ฝุ่นละอองกรุงเทพฯ : เหตุใดสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก จึงพุ่งสูงขึ้นมาอีกครั้ง

ในห้อง 'ภัยพิบัติและการเตรียมการ' ตั้งกระทู้โดย โพธิสัตว์, 22 ธันวาคม 2018.

  1. โพธิสัตว์

    โพธิสัตว์ Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    31 ธันวาคม 2016
    โพสต์:
    113
    กระทู้เรื่องเด่น:
    92
    ค่าพลัง:
    +726
    _104914245_pam_5041.jpg
    21 ธันวาคม 2018
    เช้าวันนี้ ผู้ที่ใช้ชีวิตในกรุงเทพมหานครคงจะได้เห็นสภาพอากาศขมุกขมัวและหายใจกับอากาศที่มีฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM 2.5) กรมควบคุมมลพิษออกมาเตือนประชาชนว่าพื้นที่ในหลายเขตสามารถตรวจวัดฝุ่นละอองเกินมาตรฐาน ขณะที่นักวิชาการเสนอให้ใช้รถยนต์น้อยลงเพื่อผลดีในระยะยาว

    กรมควบคุมมลพิษ ออกมารายงานสถานการณ์ฝุ่นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล เมื่อเวลา 08.00 น. ว่า มีพื้นที่ริมถนนอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 20 พื้นที่ ขณะที่ในพื้นที่ทั่วไปอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 14 พื้นที่

    พื้นที่ริมถนน 20 พื้นที่ เช่น ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน แขวงบางนา เขตบางนา แขวงดินแดง เขตดินแดง ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน แขวงพญาไท เขตพญาไท ตรวจวัดได้ระหว่าง 56-103 ไมโครกรัม ต่อ ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) มีสาเหตุมาจากสภาวะอากาศปิดและการจราจร ขณะที่เกณฑ์มาตรฐานอยู่ที่ 50 มคก./ลบ.ม.

    ในจำนวนนี้ มีพื้นที่ริมถนน 8 พื้นที่ที่คุณภาพอากาศอยู่ในเกณฑ์ระดับสีแดง คือ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เกิน 90 มคก./ลบ.ม. ได้แก่ ริมถนนคู่ขนานพระราม 2 อ.เมืองสมุทรสาคร, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง, ริมถนนลาดพร้าว ซอยลาดพร้าว 95 เขตวังทองหลาง, ริมถนนพระราม 3-เจริญกรุง เขตบางคอแหลม, ริมถนนพระราม 3 เขตยานนาวา, ริมถนนรัชดาภิเษก-ท่าพระ เขตธนบุรี, ริมถนนเพชรเกษม เขตภาษีเจริญ และริมถนนพระราม 2 เขตบางขุนเทียน

    _104904158_pam_4674.jpg
    คำบรรยายภาพท้องฟ้ากรุงเทพฯ เช้าวันที่ 21 ธ.ค. 2561
    สภาพอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่ดูคล้ายหมอกนี้ คาดว่าจะเกิดขึ้นไปจนถึงวันอาทิตย์ (23 ธ.ค.) ตามการเปิดเผยของ นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ ผอ. สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ที่บอกกับบีบีซีไทย

    ผอ. สำนักจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กล่าวกับบีบีซีไทยอีกว่า สิ่งที่รัฐพยายามดำเนินการอยู่ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมมลพิษและกรุงเทพมหานคร คือ การควบคุมแหล่งกำเนิดที่สร้างฝุ่นละออง อาทิ พื้นที่ก่อสร้างขนาดใหญ่ ที่ต้องกำชับดูแลเป็นพิเศษ การตรวจจับควันดำจากรถยนต์ และการฉีดน้ำตามท้องถนนเพื่อบรรเทาสถานการณ์

    แล้วอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน พุ่งสูงขึ้นและอยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพขึ้นมาอีก

    เพราะสภาพอากาศเปลี่ยน
    กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สาเหตุของระดับฝุ่นละอองขนาดเล็กที่กำลังเกิดขึ้น มาจากสภาพอากาศที่มีหมอกในตอนเช้า อากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด ทำให้มีการสะสมของฝุ่นละอองในอากาศเพิ่มขึ้น

    นายเถลิงศักดิ์ อธิบายกับบีบีซีไทยว่า กรุงเทพมหานครมีแหล่งกำเนิดมลพิษตามปกติอยู่แล้ว ซึ่งเกิดจากมลพิษจากยานพาหนะและกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่ เช่น การก่อสร้างจำนวนมาก แต่ในสัปดาห์นี้ เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศซึ่งอุณหภูมิอุ่นขึ้น ต่างจากสัปดาห์ก่อน เมื่ออากาศเย็นเจอเข้ากับอากาศอุ่น ทำให้เกิดภาวะที่สภาพอากาศนิ่ง ลมไม่พัด ประกอบกับมีหมอก ทำให้ไม่มีการหมุนเวียนของอากาศ


    _104904160_pam_4831.jpg
    คำบรรยายภาพนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ระบุว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์ดีเซล

    นั่นหมายความว่า ฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ ที่เรากำลังหายใจเข้าไปไม่ลอยตัวขึ้นสู่บรรยากาศ ด้วยสภาพอากาศเช่นนี้ ทำให้ฝุ่นที่เล็กมากจนมองไม่เห็นเกาะตัวเป็นแพร่วมกับกลุ่มหมอก กลายเป็นหมอกที่มีสีน้ำตาลจาง ๆ เมื่อฝุ่นและหมอกรวมกัน จึงทำให้เราสามารถมองเห็นได้ชัดเจน

    "มันนิ่ง ไม่ลอย และสะสมมากขึ้น เลยเกินมาตรฐานขึ้นมา สอดคล้องกับสภาวะอากาศที่กำลังเปลี่ยน" นายเถลิงศักดิ์ กล่าวกับบีบีซีไทย "ลักษณะของ กทม. ที่มีตึกสูงมากพอสมควร การระบายอากาศทำได้น้อย ไปได้ทิศทางเดียวต้องลอยขึ้น รวมทั้งลักษณะอากาศนิ่ง การระบายอากาศยาก ทำให้มันสะสมมากขึ้น เราเป็นห่วงประชาชนพวกนี้ก็จะได้รับผลกระทบมากขึ้น"

    สถานการณ์ฝุ่นละอองรอบนี้จะนานแค่ไหน ?
    หากยังจำกันได้ สถานการณ์ปริมาณฝุ่นละอองในกรุงเทพฯ เพิ่มสูงขึ้นเกินเกณฑ์มาตรฐาน ท้องฟ้ากรุงเทพฯ เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด เกิดขึ้นหลายสัปดาห์ในช่วงเดือน ก.พ.- มี.ค. ที่ผ่านมา ในครั้งนี้ กรมควบคุมมลพิษ คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอีก 1-2 วัน

    _104904198_48388149_376613192909894_2187029434823868416_n.jpg
    ด้านนายสนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย เห็นต่างออกไป เขามองว่าสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กหรือค่า PM 2.5 จะเกินค่ามาตรฐานประเทศไทยและขององค์กรอนามัยโลกไปเรื่อย ๆ ในช่วงปลายเดือน ธ.ค. 2561 จนถึงเดือน ม.ค. ปีหน้า ด้วยเหตุที่ว่า ฤดูหนาวของปีนี้ที่มาช้ากว่าปีก่อน

    ทางออกระยะสั้น
    อ. สนธิ อธิบายว่า ฝุ่นละออง PM 2.5 เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากเครื่องยนต์ดีเซล ส่วนฝุ่นละอองที่เกิดจากการก่อสร้างอยู่ในระดับค่าฝุ่นละออง PM 10 ในความเห็นของเขา มองว่า ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน น่ากังวลกว่า เพราะสามารถเข้าสู่ปอดและกระแสเลือดได้

    ทางออกในระยะสั้น ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ บอกกับบีบีซีไทยว่า กรมควบคุมมลพิษต้องรายงานสถานการณ์ตลอดเวลาทุกวัน ว่าถนนเส้นไหนมีปัญหารุนแรง ต้องเตรียมให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากกรองอากาศ เอ็น 95 ซึ่งจะมีประสิทธิภาพการกรองได้ ร้อยละ 95-98 เปอร์เซ็น

    "ถ้าสถานการณ์ฝุ่นละอองนาน 3-7 วัน ควรประกาศเป็น พื้นที่ควบคุมเหตุรำคาญ ตามกฎหมายของกระทรวงสาธารสุข หรือประกาศเขตควบคุมมลพิษ"


    การประกาศนี้ก็เพื่อให้รัฐดำเนินการควบคุมกิจกรรมที่ก่อให้ฝุ่นละออง เช่น การควบคุมพื้นที่ก่อสร้าง เจ้าหน้าที่ต้องเข้มงวดให้มีการคลุมผ้า การตรวจระบบบำบัดมลพิษตามโรงงาน การห้ามกิจกรรมการเผา ปิ้ง ย่าง ในที่โล่ง รวมทั้งการควบคุมการขนส่งจราจรห้ามรถบรรทุกสิบล้อเข้าเมืองในเวลากลางวัน และจำกัดให้ใช้เพียงถนนเลี่ยงเมือง

    แล้วระยะยาวควรทำอย่างไร ?
    อ. สนธิ เห็นว่า การลดปริมาณรถยนต์เป็นสิ่งที่ต้องทำในระยะยาว ทางหนึ่งคือการเร่งก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนรองรับหรือการกำหนดว่า หากผู้ใดจะซื้อรถยนต์ต้องมีที่จอดรถ

    นักวิชาการรายนี้ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในประเทศไทยทุกวันนี้ใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 3 ซึ่งมีค่ากำมะถันสูง ก่อให้เกิดการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์ ต่างจากรถยนต์ที่ใช้เบนซิน ที่ใช้น้ำมันยูโร 4 ในระยะยาวเขามองว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนมาใช้น้ำมันยูโร 4 หรือ 5 ทั้งหมด เพื่อลดการปล่อยมลพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์

    นอกจากนี้เขายังเสนอว่า ต้องปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษ ทุกวันนี้ปล่อยเท่าไหร่ก็ไม่ห้าม โดยเปลี่ยนจากการกำหนดค่าปริมาณไอเสีย เป็นปริมาณการระบายแทน เข้มงวดการตรวจสภาพรถยนต์ และส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า

    ฝุ่น PM2.5 คืออะไร

    ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือมีขนาดประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์

    ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋วนี้ เกิดขึ้นจากกิจกรรมหลายชนิด อาทิเช่น การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ซึ่งเป็น 2 สาเหตุหลักของมลพิษทางอากาศในเมืองใหญ่

    ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอดและกระแสเลือดได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และต้องป้องกันด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐานป้องกันฝุ่นขนาดเล็กโดยเฉพาะ

    ในระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ หรือเกณฑ์สีส้ม (101-200 มคก./ลบ.ม.) ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ควรหลีกเลี่ยงทางเดินหายใจ โรคปอด ที่อยู่ในพื้นที่ฝุ่นละออง PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ควรลดระยะเวลาในการทำกิจกรรมกลางแจ้ง สวมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ขณะอยู่กลางแจ้ง หากมีอาการผิดปกติควรรีบไปพบแพทย์

    https://www.bbc.com/thai/thailand-46643980
     

แชร์หน้านี้

Loading...