เทศน์ที่วัดท่าขนุนเนื่องในวันมาฆบูชา

ในห้อง 'หลวงพ่อเล็ก วัดท่าขนุน' ตั้งกระทู้โดย tamsak, 16 สิงหาคม 2008.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. tamsak

    tamsak ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2004
    โพสต์:
    7,857
    กระทู้เรื่องเด่น:
    22
    ค่าพลัง:
    +161,173
    เทศน์ที่วัดท่าขนุน​



    เนื่องในวันมาฆาบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนาเป็นวันที่ประกอบไปด้วยจาตุรงคสันนิบาตคือ มีสิ่งอัศจรรย์ ๔ อย่างมาพร้อมเพียงกัน วันนั้นคือต้องประกอบด้วย

    ๑. มีพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูปมาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย

    ๒. ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นพระขีนาสพผู้หมดกิเลสแล้วทั้งสิ้น

    ๓. ท่านทั้งหลายเหล่านั้นเป็นผู้ที่พระพุทธเจ้าของเราประทานการบวชให้โดยพระองค์เอง

    ๔. องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรานั้นได้ประทานโอวาทสำคัญในพระพุทธศาสนาเรียกว่า โอวาทปาติโมกข์

    เนื่องจากว่าในสมัยพุทธกาลองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราออกประกาศพระศาสนาใหม่ๆ นั้น พระพุทธศาสนาของเรายังไม่ได้ประกาศหลักการต่างๆ เกี่ยวกับคำสอนให้เป็นหมวดเป็นหมู่ ดังนั้นเนื่องในวาระอันสำคัญคือวันมาฆบูชา องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นว่ามีพระอริยสาวกทั้งหลายมาประชุมรวมกันถึง ๑,๒๕๐ รูป จึงได้ประกาศหัวใจของพระศาสนาว่า เมื่อเธอทั้งหลายออกไปประกาศพระศาสนานั้นคำสอนทั้งหลายทั้งปวง ให้เธอกล่าวคำสอนไปในทางเดียวกันว่า

    ๑. สัพพะ ปาปัสสะ อะกะระณัง คือแนะนำญาติโยมทั้งหลายให้ละเสียซึ่งความชั่วทั้งปวง

    ๒. กุสะลัสสูปะสัมปะทา ให้แนะนำคนทั้งหลายเหล่านั้นทำแต่ความดีจนถึงพร้อม

    ๓. สะจิตตะปะริโยทะปะนัง แนะนำพวกเขาทั้งหลายเหล่านั้นทำกำลังใจของตนให้ผ่องใสอยู่เสมอ

    เอตังพุทธานะสาสะนัง พระองค์ท่านยืนยันว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนแล้วแต่ตรัสสอนอย่างนี้ สืบๆ กันมา ซึ่งหลักการเหล่านี้แล้วความจริงแล้วเป็นหลักที่ประกาศเพื่อให้พระภิกษุสงฆ์ได้กล่าวคำสั่งสอนเป็นไปในแนวทางเดียวกันจะได้ไม่ขัดกันในภายภาคหน้า

    แล้วพระองค์ยังตรัสต่อไปว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทนนั้นเป็นตะบะ คือ เครื่องปฏิบัติอย่างยิ่ง หมายความว่า การดำเนินชีวิตอยู่ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือว่าจะเป็นฆราวาส ญาติโยมก็ตามทั้งหลายทั้งปวงย่้อมต้องกระทบกับอารมณ์ต่างๆ อยู่เสมอ ให้ใช้ขันติคือ ความอดทน อดกลั้นให้มากเข้าไว้ อดทนต่อกิเลส ตัณหา อุปปาทาน และอกุศลกรรมต่างๆ ที่จะเข้ามายั่วยุให้เรากระทำในสิ่งที่ไม่ดี ให้พยายามอดกลั้นตั้งใจบำเพ็ญตนอยู่ใน ทาน ศีล ภาวนา ประกอบกิจกระทำความดีอยู่เสมอ

    นิพพานังปรมัง วะทันติพุทธา พระองค์ตรัสว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ล้วนสอนพระนิพพานเป็นที่สุดทั้งสิ้น อันว่าสถานที่ๆ พวกเราปรารถนานั้น จำเป็นจะต้องเป็นสุคติ คือมีที่ไปอันดีแล้วซึ่งจะประกอบไปด้วย เทวดา พรหม และพระนิพพาน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายืนยันถึงพระนิพพานเป็นที่สุด

    ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา นิพพานัง ปะระมัง วะทันติ พุทธา นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะ ฆาตี ทรงกล่าวเอาไว้ว่า ถ้าฆ่าผู้อื่นไม่ขึ้นชื่อว่า บรรพชิต หมายความว่าเมื่อคนเราตั้งใจปฏิบัติความดีแล้ว พระองค์ท่านเรียกว่า บรรพชิต คือผู้ชนะมาตั้งแต่ต้นหมายถึงว่า ได้ชนะใจของตนโดยเฉพาะฆราวาสญาติโยมที่ตั้งใจถือศีลปฏิบัติธรรมและที่สุดคือ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกาท่านทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อตั้งใจงดเว้นในศีลทั้งหลายแล้ว ถ้าหากว่าพบกับมดแดง แมลงน้อยหรือว่าพวกสัตว์ต่างๆ ก็ตามเกิดไปทำร้ายหรือไปฆ่าเข้าท่านกล่าวเอาไว้ว่า นะหิ ปัพพะิโต ปะรูปะ ฆาตี คือถ้าหากยังฆ่าผู้อื่น ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต ไม่สามารถที่จะเรียกได้ว่า ท่านเหล่านั้นประพฤติปฏิบัติอยู่ในความดี

    สะมะโณ โหติ ปะรัง วิเหฐะ ยันโต ถ้ายังเบียดเบียนผู้อื่นก็ไม่ชื่อว่า สมณะ การเบียดเบียนก็คือ การที่เราเบียดเบียนผู้อื่นด้วยกายคือ การกระทำด้วยร่างกาย ด้วยวาจาคือ คำพูด ด้วยใจคือ ความคิด ถ้าหากว่าความคิดของเราก็ดี คำพูดของเราก็ดี การกระทำทางกายของเราก็ดี ถ้ายังเบียดเบียนคนอื่นเขาอยู่ ยังเป็นทุกข์เป็นโทษกับคนอื่นเขาอยู่ไม่เรียกว่า สมณะ คือผู้ที่พ้นจากบาปแล้ว เรายังคงต้องเกลือกกลั้วกับบาปนั้นต่อไป

    พระองค์ยังทรงตรัสต่อไปว่า อนูปะวาโท เราต้องเป็นผู้ไม่ว่าร้ายใคร หมายความว่าเมื่อตัวของท่านตั้งใจเป็นผู้ถือศีล ปฏิบัติธรรมแล้วก็ให้เป็นผู้ที่มีกาย วาจา ใจอันสงบ ไม่ว่าจะกระทบกระั่ทั่งด้วยเหตุประการใดก็ตาม ให้พยายามอดทน อดกลั้น อย่าได้ว่าร้าย อย่าได้กล่าวร้าย อย่าได้เสียดสีผู้อื่น

    อะนูปะฆาโต ไม่ให้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นคน เป็นสัตว์ จะเล็กจะใหญ่ขนาดไหนก็ตาม ล้วนแล้วแต่เป็นเพื่อนร่วมทุกข์ เกิดแก่เจ็บตายด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น เขาก็ชีวิตหนึ่ง เราก็ชีวิตหนึ่ง ถ้าหากว่าเราเกรงว่าเขาจะฆ่าเรา เราก็ไม่ควรจะฆ่าเขา ไม่ควรจะทำร้ายเขา

    ปาติโมกเข จะ สังวะโร ท่านกล่าวว่าให้สำรวมในศีลของตนๆ เอาไว้ เป็นฆราวาสก็ให้สำรวมอยู่ในศีล ๕ ศีล ๘ เป็นพระเป็นเณรก็ให้สำรวมอยู่ในศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ถ้าหากว่าเราอยู่สงบในศีลของตนๆ กาย วาจา ใจ ก็เ้รียบร้อยไม่เป็นทุกข์เป็นโทษกับผู้อื่น

    มัตตัญญุตา จะ ภัตตัสสะมิง ให้หาอาหารมาเพื่อพอเป็นเครื่องยังชีพเท่านั้น ไม่ใช่กินเอาอ้วน กินเอาสวย กินเอาร่างกายแข็งแรง กินเพื่อให้มันคึกคะนอง ท่านเหล่านั้นไม่ใช่นักปฏิบัติที่ดี

    ปัญตัญจะสะยะนาสะนัง พระองค์ตรัสว่าให้อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงัด ไม่เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ชน อันนี้เหมาะสำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ๆ ถ้าหากว่าพบกับแรงกระทบกระทั่งรอบข้างมากๆ ไม่อาจจะดำรงอยู่ในการปฏิบัติของตนได้ ก็ให้หลีกเลี่ยงจากหมู่เสียไปอยู่ในที่สงัด แต่ถ้าหากว่าบุคคลนั้นๆ ได้รับการฝึกมาดีแล้ว อยู่ในที่ไหนก็ตาม ก็เป็นผู้สงัดด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ถ้าหากอยู่ในลักษณะนั้นแล้ว ท่านจะอยู่ที่ไหนก็เป็นที่สงบสงัดของท่านนั่นเอง

    อะธิจิตเต จะ อาโยโค ให้พยายามรักษากำลังใจของตนให้ตั้งมั่นคือ ให้ทรงสมาธิอยู่เสมอ การที่จิตของเราประกอบด้วยสมาธิ ไม่ว่าจะอยู่ในที่ใด ไม่ว่าจะประกอบกิจการงานใดๆ ก็ตาม ก็จะอยู่อย่างสงบก็จะเป็นผู้มีปัญญา ก็จะมีจิตอันมุ่งมั่น ประกอบกิจการงานนั้นให้ลุล่วงไปด้วยดี

    เอตังพุทธานะสาสะนัง พระองค์ยืนยันว่าพระพุทธเจ้าทุกองค์สอนดังนี้ ดังนั้นจึงขอทบทวนให้แก่ทุกท่านได้รับฟังกันไว้อีกว่า ถ้าหากว่าท่านนำคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมสพุทธเจ้าไปสอนผู้อื่น พระองค์ทรงตรัสไว้ว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง สอนให้เขาละเว้นจากความชั่วทั้งปวง กุสะลัสสูปะสัมปะทา สอนให้เขาทำความดีในทาน ศีล ภาวนาทุกอย่างให้ถึงพร้อม สะจิตตะปะริโยทะปะนัง สอนให้เขาทำกำลังใจของตนให้ตั้งมั่นผ่องใสอยู่เสมอ แล้วหลังจากนั้นก็ตรัสในสิ่งที่เหมาะสมแก่ทุกผู้คนที่เป็นนักปฏิบัติว่า ขันตี ปะระมัง ตะโป ตีติกขา ความอดทนเป็นสิ่งที่สมควรปฏิบัติยึดมั่นอย่างยิ่ง นิพพานังปะระมังวะทันติพุทธา พระพุทธเจ้าทุกพระองค์สอนถึงพระนิพพานเป็นที่สุดทั้งสิ้น

    นะหิ ปัพพะชิโต ปะรูปะฆาตี ถ้าหากยังฆ่าผู้อื่นอยู่ไม่ถือว่าเป็นบรรพชิต สะมะโณ โหติ ปะรังวิเหฐะ ยันโต ผู้ที่เบียดเบียนคนอื่น ยังไม่ชื่อว่าสมณะ อะนูปะวาโท ต้องไม่ว่าร้ายใคร อะนูปะฆาโต ต้องไม่ทำร้ายใคร ปาติโมกเข จะ สังวะโร ให้เป็นที่ส่วนรวมในศีลของตนเอาไว้ มัตตัญุตา จะ ภัตตัสสะมิง รับประทานอาหารแต่พอสมควรกับธาตุขันธ์ของตน ปัญตัญจะ สะยะนาสะนัง ให้อยู่อาศัยในที่อันสงัดเท่านั้น อะธิจิตเต จะ อาโยโค ทำกำลังใจของตนให้ตั้งมั่นทรงสมาธิอยู่เสมอ เหล่านี้คือสิ่งที่พระองค์ท่านตรัสในวันมาฆะบูชา

    ดังนั้นว่าวันมาฆะบูชา ส่วนที่สำคัญทีสุดคือส่วนที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราได้แสดงโอวาทปาติโมกข์ไปและบัดนี้ได้ล่วงเลยมาแล้ว ๒,๐๐๐ กว่าปีนี้ญาติโยมทั้งหลายก็พร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันมาฆะบูชา ซึ่งในปีนี้เป็นปีอธิกะสุรทิน คือ ปีที่มี ๘ สองหน คือ เดือน ๘ ปรากฏมีทั้ง ๘ หน้าและ ๘ หลัง

    ถ้าปีไหนเป็นอธิกมาส เดือน ๗ ก็จะมีแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๗ ด้วย แต่ว่าปีนี้เป็นปกติมาสอธิกสุรทินนั้นก็จะมีเดือน ๘ สองหน ทำให้วันมาฆะบูชาซึ่งปกติจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๓ แต่ปีนี้จำต้องเลื่ือนมาเป็นวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๔

    เมื่อญาติโยมทั้งหลายพร้อมใจกันมาบำเพ็ญกุศลนั้น หลักการบำเพ็ญกุศล องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเราว่า การจะให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ให้เราควบคุมกาย วาจา ใจ ของเราให้เรียบร้อยและสำคัญที่สุด อย่าให้เดือดร้อนแก่ตนเองและคนรอบข้าง ถ้าหากท่านทั้งหลายเป็นผู้ตั้งใจให้ทานก็ขอให้มีเจตนาอันบริสุทธิ์ คือ ตั้งใจมาให้ทานเพราะต้องการจะสละตัดออกซึ่งความโลภในจิตในใจจริงๆ ไม่ใช่ให้ทานเพื่อจะให้คนอื่นเขาชมว่าเราเป็นคนดี ไม่ใช่ให้ทานเพราะต้องการจะมุ่งมั่น เอานั่นเอานี่ อันดับที่ ๒ วัตถุทานนั้นบริสุทธิ์ คือ หามาได้ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม อันดับที่ ๓ ผู้ให้คือตัวเราเองขณะนี้เป็นผู้มีศีลบริสุทธิ์ อันดับสุดท้าย ปฏิคาหก คือผู้รับ ได้แก่พระภิกษุสามเณรนั้นให้มีศีลบริสุทธิ์

    ถ้าหากว่าเจตนาของเราบริสุทธิ์ วัตถุทานที่เราให้นั้นบริสุทธิ์ ผู้ให้ คือตัวเราขณะนั้นมีศีลบริสุทธิ์ ผู้รับคือพระภิกษุสามเณรขณะนั้นมีศีลบริสุทธิ์ อันนี้ผลทานที่เราให้นั้นจะเต็ม ๑๐๐%

    ถ้าหากญาติโยมทั้งหลายตั้งใจเป็นผู้รักษาศีลก็ขอให้งดเว้นด้วยตนเอง เมื่อตนเองงดเว้นได้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็อย่ายุยงให้คนอื่นเขาทำศีลขาด เป็นต้นว่า เราตั้งใจว่าเราจะเป็นผู้มีศีล วันนี้สัตว์เล็กสัตว์น้อยเท่าไหรเราจะไม่ฆ่าล่ะ เมื่อมดขึ้นบ้านเราก็พยายามวางเฉย แต่ว่าในเมื่อตัวเราไม่ฆ่าก็อาจจะบอกน้องบอกนุ่ง บอกลูกบอกหลานว่า ไปอายามาฉีดมันทีซิ ถ้าอย่างนี้ก็ได้ชื่อว่าศีลขาด ศีลด่าง ศีลทะลุ เพราะว่าเราเ็ป็นผู้ที่ยุยงให้คนอื่นทำ

    แต่เมื่อเราทราบว่าถ้าเราทำเองศีลขาด ยุยงให้คนอื่นทำก็ไม่ถูกต้อง เราก็พยายามอดกลั้นเอาไว้ อดทั้งกาย อดทั้งวาจาไม่พยายามที่จะไปคิดไปพูดถึง แต่พอเห็นลูกหลานญาติโยมของเราคว้ายาฉีดเข้าให้ เอ้อดี....มันน่าจะทำนานแล้ว ถ้าหากว่าอย่างนี้ก็ชื่อว่าศีลของท่านบกพร่องเช่นกัน

    ดังนั้นถ้าหากว่าท่านเป็นผู้รักษาศีลก็ขอให้รักษาด้วยตนเองให้ศีลนั้นบริสุทธิ์ ไม่บกพร่อง ขอให้ท่านทั้งหลายอย่าได้ยุยงให้คนอื่นเขาทำ เมื่อเห็นคนอื่นเขาทำเราก็ต้องไม่ยินดีด้วย ถ้าหากว่าท่านทั้งหลายตั้งใจเจริญสมาธิภาวนา ก็ขอให้ท่านพยายามรักษาอารมณ์อยู่กับลมหายใจเข้าออกของตนเพื่อจิตจะได้ไม่ฟุ้งซ่านไปอารมณ์อื่นๆ เมื่อรักษาอารมณ์ของตนให้ตั้งมั่นได้แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือประคับประคองอารมณ์นั้นให้อยู่กับเราให้นานที่สุด ให้ทรงตัวให้นานที่สุดเท่าที่จะพึงทำได้ เพื่อที่สภาพจิตของเราได้มั่นคง เยือกเย็น มีความสุข

    ไม่ใช่ว่าขณะนี้เราภาวนาพอเลิกจากทำสมาธิภาวนาเราก็หาเรื่องด่าคนอื่น ถ้าอย่างนี้ยังไม่ชื่อว่านักปฏิบัติภาวนาที่ดีจริง นักปฏิบัติภาวนาที่แท้จริง ต้องประคับประคองสมาธิให้ทรงตัวให้นานที่สุดเท่าที่จะนานได้ พยายามอดออมถนอมกาย วาจา ใจ ให้อยู่ในขอบเขตของศีล ไม่ว่าคนอื่นจะัชักจะชวนอย่างไรก็ตามเราไปกับเขาได้ทุกรูปแบบ แต่ไปแค่กรอบของศีลเท่านั้น ถ้าหากว่าล่วงกรอบของศีลไปแล้วเราไม่ไปด้วย ถ้าท่านทำได้ดังนี้ก็ชื่อว่าท่านปฏิบัติอยู่ในทาน ศีล ภาวนาถูกต้องตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราต้องการ

    อาตมาภาพรับหน้าที่วิสัชชนามาในธรรมคาถาเนื่องในวันมาฆะบูชาก็พอสมควรแก่เวลา ท้ายสุดแห่งพระธรรมเทศนา อาตมาภาพขอตั้งสัตยาธิฐานอ้างคุณพระรัตนตรัย มีพระพุทธรัตนะ พระธรรมะรัตนะ พระสังฆะรัตนะ เป็นประธาน ขอได้โปรดอภิบาลรักษาญาติโยมพุึทธบริษัท อุบาสก อุบาสิกาตลอดจนภิกษุสามเณรทั้งหลายให้เป็นผู้ที่เจริญพร้อมทั้งในทางโลกและในทางธรรม เป็นผู้ที่มีความปรารถนาอันสมหวังทุกๆ ประการ รับประทานวิสัชชนามาก็พอสมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้....(สาธุ)




    สนทนากับพระเล็ก สุธมฺมปญฺโญ
    เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๔๕
    ณ บ้านอนุสาวรีย์ฯ



    "
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 2 ตุลาคม 2013
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...