พื้นฐานการเจริญสติ สำหรับผู้เริ่มต้น

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย raming2555, 28 พฤศจิกายน 2014.

  1. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    [​IMG]

    สติ เป็นธรรมที่มีอุปการะมาก
    การเจริญสตินั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับปุถุชนส่วนมาก

    กระทู้นี้จึงเกิดขึ้น เพื่อทดลองอธิบายวิธีการปฏิบัติ ให้เข้าถึงคำว่าสติ อย่างง่ายๆว่าจะสามารถทำได้หรือไม่...
    กระทู้นี้ จะพุ่งเป้าไปยังบุคคลผู้ ไม่เก่ง ไม่ฉลาด วาสนาไม่มี บารมีไม่มาก แต่มีความสนใจและตั้งใจจริงที่จะปฏิบัติตามแนวทางขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า อย่างจริงใจ...

    กระทู้นี้จึงไม่เหมาะสำหรับ ผู้ที่เก่งแล้ว มีความฉลาดดี มีบุญ มีวาสนา บารมี เพราะท่านเหล่านี้ เป็นผู้ฝึกง่าย เข้าใจง่าย ได้ผลแห่งการปฏิบัติโดยง่ายอยู่แล้ว ซึ่งถ้าบังเอิญท่านเหล่านี้ผ่านมาเจอเข้าก็ขอให้ข้ามกระทู้นี้ไปเสีย เนื่องจาก กระทู้นี้จะเหมาะกับคนโง่แบบเดียวกับผมเสียมากกว่า...

    ธรรมดาของคนไม่รู้ หรือเรียกอีกอย่างนึงว่าคนโง่นั้น บางครั้งก็ไม่รู้แม้กระทั่งว่าตัวเองไม่รู้อะไรบ้าง ดังนั้นแม้จะสงสัยก็ยังไม่รู้ว่าจะสงสัยอะไรดี ซึ่งผมเคยเป็นเช่นนี้มาก่อน เคยผ่านอาการแบบนี้มา จึงพอจะเข้าใจและเห็นใจคนจำนวนหนึ่งที่มีอาการแบบผมนี่เอง...

    ผมมีข้อสันนิษฐานบางประการคือ...
    1. ที่จริงแล้วพวกเราไม่ได้โง่ แต่เราไม่เข้าใจสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอน
    2. พวกเรานี้ไม่ใช่ไม่มีบุญ วาสนา บารมี เพราะถ้าเราไม่มีหรือขาดแคลนขนาดนั้น เราคงไม่ได้มาเกิดบนแผ่นดินพุทธ ได้พบพระพุทธศาสนา และยังสนใจในปฏิปทาครูบาอาจารย์ อยากคิดศึกษาและปฏิบัติ...
    3. คำอธิบายที่ทำให้เข้าใจได้ง่ายๆ ถ้าสงสัยก็สามารถสอบถามซักฟอกได้จนกว่าตนเองจะเข้าใจ ถ้าได้แบบนี้แล้ว พวกเราจะสามารถเข้าใจได้เช่นเดียวกับคนอื่นๆเช่นกันไหม?
    กระทู้นี้จึงจะทดสอบข้อสันนิษฐานเหล่านี้เองครับ

    มีประเด็นหนึ่งที่ผมถือสา คือ การเคารพในพระรัตนตรัย และครูบาอาจารย์ ดังนั้นสำหรับท่านที่สนใจ ก็ขอได้โปรดทราบว่า ผมไม่ต้อนรับ ผู้ที่ไม่เคารพในพระรัตนตรัย และลบหลู่ครูบาอาจารย์ เนื่องเพราะวิชชาต่างๆในพระพุทธศาสนาที่ผมศึกษามานั้น องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงโปรดแนะนำสั่งสอนมา ครูบาอาจารย์ท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ได้แนะนำสั่งสอนต่อมาอีกทอดหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่ผมจะให้คำแนะนำต่อๆไปนั้น จึงไม่ใช่ความรู้ความสามารถของผมเองแต่ต้น เป็นแต่เพียงทำตามที่ครูบาอาจารย์ท่านสอนมาอีกทอดหนึ่ง และผมก็จะไม่แนะนำอะไรที่นอกลู่นอกทาง หรือเกินครูบาอาจารย์สอนไว้ ไม่ยกตนเสมอด้วยครูบาอาจารย์ อันนี้ขอให้เข้าใจตามนี้นะครับ...

    ตอนที่ 1 นั้นจะเป็นการปรับความเข้าใจกันเสียก่อน คือตั้งต้นที่สัมมาฑิฐิ กันก่อน ตรงนี้เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก ถ้าเริ่มตั้งต้นกันผิดแล้ว จะไปต่อให้มันถูกไม่ได้เลย
    ตอนที่ 2 จะเป็นศัพท์บัญญัติทางพระ ที่ต้องรู้ เพื่อให้เวลาสนทนาด้วยกันกับนักปฏิบัติทั้งหลายแล้ว พอจะเข้าใจกันได้
    ตอนที่ 3 นี้สำหรับพวกช่างสงสัยทั้งหลาย จำพวกนี้เวลาอ่านนิยายก็จะพลิกไปอ่านตอนจบก่อนแล้วค่อยมาอ่านตอนต้นไล่ไป จึงจะได้พูดถึงผลการปฏิบัติที่ใช้เป็นเครื่องชี้วัดและเป้าหมายสำหรับผู้เริ่มต้นฝึก
    ตอนที่ 4 จะเป็นข้อสรุป วิธีการปฏิบัติ เป็นข้อๆไป
    ตอนที่ 5 จึงจะอธิบาย ขยายความ ข้อต่างๆในตอนที่ 4 ถึงสาเหตุ ที่มาที่ไป ทำไมถึงทำเช่นนั้น
    ตอนที่ 6 เป็นตอนจบ สำหรับผู้เริ่มต้นฝึก ท่านจะสงสัยอะไรก็ได้ ถามอะไรก็ได้ แต่อย่าเถียง ถามธรรมนั้นดี แต่เถียงธรรมนั้นไม่ดี

    ข้อห้ามเรื่องการสงสัยสำหรับกระทู้นี้แล้ว ไม่มี ทุกคนสามารถสงสัยได้ และซักถามได้ทุกอย่างที่เกี่ยวกับธรรมะและการปฏิบัติ
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 28 พฤศจิกายน 2014
  2. ล้อเล่น

    ล้อเล่น เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    20 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    4,924
    ค่าพลัง:
    +18,649
    สนใจจร้า......fcท่านอาจารย์คุณป๋า.....
     
  3. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะฯ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะฯ
    นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุท ธัสสะฯ

    สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ทวารัตตะเยนะ กะตัง
    สัพพัง อะปะราธัง ขะมะถะ เม ภันเต อุกาสะ ขะมามิ ภันเต ฯ


    หากข้าฯพระพุทธเจ้า ได้เคยประมาทพลาดพลั้งล่วงเกินต่อพระรัตนตรัย อันมีพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ในชาติก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ด้วยทางกาย หรือทางวาจาก็ดี และด้วยเจตนา หรือไม่มีเจตนาก็ดี รู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็ดี
    ขอองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระธรรม พระอริยสงฆ์ทั้งหลาย และผู้มีพระคุณทุกท่าน ได้โปรดอดโทษให้แก่ข้าพระพุทธเจ้า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ตราบเท่าเข้าสู่นิพพานด้วยเทอญ

    อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปริจจะฉามิ

    ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอมอบกาย ถวายชีวิตแด่องค์สมเด็จ พระสัมมาสัมพุธเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขออาราธนาบารมี พระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ พระปัจเจกพุทธเจ้า ทุกๆพระองค์ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ทั้งหลาย ครูบาอาจารย์ทั้งหลายสืบๆกันมา มีหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เป็นที่สุด ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะ พระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 ขอพระกรรมฐานทั้ง 40 ทัศ พระปิติทั้ง 5 และวิปัสสนาญาณทั้ง 9 จงมาบังเกิดปรากฏ ในกายทวาร ในวจีทวาร ในมโนทวาร ของข้าพพระพุทธเจ้า ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
    ขอได้โปรดยกจิตของข้าพเจ้า ขึ้นสู่ภาวะเมฆจิต สามารถกำหนดจิต รู้ภาวะการณ์ต่างๆทั้งเหตุ ผล อดีต อนาคต และปัจจุบัน ได้ทุกขณะจิตทีปรารถนาจะรู้ เมื่อรู้แล้วขอให้เห็นภาพนั้นได้ชัดเจนแจ่มใสและพยากรณ์ได้ตามความเป็นจริงทุกๆประการ เหตุที่จะพึงบังเกิดแก่ข้าพเจ้า ขอให้ข้าพเจ้าได้รู้เหตุนั้นโดยมิต้องกำหนดจิตแม้แต่ประการใด ณ กาลบัดเดี๋ยวนี้เถิด
     
  4. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    ตอนที่ 1 สัมมาฑิฐิ

    สัมมาฑิฐิ คือความเห็นชอบ ความเห็นตรง(ตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้) เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้ากลายเป็นมิจฉาฑิฐิเมื่อไร มรรคผลทั้งหลายจะไม่มีทางเกิดขึ้นได้โดยเด็ดขาด...

    สัมมาฑิฐินี้จะเปรียบไปก็เหมือนหางเสือเรือ ไม่ว่าเรือจะลำใหญ่ สวยงาม มีแรงขับมากเพียงใด มีต้นหนผู้ชาญฉลาดเพียงใด หากขาดหางเสือเสียแล้ว เรือจะพุ่งไปไม่รู้ทิศรู้ทาง แทนที่จะถึงฝั่งกลับออกอ่าวออกทะเลไป หาทิศทางไม่ได้ ....

    ถ้าขาดหางเสือเสียแล้ว เรือจะลำใหญ่ กำลังมาก สวยงามเพียงใดย่อมไร้ความหมาย ถ้าขาดสัมมาฑิฐิเสียแล้ว ไม่ว่าจะมีกำลังสมถะแก่กล้าเพียงใด มีสติแก่กล้าเพียงใด หรือมีความเพียรกล้า เพียงใดก็ตาม ไม่มีประโยชน์เลย...

    ขอจงดูตัวอย่างพระเทวฑัต ที่สำเร็จ 5 ในอภิญญา 6 สามารถแสดงฤทธิ์ต่างๆได้ และยังได้พบกับองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า แต่ด้วยมิจฉาฑิฐิ ตัวเดียวเท่านั้น แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าจะทรงพระชนม์ชีพอยู่ขณะนั้นก็ไม่สามารถโปรดพระเทวฑัตได้...

    อภิญญาทั้งหลายไม่สามารถช่วยให้พระเทวฑัตพ้นอเวจีมหานรกได้ ...
    ทุกท่านพอจะมองเห็นความสำคัญของสัมมาฑิฐิกันแล้วนะครับว่า มีความสำคัญมากเพียงใด...

    ดังนั้นสำหรับผู้เริ่มต้นใหม่ การกลัดกระดุมเม็ดแรกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ากลัดผิดรังดุมขึ้นมาเสียแล้ว ต่อๆไปมันจะผิดไปตลอด ตรงนี้ผมรับรองได้...ดังนั้นจึงจะกล่าวถึงสัมมาฑิฐิ มากสักหน่อย อย่าพึ่งเบื่อ เพราะผมเคยฟังมามาก ผมเบื่อการฟังเรื่องนี้มาก แต่แล้วในที่สุดผมก็พบว่า ที่ครูบาอาจารย์กล่าวถึงเรื่องสัมมาฑิฐิเป็นอย่างมากนั้น เพราะสัมมาฑิฐินี้มีความสำคัญมากจริงๆ เป็นความโง่ของผมเองในเวลานั้นที่รู้สึกว่า เยอะไป น่าเบื่อ...วันนี้จึงต้องมาเป็นผู้เล่า จะเล่าเรื่องสัมมาฑิฐิให้ท่านทั้งหลายฟังจนเบื่อเช่นกัน...

    ความเห็นประการที่ 1

    ให้เห็นตามความเป็นจริงเอาไว้ว่า เราทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครในโลกนี้ที่เกิดมาแล้วไม่ตาย รวมไปถึงพวกที่กำลังเกิด และจะเกิดตามมาในอนาคต เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ชื่อว่าไม่ตายไปนั้นไม่มี....
    สำหรับความตายที่จะมาเยือนเราทุกคนนั้น ไม่มีกำหนด ไม่มีนิมิตหมาย ตายเมื่อไรไม่รู้ แต่ผมขอรับรองได้ว่า ต้องตายทุกคนครับ ...

    ออกจากบ้านไปตอนเช้ายังดีๆ พระอาทิตย์ยังไม่ทันตกดินกลายเป็นศพไปแล้วนี่ มีเกิดขึ้นทุกวัน มาถึงตรงนี้แล้วก็อยากจะขอให้ทุกคนดูลมหายใจของตนเองไว้ให้ดี...เพราะถ้าเมื่อไรเราหายใจเข้าแล้วไม่หายใจออก หรือว่าหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า ... มันก็จบแล้วนะครับ...
    ความตายมันเกิดขึ้นง่ายถึงเพียงนี้ นี่กระทั่งผมนั่งพิมพ์ๆอยู่นี่ ก็ยังไม่รู้ว่าจะตายลงในขณะใด จะทันพิมพ์เสร็จก่อนหรือว่าตายก่อน ยังบอกไม่ได้ ...
    จึงขอให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่า เราทุกคนเกิดมาต้องตาย ...

    แต่เมื่อขณะนี้มันยังมีลมหายใจอยู่ก็มาดูกันต่อว่ามันมีดียังไง ลองไม่อาบน้ำ ไม่ล้างหน้า ไม่แปรงฟัน ขี้เสร็จไม่ล้างก้น เสื้อผ้าไม่ต้องเปลี่ยนสัก 2 อาทิตย์ มันจะเป็นยังไงครับ...

    นับจากส่วนบนสุดคือหัว นี่มันจะมีขี้หัว ไขมันที่หมักหมมเหม็นเน่าอยู่บนหัว ถัดลงมาที่ตาก็มีขี้ตา ที่จมูกก็มีขี้มูก ข้างๆมีหูก็มีขี้หู มาที่ปากก็มีขี้ฟัน เอามือลูบหน้าก็มีขี้หน้า ขี้มือ ขี้เล็บ ขี้ไคล ตลอดทั่วทั้งกายนี้มีแต่ขี้ เป็นแต่ของหมักหมมเน่าเหม็นไปทั้งหมด...

    เสื้อผ้าแขวนไว้ในตู้ 2 อาทิตย์อยู่ได้ แต่เอามาแขวนไว้กับร่างกายอันเน่าอยู่เป็นนิจนี้แล้ว เพียงชั่ววันเดียวก็เหม็นเน่าเสียแล้ว ต้องเอาไปซัก ไปล้าง ความสกปรกนี้มีที่มาจากที่ไหน?

    เป็นผู้หญิงสวยก็กลายเป็นผู้หญิงเน่า ผู้ชายหล่อก็เป็นผู้ชายเน่า เป็นเด็กก็เด็กเน่า เป็นคนแก่ก็คนแก่เน่า หาความสะอาดแม้แต่น้อยบนร่างกายของเรานี้หาไปเถอะครับ ผมลองหามาหลายปีแล้วมันหาไม่มีจริงๆ ไม่ได้แกล้ง...

    เวลาจะกินอาหารพวกเราต่างพากันเลือกอาหารชั้นดี อร่อย สะอาด ของสกปรกนิดหน่อยจะให้เอาเข้าปากนี่ทำไม่ได้หรอกครับ ของจะเข้าปากได้ต้องสะอาด...แต่พอเข้าไปในปากแล้วเคี้ยวสักสิบครั้ง คายออกมาอีกที ให้กินกลับเข้าไปใหม่ มันชักจะไม่ค่อยดีเสียแล้ว...นี่อาหารดีๆทั้งนั้น มากระทบเข้ากับปากอันเน่าอยู่อย่างนี้แล้ว อาหารดีๆก็กลายเป็นของน่ารังเกียจไป...นี่ขนาดว่าเห็นๆกันอยู่เดี๋ยวนี้นะครับ ไม่ต้องรอ 24 ชั่วโมงเพื่อให้มันกลายเป็นอุจจาระ..นี่มันยังขนาดนี้แล้วทีเดียว..

    เอาน้ำลายของเราเองก็ได้ครับ ง่ายๆดี ถุยมันออกมาใส่แก้วไว้สักครึ่งแก้ว แล้วดื่มมันกลับเข้าไปใหม่ครับ ...ถ้าคุณดื่มไม่ได้ก็ต้องถามว่าเพราะอะไร ในเมื่อน้ำลายขณะนี้มันยังอยู่ในปากของคุณเอง คุณยังกลืนมันลงท้องอยู่เป็นพักๆ เพียงแค่คายมันออกมาประเดี๋ยวเดียว จะดื่มกลืนกลับเข้าไป มันไม่เอาแล้ว...นี่แหละครับ ความจริงของร่างกายนี้ มันไม่มีที่สะอาดเลยแม้แต่นิดเดียว...

    นี่คือความเห็นประการที่ 1 คือเห็นว่าร่างกายเรานี้เป็นของสกปรก โสโครก หาความสะอาดไม่ได้ และในท้ายที่สุดร่างกายที่เราทนุถนอมดูแลอย่างดีแล้ว มันก็ต้องจากเราไปก็คือตาย...
    ให้เห็นอย่างนี้ทุกวัน ก่อนอาหารและหลังอาหาร ตื่นนอน และก่อนนอน...
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 3 ธันวาคม 2014
  5. ไม้ขีด

    ไม้ขีด เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    25 กรกฎาคม 2009
    โพสต์:
    1,421
    ค่าพลัง:
    +3,023
  6. rungdao

    rungdao เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤศจิกายน 2010
    โพสต์:
    2,019
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +10,731
    ท่านระมิงค์คะอย่าปล่อยกระทู้ไปนานนักนะคะ ดิฉันติดอยู่ข้อที่ 2 หลายศัพท์ หรือคำบางคำ ที่เขาพูดกันนั้นดิฉันฟังไม่เข้าใจอยู่หลายคำ
    ทีนี้สำหรับพวกช่างสงสัยทั้งหลาย จำพวกนี้เวลาอ่านนิยายก็จะพลิกไปอ่านตอนจบก่อนแล้วค่อยมาอ่านตอนต้นไล่ไป จึงจะได้พูดถึงผลการปฏิบัติที่ใช้เป็นเครื่องชี้วัดและเป้าหมายสำหรับผู้เริ่มต้นฝึก .. ส่วนข้อนี้ดิฉันก็นับดิฉันไปอยู่ด้วย
    และข้อสุดท้ายคือข้อที่บอกว่าจะถามอะไรก็ได้ สงสัยอะไรก็ได้ อันนี้รอตั้งแต่ท่านเริ่มต้นกระทู้แล้วค่ะ แต่ก็จะรอต่อไปนะคะ

     
  7. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    ความเห็นประการที่2 คือความเคารพในพระรัตนตรัย ซึ่งประกอบด้วย พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์...
    โดยลำดับแรกจะได้กล่าวถึง คุณของพระธรรมก่อน เหตุที่กล่าวถึงคุณของพระธรรมก่อนนั้น ก็เพราะพระธรรมเป็นสิ่งสำคัญอย่างมาก แม้องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงเคารพในพระธรรม และทรงประกาศให้พระธรรมนี้คือ พระศาสดา เมื่อองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เสด็จดับขันธุ์เข้าสู่ปรินิพพานแล้ว

    พระธรรมนี้เอง ที่ทำให้ปุถุชน คือเจ้าชายสิทธัตถะ กลายเปลี่ยนเป็น พระพุทธเจ้า ทำให้ปุถุชนกลายเป็นอริยะชน ทำให้พระสงฆ์กลายเป็นพระอริยสงฆ์ นี่เองคือความสำคัญของพระธรรม ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องมาศึกษา ทำให้จริง จนเห็นแจ้ง เพื่อไปให้พ้นจากวัฏจักรทั้งหลายที่มี...

    ธรรมที่เป็นกุศล ก็มีอยู่ คือกรรมดี
    ธรรมที่เป็นอกุศล ก็มีอยู่ คือกรรมชั่ว
    ธรรมที่เป็นกลางๆ คือไม่ดี ไม่ชั่ว ก็มีอยู่

    ธรรมที่เป็นกุศลทุกคนทราบดีอยู่แล้ว เช่นเดียวกันกับธรรมที่เป็นอกุศล แต่ธรรมที่เป็นกลางๆนี้ คือธรรมที่ไม่ดีไม่ชั่ว จะขอยกตัวอย่างเช่น การที่เราเดินไปซื้อข้าวสวย 1 ถุง แกง 1 ถุง นี้เป็นการกระทำที่ไม่ใช่ดี และก็ไม่ใช่ชั่ว อย่างนี้เป็นต้น...

    ธรรมอีกประการหนึ่งที่มีอยู่ แต่ไม่นิยมเอ่ยถึง ก็คือ ธรรมที่มีทั้งดีและชั่วในเวลาเดียวกัน ยกตัวอย่างเช่น ลูกนกแม่ทิ้งตกลงจากรัง กำลังจะอดตาย กับหนอนที่อยู่ใกล้ๆนั้น ถ้าจะช่วยชีวิตลูกนก ก็ต้องฆ่าหนอน จะถ้าให้หนอนมีชีวิตรอด ลูกนกก็ต้องตาย ช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นบาปฝ่ายหนึ่งบุญฝ่ายหนึ่ง ถึงแม้จะผละไปเสีย ลูกนกย่อมต้องตาย หนอนย่อมรอดชีวิต แม้ไม่ได้ฆ่าก็เหมือนฆ่า อย่างนี้เป็นต้น...

    หรือจะยกเรื่องราวในครั้งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเกิดเป็นคนเลี้ยงวัว วันที่อากาศร้อน วัวหิวน้ำมาก เมื่อชายเลี้ยงวัวพาวัวไปถึงริมน้ำ เห็นน้ำตรงนั้นขุ่น ด้วยเจตนาดี จึงขับวัวให้เดินขึ้นไปทางต้นน้ำ เพื่อให้ได้ดื่มน้ำที่ใส ผลของการกระทำนี้เอง เมื่อครั้งที่ทรงประชวรใกล้จะเสด็จดับขันธุ์นั้น ก็ให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำมาก ต้องดื่มน้ำจากลำธารที่วัวพึ่งเดินย่ำผ่าน นี่คือผลของกรรมที่ทำให้วัวซึ่งกำลังหิวน้ำ ไม่ได้กินน้ำในทันที แต่ผลของกรรมอีกเช่นกันที่ทำให้น้ำตรงที่วัวพึ่งเดินผ่านไปนั้น ใสสะอาด...นี่จึงเป็นกรรมดีและกรรมชั่วที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

    ธรรมประเภทนี้ เมื่อเรายังเป็นผู้ใหม่อยู่ก็อย่าพึ่งไปพิจารณาให้ว้าวุ่นจิตใจ เพียงขอให้รู้ไว้ว่า ธรรมที่ดีและชั่วในเวลาเดียวกันนั้นก็มีอยู่...
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ธันวาคม 2014
  8. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    คุณของพระพุทธเจ้า คือ พระปัญญาธิคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ เป็นต้น

    ด้วยพระวิริยะ อุตสาหะ ที่ทรงบำเพ็ญพระบารมีมาอย่างยาวนาน จนถึงที่สุดได้บรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ คือตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เองนั้น ทรงมีพระปรีชาอย่างยิ่ง มีพระปัญญาอันหาผู้ใดเสมอไม่มี ทรงเห็นหนทางแห่งความหลุดพ้น อันสัตว์ไม่อาจล่วงพ้นได้ ทรงมีพระปัญญาตรัสสั่งสอนทั้งพรหม เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ในทุกฑิฐิ ทุกจริยา ทรงล่วงรู้ทะลุปรุโปร่งจนหมดสิ้น สามารถบรรยายพระธรรมออกไปจนถึง 84000 พระธรรมขันธ์ ซึ่งถ้าเป็นเราๆท่านๆนั้น จะใช้ปัญญาอย่างไรแจกแจงพระธรรมอันไม่มีผู้ใดเคยล่วงรู้มาก่อน ให้ได้สัก100 พระธรรมขันธ์นี้ ก็เห็นทีจะยาก จนเป็นไปไม่ได้เสียแล้ว แต่ด้วยพระปัญญาขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสเทศนาสั่งสอนได้มากมายถึง 84000 พระธรรมขันธ์ นี่คือพระปัญญาธิคุณ...

    เมื่อทรงบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว กิเลส ตัณหา อาสวะ ทั้งปวง เป็นอันหลุดพ้นไปจนหมดสิ้น ด้วยพระบารมีที่ทรงสั่งสมมา จึงบังเกิดเป็นความบริสุทธิ์อย่างยิ่ง อันจะหาสิ่งใดเปรียบเทียบให้เสมอเหมือนไม่ได้อีก
    และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว พระองค์สามารถจะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานได้ทันที ไม่จำเป็นต้องมาเทศนาโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ให้ทรงเหน็ดเหนื่อยพระวรกายแต่อย่างใด และด้วยพระธรรมอันทรงบรรลุแล้วนั้น มีความปราณีต ลึกซึ้ง จนยากเกินกว่าปัญญามนุษย์ทั้งหลายจะสามารถบรรลุตามได้

    ตรงนี้ท่านทั้งหลายอาจจะได้ประจักษ์กับตนเอง เมื่อได้เห็นสภาวะธรรมในภายภาคหน้า จะได้เห็นความอัศจรรย์ในความอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นกับจิต แล้วจะเห็นคุณขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเพียงใด ที่ทรงโปรดอบรมสั่งสอน เหล่าเวไนยสัตว์ที่สั่งสอนได้ยาก ให้ได้รู้ธรรมเห็นธรรมอันมหัศจรรย์ใจนี้ ที่พระองค์ต้องทนทุกข์ทรมานพระวรกาย เที่ยวเสด็จไปเพื่อเทศโปรดเหล่าเวไนยสัตว์ที่โง่เขลานี้ โดยจำแนกไปถึง 84000 หัวข้อ เพียงเพื่อจะบอกว่า

    กายนี้ไม่ใช่เราไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกายนี้ ร่างกายนี้ไม่มีในเรา ทุกสรรพสิ่งทั้งหลายที่เราเห็น และยังไม่ได้เห็น ที่เกิดขึ้นแล้ว กำลังเกิดขึ้น และจะเกิดขึ้นต่อไปนั้น มีเพียงทุกข์เท่านั้น...
    เนื่อหาสาระสำคัญมีเพียงเท่านี้ แต่พวกเรานี่โง่เกินไป ฟังเท่านี้ไม่อาจเข้าใจได้ บรรลุตามไม่ได้ จึงต้องทรงหาหนทางบรรยายให้เข้ากับความรู้ ฑิฐิ ของแต่ละคน จนกระทั่งล่วงเลยไปถึง 84000 หัวข้อ นี่จึงเรียกว่าพระมหากรุณาธิคุณ อันหาที่สุดที่ประมาณไม่ได้...
    จึงขอให้เข้าใจตามนี้ และระลึกถึงคุณขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเอาไว้ให้จงหนัก...
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 14 ธันวาคม 2014
  9. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    คุณของพระอริยะสงฆ์

    สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว ปฏิบัติตรงแล้ว ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรมเป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว ปฏิบัติสมควรแล้ว คือคู่แห่งบุรุษสี่คู่ นับเรียงตัวบุรุษได้แปดบุรุษ คือ พระโสดาบัน (มรรค,ผล) พระสกิทาคามี(มรรค,ผล) พระอนาคามี(มรรค,ผล) พระอรหันต์(มรรค,ผล) พระอริยะบุคคลเหล่านี้ เป็นเนื้อนาบุญของโลก เป็นผู้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า จนสามารถรู้ตามความเป็นจริงได้ เป็นผู้ไม่ทำบาปอีกต่อไป คือ ทรงศีลดีแล้ว เป็นผู้ปิดอบายภูมิแล้ว เป็นผู้มีหนทางเพื่อพระนิพพาน...

    หากจะสาธยายคุณความดีของพระอริยะบุคคลเหล่านี้ หลายหน้ากระดาษก็บรรยายไม่หมด หากว่าท่านใดสนใจในหัวข้อนี้ ต้องการสาธยายเป็นการส่วนตัว ก็ขอให้นึกถึงครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพ ผู้เป็นอริยะสงฆ์ แล้วระลึกถึงคุณความดีต่างๆของท่าน ก็พอจะทำให้เข้าใจถึงหัวข้อนี้ได้เป็นอย่างดี....
    จบความเห็นประการที่ 2
     
  10. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    สำหรับความเห็นประการที่ 3 คือ เห็นว่า ศีล 5 นี้ มีคุณอย่างไร จนเป็นเหตุให้มีใจรัก และตั้งมั่นใน ศีล 5 เป็นปกติ ไม่เป็นผู้เจตนาละเมิดศีล ไม่ว่าจะมีข้อแม้ข้ออ้างใดๆทั้งสิ้น...

    สีเลนสุขติงยันติ...ศีลเป็นเหตุให้มีความสุข
    สีเลนโภคสัมปทา...ศีล เป็นเหตุให้มีโภคทรัพย์
    สีเลนนิพพุติงยันติ...ศีล เป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้โดยง่าย...

    ว่าด้วยเรื่องของศีล....
    ศีล แปลว่า ปกติก็ได้ แปลว่าข้อห้ามก็ได้
    หิริ โอตตัปปะ ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป นี่ก็อยู่ในศีลเหมือนกัน...
    หิริ โอตตัปปะ เป็นศีลของคนโง่....
    โง่ยังไง.....

    คือ คนโง่ ถ้าจะให้รักษาศีล คือไม่ละเมิดข้อห้าม จะบอกให้เข้าใจด้วยปัญญา ก็ยังไม่ได้ เหมือนเด็กๆ ที่จะไปในที่มืด พ่อแม่กลัวว่าจะเป็นอันตราย ก็หลอกว่า ระวัง ไอ้หง่าวจะมาจับตัวไปนะ...เด็กกลัว ก็วิ่งหนีออกมาจากที่มืดๆ มาอยู่ในที่สว่างๆ มาอยู่ใกล้พ่อใกล้แม่ นี่คือไม่ไปในที่มืดเพราะว่ากลัว ...
    กลัวอะไร ... กลัวไอ้หง่าวมันจะมาจับตัว...ไอ้หง่าวคือตัวอะไร? เด็กมันไม่รู้ แต่ว่าผู้ใหญ่หลอกไว้ให้กลัว...การไม่รู้นี่เรียกอีกอย่างนึงว่า โง่...

    ต่อเมื่อโตแล้วจึงรู้ว่าไอ้หง่าวคือแมวตัวผู้ แล้วมันมาจับตัวไม่ได้หรอก ผู้ใหญ่เขาไม่ให้เด็กๆไปที่มืดๆ เพราะกลัวว่าจะไปสะดุดหกล้มบ้าง ไปชนเอากับของแข็งบ้าง หรือไปเหยียบเอาของมีคมบ้าง ฯลฯ ก็เท่านั้นเอง...

    เวลาเด็กขโมยของ ผู้ใหญ่จับได้ คาหนังคาเขา ก็เอามาแสดงให้คนหมู่มากดู ให้เด็กอาย ต่อไปจะได้ไม่กล้าขโมยอีก...
    ดังนั้นการที่เด็กไม่ทำ เพราะ 1. กลัว และ 2. อาย... ไม่ใช่ด้วยปัญญาเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ แต่เพราะกลัว กับเพราะอาย นี่แหละคือ หิริ โอตตัปปะ...ศีลของคนโง่...เป็นแบบนี้เอง...

    หิริ โอตตัปปะ นี้ ก็ยังดีอยู่ เพราะช่วยระงับยับยั้งไม่ให้คนทำชั่ว แม้จะไม่มีปัญญาก็ตาม
    ต่อเมื่อได้ภาวนาไป จนเห็นคุณขององค์ศีลแล้ว มีความซาบซึ้งใจในศีล เห็นประโยชน์ว่าน่ายกย่อง น่าอาศัยอยู่ เป็นเหตุให้ชุมชน สังคม และตัวเราเองนี้ เป็นสุข...

    เมื่อนั้นบุคคลจึงได้ชื่อว่ามีปัญญาในศีล...
    ศีลแบบนี้จึงจะเป็น สีเลนะ สุขะติงยันติ...ศีลทำให้เป็นสุข...
    สีเลนะ โภคสัมปทา...ศีลทำให้เกิดโภคทรัพย์...
    ทำไมศีลจึงทำให้เกิดโภคทรัพย์...

    ศีลแบบไหนจึงจะเป็น สีเลนะ นิพพุติงยันติ คือเป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้...
    คนที่รักษาศีล ก็แบบหนึ่ง...
    คนที่มีศีล ก็แบบหนึ่ง....
    คนที่เป็นศีล ก็แบบหนึ่ง...
    ต่างกันยังไง?
     
  11. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    เมื่อเราไม่ฆ่าคนและสัตว์
    ไม่ทำร้ายเบียดเบียน กลั่นแกล้ง ทั้งคนและสัตว์
    ทั้งคนและสัตว์ก็อยากอยู่ใกล้ด้วย เพราะรู้สึกปลอดภัย
    ความกังวล ความทุกข์ร้อนใจ จากคนและสัตว์ที่เราไปทำร้าย เบียดเบียน ข่มเหง เอาไว้ก็ไม่มี..
    การดำเนินชีวิตของเราก็ปกติสุข ไม่ต้องกังวล ว่าใครจะมามุ่งร้าย มาคิดร้าย แก้แค้น เอาคืน...ใครเข้าใกล้ก็ไม่มีอาการหวาดระแวง...

    นี่คือคุณเบื้องต้นของศีล ข้อที่ 1 สีเลนะ สุขะติงยันติ...ศีล นำมาซึ่งความสุข...
    คนที่ไม่คิดทำร้าย เข่นฆ่า ทั้งคนและสัตว์ ไม่เบียดเบียน ข่มเหง ปองร้ายใคร
    คนประเภทนี้ ย่อมได้รับความไว้วางใจ เรื่องความปลอดภัยที่อยู่ใกล้ด้วย ใครๆก็อยากอยู่ใกล้ อยากทำมาค้าขายร่วมด้วย...มีกิจการงานใดก็มักจะนึกถึงคนแบบนี้ก่อนเสมอๆ..ย่อมเป็นที่รักที่ไว้วางใจและชวนมาร่วมทำประโยชน์ด้วยกัน...
    นี่คือ สีเลนะ โภคสัมปทา ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์ เป็นคุณเบื้องต้นของศีลข้อที่ 1

    คนที่ซื่อสัตย์ ไม่โกง ไม่ยักยอก เงินทอง ทรัพย์สิน ไม่เบียดเบียนเวลาส่วนกลางมาเป็นส่วนตัว คนแบบนี้ เจ้าของกิจการทั้งหลายอยากได้ไปทำงานด้วยครับ...
    และคนแบบนี้เอง ถ้าของหาย จะไม่มีใครสงสัย ไม่มีใครจับผิดได้ เพราะคนแบบนี้ ไม่ขโมย ไม่โกงใคร...
    เมื่อจะจับกุม จะซักฟอก พิสูจน์การยักยอก ฉ้อโกง คนที่ซื่อสัตย์เช่นนี้ จะรอดปลอดภัย...
    ไม่ต้องโทษเพราะการลักทรัพย์ ยักยอก ฉ้อโกงใดๆ...
    นี่คือ สีเลนะ สุขติงยันติ...การรักษาศีลข้อ 2 เป็นเหตุให้มีความสุข...

    แม้แต่มหาโจรผู้ร้ายกาจ ก็ยังต้องการบริวารที่ซื่อสัตย์สุจริตต่อตนเอง จะแปลกใจทำไมหากจะมีคนทั้งหลาย อยากร่วมงานด้วยกับคนที่ซื่อสัตย์สุจริต อยากหุ้นส่วนร่วมธุรกิจด้วย อยากได้ไปทำงานด้วย อยากมอบหมายกิจการให้ช่วยดูแล...

    มีสิ่งใดอยากได้ย่อมจัดหาให้เต็มกำลัง และพร้อมจะโปรโมทขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน เพราะความเป็นคนซื่อสัตย์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ฉ้อโกง ไม่เบียดเบียน...

    นี้คือ สีเลนะ โภคสัมปทา...ศีล ข้อ 2 นี้ นำมาซึ่งโภคทรัพย์ ได้ด้วยเหตุนี้ครับ...
    นี่คือศีล ที่พ้นจากความกลัว และความอายไปแล้วครับ...เป็นศีลที่ให้คุณ และเป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นคุณของศีล...
    เป็นพื้นฐานด้านปัญญาทางโลก ในเรื่องคุณของศีล...อทินนาทานา เป็นศีลข้อที่2

     
  12. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    การเป็นคนรักเดียวใจเดียว ไม่ว่าผู้หญิงก็ดี ผู้ชายก็ดี เป็นสิ่งที่ดีด้วยกันทั้งนั้น...
    ผู้หญิงทั้งหลายต่างก็ปรารถนาผู้ชายที่รักเดียวใจเดียว...ยากดีมีจนยังพอทนได้...
    ส่วนผู้ชายที่รักเดียวใจเดียว ไม่นอกใจไปหาหญิงอื่น...

    ผลก็คือมีเวลามากขึ้น เพราะไม่ต้องไปแบ่งเวลาให้หญิงอื่น...
    เงินก็เหลือมากขึ้น เพราะไม่ต้องแบ่งไปทุ่มเทให้กับหญิงอื่น...

    หน้าที่การงานไม่เสียหาย เพราะสมองไม่ต้องคอยครุ่นคิดหาทางสับหลีกรางรถไฟไม่ให้ชนกัน...
    ไม่ต้องคอยคิดคำโกหก เจ้านาย โกหกลูกน้อง โกหกคู่ครองตัวเอง..เป็นอันว่าโล่งใจจากภาระเหล่านี้...
    อีกทั้งไม่ต้องคอยจำว่าได้ไปโกหกกับใครไว้แล้วบ้าง...

    จะกลับบ้านดึกก็ไม่มีใครโทรตามจิก ด้วยระแวงว่าจะไปเที่ยวซุกซนที่ไหน?
    จะไปไหนมาไหนไม่ต้องคอยระแวดระวังว่าจะถูกจับได้ในเรื่องนอกใจใคร..
    เพื่อนฝูงเจ้านาย ลูกน้อง ต่างก็ไว้วางใจว่าไม่นอกลู่นอกทาง เหมือนพวกคลำไม่มีหางฟาดเรียบ...
    ใครจะใส่ร้ายป้ายสีว่ามีชู้อย่างไร ก็ไม่เป็นผล...

    นี่คือคุณของศีลข้อที่3 สีเลนะสุขติงยันติ...ศีลนำมาซึ่งความสุข...
    สีเลนะโภคสัมปทา...ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์ เพราะเป็นคนที่เชื่อถือได้ จึงได้รับความไว้วางใจ ทั้งงานในหน้าที่และงานส่วนตัว...
    ครั้นจะมากล่าวกันถึงเรื่องการมีเมียน้อย หรือภรรยาคนอื่นๆนอกเหนือไปจากที่มีอยู่แล้ว...

    บางคนต้องการมี บางคนไปโทษกรรมเก่า บางคนก็ไปโทษว่านี่คือเนื้อคู่ ถ้าไม่ได้มาสมสู่ด้วยแล้วจะไม่สามารถบรรลุธรรมบ้าๆบอๆ...
    พวกบ้าแบบนี้มีอยู่มาก ทั้งที่จริงๆแล้วคือพวกบ้าตัณหาราคะนี่เอง..
    ไม่ได้บ้าอย่างอื่นหรอก
    ผมเคยพิจารณาประเด็นนี้อยู่ว่า การมีภรรยาหลายคนนั้น สามารถทำได้ ในสังคมบางสังคมก็ยอมรับการมีภรรยาหลายคนด้วยกัน...แต่ทั้งนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า...

    1. พ่อแม่ผู้ปกครองฝ่ายหญิงยินดีให้ลูกสาวตนเองมาเป็นภรรยาคนที่ 2 , 3 ,4
    2. ภรรยาคนแรก ยินดี(ไม่ใช่ยินยอม) ให้ผู้หญิงคนนั้นเข้ามาใช้สามีร่วมด้วยกันกับตน คล้ายๆกับเรื่องพระเพื่อน พระแพง
    แบบนี้ก็ไม่ผิด...หรือหากว่าเลิกลากันไปแล้วกับภรรยาคนแรก จะมีภรรยาใหม่แบบนี้ก็ไม่เป็นไร...

    แต่ถ้าหากมีไปแล้วต้องแอบๆซ่อนๆ เพราะเกรงภรรยาตัวจะรู้ แบบนี้ก็ผิดครับ ผิดทั้งโลก ผิดทั้งธรรม มีแล้วก็จะมีแต่ทุกข์ แต่ความวุ่นวาย หาความสงบสุขไม่เจอ...
     
  13. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    คุณขององค์ศีล ข้อที่ 4 คือการไม่กล่าว วาจาที่เป็นเท็จ...
    ความจริงแล้ว...ศีลข้อนี้ จะรวมไปถึง..

    การด่าทอ ด้วยวาจา หยาบคาย
    การพูดจากระแนะ กระแหน
    การดูถูก
    การให้ร้ายป้ายสี
    การพูด กระทบกระแทกแดกดัน
    การกล่าววาจา เพ้อเจ้อ เหลวไหล ไร้สาระ...
    ..............................................
    สำหรับคนที่รักษาศีลข้อที่ 4 นี้ จะกลายเป็นคนมีเครดิตขึ้นมาทันที...
    พูดอะไรไปแล้วคนจะเชื่อ...

    บอกว่าไม่มีเมียน้อย เมียมากก็ไม่มี....เมียก็เชื่อ...ชีวิตครอบครัวก็มีความสุขครับ...
    บอกว่ารับปากจะช่วย...คนแบบนี้พูดไปแล้ว จะทำจนตัวตายก็ยอม ให้สิ่งที่ตนรับปากไว้สำเร็จจนได้...แบบนี้อยู่ที่ไหน เจ้านายก็รักครับ...

    มีวาจาเป็นภาษิต คือพูดอะไรไป มีประโยชน์ มีสาระ มีส่วนในการชี้นำถึงโอกาส และ เป็นวาจาที่ให้กำลังใจคน...
    คนที่พูดจาแบบนี้ มีประโยชน์แบบนี้...ถ้าเรามีเวลาสัก 10 นาที ต้องเดินผ่านคนๆหนึ่ง ที่พูดแต่เรื่องทุกข์ มีแต่เรื่องนินทาคนอื่นเขา ว่าร้าย ใส่ร้ายคน....

    กับอีกคนที่พูดจา ก็มีแต่ให้กำลังใจกัน มีข่าวสารดีๆก็นำมาเล่าสู่ให้ฟัง...ให้คำแนะนำดีๆ มีประโยชน์...เราย่อมเลือกที่จะเดินไปเจรจากับคนหลังนี่แหละครับ...นี่คือสีเลนสุขติงยันติ...ศีลนำมาซึ่งความสุข

    คนที่พูดจา เป็นวาจาสัจ...ไปที่ไหนคนก็จะให้ความเชื่อถือ...ซื้อของโดยไม่ต้องใช้เงิน เอาไปขายก่อน ได้เงินแล้วค่อยเอามาให้ก็ได้...เพราะเชื่อถือคำพูดของคนๆนี้...ว่าไม่กล่าววาจาเท็จ...นี่คือ สีเลนโภคสัมปทา....ศีล นำมาซึ่งโภคทรัพย์
     
  14. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    คุณขององค์ศีล ข้อที่ 5 นี้คือ...การไม่ดื่มสุราและเมรัย...
    หมายเอาถึง แอลกอฮอล์ และสิ่งอันนำมาซึ่งความมึน .. เมา...

    ชายดีๆคนนึง...พอเหล้า หรือน้ำเปลี่ยนนิสัย เข้าปากเท่านั้น เขาก็ออกอาการของผีบ้าขึ้นมาทันที...
    อะไรที่ตอนดีๆไม่กล้าทำก็ทำ..อะไรที่ไม่กล้าพูด ก็พูด เพราะสำนึกผิดชอบ ชั่ว ดี หายไปแล้ว....
    ความจริงมันหายไปตั้งแต่ตอนเริ่มรินเหล้าแล้วครับ สำนึกที่ดีมันหายไปตั้งแต่ตอนนั้นแล้ว...
    เคยได้ยินคำว่า เหล้า แพง ขวดแรก ใช่ไหมครับ...
    เพราะพอหมดขวดแรกแล้ว ทุกคนพร้อมใจกันควักจ่ายอย่างไม่ลังเล...ไม่ต้องสนใจว่าพรุ่งนี้จะมีกินไหม? ที่บ้านจะเป็นอย่างไร? ไม่ต้องคิดอะไรมันทั้งนั้น เพราะว่ามันเมาเสียแล้ว...
    ..............................
    คนไม่ดื่มเหล้ามันดียังไงครับ...

    1. ผู้คนให้เกียรติ ไม่ดูถูก
    2. ครอบครัวเป็นสุข ไม่มีพ่อ มีแม่ มีลูก ขี้เมา อาละวาด
    3. ไม่เสียสุขภาพ
    4. ไม่เสียเงินเสียทอง
    5. เป็นผู้มีความน่าเชื่อถือ สมควรได้รับมอบหมายงานการให้รับผิดชอบได้
    6. ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

    เมื่อไม่ดื่มเหล้า ก็ไม่เมา ไม่ต้องทะเลาะกัน มีปากมีเสียงต่อกัน ไม่ต้องไปนั่งดื่มกันดึก ก็มีเวลากลับบ้านมาอยู่พร้อมหน้าพร้อมตากัน...นี่คือสีเลนสุขติงยันติ...ศีลนำมาซึ่งความสุข...

    เมื่อไม่เป็นคนขี้เหล้าเมายา การงานก็ย่อมรับผิดชอบได้ดี ได้รับความไว้วางใจจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน หรือหุ้นส่วน...หน้าที่การงาน กิจการ ก็มีโอกาสเจริญก้าวหน้า มากกว่า พวกที่ขี้เหล้าเมายา...

    นี่คือ สีเลนโภคสัมปทา...ศีลนำมาซึ่งโภคทรัพย์...

     
  15. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    สำหรับคนที่รักษาศีล...คือบุคคลผู้หมั่นระลึกถึงศีล คุณขององค์ศีลไว้สม่ำเสมอ...
    เมื่อตระหนักในคุณขององค์ศีลแล้ว ย่อมมีใจยินดีในการรักษาศีลเอาไว้...นี้เป็นเบื้องต้น.
    ต่อมาจึงได้กลายเป็นผู้มีศีล...คือบุคคลผู้มีศีลอยู่ในกายในใจ เมื่อต้องตกอยู่ในเหตุการณ์คับขัน ให้ต้องละเมิดศีล ก็จะสามารถนำศีลที่มีนี้ มาใช้เป็นเครื่องสงบระงับได้..เป็นผู้อาศัยศีลที่ตนเองมีอยู่นั้น นำมาคุ้มครองป้องกันตนเอง ไม่ให้ตกไปสู่โลกที่ชั่ว...
    ผู้ที่มีศีลนี้ ยังคงต้องหมั่นระลึกถึงองค์ของศีลเอาไว้อยู่ ยังต้องนำเอาศีลนั้นมาใช้อยู่ ประสาของคนที่มีศีล...

    ผู้ที่เป็นศีล...คือ ผู้ที่พ้นไปแล้วจากการต้องระมัดระวังในองค์ของศีล ลักษณะนี้จะมีในพระอริยะบุคคลตั้งแต่ชั้นต้นเรื่อยไป...ด้วยกาย ใจ ท่านเป็นน้ำหนึ่งอันเดียวกันกับศีล...เมื่อนั้นไม่มีความจำเป็นต้องไประลึกถึงองค์ของศีลก็ได้ เพราะท่านกับศีลเป็นหนึ่งเดียวกันไปแล้ว จะหยิบ จะจับอะไรก็เป็นศีลไปเสียทั้งหมด....

    การจะทำแบบนี้ได้ จิตต้องเข้าถึงศีลแล้ว...จิตที่เข้าถึงเจตนาคือการไม่ทำชั่ว...ไม่คิดชั่ว เมื่อนั้นแล้ว วาจาย่อมไม่สามารถจะชั่วได้ และการกระทำใดๆก็ไม่สามารถจะชั่วได้ ด้วยเพราะจิตใจท่านเหล่านี้พ้นไปเสียแล้วจากความชั่ว...นี่คืออาการของผู้ที่เป็นศีล...
    จนบางครั้งเราจะได้ยินว่า ท่านเหล่านี้ไม่มีกรรมแล้ว ... มีเพียงกริยา...เหตุที่มาก็เนื่องจาก จิตท่านไม่มีเจตนาในการทำชั่วอีกต่อไป....เป็นอยู่ด้วยจิตว่าง ใจว่าง เมื่อว่างอยู่อย่างนั้นแล้ว จะทำกรรมโดยมีเจตนาเป็นตัวตั้ง ย่อมไม่มี...
    ศีลลักษณะนี้เอง จึงเรียกว่า สีเลนนิพพุติงยันติ...ศีล เป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้
     
  16. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    สีลพตปรามาส มีอาการอย่างไร?
    (อ่านว่า สี ละ พะ ตะ ปรา มาส)
    พระท่านแปลคำนี้ว่า คือ การลูบๆคลำๆศีล...ฟังคำแปลแล้ว ผมก็ไม่เคยเข้าใจเหมือนกัน...หลวงพ่อเพียงสั่งว่าให้ฝึกไป ปฏิบัติไป วันหนึ่งจะรู้จะเข้าใจเอง...

    บุคคลที่จะเข้าถึงสีลพตปรามาสนั้น ต้องเป็นผู้เคารพแน่วแน่ในไตรสรณคมน์ เป็นอย่างดีแล้ว คือ เคารพในพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์....

    อย่างน้อยจะต้องเป็นผู้เห็นว่า ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยง เราจะมีความตายเป็นแน่แท้...
    และมีความเห็นตรงว่า พระธรรมที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสรู้ดีแล้ว ชอบแล้ว สมควรแล้ว เป็นหนทางแห่งการสิ้นไปแห่งทุกข์...

    เมื่อนั้นแล้วจึงจะมาประสบพบเห็นเข้ากับสีลพตปรามาส กล่าวคือ จะเป็นผู้ถือเอา พระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์ เท่านั้นเป็นสรณะ...
    จะไม่ถือเอา สิ่งอื่นใด นอกจากนี้ เป็นสรณะ ไม่ไหว้ช้างสามเศียร ไม่ไหว้ไม้ตะเคียน ไม่กราบไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดๆ เพื่อขอให้ช่วยเหลืออีก...
    เพราะเชื่อแล้ว เห็นแล้วตามที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงตรัสว่า สิ่งทั้งหลาย เกิดแต่กรรม...

    มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ ฯ ใครทำกรรมใดไว้ ดีหรือชั่วก็ตาม ตนจะต้องได้รับผลของกรรมนั้น...
    เมื่อเห็นเช่นนี้แล้ว การจะไปกราบไหว้สิ่งต่างๆ ที่คนทั้งหลายถือเอาว่า ศักดิ์สิทธิ์ มีอิทธิฤทธิ์ ดลบันดาลเปลี่ยนแปลงชะตากรรมใดๆ ให้คนทั้งหลายยึดเอาถือเอา แบบนี้จะไม่มีในพุทธบริษัทฯได้เลย...

    การจะกล่าววาจา จาบจ้วง ในพระรัตนตรัย ก็ไม่มี
    การจะเอาพระธรรม มานั่งถกเถียงกัน เอาแพ้เอาชนะ ตามอำนาจของกิเลส ก็ไม่มี
    การจะแสดงธรรมใดๆ ก็จะพิจารณาโดยชอบแล้วว่า เป็นเวลาที่เหมาะสมแก่การแสดงธรรม...
    ได้พบบุคคลที่สมควรกล่าวธรรม ...

    และสถานที่นั้นเหมาะสมแล้วแก่การแสดงธรรม อันองค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ดีแล้ว...
    จะไม่เอาพระธรรม ของพระองค์ มาแสดงกล่าวพร่ำเพรื่อ ขาดสำเหนียกซึ่ง กาละ เทศะ
    นี่จึงเป็นลักษณาการของผู้สงบแล้วในสีลพตปรามาส เป็นผู้เห็นคุณเห็นโทษประจักษ์แก่ใจแล้ว เป็นผู้ยอมมอบกายถวายชีวิตต่อพระรัตนตรัย
    มั่นคงแน่วแน่ตลอดชีวิต ...

    แม้ความตายจะปรากฎอยู่เบื้องหน้า ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงจิตใจของคนเช่นนี้ได้...
    เมื่อจิตใจของบุคคลได้เริ่มต้น รักษาศีล ด้วยความละอาย และเกรงกลัวต่อบาป เป็นเบื้องต้น
    ในท่ามกลาง ได้มีปัญญาเห็นถึงคุณงามความดี และประโยชน์แห่งองค์ศีลแล้ว จึงประพฤติยึดมั่นเอาไว้

    ในบั้นปลาย ได้เกิดปัญญา ให้ไปเสียจากสิ่งชั่วในดวงใจ หมดเหตุแห่งเจตนาในการทำชั่ว ในดวงจิตแล้ว...
    ในที่สุด ก็จะถึงซึ่งความหมดจรด ไร้ฝุ่นผงธุลีใดๆ ไม่มีบาปใดๆ ทั้งต้นเหตุ กลางเหตุ และปลายเหตุ ปรากฎในดวงใจอีก...
    เห็นจิตในจิตของตนแล้วว่า พ้นเสียแล้วจาก สีลพตปรามาส อันเป็นศีลขั้นสุด...

    เมื่อนั้นอบายภูมิย่อมปิดไปเสียแล้ว จากบุคคลผู้นี้...สีเลนะนิพพุติงยันติ...ศีลเป็นเหตุให้เข้าถึงพระนิพพานได้ ด้วยเหตุนี้..
    และนี่คือ ความหมายทั้งหมดของคำว่า ลูบคลำศีล...
    สุดท้ายนี้ ก็ขอจบ องค์แห่งคุณของศีล ในสีลพตปรามาส เอาไว้แต่เพียงเท่านี้...
    เป็นอันว่า ความเห็นอันเป็นสัมมาฑิฐิทั้งสามประการนี้ เป็นสิ่งที่นักปฏิบัติทั้งหลาย ที่มุ่งหวังความดับไม่มีเชื้อ จำเป็นจะต้องมีอยู่ในกาย วาจา ใจ ของตนเป็นปกติ....

    ผลของการตั้งใจไว้ในสัมมาฑิฐิทั้งสามประการนี้ ก็คือ โสดาปัตติมรรค คือผู้มีความตั้งมั่นจะดำเนินไปในหนทางของพระโสดาบัน แต่ยังไม่ได้บรรลุโสดาปัตติผล เป็นแต่ผู้มีความตั้งใจจริงในการดำเนินไป นี่คือความมุ่งหวังของครูบาอาจารย์ ที่จะให้พวกเราทั้งหลาย ได้เข้าถึง ความเป็นโสดาบัน ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโสดาปัตติมรรค ด้วยความเห็นตรง ในสามประการนี้ก่อน...
    ส่วนโสดาปัตติผล จะเกิดกับท่านเมื่อไร อันนี้ ไม่สามารถพยากรณ์ได้...
     
  17. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    ตอนที่ 2 นิยามและความหมาย



    "พุทโธ" แปลว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ใช้เป็นคำบริกรรม เพื่อผูกจิตให้นิ่งเป็นสมาธิ



    "ภาวนา" แปลว่า ทำให้เกิดขึ้น ทำให้มีขึ้น เช่นการเจริญสติ เรียกว่าการภาวนา เพื่อให้เกิดมีสติขึ้น



    "จุติ" แปลว่า เคลื่อน เช่นเทวดาเมื่อหมดอายุขัย ก็จะเคลื่อนจากสภาพความเป็นเทวดา มาเป็นมนุษย์ ก็เรียกว่า เทวดาจุติ จุติไม่ได้แปลว่าเกิด



    "สังขาร" มีสองความหมายด้วยกัน ความหมายหนึ่ง คือ ความคิดนึกปรุงแต่ง อีกความหมายหนึ่งคือ ร่างกาย จิตใจ แล รูปธรรมนามธรรมทั้งหมดทั้งสิ้น



    "วิญญาณ" มีสองความหมายด้วยกัน ความหมายหนึ่ง คือ กายทิพย์ หรือกายใน หรืออาทิสมานย์กาย อีกความหมายหนึ่งคือ รู้ เป็นนามธรรม เช่น ตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ ส่งต่อไปยังจิต หรือจะกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สิ่งที่เชื่อมต่อระหว่าง ตา กับ ใจ เพื่อส่งผ่านภาพที่เห็น หรือเสียงที่ได้ยิน เป็นต้น



    "สัญญา" คือ ความจำ ความทรงจำ เป็นนามธรรม ที่ไม่เพียงจะจำได้ทั้ง รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และอารมณ์ที่เกิดขึ้น



    "เวทนา" คือ ความรู้สึก สุข-ทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นนามธรรมที่เกิดขึ้นที่จิต แสดงเป็นอาการออกมาที่จิต เช่นการนั่งสวดมนต์นานๆมีอาการปวดขา ปวดเอวมากๆ คนไม่รู้เข้าใจว่าความเจ็บปวดนี้คือทุกขเวทนา แต่ความหมายจริงๆของทุกขเวทนาคือ เมื่อเกิดอาการปวดขาปวดเอวแล้ว จิตใจมีความรู้สึกเป็นทุกข์ อันเกิดอาการยินร้าย ต่อเมื่อมีคนมาบีบมานวดให้หายปวดหายเมื่อยผ่อนคลายสบายตัว คนก็เข้าใจว่าเป็นสุขเวทนาแต่ความหมายของสุขเวทนานี้ ต้องเกิดที่จิตเป็นอาการยินดี ไม่ได้หมายถึงที่กาย เพียงแต่เป็นการสืบเนื่องกันมาจากกายนี้เท่านั้น



    "พิจารณา" คือ การนึกคิด ตรึกตรอง ด้วยมีสติคอยควบคุม และมีกำลังสมาธิ เป็นฐาน หากไม่มีสติและสมาธิควบคุมไว้แล้ว การพิจารณานั้นก็จะเป็นแต่เพียงความคิด ความคิดฟุ้งซ่าน หาประโยชน์มิได้ และการพิจารณาในทางธรรมนี้ จะมีจุดจบ มีที่สิ้นสุด คือไตรลักษณ์



    "ไตรลักษณ์ ประกอบด้วย อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา"



    "อนิจจัง" คือ ความไม่เที่ยง ความไม่แน่นอน

    "ทุกขัง" คือ ความทนได้ยาก การทนอยู่ในสภาวะเดิมๆอย่างนั้นไม่ได้ มิได้หมายถึงความเจ็บปวดกาย เจ็บปวดใจแต่อย่างใด แต่เป็นทุกข์ในอริยสัจจ์เช่นการทรงอยู่ในวัยหนุ่มสาวไม่ได้ต้องแก่ลงไป นี่คือทุกข์ ในความหมายของไตรลักษณ์หรืออริยสัจจ์

    "อนัตตา" คือ ความไม่มีตัวตน เพราะในท้ายที่สุดสิ่งนั้นๆต้องมีการสิ้นสลายหายไปจนหมดสิ้น ไม่สามารถทรงไว้ได้ตลอดกาลนาน เช่นนี้เป็นต้น



    "สูญญตา" คือ ความว่าง มีความหมายใกล้เคียงกับอนัตตา เพราะเป็นความว่างจากตัวตน จากอารมณ์ภายนอกต่างๆ เพียงแต่ยังไม่สามารถพ้นไปจากวัฎฎสงสารได้ เป็นแต่เพียงความว่างในฌาณสมาบัติชั้นสูงเท่านั้น
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 11 ตุลาคม 2015
  18. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    นิยามและความหมาย(ต่อ)

    "อนุโลม" เป็นการพิจารณา เพื่อการดำเนินไป เช่น จากเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นคนแก่ ตาย ร่างกายเน่า สลาย กลายเป็นธุลี

    "ปฏิโลม" เป็นการพิจารณา ย้อนกลับ เช่น จากธุลี กลายเป็นร่างกายเน่าๆ เป็นคนตาย คนแก่ เป็นผู้ใหญ่ เป็นเด็ก

    "โยนิโสนมสิการ" คือ การพิจารณาโดยแยบคาย เป็นการพิจารณาโดยละเอียดรอบคอบ ไม่ข้ามไปข้ามมา ไม่ทำโดยลวกๆ



    "ปีติ" คือ อารมณ์ปลาบปลื้มใจ เป็นอารมณ์หนึ่งของผู้ฝึกสมาธิเมื่อเข้าสู่ปฐมฌาณ มีอาการ 5 อย่างที่แสดงออกมาทางกายเป็นการสะท้อนการเกิดปีติ ที่เกิดขึ้นที่ใจ คือ ขนลุกพองสยองเกล้า , ตัวโยกโคลงไปมา, ตัวขยายใหญ่ขึ้น หรือหน้าบานใหญ่ขึ้น, ตัวลอยขึ้นได้, น้ำตาไหลพราก ผู้ฝึกสมาธิจะปรากฎอาการเหล่านี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง แต่ผู้ที่ปรารถนาพุทธภูมิจะผ่านอาการปีติทั้ง 5 อย่างนี้จนครบ



    "พุทธภูมิ" คือ ผู้ที่ปรารถนาจะเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในภายภาคหน้า ปรารถนาจะเป็นพุทธะ ในระหว่างที่บำเพ็ญบารมีนั้นจะเรียกท่านเหล่านี้ว่าเป็น พระโพธิสัตย์



    "สาวกภูมิ" คือ ผู้ที่ปรารถนาจะสำเร็จอรหัตผล เพื่อเข้าสู่นิพพาน โดยต้องบำเพ็ญบารมีเป็นเวลา 1 อสงไขย กำไรแสนกัปป์



    "กำไรแสนกัปป์" หมายถึง ระยะเวลาที่เป็นเศษของอสงไขย เป็นส่วนที่เกินเพิ่มขึ้นมา เรียกว่ากำไร ซึ่งมีระยะเวลาแสนกัปป์ โดยประมาณ



    " 1 กัปป์" สมมติขึ้นโดยการเปรียบเทียบว่า ทุกๆ100ปี นางฟ้านำผ้าเช็ดหน้าบางๆมาโบกพัดยอดเขาพระสุเมร 1 ครั้ง ทำเช่นนี้ไปจนยอดเขาพระสุเมร สลาย ราบกลายเป็นแผ่นดิน นับเวลาเป็น 1 กัปป์ ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าเป็นการอุปมาอุปมัย เพราะระยะเวลา100ปี ลม ฝน ที่พัดผ่านยอดเขาพระสุเมร ย่อมมีกำลังแรงกว่าผ้าเช็ดหน้าบางๆของนางฟ้าที่มาพัดโบกให้เขาพระสุเมรสลายตัวลงไป ทั้งนี้เพื่อจะบอกว่า เป็นเวลานานมาก บางคนก็จะคำนวณระยะเวลา 1 กัปป์ไว้ว่า เท่ากับ 1คูณ10ยกกำลัง36 หรือการพูดคำว่าล้านไป6ครั้ง แล้วลงท้ายด้วยคำว่าปี ซึ่งก็แล้วแต่คนจะนิยามกันไป



    "พระปัจเจกพุทธเจ้า" คือ พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ชอบได้ด้วยตนเอง แต่ไม่สามารถอบรมสั่งสอนคนทั่วไปทั้งหลายได้ มักจะถือกำเนิดขึ้นช่วงที่ว่างเว้นพระพุทธศาสนาบนโลกนี้ ท่านยังคงสอนคนให้บรรลุมรรคผลได้ แต่เพียงเฉพาะบางคนที่เคยบำเพ็ญบารมีร่วมกันมา หนึ่งในท่านที่ได้รับพยากรณ์คือ พระเทวฑัต



    "สุกขวิปัสโก" เป็นอรหันตสาวก ที่มีภูมิรู้ในธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้น มีการเจริญมหาสติปัฎฐานเป็นหลัก มีสมาธิเป็นรอง ไม่มีความเป็นทิพย์ใดๆ ไม่สามารถแสดงฤทธิ์ได้ แต่เป็นผู้เชี่ยวชาญแตกฉานในหัวข้อธรรม มีปัญญาแหลมคม จนประหารกิเลสให้สิ้นไปได้
     
  19. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    ตอนที่ 3 ผลของการปฏิบัติ


    สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อนักปฏิบัติในการเจริญสติ อันจะเป็นเครื่องชี้วัดถึงความถูกผิดนั้นจะมีดังต่อไปนี้คือ

    1. เป็นผู้มีความรู้สึกตัว ตื่นตัวอยู่ เมื่อมีอารมณ์ไม่พอใจเข้ามากระทบ แม้รับรู้ แต่ก็ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นๆ ความประพฤติใดๆ กริยาใดๆ ก็เป็นไปตามสมควรแก่กาลเทศะ ยังประโยชน์ตน ประโยชน์ท่านให้บังเกิด

    2. เมื่อมีอารมณ์น่ายินดี น่าพอใจเข้ามากระทบ แม้รับรู้ แต่ก็ไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์นั้นๆ ความประพฤติใดๆ กริยาอาการใดๆ ก็เป็นไปตามสมควรแก่กาลเทศะ

    3. เป็นผู้มีสติ ตามดูจิต อยู่เนืองๆ ไม่เป็นผู้ติดยึด หลงยึด ในสิ่งใดๆ ที่ปรากฏเกิดขึ้นแก่จิตใจ มีปกติเห็นสิ่งต่างๆที่ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ว่านี่เป็นธรรมดา

    4. เป็นผู้มีความสงบ เสงี่ยม อยู่ภายใน มีกริยาอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นผู้ไม่ดูถูก ดูแคลนใคร และไม่สนใจว่าใครจะดูถูก ดูแคลนตน

    5. เป็นผู้ที่เชื่อในผลของกรรมว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เมื่อผลของวิบากกรรมดีเกิดขึ้นกับตน ก็มีสติรู้อยู่ไม่หวั่นไหว เมื่อผลของกรรมชั่วเกิดขึ้น ก็มีสติรู้อยู่ไม่หวั่นไหวไปด้วยกับวิบากนั้นๆ

    6. เป็นผู้มีความเพียรพร้อม มีความรู้สึกตัว(สัมปชัญญะ) มีสติตามดูจิต ในการทำกิจการงานต่างๆ ตลอดทั้งวัน คืน

    7. เป็นผู้มีสติ ไม่หลงงมงาย ไม่ถือมงคลตื่นข่าว จึงมีความสงบ ระงับ ไม่ฟู่ฟ่า ฟูมฟาย

    8. เป็นผู้เห็นความไม่เที่ยงแท้แน่นอน เป็นปกติ

    9. เป็นผู้มีความเห็นตรง มีความเห็นชอบ ตามที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงตรัสแนะนำสั่งสอนเอาไว้

    10. เป็นผู้มีความประพฤติปฏิบัติในกิจการงานทั้งหลายอย่างเต็มที่ โดยมีสติ รู้ตัวอยู่ โดยไม่ยึด ไม่คาดหวังในผลใดๆที่จะบังเกิดขึ้นในอนาคต

    11. เป็นผู้อยู่ในปัจจุบัน แม้คิดวางแผนไปในอนาคต ก็เป็นด้วยการหาเหตุปัจจัยในปัจจุบันเพื่อเกื้อกูลให้เกิดประโยชน์ในอนาคต ไม่เป็นคนฟุ้งซ่าน แม้คิดไปในอดีต ก็เพื่อนำมาเป็นประสบการณ์สำหรับการตัดสินปัญหาในปัจจุบัน ไม่คิดเพื่อการร้องห่มร้องไห้ ฟูมฟาย

    12. เป็นผู้ไม่ตื่นตระหนกตกใจง่าย

    13. ไม่เป็นผู้นิ่งเฉย ดูดาย เป็นคน Active อยู่เสมอ

    14. เป็นผู้รู้เท่าทันอารมณ์ตนเองอยู่เสมอ

    15. เป็นผู้รักในการเจริญสติ การภาวนา ไม่ว่างเว้น ไม่เบื่อหน่าย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 12 ตุลาคม 2015
  20. raming2555

    raming2555 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 ธันวาคม 2012
    โพสต์:
    1,552
    ค่าพลัง:
    +18,993
    ตอนที่ 4 จะเป็นข้อสรุป วิธีการปฏิบัติ
     

แชร์หน้านี้

Loading...