เรื่องเด่น อานันทะ เมตเตยยะ ภิกขุอังกฤษรูปแรก

ในห้อง 'พุทธภูมิ - พระโพธิสัตว์' ตั้งกระทู้โดย นโมพุทธายะ๕, 18 กุมภาพันธ์ 2021.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. นโมพุทธายะ๕

    นโมพุทธายะ๕ ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    22,330
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,116
    ค่าพลัง:
    +70,462
    [​IMG]


    อานันทะ เมตเตยยะ ภิกขุอังกฤษรูปแรก


    พระภิกษุ อานันทะ เมตเตยยะ ชื่อเดิม ชื่อ ชาลส์เฮนรี่ อัลลัน เป็นเนตต์ Chales Henry Allan Bennet เกิดปี พ.ศ. ๒๔๑๕ (ค.ศ. ๑๘๗๒) ในนครลอนดอน.

    ตัวท่านเองได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์ทางเคมี ฟิสิกส์.เนื่องจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของท่าน ทำให้ท่านไม่ยอมมีความเชื่อชนิดที่งมงายไร้เหตุผล เพราะฉะนั้น ท่านจึงได้ประกาศตนว่า ไม่ยอมเชื่อพระเจ้าและเป็นคนไม่มีศาสนา ในปี พ.ศ. ๒๔๓๓ (ค.ศ. ๑๘๙๐) อายุของท่านได้ ๑๘ ปี วันหนึ่งบังเอิญได้อ่านหนังสือ เรื่อง

    “ประทีปแห่งทวีปอาเซีย” (Light of Asia) ซึ่งกล่าวถึงพุทธประวัติ เป็นบทกวีอังกฤษ เซอร์เอ็ดวิน อาโนลด์ ชาวอังกฤษเป็นผู้แต่ง ได้ก่อความตื่นเต้นให้แก่ท่านอย่างใหญ่หลวง ที่ได้พบหนทางสู้แสงสว่างของชีวิตวิถีใหม่ และทำให้ท่านรู้สึกว่าศาสนาทั้งหลายนั้นมีพระพุทธศาสนาศาสนาเดียวที่เข้ากันได้กับวิทยาศาสตร์

    นับตั้งแต่นั้นมาท่านก็เริ่มการศึกษา อ่านตำรับตำราแปลที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาทุกชนิดเท่าที่จะหาได้ และหลังจากการศึกษาจนเข้าใจแจ่มแจ้งแล้ว ใน พ.ศ. ๒๔๔๑ (ค.ศ. ๑๘๙๘) ท่านได้เดินทางมาสู่ประเทศลังกา ในนามของพุทธมามกะคนหนึ่ง และได้เข้าศึกษาพระธรรมกับพระเถระชาวลังการูปหนึ่ง

    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๒ (ค.ศ. ๑๙๐๙) ท่านได้เริ่มการปาฐกถาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาครั้งแรก ให้ชื่อว่า “อริยสัจจ์ ๔” ภายหลังได้พิมพ์ข้อปาฐกถานี้ขึ้นเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ต่อมานางฮลาอ่องเศรษฐีนี มหาอุบาสิกาชาวพม่า ได้ตั้งวิทยาลัยพุทธศาสนาขึ้นในพม่า และได้เชิญท่านไปเป็นอาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ ท่านจึงได้เดินทางไปสู่พม่า และที่นั่นท่านได้มีโอกาสใกล้ชิดพระเถรานุเถระของพม่ามาก

    ท่านรู้สึกว่า ความสุขที่ท่านได้รับจากการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น ไม่สมควรจะเป็นของท่านแต่ผู้เดียว ชาวตะวันตกอย่างน้อยก็เพื่อนร่วมชาติของท่านควรจะได้มีโอกาสรับความสุขนี้ด้วย ดังนั้นปณิธานที่จะเผยแผ่พระธรรมไปสู่ตะวันตกจึงได้บังเกิดขึ้นในใจของท่าน. อย่างไรก็ดี การที่จะทำงานธรรมทูตชิ้นนี้ให้ได้ผลสำเร็จนั้น ท่านเห็นว่าควรจะมีผู้ดำรงอยู่ในฐานะภิกษุเป็นผู้นำ ท่านหวังอย่างยิ่งที่จะให้มีการตั้งสังฆมณฑล และอุปสมบทกรรมมีขึ้นไว้ในยุโรปท่านเล่าไว้ว่า

    “สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ตลอดชีวิตของข้าพเจ้าจักต้องกระทำ ซึ่งข้าพเจ้าได้มีความภักดีและเป็นความมุ่งมาดปรารถนาในอุดมคติแห่งชีวิตของข้าพเจ้า อุดมคติของข้าพเจ้านั้น คืออย่างไร ? อุดมคตินั้น คือการนำคำสั่งสอนอันประกอบด้วยเหตุผล และเมตตากรุณาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราให้แพร่หลายทั่วไปดินแดนตะวันตก และสถาปนาสังฆมณฑลในบรรดาประเทศตะวันตกทั้งหลาย”

    ความคิดของท่านเรื่องการตั้งคณะสงฆ์นั้นต่อมาอีก ๒๓ ปี ก็ได้พ้องกับความคิดของท่านอนาคาริกะธรรมปาละแห่งลังกา

    ในปี พ.ศ ๒๔๔๔ (ค.ศ ๑๙๐๑) ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ (ค.ศ. ๑๙๐๒) คือปีรุ่งขึ้น ท่านก็ได้รับการอุปสมบทกรรมโดยถูกต้องจากคณะสงฆ์แห่งพม่า มีฉายาว่า ภิกขุอานันทะ เมตเตยยะ

    ตลอดเวลาที่ท่านอยู่ในพม่า ท่านได้ติดต่อกับบรรดาพุทธศาสนิกชาวอังกฤษ อเมริกัน และเยอรมันเสมอ ท่านได้ร่วมมือกับพุทธศาสนิกเหล่านั้น ตั้งพุทธศาสนาสมาคมขึ้น เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางของบรรดาพุทธมามกะระหว่างชาติ การประชุมครั้งแรกได้กระทำขึ้นในวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ. ๒๔๔๖ (ค.ศ. ๑๙๐๓) เพื่อจัดระเบียบและงานของสมาคม ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเลขาธิการ Dr. E. R. Rost เป็นเลขาธิการกิตติมศักดิ์ นอกจากนั้นมีผู้ร่วมงานที่สำคัญ เช่น ศาสตราจารย์ รีส เดวิดส์ และภรรยา ตลอดจนพระเถรานุเถระสำคัญของลังกาและพม่าเป็นต้น

    อีกหลายเดือนต่อมา สมาคมได้เปิดการสนทนาระหว่างเพื่อนพุทธศาสนิกชนขึ้นที่ย่างกุ้ง ปรากฏว่ามีผู้เข้าร่วมประชุม ๓๐๐ คน. สมาคมได้ออกวารสารรายฤดูชื่อ พระพุทธศาสนา รายฤดู เล่มแรกออกในเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๖ (ค.ศ. ๑๙๐๓) หนาประมาณ ๒๐๐ หน้า จัดพิมพ์อย่างสวยงาม ราคาจำหน่ายเล่มละ ๓ ชิลลิง วารสารรายฤดูนี้ ได้ทำให้คนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะ เยาวชนและชาวต่างประเทศหันมาสนใจในพระพุทธศาสนา มีอิทธิพลเหนือใจของคนที่ปรารถนาความจริง โดยเฉพาะบทความของท่านอานันทะเอง. ดังคำกล่าวของนักศึกษาหนุ่มชาวพม่า ชื่อ เอ็ม. เค. วิน.M. K. Win กล่าวในที่ประชุมรำลึกถึงการมรณภาพของท่านอานันทะ ครบวาระ ๑๐ ปี ที่นครลอนดอน นายเอ็ม เค. วิน. กล่าวว่า

    “ชาวตะวันตกคนหนึ่งได้อุปสมบทเป็นภิกษุ ได้ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกซาบซึ้งอย่างยิ่ง และวารสารทางพระพุทธศาสนาอันทรงค่าสูงนี้ ก็ได้นำให้ข้าพเจ้าเกิดความสนใจในพระพุทธศาสนา.... จำนวนเยาวชนชาวพม่าที่มีความรู้สึกเช่นข้าพเจ้าอย่างนี้ มีไม่ต่ำกว่าหลายพันคน.....”

    อนึ่ง ในวารสารพระพุทธศาสนานั้น มีบทความกล่าวถึงพระนิพพาน ซึ่งท่านอานันทะ เมตเตยยะ เขียน บทความชิ้นนี้ได้ก่อความเลื่อมใสแก่ชายหนุ่มอังกฤษผู้หนึ่ง ซึ่งมีนามในภายหลังการอุปสมบทของเขาว่า ภิกขุสีลาจาระ หรือนายเมอเคชนี่ หรือ แซนทลี่อันเป็นชื่อเดิมของเขา. หนุ่มเมอเคชนี่ได้กล่าวถึงบทความนั้นว่า

    “ข้าพเจ้ารู้สึกว่าบทความชิ้นนี้มีลีลาภาษาอันไพเราะ และประกอบด้วยเหตุผล สามารถที่จะให้ผู้อ่านเกิดความเลื่อมใส....”

    ต่อมานายเมอเคชนี่ ได้เป็นกำลังสำคัญของงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา (ดูประวัติของท่าน ซึ่งท่านอคฺคมนุญฺโญภิกขุ แปลพิมพ์เป็นเล่มชื่อชีวิตและงานของพุทธศาสนิกในต่างประเทศ) ต่อมาทางประเทศอังกฤษ พวกพุทธมามกะและผู้สนใจในพระศาสนา ได้ร่วมกันตั้งพุทธศาสนาสมาคมแห่งบริเตนใหญ่และไอร์แลนด์ขึ้น ส่วนทางพม่า ท่านอานันทะ เมตเตยยะ ก็ได้ตระเตรียมการจาริก ไปทำงานธรรมทูตในอังกฤษ เมื่อได้รับการสนับสนุนทางการเงินสำหรับการเดินทางและค่าใช้จ่ายจากมหาอุบาสิกาฮลาอ่องแล้ว คณะธรรมทูตภายใต้การนำของท่านพร้อมด้วยองค์อุปถัมภิกา นางอวงฮลาอ่องและบุตรชายก็ได้ออกเดินทางมุ่งตรงไปสู่อัษฎงคตประเทศ ซึ่งเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกแห่งประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในประเทศอังกฤษ

    ในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม แห่งปี พ.ศ ๒๔๕๑ (ค.ศ. ๑๙๐๘) คณะธรรมทูตก็ได้บรรลุถึงท่าเรือแห่งเกาะอังกฤษ ภายใต้การต้อนรับอันอบอุ่นของมวลพุทธมามกะ ถึงตอนนี้ โรคเก่าของท่านก็เริ่มเบียดเบียนท่าน ท่านมีสุขภาพไม่ใคร่สู้แข็งแรง มีโรคาพาธประจำ คือ โรคหืด ซึ่งได้ทรมานท่าน ไม่ให้ทำงานเผยแผ่ได้เต็มสติกำลัง โรคซึ่งเป็นพญามารของการประกอบการงานทั้งหลายของมนุษย์ และได้เป็นเครื่องกีดขวางของผู้ที่มีใจต่องานธรรมทูต ศัตรูอันยิ่งใหญ่ของสัตว์โลกมิใช่อื่นไกลเลย ที่แท้คือโรคภัยไข้เจ็บและความตายนั่นเอง

    อย่างไรก็ตาม ด้วยอุดมคติอันมั่นคงของท่าน ท่านได้พยายามเที่ยวจาริกปาฐกถาพุทธธรรมแก่เพื่อนร่วมชาติของท่าน บางครั้งได้เปิดการแสดงที่ร้านอาหารและร้านค้า ทำหน้าที่วิสัชนาปัญหาของผู้ถาม พุทธมามกะชาวอังกฤษผู้หนึ่งกล่าวว่า น่าเสียดายอย่างยิ่งที่ท่านมิใช่นักพูด ในการปาฐกถา สายตาท่านมิอาจมองห่างไปจากกระดาษเขียนได้เลย ถ้าท่านมีความสามารถในการพูด เช่นเดียวกับความสามารถอันยิ่งยงในการเขียนของท่านแล้ว ผลของงานก็จักสำเร็จและไปได้ไกลกว่ามากทีเดียว

    ท่านอานันทะพักอยู่ในมาตุภูมิประมาณ ๖ เดือน ท่านได้ลงเรือจากลิเวอร์ปูล เดินทางกลับประเทศพม่า ผลของงานธรรมทูตครั้งนั้น ถึงแม้จะไม่ได้รับความสำเร็จเท่าที่ควรเป็น และตามความปรารถนาของท่านก็จริง แต่ก็หาได้เป็นเหตุให้ท่านหมดความพยายามต่อไปอีกไม่ ในเดือนธันวาคม ท่านได้เขียนจดหมายถึงมวลพุทธมามกะในลอนดอน ขอร้องให้ช่วยกันพยุงฐานะของพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาอันเหมาะสมกับชาวตะวันตก และกล่าวว่า ถ้าหากมีโอกาสอีก ท่านจะจาริกเดินทางไปใหม่ นายเมอเคชนี่ได้กล่าวว่า

    “ท่านอานันทะมักจะไม่อาจขึ้นบันไดด้วยตนเอง แต่หากมีคนช่วยเหลือท่าน ท่านก็จักพยายามทำไปจนถึงที่สุด”

    ผู้เขียน(อ.เสถียร โพธินันทะ)เข้าใจว่าเป็นเพราะสุขภาพอันไม่ดีของท่าน และการขาดปัจจัยสำหรับเผยแผ่นี่เองได้เป็นเหตุ.

    สุขภาพของท่านนับว่าทรุดโทรมลงโดยลำดับ แต่งานเขียนของท่านก็คงกระทำเรื่อยไป ท่านได้เขียนบทความลงในหน้าหนังสือพิมพ์ ทางพระพุทธศาสนาของอังกฤษเสมอ บทความของท่านได้รับการยกย่องว่ามีลีลาภาษาอันเพริดพริ้งที่สุด. และวารสารพระพุทธศาสนาของพุทธศาสนาสมาคมอังกฤษนั้น นับเป็นวารสารชั้นเยี่ยม อุดมด้วยบทความของนักปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาทั้งตะวันออกและตะวันตก อาทิเช่น ท่านอนาคาริกธรรมปาละ, ศาสตราจารย์สุซูกิ, ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์, โฮเวล สมิธ, เซอร์ ดี. บี. ชยดิลก, มาดามอเล็กซานดรา ดาวิดนีล เห็นต้น.

    ในปี พ.ศ. ๒๔๕๖ (ค.ศ. ๑๙๑๓) ท่านอานันทะได้รับการผ่าตัด แต่ไม่ได้ผล สุขภาพของท่านทรุดลงไปอีก ท่านจึงตั้งใจจะเดินทางกลับไปพักผ่อนที่สหรัฐอเมริกา ที่นี่ท่านมีน้องสาวอยู่ผู้หนึ่ง พอดีน้องสาวของท่านเดินทางมาประเทศอังกฤษ ท่านจึงตั้งใจเดินทางไปพบน้องสาวที่นั่น แต่ก็เกิดมีปัญหาถึงเรื่องพระวินัย โดยเฉพาะปัญหาเรื่องจับต้องเงินทอง เพราะการไปครั้งนี้ ท่านไม่มีไวยาวัจกรติดตามไปด้วย และก็เป็นไปโดยทุนของพุทธศาสนิกชนชาวพม่า หลังจากการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดแล้ว ท่านจึงจำใจสละเพศบรรพชิตที่ท่านครองมาถึง ๑๒ ปี กลับเป็นมิสเตอร์อัลลัน เบ็นเนตต์ ใหม่

    ในเดือนพฤษภาคม ท่านเดินทางมาถึงเมืองลิเวอร์ปูล สรีรรูปของท่านได้เปลี่ยนแปลงจากลักษณะอันผึ่งผาย อยู่ภายใต้ผ้าสีเหลืองคร่ำ กลับเป็นผู้มีใบหน้าอันหม่นหมอง รูปร่างอันทรุดโทรมผิดจากเมื่อเที่ยวก่อนในฐานะภิกขุ แต่ความคิดความอ่านและอุปนิสัยของท่านคงเป็นอย่างเดิมทุกประการ

    เมื่อถึงเวลาจะเดินทางไปสู่สหรัฐอเมริกา แพทย์ประจำเรือได้ตรวจร่างกายท่าน และออกความเห็นว่าท่านมีโรคเช่นนี้ เมื่อถึงนิวยอร์คคงถูกห้ามมิให้ขึ้นจากเรือเป็นแน่ ท่านจึงหมดโอกาสที่จะไปอเมริกา และการเงินของท่านเล่าก็ร่อยหรอขาดแคลนลง ชาวพุทธมามกะอังกฤษจึงช่วยกันเรี่ยไรเงินช่วยเหลือท่าน และทั้งๆที่สุขภาพอันทรุดโทรมเช่นนั้น ท่านก็ยังไม่ยอมหยุดพักที่จะทำงานเผยแผ่พระพุทธธรรม ทั้งทางเขียนบทความและทำปาฐกถา

    ในปี พ.ศ. ๒๔๖๕ แห่งเดือนธันวาคม วงการพระพุทธศาสนาแห่งอังกฤษ ได้สูญเสียซึ่งบุคคลสำคัญที่เป็นกำลังทางหลักวิชาการไป คือ ศาสตราจารย์รีส เดวิดส์ ท่านถึงแก่กรรมในปัจฉิมวัย อายุได้ ๘๐ ปี ต่อมาอีกไม่นาน ท่านอัลลัน เบ็นเนตต์ก็ได้ล้มเจ็บหนักลง ถึงแม้ท่านจะได้รับทุกขเวทนาจากความเจ็บป่วย และก่อนหน้าจะถึงแก่กรรม ท่านก็ยังมีความสนใจถึงเสียงขับร้องของขอทานคนหนึ่งที่ถนน ท่านสั่งให้คนนำเงินไปให้ และแล้วจากนั้นประมาณ ๒ ชั่วโมง อดีตผู้นำคณะธรรมทูตชุดแรกของประเทศอังกฤษ ก็ค่อยๆ มีลมหายใจแผ่วเบาลง ๆ และหมดสิ้นไปในที่สุด ในปี พ.ศ. ๒๔๖๖ สิริชนมายุได้ ๕๐ ปี.

    ท่านอัลลัน เบ็นเนตต์ เป็นชาวตะวันตกที่ได้รับการอบรมด้วยลัทธิศาสนาอื่นมาแต่เยาว์ แต่แล้วท่านกลับมีปัญญาจักษุหันมาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ตลอดชีวิตของท่านได้เสียสละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งชีวิตเป็นพลีแก่พระพุทธศาสนา หรือพูดให้ถูกก็คือเป็นพลีแก่ประโยชน์สุขของมหาชน ท่านมีปณิธานที่จะเผยแผ่พระศาสนาให้กว้างขวางทั่วตะวันตก แต่พยาธิมารได้พยายามขัดขวางท่าน มิหนำท่านยังไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเงินเพียงพอที่จะทำงานชิ้นใหญ่ๆ นั้น.

    อ.เสถียร โพธินันทะ

    ********************

    เครดิต - https://www.facebook.com/ศักดิ์สิทธิ์-490609941416175
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...