พระประวัติสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 19 พระองค์

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 2 ธันวาคม 2009.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    พ.ศ. ๒๓๒๕-๒๓๓๗


    วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
    แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    มีพระนามเดิมว่า “ศรี” (บางตำราเขียนว่า “สี”)
    พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
    ทราบแต่เพียงว่า เดิมเป็นเพียง พระอาจารย์ศรี ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    อยู่ที่วัดพนัญเชิง อำเภอกรุงเก่า จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
    เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าในแผ่นดินพระเจ้าเอกทัศน์
    พระสงฆ์ถูกฆ่า วัดวาอาราม พระไตรปิฎก ถูกเผาทำลายวอดวายจนสิ้นเชิง
    พระภิกษุสามเณรต่างก็พากันหลบภัยไปอยู่ตามวัดต่างๆ ในต่างจังหวัด
    พระอาจารย์ศรีก็ได้หลบภัยสงครามไปจำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง
    ในเมืองนครศรีธรรมราช ที่ซึ่งพระพุทธศาสนาเจริญรุ่งเรืองมาโดยตลอด

    ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๑๒ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงยกทัพ
    ไปปราบก๊กเจ้านครซึ่งตั้งตัวเป็นใหญ่ ที่เมืองนครศรีธรรมราช
    จึงได้อาราธนาพระอาจารย์ศรี ขึ้นมาจำพรรษาอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่
    (ปัจจุบันคือ วัดระฆังโฆสิตาราม) เนื่องด้วยทรงคุ้นเคยและรู้จักเกียรติคุณ
    ของพระอาจารย์ศรี มาตั้งแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ในขณะนั้น พระอาจารย์ดี ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชอยู่ก่อน
    แต่ต่อมาภายหลัง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงทราบว่า
    พระอาจารย์ดีเคยบอกที่ซ่อนทรัพย์ของผู้อื่นให้แก่พม่าเมื่อเวลาถูกขังอยู่
    จึงโปรดให้ถอดออกจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
    แล้วได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระอาจารย์ศรี
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช แทน ในพ.ศ. ๒๓๑๒ นั้นเอง
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงธนบุรี


    ทรงถูกถอดจากตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช

    ครั้นถึง พ.ศ. ๒๓๒๔ อันเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ได้ถูกถอดจากตำแหน่งเนื่องจากได้ถวายวิสัชนาร่วมกับ
    พระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อย (วัดอมรินทราราม)
    และพระพิมลธรรม วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพนหรือวัดโพธิ์)
    เรื่องพระสงฆ์ปุถุชนไม่ควรไหว้คฤหัสถ์ที่เป็นอริยบุคคล
    เนื่องจากคฤหัสถ์เป็นหินเพศต่ำ พระสงฆ์เป็นอุดมเพศที่สูง
    เพราะทรงผ้ากาสาวพัสตร์และพระจาตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ ดังความว่า

    “ถึงมาตรว่าคฤหัสถ์เป็นพระโสดาก็ดี แต่เป็นหินเพศต่ำ
    อันพระสงฆ์ ถึงเป็นปุถุชน ก็ตั้งอยู่ในอุดมเพศอันสูง
    เหตุทรงผ้ากาสาวพัสตร์ และพระจตุปาริสุทธิศีลอันประเสริฐ
    ซึ่งจะไหว้นบคฤหัสถ์ อันเป็นพระโสดานั้นก็บ่มิควร”


    ข้อวิสัชนาดังกล่าวนี้ไม่ต้องพระทัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    พระองค์จึงให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระสังฆราช ลงมาเป็นพระอนุจร (พระธรรมดา)
    แล้วทรงตั้งพระโพธิวงศ์ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    และตั้งพระพุทธโฆษาจารย์ เป็นพระวันรัต
    เหตุการณ์ครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    และพระราชาคณะทั้งสองรูปดังกล่าว เป็นพระเถระที่เคร่งครัดมั่นคงในพระธรรมวินัย
    แม้จะต้องเผชิญกับราชภัยอันใหญ่หลวงก็มิได้หวั่นไหว
    นับเป็นพระเกียรติคุณที่สำคัญประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑


    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชครั้งที่ ๒

    ครั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คืนสมณฐานันดรศักดิ์และตำแหน่งดังเดิม
    ให้แก่ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “ทรงพระราชดำริว่า ฝ่ายข้างอาณาจักรได้แต่งตั้งข้าราชการตามตำแหน่งเสร็จแล้ว
    ควรจะจัดการข้างฝ่ายพุทธจักร ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
    ซึ่งเสื่อมทรุดเศร้าหมองนั้นให้วัฒนารุ่งเรืองสืบไป
    จึงดำรัสให้สึกพระวันรัต (ทองอยู่) กับพระรัตนมุนี (แก้ว) ออกเป็นฆราวาส
    ดำรัสว่าเป็นคนอาสัตย์สอพลอทำให้เสียแผ่นดิน.....ดำรัสให้
    สมเด็จพระสังฆราช พระพุฒาจารย์ และพระพิมลธรรม
    ซึ่งเจ้ากรุงธนบุรีให้ลงโทษถอดเสียจากพระราชาคณะ เพราะไม่ยอมถวายบังคมนั้น
    โปรดให้คงที่สมณฐานันดรศักดิ์ดังเก่า ให้คืนไปอยู่ครองพระอารามตามเดิม
    และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ดำรัสสรรเสริญว่า พระผู้เป็นเจ้าทั้งสามพระองค์นี้ มีสันดานสัตย์ซื่อมั่นคง
    ดำรงรักษาพระพุทธศาสนาโดยแท้ มิได้อาลัยแก่ร่างกายและชีวิต
    ควรเป็นที่นับถือไหว้นบเคารพสักการบูชา แม้มีข้อสงสัยสิ่งใดในพระบาลีไปภายหน้า
    จะให้ประชุมพระราชาคณะไต่ถาม ถ้าพระผู้เป็นเจ้าทั้งสามว่าอย่างไรแล้ว
    พระราชาคณะอื่นๆ จะว่าอย่างอื่นไป ก็คงจะเชื่อถ้อยคำพระผู้เป็นเจ้าทั้งสาม
    ซึ่งจะเชื่อถือฟังความตามพระราชาคณะอื่นๆ
    ที่เป็นพวกมากนั้นหามิได้ ด้วยเห็นใจเสียครั้งนี้แล้ว”


    ความในพระราชดำรัสดังปรากฏในพระราชพงศาวดารข้างต้นนี้
    ย่อมเป็นที่ประจักษ์ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) เป็นที่ทรงเคารพนับถือ
    ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    และสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นอันมาก
    ทั้งเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยในการที่จะฟื้นฟูทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา
    ให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้ทรงพระราชดำริ
    ในอันที่จะทำสังคายนาพระธรรมวินัยให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
    เพื่อเป็นหลักของพระพุทธศาสนาในพระราชอาณาจักร ยั่งยืนสืบไปชั่วกาลนาน
    และโดยที่เป็นที่ทรงเคารพนับถือและเป็นที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัยดังกล่าวแล้ว

    จึงกล่าวได้ว่า สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) คงจักทรงเป็นกำลังสำคัญ
    ในการชำระและฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในครั้งรัชกาลที่ ๑ เป็นอย่างมาก
    ทั้งในด้านความประพฤติปฏิบัติของพระภิกษุสามเณร
    การบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถาน การชำระตรวจสอบพระไตรปิฎกให้ถูกถ้วนบริบูรณ์
    ตลอดถึงในด้านความประพฤติปฏิบัติในทางที่ถูกที่ควรของพุทธศาสนิกชนทั่วไป
    ดังจะเห็นได้ว่าในระหว่างที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น
    ได้ทรงมีพระราชปุจฉาเกี่ยวกับการพระศาสนาด้านต่างๆ
    ไปยังสมเด็จพระสังฆราชมากกว่า ๕๐ เรื่อง
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) พร้อมด้วยพระสงฆ์ราชาคณะ
    ก็ได้ถวายพระพรแก้พระราชปุจฉา เป็นที่ต้องตามพระราชประสงค์ทุกประการ

    สิ่งแสดงถึงพระราชศรัทธาเคารพนับถือใน
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่ทรงมีต่อ
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) อีกประการหนึ่งก็คือ
    เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้วได้โปรดเกล้าฯ
    ให้รื้อตำหนักทองของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีไปปลูกเป็นกุฎีถวาย ณ วัดบางว้าใหญ่
    แต่น่าเสียดายที่ตำหนักทองนี้ถูกไฟไหม้เสียเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓
     
  2. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ


    พระกรณียกิจสำคัญ : การสังคายนาพระไตรปิฎก

    เป็นที่ประจักษ์ว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ
    เป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ กรุงรัตนโกสินทร์แล้ว
    พระราชกรณียกิจประการแรกที่ทรงกระทำก็คือ
    การจัดสังฆมณฑลและฟื้นฟูพระพุทธศาสนา
    ที่เสื่อมทรุดมาแต่การจลาจลวุ่นวายของบ้านเมือง
    แต่ครั้งเสียกรุงศรีอยุธยา จนถึงครั้งกรุงธนบุรี
    ในด้านสังฆมณฑลนั้นก็ทรงกำจัดอลัชชีภิกษุ และทรงตรากฎพระสงฆ์ขึ้น
    เพื่อป้องกันมิให้พระภิกษุสามเณรประพฤตินอกพระธรรมวินัย
    และมีความประพฤติกวดขันในพระธรรมวินัยยิ่งขึ้น

    ในด้านทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ก็โปรดเกล้าฯ
    ให้รวบรวมพระไตรปิฎกบรรดาฉบับที่มีทั้งที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญ
    ตรวจชำระแล้วแปลงเป็นอักษรขอม จารึกลงลานสร้างไว้ให้ครบถ้วน
    ประดิษฐานไว้ ณ หอพระมนเทียรธรรม
    พร้อมทั้งโปรดให้สร้างคัมภีร์พระไตรปิฎก
    ถวายพระสงฆ์สำหรับเล่าเรียนไว้ทุกๆ พระอารามหลวง
    สิ้นพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ไปเป็นอันมาก
    ต่อมาทรงพระราชดำริเห็นว่า พระไตรปิฎกที่โปรดเกล้าฯ
    ให้สร้างขึ้นเมื่อต้นรัชกาลนั้น ยังบกพร่องตกหล่นอยู่เป็นอันมาก
    ทั้งพยัญชนะและเนื้อความ อันเนื่องมาจากความวิปลาสตกหล่นของต้นฉบับเดิม
    จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้คณะสงฆ์ประชุมสังคายนาตรวจชำระพระไตรปิฎกขึ้น

    เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้เกิดขึ้นในปีที่ ๖
    แห่งรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    นับเป็น การสังคายนาครั้งที่ ๒ ในราชอาณาจักรไทย (พ.ศ. ๒๓๓๑)
    (ครั้งแรกทำที่นครเชียงใหม่สมัยพระเจ้าติโลกราชมหาราชแห่งอาณาจักรล้านนา)
    และ นับเป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
    (ครั้งที่ ๒ ทำในสมัยรัชกาลที่ ๙ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๐)
    ทั้งนี้ได้มีการอาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะให้ดำเนินการ
    สมเด็จพระสังฆราชได้เลือกพระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญอันดับ
    ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน
    ทำการสังคายนาที่ วัดนิพพานาราม (วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์)
    แบ่งพระสงฆ์ออกเป็น ๔ กอง ดังนี้

    สมเด็จพระสังฆราช เป็นแม่กองชำระพระสุตตันปิฎก
    พระวันรัต เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
    พระพิมลธรรม เป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส
    พระธรรมไตรโลก เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก


    [​IMG]

    การชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้ใช้เวลา ๕ เดือน ได้จารึกพระไตรปิฎกลงลานใหญ่
    แล้วปิดทองทึบ ทั้งปกหน้าปกหลัง และกรอบ เรียกว่า ฉบับทอง
    ทำการสมโภช แล้วอัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก
    ตั้งไว้ในหอพระมณเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    อนึ่ง การทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นั้น
    ได้มีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร กรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ อย่างละเอียด
    ควรแก่การศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จึงขอนำมากล่าวในที่นี้
    ตามความที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “ในปีวอก สัมฤทธิศก นั้น พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระราชรำพึงถึงพระไตรปิฎกธรรม อันเป็นมูลรากแห่งพระปริยัติศาสนา
    ทรงพระราชศรัทธาพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นอันมาก
    ให้เป็นค่าจ้างลานจารึกพระไตรปิฎกลงลาน แต่บรรดามีฉบับในที่ใดๆ
    ที่เป็นอักษรลาว อักษรรามัญก็ให้ชำระแปลงออกเป็นอักษรขอม สร้างขึ้นไว้ในตู้
    ณ หอพระมนเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ให้เล่าเรียน
    ทุกๆ พระอารามหลวงตามความปรารถนา

    จึงจมื่นไวยวรนารถกราบทูลว่า พระไตรปิฎกซึ่งทรงพระราชศรัทธาสร้างขึ้นไว้ทุกวันนี้
    อักขระบทพยัญชนะตกวิปลาสอยู่แต่ฉบับเดิมมา
    หาผู้จะทำนุบำรุงตกแต้มดัดแปลงให้ถูกต้องบริบูรณ์ขึ้นมิได้
    ครั้นได้ทรงสดับจึงทรงพระปรารภว่าพระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้
    เมื่อและผิดเพี้ยนวิปลาสอยู่เป็นอันมากฉะนี้ จะเป็นเค้ามูลพระศาสนากระไรได้
    อนึ่งท่านผู้รักษาพระไตรปิฎกมีอยู่ทุกวันนี้ก็น้อยนัก
    ถ้าสิ้นท่านเหล่านี้แล้วเห็นว่าพระปริยัติศาสนา
    และปฏิบัติศาสนาและปฏิเสธศาสนาจะเสื่อมสูญเป็นอันเร็วนัก
    สัตว์โลกทั้งปวงจะหาที่พึ่งบ่มิได้ในอนาคตภายหน้า
    ควรจะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาไว้ให้ถาวรวัฒนาการ
    เป็นประโยชน์แก่เทพดามนุษย์ทั้งปวงจึงจะเป็นทางพระบรมโพธิญาณบารมี

    ทรงพระราชดำริฉะนี้แล้ว จึงดำรัสให้ประชุมพระราชวงศานุวงศ์
    มีสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเป็นประธาน
    ในพระที่นั่งอมรินทราภิเษกมหาปราสาท
    ให้อาราธนาสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะฐานานุกรม เปรียญ ๑๐๐ รูป
    มารับพระราชทานฉัน ครั้นเสร็จสังฆภัตกิจแล้ว
    พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงถวายนมัสการดำรัสเผดียงถามพระราชาคณะทั้งปวงว่า
    พระไตรปิฎกธรรมทุกวันนี้ ยังถูกต้องบริบูรณ์อยู่หรือพิรุธผิดเพี้ยนประการใด

    จึงสมเด็จพระสังฆราช พระราชาคณะทั้งปวงพร้อมกันถวายพระพรว่า
    พระบาลีและอรรถกถาฎีกาพระไตรปิฎกทุกวันนี้พิรุธมาช้านานแล้ว
    หากษัตริย์พระองค์ใดจะทำนุบำรุงให้เป็นศาสนูปถัมภกมิได้
    แต่กำลังอาตมภาพทั้งปวงก็คิดจะใคร่ทำนุบำรุงอยู่ แต่เห็นจะไม่สำเร็จ
    และกาลเมื่อสมเด็จพระสรรเพชญพระพุทธองค์ผู้ทรงทศอรหาทิคุณอันประเสริฐ
    เมื่อพระองค์บรรทมเหนือพระปรินิพพานมัญจพุทธอาสน์ เป็นอนุฏฐานะไสยาสน์
    ณ ระหว่างนางรังทั้งคู่ ในสาลวโนทยานของพระเจ้ามลราช ใกล้กรุงกุสินารานคร
    มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรสงฆ์ทั้งปวง พระธรรมวินัยอันใดทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์
    อันพระตถาคตเทศนาสั่งสอนท่าน เมื่อพระตถาคตนิพพานแล้ว
    พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้นจะเป็นครูสั่งสอนท่าน
    และสรรพสัตว์ทั้งปวงต่างองค์พระตถาคตสืบไป
    พระองค์ตรัสมอบพระพุทธศาสนาไว้อาศัยพระปริยัติธรรมฉะนี้แล้ว
    ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน

    จำเดิมแต่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้านิพพานถวายพระเพลิงแล้วได้ ๗ วัน
    พระมหากัสสปเถรเจ้าระลึกถึงคำพระสุภัททภิกษุ
    ว่ากล่าวติเตียนพระบรมศาสดาเป็นมูลเหตุ
    จึงดำริการจะทำสังคายนา เลือกสรรพระภิกษุทั้งหลาย
    ล้วนพระอรหันต์ทรงพระจตุปฏิสัมภิทาญาณ
    กับพระอานนท์เป็นเสกขบุคคลพระองค์หนึ่ง
    ซึ่งได้พระอรหัตในราตรีรุ่งขึ้นวันจะสังคายนา พอครบ ๕๐๐ พระองค์
    มีพระเจ้าอชาตศัตรูราชเป็นศาสนูปถัมภก
    ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในพระมณฑปแถบถ้ำสัตตบรรณคูหา
    ณ เขาเวภารบรรพต ใกล้กรุงราชคฤห์มหานคร ๗ เดือน
    จึงสำเร็จการปฐมสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาแล้วได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุชาววัชชีคามเป็นอลัชชี
    สำแดงวัตถุ ๑๐ ประการ กระทำผิดพระวินัยบัญญัติ
    และพระมหาเถรขีณาสพ ๘ พระองค์ มีพระยศเถรเป็นต้น
    พระเรวัตตเถรเป็นปริโยสาน ชำระทศวัตถุอธิกรณ์๑๐ ประการ
    ให้ระงับยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์
    แล้วเลือกสรรพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๗๐๐ พระองค์
    มีพระสัพพกามีเถรเจ้าเป็นประธาน
    ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในวาลุการามมหาวิหารใกล้กรุงเวสาลี
    พระเจ้ากาลาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๘ เดือนจึงสำเร็จการทุติยสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๑๘ ปี ครั้งนั้นเหล่าเดียรถีย์เข้าปลอมบวชในพระศาสนา
    จึงพระโมคคลีบุตรดิศเถรยังพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชให้เรียนรู้ในพุทธสมัย
    แล้วชำระสึกเดียรถีย์เสีย ๖๐,๐๐๐ ยังพระพุทธศาสนาให้บริสุทธิ์
    แล้วพระโมคคลีบุตรดิศเถรจึงเลือกพระอรหันต์อันทรงพระปฏิสัมภิทาญาณ ๑,๐๐๐
    พระองค์ทำสังคายนาพระไตรปิฎกในอโสการามวิหาร ใกล้กรุงปาตลีบุตรมหานคร
    พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นศาสนูปถัมภก ๙ เดือน จึงสำเร็จตติยสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๒๓๘ ปีจึงพระมหินเถรเจ้าออกไปลังกาทวีป
    บวชกุลบุตรให้เล่าเรียนพระปริยัติธรรม คือหยั่งรากพระพุทธศาสนาลงในลังกาแล้ว
    พระขีณาสพทั้ง ๓๘ พระองค์มีพระมหินทรเถรและพระอริฏฐเถรเป็นประธาน
    กับพระสงฆ์ซึ่งทรงพระปริยัติธรรม ๑,๑๐๐ รูปทำสังคายนาพระไตรปิฎก
    ในมณฑปถูปารามวิหารใกล้กรุงอนุราธบุรี
    พระเจ้าเทวานัมปิยดิศเป็นศาสนูปถัมภก ๑๐ เดือน จึงสำเร็จการจตุตถสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๔๓๓ ปี
    ครั้งนั้นพระอรหันต์ทั้งปวงในลังกาทวีปพิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะเสื่อมลง
    เพราะพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกให้ขึ้นปากเจนใจนั้นเบาบางลงกว่าแต่ก่อน
    จึงเลือกพระอรหันต์อันทรงปฏิสัมภิทาญาณ
    และพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงพระปริยัติธรรมมากกว่า ๑,๐๐๐ ประชุมกัน
    ในมหาวิหารใกล้เมืองอนุราธบุรี
    พระเจ้าวัฏฏคามินีอภัยเป็นศาสนูปถัมภก ทำมณฑปถวายให้ทำการสังคายนา
    คือจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน ทั้งพระบาลีและอรรถกถาเป็นสิงหฬภาษา
    ปี ๑ จึงสำเร็จการปัญจมสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๙๕๖ ปี
    จึงพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าออกไปแต่ชมพูทวีป
    แปลพระไตรปิฎกอันเป็นสิงหฬภาษาออกเป็นมคธภาษา
    แล้วจารึกลงในใบลานใหม่ในโลหปราสาทเมืองอนุราธบุรี
    พระเจ้ามหานามเป็นศาสนูปถัมภก
    ปี ๑ จึงสำเร็จ นับเนื่องเข้าในฉัฐมสังคายนา

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาถึง ๑,๕๘๗ ปี
    ครั้งนั้นพระเจ้าปรากรมพาหุราชได้เสวยราชสมบัติในลังกาทวีป
    ย้ายพระนครจากอนุราธบุรีมาตั้งอยู่เมืองปุรัตถิมหานคร
    จึงพระกัสสปเถรเจ้า กับพระสงฆ์บุถุชนผู้ทรงธรรมวินัย
    ประชุมกันชำระพระไตรปิฎกชึ่งเป็นสิงหฬภาษาบ้าง มคธบ้าง ปะปนกันอยู่
    ให้แปลงแปลออกเป็นมคธภาษาทั้งสิ้น แล้วจารึกลงลานใหม่
    พระเจ้าปรากรมพาหุราชเป็นศาสนูปถัมภก
    ปี ๑ จึงสำเร็จบริบูรณ์ นับเนื่องเข้าในสัตตมสังคายนา

    เบื้องหน้าแต่นั้นมา จึงพระเจ้าธรรมานุรุธผู้เสวยราชสมบัติ ณ เมืองอริมัตถบุรี
    คือเมืองภุกาม ออกไปจำลองพระไตรปิฎกในลังกาทวีปเชิญลงสำเภามายังชมพูทวีปนี้
    แต่นั้นมาพระปริยัติธรรมจึงแผ่ไพศาลไปในนานาประเทศทั้งปวง
    บรรดาที่เป็นสัมมาทิฏฐิ นับถือพระรัตนตรัยนั้น ได้จำลองต่อๆ กันไป
    เปลี่ยนแปลงอักษรตามประเทศภาษาของตนๆ ก็ผิดเพี้ยนวิปลาสไปบ้าง
    ทุกๆ พระคัมภีร์ที่มากบ้าง ที่น้อยบ้าง

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๐๒๐ ปี
    จึงพระธรรมทินเถรเจ้าผู้เป็นมหาเถรอยู่ ณ เมืองนพีสีนคร คือเมืองเชียงใหม่
    พิจารณาเห็นว่าพระไตรปิฎกพิรุธมากทั้งบาลีและอรรถกถาฎีกา
    จึงถวายพระพรแก่พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราช
    ซึ่งเสวยราชสมบัติ ณ เมืองเชียงใหม่ว่า
    จะชำระพระปริยัติธรรมให้บริบูรณ์
    พระเจ้าสิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชจึงให้กระทำ
    พระมณฑปในมหาโพธารามวิหารในพระนคร
    พระธรรมทินเถรจึงเลือกพระสงฆ์ซึ่งทรงพระไตรปิฎกมากกว่า ๑๐๐
    ประชุมพร้อมกับในพระมณฑปนั้น
    กระทำสังคายนาพระไตรปิฎกตกแต้มให้ถูกถ้วนบริบูรณ์
    พระเจ้าศิริธรรมจักรวรรดิ์ดิลกราชเป็นศาสนูปถัมภก
    ปี ๑ จึงสำเร็จนับเนื่องเข้าในอัฏฐมสังคายนาอีกครั้งหนึ่ง

    เบื้องหน้าแต่นั้นมา พระเถรานุเถรในชมพูทวีปได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก
    และสร้างสืบต่อกันมา และท้าวพระยาเศรษฐีคฤหบดีมีศรัทธาสร้างไว้ในประเทศต่างๆ
    คือเมืองไทย เมืองลาว เมืองเขมร เมืองพม่า เมืองมอญ
    เป็นอักษรส่ำสมผิดเพี้ยนกันอยู่เป็นอันมาก
    หาท้าวพระยาและสมณะผู้ใดที่จะศรัทธา
    สามารถอาจชำระพระไตรปิฎกขึ้นไว้ให้บริบูรณ์ดุจท่านแต่ก่อนนั้นมิได้

    ครั้นพระพุทธศาสนาล่วงมาได้ ๒,๓๐๐ ปีเศษแล้ว
    บรรดาเมืองที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งปวง
    ก็เกิดการยุทธสงครามแก่กันถึงพินาศฉิบหายด้วยภัยแห่งปัจจามิตร
    มีผู้ร้ายเผาวัดวาอารามพระไตรปิฎกก็สาบสูญสิ้นไป
    จนถึงกรุงศรีอยุธยาเก่าก็ถึงแก่กาลพินาศแตกทำลายด้วยภัยพม่าข้าศึก
    พระไตรปิฎกและพระเจดียสถานทั้งปวงก็เป็นอันตรายสาบสูญไป
    สมณะผู้รักษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกนั้นก็พลัดพรากล้มตายเป็นอันมาก
    หาผู้ใดที่จะเป็นที่พำนักป้องกันข้าศึกศัตรูมิได้
    เหตุฉะนี้พระไตรปิฎกจึงมิได้บริบูรณ์ เสื่อมสูญร่วงโรยมาจนเท่ากาลทุกวันนี้

    พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว
    และสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ
    เมื่อได้ทรงสดับพระสงฆ์ราชาคณะถวายพระพรโดยพิสดาร
    ดังนั้น จึงดำรัสว่า ครั้งนี้ขออาราธนาพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวง
    จงมีอุตสาหะในฝ่ายพระพุทธจักรให้พระไตรปิฎกบริบูรณ์ขึ้นให้จงได้
    ฝ่ายข้างอาณาจักรที่จะเป็นศาสนูปถัมภกนั้น
    เป็นพนักงานโยมๆ จะสู้เสียสละชีวิตบูชาพระรัตนตรัย
    สุดแต่จะให้พระปริยัติบริบูรณ์เป็นมูลที่จะตั้งพระพุทธศาสนาจงได้

    พระราชาคณะทั้งปวงรับสาธุ แล้วถวายพระพรว่า
    อาตมภาพทั้งปวงมีสติปัญญาน้อยนัก ไม่เหมือนท่านแต่ก่อน
    แต่จะอุตส่าห์ชำระพระปริยัติธรรม สนองพระเดชพระคุณตามสติปัญญา
    และสมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้า ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาครั้งนี้
    ก็นับได้ชื่อว่า นวมสังคายนา คำรบ ๙ ครั้ง
    จะยังพระปริยัติศาสนาให้ถาวรวัฒนายืนยาวไปในอนาคตสมัย สิ้นกาลช้านาน
    แล้วถวายพระพรลาออกมาประชุมพร้อมกัน ณ วัดบางว้าใหญ่
    จึงสมเด็จพระสังฆราชให้เลือกสรร พระราชาคณะ ฐานานุกรม เปรียญอันดับ
    ที่เล่าเรียนพระไตรปิฎกในเวลานั้น จัดได้พระสงฆ์ ๒๑๘ รูป
    กับราชบัณฑิตยาจารย์ ๓๒ คน ที่จะทำการชำระพระไตรปิฎก

    จึงมีพระราชดำรัสให้จัดการที่จะทำสังคายนา ณ วัดนิพพานาราม
    เหตุประดิษฐานอยู่หว่างพระราชวังทั้ง ๒
    และครั้งนั้นจึงพระราชทานนามใหม่ให้ชื่อวัดพระศรีสรรเพ็ชญดาราม
    แล้วทรงบริจาคพระราชทรัพย์ แจกจ่ายเกณฑ์พระราชวงศานุวงศ์
    และข้าราชการฝ่ายหน้าฝ่ายในทั้งพระราชวังหลวง พระราชวังบวรฯ พระราชวังหลัง
    ให้ทำสำรับคาวหวานถวายพระสงฆ์ซึ่งชำระพระไตรปิฎกทั้งเช้าทั้งเพล
    เวลาละ ๔๓๖ สำหรับทั้งคาวหวาน
    พระราชทานเป็นเงินตรา ค่าขาทนียโภชนียาหารสำรับคู่ละบาท

    ครั้น ณ วันกัตติกปุรณมี เพ็ญเดือน ๑๒ ในป็วอก สัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๕๐
    พระพุทธศักราช ๒๓๓๑ พรรษา เป็นพุธวาร ศุกรปักษ์ดฤถี เวลาบ่าย ๓ โมง
    มีพระราชกำหนดให้นิมนต์พระสงฆ์ประชุมพร้อมกัน
    ในพระอุโบสถวัดพระศรีสรรเพ็ชญดารามแล้ว
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และกรมพระราชวังบวรฯ
    ก็เสด็จพระราชดำเนินด้วยมหันตราชอิสริยยศ บริวารยศ พร้อมด้วยเครื่องสูง
    และปี่กลองชนะแห่ออกจากพระราชวังไปยังพระอาราม
    เสด็จ ณ พระอุโบสถทรงถวายนมัสการพระรัตนตรัยด้วยเบญจางคประดิษฐ์
    แล้วอาราธนาพระพิมลธรรมให้อ่านคำประกาศเทวดาในท่ามกลางสงฆสมาคม
    ขออานุภาพเทพยดาเจ้าทั้งปวงให้อุปถัมภนาการให้สำเร็จกิจมหาสังคายนา
    แล้วให้แบ่งพระสงฆ์เป็น ๔ กอง

    สมเด็จพระสังฆราชเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก กอง ๑
    พระวันรัตเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก กอง ๑
    พระพิมลธรรมเป็นแม่กองชำระพระสัททาวิเศส กอง ๑

    และครั้งนั้นพระธรรมไตรโลกเป็นโทษอยู่ มิได้เข้าในสังคายนา
    พระธรรมไตรโลกจึงมาอ้อนวอนสมเด็จพระสังฆราช
    ขอเข้าช่วยชำระพระไตรปิฎกด้วย ก็ได้เป็นแม่กองชำระพระปรมัตถปิฎก กอง ๑

    และพระสงฆ์ทั้ง ๔ กองนั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้นิมนต์แยกกันชำระพระปริยัติอยู่ ณ พระอุโบสถกอง ๑ อยู่ ณ พระวิหารกอง ๑
    อยู่ ณ พระมณฑปกอง ๑ อยู่ ณ การเปรียญกอง ๑
    ทรงถวายปากไก่หมึกหรดาลครบทุกองค์

    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาธิราช
    เสด็จพระราชดำเนินออกไป ณ พระอารามทุกๆ วัน วันละ ๒ เวลา
    เวลาเช้าทรงประเคนสำรับประณีตขาทนียโภชนียาหารแก่พระสงฆ์
    ให้ฉัน ณ พระระเบียงโดยรอบ
    เวลาเย็นทรงถวายอัฏฐบานธูปเทียนเป็นนิตย์ทุกวัน
    และพระสงฆ์ทั้งราชบัณฑิตประชุมกันพิจารณาดูพระปริยัติ
    สอบสวนพระบาลีกับอรรถกถาที่ผิดเพี้ยนวิปลาส
    ก็ตกแต้มเปลี่ยนแปลงอักขระให้ถูกถ้วนบริบูรณ์ทุกๆ พระคัมภีร์ใหญ่น้อยทั่วทั้งสิ้น
    และที่ใดสงสัยเคลือบแคลงก็ปรึกษาไต่ถามพระราชาคณะผู้ใหญ่
    ซึ่งเป็นมหาเถรให้วิสัชนาตัดสินที่ผิดและชอบ

    การชำระพระไตรปิฎกตั้งแต่ ณ วันเพ็ญเดือน ๑๒ ปีวอก สัมฤทธิศก
    มาจนถึงวันเพ็ญเดือน ๕ ปีระกา เอกศก จุลศักราช ๑๑๕๑
    พอครบ ๕ เดือนก็สำเร็จการสังคายนา
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จำหน่ายพระราชทรัพย์
    เป็นมูลค่าจ้างให้ช่างจานคฤหัสถ์และพระสงฆ์สามเณร จารึกพระไตรปิฎก
    ซึ่งชำระบริสุทธิ์แล้วนั้นลงลานใหญ่สำเร็จแล้วให้ปิดทองทึบ
    ทั้งใบปกหน้าหลังและกรอบทั้งสิ้นเรียกว่าฉบับทอง
    ห่อด้วยผ้ายก เชือกรัดถักด้วยไหมเบญจพรรณ
    มีสลากงาแกะเป็นลวดลายเขียนอักษรด้วยน้ำหมึก
    และฉลากทอเป็นตัวอักษรบอกชื่อพระคัมภีร์ทุกๆ พระคัมภีร์

    อนึ่งเมื่อสำเร็จการสังคายนานั้น
    ทรงถวายไตรจีวรบริขารภัณฑ์แก่พระสงฆ์ทั้ง ๒๑๘ รูป
    มีสมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน
    ล้วนประณีตทุกสิ่งเป็นมหามหกรรมฉลองพระไตรปิฎก
    และพระราชทานรางวัลเสื้อผ้าแก่พระยาธรรมปโรหิต
    พระยาพจนาพิมล และราชบัณฑิตทั้ง ๓๒ คนนั้นด้วย
    แล้วทรงสุวรรณภิงคารหล่อหลั่งทักษิโณทกธารา
    อุทิศแผ่ผลพระราชกุศลศาสนูปถัมภกกิจ
    ไปถึงเทพยดามนุษย์สรรพสัตว์ทั้งหลายทั่วอนันตโลกธาตุ
    เป็นปัตตานุปทานบุญกริยาวัตถุอันยิ่งเพื่อประโยชน์แก่พระบรมโพธิสัพพัญญุตญาณ

    ครั้นเมื่อเสร็จการสร้างพระไตรปิฎกฉบับทองแล้ว
    ซึ่งให้เชิญพระคัมภีร์ทั้งปวงขึ้นพระยานุมาศ
    พระราชยานต่างๆ ตั้งกระบวนแห่สมโภชพระไตรปิฎก
    มีเครื่องเล่นเป็นอเนกนานานุประการ เป็นมหรสพแก่ตาประชาราษฎรทั้งปวง
    แล้วเชิญพระคัมภีร์ปริยัติธรรมเข้าประดิษฐานไว้ในตู้ประดับมุก
    ตั้งไว้ในหอพระมนเทียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดารามภายในพระราชวัง
    แล้วให้มีงานมหรสพสมโภชพระไตรปิฎก
    ณ หอพระมนเทียรธรรม ครั้งนั้นมีละครผู้หญิงด้วย”
     
  3. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)


    จากเรื่องราวของการสังคายนาครั้งนี้กล่าวได้ว่า
    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นกำลังสำคัญในการดำเนินการ
    นับแต่ทรงเป็นประธานสงฆ์ ถวายคำแนะนำแด่
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชให้ทรงตระหนักถึงความสำคัญ
    ของการธำรงรักษาพระธรรมวินัย ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์
    เป็นเหตุให้ทรงพระราชวิริยะอุตสาหะ จัดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น
    และในการทำสังคายนา สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ก็ทรงแสดงพระปรีชาสามารถ
    โดยทรงเป็นแม่กองชำระพระสุตตันตปิฎก
    ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่า การทำสังคายนาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
    สมพระราชประสงค์ทุกประการ
    โดยการอำนวยการของสมเด็จพระสังฆราช (ศรี) โดยแท้
    นับเป็นพระเกียรติประวัติอีกประการหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

    พระไตรปิฎกฉบับสังคายนาเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๑ นี้เอง
    ที่ได้เป็นแม่ฉบับสำหรับตรวจสอบในการจัดพิมพ์เป็นอักษรไทยครั้งแรก
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑
    เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๓๙ เล่ม ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
    ต่อมาในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งและเพิ่มเติมจนครบบริบูรณ์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๘
    เป็นเล่มหนังสือจำนวน ๔๕ เล่ม เรียกว่า พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐ
    ดังที่ใช้เป็นแบบอยู่ในประเทศไทยปัจจุบัน


    พระกรณียกิจพิเศษ

    สมเด็จพระสังฆราช (ศรี) ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    เมื่อทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑
    และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ อีก ๒ พระองค์
    คือ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทร์รณเรศ
    และสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์
    ทรงผนวช ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในพระบรมมหาราชวัง
    ครั้นทรงผนวชแล้ว สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร
    เสด็จไปประทับอยู่วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน)
    เพื่อทรงศึกษาสมณกิจในสำนัก พระปัญญาวิสาลเถร (นาค)
    ตลอด ๑ พรรษา แล้วจึงทรงลาผนวช


    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช
    เมื่อครั้งรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เป็นเวลา ๑๒ ปี
    และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๒๕
    ก็สิ้นพระชนม์เมื่อเดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ พุทธศักราช ๒๓๓๗
    ในรัชกาลที่ ๑ รวมเวลาอยู่ในตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช ๑๒ ปี เช่นกัน
    ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด
    ในกฎพระสงฆ์กล่าวถึงพระองค์ว่า “สมเด็จพระสังฆราชผู้เฒ่า”
    จึงน่าจะมีพระชนมายุสูงไม่น้อยกว่า ๘๐ พรรษา
     
  4. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    วัดระฆังโฆสิตาราม ทัศนียภาพเมื่อมองจากกลางลำน้ำเจ้าพระยา


    ประวัติและความสำคัญของวัดระฆังโฆสิตาราม

    วัดระฆังโฆสิตาราม หรือ วัดระฆังโฆสิตาราม วรมหาวิหาร
    เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรมหาวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๕๐
    ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

    เดิมเป็นวัดโบราณสร้างในสมัยอยุธยา เดิมชื่อ วัดบางว้าใหญ่ (หรือบางหว้าใหญ่)
    ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
    ทรงสร้างพระราชวังใกล้วัดบางว้าใหญ่
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการบูรณปฏิสังขรณ์ และขึ้นยกเป็นพระอารามหลวง
    และเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชในสมัยรัตนโกสินทร์
    และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่ประชุมสังคายนาพระไตรปิฎก
    ซึ่งอัญเชิญมาจากนครศรีธรรมราชขึ้นที่วัดนี้

    ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    วัดบางว้าใหญ่อยู่ในพระอุปถัมภ์ของเจ้านายวังหลัง
    คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยาเทพสุดาวดี (สา)
    พระเชษฐภคินีของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    และเป็นพระชนนีของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข ทรงมีตำหนักที่ประทับอยู่ติดกับวัด

    ได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์วัดร่วมกับพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    และได้ขุดพบระฆังลูกหนึ่ง ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปไว้
    ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยทรงสร้างระฆังชดเชยให้วัดบางว้าใหญ่ ๕ ลูก

    [​IMG]

    จากนั้นได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า “วัดระฆังโฆสิตาราม”
    นอกจากจะเป็นเพราะขุดพบระฆังที่วัดนี้
    และเพื่อเป็นการฟื้นฟูแบบแผนครั้งกรุงศรีอยุธยาที่มีวัดชื่อวัดระฆังเช่นกัน

    ครั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อ “วัดระฆังโฆสิตาราม”
    เป็น “วัดราชคัณฑิยาราม” (คัณฑิ แปลว่าระฆัง)
    แต่ไม่มีคนนิยมเรียกชื่อนี้ จึงยังคงเรียกว่าวัดระฆังต่อมาจนถึงทุกวันนี้
     
  5. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดระฆังโฆสิตาราม


    ศาสนสถานและศาสนวัตถุสำคัญภายในวัด

    พระอุโบสถ

    สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ หลังคาลดมุข ๓ ชั้น ประดับช่อฟ้า
    ใบระกา หางหงส์ และคันทวยที่สลักเสลาอย่างประณีตงดงาม

    สำหรับพระประธานที่ประดิษฐานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้
    เป็นพระพุทธรูปหล่อประทับนั่งปางสมาธิกั้นด้วยเศวตฉัตร ๙ ชั้น
    เดิมเป็นฉัตรกั้นเมรุของรัชกาลที่ ๑
    ซึ่งพระองค์ขอให้นำไปถวายประธานวัดระฆังฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๒

    [​IMG]
    “พระประธานยิ้มรับฟ้า” พระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ


    ต่อมา พระบาทสมเด็จพระมงกฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนเศวตฉัตรจากผ้าตามขาว
    มาเป็นผ้าขาวลายฉลุปิดทองโดยใช้โครงของเก่า
    และมีการเปลี่ยนผ้าอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๐๔ โดยรัชกาลปัจจุบัน

    สำหรับพระประธานในพระอุโบสถวัดระฆังฯ นี้มีเรื่องเล่าต่อกันมาว่า
    พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เคยตรัสว่า

    “ไปวัดไหนไม่เหมือนมาวัดระฆัง พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...”

    กล่าวกันว่าอาจจะเป็นเพราะพระพักตร์ของพระพุทธรูป
    ที่อ่อนโยนและเมตตา ทำให้เห็นเป็นเช่นนั้น

    [​IMG]
    “พอเข้าประตูโบสถ์ พระประธานยิ้มรับฟ้าทุกที...”
    รัชกาลที่ ๕ ตรัสถึงพระประธานในพระอุโบสถ



    ในพระอุโบสถยังมีภาพจิตรกรรมผนังด้านหน้าพระประธาน
    เป็นภาพพระพุทธเจ้าเสด็จลงจากดาวดึงส์
    และภาพเดียรถีย์ที่กำลังท้าทายอยู่กับพระพุทธองค์

    ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระมาลัย
    ขณะขึ้นไปนมัสการพระมหาจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ส่วนผนังด้านข้างเบื้องบนเขียนเป็นรูปเทพชุมนุม
    ตอนล่างเขียนภาพทศชาติชาดก
    ฝีมือของ พระวรรณวาดวิจิตร (ทอง) จารุวิจิตรบ
    ซึ่งเป็นจิตรกรเอกในสมัยรัชกาลที่ ๖ ที่เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕

    [​IMG]
    หอระฆังที่รัชกาลที่ ๑
    ทรงสร้างพระราชทานให้พร้อมกับระฆังอีก ๕ ลูก



    หอระฆัง

    ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของวัด สร้างแบบจัตุรมุข
    เป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและรัตนโกสินทร์ตอนต้น

    ในสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ได้มีการขุดพบระฆังลูกหนึ่งซึ่งมีเสียงไพเราะมาก ซึ่งต่อมารัชกาลที่ ๑
    ก็ได้นำระฆังลูกนั้นไปไว้ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และโปรดให้
    สร้างหอระฆังพร้อมทั้งระฆังอีกจำนวน ๕ ลูกไว้ให้แทน จึงเป็นที่มาของชื่อวัดระฆัง

    [​IMG]
    หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)


    หอพระไตรปิฎก (ตำหนักจันทร์)

    เดิมอยู่กลางสระที่ขุดขึ้นด้านหลังพระอุโบสถ
    สร้างเป็นเรือนแฝด ๓ หลัง ด้วยไม้ที่รื้อพระตำหนักและหอนั่งเดิมของรัชกาลที่ ๑
    เมื่อครั้งยังทรงรับราชการอยู่กรุงธนบุรี

    ฝาผนังด้านนอกทาสีดินแดง มีระเบียงด้านหน้า หลังคามุงกระเบื้อง
    ชายคามีกระจกรูปเทพนมเดิมเป็นพระตำหนักและหอประทับ
    ของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ขณะทรงรับราชการในสมัยธนบุรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รื้อมาถวายวัด

    เมื่อเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้ว มีพระราชประสงค์จะบูรณปฏิสังขรณ์ให้สวยงาม
    เพื่อเป็นหอพระไตรปิฎก กล่าวกันว่าถือเป็น
    “ปูชนียสถานชั้นเอกของสถาปัตยกรรมไทย”

    ด้านในเขียนภาพฝีมือ อาจารย์นาค เป็นภาพแสดงวิถีชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น
    บานประตูตกแต่งด้วยการเขียนลายรดน้ำและแกะสลักอย่างงดงาม

    [​IMG]
    ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา


    นอกจากนั้นยังมี ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ ขนาดใหญ่สมัยกรุงศรีอยุธยา
    อยู่ในห้องด้านเหนือและห้องด้านใต้

    หอพระไตรปิฏกนี้ได้มีการซ่อมแซมครั้งใหญ่เมื่อคราวฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี
    และยังเคยเป็นโบราณสถานที่ได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๐
    จากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกด้วย

    พระปรางค์ใหญ่

    สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ได้รับการยกย่องว่า “ทำถูกแบบแผนที่สุด”
    จนถือเป็นแบบฉบับของพระปรางค์ที่สร้างในยุคต่อมา

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ทรงมีพระราชศรัทธาสร้างพระปรางค์ พระราชทานร่วมพระกุศล
    กับสมเด็จพระพี่นางพระองค์ใหญ่ สมเด็จกรมพระยาเทพสุดาวดี

    [​IMG]
    พระปรางค์ใหญ่
     
  6. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    เจดีย์เจ้าสามกรม

    คือ พระเจดีย์นราเทเวศร์
    พระเจดีย์นเรศร์โยธี และพระเจดีย์เสนีย์บริรักษ์
    เป็นพระเจดีย์ย่อเหลี่ยมไม้ยี่สิบ ๓ องค์
    สร้างเรียงกันอยุ่ภายในบริเวณกำแพงแก้วด้านทิศเหนือ
    สร้างโดย กรมหมื่นนราเทเวศร์
    กรมหมื่นนเรศร์โยธี และกรมหมื่นเสนีย์บริรักษ์
    พระโอรสในกรมพระราชวังหลัง เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์

    พระวิหารเดิม

    เป็นพระอุโบสถเก่าของวัดบางหว้าใหญ่

    [​IMG]
    ศาลาการเปรียญ


    ศาลาการเปรียญ

    เดิมเป็นศาลาการเปรียญสำหรับแสดงธรรม
    ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ฝึกกรรมบานของแม่ชีและอุบาสิกา
    ภายในมีพระพุทธรูปประทับนั่งปางสมาธิ

    ตำหนักทอง

    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ทรงรื้อตำหนักทองอันเป็นที่ประทับของ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี
    ซึ่งตั้งอยู่ในพระราชวังเดิมมาปลูกที่วัดระฆังทางด้านใต้ของพระอุโบสถ
    ทรงอุทิศเป็นสังฆบูชา ถวายให้เป็นที่ประทับของ
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]
    ตำหนักแดง


    ตำหนักแดง

    กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษเทเวศร์
    พระนามเดิมว่า “ทองอิน” เป็นพระราชโอรสใน
    สมเด็จเจ้าฟ้าหญิงกรมพระยาเทพสุดาวดี
    ทรงถวาย ตั้งอยู่ทางด้านเหนือของพระอุโบสถหลังใหม่

    ฝารูปสกลกว้างประมาณ ๔ วาเศษ ระเบียงกว้างประมาณ ๑ วา ๒ ศอก
    ยาวประมาณ ๘ วาเศษ ฝาประจันห้อง เขียนรูปภาพอสุภะต่างๆ ชนิด
    มีภาพพระภิกษุเจริญอสุภกรรมฐาน
    เดิมเป็นที่ประทับทรงกรรมฐานของพระเจ้ากรุงธนบุรี

    ตำหนักเก๋ง

    พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ อยู่ทางทิศใต้ของวัด
    ปัจจุบันเหลือแต่รากฐานใต้ดิน ตำหนักนี้พระองค์ใช้ประทับขณะผนวช

    [​IMG]
    พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)


    พระวิหารสมเด็จพระสังฆราช (ศรี)

    ตั้งอยู่ด้านหน้าพระอุโบสถ
    หลังคามุงกระเบื้องเคลือบติดคันทวยตามเสาอย่างสวยงาม
    หน้าบันทั้งสองด้านจำหลักรูปฉัตร ๓ ชั้น
    อันเป็นเครื่องหมายพระยศสมเด็จพระสังฆราช
    วิหารหลังนี้เดิมหลังคาเป็นทรงปั้นหยา เรียกว่า ศาลาเปลื้องเครื่อง

    ต่อมา พระราชธรรมภาณี (ละมูล) อดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๑๐
    ได้เปลี่ยนเป็นหลังคาทรงไทย มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔
    เพื่อประดิษฐานพระอัฐิ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    ซึ่งเดิมบรรจุอยู่ในรูปพระศรีอาริยเมตไตรย
    ประดิษฐานในซุ้มพระปรางค์ของวัดระฆังโฆสิตาราม
    ต่อมาได้ย้ายมาไว้ที่พระวิหารที่ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่เพื่อยกย่องพระเกียรติของพระองค์
    พระรูปองค์นี้เดิมประดิษฐานอยู่บนมุขพระปรางค์ทิศตะวันออก

    [​IMG]
    พระวิหารสมเด็จ


    พระวิหารสมเด็จ

    ภายในประดิษฐานรูปหล่อสมเด็จพระราชาคณะของวัดนี้ไว้ ๓ องค์คือ
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี),
    สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ม.จ.ทัด เสนีย์วงศ์)
    และสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร)
    ซึ่งทั้งสามองค์นี้เป็นพระภิกษุที่มีคนเคารพนับถืออย่างมาก
     
  7. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    พ.ศ. ๒๓๓๗-๒๓๕๙


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    ทรงมีพระประวัติในเบื้องต้นเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
    เช่นเดียวกับ สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระราชาคณะที่ พระญาณสมโพธิ ณ วัดมหาธาตุ
    ถึง พ.ศ. ๒๓๒๓ ในสมัยกรุงธนบุรี จึงได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระธรรมเจดีย์
    จวบจนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    รัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่
    พระพนรัตน * ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จพระสังฆราช
    ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงอธิบายไว้ว่า

    “ตำแหน่งพระพนรัตนนั้น นับว่าเป็นสังฆราชองค์ ๑
    รองแต่สมเด็จพระอริยวงษญาณ ลงมา
    ในทำเนียบสมณศักดิ์ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่ามา
    มีตำแหน่งสังฆปริณายก ๒ องค์ เรียกว่า “พระสังฆราชซ้ายขวา”
    สมเด็จพระอริยวงษญาณเป็นพระสังฆราชฝ่ายขวา ว่าคณะเหนือ
    พระพนรัตนเป็นพระสังฆราชฝ่ายซ้าย ว่าคณะใต้
    เกียรติยศมีสุพรรณบัตรจารึกพระนาม
    เมื่อทรงตั้งทั้ง ๒ องค์ แต่ที่พระพนรัตน โดยปรกติไม่ได้เป็นสมเด็จ
    ส่วนพระสังฆราชฝ่ายขวานั้น เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณทุกองค์
    จึงเรียกว่า “สมเด็จพระสังฆราช” และจึงเป็นมหาสังฆปริณายก
    มีศักดิ์สูงกว่าพระสังฆราชฝ่ายซ้ายที่ พระพนรัตน
    แต่ก่อนมาทรงยกเกียรติยศเป็นสมเด็จแต่บางองค์
    พึ่งเป็นสมเด็จทุกองค์ ตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา”


    [​IMG]
    พระอุโบสถ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์


    อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุรูปที่ ๑

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ รูปที่ ๑
    ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ตั้งแต่ครั้งยังทรงสมณศักดิ์ที่พระธรรมเจดีย์
    ซึ่งสมัยนั้นวัดมหาธาตุยังเรียกว่า “วัดสลัก” เป็นพระอารามที่อยู่ในเขตพระนคร
    และเป็นพระอารามหลวงมาตั้งแต่ครั้งกรุงธนบุรี

    วัดสลักนั้นเป็นวัดที่สร้างมาแต่ครั้งกรุงเก่า
    ในสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นอธิบดีสงฆ์
    วัดสลักได้เปลี่ยนชื่อถึง ๓ ครั้ง คือ
    เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕
    สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
    ทรงปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ และทรงขนานนามเปลี่ยนเป็น วัดนิพพานาราม

    ครั้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปรารภพร้อมด้วยสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรฯ
    จะทำสังคายนาพระไตรปิฎก ทรงพระราชดำริเห็นว่าวัดนิพพานาราม
    สมควรเป็นที่ประชุมสงฆ์ทำสังคายนา จึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามใหม่ว่า
    วัดพระศรีสรรเพชญดาราม หรือ วัดพระศรีสรรเพชญ์
    เยี่ยงในสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งภายในพระราชวังกรุงศรีอยุธยา
    ก็มีวัดพระศรีสรรเพชญดาราม เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์

    ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๔๖ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    โปรดเกล้าฯ ให้ประชุมพระราชาคณะ สอบไล่พระปริยัติธรรมภิกษุสามเณร
    ที่วัดพระศรีสรรเพชญดาราม แล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระอารามอีกครั้งหนึ่งว่า
    วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แต่คนทั้งหลายนิยมเรียกว่า “วัดมหาธาตุ”

    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงบริจาคทรัพย์เป็นส่วนของสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ
    ซึ่งสวรรคตเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๗ ให้ปฏิสังขรณ์
    แล้วโปรดเกล้าฯ ให้เพิ่มสร้อยต่อนามพระอาราม
    เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช พระองค์นั้นว่า
    “วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์” ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้”

    [​IMG]
    ตู้พระไตรปิฎกลายรดน้ำ


    การสังคายนาพระไตรปิฎก

    ในการสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ อันเป็นการสังคายนาครั้งแรก
    ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งขณะนั้นทรงสมณศักดิ์ที่
    พระพนรัตน ทรงเป็นพระเถระที่มีบทบาทสำคัญพระองค์หนึ่ง
    คือทรงเป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก การที่ทรงได้รับมอบหมายหน้าที่สำคัญดังนี้
    ย่อมแสดงให้เห็นว่า ทรงเป็นผู้ชำนาญพระไตรปิฎกพระองค์หนึ่ง
    สอดคล้องกับที่ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงสันนิษฐานว่า
    คงทรงเป็นเปรียญมาแต่ครั้งกรุงเก่า และกรุงธนบุรี
    ดังมีหลักฐานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ซึ่งกล่าวไว้ในหนังสือ “ประวัติอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ” เป็นความตอนหนึ่งว่า

    “สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เห็นจะเป็นเปรียญมาแต่ครั้งกรุงเก่า
    เมื่อสังคายนาพระไตรปิฎกยังเป็นพระพนรัตน ได้เป็นแม่กองชำระพระวินัยปิฎก
    เมื่อเป็นพระสังฆราชได้เป็นอุปัชฌาย์กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
    กรมพระราชวังบวรสถานภิมุขและกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    และเข้าใจว่าเจ้านายที่ทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ชั้นหลังโดยมาก...”


    หมายเหตุ * พระพนรัตน - ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ

    [​IMG]
     
  8. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระประธาน ณ พระอุโบสถวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๓๓๗ เดือน ๕ ปีขาล จุลศักราช ๑๑๕๖ นี้
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา พระพนรัตน (ศุข) วัดมหาธาตุ
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    โปรดเกล้าฯ ให้สถิตอยู่ ณ วัดมหาธาตุ นั้นสืบไป
    ด้วยเป็นพระอารามหลวงอยู่ระหว่างพระราชวัง สำคัญกว่าวัดระฆัง
    วัดมหาธาตุจึงเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชองค์อื่นๆ ต่อมา


    พระกรณียกิจสำคัญต่อพระพุทธศาสนา

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ได้ทรงวางระเบียบการปฏิบัติไปตามแนวเดิม
    ที่ได้วางไว้แต่ครั้งก่อน คือ ก่อนที่พระองค์ท่านจะได้รับตำแหน่งสมณศักดิ์
    เป็นสมเด็จพระสังฆราช โดยยึดถือตามแนวหลักเดิมอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา
    คือเรื่องการสอบพระปริยัติธรรม เพื่อเป็นบาเรียนหรือเปรียญในทุกวันนี้
    ของพระภิกษุ สามเณร โดยแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ

    ๑. บาเรียนตรี ใช้พระสูตรเป็นหลักสูตรตามคณะกรรมการกำหนดให้
    ผู้เข้าสอบแปล เมื่อแปลได้แล้ว ก็เท่ากับสอบได้เป็นบาเรียนตรี

    ๒. บาเรียนโท ใช้พระสูตรกับพระวินัย เป็นหลักสูตร
    ตามแต่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้เข้าสอบแปล
    เมื่อแปลได้แล้วก็เท่ากับสอบได้เป็นบาเรียนโท

    ๓. บาเรียนเอก ใช้พระสูตร พระวินัย และพระปรมัตถ์ เป็นหลักสูตร
    ตามแต่คณะกรรมการกำหนดให้ผู้เข้าสอบแปล
    เมื่อแปลได้แล้ว ก็เท่ากับสอบได้บาเรียนเอก


    พระกรณียกิจพิเศษ

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์และ
    ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูงหลายพระองค์คือ

    ๑. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุเมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๗ ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศ
    เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเสนานุรักษ์
    ในคราวเดียวกันนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้ พระพงศ์อมรินทร์
    ซึ่งเป็นราชบุตรของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี และนักองเอง ซึ่งต่อมาทรงสถาปนาเป็น
    สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีฯ พระเจ้ากรุงกัมพูชา ทรงผนวชด้วย

    ๒. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
    ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๘ ณ วัดมหาธาตุ
    เป็นเวลา ๗ วัน จึงทรงลาผนวช

    พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
    ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไว้ว่า

    “ปีเถาะ สัปตศก จุศักราช ๑๑๕๗ (พ.ศ. ๒๓๓๖) นั้น
    เมื่อ ณ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช
    กรมพระราชวังบวรสถานมงคล เสด็จลงมาเฝ้าถวายบังคมลาทรงผนวช
    และขอรับพระราชทานอภัยโทษเจ้านันทเสน
    เจ้านครลานช้างที่ต้องโทษกำสมัครพรรคพวก เจ้านันทเสนและบรรดานักโทษ
    ที่ต้องพันธนาการอยู่ในเรือนจำให้พ้นโทษด้วย ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    โปรดพระราชทานนักโทษออกจากเวนจำ
    ตามที่สมเด็จพระอนุชาธิราชกราบทูลขอ
    เว้นแต่เจ้านันทเสนและพรรคพวก ซึ่งเป็นกบฏ
    และพวกพม่ารามัญข้าศึกและพวกโจรสลัดนั้นหาโปรดพระราชทานไม่
    กรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงพระราชศรัทธาบวช
    ให้นักโทษที่พ้นโทษในครั้งนั้น ๓๒ คน”

    “ครั้น ณ วันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๕ ค่ำ สมเด็จพระอนุชาธิราช
    กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จทรงบรรพชาอุปสมบท ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์
    สมเด็จพระสังฆราช เป็นอุปัชฌาย์ พระญาณสังวร วัดพลับ เป็นพระกรรมวาจา
    พระธรรมกิติ เป็นอนุสาวนา พระสงฆ์คณะหัตถบาส ๔๑ รวมเป็น ๔๔ รูป
    เสด็จทรงบณณพชาอุปสมบทเวลาบ่าย ๕ โมง ๗ บาท”

    “ครั้น ณ เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ตรง ขึ้นพลับพลาปริยาย บำเพ็ญพระธรรมภาวนา
    ครั้นแรก ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจริญพระปริตร
    ณ พระระเบียงอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์”


    ๓. ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานภิมุข
    กรมพระอนุรักษ์เทเวศร์ ในปี พ.ศ. ๒๓๔๔ ที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    และในการทรงผนวชครั้งนี้ พระองค์เจ้าวาสุกรี วัดพระเชตุพน
    กับพระองค์เจ้าฉัตรเป็นหางนาค เมื่อทรงผนวชก็ประทับอยู่ที่วัดระฆังโฆสิตาราม

    เรื่องการทรงผนวชของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุขนี้
    กล่าวกันว่าได้ทำพิธีกันอย่างเงียบๆ ทรงผนวชเมื่อมีพระชนมายุได้ ๕๖ พระพรรษา
    และหลังจากทรงผนวชได้ ๕ ปีก็ทิวงคต เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีขาล
    พ.ศ. ๒๓๔๙ เวลาบ่าย รวมพระชนมายุได้ ๖๑ พรรษา

    พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
    ฉบับพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไว้ว่า

    “ครั้น ณ เดือน ๘ แรม ๑ ค่ำ ตรง ขึ้นพลับพลาปริยาย บำเพ็ญพระธรรมภาวนา
    ครั้นแรก ๔ ค่ำ เวลาบ่าย ๔ โมง พระสงฆ์ ๕๐๐ รูป เจริญพระปริตร
    ณ พระระเบียงอุโบสถวัดพระศรีสรรเพชญ์ รุ่งขึ้นฉันเป็นการฉลอง”


    นอกจากนี้ ยังทรงเป็นพระอุปัธยาจารย์ของเจ้านาย
    ที่ทรงผนวชในช่วงปลายรัชกาลที่ ๑ โดยมากด้วย
     
  9. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)


    พระเมตตาต่อชีวิตสามเณรลูกวัด

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงแผ่พระเมตตาช่วยชีวิตสามเณร
    ซึ่งทำไฟไหม้วัดพระศรีสรรเพชญ์ หรือวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ไว้ครั้งหนึ่ง
    เมื่อวันศุกร์ เดือน ๔ แรม ๕ ค่ำ ปีระกา ตรีศก จุลศักราช ๑๑๖๓
    ตรงกับปี พ.ศ. ๒๓๔๙ โดยพระภิกษุสามเณรในวัดพระศรีสรรเพชญ์
    เล่นจุดดอกไม้เพลิงในเวลากลางคืน เศษลูกไฟลอยไปติดพระมณฑป
    ทำให้เกิดเพลิงไหม้ขึ้นเหลือแต่ผนังเท่านั้น
    ความทรงทราบถึงพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    โปรดเกล้าฯ ให้สืบสวนหาตัวผู้เป็นต้นเพลิง
    เมื่อได้ตัวแล้วพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าฯ ให้สึกเสีย
    ส่วนสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท จะให้ลงโทษประหารชีวิต
    แต่สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ถวายพระพรขอพระราชทานบิณฑบาตชีวิตไว้
    สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทก็ทรงพระราชทานอภัยโทษให้


    พระกรณียกิจในรัชกาลที่ ๒

    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงมีพระชนม์อายุยืนยาวมาถึงรัชกาลที่ ๒
    และในรัชกาลนี้ก็ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ
    ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์ของสมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์
    ซึ่งทรงผนวชเป็นครั้งที่ ๒ หลังจากเสด็จกลับจากศึกพม่าถึงกรุงเทพฯ
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๓ แล้วประชวรไข้ป่าพระอาการมาก
    ครั้นหายประชวรแล้วจึงเสด็จออกทรงผนวชอีกครั้งหนึ่ง
    ประทับอยู่วัดมหาธาตุฯ เป็นเวลา ๗ วันจึงทรงลาผนวช

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒


    จัดสมณทูตไทยไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

    ในยุคที่ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงเป็นมหาสังฆปรินายกนี้เอง
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูต
    ออกไปสืบข่าวพระศาสนา ณ ลังกาทวีป เป็นครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
    หลังจากที่ว่างเว้นการติดต่อกันมาเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี
    นับแต่คณะพระสงฆ์ไทยครั้งกรุงศรีอยุธยา
    ที่มีพระวิสุทธาจารย์เป็นประธาน ออกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๒๙๘ เป็นครั้งหลังสุด
    สาเหตุที่โปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูตออกไปลังกาครั้งนี้
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒
    แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑ มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุรูป ๑ กับสามเณร ๒ รูป
    เข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ
    โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณรชื่อ รัตนปาละ
    ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุ สามเณรอีกรูป ๑ ชื่อ หิธายะ
    ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์วัดพระเชตุพน

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์
    เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบท
    แต่พระอุบาลีที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า
    จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา

    ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖
    มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์
    อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีปให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายแด่
    สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสำคัญอันใดมา
    ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป
    พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ
    ซ้ำมาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน
    วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป
    จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่าจะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป

    ทรงพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีป
    ก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับพระสงฆ์ในสยามประเทศ
    เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า แต่เริดร้างมาเสีย
    เพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน
    บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
    มีอิสระมั่นคงแล้ว แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ
    การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร
    ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้
    จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบูรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี)
    ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือ
    จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง

    สมเด็จพระวันรัตนจัดได้พระวัดราชบูรณะ ๕ รูป คือ
    พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑
    พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑
    พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป
    ครั้งนั้นพระรัตนปาละ พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ
    ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา
    ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย
    โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน”


    สมณทูตคณะนี้ ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๓๕๗
    เนื่องจากเรือเกิดชำรุด ต้องติดค้างอยู่ที่นครศรีธรรมราชเป็นเวลา ๑๑ เดือน
    จากนครศรีธรรมราชเดินบกไปขึ้นเรือที่เมืองตรัง
    ออกเดินทางจากเมืองตรังเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๓๕๘
    ถึงเกาะลังกา เดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๕๙ สมณทูตไทยอยู่ในลังกา ๑๒ เดือน
    จึงเดินทางกลับ ออกเดินทางจากลังกาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๓๖๐
    มาพักอยู่ที่เกาะหมาก (ปีนัง) ๔ เดือน ถึงกรุงเทพฯ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๓๖๑

    ในการจัดสมณทูตไปลังกาครั้งนี้ แม้ว่าจะมิได้โปรดเกล้าฯ ให้
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นผู้จัดการเรื่องต่างๆ โดยตรงเนื่องจากทรงชราภาพ
    แต่ก็คงเป็นที่ทรงปรึกษาในการนี้ด้วยพระองค์หนึ่งอย่างไม่ต้องสงสัย
    เพราะทรงเป็นพระมหาเถระรัตตัญญูอยู่ในเวลานั้น
    ทั้งทรงทันรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆ เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยามาด้วย
    จึงคงจะทรงทราบธรรมเนียมแบบอย่างทางคณะสงฆ์มาเป็นอันดี


    พระอวสานกาล

    ในตอนปลายอายุของท่านซึ่งทรงพระชราทุพพลภาพมากขึ้น
    ทรงโปรดรับสั่งให้ สมเด็จพระพนรัตน (มี) วัดเลียบหรือวัดราชบุรณะ
    รับพระราชภาระในตำแหน่งหน้าที่บริหารแทน เช่น ได้ทรงคัดเลือกสมณทูตไทย
    เพื่อไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังลังกาทวีป ฯลฯ ดังความตอนหนึ่งที่กล่าวมาแล้ว

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลานานถึง ๒๓ ปี
    นับว่ายาวนานกว่าสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์ที่เคยมีมาในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๓๗ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๕๙
    ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวด อัฐศก เวลา ๒ โมงเช้า ในรัชกาลที่ ๒
    ทรงมีพระชนมายุเท่าใดไม่ปรากฏชัด ด้วยไม่พบดวงชะตาเหมือนสังฆราชองค์อื่นๆ
    แต่มีหลักฐานสันนิษฐานว่าอายุอ่อนกว่า สมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) กรุงธนบุรี
    แต่แก่กว่า สมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน)
    ถ้าประมาณว่าอ่อนกว่าสมเด็จพระสังฆราช (ชื่น) ๒ ปี แก่กว่าสมเด็จพระพนรัตน ๒ ปี
    ประมาณปีเกิดในปีกุน จุลศักราช ๑๐๙๓ พุทธศักราช ๒๒๗๔
    ถ้าเช่นนั้นเมื่อเป็นสมเด็จพระสังฆราช พระชนมายุ ๖๓ พรรษา
    เมื่อสิ้นพระชนม์ได้ ๘๖ พรรษา ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ ๒๓ ปี
    ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ทรงสันนิษฐานว่า คงมีพระชนมายุเกิน ๘๐ พรรษา
     
  10. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    พ.ศ. ๒๓๕๙-๒๓๖๒


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    ประสูติเมื่อวันที่ ๑๕ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๒๙๓
    ตรงกับวันพุธ เดือน ๘ ขึ้น ๑๒ ค่ำ ปีมะเมีย จุลศักราช ๑๑๑๒
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา

    อนึ่ง หลักฐานตอนต้นของท่านนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด
    มาทราบได้ก็ตอนที่ท่านเป็นมหามีเปรียญเอก สถิต ณ วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ)
    ในสมัยเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ทรงฟื้นฟูส่งเสริมการพระศาสนาเป็นการใหญ่
    ดังที่ในหนังสือพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑
    ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค)
    ได้กล่าวถึงสมเด็จพระสังฆราช (มี) เมื่อครั้งยังเป็น มหามี
    ซึ่งได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้นตามลำดับชั้นว่า

    “ให้มหามีเปรียญเอกวัดเลียบเป็นพระวินัยรักขิตแทนพระอุบาลี
    และพระพุฒาจารย์ วัดบางหว้าน้อยนั้น อาพาธลงถึงแก่มรณภาพ
    ทรงพระกรุณาให้ทำฌาปนกิจแล้ว
    ให้นิมนต์พระเทพมุนีไปครองวัดบางหว้าน้อยแทน...”


    เมื่อครั้งกรุงธนบุรี ทรงเป็นพระเปรียญเอกอยู่วัดเลียบ (วัดราชบุรณะ)
    ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปราบดาภิเษกและสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ขึ้นแล้ว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งเป็นพระราชาคณะที่ พระวินัยรักขิต
    แทนตำแหน่งที่ พระอุปาฬี ซึ่งเป็นตำแหน่งพระราชาคณะสามัญ
    มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา โดยทรงพระราชดำริว่า ที่พระอุปาฬี
    ต้องกับนามพระอรหันต์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แปลงนามเลยใหม่เป็น
    พระวินัยรักขิต ฉะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    จึงทรงเป็นพระราชาคณะในราชทินนามที่ พระวินัยรักขิต เป็นรูปแรก

    พ.ศ. ๒๓๓๗ ในรัชกาลที่ ๑ โปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม
    ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    และ สมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน)

    ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    เมื่อสมเด็จพระพนรัตน วัดโพธาราม (วัดพระเชตุพน) ถึงแก่มรณภาพ
    ในราวต้นรัชกาล จึงโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนขึ้นเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน

    ทรงคัดเลือกสมณทูตไทยไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ลังกาทวีป
    ในขณะที่ยังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน (มี)
    ซึ่งขณะนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ทรงพระชราทุพพลภาพมาก
    ดังที่พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒
    ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) ได้บันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวนี้ ไว้ว่า

    “ครั้นถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖
    มีพระสงฆ์ลังกาเข้ามาอีก ๑ รูป ชื่อพระสาสนวงศ์
    อ้างว่ามหาสังฆนายกในลังกาทวีป
    ให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุเข้ามาถวายพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
    แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสิ่งสำคัญอันใดมา
    ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป
    พระสาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ
    ซ้ำมาเกิดรังเกียจ ไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน
    จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่า
    จะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป
    ทรงพระราชดำริว่า มีไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา
    แต่เลิกร้างเสียเพราะเหตุเกิดสงครามไม่ได้ไปมาหาสู่กันช้านาน
    บัดนี้กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี
    เป็นอิสระมั่นคงแล้ว และได้ข่าวว่าลังกาเสียแก่อังกฤษ
    การพระศาสนาและศาสนวงศ์ในลังกาทวีปเป็นอย่างไร
    ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้ จึงทรงเผดียง
    สมเด็จพระพนรัตน (มี) วัดราชบุรณะ กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี)
    ให้จัดหาภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้และเหนือ
    จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง...”


    สมเด็จพระพนรัตน (มี) จึงเลือกอาราธนาพระภิกษุวัดราชบุรณะได้ ๔ รูป คือ
    ๑. พระอาจารย์ดี
    ๒. พระอาจารย์คง
    ๓. พระอาจารย์เทพ และ
    ๔. พระอาจารย์ห่วง (หลักฐานบางแห่งว่าชื่อ พระอาจารย์จันทร์)
    ได้ร่วมกับพระภิกษุวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

    ซี่งพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ได้เลือกไว้ ๔ รูป คือ
    ๑. พระอาจารย์อยู่
    ๒. พระอาจารย์ปราง
    ๓. พระอาจารย์เซ่ง
    ๔. พระอาจารย์ม่วง

    ทั้งนี้ ได้มีมติให้พระภิกษุชาวลังกาอีก ๒ รูป คือ
    ๑. พระรัตนปาละ และ ๒. พระหิระ รวมทั้งหมดด้วยกัน ๑๐ รูป
    โดยชุดสมณทูตคณะสงฆ์ไทย ได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๕๗ นับว่าเป็นครั้งแรกที่ไทยเราได้ส่งสมณทูต
    ไปเผยแพร่หลักธรรมในทางพระพุทธศาสนา ณ ลังกาทวีป
     
  11. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    จัดสมณทูตไทยไปลังกาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์

    เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระพนรัตน
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจที่สำคัญครั้งหนึ่ง
    คือพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ทรงมีพระราชดำริที่จะให้พระสงฆ์ไทยออกไปสืบข่าวพระศาสนายังลังกาทวีป
    แต่เนื่องจาก สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ขณะนั้นทรงชราภาพ
    จึงทรงมอบหมายให้ สมเด็จพระพนรัตน (มี)
    เป็นผู้จัดสมณทูตเพื่อออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนายังลังกาทวีปครั้งนี้
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “เมื่อปีมะเส็ง เอกศก จุลศักราช ๑๑๗๑ พ.ศ. ๒๓๕๒ แต่ในปลายรัชกาลที่ ๑
    มีพระภิกษุชาวลังกาชื่อพระวลิตรภิกษุ รูป ๑ กับ สามเณร ๒ รูป
    เข้ามาจากเมืองนครศรีธรรมราชมาถึงกรุงเทพฯ
    โปรดให้วลิตรภิกษุกับสามเณรชื่อรัตนปาละ
    ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดมหาธาตุ
    สามเณรอีกรูป ๑ ชื่อหิธายะ ให้ไปอยู่ในสำนักสมเด็จพระวันรัตน์ วัดพระเชตุพน
    ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ สามเณรลังกาทั้ง ๒ รูป ขออุปสมบทเป็นพระภิกษุสยามวงศ์
    เพราะถือว่าเป็นวงศ์เดียวกับพระสงฆ์ในลังกาทวีป ซึ่งได้รับอุปสมบทแต่พระอุบาลี
    ที่ออกไปในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าบรมโกศครั้งกรุงเก่า
    จึงโปรดให้สามเณรทั้ง ๒ นี้เป็นนาคหลวงบวชในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    และพระราชทานนิตยภัตไตรปีสืบมา

    ครั้นมาถึงปีระกา เบญจศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๖
    มีพระลังกาเข้ามาถึงกรุงเทพฯ อีกรูป ๑ ชื่อพระศาสนวงศ์
    อ้างว่าพระมหาสังฆนายกในลังกาทวีปให้เชิญพระบรมสารีริกธาตุ
    เข้ามาถวายแด่สมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา แต่ไม่มีสมณสาสน์หรือสำคัญอันใดมา
    ครั้นไต่ถามถึงการพระศาสนาในลังกาทวีป พระศาสนวงศ์ก็ให้การเลื่อนเปื้อนไปต่างๆ
    ซ้ำมาเกิดรังเกียจไม่ปรองดองกันกับพระลังกาที่เข้ามาอยู่แต่ก่อน
    วัตรปฏิบัติก็ไม่น่าเลื่อมใสด้วยกันทั้ง ๒ รูป

    จึงเป็นเหตุให้ทรงแคลงพระราชหฤทัยว่าจะมิใช่พระที่ได้รับอุปสมบทมาแต่ลังกาทวีป
    ทรงพระราชดำริว่าพระสงฆ์ในลังกาทวีปก็เป็นสมณวงศ์อันเดียวกันกับ
    พระสงฆ์ในสยามประเทศ เคยมีสมณไมตรีต่อกันมาแต่ครั้งกรุงเก่า
    แต่เริดร้างมาเสียเพราะเกิดเหตุศึกสงคราม ไม่ได้ไปมาหาสู่ถึงกันช้านาน
    บัดนี้ กรุงสยามก็ได้ประดิษฐานพระนครรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี มีอิสระมั่นคงแล้ว
    แลได้ข่าวว่าลังกาทวีปเสียแก่อังกฤษ
    การพระศาสนาแลศาสนวงศ์ในลังกาทวีปจะเป็นอย่างไร
    ควรจะสืบสวนให้ทราบความจริงไว้
    จึงทรงเผดียงสมเด็จพระวันรัตน์ (มี) วัดราชบูรณะ
    กับพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) ให้จัดหาพระภิกษุสงฆ์ทั้งฝ่ายคณะใต้แลคณะเหนือ
    จะมีองค์ใดศรัทธาออกไปยังลังกาทวีปบ้าง
    สมเด็จพระวันรัตนจัดได้พระวัดราชบูรณะ ๕ รูป คือ
    พระอาจารย์ดีรูป ๑ พระอาจารย์เทพรูป ๑ พระแก้วรูป ๑ พระคงรูป ๑ พระห่วงรูป ๑
    พระพุทธโฆษาจารย์จัดได้พระวัดมหาธาตุ ๔ รูป คือ พระอาจารย์อยู่รูป ๑ พระปรางรูป ๑
    พระเซ่งรูป ๑ พระม่วงรูป ๑ รวมพระสงฆ์ไทย ๙ รูป ครั้งนั้นพระรัตนปาละ
    พระหิธายะชาวลังกา ซึ่งเข้ามาอุปสมบทในกรุงเทพฯ
    ทราบว่าพระสงฆ์สมณทูตไทยจะออกไปลังกา
    ถวายพระพรลาจะออกไปเยี่ยมญาติโยมของตนด้วย
    โปรดให้ไปกับสมณทูต พระสงฆ์ที่จะไปจึงรวมเป็น ๑๐ รูปด้วยกัน
    เมื่อจัดพระได้พร้อมแล้ว ถึงเดือน ๒ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีจอ ฉศก พ.ศ. ๒๓๗๕
    โปรดให้นิมนต์พระสงฆ์สมณทูตเข้าไปรับผ้าไตรแลเครื่องบริขารต่อพระหัตถ์
    แลโปรดให้จัดต้นไม้เงินทอง ๑๖ สำรับเทียนใหญ่ธูปใหญ่ ๓๐๐ คู่
    เป็นของทรงพระราชอุทิศส่งไปบูชาพระทันตธาตุ และพระเจดียฐานในลังกาทวีป
    แลโปรดให้จัดเครื่องสมณบริขาร ๓ สำรับ คือ บาตร ฝาแลเซิงประดับมุก
    ถลกบาตรสักหลาดแดง ไตรแพรปักสี
    ย่ามหักทองขวางเป็นของพระราชทานพระสังฆนายก
    พระอนุนายก แลพระเถระซึ่งรักษาพระทันตธาตุ ณ เมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี
    แลมีสมณสาสน์ของสมเด็จพระสังฆราช ไปถึงพระสังฆนายกด้วยฉบับหนึ่ง
    โปรดให้หมื่นไกร กรมการเมืองนครศรีธรรมราช เป็นไวยาวัจกรสมณทูต
    แลคุมต้นไม้เงินทองสิ่งของพระราชทานไปด้วย
    สมณทูตลงเรือกรมอาสาจามไปจากกรุงเทพฯ เมื่อ ณ วันเดือน ๒ ขึ้น ๑๓ ค่ำ
    ถูกลมว่าวพัดกล้าคลื่นใหญ่ เรือไปชำรุดเกยที่ปากน้ำเมืองชุมพร
    พระยาชุมพรจัดเรือส่งไปเมืองไชยา พระยาไชยาจัดเรือส่งต่อไป
    ถึงเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๘ ค่ำ
    ไม่ทันฤดูลมที่จะใช้ใบไปลังกาทวีป
    สมณทูตจึงต้องค้างอยู่เมืองนครศรีธรรมราช ๑๑ เดือน
    ในระหว่างนั้น พระวลิตรภิกษุ กับพระศาสนวงศ์
    พระลังกาที่อยู่ในกรุงเทพฯ ทราบว่าพระสงฆ์ไทยยังค้างอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช
    ถวายพระพรลาว่าจะกลับไปบ้านเมืองกับสมณทูตไทย

    เมื่อได้พระราชทานอนุญาตแล้ว ก็ตามออกไปยังเมืองนครศรีธรรมราช
    แต่เมื่ออกไปถึงเมืองนครศรีธรรมราชแล้ว พระวลิตรภิกษุ กับพระรัตนปาละ พระหิธายะ
    ที่มาบวชในกรุงเทพฯ ไปประพฤติตัวไม่เรียบร้อยต่างๆ
    พระยานครศรีธรรมราช (น้อย) เห็นว่า ถ้าให้พระลังกา ๓ รูปนั้น
    ไปกับพระสงฆ์สมณทูตไทยเกรงจะไปเกิดเหตุการณ์ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ
    จึงจัดส่งไปเกาะหมากทั้ง ๓ รูป ให้กลับไปบ้านเมืองของตนตามอำเภอใจ
    คงให้ไปกับพระสงฆ์ไทยแต่พระศาสนวงศ์รูปเดียว
    แต่เมื่อไปขึ้นบกในอินเดียแล้วพระศาสนวงศ์ก็หลบหายไปอีก
    พระสงฆ์สมณทูตไทยไปบกจากเมืองนครศรีธรรมราช ไปลงเรือที่เมืองฝรั่ง
    ได้ออกเรือเมื่อ ณ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีกุน สัปตศก จุลศักราช ๑๑๗๗ พ.ศ. ๒๓๕๘
    ไปกับเรือที่บรรทุกช้างไปขายในอินเดีย
    พระยานครศรีธรรมราชมีจดหมายไปถึงสังฆนาเกน นายห้างพราหมณ์อยู่
    ณ เมืองบำบุดบำดัด ซึ่งเป็นคนชอบกับเจ้าพระยานคร ได้เคยรับซื้อช้างกันมาเสมอทุกปี

    ครั้นเรือไปถึงเมืองบำบุดบำดัด
    สังฆนาเกนได้ทราบความในหนังสือเจ้าพระยานครแล้ว
    ก็ช่วยเป็นธุระรับรองพระสงฆ์สมณทูต แลให้เที่ยวหาจ้างคนนำทางที่จะไปลังกา
    พระสงฆ์ต้องคอยท่าอยู่อีกเดือนหนึ่ง จึงได้บลิม แขกต้นหนคน ๑
    เคยมาค้าขายที่เมืองฝรั่งพูดไทยได้เป็นล่าม แลนำทางไป
    ต้นไม้ทองเงินธูปเทียนแลเครื่องบริขารของพระราชทานนั้นบลิมก็รับไปด้วย
    เรียกค่าจ้างเป็นเงิน ๑๘๐ รูเปีย
    ออกเดินไปจากเมืองบำบุดบำดัด เมื่อ ณ เดือน ๕ แรม ๖ ค่ำ ไป ๗๖ วัน
    ถึงท่าข้ามไปเกาะลังกา บลิมจ้างเรือไปส่งไปวัน ๑ ถึงเกาะลังกา
    ขึ้นเดินไปจากท่าเรืออีก ๓ วัน ถึงเมืองอนุราธบุรี
    เมื่อ ณ วันเดือน ๘ บุรพาสาธขึ้น ๑๕ ค่ำ ปีชวด อัฐศก พ.ศ. ๒๓๕๙
    พักอยู่ที่เมืองอนุราธบุรี ๓ วัน กุมารสิยูม ซึ่งเป็นใหญ่อยู่ที่เมืองอนุราธบุรีนั้น
    จัดคนนำทางส่งต่อไปเมืองสิงขัณฑศิริวัฒนบุรี เดินไปได้ ๑๖ วัน
    ถึงคลองน้ำชื่อว่า วาลุกคงคา เมื่อ ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้นค่ำ ๑
    ขุนนางเมืองสิงขัณฑทราบว่าพระสงฆ์ไทยไปถึงคลองวาลุกคงคา
    จึงแต่งให้พันนายบ้านราษฎรออกมาปฏิบัติ
    ทำปะรำดาดผ้าขาวให้พักอาศัยอยู่คืนหนึ่ง
    รุ่งขึ้น ณ วันเดือน ๘ ทุติยาสาธขึ้น ๒ ค่ำ พระสงฆ์ สามเณร ราษฎรชาวลังกาชายหญิง
    ออกมารับสมณทูตไทยแห่เข้าไปในเมือสิงขัณฑ ให้ไปอยู่วัดบุปผาราม
    เวลานั้นอังกฤษพึ่งได้เกาะลังกาเป็นเมืองขึ้นใหม่ๆ
    เจ้าเมืองอังกฤษกำลังเอาใจชาวลังกา
    ให้เห็นว่าไม่ประสงค์จะเบียดเบียนพระพุทธศาสนา
    พระสงฆ์ชาวลังกาเคยได้รับนิตยภัตจตุปัจจัยมาแต่
    เมื่อยังมีพระเจ้าแผ่นดินสิงหฬปกครองอย่างไร ก็คงให้อย่างนั้น
    พระสงฆ์ไทยก็ได้รับความอุปการะเหมือนกับพระสงฆ์ชาวลังกาด้วยทุกอย่าง
    ฝ่ายพระสังฆนายก พระอนุนายกชาวสิงหฬ ก็ช่วยทำนุบำรุง
    พาสมณทูตไทยไปหาเจ้าเมืองอังกฤษ ขอลูกกุญแจมาไขเปิดพระทันตธาตุมนเทียร
    แลเชิญพระทันตธาตุออกให้นมัสการ
    แล้วพาไปนมัสการพระพุทธบาทบนยอดเขาสุมนกูฏ
    ได้ไปเที่ยวนมัสการพระเจดีย์ฐานที่สำคัญทุกแห่ง
    สมณทูตไทยอยู่ในลังกาทวีป ๑๒ เดือนจึงลาพระสังฆนายก พระอนุนายกกลับมา
    พระสังฆนายก พระอนุนายก ประชุมพร้อมกัน
    ทำสมณสาสน์ตอบให้สมณทูตไทยถือเข้ามาถึงสมเด็จพระสังฆราชฉบับ ๑
    ในสมณสาสน์นั้นว่า พระสังฆนายก พระอนุนายก
    ได้ช่วยทำนุบำรุงพระสงฆ์ไทยตั้งแต่ไปจนกลับมา มีความผาสุกทุกองค์
    จัดได้พระเจดีย์แก้วผลึกสูง ๘ นิ้วบรรจุพระบรมธาตุ ๕ พระองค์
    พระพุทธรูปกาไหล่ทองคำหน้าตัก ๕ นิ้วองค์หนึ่ง ฉลองพระเนตรองค์หนึ่ง
    ถวายเข้ามาในสมเด็จพระเจ้ากรุงศรีอยุธยา
    แลจัดได้พระเจดีย์กาไหล่ทองคำองค์หนึ่งสูง ๑๒ นิ้ว
    บรรจุพระบรมธาตุ ๓ พระองค์ แว่นตาศิลาอันหนึ่ง ถวายสมเด็จพระสังฆราช
    อนึ่ง เมื่อสมณทูตไทยกลับมาคราวนั้น
    ได้หน่อพระมหาโพธิเมืองอนุราธบุรีเข้ามาด้วย ๖ ต้น
    พระสงฆ์ไทยออกจากเมืองสิงขัณฑ ณ เดือน ๗ แรม ๖ ค่ำ ปีฉลูนพศก พ.ศ. ๒๓๖๐
    ขุนนางอังกฤษที่เป็นเจ้าเมืองกลัมพู เอาเป็นธุระฝากเรือลูกค้ามาส่งที่เมืองบำบุดบำดัด
    แล้วสังฆนาเกนเศรษฐีเสียค่าระวาง ให้เรือกำปั่นลูกค้ามาส่งที่เมืองเกาะหมาก
    ขึ้นพักอยู่ที่เมืองเกาะหมาก ๔ เดือน

    พระยานครศรีธรรมราชทราบว่า พระสงฆ์ซึ่งไปลังกากลับมาถึงเมืองเกาะหมากแล้ว
    จึงแต่งหรือไปรับ แลจัดส่งเข้ามา ถึงกรุงเทพมหานคร เมื่อเดือน ๙ แรมค่ำ ๑
    ปีขาลสัมฤทธิศก จุลศักราช ๑๑๘๙ พ.ศ. ๒๓๖๑
    แลต้นพระมหาโพธิที่ได้มานั้น พระอาจารย์เทพ ขอเอาไปปลูกไว้ที่เมืองกลันตันต้นหนึ่ง
    เจ้าพระยานครขอเอาไปปลูกที่เมืองนครสองต้น ได้เข้ามาถวายสามต้น
    โปรดให้ปลูกไว้ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง วัดสระเกศต้นหนึ่ง
    แล้วทรงตั้งพระอาจารย์ดีเป็นที่พระคัมภีรปรีชา
    ตั้งพระอาจารย์เทพเป็นที่พระปัญญาวิสารเถร พระห่วงนั้นทรงเห็นว่าได้เรียนหนังสือ
    รู้ภาษามคธมาก ได้ช่วยเป็นล่ามโต้ตอบกับชาวลังกา
    ไม่เสียรัดเสียเปรียบ เป็นคนฉลาดไหวพริบดี
    จึงทรงตั้งให้เป็นพระวิสุทธิมุนี เป็นพระราชาคณะทั้ง ๓ รูป
    พระสงฆ์ที่ได้เป็นสมณทูตไปลังกานอกจากนั้น
    พระราชทานไตรปืแลนิตยภัตต่อมา เดือนละ ๘ บาทบ้าง ๖ บาทบ้างทุกรูป
    พระกรณียกิจครั้งนี้นับว่าเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญ
    เพราะเป็นการรื้อฟื้นศาสนไมตรีระหว่างไทยกับลังกา
    ที่เริดร้างกันมากว่าครึ่งศตวรรษ ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
    ทั้งเป็นการปูทางให้แก่สมณทูตไทยในรัชกาลต่อมา
    ซึ่งยังผลให้คณะสงฆ์ไทยและลังกา มีการติดต่อสัมพันธ์กันใกล้ชิดยิ่งขึ้น
    อันเป็นการเอื้อประโยชน์แก่กันและกัน ในทางพระศาสนาในเวลาต่อมาเป็นอันมาก”
     
  12. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๗ เมษายน พุทธศักราช ๒๓๕๙
    ตรงกับวันพุธ แรม ๑๑ ค่ำ เดือน ๖ ปีชวดอัฐศก เวลา ๒ โมงเช้า นี้
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ศุข)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (มี)
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พุทธศักราช ๒๓๕๙
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศิริศยุภมัศดุอดีตกาลพระพุทธศักราชชไมยะ
    สหัสสังวัจฉรไตรยสตาธฤกษ์เอกูณสัฏฐีเตมสประจุบันกาล
    มุสิกสังวัจฉรมาสกาลปักษ์ยครุวารสัตตดฤษถีบริเฉทกาลอุกฤษฐ์
    สมเด็จบรมธรรมฤกมหาราชารามาธิราชเจ้า
    ผู้ทรงทศพิธราชธรรมอนันตคุณวิบุลยอันมหาประเสริฐ
    ทรงพระราชศรัทธามีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่ง
    พระราชูทิศถาปนาให้สมเด็จพระพนรัตน
    เป็นสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติยวราสังฆราชาธิบดีศรีสมณุตมาปรินายก
    ติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤกษษรทักษิณา
    สฤทธิสังฆคามวาสี อรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณะนิกรจัตุพิธบรรพสัช
    สถิตย์ในพระศรีรัตนมหาธาตุวรวิหารพระอารามหลวง ให้จฤกถฤๅตฤกาลอวยผล
    พระชนมายุศมศรีสวัสดิ พิพัฒนมงคลวิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด”


    ในพระประวัติสมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เองที่ปรากฏหลักฐานเป็นครั้งแรกว่า
    สมเด็จพระสังฆราชในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ มีราชทินนามว่า
    “สมเด็จพระอริยวงษญาณ” กระทั่งถึงรัชกาลที่ ๔
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงแก้เป็น
    “สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ” และใช้พระนามนี้สืบมาจนปัจจุบัน

    [​IMG]
    หมู่พระพุทธรูปที่พระวิหารคด วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์


    เกิดธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ

    สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
    ที่ทรงตั้งในรัชกาลที่ ๒ และทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์แรก
    ที่เมื่อทรงตั้งแล้วโปรดให้แห่จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    อันเป็นการเริ่มต้นธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราช
    จากพระอารามเดิมมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ซึ่งเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๒
    เมื่อคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้เป็นครั้งแรก
    และวัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราชทุกพระองค์
    ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา จนตลอดรัชกาลที่ ๒

    การที่สมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาประทับ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ นั้น
    ถือเป็นสังฆประเพณีว่าสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนและหลังจากนี้
    สมเด็จพระสังฆราชจะต้องเสด็จประทับ ณ วัดมหาธาตุฯ
    เนื่องจากเป็นพระอารามหลวงใหญ่ของราชธานี
    เพื่อจะได้เป็นประธานแก่คณะสงฆ์แห่งพุทธจักร
    ก่อนจะเสด็จมาประทับจะต้องโปรดให้ตั้งขบวนแห่งมีฤกษ์ เครื่องพิธี และสังฆพิธี
    อย่างพร้อมเพรียงนับว่าเป็นพระเพณีในทางพุทธศาสนาที่ยิ่งใหญ่มาก
    สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงได้อรรถาธิบายไว้
    ในหนังสือ “ประวัติอธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ” ไว้อย่างละเอียดดังนี้ว่า

    “ในรัชกาลที่ ๒ ต้องทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชถึง ๓ พระองค์
    ตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นต้นมา ล้วนอยู่พระอารามอื่นก่อน
    แล้วจึงมาสถิตวัดมหาธาตุทั้งนั้น เมื่อจะเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    บางพระองค์แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อนแล้ว จึงรับพระสุพรรณบัตร
    บางพระองค์รับพระสุพรรณบัตรก่อนแล้วจึงแห่มาสถิตวัดมหาธาตุ
    คงจะเกี่ยวด้วยฤกษ์ทรงสถาปนา
    ถ้าฤกษ์อยู่ในเวลาพระศพสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนยังอยู่ที่ตำหนัก
    ก็รับพระสุพรรณบัตรก่อน พระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อน
    แล้วจึงแห่สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่มาสถิตวัดมหาธาตุ
    ถ้าฤกษ์สถาปนา เป็นเวลาพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนแล้ว
    ก็แห่มาสถิตวัดมหาธาตุก่อน แล้วจึงรับพระสุพรรณบัตร
    คราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นี้ เห็นได้ชัดโดยวันในจดหมายเหตุว่า
    เมี่อทรงตั้งนั้น สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) สิ้นพระชนม์ยังไม่ถึง ๓ เดือน
    คงยังไม่ได้พระราชทานเพลิงพระศพ

    ลักษณะการตั้งสมเด็จพระสังฆราช ข้าพเจ้าได้เห็นจดหมายเหตุของอาลักษณ์
    จดรายการพิธีคราวตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) เมื่อในรัชกาลที่ ๓
    แต่เข้าใจว่า ตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ก่อนๆ การพิธีก็จะเป็นอย่างเดียวกัน...

    เริ่มการพิธีด้วยฤกษ์จารึกพระสุพรรณบัฏ
    จารึกในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามจารึกแล้ว (ม้วนรัดด้วยไหมเบญจพรรณ)
    บรรจุกล่องงาวางบนพานทอง มีถึงแพรเหลือระบายแดงผูกพานทองชั้น ๑
    แล้วเอาพานทองนั้นวางบนพาน ๒ ชั้น ประดับมุก
    มีถึงแพรเหลืองระบายแดงผูกพานขั้น ๒ อีกชั้น ๑
    แล้วจึงปิดคลุมปักหักทองขวางนอกพระสุพรรณบัฏ
    ยังมีตราพระมหามณฑปสำหรับตำแหน่งพระสังฆราชใส่ถึงตาด
    ใส่ในหีบขาวกับตลับชาดงา หีบนั้นใส่ถุงแพรต่วนเหลืองระบายแดงบนตะลุ่มประดับมุก
    มีถุงแพรเหลือระบายแดงอีกชั้น ๑
    แล้วเชิญพานพระสุพรรณบัฏและพานตราพระมหามณฑป
    ตั้งบนเตียงพระมหามณฑปในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    วันก่อนพระฤกษ์สถาปนาเวลาบ่าย
    พระราชาคณะเจริญพระพุทธมนต์ที่ในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    ครั้นรุ่งขึ้นเวลาเข้าเสด็จออกยังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    พระอาลักษณ์นุ่งห่มปักลายทองเชิงกรวย สวมเสื้อครุย นั่งบนผ้าขาวพับ
    อ่านประกาศพระนามครั้นประกาศแล้ว
    ทรงประเคนพานพระสุพรรณบัฏและตะลุ่มพระมณฑป
    เมื่อทรงประเคนแล้วเชิญกลับไปตั้งไว้บนเตียงพระมณฑป
    พระสงฆ์รับพระราชทานอาหารบิณฑบาตฉันเพลแล้ว
    เป็นการเสร็จพิธีในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    มีในหนังสือพระราชพงศาวดารคราวทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    ในรัชกาลที่ ๒ นั้น ทำพิธีในพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย
    เมื่อพระสงฆ์ฉันแล้ว มีเวียนเทียนสมโภชสมเด็จพระสังฆราชด้วย

    ลักษณะการที่กล่าวมา ข้าพเจ้าสังสัยว่า
    มีรายการอีกอย่างหนึ่งไม่ปรากฏในจดหมายเหตุอาลักษณ์
    คือเรื่องทรงอภิเษกสมเด็จพระสังฆราช เพราะอาลักษณ์ไม่มีหน้าที่จึงไม่กล่าวถึง
    ข้าพเจ้าเห็นเมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (สา) วัดราชประดิษฐ์
    เมื่อในรัชกาลที่ ๕ ตั้งพระแท่นสรงอันมีไม้อุทุมพรเป็นที่ประทับที่ชาลในกำแพงแก้ว
    ข้างพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามด้านใต้
    พระครูธรรมวิธานจารย์ก็เล่าว่า เมื่อครั้งทรงสถาปนา สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    ในรัชกาลที่ ๓ ท่านสถิตอยู่วัดราชบูรณะ แต่มาสรงที่ตำหนักวัดมหาธาตุ
    จึงสันนิษฐานว่า เมื่อแต่ก่อนเห็นจะทำพิธีที่ตำหนักสมเด็จพระสังฆราชด้วยอีกแห่งหนึ่ง
    ตั้งพระแท่นสรงที่นั่นมีสวดมนต์เย็นเหมือนอย่างตั้งกรมเจ้านาย
    สมเด็จพระสังฆราชสรงในตอนเช้าแล้ว
    จึงเข้ามารับพระราชทานพระสุพรรณบัฏในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    เป็นทำนองพิธีตั้งกรมเจ้านายแต่ก่อน

    ได้ความตามจดหมายเหตุของอาลักษณ์ต่อมาว่า
    ในวันตั้งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ตอนบ่ายแห่พระสุพรรณบัฏและตรามหามณฑป
    ไปส่งยังพระอาราม มีกระบวนแห่สวมเสื้อครัยและลอมพอกขาว
    ถือดอกบัวสด ๔๐ กลองชนะ ๒๐ จ่าปี่ ๑ แตรฝรั่ง ๔ แตรงอน ๘ สังข์ ๒
    รวม ๓๒ คน สวมเสื้อหมวกแดง แล้วถึงเครื่องสูงบังแทรกรวม ๑๘ คน
    นุ่งกางเกงยก เสื้อมัสรูเกี้ยวผ้าลาย
    แล้วถึงราชยานถุรับพระสุพรรณบัฏและตราพระมหามณฑป
    มีขุนหมื่นอาลักษณ์นุ้งถมปักลาย สวมเสื้อครุยลอมพอกนั่งประคอง คน ๑
    กระบวนหลังมีเครื่องสูงแล้วถึงเกณฑ์แห่มีคู่แห่ ๒๐ และถือธง ๒๐ เป็นอันหมดกระบวน

    ในค่ำวันนั้นมีจุดดอกไม้เพลิง ดอกไม้พุ่มเจ็ดชั้น ๒๐ พุ่ม ระทาสูง ๔ สอก ๑๐
    ระทาพะเนียง ๓๐ กระบอก จุดที่นอกระเบียงข้างหน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม...”


    อย่างไรก็ตาม วัดมหาธาตุก็ได้เป็นที่สถิตของ
    สมเด็จพระสังฆราช ต่อเนื่องกันมาถึง ๔ พระองค์ คือ

    ๑. สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) ซึ่งทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    มาแต่รัชกาลที่ ๑ จนถึงตอนต้นรัชกาลที่ ๒

    ๒. สมเด็จพระสังฆราช (มี) พระองค์ที่ ๑ ในรัชกาลที่ ๒

    ๓. สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) พระองค์ที่ ๒ ในรัชกาลที่ ๒

    ๔. สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน) พระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒
    ซึ่งมีพระชนม์มาถึงปีที่ ๑๙ ในรัชกาลที่ ๓

    จนมาในรัชกาลที่ ๓ เมื่อทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (นาค) วัดราชบุรณะ
    เป็นสมเด็จพระสังฆราช สืบต่อจาก สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    วัดมหาธาตุกำลังอยู่ในระหว่างบูรณปฏิสังขรณ์
    สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ จนถึงสิ้นพระชนม์
    ต่อแต่นั้นมา เมื่อทรงตั้งสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่
    ก็มิได้มีการแห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ อีก
    ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    จึงเป็นอันสิ้นสุดลงเมื่อสิ้นรัชสมัยรัชกาลที่ ๒
     
  13. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒


    เกิดอธิกรณ์ครั้งสำคัญ

    ในปีแรกที่ทรงตั้ง สมเด็จพระสังฆราช (มี) นั้นเอง
    ก็ได้เกิดอธิกรณ์ซึ่งนับว่าเป็นครั้งสำคัญและครั้งแรกขึ้นในรัชกาล
    เพราะมีพระเถระผู้ใหญ่ที่เป็นกำลังของคณะสงฆ์
    ต้องอธิกรณ์เมถุนปาราชิกพร้อมกันถึง ๓ รูป
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    “ในเดือน ๑๒ ปีชวด อัฐศก (พ.ศ. ๒๓๕๙) นั้น มีโจทก์ฟ้องว่า
    พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) วัดมหาธาตุ รูป ๑
    พระญาณสมโพธิ (เค็ม) วัดนาคกลาง รูป ๑
    พระมงคลเทพมุนี (จีน) วัดหน้าพระเมรุกรุงเก่า รูป ๑ ทั้ง ๓ รูปนี้
    ประพฤติผิดพระวินัยบัญญัติข้อสำคัญ ต้องเมถุนปาราชิกมาช้านาน
    จนถึงมีบุตรหลายคน โปรดให้พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นรักษ์รณเรศ
    กับพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์
    ทรงพิจารณาได้ความเป็นสัตย์สมดังฟ้อง จึงมีรับสั่งเอาตัวผู้ผิดไปจำไว้ ณ คุก”


    ตำแหน่งที่ พระพุทธโฆษาจารย์ นั้น เป็นตำแหน่งสำคัญในคณะสงฆ์
    รองลงมาจากตำแหน่งที่ สมเด็จพระพนรัตน
    หรือเป็นลำดับที่ ๓ ในสังฆมณฑล นับแต่ สมเด็จพระสังฆราช ลงมา
    และพระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) รูปนี้
    นับว่าเป็นกำลังสำคัญของคณะสงฆ์ในขณะนั้น
    เพราะเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    โปรดเกล้าฯ ให้จัดสมณทูตไปลังกาเมื่อต้นรัชกาล
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) ขณะยังเป็นที่ สมเด็จพระพนรัตน
    กับ พระพุทธโฆษาจารย์ (บุญศรี) นี้เอง
    ที่เป็นผู้จัดการเรื่องสมณทูตไปลังกา เป็นที่เรียบร้อยสมพระราชประสงค์
    จึงนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัย
    เมื่อมาเกิดอธิกรณ์ขึ้นเช่นนี้ คงเป็นที่ทรงโทมนัสเป็นอย่างมาก
    และก็คงตกเป็นภาระของสมเด็จพระสังฆราชนั่นเอง
    ที่จะต้องสะสางและปรับปรุงการคณะสงฆ์ให้ดีขึ้น
    ดังปรากฏความในพระราชพงศาวดารว่า

    “ที่เกิดเหตุปรากฏว่าพระราชาคณะเป็นปาราชิกหลายรูปคราวนั้น
    เห็นจะทรงพระวิตกถึงการฝ่ายพระพุทธจักรมาก
    ปรากฏว่าได้ทรงเผดียงสมเด็จพระสังฆราช (มี)
    แลสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกษ ให้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนี
    แสดงข้อวัตรปฏิบัติอันสมควรแก่สมณะมณฑล คัดแจกทั่วไปตามพระอาราม
    เป็นทำนองสังฆาณัติแลการชำระความปาราชิกก็สืบสวนกวดขันขึ้นแต่ครั้งนั้นมา
    จนสิ้นรัชกาลที่ ๒ แลต่อมาในรัชกาลที่ ๓ ด้วย”


    หนังสือโอวาทานุสาสนีดังกล่าวนี้โปรดให้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ นี้
    มีสาระสำคัญว่าด้วยเรื่องให้พระอุปัชฌาย์
    อาจารย์พระราชาคณะถานานุกรมเอาใจใส่สั่งสอนพระภิกษุสามเณร
    ให้อยู่ในจตุปาริสุทธิศีล ๔ ผู้ที่จะเป็นพระอุปัชฌาย์อาจารย์
    จะต้องมีความรู้เรื่องพระวินัยและสังฆกรรมเป็นอย่างดีและปฏิบัติให้ถูกต้อง

    แต่เป็นที่น่าเสียใจว่า ต่อมาอีก ๓ ปี สมเด็จพระพนรัตน (อาจ)
    ผู้แต่งหนังสือโอวาทานุสาสนีเอง ก็ต้องอธิกรณ์ ด้วยประพฤติต่อศิษย์ผิดสมณสารูป
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดจากสมณศักดิ์
    และไล่จากวัดมหาธาตุ จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง
    (ซึ่งภายหลังต่อมาได้สร้างเป็นวัดเบญจมบพิตรดังปรากฏอยู่ในบัดนี้)
    จนถึงมรณภาพในรัชกาลที่ ๓ สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) รูปนี้
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    จะทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชสืบต่อกันมาจาก สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    ถึงกับโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาอยู่วัดมหาธาตุแล้ว แต่มาเกิดอธิกรณ์เสียก่อนดังกล่าว
    เหตุการณ์ครั้งนี้ คงเป็นเรื่องสะเทือนใจพุทธศาสนิกชน
    ยิ่งกว่าเมื่อครั้งพระราชาราชคณะ ๓ รูปต้องอธิกรณ์ดังกล่าวมาแล้วข้างต้น
    เพราะพระเถระที่ต้องอธิกรณ์ครั้งนี้ เป็นถึงว่าที่สมเด็จพระสังฆราช
    และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระยะที่ไม่ห่างกันนัก

    [​IMG]

    การทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์

    พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    มีพระราชประสงค์จะทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้พิเศษยิ่งกว่าที่เคยทรงปฏิบัติมา
    จึงทรงมีพระราชราชปุจฉาต่อสมเด็จพระสังฆราช
    สมเด็จพระสังฆราชจึงได้ถวายพระพรให้ทรงกระทำการสักการะบูชาพระศรีรัตนตรัย
    ในวันวิสาขบูชาเยี่ยงสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้าแต่ปางก่อนเคยกระทำมา
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ
    ให้กำหนดพิธีวิสาขบูชาขึ้นเป็นธรรมเนียม ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๓๖๐ นั้นเป็นต้นมา
    นับเป็นการทำพิธีวิสาขบูชาครั้งแรกในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
    เป็นเหตุให้มีการทำพิธีวิสาขบูชากันสืบมาจนปัจจุบัน เหตุการณ์สำคัญครั้งนี้นับว่า
    เป็นสิ่งที่เกิดจากพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระสังฆราช (มี) โดยแท้
    นับเป็นพระเกียรติประวัติที่สำคัญครั้งหนึ่งของสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้น

    อนึ่ง พระราชกำหนดพิธีวิสาขบูชา
    ที่ได้กำหนดเป็นพระราชพิธีหลวงเป็นครั้งแรก
    ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ
    ให้จัดขึ้นในครั้งนั้น พระราชพงศาวดารได้บันทึกไว้ดังนี้ คือ

    “ศุภมัสดุ ๑๑๗๙ ศกอุศุภสังวัจฉร เจตมาสกาลปักษ์ ทุติยดฤถีครุวาร ปริเฉทกาลกำหนด
    พระบาทสมเด็จพระธรรมิกราชรามาธิราช บรมนาถบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว
    ผู้ทรงคุณธรรมอันประเสริฐ เสด็จออก ณ พระที่นั่งบุษบกมาลา
    มหาจักรพรรดิพิมานพร้อมด้วยอัครมหาเสนามาตยาธิบดี
    มุขมนตรีกระวีชาติราชปโรหิตจารย์ ผู้ทูลละอองพระบาทโดยลำดับ
    ทรงพระราชศรัทธาถวายสังฆภัตทานแก่พระสงฆ์มีองค์สมเด็จพระสังฆราชเป็นประธาน
    ครั้นเสด็จการภุตตกิจ พระสงฆ์รับพระราชทานฉันแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระราชรำพึงถึงสรรพการกุศล เป็นต้นว่า บริจาคทานรักษาศีล เจริญภาวนา
    ซึ่งได้ทรงบำเพ็ญมาเป็นนิจกาลนั้น ยังหาเต็มพระราชศรัทธาไม่
    มีพระทัยปรารถนาจะใคร่ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลให้มีผลวิเศษประเสริฐยิ่ง
    ที่พระองค์ยังมิได้ทรงกระทำเพื่อจะให้แปลกประหลาด
    จึงมีพระราชปุจฉาถามสมเด็จพระสังฆราช (มี)
    และพระราชาคณะผู้ใหญ่ผู้น้อยถวายพระพรว่า
    แต่ก่อนสมเด็จมหากษัตราธิราชเจ้ากระทำสักการบูชา
    พระศรีรัตนตรัยในวันวิสาขบูรณมี คือ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำ
    เป็นวันวิสาขนักขัตฤกษ์มหายัญพิธีบูชาใหม่ มีผลผลานิสงส์มากยิ่งกว่าตรุษสงกรานต์
    เหตุว่าเป็นวันสมเด็จพระสัพพัญญพุทธเจ้าประสูติ ได้ตรัสรู้ ปรินิพพาน
    และสมเด็จพระเจ้าภาติกราชวสักราชดิศรมหาราชเคยกระทำสืบพระชนมายุ
    เป็นเยี่ยงอย่างโบราณราชประเพณีมาแต่ก่อน
    และพระราชพิธีวิสาขบูชาอันนี้เสื่อมสูญขาดมาช้านานแล้ว หามีกษัตริย์องค์ใดกระทำไม่
    ถ้าได้กระทำสักการบูชาพระศรีรัตนตรัยในวันนั้นแล้ว ก็จะมีผลานิสงส์มากยิ่งนัก
    อาจสามารถปิดประตูจตุราบายภูมิทั้ง ๔ และเป็นที่จะดำเนินไปในสุคติภพเบื่องหน้า
    อาจให้เจริญทฤฆายุสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล
    ระงับทุกข์โทษอุปัทวันตรายภัยต่างๆ ในปริเฉทกาลปัจจุบัน
    เป็นอนันต์คุณานิสงส์วิเศษนักจะนับประมาณมิได้
    ครั้นได้ทรงฟังเกิดพระราช ปิติโสมนัสตรัสเห็นว่าวิสาขบูชานี้จะเป็นเนื้อนาบุญราศี
    ประกอบพระราชกุศลเกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่งเป็นแท้
    จึงทรงพระราชศรัทธาจะยกรื้อวิสาขบูชามหาพิธีอันขาดประเพณีมานั้น
    ให้กลับเจียรฐิติกาลกำหนดปรากฏสำหรับแผ่นดินสืบต่อไป
    จะให้เป็นวัตตถประโยชน์และปรมัตถประโยชน์
    ทรงพระราชศรัทธาจะให้สัตว์โลกข้าขอบขัณฑสีมาทั้งปวงเจริญอายุ
    และอยู่เป็นสุขปราศจากทุกข์ภัยในชั่วนี้และชั่วหน้า
    จึงมีพระราชโองการมานบัณฑูรสุรสิงหนาท ดำรัสเหนือเกล้าเหนือกระหม่อมสั่งว่า
    แต่นี้สืบไป เถิง ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ
    เป็นวันวิสาขบูชานักขัตฤกษ์ใหญ่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงรักษาอุโบสถศิลปรนิบัติพระสงฆ์ ๓ วัน ปล่อยสัตว์ ๓ วัน
    ห้ามมิให้ผู้ใดฆ่าสัตว์ตัดชีวิต เสพสุราเมรัย ๓ วัน
    ถวายประทีปตั้งโคมแขวนเครื่องสักการบูชาดอกไม้เพลิง ๓ วัน
    ให้มีพระธรรมเทศนาในพระอารามหลวงถวายไทยทาน ๓ วัน
    ส่วนพระบรมราชวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาท
    ไพร่ฟ้าอาณาประชาราษฎร์ลูกค้าวาณิช สมรชีพราหมณ์ทั้งปวง
    จงมีศรัทธาปลงใจในการกุศล อุตส่าห์กระทำวิสาขบูชาให้เป็นประเพณียั่งยืนไปทุกปี
    ไปอย่าให้ขาด ฝ่ายฆราวาสนั้นจงรักษาอุโบสถศีลถวายบิณฑบาต
    ปล่อยสัตว์ตามศรัทธา ๓ วัน ดุจวันตรัษสงกรานต์
    เวลาเพลแล้วมีพระธรรมเทศนาในพระอาราม
    ครั้นเวลาบ่ายให้ตกแต่งเครื่องสักการบูชาพวงดอกไม้มาลากระทำให้วิจิตรต่างๆ
    ธูปเทียนชวาลาธงผ้า ธงกระดาษออกไปยังอารามบูชาพระรัตนตรัย
    ตั้งพานดอกไม้แขวนพวงไม้ธูปเทียนธงใหญ่ธงน้อยในพระอุโบสถ
    พระวิหารที่ลานพระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์
    และผู้ใดจะมีเครื่องดุริยางค์ดนตรีมโหรีพิณพาทย์
    เครื่องผสมสมโภชประการใดๆ ก็ตามแต่ใจศรัทธา
    ครั้นเวลาค่ำให้บูชาพระรัตนตรัยด้วยเครื่องบูชาประทีป โคมตั้ง โคมแขวน
    จงทุกหน้าบ้าน และ ณ วันเดือน ๖ ขึ้น ๑๕ ค่ำนั้นเป็นวันเพ็ญบุรณมี
    ให้ข้าทูลละอองธุลีพระบาทในพระราชวังหลวง ในกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ประชุมกันถวายสลากภัตแก่พระสงฆ์ และให้มรรคนายกทั้งปวงชักชวนสัปบุรุษทายก
    บรรดาที่อยู่ใกล้เคียงอารามใดๆ ให้นำสลากภัตถวายพระสงฆ์ในอารามนั้น
    เวลาบ่ายให้เอาหม้อใหญ่ใส่น้ำลอยด้วยดอกอุบลบัวหลวง
    ด้วยสายสิญจน์สำหรับเป็นน้ำปริตรไปตั้งที่พระอุโบสถ
    พระสงฆ์ลงอุโบสถแล้วจะได้สวดพระพุทธมนต์จำเริญพระปริตรธรรม
    ครั้นจบแล้วหม้อน้ำของผู้ใดก็เอาไปกินอาบปะพรมรดเย้าเรือนเคหา
    บำบัดโรคอุปัทวภัยต่างๆ ฝ่ายพระสงฆ์สมณนั้นให้พระราชาคณะฐานานุกรม
    ประกาศให้ลงพระอุโบสถแต่เพลาเพลแล้วให้พร้อมกัน
    ครั้นเสร็จอุโบสถกรรมแล้วเจริญพระปริตรธรรมแผ่พระพุทธอาญาในพระราชอาณาเขต
    ระงับอุปัทวภัยทั้งปวง ครั้นเวลาค่ำเป็นวันโอกาสแห่งพระสงฆ์สามเณรกระทำสักการบูชา
    พระศรีรัตนตรัยที่พระอุโบสถและพระวิหารด้วยธูปเทียน โคมตั้ง โคมแขวน ดอกไม้
    และประทีป พระภิกษุที่เป็นธรรมกถึก
    จงมีจิตปราศโลภโลกามิสให้ตั้งเมตตาศรัทธาเป็นบุรจาริก
    จงสำแดงธรรมเทศนาให้พระสงฆ์สามเณรและสัปบุรุษ
    ฟังอันควรแก่ราตรีวันนั้นทุกอาราม
    ให้กระตามพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้เสมอไปทุกปีอย่าให้ขาด
    ถ้าฆราวาสและพระสงฆ์สามเณรรูปใดเป็นพวกทุจริตจิตคะนองหยาบช้า
    หามีศรัทธาไม่กระทำความอันมิชอบ
    ให้เป็นอันตรายแก่ผู้กระทำวิสาขบูชาในวันนักขัตฤกษ์นั้น
    ให้ร้องแขวงนายบ้านนายอำเภอกำชับตรวจตราสอดแนมจับกุมเอาตัวผู้กระทำผิดให้จงได้
    ถ้าจับคฤหัสถ์ได้ในกรุงฯ ให้ส่งกรมพระนครบาลนอกกรุงฯ ให้ส่งเจ้าเมืองกรมการ
    ถ้าจับพระสงฆ์สามเณรได้ในกรุงฯ ส่งสมเด็จพระสังฆราช พระพนรัตน์ นอกกรุงฯ
    ส่งเจ้าอธิการให้ไล่เลียงไต่ถามได้ความเห็นสัตย์ให้ลงทัณฑกรรม ตามอาญาฝ่ายพุทธจักร
    และพระราชอาณาจักรจะได้หลายจำอย่าให้ทำต่อไป
    และให้ประกาศป่าวร้องอาณาประชาราษฎร์
    ลูกค้าวาณิชสมณชีพราหมณ์ให้จง รู้จงทั่ว
    ให้กระทำดังพระราชบัญญัติดังกล่าวมานี้จงทุกประการ
    ถ้าผู้ใดมิได้ฟัง จะเอาตัวผู้กระทำผิดเป็นโทษโดยโทษานุโทษฯ”

    “พิธีวิสาขบูชาทำที่ในกรุงเทพฯ ในรัชกาลที่ ๒ ปรากฏว่ามีการเหล่านี้
    คือนำโคมปิดกระดาษชักเสาไม้ไผ่ยอดผูกฉัตรกระดาษ
    พระราชทานไปปักจุดเป็นพุทธบูชาตามพระอารามหลวงวัดละ ๔ เสาอย่าง ๑
    ให้นายอำเภอกำนันป่าวร้องราษฎรให้จุดโคมตามประทีปตามบ้านเรือนเป็นพุทธบูชาอย่าง ๑ หมายแผ่พระราชกุศล แต่ข้าราชการให้ร้อยดอกไม้แขวน
    เป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามทั้ง ๓ วันอย่าง ๑
    มีดอกไม้เพลิงของหลวงตั้งจุดเป็นพุทธบูชาที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดารามอย่าง ๑
    นิมินต์พระสงฆ์ให้อุโบสถศีลและแสดงพระธรรมเทศนาแก่ราษฎร
    ตามพระอารามหลวงฝั่งตะวันออก ๑๐ วัน ผั่งตะวันตก ๑๐ วัน
    เครื่องกัณฑ์เป็นของหลวงพระราชทาน
    และให้นายอำเภอกำนันร้องป่าวตักเตือนราษฎรให้ไปรักษาศีล
    ฟังธรรม และห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่าง ๑
    นำธงจระเข้ไปปักเป็นพุทธบูชา ตามพระอารามหลวงวัดละต้นอย่าง ๑
    เลี้ยงพระสงฆ์ในท้องพระโรง พระราชทานสลากภัตแล้ว แล้วสดับปกรณ์พระบรมอัฐิ...”
     
  14. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ปรับปรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

    สมเด็จพระสังฆราช (มี) ทรงให้แก้ไขการสอบ
    และวางระเบียบแบบเรียนพระปริยัติธรรมเสียใหม่เพื่อความเหมาะสม
    ซึ่งในสมัยก่อเรียกว่า “บาเรียน” (เปรียญ)
    แต่มาในครั้งนี้ปรับปรุงการเรียนพระปริยัติธรรมให้เป็นหลักสูตรเสียใหม่
    ให้เรียกว่า “ประโยค” โดยกำหนดให้เป็นประโยค ๑ เรื่อยๆ
    ไปจนถึงประโยค ๙ ซึ่งสูงสุด

    ณ ที่นี้จะขอนำเอาข้อความของพระราชเวที วัดทองนพคุณ
    ที่ได้อรรถาธิบายเรื่องเกี่ยวกับการศึกษาพระพุทธศาสนาในเมืองไทย
    ตอนแก้ไขการสอบพระปริยัติธรรมอย่างละเอียด ดังความว่า

    “...การศึกษาพระปริยัติธรรมและการสอบ
    ซึ่งได้ใช้หนังสือพระไตรปิฎกเป็นแบบเรียนนั้น
    ครั้นถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    รัชกาลที่ ๒ แห่งบรมราชจักรีวงศ์ ในสมัยสมเด็จพระสังฆราช (มี)
    เป็นสกลมหาสังฆปริณายก พระพุทธศักราช ๒๓๕๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้แก้ไขวิธีสอบและแบบเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นใหม่ให้มีถึง ๙ ประโยค
    โดยใช้แบบเรียนดังนี้

    ๑. ประโยค ๑ ประโยค ๒ ประโยค ๓ ใช้คัมภีร์ “อรรถกถาธรรมบท”
    เป็นแบบเรียนและต้องสอบแปลให้ได้ในคราวเดียวทั้ง ๓ ประโยค จึงนับว่าเป็นบาเรียน

    ๒. ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” เบื้องต้น
    ต่อมาเลยใช้ทั้งเบื้องต้นและเบื้องปลายรวมเข้าไปด้วย
    แต่ต่อมาภายหลังกลับมาใช้แต่เพียงเบื้องต้นแต่อย่างเดียว

    ๓. ประโยค ๕ ได้ยินว่า แต่เดิมใช้ “บาลีมุตตกะ”
    แล้วเปลี่ยนเป็นคัมภีร์ “สารรัตถสังคหะปกรณ์ วิเสส”
    ภายหลังเปลี่ยนมาใช้คัมภีร์ “บาลีมุตตกะ” อีก
    ในบัดนี้ใช้หนังสือ “สมันตปสารทิกาอัฏฐกถาวินัย” ตติภาค

    ๔. ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์ “มังคลัตถทีปนี” บั้นปลาย
    ต่อมาในสมัยแปลใช้เขียนงดใช้ชั่วคราวหนึ่งโดยใช้ “อรรถกถาธรรมบท” ทั้ง ๘ ภาค
    เป็นแบบใช้ในวิลาแปลไทยเป็นมคธ ในบัดนี้กลับใช้ในวิชาแปลมคธเป็นไทยอีก
    ซ้ำเพิ่มหนังสือ “กังสาวิตรณี” แก้ปาฏิโมกข์เข้ามาอีกด้วย

    ๕. ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์ “ปฐมสมันตปสาทิกาอัฏฐกถาวัย”
    ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก “ส” คือ ชั้นเอกสามัญ
    ในบัดนี้ประโยคนี้ใช้ “สมันตปสาทิกา” ทุติยภาคเพิ่มขึ้นด้วย

    ๖. ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์ “วิสุทธิมัคค์ปกรณ์วิเสส”
    ผู้สอบได้ประโยคนี้เป็นบาเรียนเอก “ม” คือชั้นเอกมัชฌิม

    ๗. ประโยค ๙ ใช้คัมภีร์ “ฎีกาสารัตถทีปนี” ต่อมาเปลี่ยนเป็น
    “ฎีกาอภิธัมมัตถวิภาวินี” ผู้สอบได้ประโยคนี้ เป็นบาเรียนเอก “อ” ชั้นเอกอุดม

    คำว่า “ประโยค” นั้น เข้าใจว่าเรียกตามข้อความที่
    ท่านผู้ออกข้อสอบให้นักเรียนแปล กำหนดไว้เป็นตอนๆ มากบ้างน้อยบ้าง
    ประโยค ๓ แต่เดิมท่านกำหนดข้อความ ๓๐ บรรทัดคือ สามใบลาน
    เนื่องจากนักเรียนมากและเวลาจำกัด ต่อมาจึงลดลงเหลือเพียง ๓ ลาน คือ ๑๐ บรรทัด
    เป็นกรณีพิเศษ ประโยค ๔-๕-๖-๗-๘ เดิมกำหนด ๒ ลาน เหมือนกันหมด
    ต่อมาประโยค ๗ และ ๘ ท่านลดลงเหลือ ๓ หน้าลาน คือ ๑๕ บรรทัด
    ส่วนประโยค ๙ คงกำหนดให้ ๑ ลาน คือ ๑๐ บรรทัดตามเดิม
    ประโยคที่ท่านกำหนดนี้
    นับบรรทัดตามหนังสือของที่จารในใบลานหน้าบาน ๑ จาร ๕ บรรทัด

    “แต่ก่อนแม้พระรามัญที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทย ก็มีการสอบเหมือนกัน
    แต่หลักสูตรการสอบบาเรียนนั้นจะกำหนดขึ้น
    อนุโลมตามหลักสูตรที่เคยใช้อยู่ในรามัญประเทศแต่โบราณ
    หรือมากำหนดใหม่ในเมืองไทยนี้ ข้อนี้ยังไม่ได้หลักฐานแน่นอน
    หนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียนและสอบนั้น ใช้แต่คัมภีร์พระวินัยปิฎก
    เพราะพระสงฆ์รามัญนั้นศึกษาถือพระวินัยเป็นสำคัญสมด้วยคำกลางที่พูดกันว่า
    “มอญวินัย ไทยพระสูตร พม่าอภิธรรม” ได้ยินว่า
    ทางรามัญกำหนดเพียง ๓ ประโยค
    เป็นจบหลักสูตร ภายหลังเพิ่มประโยค ๔ ขึ้นอีกประโยค ๑
    จึงรวมเป็น ๔ ประโยค คือ

    ๑. ประโยค ๑ ใช้คัมภีร์บาลีมหาวิภังค์ คือ อาทิกัมม์หรือปาจิตตีย์
    เป็นบทเรียนและสอบผู้สอบได้ประโยค ๑ เข้าใจว่า แต่เดิมคงเป็นบาเรียน
    ครั้งตั้งประโยค ๔ เพิ่มขึ้นจึงกำหนดว่า
    ต้องสอบประโยค ๒ ได้ด้วย จึงนับว่าเป็นบาเรียน

    ๒. ประโยค ๒ ใช้คัมภีร์บาลีมหาวรรค หรือจุลวรรคอย่างใดอย่างหนึ่ง
    ตามแต่จะเลือกนักเรียนสอบได้ประโยค จึงนับว่าเป็นบาเรียนจัตวา
    เทียบบาเรียนไทย ๓ ประโยค

    ๓. ประโยค ๓ ใช้คัมภีร์มัตตกวินัยวิจิต ผู้สอบได้ประโยคนี้
    นับเป็นบาเรียนเทียบบาเรียนไทย ๔ ประโยค

    ๔. ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์ปฐมลมันปสาทิกาอัฏฐกถาวินัย
    เหมือนหลักสูตรประโยค ๗ ของผู้สอบได้ประโยคนี้นับเป็นบาเรียนโท
    เทียบบาเรียนไทย ๕ ประโยค

    หลักสูตรและการสอบพระปริยัติธรรมฝ่ายรามัญในเมืองไทย ตามที่กล่าวมานี้
    เมื่อได้เลิกจากการสอบวิธีแปลปากเปล่ามาเป็นวิธีเขียนแล้วก็เป็นอันยกเลิกไป
    บัดนี้คงใช้วิธีสอบ และหลักสูตรรวมกับหลักสูตรฝ่ายไทยเราแล้ว”

    “เรื่องการสอบปากเปล่า กล่าวคือการสอบไล่พระปริยัติธรรมในสมัยก่อนนั้น
    มิได้กำหนดแน่นอนลงไปว่าจะสอบกันเมื่อใด บางทีก็สอบกันในพรรษา นอกพรรษา
    ทั้งนี้สุดแล้วแต่ว่าคณะกรรมการจะกำหนดแล้วแจ้งไปยังอารามต่างๆ
    ให้เตรียมตัวเข้าสอบและสถานที่สอบนั้น
    ก็ได้กำหนดเอาที่วัดสมเด็จพระสังฆราชสถิตอยู่นั้นเป็นหลัก
    และก็มีเป็นบางครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
    ทรงมีพระราชศรัทธาที่จะทรงฟังการแปลด้วย
    ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เข้าไปสอบในพระราชวัง
    หรือไม่บางทีก็เสด็จไปฟังที่พระอารามสถานที่สอบเลยทีเดียว”

    “สำหรับการสอบนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะเป็นผู้กำหนดประโยคสอบเอง
    หรือบางครั้งก็มอบให้พระราชาคณะผู้ใหญ่กำหนดประโยคสอบ
    โดยบรรจุข้อสอบไว้ในซองผนึกเรียบร้อยก่อนนักเรียนเข้าสอบ
    เมื่อนักเรียนคนใดจะถึงเวรสอบเข้าไปจับฉลากต่อคณะกรรมการ
    ผู้ใดจับประโยคข้อสอบใดได้ ก็มีเวลาเตรียมไว้ได้อยู่ในที่พัก
    ผู้อื่นจะเข้าไปแนะนำไม่ได้ จนกว่าจะถึงเวลาที่กรรมการเรียกเข้าไปแปล
    การแปลนั้นก็แปลรวดเดียว ถ้าเป็นนักเรียนใหม่สอบประโยคต้น
    ก็ต้องสอบได้ ๓ ประโยคเลย จะสอบแต่ ๑ ประโยค หรือ ๒ ประโยคไม่ได้
    ถ้าไม่ได้ ๓ ประโยคก็ถือว่าตกหมด
    แต่ในรัชกาลที่ ๓ ถ้าสอบได้ ๒ ประโยคก็เป็นบาเรียนวังหน้า
    ประโยคที่นักเรียนจับฉลากได้นั้นไม่เหมือนกัน คนหนึ่งได้ประโยค ๑
    ฉะนั้นเมื่อผู้แปลในวันก่อนๆ มาแล้ว
    ไม่มีโอกาสแนะหรือฝึกซ้อมกับผู้ที่ยังไม่ได้เข้าสอบได้เลย
    เพราะไม่รู้ว่าผู้จะเข้าสอบแปลในวันต่อไปจะจับได้ประโยคอะไร
    อนึ่ง การจับฉลากประโยคสอบนั้น ถือว่าเป็นการเสี่ยงทายด้วย
    ถ้าจับได้ประโยคดี ก็จะเป็นสิริมงคลแก่ตนเองตลอดไป
    ถ้าจับได้ประโยคไม่ดี ก็จะไม่เป็นมงคลแก่ตัวผู้จับ”

    “ส่วนคณะกรรมการสอบนั้น สมเด็จพระสังฆราชจะทรงเป็นประธานทุกครั้งไป
    เว้นแต่อาพาธหรือมีกิจพิธีสำคัญอย่างอื่น จึงจะมอบหมายให้พระราชาคณะที่อาวุโส
    ทำหน้าที่แทน และกรรมการอื่นฝ่ายคณะสงฆ์ก็มีราว ๒๕ ถึง ๓๐ รูป
    ล้วนแต่เป็นพระราชาคณะที่ชำนาญในพระไตรปิฎก
    แต่ทำหน้าที่สอบเพียง ๓ หรือ ๔ รูป
    นอกนั้นนิมนต์มานั่งเพื่อดูวิธีสอบแล้วจดจำนำไปสั่งสอนอบรมฝึกหัดนักเรียน
    การสอบครั้งหนึ่งๆ กินเวลาราว ๒-๓ เดือน จึงจะเสร็จที่ต้องใช้เวลานานเช่นนี้
    ก็เพราะนักเรียนต้องสอบด้วยปาก ต่อหน้าคณะกรรมการทีละองค์เรียงกันไปตามลำดับ
    การสอบก็ไม่ขีดขั้นว่าองค์นั้นองค์นี้ จะต้องสอบเพียงเท่านั้นเท่านี้ประโยค
    ถ้านักเรียนองค์ใดมีความรู้ความสามารถ
    จะแปลรวดเดียวตั้งแต่ประโยค ๑ ถึงประโยค ๙ เลยก็ได้
    และได้เคยมีนักเรียนที่สามารถแปลรวดเดียวได้ ๙ ประโยคมาแล้ว
    แต่ถ้าแปลตกประโยคไหน ก็ถือว่าสอบได้แค่ประโยคที่แปลผ่านมาได้แล้ว
    เช่น แปลได้ประโยค ๕ สมัครสอบประโยค ๖ ต่อ แต่แปลประโยค ๖ ตก
    ก็ถือเอาว่าเป็นบาเรียน ๕ ประโยคในคราวนั้น”

    “สมัยยังไม่มีนาฬิกาใช้ ก็ใช้เทียนจุดตั้งไว้เป็นกำหนดเวลาสอบ
    เมื่อนักเรียนแปลจบเทียนยังไม่หมดก็ถือว่าสอบได้
    แต่ถ้าหมดเทียนก่อนยังแปลไม่จบก็ถือว่าสอบตก
    การจุดเทียนใช้นี้ไม่ได้หมายความว่าใช้แต่ละรูปแต่ใช้รวมกัน เช่น
    จะมีสอบ ๓ รูป แต่รูปที่แปลได้แปลจบก่อนเทียนหมด
    อีก ๒ รูปที่ยังไม่ได้เข้าแปลเข้าแปลก็ถือว่าตกด้วยต้องถวายคัมภีร์คืน
    ด้วยถือว่าเป็นธรรมเนียมว่าไปไม่ไหว
    และการสอบนั้นส่วนมากเริ่มแต่บ่าย ๓ โมง เลิกเองประมาณ ๑ ทุ่ม หรือ ๒ ทุ่ม
    แต่วันโกน วันพระหยุด เพื่อให้ภิกษุสามเณรทำกิจพระพุทธศาสนา”

    “ต่อมาถึงสมัยมีนาฬิกาใช้แล้ว จึงเอานาฬิกาเป็นเครื่องจับเวลาสอบ
    คือ ๓ ประโยค ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมง สูงกว่า ๓ ประโยค ใช้เวลาสอบ ๑ ชั่วโมงครึ่ง”


    [​IMG]

    พระกรณียกิจพิเศษ

    พ.ศ. ๒๓๖๐ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
    ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม
    เป็นพระอาจารย์ถวายสรณะและศีล
    เมื่อทรงผนวชแล้ว เสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ
    เป็นเวลา ๑ พรรษา จึงทรงลาผนวช ๑๔ วัน


    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๓ ปี กับ ๑ เดือน
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ระยะเวลาสั้นๆ ดังกล่าวนี้
    ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและคณะสงฆ์ขึ้นหลายอย่าง
    โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์อันเป็นการสร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่คณะสงฆ์
    ซึ่งทุกเหตุการณ์ สมเด็จพระสังฆราชพระองค์นั้นได้ทรงมีส่วนอย่างสำคัญ
    ในการจัดการให้เรื่องนั้นๆ สำเร็จลุล่วง หรือผ่านพ้นไปด้วยดี

    สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์เมื่อวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐
    ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ ตรงกับวันที่ ๑๑ กันยายน พ.ศ. ๒๓๖๒
    ในรัชกาลที่ ๒ มีพระชนม์มายุได้ ๗๐ พรรษา

    ถึงเดือน ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    โปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง
    แล้วชักพระศพสมเด็จพระสังฆราช (มี) เข้าสู่เมรุ มีวารสมโภช ๓ วัน ๓ คืน
    พระราชทานเพลิงเมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑
    ตรงกับวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๓๖๒
     
  15. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    พุทธศักราช ๒๓๖๓-๒๓๖๕


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    ทรงเป็นพระมหาเถระที่ทรงพระเกียรติคุณเป็นที่เลื่องลือพระองค์หนึ่งในยุครัตนโกสินทร์
    ทรงพระคุณพิเศษในด้านวิปัสสนาธุระ
    จนมีพระฉายานามอันเป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่ประชาชนว่า “พระสังฆราชไก่เถื่อน”
    เพราะทรงสามารถแผ่เมตตาพรหมวิหารธรรมให้ไก่ป่าเชื่องเป็นไก่บ้านได้

    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๐ ค่ำ เดือนยี่ ปีฉลู
    จุลศักราช ๑๐๙๕ พุทธศักราช ๒๒๗๖ นับวันเดือนปีตามคัมภีร์จันทรคติ
    ประสูติเวลาไก่ขัน (ช่วงไก่กำลังอ้าปาก) การนับเวลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา
    ตรงกับวันศุกร์ที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๒๗๖ นับวันเดือนปีตามคัมภีร์สุริยะยาตร์
    ภายนอกกำแพงนอกคูเมือง ด้านเหนือของกรุงศรีอยุธยา
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ณ ตำบลบ้านข่อย

    ปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า เมื่อครั้งกรุงธนบุรีเป็นพระอธิการอยู่วัดท่าหอย
    ริมคลองคูจาม (ในพระราชพงศาวดาร เรียกว่าคลองตะเคียน) ในแขวงรอบกรุงเก่า
    มีพระเกียรติคุณในทางบำเพ็ญสมถภาวนา ผู้คนนับถือมาก

    เนื่องจาก พระองค์ทรงมีพระวรรณะขาวผ่องใส ไปข้างพระชนก
    ซึ่งเป็นชาวจีน พระชนก-ชนนีจึงขนานพระนามให้พระองค์ท่านว่า
    “สุก” มีความหมายว่า ขาว หรือ ใส

    ในเวลาที่พระองค์ประสูตินั้น ตรงกับยามที่เก้า เรียกว่ายาม “ไก่ขัน”
    ซึ่งเป็นการนับยามกลางคืน สมัยกรุงศรีอยุธยาซึ่งกะเวลาประมาณได้ ๐๕.๔๘ นาที
    (เวลาตีห้า สี่สิบแปดนาที) ซึ่งเวลานั้นเป็นเวลาที่พระภิกษุสงฆ์ วัดใกล้เคียงบ้านท่าข่อย
    เช่น วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดพุทไธศวรรย์ วัดโรงช้าง
    กำลังทำวัตรสวดมนต์ตอนเช้ามืดอยู่ เสียงสวดมนต์นั้นลอยลมมาถึงบ้านถ้าข่อย
    ซึ่งเงียบสงัด กล่าวกันว่า เวลาที่พระอาจารย์สุก ประสูตินั้น พระภิกษุกำลังสวดถึงบท
    “ชะยะปริตตัง” ตรงคำว่า ชะยันโต โพธิยา มูเล พอดี
    พร้อมกันนั้น ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้าน ก็ร้องขันขาน รับกันเซ็งแซ่

    กล่าวอีกว่า ขณะที่พระองค์ประสูตินั้น ไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด
    พอถึงเวลาใกล้ยามไก่ขัน (ประมาณ ๐๕.๑๐ น.) ได้โบยบินมาในต้นไม้ใหญ่
    ที่ใกล้บ้านมารดา-บิดา ของพระอาจารย์ พอถึงเวลายามไก่ขัน
    ไก่ป่า ไก่วัด ไก่บ้านทั้งสิ้น ได้พากันร้องขันขาน กันเซ่งแซ่
    กลบเสียงพระสงฆ์สวดมนต์เวลาเช้ามืด แต่วันนี้ ไก่ทั้งสิ้น พากันร้องขานขัน
    กันนานกว่าทุกวัน ที่เคยได้ยินมาแต่ก่อน นับเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่งนัก

    พระญาติ ข้างฝ่ายพระชนกของพระองค์ เป็นชนชาวจีน
    พำนักอยู่ในกรุงศรีอยุธยามาสามชั่วอายุคนแล้ว คุณทวดเป็นพนักงานเรือสำเภาหลวง
    ตำแหน่งนายสำเภา เรียกเป็นภาษาจีนว่า จุ้นจู๋ มียศเป็น ขุน
    เป็นข้าราชการพลเรือน สังกัดอยู่ในกรมพระคลังสินค้า
    พระมหัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

    สมัยกรุงศรีอยุธยาครั้งนั้น ทางราชสำนักได้จ้างชาวต่างประเทศ
    มาเป็นพนักงานเดินเรือสำเภา ค้าขายระหว่างประเทศ มีชนชาวจีน เป็นต้น
    มาถึงรุ่นพระมหัยยิกา ของพระองค์ท่าน ก็เข้ารับราชการในกรมพระคลังสินค้าเช่นกัน
    มียศเป็นขุน ตำแหน่ง นายอากรปากเรือ ซึ่งเป็นอากรสินค้าขาเข้า อากรสินค้าขาออก
    ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่ พระอัยยิกาของพระองค์ท่านรับราชการอยู่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ

    พระชนกของพระองค์มีพระนามว่า “เส็ง” เป็นเชื้อสายจีน สืบสายสกุลมาจาก
    พระอัยยิกาและพระมหัยยิกาของพระองค์ท่าน พระชนกรับราชการในกรมพระคลังสินค้า
    มียศเป็น ขุน ตำแหน่ง นายอากรนา อากรสวน ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
    พระชนนีมีพระนามว่า “จีบ” เชื้อสายไทย ญาติทางฝ่ายพระชนนีของพระองค์
    รับราชการ มียศเป็น ขุน เป็นข้าราชการฝ่ายพลเรือน ตำแหน่ง นายอากรสวน
    นายพลากร เก็บค่าสวนผลไม้ ถือศักดินา ๒๐๐ ไร่

    นอกจากรับราชการแล้ว พระชนนีของพระองค์ยังมีอาชีพทำสวน
    ทำนา ค้าขายข้าว ส่งให้กับกรมพระคลังสินค้า ส่งขายต่างประเทศอีกด้วย

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑


    อุบัติคู่พระบารมี

    กล่าวกันว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ได้อุบัติคนดีของศรีอยุธยาขึ้นสองพระองค์
    กาลต่อมาปรากฏมีพระเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังในต้นกรุงรัตน์โกสินทร์
    และทรงมีชื่อเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้

    พระองค์แรกทรงมีชื่อเสียงในทางราชอาณาจักร คือ
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    ผู้ทรงสร้างกรุงรัตน์โกสินทร์ ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ แห่งพระบรมราชวงศ์จักรี

    พระองค์ที่สองทรงมีชื่อเสียงในทางพุทธจักร คือ
    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ปฐมพระวิปัสสนาจารย์
    ยุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ และนับเป็นพระอาจารย์กัมมัฏฐาน ประจำยุครัตนโกสินทร์
    เรื่องราวของพระองค์ท่านนั้นได้รับการเล่าลือสืบขานมานาน สองร้อยปีเศษ ล่วงมาแล้ว
    ผ่านมาหลายชั่วอายุคน ทั้งในรูปแบบของ จดหมายเหตุของทางราชการ
    และจดหมายเหตุของชาวบ้าน

    จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ปรากฏอยู่ เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าทั้งสองพระองค์นั้น
    เป็นผู้มีบุญวาสนาบารมีสร้างสมมาแต่อดีตกาล และต่างทรงเกื้อกูลซึ่งกัน
    ด้วยทรงสถาปนาความเจริญให้กับทั้งราชอาณาจักรและพุทธจักร
    พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    กับพระประวัติของ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
    และธรรมทายาทของพระองค์ท่านทุกองค์ จึงมีปรากฏเรื่องราวมาจนตราบเท่าถึงทุกวันนี้
     
  16. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระรูปหล่อสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


    ชีวิตเมื่อทรงพระเยาว์

    ขณะทรงเจริญพระชันษาได้ประมาณ ๑๒-๑๓ พรรษา
    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น ทรงมีความสามารถ
    ตรัสภาษาจีนได้ เนื่องจากทรงได้ยินพระชนกเจรจากับข้าทาสบริวารทุกวัน
    และพระชนกของพระองค์ท่านซึ่งมีเชื้อสายจีน สอนให้พระองค์ท่านด้วย

    เมื่อทรงเจริญวัยขึ้นมา พระชนก-ชนนีก็ให้พระองค์ท่านไว้จุก
    ต่อมาเมื่อพระองค์ท่าน ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๓ พรรษา
    ทางบ้านของพระองค์ท่านก็จัดงาน โสกันต์ คือ งานโกนจุก ตามประเพณีไทย
    มีการอาราธนานิมนต์พระสงฆ์ วัดโรงช้าง วัดท่าข่อย (ท่าหอย)
    มาเจริญพระพุทธมนต์ ฉันภัตตาหารเพล พระสังฆเถรผู้ใหญ่ทำพิธีตัดจุก

    เมื่อยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น ทรงรักการอ่าน การเขียนทั้งภาษาไทย ภาษาจีน
    และทรงมีพระปรกตินิสัย รักความสงบวิเวก พระองค์ท่านไม่ชอบเสียงอึกทึกวุ่นวาย
    ทรงมีพระทัยสุขุมเยือกเย็น เป็นคนเจรจาไพเราะ
    พูดน้อยอ่อนหวาน แบบคนไทย ติดมาข้างพระชนนี

    นอกจากนี้ ยังทรงชอบความสงบสงัดร่มเย็นของป่าดง
    บริเวณหลังสวน-ไร่นาของบ้านท่าน ติดกับป่าโปร่ง โล่งตลอดไปไกล
    เลยป่าโปร่งออกไป ก็เป็นป่าทึบบ้าง ป่าโปร่งบ้าง เต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด
    เช่น หมูป่า ลิง ไก่ป่า กระรอก นก หลากหลายพันธุ์
    ส่งเสียงร้อง เสียงขัน แข่งขันกันเซ็งแซ่ เป็นธรรมชาติ
    เนื่องจากพระองค์ทรงมีพระปรกตินิสัยเมตตาติดพระพระองค์มาแต่กำเนิด
    ตลอดเป็นนิจกาล บรรดานกกา ลิงป่า เห็นพระองค์ท่านเดินมาแล้ว
    มักส่งเสียงร้องหันมาทางท่านเหมือนทักทาย

    ส่วนบรรดาไก่วัด ไก่บ้าน เห็นพระองค์แล้ว
    มักเดินเรียบเคียงร้องเสียงกุ๊กๆ เข้ามาหาพระองค์เสมอ
    ด้วยเมตตาจิตของ พระองค์ท่านนั้นเอง
    บรรดาไก่ป่าเห็นพระองค์เดินไปป่า มักเดินตามไปบ้าง บินตามไปบ้าง
    เมื่อพระองค์ทรงเดินกลับบ้าน ไก่ป่าก็เดินมาส่งท่านบ้าง
    บินตามมากับท่านบ้าง ลิงป่า นกป่า ก็ร้องและขันขานเหมือนทักทาย ตามส่งท่าน

    ทุกครั้งที่บ้านของพระองค์ มีเสียงอึกกระทึก วุ่นวาย
    ที่เกิดขึ้นจากการสั่งงานในบ้านของหัวหน้าบริวาร
    พระองค์มักชอบดำเนิน เดินหลบเสียงอึกกระทึก อืออึง
    ไปในป่าหลังบ้านแต่ลำพังพระองค์เดียวเสมอ
    พระองค์ทรงดำเนินไปเรื่อยๆ ห่างไกลจากที่ไร่ ที่สวน และหมู่บ้าน
    เข้าถึงป่าโปร่งอันเป็นที่เงียบสงบ จิตของพระองค์ก็สงบวิเวก

    เมื่อจิตของพระองค์สงบวิเวก
    พระองค์ก็จะทรงประทับนั่งลงตามโคนไม้ในท่านั่งปรกติ
    จิตก็ตั้งมั่น สงบเป็นสมาธิ และทรงแลเห็นรุกขเทวดาที่สิงสถิตตามต้นไม้
    จากสมาธิจิตอันบริสุทธิ์ของพระองค์
    บางครั้งพระองค์ทรงเห็นว่าองค์เองอยู่ในเพศสามเณรบ้าง อยู่ในเพศบรรพชิตบ้าง
    แต่ครั้งนั้นพระองค์ยังทรงพระเยาว์อยู่ จึงยังไม่เข้าใจในเรื่องเหล่านี้ดีนัก
    (หรือท่านจะเข้าใจไม่อาจทราบได้ เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตสูง)
    และเมื่อพระองค์ทรงดำเนินไป หรือทรงดำเนินกลับจากป่า
    มักจะมี ไก่ป่า นก กา บินตามพระองค์ท่านไปเสมอๆ
    ด้วยได้รับกระแสความเมตตาของพระองค์ท่าน

    พระองค์มักจะได้พบกับพระสงฆ์สัญจรจาริกธุดงค์
    มาปักกลดพักแรมอยู่ ณ บริเวณป่าโปร่งนั้นเสมอๆ พระองค์ทรงเห็นภาพนี้จนเคยชิน
    รุ่งเช้าพระสงฆ์รุกขมูล จะเดินออกจากชายป่ามารับอาหารบิณฑบาตร
    ในหมู่บ้านของพระองค์เสมอๆ ทุกครั้ง บางทีก็มีพระสงฆ์รุกขมูลมาจากที่อื่น
    พระองค์ทรงพบเห็นบ่อยๆ ณ ที่บริเวณแห่งนั้น
    ซึ่งเป็นที่เงียบสงบ ห่างไกลผู้คน ไม่พลุกพล่าน และพระสงฆ์รุกขมูล
    สามารถเดินมาบิณฑบาตโปรดสัตว์ ในหมู่บ้านท่าข่อย ได้สะดวก
    เพราะไม่ห่างไกลจากหมู่บ้านนัก
    ที่บ้านของพระองค์พระชนก-ชนนีของท่าน ออกใส่อาหารบิณฑบาต
    ตอนเช้าพระสงฆ์ทุกวัน มิได้ขาด ไม่เลือก ไม่เจาะจงพระสงฆ์
    บางครั้งพระองค์ก็ทรงร่วมใส่ อาหารบิณฑบาตรด้วย

    วันหนึ่งเมื่อพระองค์ทรงเดินเข้าไปป่าโปร่งหลังสวนของบ้านท่าน อย่างที่เคยไปทุกครั้ง
    แต่ครั้งนั้น พระองค์โสกันต์ คือโกนจุกแล้ว ณ ที่บริเวณแห่งนั้น
    พระองค์ท่านก็ได้พบพระภิกษุเถรผู้เฒ่า เพิ่งกลับมาจากสัญจรจาริกธุดงค์รูปหนึ่ง
    มาปักกลดพักผ่อนอยู่ ณ ที่บริเวณนั้น เมื่อท่านเดินมาถึง
    พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั่งอยู่ในกลดก็กล่าวทักทายขึ้นก่อนว่า
    เออข้าฯมานั่งคอยเอ็งที่นี่นานหลายชั่วยามแล้ว
    พระองค์เห็นก็จำได้ว่า พระภิกษุเถรผู้เฒ่านั้นคือ
    ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) วัดที่อยู่ใกล้หมู่บ้านท่านนั้นเอง
    เนื่องจากพระชนก-ชนนีของท่าน ไปทำบุญที่วัดท่าข่อยบ่อยๆ อีกทั้ง
    ท่านขรัวตาทองก็มารับอาหารบิณฑบาตที่บ้านท่านเป็นประจำทุกเช้า โดยทางเรือ

    ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวกับ พระองค์ต่อไปอีกว่า
    ถึงเวลาแล้วที่เจ้าจะต้องไปเรียนหนังสือกับข้าฯ ที่วัด
    พระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะไปเรียนหนังสือที่วัดเหมือนกัน
    เพราะพระองค์มีความใฝ่ใจในการศึกษาเล่าเรียน
    ท่านขรัวตาทอง ได้กล่าวต่อไปอีกว่า
    พรุ่งนี้เพลาเช้าข้าฯ เข้าไปบิณฑบาตที่บ้านเจ้า ข้าจะบอกกับพ่อแม่ของเจ้า

    เวลานั้น ท่านขรัวตาทอง เพิ่งกลับจากสัญจรจาริกธุดงค์
    เพราะเป็นเวลาเกือบจะเข้าพรรษาแล้ว ได้มาปักกลดพักผ่อนอิริยาบทอยู่
    ณ ที่บริเวณแห่งนั้น ตั้งใจจะคอยพบพระองค์ (เด็กชายสุก)

    กล่าวกันว่า ท่านขรัวตาทองรูปนี้
    ท่านมีความเชี่ยวชาญทางสมถะ-วิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา
    แบบลำดับ มีญาณแก่กล้า จึงสามารถที่จะทราบได้ว่าพระองค์
    (หมายถึงหลวงปู่สุก เนื่องจากท่านคุ้นเคย กับท่านขรัวตาทอง มานานแล้ว)
    มักจะมาที่บริเวณนี้บ่อยๆ ท่านขรัวตาทอง จะมาปักกลดที่นี่ทุกปี
    ปีนี้ท่านจึงปักกลดคอยพบพระองค์ท่าน ไม่ไปให้ถึงวัดท่าข่อย (ท่าหอย) เลยทีเดียว

    พอรุ่งเช้า ท่านขรัวตาทองก็เข้ามาบิณฑบาตโปรดสัตว์ที่บ้านมารดาบิดาของพระองค์
    มารดาบิดาของท่านเห็นพระภิกษุเถรชราผู้นี้แล้วก็ดีใจ ยกมือขึ้นนมัสการท่าน
    เพราะจำได้ว่า คือท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย
    ที่เคยเคารพนับถือกันมาก และคุ้นเคยกันมานาน
    พระชนก-ชนนีของพระองค์ก็กล่าวกับท่านขรัวตาทองว่า
    ท่านกลับมาจากรุกขมูลแล้วหรือ โยมจะนำลูกชายไปฝากเรียนหนังสือกับท่านที่วัด
    ท่านขรัวตาทอง กล่าวว่า ข้าก็ตั้งใจจะมาบอกโยมให้นำลูกชายไปเรียนหนังสือที่วัด
    เมื่อมีใจตรงกันทั้งสองฝ่าย ก็เป็นอันตกลงที่จะนำลูกชายไปฝากวัด เรียนหนังสือ


    ชีวิตในวัยบวชเรียน

    สมัยกรุงศรีอยุธยานั้น วัดคือที่อบรมสั่งสอนกุลบุตร ครูที่อบรมสั่งสอนคือพระสงฆ์
    พระสงฆ์ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีความรู้มากมายหลายด้าน
    เด็กที่ได้เล่าเรียนหนังสือก็จะมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้น
    ไม่นิยมให้เด็กผู้หญิงไปเรียนหนังสือที่วัด
    เพราะครูที่สอนหนังสือเป็นพระสงฆ์ จึงไม่เหมาะที่เด็กผู้หญิงจะไปเรียน

    ครั้นเวลา แม่แลง (การนับเวลากรุงศรีอยุธยา)
    พระชนก-ชนนี ได้นำดอกไม้ธูปเทียน ตามประเพณีไทย
    นำพระองค์ไปฝากตัวกับ ท่านขรัวตาทอง ณ วัดท่าข่อย

    ต่อมาพระองค์ก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ที่วัดท่าข่อย ริมคลองบ้านข่อย
    ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) เป็นพระอุปัชฌาย์
    ซึ่งนับเป็นพระอาจารย์ พระองค์แรก ของพระองค์

    พระขรัวตา คือพระสงฆ์ที่คงแก่เรียน เรียนรู้วิชาการทุกอย่างไว้มาก
    มีพรรษายุกาลมาก เชี่ยวชาญสมถะวิปัสสนากัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
    มีความรู้ความสามารถ ในการสอน อ่าน-เขียน อักขระขอม-ไทย
    ในการบอกหนังสือจินดามณี
    ในการบอกหนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หนังสือเรียนไวยากรณ์บาลี) เป็นต้น
    เป็นพระสงฆ์ ที่มักน้อย สันโดษไม่มีสมณะศักดิ์
    จึงเรียกขานกันว่า “พระขรัวตา”
    พระสงฆ์ในสมัยอยุธยาท่านมีความรู้ทั้งทางปริยัติและปฏิบัติ สม่ำเสมอกัน
    สมัยนั้นนิยมเล่าเรียนศึกษาทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ควบคู่กันไป
    โดยไม่แยกศึกษาอย่างใดอย่างหนึ่งก่อน

    อนึ่ง ท่านขรัวตาทอง ทางการคณะสงฆ์ เรียกขานท่านว่า
    พระอธิการทอง สถิตวัดท่าข่อย (ท่าหอย)
    ท่านขรัวตาทองมีชนมายุอยู่มาถึงในรัชสมัย
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา

    ท่านขรัวตาทอง ท่านจึงเป็นพระอุปัชฌาย์
    และพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับพระองค์แรก
    ของพระอาจารย์สุก ครั้งบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ ณ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

    ท่านขรัวตาทอง ท่านบรรพชา-อุปสมบทอยู่วัดโรงช้าง
    ต่อมาย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดท่าหอย ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
    สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรมจ้อย วัดท่าเกวียน กรุงศรีอยุธยา
    พระครูวินัยธรรมจ้อย ท่านเป็นศิษย์ศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
    มาจาก พระพนรัตน (แปร) วัดป่าแก้ว กรุงศรีอยุธยา
    พระพนรัตน (แปร) ท่านมีพระชนมชีพอยู่ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ
    อยู่มาจนถึงพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ
    ท่านขรัวตาทองท่านเป็นพระอานาคามีบุคคลพระอริยบุคคลในพระพุทธศาสนา


    ความสำคัญของวัดท่าข่อย (วัดท่าหอย)

    วัดท่าข่อย (วัดท่าหอย) นี้เป็นวัดประจำตระกูลของ พระอาจารย์สุก
    พระมหัยิกาของพระองค์สร้างไว้ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
    เป็นวัดที่มีแต่เขตสังฆาวาส ไม่มีเขตพุทธาวาส
    วัดท่าข่อยจึงเป็นวัดบริวารของวัดพุทไธศวรรย์
    นอกจากนี้วัดท่าข่อยยังมีพระเจดีย์ที่เก็บอัฎฐิธาตุของบรรพชนในพระองค์
    ซึ่งเป็นประเพณีนิยมในสมัยนั้น นิยมสร้างวัดประจำตระกูล
    เพื่อเก็บอัฎฐิของบรรพบุรุษ และไว้ให้ลูกหลานวิ่งเล่นอยู่ใกล้วัดหลวง
    วัดไหนก็เป็นบริวารของวัดหลวงนั้น วัดบริวารของวัดหลวงจะไม่สร้างพระอุโบสถ
    (ปัจจุบันวัดท่าหอย เป็นวัดร้าง)

    วัดท่าข่อยนั้น อยู่ด้านหลังวัดพุทไธศวรรย์ เยื้องไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓ เส้น
    อยู่หลังวัดโรงช้าง เยื้องไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓ เส้น

    หากมาจากแม่น้ำหน้าวัดพุทไธศวรรย์ ล่องเรือมาทางทิศตะวันตกประมาณ ๑ เส้น
    เลี้ยวขวาเข้าคลองบ้านข่อย (คลองคูจาม) ไปประมาณ ๒ เส้น
    ก็จะถึงท่าน้ำ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

    หากมาจากแม่น้ำหน้าหน้าวัดโรงช้าง ล่องเรือขึ้นมาทางทิศตะวันออกประมาณ ๑ เส้น
    เลี้ยวซ้ายเข้าคลองบ้านข่อย (คลองคูจาม) ไปประมาณ ๒ เส้น
    ก็ถึงท่าน้ำ วัดท่าข่อย (ท่าหอย)

    วัดท่าข่อย อยู่ห่างจาก วัดพุทไธศวรรย์ และวัดโรงช้าง ระยะเท่าๆ กัน
    สองวัดนี้อยู่ริมแม่น้ำทั้งสองวัด พระอาจารย์สุกบรรพชาเป็นสามเณร อยู่วัดท่าข่อย
    เพราะเป็นวัดประจำตระกูล อยู่ไกล้ละแวกบ้าน และท่านขรัวตาทองก็สนิทคุ้นเคยกัน
    ต่อมาภายหลังมื่อพระองค์ทรงอุปสมบท ไปอุปสมบทที่วัดโรงช้าง
    เนื่องเพราะเจ้าอาวาสวัดโรงช้าง องค์ปัจจุบัน
    เคยเป็นพระอุปัชฌาย์-อาจารย์ ของคุณปู่ และพระชนกของพระองค์
    ซึ่งบวชศึกษาพระกัมมัฎฐานมัชฌิมา อยู่วัดโรงช้าง มาแต่ก่อน

    อนึ่ง วัดท่าข่อย นั้น เป็นชื่อเดิมของ วัดท่าหอย
    วัดท่าข่อย-วัดท่าหอย จึงเป็นวัดเดียวกัน

    แต่สมัยกาลนานมา หลังกรุงศรีอยุธยาล่มสลายแล้ว
    จนกระทั่งพระเจ้าตากสินมหาราช มาสร้างกรุงธนบุรี
    คนไทยที่เคยตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยใกล้บริเวณวัดท่าข่อย
    ครั้งกรุงศรีอยุธยามาแต่เดิมนั้น ได้ล้มหายตายจากไปส่วนมาก
    ไม่มีใครได้กลับมาตั้งถิ่นฐานในที่เดิมนี้อีก
    มีแต่คนรุ่นใหม่ที่ย้ายมาตั้งบ้านเรือนในบริเวณวัดท่าข่อย
    ต่อมาครั้งกรุงธนบุรีผู้คนแถบนี้ได้ย้ายไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งกรุงเก่ากันหมด
    ผู้คนทั้งหลายจึงเริ่มลืมเลือน ชื่อเดิมของ วัดท่าหอย (ท่าข่อย)
    เพราะเป็นวัดราษฎรเล็กๆ ไม่มีชื่อเสียง
    ต่อมาบริเวณใกล้วัดท่าข่อยกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของพวกแขกจาม
    กล่าวว่าพวกแขกจาม เป็นเชลยศึกครั้งกรุงธนบุรี
    สำเนียงพวกแขกจาม ที่เรียกขาน วัดท่าข่อย จึงเพี้ยนเป็น วัดท่าหอย แต่นั้นมา

    จึงกล่าวได้ว่า วัดท่าข่อย นี้เป็นที่เรียนหนังสือครั้งแรกของ พระอาจารย์สุก
    เมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร
    และเป็นที่ฝึกเจริญสมาธิครั้งแรก ของพระอาจารย์สุก
    รวมทั้งยังเป็นวัดที่พระอาจารย์สุก ทรงดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสครั้งแรก อีกด้วย

    วัดท่าข่อย ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีแต่สังฆาวาส คือมีกุฏิสงฆ์ ๕-๖ หลัง
    กับศาลาบำเพ็ญกุศลขนาดย่อมๆ ๑ หลังเท่านั้น
    ก่อนนั้นเวลาทำสังฆกรรม เช่น อุปสมบท ลงปาฏิโมกข์ ต้องไปลง ไปทำวัดใหญ่ๆ
    เช่น วัดโรงช้าง วัดพุทไธศวรรย์ วัดราชาวาส เป็นต้น
    ส่วนเขตพุทธาวาส เช่น พระอุโบสถ มาสร้างขึ้นภายหลัง
    เมื่อพระอาจารย์สุก มาเป็นพระอธิการ ณ วัดท่าหอย ครั้งที่สอง ครั้งกรุงธนบุรี


    พระปฏิปทาเมื่อครั้งบรรพชาเป็นสามเณร

    กล่าวกันว่า เมื่อท่านขรัวตาทอง กลับมาจากรุกขมูลครั้งนั้น
    อีกทั้งเหลือเวลาอีก เกือบเดือนก็จะเข้าพรรษาแล้ว
    ท่านขรัวตาทอง ดำริว่าสังขารชราภาพมากแล้ว จะไม่ออกธุดงค์อีก

    เมื่อเด็กชายสุก มาอยู่ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ครั้งนั้น
    ท่านขรัวตาทอง มักเล่าเรื่องราวให้เด็กชายสุกฟัง
    ต่อมาเด็กชายสุกอยากจะออกไปธุดงค์บ้างโดยจะขอตามพระอาจารย์ไป
    แต่ ท่านขรัวตาทอง ไม่คิดออกธุดงค์แล้ว
    แต่ท่านเมตตาตาสงสารเด็กชายสุก อยากออกธุดงค์บ้าง
    ท่านขรัวตาทอง ท่านเล็งเห็นอุปนิสัยเด็กชายสุก มีอัธยาศัยทางนี้

    อยู่มาวันหนึ่งก่อนเข้าพรรษาประมาณ ๑๐ วัน
    ท่านขรัวตาทอง เรียกพระอาจารย์แย้มมาบอก
    ฝากวัดไว้สาม-สี่วันแล้วเรียกเด็กชายสุกมา บอกว่าจะพาออกธุดงค์ไปป่าเขาสามสี่วัน
    ท่านขรัวตาทอง ท่านมีอภิญญาจิต ชั่วเวลาไม่เท่าไร
    ท่านก็พาพระอาจารย์สุกมาถึงกลางป่าแห่งหนึ่ง พักปักกลด และออกเดินอยู่สามสี่วัน
    ท่านก็กลับถึงวัดท่าหอย ด้วยเวลาไม่กี่ยาม ด้วยอภิญญาจิต (ย่นระยะทาง)

    พระอาจารย์สุก ได้บรรพชาเป็นสามเณรครั้งนั้น
    พระองค์ท่านได้ปรนนิบัติรับใช้ท่านขรัวตาทอง ผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์
    ซึ่งตอนนั้นท่านทุพพลภาพ ชราลงมากแล้ว
    สามเณรสุก ได้ผลัดเปลี่ยนกับสามเณรองค์อื่นๆ คอยดูแลพระอาจารย์ ต้มน้ำร้อน น้ำชา
    กลางวัน พระองค์ท่านทรงเล่าเรียนหนังสือภาษาไทย คัมภีร์จินดามณี

    ในเวลากลางคืน พระอาจารย์ของพระองค์ได้สอนให้นั่งสมาธิ
    โดยการสำรวมจิต สำรวมอินทรีย์
    แต่การนั่งสมาธิเมื่อครั้งพระองค์เป็นสามเณรน้อยๆ นั้น
    พระอาจารย์ของพระองค์บอกให้พระองค์นั่งเจริญสมาธิเพื่อเป็นพื้นฐานไว้เท่านั้น
    แต่สามเณรน้อยๆ มีนิวรณ์ธรรมน้อย
    จิตจึงข่มนิวรณ์ธรรมได้เร็ว จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เร็ว
    จึงเป็นเหตุให้ สามเณรสุก ในครั้งนั้นมีพื้นฐานทางสมาธิภาวนาแต่นั้นมา

    กล่าวว่า เมื่อพระองค์ทรงสำรวมจิต เจริญสมาธิครั้งนั้น
    และด้วยบุญบารมี ของพระองค์ที่ได้สั่งสมมาช้านาน
    จิตของพระองค์ท่านก็ บรรลุถึง ปฐมฌาน
    ในวิสุทธิธรรมแรกๆ ท่านขรัวตาทองพระอาจารย์ของพระองค์
    ตรวจดูเหตุการณ์นี้แล้วก็รู้ว่าพระองค์ท่านเป็นผู้มีบุญบารมีมาเกิด
    จะเป็นผู้สืบทอดพระพุทธศาสนาต่อไปในอนาคต
    แต่ท่านขรัวตาทอง ก็ไม่ได้สอนอะไรให้พระองค์เพิ่มเติม เพราะเห็นว่าพระองค์ยังเล็กอยู่
    เพียงแต่บอกให้พระองค์ท่านนั่งสำรวมจิต ให้เป็นสมาธิอย่างเดียว

    ครั้นเมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุย่างเข้า ๑๖-๑๘ พรรษา
    ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์เห็นว่าพระองค์พอจะรู้เรื่องสมาธิบ้างแล้ว
    จึงเริ่มบอกพระปีติ ๕ พระยุคล ๖ พระสุขสมาธิ ๒ ประการ และพระอานาปานสติบ้าง
    แต่มิได้ให้เข้าสะกด ตั้งใจไว้ให้ท่านอุปสมบทก่อน
    จึงจะให้ปฎิบัติสมาธิเป็นเรื่อง เป็นราวเป็นแแบบแผนที่หลัง
    และครั้นเมื่อท่านมีชนมายุได้ ๑๖-๑๘ พรรษา ท่านขรัวตาทอง
    ก็สอนให้ท่านอ่าน-เขียน อักษรขอมไทย จนพระองค์ท่านพอมีความรู้บ้าง

    ท่านขรัวตาทอง พระอาจารย์ของพระองค์ เล็งเห็นว่า
    กาลข้างหน้าเมื่อพระองค์ท่านทรงอุปสมบทแล้ว
    เวลานั้นจะมีพระมหาเถราจารย์ชี้แนะพระกัมมัฎฐานมัชฌิมาพระองค์ท่านเอง
    และ ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) ก็รู้ว่า
    อายุของท่านจะอยู่ไม่ถึงอุปสมบท สามเณรสุก เป็นพระภิกษุ
     
  17. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กรุงเทพฯ


    ทรงลาบรรพชา

    กาลเวลาผ่านไป พระองค์ก็สามารถอ่านเขียนภาษาไทยได้
    จนจบตามหลักของคัมภีร์จินดามณี และอักขระขอม
    พระอาจารย์ของ พระองค์ท่าน ก็สอนให้พระองค์
    เมื่อทรงมีชนมายุย่างเข้าได้ ๑๖-๑๘ พรรษานี่เอง

    หลายปีต่อมาที่บ้านของพระองค์ บรรดาพี่น้องได้ออกเรือนไป (แต่งงาน)
    ท่านมีความสงสารพระชนก-ชนนี เป็นยิ่งนัก
    เนื่องจากท่านแก่ชราลงแล้ว ยังต้องมาดูแลกิจการเลือกสวนไร่นาอีก
    พระองค์จึงมีความดำริที่จะขอลาบรรพชา ออกมาจากสามเณร
    มาช่วยพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา คนงานข้าทาสบริวาร
    เพื่อตอบแทนพระคุณพระชนก-ชนนี เพราะไม่อยากเห็นท่านลำบากกาย ลำบากใจ

    ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๔ พระองค์มีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา
    พระองค์จึงไปขออนุญาต ท่านขรัวตาทอง องค์พระอุปัชฌาย์
    ขอลาบรรพชาจากสามเณร เพื่อออกไปช่วยพระชนก-ชนนี
    ดูแลกิจการเลือกสวนไร่นา ควบคุมคนงานข้าทาสบริวาร
    พระอุปัชฌาย์เห็นว่าพระองค์มีความกตัญญูต่อพระชนก-ชนนี
    ก็อนุญาตให้พระองค์ท่านลาบรรพชาไป

    เมื่อพระองค์ลาบรรพชาไปนั้น เมื่อว่างจากกิจการงาน
    พระองค์ท่านมักหลบไปเจริญสมาธิในป่าหลังบ้านเสมอๆ
    บางครั้งก็ไปวัดท่าหอยนั่งเจริญสมาธิบ่อยครั้ง
    และทรงเข้าหาพระอาจารย์ ท่านขรัวตาทอง เพื่อสอบอารมณ์
    จนพระองค์สามารถเห็นรูปทิพย์ได้ ฟังเสียงทิพย์ได้
    เรียกว่า ทรงเจริญกัมมัฎฐานสองส่วนได้ เห็นรูปทิพย์ และฟังเสียงทิพย์
    ต่อมาพระองค์ทรงสามารถกระทบจิตได้อีกด้วย

    เมื่อพระองค์ทรงลาบรรพชาไปช่วยพระชนก-ชนนีดูแลกิจการได้ประมาณ ๒ ปีเศษ
    ท่านขรัวตาทอง วัดท่าข่อย (ท่าหอย) ก็ถึงแก่มรณภาพอย่างสงบลงด้วยโรคชรา

    เมื่อครบร้อยวันการทำบุญสรีระสังขารของท่านขรัวตาทอง
    พระองค์ และชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน
    ก็ไปช่วยงานปลงศพ ท่านขรัวตาทอง ณ ที่วัดท่าหอย

    เสร็จงานปลงศพท่านขรัวตาทอง วัดท่าหอย แล้วชาวบ้านทั้งหลายในวัดท่าหอย
    ได้ยกให้ พระอาจารย์แย้ม วัดท่าหอย ศิษย์ท่านขรัวตาทอง
    ขึ้นเป็นพระอธิการ วัดท่าหอย เป็นองค์ต่อมา

    [​IMG]

    ทรงอุปสมบท

    ถึงปีพระพุทธศักราช ๒๒๙๗ พระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ชราภาพลงมากแล้ว
    พวกลูกๆ ต่างก็พากันมาคอยปรนนิบัติรับใช้
    และช่วยดูแลกิจการ การทำสวนไร่นา ควบคุมข้าทาสบริวาร
    เป็นการแสดงความกตัญญู อันเป็นคุณธรรมที่บุตรพึงมีแก่มารดาบิดา

    ครั้งนั้นพระชนก-ชนนีของพระองค์ท่าน ต้องการที่จะให้พระองค์ท่านอุปสมบท
    บวชเรียนในพระพุทธศาสนา ตัวพระองค์เองก็มีความประสงค์ที่จะอุปสมบท
    บวชเรียน เพื่อทดแทนบุญคุณพระชนก-ชนนีด้วย
    ซึ่งเวลานั้นพระชนก-ชนนีของท่านก็มีความสุขสบายดีมากขึ้นกว่าแต่ก่อน
    จากการได้พักผ่อน จากการทำมาหาเลี้ยงชีพ
    เนื่องจากมีพวกลูกๆ มาคอยดูแลปรนนิบัติรับใช้ และช่วยดูแลกิจการต่างๆ

    ครั้น เวลาใกล้เข้าพรรษาในปีนั้นประมาณต้นเดือนแปด
    พระชนก-ชนนีได้นำพระองค์ไปฝากตัวเป็นศิษย์บวชเรียนกับ
    ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ซึ่งเป็นวัดใหญ่ อยู่นอกกำแพงเมือง
    ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำแนวเดียวกันกับวัดพุทไธศวรรย์
    ห่างไปทางทิศตะวันออกประมาณ ๓-๔ เส้น ฝังตรงข้ามกับวัดโรงช้าง
    เลยคูเมืองไปทางทิศใต้เป็นประตูเมือง ชั้นนอก
    วัดโรงช้าง เป็นวัดใหญ่ เคยเป็นที่เลี้ยงช้างหลวง มาแต่โบราณกาล
    ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า วัดโรงช้าง ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์-อาจารย์
    ของพระมหัยิกา และพระบิดาของพระองค์ท่านมาแต่กาลก่อน

    ท่านพระครูเถรผู้เฒ่า ท่านมีนามเดิมว่า “สี”
    ชาวบ้านเรียกขานนามท่านว่า หลวงปู่สี เป็นพระครูฝ่ายวิปัสสนาธุระ
    ในราชทินนามที่ พระครูรักขิตญาณ สถิตวัดโรงช้าง
    พระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านศึกษาพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ
    สืบต่อมาจาก พระครูวินัยธรรม (จ้อย) วัดท่าเกวียน อยุธยา
    พระครูวินัยธรรม (จ้อย) เป็นศิษย์ พระพนรัต (แปร) วัดป่าแก้ว ในรัชสมัยพระเจ้าเสือ
    กล่าวกันว่า ท่านพระครูรักขิตญาณ (สี) ท่านเป็นพระอานาคามีบุคคล

    พระครูรักขิตญาณ (สี) นั้นท่านเป็นพระอุปัชฌาย์
    บรรพชาอุปสมบท พระอาจารย์สุก
    และเป็นพระอาจารย์บอกพระกัมมัฏฐานมัชฌิมา แบบลำดับ เบื้องต้น องค์ที่สอง
    (เป็นการทบทวน) และสอนบาลี คัมภีร์พระบาลีมูลกัจจายน์เบื้องต้น
    ให้กับ พระอาจารย์สุก เมื่ออุปสมบทบวชเรียนในพรรษาต้นๆ ณ วัดโรงช้าง

    มีเรื่องเล่าว่า ในวันที่พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทที่วัดโรงช้างนั้น
    เมื่อพระสงฆ์ทำยัตติกรรมเสร็จลง ก็บังเกิดอัศจรรย์
    ปรากฎมีแสงสว่าง เหลืองอร่ามพุ่งออกมาทางช่องประตูพระอุโบสถที่เจาะช่องไว้
    พร้อมกันนั้นก็มีเสียงไก่ป่า ไก่บ้าน ไก่วัด ร้องกันระงมเซงแซ่ไปหมด
    คล้ายเสียงอนุโมทนาสาธุการบุญกุศล ผู้คนที่มาในงานบรรพชา-อุปสมบท
    เห็นอัศจรรย์ดังนั้น ก็ยกมือขึ้นอนุโมทนา สาธุการ กันทั่วหน้าทุกตัวตนด้วยความปีติใจ

    กล่าวว่าแสงสว่างนั้น เป็นแสงของ เทวดา และพรหมทั้งหลาย
    มาแสดงอนุโมทนายินดีที่พระอาจารย์สุก ได้บรรพชา-อุปสมบทในครั้งนั้น

    พระอาจารย์สุก บรรพชา-อุปสมบทแล้ว
    ทรงได้รับพระฉายานามทางพระพุทธศาสนาว่า “พระปุณณะปัญญา”
    อุปสมบทแล้วในพรรษานั้นพระองค์ท่านได้ศึกษาการอ่าน เขียน อักขระขอมไทย
    เพื่อเป็นการทบทวน และเตรียมพระองค์ ในการเล่าเรียนพระปริยัติธรรม และศึกษา
    พระคัมภีร์บาลีมูลกัจจายน์ ซึ่งจารึกพระคัมภีร์ด้วยอักขระขอม ไทย

    การศึกษาภาษาบาลี คัมภีร์มูลกัจจายน์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยาแต่โบราณกาลนั้น
    กุลบุตรผู้บวชเรียน มีความประสงค์ที่จะศึกษา พระธรรม หรือพระบาลีคัมภีร์มูลกัจจายน์
    ต้องเริ่มต้นด้วยการหัดเขียน หัดอ่าน อักษร ขอม ก่อน เพราะพระคัมภีร์พระธรรม
    และคัมภีร์บาลีจารไว้ด้วยอักษร ขอม กุลบุตรผู้บวชเรียน จะศึกษาพระคัมภีร์มูลกัจจายน์
    หรือคัมภีร์พระบาลีใหญ่ ต้องท่องจำหลักไวยากรณ์ รากศัพท์อันเป็นสูตรมูล
    ทั้งภาคมคธ และภาคไทย ล้วนจารึกด้วยอักษรขอมทั้งนั้น

    ครั้น พ.ศ. ๒๓๒๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงปราบดาภิเษกเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นปฐมรัชกาลแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์
    กรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อได้ทรงจัดการข้างฝ่ายอาณาจักรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
    ก็ได้ทรงพระราชดำริจัดการข้างฝ่ายพุทธจักรเพื่อทำนุบำรุง พระพุทธศาสนา
    ซึ่งเสื่อมโทรมเศร้าหมองเพราะการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง
    จึงได้ทรงโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพระราชาคณะในตำแหน่งต่างๆตามโบราณราชประเพณี
    และได้ทรงแสวงหาพระเถระผู้ทรงคุณพิเศษจากที่ต่างๆ มาตั้งไว้ในตำแหน่งที่สมควร
    เพื่อช่วยรับภาระ ธุระทางพระพุทธศาสนาสืบไป และก็ในคราวนี้เองที่ได้ทรง

    “โปรดให้นิมนต์พระอาจารย์วัดท่าหอย คลองตะเคียน แขวงกรุงเก่า
    มาอยู่วัดพลับ ให้เป็นพระญาณสังวรเถร


    พระอาจารย์วัดท่าหอยดังกล่าวนี้ก็คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั่นเอง

    ครั้นถึงในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมณศักดิ์ขึ้นเป็น
    สมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศรีศยุภมัศดุ ฯลฯ ลงวันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๗ ค่ำ
    (ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙) ให้พระญาณสังวรขึ้นเป็นสมเด็จพระญาณสังวร
    อดิสรสังฆเถรา สัตวิสุทธิจริยาปรินายก สปิฎกธรามหาอุดมศีลอนันต์
    อรัญวาสี สถิตย์ในราชสิทธาวาศวรวิหาร พระอารามหลวง
    ให้จาฤกกฤตฤกาลอวยผลพระชนมายุศม ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล
    วิมลทฤฆายุศม ในพระพุทธศาสนาเถิด”


    สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
    ในปีเดียวกันกับ สมเด็จพระสังฆราช (มี) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    และนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช

    ด้วยได้เห็นบัญชีนิมนต์พระสวดมนต์ในสวนขวา มีนามสมเด็จพระญาณสังวร
    อยู่หน้าสมเด็จพระสังฆราช เห็นจะเป็นด้วยมีพรรษาอายุมากกว่า

    สมเด็จพระญาณสังวร ได้รับพระราชทานพัดงาสาน
    ซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้ทำวิจิตรกว่าพัดสำหรับพระราชาคณะสมถะสามัญ

    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้ทรงเป็นพระอาจารย์ของ
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    แต่ครั้งยังทรงเป็น พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย กรุงเก่า
    ครั้นเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์มาอยู่ในกรุงเทพฯ
    และทรงตั้งเป็นราชาคณะที่ พระญาณสังวรเถร ดังกล่าวแล้ว
    เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นพระฝ่ายอรัญวาสีนิยมความสงบวิเวก
    จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้มาอยู่ “วัดพลับ” อันเป็นวัดสำคัญฝ่ายอรัญวาสีของธนบุรีครั้งนั้น
    คู่กับวัดรัชฎาธิษฐาน และอยู่ไม่ไกลจากพระนคร
    นอกจากนี้ เพื่อให้สมพระเกียรติที่เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดิน
    จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างวัดพระราชทานใหม่ในที่ติดกับวัดพลับนั่นเอง
    เมื่อสร้างพระอารามใหม่เสร็จแล้ว
    ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมวัดพลับเข้าไว้ในเขตของพระอารามใหม่นั้นด้วย
    แต่ยังคงใช้ชื่อว่าวัดพลับดังเดิม

    [​IMG]
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓


    ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานชื่อใหม่ว่า
    วัดราชสิทธาราม ดังที่ปรากฏสืบมาจนบัดนี้
    บริเวณอันเป็นวัดพลับเดิมนั้นอยู่ด้านตะวันตกของวัดราชสิทธารามปัจจุบันนี้

    อนึ่ง สำหรับวัดพลับ หรือวัดราชสิทธาราม นั้น นับแต่สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
    ได้มาอยู่ครองแต่ครั้งยังทรงเป็นที่ พระญาณสังวรเถร แล้ว
    ก็ได้กลายเป็นสำนักปฏิบัติทางวิปัสสนาธุระที่สำคัญ
    ดังที่สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในเรื่องประวัติวัดมหาธาตุว่า

    “ในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ วัดอรัญวาสีที่สำคัญ ก็คือ
    วัดสมอราย ๑ กับ วัดราชสิทธาราม ๑”


    และพระเกียรติคุณในทางวิปัสสนาธุระของสมเด็จพระสังฆราช (สุก) นั้น
    คงเป็นที่เคารพนับถือทั้งในฝ่ายเจ้านายในพระบรมราชวงศ์และในหมู่ประชาชนทั่วไป
    จึงได้ทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์และเป็นพระอาจารย์ของพระมหากษัตริย์
    และเจ้านายชั้นสูงในพระบรมราชวงศ์หลายพระองศ์ ดังได้กล่าวมาแล้ว

    อนึ่ง เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นพระเจ้าหลานเธอในรัชกาลที่ ๑
    ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ก็ได้เสด็จมาประทับทรงบำเพ็ญเนกขัมมปฏิบัติ
    และทรงศึกษาวิปัสสนาธุระในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
    แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธาราม
    นี้เป็นเวลา ๑ พรรษา
    โดยมีพระตำหนักสำหรับทรงบำเพ็ญสมาธิกรรมฐานโดยเฉพาะเรียกว่า
    พระตำหนักจันทน์ ซึ่งสมเด็จพระบรมราชชนกนาถ คือ
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ได้ทรงสร้างถวาย ยังคงมีอยู่สืบมาจนบัดนี้

    นอกจากนี้ เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ
    ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ในรัชกาลที่ ๒ ก็ได้เสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ
    ในสำนัก สมเด็จพระสังฆราช (สุก) แต่ครั้งยังทรงดำรงสมณศักดิ์ที่
    พระญาณสังวรเถร ณ วัดราชสิทธาราม เช่นกัน

    ดังที่พระบาทสมเด็จจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงมีพระบรมราชาธิบาย
    ไว้ในเรื่องวัดสมอรายอันมีนามว่า “ราชาธิวาส” ว่า

    “ได้ทรงประทับศึกษาอาจาริยสมัยในสำนักวัดราชาธิวาส
    ทรงทราบเสร็จสิ้นจนสุดทางที่จะศึกษาต่อไปอีกได้
    จึงได้เสด็จย้ายไปประทับอยู่ ณ วัดราชสิทธาราม คือ วัดพลับ
    ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญเชี่ยวชาญในการวิปัสสนาอีกแห่งหนึ่ง
    ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงผนวชในที่นั้น
    แต่หาได้ประทับประจำอยู่เสมอ ไม่เสด็จไปอยู่วัดพลับบ้าง กลับมาอยู่สมอรายบ้าง
    เมื่อเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว
    จึงทรงสร้างพระศิรจุมภฏเจดีย์ไว้เป็นคู่กันกับพระศิราศนเจดีย์
    ที่ทรงพระราชอุทิศถวายสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช
    พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นสำคัญว่า
    เคยเสด็จประทับศึกษา ณ สำนักอาจารย์เดียวกัน”


    เกี่ยวกับราชประเพณีนิยมทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ
    ของเจ้านายในพระบรมราชวงศ์ที่ทรงผนวชนั้น
    สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงมีพระอธิบายไว้ว่า

    “อนุโลมตามราชประเพณีครั้งกรุงเก่า ดังเช่น สมเด็จพระเจ้าอุทุมพร
    ทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับอยู่ ณ วัดประดู่นั้นเป็นตัวอย่าง ด้วยเป็นวัดอรัญวาสี
    อยู่ที่สงัดนอกพระนคร เพราะการศึกษาธุระในพระศาสนามีเป็น ๒ ฝ่าย
    ฝ่ายคันถธุระต้องเล่าเรียนพระปริยัติธรรมโดยมคธภาษา อันต้องใช้เวลาช้านานหลายปี
    ไม่ใช่วิสัยผู้ที่บวชอยู่ชั่วพรรษาเดียวจะเรียนให้ตลอดได้
    แต่วิปัสสนาธุระอีกฝ่ายหนึ่งนั้น เป็นการฝึกหัดใจในทางสมถภาวนา
    อาจเรียนได้ในเวลาไม่ช้านัก และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า
    ถ้าชำนิชำนาญในทางสมถภาวนาแล้ว
    อาจจะนำคุณวิเศษอันนั้นมาใช้ในการปลุกเศกเพื่อประโยชน์อย่างอื่น
    ตลอดจนในวิชาพิไชยสงครามได้ในภายหลัง
    ด้วยเหตุนี้ เจ้านายที่ทรงผนวชมาแต่ก่อนจึงมักเสด็จไปประทับอยู่
    ณ วัดอรัญวาสี เพื่อทรงศึกษาภาวนาวิธี”


    นัยว่าการศึกษาวิปัสสนาธุระ ของสำนักวัดราชสิทธาราม
    ในสมัยที่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงครองวัดอยู่นั้นเจริญรุ่งเรืองมาก
    เพราะผู้ครองวัดทรงเชี่ยวชาญและมีกิตติคุณในด้านนี้เป็นที่เลื่องลือ.
    ครั้น สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ได้รับสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    และเสด็จมาสถิต ณ วัดมหาธาตุแล้ว การศึกษาวิปัสสนาธุระแม้จะยังมีอยู่
    แม้จะไม่รุ่งเรืองเท่ากับสมัยที่สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ยังทรงครองวัดนั้นอยู่ก็ตาม
     
  18. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


    พระราชกรรมวาจาจารย์ในพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นสูง

    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถือเป็นอันมาก
    ของพระบรมราชวงศ์ มาแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑ และรัชกาลที่ ๒
    ปรากฏนาม พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์แทบทุกพระองค์
    นับแต่คราวทรงผนวชพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    แต่ครั้งยังทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร เป็นต้นมา
    ดังมีรายละเอียดบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ดังนี้

    (๑) พ.ศ. ๒๓๓๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิสรสุนทร
    ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม สมเด็จพระสังฆราช (ศรี)
    เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ ทรงผนวชแล้ว
    วันแรกเสด็จประทับที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม มีการฉลองเสร็จแล้ว
    จึงเสด็จไปประทับ ณ วัดสมอราย (คือวัดราชาธิวาส ในปัจจุบัน)

    (๒) พ.ศ. ๒๓๓๗ สมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ในรัชกาลที่ ๒
    แต่ครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์
    ในรัชกาลที่ ๑ (พระนามเดิม จุ้ย) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    (๓) พ.ศ. ๒๓๓๘ สมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
    (พระนามเดิม บุญมา) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร วัดพลับ
    เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมกิตติ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

    (๔) พ.ศ. ๒๓๔๕ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอกรมพระราชวังหลัง ในรัชกาลที่ ๑
    (เจ้าฟ้ากรมหลวงอนุรักษ์เทเวศร์ พระนามเดิม ทองอิน) ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    สมเด็จพระสังฆราช (ศุข) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระญาณสังวรเถร เป็นพระกรรมวาจาจารย์

    (๕) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ ในรัชกาลที่ ๑ ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    พระญาณสังวรเถร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ พระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)
    วัดโมลีโลกยาราม เป็นพระราชกรรมวาจาจารย์

    (๖) พ.ศ. ๒๓๖๐ ในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้ามงกุฎฯ
    ทรงผนวชเป็นสามเณร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์


    แต่ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๒ ว่า
    สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นพระอาจารย์
    ซึ่งกลับกันเป็นตรงกันข้าม

    ในเรื่องนี้ สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ
    ทรงอธิบายไว้ในพระนิพนธ์เรื่องความทรงจำ ว่า

    “พิเคราะห์ตามเหตุการณ์ น่าจะกลับกันกับที่กล่าว (ในพระราชพงศาวดาร)
    คือสมเด็จพระญาณสังวร เป็นพระอุปัชฌาย์
    และสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระอาจารย์ถวายศีล
    เพราะสมเด็จพระญาณสังวร เป็นผู้มีอายุพรรษามาก นั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช (มี)
    ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑
    แม้สมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์”


    นอกจากนี้ยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง กล่าวว่า

    “ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    โปรดฯ ให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๒ องค์ เป็นคู่กัน อยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม
    (อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งขนานนามว่า ‘พระศิราศนเจดีย์’
    ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งมีนามว่า
    ‘พระศิรจุมภฏเจดีย์’ เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่
    ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์”



    สมเด็จพระญาณสังวรรูปแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ตำแหน่งสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร นั้น
    นับว่าเป็นตำแหน่งพิเศษในยุคกรุงรัตนโกสินทร์
    เป็นตำแหน่งที่พระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระโดยเฉพาะ
    ดังจะเห็นได้ว่าเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงตั้ง พระอาจารย์สุก วัดท่าหอย ซึ่งเป็นผู้ทรงคุณพิเศษในทางวิปัสสนาธุระ
    เป็นที่พระราชาคณะนั้น ก็ทรงตั้งในราชทินนามว่า พระญาณสังวรเถร
    อันเป็นราชทินนามที่แสดงถึงความเป็นผู้ทรงคุณในทางวิปัสสนาธุระ

    ครั้นมาในรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา พระญาณสังวรเถร ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ
    ก็โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาในราชทินนามว่า สมเด็จพระญาณสังวร
    ตามราชทินนามเดิม ที่ได้รับพระราชทานแต่ครั้งรัชกาลที่ ๑

    ครั้น สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ได้รับสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    ในเวลาต่อมา ราชทินนามที่สมเด็จญาณสังวร ก็ไม่ได้โปรดเกล้าฯ
    พระราชทานสถาปนาพระเถระรูปใดอีกเลยนับแต่รัชกาลที่ ๒ เป็นต้นมา
    กระทั่งถึงรัชกาลปัจจุบัน ซึ่งเป็นรัชกาลที่ ๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้สถาปนา
    พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน เจริญ คชวัตร) วัดบวรนิเวศวิหาร
    ในราชทินนามที่ สมเด็จพระญาณสังวร
    ในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕
    นับเป็นสมเด็จพระญาณสังวร รูปที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    นับแต่ปีที่ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร) สิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๕
    ในรัชกาลที่ ๒ มาจนถึงปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน โปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนา พระสาสนโสภณ (สุวฑฺฒโน) ขึ้นเป็น สมเด็จพระญาณสังวร
    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๕ นั้น เป็นเวลา ๑๕๐ ปีพอดี
    ซึ่งเป็นเวลายาวนานถึง ๖ รัชกาลที่ว่างเว้นมิได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ
    ให้สถาปนาพระเถระรูปใดในราชทินนามตำแหน่งนี้
    เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่ สมเด็จพระญาณสังวร นี้ จึงกล่าวได้ว่า
    เป็นตำแหน่งที่มีความหมายสำคัญในประวัติการณ์ของคณะสงฆ์ไทยตำแหน่งหนึ่ง

    [​IMG]
    พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)


    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๑๑ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๖๒
    ตรงกับวันเสาร์ แรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีเถาะ เอกศก จุลศักราช ๑๑๘๑ นี้
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร (สุก)
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    แล้วโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ

    เดิมทรงพระราชดำริที่จะตั้ง สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ
    เป็นสมเด็จพระสังฆราช ถึงได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    เมื่อ ณ เดือน ๔ พุทธศักราช ๒๓๖๒ ปีเถาะเอกศก นั้นแล้ว
    แต่เมื่อปีมะโรง โทศก ข้างต้นปี เกิดอหิวาตกโรคมาก
    ยังไม่ทันจะได้ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (อาจ) เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    ถึงเดือน ๑๑ มีโจทก์ฟ้องกล่าวอธิกรณ์สมเด็จพระพนรัตน (อาจ)
    ว่าชอบหยอกเอินศิษย์หนุ่มด้วยกิริยาที่ไม่สมควรแก่สมณะ
    ชำระได้ความเป็นสัตย์ อธิกรณ์ไม่ถึงเป็นปาราชิก
    จึงเป็นแต่ให้ถอดเสียจากตำแหน่งพระราชาคณะและเนรเทศไปจากพระอารามหลวง

    ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชนั้น ทรงพระราชดำริว่า
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้ใหญ่
    และได้เป็นพระอาจารย์ เป็นที่เคารพในพระราชวงศ์ จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    เมื่อ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑๒ ขึ้น ๔ ค่ำ ปีเถาะเอกศก พุทธศักราช ๒๓๖๒
    ครั้นเมื่อถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๑ ขึ้น ๒ ค่ำ
    ปีมะโรง โทศก จุลศักราช ๑๑๘๒ พุทธศักราช ๒๓๖๓
    จึงทรงตั้ง สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช
    ดังมีสำเนาประกาศสถาปนาดังนี้

    “ศริศยุภอดีตกาล พระพุทธสักราช ชไมยสหัสสสังวัจฉรไตรสตาธฤกไตรสัตฐีสัตมาศ
    ปัตยุบันกาล นาคสังวัจฉรมฤคศฤระมาศ ศุกขปักขคุรุวาระนวมีดิถี ปริจเฉทกาลอุกฤษฐ
    สมเด็จบรมธรรมมฤกะมหาราชารามาธิราชเจ้า ผู้ทรงทศพิธราชธรรม์
    อนันตคุณวิบุลยปรีชาอันมหาประเสริฐ
    มีพระราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาทดำรัสสั่งพระราชูทิศถาปนา
    ให้สมเด็จพระญาณสังวรเปนสมเด็จพระอริยวงษญาณปริยัติวราสังฆราชาธิบดี
    ศรีสมณุตมาปรินายกติปิฎกธราจารย์ สฤทธิขัติยสารสุนทร มหาคณฤศร
    วรทักษิณาสฤทธิสังฆาราม คามวาสีอรัญวาสี เป็นประธานถานาทุกคณาธิกร
    จัตุพิธบรรพสัช สถิตในพระศรีรัตนมหาธาตุบวรวิหารพระอารามหลวง”


    เมื่อ สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    พระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นั้น ทรงมีพระชนมายุได้ ๘๘ พรรษาแล้ว
    ดังนั้น จึงทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชอยู่ไม่ถึง ๒ ปี ก็สิ้นพระชนม์
    เหตุที่ไม่ได้ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน
    สันนิษฐานว่าเพราะทรงเป็นพระราชาคณะฝ่ายสมถะ
    แต่ประเพณีการเลือกสมเด็จพระสังฆราช คงถือเอาคันถธุระเป็นสำคัญ
    สมเด็จพระสังฆราช (สุก) ทรงเป็นฝ่ายวิปัสสนาธุระ
    จึงไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อน
    มาในครั้งนี้เห็นจะทรงพระราชดำริว่า พรรษาอายุท่านมากอยู่แล้ว
    มีพระราชประสงค์จะสถาปนาให้ถึงเกียรติยศที่สูงสุดให้สมกับที่ทรงเคารพนับถือ
    เข้าใจว่าเห็นจะถึงทรงวิงวอน ท่านจึงรับเป็นสมเด็จพระสังฆราช

    อนึ่ง ธรรมเนียมแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุนั้นได้มีขึ้นในรัชกาลที่ ๒
    โดยได้โปรดเกล้าฯ ให้แห่ สมเด็จพระสังฆราช (มี) วัดราชบุรณะ
    ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    เป็นพระองค์แรก พระองค์ที่ ๒ คือ สมเด็จพระสังฆราช (สุก)
    ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    แห่จากวัดราชสิทธารามมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    พระองค์ที่ ๓ คือ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    แห่จากวัดสระเกศมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    พระองค์สุดท้ายคือ สมเด็จพระสังฆราช (นาค)
    ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๖ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ (รัชกาลที่ ๓)
    ในประกาศสถาปนาว่าสถิต ณ วัดมหาธาตุ แต่ไม่ได้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    ตามประกาศ เพราะขณะนั้นวัดมหาธาตุกำลังปฏิสังขรณ์ทั่วพระอาราม
    สมเด็จพระสังฆราช (นาค) จึงสถิต ณ วัดราชบุรณะ อันเป็นพระอารามเดิมจนสิ้นพระชนม์
    แต่นั้นมาธรรมเนียมการแห่สมเด็จพระสังฆราชมาสถิต ณ วัดมหาธาตุ ก็เป็นอันเลิกไป

    [​IMG]
    พระรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้งสมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    ประดิษฐาน ณ วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) กรุงเทพฯ



    พระอวสานกาล

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช อยู่เพียง ๑ ปี กับ ๑๐ เดือนเท่านั้น
    ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๖๕
    ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย ในรัชกาลที่ ๒
    มีพระชนม์มายุได้ ๘๙ พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    พระราชทานพระโกศทองใหญ่ให้ทรงพระศพ เมื่อตั้งที่พระเมรุท้องสนามหลวง
    พระโกศองค์นี้ นอกจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับพระบรมวงศานุวงศ์ที่พระเกียรติยศสูง
    บางพระองค์ มีปรากฏว่าได้ทรงแต่พระศพสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้พระองค์เดียว
    นับเป็นการถวายพระเกียรติอย่างสูงด้วยเหตุที่ทรงเป็นที่ทรงเคารพนับถืออย่างยิ่งนั้นเอง

    ส่วนการพระเมรุนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ทำเมรุผ้าขาวที่ท้องสนามหลวง
    พระราชทานเพลิงพระศพเมื่อเดือน ๑๒ พ.ศ. ๒๓๖๕ นั้น
    ครั้นพระราชทานเพลิงพระศพแล้ว ได้โปรดเกล้าฯ ให้ปั้นพระรูปบรรจุพระอัฐิ
    ประดิษฐานไว้ในกุฏิกรรมฐานหลังหนึ่ง บริเวณด้านหน้าพระอุโบสถวัดราชสิทธาราม
    เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาตลอดจนสานุศิษย์และผู้เคารพนับถือ สืบมาจนกระทั่งทุกวันนี้

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ได้โปรดเกล้าฯ ให้ช่างหล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) ขนาดย่อมขึ้นอีก
    ประดิษฐานไว้ในหอพระนาก พร้อมกันกับรูปสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ขุน)
    วัดโมลีโลกยาราม ซึ่งเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ของพระองค์ ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๘๗
    ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อพระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) อีกองค์หนึ่งขนาดเท่าพระองค์จริง
    พระราชดำริเดิม เข้าใจว่าคงจะทรงสร้างขึ้นสำหรับประดิษฐานไว้ ณ วัดมหาธาตุ
    อันเป็นที่สถิตของพระองค์เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราช
    แต่ยังไม่ทันได้เชิญไปประดิษฐาน เพราะการบูรณะปฏิสังขรณ์ วัดมหาธาตุ
    ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ พระองค์ก็เสด็จสวรรคตเสียก่อน
    พระรูปสมเด็จพระสังฆราช (สุก) องค์ดังกล่าวนี้ จึงค้างอยู่ในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

    ต่อมาในรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระเจ้าจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ไปประดิษฐาน ณ วัดมหาธาตุ
    ปรากฏตามหมายรับสั่งในรัชกาลที่ ๔ ว่า โปรดเกล้าฯ ให้เชิญไป
    เมื่อวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๔ ปีชวด จัตวาศก จ.ศ. ๑๒๑๔ พ.ศ. ๒๓๙๕
    และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างแท่นจำหลักมีลวดลายเป็นรูปไก่เถื่อนเป็นที่รองรับ
    พระรูปเพิ่มเติมขึ้น และยังคงสถิตอยู่ในพระวิหารวัดมหาธาตุมาจนบัดนี้
     
  19. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    [​IMG]

    พระประวัติและปฏิปทา
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    พ.ศ. ๒๓๖๕-๒๓๘๕


    วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ราชวรมหาวิหาร
    แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร



    พระประวัติในเบื้องต้น

    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    พระประวัติในเบื้องต้นมีความเป็นมาอย่างไรไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด
    ทราบแต่เพียงว่า ประสูติเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๔ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๓๐๔
    ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา
    เดิมจะได้เปรียญและเป็นพระราชาคณะตำแหน่งใดมาก่อนหรือไม่ ไม่ปรากฏหลักฐาน
    กระทั่งมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑
    แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ จึงปรากฏหลักฐานว่าเป็นที่ พระเทพโมลี อยู่วัดหงษ์
    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๒ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นที่ พระพรหมมุนี
    แล้วต่อมา ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นที่ พระพิมลธรรม
    เมื่อวันพฤหัสบดี แรม ๗ ค่ำ เดือน ๙ ปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙
    ในคราวเดียวกับที่ทรงตั้งสมเด็จพระพนรัตน (มี) เป็น สมเด็จพระสังฆราช
    ในราชทินนามว่า สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (มี)

    [​IMG]
    วัดหงส์รัตนาราม


    ประวัติและความสำคัญของวัดหงส์รัตนาราม

    “วัดหงษ์” แต่เดิมมานั้นเรียกขานกันว่า วัดเจ๊สัวหงบ้าง วัดเจ้าสัวหงบ้าง
    วัดเจ้าขรัวหงบ้าง ตามชื่อของคหบดีจีนที่เป็นผู้สร้างวัด
    มาในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้โปรดเกล้าฯ
    ให้ปฏิสังขรณ์ขึ้นใหม่ทั้งพระอาราม เนื่องจากเป็นพระอารามที่อยู่ติดกับพระราชวัง
    และพระราชทานชื่อว่า “วัดหงษ์อาวาสวิหาร”
    จึงได้เป็นพระอารามหลวงและพระอารามสำคัญมาแต่ครั้งนั้น
    จนมาในรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
    แต่ครั้งยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็น
    สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร กรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ทรงปฏิสังขรณ์ จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดหงษ์อาวาสบวรวิหาร”
    เพราะเป็นพระอารามที่อยู่ใกล้กับพระราชวังเดิม
    อันเป็นที่ประทับของสมเด็จกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จึงได้พระราชทานเปลี่ยนนามอีกครั้งหนึ่งว่า “วัดหงสาราม”
    ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์อีกครั้งหนึ่ง
    เมื่อทรงปฏิสังขรณ์เสร็จบริบูรณ์แล้ว จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า
    “วัดหงส์รัตนาราม” ดังที่เรียกกันสืบมาจนปัจจุบัน

    ปัจจุบัน วัดหงส์รัตนาราม ราชวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร
    ตั้งอยู่ริมคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง) แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่
    กรุงเทพมหานคร มีเนื้อที่ประมาณ ๔๖ ไร่เศษ และมีที่ธรณีสงฆ์คือ
    ที่จัดประโยชน์ให้ประชาชนเช่าปลูกที่อยู่อาศัย ติดกับวัดอีกประมาณ ๒๐ ไร่
    ภายในวัดหงส์รัตนารามฯ มีโบราณสถานสำคัญภายในวัดที่น่าสนใจ
    อาทิ พระอุโบสถในสมัยอยุธยา ภายในมีเสาอยู่ด้านข้างพระอุโบสถ ๒ ข้างสวยงามมาก
    พระประธานในพระอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยสมัยอู่ทอง ปูนปั้นลงรักปิดทอง
    ไม่มีพระนามสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยอยุธยา พระพุทธรูปหลวงพ่อแสน
    เป็นพระพุทธรูปสัมฤทธิ์นวโลหะสวยงามเป็นพิเศษ
    ตามประวัติ ได้มีการอัญเชิญมาจากเมืองเชียงแตง เมื่อพ.ศ.๒๔๐๑
    นอกจากนี้แล้วยังมีสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ ลักษณะสี่เหลี่ยมผืนผ้า ลึกประมาณ ๑.๕๐ เมตร
    อยู่ทางทิศตะวันตกท้ายวัด ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอพระไตรปิฎก
    ตู้พระไตรปิฎก กุฏิไม้สักเก่า เป็นต้น นับเป็นวัดที่เก่าแก่
    และเป็นที่พำนักจำพรรษาของสมเด็จพระสังฆราชถึง ๒ พระองค์

    [​IMG]
    พระอุโบสถวัดหงส์รัตนาราม


    ทรงย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ

    ต่อมา พ.ศ. ๒๓๖๒ สมเด็จพระสังฆราช (มี) สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชดำริจะทรงตั้ง
    สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) วัดสระเกศ เป็นสมเด็จพระสังฆราช
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่ไปอยู่วัดมหาธาตุ เพื่อเตรียมการทรงตั้งต่อไป
    และโปรดเกล้าฯ ให้พระพิมลธรรม (ด่อน) ย้ายจากวัดหงส์มาครองวัดสระเกศ
    สืบต่อจาก สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) ในปี พ.ศ. ๒๓๖๒ นั้น

    สมเด็จพระพนรัตน (อาจ) นั้นเมื่อแห่ไปอยู่วัดมหาธาตุได้ ๘ เดือน
    ยังมิทันได้ทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ก็เกิดอธิกรณ์ขึ้นเสียก่อน
    จึงโปรดเกล้าฯ ให้ถอดเสียจากสมณฐานันดร แล้วให้ออกไปเสียจากวัดมหาธาตุฯ
    จึงไปอยู่ที่วัดไทรทอง (บางที่เรียกว่า วัดแหลม)
    ซึ่งเป็นวัดเบญจมบพิตรในบัดนี้ จนถึงมรณภาพ

    ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๓๖๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อน
    พระพิมลธรรม (ด่อน) เป็นสมเด็จพระพนรัตน ในคราวเดียวกันกับที่ทรงตั้ง
    สมเด็จพระญาณสังวร (สุก) วัดราชสิทธาราม เป็นสมเด็จพระสังฆราช
     
  20. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]
    วัดสระเกศ ในปัจจุบัน


    ประวัติและความสำคัญของวัดสระเกศ

    วัดสระเกศ หรือ วัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร
    เป็นวัดโบราณ เดิมเรียกชื่อว่า “วัดสะแก” มามีตำนานเนื่องในพงศาวดาร
    เมื่อปีขาล จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๔๔ พุทธศักราช ๒๓๒๕
    ปัจจุบันเป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรมหาวิหาร
    ตั้งอยู่แขวงบ้านบาตร เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร

    ดังมีข้อความปรากฏตามตำนานว่าเป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่สมัยโบราณ
    สันนิษฐานว่าจะได้สร้างมาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
    เดิมมีชื่อว่า “วัดสะแก” เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นวัดสระเกศเมื่อสมัยรัชกาลที่ ๑
    เมื่อครั้งที่ได้สร้างกรุงเทพมหานครเป็นครั้งแรก
    ดังมีปรากฏตามพระราชพงศาวดารว่า

    [​IMG]
    พระประธานในพระอุโบสถวัดสระเกศ


    เมื่อจุลศักราช ๑๑๔๕ เบญจศก ตรงกับพุทธศักราช ๒๓๒๖ นั้น
    พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้โปรดเกล้าฯ ให้
    ลงมือก่อสร้างพระนคร รวมทั้งพระบรมมหาราชวัง และกรมพระราชวังบวรสถานมงคล
    ได้รวมผู้คนให้ขุดคลองรอบเมือง ตั้งแต่บางลำพูเรื่อยไปจนจดแม่น้ำ
    ด้านใต้ตอนเหนือวัดจักรวรรดิราชาวาส
    แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ขุดคลองหลอด และขุดคลองใหญ่เหนือวัดสะแกอีกคลองหนึ่ง
    พระราชทานนามว่า คลองมหานาค เพื่อให้เป็นที่สำหรับชาวพระนคร
    ได้ลงประชุมเล่นเพลง และสักวา ในเทศกาลฤดูน้ำเหมือนอย่างครั้งกรุงศรีอยุธยา

    และวัดสะแกนั้น เมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว
    จึงพระราชทานเปลี่ยนนามใหม่ว่า “วัดสระเกศ”
    และทรงปฏิสังขรณ์วัดสระเกศทั้งพระอาราม
    ตั้งต้นแต่พระอุโบสถตลอดถึงเสนาสนะสงฆ์ และขุดคลองรอบวัดอีกด้วย
    คำว่า “สระเกศ” นี้ตามรูปคำก็แปลว่าชำระหรือทำความสะอาดพระเกศานั่นเอง

    [​IMG]
    เจดีย์ภูเขาทอง วัดสระเกศ


    มูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
    ทรงพระราชทาน เปลี่ยนชื่อ วัดสะแก เป็น วัดสระเกศ นี้
    มีหลักฐานที่ควรอ้างถึงคือพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
    เรื่องจดหมายเหตุความทรงจำของกรมหลวงนรินทรเทวี ข้อ ๑๑ ว่า

    “รับสั่งพระโองการตรัสวัดสะแกเรียกวัดสระเกศ
    แล้วบูรณะปฏิสังขรณ์ เห็นควรที่ต้นทางเสด็จพระนคร”


    ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า

    “ปฏิสังขรณ์วัดสะแก และเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสระเกศ
    เอามากล่าวปนกับวัดโพธิ์ เพราะเป็นต้นทางที่เสด็จเข้ามาพระนคร”


    มีคำเล่าๆ กันว่า เสด็จเข้าโขลนทวาร สรงพระมรุธาภิเษกตามประเพณี
    กลับจากทางไกลที่ วัดสะแก จึงเปลี่ยนนามว่า “วัดสระเกศ”

    [​IMG]
    เจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุในภูเขาทอง


    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

    ครั้นเมื่อถึงวันที่ ๔ กันยายน พุทธศักราช ๒๓๖๕
    ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีมะเมีย นี้
    สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช (สุก ญาณสังวร)
    สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สิ้นพระชนม์
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒
    ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนา สมเด็จพระพนรัตน (ด่อน)
    ขึ้นเป็น สมเด็จพระอริยวงษญาณ สมเด็จพระสังฆราช
    เมื่อเดือน ๔ เดือนมีนาคม ปีมะแม ในศกนั้น แต่ไม่พบสำเนาประกาศสำเนาทรงตั้ง
    เมื่อทรงตั้งเป็นสมเด็จพระสังฆราชแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาสถิต ณ วัดมหาธาตุ
    เช่นเดียวกับสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ก่อนๆ
    นับเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๕ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
    และเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๔ สุดท้ายที่สถิต ณ วัดมหาธาตุ
    ทรงเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๓ ในรัชกาลที่ ๒
    และทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้ ๒ ปีเศษ ก็สิ้นรัชกาลที่ ๒


    พระกรณียกิจพิเศษ

    ในปลายรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระสังฆราช (ด่อน)
    ได้ทรงปฏิบัติพระกรณียกิจสำคัญคือทรงเป็นพระราชอุปัธยาจารย์
    ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงผนวชเป็นพระภิกษุ
    ขณะทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎสมมติเทววงศ์
    ทรงผนวช ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม
    เมื่อวันอังคาร เดือน ๘ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ตรงกับกับวันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๓๖๗
    เมื่อทรงผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดมหาธาตุ ๓ วัน
    แล้วเสด็จไปประทับศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส)
    หลังจากทรงผนวชได้เพียง ๑๕ วัน
    พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยก็เสด็จสวรรคต
    เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้เสด็จกลับมาประทับ ณ วัดมหาธาตุ
    เพื่อทรงศึกษาภาษาบาลีต่อไป พระตำหนักอันเป็นที่ประทับของ
    พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชครั้งนั้น
    คือตรงที่ปัจจุบันสร้างเป็นวิหารโพธิลังกา ซึ่งอยู่ทางมุมวัดมหาธาตุด้านทิศตะวันออก
    หลังพระบวรราชานุสาวรีย์สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาทในบัดนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...