ปรึกษา เกี่ยวกับจิตวิทยาค่ะ แม่แยกไม่ออกระหว่างความคิดกับความจริง

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย ชมพูอุษมัน, 21 กรกฎาคม 2019.

  1. ชมพูอุษมัน

    ชมพูอุษมัน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2006
    โพสต์:
    1,285
    ค่าพลัง:
    +7,342
    ขอปรึกษาเรื่องคุณแม่ค่ะ ชมพูอุษมันมีคุณแม่อายุ 83 ปี ท่านเป็นคนจิตใจดี มีเมตตากับลูกหลานและทุกๆคน กตัญญูกับคุณยายเป็นอย่างยิ่ง ส่วนพ่อของชมพูอุษมันเสียชีวิตมาแล้วประมาณ 2 ปี หลังจากพ่อเสีย แม่เหมือนจะมีความสุขดี ไม่เคยแสดงว่าเสียใจ เหงา แม่จะอารมณ์ดี มีอารมณ์ขัน เวลาลืมไปว่าพ่อตาย มักจะบ่นว่า " เอะพ่อไปไหน อ้อ ตายแล้ว ลืมไป " แล้วก็หัวเราะ

    ช่วง 3-4 เดือนมานี่ แม่พูดเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องจริง ตัวอย่างเช่น แม่บอกหลายๆครั้งว่า มีคนจากที่ทำงานโทรมาให้แม่ไปเอาเอกสารเรื่องนั้นเรื่องนี้ (แม่ปลดเกษียณตั้งแต่อายุ 60 ก็อยู่บ้านตลอด ไม่เคยออกไปทำงานอะไรอีก และ ชมพูอุษมันก็ปิดเสียงโทรศัพท์บ้านมาหลายเดือนแล้ว ปิดตั้งแต่แม่เริ่มบ่นว่ามีคนที่ทำงานโทรมา)

    ยกตัวอย่างอีกเรื่อง แม่บอกว่า "เมื่อสองวันที่แล้ว แม่ไปที่ทำงานแต่ไม่ได้รับเอกสารกลับมา แล้วยังทำสร้อยหายที่ทำงานอีก" (ความจริงแม่อยู่บ้านตลอดค่ะ) แม่ไม่สบายใจมาก จะบ่นเรื่องนี้ทั้งวันทุกวัน เลยไปช่วยแม่ค้นสร้อยว่ายังอยู่ครบนะ แล้วชมพูอุษมันก็บอกแม่ว่า โทรศัพท์ไปถามที่ทำงานแล้ว เค้าบอกว่าปลดเกษียณมา 20 กว่าปีแล้ว เค้าไม่ได้เก็บอะไรไว้ แม่ก็จะพูดซำ้ประโยคเดิม ชมพูอุษมันก็จะตอบกลับประโยคเดิม ซ้ำๆกันแบบนี้ทั้งวัน

    ถามๆตอบๆกันบ่อยๆสักสองสามวัน แม่ก็จะค่อยๆเบาลง แล้วก็ไปมีเรื่องใหม่ที่ทำให้แม่ไม่สบายใจอีก ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องจริงเหมือนเดิมค่ะ และถ้ามีคนบอกแม่ว่า ความจริงเป็นอย่างไร แม่จะโกรธมากๆ โกรธแบบน่ากลัวด้วยค่ะ ซึ่งจะขัดกับบุคลิกของแม่ที่ปกติท่านจะเป็นคนใจดี

    ปกติก่อนแม่นอน ถ้าชมพูอุษมันทำงานเสร็จเร็วก็จะสวดมนต์ให้แม่ฟังจนแม่หลับ บางวันถ้ามาไม่ทัน แม่หลับแล้ว ก็จะสวดมนตร์ข้างๆหูแม่เผื่อแม่จะได้ยินบ้าง ถ้าแม่สวดมนตร์ทำสมาธิเองได้ น่าจะช่วยให้ดีขึ้นกว่านี้ เอาหนังสือธรรมะมาวางไว้ใกล้ๆ ก็เห็นแม่เปิดอ่านอยู่บ้าง แต่ทุกวันนี้แม่ก็ยังเชื่อในสิ่งที่ตัวเองคิดมากกว่าความจริงอยู่ดี และแม่ก็มั่นใจอย่างแน่วแน่ด้วยว่า มันคือความจริง แล้วมันก็ทำให้แม่ไม่สบายใจ ทุกข์ใจ ทั้งที่ความจริง คือ มันไม่มีเรื่องอะไรเลย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 21 กรกฎาคม 2019
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,288
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    คิดว่าคุณแม่เป็นโรคคนแก่นะคะเป็นกันมากในระยะสูงวัยซึ่งจะจําอดีตได้และลืมปัจจุบันเคยเห็นหลายรายและเมื่อไปหาหมอ หมอก็แนะนําให้ทานไวตามินB12 ก็ต้องเตือนท่านบ่อยๆค่ะ(ด้วยความอ่อนโยน) ขอให้โชคดีค่ะ
    โรคสมองเสื่อม คืออะไร

    สมองเสื่อมเป็นภาวะความเสื่อมของการทำงานของสมอง ซึ่งส่งผลให้ผู้ป่วยมีปัญหาเกี่ยวกับความทรงจำ การรับรู้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมและบุคลิกภาพได้ โดยโรคสมองเสื่อมภาษาอังกฤษจะเรียกว่า Dementia จัดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง หรือสมองมีการสูญเสียหน้าที่หลาย ๆ ด้านพร้อม ๆ กัน ซึ่งความเสื่อมของเนื้อสมองอาจค่อยเป็นค่อยไป คือค่อย ๆ หลงลืมทีละเล็กทีละน้อย แต่หากเนื้อสมองเสื่อมแล้วก็จะเสื่อมการทำงานโดยถาวรเลย

    อย่างไรก็ตาม ภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เกิดกับคนแก่ทุกคน หรือพูดได้ว่าโรคสมองเสื่อมไม่ได้พบได้ทั่วไปเมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น เพราะโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในบุคคลที่มีความชราภาพ ความสูงอายุอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพ หรือพลังงานสำรองของอวัยวะต่าง ๆ เริ่มร่อยหรอ โรคสมองเสื่อมก็จะแสดงตัวขึ้นมา

    H_shutter.jpg

    สมองเสื่อม เกิดจากอะไร

    ภาวะสมองเสื่อมเกิดได้จากหลายสาเหตุ และภาวะสมองเสื่อมก็มีอยู่หลายประเภทด้วยกัน โดยแบ่งสาเหตุของโรคสมองเสื่อมได้ดังต่อไปนี้

    1. สมองเสื่อมเกิดจากการเสื่อมสภาพของสมอง

    อธิบายง่าย ๆ ได้ว่า โรคสมองเสื่อมเกิดจากภาวะเนื้อสมองมีการเสื่อมสลาย หรือมีการตายเกิดขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เนื้อสมองเสื่อมหรือสูญเสียการทำงานอาจยังไม่ทราบแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร โดยโรคที่พบได้บ่อยจากสาเหตุนี้ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน ฯลฯ

    2. สมองเสื่อมเกิดจากหลอดเลือดสมองทำงานผิดปกติ


    ในกรณีที่หลอดเลือดส่วนที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมองมีการหนาตัว แข็งตัว หรือมีการตีบตัวผิดปกติ ก็อาจทำให้ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงสมองลดลง ซึ่งหากเลือดไปเลี้ยงสมองได้ไม่เพียงพอกับการใช้งานของสมอง ภาวะนี้ก็เป็นสาเหตุทำให้เนื้อสมองตาย และในเนื้อสมองส่วนที่ตายไปนั้นก็จะสูญเสียการทำงาน โดยในระยะแรก ๆ เนื้อสมองอาจตายในพื้นที่เล็ก ๆ ซึ่งอาจยังไม่พบอาการผิดปกติเกิดขึ้นทางร่างกาย ทว่าในกรณีที่สมองขาดเลือดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เนื้อสมองตายเป็นจำนวนมาก จะเริ่มสังเกตเห็นอาการหลง ๆ ลืม ๆ หรือมีอาการสมองเสื่อมได้

    อย่างไรก็ตามยังมีกรณีเส้นเลือดอุดตันในบริเวณเส้นเลือดใหญ่ในส่วนที่ลำเลียงเลือดไปเลี้ยงสมอง ซึ่งก็จะทำให้เนื้อสมองขาดเลือดได้เช่นกัน และในกรณีนี้ก็มักจะก่อให้เกิดภาวะเนื้อสมองตายขนาดใหญ่ ส่งผลให้เกิดโรคสมองเสื่อมได้ แม้จะมีการอุดตันของเส้นเลือดเพียงครั้งเดียวก็ตาม ซึ่งผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเกิดภาวะเส้นเลือดสมองตีบหรืออุดตันดังกล่าว มักจะอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง หรือผู้ที่สูบบุหรี่จัด เป็นต้น ทว่าก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ร่วมอีกด้วยนะคะ

    3. สมองเสื่อมเกิดจากการติดเชื้อในสมอง

    เชื้อไวรัสบางชนิดสามารถก่อให้เกิดอาการอักเสบในสมองได้ เช่น เชื้อไวรัสสมองอักเสบที่เกิดจากไวรัสที่ติดมาจากหมู โดยมียุงเป็นพาหะนำเชื้อไวรัสชนิดนี้ หรือที่เราเรียกว่า โรคไข้สมองอักเสบ โดยหากมีการติดเชื้อที่รุนแรงผู้ป่วยอาจถึงแก่ชีวิตได้ หรือหากไม่เสียชีวิตแต่เซลล์สมองถูกทำลายจากการอักเสบ ก็เสี่ยงมีอาการสมองเสื่อมเช่นกัน

    แต่นอกจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้สมองอักเสบแล้ว ปัจจุบันยังพบว่ามีไวรัสชนิดอื่น ๆ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัส HIV ซึ่งจะทำให้ภูมิต้านทานของร่างกายบกพร่อง ก่อให้เกิดการติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ได้ง่าย และตัวเชื้ออาจทำลายเนื้อสมองให้เสียหาย ส่งผลให้ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำ ผู้ป่วยอาจมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง บุคลิกภาพไม่เหมือนเดิม ทั้งนี้โรคสมองเสื่อมที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสมักพบบ่อยในกลุ่มคนอายุน้อยมากกว่าพบในผู้สูงอายุ

    old2.jpg

    4. สมองเสื่อมเกิดจากการขาดสารอาหารบางชนิด

    โดยเฉพาะวิตามินอย่างวิตามินบี 1 หรือวิตามินบี 12 โดยวิตามินเหล่านี้เป็นสารช่วยเสริมการทำงานของเซลล์สมอง ผู้ที่ขาดวิตามินบี 1 หรือได้รับวิตามินบี 1 ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย อาจส่งผลให้เซลล์สมองทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ จนอาจร้ายแรงถึงขั้นเซลล์สมองเสียหาย ซึ่งกรณีนี้มักพบในผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง ที่ดื่มเหล้ามากกว่าอาหารอื่น ๆ จึงทำให้ร่างกายขาดวิตามินที่สำคัญกับการทำงานของสมอง

    ส่วนในกรณีที่ร่างกายขาดวิตามินบี 12 เช่น ผู้ที่กินมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดเป็นเวลานานหลายปี ทำให้ร่างกายไม่ได้รับวิตามินบี 12 ที่มักจะพบในเนื้อสัตว์หรือในน้ำปลา หากไม่ได้รับประทานวิตามินเสริมอาหารร่วมด้วย ร่างกายอาจได้รับวิตามินบี 12 ไม่เพียงพอ ส่งผลให้การทำงานของระบบประสาทและสมองเสียหาย จนถึงเซลล์สมองตายได้

    นอกจากนี้ยังอาจพบความเสี่ยงโรคสมองเสื่อมในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดกระเพาะอาหารและลำไส้ส่วนต้นออกไป ซึ่งก็อาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารบางอย่าง โดยเฉพาะในส่วนการดูดซึมวิตามินบี 12 จากกระเพาะอาหารไปสู่ลำไส้ก็จะมีประสิทธิภาพลดลง เสี่ยงต่อความเสื่อมของเซลล์สมองได้เช่นกัน

    5. สมองเสื่อมที่เกิดจากการแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก

    ความแปรปรวนของระบบเมตาบอลิก เช่น การทำงานของต่อมไร้ท่อบางชนิดซึ่งผิดปกติไป เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไปหรือทำงานน้อยเกินไป รวมไปถึงการทำงานของตับหรือไตผิดปกติไป ซึ่งสาเหตุดังที่กล่าวมาจะก่อให้เกิดความแปรปรวนของระบบขับของเสีย และระบบเผาผลาญพลังงาน จนอาจทำให้ของเสียคั่งค้างอยู่ในร่างกาย ส่งผลให้สมองไม่สามารถสั่งการได้ตามปกติ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาให้ระบบเมตาบอลิกเป็นปกติ ในที่สุดก็อาจทำให้เซลล์สมองได้รับผลกระทบ เกิดภาวะสมองเสื่อมได้ด้วยนะคะ

    6. สมองเสื่อมเกิดจากการกระทบกระแทกที่ศีรษะอย่างรุนแรง


    การกระทบกระแทกที่เกิดขึ้นกับศีรษะทั้งแบบรุนแรง หรือได้รับการกระทบกระเทือนบ่อย ๆ เช่น นักมวย นักกีฬาที่ต้องใช้ศีรษะในการกระแทกสิ่งต่าง ๆ หรืออาจพบได้ในผู้ป่วยเมาสุรา ที่อาจเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางร่างกายได้ง่าย รวมไปถึงผู้สูงอายุที่อาจหกล้มศีรษะฟาดพื้นได้ โดยการกระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นกับสมอง แรงกระแทกนั้นอาจส่งผลให้เนื้อสมองตายไปบางส่วน หรือหากเนื้อสมองตายไปเป็นจำนวนมาก สมองอาจสูญเสียการทำงาน เสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมได้เช่นกัน

    7. สมองเสื่อมจากเนื้องอกในสมอง

    โดยเฉพาะเนื้องอกที่เกิดในบริเวณสมองส่วนหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้ระบบประสาทบางส่วนหยุดทำงานไป ผู้ป่วยอาจมีบุคลิกภาพที่เปลี่ยนไป ความจำและการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในลักษณะของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมนั่นเองค่ะ

    สาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยก็อย่างที่เรากล่าวไว้ข้างต้น แต่อย่างไรก็ตาม โรคสมองเสื่อมในผู้สูงวัยที่พบได้บ่อยมักจะเกิดจากโรคอัลไซเมอร์ หรือปัญหาหลอดเลือดสมองผิดปกติ หรือบางเคสก็พบว่ามีสาเหตุจากทั้งสองอย่างร่วมกันเลยก็เป็นได้ คราวนี้เรามาเช็กอาการโรคสมองเสื่อมในผู้สูงอายุกันบ้างค่ะ พฤติกรรมไหนเข้าข่ายโรคสมองเสื่อมบ้าง ลองสังเกตได้จากข้อมูลด้านล่างเลย

    old3.jpg

    โรคสมองเสื่อม อาการเป็นอย่างไร สังเกตจากสัญญาณอะไรได้บ้าง

    อาการหลง ๆ ลืม ๆ เช่น รู้ว่าหยิบของออกมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าไปวางลืมไว้ที่ไหน แต่แน่ใจว่าหยิบของติดมือมาแน่ ๆ เพียงแต่นึกไม่ออกว่าเอาไปวางที่ไหนเท่านั้นเอง อาการหลงลืมดังที่กล่าวมาข้างต้น เป็นกันได้ทุกคนจนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นความธรรมดาได้เลย แต่ในกรณีของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เขาจะจำเหตุการณ์เมื่อ 5 นาทีที่ผ่านมาไม่ได้เลย เช่น จำไม่ได้ว่าเมื่อสักครู่ได้เดินไปหยิบของออกมา จำไม่ได้เลยว่าเกิดเหตุการณ์อะไรบ้างเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เป็นต้น

    ทั้งนี้อาการสมองเสื่อมอาจค่อยเป็นค่อยไป โดยคนรอบข้างอาจสังเกตสัญญาณโรคสมองเสื่อมได้ จากพฤติกรรมดังต่อไปนี้

    1. เริ่มจำสิ่งที่ตัวเองเพิ่งพูดไปไม่ได้ มักพูดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม หรือโทร. หาลูก-หลานวันละหลายครั้ง เพื่อบอกเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เป็นต้น

    2. มีอาการจำเหตุการณ์หรือใบหน้าคนที่เพิ่งเจอในระยะสั้น ๆ ไม่ได้ เช่น ในกรณีมีคนเอาของมาให้ ก็จำไม่ได้ว่าใครเป็นคนเอามาให้ หรือจำไม่ได้ว่ากินข้าวหรือยังทั้งที่เพิ่งกินไป

    3. บุคลิกภาพเปลี่ยนไป เช่น ทำอะไรช้าลง นั่งเหม่อบ่อยขึ้น ชอบพูดถึงอดีตเก่า ๆ คิดเรื่องยาก ๆ หรือคิดแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้

    4. อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้น เนื่องจากภาวะการทำงานในส่วนของการควบคุมอารมณ์เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพ จึงอาจมีการกระทบกระทั่ง โกรธ ฉุนเฉียว ใส่คนในบ้านอย่างไม่ค่อยมีเหตุผล หรืออาจมีอารมณ์เปลี่ยนไป เช่น กินข้าวไปหัวเราะไป

    5. เกิดภาวะหลงผิด เช่น คิดว่ามีโจรมาขโมยเงินในบ้าน เนื่องจากผู้ป่วยวางเงินไว้แล้วลืม เก็บเงินไว้ตรงไหนก็ลืมว่าได้เก็บเงินไว้ ทำให้คิดไปว่าเงินตัวเองหาย และเชื่อว่ามีโจรขโมยอยู่ในบ้าน เป็นต้น หรือบางเคสอาจฝังใจกับอดีตเก่า ๆ แล้วเอามาคิดใหม่ เข้าใจใหม่ เช่น สมัยก่อนสามีเจ้าชู้ ก็จะระแวงว่าสามีจะไปมีชู้ เป็นต้น

    6. มีอาการเห็นภาพหลอน เห็นคนที่บุกรุกเข้ามาในบ้าน เห็นญาติที่เสียชีวิตไปมาหา ซึ่งอาจทำให้ลูก-หลาน คนในบ้านคล้อยตามได้ เข้าใจผิดคิดว่าเขาเห็นสิ่งลึกลับจริง ๆ ทั้งที่ความจริงแล้วผู้ป่วยเริ่มแสดงอาการความจำเสื่อม

    7. อาการหลงลืมเริ่มเห็นชัดขึ้น เช่น ลืมว่าตัวเองกินข้าวไปแล้ว ลืมว่าต้องอาบน้ำ และโดยส่วนมากจะสังเกตได้ชัดว่าผู้ป่วยเริ่มมีภาวะบกพร่องในการดูแลสุขอนามัยของตัวเอง เช่น ลืมตัดเล็บ ไม่ไปตัดผม ลืมกดชักโครก กินอาหารแล้ววางจานทิ้งไว้ ลืมว่าต้องล้างจาน เป็นต้น

    old4.jpg

    8. มีพฤติกรรมจำทางกลับบ้านไม่ได้ บางคนอาจเดินหายออกจากบ้านไป เดินไปตามทางเรื่อย ๆ อย่างไม่มีจุดหมาย ไม่รู้ว่าจะไปไหน แล้วจะกลับบ้านอย่างไร

    9. ไม่สามารถทำสิ่งที่เคยทำได้ อย่างเช่น ลืมไปว่าจะปรุงอาหารชนิดนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เคยทำ หรือในรายที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ อาจไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ แม้แต่การอาบน้ำ เข้าห้องน้ำ

    10. วางของผิดที่ผิดทาง เช่น เอาเตารีดไปวางในตู้เย็น เอานาฬิกาข้อมือใส่เหยือกน้ำ

    11. มีปัญหาในการใช้ภาษา เช่น พูดไม่รู้เรื่อง เรียกชื่อคนหรือสิ่งของเพี้ยนไป นึกคำพูดไม่ค่อยออก หรือใช้คำผิด ๆ ทำให้คนอื่นฟังไม่เข้าใจ

    อย่างไรก็ตาม อาการและพฤติกรรมข้างต้นเป็นเพียงจุดสังเกตสัญญาณโรคสมองเสื่อมที่คนรอบข้าง โดยเฉพาะคนในครอบครัวสามารถสังเกตเห็นได้ง่าย ๆ

    นอกจากนี้ หากจะแบ่งความรุนแรงของโรคสมองเสื่อม ก็สามารถแบ่งตามอาการได้ 3 ระดับคือ

    1. ระดับไม่รุนแรง คือมีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย ผู้ป่วยจะหลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น เช่น ลืมว่าวางของไว้ตรงไหน อาจจำชื่อคนหรือสถานที่ที่คุ้นเคยไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องในอดีตยังสามารถจำได้ดี

    ทั้งนี้ การสูญเสียความจำของผู้ป่วยสมองเสื่อมจะเริ่มจากสูญเสียความจำใหม่ ๆ ก่อน มักจะจำเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ค่อยได้ ถ้าอาการเป็นมากแล้วจึงจะสูญเสียความจำในอดีต เราจึงมักเห็นผู้สูงอายุชอบพูดแต่เรื่องเก่า ๆ พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ เพราะยังจำเรื่องอดีตได้ดี แต่ถ้าถามเรื่องที่เพิ่งเกิด อาจจะจำไม่ค่อยได้

    2. ระดับปานกลาง จะมีภาวะความจำเสื่อมมากขึ้น ความสามารถในการเรียนรู้ ความเข้าใจ การแก้ปัญหาและตัดสินใจทำได้ไม่ดี หรือบกพร่อง หลายสิ่งที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ เช่น ลืมวิธีทำอาหาร เปิดโทรทัศน์ไม่เป็น คำนวณเลขง่าย ๆ ไม่ได้ บางคนอาจลืมแม้กระทั่งชื่อคนในครอบครัว หากเป็นในระยะท้าย ๆ จะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ต้องมีคนคอยดูแล ไม่ควรปล่อยให้อยู่คนเดียว

    3. ระดับรุนแรง ผู้ป่วยจะไม่สามารถจำสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ จำญาติพี่น้องหรือแม้แต่ตนเองไม่ได้ บุคลิกภาพเปลี่ยนไป ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ แม้แต่สุขอนามัยของตัวเอง เช่น กลั้นปัสสาวะ-อุจจาระไม่อยู่ หากผู้ป่วยอยู่ในระดับนี้ต้องมีผู้คอยดูแลอย่างใกล้ชิด

    ฉะนั้นหากญาติผู้ใหญ่ของเราเริ่มมีอาการหลงลืม พูดเรื่องเดิมซ้ำ ๆ มีพฤติกรรมแปลกไป ลองพาท่านไปพบแพทย์เพื่อบรรเทาอาการสมองเสื่อมจะดีกว่านะคะ

    old6.jpg

    โรคสมองเสื่อม รักษาได้ไหม

    การรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมอาจทำได้เพียงแค่บรรเทาอาการ ชะลอความเสื่อมของเซลล์สมองด้วยการให้ผู้ป่วยมีกิจกรรมที่ต้องใช้ความคิด เพื่อกระตุ้นการทำงานของสมอง ยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ค่อยได้ออกจากบ้านไปไหน ไม่ค่อยมีสังคม ควรให้เขาได้เจอเพื่อน ได้มีสังคม ได้พูดคุยกับคนอื่น ๆ มากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยกระตุ้นสมองในส่วนที่ยังเหลือ ชะลอไม่ให้เซลล์สมองที่เคยอยู่นิ่ง ๆ ได้ทำงานกันบ้าง

    อย่างไรก็ดี การรักษาผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยอย่างละเอียดโดยแพทย์ เพื่อให้แพทย์ได้ทราบสาเหตุของการเกิดโรคสมองเสื่อม รวมไปถึงการจำแนกโรคแทรกซ้อนในตัวผู้ป่วยด้วย ว่ามีอาการทางจิตเวชอย่างโรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ร่วมด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อการรักษาที่ให้ประสิทธิภาพมากที่สุดกับตัวผู้ป่วยเอง

    โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์ต่างกันอย่างไร

    โรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุหนึ่งของภาวะสมองเสื่อมค่ะ โดยโรคอัลไซเมอร์ก็ยังไม่มีการยืนยันอย่างชัดเจนว่าเกิดจากอะไร แต่ทางการแพทย์สันนิษฐานกันว่า โรคอัลไซเมอร์ที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีภาวะความจำเสื่อม อาจเกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของสมอง หรือเกิดจากสภาวะเสื่อมสภาพของสมองจนส่งผลให้ความจำ พฤติกรรม และการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้รับผลกระทบ

    ดังนั้นถ้าถามว่าโรคสมองเสื่อมกับอัลไซเมอร์ต่างหรือเหมือนกันอย่างไร จึงตอบได้แต่เพียงว่าอัลไซเมอร์ก็เป็นสาเหตุของโรคความจำเสื่อมชนิดหนึ่งซึ่งพบบ่อยในผู้สูงอายุเท่านั้นเอง โดยลักษณะอาการของผู้ป่วยก็จะมีความจำลดลง และหากไม่ได้รับการรักษา ความจำและการทำงานของระบบประสาทและสมองก็จะแย่ลงเรื่อย ๆ

    old5.jpg

    โรคสมองเสื่อม ป้องกันได้ไหม

    แม้ว่าในปัจจุบันจะยังไม่มีข้อมูลเพียงพอสำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม แต่อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติตัวบางอย่างอาจช่วยให้สมองมีความจำที่ดีได้ เช่นข้อวิธีป้องกันโรคความจำเสื่อมดังต่อไปนี้

    1. หลีกเลี่ยงยาหรือสารที่จะทำให้เกิดอันตรายแก่สมอง เช่น การดื่มเหล้าจัด การรับประทานยาโดยไม่จำเป็น สูบบุหรี่ หรืออยู่ในที่ที่มีควันบุหรี่

    2. การฝึกฝนสมอง ได้แก่ การพยายามฝึกให้สมองได้คิดบ่อย ๆ เช่น อ่านหนังสือ เขียนหนังสือบ่อย ๆ คิดเลข เล่นเกมตอบปัญหา ฝึกหัดการใช้อุปกรณ์ใหม่ ๆ เป็นต้น

    3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง โดยอาจเลือกกิจกรรมเดินเล่น แอโรบิก หรือรำมวยจีน เป็นต้น

    4. พยายามพูดคุย พบปะผู้อื่นบ่อย ๆ เช่น ไปวัด ไปงานเลี้ยงต่าง ๆ หรือเข้าชมรมผู้สูงอายุ (ถ้ามี)

    5. ตรวจสุขภาพประจำปี หรือถ้ามีโรคประจำตัวก็ต้องติดตามการรักษาเป็นระยะ เช่น การตรวจหาความเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และหมั่นดูแลตัวเองอย่าให้ขาด

    6. ระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุต่อสมอง ระวังการหกล้ม เป็นต้น

    7. พยายามมีสติในสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังทำและฝึกสมาธิอยู่ตลอดเวลา

    8. พยายามไม่คิดมาก ไม่เครียด หากิจกรรมต่าง ๆ ทำเพื่อคลายเครียด หรือออกไปท่องเที่ยว เนื่องจากความเครียดและอาการซึมเศร้าอาจทำให้จำอะไรได้ไม่ดี

    ทั้งนี้ระยะเวลาการดำเนินโรคสมองเสื่อมของแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกันไป ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับการรักษาด้วยว่ารู้ตัวเร็วไหม ตอนไปถึงขั้นตอนการรักษาอาการความจำเสื่อมมีความรุนแรงมากหรือน้อยเพียงใด ซึ่งทางแพทย์ก็จะเป็นคนวินิจฉัยและประเมินอาการผู้ป่วยในแต่ละเคสอีกทีนะคะ

    แต่ที่สำคัญ การมีผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอยู่ในบ้าน คนที่ต้องดูแลผู้ป่วยควรทำความเข้าใจพฤติกรรมและอาการป่วยของท่าน และควรดูแลรักษาสภาพจิตใจของตัวเองไปพร้อม ๆ กันด้วย เพราะการดูแลผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมอาจทำให้คนที่ต้องดูแลตกอยู่ในสภาวะเครียดได้เช่นกัน ดังนั้นพยายามดูแลซึ่งกันและกันให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีกว่า

    ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    doctor_logo-1.jpg
    สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย
    ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลรามาธิบดี
    คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล
    มูลนิธิอัลไซเมอร์
     
  3. ชมพูอุษมัน

    ชมพูอุษมัน เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    8 กันยายน 2006
    โพสต์:
    1,285
    ค่าพลัง:
    +7,342
    พฤติกรรมโรคสมองเสื่อมตรงกับแม่หลายข้อ คงต้องหาวิธีหลอกแม่ไปหาหมอซะที ปกติแม่ไม่ชอบออกนอกบ้าน ขอบคุณมากค่ะ
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    41,288
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,018
    ใจเย็นๆนะคะ ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่คุณจะทําอะไรๆให้คุณแม่ได้เยอะเลยค่ะ สาธุค่ะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...