วิธีฝึกสมาธิเพื่อให้ได้ฌาน และ อาการของฌานในแต่ละระดับ

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย Apinya Smabut, 8 พฤษภาคม 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. Apinya Smabut

    Apinya Smabut นิพพานังสุขัง นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 มิถุนายน 2014
    โพสต์:
    1,397
    กระทู้เรื่องเด่น:
    57
    ค่าพลัง:
    +2,628
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐานวันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๒

    นั่งท่าสบายของเราเอง กำหนดความรู้สึกทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก จะใช้คำภาวนาอะไรก็ได้ ตามที่เราชอบ ตามอัธยาศัยของเรา

    สองวันที่ผ่านมาได้กล่าวไปถึงเรื่องปีติ และนิวรณ์ ๕ สำหรับวันนี้ก็จะกล่าวต่อในเรื่องของสมาธิในลำดับที่สูงขึ้นไป คือในระดับของการทรงฌาน เมื่อเรากำหนดลมหายใจเข้าออกไป โดยให้สติตามดูตามรู้ทุกขั้นตอนที่ลมเข้า ตามดูตามรู้ทุกขั้นตอนที่ลมออก ถ้าสามารถทำอย่างนี้จนทรงตัวได้ จิตก็จะเริ่มเป็นฌาน คือความเคยชินระดับใดระดับหนึ่ง ซึ่งมีอยู่ด้วยกันทั้งหมด ๔ ระดับ ๘ ขั้นด้วยกัน ก็คือตั้งแต่ ปฐมฌาน ฌานที่ ๑ ทุติยฌาน ฌานที่ ๒ ตติยฌาน ฌานที่ ๓ และจตุตฌาน ฌานที่ ๔ แล้วหลังจากนั้นก็ให้กำหนดภาพกสิณ เมื่อได้ภาพกสิณคล่องตัวแล้วก็สามารถนำเอามาประกอบในการฝึก อรูปฌานที่ ๑ อรูปฌานที่ ๒ อรูปฌานที่ ๓ และอรูปฌานที่ ๔ ได้

    รูปฌานที่ ๑-๒-๓-๔ และอรูปฌานที่ ๑-๒-๓-๔ นั้น รวมกันแล้วเรียกว่าสมาบัติ ๘ ในที่นี้จะกล่าวถึงอาการของรูปฌานเท่านั้น เพราะว่าอรูปฌานนั้นพวกเราน้อยคนนักที่จะฝึกปรือ เนื่องจากว่าเป็นของละเอียดและยากกว่ารูปฌานมาก สำหรับท่านทั้งหลายที่จับลมหายใจเป็นปกตินั้นท้ายที่สุดจิตก็จะนิ่งเข้า....นิ่งเข้า และเกิดสมาธิในระดับอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป เพราะว่าปฐมฌานหรือว่าฌานที่ ๑ นั้น ก็คือการที่กำลังใจของเราเกิดอารมณ์ต่าง ๆ ขึ้นดังนี้

    ในส่วนของปฐมฌานหรือฌานที่ ๑ ต้องประกอบไปด้วย วิตก การคิดนึกตรึกอยู่ว่าเราจะภาวนา วิจารณ์ รู้อยู่ว่าเราจะภาวนาอะไร ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกแรงหรือเบา ยาวหรือสั้น สามารถกำหนดกองลมได้หรือไม่ รู้ตัวว่ากำลังหายใจเข้า รู้ตัวว่ากำลังหายใจออก รู้ตัวว่าตอนนี้เราใช้คำภาวนาอย่างนี้ รู้ว่าตอนนี้ลมหายใจเข้าไปถึงไหน ออกมาจากไหน เป็นต้น อย่างที่สาม เรียกว่าปีติ ปีตินั้นคือความอิ่มเอิบใจ ความยินดี มีอาการต่าง ๆ ๕ อย่างด้วยกันคือ

    ตัวที่ ๑ ขณิกาปีติ เป็นอาการปีติเล็กน้อย จะมีอาการขนไหว ลุกซู่ซ่าอยู่เป็นพัก ๆ บางทีก็เป็นวงกว้าง บางทีก็เป็นจุดแคบ แล้วแต่กำลังของผู้ที่ปฏิบัติได้และเข้าถึง
    ตัวที่ ๒ เรียกว่าขุททกาปีติ มีน้ำตาไหล บางทีก็ไหลพราก ๆ ชนิดห้ามไม่อยู่
    ตัวที่ ๓ เรียกว่า โอกกันติกาปีติ ร่างกายจะโยกโคลงไปมา บางทีก็ดิ้นตึงตังโครมครามเหมือนผีเข้าสิงไปเลย
    ตัวที่ ๔ เรียกว่า อุเพ็งคาปีติ ภาวนาไปแล้วร่างกายสามารถลอยพ้นพื้นขึ้นมาได้ ลอยไปไกล ๆ ก็มี
    ตัวที่ ๕ เรียกว่า ผรณาปีติ จะรู้สึกว่าตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวรั่วเป็นรู มีสิ่งต่าง ๆ ไหลออกจากตัวซู่ซ่าไปหมด บางทีก็เห็นแสง เห็นสี เห็นภาพต่าง ๆ บางทีก็รู้สึกตัวพอง ตัวใหญ่ ตัวแตก ตัวระเบิดจนกลายเป็นจุณไปเลยก็มี

    เรื่องของปีตินั้น เราจะพบเห็นได้ไม่เท่ากัน บุคคลที่มีวิสัยพุทธภูมิ ปรารถนาในพระโพธิญาณมาก่อน ต้องรู้ให้ครบเพื่อไปสอนเขาก็จะเจอปีติทั้ง ๕ ตัวเลยผลัดกันมา สิ่งไหนที่มาแล้วเราสามารถก้าวล่วงก้าวข้ามไปได้ ก็จะไม่มาอีก แต่ถ้าหากว่าไม่ได้มาสายพุทธภูมิ เป็นสายสาวกภูมิธรรมดาทั่วไป บางท่านก็อาจจะก้าวผ่านไปโดยที่ไม่เจอปีติเลย อารมณ์ใจทรงเป็นฌานไปเลยก็มี บางท่านก็เจอปีติอย่างหนึ่ง บางท่านก็เจอสองอย่าง บางท่านก็เจอสามอย่าง น้อยรายที่จะเจอครบ ๕ อย่าง ถ้าหากว่าท่านเจอครบ ๕ อย่างแสดงว่าท่านมีเชื้อสายพุทธภูมิเก่ามาก่อน

    เมื่อก้าวพ้นปีติตัวที่ ๑ ไปแล้ว จิตสามารถทรงฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ รวมทั้งอรูปฌานที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ได้ ไม่ใช่ว่าเราจะไม่พบกับปีติตัวที่ ๒ ที่ ๓ เลยเนื่องจากว่าเมื่อวาระที่ปีติจะเข้ามาเพื่อให้เรารับรู้ว่ามีอาการอย่างไรนั้น ต่อให้ท่านทรงสมาบัติ ๘ อยู่ อยู่ ๆ กำลังก็จะลดลงมา เหลือแค่ประมาณอุปจารสมาธิเพื่อให้เราได้รู้ว่า ตอนนี้...เดี๋ยวนี้ตัวปีติได้เข้ามาถึงแล้ว ปีติแต่ละอย่างมีลักษณะอย่างไรจะได้รู้และจดจำไว้ เพื่อไปบอกไปสอนคนอื่นเขาต่อ เป็นต้น

    ลำดับขั้นตอนต่อไป เป็นขั้นตอนที่ ๔ เรียกว่าสุข จะเกิดความรู้สึกสงบเยือกเย็นชนิดบอกไม่ถูก คือกำลังใจในการปฏิบัติของเรานั้น เมื่อเริ่มก้าวเข้าสู่ระดับอุปจารฌาน ความนิ่งของใจนั้นมี กำลังของสมาธิมี เมื่อเป็นดังนั้น ก็จะไปกดเอาไฟใหญ่ ๔ กองคือ รัก โลภ โกรธ หลง ที่เผาผลาญเราอยู่ตลอดเวลา ให้ดับสนิทลงชั่วคราว บุคคลที่ถูกไฟเผาอยู่ตลอดเวลา อยู่ ๆ ไฟดับไป จะมีความสุขความสบายขนาดไหนนั้น อธิบายเป็นคำพูดไม่ได้ เมื่อเป็นดังนั้น คำว่าสุขเราจึงกล่าวได้แค่หยาบ ๆ เท่านั้น ว่ามีความสุขความสบายความเยือกเย็นอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน จนกว่าเราจะประสบด้วยตนเองจึงจะรู้ว่า อ๋อ ที่แท้สุขในฌานเป็นอย่างนี้นี่เอง

    ตัวสุดท้ายนั้นท่านเรียกว่า เอกัคคตารมณ์ คืออารมณ์ที่ตั้งมั่นทรงตัวเป็นหนึ่งเดียว หมายถึงอารมณ์ที่รู้การภาวนาตั้งแต่ต้นจนปลาย แต่เพียงแต่ว่ารู้ในลักษณะ เรามีหน้าที่ภาวนาก็ทำการภาวนาไป เรามีหน้าที่พิจารณาก็พิจารณาไป เป็นต้น ส่วนผลของการที่เรากระทำนั้น จะเกิดอะไรขึ้นไม่ได้ใส่ใจ อย่างนี้จึงเรียกว่าอุเบกขาเมื่อเป็นอุเบกขามีอารมณ์ตั้งมั่นอยู่ ไม่เคลื่อนไปไหนท่านจึงเรียกว่าเอกัคตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่รวมเป็นหนึ่งเดียว

    กำลังใจทั้ง ๕ ส่วนนี้รวมกันแล้วเรียกว่าปฐมฌาน คือ ความเคยชินระดับที่ ๑ ถ้าหากว่าจะอธิบายกันแบบง่าย ๆ หยาบ ๆ ก็คือว่า ใครก็ตามที่กำหนดรู้ลมได้ ๓ ฐาน หายใจเข้ารู้ว่าผ่านปลายจมูก...ผ่านกึ่งกลางอก....ลงไปสุดที่ท้อง หายใจออก....ออกจากท้อง....ผ่านกึ่งกลางอก....มาสุดที่ปลายจมูก ถ้ารู้ได้ตลอดอย่างนี้ท่านนั้นกำลังทรงปฐมฌานอยู่ เพียงแต่ว่าท่านจะรักษากำลังฌานให้ทรงตัวอยู่ได้นานแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

    (การรู้ลมนี้ไม่ว่าจะเป็น 1 ฐาน หรือ 5 ฐาน
    พระอาจารย์ท่านบอกว่า แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
    บางคนถนัดดู 1 ฐาน บางคนถนัด 5 ฐาน
    ก็ให้ทำตามความถนัดของตนเอง ก็จะเข้าถึงสมาธิได้เหมือนกัน)


    เมื่อท่านเข้าถึงระดับนี้แล้ว ถ้าหากว่าไม่ได้ใส่ใจผลไม่เอาจิตไปจดจ่อดูว่าอะไรจะเกิดขึ้น แต่ว่าตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติภาวนาต่อไป คราวนี้จะรู้สึกว่าลมหายใจเบาลง หูได้ยินซุ่มเสียงเบาลง แม้แต่เสียงจะดังตึงตังโครมครามขนาดไหนก็ไม่ได้ใส่ใจ สนใจอยู่แต่การภาวนาข้างใน บางทีลมหายใจก็เบาลงจนแทบไม่มีเลย ถ้าอย่างนี้ท่านกำลังก้าวสู่สมาธิระดับที่ ๒ เรียกว่าทุติยฌาน คือความเคยชินขั้นที่ ๒

    ถ้าหากว่าท่านตามดูตามรู้ไปเฉย ๆ ถ้ายังมีคำภาวนาก็ภาวนา ถ้ายังมีลมหายใจเข้าออกก็ดูลมหายใจเข้าออก ถ้าไม่มีคำภาวนาไม่มีลมหายใจเข้าออก เรากำหนดรู้ไว้เฉย ๆ ไม่คิดไปดิ้นรนอยากให้มันมา และไม่ไปผลักไสอยากให้มันไป ถ้าทำอย่างนั้นได้กำลังใจก็จะก้าวลึกไปอีกขั้นหนึ่ง

    แรก ๆ อาจจะรู้สึกเหมือนมีอะไรเย็น ๆ แถวปลายจมูกแถวริมฝีปากหรือแถวคาง แล้วความเย็นนั้นก็แผ่กระจายตัวออกเป็นวงกว้างไปเรื่อย ๆ หรือบางทีก็รู้สึกว่าเย็นรวบเข้ามาทางปลายมือปลายเท้า รวบเข้ามา....รวบเข้ามา ไม่ว่าความเย็นจะเป็นลักษณะไหน จากข้างบนลงข้างล่างก็ดี จากข้างล่างขึ้นข้างบนก็ดี ถ้าเรากำหนดใจรู้ไว้เฉย ๆ ว่าเป็นดังนั้น โดยไม่ไปกลัว ไม่ได้อยากให้มา ไม่ได้อยากให้ไป กำลังนั้นก็จะก้าวลึกเข้าไปอีก จนกระทั่งบางทีรู้สึกว่าชาแข็งไปทั้งตัวเหมือนกับโดนสาปเป็นหินก็มี หรือว่ารู้สึกเหมือนโดนเขามัดติดกับผนังหรือว่าติดกับต้นเสาชนิดกระดิกกระเดี้ยไม่ได้ แข็งโป๊กไปเลยก็มี ถ้าอย่างนั้นท่านกำลังก้าวสู่สมาธิระดับที่ ๓ เรียกว่าตติยฌาน คือความเคยชินระดับที่ ๓

    ถ้าท่านทำใจสบาย ๆ กำหนดรู้อยู่ว่าตอนนี้มันเป็นดังนี้ ไม่คิดไปขับไสไล่ส่ง หรือไม่คิดไปอยากให้มันก้าวหน้ามากกว่านั้น เมื่อตามดูตามรู้ไปเรื่อย ความรู้สึกจะรวบเข้ามาเหลือจุดเดียว มาสว่างเจิดจ้าอยู่ส่วนใดส่วนหนึ่ง อาจจะเป็นในอก ในท้อง ในศีรษะ หรือตรงหน้าของเราเป็นการเฉพาะ ตอนนี้หูไม่ได้ยินเสียงภายนอกแล้ว อย่าว่าแต่จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส หรือกายสัมผัสเลย ลักษณะเยี่ยงนี้ลมหายใจเข้าออกไม่มีแล้ว คำภาวนาไม่มีแล้ว เราจะอยู่สุขสบาย ผ่องใสเยือกเย็นอยู่กับกำลังส่วนนี้ ถ้าต้องการจะคลายออกเมื่อไรให้กำหนดใจไว้ด้วย ไม่อย่างนั้นจะเลยเวลา ถ้าท่านทำถึงตรงนี้ได้ แสดงว่าสมาธิของท่านก้าวสู่ระดับที่ ๔ เรียกว่า ฌาน ๔ หรือจตุตฌาน ความเคยชินระดับที่ ๔

    สิ่งทั้งหลายที่ได้กล่าวมานี้เพื่อให้ท่านทั้งหลายที่ชอบถามปัญหาเรื่องของอารมณ์ฌานแต่ละระดับว่ามีอย่างไรบ้าง ก็เอาไปเปรียบเทียบดูว่าตัวเราไปถึงระดับไหนแล้ว แต่ว่าต้องไม่ไปตามจี้ดูว่าตอนนี้ถึงขั้นนี้ สักพักหนึ่งจะเป็นขั้นนี้ ถ้าทำอย่างนั้นอารมณ์ใจขาดอุเบกขา ไม่รู้จักปล่อยวาง สมาธิก็จะไม่เกิด เมื่อท่านเปรียบเทียบแล้วก็ขอให้ทราบว่าสิ่งที่พูดมานั้นเป็นแค่ส่วนหยาบเท่านั้น บางทีรายละเอียดปลีกย่อยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ก็ขอให้ท่านทั้งหลาย กำหนดรู้แล้วเปรียบเทียบดูว่าใกล้เคียงข้อไหน ควรจะเป็นกำลังใจระดับไหน ก็ลองเทียบดูเอาด้วยตนเอง

    สำหรับตอนนี้ก็ให้ทุกท่านส่งกำลังใจเกาะภาพพระหรือเกาะพระนิพพานไว้ ภาวนาหรือพิจารณาตามอัธยาศัยของเราจนกว่าจะได้ยินเสียงสัญญาณบอกหมดเวลา

    พระครูวิลาศกาญจนธรรม, ดร.
    เทศน์ช่วงทำกรรมฐาน ณ บ้านอนุสาวรีย์
    วันอาทิตย์ที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๒

    ที่มา วัดท่าขนุน
     
  2. NAMOBUDDHAYA

    NAMOBUDDHAYA ก่อนตายไปอีกชาติ .. ใช้กายสังขารสร้างกำลังให้คุ้ม ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 สิงหาคม 2010
    โพสต์:
    21,243
    กระทู้เรื่องเด่น:
    998
    ค่าพลัง:
    +70,040
    ?temp_hash=f688ddf4295c6f13988f6daa852d16f1.jpg



    สะสมการเจริญอานาปานสติ
    ***********
    [๑๒๑] ราหุล เธอจงเจริญอานาปานสติเถิด เพราะอานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก
    มีอานิสงส์มาก

    คือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี นั่งคู้
    บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก

    ๑. เมื่อหายใจเข้ายาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจเข้ายาว’
    เมื่อหายใจออกยาวก็รู้ชัดว่า ‘เราหายใจออกยาว’
    ...
    ฯลฯ
    ...
    ๑๖. สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจเข้า’
    สำเหนียกว่า ‘เราพิจารณาเห็นความสละคืนหายใจออก’

    อานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก

    ราหุล เมื่ออานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้
    ลมอัสสาสะ(หายใจเข้า) ลมปัสสาสะ(หายใจออก) ครั้งสุดท้ายที่ปรากฏชัด ย่อมดับไป ที่ไม่ปรากฏชัด ยังไม่ดับไป”

    พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ท่านพระราหุลมีใจยินดีชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาค ดังนี้แล
    …………
    ข้อความบางตอนใน มหาราหุโลวาทสูตร มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์
    พระไตรปิฎกเล่มที่ ๑๓
    http://www.84000.org/tipitaka/read/m_siri.php?B=13&siri=12

    ***************
    ในบทเหล่านั้น บทว่า อานาปานสตึ ท่านพระสารีบุตรแสดงว่า ท่านจงกำหนดลมหายใจเข้าลมหายใจออกแล้วยังฌาน หมวด ๔ หมวด ๕ ให้เกิดในอานาปานสตินั้น แล้วเจริญวิปัสสนา ถือเอาพระอรหัต.

    บทว่า มหปฺผลา โหติ มีผลมาก.
    มีผลมากอย่างไร.

    ภิกษุในศาสนานี้ขวนขวายอานาปานสติ นั่งเหนืออาสนะหนึ่ง ยังอาสวะทั้งหมดให้สิ้นไปแล้วบรรลุพระอรหัต. เมื่อไม่สามารถอย่างนั้นก็เป็นสมสีสี (สิ้นชีวิตพร้อมทั้งสิ้นกิเลส) ในเวลาตาย. เมื่อไม่สามารถอย่างนั้นก็บังเกิดในเทวโลก ครั้นฟังธรรมของเทพบุตรผู้เป็นธรรมกถึกแล้วได้บรรลุพระอรหัต. พลาดไปจากนั้นเมื่อยังไม่เกิดพุทธุปบาทกาล ย่อมทำให้แจ้งปัจเจกโพธิ. เมื่อยังไม่ทำให้แจ้งปัจเจกโพธินั้น ย่อมเป็นขิปปาภิญญา (รู้ได้เร็ว) เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ดุจพระพาหิยเถระเป็นต้นฉะนั้น ย่อมมีผลมากด้วยประการฉะนี้.

    บทว่า มหานิสํสา เป็นไวพจน์ของบทว่า มหปฺผลา.
    แม้ข้อนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสไว้ว่า

    อานาปานสฺสติ ยสฺส ปริปุณฺณา สุภาวิตา
    อนุปุพฺพปริจีตา ยถา พุทฺเธน เทสิตา
    โสมํ โลกํ ปภาเสติ อพฺภา มุตฺโตว จนฺทิมา.

    ผู้ใดเจริญอานาปานสติให้บริบูรณ์ สะสมไว้
    โดยลำดับ เหมือนอย่างที่พระพุทธเจ้าทรง
    แสดงไว้ ผู้นั้นย่อมทำโลกให้สว่างไสว ดุจ
    พระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น.

    พระเถระ เมื่อเห็นความที่อานาปานสติมีผลมากนี้ จึงได้ชักชวนสัทธิวิหาริกในอานาปานสตินั้น. ด้วยประการฉะนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบอกรูปกรรมฐาน พระเถระบอกอานาปานสติ เพราะเหตุนั้น แม้ทั้งสองท่านบอกกรรมฐานแล้วก็ไป.
    .........
    ข้อความบางตอนใน อรรถกถามหาราหุโลวาทสูตร
    http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=13&i=133
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...