อันดับสมาธิ ที่พาผู้ปฏิบัติไปฉกามาวจรสวรรค์

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย wmt, 28 กรกฎาคม 2014.

  1. wmt

    wmt เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2011
    โพสต์:
    242
    ค่าพลัง:
    +1,432
    พิมพ์คัดจากเทปบันทึกเสียง ในปี พ.ศ.๒๕๐๘
    เทศนาพ่อแม่ครูอาจารย์ หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย


    "....ยังมีสมาธิอีกประการหนึ่ง ที่ผู้ปฏิบัติโดยส่วนมากไปติดหรือหลงกัน ที่ท่านเรียกว่าภวังค์หรือภพภายในของจิต ถ้าใครตกภวังค์พวกนี้แล้ว มีหวังไปยากเต็มที ไม่เก่งจริงๆ มีหวังจมตายอยู่เพียงแค่นั้น ก็ไม่มีทางที่จะเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ได้ ฉะนั้น จึงสมควรนำมาเล่าสู่กันฟังพอเป็นข้อสังเกตดังนี้คือ


    เมื่อเราสร้างอำนาจตัวคุ้มครองขึ้นมาได้แล้ว เราเอามาคุ้มครองจิตของเราจริงๆ เมื่อจิตของเราจำนนต่ออำนาจตัวบังคับ คือสติได้แล้ว จิตของเราไม่มีโอกาสไปต่ออารมณ์สัญญาโดยลำพังของมันได้ มีหวังว่าจิตของเราจะจมดิ่งเข้าสู่สมาธิ พอจิตตกกระแสหรือรวมเข้าสู่สมาธิแล้ว เราจะเห็นผลหลายอย่างเกิดขึ้น เช่น ความอิ่ม ความเบา ความเย็นซาบซ่าน ความสว่างไสว เป็นต้น แต่ผลในที่นี้หมายถึง ผลเกิดขึ้นจากความสงบของจิต คือ จิตสงบ ฐาน มี ๓ ฐานด้วยกัน ได้แก่ ขณิกะ อุปจาระ อัปปนา


    แต่ละฐานแบ่งออกเป็น ๒ ระยะ มีตอนต้นกับตอนปลาย
    รวม ๓ ฐานแบ่งออกเป็น ๖ ระยะ


    แต่ลักษณะของมันในเบื้องต้นของฐานที่ ๑ เรียกว่า ขณิกะ
    ภวังค์มีอยู่ ๒ ฐาน คือ ฐานต้น ได้แก่ ความอิ่มนี่เอง มันรู้สึกมีความอิ่มจริงๆ อิ่มจนไม่อยากหลับไม่อยากนอน ไม่อยากพูดจากับใคร มันเพลินอยู่คนเดียว แต่ตัวเองก็ไม่รู้ว่าเราอยู่ในฐานไหน แท้ที่จริงก็นี่แหละคือฐานต้น
    ส่วนฐานปลายมีความเบาเข้ามาแทรกกับความอิ่มแต่ไม่มาก


    ถ้าเลยเข้าไปฐานที่๒ ได้แก่ อุปจาระ ภวังค์ของฐานต้นจะมีความเบาเหมือนจะเหาะจะลอย เหมือนไม่ได้นั่งอยู่กับพื้นคล้ายๆ กับว่ามีของทิพย์เป็นเครื่องรองรับ ลอยอยู่สักศอกสองศอกอะไรทำนองนี้
    ฐานปลายจะรู้สึกมีความเย็นซาบซ่านเพิ่มเข้ามาอีก ถ้าเราสามารถสร้างสติให้สมบูรณ์ หรืออำนาจตัวสั่งตัวบังคับ บังคับความรู้สึกได้ดีที่สุด บังคับให้อยู่ในอำนาจของมันอยู่ตลอดเวลา มันจะสามารถดิ่งเข้าไปลึกกว่านี้อีก


    เมื่อจิตเข้าสู่อันดับที่ ๓ หรือฐานที่ ๓ ที่เรียกว่า อัปปนา
    ภวังค์เบื้องต้น จะมีความสว่างเพิ่มเข้ามานิดๆ จากความซาบซ่าน พออยู่ในอันดับนี้ชำนิชำนาญแล้ว
    ตอนปลายจะเกิดความสว่างไสวโล่งโปร่ง มีความเย็นซาบซ่านไปทั่วสรรพางค์กาย เย็นเหมือนๆ ยาทิพย์เข้าไปอยู่ในร่างกาย และยังมีคล้ายกับเมฆหรือหมอกขาวๆ สลัวๆ ทั่วสรรพางค์กายสว่างไสวรุ่งโรจน์ ที่ขาวๆ นะเหมือนยาทิพย์ชโลมตัวเรา รู้สึกสบายมาก มันเย็นซาบซ่านโปร่ง โล่งในสมอง ประสาท แม้ถอนสมาธิออกมาแล้วก็ยังรู้สึกโปร่งโล่งในสมอง สิ่งที่มันมืดๆ มันแตกฉาน แปลกจริงๆ


    เพียงแค่สมาธิ ๓ อันดับ ถ้าสามารถสร้างสติอย่างเดียวไม่มีตัวอริยมัคคุเทศก์หรือปัญญา ญาณ เพียงแค่อาศัยสติประคองจิตเข้าสู่สมาธิ ๓ อันดับนี้ ยังมีอานิสงส์ถึงขนาดนี้ ลองดูซิ พวกเราทุกคนถ้าเข้าสู่ผลของสมาธิ ๓ อันดับนี้แล้วจะชอบด้วยกันทั้งนั้น เพราะมันสบายจริงๆ สบายอย่างบอกไม่ถูก มีความสุขอย่างไร แค่ไหน ถ้าใครอยากสิ้นสงสัยก็ทำดู ถ้านั่งนึกเดาเท่าไร ยิ่งไกลความจริงเป็นลำดับ แต่สมาธิ ๓ อันดับนี้ จัดเป็นกามภพภายในหรือกามภพอันละเอียด


    สมาธิ ๓ อันดับที่กล่าวมานี้เป็นของสำคัญมาก ถ้าผู้ปฏิบัติไม่ศึกษาให้เข้าใจจริงๆ แล้ว อาจจะหลงอยู่เพียงแค่นี้เข้าใจว่าเป็นจุดสูงสุดของการบำเพ็ญ แท้ที่จริงเป็นภวังค์ ในสมาธิเท่านั้น ถ้าใครไปหลงยึดมั่นถือมั่นก็เป็นวิปัสสนูปกิเลส คือ กิเลสในสมาธิ ถ้าใครรู้เท่าทันจิตทุกอย่าง ไม่ไปหลงยึดมั่น ถือมั่นรู้แล้ววางเป็นวิปัสสนา แต่บางคนเข้าใจว่า ภวังค์คือการนอนหลับ เพราะจิตมันทำงานมาก จิตเหนื่อย มันก็เข้าไปพักในภวังค์ ความจริงไม่ถูก คำว่า ภวังค์ นี้ท่านหมายถึง จิตติดอยู่ในผลของสมาธิ ๓ อันดับ ดังกล่าวมาแล้วนั้น คือหมายความว่า เมื่อจิตของเราไปเจอผลของสมาธิแล้วมันอยากแช่จมอยู่ในที่นั้น


    ฉะนั้น ท่านจึงบอกว่า อันนี้ก็เป็นส่วนของภพเหมือนกัน คือ ภพภายใน และไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เพราะจิตไม่ได้รู้แจ้งเห็นจริงอะไร เป็นเพียงบังคับจิตให้จมดิ่งเข้าสู่ฐานของสมาธิเท่านั้น ยังไม่ได้ชำระกิเลส


    แต่ถ้าใครรักษาระดับไว้ได้ก็สามารถไปสู่ฉกามาวจรสวรรค์ได้


    แต่โดยส่วนมาก ผู้ปฏิบัติมักจะเอาแต่ผลของสมาธิ ๓ อันดับมาเล่าสู่กันฟัง ส่วนเรื่องการทำลายกิเลสหรือภพของจิตก็ดี หรือกิเลสมีลักษณะเช่นไร มันเกิดขึ้นมาได้เพราะเหตุใด ไม่ค่อยพูดถึง


    เพราะฉะนั้น ผู้ทำสมาธิยังมีกิเลสท่วมท้นกันอยู่ เช่น มีการทะเลาะเบาะแว้งซึ่งกันและกัน เป็นต้น ก็เป็นไปตามเรื่องตามเหตุการณ์ เนื่องจากการทำสมาธิดังกล่าวยังไม่ได้ถอนกิเลส เพราะยังไม่ได้สร้างตัวอริยมัคคุเทศก์ คือตัวปัญญาญาณ จึงไม่สามารถสังหารกิเลสได้เลยแม้แต่ตัวเดียว เป็นเพียงใช้อำนาจสติข่มกันอยู่เท่านั้น


    ถ้าใครต้องการพ้นทุกข์ที่แท้จริง จงศึกษาให้เข้าใจถ่องแท้แน่นอนแล้วในทางปฏิบัติ ทั้งสายตรงและสายอ้อม แล้วจึงลงมือปฏิบัติตามสายตรงที่ศึกษามานั้น มีหวังสมความมุ่งมาดปรารถนาโดยไม่ต้องสงสัย


    ในที่สุด ยุติลงแห่งการแนะนำทางสมาธิจิตนี้ อาตภาพขออัญเชิญอานุภาพอันยิ่งใหญ่ คือ

    พุทธานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพของพระพุทธเจ้า

    ธัมมานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพของพระธรรม

    สังฆานุภาเวนะ ด้วยอำนาจของพระสงฆ์

    อานุภาพ ๓ ประการนี้ จงมาคุ้มครองพวกท่านทั้งหลาย จงอย่าได้ประสบภัยอันตรายทั้งปวง ประสบแต่ความสุข ความเจริญ และความสะดวกสบาย จงเป็นไปเพื่อความสำเร็จในสิ่งที่ท่านทั้งหลายปรารถนาเอาไว้ พรทั้งหลายที่อาตมภาพอธิษฐานมานี้ จงเป็นผลสำเร็จจงทุกถ้วนหน้ากันเทอญฯ "
    ------------------------------------------------------------------------

    ตัวอริยมัคคุเทศก์ หรือ ปัญญา

    “......สำคัญอยู่ที่ตัวสตินี่นะ ที่ควบคุม ถ้าสติไม่สมบูรณ์ไม่แก่กล้าแล้ว จิตจะไม่ยอมรับ เมื่อจิตมันไม่ยอมรับ จะสอนสักแค่ไหนก็ตาม แนะนำสักแค่ไหนก็ตาม จิตของเรานี้ไม่มีทางจะวางต่ออารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น คนที่ฆ่าตัวเองตายก็เพราะวางอารมณ์ไม่ได้ อำนาจของเหตุการณ์มันแรงกว่า จึงลอยคอล๊อกแล๊ก ๆ อยู่ในเหตุการณ์ นอนไม่หลับ หาวิธีแก้ไขอย่างไรก็ไม่หลับ ผลที่สุดก็ยอมตาย ถึงขนาดตายก็มี ถึงขนาดบ้าก็มี เพราะไม่มีความสามารถต่อต้านกับจิตใจของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้

    เมื่อพวกเราได้กำลังตัวสติขึ้นมาแล้ว ง่ายดาย สั่งให้หยุด ก็ต้องหยุด หาเหตุผลด้วยกำลังของอริยมัคคุเทศก์ หรือปัญญา สามารถหาเหตุผลได้อย่างง่ายดาย เพราะอันนี้มันกฎธรรมดาของโลก เมื่อเราสามมารถชนะจิตของเราไม่ให้ต่ออารมณ์สัญญาได้ อันนี้เราก็สามารถอุทานว่า ชิตังเม เราผู้ชนะ คือ ชนะจิตของเราได้...”


    หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย
    พระธรรมเทศนา เรื่อง อริยมัคคุเทศก์ตัวนำพาจิต
    ------------------------------------------------------------------------



    น้อมใจเผยแพร่เป็นธรรมทาน ฤดูกาลแห่งพรรษา พุทธศักราช ๒๕๕๗
     

แชร์หน้านี้

Loading...