เรื่องเด่น "อัธยาศัย-นิสัย-อุปนิสัย-วาสนา" (สมเด็จพระสังฆราชเจ้า)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย วิริยะ13, 11 กรกฎาคม 2022.

  1. วิริยะ13

    วิริยะ13 สติเป็นโล่ห์ ปัญญาเป็นอาวุธ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มีนาคม 2010
    โพสต์:
    3,021
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1,557
    ค่าพลัง:
    +12,644
    160_893.jpg

    .
    "อัธยาศัย-นิสัย-อุปนิสัย-วาสนา"

    "อัธยาศัย"

    "คือภาวะที่อาศัยอยู่กับจิตใจ ดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง" หรือน้อมจิตใจไปให้เกิดเจตนากรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น "ถ้ามีอัธยาศัยประกอบด้วยโทสะ พยาบาท" ย่อมดึงจิตใจให้เกิดความมุ่ง หรือน้อมจิตใจให้เกิดเจตนากรรม "คือมุ่งก่อทุกข์โทษแก่ผู้อื่น"

    "ถ้ามีอัธยาศัยประกอบด้วยเมตตากรุณา" ย่อมดึงจิตใจให้มุ่งก่อเกื้อสุขประโยชน์แก่ผู้อื่น อัธยาศัยโดยย่อจึงมี ๒ คือ "อัธยาศัยเลวกับอัธยาศัยดี เหตุที่อุดหนุนให้เกิดอัธยาศัย คือนิสัย อุปนิสัย"

    "นิสัย"

    คือ "ที่เข้าอาศัยของจิตใจ ในฐานเป็นพื้นเพและเป็นเหตุอุปการะ มีทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่วเหมือนอัธยาศัย" เพราะจิตต้องเป็นนิสิต คือผู้อาศัยอยู่ในนิสัย คือที่อาศัยอย่างใดอย่างหนึ่ง "ถ้าอาศัยอยู่กับกิเลส" เช่น อาศัยตัณหา อาศัยมานะ อาศัยทิฏฐิ "เรียกว่า ตัณหานิสัย มานนิสัย ทิฏฐินิสัย"

    "ถ้าอาศัยคุณธรรม" คือ ศรัทธา หิริ โอตตัปปะ วิริยะ ปัญญา "เรียกว่า ศรัทธานิสัย หิรินิสัย โอตตัปปนิสัย วิริยนิสัย ปัญญานิสัย"

    ฉะนั้น "คนจะทำอะไรจึงสุดแต่นิสัย ถ้านิสัยเป็นส่วนชั่วก็ทำชั่ว" นิสัยเป็นส่วนดีก็ทำดี แต่นิสัยแสดงออกเป็นอัธยาศัย คือทำให้เกิดความมุ่งหรือน้อมไปของจิตใจก่อนแล้ว จึงเกิดเป็นเจตนากรรมทำชั่วหรือดีดังกล่าว

    "อุปนิสัย"

    คือ "ที่อยู่พำนักอาศัยของจิตใจ" มีอธิบาย ๒ อย่าง อย่างหนึ่งว่า "นิสัยที่แรงกว่าปกติเรียกว่า อุปนิสัย" เทียบอย่างคำว่า "บารมีและอุปบารมี" อีกอย่างหนึ่งว่า "นิสัยชนิดที่เป็นรองเรียกว่า อุปนิสัย"

    อุปนิสัยในความหมายหลังนี้ "หมายถึงนิสัยที่อบรมเพิ่มเติมเข้าใหม่ เช่น อบรมสติปัญญา พิจารณาในการส่องเสพ ในการอดกลั้น ในการละเว้น" ในการบรรเทาถอน เป็นต้น หรือเช่น "อบรมในบุญกุศล คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำสมาธิและปัญญาให้เกิด" เรียกว่า "ทานูปนิสัย สีลูปนิสัย ภาวนูปนิสัย"

    "การอบรมจนเป็นนิสัย อุปนิสัย" จำต้องอบรมบ่อย ๆ จนอยู่ตัว "เหมือนอย่างกระดาษที่ม้วนจนอยู่ตัว จับคลี่ออกปล่อยมือก็ม้วนกลับเข้าไปเอง" ความอยู่ตัวนี้ "เรียกว่า วาสนา มีทั้งทางชั่วและทางดี" เช่นเดียวกัน

    "การอบรมจนเป็นวาสนา เป็นนิสัย อุปนิสัย แสดงออกเป็นอัธยาศัย" แล้วแสดงออกเป็นเจตนากรรมดังกล่าวมานี้ "อาศัยเสวนาการซ่องเสพบ่อย ๆ เป็นสำคัญ" ฉะนั้นพระบรมศาสดาจึงตรัสไว้ในมงคลสูตรเป็นข้อต้นว่า ..

    "อเสวนา จ พาลานํ การไม่ซ่องเสพ คบหาคนพาล
    ปฺณฑิตานฺญจ เสวนา การซ่องเสพ คบหาบัณฑิต"


    พระพุทธเจ้าตนัสไว้ว่า "ยํ เว เสวติ ตาทิโส คบคนใดย่อมเป็นเช่นคนนั้น"

    การที่จะเป็นเช่นคนที่ตนคบ "หมายถึงคบหากัน (เสวนา) จนเกิดความคุ้นเคยอยู่ตัว เกิดมีนิสัย อุปนิสัย และอัธยาศัยคล้ายคลึงกันเป็นอย่างเดียวกัน" เมื่อเป็นเช่นนี้ คนที่มีอัธยาศัยเช่นใด ก็ย่อมเสวนากับคนที่มีอัธยาศัยเช่นนั้น

    "คนที่มีอัธยาศัยเลวก็เข้าพวกคนเลว คนที่มีอัธยาศัยดีก็เข้าพวกคนดี" ดังที่ปรากฏในพระญาณของพระคตาคตเจ้า "ข้อนี้เป็นความจริงที่มีอยู่ทุกกาลสมัย" บัดนี้มักพูดอ้างว่าสิ่งแวดล้อม แต่อ้างว่าเสวนาตรงกว่า .. "

    "สิริมงคลของชีวิต"
    สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร


    http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=5987
     

แชร์หน้านี้

Loading...