รัฐลดภาษียกแผง คนเงินเดือน-บริษัท

ในห้อง 'ข่าวทั่วไป' ตั้งกระทู้โดย เทวดาท่าจะบ๊อง, 5 มีนาคม 2008.

  1. เทวดาท่าจะบ๊อง

    เทวดาท่าจะบ๊อง Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2007
    โพสต์:
    85
    ค่าพลัง:
    +72
    รัฐลดภาษียกแผง คนเงินเดือน-บริษัท



    ครม.อนุมัติมาตรการภาษีกระตุ้นฟื้นฟูเศรษฐกิจ เผยเพิ่มเงินได้สุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจาก 100,000 บาทเป็น 150,000 บาท เพิ่มหักค่าเสื่อมราคาลงทุนเครื่องจักรประหยัดพลังงานผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจาก 100 เปอร์เซ็นต์ เป็น 120 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล เหลือร้อยละ 25 จากร้อยละ 30 ให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และลดค่าธรรมเนียมการโอนโฉนดจำนองอสังหาริมทรัพย์เหลือร้อยละ 0.01 "หมอเลี้ยบ"มั่นใจส่งผลให้เกิดการบริโภคของประชาชน และการลงทุนของภาคเอกชนให้เดินหน้า จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของชาติอยู่ที่ร้อยละ 6 ตามที่ตั้งเป้าไว้ ยอมรับมาตรการนี้ทำให้คลังสูญเสียรายได้ภาษีอากร 42,000 ล้านบาท แต่หากทำให้ประชาชนจับจ่ายได้มากขึ้น จะทำให้ตัวเลขรายได้ในอนาคตมีมากกว่าตัวเลขที่สูญเสียไป

    เมื่อวันที่ 4 มี.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้พิจารณาเห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ซึ่งสอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง แก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ส่งเสริมเอสเอ็มอี กระตุ้นการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนให้มากขึ้น สำหรับมาตรการภาษีที่จะนำมาใช้ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก 16 มาตรการย่อย

    1.มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ประชาชน และช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ประกอบด้วยการปรับเพิ่มวงเงินสุทธิที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา จาก 1 แสนบาทเป็น 1.5 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการยกเว้นและการหักค่าลดหย่อนเบี้ยประกันภัยสำหรับการประกันชีวิต จากเดิมที่กำหนดไว้ 5 หมื่นบาทเพิ่มขึ้นเป็น 1 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ หรือเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท ปรับเพิ่มวงเงินการหักค่าลดหย่อนเงินได้เท่าที่จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว จากเดิมที่กำหนดไว้ไม่เกิน 3 แสนบาท เพิ่มขึ้นเป็นไม่เกิน 5 แสนบาท โดยมาตรการดังกล่าวมีผลตั้งแต่ปีภาษี 2551 เป็นต้นไป เพิ่มการหักค่าลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส บิดา มารดา บุตร ซึ่งเป็นคนพิการได้ 3 หมื่นบาท โดยเริ่มมีผลเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้เนื่องจากต้องออกกฎหมายมารองรับเพิ่มเติม

    2.เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อย ประกอบด้วย ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้ห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล ซึ่งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่มีเงินได้ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท ต่อปี มีผลปี 2551-2553 ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนที่มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ส่วนสำหรับกำไรสุทธิส่วนที่ไม่เกิน 1.5 แสนบาทจากเดิมหากมีกำไร 1 ล้านบาทแรกต้องเสียภาษี 15% ส่วนที่เกินจากนี้ให้เสียในอัตราเดิมเริ่มตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป

    3.เน้นการกระตุ้นการลงทุนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของเอกชนไทย ประกอบด้วย ให้บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล สามารถหักค่าใช้จ่ายในการติดตั้งเครื่องจักร อุปกรณ์หรือวัสดุที่ประหยัดพลังงานได้ 1.25 เท่าของค่าใช้จ่าย ให้บริษัทหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ใช้ผลิตในอัตรา 40% ของมูลค่าต้นทุนภายในวันที่ 31 ธ.ค.2553 ให้บริษัทหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภทโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ได้ภายในเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชี นับแต่วันที่ได้ทรัพย์สินนั้นมา ให้บริษัทที่มีทรัพย์สินถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของโปรแกรมได้ 40% ของมูลค่าต้นทุน ภายใน 3 รอบระยะเวลาบัญชีเช่นเดียวกัน ให้บริษัทที่มีทรัพย์สินไม่เกิน 200 ล้านบาท และจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน สามารถเลือกหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาของทรัพย์สินได้ 100% ของมูลค่าต้นทุน แต่ต้องไม่เกิน 5 แสนบาทในหนึ่งรอบระยะเวลาบัญชี

    นอกจากนี้ ยังลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทที่นำหลักทรัพย์เข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์โดยลดจาก 30% เหลือ 20% สำหรับบริษัทที่จดทะเบียนเข้าใหม่ในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ และลดจากอัตรา 30% เหลือ 25% สำหรับจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ เป็นเวลา 3 รอบระยะเวลาบัญชีต่อเนื่องกัน โดยต้องยื่นจดทะเบียนภายในปี 2551 และเข้าตลาดภายในปี 2552 ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลยังรวมไปถึงบจ.เดิมในเอ็มเอไอในส่วนของกำไรสุทธิที่ไม่เกิน 20 ล้านบาท และในส่วนของบจ.ในตลาดหลักทรัพย์ส่วนที่กำไรไม่เกิน 300 ล้านบาท 3 รอบระยะเวลาบัญชีเริ่มตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นไปด้วย ลดภาษีธุรกิจเฉพาะจากเดิม 3% เหลือ 0.1% จากการขายอสังหาริมทรัพย์โดยต้องดำเนินการภายใน 1 ปี นับจากวันที่กฎหมายมีผลใช้บังคับ ลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดเหลือ 0.01% ทั้งที่ดิน อาคาร ห้องชุด และอาคารสำนักงาน

    น.พ.สุรพงษ์ กล่าวว่า มาตรการทางภาษีในครั้งนี้ถือเป็นครั้งใหญ่กว่าที่ผ่านมา และน่าจะมีพลังเพียงพอในการกระตุนเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ในระดับ 6% ในปีนี้ นอกจากประชาชนและภาคเอกชนทุกกลุ่มจะได้ประโยชน์แล้วเชื่อว่าในอนาคตจะทำให้รัฐจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นทดแทนรายได้ที่สูญเสียไปจากการลดภาษี ส่วนการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มในระดับ 7% นั้นยังไม่ได้นำเข้าครม.เพราะยังมีเวลาตัดสินใจแต่เบื้องต้นคาดจะคงภาษีในระดับเดิมต่อไปอีก 2 ปีเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน

    รมว.คลังกล่าวด้วยว่า หลังจากนี้รัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาษีทยอยออกมาเพิ่มเติม เริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อกระตุ้นประชาชนระดับฐานรากและกลุ่มอื่นๆ โดยอาจเป็นการกระตุ้นผ่านการใช้งบประมาณ ซึ่งภายในเดือนนี้จะพิจารณาความจำเป็นในการเพิ่มวงเงินงบขาดดุลกลางปีอีกครั้ง โดยมองว่ารัฐบาลมีความจำเป็นต้องทำงบขาดดุลต่อเนื่องไปไปอีก 3-4 ปีเพื่อผลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

    ด้านนายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า มาตรการทางภาษีที่ในครั้งนี้ถือเป็นมาตรการทางภาษีที่ใหญ่มากนับตั้งแต่ปี 2535 ที่มีการปรับจากระบบภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้และผู้ประกอบการหลายระดับ แม้จะส่งผลให้รัฐจัดเก็บรายได้ลดลงถึง 4.2 หมื่นล้านบาท แต่จะส่งผลให้เกิดการใช้จ่ายและการลงทุนในประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้รัฐมีรายได้มากกว่าที่เสียไป

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับมาตรการทางภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้นั้น ทำให้ผู้มีเงินเดือนตั้งแต่เดือนละ 12,500 บาทลงมาไม่ต้องเสียภาษีแม้แต่บาทเดียว

    หน้า 1



    http://matichon.co.th/khaosod/view_...ionid=TURNd01RPT0=&day=TWpBd09DMHdNeTB3TlE9PQ==
     

แชร์หน้านี้

Loading...