เรื่องเด่น อดีตที่ผ่านพ้น ตอนที่ ๒๑ : ปัตตานุโมทนามัย

ในห้อง 'อดีตที่ผ่านพ้น' ตั้งกระทู้โดย iamfu, 23 กรกฎาคม 2019.

  1. iamfu

    iamfu ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กันยายน 2008
    โพสต์:
    16,707
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2,264
    ค่าพลัง:
    +25,984
    21.jpg

    อดีตที่ผ่านพ้น ตอนที่ ๒๑ : ปัตตานุโมทนามัย


    ในบุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือหนทางแห่งการทำบุญ ๑๐ ประการ ได้บอกวิธีทำบุญทั้งสิบอย่างไว้ดังนี้...

    ๑. ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ทาน
    ๒. สีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล
    ๓. ภาวนามัย บุญสำเร็จด้วยการภาวนา
    ๔. อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการอ่อนน้อมถ่อมตน
    ๕. เวยยาวัจจมัย บุญสำเร็จด้วยการช่วยเหลืองานบุญผู้อื่น
    ๖. ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้อื่น
    ๗. ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จด้วยการยินดีในผลบุญของผู้อื่น
    ๘. ธัมมัสสวนมัย บุญสำเร็จด้วยการฟังธรรม
    ๙. ธัมมเทสนามัย บุญสำเร็จด้วยการสอนธรรม
    ๑๐. ทิฏฐุชุกัมม์ บุญสำเร็จด้วยการมีความเห็นถูกต้องตามทำนองคลองธรรม

    โอ๊ย...! เวียนหัว...มีใครจำได้หมดไหมนี่..? ถ้าไม่ชอบของยากจะอ่านข้าม ๆ ไปก็ได้ ในบุญทั้ง ๑๐ อย่างที่ว่ามา การโมทนาบุญคนอื่นน่าจะทำได้ง่ายที่สุด แต่ถ้าลองทำดูแล้วจะทราบว่า มันยากเย็นเข็ญใจเหลือกำลัง เพราะลึก ๆ ในใจแล้ว เรามักมีความอิจฉาริษยาซ่อนอยู่ เหมือนที่หลวงวิจิตรวาทการท่านกล่าวไว้ว่า... "อันที่จริงคนเขาอยากเห็นเราดี แต่เราเด่นขึ้นทุกทีเขาหมั่นไส้"

    การโมทนาบุญคนอื่นนั้น เจ้าของบุญเขาได้ดีเพียงไร ผู้โมทนาก็จะได้อย่างนั้นด้วย ตัวอย่างคือพระนางพิมพาราชเทวี ตามโมทนาผลบุญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาทุกชาติ ชาติสุดท้ายพระพุทธเจ้าบรรลุมรรคผล พระนางก็บรรลุไปด้วย...

    ผลบุญชนิดเดียวที่ผู้รับไม่ต้องโมทนาก็ได้รับ จัดเป็นผลบุญที่พิเศษจริง ๆ คือบุญจากการบรรพชาอุปสมบท กล่าวกันว่า แม้ลูกเกิดมาในวันนั้น พ่อแม่ก็แยกทางไป ผู้อื่นเลี้ยงมาจนเติบใหญ่ ถ้าลูกบวชเมื่อไหร่ พ่อแม่จะได้รับส่วนบุญทันที (ง่ายดีจัง...) ส่วนบุญอื่นต้องโมทนาทั้งสิ้น (ถ้าแค่โมทนายังขี้เกียจ ก็อย่าเอามันเลย...!)

    "หลวงพ่อ"
    เคยอุทิศส่วนกุศล ให้แก่ผีที่นายนิรยบาลคุมมา พอโมทนาก็พ้นจากการทรมานทุกอย่าง กลายเป็นเทวดาสบายไป นายนิรยบาลเห็นอย่างนั้นก็ขอบ้าง หนีไปเป็นเทวดา ไม่ต้องมาเหนื่อยยากกับการทรมานสัตว์นรกอีก... (เอาเปรียบกันนี่หว่า...!)

    ผู้ที่มีสิทธิ์โมทนาบุญ (ไม่มีชื่อ ไม่มีบัตร ไม่มีสิทธิ์ นะจ๊ะ) นั้นประกอบด้วย เปรต ๑๒ จำพวกที่กรรมเบาบางแล้ว เรียกว่า ปรทัตตูปชีวีเปรต อสุรกายประเภทเทวอสุรา และ เปตติอสุรา สัมภเวสี เทวดาทุกชั้น พรหมทุกชั้น (เว้นอสัญญีสัตตาพรหม และอรูปพรหม ๔ ชั้น) และพระบนนิพพาน (พระบนพระนิพพานถึงโมทนาบุญไปก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะอยู่เหนือบุญเหนือบาปไปแล้ว) นอกเหนือจากนี้ไม่มีสิทธิ์จ้ะ ต้องรอแก้รัฐธรรมนูญเอ๊ย..ไม่ใช่...รอจนกว่าจะมีสิทธิ์...ฮิ...ฮิ...!

    ผู้ที่โมทนาบุญเขารู้จักเลือก ต้องเป็นการทำบุญที่เป็นบุญจริง ๆ เขาจึงจะโมทนา ถ้าเป็นบุญผสมบาป เขาไม่โมทนาให้โง่หรอก เพราะผลบาปมันจะพาเขาไปทุกข์หนักขึ้น อาตมาเจอมากับตัวเองเลย ตอนนั้นไปงานทำบุญ ๗ วันของแม่ยายแจ๋ว (เด็กที่ร้านค้าในวัด) กำลังสวดมนต์อยู่ดี ๆ แม่ยายแจ๋วก็เดินเข้ามาหา (อย่าลืมว่าแกตายแล้วนะ...แฮ่...) มาถึงก็ไม่พูดพล่ามทำเพลง ขอส่วนกุศลเลย อาตมาบอกว่า เขากำลังทำบุญให้ เดี๋ยวโมทนากับลูกหลานก็แล้วกัน ยายผีทีเด็ดตอบว่า "ไก่ที่ท่านจะฉัน มันไม่ได้ตายเองเจ้าค่ะ...!"

    "หลวงพ่อ"
    ท่านไปเจอเทวดาที่หลังวัดคุยกัน หัวหน้าเทวดาถามบริวารว่า "บ้านโน้นเขากำลังมีงานบุญกัน มีใครไปโมทนาบุญกับเขาบ้าง...?" บรรดาลูกน้องทำหน้าเบ้...รายงานว่า "ไม่ไหวหรอกครับ มันเมากันทั้งงาน แถมล้มหมูล้มวัวกันอีกต่างหาก ไม่รับประทานละครับ" ...

    อาตมาไปเข้าใจคำว่า โมทนาบุญ ตอนที่พาโยมแม่ไปหาหมอที่โรงพยาบาลราชวิถี ขากลับโหนรถเมล์กลับ มีหญิงสาวคนหนึ่งกำลังท้องแก่ใกล้คลอดเต็มที ขึ้นรถที่หน้าห้างโรบินสัน ดูท่าทางเธอแล้วสงสารใจจะขาด ถ้ามีที่นั่งอาตมาคงสละให้เธอทันที...

    ก็พอดี...มีสุภาพบุรุษท่านหนึ่งสละที่นั่งให้แก่เธอ อาตมารู้สึกเย็นวาบเข้าไปในอก มันสว่างไสวไปทั้งโลก...โอหนอ...ขณะที่เราอยากทำบุญใจจะขาดแต่โอกาสไม่เปิดให้ ก็มีท่านผู้ใจบุญ ได้ทำบุญส่วนนั้นแทนเรา...!

    มันชื่นอกชื่นใจบอกไม่ถูก รู้สึกเป็นมิตรกับคนทั้งหมดในโลก อิ่มอกอิ่มใจไปหลายวัน ที่แท้การโมทนาบุญผู้อื่นเป็นสุขเช่นนี้เอง...!

    ๑ มีนาคม ๒๕๓๓
    พระใบฎีกาเล็ก สุธมฺมปญฺโญ

    บันทึกเพิ่มเติม :
    ห้างโรบินสัน ปัจจุบันนี้คือ ห้างแฟชั่นมอลล์

    ๘ กรกฎาคม ๒๕๔๙
    พระครูธรรมธรเล็ก สุธมฺมปญฺโญ


    ที่มา www.watthakhanun.com
    ภาพประกอบโดย สำนักสงฆ์เกาะพระฤๅษี
    #๖๐ปีพระครูวิลาศกาญจนธรรม
     

แชร์หน้านี้

Loading...