เบื้องหลังกับดัก “ข่าวปลอม” ถึงเวลาหรือยังที่คนไทยต้องเรียนรู้เท่าทันสื่อ?

ในห้อง 'คอมพิวเตอร์ & อินเตอร์เน็ต' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์ เตือนภัย, 27 กรกฎาคม 2021.

  1. โพธิสัตว์ เตือนภัย

    โพธิสัตว์ เตือนภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    24 กรกฎาคม 2017
    โพสต์:
    1,565
    กระทู้เรื่องเด่น:
    441
    ค่าพลัง:
    +655
    5d41795d-ee6e-425e-a952-9b130f63b485.jpg


    เทคโนโลยีปัจจุบันทำให้การเสพข้อมูลข่าวสารต่างๆ บนอินเตอร์เน็ตทำได้ง่ายขึ้นแค่เพียงปลายนิ้วจากสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ ขณะที่ “โซเชียลมีเดีย” เข้ามามีบทบาทอย่างมากจนแทบจะเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตที่ขาดไม่ได้ คนจึงหันมาบริโภคข่าวสารผ่านทางโซเชียลมีเดียแทน เพราะเข้าถึงง่าย สะดวก รวดเร็วกว่า

    จากรายงานสถิติ Thailand Digital Stat 2021 จาก We Are Social ฉบับล่าสุด พบว่า ชั่วโมงการออนไลน์บนอินเตอร์ของคนไทย วันละ 8 ชั่วโมง 44 นาที โดยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่มีคนไทยใช้งานมากที่สุดในปี 2020-2021 อันดับ 1 Youtube อันดับ 2 Facebook อันดับ 3 Line อันดับ 4 Facebook Messenger อันดับ 5 Instagram อันดับ 6 Twitter อันดับ 7 Tiktok อันดับ 8 Pinterest อันดับ 9 We Chat อันดับ 10 Twitch

    0b8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5.jpg 0b8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5.png

    ขณะที่ ในสื่อโซเชียลมีเดียมีคนจำนวนไม่น้อย สามารถนำเสนอเรื่องราว ข่าวสาร สาระความรู้ ข้อคิดเห็น รีวิวต่างๆ โดยอาศัยประสบการณ์ส่วนตัว การเป็นคนในพื้นที่ หรือจากคำบอกเล่าของคนใกล้ชิด โดยมีเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียให้ความสนใจและคอยติดตาม เนื่องจากการนำเสนอที่ใกล้ชิด รวดเร็ว การใช้ภาษาเร้าอารมณ์ หรือเป็นกันเองเหมือนเพื่อนเล่าให้เพื่อนฟัง การนำเสนอแปลกใหม่ หวือหวา จากเรื่องเล็กๆ ถูกกระจายต่อ จนเกิดเป็นกระแสในสังคม ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักหยิบยกขึ้นมานำเสนอ

    แต่เมื่อใครก็ตามสามารถเสนอเรื่องราวอะไรก็ได้ผ่านโซเชียลมีเดีย ทำให้บางเรื่องอาจยังไม่ถูกกลั่นกรองหรือตรวจสอบให้แน่ชัดก่อน หรือมีผู้ไม่หวังดีสร้างข่าวปลอมขึ้นมา เพื่อจุดประสงค์ใดๆ ก็ตาม ผู้อ่านที่ไม่มีข้อมูลในเรื่องนั้นๆ อาจจะหลงเชื่อและเข้าใจผิดจนเกิดผลกระทบต่างๆ ขึ้นมาได้

    จากข้อมูลของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Anti-Fake News Center Thailand) พบว่า ข่าวปลอมส่วนใหญ่มักจะเป็นข่าวเกี่ยวกับสุขภาพ นโยบายรัฐ เศรษฐกิจ ภัยพิบัติ โดยจากการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงลึกโดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ย้อนหลังช่วง 1 ต.ค. 63-30 มิ.ย. 64 พบข้อมูลน่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการเผยแพร่ข่าวปลอมของคนไทยว่า มีจำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวนผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน ส่วนกลุ่มที่มีพฤติกรรมดังกล่าวมากกว่า 90% อยู่ในช่วงอายุ 18-34 ปี

    วันนี้ TNN ONLINE จึงขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับ “ข่าวปลอม” ผ่านรายงานพิเศษชิ้นนี้ จากการสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ “ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต” รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 (ศบค.) นอกจากนี้ อีกหนึ่งบทบาท ผศ.ดร.วรัชญ์ ยังช่วยตรวจสอบข่าวสารต่างๆ ที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ว่าเป็นข่าวจริงหรือข่าวปลอมให้กับประชาชนอีกด้วย

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-1.jpg

    ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit

    ข่าวปลอม คืออะไร มีกี่ประเภท?

    ผศ.ดร.วรัชญ์ อธิบายว่า ข่าวปลอมมีมาตั้งแต่ในอดีต มาจากข่าวลือ แต่ข่าวปลอมที่พูดถึงในปัจจุบันที่เรียกว่า “เฟคนิวส์” (Fake News) นั้น มักนำมาใช้ในบริบทที่เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เริ่มต้นจากที่มีโซเชียลมีเดีย โดยมีการโพสต์ข้อมูลเท็จ ไม่ว่าจะมีข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนหรือปราศจากข้อเท็จจริงเลย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการแชร์ออกไป โดยมีเจตนาที่จะบิดเบือนหรือปิดบังความจริง ด้วยการใช้อารมณ์มากกว่าการคิดวิเคราะห์

    ข่าวปลอมแบ่งเป็น 3 ประเภทหลักๆ

    – “Mis-information” การแชร์ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือไม่จริง โดยเกิดขึ้นจากความไม่ได้ตั้งใจหรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของผู้ส่งสาร ไม่ได้มีเจตนาปั่นป่วนหรือทำร้ายใคร

    – “Dis-information” ตั้งใจแชร์ข้อมูลเท็จ เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิด ปิดบังความจริง หรือหวังผลบางอย่าง

    – “Mal-information” ข้อมูลเท็จหรือข้อมูลจริงบางส่วนที่ตั้งใจบิดเบือน โดยมีเจตนาร้ายให้เกิดความเข้าใจผิด ทำลายชื่อเสียงบุคคล องค์กร หรือสร้างความเกลียดชัง


    เจตนาการสร้างข่าวปลอม ทำไปเพราะอะไร?

    ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า เจตนาของการสร้างข่าวปลอมมีหลายแบบ ทั้งเรื่องตั้งใจสร้างความเข้าใจผิด โดยมีเหตุผลต่างๆ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องปัญหาสังคมต่างๆ ที่กำลังเกิดขึ้น ณ ขณะนั้น ซึ่งข่าวปลอมเกิดขึ้นทุกประเทศ เพราะคนในสังคมมีความคิดเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่เหมือนกัน ทำให้ความคิดเห็นถูกแบ่งออกเป็นหลายแบบทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หรือฝ่ายกลางๆ ซึ่งเจตนาที่สร้างความปลอม เช่น

    – เพื่อตั้งใจให้เกิดความเข้าใจผิดในเรื่องนั้นๆ หรือรู้ว่าเป็นเท็จแต่ตั้งใจให้เกิดกระแสในสังคม โดยส่วนมากผู้ที่โพสต์มักจะปกปิดตัวตน หรือหาตัวตนไม่ได้ จากนั้นจะมีคนรับลูกขยายผลให้กลายเป็นประเด็นใหญ่ และสื่อมวลชนนำมาเสนอเป็นข่าวเนื่องจากเกิดกระแสผู้คนในความสนใจ

    – รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร หรือความผิดพลาด เข้าใจผิด เช่น การแปลข่าวจากต่างประเทศผิด หรือการตีความหมายบริบทของเรื่องผิดเพี้ยนไปจากเดิมจนทำให้เกิดการเข้าใจผิด

    – จงใจสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา แต่ไม่ได้ตั้งใจให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหรือองค์กรนั้น เช่น การล้อเลียนบุคคล-องค์กร การทำการตลาดให้คนตื่นตระหนกเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับแบรนด์ เป็นต้น

    – ทำเพื่อวัตถุประสงค์ทางการค้า ขายยา ขายของ หลอกคลิก ยอดไลค์ โดยการสร้างเรื่องเท็จขึ้นมา เช่น ดาราดังเสียชีวิต เพื่อเรียกกระแสให้คนเข้ากดไลค์ในโซเชียลมีเดียจำนวนมาก จากนั้น นำแอคเคาท์ไปขายต่อ

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-2.jpg ภาพโดย memyselfaneye จาก Pixabay

    ไขสาเหตุ ทำไมคนถึง “ตกหลุมพราง” ข่าวปลอม

    1.น่าเชื่อ น่าตื่นเต้น ส่วนใหญ่มักเป็นข่าวเชิงลบ

    หากลองสังเกตดีๆ จะพบว่า ข่าวปลอม จะดู “น่าเชื่อถือ ตื่นเต้น” มีความน่าสนใจ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นข่าวในเชิงลบ เป็นเรื่องที่ไม่น่าเชื่อว่าจะเกิดขึ้น มักจะไม่ค่อยมีข่าวแง่บวก เพราะต้องการเล่นกับเรตติ้งความสนใจใคร่รู้ของประชาชน

    2.สอดคล้องกับความเชื่อของคน

    ข่าวปลอมมักจะเล่นกับความเชื่อของคน รู้ว่าคนชอบอะไร เชื่ออะไร หรือมีอคติกับอะไร โดยจะพาดหัวให้มีแนวโน้มสอดคล้องกับความเชื่อของคนกลุ่มนั้น เมื่อเผยแพร่ออกไป คนก็พร้อมจะเชื่อไปแล้ว “ครึ่งหนึ่ง” ว่าเป็นเรื่องจริง รวมทั้งในหลายๆ ครั้ง บางคนมีทักษะในการแยกแยะได้ไม่มาก เช่น เด็ก ผู้สูงอายุที่โตขึ้นมากับความเชื่อที่ว่าอะไรที่เห็นในสื่อคือเรื่องจริงจึงพร้อมที่จะเชื่อโดยที่ยังไม่กดเข้าไปดู หรือกดเข้าไปอ่านแล้วแต่พบเนื้อหาที่กำกวมก็ทำให้เข้าใจผิดได้

    3.ขาดความรู้ ประสบการณ์ในเรื่องนั้น

    ผศ.ดร.วรัชญ์ ยกตัวอย่างว่า “สมมติมีใครสักคนอ้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญกีฬากอล์ฟ มีคนกดไลค์เพจเฟซบุ๊กหลายหมื่นหลายแสนคน โดยเล่าเรื่องราว แนะนำ หรือให้ความเห็นในเรื่องกีฬากอล์ฟ ขณะที่ ตัวเราเองไม่ได้ก็มีความรู้เรื่องกอล์ฟ เมื่อเราได้ไปอ่านทำให้เราพร้อมจะเชื่อคนๆ นั้น ว่าสิ่งที่เขาบอกมาคือเรื่องจริง นั่นเป็นเพราะว่า ตัวเราขาดประสบการณ์ในเรื่องกอล์ฟ แต่หากเรามีความรู้เรื่องกอล์ฟระดับหนึ่งแล้ว เราก็สามารถแย้งได้ว่า สิ่งที่คนๆ นั้นพูดเป็นเรื่องจริงไหม ทำไมเขาถึงให้ความเห็นแบบนี้ เขามีอคติใดๆ หรือไม่”


    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-3.jpg


    กราฟฟิก โดย BuzzFeed News

    ผลกระทบ “ข่าวปลอม” สะเทือนระดับโลก!

    ข่าวปลอมไม่ได้สร้างผลกระทบแต่เพียงระดับบุคคล แต่ยังสะเทือนไประดับโลกด้วย ยกตัวอย่างเหตุการณ์สำคัญ เช่น ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ทีมหาเสียงของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ดึง “เคมบริดจ์ อะนาลิติก้า” (Cambridge Analytica) มาร่วมงาน เพื่อทำการตลาดกับผู้ใช้เฟซบุ๊กที่มีสิทธิโหวตเลือกตั้ง อย่างเช่น การส่งอีเมล์โปรโมทโดนัลด์ ทรัมป์ให้ผู้ใช้โดยตรง และแบบประยุกต์ โดยดูกระแสว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่กังวลใจเรื่องอะไร และนำไปโจมตี “ฮิลลารี คลินตัน” ด้วยข้อมูลนั้น จนผลปรากฎว่าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งในครั้งนั้น 8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-4.jpg

    กราฟฟิก โดย BuzzFeed News

    จากบทความเว็บไซต์ BuzzFeed ชี้ว่าตัวเลขยอด Engagement 20 ข่าวปลอมช่วงสามเดือนก่อนการเลือกตั้งปี 2016 พุ่งสูง 8.7 ล้านครั้ง โดย 5 ข่าวปลอมที่มียอด Engagement สูงสุดใน Facebook ล้วนเป็นข่าวโจมตี “ฮิลลารี คลินตัน” จากพรรคเดโมแครต โดยข่าวเหล่านี้ไม่เป็นความจริง แต่ถูกแชร์อย่างแพร่หลาย ได้แก่

    – โป๊ปฟรานซิส ให้การรับรองโดนัลด์ ทรัมป์ Engagement 960,000 ครั้ง

    – FBI ยืนยัน ฮิลลารี คลินตัน ขายอาวุธให้กลุ่ม ISIS Engagement 789,000 ครั้ง

    – ข่าวอีเมลฮิลลารี คลินตัน รั่ว Engagement 754,000 ครั้ง

    – ฮิลลารี คลินตัน ถูกตัดสิทธิ์จากสำนักงานรัฐบาลกลาง Engagement 701,000 ครั้ง

    – พบศพเจ้าหน้าที่ FBI ที่ต้องสงสัยจากอีเมล์รั่วไหลของฮิลลารี คลินตัน Engagement 567,000 ครั้ง

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-5.jpg

    ขณะที่ การเลือกตั้งกรณี Brexit ของสหราชอาณาจักร ในตอนแรก เสียงของฝั่งอยู่ต่อ (Remain) ดูจะมาแรงกว่า แต่สุดท้าย ผลลัพธ์ออกมาเป็นฝั่งออกจาก EU (Leave) ที่แซงโค้ง เอาชนะไปได้สำเร็จ และต่อมา นักข่าวได้ไปสืบค้นจนได้คำตอบว่า ระหว่าง 2 การเลือกตั้งนี้ มี “เคมบริดจ์ อะนาไลติก้า” เป็นผู้ทำฐานข้อมูลให้ฝ่ายชนะเหมือนกันทั้งคู่เช่นเดียวกัน

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-6.jpg

    มองดูรอบโลก จัดการ “ข่าวปลอม” อย่างไร?

    ผศ.ดร.วรัชญ์ เผยว่า ในต่างประเทศนั้น การจัดการกับข่าวปลอมจะไปสิ้นสุดที่กฎหมาย ซึ่งแต่ละประเทศบทลงโทษมีหนักเบาแตกต่างกันออกไป โดยส่วนใหญ่จะใช้กฎหมายหมิ่นประมาท แต่ในหลายประเทศไม่มี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

    ขณะที่ บางประเทศที่ค่อนข้างมีเสรีภาพ รัฐบาลไม่ได้ไล่เช็กบิลด้วยกฎหมายหรือตามจับ เพราะถือว่าไม่ไปจำกัดสิทธิเสรีภาพ แต่จะเน้นให้ความรู้ สร้างกระแสให้กลับมาเช็กกันเอง ส่วนการควบคุมจะเป็นเรื่องของสื่อในการสร้างเครือข่ายตรวจสอบ ให้สื่อมีจรรยาบรรณ ซึ่งก็ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง

    แต่สิ่งสำคัญอีกเรื่องคือ ในประเทศอินเดีย ตุรกี มีกฎหมายร่างออกมาว่า ให้โซเชียลมีเดียทุกแพลตฟอร์มต้องมีตัวแทนอยู่ในประเทศด้วย ซึ่งถ้าได้รับการร้องเรียนว่าเป็นเนื้อหาไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเท็จ การเหยียด ต้องมีการลบข้อความออกไปภายในเวลาที่กำหนด

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-7.jpg

    ภาพโดย memyselfaneye จาก Pixabay

    เด็กไทยรองบ๊วย! การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล

    รายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD เปิดเผยความสามารถด้านการประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล จากในทุกประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมใน PISA 2018 ของเด็กอายุ 15 ปี จากทั่วโลก พบว่า โดยเฉลี่ยประมาณ 40% ของนักเรียนจากประเทศ OECD ได้แก่ เดนมาร์ก เยอรมนี ไอร์แลนด์ ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้คะแนนสูงสุด ขณะที่ไทยอยู่ในลำดับที่ 76 จาก 77 ประเทศทั่วโลกที่ OECD ได้ประเมิน

    โดยรายงานดังกล่าว ได้สรุปให้เห็นว่า เมื่อเปรียบเทียบนักเรียนจากภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ดีในทุกประเทศและเขตเศรษฐกิจที่เข้าร่วมใน PISA 2018 พบว่า ได้คะแนนดัชนีความรู้เกี่ยวกับกลยุทธ์การอ่านเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล มีผลลัพธ์ที่สูงกว่านักเรียนที่มีภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมที่ด้อยกว่า

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-8.jpg

    อย่างไรก็ดี จากผลลัพธ์ในแบบทดสอบตัวชี้วัดในรายงานดังกล่าว อาจสรุปได้ว่า นักเรียนที่ได้เรียนรู้วิธีตรวจจับข้อมูลมีเปอร์เซ็นต์ความถูกต้องในการแยกแยะข้อเท็จจริงออกจากความคิดเห็นที่มากขึ้น นั่นอาจจะแสดงให้เห็นว่า ความสามารถในการแยกแยะข้อเท็จจริงจากความคิดเห็น การประเมินความน่าเชื่อถือของแหล่งข้อมูล และการเรียนรู้กลยุทธ์ในการตรวจจับข้อมูลที่ลำเอียงหรือข้อมูลเท็จ จึงเป็นทักษะที่จำเป็นในการเสพข้อมูลบนโลกอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันนี้ก็ได้

    8abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-9.jpg

    ผลักดัน “รู้เท่าทันสื่อ” บรรจุในหลักสูตรให้เด็กไทยเรียน

    ผศ.ดร.วรัชญ์ ให้ความเห็นว่า ในเรื่องของการทำงานเชิงรับ รัฐต้องให้ความรู้กับประชาชน โดยในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นอังกฤษ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ มีการสอนให้เด็ก “รู้เท่าทันสื่อ” ขณะที่ของไทยต้องร่างหลักสูตร และมีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งมองว่าหลักการรู้เท่าทันสื่อ ควรจะเป็นหนึ่งใน “รายวิชาบังคับ” ให้เรียนตั้งแต่เด็ก จะต้องให้ความรู้ มีทักษะในการแยกแยะองค์ประกอบของข่าวได้

    “ผมอยากเรียกร้องผลักดันให้เจ้ากระทรวงเห็นความสำคัญของการรู้เท่าทันสื่อ ถึงแม้ขั้นตอนการบรรจุหลักสูตรการศึกษาให้เด็กวัยรุ่นของกระทรวงศึกษาฯ จะมีข้อจำกัดมากมาย เราอาจจะมองไปที่กระทรวงการอุดมศึกษาฯ ก็ได้ อยากจะให้บรรจุเป็นวิชาบังคับให้เด็กปี 1 หรือเด็กทุกคนต้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้เด็กมีทักษะวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารนั้นได้” รองคณบดี คณะนิเทศฯ ฝากถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

    abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-10.jpg

    ภาพจากเฟซบุ๊ก Warat Karuchit

    แนะรัฐ ใช้มาตรการเชิงรุกเข้มกฎหมาย ขจัดข่าวปลอม

    ผศ.ดร.วรัชญ์ กล่าวว่า การดำเนินการเชิงรุกในส่วนการจัดการกับข่าวปลอมนั้น ประเทศไทยมีบริบทต่างกับประเทศอื่น คนไทยเป็นคนที่ตื่นกระแสง่าย และใช้โซเชียลมีเดียเยอะ มองว่ารัฐควรปรับการทำงานเชิงรุกในแง่ของกฎหมาย “ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่า การสร้าง การแชร์ข่าวปลอมเป็นเรื่องร้ายแรง!”

    ทั้งนี้ ในทางกฎหมายการแชร์หรือสร้างข่าวปลอมอาจจะเข้าข่ายความผิดฐานนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

    ขณะที่ ในส่วนของสื่อมวลชนในแพลตฟอร์มออนไลน์ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จะต้องหามาตรการทางกฎหมายดูแลสื่อออนไลน์ เพราะมีอิทธิพลสูง มีผลมากกว่าบุคคลธรรมดาทั่วไป

    นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐหรือเอกชน จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลเรื่องการสื่อสารอย่างจริงจัง เพราะเมื่อใดก็ตามที่เกิดข่าวปลอมขึ้นมา เจ้าหน้าที่จะสามารถชี้แจง ตอบโต้ได้ทันท่วงที

    “ในอดีตที่ผ่านมาหน่วยงานต่างๆ ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องข่าวปลอม เมื่อเกิดการแชร์ข้อมูลเท็จและไม่มีการออกมาตอบโต้ ก็ทำให้ข่าวปลอมกลายเป็นข่าวจริงขึ้นมา แต่ในปัจจุบันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายกับคณะรัฐมนตรีให้ตั้งศูนย์เฟคนิวส์ของกระทรวง ต้องรอดูต่อไปว่าจะเป็นอย่างไร แต่การจะใช้คนมาสื่อสารนั้น ต้องเป็นคนที่รู้เรื่องการสื่อสารจริงๆ” ผศ.ดร.วรัชญ์ ระบุ

    abe0b8a5e0b8b1e0b887e0b881e0b8b1e0b89ae0b894e0b8b1e0b881-e0b882e0b988e0b8b2e0b8a7e0b89be0b8a5-11.jpg

    ท้ายที่สุดนี้ ผศ.ดร.วรัชญ์ ฝากวิธี “คิดก่อนแชร์” และหลักการตรวจสอบข่าวปลอม ดังนี้

    คิด 4 คิด ก่อนเชื่อ-ก่อนแชร์

    คิดที่ 1 คือ คิดเมื่อเห็นข่าวว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ เวอร์ไปหรือไม่ มีอะไรน่าสงสัย

    คิดที่ 2 คือ คิดเมื่อพิมพ์ข้อความ ก่อนจะกดแชร์หรือพิมพ์แสดงความคิดเห็นต้องคิดว่า จะมีผลกระทบต่อใครหรือไม่ จะโดนหมิ่นประมาทหรือไม่ หรือสนับสนุนซ้ำในสิ่งที่หลอกลวง

    คิดที่ 3 คือ คิดก่อนกดโพสต์หรือส่งข้อความ อาจจะลบได้แต่ก็ถูกแคปได้เช่นกัน ดังนั้นให้อ่านทวนอีกครั้ง

    คิดที่ 4 คือ คิดว่าจะลบดีไหม จะส่งผลเสียอะไรหรือไม่

    ตรวจสอบข่าวปลอมด้วย “SPOT” รู้ทันไม่ตกเป็นเหยื่อแน่นอน!

    S – Source ตรวจสอบแหล่งที่มา น่าเชื่อถือหรือไม่ บุคคลที่แชร์เป็นใคร

    P – Profit คนที่ส่งมาหรือคนที่โพสต์เรื่องนี้ เขาได้ประโยชน์อะไร และเมื่อแชร์ต่อจะมีประโยชน์อะไรกับตัวเองและคนรอบข้างหรือไม่

    O – Over ถ้อยคำ การพาดหัว ภาพ ดูโอเวอร์เกินไป ใช้คำเร้าอารมณ์ เพราะมีการทดสอบวิจัยมาแล้วว่า ข่าวปลอมจะมีลักษณะกลุ่มคำซ้ำๆ เช่น ด่วน ส่งต่อด่วน เพื่อคนที่คุณรักส่งต่อด้วย

    T – Time ช่วงเวลา บางเรื่องถูกต้อง แต่เวลา-สถานที่ถูกต้องหรือไม่ เช่น เป็นภาพจริงแต่เกิดขึ้นนานแล้ว หรือภาพคนละประเทศ

    “อย่าลืม! คิดก่อนเชื่อ ชัวร์ก่อนแชร์ หยุด Fake News”

    รายงานพิเศษยังไม่จบเพียงเท่านี้ ทีมข่าว TNN ONLINE ได้พูดคุยเจาะลึกถึงแก่นปัญหาการรู้เท่าทันสื่อจาก “ด่านหน้า” ผู้ปฏิบัติการตัวจริง ซึ่งเป็นผู้ผลักดันจัดทำสื่อ และกิจกรรมผ่านโครงการต่างๆ ร่วมกับสถาบันการศึกษามานานหลายปี เขาจะมีมุมมองหรือสะท้อนปัญหาในภาคสนามอย่างไร โปรดติดตามตอนต่อไป.

    ทีมข่าว TNN ONLINE รายงาน


    ขอบคุณที่มา

    https://www.tnnthailand.com/news/tnnexclusive/86419/
     

แชร์หน้านี้

Loading...