หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง ตอนที่ ๙ การเจริญสมาธิในพุทธานุสสติกรรมฐาน

ในห้อง 'หลวงพ่อฤๅษีลิงดำ' ตั้งกระทู้โดย joni_buddhist, 6 กรกฎาคม 2015.

  1. joni_buddhist

    joni_buddhist Legal returns ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    9 กันยายน 2005
    โพสต์:
    13,552
    กระทู้เรื่องเด่น:
    203
    ค่าพลัง:
    +63,439
    หนีนรกกับหลวงพ่อฤาษี วัดท่าซุง ตอนที่ ๙ การเจริญสมาธิในพุทธานุสสติกรรมฐาน
    [​IMG]
    ท่านสาธุชนพุทธบริษัททั้งหลาย สำหรับตอนนี้ก็เป็นตอนที่ ๙
    ในเรื่อง ความเป็นมาของการหนีนรก
    เพราะการปฏิบัติเพื่อการหนีนรกนี้
    บรรดาท่านพุทธบริษัท ความจริงเป็นการปฏิบัติไม่ยากเลย
    เพียงแค่มีกำลังใจ คุมใจไว้ไม่ให้ไหลไปสู่อารมณ์ของความผิด
    คือ ที่มีอารมณ์คิดว่าร่างกายนี้จะไม่ตาย
    ส่วนใหญ่ของบุคคลเรามักจะคิดว่าร่างกายไม่ตาย
    และตามปกติจริงๆ ไม่คิดเลยเสียด้วยซ้ำไป
    ทั้งนี้เพราะอะไร เพราะว่าการเกิดมาแล้วความจริงมันต้องตาย
    แต่คนคิดถึงความตายจริงๆ หายาก
    มีหน้าที่อย่างเดียวจะประกอบอาชีพ จะทรงอาชีพให้ดีเป็นยังไง
    รวยขนาดไหน หรือว่าทำยังไงเราจึงจะสวย ทำยังไงจะเป็นคนดี
    ที่จะคิดว่าการตายคราวนี้เ ราจะไม่ยอมไปอบายภูมินี่หายาก
    แต่ก็เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่เกิดมาในโลก
    เพราะการเกิดมานี้เราได้รับผลกฏของกรรม ๒ ประการบังคับ
    คือ กุศลกรรมอย่างหนึ่ง และอกุศลกรรมอย่างหนึ่ง
    ขณะใดที่อกุศลกรรมบังคับ ขณะนั้นเราจะไม่คิดถึงตามความเป็นจริง
    ไม่ยอมรับนับถือกฏของธรรมดา
    ขณะใดที่กุศลชาติก่อนให้ผลดลใจ
    เวลานั้นจะมีความเห็นถูกอยู่เสมอ
    ตอนนี้จึงมาเตือนกันไว้ ว่าเมื่อเราตายแล้ว
    การตายมีสภาพไม่สูญ ทางที่จะไปก็คือ

    ๑. อบายภูมิ แดนของความทุกข์
    ๒. สุคติ มีสวรรค์ พรหมโลก และนิพพาน แล้วก็
    ๓. ยับยั้งไว้ที่มนุษย์โลก

    แต่ถึงกระไรก็ดีบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ถ้าเราไม่สร้างความดีไว้ กลับมาเกิดเป็นมนุษย์
    ก็เป็นมนุษย์ที่เต็มไปด้วยความยากไร้อย่างยิ่ง
    ข้อนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทชายหญิง จะทราบตอนที่พูดถึงศีลธรรม
    วันนี้เราก็มาเตือนกันไว้ก่อน ขอบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ซึ่งเป็นสาวกขององค์สมเด็จพระชินวร
    จงพากันคิดถึงตามความเป็นจริงว่า เราเกิดมาแล้วเราต้องตาย
    การตายถ้าจิตใจของเราไม่ผ่องใส ประกอบไปด้วยอารมณ์ที่เป็นอกุศล
    เราก็ไปอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น
    ถ้าจิตใจของเราประกอบไปด้วยกุศลก็ไปสุคติ มีสวรรค์เป็นต้น

    ฉะนั้นขอบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
    ถ้ามีความรู้สึกนึกคิดว่า เราจะต้องตาย
    ก็ตัดสินใจไว้ก่อนว่า การตายคราวนี้ ไม่ยอมไปอบายภูมิ
    จะขอยึด พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เป็นที่พึ่งต่อไป
    และจะนำศีลห้า เป็นกำแพงกั้นอบายภูมิไว้
    โดยจะรักษาศีลให้บริสุทธิ์ผุดผ่องตลอดกาลตลอดสมัย
    อันนี้เราเตือนกันไว้นะบรรดาท่านพุทธบริษัท
    แต่ว่าคนเตือนซิ จะนึกถึงเรื่องนี้วันละกี่ครั้งก็ไม่ทราบ

    ต่อนี้ไปเราก็มาพูดถึง พุทธานุสสติกรรมฐาน
    แต่ความจริงพุทธานุสสติกรรมฐานนี่ บรรดาท่านพุทธบริษัท
    เราจะพูดกันไปยังไงก็ไม่จบ ทั้งนี้เพราะอะไร
    เพราะว่าความดีขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีมากมายนัก
    ก็เป็นอันว่าการเจริญสมาธิในพุทธานุสสติกรรมฐาน
    ก็เป็นการทรงไว้ซึ่ง สติและสัมปชัญญะ คือ สติ
    ได้แก่การนึกไว้สัมปชัญญะ การรู้ตัว
    นึกไว้ว่า เวลานี้เรามีอารมณ์ดีหรืออารมณ์ชั่ว
    รู้ตัวว่าเรามีความคิดดีหรือคิดชั่ว หลงผิดหรือหลงถูก
    ถ้าขณะใดเราลืมความดีหรืออารมณ์ชั่ว
    รู้ตัวว่าเรามีความคิดดีหรือคิดชั่ว หลงผิดหรือหลงถูก
    ถ้าขณะใดเราลืมความดีของพระพุทธเจ้า ถ้าลืมไป
    นี่แสดงว่าเราพลาดท่าแล้ว บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    ตายแล้วอาจจะไปอบายภูมิก็ได้
    แต่ว่าขณะใดที่เรานึกไว้ถึงพระพุทธเจ้า ภาวนาถึงท่านก็ดี
    นึกถึงความดีของสมเด็จพระสัมมาสัมมาพุทธเจ้าก็ดี
    นึกยอมรับนับถือเคารพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ดี
    นึกยอมรับนับถือเคารพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งก็ดี
    อย่างนี้เป็นพุทธานุสสติถือว่ามีอารมณ์แจ่มใส
    ถ้าตายเมื่อไรมีความสุขเมื่อนั้น

    และการภาวนาหรือกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก เช่นภาวนาว่า "พุทโธ"
    หรือ "สัมมาอรหัง" หรืออะไรก็ได้ ตามใจ
    เพราะว่าการภาวนานึกถึงความดีของพระพุทธเจ้านี่ ไม่มีขอบเขตจำกัด
    จะถือว่าภาวนาอย่างนั้นถูก ภาวนาอย่างนี้ถูก อันนี้ใช้ไม่ได้
    ก็ต้องถือว่าถูกด้วยกันทั้งนั้น
    อีกประการหนึ่งก่อนภาวนา ถ้าเรานึกถึงพระพุทธเจ้า
    ถือว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน

    ถ้าจะถามว่าการภาวนานี้ดีอย่างไร
    หรือว่าการพิจารณาการนึกถึงพระพุทธเจ้านี่ ดีแบบไหน
    ถ้าเราตั้งใจใช้คำภาวนาเป็นปกติ
    อารมณ์ตั้งใจคิดว่า ภาวนานี่ถูกหรือผิด
    ถ้าเรารู้ว่าถูกหรือรู้ว่าผิด ถ้าผิดก็กลับใจเสียใหม่ ภาวนาให้ถูก
    หรือว่าการกำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อย่างนี้เป็นการระงับนิวรณ์

    คำว่า "นิวรณ์" ความจริงไม่อยากจะพูดถึง
    เพราะว่าถ้าพูดถึงนิวรณ์แล้ว บรรดาท่านพุทธบริษัทจะท้อถอย
    แต่ในเมื่อการปฏิบัติเข้ามาถึงก็ต้องพูดกัน
    คำว่า "นิวรณ์" ที่ในพระไตรปิฏกท่านแปลว่า "คุณชาติกั้นความดี"
    ขอประทานอภัยนี่ตามแบบนักธรรมโทตามหลักสูตรของนักธรรมโท
    ท่านบอกว่าคุณชาติกั้นความดี
    แต่ว่าในพระไตรปิฏกท่านกล่าวว่า เป็นกิเลสหยาบที่ทำปัญญาให้ถอยหลัง
    นั่นก็หมายความว่า นิวรณ์ ๕ ประการอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ถ้าฝังอยู่ในใจของเราในขณะที่เราภาวนาก็ดี
    ในขณะที่พิจารณาหรือนึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี
    ถ้านิวรณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเข้ามาแทรกตึ๊กเข้าให้ในใจของเรา
    อย่างนี้ท่านถือว้าปัญญาถอยหลังเสียแล้ว
    กิเลสหยาบที่มีความร้ายแรงมาก เข้ามาสิงใจ
    ก็รวมความว่า ใจของเราชั่วไปเกลือกกลั้วกับกิเลสหยาบ
    กิเลสที่จำทำให้เราลงอบายภูมิ

    กิเลสหรือว่านิวรณ์ ๕ ประการก็คือ

    ประการที่ ๑ อารมณ์ความรักในระหว่างเพศ
    ที่เรียกกันว่า "กามฉันทะ"

    ประการที่ ๒ ความโกรธ ความพยาบาท
    มีการจองล้างจองผลาญซึ่งกันและกัน

    ประการที่ ๓ คือ ความง่วง

    ประการที่ ๔ อารมณ์ฟุ้งซ่านเกินไป
    ควบคุมกำลังจิต กำลังใจไม่อยู่ ภาวนาไม่ถูกหรือลืมภาวนาไปเลย

    ข้อที่ ๕ ได้แก่การสงสัยในผลของการปฏิบัติ

    ทั้ง ๕ ประการนี้บรรดาท่านพุทธบริษัท
    ถ้าอย่างใดอย่างหนึ่งสิงใจของเรา ในขณะที่ภาวนาก็ดี
    ในเวลาที่พิจารณาก็ดี ก็ถือว่าเราพลาดจากความดีไปเสียแล้ว
    ถ้าจะถามว่าพลาดหมดไหม ก็ต้องตอบว่าพลาดไม่หมด
    เพราะว่าขณะที่เราพลาดมีอยู่ เพราะว่าการเริ่มต้น
    เราเอาจิตเข้าไปรับรู้ลมหายใจเข้าออก แล้วเราภาวนาควบคู่กันไป
    หรือคิดถึงพระพุทธเจ้าในอารมณ์ของเราควบคู่กันไป
    อย่างนี้ถือว่าตอนนั้นเราได้กำไร ใจของเราเต็มไปด้วยมหากุศล
    สามารถจะนำตนไปสู่สุคติได้แบบสบายๆ

    แต่ว่าในขณะที่ภาวนาไปก็ดี รับรู้ลมหายใจเข้าออกก็ดี พิจารณาก็ดี
    นานๆ ไปสักนาที ๒ นาที ๓ นาที ที่ฝึกใหม่ๆ นะ
    จิตอาจจะพลาด คิดถึงเรื่องอย่างอื่นเข้ามาแทรกแซงบ้าง
    ก็ต้องถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา อย่าตำหนิตนว่าเลวเกินไป
    เพราะว่ากำลังใจของเรานี้ คบกับการฟุ้งซ่านมานานนับอสงไขยกัป
    อยู่ๆ จะบังคับให้อยู่ในขอบเขตจริง ๆ น่ะ มันเป็นไปไม่ได้
    แต่ว่าต้องอาศัย สติ คือความระลึกนึกไว้
    สัมปชัญญะ การรู้ตัวเรื่องอารมณ์เผลอเราห้ามไม่ได้แน่นอน ต้องเผลอแน่
    ถ้ารู้ตัวขึ้นมาเมื่อไรภาวนาผิดไปแล้วหรือคิดผิดไปแล้วอย่างนี้
    เราก็เริ่มต้นใหม่ เอาจิตเข้าจับลมหายใจเข้าออก
    แล้วภาวนาอย่างนี้ใช้ได้ ก็เรียกว่า มีการผ่อนสั้นผ่อนยาว
    ความจริงไม่ได้ตั้งใจจะผ่อน
    แต่ว่าอารมณ์จิตที่มันฟุ้งซ่านผ่อนเอง อย่างนี้ถือว่าชนะ

    ถ้าหากว่าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ในขณะที่ภาวนาอยู่หรือพิจารณาอยู่ เกิดชนะนิวรณ์ขึ้นมา
    จะมีอะไรเป็นผลก็ตอบว่า กำลังจิตของบรรดาท่านพุทธศาสนิกชน
    จะมีความสุขอย่างหาที่เปรียบมิได้
    ถ้าจะถามว่าการชนะนิวรณ์ต้องชนะทั้งวันใช่ไหม
    ก็ต้องตอบว่า ไม่ใช่ ชนะเฉพาะที่เราภาวนาหรือพิจารณาเท่านั้น
    คือ เป็นการยับยั้งไม่ให้นิวรณ์เข้ามากวนใจ
    ถ้าเราจะทำลายกันจริงๆ เฉพาะนิวรณ์นี่
    การทรงฌานโลกีย์ก็ดีหรือว่าเป็นพระโสดาบันหรือสกิทาคามีก็ดี
    เราไม่สามารถจะห้ำหั่นนิวรณ์ให้เด็ดขาดได้
    ได้แต่เพียงยับยั้งนิวรณ์ชั่วคราวเท่านั้น

    นิวรณ์ ๒ ข้อแรก คือ "กามฉันทะ"
    ความพอใจในเพศตรงกันข้าม หรือว่า "พยาบาท"
    คิดจองล้างจองผลาญ ความโกรธ ความคับแค้น
    ทั้ง ๒ ข้อนี้ จะชนะได้จริงๆ ต่อเมื่อเราเป็นพระอนาคามี
    สำหรับอีก ๓ ข้อจะชนะได้จริงๆ ในเมื่อเป็นอรหัตผล
    ถ้ากำลังใจเราไม่ถึงขั้นนั้นเราก็ยับยั้งชั่วคราว อย่างนี้ใช้ได้

    ถ้าจะถามว่าการระงับนิวรณ์ ยับยั้งชั่งคราวจะมีผลเป็นประการใด
    ก็ต้องขอตอบว่า จะทำกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ให้มีความสุขขึ้นมาก อารมณ์ชั่วต่างๆ
    เช่น อารมณ์ชั่วในการทำลายศีลห้าก็ดี
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเอากันอย่างง่ายๆ คือ ความโกรธ
    ความโกรธเราเคยฉุนเฉียว ถ้าชนะนิวรณ์ครั้งละ ๒-๓ นาที
    ในการเจริญภาวนา สมมุติว่าเจริญภาวนาจริงๆ ครึ่งชั่วโมง
    ใช้เวลาครึ่งชั่วโมง แต่การใช้เวลาครึ่งชั่วโมงนั้นไม่ใช่ชนะทั้งครึ่งชั่วโมง
    มันชนะจริงๆ แค่ ๒-๓ นาทีเพียงเท่านั้น
    ทำไปจริงๆ สักประมาณ ๑ เดือน คือ วันหนึ่งทำครั้งหนึ่ง
    จะเป็นเวลาเช้ามืดหรือเวลาหัวค่ำก่อนหลับก็ได้นั่งก็ได้ นอนก็ได้ ยืนก็ได้ เดินก็ได้
    ชนะจริงๆ คือ รู้ลมหายใจเข้าออกโดยเฉพาะ รู้ค่าภาวนาโดยเฉพาะ
    หรือรู้การพิจารณาการนึกถึงโดยเฉพาะ
    โดยนิวรณ์ทั้ง ๕ ประการ ไม่เข้ารบกวนใจ
    หลังจากนั้นจิตก็ฟุ้งซ่านเกินไป ก็ตามใจมัน เราก็เลิก
    ถ้าฟุ้งซ่านมากเกินไปจริงๆ เราเลิก บังคับไม่อยู่
    เท่านี้แหละ บรรดาท่านพุทธบริษัทผู้เป็นสาวก
    ขององค์สมเด็จพระบรมครูสักประมาณ ๑ เดือน
    คือ ชนะวันละเล็กวันละน้อย มันสะสมอยู่ในใจ ๑ เดือนผ่านไป
    กำลังโกรธที่มีความฉุนเฉียวที่เคยมีมา แล้วมันจะลดตัวลง
    โกรธเหมือนกันแต่ความโกรธจะเบาลง
    สมัยก่อนยังไม่ภาวนาหรือพิจารณา เราโกรธแล้วเราขังกันไว้นาน
    จองล้างจองผลาญกันหลายวัน
    ถ้าทำแบบนี้สักประมาณ ๑ เดือนไม่ขาด โกรธมี
    แต่ว่าเบากว่าเดิมแล้วก็หายเร็วกว่าเดิม
    นี่แสดงว่าจิตใจของเราเริ่มเยือกเย็นขึ้น
    ในเมื่อจิตใจเริ่มเยือกเย็นขึ้น ความมีเหตุผลก็มากขึ้น
    ถ้าตัดกามฉันทะ คือยับยั้งได้ ไม่รุ่มร่ามภายนอกบ้าน
    พอใจเฉพาะอารมณ์กามฉันทะในบ้าน
    คือ ความรักระหว่างคู่ตัวผัวเมียแค่นี้เราจะมีความสุขมากแล้ว

    ประการที่ ๒ ไม่เป็นคนโมโหร้ายมีจิตใจเยือกเย็น
    เราก็จะมีเพื่อนที่รักมากขึ้น เราก็จะมีความสุข

    ประการที่ ๓ เราทำความดีไม่ง่วง สติสัมปชัญญะก็สมบูรณ์ขึ้น

    ประการที่ ๔ ถ้าจิตใจไม่ฟุ้งซ่านเกินไป
    การคิดจะทำอะไรจะประกอบกิจการงานต่างๆ
    อารมณ์ก็จะทรงตัว สมองปลอดโปร่ง

    ประการที่ ๕ ถ้าไม่สงสัยในผลการปฏิบัติ
    อย่างนี้บรรดาท่านพุทธบริษัทจะพบกับความดีพิเศษที่จะพูดต่อไป

    รวมความว่ากำลังใจของเราลดเหตุ ๕ ประการลงไปได้
    ถึงแม้ว่าตัดไม่ได้ แต่กำลังของเหตุ ๕ ประการ
    คือ นิวรณ์ ๕ ประการนี้ มีกำลังอ่อนไปเราก็จะมีความสุขขึ้นมาก

    ถ้าเรามามองกันถึงศีล การละเมิดศีลจะละเมิดยากมากขึ้น
    จะทรงศีลได้ดีขึ้น เพราะสติสัมปชัญญะและการเยือกเย็นของจิต
    และอารมณ์ที่จะนึกถึงพระพุทธเจ้าก็ดี พระธรรมก็ดี พระอริยสงฆ์ก็ดี
    หรือว่าความไม่ประมาทที่จะคิดถึงความตายที่จะมีมาในวันก็ดี
    จะมีอารมณ์ถี่ขึ้นความสุขจะเกิดมากขึ้น
    นอกจากความสุขจะเกิดขึ้นกับเราแล้ว
    ความสุขจะเกิดขึ้นกับบุคคลอื่นด้วย ช่วยให้โลกมีความสุขมากขึ้น
    ความอุดมสมบูรณ์ในทรัพย์สินก็จะมีมากขึ้น
    เพราะการไม่เจ้าชู้ และการไม่โหดร้ายเรื่อก่อการวิวาท

    นอกจากนั้นบรรดาท่านพุทธบริษัท
    การนึกถึงพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ สามารถก่อให้เกิดทิพจักขุญาณได้
    ความจริงหลักสูตรของวิชชาสาม ก็อยู่ที่พุทธานุสสตินี่แหละ
    ถ้าจะบอกว่าต้องกสิณกองนั้นกองนี้
    การดูพระพุทธเจ้า การนึกถึงพระพุทธเจ้าก็เป็นกสิณ
    และการดูพระพุทธรูป การนึกถึงพระพุทธรูป
    การนึกถึงพระพุทธรูปก็เป็นกสิณ
    ขณะใดที่เราคิดว่าท่านเป็นพระพุทธรูปนี้ เป็นพุทธานุสสติ
    ถ้าพระพุทธรูปสีเหลืองก็เป็นปีตกกสิณด้วย
    พระพุทธรูปสีขาวก็เป็นโอทาตกสิณด้วย
    ถ้าหากว่าพระพุทธรูปสีเขียวก็เป็นนีลกสิณด้วยอย่างนี้เป็นต้น

    รวมความว่าเราก็ปฏิบัติทั้งอานาปานุสสติด้วย
    พุทธานุสสติด้วย กสิณด้วยไปในตัวเสร็จ
    ก็เวลาเหลืออีก ๑๐ นาที มีตัวอย่างที่จะคุยให้กับบรรดา
    ท่านพุทธบริษัทรับทราบสักเรื่องหนึ่งเป็นตัวอย่าง

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ปีนั้นมีคุณยายท่านหนึ่ง คุณโยมผู้เฒ่า
    อายุท่านก็มากแล้วเห็นจะถึง ๗๐ ปี
    ท่านอยู่ในบ้านท่านเจริญพุทธานุสสติอยู่เสมอ
    คือว่า ใครๆ เขาสอนว่าจงภาวนาว่า "พุทโธ" บ้าง
    มองดูพระพุทธรูปเพื่อเป็นนิมิตเครื่องหมายจับอารมณ์ให้ทรงตัวบ้าง
    ทำอย่างนี้เป็นปกติ

    มาในปีนั้นท่านไปเจอะอาจารย์ท่านหนึ่ง ท่านมีลูกศิษย์ลูกหามาก
    ท่านสอนกรรมฐาน มีคณะของท่านมากมาย มีชื่อเสียงมาก
    ก็ไปขออาศัยศึกษาอยู่ในสำนักนั้น ๓ เดือน ความจริงท่านตั้งใจจะอยู่ตลอดชีวิต
    คิดว่าชีวิตเบื้องปลายเราก็ทำอะไรไม่ไหวแล้ว
    ที่พึ่งของเราจริงๆ ก็คือ อารมณ์ที่เป็นมหากุศล
    เมื่อเข้าไปอยู่ในสำนักแล้ว ก็ปรากฏว่าท่านอาจารย์ให้ใช้กรรมฐานอีกแบบหนึ่ง

    ความจริงกรรมฐานจะเป็นแบบไหน ภาวนาแบบไหนก็ตาม
    แต่จุดมุ่งหมายจริงๆ ต้องการ คือ

    ๑. ต้องการศีลบริสุทธิ์
    ๒. มีอารมณ์ใจเป็นสมาธิ
    ๓. มีปัญญาแก่กล้าสามารถรู้เท่าทันกิเลส
    และตัดกิเลสให้เป็นสมุจเฉทปหานได้

    ความจริงความต้องการของพระพุทธเจ้ามีเท่านี้
    ฉะนั้นขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท การปฏิบัติกรรมฐาน
    จงอย่าถือว่าที่ไหนผิดและจงอย่าถือว่าที่ไหนถูกแต่แห่งเดียว
    ถ้าทำจิตให้ทรงศีลบริสุทธิ์ได้ทรงสมาธิได้
    มีปัญญาสามารถล้างกิเลสได้ที่นั่นถูกทั้งหมด

    สำหรับวิธีปฏิบัติจริงๆ มีตั้งหลายพันแบบ ไม่ใช่แบบเดียว
    ในเมื่อคุณโยมเจริญพุทธานุสสติอยู่เป็นปกติ
    ไปเจอะอาจารย์สอนผิดไปจากที่เคยปฏิบัติมา
    ใจก็อดที่จะคิดถึงอารมณ์เก่าไม่ได้
    อาจารย์ก็บอกว่า ไม่ได้ ของเก่าใช้ไม่ได้
    ต้องใช้ของใหม่ที่สอน ไม่ยังงั้นจะไม่มีผล
    คุณโยมก็อยากจะไปคิดถึงของเดิม
    ยิ่งไม่นึกถึงเพียงใด ภาวนาหรือพิจารณาตามที่อาจารย์สอน
    คำว่า "พุธโธ" ไม่มีในใจ แต่ภาพพระพุทธรูปปรากฏ
    แทนที่จะนึกแต่พุทโธอย่างเดียว
    ไม่นึกละ นึกตามที่อาจารย์สอนภาพพระพุทธรูปลอยเด่นขึ้นข้างหน้า

    ตอนเช้าอาจารย์สอบอารมณ์ ก็ไปบอกกับอาจารย์ว่า
    เมื่อคืนเห็นภาพพระพุทธรูปท่านอาจารย์ก็บอกว่า โยมไม่ได้แล้วๆ
    ภาพประเภทนี้เป็นกิเลส ต้องทิ้งไป
    จงอย่าถือเอา โยมก็พยายามไม่ถือเอา
    ทำใจเป็นสมาธิให้เข้มข้นตามอาจารย์สอน
    ในเมื่อความเข้มข้นของจิตมีมากขึ้นเพียงใด
    ภาพพระพุทธรูปก็แจ่มใสมากเพียงนั้น
    ในที่สุดภาพของพระพุทธรูปก็ขาวเป็นแก้วประกายพรึก
    เป็นแก้วระยิบระยับ เด่นจับหูจับตา คราวนี้เอาหนักหลับตาก็เห็น
    ลืมตาก็เห็น จะนอนซ้าย นอนขวา หันหน้าหันหลัง
    เห็นหมดเห็นตลอดวัน เป็นอันว่าจิตของคุณยายทรงฌานนั้น
    สูงในพุทธานุสสติกรรมฐาน อย่างนี้เป็นฌานนะบรรดาท่านพุทธบริษัท
    ไปรายงานอาจารย์ทีไรอาจารย์ก็บอกว่า
    "ไม่ไหวแล้วโยมฯ กิเลสเล่นหนักแล้ว"
    คุณโยมก็เกิดความไม่สบายใจ

    ต่อไปก็ไม่รายงานอาจารย์ละ ในเมื่อพระพุทธรูปจะมา
    ก็เอาพระพุทธรูปเถอะ ถ้าอาจารย์ถามว่าเมื่อคืนภาวนาว่าอย่างไร
    แต่คำภาวนาใช้ตามแบบฉบับของอาจารย์และกำลังใจ
    ก็ยินดีในพระพุทธรูป ก็ชื่นใจมาก ยิ่งนานวันจิตยิ่งสดใส
    พระพุทธรูปก็แจ่มใสมากขึ้นและก็ใหญ่โตมากขึ้น
    ยิ้มแย้มแจ่มใส คล้ายๆ กับมีชีวิตชีวา
    มองเห็นหน้าทีไรก็เห็นพระพุทธรูปยิ้มทุกที

    ในที่สุดบรรดาท่านพุทธบริษัท ออกพรรษาแล้วคุณยายก็อยู่ไม่ได้
    เพราะขวางกับสำนักนั้น ความจริงกิจกรรมไม่ได้ขวาง
    แต่กำลังใจเห็นภาพพระพุทธรูป
    ท่านบอกพระพุทธรูปเป็นกิเลส คุณยายก็ต้องกลับบ้าน
    เมื่อกลับบ้านแล้วพระที่บ้านของท่านก็นำมาหาอาตมา
    อาตมาเองก็ไม่ทราบว่าคุณยายเห็นภาพพระพุทธรูป
    ทางสำนักถือว่าเป็นกิเลส
    ท่านถามว่า การเห็นภาพพระพุทธรูปอย่างนี้เป็นอย่างไร
    ก็ต้องบอกตามความเป็นจริงว่า
    "คุณโยม นี่เป็นฌานในพุทธานุสสติกรรมฐานแล้ว
    แล้วคุณโยมไม่ใช่เข้าถึงฌานเฉยๆ เป็นผู้ทรงฌานเสียด้วย
    และฌานนี้ก็เป็นฌานที่สูงมาก
    สามารถนึกขึ้นมาจะให้พระพุทธรูปใหญ่ขนาดไหนก็ตาม
    ใหญ่หรือเล็ก สูงหรือต่ำ ยังไงก็ตามเป็นไปตามนั้นหมด"

    ก็เลยบอกว่า "ถ้าคุณโยมกล้าทำ ถ้าใครเขาพูดถึงใคร
    ลองนึกในใจขอภาพพระพุทธรูปจงหายไป
    ขอภาพบุคคลนั้นจงปรากฏแทน"
    คุณโยมก็ทำอย่างนั้น ในที่สุดใครพูดถึงใครที่ไหน
    คุณโยมก็ถามว่าคนนั้นรูปร่างอย่างนั้นอย่างนี้ใช่ไหม
    เขาก็ตอบว่าใช่ เป็นการถูก

    ก็รวมความว่าคุณโยมต้องการเห็นเทวดา
    เห็นนรก สวรรค์ โยมก็เห็นหมด ต้องการเห็นคนที่จากไป
    เวลานี้อยู่ที่ไหน ทำอะไรบ้าง คุณโยมก็เห็นถูก
    ในเมื่อเขามาหาคุณโยมก็ตอบตรง ตามความรู้สึกที่เห็นไว้

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย
    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน ในที่สุดคุณโยมนั้น
    ก็เห็นชัดว่านรกเป็นยังไง เปรตอสุรกาย
    แดนสัตว์เดรัจฉานเป็นยังไงทั้งหมด เวลาคนตายปุ๊บลงไป
    โยมก็ติดตามคิดว่าคนนี้ไปไหน ภาพก็ปรากฏชัดทันที
    ถ้าคนนั้นไปสู่แดนอบายภูมิ ก็จะถามเขาว่าเพราะบาปอะไร
    หรือไปสวรรค์เพราะบุญอะไร แล้วก็ถามคนที่อยู่
    ที่เขารู้เรื่องราวเขาก็ตอบตรงตามความเป็นจริง

    นี่แหละบรรดาท่านพุทธบริษัทชายและหญิง
    การเจริญพุทธานุสสติกรรมฐาน ถ้าทำให้ถูกเสียอย่างเดียว
    ไม่ใช่จะเป็นสุกขวิปัสสโก เป็นวิชชาสามก็ได้ เป็นอภิญญาก็ได้

    มองดูบรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลาย ๓๐ นาทีพอดี
    สำหรับตอนที่ ๙ นี้ก็ต้องขอลาก่อน เพราะว่าหมดเวลาเสียแล้ว
    ขอบรรดาสาวกขององค์สมเด็จพระชินวรทุกท่าน
    จงมีแต่ความสุขสวัสดิ์พัฒนมงคลสมบูรณ์พูนผล
    และจงเจริญไปด้วยจตุรพิธพรชัยทั้ง ๔ ประการ
    มีอายุ วรรณะ สุขะ พละ และปฏิภาณ
    หากทุกท่านประสงค์สิ่งใด
    ขอให้ได้สิ่งนั้นสมความปรารถนาทุกประการ สวัสดี..
    ที่มา http://palungjit.org/threads/เพียง๑๐๐บาทร่วมบุญปิดสมเด็จพระพุฒาจารย์โต๖๙นิ้ว.548123/
     
    แก้ไขครั้งล่าสุดโดยผู้ดูแล: 6 กรกฎาคม 2015
  2. Sir-Pai

    Sir-Pai เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 เมษายน 2010
    โพสต์:
    1,157
    ค่าพลัง:
    +3,358
    อนุโมทนาบุญสาธุด้วยครับ อ่านจบแล้ว จะพยายามปฏิบัติให้ได้นะครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...