีอีกเยอะนะ เพ่งกสิณที่เป็นสีก็ได้ สีเหลือง สีเขียว เป็นต้น เพ่ง ติดตาได้ทั้งนั้น แต่ว่ากสิณทั้ง 10 อย่างนี้ เมื่อเพ่งดูแล้วย่อมผ่าน คือเห็นอุคคหนิมิตถึงปฏิภาคนิมิตเป็นดวงใสเหมือนกันหมด ซึ่งไปตรงกับกสิณแสงสว่างที่ชื่อว่าอาโลกกสิณนั่นเอง เริ่มเห็นตั้งแต่นิมิตขาวใสแล้วก็สว่าง ไปจนถึงปฏิภาคนิมิต ก็จะเห็นใสสว่างแจ่มไปเลย เพราะฉะนั้น อาโลกกสิณจึงชื่อว่ากสิณกลาง คือไม่ว่าท่านจะไปเพ่งกสิณอะไร เมื่อใจหยุดในหยุดกลางของหยุดนิ่ง จะต้องเห็นเป็นดวงใสสว่าง

    เมื่อถึงปฏิภาคนิมิตแล้ว วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตารมณ์เกิด สมาธิจิตระดับนี้ท่านเรียกว่า ปฐมฌาน ถ้าละวิตกวิจารได้ก็เป็นทุติยฌาน ละปีติได้ เหลือแต่สุข ก็เป็นตติยฌาน ละสุขได้ คือใจหยุดในหยุดกลางของหยุด จิตมันหยุดสนิท ละเอียด จนองค์ฌานที่ว่ามาแต่ต้นมันหมดไป เหลือแต่เอกัคคตากับอุเบกขา นั้นเป็นจตุตถฌาน

    กสิณกลางคืออาโลกกสิณนั้นดีอย่างไร ? ใครมักมีจิตใจฟุ้งซ่าน ถ้าเอากสิณเพ่งอยู่ในใจ นึกให้เห็นอยู่ในใจ ผูกใจไม่ให้วอกแวกไปได้โดยง่าย เหมือนที่ท่านเจ้าคุณราชปริยัติกวีบอกว่า เหมือนกับเราเอาเชือกผูกล่ามลูกโคติดกับหลัก ลูกโคมันวิ่งวนไปวนมาๆ ประเดี๋ยวมันเหนื่อย ก็นอนแหมะลงตรงนั้น จิตเราเหมือนลิง เพราะฉะนั้นกสิณนี่แหละผูกใจให้อยู่ในที่ที่เราต้องการให้ใจหยุดอยู่

    เรื่องการเพ่งกสิณนี่เขาปฏิบัติกันมานานแล้วตั้งแต่ก่อนพุทธกาล แต่ว่าปฏิบัติแล้วทำไมถึงไม่เกิดประโยชน์สูงสุดคือมรรค ผล นิพพาน ? เกิดประโยชน์แค่ว่าไปอุบัติในพรหมโลกเท่านั้น คือเป็นแต่สมถะเฉยๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ? เพราะใจที่จะให้เป็นสมาธิไม่ถูกที่ตั้งกำเนิดธาตุธรรมเดิม อันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ให้สามารถเข้าไปรู้เห็นกายในกาย เวทนา ในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม สุดละเอียดไปถึงธรรมกาย ถึงนิพพาน ปฏิบัติทางจิตไม่ถูกมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลางของจิตใจ เพราะฉะนั้นถ้าใครคลำทางตรงนี้ถูก คือถ้ากำหนดใจให้เป็นสมาธิตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิม ก็ถูกทางสายกลาง ถูกสติปัฏฐาน 4 โดยตรง ถึงนิพพาน

    ทีนี้ ที่จะให้ได้ผลดีที่สุดก็กสิณนี่แหละ ผูกใจผู้ปฏิบัติได้ดีที่สุด จึงเหมาะกับจริตอัธยาศัยทุกอัธยาศัย ถ้าใครปฏิบัติภาวนาสมาธิด้วยวิธีเพ่งกสิณแล้ว มีอานุภาพให้ถึงจตุตถฌานได้โดยสะดวก นี้มีอานุภาพอย่างนี้ วิธีปฏิบัติสมาธิภาวนามีทั้ง 40 วิธี มีอานุภาพให้เข้าถึงฌานต่างๆ ได้ไม่เท่ากัน ที่มีอานุภาพสูงได้ผลสูงก็กสิณนี้แหละ กสิณทั้งหมดนี่ก็มารวมที่กสิณกลาง คือ อาโลกกสิณ นั้นเอง เมื่อเป็นดวงใสสว่างตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว ตรงนี้เป็นเคล็ดลับของวิชชาธรรมกายที่สำคัญประการหนึ่ง ก็คือว่าอาโลกกสิณ เมื่อตั้งจิตถูกที่ คือรวมใจให้หยุดตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมแล้ว จะเห็นที่หมายเป็นจุดเล็กใสประมาณเท่าเมล็ดโพธิ์เมล็ดไทร ตรงกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนี่แหละเป็นที่ตั้งของธาตุละเอียดของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 อินทรีย์ 22 อริยสัจ 4 ปฏิจจสมุปบาทธรรม 12 ซ้อนกันอยู่เป็นชั้นๆ กันเข้าไปข้างในจนสุดละเอียด

    ทีนี้ เมื่อเป็นที่ตั้งที่รวมของขันธ์ 5 อายตนะ 12 ธาตุ 18 ท่านคงทราบว่ามีธาตุรับ ธาตุกระทบ และธาตุรับรู้ คือวิญญาณต่างๆ ให้รับรู้ทางอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งธาตุรับรู้อยู่ตรงกลาง พอใจหยุดมันมารวมอยู่ตรงกลาง ก็มีอานุภาพสำคัญเกิดขึ้น ให้ผลดียิ่งอีกประการหนึ่ง นั่นคือทิพพจักขุ ทิพพโสตเกิดขึ้น และเจริญดีแท้ ตั้งแต่เริ่มต้น เฉพาะตัวอาโลกกสิณเองนั้นทำให้ทิพพจักขุ ทิพพโสตเจริญขึ้นอย่างเร็ว เมื่อทิพพจักขุ ทิพพโสตตั้งอยู่ตรงกำเนิดธาตุธรรมเดิมอันเป็นที่ตั้งของกาย เวทนา จิต ธรรม ณ ภายใน เข้าไปจนสุดละเอียด ถึงธรรมกาย และสุดละเอียดถึงนิพพาน ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมนั้นเองจึงเป็นมัชฌิมาปฏิปทา ทางสายกลาง ที่ให้ผลในการได้รู้ได้เห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ถึงพระนิพพาน ได้อย่างถูกต้องแน่นอน ดีกว่าการเจริญภาวนาสมาธิโดยวิธีอื่นและการตั้งใจไว้ ณ ที่อื่น และก็ตรงกลางของกลางกำเนิดธาตุธรรมเดิมของกายในกาย สุดกายหยาบกายละเอียดนี้เอง จึงเป็น “เอกายนมรรค” ทางสายเอก เป็นทางไปของพระอริยเจ้า พระอรหันตเจ้าทั้งหลาย นี่มันรับกันไปหมดอย่างนี้

    เพราะฉะนั้นหลวงพ่อวัดปากน้ำท่านได้พบว่าดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมันอยู่ตรงนี้ อาโลกกสิณเป็นกสิณกลาง ยังให้ทิพพจักขุและทิพพโสตเกิดและเจริญขึ้น ท่านก็เลยให้นึกให้เห็นดวงแก้วซึ่งเป็นบริกรรมนิมิต เทียบเคียงกับดวงธรรมที่ทำให้เป็นกาย 1 และเป็นบริกรรมนิมิตด้วยอาโลกกสิณอีก 1 เพราะอาโลกกสิณนี้เมื่อเพ่ง เมื่อดูแสงสว่างจำได้ติดตาแล้ว เป็นอุคคหนิมิตแล้วนั้นแหละ จะเห็นเป็นดวงใส เพราะฉะนั้นท่านให้นึกให้เห็นดวงใสเลย เอาขั้นกลางหรือระดับกลางของอาโลกกสิณมาใช้เป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติภาวนาวิชชาธรรมกายเลย เห็นไหม ความลึกซึ้งแม้เพียงธรรมปฏิบัติเบื้องต้นอย่างเดียวของหลวงพ่อลึกซึ้งถึงเพียงนี้ เพราะฉะนั้น คนไม่รู้ก็ว่าทำไมถึงไปนั่งเพ่งดูดวงแก้ว เขาไม่รู้ว่าดวงแก้วนี้เป็นส่วนที่เจริญมาจากอาโลกกสิณ ในระดับอุคคหนิมิตที่จะเจริญขึ้นไปเป็นปฏิภาคนิมิต และนี้เป็นกสิณกลางที่จะให้เกิดและเจริญ ทิพพจักขุทิพพโสต อันจะนำไปสู่สมันตจักขุและพุทธจักขุ เมื่อปฏิบัติถึงธรรมกายและถึงนิพพาน เห็นไหมล่ะมันลึกซึ่งอย่างนั้น เพราะฉะนั้นนี่แหละ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมจึงต้องใช้ดวงแก้วในการเจริญภาวนา

    ตอบปัญหาธรรม โดย พระเทพญาณมงคล
    (หลวงป๋า เสริมชัย ชยมงฺคโล)
    วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

    caCxPAP6Fq3kFZco9gqP2InXspxQPhY77neJDIem8v7R_-HYVIvL8yt8xvgKRIFpVNyup0wO&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  10. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ก่อนที่จิตดวงสุดท้ายจะดับลง
    อันตรายของสัตว์โลก
    ขณะที่จิตจะเคลื่อนไปเกิดในภพภูมิใหม่.


    ปัจฉิมวาจาที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส
    ในสมัยใกล้ปรินิพพานว่า

    "ภิกฺขเว อามนฺตยามิโว วยธมฺมา สงฺขารา อปฺปมาเทน สมาฺปาเทถาติ"

    "ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้เราเรียกเธอทั้งหลายมา เพื่อให้รู้ว่าสังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด"

    ที่ข้าพเจ้าหยิบยกเอาเรื่องความไม่ประมาทมาพูดในที่นี้ ก็เพื่อเป็นคติเตือนใจว่า สาธุชนทั้งหลาย ให้หมั่นระลึกถึงคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ว่า สังขารทั้งหลายนั้น ย่อมมีแต่ความเสื่อมโทรมลงทุกวัน เป็นไปตามธรรมชาติ และเพื่อความไม่ประมาท จักได้คิดประกอบการกุศลคุณงามความดี เพื่อเป็นเสบียงเลี้ยงตนต่อไปในกาลข้างหน้า จนกว่าจะได้บรรลุมรรค ผล นิพพาน

    ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสถึงความเสื่อม ก็เพื่อเตือนให้ชาวโลกทั้งหลายตระหนักถึง หรือรู้เท่าทันถึงกฎของธรรมชาติ จักได้ยืนอยู่บนความจริง ไม่หลง ไม่ประมาท คิดหาทางเอาตัวรอดตามแนวทางพระพุทธศาสนา ด้วยการหมั่นประกอบคุณความดีด้วยกาย วาจา ใจ ละเว้นความชั่วทางกาย วาจา ใจ และหมั่นชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ โดยการสมาทานอธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา อธิปัญญาสิกขา เพื่อความหลุดพ้นจากวัฏสงสาร

    ดังที่ #พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี ได้แสดงธรรมเทศนาไว้ว่า

    "... เมื่อมีความเสื่อมอยู่เช่นนี้ พระองค์มีพระประสงค์อะไร ? พระองค์มีพระประสงค์จะต้อนพวกเราให้พ้นจากความเสื่อมเหล่านี้ ออกไปจากภพเสีย ให้เข้าถึงธรรมกายไปนิพพาน ต้องการอย่างนี้ ไม่ใช่ต้องการอย่างอื่น ประสงค์จะต้อนพวกเรา จะขับจูงพวกเรา จะเหนี่ยวรั้งพวกเรา ให้พ้นจากไตรวัฏฏ์ คือ กิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ที่เวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสารนี้ จะให้ขึ้นจากกามภพ รูปภพ อรูปภพ พ้นจากภพทั้งสามนี้ไป ให้มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า ประสงค์อย่างนั้น จึงได้รับสั่งเช่นนี้ ให้เราไม่เผลอในความเสื่อมนั้น..."

    #คนเราเมื่อตายแล้วจะไปที่ไหนอีกต่อไป ? #ทุคติหรือสุคติ ?

    อันว่าความประมาทหรือเผลอในความเสื่อมนั้น เป็นอันตรายอย่างยิ่งสำหรับสรรพสัตว์ทั้งหลาย เพราะประมาททำให้ขาดการสังวร หรือสำรวมระวังกาย วาจา ใจ อันเป็นการเปิดช่องทางให้บาปอกุศล สามารถผ่านเข้ามาทางหู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้โดยง่าย และบาปอกุศลเหล่านั้น ก็จะดลจิตใจให้ผู้นั้นคิดผิด รู้ผิด เห็นผิด และประพฤติผิด ทางกาย วาจา ใจ ได้ และเมื่อประกอบกรรมชั่วลงไปแล้ว ย่อมได้กำเนิดทุคติขึ้นทันทีตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่

    กล่าวคือ มีนาม-รูปใหม่เกิดทุกครั้งที่มีการปรุงสังขาร ตามสายปฏิจจสมุปบาท เป็นทุคติเพราะแรงบาป โดยมีกายเนื้อเป็นหุ่นให้บาปเชิด และเมื่อได้กำเนิดทุคติขึ้นแล้ว ย่อมแสดงอาการประจําตัวตามวิบากของมันออกมาทันที สำหรับผู้ที่มีความบริสุทธิ์กาย วาจา ใจ เหนือกว่าแล้ว ย่อมสามารถสังเกตเห็นอาการเหล่านั้นได้โดยง่าย และเมื่อกายเนื้อตายลงย่อมมีทุคติเป็นแดนเกิด

    ในทางตรงกันข้าม หากบุคคลใดถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท มีการสำรวมระวังกาย วาจา ใจ มิให้บาปอกุศลเข้าดลจิต หมั่นประกอบแต่กุศลกรรมด้วยดี ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์อยู่เสมอ เขาย่อมได้กำเนิดสุคติตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ เมื่อตายลงย่อมมีสุคติเป็นแดนเกิด

    เพราะการเกิดหรือการสร้างภพสร้างชาตินั้น
    ย่อมเป็นไปโดยปัจจัย ๓ ประการ คือ

    ๑. "กมฺมํ เขตฺตํ" กรรม คือการกระทำของคนนั้น เป็นเสมือนพื้นที่สำหรับเพาะปลูก

    ๒. "วิญฺญาณํ พีชํ" วิญญาณ หรือที่กล่าวรวมๆว่าใจนั้น เป็นเสมือนพันธุ์พืชสำหรับเพาะ

    ๓. "ตณฺหา สิเนหํ" กิเลสทั้งหลาย มีตัณหาเป็นต้น เป็นเสมือนเชื้อที่ทำให้วิญญาณเกิดอีก

    #ความจริง ตราบใดที่ยังไม่บรรลุอรหัตผล ย่อมมีโอกาสประกอบทั้งกรรมดีและกรรมชั่วด้วยกันทั้งนั้น ผิดกันอยู่แต่ว่า ใครประกอบกรรมดีมากกว่าชั่ว หรือชั่วมากกว่าดี กว่ากัน ทั้งนี้ ย่อมขึ้นอยู่กับระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน

    หากจะมีปัญหาขึ้นมาว่า เมื่อบุคคลประกอบทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว เมื่อตายไปแล้วจะไปเกิดในคติใด ??

    คำว่า "คติ" หมายถึง ที่ไปปฏิสนธิของนาม-รูป ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า มีอยู่ ๒ ประเภทด้วยกัน คือ

    #สุคติ อันเป็นทางไปดี ได้แก่
    โลกมนุษย์
    สวรรค์ ๖ ชั้น
    รูปพรหม ๑๖ ชั้น
    และอรูปพรหม ๔ ชั้น

    #ทุคคติ อันเป็นทางไปไม่ดี
    คืออบายภูมิทั้ง ๔ ได้แก่
    เปรต
    นรก
    อสุรกาย
    และดิรัจฉาน เป็นต้น

    #พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า

    ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นประธาน ฉะนั้น คติของผู้ตายจะเป็นอย่างไร จึงอยู่ที่ใจเป็นสำคัญ โดยเฉพาะจิตเมื่อตอนใกล้จะดับ

    #พระพุทธองค์ตรัสไว้อีก

    "จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา"
    เมื่อจิตเศร้าหมองแล้วย่อมมีทุคติเป็นที่หวัง

    "จิตฺเต อสงฺกิลิฏฺเฐ สุคติ ปาฏิกงฺขา"
    เมื่อจิตไม่เศร้าหมองแล้วย่อมมีสุขคติเป็นที่หวัง

    ฉะนั้น #ขณะเมื่อสัตว์ใกล้จะตายนี้จึงสำคัญนัก
    ด้วยว่า จะเกิดอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ใน ๓ ประการนี้ คือ

    #กรรมอารมณ์ ได้แก่ กุศลกรรมและอกุศลกรรมที่เคยทำมาแต่อดีต มาปรากฏขึ้นในจิตของผู้ตาย ๑

    #กรรมนิมิตอารมณ์ คือ นิมิตของกรรมที่ตนเองเคยกระทำมาเป็นอาจิณ มาปรากฏเป็นนิมิตให้เห็น ๑

    #คตินิมิตอารมณ์ ได้แก่ อารมณ์ที่จะได้รับหรือได้เสวยในภพใหม่ มาปรากฏให้เห็นเมื่อตอนใกล้จะตาย ๑

    ทั้งนี้เป็นไปโดยอำนาจของกรรมตามสมควร และอารมณ์เหล่านี้เอง ที่มาทำให้จิตของสัตว์ที่ใกล้จะตาย เศร้าหมองหรือผ่องใส กล่าวคือ หากผู้ที่กำลังจะตายนั้นเคยประกอบกุศลกรรมมามากในระหว่างที่ยังมีชีวิตอยู่ ในขณะที่จิตขึ้นสู่มรณสันตติวิถีนั้น จิตก็จะนึกถึงแต่คุณความดีที่เคยได้สร้างสมอบรมมา หรือนิมิตอารมณ์อันเกิดแต่กรรมดีจะมาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตใจผ่องใสด้วยกุศลกรรมที่เคยทำมา เมื่อจุติก็ย่อมจะไปสู่สุคติ

    และในทางตรงกันข้าม สำหรับผู้ที่ได้เคยประกอบอกุศลกรรม หรือกระทำความชั่วมามาก เมื่อขณะใกล้จะตาย ก็จะนึกถึงแต่กรรมชั่ว หรือนิมิตอารมณ์จากกรรมชั่วมาปรากฏให้เห็น ทำให้จิตใจหดหู่เศร้าหมอง เมื่อจุติย่อมมีทุคติเป็นที่ไป ดังนี้เป็นต้น

    ด้วยเหตุนี้ #พระพุทธองค์จึงได้ตรัสเตือนสรรพสัตว์ทั้งหลาย #มิให้ตกอยู่ในความประมาท และพระธรรมของพระพุทธองค์ ก็มีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ดังบาลีว่า...

    " เอวเมว โข ภิกฺขเว เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทสโม สรณา อปฺปมาโท เตสํ อคฺคมกฺขายตีติ"

    " ภิกษุทั้งหลาย ธรรมอันเป็นกุศลเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ธรรมเหล่านั้นทั้งหมด มีความไม่ประมาทเป็นต้นเค้า ประชุมลงในความไม่ประมาท ความไม่ประมาท บัณฑิตย่อมกล่าวว่าเลิศกว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้น ฉันนั้นเหมือนกัน"

    พระพุทธองค์ได้ทรงเตือนพุทธบริษัทอยู่เสมอ ถึงความไม่ประมาท แม้จวบจนกระทั่งสมัยดับขันธ์ปรินิพพาน เพื่อให้รู้เท่าทันในสังขาร อันมีแต่ความเสื่อมลงทุกขณะ จะได้ไม่เผลอในความเสื่อมนั้น หมั่นประกอบแต่กรรมดี ละเว้นความชั่วหรือบาปอกุศล ด้วยกาย วาจา ใจ โดยการบริจาคทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เพื่อความหลุดพ้นจากกิเลสวัฏฏ์ กรรมวัฏฏ์ และ วิปากวัฏฏ์ เข้าถึงมรรคผล นิพพาน ในโอกาสต่อไป.

    _______________
    เทศนาธรรมจาก

    พระเทพญาณมงคล
    หลวงตาเสริมชัย ชยมงฺคโล
    วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    อ.ดำเนินสะดวก
    จ.ราชบุรี
    _______________
    เพจอมตวัชรวจีหลวงป๋า
    ขอบพระคุณภาพประกอบธรรมะ.


    38841194_972659022942145_6084825119094472704_n-jpg.jpg
     
  11. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ถาม : ชนชาติอื่นที่ไม่นับถือพระพุทธศาสนา จะมีนรกสวรรค์อยู่ในสถานที่เดียวกันหรือไม่❓

    ✅ตอบ : ถามโยมง่ายๆ ว่า ฝรั่ง แขก จีน ไทย อยู่ในโลกเดียวกันหรือเปล่า อยู่เหมือนกันนะ เพราะเป็นเรื่องของภูมิจิต สัตว์โลกไปที่ไหน ไปอยู่รวมกัน นั่นเป็นเรื่องของภูมิจิต ภูมิจิตในระดับมนุษยธรรมก็มาเกิดอยู่ในโลกนี้

    ✅โลกกลมๆ นี่ เดิน 2 ขา มี 2 แขน หัวตั้งอยู่บนคอเรียก “คน” หรือ “มนุษย์” ถ้ารูปร่างทำนองนี้ละก็อยู่ในโลกนี้ แต่ถ้าภูมิจิตต่ำไปกว่านี้ ก็มีโลกอันหนึ่งอยู่ของเขา รวมกันแบบอยู่ในโลกนี้แหละ แต่เป็นอีกโลกหนึ่ง อยู่ในโลกเดียวกัน เช่น ภูมิจิตในระดับสัตว์ดิรัจฉานก็อาศัยโลกนี้ ทั้งในและบนแผ่นดิน ในน้ำ และในอากาศ เช่น หมู หมา กา ไก่ ช้าง ม้า วัว ควาย หลายประเภทไปจนถึงยุงอยู่ในป่า ไส้เดือนอยู่ในดิน นกบินอยู่ในท้องฟ้า ไปจนถึงปลาวาฬที่อยู่ในน้ำ เชื้อโรคจุลินทรีย์อยู่ในน้ำครำน้ำสกปรก และจุลินทรีย์ที่ล่องลอยอยู่ในอากาศ นี่โลกของเขาเรียกว่า โลกของสัตว์ดิรัจฉาน แต่ว่าภูมิจิตต่ำแตกต่างกันไปนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    ✅ภูมิของเปรต เปรตก็อาศัยโลกนี้เหมือนกัน แต่ว่าเรามองไม่เห็น เปรตนี่มีและมีเยอะด้วย ถ้าถึงธรรมกายแล้วจะได้ดูว่าเปรตเป็นอย่างไร ตามที่เขาว่านั่นแหละ เปรตมีเป็นร้อยๆ ชนิด แต่เปรตที่อยูใกล้มนุษย์ที่คอยขอส่วนบุญชื่อ ปรทัตตูปชีวิกเปรต นั่นนะถ้าเราทำบุญแล้วอุทิศให้แล้วเขาได้รับ เราทำดีแล้วอุทิศส่วนกุศลให้เขารับได้ แต่ไปยื่นให้อย่างนี้กินไม่ได้ คนจีนเข้าใจผิดเอาของไปเซ่น แหม ส้มก็ไม่ปอกซะด้วยนะ เอากลับไปกินเองใหม่ได้ หัวหมูบ้าง อะไรบ้าง ไปตั้งเซ่นไหว้ให้บรรพบุรุษได้กิน ก็กินไม่ได้ ด้วยอำนาจของกรรม จะเอื้อมมือไปหยิบก็ไม่ถึง หรือแม้ว่าจะเอาอาหารดีๆ ไปให้กิน เปรตบางชนิดไม่กิน คือบุญไม่ถึงจะให้กินได้

    ✅แล้วกินอะไร ? บาปอกุศลบังคับให้กินน้ำเหลืองตัวเอง ถ้าหาน้ำเหลืองของคนอื่นไม่ได้ก็กินของตัวเอง หรือเที่ยวได้กินน้ำลายเสมหะหรืออุจจาระ เหมือนหมูเหมือนสุนัข สูบกินอย่างนั้น มีหลายอย่าง บางรายกินอะไรก็ไม่ได้เพราะปากมันเล็กนิดเดียว บางรายรูปร่างก็เป็นแต่ชิ้นเนื้อ โดนอะไรหน่อยก็เจ็บแสบ บางทีก็ถูกกาปากเหล็กจิกกิน มีสารพัดละเปรต

    ✅ด้วยอำนาจของกรรม กินเองไม่ได้ บางทีเห็นว่าเป็นน้ำ กระหายเหลือเกิน วิ่งเข้าไปพอจะกินเข้า บางทีเห็นเป็นน้ำแน่นอนละ พอกระโดดเข้าไปว่าจะอาบจะกิน ก็กลายเป็นหินเป็นดินเป็นทราย แห้งแล้ง คอแห้งผาดเลย หิวต่อไปอีกเป็นร้อยปีเป็นพันปี

    ✅โลกของเปรตก็อาศัยพื้นพิภพนี่ แต่เรามองไม่เห็น อยู่ตามหุบเขาก็มี อยู่ตามวัดวาอารามเที่ยวไปขอส่วนบุญก็มี นี่เปรต สัตว์นรกก็อยู่ด้วยกันอีกแหละ แต่ว่าเป็นโลกของสัตว์นรก มีภูมิใหญ่อยู่ 8 ภูมิ 8 ขุมใหญ่

    ✅อยู่ที่ไหน ? โยมต้องเข้าใจว่าในจักรวาลนี้ ศูนย์กลางจักรวาลนี่เป็นของทิพย์ มึภูเขาพระสุเมรุเป็นแกนกลาง ในส่วนเชิงเขาพระสุเมรุเป็นดิน แต่เป็นดินที่เป็นทิพย์ด้วยนะ แล้วก็มีดินหยาบ ดินหยาบก็คือว่า อย่างทวีปนี้เป็นชมพูทวีป มีดินนี่ผืนแผ่นดินอย่างนี้ ทวีปอื่นๆ มีอีก แต่เป็นของทิพย์มีอยู่ ของทิพย์ใหญ่รวมหมดแหละ

    ✅กามภพ มีตั้งแต่สัตว์โลกประเภทชั่นต่ำคือ สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ภูมิสูงขึ้นมาเป็นมนุษย์ เทวโลก นี่ภูมิสูงขึ้นไปถึงเทวโลก เทวโลกบางส่วนอย่างชั้นดาวดึงส์ก็อยู่บนพื้นดิน แต่ดินนั้นเป็นทิพย์อยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ เทวดาก็เดินบนดิน อย่างพระอินทร์นี่เดินบนดิน แต่เป็นดินทิพย์และเต็มไปด้วยแก้วกายสิทธิ์อันเป็นทิพย์ พระอินทร์และเทวดาบนชั้นดาวดึงส์จึงเหมือนเดินลอยๆ ไปบนดินเพราะมีแก้วกายสิทธิ์รองอยู่ นั่นอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ

    ✅แล้วข้างล่างเขาพระสุเมรุนี่ ส่วนที่เป็นดินนั้นก็จะเป็นดินเป็นหินที่เป็นทิพย์และที่เป็นของหยาบ อย่างที่เราเห็นๆ อยู่นี่แหละ และใต้ลงไปอีก เป็นที่อยู่ของอสูร ที่เรียกว่า อสุรกาย อสุรกายเป็นยักษ์นะ แล้วก็อีกส่วนหนึ่งที่ตรงกับพื้นดินที่เป็นทิพย์นั่นแหละ

    ✅ข้างล่างลงไปน่ะเป็น นรก 8 ขุม ขุมสุดท้าย คือ อเวจีมหานรก ขุมนั้นส่วนมากผู้ที่ทำมาตุฆาต ปิตุฆาต ฆ่าพ่อฆ่าแม่ อรหันตฆาต คือฆ่าพระอรหันต์ แล้วก็ทำร้ายพระพุทธเจ้าแม้เพียงทำให้เท้าห้อเลือด หรือยังสงฆ์ให้แตกแยกกัน เป็นต้น เป็นอนันตริยกรรม ประเภทนี้จะอยู่ในขุมนั้นทั้งสิ้น ได้รับผลกรรมนี้ก่อนใครเพื่อน แม้ใครจะเคยได้ทำความดีมาก่อน ทำบุญมามากเพียงใด พอตายก็ลงพรวดไปโน่นแหละ ลงอเวจีมหานรกนี้ก่อน เพราะอนันตริยกรรมนั้นเป็นกรรมหนัก จึงต้องได้รับผลกรรมนั้นก่อน อเวจีมหานรกนี้อยู่ชั้นล่างสุดของกามภพ อยู่ต่ำสุด ท้ายนรกขุมอื่น ส่วนบนภพมนุษย์ขึ้นไปเป็นเทวโลก มีอยู่ 6 ชั้น

    ✅พ้นจากอเวจีมหานรกนี้ไป เป็นอากาศว่างจนสุดของจักรวาลไปเป็นโลกันตนรก โลกันตนรกอยู่นอกขอบจักรวาลเหมือนกับบริเวณพื้นที่นอกของวงกลม 3 วงที่มาจรดกันพอดี เรียกว่า อยู่นอกขอบจักรวาล 3 จักรวาล ที่ขอบนอกจักรวาลจรดกันพอดีนั่นแหละ

    ✅โอกาสที่จะได้กลับมาเป็นมนุษย์หรือแต่จะได้กลับมาอยู่ในภพ 3 อีกนั้นยากเต็มที เป็นสถานที่มืดมิด อยู่ด้วยทะเลน้ำกรด พอสัตว์นรกที่ไต่อยู่ตามขอบจักรวาลพลัดตกลงไปในน้ำกรดก็ฟู่กัดกินละลายจนเละ แต่ไม่ตาย เจ็บปวดแสบปวดร้อน แล้วก็พยายามตะเกียกตะกายกลับขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจของกรรม ไต่ขึ้นมาเหมือนกับตัวอะไรก็ไม่รู้ผอมๆ โทรมๆ ตัวสั่นแหง็กๆ เล็บยาวๆ นั้น นั่นกรรมหนัก

    ✅เป็นมิจฉาทิฏฐิแล้วก็ทำผิดระดับหนักๆ เป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างแรงกล้า เช่น พวก “สัสสตทิฏฐิ” ที่เห็นผิดว่าโลกเที่ยง หรือพวก “อุจเฉททิฏฐิ” ที่เห็นผิดว่าโลกสูญ เป็นต้น อยู่นั่นแหละ แทบจะไม่มีโอกาสได้มาผุดมาเกิดในภพ 3 นี้อีกเลย ลืมบอกไปหน่อยเวลาเขาจัดมวย แหมชื่อรายการ “ศึกสะท้านโลกันต์” โอ้โฮ ! นั่นไม่รู้ว่าาแย่ที่สุด !! แต่ยังไม่เคยได้ยินรายการ “ศึกสะท้านอเวจี” นี้ยังไม่ได้ยิน มีแต่สะท้านโลกันต์ นี่เป็นเพราะพวกเขายังไม่เคยไปเห็น แต่ถ้าได้ไปเห็นละก็ไม่ได้มาจัดมวยรายการศึกสะท้านโลกันต์อีกล่ะพ่อเอ๋ย

    ✅เพราะฉะนั้น ที่ถามว่าชนชาติอื่นจะอยู่ในนรกเดียวกันหรือเปล่า ? ก็ตอบว่า ถ้าทำความชั่วหรือบาปอกุศลก็ไปเกิดในนรกเดียวกันนั้นแหละ แต่ว่าไปเกิดอยู่ในชั้นที่เคยทำกรรมหนักเบาแตกต่างกัน จะอยู่ตรงไหน ก็ไม่เลือกว่าจะเป็นชาติไหนศาสนาใด เพราะเป็นของกลาง

    ✅ภูมิธรรมภูมิจิตของใครสูงหรือต่ำแค่ไหนก็ไปตามกรรมในระดับชั้นนั้นละ อยู่ตรงนั้นละ ไม่ว่าแขกไม่ว่าไทยไม่ว่าใครทั้งนั้น ทางสวรรค์ใครทำดีพ้นระดับมนุษยธรรมถึงเทวธรรมก็ไปสวรรค์ 6 ชั้นนั่นแหละ ไปตามลำดับคุณความดี

    ✅ถ้าใครมีฌาน ก่อนจะตายจิตไม่เสื่อมจากฌาน แต่ไม่ได้ปฏิบัติวิปัสสนาให้มันแก่กล้า ตายไปก็ไปเกิดเป็นพรหม ชาติไหนก็เป็น แขกก็เป็น แต่ฟอร์มเขาเหมือนๆ กันนะ ฟอร์มเทวดาก็เป็นกายโปร่งแสง มีรัศมี มีเครื่องประดับ เครื่องทรงอลงกรณ์ ฟอร์มสัตว์นรกก็เหมือนคนนั้นแหละแต่รุ่งๆ ริ่งๆ เสื้อผ้าไม่มีนุ่ง เปรตก็เหมือนกันโทงๆ เลยแหละ เทวดานั่นโปร่งสวยงามตามอำนาจของบุญ

    ✅บุญทำอย่างไรถึงจะได้เป็นเทวดา ? เป็นมนุษย์ก่อน มนุษย์นี่เป็นคนมีทานกุศล ศีลกุศล นี่เฉพาะเบื้องต้นนะ บุญกุศลคุณความดีมาตรฐานเบื้องต้น และก็ประพฤติปฏิบัติละเว้นอกุศลกรรมบถ คือ ไม่ประพฤติทุจริตทางกาย เช่น ไม่ลักฉ้อ ไม่กบฏคดโกงใคร ไม่ผิดลูกผิดเมียใคร ไม่ฆ่าใครโดยเจตนาเป็นต้น ละวจีทุจริต คือ ไม่พูดปด ไม่ยุแยกให้แตกสามัคคี ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดคำเพ้อเจ้อเหลวไหลไร้สาระ ละมโนทุจริต คือไม่โลภจัดหรือตัณหาราคะจัด ไม่โกรธพยาบาทอาฆาตจองเวร และไม่หลงถึงขนาดไม่รู้บาปบุญคุณโทษตามที่เป็นจริง หรือเป็นมิจฉาทิฏฐิ ถ้าละอย่างนั้นได้ เป็นผู้มีศีลอย่างน้อยศีล 5 ทำคุณความดี มีทานกุศล ศีลกุศล เป็นต้น อย่างนี้เป็นคุณความดีในระดับมนุษยธรรม ตายไปได้มาเกิดเป็นมนุษย์ นี่ว่าแต่คุณความดีขั้นมาตรฐานเบื้องต้นนะ มนุษย์อื่นที่บำเพ็ญบารมีมีความดีสูงกว่านี้ บุญกุศลก็ติดตามเป็นวิบากกรรมให้ได้รับผลต่อๆ ไป หลังจากการเกิดเรียกว่า “ปวัตติกาล” คือหลังจากการตั้งปฎิสนธิแล้วเกิดมาก็ได้รับผลเป็นความสุขความเจริญดำเนินชีวิตไไปด้วยดีต่อๆ ไป

    ✅เทวดา มีศีล มีธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นผู้มีหิริโอตตัปปะ คือเป็นผู้มีความละอายเกรงกลัวต่อบาปอกุศล มีทั้งศีลทั้งธรรม มีธรรมได้แก่ทานกุศล ภาวนากุศล เป็นต้น นั่นตายไปแล้วมักจะได้ไปเกิดในเทวโลก โยมนี่ถือศีล 8 แม้ถือเพียงครึ่งวัน ถ้าเกิดตายไปเดี๋ยวนี้ ตั้งใจรักษาศีลให้บริสุทธิ์อยู่ เพียงครึ่งวันเคยมีตัวอย่างมาแล้ว มีเรื่องอยู่ในคัมภีร์ รักษาศีล 8 เพียงครึ่งวัน ตายไปคืนนั้นได้ไปเกิดเป็นเทวดา นี่แหละถือคุณความดีเพียงได้ถือศีล 8 เพราะฉะนั้นไม่ต้องกล่าวถึงอานิสงส์ของการเจริญภาวนาให้ใจสงบจากกิเลสนิวรณ์ แล้วก็พิจารณาสภาวธรรมให้เกิดปัญญาเป็นวิปัสสนาปัญญา ซึ่งมีอานิสงส์สูงขึ้นไปอีก ว่าจะได้รับผลานิสงส์คือผลจากบุญกุศลดังกล่าวมากเพียงไหน

    ✅บุญกุศลอย่างนี้ถ้าได้มาเกิดเป็นมนุษย์ก็เป็นมนุษย์ชั้นสูง ถ้าไปเกิดในเทวโลก โน่นแหละก็อยู่ในเทวโลกชั้นสูง อาจถึงชั้นดุสิตเทวโลก ซึ่งเป็นชั้นของผู้บำเพ็ญบารมี ไม่ว่าใครทำความดีเป็นบุญกุศลอย่างนี้ ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมดไม่ว่า เจ๊ก จีน แขก ไทย ฝรั่งมังค่า ได้รับผลานิสงส์เหมือนกันหมด

    ✅ถ้าใครมีฌานโดยการเจริญสมถภาวนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้กระทำวิปัสสนาให้มาก ตายไป จิตยังไม่เสื่อมจากฌานชั้นไหน ก็ไปเกิดเป็นรูปพรหมอยู่ชั้นนั้น แต่ว่าถ้าเป็นพระอริยเจ้าระดับพระอนาคามีบุคคลตั้งแต่ยังเป็นมนุษย์ ก่อนตายยังไม่เสื่อมจากปัญจมฌานคือฌานที่ 5 ตายแล้วไปเกิดแห่งเดียว ในโลกที่เป็นพรหมชั้นสูงสุด 5 ชั้น ชื่อว่า รูปพรหมชั้น “สุทธาวาส” และก็ปรินิพพานในชั้นนั้น คือตายแล้วก็เข้านิพพานเลย

    ✅ใครเจริญอรูปฌาน ก่อนตายไม่เสื่อมจากอรูปฌานชั้นไหนก็ไปเกิดเป็น อรูปพรหม ในอรูปโลก เหมือนกันหมดไม่ว่าแขก ไม่ว่าไทย จีน ฝรั่ง

    ✅เพราะฉะนั้นให้เข้าใจไว้ว่า โลกเป็นที่สถิตอยู่ของผู้ที่ภูมิจิตโดยเฉลี่ยระดับเดียวกัน แต่ว่าอาจจะแบ่งชั้นกันบ้างตามระดับภูมิจิตที่เป็นบุญเป็นกุศลหรือเป็นบาปอกุศลต่างๆ กันไปตามระดับภูมิจิต

    ตอบปัญหาธรรม โดย พระเทพญาณมงคล
    (หลวงป๋า เสริมชัย ชยมงฺคโล)
    วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม

    WDeJlz4gyjvlgG5AHmCKYUvAXzbrnbGcEWza2ey5IRwo9Pl_KfmSnT1scUcMFGVQ06dhmKB3&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  12. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ทุก1-14 พฤษภาคม กลางปีและ ทุก1-14 ธันวาคม


    อบรมพระกัมมัฏฐานรุ่นกลางปี (ฆราวาสเข้าร่วมอบรมได้) ณ วัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม จ.ราชุบรี
    - ขั้นพื้นฐาน เพื่อให้จิตสงบ พบดวงใส
    - ขั้นกลาง เพื่อต่อจากดวงใส เป็น 18 กาย และต่อไปถึงธรรมกายและพระนิพพานของพระพุทธเจ้า
    - ขั้นสูง เพื่อตรวจภพตรวจจักรวาล เจริญวิชชา และละกิเลสในใจตน
    นำโดย พระเทพญาณมงคล วิ. (เสริมชัย ชยมงฺคโล, ป.ธ.6) เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม พระวิทยากร และอุบาสก อุบาสิกาวิทยากร ที่ครูบาอาจารย์คัดเลือกให้สอนสมาธิได้

    - ปฏิบัติธรรมรวมกลุ่มใหญ่
    - ปฏิบัติธรรมแยกกลุ่มย่อยกับวิทยากร
    - ฟังธรรมจากพระมหาเถระ





    a-jpg.jpg
     
  13. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969




    พิเศษ!!! แจกไฟล์ PDF ฉบับล่าสุด https://dhamma-media.blogspot.com/202... โครงการหนังสือเสียง "อานุภาพหลวงปู่..ยุคต้นวิชชา" แล้วคุณจะรู้ว่า... ทำไมศิษยานุศิษย์ทั่วโลกถึงหล่อรูปเหมือนท่านด้วยทองคำ เรียบเรียงโดย ร. ลิ่วเฉลิมวงศ์
     
  14. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ถาม : บุญที่ทำแล้ว จะให้ผลเร็ว-ช้า ต่างกันขึ้นอยู่กับอะไรบ้าง? (๑/๒)

    ตอบ : ตามที่ปรากฎในพระไตรปิกฎ เอกสารอ้างอิง และจากประสบการณ์ของผู้ปฏิบัติธรรม การส่งผลของบุญในลักษณะต่าง ๆ กัน คือ

    ๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในปัจจุบัน หรือในภพนี้ บุญบางอย่าง โดยเฉพาะ #ภาวนากุศล ส่งผลเร็วกว่าศีลกุศล , #ศีลกุศล ส่งผลเร็วกว่าทานกุศล

    ๒. อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ส่งผลในภพภูมิข้างหน้า กรรมนี้มีผลทั้งที่ส่งผลให้แล้วในปัจจุบัน และทั้งยังจะติดตามไปให้ผลในภพหน้าอีกด้วยก็มี และที่เริ่มให้ผลตั้งแต่ภพหน้าขึ้นไปเลยก็มี กรรมบางอย่างให้ผลต่อ ๆ ไป นับภพนับชาติไม่ถ้วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าประกอบด้วยอะไร ถ้าบุญประกอบด้วยปัญญา ด้วยความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ยิ่งส่งผลมาก นับภพชาติไม่ถ้วน สืบเนื่องต่อไป ในทางตรงกันข้าม บาปอกุศลที่เกิดแต่กิเลส อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ที่เป็นเหตุนำ และเหตุหนุนที่หนัก ๆ ก็จะให้ผลไปหลายภพ หลายชาติต่อ ๆ ไป นับภพนับชาติไม่ถ้วนด้วย เช่นเดียวกัน

    ๓. อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลถัดจากภพหน้าไป บุญที่ให้ผลแล้วในปัจจุบัน และบุญที่ให้ผลในภพถัดไปก็จะให้ผลในประการนี้ด้วย และถ้าบุญบางอย่าง ผู้ให้ หรือผู้รับ #ไม่ค่อยมีความบริสุทธิ์ กาย วาจา ใจ ก็จะให้ได้รับผลบุญช้าลงไป ในทางตรงกันข้าม บาปอกุศลก็เช่นกัน ถ้าประกอบด้วยกิเลสที่เบาบางก็ส่งผลน้อย

    ๔. อโหสิกรรม คือ กรรมไม่ให้ผลอีกต่อไป เมื่อบุญนำหน้าบาป บาปก็ตามไม่ทัน เป็นอโหสิกรรม เหมือนพระอรหันต์ดับขันธ์ปรินิพพาน กรรมก็เลิกให้ผล

    *******************************

    จากหนังสือ "ตอบปัญหาธรรมปฏิบัติ"
    (คัดลอกบางส่วน)
    พิมพ์ครั้งที่ ๑ : มิถุนายน ๒๕๔๒ หน้า ๖๕
    โดย พระเทพญาณมงคล (เสริมชัย ชยมงฺคโล)
    เจ้าอาวาสวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี

    สนทนาธรรม เรื่อง กฏแห่งกรรม
    https://www.youtube.com/watch?v=xf18xN7-iHg



    MIF0aiaRbFfLqXZ_aihcfZqwYOaR9DVCD3gOIeX_XmBQB_3V_LnH1AZkfHqEdBN6y4z6rYeE&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  15. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ?temp_hash=966054634bd16fc7141e8cad0307dfa9.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  16. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
     
  17. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    มนุษย์ถ้ายังอยู่ในพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพแล้ว สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมา ทำให้เป็นอันตรายนั้นไม่ได้

    "...พุทธานุภาพก็ดี ธรรมานุภาพก็ดี สังฆานุภาพก็ดี ที่จะมาปรากฏขึ้นได้ก็เพราะอาศัย ทานนั่นเอง เหมือนพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า กว่าจะได้เป็นพระพุทธเจ้าขึ้น กว่าจะมี อานุภาพเป็นพระพุทธเจ้าขึ้นได้ ทว่าไม่ฉันข้าวของนางสุชาดา 49 ก้อนนั้น ก็ไม่ได้พุทธานุภาพเสียแล้ว แตกสลายเสียแล้ว นั้นก็เพราะอาศัยข้าวมธุปยาส 49 ก้อน ฉันแล้ว ได้ตรัสรู้ เป็นพระพุทธเจ้า นั่นแน่ ด้วยอำนาจทานของทายก ใหญ่โตเห็นไหมล่ะ

    ทานนั่นแหละเป็นตัวสำคัญทีเดียว รักษาพุทธานุภาพ รักษาธรรมานุภาพ รักษาสังฆานุภาพ เราก็ตั้งใจ ถ้าจะ ให้ทานนั้นก็ด้วยอาหารของข้าพเจ้านี้ หญิงก็ดี ชายก็ดี ของหม่อมฉันนี้จะถวายเป็นทาน ให้รักษาพุทธานุภาพ รักษาธรรมานุภาพ รักษาสังฆานุภาพไว้ จะได้ป้องกันให้มนุษย์อยู่ ร่มเย็นเป็นสุข

    มนุษย์ที่จะพ้นจากภัยอันตรายด้วยพุทธานุภาพ ด้วยธรรมานุภาพ ด้วย สังฆานุภาพ มนุษย์ถ้ายังอยู่ในพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพแล้ว สิ่งหนึ่งสิ่งใดจะมา ทำให้เป็นอันตรายนั้นไม่ได้ พุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ต้องรักษาไว้

    เพราะฉะนั้น ภิกษุสามเณรเวลาจะให้พรแก่ชาวบ้านร้านตลาดทั้งหลายที่เขาให้ทาน ได้รับทานแล้วให้ นึกถึงว่า ถ้าไม่ได้อาหารอิ่มแล้ว พุทธานุภาพที่เราจะเคารพนบน้อมต่อพระองค์ รักษาให้ พระองค์มีอานุภาพอยู่ ทำไม่ได้ ธรรมานุภาพที่จะให้กระทำมีอานุภาพ ให้ปรากฏอยู่ ก็ทำไม่ได้ สังฆานุภาพก็จะรักษาไว้ไม่ได้

    ที่เรารักษาพุทธานุภาพ ธรรมานุภาพ สังฆานุภาพ ไว้ได้นี้ ขออานุภาพพระพุทธทั้งปวง ขออานุภาพพระธรรมทั้งปวง ขออานุภาพพระสงฆ์ ทั้งปวง จงพิทักษ์รักษาท่านทายกทายิกา อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลาย ให้อยู่ร่มเย็นเป็นสุข ให้อยู่เจริญรุ่งเรืองเถิด

    เมื่อทายกทายิกาทั้งหลายเจริญรุ่งเรืองแล้ว แต่ก่อนเคยใส่บาตรแก่ ภิกษุ ข้าวกับเกลือ หรือมิฉะนั้นก็มีกระเทียมดอง หรือมิฉะนั้นมีอะไรก็เถอะ ทำตามกำลัง วังชาท่าน เมื่อท่านรุ่มรวยยกใหญ่ เป็นเศรษฐีคหบดีขึ้นแล้ว ภิกษุสามเณรก็จะได้อาหาร ประณีตขึ้นไปเหมือนกัน

    เพราะฉะนั้น ได้ด้วยกัน เสียด้วยกัน ทายกอุบาสกอุบาสิการุ่มรวย กันเท่าใด ภิกษุสามเณรก็รุ่มรวยกันเท่านั้น ให้พรแก่ตัวเอง ภิกษุสามเณรที่ฉลาดต้องตั้งอก ตั้งใจให้พรทีเดียว

    ถ้าภิกษุสามเณรโง่ ไม่ฉลาด ประพฤติเลวทรามต่ำช้าให้ผิดธรรมผิดวินัย จนกระทั่งทายกทายิกาทั้งหลายเบื่อ ไม่ใส่บาตรให้

    นี่ภิกษุสามเณรฆ่าภิกษุสามเณรเอง ทำลายกันเองอย่างนี้ พระพุทธศาสนาจะถล่มทลายด้วยประการใด ก็เพราะภิกษุสามเณร นั่นแหละ จะรุ่งเรืองด้วยประการใดก็เพราะภิกษุสามเณรนั่นแหละ เป็นข้อสำคัญนัก

    ให้อุตส่าห์ตั้งอกตั้งใจประพฤติดี ประพฤติเป็นนักเรียนจริงๆ เรียนให้รู้ธรรมจริงๆ ปฏิบัติให้สม ความรู้จริงๆ ได้ชื่อว่าเป็นสง่าราศีแก่พระพุทธศาสนา สงฺฆมชฺฌโสภณ

    เมื่อประพฤติได้ เช่นนั้นในท่ามกลางพระสงฆ์ เมื่อย่อลงไปแล้วก็ได้ความว่า พุทธศาสนาจะรุ่งเรืองอยู่ได้ เพราะอุบาสกอุบาสิกาไม่ละในการบริจาคทานให้พระภิกษุสามเณรตลอดสาย

    ภิกษุสามเณร ได้อาหารและบิณฑบาตนั้นแล้ว เข้าไปอยู่ในท้องอิ่มแล้ว ไม่ให้อาหารอิ่มนั้นเสียไปเปล่าๆ อุตส่าห์เล่าเรียนคันถธุระและวิปัสสนา มีหน้าที่ตามศรัทธาของตน ไม่ซุกซนด้วยประการใด ประการหนึ่ง ให้นึกดังนี้ นี่แหละได้ชื่อว่าเป็นอายุพระศาสดา เพราะอุบาสกอุบาสิกา ภิกษุ สามเณรประพฤติตรงต่อกันด้วยประการดังนี้..."

    คัดลอกบางส่วนจาก
    พระธรรมเทศนา เรื่อง ภัตตานุโมทนากถา๔
    เทศน์เมื่อ ๑๖ มกราคม ๒๔๙๘
    พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

    gBCXcB9YpcYbm8OcoVvRiuGujpJgTSQDfI8azpNkhXUTCSwR3gxwvemEIoBl2gRqIoq4V4WJ&_nc_ht=scontent.fcnx3-1.jpg
     
  18. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ?temp_hash=617044dede79422918212a653e71f3c7.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

  19. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    ภัตตานุโมทนากถา (1)


    lphor_tesna_vn.jpg

    10 พฤษภาคม 2597

    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส. (3 หน)



    ทานํ เทติ สีลํ รกฺขติ ภาวนํ ภาเวติ
    พุทฺเธ สทฺทหติ ธมฺเม สทฺทหติ สงฺเฆ สทฺทหติ
    อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตินฺติ.



    เราเห็นเท่านี้ก็ฉลาดกว่าคนอีกชั้นหนึ่งแล้ว เขาใช้แค่กายมนุษย์เท่านั้น แต่เราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ใช้กายมนุษย์ละเอียดจึงฉลาดกว่า เขาเหล่านั้น ฉลาดกว่าเขาอย่างไร? คือ เรารู้ทีเดียวว่าคนนี้จะซื่อตรงหรือไม่ซื่อตรง ให้ไปดูที่ กายละเอียด ไปถามกายละเอียด กายละเอียดจะไปสืบดู เดี๋ยวก็รู้ได้ทันทีว่าคนนั้นซื่อตรงหรือไม่ กายละเอียดบอกกายมนุษย์แล้ว นี่ฉลาดกว่ากันอย่างนี้ ใช้ได้อย่างนี้ เข้าไปข้างใน ถามเรื่องราวจริงได้ และโกหกหลอกลวงกันไม่ได้ นี่เขาเรียกว่า ปัญญา 2 ชั้น



    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมีกถา เป็นภัตตานุโมทนากถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธา ของเจ้าภาพผู้มีจิตศรัทธาเป็นสมานฉันท์พร้อมใจกันมาบริจาคทานแก่พระภิกษุสามเณร ตลอดจนอุบาสกอุบาสิกาในวัดปากน้ำนี้เวลาเช้าได้ถวายข้าวยาคูคือข้าวต้ม เวลาเพลได้ ถวายโภชนาหารพร้อมด้วยสูปพยัญชนะ เวลาบ่ายนี้ให้มีพระสัทธรรมเทศนา น้อมนำปัจจัย ไทยธรรมทั้ง 4 นี้ บูชาพระสัทธรรมได้ชื่อว่าถวายทานแด่พระธรรมอีกส่วนหนึ่ง จึงเป็น อันว่าเจ้าภาพได้ถวายทานครบทั้งพระรัตนตรัย คือ ได้ถวายทานแด่พระพุทธเจ้า ได้ถวาย ทานแด่พระธรรม และได้ถวายทานแด่พระสงฆ์ เป็นองค์คุณของพระพุทธศาสนา พุทฺโธ พระพุทธเจ้าเป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นจากพระพุทธรัตนะ ธมฺโม คือพระธรรม เป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นจากพระธรรมรัตนะ สงฺโฆ ก็เป็นเนมิตตกนาม เกิดขึ้นจากสังฆรัตนะ รัตนะทั้ง 3 นี้คือ พระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ เป็นตัวจริงของพระพุทธศาสนา เป็นแก่นสาร หลักของพระพุทธศาสนาทีเดียว

    เราเป็นพุทธศาสนิกชน หญิงก็ดี ชายก็ดี เป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม ต้องรู้จัก พระรัตนตรัยนี้ ถ้าไม่รู้จักรัตนะทั้ง 3 นี้แล้ว การนับถือศาสนา ปฏิบัติในศาสนา เอาตัวรอด ไม่ได้ ถ้าได้เข้าถึงพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะแล้วก็แก้ไขโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ให้หายได้บ้าง ทำอะไรได้ผลอันศักดิ์สิทธิ์บ้าง นั่นก็เพราะคุณของพระรัตนตรัย ที่มีอยู่ในตัว ของเรา แต่หากใช้ไม่เป็นทำไม่เป็น ก็ไม่ปรากฏเหมือนกัน ถ้าใช้เป็นทำเป็นถูกส่วนเข้าแล้ว เห็นปรากฏจริงๆ แต่ว่าเป็นชั้นๆ เข้าไป ไม่ใช่เป็นของง่าย เป็นของยากลำบากอยู่ จะว่ายาก ก็ไม่ยากจนเกินไป จะว่าง่ายก็ไม่ง่ายจนเกินไป หรือว่าไม่ยากไม่ง่ายนั้นก็ถูก คือ ไม่ยาก สำหรับบุคคลผู้ที่ทำได้ปฏิบัติได้ ไม่ง่ายสำหรับบุคคลที่ทำไม่เป็น ปฏิบัติไม่ถูก คนทำไม่ได้ ปฏิบัติไม่เป็นก็บอกว่ายาก แต่คนทำได้ปฏิบัติถูก ก็บอกว่าง่าย เพราะฉะนั้นจึงว่าไม่ยาก ไม่ง่าย ไม่ยากแก่คนที่ทำได้ ไม่ง่ายแก่คนที่ทำไม่ได้ หลักนี้เป็นของสำคัญนัก เพราะเป็น ชั้นๆ เข้าไป ให้รู้จักกายเหล่านี้เสียก่อน ให้รู้จักพระรัตนตรัยเสียก่อน ถ้าไม่รู้จักพระรัตนตรัย เสียก่อนแล้วเอาหลักไม่ได้ ถึงจะฟังธรรมฟังเทศน์ไปสักเท่าใด ก็จับจุดเอาหลักไม่ได้ พระรัตนตรัยนั้นอยู่ในตัวของเรานี้เอง อยู่ตรงไหน? อยากจะพบ ตัวของเรามีศูนย์กลางอยู่ คือ สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย สมมติว่าเราขึงด้ายกลุ่มเส้นหนึ่งจากหน้าท้องตรงสะดือ ทะลุหลัง และอีกเส้นหนึ่งจากกึ่งกลางสีข้างขวาทะลุซ้ายตรึงตรงกลางกั๊กที่ด้ายกลุ่มนั้นจรด จุดที่กลางด้ายกลุ่ม 2 เส้นจรดกันนั่นแหละ เรียกว่า “กลางกั๊ก” ตรงกลางกั๊กนั้นถูกดวงธรรม ที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดงของไก่ ให้เอาใจไปหยุดอยู่ตรงกลางกายมนุษย์นั้น ตรงกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ที่ตรงนั้นแหละเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น มีแห่งเดียว ก่อนมนุษย์จะมาเกิด หญิงก็ดี ชายก็ดี ต้องเอาใจไปจรดตรงนั้นจึงเกิดได้ ถ้าไม่หยุดไม่นิ่ง เกิดไม่ได้ พอหยุดถูกส่วนเข้า เกิดได้ทันที ตรงนั้นแหละเป็นที่หยุดและเป็นที่เกิด เป็นที่ตาย พอใจไปหยุดถูกส่วนเข้าก็เกิดและตาย ตรงนั้นเป็นที่เกิดที่ดับแห่งเดียว ไม่ใช่แต่ที่เกิดที่ดับ เท่านั้น ตรงกลางนั้นเวลาจะนอนหลับ ใจก็ต้องไปหยุดอยู่ตรงกลางนั้น หยุดนิ่งพอถูกส่วนเข้า ก็หลับ ถ้าไม่ถูกตรงนั้น ไม่หยุดนิ่งถูกส่วนตรงนั้น ก็ไม่หลับอีกเหมือนกัน หลับตรงไหน ตื่นขึ้นก็ตรงนั้น ตรงศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ใสบริสุทธิ์เท่าฟองไข่แดง ของไก่ นั่นแหละเป็นที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ และเป็นที่ตื่นแห่งเดียว อย่าได้เอาใจไปไว้ที่อื่น ให้เอาใจไปจรดไว้ที่ตรงนั้น จึงจะถูกต้อง พอใจหยุดถูกที่เข้าเท่านั้น เราะจะรู้สึกตัวทีเดียวว่า ช่างเป็นสุขอะไรอย่างนี้หนอ

    ท่านได้ยืนยันไว้ตามตำราว่า “นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ” สุขอื่นนอกจากความหยุดนิ่งไม่มี พอใจหยุดถูกส่วนเข้าก็เป็นสุขทีเดียว พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั้น ให้จำให้แม่น พอใจหยุดก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั้น กลางของกลางๆๆๆ พอถูกส่วนเข้า เข้าถึงกลาง จะ เห็นดวงธรรมดวงหนึ่งเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ผุดขึ้นที่ตรงนั้น ตรงกลางของใจที่หยุดนั้น ขนาดเท่าดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ ให้ใจหยุดนิ่งอยู่กลางดวงธรรมที่บังเกิดขึ้นนั้น ดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่เกิดขึ้นนั้น หยุดอยู่กลางดวงนั้น หยุดถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางใจที่หยุดอีก กลางของกลางๆๆๆ พอถูกส่วนเข้า จะเห็นอีกดวงหนึ่งเรียกว่า ดวงศีล มีขนาดเท่าๆ กันกับ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ใสบริสุทธิ์ดุจกระจกคันฉ่องส่องดูเงาหน้า ใจของเราก็หยุดอยู่ตรง กลางดวงศีลอีก พอใจหยุดถูกส่วนเข้า เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลางๆๆๆ พอใจหยุด ถูกส่วนเข้าก็เห็นอีกดวงหนึ่ง เรียกว่า ดวงสมาธิ ใจก็หยุดนิ่งอยู่กลางดวงสมาธินั้น พอใจ หยุดนิ่ง ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนิ่งนั้น กลางของกลางๆๆๆ ถูกส่วนเข้าก็เห็นอีกดวงหนึ่ง เรียกว่า ดวงปัญญา ใจหยุดอยู่กลางดวงปัญญานั้น พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของใจ ที่หยุดนั้น กลางของกลางๆๆๆ ถูกส่วนเข้าก็เห็นอีกดวงหนึ่ง เรียกว่า ดวงวิมุตติ ใจหยุดอยู่ กลางดวงวิมุตตินั้น ไม่ไปที่อื่น พอหยุดถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่หยุด กลางของกลางๆๆๆ ซ้ายขวาหน้าหลังล่างบนไม่คำนึง พอถูกส่วนเข้าก็เห็นอีกดวงหนึ่ง เรียกว่า ดวงวิมุตติญาณทัสสนะ ใจหยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะนั้น พอหยุดถูกส่วนเข้าก็เข้ากลางของใจที่ หยุดนั้นอีก กลางของกลางๆๆๆ พอถูกส่วนเข้าก็เห็นตัวของเราที่ไปเกิดมาเกิดนี้

    เมื่อทุกคนปฏิบัติได้เพียงนี้ ก็รู้ได้ว่านี่เอง เวลานอนฝันกายนี้เองออกไป เวลาเลิก ฝันแล้ว ไม่รู้ไปอยู่ที่ไหน บัดนี้ข้าได้มาพบเจ้าข้าแล้ว เจ้านี่เองเวลาข้าจะไปไหนมาไหน คอย เป็นนายบอกหนทางผิดถูกอยู่เสมอ บอกให้ไปนั่นไปนี่ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ เวลาข้านอน เจ้าก็ ฝันออกไป ไหนเจ้าลองฝันทั้งที่ตื่นให้เข้าดูซิ แล้วก็ฝันไปบอกให้ไปเมืองเพชร ไปดูเขาวัง เขาว่าพระเจ้าแผ่นดินเป็นผู้สร้างพระราชวังอยู่ที่นั่น ไปดูเขาวังซิ สักนาทีเดียวเท่านั้น ไปฝันไป เอาเรื่องเขาวัง กายละเอียดนี้แว๊บไปเอาเรื่องเขาวังมาเล่าให้ฟังแล้ว นั่นฝันไปเรื่องหนึ่ง เอาฝันเรื่องเมืองเชียงใหม่ให้ข้าดูอีกที ไปดูเรื่องดอยสุเทพ เขาว่าสนุกสนานนัก ไปดูมาซิ ปล่อยกายละเอียดแว๊บเดียว ไปสักนาทีเดียวเท่านั้นเช่นกัน ไปเอาเรื่องดอยสุเทพมาเล่า ให้ฟังอีกแล้ว นี่ก็ฝันเสียอีกเรื่องหนึ่ง และไหนลองฝันไปทางอรัญประเทศและไปทางพระ ธาตุพนม ไปดูเรื่องพระธาตุพนม มาเล่าให้ฟังซิ สักนาทีเดียวเหมือนกัน กายละเอียดก็ไป เอาเรื่องพระธาตุพนมมาเล่าให้ฟังอีก นี่ฝันเสีย 3 เรื่องแล้ว ชั่วเวลาประเดี๋ยวเดียว ทีนี้ไป ทางปักษ์ใต้เสียบ้าง ไปนครศรีธรรมราช เขาว่ามีพระบรมธาตุอยู่ที่เจดีย์ใหญ่ ลองฝันไปซิ สักนาทีเดียว กายละเอียดก็ฝันไปเอาเรื่องนครศรีธรรมราช เรื่องพระเจดีย์ใหญ่นั้นมาเล่าให้ ฟังอีกเช่นเดียวกัน นี่เจ้านี่เองฝันได้อย่างนี้ทีเดียว เราเห็นเท่านี้ก็ฉลาดกว่าคนอีกชั้นหนึ่งแล้ว เขาใช้แค่กายมนุษย์เท่านั้น แต่เราเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด ใช้กายมนุษย์ละเอียดจึงฉลาดกว่า เขาเหล่านั้น ฉลาดกว่าเขาอย่างไร? คือ เรารู้ทีเดียวว่าคนนี้จะซื่อตรงหรือไม่ซื่อตรง ให้ไปดูที่ กายละเอียด ไปถามกายละเอียด กายละเอียดจะไปสืบดู เดี๋ยวก็รู้ได้ทันทีว่าคนนั้นซื่อตรงหรือไม่ กายละเอียดบอกกายมนุษย์แล้ว นี่ฉลาดกว่ากันอย่างนี้ ใช้ได้อย่างนี้ เข้าไปข้างใน ถามเรื่องราวจริงได้ และโกหกหลอกลวงกันไม่ได้ นี่เขาเรียกว่า ปัญญา 2 ชั้น คือ มี ปัญญาในกายมนุษย์ชั้นหนึ่ง และ มีปัญญาในกายมนุษย์ละเอียดอีกชั้นหนึ่ง กายมนุษย์ ละเอียด นี้รู้เรื่องมากมาย รู้แม้กระทั่งเรื่องลี้ลับต่างๆ ที่ท่านกล่าวว่า “นตฺถิ โลเก รโห นาม” ขึ้นชื่อว่าความลับไม่มีในโลกนั้นถูกต้องทีเดียว คือ ความลับมีแต่เฉพาะในกายมนุษย์ เท่านั้น กายมนุษย์ละเอียดไม่มีความลับ กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม-กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด อีกมากมายนัก จะโกหก อย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์กว่าจะทรงทราบเรื่องนี้อย่างนี้ได้ พระองค์ต้องดำเนิน ไปถึง 18 กาย พระองค์ทรงรู้มากกว่าเราถึง 18 เมื่อเรารู้อย่างนี้แล้ว เข้าไปดำเนินปฏิบัติ อย่างนั้นเป็นขั้นๆ ไป จนเข้าไปถึงกายมนุษย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้ เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้น พอถูกส่วนเข้า จะเห็นดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานเป็นลำดับไป พึงรู้เป็นขั้นๆ เข้าไปอย่างนี้ คือเข้าไปในทางศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ แต่ใจต้องหยุดนิ่งอยู่แห่งเดียวจึงจะเข้าไปได้ตลอด พอหยุดถูกส่วนในกายมนุษย์ละเอียด เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ พอเข้าถึงกายทิพย์ หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายทิพย์ละเอียด พอเข้าถึงกายทิพย์ละเอียด หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เข้าถึงดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายรูปพรหม เมื่อเข้าถึงกายรูปพรหม หยุดนิ่งอยู่ศูนย์กลางดวง ธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ถูกส่วนเข้า เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เข้าถึงดวง ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงกายรูปพรหมละเอียด ในกายรูปพรหม ละเอียดดำเนินอย่างเดียวกันนี้ก็จะเข้าถึงกายธรรม กายธรรมรูปเหมือนพระปฏิมากร เกตุดอกบัวตูม ใสเป็นกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า เราจะต้องรู้จักกายนี้ คือกายธรรม หรือ ธรรมกาย เป็นกายที่ 9 ธรรมกายละเอียดมีในกายนี้อีกชั้นหนึ่ง กายธรรม ใจหยุดนิ่งอยู่ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึงดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ดวงศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เข้าถึงธรรมกาย อยู่ในกลางดวงธรรมที่ ทำให้เป็นธรรมกายนั้น เรียกว่า กายธรรมละเอียด เกตุดอกบัวตูมใสหนักขึ้นไปอีก นี่ “ธรรมกาย” นี่คือ “พุทธรัตนะ” ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายนั้น เรียกว่า “ธรรมรัตนะ” ธรรมกายละเอียดอยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะ นั้นเรียกว่า “สังฆรัตนะ” ให้รู้จักพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ เท่านี้ก่อน

    เมื่อรู้จักพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ อย่างนี้แล้ว เจ้าภาพผู้บริจาคทานวันนี้ ผู้ที่เป็นหัวหน้าเขาเป็นคนมีธรรมกาย เขาถึงธรรมกายละเอียดแล้วสามารถใช้อะไรได้ต่างๆ ดังนั้นเราที่ยังไม่ได้ จงอุตส่าห์พยายามเพียรเรียนให้เข้าถึงกายธรรมละเอียดนี้บ้าง ให้ถึง ธรรมกายเช่นเขานี้บ้าง หากถึงธรรมกายเช่นนี้แล้วจะเอาตัวรอดได้ ตายเสียชาติก่อนก็ได้ ถ้า วันไหนจะตายก็รู้ คือ สามารถรู้ได้ เป็นหญิงก็ดี เป็นชายก็ดี ทั้งคฤหัสถ์และบรรชิตได้มา ประสบพบพระพุทธศาสนาแล้ว ต้องเพียรพยายามเข้าถึงพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และ สังฆรัตนะ ให้ได้เช่นนี้ เพราะพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ นี่แหละเป็นแก่นของพระพุทธศาสนา เมื่อเรารู้จักพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ อย่างนี้แล้ว เราจะไม่ทำความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจ เราจะเป็นคนบริสุทธิ์ด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจอย่างเที่ยงแท้ โดย ไม่ต้องสงสัย

    ท่านจึงได้ยืนยันไว้เป็นตำรับตำราว่า กิญฺจาปิ โส กมมํ กโรติ ปาปกํ กาเยน วาจาย อุท เจตสา วา อภพฺโพ โส ตสฺส ปฏิจฺฉทาย อภพฺพตา ทิฏฺฐปทสฺส วุตฺตา แปลว่า พระโสดาบันบุคคลนั้น ยังกระทำบาปกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา และด้วยใจก็ดี พระโสดาบันบุคคลนั้น ไม่ควรปกปิดบาปกรรมที่ตนกระทำไว้นั้น เพราะว่าทางพระนิพพานพระโสดาบันบุคคลนั้น เห็นแล้ว จึงไม่ควรปิดบังความชั่วด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจของตน ควรเปิดเผยให้หมด ทั้งข้างนอกและข้างใน ถ้ากระทำก็บอกว่ากระทำ หากไม่ได้กระทำก็บอกว่าตนไม่ได้กระทำ ไม่โกหกหลอกลวง ไม่มีเล่ห์เหลี่ยมอย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้น

    เราเป็นพุทธศาสนิกชน เป็นหญิงก็ดี เป็นชายก็ดี จะปฏิบัติศาสนาก็เอาตัวรอดได้ เพราะตนปฏิบัติซื่อตรงเหมือนพระโสดาบัน เป็นคนมีปัญญาความเฉลียวฉลาด รู้จักบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์มิใช่ประโยชน์ บัดนี้เราท่านทั้งหลายรู้จักหลักพระพุทธศาสนา รู้จักพระ รัตนตรัยแล้ว ได้พากันมาบริจาคทาน ท่านกล่าวว่า “ทานํ เทติ” ทานการให้ คนเราจำเป็น ต้องให้ทุกคน ถ้าไม่สละไม่ให้ไม่ได้ เพราะถ้าไม่ให้กันแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไร หากให้ กันแล้วจึงจะได้ประโยชน์ เราปกครองเรือนเราก็ต้องให้ เวลาเช้าแม่ครัวต้องหุงหาอาหาร ให้พ่อบ้าน ถ้าไม่ให้ ประเดี๋ยวพ่อบ้านจะทุบตีเอา หากให้อิ่มเสียแล้ว จะได้ไม่ทุบตัว เด็กเล็กลูกหญิงลูกชาย ถ้าไม่ให้ ก็ร้องไห้ พอให้แล้ว พวกเด็กๆ เหล่านั้นก็ไม่ร้อง สะดวก สบายไปวันหนึ่งๆ การให้เช่นนั้นเรียกว่า ทาน ให้ลูกก็เป็นทาน ให้สามีก็เป็นทาน ให้ภรรยา สามีก็เป็นทาน แต่ว่าต้องให้โดยไม่มุ่งหวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดตอบแทน จึงจะเป็นทานแท้ๆ ถ้ามุ่ง หวังสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ไม่เป็นทาน อย่างให้ข้าวแมวกิน หากมุ่งหวังเพื่อให้แมวนั้นไว้จับหนู การให้อย่างนั้นก็ไม่เป็นทาน ต้องให้กินโดยไม่มุ่งหวังอะไรตอบแทนจากมัน ให้มันกินเพื่อให้ หายหิว กันอดอยาก หากให้อย่างนี้จึงจะจัดว่าเป็น “ทาน” จะให้แก่สัตว์เดรัจฉานอย่างอื่นใด ก็ตาม ต้องให้โดยไม่มุ่งหวังอะไรอย่างนี้ทุกครั้งไป หรือลูกเรา เราให้โดยไม่มุ่งหวังจะให้ลูก เลี้ยงเราในข้างหน้า หรือให้รักษาวงศ์ตระกูลของเราให้สูง ให้เพราะเขาเกิดมาแล้วก็เลี้ยง กันไป อาศัยเราไป หากเราไม่ให้อาศัย ไม่เลี้ยงแล้ว ลูกๆ เหล่านั้นก็ต้องตาย เมื่อเราให้ทาน โดยไม่คิดอะไรดังกล่าวนี้ จึงจัดเป็นทานแท้ๆ ทีเดียว

    ถ้าว่าคนมีปัญญาฉลาดอย่างนี้ ตระกูลของตนจะใหญ่โตสักปานใดก็ตาม ให้หนักเข้า คนก็จะมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นสุขขึ้น กินก็เป็นสุข นอนก็เป็นสุขทั้งกาย วาจา และใจ เพราะการให้นั่นแหละเป็นตัวสำคัญ หากฉลาดในการให้ก็จะเป็นพระเจ้าแผ่นดินในชาตินี้ก็ได้ คนที่เราให้นั้นย่อมยกย่องสรรเสริฐเคารพนับถือในเรา เราไม่ต้องไปเอาอะไร ให้หนักเข้า เท่านั้น พวกเขาย่อมคุ้มครองรักษาเราเอง กลัวเราจะเป็นอันตราย เพราะถ้าคนให้เป็น อันตรายเสียแล้ว พวกเขาก็อดอยากลำบาก คนที่รับนั่นแหละย่อมช่วยระวังรักษาทั้งบ้าน และสมบัติของเรา เมื่อเราให้หนักเข้าเช่นนี้ สามีก็คงอยู่คนเดียว ภรรยาก็คงอยู่คนเดียว ไม่เป็นสองไปได้ ถ้าเราไม่ให้นั่นแหละ จะอยู่ด้วยกันไม่ได้ทีเดียว ทั้งสามีภรรยาลูกก็ต้อง แยกจากกัน ให้รู้จักให้อย่างนี้ ก็จะปกครองบ้านเรือนสมบัติได้

    หญิงก็ดี ชายก็ดี ถ้าอยากให้วงศ์ตระกูลของตนสูงขึ้น ต้องการให้คนมากขึ้น มีพวก พ้องวงศ์วานมากขึ้น ก็อย่าเป็นคนตระหนี่ จงแก้ไขด้วยปัญญาของตน ถึงคราวให้อาหาร ก็ให้อาหาร ถึงคราวให้ผ้าก็ให้ผ้า ถึงคราวให้ที่หลับนอนก็ให้ที่หลับนอน ถึงคราวให้ยา รักษาโรคก็ให้ยารักษาโรค ให้ไปตามกาลเวลาอย่างนั้น ให้เขาเป็นสุขเบิกบานสำราญใจ หากเราให้อย่างนี้แล้ว วงศ์ตระกูลของเราย่อมสูงขึ้นเป็นลำดับ เป็นที่สรรเสริญนิยมชมชอบ ของคนทั่วไป

    สีลํ รกฺขติ หากว่ามีคนมากเช่นนี้ คือ ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป เราต้องรักษาศีล ต้อง บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา และบริสุทธิ์ใจ ไม่มีร่องรอยเสียกระทบกระเทือนใจกัน กายจะให้ เดือดร้อนตนเองและคนอื่นก็ไม่มี วาจาจะให้เดือดร้อนตนเองและคนอื่นก็ไม่มี จะอยู่ด้วยกัน มากน้อยเพียงใดก็ตาม ไม่สบายใจเหมือนกับอยู่คนเดียว ดังนั้น จึงไม่ควรเบียดเบียน ไม่ กระทบกระเทือนเปรียบเปรย ไม่อิจฉาริษยากันอย่างใดอย่างหนึ่ง มีศีลด้วยกันทั้งหมด ศีล 5 คือละเว้นจาก ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเม มุสา สุรา 5 สิกขาบทนี้ต้องบริสุทธิ์จริงๆ คือ ไม่เบียดเบียนกันให้เดือดร้อนด้วยการฆ่า ไม่ลักขโมยฉ้อโกงหลอกลวงกันให้เดือดร้อน ไม่ ประพฤติผิดในลูกภรรยาของคนอื่น ถ้าประพฤติผิดเข้าก็เดือดร้อน ถ้าไม่พูดปดกัน ก็ไม่ เดือดร้อน ถ้าพูดปดเข้าก็เดือดร้อน ไปเสพสุราเข้า คนดีๆ ก็กลายเป็นคนบ้า พูดจาอ้อแอ้ ไม่เป็นเรื่อง หรือคนดีๆ ก็กลายเป็นคนครึ่งบ้าครึ่งบอไป ถ้าว่าเต็มที่เข้าก็อาจกลายเป็นบ้าบอ ไปเลย ถ้าว่าเมื่อใดฤทธิ์สุราหมดไปแล้วนั่นแหละ จึงจะพูดจากันรู้เรื่อง กลับเป็นคนดีได้ตาม ปกติ นี่เพราะฤทธิ์สุราทำให้เป็นไปอย่างนั้น ควรระวังให้ดี อย่าให้เหตุเหล่านี้เข้าครอบงำได้ ตนเองจึงจะเป็นสุขกายสุขใจ มีคนมากมายเท่าไรก็เป็นสุข ไม่ต้องเดือดร้อนเลย แต่เป็นสุข อย่างธรรมดาเท่านั้น ถ้าจะให้เป็นสุขและฉลาดยิ่งขึ้นไป ต้องเจริญภาวนา

    ภาวนํ ภาเวติ ทำให้จริง ให้หยุด ให้นิ่ง ทำให้มีให้เป็นขึ้น กี่ร้อยกี่พันคนก็นอนหลับ สบาย กี่คนๆ ก็สงบนิ่ง เมื่อสงบนิ่งแล้ว มีคนสักเท่าไร ก็ไม่รกหูรกตา ไม่รำคาญไม่เดือดร้อน เป็นสุขสำราญเบิกบานใจเป็นนิจ นี่เขาเรียกว่า “ภาวนา” ทำให้ใจหยุดสงบ หยุดสงบแล้ว ไม่ใช่แต่เท่านั้น หยุดอยู่สงบหาเรื่องทำจะได้ทรัพย์สมบัติมาเลี้ยงกันอีก ให้พวกเขาอยู่เป็นสุข สำราญสมบูรณ์ด้วยเครื่องกินเครื่องใช้ ไม่ขาดตกบกพร่อง จะให้เป็นคนสมบูรณ์อยู่เสมอ ก็ต้องใช้วิชชาวิปัสสนาภาวนา ต้องเฉลียวฉลาดให้อาหาร หาปัญญาแก้ไข ให้ทานในวันต่อไป ไม่ให้หมดให้สิ้นไป เมื่อให้ทานไม่หมดไม่สิ้นไปเช่นนี้ พวกพ้องก็มากขึ้นเป็นลำดับ มี 100 ก็ เพิ่มเป็น 200 300 400 500 600 จนกระทั่ง 1,000 2,000 3,000 เป็นลำดับไป การให้นี่แหละเป็นตัวสำคัญ เมื่อมีพวกพ้องมากขึ้นแล้ว ก็ให้รักษาศีล ให้บริสุทธิ์กาย บริสุทธิ์วาจา บริสุทธิ์ใจ และเจริญภาวนา ทำภาวนาให้เจริญขึ้นทุกคน เมื่อพวกเขาเจริญภาวนา แล้ว ภาวนานั้นแหละจะช่วยเขาได้ทุกสิ่งทุกประการ

    พุทฺเธ สทฺทหติ ธมฺเม สทฺทหติ สงฺเฆ สทฺทหติ ให้เชื่อพุทธรัตนะ ให้เชื่อธรรมรัตนะ และให้เชื่อสังฆรัตนะ การเชื่อพุทธรัตนะนั้นเชื่ออย่างไร? “พุทธรัตนะ” ท่านไม่มีกิเลส กิเลส ไม่มีในท่าน ท่านเป็นผู้บริสุทธิ์ทุกอย่าง ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ของท่าน บริสุทธิ์ทุกอย่าง ถูกต้องร่องรอยของพระธรรม พุทธรัตนะท่านรับสั่งอย่างไร เราต้องเชื่อไป ตามพระรัตนะนั้น “ธรรมรัตนะ” ทรงสัตว์ผู้ปฏิบัติไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว เป็นของดีฝ่ายเดียว เรา เชื่อแต่สิ่งดีและทำตามแต่สิ่งที่ดี ทำตามธรรมนั้น เราก็จะเป็นคนชั้นสูง เพราะเราเชื่อตามธรรม และดำเนินตามนั้น “สังฆรัตนะ” ดำเนินตามพระสงฆ์ผู้รักษาธรรมไม่ให้สูญไป ให้ธรรมนั้นมั่นคงอยู่ พระสงฆ์ผู้รักษาธรรมก็ดำเนินตามธรรมนั้น เราก็เชื่อและเดินตามธรรมตามพระสงฆ์ ถ้าว่าเชื่อในพระพุทธ ในพระธรรม และในพระสงฆ์ เช่นนี้แล้วจะเอาตัวรอดได้ฉะนั้น จึงควร รู้จักพระพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ และสังฆรัตนะ

    อธมฺโม นิรยํ เนติ ธมฺโม ปาเปติ สุคตึ สภาพที่เป็นบาปย่อมนำสัตว์ไปสู่ทุคติ สภาพที่เป็นบุญย่อมนำสัตว์ไปสู่สุคติ บุญและบาปนั้นเป็นอย่างไร? วันนี้จะแสดงเรื่องบุญ และบาป ให้เข้าใจกันเสียที บุญและบาปนั้นเป็นอย่างนี้ วันนี้เรามาทำบุญกันมากคนด้วยกัน คือท่านเจ้าภาพผู้ถวายทานในวันนี้ได้ชักชวนพวกพ้องให้มาทำบุญเลี้ยงพระที่วัดปากน้ำ เพราะการทำบุญนั้นได้บุญจริงๆ เพราะเจ้าภาพผู้ชักชวนเขาเห็นเช่นนั้น บุญนั้นไม่ใช่มอง ไม่เห็น มองเห็นได้ ถ้าหากบุญมองไม่เห็นเจ้าภาพเขาก็ไม่ชวนพวกพ้องมาทำบุญ บุญนั้น อยู่ที่ไหน? รูปพรรณสัณฐานเป็นอย่างไร? เราทำให้ถูกส่วนเข้า จึงจะมองเห็นบุญอย่างแน่แท้ โดยไม่ต้องสงสัย

    เจ้าภาพได้ชักชวนพวกพ้อง เตรียมเครื่องไทยทานวัตถุมาทำบุญ เวลาเช้าได้ถวาย ยาคูข้าวต้ม เวลาเพลได้ถวายโภชนาหารพร้อมด้วยสูปพยัญชนะ และเวลาบ่ายให้มีพระ ธรรมเทศนา นี่เพราะต้องการบุญจริงๆ การทำบุญต้องทำให้ถูกส่วน ถูกส่วนตรงไหน? คือ นำเครื่องไทยทานวัตถุมาถวายพระภิกษุสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์รับเครื่องไทยทานวัตถุจากมือของ ผู้ให้ เครื่องไทยทานขาดจากสิทธิ์ของผู้ให้ เป็นสิทธิ์ของผู้รับขณะใด “ปุญฺญาภิสนฺทา” บุญไหล มาในขณะนั้น ไหลมาจากที่ไหน?

    เวลาฝนตก เราเห็นมิใช่หรือ? ฝนมาทางท้องฟ้า ไม่ใช่มาทางใต้ดิน ฝนมาจากท้องฟ้า แต่เดิมฝนมาจากที่ไหน? ฝนก็อยู่ในก้อนเมฆดำๆ นั่นแหละ พอเมฆตั้งขึ้นแล้ว ประเดี๋ยว ฝนก็ตก ฝนอยู่ในก้อนเมฆนั่นเอง เราเห็นกันเพียงเท่านั้น เรื่องนี้ไม่ใช่เพียงแต่พวกเรา แม้ กษัตริย์เมื่อครั้งที่เจ้าศากยะครองเมืองกบิลพัสดุ์ กษัตริย์เหล่านั้นก็ถามกันว่า รู้หรือว่าข้าว มาจากไหน? ข้าวที่บริโภคเสวยอยู่ในชามนั้น กษัตริย์องค์หนึ่งผลุดลุกขึ้นตอบว่า ข้าวนั้น มาจากยุ้ง เพราะวันหนึ่งไปไหนมา เห็นเขาโกยข้าวออกจากยุ้งข้าว จึงได้กล่าวอย่างนั้น กษัตริย์อีกองค์หนึ่งบอกว่า ข้าวนั้นมาจากครก เพราะไปเห็นเขาตำข้าว จึงตอบว่าข้าวมา จากครก กษัตริย์อีกองค์หนึ่งตอบว่า ข้าวมาจากในหม้อ เพราะไปเห็นข้าวในหม้อมา ไม่เคย เห็นข้าวในยุ้งในฉางหรือที่เขาตำเขาโขลก อีกองค์หนึ่งตอบว่า ข้าวมาจากในชามที่สำรับ นั่นแหละ เพราะตนเห็นมาเพียงแค่นั้น ไม่เคยเห็นในที่อื่นเลย นี่เป็นกษัตริย์สุขุมาลชาติ อย่างนี้ ยังไม่รู้ไม่ทราบ เราก็เหมือนกัน ฝนนี่หากเราจะถามว่ามาจากไหน? เราก็คงตอบได้ ว่ามาจากก้อนเมฆดำๆ บนท้องฟ้านั้น ที่อื่นก็ไม่เห็นมี ไม่เข้าใจ ไม่เห็น

    แท้จริง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณธาตุมีอยู่ ถ้าผู้มีปัญญา ในอากาศว่างๆ นี้แหละ เขาสามารถใช้เครื่องดักเอาไอน้ำในอากาศก็ได้ ในศาลานี้ก็มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เต็มไปหมด แต่ผู้ใดจะให้ฝนตก ผู้นั้นต้องทำฝนเป็น เรียกฝนเป็น แก้ไขทำฝนขึ้นได้ ทำน้ำขึ้นได้ ผู้เทศน์นี้ ได้เคยแก้ไขมาแล้ว จะแก้ไขเกณฑ์ฝนได้เหมือนกัน

    เมื่อรู้จักหลักและที่มาของฝนแล้ว ก็จะรู้ได้ด้วยว่าบุญที่มนุษย์ทำมาจากไหน? ก็มา จากในกลางกายนี้ ตรงกลางของใจนั้น กลางของกลางๆๆ หนักเข้าก็พบดวงธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน กลางของกลางหนักเข้าไป ก็พบดวงศีล ศูนย์กลางเข้าไปก็พบดวงสมาธิ กลาง ของกลางเข้าไปอีกก็พบดวงปัญญา กลางของกลางเข้าไปอีกพบดวงวิมุตติ กลางของกลาง เข้าไปอีก พบดวงวิมุตติญาณทัสสนะ กลางของกลางเข้าไปอีก พบกายมนุษย์ละเอียด กาย มนุษย์ละเอียดก็มีธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม เหมือนกัน เป็นชั้นๆ เข้าไปอย่างนี้ นี่หัดเข้าไปหา กายเป็นชั้นๆ เข้าไป เข้าไปหากายมนุษย์ละเอียด, กายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด กายพรหม-กายพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด, กายธรรม-กายธรรมละเอียด, กายโสดา-กายโสดาละเอียด, กายสกทาคา-กายสกทาคาละเอียด, กายอนาคา-กายอนาคา ละเอียด, กายอรหัต-กายอรหัตละเอียด หนักขึ้นไปเป็นชั้นๆ

    หากจะเข้าไปหาน้ำบ้าง กลางของกลางธาตุน้ำนั้น กลางของกลางๆๆ ก็จะเข้าไปพบทะเล พบทะเลหนักลงไปๆๆ จะใช้น้ำสักเท่าไรก็ใช้ไม่หมด ใช้ไม่รู้จักหมดจักสิ้น จะเอาน้ำเท่าใดก็ได้ เข้าไปกลางของกลางนั่นแหละ ไม่ใช่อยู่ที่อื่น นี่ต้องการน้ำ ต้องทำอย่างนี้

    หากต้องการบุญ ก็เข้าไปในกลางกายนั่นแหละ กลางของกลางๆๆ หนักเข้าไป ซ้าย-ขวา-หน้า-หลัง-ล่าง-บน ไม่ไปทั้งนั้น กลางของกลางหนักขึ้นทุกทีก็จะเข้าไปพบบุญ ทะเลบุญ อยู่ในกลางกายนั้น เจ้าของผู้ปกครองบุญนั้นมี 2 ภาค มารปกครองภาคหนึ่ง พระปกครอง ภาคหนึ่ง

    ถ้าภาคพระปกครอง ทำบุญทำกุศลต่างๆ พระท่านก็ส่งบุญส่งกุศลมาให้ เหมือนส่ง กระแสไฟฟ้าให้ใช้นี่แหละ ผู้ส่งกระแสไฟฟ้ามาให้ใช้ก็มีอยู่ ถ้าเขาไม่ส่งมาให้เรา เราก็ใช้ กระแสไฟฟ้าไม่ได้ บุญก็เหมือนกัน พระเป็นผู้ปกครอง ดิน ฟ้า อากาศ ก็มีผู้ปกครองเหมือนกัน

    ที่บังคับเราให้เกิด ให้แก่ ให้เจ็บ และให้ตายอยู่เดี๋ยวนี้แหละ พวกมารบังคับให้เป็น ไปตามนั้น ส่วนพวกพระบังคับไม่ให้เกิด ไม่ให้แก่ ไม่ให้เจ็บและไม่ให้ตาย นี่พวกพระกับพวก มารบังคับอย่างนี้ เวลานี้พวกพระบังคับไม่ให้รบกัน แต่พวกมารบังคับให้รบกันหนักขึ้น

    เมื่อรู้จักหลักอย่างนี้แล้ว บุญที่ไหลมาติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ของผู้บำเพ็ญบุญนั้น ไม่ใช่ดวงเล็กน้อยเลย เจ้าของทานวันนี้ บุญไหลมาติดอยู่ศูนย์กลางดวง ธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ไม่ใช่ดวงเดียว ในขั้นกายมนุษย์นี้ก็ไหลมาติดอยู่ ขั้นกายมนุษย์ ละเอียดก็ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ในขั้นกายทิพย์ก็ติด อยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ ขั้นกายทิพย์ละเอียดก็ติดอยู่ศูนย์กลาง ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ละเอียด ขั้นกายรูปพรหมก็ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้ เป็นรูปพรหม ขั้นกายรูปพรหมละเอียดก็ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายรูปพรหม ละเอียด ขั้นกายอรูปพรหม ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหม ขั้น กายอรูปพรหมละเอียด ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายอรูปพรหมละเอียด ขั้น กายธรรม ติดอยู่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ขั้นกายธรรมละเอียด ติดอยู่ ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกายละเอียด ติดขึ้นไปอย่างนี้จนกระทั่งทุกๆ กาย นับ อสงไขยกายไม่ถ้วน เมื่อรู้บุญติดอยู่เช่นนี้แล้ว เราจะไปทุกข์ยากอะไร แตกกายทำลายขันธ์ไป ก็เป็นหน้าที่ของบุญ เพราะบุญของเรามากอยู่แล้ว บุญจะจัดเป็นชนกกรรมนำไปเกิด

    ใครจะเป็นคนนำไปเกิด? ในเมื่อกายมนุษย์แตกดับไปแล้ว กายมนุษย์ละเอียด ยังเหลืออยู่ อย่างเรานอนฝันไป ตายก็เหมือนกับนอนหลับฝันไป กายมนุษย์ละเอียด ออกจากกายมนุษย์ไป เพราะกายมนุษย์นี้แตกดับเสียแล้ว ดวงบุญในกายมนุษย์นี้ก็แตกดับ หมด ดวงธรรมที่ให้เป็นกายมนุษย์ก็แตกดับ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทำลาย หมดไม่มีเหลือ แต่ว่าในกลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียดนั้น มีดวงบุญอีกดวง หนึ่ง ดวงบุญดวงนั้นแหละจะนำไปเกิดในตระกูลสูงๆ มีกษัตริย์มหาศาล มีทรัพย์สมบัติ บริวารนับจะประมาณไม่ได้ เศรษฐีมหาศาล พราหมณ์มหาศาล มีทรัพย์สมบัติบริวาร นับประมาณไม่ได้ คหบดีมหาศาลมีทรัพย์สมบัติบริวารนับประมาณไม่ได้ ให้เกิดในตระกูล สูงๆ อย่างเช่นนั้น ทว่าในมนุษย์โลกไม่พอรับบุญขนาดใหญ่ๆ ขนาดนี้ ก็ให้ไปเกิดในสวรรค์ ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามาพิภพ ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ให้เกิดในกายทิพย์สูงขึ้นไป กายทิพย์ในชั้นจาตุมหาราช กายทิพย์ในชั้นดาวดึงส์ กายทิพย์ ในชั้นยามาพิภพ กายทิพย์ในชั้นดุสิต กายทิพย์ในชั้นนิมมานรดี กายทิพย์ในชั้นปรนิมมิตวสวัตตี ในกามภพนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง

    กายมนุษย์ละเอียดพอส่งขึ้นไปถึงกายทิพย์ กายมนุษย์ละเอียดก็ดับเหมือนกัน ใน ดวงกายทิพย์ละเอียดก็ดับหมด ในดวงกายทิพย์ละเอียดก็ใช้ไปตามหน้าที่ นี่เขาเรียกว่า กมฺมวิปาโก อจินฺตโย ลักษณะที่แสดงบาปกรรมที่บุญส่งผลให้เป็นไปเป็นชั้นๆ ยังไม่มีใคร แสดงให้รู้ เพราะไม่ใช่เป็นของธรรมดาสามัญทั่วไป พวกมีธรรมกายเขาเห็นปรากฏชัดเจน เป็นชั้นๆ เป็นกายๆ ไปดังนี้

    เมื่อรู้จักหลักเช่นนี้แล้ว เรามาบำเพ็ญบุญกันวันนี้ เราได้จริงๆ อย่างนี้ และพาตัว ให้เป็นสุขให้ไปสู่สุคติ ในมนุษย์โลกถ้าเรามีบุญเสียแล้ว จะค้าขายก็ร่ำรวย จะทำงาน ทำกิจการอะไรก็เจริญ จะหาทรัพย์สมบัติก็ได้คล่องสะดวกสบายไม่ติดขัดแต่ประการใด ถ้าว่าไม่มีบุญจะทำ อะไรก็ติดขัดไปเสียทุกอย่างทุกประการ ดังนั้นจึงได้ชักชวนพวกเรา ให้มาทำบุญทำกุศลเสีย จะได้เลิกจนเลิกทุกข์ยากลำบากเสียที

    การทำบุญเลี้ยงพระเช่นนี้ ถูกต้องตำรับตำราทางพระพุทธศาสนา เพราะพระองค์ ทรงรับสั่งไว้ว่า “โภชนํ ภิกฺขเว ททมาโน ทายโก” ทายกผู้ให้ทานโภชนาหาร “ปฏิคาหกานํ ปญฺจ ฐานานิ เทติ” ชื่อว่า ให้ฐานะ 5 ประการ แก่ปฏิคาหก “กตมานิ ปญฺจ ฐานานิ” ฐานะ 5 ประการเป็นไฉน? “อายุํ เทติ” ชื่อว่า ให้อายุประการหนึ่ง “วณฺณํ เทติ” ชื่อว่า ให้วรรณะประการหนึ่ง “สุขํ เทติ” ชื่อว่า ให้ความสุขประการหนึ่ง “พลํ เทติ” ชื่อว่า ให้กำลัง ประการหนึ่ง “ปฏิภาณํ เทติ” ชื่อว่าให้ความเฉลียวฉลาดประการหนึ่ง

    ในท้ายพระสูตรท่านกล่าวว่า อายุํ โข ทตฺวา อายุสฺส ภาคี โหติ ผู้ให้อายุย่อมมีอายุ เป็นส่วนตอบ อายุนั้นให้อย่างไร? คือ การให้ข้าวอาหารแก่พระภิกษุหรือสามเณรอิ่มหนึ่ง อุบาสกอุบาสิกาอิ่มหนึ่ง เราก็มีอายุอยู่ได้เจ็ดวัน ที่เรามีอายุยืนได้เจ็ดวันก็เกิดเพราะผล ทานที่เราให้ทานนั้น คือให้อายุนั่นเอง หรืออีกอย่างหนึ่ง ผู้ให้อายุย่อมไม่ตายในปฐมวัย ไม่ตายเมื่อเป็นหนุ่ม ไม่ตายเมื่อเป็นสาว แก่เฒ่าชราจึงตาย หรือจนถึงอายุขัยจึงตาย อย่างนั้นเราเรียกว่า ถ้วนอายุขัย ถ้าว่าเกินกว่านั้นเรียกว่า เรากระทำกองการกุศล

    เมื่อเราได้บุญแล้ว เราจะทำอย่างไร? เราจะรักษาบุญอย่างไร? เพราะเราไม่เห็นบุญ เราต้องเอาใจไปจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ของเรา ทำใจให้หยุดให้นิ่ง บังคับใจให้หยุดให้นิ่งว่าบุญของเรามีอยู่ตรงนี้ ถ้าพอใจหยุดได้แล้ว และถูกส่วนเข้าแล้ว เราจะเห็นดวงบุญของเรา เห็นชัดเจนทีเดียว ถ้าเราไปเห็นดวงบุญเช่นนั้น เราจะปลาบปลื้มใจ สักเพียงใด ย่อมดีอกดีใจเป็นที่สุด จะหาเครื่องเปรียบเทียบไม่ได้เลย ฉะนั้นจงพยายาม อุตส่าห์เอาใจไปหยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ นึกถึงบุญที่เราได้กระทำ ในวันนี้ อย่าไปติดขัดสิ่งหนึ่งสิ่งใดเสีย ถ้าไปค้าขายติดขัดขึ้น ก็ขอให้บุญช่วย นึกถึงบุญตรง กลางดวงธรรมนั้น ถ้าว่ามีอุปสรรคเข้ามาแทรกแซงอย่างใดอย่างหนึ่ง มีผู้มารุกรานเบียดเบียน ประการใด ก็ขอให้บุญช่วย สิ่งอื่นช่วยไม่ได้ ไม่ต้องไปขอร้องให้ใครมาช่วย ให้เอาใจไปหยุด อยู่ศูนย์กลาง ตรงบุญนั่นแหละ หยุดอยู่นิ่งอยู่อย่างนั้น บุญเป็นช่วยได้แน่นอนโดยไม่ต้องสงสัย

    พระสิทธัตถราชกุมาร ทรงบำเพ็ญบารมีอยู่ใต้ต้นศรีมหาโพธิ ขณะบำเพ็ญพอถูกส่วน จะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระยามารทราบเหตุสะดุ้งพรึบทีเดียว ครั้งแรกออก แสวงหาโพธิญาณใหม่ๆ ปัญจวัคคีย์ได้ตามปฏิบัติอยู่ และเมื่อเขาเหล่านั้นเห็นว่า เราเป็นผู้ ประพฤติเลว ปฏิบัติไม่ถูกร่องรอยความเป็นพระพุทธเจ้าตามประเพณีโบราณกาลมา จึงได้ เลิกปฏิบัติในเราเสีย ทอดทิ้งให้อยู่แต่ผู้เดียว แต่เทวดาก็ยังพิทักษ์รักษาเราอยู่ แต่เมื่อ มารมาผจญครั้งนี้ พวกเทวดาเหล่านั้นหนีไปหมด ไปอยู่ที่ขอบปากจักรวาลเสียสิ้น เพราะ ความเกรงกลัวในพระยามาร และก็อะไรเล่าจักเป็นที่พึ่งของเราได้ ในขณะเข้าที่อับจนเช่นนี้ นอกเสียจากบารมีที่เราได้กระทำไว้แล้วเป็นไม่มี เมื่อทรงระลึกถึงบารมีที่ได้ทรงกระทำมาแล้ว เท่านั้น นางพระธรณีทราบทันที ลุกขึ้นกราบทูลพระบรมศาสดาว่า ขอพระองค์อย่าได้ ปริวิตกเดือดร้อนไปเลย ในเรื่องมารผจญพระองค์ในครั้งนี้ หม่อมฉันจะรับอาสาปราบ มารเอง พระองค์อย่ากังวล ทรงกระทำความเพียรต่อไปเถิด เพราะพระองค์ได้ทรงสร้าง บารมีมาแล้วตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ และได้หลั่งอุทกวารีให้ตกลงเหนือพื้นดิน หม่อมฉัน ได้รองรับไว้ด้วยมวยผมนี้จนหมดสิ้น ไม่มีเหลือเลยแม้สักหยาดหนึ่ง หม่อมฉันจะปราบ พระยามารนี้ด้วยน้ำที่พระองค์ทรงกรวดนั้น พอกราบทูลดังนั้นก็รูดน้ำในมวยผมปราดเดียว เท่านั้น กลายเป็นทะเลท่วมทับมารจนหมดสิ้น พวกมารได้พ่ายแพ้ ศัตราวุธกลายเป็น ธูปเทียนบูชาพระศาสดาไปหมด นี่ปรากฏอย่างนี้มาแล้ว

    เราก็เหมือนกัน แสวงหาบุญสร้างบารมีบำเพ็ญทานรักษาศีลเจริญภาวนาได้บุญแล้ว ให้ใจจรดอยู่ที่บุญนั้น เมื่อประสบภัยได้ทุกข์ยากประการใดก็นึกถึงบุญนั้น อย่าไปนึก สิ่งอื่นให้เหลวไหล อย่าไปนึกถึงผี ผีมันจะเป็นอะไร ผีสู้มนุษย์ไม่ได้ ผีมันตายไปจาก มนุษย์แล้ว จึงกลายเป็นผี มนุษย์วิเศษกว่าผีมากนัก ผีจึงสู้มนุษย์ไม่ได้ จะไปนับถืออะไร กับผี ผีช่วยอะไรไม่ได้เลย สู้นึกถึงมนุษย์ไม่ได้ ไปนับถือจ้าว จ้าวก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะ จ้าวตายไปจากมนุษย์แล้ว จ้าวผีจ้าวสางนั้นสู้มนุษย์ไม่ได้ แพ้มนุษย์ทั้งนั้น มนุษย์นี้เป็นผู้มี ฤทธิ์เดชมากกว่า หรือนึกถึงต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไปกราบไหว้ต้นไหม้ ต้นไม้จะทำอะไรได้ เราเองมาทำฟืนหุงอาหาร ผ่าเอามาทำฟืนหุงข้าวอยู่เรื่อยๆ เอามาทำบานประตูหน้าต่าง มาทำพื้นบ้าน แล้วมันจะมาทำอะไรให้เราได้ ต้องนึกถึงบุญ สิ่งอื่นอย่าไปนึก นึกถึงบุญ แต่เพียงอย่างเดียว เมื่อต้องภัยได้รับความทุกข์ยากลำบากอย่างใด ก็ให้นึกถึงบุญ เอาใจ ไปจรดอยู่ที่บุญ ทำมาค้าขายอะไรก็ให้เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญนั้น จะได้ค้าขายคล่อง ได้กำไรเกินควรเกินค่า จะไปทำนาทำสวนก็เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญนั้น บุญจะให้ผลของ นาและสวนเกินควรเกินค่า ไปรับราชการก็เอาใจไปจรดอยู่ที่บุญนั้น หน้าที่ราชการก็จะ รุ่งโรจน์โชตนาการยิ่งขึ้นใหญ่ ถ้าปกครองบ้านเรือน ก็เอาใจจรดอยู่ที่บุญนั้นเหมือนกัน บ้านเรือนก็จะรุ่งเรือง อย่าเอาใจไปจรดอยู่ที่อื่น นี่เราเรียกว่า “หาบุญได้และใช้บุญเป็น” ถ้าหากเอาใจไปจรดเสียที่อื่น จะเป็นต้นไม้ ขี้วัว ขี้ควาย อะไรจิปาถะ ชื่อว่า “หาบุญได้ แต่ใช้บุญไม่เป็น”

    ถ้าจะหาบุญได้ใช้บุญเป็น ก็ต้องเอาใจไปจรดอยู่ที่ศูนย์กลางดวงบุญ พอใจจรดหยุด นิ่งอยู่กลางดวงบุญ ก็เข้ากลางของใจที่หยุดนั้น กลางของกลางๆๆ พอถูกส่วนเข้า ก็เข้าถึง ดวงศีล หยุดอยู่กลางดวงศีล ก็เข้ากลางของกลางที่หยุดอีก กลางของกลางๆๆ ก็เข้าถึงดวง สมาธิ หยุดอยู่กลางดวงสมาธิ พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของกลางๆๆ ก็เข้าถึงดวง ปัญญา หยุดนิ่งอยู่กลางดวงปัญญา พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของกลางๆๆ อีก เข้าถึงดวงวิมุตติ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติ พอใจหยุดถูกส่วนเข้า เข้ากลางของกลางๆๆ อีก ก็เข้าถึงดวงวิมุตติญาณทัสสนะ หยุดอยู่กลางดวงวิมุตติญาณทัสสนะ พอใจหยุดถูกส่วนเข้า ก็เข้ากลางของกลางๆๆ อีก ก็จะเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด เมื่อเข้าถึงกายมนุษย์ละเอียด และปฏิบัติแบบเดียวกันเรื่อยไป ก็จะเข้าถึงกายทิพย์-กายทิพย์ละเอียด, กายรูปพรหม-กายรูปพรหมละเอียด, กายอรูปพรหม-กายอรูปพรหมละเอียด, กายธรรม-กายธรรมละเอียด กายโสดา-กายโสดาละเอียด, กายสกทาคา-กายสกทาคาละเอียด, กายอนาคา-กายอนาคาละเอียด, กายธรรมอรหัต-กายธรรมอรหัตละเอียด เป็นลำดับขึ้นไป เมื่อปฏิบัติได้ดังนี้ เขาจึงจะเรียกว่า “หาบุญได้ ใช้บุญเป็น” จะเป็นคนมีปัญญาเจริญก้าวหน้ายิ่งใหญ่ไพศาล ทีเดียว ถ้าเป็นหญิงก็จะได้ชื่อว่า บัณฑิตถี หญิงผู้มีปัญญา ถ้าเป็นชายก็จะได้ชื่อว่า บัณฑิโต ชายผู้มีปัญญา

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงหาบุญได้และทรงใช้บุญเป็น พระองค์ทรงสร้าง บารมีของพระองค์มา และทรงใช้บารมีของพระองค์เป็น เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว พระองค์ทรงเข้าใกล้ใครก็ทรงให้เป็นเหมือนอย่างพระองค์หมด ให้ได้มรรคผล ตามพระองค์ ให้เป็นสาวกพระพุทธเจ้าเสีย ให้เป็นพหูสูตเสีย เสด็จตามพระองค์ไป

    เราเมื่อได้ถวายทานแล้ว ได้รักษาศีล เจริญภาวนาแล้ว ก็ต้องให้เห็นผลทาน ให้เห็น ผลศีล และให้เห็นผลของการเจริญภาวนา จึงจะได้ชื่อว่า เราทำบุญ รักษาศีล เจริญภาวนาแล้ว ใช้บุญ ใช้ศีล และใช้ภาวนาเป็น อย่าเกียจคร้าน จงหมั่นพยายามบำเพ็ญทาน รักษาศีล เจริญภาวนาไว้ให้เสมอ เพื่อเราจะได้รับความสุขทั้งในชาตินี้และในชาติหน้า

    บัดนี้ ท่านทั้งหลายได้สมบูรณ์บริบูรณ์แล้วด้วย คุณธรรม 5 ประการ คือ ทาน ศีล สุตะ จาคะ และ ปัญญา เพราะ “ทาน” เราได้ถวายแล้วแต่เช้าและเพล “ศีล” เราก็ได้สมาทาน แล้วทั้ง 5 ประการ “สุตะ” บัดนี้ เราก็ได้สดับตรับฟังพระสัทธรรมเทศนาอยู่แล้ว “จาคะ” เราก็ได้บริจาคแล้ว สละกิจการงานความกังวลน้อยใหญ่ทางบ้านเสีย มาบำเพ็ญบุญในวันนี้ นี่ก็ชื่อว่า “จาคะ” “ปัญญา” เมื่อเราฟังธรรมเทศนาแล้ว เราก็รู้จักบาปบุญคุณโทษ ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ผิดถูกสูงต่ำ เราก็รู้นั่นก็ชื่อว่าได้ปัญญา

    คุณธรรม 5 ประการ คือ ทาน ศีล สุตะ จาคะ ปัญญา มีอยู่ในขันธสันดานของ หญิงใดชายใดแล้ว หญิงชายนั้นจะปรารถนาเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก็ได้สมความปรารถนา ในขณะที่คุณธรรม 5 ประการนี้ สมบูรณ์บริบูรณ์แล้วในขันธสันดานหรือจะปรารถนา เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ย่อมสำเร็จสมความปรารถนา จะปรารถนาพระอัครสาวกก็ได้สม ความปรารถนา หรือจะปรารถนาเป็นอย่างหนึ่งอย่างใดก็ย่อมได้ทั้งนั้น ดังนั้น ท่าน ทั้งหลายจะปรารถนาเป็นอย่างใด จะปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า เป็น พระสาวก ก็ขอให้ปรารถนาเอาตามใจชอบเถิด

    อวสานกาลเทศนานี้ ขอท่านผู้เป็นเมธีมีปัญญาทั้งหลายพึงมนสิการกำหนดไว้ใน ใจของตนทุกถ้วนหน้าว่า สภาพที่เป็น “ธรรม” ย่อมนำสัตว์ไปสู่สุคติ และสภาพที่เป็น “อธรรม” ย่อมนำสัตว์ไปสู่ทุคติ สภาพที่เป็นบุญก็ย่อมนำสัตว์ไปสู่สุคติ สภาพที่เป็นบาป ก็ย่อมนำสัตว์ไปสู่ทุคติ สภาพที่เป็นบุญ เป็นดวงใส ติดอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้ เป็นมนุษย์ สภาพที่เป็นบาป เป็นดวงดำ ติดอยู่ในศูนย์กลางดวงธรรมที่ทำให้เป็นมนุษย์ แบบเดียวกัน ถ้าดวงบุญใหญ่โตกว่า ก็นำไปสู่สวรรค์ ถ้าดวงบาปใหญ่โตกว่าก็นำไปสู่นรก ใครจะแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ทั้งนั้น ย่อมเป็นไปตามคติของตน เหมือนหญิงชายจะเป็น สามีภรรยากัน ใครก็แล้วแต่ จะต้องลงใจของกันและกันเอง

    ฉะนั้น การที่สัตว์จะไปสู่ทุคติ ภพดึงดูดมีอยู่ ทำความชั่ว ไม่มีความดีเข้าไปจุนเจือ เลย แม้เพียงเท่าปลายผมปลายขน พอแตกกายทำลายขันธ์โลกันต์ดึงดูดเอาไป จะไปอยู่ที่ อื่นใดไม่ได้ทั้งนั้น อายตนะบาปดึงดูดไปทันที ถ้าว่าภพหย่อนลงกว่านั้นมา ก็ไปอยู่ใน อเวจี มหาตาปนรก เหล่านี้เป็นต้น แต่พอมาเกิดในจำพวกสัตว์เดรัจฉานได้ สัตว์เดรัจฉาน ก็ดึงดูดเอาไปเกิดในจำพวกสัตว์เดรัจฉาน แต่ถ้าทำความผิดไม่ถึงขนาดนั้นก็ไปเกิด เป็นเปรต อสุรกาย ตามลำดับไป

    ถ้าทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ ไม่มีความชั่วบาปช้าเข้ามาเจือปนเลย พอแตก กายทำลายขันธ์ อายตนะของมนุษย์ดึงดูดเข้าสู่ครรภ์สัตว์ไปติดอยู่ในกำเนิดมนุษย์ ถ้าดี มากขึ้นไปกว่านี้ ก็ไปเกิดในจำพวกเทวดา เป็นชั้นๆ สูงขึ้น ชั้นจาตุมหาราช ชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี ชั้นปรนิมมิตวสวัตตี สูงขึ้นไปตามสภาพของธรรม ดึงดูดกันเองว่า ตนได้กระทำความดีไว้ขนาดเท่าไร ควรอยู่ควรเกิดในที่ไหน เมื่อตรงกับ อายตนะไหน อายตนะนั้นก็ดึงดูดไป เขามีอายตนะสำหรับเหนี่ยวรั้งและดึงดูดกันทั้งนั้น เราติดอยู่ในมนุษย์นี้ไปไหนได้เมื่อไร ไปไม่ได้ทั้งนั้น อยากจะตายก็ตายไม่ได้ บ่นไปเถอะ ก็ไม่ตาย แต่พอถึงกำหนด ไม่อยากตายก็ต้องตาย จะถูกบังคับบัญชาอย่างนี้ ดึงดูดอย่างนี้ เสมอไป เหตุนี้เราจึงได้แสวงหาบุญ บุญจะได้ดึงดูดไปสู่สุคติ ทุคติจะได้ไม่มีต่อไป

    ที่ได้ชี้แจงแสดงมาใน ภัตตานุโมทนากถา เฉลิมเพิ่มเติมศรัทธาของเจ้าภาพ และสาธุชนทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า สพฺพพุทฺธานุภาเวน ด้วย อานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง สพฺพธมฺมานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมทั้งปวง สพฺพสงฺฆานุภาเวน ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ทั้งปวง ปิฏกตฺยานุภาเวน ด้วยอำนาจปิฎก ทั้ง 3 คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก ปรมัตถปิฎก ชินสาวกานุภาเวน ด้วยอานุภาพชินสาวก สาวกของท่านผู้ชนะมาร จงดลบันดาลความสุขสวัสดิ์ให้บังเกิดมีเป็นปรากฎในขันธสันดาน แห่งท่านผู้เป็นเจ้าภาพ และสาธุชนทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมีกถาโดยอรรถนิยมความเพียง เท่านี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้.
     
  20. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,080
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,002
    ค่าพลัง:
    +69,969
    วันพุธ ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2563
    ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา (วันเพ็ญ เดือน ๖)




    ทางวัดหลวงพ่อสดธรรมกายาราม
    ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมตามปกติ
    และขอให้สาธุชนทุกท่านที่เดินทางมา
    ทำตามข้อปฏิบัติของกระทรวงสาธารณะสุข
    1. ส่วมใส่หน้ากากอนามัย
    2.ควรเว้นระยะห่างกันและกัน 1-2 เมตร
    3.ล้างมือด้วยเจลแฮลกอฮอร์ 75 % ที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้
    และท่านใดไม่สะดวกเดินทางมาร่วมงาน
    สามารถรับชม ปฏิบัติธรรมไปพร้อมกันทางสื่อออนไลน์
    https://www.facebook.com/Watluangporsodh/



    ?temp_hash=5b09a09338ea84e162d91c85fbe0ae45.jpg
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...