เน้นหนักที่การปฏิบัติ - คำสอนหลวงปู่ดู่

ในห้อง 'หลวงปู่ดู่ และ หลวงตาม้า' ตั้งกระทู้โดย กุศโลบาย, 26 มกราคม 2014.

  1. กุศโลบาย

    กุศโลบาย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 ธันวาคม 2013
    โพสต์:
    323
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +4,604
    เน้นหนักที่การปฏิบัติ - คำสอนหลวงปู่ดู่

    หลวงปู่ดู่ท่านให้ความสำคัญอย่างมากในเรื่องของการปฏิบัติสมาธิภาวนา ท่านว่า "ถ้าไม่เอา (ปฏิบัติ) เป็นเถ้าเสียดีกว่า" ในสมัยก่อนเมื่อตอนที่ศาลาปฏิบัติธรรมหน้ากุฏิท่านยังสร้างไม่เสร็จนั้น ท่านก็เมตตาให้ใช้ห้องส่วนตัวที่ท่านใช้จำวัด เป็นที่รับรองสานุศิษย์ และผู้สนใจได้ใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ซึ่งนับเป็นความเมตตาอย่างสูง

    สำหรับผู้ที่ไปกราบนมัสการท่านบ่อยๆ หรือมีโอกาสได้ฟังท่านสนทนาธรรม ก็คงได้เห็นลีลาการสอนของท่าน ที่จะโน้มน้าวผู้ฟังให้วกเข้าสู่การปรับปรุงแก้ไขตนเอง เช่น ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์วิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ ให้ท่านฟังในเชิงว่ากล่าว ว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาและความยุ่งยาก แทนที่ท่านจะเออออไปตาม อันจะทำให้เรื่องยิ่งบานปลายออกไป ท่านกลับปรามว่า "เรื่องของคนอื่น เราไปแก้เขาไม่ได้ ที่แก้ได้คือตัวเรา แก้ข้างนอกเป็นเรื่องโลก แต่แก้ที่ตัวเราเป็นเรื่องธรรม"

    แม้ว่าหลวงปู่ดู่จะรับรองในความศักดิ์สิทธิ์ของพระเครื่องที่ท่านอธิษฐานจิตให้ แต่สิ่งที่ท่านยกไว้เหนือกว่านั้นก็คือ การปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากคำพูดของท่านที่ว่า "เอาของจริงดีกว่า พุทธัง ธัมมัง สังฆัง สรณัง คัจฉามิ นี่แหละของแท้" จากคำพูดนี้จึงเสมือนเป็นการยืนยันว่า การปฏิบัติภาวนานี้แหละเป็นที่สุดของเครื่องรางของขลัง

    เพราะคนบางคน แม้แขวนพระที่ผู้ทรงคุณวิเศษอธิษฐานจิตให้ก็ตาม ก็ใช่ว่าจะรอดปลอดภัย อยู่ดีมีสุขไปทุกกรณี อย่างไรเสีย ทุกคนไม่อาจหลีกหนีวิบากกรรมที่ตนสร้างไว้ ดังที่ท่านกล่าวไว้ว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เหนือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็คือ กรรม

    ดังนั้น จึงมีแต่พระสติ พระปัญญา ที่ฝึกฝน อบรมมาดีแล้วเท่านั้น ที่จะช่วยให้ผู้ปฏิบัติรู้เท่าทัน และพร้อมที่จะเผชิญกับปัญหาและสิ่งกระทบต่างๆ ที่เข้ามาในชีวิตอย่างไม่ทุกข์ใจ ดุจว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นเสมือนฤดูกาลที่ผ่านเข้ามาในชีวิต บางครั้งก็ร้อน บางครั้งก็หนาว ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นไปตามธรรมดาโลก

    คำสอนของหลวงปู่ดู่จึงสรุปลงที่ การใช้ชีวิตอย่างคนไม่ประมาท นั่นหมายถึงว่า สิ่งที่จะต้องเป็นไปพร้อมๆ กันก็คือ ความพากเพียรที่ลงสู่ภาคปฏิบัติในมรรควิถี ที่เป็นสาระแห่งชีวิตของผู้ไม่ประมาท ดังที่ท่านพูดย้ำเสมอๆ ว่า "หมั่นทำเข้าไว้ๆ"....

    ศีลเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการปฏิบัติธรรมทุกอย่าง
    หลวงปู่มักจะเตือนเสมอว่าในขั้นต้นให้หมั่นสมาทานรักษาศีลให้ได้
    แม้จะเป็นโลกียศีล รักษาได้บ้าง ไม่ได้บ้าง บริสุทธิ์บ้าง ไม่บริสุทธิ์บ้าง
    ก็ให้เพียงระวัง รักษาไป สำคัญที่เจตนาที่จะรักษาศีลไว้
    และปัญญาที่คอยตรวจตราแก้ไขตน "เจตนาหัง ภิกขเว สีลัง วทามิ"
    ท่านว่าเจตนาเป็นตัวศีล "เจตนาหัง ภิกขเว ปุญญัง วทามิ" เจตนาเป็นตัวบุญ
    จึงขอให้พยายามสั่งสมบุญนี้ไว้ โดยอบรมศีลให้เกิดขึ้นที่จิตเรียกว่า เรารักษาศีล


    ส่วนจิตที่อบรมศีลดีแล้ว จนเป็นโลกุตรศีลเป็นศีลที่ก่อให้เกิดปัญญาในอริยมรรค
    อริยผลนี้จะคอยรักษาผู้ประพฤติปฏิบัติมิให้เสื่อมเสียหรือตกต่ำ
    ไปในทางที่ไม่ดีไม่งามนี้แลเรียกว่า ศีลรักษาเรา
     

แชร์หน้านี้

Loading...