บทความให้กำลังใจ(มีแต่ไม่เอา)

ในห้อง 'จักรวาลคู่ขนาน' ตั้งกระทู้โดย supatorn, 8 พฤษภาคม 2017.

  1. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    เธอดีใจมาก เข้าไปในเมืองทันทีเพื่อขอเมล็ดผักกาด บ้านไหน ๆ ก็มีเมล็ดผักกาด แต่เมื่อถามว่ามีคนตายในบ้านไหม ก็ปรากฏว่ามีคนตายทุกบ้าน คนสมัยก่อนเขาตายที่บ้าน ไม่ได้ตายที่โรงพยาบาล หลังจากที่ถามบ้านแล้วบ้านเล่า สุดท้ายเธอก็เห็นความจริงว่าความพลัดพรากสูญเสียเป็นธรรมดาที่เกิดขึ้นกับทุกครอบครัว ทุกคนล้วนสูญเสียคนรักทั้งนั้น เธอก็เลยทำใจยอมรับได้ว่าลูกตายแล้ว จึงเอาลูกไปเผาที่ป่าช้า แล้วกลับมาเฝ้าพระพุทธเจ้า คราวนี้พระองค์แสดงธรรมสั้นๆ ว่า “มฤตยูย่อมพาเอาคนผู้มัวเมาในลูกและสัตว์เลี้ยง ผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่าง ๆ เหมือนห้วงน้ำใหญ่ย่อมพัดพาเอาชาวบ้านที่หลับใหลไป ฉะนั้น” นางกีสาโคตมีได้พิจารณาตาม ปัญญาเกิดก็บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน

    การเห็นความจริงเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักปฏิบัติธรรม ถ้าหากทำแต่ความดีแต่ไม่เปิดใจเห็นความจริงก็ยังต้องถูกความพลัดพราก ความเจ็บป่วย รวมทั้งความตายคุกคาม เล่นงานบีบคั้น ไม่ใช่แค่กายเท่านั้น แต่ยังบีบคั้นจิตใจด้วย เมื่อยอมรับความจริง เห็นความจริงแล้ว แม้เจอความพลัดพรากสูญเสีย ใจก็สงบได้

    มีผู้หญิงอีกคนหนึ่งชื่อนางมัลลิกา เป็นภรรยาของพันธุลเสนาบดี พันธุละเป็นโอรสของเจ้ามัลละแห่งแคว้นมัลละ แต่มีความน้อยเนื้อต่ำใจในหมู่พระญาติ จึงอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศลซึ่งเป็นเพื่อนที่เคยไปเรียนที่สำนักตักศิลาด้วยกัน มีความสามารถทางการทหารมาก เมื่อมาอยู่กับพระเจ้าปเสนทิโกศลก็ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจให้เป็นเสนาบดีคู่ใจ แต่ตอนหลังพระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดความระแวงเพราะหูเบาเชื่อคำยุยงของคนใกล้ชิด ว่าพันธุละจะยึดอำนาจ ก็เลยหลอกไปฆ่า โดยสั่งให้ไปปราบโจรที่ชายแดนแล้วหาคนซุ่มโจมตี ซึ่งก็สำเร็จ พันธุละกับลูกชาย ๓๒ คนถูกฆ่าตายไม่เหลือสักคน

    ข่าวนี้มาถึงนางมัลลิกาในเช้าวันที่กำลังเลี้ยงพระ มีพระสารีบุตร พระโมคคัลลานะเป็นประธาน เมื่อนางเปิดอ่านจดหมายและรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น นางก็ไม่ได้มีสีหน้าผิดปกติ ยังคงทำงานต่อคือถวายอาหารเลี้ยงพระ ในช่วงนั้นเองคนใช้ของนางเกิดทำถาดใส่เนยใสตกแตกต่อหน้า พระสารีบุตรจึงพูดปลอบใจนางว่า ของที่แตกได้ก็แตกไปแล้วอย่าเสียใจไปเลย นางมัลลิกาจึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า เมื่อกี้มีคนส่งข่าวมาให้ดิฉันว่า สามีและลูกชายทั้ง ๓๒ คนถูกฆ่าตาย ดิฉันยังไม่เสียใจเลย เมื่อถาดเนยใสตกแตก ดิฉันจะเสียใจทำไมเจ้าคะ

    นางมัลลิกาเป็นผู้ที่มีธรรมะ นางเห็นว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกชีวิต ความพลัดพรากจากคนรักเป็นสิ่งที่ไม่มีใครหนีพ้น เมื่อเหตุร้ายนั้นเกิดขึ้นกับตนก็ยอมรับได้ นางมัลลิกาไม่ใช่นักบวช แต่มีความเข้าใจในธรรมะอย่างมาก เมื่อเห็นความจริงในเรื่องอนิจจังของชีวิต ก็สามารถรักษาใจเป็นปกติได้ยามเกิดความพลัดพรากสูญเสีย

    ดังนั้นการฝึกใจให้เห็นความจริงเป็นการปฏิบัติธรรมที่สำคัญ ช่วยให้เราสามารถอยู่ในโลกที่ผันผวนแปรปรวนได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ เมื่อเราได้เห็นความจริงในเรื่องไตรลักษณ์แล้ว ก็ทำให้เรามีท่าทีและวางใจเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ ได้อย่างถูกต้อง เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นกับเรา ใจก็เป็นปกติได้ ไม่ต้องรู้ความจริงถึงขั้นเป็นพระอริยเจ้าก็ได้ แม้เป็นปุถุชน แต่ถ้าเปิดใจยอมรับความจริงเหล่านี้อยู่เสมอ ก็สามารถที่จะอยู่กับความทุกข์ ความพลัดพรากสูญเสียได้โดยใจไม่ทุกข์
    :- https://visalo.org/article/5000s07_2.html

     
  2. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    สุขที่ใจใฝ่หา
    พระไพศาล วิสาโล
    มนุษย์ทุกคนล้วนปรารถนาความสุข แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้จักความสุขที่ควรแสวงหา ความสุขที่ผู้คนส่วนใหญ่แสวงหานั้น จะว่าไปแล้วก็เป็นความสุขแค่แบบเดียวเท่านั้น ทั้งที่ความสุขนั้นมีอยู่ ๒ ประเภท

    ความสุขประเภทแรก เป็นความสุขที่เกิดจากการเสพ เรียกว่ากามสุข เกิดจากการเสพผัสสะที่เร้าใจ มีสิ่งมากระตุ้นอายตนะ ทำให้เกิดความตื่นเต้น ความสนุกสนาน เช่น ได้ดูหนังที่สนุกตื่นเต้น ได้ฟังเพลงที่เร้าใจไพเราะ ได้กินอาหารที่อร่อย ได้เห็นสิ่งที่ตื่นตาตื่นใจ ได้เจออะไรที่แปลกใหม่ ถือเป็นการเร้าจิตกระตุ้นใจแบบหนึ่ง ความสุขที่ผู้คนรู้จักส่วนใหญ่เป็นความสุขชนิดนี้

    ลองทบทวนดูก็จะพบว่าความสุขที่เราแสวงหาส่วนใหญ่หนีไม่พ้นความสนุก ความตื่นเต้น สิ่งที่กระตุ้นตา หู จมูก ลิ้น กาย รวมถึงใจด้วย หลายคนเห็นเงินก็มีความสุขแล้ว ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินนั้นเลย ที่สุขก็เพราะรู้สึกตื่นเต้นที่ได้เงินก้อนใหญ่ บางคนอาจจะมีความสุขจากสิ่งเร้าใจประเภทเสี่ยงอันตราย เช่น ปีนเขา แข่งรถซิ่ง หรือจากการดูกีฬา เช่น ฟุตบอล เทนนิส วอลเล่ย์บอล ฯลฯ ที่มีความสุขก็เพราะได้ลุ้น มันกระตุ้นใจให้ตื่นเต้น แต่ถ้าเรารู้ผลการแข่งขันแล้ว ไปเปิดเทปดูย้อนหลังความสุขก็จะน้อยลง รสชาติจะจืดจางไปมากทีเดียว อันนี้รวมถึงความสุขทางเพศด้วย แค่ได้เห็นด้วยตา ได้สัมผัสด้วยกายก็เร้าให้เกิดความตื่นตัว เกิดความตื่นเต้น ยิ่งตื่นเต้นยิ่งกระตุ้นเร้ามากเท่าไร ผู้คนก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น

    แต่ความสุขแบบนี้มีข้อเสียคือ พอได้เสพบ่อย ๆ เสพมาก ๆ ก็เริ่มชินชา เมื่อได้กินอาหารจานอร่อยวันแล้ววันเล่า ลิ้นก็เริ่มชินชา ไม่รู้สึกว่าอร่อยเหมือนเดิม เพลงที่สนุก ฟังทีแรกก็เร้าใจ แต่พอฟังไปนาน ๆ มันก็จืดจางลง ความสุขทางเพศก็เหมือนกัน ใหม่ ๆ ก็ตื่นเต้น แต่พอทำไปบ่อย ๆ ก็ชินชา ไม่ตื่นเต้นแล้ว ต้องไปหาของใหม่มาเสพ หรือไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ มีการเปลี่ยนสถานที่ เปลี่ยนท่วงท่า เปลี่ยนบรรยากาศ เพื่อให้มันกลายเป็นของใหม่ขึ้นมา เพื่อจะได้เร้าใจ หรือกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวเหมือนเดิมหรือยิ่งกว่าเดิม ผู้คนส่วนใหญ่จะรู้จักแต่ความสุขประเภทนี้ คือต้องสนุกสนานตื่นเต้นเร้าใจ

    ความสุขประเภทที่สอง เป็นความสุขที่เกิดจากความสงบ เรียกว่าความสงบสุข สามารถเกิดขึ้นได้แม้จะมีสิ่งเร้าน้อย มีสิ่งเสพไม่มาก คนที่เสพความสุขประเภทแรกจนเต็มที่แล้ว ในที่สุดก็จะรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง จึงเริ่มแสวงหาความสุขที่เกิดจากความสงบแทน มีคนรวยจำนวนมากที่เดินทางไปประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น หรือมาประเทศไทย เพราะว่าต้องการแสวงหาสถานที่ที่สงบ ยอมเหนื่อยยาก เสียเงินทอง เสียเวลา ละทิ้งความสนุก ละทิ้งความสบาย แต่เขาถือว่าคุ้ม เพราะความสงบเป็นสิ่งที่หาได้ยากในบ้านเมืองของเขา ข้อสำคัญก็คือ ในส่วนลึกของจิตใจ ความสงบสุขคือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนา

    ปัจจุบันนี้ประเทศในยุโรปหรืออเมริกา มีวัดหรือโบสถ์หลายแห่งกลายเป็นสถานที่ดึงดูดผู้คน ไม่ใช่เพราะเขาสนใจศาสนา แต่เพราะเป็นสถานที่ที่สงบ วัดบางวัดซึ่งเป็นที่อยู่ของนักบวชที่เคร่งครัด เปิดให้คนมาพัก โดยไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีสัญญาณไวไฟ แม้ราคาห้องพักจะแพงมาก แต่คนก็นิยมไป เพราะว่าเขาต้องการความสงบ จะเสียเงินเท่าไร จะลำบากอย่างไรก็ไป เพราะเป็นสิ่งที่เขาขาด

    ฝรั่งหลายคนมาบวช โกนหัว ห่มเหลือง เพื่อลิ้มรสความสงบ เพราะรู้ว่าความสุขจากการเสพที่เรียกว่ากามสุขนั้นไม่ใช่คำตอบของชีวิต คนที่แสวงหาความสุขประเภทนี้ และพร้อมที่จะละทิ้งความสุขจากการเสพ มีมาทุกยุคทุกสมัย ไม่ใช่เพิ่งจะมีในสมัยนี้เท่านั้น เช่นเจ้าชายสิทธัตถะ หรือพระพุทธเจ้า ก็เป็นผู้หนึ่งที่รู้สึกว่าความสุขที่มีในปราสาท ๓ หลังนั้น ไม่ใช่ความสุขที่แท้จริง หรือมานพหนุ่มที่ชื่อว่ายสกุลบุตร ก็เป็นอีกผู้หนึ่งที่เบื่อหน่ายในกามสุข

    ยสกุลบุตรเป็นบุตรของเศรษฐีเมืองพาราณสี มีชีวิตอยู่กับการเสพสุขสนุกสนาน รอบตัวเต็มไปด้วยสิ่งเร้าจิตกระตุ้นใจ มีดนตรีขับกล่อม มีผู้หญิงมาร่ายรำทั้งวันทั้งคืน แต่กลับรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ความสุขที่ตัวเองต้องการ วันหนึ่งตื่นขึ้นมากลางดึก เห็นนางรำทั้งหลายนอนก่ายกองกันด้วยความเพลีย บ้างก็เสื้อผ้าหลุดลุ่ย บ้างก็น้ำลายไหล ยสกุลบุตรเห็นแล้วนึกถึงซากศพ เกิดความสังเวชขึ้นมา จึงเดินออกจากคฤหาสน์ เดินออกไปอย่างไร้จุดหมาย เดินไปเรื่อย ๆ โดยไม่รู้ทิศทาง รู้แต่ว่าสิ่งที่มีอยู่นั้นไม่ใช่คำตอบ แล้วก็พูดรำพึงตลอดทางว่า "ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ" จนกระทั่งเดินไปถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พระพุทธเจ้าได้ยินเสียงยสกุลบุตร จึงตรัสขึ้นมาว่า "ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง"
     
  3. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    ยสกุลบุตรได้ยินก็สะดุดใจ เดินเข้าไปหาพระพุทธเจ้าเพื่อสนทนาธรรมด้วย พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมที่ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการทำความดีก่อน เช่น การให้ทาน การรักษาศีล ซึ่งมีสวรรค์เป็นอานิสงส์ จากนั้นก็ทรงชี้ให้เห็นโทษของสุขในสวรรค์ ซึ่งเป็นกามสุขอย่างหนึ่ง แล้วทรงชี้ให้เห็นสิ่งที่ดีกว่านั้น คือ การเป็นอิสระจากกามสุข หรือเนกขัมมะ เพียงเท่านั้นยสกุลบุตรก็ตาสว่าง เกิดปัญญาขึ้นมา จนกระทั่งบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน เพราะจิตใจของยสกุลบุตรนั้นเหนื่อยหน่ายในกามสุข และปรารถนาความสุขที่เกิดจากความสงบอยู่ก่อนแล้ว

    พระภัททิยะเดิมเป็นเจ้าชายในตระกูลศากยวงศ์ ได้ออกบวชพร้อมกับพระอานนท์ และพระเทวทัตซึ่งเป็นพระญาติด้วยกัน ไม่ได้ตั้งใจอยากจะมาบวชเลย แต่เพื่อนคือเจ้าชายอนุรุทธะขอร้องให้มาบวชด้วยกัน พอมาบวชแล้วก็ตั้งใจปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุธรรม วันหนึ่งก็รำพึงขึ้นมาว่า "สุขหนอ สุขหนอ" เพื่อนพระได้ยินก็คิดว่าพระภัททิยะรำพึงถึงความสุขในสมัยอยู่วัง จึงไปทูลพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเรียกมาถาม และได้คำตอบจากพระภัททิยะว่า ท่านไม่ได้นึกถึงความสุขในอดีต แต่ท่านกำลังมีความสุขในเพศสมณะ ท่านบอกว่าสมัยที่อยู่วังแม้มีทรัพย์สินเงินทองมากมาย มีองครักษ์รายล้อม ก็ยังมีความหวาดกลัว ไม่มีความสุข แต่พอมาครองผ้ากาสาวพัสตร์ อยู่อย่างเรียบง่าย ฉันมื้อเดียว นอนใต้โคนไม้ ไม่มีองครักษ์คอยปกป้อง อยู่ในป่าที่เงียบสงัด กลับมีความสุขมากกว่า

    ความสงบที่เกิดจากสิ่งเร้า เกิดจากความตื่นเต้นหวือหวานั้นเสพง่าย แต่ก็เบื่อง่ายด้วยเช่นกัน มันทำให้ต้องดิ้นรนไม่รู้จักจบสิ้น เพราะว่าเมื่อเสพไปแล้วไม่นานก็เบื่อ อยากได้ของใหม่ ทำให้ดิ้นรนแสวงหาสิ่งเสพใหม่ ๆตลอดเวลา แต่ได้เสพเท่าไร มีเท่าไรก็ยังไม่พอ ยิ่งดิ้นรนก็ยิ่งทำให้เกิดความเหนื่อยอ่อน พอเหนื่อยถึงจุดหนึ่ง ก็อยากจะแสวงหาความสงบ เริ่มจากการไปหาสถานที่ที่สงบสงัด อย่างที่วัดป่าสุคะโตนี้ หลายคนมาก็เพราะรู้สึกพึงพอใจหรือติดใจในความสงบ บางคนเพียงแค่มาไม่กี่นาทีก็รู้สึกถึงความสงบ เพราะว่าแตกต่างไปจากที่บ้าน หรือในเมืองที่แสนวุ่นวาย อึกทึก

    ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนไม่น้อยพากันแสวงหาที่ที่สงบ สงัด เพื่อจะได้สัมผัสกับความสุขสงบ อย่างไรก็ตาม ความสุขสงบที่เกิดจากสิ่งแวดล้อมอันสงัด ยังไม่ใช่ความสุขที่เราจะฝากจิตฝากใจเอาไว้ได้ เพราะว่าความสุขแบบนี้ไม่เที่ยง แปรเปลี่ยนง่าย อย่างที่วัดป่าสุคะโตนี้ บางช่วงก็อึกทึกคึกโครม อย่างวันพรุ่งนี้จะมีการบวชเณร มีผู้คนมามากมาย เด็ก ๆ ก็จะส่งเสียงเจี๊ยวจ๊าว คนที่หวังความสงัดก็อาจจะไม่พอใจ บางช่วงหมู่บ้านหน้าวัดก็มีงานศพ มีการฉายหนัง หรือเปิดเพลงเสียงดังทั้งคืน ชาวบ้านเขาชอบ แต่พวกเราอาจจะไม่ชอบเพราะว่ามันทำลายความสงบ

    หลายคนพออยู่ไป ๆ ก็รู้สึกว่าไม่สงบแล้ว จึงคิดหาสถานที่ใหม่ที่สงบกว่า แต่ถึงจะหาเจอ ในที่สุดก็จะพบว่ามันก็ไม่สงบอย่างที่คิด เพราะเจอเสียงดังรบกวนอีก สุดท้ายต้องหนีไปหาที่ใหม่อีก นอกจากเสียงดังแล้ว บางครั้งก็ยังมีสิ่งอื่น ๆ รบกวนจิตใจ เช่น คนที่พูดหรือทำอะไรไม่ถูกใจ ดังนั้นใครก็ตามที่แสวงหาความสงบจากสถานที่ จะสมหวังได้ยาก ไม่ว่าอยู่ที่ไหนก็หนีเสียงดังไม่พ้น แถมยังต้องเจอสิ่งที่กระทบใจ ขัดใจให้ขุ่นมัวอยู่เสมอ

    ในสมัยพุทธกาล มีพราหมณีคนหนึ่งร่ำรวยมาก ชื่อว่าเวเทหิกา นางมีความสุขมาก จิตใจนิ่งสงบ เธอคิดว่าเป็นเพราะตัวเองปฏิบัติธรรมดี พูดอวดคนนั้นคนนี้ทำนองว่าฉันเก่ง นางทาสีคนหนึ่งได้ยิน วันหนึ่งจึงอยากทดสอบนาง แกล้งนอนตื่นสาย ไม่ลุกมาตักน้ำให้นางเวเทหิกาล้างหน้า พอนางเวเทหิการู้เข้าก็ไม่พอใจ ด่าว่านางทาสีคนนั้นด้วยความโกรธ นางทาสีจึงได้โอกาสบอกให้นางเวเทหิการู้ว่า ที่เธอเป็นสุขและใจสงบได้นั้น ไม่ใช่เพราะปฏิบัติธรรมดี แต่เป็นเพราะทุกอย่างรอบตัวเธอราบรื่นหรือถูกใจเธอต่างหาก แต่พอมีอะไรไม่ถูกใจ ไม่สมหวัง ก็ขุ่นมัวขึ้นมาทันที

    การที่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวเราจะเป็นไปอย่างราบรื่นตามใจหวังตลอดเวลานั้นเป็นไปได้ยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย แม้แต่อยู่วัดก็อาจเจอสิ่งขัดใจ ทำให้ว้าวุ่นใจ มีหลายคนไม่อยากรับผิดชอบงานในวัด อยากอยู่ในกุฏิเฉย ๆ เพราะกลัวว่าถ้าทำงานแล้วใจจะไม่สงบ ความคิดแบบนี้ทำให้กลายเป็นคนไม่รับผิดชอบ ไม่เอื้อเฟื้อต่อส่วนรวม และที่สำคัญคือกลายเป็นคนจิตใจอ่อนแอ เพราะเจออะไรมากระทบนิดหน่อยจิตใจก็เป็นทุกข์แล้ว ใครก็ตามที่พยายามหนีไปอยู่ในที่ที่สงบสงัด ไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย เพื่อจะได้มีความสงบสุข พึงตระหนักว่าความสงบสุขแบบนั้นเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก เพราะอะไรมากระทบก็ไม่ได้ ถ้าพึ่งพาสิ่งแวดล้อมที่สงบอย่างเดียว จะผิดหวังเพราะของแบบนี้ไม่จิรัง ไม่ยั่งยืน มันเป็นของชั่วคราว

    เราต้องเรียนรู้ที่จะเข้าถึงความสงบแบบไม่ต้องอิงอาศัยสิ่งแวดล้อม ไม่ต้องอาศัยคนอื่นมาปรนนิบัติให้ถูกใจเรา เราต้องเรียนรู้ที่จะหาความสงบได้ด้วยตัวเอง ความสงบแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการฝึกใจ ด้วยการปฏิบัติธรรม เจริญสติ ฝึกสมาธิภาวนา ไม่เช่นนั้นความสุขหรือความสงบที่เกิดขึ้นกับเรา ก็จะหลุดลอยไปจากเราได้ง่าย ๆ เพียงแค่มีคนมาพูดกระทบ ตำหนิ หรือแม้แต่ท้วงติง จิตใจเราก็รุ่มร้อนแล้ว ถ้าไม่อยากให้จิตใจเรารุ่มร้อนหรือวุ่นวายง่าย ๆ ก็ต้องฝึกใจให้มั่นคง ไม่หวั่นไหวง่าย ๆ มีการวางจิตวางใจที่ถูกต้อง ถ้าเราฝึกจิตฝึกใจจนมั่นคง รู้จักวางใจให้ถูก เราก็จะพบกับความสงบได้ในทุกที่ ทุกสถานการณ์ แม้แต่เวลาเจ็บป่วยก็ยังพบกับความสงบใจได้ ใครพูดอะไรมาใจก็ไม่กระเพื่อม รู้จักปล่อยวางได้ หรือว่าเจอสิ่งไม่สมหวัง งานล้มเหลว ใจก็ไม่ทุกข์

    อาจารย์ของอาตมา หลวงพ่อคำเขียน สุวัณโณ ท่านทำงานเยอะตั้งแต่ยังหนุ่ม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการสอนธรรมเท่านั้น ท่านยังทำงานเกี่ยวกับการพัฒนาชุมชน การช่วยเหลือคนที่ตกทุกข์ได้ยาก การอนุรักษ์ธรรมชาติ ท่านทำมาเป็นเวลาหลายสิบปี เคยมีคนถามว่างานที่ท่านทำนั้นสำเร็จหรือไม่ ท่านก็มักจะตอบว่า “งานที่หลวงพ่อทำล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ แต่ถึงแม้งานล้มเหลว แต่หลวงพ่อไม่ล้มเหลว" คือแม้งานของท่านล้มเหลว แต่ท่านก็ยังสงบเย็นอยู่ได้ อย่างนี้เรียกว่าเข้าถึงความสงบที่ใจ เพราะว่าได้ฝึกจิตฝึกใจมาจนกระทั่งวางใจถูก เมื่อวางใจถูก มีอะไรมากระทบใจก็สงบได้

    เราควรสัมผัสกับความสงบที่เกิดจากใจ ไม่ควรหวังพึ่งความสงบจากสิ่งแวดล้อมภายนอก หรือความสงบจากการพูดดีทำดีของคนรอบข้าง เพราะสิ่งเหล่านั้นมันไม่จีรัง หลายคนทำดีแล้วทุกข์ เพราะว่าคนอื่นไม่เห็นความดีของตัว แถมบางครั้งยังถูกเอาเปรียบอีก มีคนหนึ่งมาเล่าให้ฟังว่า ไม่อยากทำความดีแล้ว ทำดีแล้วไม่ได้ดีเพราะว่าคนรอบข้างคิดแต่จะรังแก เอาเปรียบ ที่เขาทุกข์ไม่ใช่เพราะทำดี แต่ทุกข์เพราะคาดหวังความดีจากคนรอบตัวมากไป ถ้าคาดหวังความดีจากคนรอบตัว คาดหวังให้คนอื่นพูดดี ทำดี ก็ยากที่จะพบกับความสงบสุขได้

    เราควรปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงความสงบและความสุขที่เกิดจากใจของตัวเอง ใครเขาจะทำไม่ดีหรือพูดไม่ดีกับเรา ใจเราก็ยังนิ่งสงบได้ นี้เป็นความสุขที่เราควรรู้จัก เป็นสุขที่เราควรแสวงหา เกิดมาทั้งทีหากไม่รู้จักความสุขชนิดนี้ก็น่าเสียดายอย่างยิ่ง
    :- https://visalo.org/article/5000s14.html
     
  4. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อยู่กับปัจจุบัน
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อประมาณ ๒๐ ปีก่อน อาตมาได้ไปร่วมงานธรรมยาตราทางภาคเหนือ ไปเยือนหมู่บ้านชาวเขาที่ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย มีคนเข้าร่วมประมาณ ๓๐ คน ทั้งไทย ฝรั่ง พระ โยม ต้องแบกสัมภาระทุกอย่างเอง รวมทั้งบาตรด้วย จำได้ว่าตอนนั้นเดินขึ้นดอยไม่ถึง ๑๐ นาทีก็เหนื่อยแล้ว เพราะสัมภาระหนัก มัคคุเทศก์ที่เป็นชาวเขาจึงแนะนำว่า ให้เดินช้า ๆ และอย่าพัก แม้จะรู้สึกคลางแคลงใจในคำแนะนำของเขา แต่อาตมาก็ลองทำตาม

    การเดินช้าไม่ใช่เรื่องง่าย เดินช้าไปได้สักพัก ก็เผลอกลับไปเดินเร็วตามความเคยชินอีก ต้องพยายามกำกับขาตัวเองให้เดินช้า ๆ เดินไปไม่นานก็ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง คนที่หนุ่มสาวกว่าก็พากันเดินแซงไป แต่เดินช้าได้สักพักก็เผลอเดินเร็วขึ้นอีก เพราะใจไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว และยังกลัวว่าจะไปไม่ทันเพลด้วย พอรู้ตัวก็กลับมาเดินช้าลง แต่เผลอเมื่อไหร่ก็จะเดินเร็วขึ้นอีก จึงต้องพยายามกำกับจิตให้อยู่กับปัจจุบัน อยู่ที่แต่ละก้าว ประสานลมหายใจและเท้าเข้าด้วยกัน ไม่นานก็รู้สึกว่าเป็นสมาธิ และเดินไปได้เรื่อย ๆ

    เดินได้พักใหญ่ก็สามารถแซงคนหนุ่มสาว เพราะคนเหล่านั้นนั่งพักเหนื่อยกันแล้ว ส่วนอาตมายังเดินได้สบายอย่างที่มัคคุเทศก์แนะนำ คือไม่ต้องพักเลย เพราะมันไม่เหนื่อย และพบว่าจริง ๆ แล้วการเดินแบบนี้ แต่ละก้าวก็เป็นการพักไปในตัวอยู่แล้ว เดินไปพักใหญ่ก็ปรากฏว่าอยู่หน้าแถวเสียแล้ว ทิ้งคนข้างหลังห่างออกไปเรื่อย ๆ มีคนตามมาทันแค่ไม่กี่คน สุดท้ายก็ถึงหมู่บ้านชาวเขาก่อนใคร และทันเวลาฉันเพลพอดี

    ประสบการณ์ครั้งนั้นทำให้พบหลักการเดินขึ้นเขาว่า เดินช้า ๆ และไม่ต้องหยุดพัก ตอนหลังก็เอาวิธีนี้ไปใช้กับการเดินหลายครั้ง ทั้งการเดินทางไกล เดินธรรมยาตรา เมื่อปีที่แล้วไปเดินขึ้นดอยหลวงเชียงดาวก็ใช้วิธีนี้เหมือนกัน ทั้งที่เขาชันมาก แต่ก็เดินขึ้นไปได้เรื่อย ๆ ล่าสุดก็ไปปีนเขาศรีปาทะ ที่ประเทศศรีลังกา ศรีปาทะถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวศรีลังกาทุกศาสนา ชาวพุทธเชื่อว่า พระพุทธเจ้าเคยเสด็จประทับที่นี่ เพราะมีรอยพระพุทธบาทอยู่บนยอดเขา ชาวฮินดูเชื่อว่าพระศิวะเคยมาประทับพระบาทที่นี่ ชาวมุสลิมและชาวคริสต์ก็เชื่อว่า หลังจากอดัมถูกไล่ลงจากสวรรค์ ตรงนี้เป็นก้าวแรกที่ลงมาเหยียบโลก จึงเรียกยอดเขานี้ว่าอดัมสพีค

    การเดินขึ้นเขาศรีปาทะถ้ามองว่าง่ายกว่าขึ้นดอยหลวงเชียงดาวก็ได้ เพราะมีบันไดตลอด แต่จะมองว่ายากกว่าก็ได้ เพราะใช้เวลานาน ประมาณ ๔-๕ ชั่วโมง ต้องเดินตั้งแต่เที่ยงคืนหรือตีหนึ่งซึ่งน่าจะเป็นเวลานอนมากกว่า อาตมาก็เดินไปเรื่อย ๆ และไม่พักเลย ช่วงชั่วโมงสุดท้ายบันไดจะชันมากประมาณ ๔๕ องศา บางครั้งใจอยากเดินให้ถึงเร็ว ๆ แต่พอมีสติก็กลับมาเดินช้า ๆ ปรากฏว่าไปถึงจุดหมายบนยอดเขาได้ทันก่อนพระอาทิตย์ขึ้น

    หลังจากที่เดินขึ้นดอยแม่สลองและอีกหลายแห่งก็พบว่า ไม่ว่าเส้นทางจะไกลแค่ไหน อยู่สูงเพียงใด แต่ถ้าใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับการเดินแต่ละก้าว ๆ ถ้าเราเดินไม่หยุดก็จะถึง และอาจจะถึงเร็วด้วย นี้เป็นเคล็ดลับการปีนเขาของพวกมืออาชีพเหมือนกัน ฝรั่งคนหนึ่งชื่อบรู๊ซ เคิร์กบี้ เขาพิชิตยอดเขาสูงที่สุดในทุกทวีปมาแล้วรวมทั้งเอเวอเรสต์ด้วย เขาได้สรุปบทเรียนจากการเดินเขามานานหลายทศวรรษว่า “ทุกอย่างมักดูน่ากลัวกว่าความเป็นจริงเสมอเมื่อมองจากที่ไกล” เช่นเวลาปีนเขา ถ้ามองไปที่ยอดเขาจะรู้สึกว่ามันน่ากลัวมาก และชวนให้ท้อ เพราะทั้งชันทั้งไกล บางที่ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะถึงยอดเขา

    เขาพบว่า วิธีเดินเขาที่ดีที่สุดคือ ไม่ต้องกังวลถึงจุดหมาย ให้ใส่ใจจดจ่ออยู่กับพื้นดินใต้ฝ่าเท้า และเดินไปทีละก้าว ๆ วิธีนี้ทำให้เดินได้สบายมาก ไม่ต้องกังวลถึงจุดหมาย รวมทั้งอันตรายและอุปสรรคข้างหน้า ใจจะรู้สึกผ่อนคลาย และถ้าเดินไม่หยุดก็จะถึงจุดหมายในที่สุด และสามารถไปถึงได้เร็วด้วย ต่างกับคนที่เดินจ้ำเอา ๆ ตาจ้องอยู่ที่จุดหมายปลายทาง ใจก็คิดแต่ว่าเมื่อไรจะถึง ๆ ปรากฏว่าอยากเดินให้ถึงเร็ว กลับถึงช้า

    ประสบการณ์จากการเดินทางไกลและเดินขึ้นเขา ทำให้พบว่าเทคนิคการเดินที่ดีก็คือ "ไม่ว่าทางไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน" และพบว่า "เดินเร็วถึงช้า เดินช้าถึงเร็ว" อาตมาเคยเดินจาริกในญี่ปุ่นประมาณ ๗-๘ วัน มีพระญี่ปุ่นที่บวชอยู่วัดเดียวกับอาตมาร่วมเดินด้วย ทุกวันจะแวะเยี่ยมเยียนชุมชนคนไทยที่อยู่ตามเส้นทาง เมื่อไปถึงแต่ละเมือง เขาก็จะจัดถวายเพล เป็นโอกาสให้ได้พบปะคนไทย ส่วนคนไทยเหล่านั้นก็ได้มีโอกาสทำบุญหรือถวายสังฆทาน การเดินในแต่ละวันจึงต้องไปให้ถึงจุดหมายก่อนเพล บางช่วงระยะทางไกลก็ไม่แน่ใจว่าจะไปทันเพลหรือเปล่า ส่วนพระญี่ปุ่นก็จะเดินเร็ว รีบไปให้ถึงจุดหมาย แต่อาตมาได้บทเรียนจากการขึ้นเขาแล้ว จึงเดินไปตามจังหวะไม่เร่งรีบ ปรากฏว่าเดินไปแค่ ๓-๔ วัน ท่านก็เจ็บเท้า ต้องเปลี่ยนรองเท้า แต่ก็ไม่ช่วยให้การเดินสะดวกขึ้นมากนัก จากเดินเร็วกลายเป็นเดินช้า ส่วนอาตมาเดินช้า ๆ ตลอดเส้นทางจนถึงเมืองนากาโน ก็เดินถึงได้อย่างสบายโดยที่แข้งขาและเท้าไม่เป็นอะไรเลย เพราะได้เตือนตัวเองว่าให้เดินไปเรื่อย ๆ ถ้าเดินไม่หยุดเดี๋ยวก็ถึงเอง เดินช้ากลับถึงเร็ว แต่ว่าเดินเร็วเพราะอยากถึงที่หมายไว ๆ กลับถึงช้า

    การขับรถก็เช่นกัน บางทีขับเร็วอาจถึงที่หมายช้าก็ได้ เพราะประสบอุบัติเหตุ เฉี่ยว ชน หรือรถพัง ยิ่งอยากไปเร็วกลับถึงช้า แต่การไปช้า ๆ หรือมีสติอยู่กับปัจจุบันกลับถึงเร็วกว่า คนส่วนใหญ่อยากไปเร็วเพราะใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ใจกระโดดไปอยู่ที่จุดหมายปลายทางแล้ว
     
  5. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    นี้ไม่ใช่ศิลปะการเดินทางไกลหรือการขึ้นเขาเท่านั้น แต่เป็นศิลปะในการทำงานด้วย โดยเฉพาะงานที่ยาก หลายคนทำงานด้วยความเครียด เครียดว่าเมื่อไรจะเสร็จ กังวลว่าผลงานจะออกมาไม่ดี เจ้านายจะว่าอย่างไร เพื่อนร่วมงานจะชมไหม ถ้าคิดแบบนี้ก็จะทำงานด้วยความเครียด ทำด้วยความทุกข์ แต่ถ้าเราเอาใจจดจ่ออยู่กับปัจจุบัน ทำปัจจุบันให้ดีที่สุด ข้อดีคือนอกจากไม่เครียดไม่กังวลแล้ว ยังทำให้มีสมาธิกับงานมากขึ้น ยิ่งถ้าแบ่งงานดี ๆ ซอยจุดหมายปลายทางให้สั้นลง แล้วทำให้ได้อย่างที่วางแผนเอาไว้ พยายามทำแต่ละชั่วโมง แต่ละวันให้ดีที่สุด งานยากก็จะง่ายขึ้น ส่วนใจก็ไม่เครียดไม่ทุกข์

    หากทำได้เช่นนี้ ก็เท่ากับว่าทำกิจและทำจิตไปพร้อมกัน คือขณะที่เราทำงาน เราก็ทำจิตให้อยู่กับปัจจุบันด้วย คนส่วนใหญ่ทำกิจแต่ไม่ทำจิต หรือไม่รู้จักวางใจให้ถูก เช่น ทำงานวันจันทร์ตอนเช้า ใจมัวคิดถึงตอนบ่าย หรือทำงานวันจันทร์ ใจไปคิดถึงวันพุธหรือวันศุกร์แล้ว ยิ่งอยากจะทำงานให้เสร็จไว ก็ยิ่งพะวง ทำให้งานล่าช้าเพราะมัวแต่คิดมาก มัวแต่เครียด หรือพอกังวลแล้วก็หักโหม ทำงานจนไม่ได้หลับไม่ได้นอน พักผ่อนไม่เพียงพอ ก็อาจป่วยได้ ทำให้งานเสร็จช้าลงไปอีก

    หากเราทำจิตควบคู่กับการทำกิจ เราก็จะรู้สึกผ่อนคลาย ทำงานเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส ที่ไม่ซีเรียสเพราะใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ได้จดจ่อถึงอนาคต และไม่กังวลถึงผลที่จะเกิดขึ้น ลองสังเกตดู เวลาเราทำงานแล้วใจไม่ค่อยอยู่กับปัจจุบัน คิดข้ามช็อตไปยังอนาคต หรือคิดถึงเส้นตายที่ใกล้เข้ามา ก็เลยรน อยากทำให้เสร็จไว ๆ แต่มันก็ไม่เสร็จสักที จึงรู้สึกหงุดหงิด นี่เรียกว่าไม่ทำจิต การทำจิตกับทำกิจไปพร้อมกันแม้จะเป็นเรื่องยาก แต่หากทำได้มันก็จะทำให้ "งานได้ผล คนเป็นสุข"

    อาตมามีเพื่อนคนหนึ่งเป็นพระเซนชาวอเมริกัน อยู่ที่เบิร์กเลย์ เขาเล่าว่าอาจารย์ของอาจารย์ชื่อชุนเรียว ซูซูกิ เป็นอาจารย์เซนที่มีชื่อเสียงในหมู่ชาวอเมริกัน และเป็นคนสร้างวัดเซนแห่งแรกในอเมริกา คือวัดเซนที่ซานฟรานซิสโก เมื่อประมาณ ๖๐ ปีที่แล้ว ตอนที่เริ่มสร้างวัดเซนในอเมริกานั้น อาจารย์ชุนเรียวอายุ ๖๐ ปีแล้ว เป็นคนญี่ปุ่นร่างเล็ก แต่มีลูกศิษย์หลายคนเป็นหนุ่มสาวอเมริกัน ส่วนใหญ่เป็นฮิปปี้ ตอนนั้นพวกฮิปปี้หันมาสนใจศาสนาตะวันออกกันมาก รุ่นเดียวกับเดอะบีทเทิลส์ที่ไปหาฤษีที่อินเดีย แต่ชาวอเมริกันหลายคนสนใจไปหาพระเซน ทั้งที่ญี่ปุ่นและอเมริกา

    ตอนสร้างวัดอาจารย์ชุนเรียวได้ลูกศิษย์หลายคนมาช่วยงาน มีการขนหินขนไม้ทั้งวัน ลูกศิษย์ฝรั่งตัวใหญ่และยังหนุ่มสาว ทำงานได้ครึ่งวันก็เหนื่อยมากต้องพัก แต่อาจารย์ชุนเรียวทำงานได้ทั้งวัน ลูกศิษย์ก็แปลกใจว่าอาจารย์ทำได้อย่างไร ไม่เหนื่อยเหรอ อาจารย์ซุนเรียวบอกว่า "ก็ผมพักทั้งวัน" ลูกศิษย์งงเลยเมื่อเจอคำตอบแบบนี้

    ลูกศิษย์ฝรั่งเวลาทำงาน ตัวแบกหิน ส่วนใจแบกทุกข์ ระหว่างที่ขนก็เอาแต่นึกว่าเมื่อไรจะเสร็จสักที ส่วนอาจารย์ชุนเรียวนั้นตัวแบกหิน แต่ใจไม่ได้แบกทุกข์ ใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่เอาความเหนื่อยกาย มาเป็นความทุกข์ของใจ ที่อาจารย์บอกว่าพักทั้งวัน คือพักใจ ใจไม่ได้แบกอะไรเลย ไม่ได้แบกหิน ไม่ได้แบกทุกข์

    เมื่อใจอยู่กับปัจจุบัน กายก็สามารถทำงานได้อย่างเต็มที่ "ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียส" อาจดูเหมือนว่าเป็นสิ่งตรงข้าม ที่ไม่น่าประสานกันได้ คล้าย ๆ กับ "เดินช้า แต่ถึงเร็ว" มันแย้งกันแต่กลับเป็นไปได้จริง ๆ ทำเต็มที่ แต่ไม่ซีเรียสนี้คล้ายกับที่หลวงพ่อเทียนสอนว่า "ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ" ทำเล่น ๆ กับทำจริง ๆ สองสิ่งนี้ดูเหมือนตรงข้ามกันเลย แต่ในการปฏิบัติธรรมมันสามารถประสานกันได้

    "ทำเล่น ๆ" คือ ทำโดยใจไม่คาดหวังกับผลที่จะเกิดขึ้น ไม่กังวลถึงผลที่จะตามมา ผิดพลาดอย่างไรก็ไม่เป็นไร แต่ขณะเดียวกันก็ "ทำจริง ๆ" คือทำไม่หยุด ตอนที่อาตมาเริ่มปฏิบัติธรรมที่วัดสนามใน มีความสงสัยว่าควรจะปฏิบัติธรรมตั้งแต่กี่โมงถึงกี่โมง จึงถามหลวงพ่อเทียน ท่านตอบว่าให้ทำทั้งวัน ตั้งแต่เช้าตื่นขึ้นมาจนถึงเข้านอนเลย แต่คำว่า "ทำ" ที่หลวงพ่อเทียนพูดไม่ใช่การสร้างจังหวะ เดินจงกรม หรือปฏิบัติในรูปแบบเท่านั้น แต่ให้มีสติรู้ตัวกับทุกอย่าง นั่นคือ "ทำจริง ๆ" ซึ่งสอดคล้องกับที่บรู๊ซ เคิร์กบี้พูดว่า เวลาปีนเขาอย่าไปสนใจยอดเขา อย่าสนใจจุดหมาย สนใจแต่ดินใต้ฝ่าเท้า แล้วเดินไปทีละก้าว ๆ เดินไม่หยุด แล้วจะถึงเอง

    การปีนเขา การเดินทางไกล และการปฏิบัติธรรม เป็นเรื่องเดียวกันไม่ได้แยกขาดจากกัน ใช้หลักการเดียวกันคือ ใจอยู่กับปัจจุบัน และทำความเพียรไม่หยุด เมื่อใจอยู่กับปัจจุบัน มันก็ผ่อนคลายไปเอง ตอนเดินธรรมยาตราอาตมาบอกผู้เดินอยู่เสมอว่า จุดหมายอยู่ไกลแค่ไหน ให้ใจอยู่กับปัจจุบัน ให้จุดหมายอยู่ที่ปลายเท้า ไม่ใช่อยู่ข้างหน้า เดินทีละก้าว ๆ ถ้าเดินไม่หยุดเดี๋ยวก็ถึงเอง เมื่อใจอยู่กับปัจจุบันความเครียดก็จะน้อยลง มีสมาธิได้ง่ายขึ้น เดินไป ๆ "อ้าว ถึงแล้วหรือนี่" หลายคนจะรู้สึกแบบนี้ เมื่อมีสมาธิกับการเดิน

    ยิ่งอยากให้ถึงไว กลับถึงช้า ยิ่งไม่สนใจที่จะถึงไว กลับถึงเร็ว ใครที่นับถอยหลังว่าเมื่อไรจะได้กลับบ้าน จะรู้สึกว่าแต่ละวันช่างผ่านไปช้าเหลือเกิน นึกบ่นในใจว่า "ทำไมช้าอย่างนี้" แต่ใครที่ไม่สนใจ ไม่ได้นับวัน เผลอแพล็บเดียวก็พบว่า "ถึงวันสุดท้ายแล้วหรือนี่" ความรู้สึกว่าเวลามันเคลื่อนไปเร็วหรือช้า อยู่ที่ใจของเราด้วย แค่นั่งสมาธิห้านาที ถ้าอยากจะให้ถึงห้านาทีไว ๆ ก็จะรู้สึกว่าเวลาผ่านไปอย่างเชื่องช้าเหลือเกิน นั่งประเดี๋ยวเดียวก็เปิดตาดูนาฬิกาว่าห้านาทีหรือยัง ทั้ง ๆ ที่เพิ่งผ่านไปแค่นาทีเดียว แต่คนที่ไม่ได้อยากให้เวลาผ่านไปไว ๆ มันกลับยิ่งผ่านไปเร็ว ยิ่งไม่สนใจจุดหมายก็ยิ่งถึงเร็ว วิธีที่จะทำให้เราวางจุดหมายปลายทางได้ก็คือ ใจอยู่กับปัจจุบัน

    หากมีท่าทีแบบนี้ การปฏิบัติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องยาก หลวงพ่อเทียนบอกว่า “ทำเล่น ๆ แต่ทำจริง ๆ” มันจะไม่ใช่เรื่องยาก ถ้าเราทำงานด้วยท่าทีแบบนี้ การทำงานจะไม่ใช่เรื่องน่าหนักอกหนักใจ ถ้าเราเดินทางด้วยท่าทีแบบนี้ ทางไกลแค่ไหนใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน ที่จริงยิ่งเดินทางไกลหรือไปเที่ยว ยิ่งจุดหมายปลายทางอยู่ไกล ยิ่งต้องใส่ใจปัจจุบันให้มาก

    อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ เล่าว่า ตอนที่เดินจากเชียงใหม่กลับเกาะสมุยครั้งแรก มีช่วงหนึ่งที่ผ่านดอยอินทนนท์ ขาเดินขึ้นดอย ใจก็มีความกังวล นึกถึงว่าเมื่อไหร่จะถึง เพราะไม่ได้กินข้าวกินน้ำมาเลยทั้งวัน ปรากฏว่าพอใกล้ถึงยอดดอยก็เหนื่อยจนหมดแรง อาจารย์ประมวลบอกว่าตอนนั้นเหนื่อยแทบจะขาดใจ โชคดีมีคนชวนขึ้นรถเมื่อพอขึ้นไปถึงดอยอินทนนท์ ได้กินน้ำและพักผ่อนก็รู้สึกสบายขึ้น ขากลับเดินลงมา ระหว่างที่เดินได้เห็นทัศนียภาพสองข้างทาง และทิวทัศน์ที่อยู่ข้างล่างลิบ ๆ ก็อุทานขึ้นมาในใจว่าอัศจรรย์มาก สวยงามมาก สักพักก็ฉุกคิดขึ้นมาว่า ตอนขาขึ้นเราก็มาทางนี้ แต่ทำไมไม่เห็นทิวทัศน์อันสวยงามนี้เลย เพราะอะไร เพราะใจมัวจดจ่ออยู่ที่จุดหมาย จึงไม่ได้เห็นความงามสองข้างทาง

    แม้แต่การเดินทางท่องเที่ยว เราก็ควรหันมาใส่ใจกับสองข้างทาง มากกว่าจดจ่อถึงจุดหมายปลายทาง หลายคนไปเที่ยวแท้ ๆ แต่กลับเครียดมาก จะไปชมธรรมชาติที่ภูกระดึง แต่ใจกลับหงุดหงิดเพราะแฟนตื่นสาย ลูกก็เงอะงะ จึงกลัวว่าจะไปถึงที่หมายช้า ระหว่างทางรถติดก็หงุดหงิด ตั้งใจไปเที่ยวแต่หงุดหงิดตลอดทาง เพราะกลัวไปถึงที่หมายช้าหรือไม่ทันเวลา ทั้ง ๆ ที่ควรไปแบบสบาย ๆ ใจผ่อนคลาย แต่คนจำนวนมากเวลาไปเที่ยว ทั้ง ๆ ที่อยากผ่อนคลาย แต่กลับเครียด เพราะใจจดจ่อถึงแต่จุดหมายปลายทางตลอดเวลา จึงไม่ได้เห็นสองข้างทางที่สวยงาม อย่างนี้เรียกว่าใจอยู่กับอนาคต หรือไม่ก็หงุดหงิดที่ผัวตื่นสาย ลูกโอ้เอ้ ผ่านไปหลายชั่วโมงแล้วก็ยังหงุดหงิด อย่างนี้เรียกว่าติดอยู่กับอดีต ใจอยู่กับอดีตก็ทุกข์ ใจอยู่กับอนาคตก็กังวล เพราะฉะนั้นการกลับมาอยู่กับปัจจุบันเป็นเทคนิคที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติธรรม การทำงาน หรือแม้กระทั่งการท่องเที่ยว

    ถ้าเราทำงานด้วยใจที่อยู่กับปัจจุบัน ก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปในตัว เป็นการเจริญสติในการทำงาน เวลาทำงานก็วางเรื่องอื่นลงชั่วคราว หลายคนเวลาทำงานก็กังวลถึงลูก จึงไม่มีสมาธิในการทำงาน เวลากลับบ้าน ตัวอยู่กับลูกแต่ใจกลับนึกถึงงาน เลยเครียดหนักอกหนักใจ แล้วก็เผลอด่าลูกโดยที่ลูกไม่รู้เรื่องอะไรด้วย หลายคนเป็นอย่างนี้ เวลาทำงานก็เป็นห่วงลูก เวลาอยู่กับลูกก็นึกถึงงาน เวลาจะนอนก็นึกถึงงาน ครั้นถึงเวลาทำงานก็ง่วงนอน พวกเราเป็นอย่างนี้บ้างหรือเปล่า

    อยู่กับปัจจุบัน หมายความว่า เวลาทำงานใจก็อยู่กับงาน วางลูก คนรัก พ่อแม่ไว้ก่อน เพราะตัวอยู่ที่ทำงานก็ช่วยอะไรไม่ได้ แต่เวลาอยู่กับลูก คนรัก พ่อแม่ ก็วางเรื่องงานเอาไว้ เพราะมีแต่จะทำให้เครียด และไม่ได้ช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นเลย การวางใจอยู่กับปัจจุบันช่วยทำให้ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างดีขึ้น ช่วยให้ทำงานได้ดีมีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งความเครียดและความทุกข์ก็น้อยลงด้วย
    :- https://visalo.org/article/5000s11.html
     
  6. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    เห็นประโยชน์ของสรรพสิ่ง
    พระไพศาล วิสาโล
    ในสมัยพุทธกาล มีหมอท่านหนึ่งซึ่งเก่งมาก เรียกได้ว่าเป็นหมอเทวดา คือหมอชีวกโกมารภัจจ์ ทุกวันนี้ก็ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นปรมาจารย์ของการแพทย์แผนไทย หมอชีวกโกมารภัจจ์เป็นแพทย์ประจำตัวของพระพุทธเจ้า ประวัติของท่านน่าสนใจ มีเรื่องเล่าว่า ท่านไปเรียนวิชาแพทย์ที่ตักศิลา ซึ่งปัจจุบันอยู่ในประเทศปากีสถาน ท่านไปเรียนกับอาจารย์ทิศาปาโมกข์นานถึง ๗ ปี ท่านตั้งใจเรียนมาก แต่หลังจากเรียนมา ๗ ปีแล้ว ก็สงสัยว่าตนมีความรู้พอหรือยัง วันหนึ่งจึงไปถามอาจารย์ว่า ที่ตนเรียนมานั้นพอใช้การได้หรือยัง จะต้องเรียนต่ออีกไหม

    อาจารย์จึงทดสอบความรู้ด้วยการให้ไปสำรวจพื้นที่ในรัศมี ๑ โยชน์ รอบเมืองตักศิลา หาดูว่ามีอะไรบ้างที่ใช้ทำยาไม่ได้ ชีวกโกมารภัจจ์ทำตามที่อาจารย์สั่ง ใช้เวลาอยู่นานก็กลับมารายงานอาจารย์ว่า ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ทุกอย่างสามารถใช้เป็นยารักษาโรคได้ทั้งนั้น รวมทั้งหญ้าคา วัชพืช หรือพวกที่มีพิษทั้งหลาย สามารถทำเป็นยาได้ทั้งนั้น บางอย่างใช้ราก บางอย่างใช้เม็ด บางอย่างใช้ใบ บางอย่างใช้เปลือก พอมารายงานเช่นนี้ อาจารย์ของท่านก็บอกว่า เธอสำเร็จการศึกษาแล้ว กลับบ้านได้

    ทุกอย่างที่อยู่รอบเมืองตักศิลา ไม่มีอะไรที่ใช้ทำยาไม่ได้เลย ที่จริงไม่ใช่เฉพาะพืชพรรณทั้งหลายเท่านั้น ต้องเรียกว่าทุกอย่างในโลกนี้ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม ล้วนมีประโยชน์ทั้งนั้น อาจจะไม่ใช่ประโยชน์ในทางรักษาโรค แต่ก็มีประโยชน์อย่างอื่น

    ทุกอย่างในโลกนี้ ไม่มีอะไรที่ไร้ประโยชน์เลย ขยะก็สามารถทำเป็นปุ๋ยได้ นำไปรีไซเคิล ใช้ประโยชน์ได้อีกหลายทอด เชื้อโรคก็มีประโยชน์ เอาไปทำวัคซีนได้ วัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคก็มาจากเชื้อโรคนั่นแหละ พิษร้ายของงูก็เอามาทำเป็นเซรุ่มได้ เอาไว้รักษาแก้พิษงู สิ่งที่เป็นพิษหลายอย่างก็เอามาใช้รักษาโรคได้ สารเคมีที่ใช้รักษามะเร็ง ก็เป็นสารพิษแทบทั้งนั้น แต่มนุษย์ก็เอามาใช้รักษาโรคมะเร็งได้

    ทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเรา ที่เรามองว่าเป็นของไม่ดี มันมีประโยชน์ทั้งนั้น โรคภัยไข้เจ็บก็มีประโยชน์ ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่า “ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราฉลาด” และ “ป่วยทุกทีก็ให้ฉลาดทุกที” ฉลาดเรื่องอะไร ก็ฉลาดเรื่องชีวิต ความเจ็บป่วยมาเตือนให้เราตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต มาเตือนให้เราเห็นว่าสังขารนี้ต้องถนอมรักษา เพราะถ้าไม่ถนอมรักษา ก็จะผุพังเร็ว เสื่อมโทรมเร็ว มันมาเตือนว่าเวลาที่เราอยู่ในโลกนี้ ที่เราสามารถจะทำอะไรได้อย่างเต็มที่ ลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ ต้องรีบทำก่อนที่จะไม่มีโอกาสทำ

    พระพุทธเจ้าสอนพระภิกษุว่า เวลาเจ็บป่วยก็ให้ตระหนักว่า ตอนนี้ยังดีที่ป่วยเท่านี้ ต่อไปเราจะต้องป่วยหนักกว่านี้ ถึงตอนนั้นก็คงทำความเพียรไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้น ต้องรีบทำความเพียรตั้งแต่วันนี้ แม้ป่วยอยู่ก็ต้องรีบฉวยโอกาส เพราะว่าต่อไปจะป่วยหนักกว่านี้ ไม่ควรใช้ความป่วยเป็นข้ออ้างในการเกียจคร้าน

    เมื่อมีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นกับเรา มองให้ดีมันมีประโยชน์ทั้งนั้น เช่น คำตำหนิติเตียน เมื่อถูกตำหนิติเตียนก็ให้รู้ว่ากำลังมีคนชี้ขุมทรัพย์ให้เรา มันไม่ใช่ความซวย แต่เป็นโชคดีที่มีคนชี้ขุมทรัพย์ให้ คำต่อว่าด่าทอ ช่วยงฝึกความอดทนให้กับเรา หรือฝึกให้เรารู้จักปล่อยวาง เวลาเกิดเหตุร้ายกับเรา อย่าไปมองว่าเป็นความซวย ให้มองหาว่าเราจะใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างไร เพราะทุกอย่างมีประโยชน์ทั้งนั้น

    มีชายคนหนึ่งเป็นช่างไฟ แล้วเกิดความผิดพลาด ไฟช็อตที่ขา ต้องตัดขาทั้งสองข้าง พิการตลอดชีวิต หลังจากนั้นไม่นานเมียก็ทิ้ง มีคนไปถามชายคนนี้ว่า รู้สึกอย่างไรที่ถูกเมียทิ้ง เขาตอบว่า“ผมไม่รู้สึกอะไรหรอกครับ ขนาดขาผมแท้ ๆ ยังไม่อยู่กับผม แล้วจะให้เมียมาอยู่กับผมได้อย่างไร”

    เขาไม่รู้สึกทุกข์กับการถูกเมียทิ้ง เพราะเขาได้เรียนรู้จากการถูกตัดขาทั้งสองข้าง ได้เรียนรู้ว่าขานี้ไม่ใช่ของเรา ถึงจะยึดมั่นว่าเป็นของเรา แต่มันก็จะไม่อยู่กับเราไปตลอด บางคนพอจะถูกตัดขาก็ฟูมฟาย คร่ำครวญว่า ทำไมถึงต้องเป็นฉัน ฉันอุตส่าห์สร้างความดี สร้างบุญกุศล แต่ชายคนนี้กลับมองว่า มันสอนเราว่าแม้แต่ขายังไม่อยู่กับเรา ตรงนี้เรียกว่าเกิดปัญญาซึ่งเป็นภูมิคุ้มกัน ทำให้พอถูกเมียทิ้งก็ไม่ทุกข์แล้ว แสดงว่าเขารู้จักใช้ประโยชน์จากเหตุร้ายให้กลายเป็นภูมิคุ้มกันความทุกข์ที่จะตามมา

     
  7. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    ไม่ใช่แต่เหตุการณ์หรือสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัวเราเท่านั้น แม้กระทั่งกิเลสที่อยู่ภายในใจเราก็มีประโยชน์ ถ้ารู้จักใช้ มีเรื่องเล่าว่า สมัยที่หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพลยังมีชีวิตอยู่ วันหนึ่งมีโยมพาลูกชายวัย ๓ ขวบมาถวายจังหัน ถวายเสร็จเด็กก็เหลือบเห็นเงาะที่ปอกเปลือกแล้ว บนฝาบาตรของหลวงปู่ขาว เด็กเห็นว่ามันขาวน่ากินก็เกิดอยากกินขึ้นมา จึงจ้องมองตาไม่กะพริบ

    หลวงปู่ขาวถามว่าอยากกินเหรอ เด็กตอบว่าอยากกิน หลวงปู่ขาวก็บอกว่าถ้าอยากกินต้องนั่งสมาธิ เด็กถามว่านั่งสมาธิยังไง หลวงปู่ขาวจึงแนะนำให้นั่งขัดสมาธิ เอาขาขวาทับขาซ้ายแล้วก็หลับตา ด้วยความอยากกินเงาะเด็กก็ทำตาม หลวงปู่ขาวให้คำบริกรรม บอกว่าให้ท่องในใจว่า “หมากเงาะ” เด็กอยากกินจึงทำตาม หลับตา แล้วนึกถึงคำว่าหมากเงาะ ตามที่หลวงปู่ขาวแนะนำ

    ระหว่างที่นั่งสมาธิ ทีแรกก็นั่งเลียริมฝีปากไปด้วย เพราะอยากกินมาก แต่พอนั่งไปสักพักจิตก็รวมเป็นหนึ่ง รู้สึกสงบ ไม่นานเด็กได้ยินเสียงระฆัง ลืมตามาอีกทีปรากฏว่าไม่มีใครอยู่บนศาลาแล้ว มีแต่หลวงปู่ขาวนั่งอยู่ใกล้ ๆ ปรากฏว่าตอนนั้นเป็นเวลาบ่าย ๓ แล้ว แสดงว่าเด็กนั่งนาน ๖-๗ ชั่วโมง

    ความอยากนั้นถือว่าเป็นโลภะหรือตัณหา แต่หลวงปู่ขาวฉลาด ท่านเอามาใช้ในการชักชวนเด็กให้นั่งสมาธิ ซึ่งเด็กก็สามารถทำได้ดี

    ในสมัยพุทธกาล มีเศรษฐีชื่อว่าอนาถบิณฑิกเศรษฐี ลูกชายคนหนึ่งของท่านไม่ค่อยสนใจธรรมะ ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้ว แต่ว่าสอนลูกไม่ได้ จึงออกอุบายให้ลูกไปฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า ลูกอยากได้เงินจึงไปฟังธรรมที่เชตวัน แต่ก็ไม่ได้ฟัง แค่ไปนั่งเฉย ๆ ปล่อยใจลอย คิดโน่นคิดนี่ ฟังธรรมเสร็จก็กลับบ้านมาขอเงินพ่อ พ่อก็ให้ ทำแบบนี้ครั้งสองครั้ง พ่อจึงกำชับว่า เวลาไปฟังธรรมครั้งต่อไปก็ให้จดจำคำสอนของพระพุทธองค์ แล้วกลับมาเล่าให้ฟัง

    ด้วยความอยากได้เงิน เมื่อไปฟังธรรมครั้งต่อไปเขาจึงตั้งใจฟัง และพยายามจดจำคำสอนให้ได้ แต่พระพุทธองค์ทรงบันดาลให้เขาจำไม่ค่อยได้ ได้หน้าลืมหลัง จึงต้องตั้งใจฟังมากขึ้น พอตั้งใจฟังมากขึ้น ก็เข้าใจธรรม ถึงขั้นบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบัน พอกลับมาบ้าน พ่อจะให้เงิน ลูกก็บอกว่าไม่ต้องแล้ว เพราะได้รับสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินคือธรรมะ

    ความอยากได้เงินเป็นโลภะ เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง แต่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีก็เอามาใช้ทำให้ลูกชายเห็นธรรม แบบนี้เรียกว่าใช้ตัณหาละตัณหา

    ขอให้เราตระหนักว่า แม้มีอกุศลธรรมเกิดขึ้นในใจ มันก็ไม่ใช่สิ่งเลวร้ายที่จะต้องผลักไส กดข่ม อกุศลธรรมก็มีประโยชน์ มันเกิดขึ้นเพื่อให้เราเรียนรู้ ให้เราฝึกสติ ฝึกให้รู้ทันมัน มันมาเพื่อให้เราจดจำมันได้ ถ้ามันเกิดขึ้นบ่อย ๆ แล้วเรามีสติ เห็นมัน จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า การจดจำภาวะอารมณ์ เมื่อมันเกิดขึ้นอีก เราจะจำมันได้เร็วขึ้น เมื่อเราจำมันได้เร็วขึ้น เราก็จะปล่อยวางได้เร็วขึ้น และไม่ถลำเข้าไปในอารมณ์นั้น

    คนเราเกิดโลภะ โทสะ? ปีหนึ่ง ๆ นับครั้งไม่ถ้วน วันหนึ่งก็หลายครั้ง แต่ก็ยังปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีก ปล่อยให้มันเล่นงานจิตใจเราครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นเพราะอะไร เพราะเราไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้จดจำมัน เหมือนกับว่าเราปล่อยให้พวกสิบแปดมงกุฏ มาหลอกเอาเงินเราครั้งแล้วครั้งเล่า มันเป็นคนเดิม หน้าเดิม แต่มันก็หลอกเราครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะเราไม่ได้เรียนรู้หรือจดจำมันเลย

    การเจริญสติ เป็นการฝึกให้เราเรียนรู้ จดจำมันได้ ทีแรกก็โดนกิเลส ตัณหา ความโลภมาหลอก แต่หลังจากที่มันเกิดขึ้น ครั้งแล้วครั้งเล่า สติก็จะทำให้เราจดจำมันได้ เมื่อมันมาอีก คราวนี้เรารู้จักแล้ว ไม่ยอมให้มันหลอกอีก เราแค่เห็น ไม่เข้าไปเป็น เข้าไปเป็นก็คือหลงเชื่อมัน หลงทำตามมัน แต่พอเราเห็น เราไม่เข้าไปเป็นแล้ว มันก็ทำอะไรเราไม่ได้ มันก็หน้าม้านกลับไป เพราะมันหลอกเราไม่ได้อีกแล้ว

    แต่ประโยชน์ของมันไม่ได้มีเท่านั้น มีมากกว่านั้น คือสอนให้เราเข้าใจไตรลักษณ์ คืออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่เข้าใจจากการอ่านหนังสือ แต่เข้าใจจากการได้เห็นความจริง ทั้งจากกุศลธรรมและอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นในใจ ความฟุ้งซ่าน ความง่วงหงาวหาวนอน ความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ เหล่านี้ล้วนสอนธรรมได้ทั้งสิ้น สอนให้เห็นถึงความไม่เที่ยง สอนให้เห็นว่า มันทนอยู่ไม่ได้นาน คือทุกขัง เพราะมันพร่อง ไม่สมบูรณ์ ถูกบีบคั้นด้วยความเกิด ความดับ และมันไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่อาจยึดว่าเป็นเรา เป็นของเราได้

    อันนี้คือประโยชน์อย่างหนึ่งที่เราควรจะมองให้เห็นจากอกุศลธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ใช่เห็นแล้วคิดแต่จะไปผลักไส เราต้องรู้จักใช้มันให้เกิดประโยชน์ ถ้าเราตระหนักว่าทุกอย่างล้วนมีประโยชน์ มันจะทำให้เรายอมรับสิ่งต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เมื่อเรารู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ หรือรู้จักวางใจเป็นกลางต่อสิ่งต่าง ๆ ก็ไม่มีอะไรที่ทำให้เราทุกข์ได้ ความทุกข์ในใจ ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะว่ามีสิ่งแย่ ๆ เกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเรารู้สึกกับมันอย่างไร ถ้าเรารู้สึกลบ เราก็เป็นทุกข์ ถ้าเราไม่รู้สึกลบ ใจเราก็เป็นปกติ ไม่ว่าจะเป็นเสียงดัง แดดร้อน อากาศหนาว คำต่อว่าด่าทอ ความเจ็บป่วย ความสูญเสีย ถ้าเรายอมรับได้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ ใจก็เป็นปกติ แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ข้างหน้าเราคือความตาย ใจก็ยังสงบเย็นได้
    :- https://visalo.org/article/5000s17_2.html

     
  8. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อดอาหารจากใจถึงใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    ม็อบรับจ้างนั้นพร้อมเสมอที่จะส่งเสียงเอ็ดตะโร ขว้างปาก้อนหิน ปิดถนน แต่ไหนเลยจะกล้าอยู่นิ่งให้ตำรวจทุบตีจนเลือดอาบ

    ชาวบ้านซึ่งโลภไม่รู้จักพอพร้อมเสมอที่จะเดินขบวนถือป้าย ตากแดดตากฝน ชุมนุมล้อมทำเนียบ แต่ใครเลยจะยอมอดอาหารไม่มีกำหนด หรือแม้แต่อดนานเป็นอาทิตย์ก็เถอะ

    ในทำนองเดียวกัน คนที่อดอาหารเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัว ย่อมทำเช่นนั้นไม่ได้นาน เพราะถึงเงินหมื่นเงินแสนจะหอมหวาน แต่ก็ไม่อาจเทียบกับชีวิตได้ ใครบ้างที่จะยอมเอาชีวิตไปเดิมพันกับเงินซึ่งไม่แน่ว่าจะได้มาหรือไม่

    การที่ชาวบ้านจากสมัชชาคนจนพร้อมกันดาหน้าปีนกำแพงทำเนียบทั้ง ๆ ที่รู้ดีว่าเสี่ยงต่อการถูกทุบตีเป็นอย่างยิ่ง เป็นเครื่องพิสูจน์เกินพอแล้วว่าพวกเขาไม่ใช่ม็อบรับจ้าง พวกเขายาตรามากรุงเทพ ฯ เพราะความทุกข์ที่เรื้อรังสะสมมานานปี โดยการยอมให้ตำรวจทุบตีอย่างดุษณี พวกเขาได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความทุกข์ที่ผลักดันเขามาหน้าทำเนียบนั้นมากมายกว่าความเจ็บปวดจากการทุบตีของตำรวจหลายเท่านัก

    วันนี้พวกเขาอาจหลุดพ้นจากข้อหา”ม็อบรับจ้าง”ไปมากแล้ว กระนั้นตราบาปที่รัฐบาลและคนกรุงเทพ ฯ จำนวนไม่น้อยประทับบนหน้าผากของเขาว่า”โลภไม่รู้จักพอ” ก็ยังติดอยู่

    ถึงตอนนี้พวกเขาแทบไม่มีหนทางใดอีกแล้วที่จะลบล้างข้อกล่าวหานั้น นอกจาก
    การอดอาหาร พวกเขาอดอาหารมิใช่เพื่อยืนยันถึงความบริสุทธิ์ใจของพวกเขาเท่านั้น หากยังเพื่อตอกย้ำตนเองให้แน่วแน่มั่นคงอยู่บนหนทางที่ถูกต้องและชอบธรรม

    การอดอาหารนั้นเป็นสันติวิธีประเภทหนึ่ง แต่สันติวิธีประเภทนี้มิได้มุ่งหวังให้เกิดพลังทางการเมืองหรือก่อผลกระทบต่อสังคมเท่านั้น หากยังเป็นไปเพื่อผลในทางจิตใจของผู้กระทำด้วย
    นั่นคือเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เกิดเจตนาอันบริสุทธิ์

    การอดอาหารกับการชำระให้สะอาดบริสุทธิ์นั้นเป็นเรื่องที่แยกจากกันไม่ออก ในวงการสุขภาพ เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้นแล้วว่า การอดอาหารนั้นช่วยชำระอวัยวะภายในให้ปลอดจากสารพิษและสิ่งปฏิกูลได้เป็นอย่างดี

    ในทางจิตใจ การอดอาหารช่วยให้จิตใจสงบได้ง่าย ความคิดฟุ้งซ่านน้อยลง (ซึ่งเป็นอาการที่สัมพันธ์กับร่างกายที่ทำงานช้าลง) ในสภาวะเช่นนี้ กิเลสโดยเฉพาะกามราคะและความโลภจะระงับลง หรือกำเริบไม่บ่อย เกิดความรู้สึกโปร่งเบา ด้วยเหตุนี้นักปฏิบัติธรรมจำนวนไม่น้อยที่เน้นภาวนาแบบสมถะ จึงนิยมการอดอาหารครั้งละหลายวัน

    ในทำนองเดียวกันนักสันติวิธีหลายคนเลือกที่จะอดอาหารท่ามกลางการต่อสู้เรียกร้อง ทั้งนี้เพื่อลดทอนหรือสยบความโกรธเกลียดและความเห็นแก่ตัวอันอาจเกิดขึ้นระหว่างการเผชิญหน้ากับคู่กรณี ขณะเดียวกันก็ใช้โอกาสนี้พิจารณาทบทวนการกระทำของตนเอง ว่าเป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวมหรือเพื่อประโยชน์ส่วนตน เป็นไปเพื่อความถูกต้องชอบธรรมหรือเพื่อสนองทิฏฐิมานะของตนเอง การอดอาหารช่วยให้เห็นตนเองได้ชัดเจนขึ้นก็เพราะในยามนี้กิเลสคลายอำนาจในการครอบงำจิต จิตสงบและใสขึ้น จึงเห็นตนเองตามที่เป็นจริงได้ง่าย

    สันติวิธีจะมีพลังได้ก็เพราะมีธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนั้นนักสันติวิธีจึงจำเป็นต้องตรวจสอบและรักษาแนวทางการต่อสู้ให้สอดคล้องกับธรรมเสมอ จึงจะบรรลุจุดมุ่งหมายได้

    นี้คือเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่สมาชิกสมัชชาคนจนประกาศอดอาหาร หลายคนกล่าวว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะต้องการปฏิบัติธรรม กล่าวอีกนัยหนึ่งพวกเขาปรารถนาที่จะขัดเกลาตนเอง
    เพื่อให้แน่ใจว่าที่มาเรียกร้องหน้าทำเนียบนั้นมิใช่เพราะโลภไม่รู้จักพอ หลายคนบอกว่าต้องการแผ่เมตตาให้รัฐบาล เมตตาจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยจิตใจที่เบาบางจากความโกรธเกลียด การอดอาหาร
    เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยบรรเทาความโกรธเกลียดได้ จึงช่วยให้การแผ่เมตตาเป็นไปได้อย่างแท้จริง

    การอดอาหารเป็นโอกาสที่ชาวบ้านจะได้พิสูจน์(ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น)ว่าการต่อสู้เรียกร้องของตนนั้นทำด้วยเจตนาที่เห็นแก่ตัวหรือเพื่อความถูกต้องชอบธรรม ทำเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือเพื่อพี่น้องจำนวนมากมายที่ทุกข์ยากเดือดร้อนเพราะการพัฒนาที่ไม่เป็นธรรม การอดอาหารเป็นเครื่องพิสูจน์เจตนาก็เพราะว่าต่อเมื่อมีใจมุ่งมั่นแน่วแน่ในธรรมเท่านั้น จึงจะอดอาหารได้อย่างยืนหยัดอดทน คนที่เห็นแก่ตัวเองย่อมปราศจากกำลังใจที่จะยืนหยัดในวิธีการนี้

    และด้วยจิตที่มุ่งธรรมเท่านั้น การอดอาหารจึงจะสอดคล้องกับพุทธวิธี แม้จะต้องอดถึงตายก็ตาม ก็พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสไว้หรือว่า “นรชนควรสละทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ควรสละอวัยวะเมื่อรักษาชีวิต ควรสละทรัพย์ อวัยวะ และชีวิตเมื่อระลึกถึงธรรม”

    ถึงที่สุดแล้ว การอดอาหารของชาวบ้านแห่งสมัชชาคนจนเป็นการประกาศให้สังคมไทยรับรู้ว่า ความทุกข์ที่พวกเขาและญาติพี่น้องกำลังเผชิญอยู่นั้นยิ่งใหญ่กว่าความทุกข์ทรมานจากการอดอาหารมากมายหลายเท่านัก อีกทั้งความเป็นธรรมที่พวกเขาเรียกร้องก็มีคุณค่าอย่างยิ่ง ถึงขั้นที่เขาพร้อมจะแลกด้วยชีวิต ความเป็นธรรมนั้น ใคร ๆ ก็พูดได้ตราบใดที่ยังอยู่ในห้องแอร์ มีกินมีใช้สุขสบาย แต่ถ้าเขายังเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ทั้ง ๆ ที่กำลังทุกข์ทรมานอยู่นั้น นั่นแสดงว่าสิ่งที่เขาเรียกร้องต้องมีความหมายต่อตัวเขามาก มากจนเข้าพร้อมจะสละชีวิตเพื่อให้ได้มา

    วันนี้สมัชชาคนจนได้พิสูจน์ให้คนกรุงเทพ ฯ เห็นแล้วว่าตนโลภไม่รู้จักพอหรือไม่ บัดนี้ถึงคราวที่คนกรุงเทพ ฯ ที่กล่าวหาเขาเหล่านั้น ควรจะพิสูจน์ตนเองบ้างว่า ตนเองก็ไม่ได้โลภอย่างนั้นเหมือนกัน การกล่าวหาคนที่ยากจนข้นแค้นว่าโลภไม่รู้จักพอ ในขณะที่ตัวเองอยู่อย่างสุขสบายนั้นเป็นความไม่ชอบธรรมอย่างยิ่ง ร้ายไปกว่านั้นก็คือทั้ง ๆ ที่สุขสบายแล้ว ก็ยังเรียกร้องให้ชาวบ้านเสียสละด้วยการยอมสูญเสียบ้านเรือนไร่นาและแหล่งยังชีพ(เช่นป่าเขาและแม่น้ำ) เพื่อสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าและน้ำราคาถูกให้แก่ตนต่อไป ก็ชาวบ้านที่กำลังชุมนุมหน้าทำเนียบเหล่านี้มิใช่หรือที่เป็นผู้เสียสละให้คนกรุงเทพ ฯ มาแล้ว แต่ขณะที่พวกเขาจนลง เรากลับรวยขึ้น เท่านั้นยังไม่พอ เรายังจะเฉยเมยต่อความทุกข์ยากของเขา และเรียกร้องให้เขาอดทนรับผลแห่งการเสียสละต่อไปอีกหรือ

    อย่าปล่อยให้พวกเขาทุกข์ไปกว่านี้อีกเลย อย่างน้อยก็ช่วยบอกรัฐบาลทีว่า ใครกันแน่ที่โลภไม่รู้จักพอ

    :- https://visalo.org/article/matichon254308.htm
     
  9. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    สามมิติของชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    ผู้คนส่วนใหญ่มักอยากให้ชีวิตยืนยาว แต่ชีวิตมิใช่เส้นตรง หากยังมีมิติอื่น ๆด้วย หากเปรียบชีวิตดังกระแสน้ำ ชีวิตก็ต้องมีอย่างน้อยสามมิติ คือ ยาว กว้าง และลึก ดังนั้นการมีอายุยืนยาวจึงไม่ช่วยให้ชีวิตสมบูรณ์ แต่จะต้องมีความกว้างด้วย นั่นคือ มีจิตใจกว้างขวาง เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ มีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์รู้สึกเชื่อมโยงกับสรรพชีวิต และรับผิดชอบส่วนรวม ชีวิตที่ยืนยาวแต่ใจแคบจิตเล็ก คิดถึงแต่ตัวเอง ไม่อาทรเพื่อนมนุษย์ หรือไม่สนใจส่วนรวมเลย ย่อมเป็นชีวิตที่สมบูรณ์ไม่ได้

    แต่นอกเหนือจากความกว้างแล้ว ชีวิตที่ดีต้องมีความลึกด้วย นั่นคือมีความลุ่มลึกในจิตใจ สามารถหยั่งถึงความสุขภายใน รวมทั้งประจักษ์แจ้งถึงความจริงที่ลึกซึ้งที่สุดของมนุษย์ นั่นคือ ความไม่มีตัวตน (อนัตตา) ความจริงดังกล่าวซุกซ่อนอยู่ในส่วนลึกที่สุดของมนุษย์ ที่ยากจะหยั่งถึงได้หากขาดการใคร่ครวญด้วยปัญญาอย่างลึกซึ้ง โดยปราศจากอคติและด้วยใจที่เป็นกลางอย่างแท้จริง ตราบใดที่มองไม่เห็นความจริงดังกล่าว เราก็จะถูกครอบงำด้วยความหลงและเกิดความสำคัญมั่นหมายในตัวตน หวงแหนในตัวตนและเห็นแก่ตัวเป็นอย่างยิ่ง ผลก็คือจิตใจคับแคบ ชีวิตตื้นเขิน แม้จะมีชีวิตยืนยาวแต่ก็หาประโยชน์มิได้ กลับสร้างปัญหามากมายให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น

    ชีวิตลุ่มลึกได้ก็เพราะมีปัญญาฉันใด จิตใจกว้างขวางได้ก็เพราะมีเมตตาฉันนั้น ปัญญาและเมตตาจึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่เติมเต็มชีวิตให้สมบูรณ์ แต่ก็ไม่ใช่ง่ายที่ปัญญาและเมตตาจะบังเกิดขึ้นมาในใจ เพราะทุกวันนี้รอบตัวล้วนอบอวลด้วยบรรยากาศแห่งความโกรธ เกลียด กลัว ระคนด้วยสิ่งยั่วยุให้หมกหมุ่นใน กิน กาม เกียรติ ในยามนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีสติ หาไม่ก็จะถูกอกุศลทั้ง ๖ ก.นั้นครอบงำจิตใจ

    กิน กาม เกียรตินั้น เป็นปัญหาของสังคมไทยมานานแล้วนับแต่กระแสบริโภคนิยมไหลบ่า แต่ในช่วงไม่กี่ปีหลัง โกรธ เกลียด กลัว ได้ปกคลุมจิตใจของผู้คนมากขึ้น ทำให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายและแตกแยกอย่างรุนแรง จนพร้อมจะห้ำหั่นทำร้ายกัน อย่างน้อยก็ด้วยวาจา โดยไม่สนใจเหตุผลและความถูกต้อง (หาไม่ก็เอาความถูกต้องมาผูกติดกับตัวเองหรือพวกของตัว ดังนั้นใครที่คิดหรือทำต่างจากตน ก็กลายเป็นผิดไปหมด หรือหนักกว่านั้นคือ อะไรที่ตนหรือพวกตนทำ ย่อมถูกต้อง แต่หากสิ่งเดียวกันนั้นกระทำโดยผู้อื่นหรือพวกอื่น ย่อมกลายเป็นผิดไปหมด)

    หากไม่ชอบใคร ก็อย่าเอาผู้นั้นเป็นครู หรือเลียนแบบการกระทำของเขา ถึงเขาจะด่าเราอย่างเสีย ๆ หาย ๆ นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราควรจะด่ากลับ ท่านอาจารย์พุทธทาสเตือนใจได้ดีมากเมื่อท่านพูดว่า หมาเห่า อย่าเห่าตอบ เพราะจะทำให้มีหมาเพิ่มอีกหนึ่งตัว

    ถึงจะไม่ชอบใคร ก็อย่าเหมารวมว่าเขาผิดหรือเลว และถึงแม้เขาจะทำผิด ก็อย่าลืมว่าเขาเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับเรา รักสุขเกลียดทุกข์เหมือนเรา รวมทั้งมีสิทธิเสรีภาพบางอย่างที่เราไม่อาจละเมิดได้ เช่น สิทธิเสรีภาพในชีวิต เราจึงไม่ควรมองเขาเป็นปีศาจหรือตัวเลวร้ายที่เราจะทำอย่างไรกับเขาก็ได้ ความคิดว่า “คนผิดมีสิทธิเป็นศูนย์” ไม่เพียงเป็นอันตรายต่อผู้อื่นเท่านั้น หากยังเป็นอันตรายต่อตัวเราเอง เพราะมันสามารถกัดกร่อนความเป็นมนุษย์ในตัวเรา ทำให้ความโกรธเกลียดครอบงำจิตใจ จนสามารถทำสิ่งเลวร้ายหรือสนับสนุนให้เกิดการกระทำอันเลวร้ายได้ ซึ่งในที่สุดย่อมนำไปสู่ความรุนแรงในสังคม ดังที่เกิดขึ้นมาหลายครั้งแล้ว โดยเฉพาะเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ไล่มาจนถึงเหตุการณ์นองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

    ความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นความรุนแรงครั้งแล้วครั้งเล่าคือเครื่องบ่งชี้ถึงความพิกลพิการบางอย่างในสังคมไทย มันมิใช่ความพิกลพิการในทางโครงสร้างเท่านั้น อันจำเป็นต้องมีการปฏิรูปอย่างเร่งด่วนเท่านั้น หากยังสะท้อนถึงความพิกลพิการทางจิตสำนึกหรือทางวัฒนธรรม ที่ต้องได้รับการแก้ไขด้วยเช่นกัน

    สังคมไทยต้องการการปรับเปลี่ยนอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง ด้วยวิธีนี้เท่านั้นสังคมไทยจึงจะมีอนาคตที่ยืนยาวได้
    :- https://visalo.org/article/buddhika5310.htm
     
  10. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    เตรียมตัวสอบไล่วิชาชีวิต
    พระไพศาล วิสาโล
    มีการอุปมาว่าชีวิตเปรียบเหมือนการเดินทาง การเดินทางนั้นต้องมีจุดหมาย ใครที่เดินทางโดยไม่มีจุดหมาย ก็ไปไม่ถึงไหน หรือวกวน ถ้าชีวิตไร้จุดหมาย ก็ล่องลอยไปตามยถากรรม เหมือนกับสวะที่ลอยไปในแม่น้ำ การกำหนดจุดหมายชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ

    แต่ว่าชีวิตกับการเดินทางมีความแตกต่างกันอยู่อย่างหนึ่ง ในการเดินทางนั้น จุดหมายกับปลายทางเป็นเรื่องเดียวกัน แต่สำหรับชีวิต จุดหมายกับปลายทางไม่เหมือนกัน จุดหมายชีวิต กับปลายทางชีวิต เป็นคนละเรื่องเลยก็ว่าได้

    จุดหมายชีวิตก็คือภาพฝันที่เราอยากไปให้ถึง และเราต้องขวนขวายใช้ความเพียร จึงจะไปถึงจุดหมายชีวิตได้ ไม่ว่าจุดหมายนั้นจะหมายถึงความสำเร็จในการงาน ความมั่งมี ร่ำรวย มียศศักดิ์อัครฐาน หรือการบรรลุธรรมก็แล้วแต่ ใคร ๆ ก็อยากบรรลุถึงจุดหมายชีวิต แต่ปลายทางชีวิตนั้นไม่ค่อยมีใครอยากคิด ไม่ค่อยมีใครอยากถึง แม้กระนั้นทุกคนก็ต้องไปถึงปลายทางชีวิตอย่างแน่นอน ขณะที่จุดหมายชีวิตนั้น บ้างก็ถึง บ้างก็ไม่ถึง

    ปลายทางชีวิตคืออะไร ก็คือความตายนั่นเอง อย่างบทสวดพิจารณาสังขารที่เราเพิ่งสาธยายเมื่อครู่ ข้อความว่า “ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ” จุดหมายชีวิตต้องใช้ความเพียรจึงจะถึง แต่ปลายทางชีวิตไม่ต้องใช้ความเพียรเลย อย่างไรก็มาถึงแน่ อันนี้คือความจริงของชีวิตที่เราต้องระลึกอยู่เสมอ แต่คนส่วนใหญ่มัวสนใจแต่จุดหมายชีวิต ตั้งแต่เล็กจนโต สิ่งที่เราทำมาตลอดก็คือการพยายามบรรลุถึงจุดหมายชีวิต เรียนหนังสือก็ต้องทำคะแนนให้ได้ดี ๆ จะได้สอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง หรือสอบเข้าคณะที่จะให้มีอาชีพมั่นคง ทำเงินได้ หลายคนอยากประสบความสำเร็จในการงาน รวมทั้งการมีครอบครัวที่ผาสุก นี้คือจุดหมายชีวิตของคนหลายคน

    แต่น้อยคนนักที่จะคิดถึงเรื่องปลายทางชีวิต ทั้ง ๆ ที่มันต้องมาถึงอย่างแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว เป็นเพราะว่าผู้คนส่วนใหญ่คิดถึงแต่การบรรลุจุดหมายของชีวิต โดยไม่สนใจว่าสักวันหนึ่งชีวิตจะมาถึงปลายทาง และเมื่อวันนั้นมาถึง ก็เลยทุกข์ทรมาน ทุรนทุราย กระสับกระส่าย สุดท้ายก็ตายไม่ดี ศพไม่สวย นี้คือโศกนาฏกรรมของผู้คนจำนวนมาก

    ถ้าไม่อยากเจอแบบนี้ เราก็ต้องใส่ใจทั้งจุดหมายชีวิตและปลายทางชีวิต อย่าไปคิดว่าเรายังเป็นหนุ่มเป็นสาว ดั้นด้นไปให้ถึงจุดหมายชีวิตก่อน ส่วนปลายทางชีวิตค่อยว่ากันทีหลัง อันนี้เป็นความประมาทอย่างยิ่ง เพราะเราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า เราจะถึงจุดหมายชีวิตก่อนที่จะถึงปลายทางชีวิต

    หลายคนสิ้นชีวิตก่อนที่จะถึงจุดหมาย อุตส่าห์เรียนมา ๑๐ ปี ๒๐ ปี สะสมเงินทอง หรือพยายามดิ้นรนหางานที่มั่นคง แต่ปรากฏว่าไม่ทันไปถึงจุดหมายชีวิตที่ฝันใฝ่ก็ตายเสียก่อน สิ่งที่พากเพียรเรียนมา รวมทั้งสิ่งที่สะสมมาอย่างเหนื่อยยากก็ช่วยอะไรไม่ได้เลย เมื่อความตายมาถึง มันไม่ช่วยให้เรามีความพร้อมในการรับมือกับความตายเลย

    ผู้คนเป็นอันมากทุกข์ทรมานเมื่อความตายมาถึง ก็เพราะประมาท คิดว่าอีกนานกว่าจุดจบของชีวิตจะมาถึง บางคนคิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเตรียมหรอก มันมาถึงเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากัน ตอนนี้ฉันขอมีความสุข ขอใช้ชีวิตให้เต็มร้อยก่อน เอาไว้เมื่อแก่แล้วค่อยนึกถึงความตายก็แล้วกัน หรือเมื่อถึงวันนั้นก็ค่อยเตรียมตัวแล้วกัน เรียกว่าไปตายเอาดาบหน้า

    มีนักเขียนคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน อยู่นิวยอร์ก เขาเป็นนักเขียนแนวประชดประชัน เขาเคยเขียนว่า “ความตายนั้นไม่ยากหรอก หาที่จอดรถในนิวยอร์กยากกว่าเยอะ” อันนี้เขาอาจจะพูดประชดคนนิวยอร์กก็ได้ ที่คิดว่าความตายเป็นเรื่องเล็กน้อย มันมาเมื่อไหร่ก็ค่อยว่ากันเมื่อนั้น ว่าแต่ว่าตอนนี้ขอหาที่จอดรถให้ได้ก่อน จะว่าไปแล้วคนส่วนใหญ่ก็คิดอย่างนี้ คิดว่าความตายไม่ใช่เรื่องที่ต้องคิดมาก คิดไปก็อัปมงคลเปล่า ๆ ก็เลยไม่กระตือรือร้นที่จะเตรียมตัว แต่สำหรับชาวพุทธ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญทีเดียว

    ด้วยเหตุนี้พระพุทธเจ้าจึงนำประเด็นนี้มาตรัสเตือนเป็นปัจฉิมโอวาท คนเราเมื่อจะตาย ถึงเวลาต้องสั่งเสีย ก็จะพูดในเรื่องที่สำคัญที่สุด พระพุทธองค์ก็เช่นกันทรงถือว่าความไม่ประมาทเป็นสิ่งสำคัญ จึงตรัสเป็นทำนองสั่งเสียก่อนปรินิพพาน ว่า “ สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงทำประโยชน์ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” พระองค์ทรังสั่งเสีย หรือแสดงปัจฉิมโอวาทเพียงแค่ ๒ ประโยค เทียบกับปฐมเทศนาแล้วต่างกันมาก เพราะปฐมเทศนามีความยาวมาก แต่ปัจฉิมโอวาทนี้แค่ ๒ บรรทัด แต่เป็น ๒ บรรทัดที่สำคัญมาก ซึ่งเราควรตระหนัก

    สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ถ้าเป็นคน ก็หมายความว่า ต้องแก่ ต้องเจ็บ และต้องตาย คนเราต้องตายแน่ ๆ เพราะเหตุนี้เราจึงควรใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท พยายามใช้ทุกเวลาและนาทีที่ยังมีลมหายใจ เพื่อทำสิ่งที่มีคุณค่า มีประโยชน์ อย่าปล่อยให้มันผ่านเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

    การระลึกถึงความตาย ที่เรียกว่ามรณสติหรือมรณานุสติ เป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงส่งเสริมและเน้นย้ำ จัดว่าเป็น ๑ ในอนุสติ ๑๐ ประการ อนุสติหมายถึงสิ่งที่พึงระลึกนึกถึงเพื่อความเจริญงอกงามของชีวิต มรณสติหรือมรณานุสติเป็นข้อหนึ่ง ข้อที่เหลือได้แก่ พุทธานุสติ ธรรมมานุสติ สังฆานุสติ อย่างบทสวดมนต์ทำวัตรเช้าและเย็น เน้นการสร้างอนุสติ ๓ ประการ คือการน้อมใจให้ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพื่อเพิ่มศรัทธาในพระรัตนตรัย นอกจากนั้นก็มีสีลานุสติ คือการระลึกถึงความดีที่ได้ทำ จาคานุสติ คือ การระลึกถึงทานที่เราให้แก่ผู้อื่น เทวตานุสติ คือ การระลึกถึงเทวดา รวมทั้งอุปสมานุสติ คือการระลึกถึงพระนิพพาน แต่ที่มองข้ามไม่ได้ก็คือ มรณสติ เพื่อกระตุ้นให้เราเกิดความเพียรในการทำความดี หมั่นสร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งละเว้นความชั่ว

    ความตายเป็นเรื่องของอนาคตก็จริง แต่การนึกถึงก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย กลับมีประโยชน์ ถ้าหากว่ามันกระตุ้นเราหมั่นทำความเพียร อย่างมีพุทธภาษิตประโยคหนึ่งที่เราสาธยายกันหลายครั้ง “ความเพียรเป็นกิจที่ต้องทำวันนี้ ใครจะรู้ความตายแม้พรุ่งนี้” อันนี้เป็นการเตือนให้ระลึกถึงความตาย เพื่อเราจะได้หมั่นทำความเพียร เพื่อให้ชีวิตของเราเป็นชีวิตที่มีค่า มีประโยชน์ เรียกได้ว่าคุ้มค่ากับการเกิดมาเป็นมนุษย์

    แต่มองเพียงเท่านั้นยังไม่พอ เราควรระลึกถึงความตายอยู่เสมอ จะได้เห็นความสำคัญของการเตรียมตัวตายด้วย การใช้ชีวิตให้มีค่า กับการเตรียมตัวตายหรือการเตรียมตัวให้ตายดี สำคัญทั้งสองอย่าง จะขาดอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ เพราะว่ามันสัมพันธ์กันมาก ถ้าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า คือทำความดี สร้างบุญสร้างกุศล รวมทั้งทำหน้าที่ต่อคนที่เรารัก หรือมีความสำคัญต่อเรา เช่น พ่อแม่ ลูกหลาน ญาติมิตร รวมทั้งส่วนรวม การกระทำเหล่านั้นจะช่วยให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ คือเมื่อจะตาย ก็รู้สึกภาคภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นมนุษย์ ไม่เสียดายที่เกิดมาเป็นชาวพุทธ มันทำให้เราพร้อมตายได้
     
  11. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    หลายคนไม่พร้อมตาย เพราะรู้สึกว่าชีวิตที่ผ่านมาเป็นชีวิตที่ย่ำแย่ สร้างบาปกรรมไว้เยอะ ตอนที่ยังอยู่สบายก็ไม่สนใจทำความดี ไม่ถือเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอจะตายแล้วย้อนมองชีวิตที่ผ่านมา มันไม่มีอะไรที่ควรภาคภูมิใจเลย คนประเภทนี้จะพยายามต่อสู้ขัดขืนความตาย เพราะเขาอยากมีโอกาสกลับไปแก้ตัว

    สาเหตุที่หลายคนไม่อยากตาย ต่อสู้กับความตาย ไม่ใช่เพราะว่าเขากลัวตาย แต่เป็นเพราะว่าเขายังไม่พร้อมจะตาย อยากมีโอกาสทำความดีเพื่อแก้ตัว รวมทั้งให้เวลากับคนรัก ถ้าหากว่าเราใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ควรแก่การภาคภูมิใจ เราก็พร้อมจะตายได้มากขึ้น ความดีเหล่านั้นทำให้การตายของเราเป็นการตายที่ดีได้ ขณะเดียวกัน คนที่ตระหนักว่าหากจะต้องตายก็ขอตายดีให้ได้ เขาจะพยายามใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ไม่ปล่อยชีวิตไปตามยถากรรม หรือใช้ชีวิตไปตามอำนาจของกิเลส

    การตระหนักถึงความสำคัญของการตายดี จะทำให้เราไม่เพียงทำความดี ใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่าเท่านั้น แต่ยังเห็นความสำคัญของอีกสิ่งหนึ่ง นั้นคือการรู้จักปล่อยวาง เพราะถ้าเรายังยึดติดลูก พ่อ แม่ ทรัพย์สิน เงินทอง รวมทั้งการงาน ก็ตายดีได้ยาก มีตัวอย่างมากมายของคนที่ตายไม่ดี เพราะห่วงลูก ห่วงทรัพย์สมบัติ มีบางคนอายุมากและป่วยหนัก ใกล้จะตายแล้ว แทนที่จะนึกถึงบุญกุศล หรือนึกถึงพระรัตนตรัย กลับนึกถึงเงินที่ถูกยืมไป ถึงกับส่งจิตไปทวงเงินเพื่อนบ้าน ตัวป่วยอยู่ที่โรงพยาบาล แต่เพื่อนบ้านเห็นเขามาทวงเงิน จึงรีบมาหาที่โรงพยาบาลทันที เพื่อบอกว่าจะคืนเงินให้

    อีกรายหนึ่งเป็นอาม่า ป่วยหนัก อาม่าเป็นคนที่รักหลานมาก ทุกเย็นเวลากินอาหารก็จะคอยจ้ำจี้จ้ำไชหลานให้กินเยอะ ๆ ตามประสาคนจีน ช่วงที่อาม่านอนป่วยโคม่าอยู่ที่โรงพยาบาล ปรากฏว่าขณะที่หลานกำลังกินอาหารเย็นอยู่ที่บ้านกับพ่อแม่ จู่ ๆ หลานก็พูดโพล่งขึ้นมาว่า “อาม่า หนูพอแล้ว อิ่มแล้ว ไม่เอาแล้ว” พ่อแม่งงเลยว่าลูกพูดกับใคร เพราะตอนนั้นไม่มีใครอยู่เลยนอกจากพ่อ แม่ ลูก ครั้นถามลูก ลูกก็บอกว่าอาม่ามาสั่งให้กินข้าวเยอะ ๆ อาม่าคงจะส่งจิตมาด้วยความเป็นห่วงหลาน

    ถ้าหากว่าอาม่าตายตอนนั้นคงตายไม่ดี เพราะว่าห่วงหลานมาก ยายคนนั้นก็เช่นกัน ถ้าตายตอนนั้นคงตายไม่ดี เพราะว่ายังเป็นห่วงทรัพย์ อุตส่าห์ไปทวงเงินเขา

    ปล่อยวางในที่นี้ไม่ได้หมายถึงปล่อยวางเฉพาะคนรัก ของรัก หรือสิ่งที่ให้ความสุขกับเรา สิ่งที่ไม่รัก หรือทำความทุกข์ให้กับเรา ก็ต้องปล่อยวางด้วย เช่น ความโกรธ ความพยาบาท ความรู้สึกผิด อารมณ์เหล่านี้คอยทิ่มแทง รบกวนจิตใจคนใกล้ตายจำนวนมาก ทำให้ตายไม่สงบ ก่อนตายก็ทุรนทุราย บางคนตาค้าง บางคนมีอาการกระสับกระส่าย บางคนทั้ง ๆ ที่โคม่าแต่ก็น้ำตาไหลเวลามีใครบางคนมาเยี่ยม เพราะรู้สึกผิดที่เคยทำไม่ดีกับเขา อารมณ์ที่เป็นอกุศลบางครั้งปล่อยวางยากกว่าทรัพย์สินเงินทอง คนรัก หรือพ่อแม่เสียอีก

    คนที่ตระหนักว่าการตายดีเป็นสิ่งจำเป็น เขาจะเห็นความสำคัญของการฝึกใจให้ปล่อยวาง ไม่ใช่มาปล่อยวางเอาตอนกำลังจะตาย ซึ่งมักจะไม่ได้ผล เพราะว่าคนเราเวลาใกล้ตาย แม้ว่ากำลังวังชาจะอ่อนระโหย แต่กิเลสและนิสัยเดิม ๆ กลับรุนแรงมากกว่าเดิม

    ร่างกายไม่มีเรี่ยวไม่มีแรงแล้ว แต่นิสัย หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าสันดาน รวมถึงกิเลส มันกลับมีกำลังยิ่งกว่าเดิม อาละวาดหนักยิ่งกว่าเดิมเสียอีก ตอนที่ยังไม่ป่วย เราพอจะคุมกิเลส หรือคุมสันดานได้บ้าง แต่พอใกล้ตาย จะควบคุมได้ยากมาก กิเลสหรือนิสัยสันดานเดิม ๆ จะออกมารบกวนรังควานจิตใจอย่างรุนแรง ใครที่เป็นคนเจ้าอารมณ์ โทสะจะออกมามากตอนกำลังจะตาย เพราะฉะนั้น ใครที่คิดว่าถึงเวลาใกล้ตายค่อยเตรียมตัวให้ตายดี หรือเตรียมนิมนต์พระ เพื่อน้อมนำจิตให้ไปดี อย่างนี้มักจะไม่ได้ผล เพราะใจไม่ยอมน้อมตาม เนื่องจากกิเลสหรือสันดานยึดครองจิตใจอย่างแน่นหนา

    มีคุณยายคนหนึ่งเป็นอัลไซเมอร์จนลืมลูกลืมหลานหมดแล้ว แต่วัน ๆ หนึ่งแกไม่ทำอะไรเลย เอาแต่นั่งนับเงิน คอยดูสมุดบัญชี ดูรายการหนี้สิน หรือเงินที่ให้คนอื่นยืมไป จะตายอยู่แล้ว ลืมทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ไม่ลืมเรื่องเงิน จะให้ฟังธรรมก็ไม่เอา สนใจแต่เรื่องเงิน อย่างนี้จะตายดีได้อย่างไร แม้จะไปนิมนต์พระที่เป็นพระอาจารย์เจ้าที่มีคุณวิเศษมานำทางก็คงจะยาก

    ดังนั้น ถ้าเราเห็นความสำคัญของการตายดีก็จะต้องเตรียมตัวเสียตั้งแต่วันนี้ ไม่เพียงทำความดี สร้างบุญ สร้างกุศล พยายามห่างไกลจากความชั่ว แต่ต้องฝึกการปล่อยวางด้วย การเจริญสติที่เราทำที่นี่จะช่วยให้เรารู้จักปล่อยวาง จะว่าไปแล้วการปฏิบัติธรรมทั้งหลาย เริ่มตั้งแต่ทาน ศีล ภาวนา ก็ล้วนมีจุดมุ่งหมายให้เรารู้จักปล่อยวางทั้งสิ้น การให้ทานก็คือการสละ ฝึกให้เรารู้จักปล่อยวางทรัพย์สินเงินทอง แต่หลายคนให้ทานไม่เป็น ยิ่งให้ก็ยิ่งยึด หรือให้ด้วยความโลภ บริจาคสิบอยากได้ร้อย ถวายร้อยอยากได้ล้าน อย่างนี้จิตยิ่งยึดติดในทรัพย์มากขึ้น หลายคนทำบุญแล้วจิตยิ่งยึดติด ถ้าทำบุญเป็น จิตจะยิ่งปล่อยวาง ทำเพื่อละ ไม่ใช่ทำเพื่อเอา

    ศีลก็เช่นเดียวกัน เราทำเพื่อละ ไม่ใช่เพื่อเอา เอาในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเอาเงินเท่านั้น แต่รวมถึงเอาคำสรรเสริญเยินยอ เช่น อยากให้เขาชม อยากสร้างภาพให้ดูดี อันนี้เป็นกิเลสอย่างหนึ่ง

    ภาวนาก็เช่นกัน ถ้าภาวนาเพื่อจะเอา แม้แต่เอาบุญหรือเอาความสงบ กลับจะทำให้เราติดยึดมากขึ้น แต่ถ้าเราภาวนาเป็น จิตใจจะปล่อยวาง เวลามีความคิดเกิดขึ้นก็ปล่อยวาง ไม่หลงตามความคิด เวลามีความโกรธ มีความไม่พอใจเกิดขึ้น ก็รู้ทัน แล้วางได้ แม้แต่ความสงบเกิดขึ้นก็วาง ไม่ติด ไม่ยึด ไม่หวงแหน ถึงเวลาที่ความสงบจางคลายไปก็ไม่เสียดาย เวลามีใครมาต่อว่าด่าทอ ก็วางคำพูดเหล่านั้นลงได้ เวลามีทุกขเวทนา ความเจ็บปวด ก็วางมันลงได้ แต่ส่วนใหญ่ไม่วาง กลับยึดมัน

    ความโกรธเมื่อเกิดขึ้น เราจะรู้สึกทุกข์ แต่แปลกไหม เรากลับหวงแหนมัน เมื่อมันครองใจเราได้ มันจะสั่งเราให้คอยปกปักรักษามันเอาไว้ เป็นองครักษ์พิทักษ์ความความโกรธ รวมทั้งอารมณ์อื่น ๆ เช่น ความเศร้า เราจะหวงแหนอารมณ์เหล่านี้ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง แต่ถ้าเราหมั่นเจริญสติ เราก็จะไม่หลงกลมัน ปล่อยวางมันไปจากใจได้

    การภาวนาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่เพียงช่วยให้เราสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุข สงบเย็น แต่ก็ยังเป็นการเตรียมพร้อมให้เราสามารถตายดีได้ นี้คือวิชาหนึ่งที่เราต้องใส่ใจ คือ วิชาเตรียมตัวตาย เป็นหนึ่งในบรรดาวิชาชีวิตที่จะมองข้ามไม่ได้

    เราเรียนวิชาทางโลกหรือวิชาชีพก็ดีอยู่ แต่วิชาชีพส่วนใหญ่ไม่ช่วยให้เราพร้อมตายอย่างสงบหรือตายดีได้เลย บางครั้งอาจจะเป็นตัวหน่วงเหนี่ยวด้วยซ้ำ วิชาชีพนั้นเรียนไปแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ เพราะว่าไม่ได้ทำอาชีพการงานที่ตรงกับวิชาที่เรียน หรือว่าวิชาความรู้ที่เรียนมาล้าสมัยไปแล้ว เพราะโลกของเราตอนนี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก แต่วิชาชีวิต รวมทั้งวิชาเตรียมตัวตายนั้น เรียนแล้วได้ใช้แน่ แต่ก็แปลกที่ไม่ค่อยมีการสอนเท่าไหร่ มหาวิทยาลัยก็ไม่สอน โรงเรียนยิ่งแล้วใหญ่ ทั้ง ๆ ที่เราต้องเจอ ต้องใช้แน่ เป็นสิ่งบ่งชี้ว่าคนเราให้ความสนใจกับจุดหมายชีวิตมากเกินไป จนลืมปลายทางชีวิต แต่คนที่ฉลาดจะไม่ประมาท เพราะรู้ว่าปลายทางชีวิตเป็นสิ่งที่ต้องมาถึง จึงต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

    จะว่าไปแล้วความตายก็คือการสอบไล่ครั้งสุดท้ายของวิชาชีวิต วิชาทุกอย่างต้องมีการสอบ วิชาชีพที่เราเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เราต้องสอบอยู่เป็นประจำ เช่น สอบกลางภาค สอบปลายภาค เท่านั้นไม่พอ ยังมีการสอบเข้ามหาวิทยาลัย สอบสมัครงานด้วย วิชาชีวิตก็เช่นเดียวกัน เราต้องสอบ และเป็นการสอบไล่จริง ๆ คือถ้าสอบไม่ได้ก็ตกจริง ๆ คือ ตกอบาย วิชาชีพ วิชาในโรงเรียน หากเราสอบตก ก็ไม่ได้ตกจริง แค่ซ้ำชั้น แถมได้รับอนุญาตให้สอบแก้ตัวได้ด้วย เช่น สอบซ่อม สอบเอนทรานซ์ไม่ได้ก็สอบใหม่ สอบสมัครงานไม่ได้ก็สอบใหม่ บางคนสอบเนติบัณฑิต สอบมา ๑๐ ปีแล้วก็ยังสอบอยู่ พระหลายรูปสอบประโยค ๙ มา ๒๐ ปีแล้ว สอบไม่ได้ก็ยังสอบอยู่ แต่วิชาชีวิตนั้นถ้าสอบไล่ไม่ได้ก็ตกจริง ๆ จะสอบแก้ตัวไม่ได้ ไม่มีการสอบซ่อม

    ยิ่งกว่านั้น การสอบไล่ในวิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า วิชาทางโลกหรือวิชาชีพที่เราเรียนในมหาวิทยาลัยหรือในโรงเรียน เมื่อจะสอบก็มีการประกาศล่วงหน้าทุกครั้ง บางครั้งล่วงหน้าเป็นปี ทำให้เรามีโอกาสเตรียมตัว สามารถวางแผนได้ เช่น อีก ๑ เดือนจะมีการสอบ เราอาจจะเที่ยวสัก ๒ อาทิตย์ จากนั้นก็ค่อยเตรียมสอบ แต่การสอบไล่วิชาชีวิตไม่มีการประกาศล่วงหน้า เพราะฉะนั้นจะต้องพร้อมตลอดเวลา อย่าไปคิดว่าฉันเป็นหนุ่มเป็นสาว กว่าจะได้สอบไล่วิชาชีวิตก็คงอีก ๓๐ ปี ๔๐ ปี หรือ ๕๐ ปี ถ้าคิดแบบนี้ถือว่าประมาทมาก

    มีภาษิตธิเบตกล่าวว่า “ไม่มีใครรู้หรอกว่าระหว่างพรุ่งนี้กับชาติหน้าอะไรจะมาก่อน” อย่าไปคิดว่ามีพรุ่งนี้แล้วค่อยมีชาติหน้า มีคนไทยประมาณ ๑,๖๐๐ คน ที่วันนี้คือวันสุดท้ายของเขา พ้นจากวันนี้ไปก็คือชาติหน้า เราก็ไม่รู้หรอกว่าเราจะเป็น ๑ ใน ๑,๖๐๐ คนนั้นหรือไม่ ประมาทไม่ได้ เพราะฉะนั้น เราจะต้องเตรียมพร้อมอยู่เสมอ

    ถามตัวเองบ้างว่าวันนี้พร้อมตายหรือยัง ถ้าปลายทางชีวิตมาถึงวันนี้วันพรุ่ง พร้อมหรือเปล่า พร้อมที่จะเผชิญกับมันด้วยใจสงบหรือไม่ แต่ถ้าไม่พร้อมก็ไม่เป็นไร ขอให้เตรียมตัวเสียแต่วันนี้ เตรียมตัวเสียแต่นาทีนี้
    :- https://visalo.org/article/dhammamata12_1.html
     
  12. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    ความจริงของชีวิตที่ต้องรู้
    พระไพศาล วิสาโล
    พระพุทธเจ้าเคยตรัสว่า

    ความจริงของโลกนี้ไม่ต่างจากใบไม้ในป่า แต่ความจริงที่นำมาสอนนั้นเปรียบได้กับใบไม้ในกำมือ

    ใบไม้ในกำมือ หมายถึง ความจริงที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต เพื่อให้มีความสุขอย่างแท้จริง หรือเพื่อไกลจากความทุกข์ จนทุกข์ไม่สามารถทำอะไรจิตใจได้ พระพุทธเจ้าตรัสไว้เพื่อให้เรารู้ว่า ความจริงในชีวิตและในโลกนี้มีมากก็จริง แต่เราไม่จำเป็นต้องรู้หมด แค่รู้ในสิ่งที่สำคัญก็พอ

    ใบไม้นอกกำมือหรือใบไม้ในป่า นั้นอาจมีประโยชน์ แต่ไม่ช่วยให้พ้นจากความทุกข์ได้จริง หลายคนแม้มีความรู้มากแต่ก็ยังทุกข์อยู่ เพราะความรู้ที่รู้นั้นแม้เป็นความจริง แต่ไม่ใช่ความจริงที่ช่วยดับทุกข์ได้ ยังไม่ต้องพูดถึง ความรู้ที่คลาดเคลื่อนจากความจริง

    แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนเรายังต้องทำมาหากินและเกี่ยวข้องกับโลกรอบตัว ความรู้เฉพาะเรื่องเฉพาะส่วน หรือความรู้ที่เป็นใบไม้ในกำมือนั้น แม้ช่วยดับทุกข์ได้ก็จริง แต่อาจจะยังไม่พอสำหรับการเลี้ยงชีพหรือหน้าที่การงาน บางคนอาจจะต้องเรียนรู้เรื่องดินฟ้าอากาศ สิงสาราสัตว์ บางคนอาจจะต้องรู้เรื่องทอผ้า สร้างบ้าน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องใช้ในการทำมาหากิน ซึ่งต้องอาศัยความจริง เราเรียกความรู้เหล่านี้ว่า ศาสตร์หรือวิชาการ ศาสตร์เหล่านี้เปรียบเหมือนใบไม้นอกกำมือ

    เดี๋ยวนี้เราสนใจแต่ใบไม้ในป่า จนลืมสนใจใบไม้ในกำมือ ที่พระพุทธเจ้าได้เลือกเฟ้นมาให้แล้ว

    มีสำนวนกล่าวว่า ความรู้ท่วมหัว เอาตัวไม่รอด

    ความรู้ที่มีอยู่ท่วมหัวนั้นอาจเอามาใช้ในการทำมาหากินได้ แต่ไม่สามารถดับทุกข์ในใจได้ แม้จะมีอาชีพการงานที่มั่นคง ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไกลจากความทุกข์ แม้เป็นเศรษฐีก็ต้องอาศัยความรู้ที่มีอยู่ในการทำมาหากิน แต่พอมีความทุกข์เกิดขึ้นในจิตใจ กลับไม่สามารถจะแก้ทุกข์ได้ เพราะความรู้ที่มีนั้นส่วนใหญ่เอาไว้ใช้จัดการกับสิ่งนอกตัว จัดการกับธรรมชาติ จัดการกับสิ่งแวดล้อม หรือจัดการกับผู้คน

    แต่ไม่ใช่ความรู้ที่ช่วยในการเปลี่ยนแปลงตัวเอง หรือจัดการกับจิตใจของตนเอง

    คนที่เรียนธรรมะมาพอสมควรจะคุ้นเคยกับคำสอนของพระพุทธเจ้าเรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งหมายถึง ความจริงอันประเสริฐ เป็นความจริงของชีวิตที่ช่วยดับทุกข์ หรือช่วยแก้ทุกข์ในชีวิตของเราได้ อริยสัจเป็นเพียงใบไม้หนึ่งใบไม้ในกำมือของพระพุทธเจ้า ความจริงเรื่องนี้อาจจะไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงสิ่งภายนอก แต่สามารถเปลี่ยนแปลงจิตใจของเราเองได้

    อริยสัจ ๔ นั้นเริ่มต้นด้วยคำว่า ทุกข์ ทุกข์คืออะไร อยู่ที่ไหนบ้าง

    ทุกข์ หมายถึงความบีบคั้น ความพร่อง อยู่ที่กายและใจของเรา

    ความทุกข์ทางกาย นั้นชัดเจน เกิดมาแล้วก็แก่ เจ็บ ตาย
    ความทุกข์ทางใจ เช่น ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ยังไม่ต้องพูดถึงการพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น นี่คือสิ่งที่ทุกคนต้องประสบ

    ลองพิจารณาดู คนเราไม่ว่าจะยิ่งใหญ่สักเพียงไหน ก็หนีความทุกข์ไม่พ้น แต่ว่าเราไม่ค่อยใส่ใจที่จะทำความเข้าใจในสิ่งเหล่านี้ บางทีก็ถึงกับปฏิเสธ ไม่ยอมพูดถึงเลยก็มี เช่น ความตาย

    เกิดมาแล้ว ก็ต้องแก่ เจ็บ และตาย นี้คือความจริงของชีวิตที่ทุกคนต้องประสบไม่ช้าก็เร็ว แต่คนจำนวนไม่น้อยจะไม่นึกถึงความจริงนี้ เวลามีใครพูดถึงความตายก็จะห้ามไม่ให้พูด เพราะถือว่าเป็นอัปมงคล แม้แต่คำว่า ความตายก็พูดไม่ได้ ต้องพูดว่า จากไป เสีย มรณะ หรือสิ้นลมแทน เพราะเรากลัวคำว่ความตาย

    ซึ่งก็สะท้อนถึงจิตใจที่ปฏิเสธความจริง

    ด้วยเหตุนี้คนปัจจุบันจำนวนไม่น้อยจึงอยู่แบบลืมตาย มีผู้คนมากมายที่ลืมไปว่าตัวเองต้องตาย พอได้ยินว่ามีคนตาย หรือมีคนพูดเรื่องความตายขึ้นมาก็สะดุ้ง เพราะทำให้ระลึกได้ว่าเราก็ต้องตาย จึงไม่อยากได้ยิน ไม่อยากพูดถึง

    คนที่อยู่แบบลืมตายจะพยายามทำตัวให้วุ่น ทำใจไม่ให้ว่าง เพราะถ้าว่างเมื่อไหร่ จะหวนคิดเรื่องนี้ ดังนั้นเราจึงเห็นคนสมัยนี้ดูวุ่นไปหมด ทำงานให้วุ่น หรือถ้าว่างก็ไปเที่ยวห้าง ฟังเพลงสนุกสนาน ทำใจไม่ให้ว่าง คนเหล่านี้ไม่ตระหนักว่าถึงแม้จะอยู่แบบลืมตาย แต่ถึงอย่างไรก็เจอต้องเจอความตายอยู่วันยังค่ำ

    ความตายอาจจะไม่ได้มาทันที แต่จะมาอย่างช้าๆ อาทิ เป็นมะเร็ง โรคหัวใจ เบาหวาน ไตวาย รวมทั้งโรคที่เกี่ยวกับสมอง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง ทั้งหมดนี้เป็นโรคที่เป็นกันมากในปัจจุบัน ๗๐ –๘๐ เปอร์เซ็นต์ของผู้คนในยุคนี้ในที่สุดก็จะป่วยด้วยโรคเหล่านี้ทั้งสิ้น

    หลายคนพอได้ยินหมอบอกว่าคุณมีก้อนมะเร็งในร่างกาย ทั้ง ๆ ที่ยังไม่ใช่ระยะสุดท้าย ก็ตกใจ หมดเรี่ยวหมดแรง จากที่เคยสนุกสนานร่าเริงก็เปลี่ยนเป็นคนละคนทันที ซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ กินไม่ได้ มีสภาพเหมือนคนตายทั้งเป็น คือมีลมหายใจ แต่ไม่มีชีวิตชีวา

    คนหนึ่งเป็นพนักงานบริษัท ทำงานได้ตามปกติและยังเล่นเทนนิสเป็นประจำ อายุไม่ถึง ๔๐ ปี วันหนึ่งไปตรวจสุขภาพประจำปี หมอตรวจเสร็จก็บอกว่าคุณหัวใจรั่ว พอได้ยินอย่างนั้นเขาก็ตกใจ เพราะเข้าใจว่าหัวใจรั่วนั้นหมายความว่าหัวใจของเขามีรูรั่ว และมีเลือดพุ่งออกมาเวลาหัวใจเต้น ก็เลยเสียขวัญ เพราะแบบนี้ก็หมายความว่าจะอยู่ได้ไม่นาน ที่จริงหมอตั้งใจจะบอกว่า ลิ้นหัวใจของเขารั่ว ใครที่มีอาการแบบนี้ก็ยังสามารถทำงานได้ตามปกติ ออกกำลังกายก็ได้ แต่เป็นเพราะเขาเข้าใจผิดและปรุงแต่งเกินเลย เขาก็เลยทรุด สองวันจากนั้นก็ต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่นานก็เข้าห้องไอซียูแล้วก็ไม่กลับออกมาอีกเลย ที่จริงเขาไม่ได้เป็นอะไรมาก แต่หลังจากที่รู้ข่าวจากหมอ เขาก็มีชีวิตไม่ต่างจากคนตายทั้งเป็น

    ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เข้าใจว่าหัวใจรั่วนั้นหมายถึงอะไร

    อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่เคยนึกมาก่อนเลยว่าสักวันหนึ่งฉันต้องตาย

    เมื่อเข้าใจผิดว่าฉันกำลังจะตายก็เลยทำใจไม่ได้ วิตกกังวลอย่างหนัก จนร่างกายทรุดลงอย่างรวดเร็ว นี้เป็นผลของการไม่ยอมรับความจริงของชีวิต ว่าความตายเป็นธรรมดาของทุกคน บางคนไม่ยอมรับแม้กระทั่งว่า วันหนึ่งจะต้องเจ็บป่วย หลายคนยอมรับความจริงไม่ได้ว่า ตัวเองกำลังแก่ พอเห็นว่า ผิวหนังที่เต่งตึงเริ่มเหี่ยวย่น ผมเริ่มหงอก ตาเริ่มฝ้าฟาง กำลังวังชาลดน้อยถอยลง โดยเฉพาะผู้ชายพอเตะปี๊บไม่ดังก็มีความทุกข์มาก จิตใจกระสับกระส่าย

    นี่เป็นผลของการไม่ยอมรับความจริง

    ความเจ็บ ความแก่ และความตายเป็นเพียงแค่ส่วนเสี้ยวของความจริง ซึ่งเกิดขึ้นตลอดเวลา แต่กว่าจะเห็นก็ต้องใช้เวลา ความแก่กว่าจะปรากฏให้เห็นก็อายุประมาณ ๓๐ หรือ ๔๐ ปี ความเจ็บอาจจะแสดงตัวเมื่ออายุมากกว่านั้น และตามมาด้วยความตาย อาจจะเกิดขึ้น ๓๐ ถึง ๔๐ ปีข้างหน้า หรืออาจเกิดขึ้นพรุ่งนี้ก็ได้ แต่มีความจริงอีกหลายอย่างที่เราต้องประสบซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทุกวันนี้เราอาจไม่ค่อยมีความทุกข์ทางกายนัก เช่น ความร้อน ความหิว อาจจะมีความปวดเมื่อยบ้าง แต่ไม่นานก็หายไป แต่มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องเจออยู่บ่อย ๆ นั่นคือความทุกข์ใจ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีความพลัดพรากสูญเสีย เงินหาย โทรศัพท์ถูกขโมย สมบัติถูกโกง หรือถูกวิจารณ์ ถูกตำหนิ งานการล้มเหลว

    ความทุกข์ใจคือสิ่งที่เราต้องเจอเป็นประจำ ทั้งนี้มีสาเหตุแค่สองประการเท่านั้น คือประสบกับสิ่งที่ไม่เป็นที่รัก และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก นี้คือความจริงที่เราหนีไม่พ้น ที่จริงมีอีกข้อหนึ่งที่พระพุทธองค์ตรัสถึงก็คือ ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้น นั่นก็เป็นทุกข์ แต่อาตมาจะไม่พูดถึงข้อนี้มากนัก เพราะถึงแม้เราจะไม่ปรารถนาอะไรเลยก็หนีความจริงสองประการแรกไม่พ้น ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับสี่เรื่อง ดังนี้

    1. ร่างกาย เช่น ความแก่ ความเจ็บป่วย อาจจะรวมถึงความพิการด้วย หรือว่าสวยน้อยลง บางคนมีสุขภาพดี แต่พอหน้ามีสิว ผิวเป็นฝ้าก็ทุกข์แล้ว
    2. ทรัพย์สมบัติ เช่น เงินหาย รายได้น้อย ถูกโกง
    3. การงาน รวมถึงการเรียน เช่น ได้งานที่ไม่ชอบ ตกงาน ได้เกรดน้อย
    4. ความสัมพันธ์ เช่น อกหัก ทะเลาะกับเพื่อน เจ้านายไม่รัก ถูกติฉินนินทา รวมถึงเรื่องเสียหน้า ข้ามหน้าข้ามตา อันนี้เป็นเรื่องใหญ่มากในสังคมไทย
    การประสบกับสิ่งไม่รัก และพลัดพรากจากสิ่งที่รัก เป็นความจริงของชีวิต ที่ไม่มีใครหนีพ้น การที่เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้ก็เป็นผลจากความจริงที่ว่า อะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ทุกสิ่งย่อมตกอยู่ภายใต้ความเปลี่ยนแปลง เราเรียกความจริงข้อนี้ว่า อนิจจัง และอนิจจังก็โยงกับความจริงอีกข้อหนึ่งก็คือว่า ความแปรเปลี่ยนนี้ด้านหนึ่งทำให้เกิดความทุกข์ ขณะเดียวกันมันก็เป็นผลจากความบีบคั้น ความเสื่อมสลาย ของเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง เราเรียกความบีบคั้น ความเสื่อมสลาย ว่า ทุกขัง

    อนิจจัง ทุกขังเป็นความจริงของชีวิตข้อใหญ่ซึ่งเราต้องทำความเข้าใจ แต่ส่วนใหญ่เรามักละเลยความจริงสองข้อนี้ไป คือทั้งลืมและไม่ยอมรับความจริงดังกล่าว ฉะนั้นเมื่อเกิดความแปรเปลี่ยนขึ้นมา เกิดความพลัดพรากสูญเสีย รวมไปถึงความแก่ ความเจ็บ เราก็เลยมีความเศร้าโศก คับข้อง ร่ำไรรำพัน กลัดกลุ้มใจ พูดง่าย ๆ คือ ทุกข์ใจ

    เมื่อมีความเปลี่ยนแปลงในทางลบเกิดขึ้นกับร่างกาย ทรัพย์สมบัติ การงาน และความสัมพันธ์ ผู้คนย่อมมีความทุกข์ใจ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี ลำพังความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่ทำให้เราทุกข์ใจได้ ที่เราทุกข์ก็เพราะความยึดติดถือมั่นในสิ่งเหล่านั้น พอมันแปรเปลี่ยนไป หรือพลัดพรากจากเราไป เราก็เลยทุกข์ แต่ถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่น ถึงแม้มันจะเปลี่ยนแปลงไป เราก็ไม่ทุกข์ เช่น เงินหาย รถหาย ถ้าเราไม่ยึดมั่นว่าเป็นเงินของเรา รถของเรา เราก็ไม่ทุกข์ นั่นคือเหตุผลที่ว่าเวลารถของคนอื่นหาย หรือลูกของคนอื่นตาย เราจึงไม่ทุกข์ เราจะทุกข์ต่อเมื่อเงินที่หายนั้นเป็นของเรา คนที่ตายนั้นเป็นลูกของเรา เพื่อนของเรา
     
  13. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    เราทุกข์เพราะมีความยึดติดถือมั่นว่าเป็นเราเป็นของเรา เมื่อยึดมั่นแล้วก็อยากจะให้มันอยู่ยั่งยืน ไม่เปลี่ยนแปลง เช่น อยากให้ร่างกายนี้เป็นหนุ่มเป็นสาวเสมอ แข็งแรงตลอดเวลา อยากให้ทรัพย์สมบัติอยู่กับเราชั่วนิจนิรันดร์ เมื่อยังมีความยึดติดอย่างนี้ จึงเป็นทุกข์เวลาร่างกายเจ็บป่วย เวลาบ้านทรุด รถพัง หรือเมื่อสูญเสียพลัดพรากจากสิ่งเหล่านี้

    หรือในยามที่ต้องประสบกับสิ่งที่เราไม่รัก เช่น คำตำหนิ หรือความเจ็บป่วยเมื่อยอมรับความจริงไม่ได้ เราจะไม่ทุกข์กายแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะทุกข์ใจด้วย เช่น เมื่อเสียเงินจะไม่ใช่แค่เสียเงินอย่างเดียวแต่เสียใจด้วย หรือมีปัญหาเรื่องงานก็ไม่ใช่แค่เสียงานอย่างเดียวแต่เสียใจด้วย

    คำว่า ยึดติด มีความหมายหลายแง่มุม ที่สำคัญคือความยึดอยากจะให้มันเที่ยง หรืออยากให้เป็นไปอย่างที่เราหวัง ดังนั้นเมื่อถูกตำหนิวิพากษ์วิจารณ์ เราจึงทุกข์ เพราะปรารถนาคำชม ลูกสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ หรือเข้าคณะที่มีชื่อเสียงไม่ได้ เราก็ทุกข์ ที่เราทุกข์ไม่ใช่เป็นเพราะเขาสอบไม่ได้ แต่เป็นเพราะมันสวนทางกับความอยากหรือความคาดหวังของเรา เมื่อยึดติดกับความคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นไปตามความคาดหวังนั้น เราก็ทุกข์ ในทางตรงข้ามถ้าเราไม่คาดหวัง หรือไม่ยึดติดในความคาดหวังนั้น แม้เขาไม่ได้เราก็ไม่ทุกข์ เหมือนกับที่เราไม่ได้เดือนร้อนเมื่อลูกของเพื่อนสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เพราะเราไม่ได้คาดหวังอะไรเลยเกี่ยวกับเขา

    ความยึดติดนี้เอง คือความจริงอีกประการที่เป็นสาเหตุแห่งทุกข์ เรียกว่าสมุทัย สาเหตุที่มีความยึดติดก็เพราะหลง ไม่รู้ความจริง นั่นคืออวิชชา

    หลวงพ่อชา สุภัทโท พูดไว้เป็นกลอนกระชับมากว่า
    ทุกข์มีเพราะยึด
    ทุกข์ยืดเพราะอยาก
    ทุกข์มากเพราะพลอย
    ทุกข์น้อยเพราะหยุด
    ทุกข์หลุดเพราะปล่อย”

    ทุกข์มีเพราะยึด ทุกข์หลุดเพราะปล่อย ข้อนี้สำคัญมาก คำพูดของหลวงพ่อชาชี้ให้เห็นความจริงในส่วนที่เป็นสมุทัยและนิโรธ ทุกข์มีเพราะยึด คือสมุทัย ส่วน ทุกข์หลุดเพราะปล่อย คือนิโรธ กล่าวคือ คนเราจะพ้นทุกข์ได้ก็เพราะปล่อยวาง ที่เราปล่อยวางได้ก็เพราะมีปัญญาเห็นว่าไม่มีอะไรที่ยึดถือได้เลยสักอย่าง ปัญญาทำให้ตระหนักว่าอะไรๆ ก็ไม่เที่ยง ยึดถือไม่ได้เลย จึงเลิกยึด ไม่หยิบ ไม่ฉวย และปล่อยทุกอย่างที่เคยยึดเคยฉวย

    การไม่ยึดเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ก็เพราะว่าถึงแม้คนเราต้องแก่ เจ็บ และต้องตาย แต่ความจริงเหล่านี้จะไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลยถ้าเราไม่ยึดติดถือมั่นในตัวตน แต่ที่เราทุกข์เมื่อต้องแก่ เจ็บป่วย และตายก็เพราะเรามีความยึดอยู่ลึกๆ ว่าฉัน ต้องไม่แก่ ต้องไม่เจ็บ ต้องไม่ป่วย ต้องไม่ตาย คือเรายึดว่ามันเที่ยง ความแก่ความเจ็บความตายไม่ใช่ตัวการแห่งความทุกข์ใจ ตัวการแห่งความทุกข์ใจ คือใจที่ยึดอยาก ให้มันเที่ยง หรือยึดอยากให้มันเป็นอย่างที่เราต้องการ ถ้าเข้าใจตรงนี้เราก็จะพบว่า ความทุกข์ของคนเรานั้นอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่สิ่งนอกตัว ไม่ได้อยู่ที่ความเจ็บความป่วยด้วยซ้ำ

    หลายคนเป็นมะเร็งแต่ยังยิ้มได้ เพื่อนของอาตมาเป็นมะเร็งเต้านมและเสียชีวิต ในช่วงสองสามเดือนสุดท้ายเธอป่วยหนักจนต้องนอนอยู่บนเตียง เธอปฏิเสธที่จะเข้าโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาแบบแพทย์แผนปัจจุบัน เธอได้พูดไว้กับพวกเราว่า ช่วงสองปีหลังเป็นช่วงที่เธอมีความสุขมาก

    ทำไมคนที่เป็นมะเร็งระยะสุดท้าย ใกล้ตาย จึงมีความสุขได้

    ก็เพราะประการแรกเขายอมรับความจริงได้ว่าความเจ็บป่วยและความตายเป็นเรื่องธรรมดา ประการต่อมาก็คือเมื่อรู้ว่าความตายใกล้เข้ามา ใจก็เริ่มปล่อยวาง เพราะรู้ว่าเมื่อตายแล้วก็ต้องทิ้งสิ่งทั้งปวง เอาอะไรไปไม่ได้สักอย่าง ขณะเดียวกันแม้ยังไม่ตาย แต่ถ้ายึดถือก็เป็นทุกข์ ดังนั้นเมื่อใกล้ตาย มีอะไรก็ปล่อยหมด รวมทั้งสิ่งที่ค้างคาใจ อย่างเพื่อนของอาตมา เธอมีสิ่งใดที่ค้างคาใจกับแม่ก็พูดกับแม่จนหมด ทรัพย์สมบัติต่างๆ ก็สะสางจนหมดสิ้น ไม่มีอะไรต้องกังวล สองสามอาทิตย์สุดท้ายเธอบอกว่า ไม่โลภ ไม่โกรธแล้ว ไม่โกรธแม้กระทั่งมะเร็ง คนทั่วไปเวลาป่วยจะรู้สึกโกรธ เช่น โกรธมะเร็ง แต่เธอไม่มีความรู้สึกเช่นนี้กับก้อนมะเร็งเลย เธอเรียกมันว่า คุณก้อนมะเร็ง เราต่างคนต่างอยู่นะ เธอไม่โกรธ ไม่โลภ มีเพียงความหลงที่ยังละไม่ได้

    นี่เป็นตัวอย่างว่า คนที่เจ็บป่วยแต่มีความสุขนั้น เป็นไปได้ เพราะจริงๆ แล้วสุขหรือทุกข์ที่แท้นั้นอยู่ที่ใจปล่อยวางหรือยึดติดถือมั่นแค่ไหน ไม่ได้อยู่ที่ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา

    มีคนไข้คนหนึ่งไปหาหมอ ตัวซีดและผอมมาก หมอเห็นก็สั่งตรวจเลือดทันที พอผลตรวจเลือดออกมา หมอก็บอกคนไข้ว่า ลุงเป็นเบาหวาน ปรากฏว่าลุงยิ้มจนแก้มปริ หมอสงสัยเลยถามว่า ลุงเป็นเบาหวานนะ ต้องกินยาตลอดชีวิต ทำไมลุงถึงยิ้ม ลุงบอกว่า จะไม่ให้ยิ้มได้อย่างไร ตอนแรกผมคิดว่าเป็นโรคเอดส์ เลยดีใจที่เป็นแค่เบาหวาน

    ทั้ง ๆ ที่เป็นเบาหวาน แต่ลุงกลับดีใจ เพราะผลตรวจไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด เมื่อคาดหวังในทางที่เลวร้าย แล้วไม่เป็นอย่างที่คิดไว้ก็ทำให้มีความสุข

    ย้อนกลับมาที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ปรารถนาสิ่งใดไม่ได้สิ่งนั้นนั่นก็เป็นทุกข์ ถ้าเราคาดหวังสิ่งที่แย่ๆ แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้นก็ทำให้สุขได้เหมือนกัน ในทำนองเดียวกันถ้าเราไม่ยึดติดกับความคาดหวัง มีอะไรเกิดขึ้นเราก็สามารถวจะเป็นสุขได้

    จะเห็นได้ว่า ความทุกข์นั้นไม่ได้อยู่ที่มีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่อยู่ที่ว่าเราวางใจอย่างไร เมื่อตระหนักชัดว่าความยึดติด เป็นที่มาแห่งความทุกข์ แทนที่เราจะโทษสิ่งภายนอกว่าเป็นตัวการแห่งความทุกข์ เราควรจะย้อนกลับมาดูที่ใจของเราเอง ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยมองนัก เวลามีความทุกข์ ส่วนใหญ่จะโทษว่าเป็นเพราะคนอื่น เพราะเขาด่าเรา แกล้งเรา โกงเงินเรา เอาเปรียบเรา กินแรงเรา ยิ่งคิดก็จิตใจยิ่งขุ่นเคืองเพราะอยากตอบโต้ อยากแก้แค้น เกิดโทสะขึ้นมา นั่นเป็นเพราะเราไม่ได้ตระหนักเลยว่าตัวการแห่งความทุกข์นั้นอยู่ที่ใจของเรา

    นี่คือความจริงข้อหนึ่งซึ่งพระพุทธเจ้าจัดอยู่ในข้อที่เรียกว่า สมุทัย

    ใครว่าอะไรเรา ถ้าเราฟัง ไม่เก็บเอามาคิดก็ไม่ทุกข์ ที่เราทุกข์ ก็เพราะไม่ยอมปล่อยให้คำพูดนั้นผ่านเลยไป เราจะหวนคิดถึงคำพูดและการกระทำของเขา แล้วย้ำคิดย้ำนึก ทำให้เป็นทุกข์มากขึ้น แต่ก็ยังโทษว่าเราทุกข์เพราะเขา ไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็นเพราะใจของเราต่างหาก เปรียบเหมือนเรามีเศษแก้วอยู่ในมือ เพียงแค่พลิกมือลงเศษแก้วก็หลุดมือไป แต่เราไม่ยอมพลิก เท่านั้นไม่พอ เรายังกำแล้วบีบด้วย บีบแล้วบีบเล่า ผลก็คือเศษแก้วบาดมือจนรู้สึกเจ็บ เลือดไหลซิบ ๆ แล้วเราก็โทษเศษแก้วว่าทำให้ฉันเจ็บ ฉันปวด

    ที่จริงแล้วถ้าเราไม่กำหรือบีบเศษแก้วนั้น มือเราก็ไม่เป็นอะไร แต่เราเจ็บเพราะเรากำหรือบีบมันเอง ดังนั้นจึงไม่ควรโทษเศษแก้ว แต่ควรโทษตัวเองที่ไปกำและบีบมันเอาไว้

    คำพูดของบางคนก็เหมือนเศษแก้ว ถ้าเราวางมันเสีย หรือไม่ย้ำคิดย้ำนึกถึงคำพูดเหล่านั้น เราก็ไม่ทุกข์ แต่เป็นเพราะใจที่หวนนึกคิดถึงมันบ่อย ๆ ไม่ยอมปล่อยวาง เราเลยทุกข์และเจ็บปวด

    คิดดูก็แปลก อะไรที่เราไม่ชอบ เรากลับยิ่งยึดติด ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งนึกถึงคนนั้น สังเกตไหมเวลามือเราถูกน้ำปลาหรือถูกขี้หมา มันเหม็นใช่ไหม เราทำอย่างไร เราก็รีบล้างมือ แล้วเราทำอะไรต่อ ก็เอามือมาดม ถ้ายังมีกลิ่นก็ล้างต่อ เสร็จแล้วก็ดมมืออีก เราไม่ชอบกลิ่นเหม็น แต่ยิ่งไม่ชอบ กลับยิ่งดม ดมแล้วดมเล่า

    ยิ่งเกลียด ก็ยิ่งนึกถึง ยิ่งผลักไส มันก็ยิ่งผุดโผล่

    เวลาโดนยุง เห็บหรือหมัดกัด เรารู้สึกคันใช่ไหม ก็เลยเกา แต่ยิ่งเกาก็ยิ่งคัน เราเกาเพื่อให้มันหายคัน แต่กลับคันยิ่งกว่าเดิม ยิ่งพยายามกำจัดความคัน กลับคันหนักขึ้น แต่ถ้าคันแล้วปล่อยมัน ดูมันเฉยๆ จะพบว่าความคันค่อย ๆ หายไป และหายไปเร็วยิ่งกว่าเกาเสียอีก

    เมื่อเราโกรธใคร เวลานึกถึงเขาจะรู้สึกเป็นทุกข์ แต่เรากลับชอบคิดถึงเขาอยู่เรื่อย กินก็คิด นอนก็คิด ในงานแต่งงานคนเป็นร้อย ถ้าคนที่เราโกรธเข้ามาในงาน เราจะจับจ้องไปที่เขาทันที สายตาจะสอดส่ายว่าเขาทำอะไร คุยกับใคร ทั้งๆ ที่เราไม่ชอบเขา แต่ไม่สามารถวางสายตาจากเขาได้ เห็นเขาคุยกับคนโน้นคนนี้ก็ทุกข์ เพราะสงสัยว่าเขากำลังนินทาเราหรือเปล่า เราจะไม่ยอมละวางสายตาจากเขา ในทำนองเดียวกัน เวลามีเพื่อนมาบอกว่า สมทรงนินทาเธอนะ พอได้ยินอยากนี้เราอยากรู้ทันทีว่า สมทรงพูดถึงเราว่าอย่างไร ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าเขาพูดถึงเราในทางไม่ดีแน่ แต่ก็อยากรู้ พอรู้เข้าก็จะโกรธทันที บางทีรู้ทั้งรู้ว่าถ้าได้ยินแล้วก็จะโมโห แต่ก็ยังอยากรู้อยากได้ยิน

    ความอยากรู้นี้ก็เป็นความยึดติดอย่างหนึ่ง

    เราไม่ได้ยึดติดแต่สิ่งที่เราชอบเท่านั้น อะไรที่เราไม่ชอบเราก็ยึดติด อยากรู้ อยากเห็น อยากได้ยิน ครั้นได้รู้ เห็น ได้ยิน ก็เป็นทุกข์ เสร็จแล้วก็โทษว่าเขาทำให้เราทุกข์ แต่กลับมองไม่เห็นว่าเป็นเพราะใจของเราต่างหากที่ดิ้นรน อยากรู้อยากเห็น และยึดมันเอาไว้

    ความยึดติดนี่แหละเป็นที่มาของความทุกข์ แต่ถ้าพิจารณาให้ดี การที่เรายึดติด ไม่ยอมวาง ทั้ง ๆ ที่ทุกข์ ก็ยัง แส่ส่ายดิ้นรน เข้าหา กอดฉวยมันเอาไว้ เป็นเพราะเราไม่มีสติ ไม่รู้ตัว หรือลืมตัว พูดอีกอย่าง เรายึดเพราะหลง

    ตอนแรกอาตมาพูดว่า เราทุกข์เพราะไม่ยอมรับความจริง ว่าอะไรๆ ก็แปรเปลี่ยน ไม่เที่ยงแท้ ที่เรายึดสิ่งต่าง ๆ เอาไว้ก็เพราะเราไม่ยอมรับความจริง แต่ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งก็คือความลืมตัว เราเลยดิ้นรนแส่ส่ายเข้าไปกอดถ่านร้อน ๆ หรือโจนเข้าไปในกองไฟ ลองสังเกตว่าเวลามือเราถูกไฟหรือของร้อน เราดึงมือกลับทันที แต่พอใจเราถูกไฟโทสะ ใจกลับจมแช่อยู่ในไฟโทสะนั้น เช่น เวลาโกรธเมื่อได้ยินคำด่าว่าของใครบางคน แทนที่เราจะถอนใจออกมาจากความโกรธหรือจากคำพูดของคน ๆ นั้น ใจเรากลับจดจ่อหมกมุ่นอยู่กับคำพูดเหล่านั้น ซึ่งยิ่งทำให้เราโกรธและเป็นทุกข์มากขึ้น แม้กระนั้นก็ไม่ยอมปล่อยวางคำพูดเหล่านั้น เป็นเพราะลืมตัวเราจึงยึดติดในสิ่งที่เป็นโทษแก่ตัวเอง

    มาถึงตรงนี้ อริยมรรคเป็นความจริงที่เราควรรู้คือ โดยเฉพาะสัมมาสติ ถ้าเรามีสติ ก็จะไม่ลืมตัว จะไม่เผลอยึดสิ่งที่ทำให้ทุกข์ จะปล่อยวางได้เร็วเพราะรู้ว่ามันเป็นทุกข์

    ความลืมตัวเป็นที่มาของความทุกข์ทั้งทางกายและทางใจ ศีลข้อ ๕ ไม่เสพสุรายาเมา จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะน้ำเมาทำให้หลง ทำให้ให้ลืมตัว อย่างไรก็ตามความหลงหรือลืมตัวจนขับรถชนคน ทำร้ายผู้คน ทะเลาะวิวาทกันนั้นเป็นความหลงแบบหยาบๆ ความหลงที่ละเอียดกว่านั้นก็มี เช่น หลงเพราะถูกความโกรธครอบงำ ทำให้ลืมตัว

    มีผู้คนมากมายที่ทำร้ายกันเพราะความหลง หรือเพราะความลืมตัว โดยไม่มีน้ำเมามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่มาก เช่นทำร้ายกันก็เพราะถูกความโกรธครอบงำ แต่ทันทีที่สติเกิดขึ้น ความลืมตัวหายไป การทำร้ายก็เกิดขึ้นได้ยาก มีเรื่องเล่าว่ามีโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ฯ ผู้ปกครองล้วนเป็นคนมีเงิน เวลาเลิกเรียนจะมีรถยนต์จำนวนมากมายมารับเด็กจนรถติดเป็นแพ โรงเรียนนี้มีกฎว่าให้ขับรถทางเดียว ปรากฏว่ามีผู้ปกครองคนหนึ่งไม่ยอมทำตามกฎ ขับรถเข้าโรงเรียนตรงประตูทางออก ทำให้เข้าถึงที่จอดรถอย่างรวดเร็ว ซึ่งเผอิญเหลืออยู่เพียงที่เดียว ผู้ปกครองอีกคนหนึ่งซึ่งเกือบจะได้ที่จอดรถแล้วแต่โดนแย่งไป เกิดความไม่พอใจ เลยออกจากรถมาต่อว่าคน ๆ นั้นที่ไม่ขับรถตามกฎ ผู้ปกครองคนนั้นเป็นนายทหารเมื่อถูกต่อว่าก็โกรธ ถามกลับไปว่า รู้ไหมว่าอั๊วเป็นใคร ก็ได้รับคำตอบว่า ผมไม่สนใจหรอกว่าคุณเป็นใคร แต่คุณทำไม่ถูกต้อง ไม่ทำตามกฎ ว่าแล้วก็เดินกลับไปที่รถ
    ไม่เคยมีใครพูดแบบนี้กับนายทหารคนนี้มาก่อน จึงโกรธมาก กลับไปเอาปืนที่รถ แล้วเดินตามผู้ปกครองที่มาต่อว่าตน โชคดีที่ตอนนั้นมีพลเมืองดีเห็นเหตุการณ์ เขาเป็นพนักงานขับรถของโรงเรียน ซึ่งมีปฏิภาณดีมากและแก้ปัญหาอย่างนี้ได้หลายครั้ง พนักงานคนนี้เข้าไประงับเหตุทันที โดยเดินไปหานายทหารแล้วแตะแขนเขา พร้อมกับพูดว่า “ท่านครับ ท่านมารับลูกไม่ใช่หรือครับ” พอได้ยินคำว่าลูก นายทหารคนนั้นก็มีสติกลับมาทันที พอรู้ตัวว่ากำลังจะทำอะไรลงไป แกก็เปลี่ยนใจ กลับมาที่รถเอาปืนเก็บ
     
  14. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    ตอนที่นายทหารกำลังเดินตามผู้ปกครองที่มาต่อว่าตนนั้น แกกำลังหน้ามืด ลืมตัว ลืมทุกอย่าง ใจคิดอย่างเดียว คือ คิดยิงคนนั้นให้หายแค้น แต่พอมีคนมาเตือนเรื่องลูก สติก็กลับมา พอสติกลับมา ความโกรธก็หายไปทันที เพราะรู้เลยว่าถ้ายิงแล้วจะเกิดอะไรกับลูก

    สติทำให้จิตหลุดจากความโกรธ เป็นวิธีจัดการกับความโกรธที่ดีกว่าการกดข่มมัน เมื่อมีสติ ก็จะเกิดความรู้ตัวตามมา ทำให้ปล่อยวางอารมณ์อกุศลทั้งหลาย เพราะดังที่ได้พูดเมื่อกี้ว่า เรายึดอารมณ์อกุศลไว้ก็เพราะความลืมตัว ทั้ง ๆ ที่มันทำให้ทุกข์ ก็ไม่ยอมปล่อย แต่พอมีสติ มีความรู้ตัว ก็จะปล่อยมันไปเอง เพราะเห็นว่ามันเป็นโทษ ฉะนั้นสติจึงเป็นสำคัญมาก เป็นองค์มรรคที่จะช่วยให้ปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ที่เคยยึดหรือแบกเอาไว้

    อารมณ์ต่าง ๆ นั้นไม่เป็นปัญหาเลยหากเราไม่ยึดหรือแบกมันเอาไว้ คำด่าว่า คำตำหนิก็ไม่ทำให้เราทุกข์ได้เลยหากเราไม่ยึดมันเอาไว้ ที่จริงเวลาเรามีความทุกข์เพราะอารมณ์หรือคำพูดเหล่านี้ ถ้ารู้ตัวและพิจารณาให้ดีจะพบว่า สาเหตุแห่งความทุกข์ที่แท้ก็คือ ความยึดติดนี้เอง เราสามารถเห็นสมุทัยได้เวลามีความทุกข์ใจเกิดขึ้น มองในแง่นี้ความทุกข์ก็สามารถสอนธรรมหรือเปิดเผยให้เราเห็นธรรมได้

    พูดอีกอย่างก็คือ ความทุกข์ รวมทั้ง ความโกรธ สามารถเป็นอาจารย์ให้แก่เราได้ ความเจ็บ ความป่วย ความตายก็เช่นกัน เป็นอาจารย์ที่สอนธรรมให้แก่เรา คือสอนเรื่องอนิจจัง ทุกขัง และถ้ามีสติ หันกลับมาดูใจบ่อยๆ จะเห็นความจริงอีกข้อหนึ่ง คืออนัตตา ด้วย เพราะไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราเลย ถ้ามีปัญญาจนเห็นว่าร่างกายและใจก็ไม่ใช่เรา เวลาเจ็บป่วยแล้วเรารู้สึกทุกข์ก็เพราะยึดว่ามีตัวมีตน คือสำคัญมั่นหมายฉันป่วย แต่ถ้ามีสติ และมีปัญญา ก็จะเห็นว่า ที่ป่วยนั้นคือกายป่วย ไม่ใช่เราป่วย ไม่ใช่เราป่วย ที่แก่คือกายแก่ ไม่ใช่เราแก่ ที่ตายเป็นกายที่สลายไป ไม่ใช่เราตาย เพราะว่าไม่มีตัวฉันที่เจ็บ ไม่มีตัวฉันที่ตาย เมื่อมีปัญญารู้เช่นนี้ ใจก็จะอยู่เหนือความแก่ ความเจ็บ ความตายได้ คือไม่ทุกข์ แต่ก็มีบางท่านปล่อยวางได้เพราะมีปัญญาเห็นแจ่มแจ้งว่า สังขารนี้เป็นทุกข์ ไม่น่ายึดน่าถือเลย

    ในพุทธประวัติมีเรื่องราวของพระสาวกหลายท่านที่บรรลุเป็นพระอรหันต์ในขณะที่เจ็บป่วย มีทุกขเวทนาบีบคั้นมาก เช่น พระเจ้าสุทโธทนะ อีกท่านที่เรารู้จักดี คือพระติสสะ ซึ่งเป็นที่มาของตำนานของบังสุกุลเป็น เรื่องราวของท่านมีอยู่ว่า ท่านอาพาธมีแผลพุพองเต็มตัว หนองไหล ส่งกลิ่นเหม็น จนกระทั่งพระด้วยกันก็ดูแลไม่ไหว ท่านถูกทิ้งให้นอนจมกองหนอง อุจจาระ ปัสสาวะ เป็นที่น่าเวทนามาก พระพุทธเจ้าก็เสด็จมาดูแลพระติสสะ ทรงทำความสะอาด เช็ดร่างกาย เอาจีวรมาซัก มาต้ม ด้วยพระองค์เอง ส่วนพระติสสะนั้นพอพระพุทธเจ้ามาช่วยดูแล จิตใจก็สบายขึ้นแต่ทุกขเวทนายังบีบคั้นเหมือนเดิม หลังจากนั้นพระพุทธเจ้าก็ตรัสเป็นคาถา เป็นที่มาของบังสุกุลเป็น ว่า

    อะจิรัง วะตะยัง กาโย ปะฐะวิงอะธิเสสสะติ
    ฉุฑโฑ อะเปตะวิญญาโณ นิรัดถัง วะ กะลิงคะรังฯ

    ร่างกายนี้ไม่เที่ยง เมื่อปราศจากวิญญาณ ก็ล้มนอนทับแผ่นดิน เหมือนกับท่อนไม้ หาประโยชน์มิได้

    พระติสสะพิจารณาตามจนได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ขณะเดียวกับที่หมดลม การที่ท่านบรรลุธรรมได้ก็เพราะเห็นแจ่มแจ้งว่าสังขารนี้เป็นทุกข์เหลือเกิน ไม่น่ายึดถือเลย เมื่อเห็นเช่นนี้ใจก็ปล่อยวางสังขารอย่างสิ้นเชิง

    ความแก่ ความเจ็บ ความตาย คือความทุกข์นั้นเป็นอาจารย์ที่สามารถกระตุ้นให้เราเลิกยึดติดและหันมาปล่อยวาง ซึ่งนำเราไปสู่ความโปร่ง ความเบา ความเป็นอิสระ หรือนิโรธ ได้ เพราะฉะนั้นการที่เรามีสติรู้เท่าทันและมีปัญญาเห็นความจริงคือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามลำดับ เป็นสิ่งสำคัญมากในการช่วยให้เราหลุดพ้นจากความทุกข์ แม้อยู่ท่ามกลางความทุกข์ ท่ามกลางความแปรปรวน ความผันผวน แต่ไม่ทุกข์ เพราะทั้งหมดนี้เป็นเพียงอาการที่เกิดขึ้นกับกาย เกิดขึ้นกับสิ่งนอกตัว แต่ไม่กระเทือนถึงใจ ใจไม่ทุกข์ไปด้วย

    เรื่องความจริงของชีวิตที่กล่าวมา ถ้าเราจับหลักได้และปฏิบัติให้ถูก แม้ต้องเจอกับความผันผวนปรวนแปรในชีวิต ก็สามารถที่จะยกจิตให้เหนือความทุกข์ได้ สามารถอยู่ในโลกนี้ด้วยใจที่ปกติ เรียกว่าเจอทุกข์แต่ไม่เป็นทุกข์
    :- https://visalo.org/article/dhammamata7_2.htm
     
  15. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    อยู่กับความทุกข์ให้เป็น
    พระไพศาล วิสาโล
    มนุษย์เราทุกคนล้วนรักความสุขเกลียดความทุกข์กันทั้งนั้น สิ่งที่มนุษย์พยายามทำกันตลอดชีวิตก็คือการเข้าหาความสุข พยายามหนีจากความทุกข์ เมื่อพบทุกข์ก็พยายามขจัดปัดเป่าออกไป หรือพยายามป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้น ถือว่าเราโชคดีกว่าคนสมัยก่อนเพราะเทคโนโลยีในการขจัดปัดเป่าความทุกข์มีมากขึ้น เวลาอากาศร้อนก็มีพัดลม มีเครื่องปรับอากาศ บรรเทาความร้อน อากาศหนาวก็มีผ้าห่ม ในบ้านหลายคนมีเครื่องทำน้ำอุ่น อยากจะดื่มน้ำร้อนก็ต้มได้รวดเร็ว จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ไม่ต้องขี่เกวียนให้เหนื่อยเพราะมีรถยนต์ สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยให้เราดำเนินชีวิตประจำวันได้สะดวกสบายขึ้น

    อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เราสามารถหนีความทุกข์ ขจัดปัดเป่า หรือบรรเทาความทุกข์ได้มากมายเพียงใด แต่ว่ายังมีความทุกข์อีกหลายอย่างที่เราหนีไม่พ้น เราทำได้เพียงชะลอหรือหน่วงเหนี่ยวให้เกิดขึ้นช้า ทุกวันนี้มี ความทุกข์แบบใหม่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะร่ำรวยมีเงินมีทอง มีวาสนาบารมีมากแค่ไหนก็ต้องเจอกับความทุกข์อยู่นั่นเอง เช่น ถึงแม้ร่ำรวยก็ต้องเจอกับความสูญเสีย อาจจะเสียคนรักคนใกล้ชิด เพราะว่าไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้าได้ ถึงอย่างไรเขาก็ต้องตายจากเราไปสักวัน พวกเราคงรู้จักทัชมาฮาล ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถานที่พระเจ้าพระเจ้าชาห์จาฮาน ผู้ยิ่งใหญ่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้กับมเหสีคนรัก แต่ไม่ว่าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่สามารถหลีกหนีความสูญเสียคนรักไปได้


    ลูกตาย เมียตาย ผัวตาย เรื่องนี้เกิดได้กับทุกคน นอกจากนั้นยังต้องเจอกับคำนินทาว่ากล่าว ไม่ว่ายิ่งใหญ่แค่ไหนก็ต้องเจอกับความไม่สมหวัง ต้องเจอความแก่ความเจ็บความตาย อันนี้คือความทุกข์ที่ไม่มีใครหนีพ้น แม้ว่าเราจะตัดเรื่องความแก่ความเจ็บความตายออกไป ก็ยังเจอกับความทุกข์อีกหลายอย่าง เช่นงานการที่ไม่สำเร็จ หรือความผิดหวัง ถ้าคนเราคิดแต่จะหนีความทุกข์ หรือหาทางปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ตลอดเวลา ก็เตรียมใจทุกข์ได้เลย เพราะว่ายังมีความทุกข์อีกหลายอย่างที่เราต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ขจัดปัดเป่าไปเพียงใดก็ไม่สำเร็จ

    ยกตัวอย่างง่ายๆ คนอยู่กรุงเทพ ฯ ก็ต้องเจอรถติดซึ่งเป็นความจริงที่หนีไม่พ้น หาที่จอดรถได้ยาก มีนักเขียนชาวอเมริกันคนหนึ่งเขียนประชดว่า “ตายไม่ยากเท่ากับหาที่จอดรถ” คนนี้เขาอยู่ที่นิวยอร์ค เป็นเมืองที่หาที่จอดรถยากยิ่งกว่ากรุงเทพฯ มันไม่ใช่เป็นความทุกข์ทางกาย แต่เป็นทุกข์ใจที่คนสมัยนี้เจอ เคยพูดแล้วว่าความทุกข์ทางกายเดี๋ยวนี้มีน้อยลง แต่ความทุกข์ทางใจไม่ได้ลดลงเลย ยังมีอยู่เรื่อยๆ เช่น หาที่จอดรถไม่ได้ก็ทุกข์ ต้องแย่งกันจนกระทั่งฆ่ากันตายก็มี

    ไม่ว่าเทคโนโลยีจะเจริญก้าวหน้าเพียงใด เราก็หนีความไม่สมหวังไม่พ้น ถ้ายิ่งร่ำรวยยิ่งมีเงินทองมากก็ยิ่งมีความอยากมากขึ้น เมื่อมีความอยากมากก็มีโอกาสไม่สมอยากมากเป็นเงาตามตัว มีคนพูดว่าเมื่อมีความอยากมากก็มีความทุกข์มาก เพราะความอยากกับความทุกข์มาด้วยกัน ก็ลองพิจารณาดู คนเราไม่ว่าจะหนีความทุกข์เพียงใดก็ต้องเจอความทุกข์วันยังค่ำ ความทุกข์ทางกาย แม้ว่าจะมีสิ่งระงับหรือบรรเทาอาการ แต่ในที่สุดก็ต้องเจอทุกขเวทนาอันแรงกล้าจนยาก็เอาไม่อยู่ อย่างเช่น โรคมะเร็ง ที่หลายๆ คนกลัว หรือแค่ปวดฟัน ปวดหัว ปวดท้อง พอมีอาการเกิดขึ้นแล้ว จะไปพึ่งยาอย่างเดียวก็ไม่ได้ ยิ่งมีความทุกข์ใจผสมโรงด้วยก็จะทุกข์มากยิ่งขึ้น

    ในเมื่อความทุกข์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราหนีไม่พ้น อย่างในบทสวดมนต์มีตอนหนึ่งกล่าวว่า ว่าเราถูกความทุกข์หยั่งเอาแล้ว เรามีความทุกข์เป็นเบื้องหน้าแล้ว ถึงแม้ตอนนี้เราจะสุขสบาย ไม่ทุกข์ แต่นั่นเป็นเพราะมันยังไม่แสดงตัว แต่ก็รอโอกาสแสดงตัวอยู่ตลอดเวลา ในขณะที่เรามีสุขภาพดีก็อย่าคิดว่าไม่มีความเจ็บป่วย แท้จริงแล้วความเจ็บป่วยอยู่กับเราตลอดเวลา พอเราเผลอเมื่อไหร่มันก็จะแสดงตัวออกมา ในทำนองเดียวกันความแก่ก็อยู่กับเราตลอดเวลา แม้ว่าตอนนี้เรายังหนุ่มยังสาวแต่มันก็รอโอกาสแสดงตัว เผลอเมื่อไหร่ก็ผิวหนังย่น ผมหงอก ตกกระ กำลังวังชาลดน้อยถอยลง ความตายก็เช่นเดียวกัน ถ้าเผลอเมื่อใดมันมาทันที เพียงแค่เดินลงบันไดไม่ระมัดระวัง ตกลงมาหัวฟาดพื้นก็ตาย มันมีโอกาสเกิดขึ้นกับเราตลอดเวลา

    พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า ความแก่มีอยู่ในความหนุ่มสาว ความเจ็บป่วยมีอยู่ในความไม่ป่วย และความตายมีอยู่ในชีวิต มันไม่ได้แยกกัน อย่างเมื่อวานพวกเราจัดดอกไม้ได้สวยงาม แต่ในเวลาเดียวกันกิจกรรมนี้ก็เตือนให้เห็นถึงความโลภในใจเรา บางคนเอากิ่งไม้แห้งใบไม้แห้งมาจัด ทำให้เห็นว่าสิ่งไม่งามนั้นก็มีความงามอยู่ ในทางกลับกันคือ ในสิ่งที่สวยงามก็มีความไม่งามเช่นกัน ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เลย

     
  16. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)

    ความสุขของเราก็เช่นกันจะมีความทุกข์แฝงอยู่ตลอดเวลา ดังที่กล่าวแล้วว่าความทุกข์เป็นสิ่งที่เราหนีไม่พ้น เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ อย่างเช่น ตอนนี้เราเจอความหนาวเย็น เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันโดยไม่ทุกข์ ก็คือทุกข์กายแต่ไม่ทุกข์ใจ อันนี้เราทำได้ ถ้าเราทำไม่ได้ก็จะมีแต่ความหงุดหงิดความไม่พอใจเกิดขึ้น เพราะเราไม่สามารถบังคับหรือควบคุมให้ทุกอย่างเป็นตามใจเราได้ แม้กระทั่งร่างกายของเรา เรายังบังคับควบคุมให้ตัวเองไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ได้


    การอยู่กับความทุกข์นั้นทำได้หลายวิธี ทั้งการมองในแง่บวก การปล่อยวางยอมรับมัน หรือการปรุงแต่งใจในทางที่ดี อย่างเช่น บุรุษไปรษณีย์คนหนึ่งนำพัสดุไปส่ง แต่ประตูบ้านปิดเขาจึงเรียกให้เจ้าของบ้านออกมารับ แต่เจ้าของบ้านไม่อยากออกมาเพราะว่าไม่อยากเจออากาศร้อน บุรุษไปรษณีย์ก็รอเจ้าของบ้านมารับ แต่แทนที่จะรอเฉย ๆ ก็ร้องเพลงไปด้วย จนกระทั่งในที่สุดเจ้าของบ้านต้องออกมารับพัสดุ เสร็จแล้วเธอก็ถามบุรุษไปรษณีย์ว่าอากาศร้อนๆ อย่างนี้ คุณมีอารมณ์ร้องเพลงได้อย่างไร เขาตอบว่า “โลกร้อน แต่ใจเราเย็น มันก็เย็นครับ ร้องเพลงเป็นความสุขของผมอย่างหนึ่ง ส่งไปร้องไป” นี่เป็นวิธีหนึ่งในการอยู่กับความร้อนได้โดยใจไม่ทุกข์ แม้เขาร้อนจนเหงื่อไหลชุ่ม แต่ใจเขาไม่ทุกข์ เพราะเขารู้วิธีผ่อนคลายด้วยการร้องเพลงให้ใจเย็น ความร้อนจึงไม่เป็นปัญหา

    อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยให้อยู่กับความทุกข์ได้คือสติ เวลาเกิดทุกขเวทนาขึ้น ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการปรุงแต่งใจหรือปลอบใจตัวเองก็ได้ แต่ใช้สติคือรู้ทันจนปล่อยวางมันได้ ความปวดกายที่เกิดขึ้น ถ้าเราเผลอก็จะปวดใจตามมา เวลาเจออากาศร้อน ไม่ใช่ร้อนกายอย่างเดียวแต่ร้อนใจไปด้วย เพราะว่าจิตไม่ปล่อยวางความปวด แถมปรุงแต่งไปในทางลบอีก คนเราเวลาเจอทุกขเวทนาใจก็มักปรุงแต่ง บางทีแค่เห็นหรือสัมผัสนิดหน่อยก็เอาไปปรุงแต่งแล้ว กลายเป็นความทุกข์ทรมาน ทุกขเวทนาเป็นเรื่องของกาย ส่วนความทุกข์ทรมานเป็นเรื่องของใจ เวลาความทุกข์เกิดขึ้นกับเรา ถ้าเราปฏิเสธผลักไสก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ แต่ถ้าเรามีสติดูใจ คือดูความคิดที่ปรุงแต่ง เห็นใจที่ขุ่นเคืองตีโพยตีพาย หรือเห็นทุกขเวทนาจนปล่อยวางได้ เมื่อนั้นความทุกข์ก็จะคลายไป มีความสงบมาแทนที่

    เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ ที่วัดป่าสุคะโต ในช่วงเดือนธันวาคม ท้องฟ้าเปิด อากาศร้อนมาก เรามีการเดินธรรมยาตรา คนที่มางานนี้ต้องเดินกลางแดดวันละสี่ห้าชั่วโมงเพื่อรณรงค์ให้ผู้คนช่วยกันอนุรักษ์ธรรมชาติ ดูแลลำธาร รักษาป่า ขณะเดียวกันก็ฝึกตนให้อยู่กับทุกขเวทนาให้ได้ คืออยู่กับความร้อนแต่ใจไม่บ่น จึงมีคำขวัญว่า “กายร้อนแต่ใจไม่ร้อน” หรือ “ร้อนแต่กาย ใจสงบเย็น” ที่ทำอย่างนี้ไม่ใช่เป็นการหาความทุกข์ใส่ตัว แต่เป็นการเดินเข้าหาความทุกข์เพื่อฝึกใจให้อยู่กับความทุกข์ได้ คนที่มีปัญญาเมื่อรู้ว่าหนีสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่พ้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ ความทุกข์เป็นสิ่งหนึ่งที่เราต้องรู้จักอยู่กับมันให้ได้ จนเห็นมันเป็นมิตร ถ้าเราเป็นมิตรกับทุกขเวทนาได้ เราก็ไม่ต้องร้อนใจ นี่เป็นเรื่องที่เราสามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวัน

    นักปฏิบัติธรรมที่ดี ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความทุกข์ให้ได้ แต่ไม่ใช่ด้วยความอดทน ดีกว่านั้นก็คืออยู่กับมันโดยอาศัยสติ คือรู้ทันใจที่ปรุงแต่งเวลามีความทุกข์กาย จนใจเป็นปกติได้แม้กายจะทุกข์ก็ตาม คนเราสามารถรักษาใจให้สงบแม้กายจะปวดได้ อาตมาเคยนำนักปฏิบัติธรรมกลุ่มหนึ่งเดินจงกรมทุกเช้า ไม่ได้เดินธรรมดา แต่เดินเท้าเปล่าตามทางที่มีกรวด เดินวันแรกหลายคนรู้สึกปวดเท้า แถมยังเจอยุงเวลาเดินผ่านสวน เวลายุงเกาะตามแขนตามตัว มันยังไม่ทันกัดเลย หลายคนก็ทุกข์ล่วงหน้าไปแล้ว นั่นเป็นเพราะใจปรุงแต่ง ยิ่งพอโดนมันกัด ก็ยิ่งทุกข์เข้าไปใหญ่ อาตมาก็แนะให้เขาดูความกลัวที่เกิดขึ้นเวลายุงเกาะ หรือดูใจที่ผลักไส ใจที่บ่นโวยวายเวลาเวลาโดนยุงกัด ที่จริงร่างกายเราทนได้แต่ใจต่างหากที่ทนไม่ได้ เพราะเราหนีความทุกข์อยู่ตลอดเวลา พอเจอเข้าก็ผลักไสอย่างเดียว ไม่รู้จักอยู่กับมันด้วยอาการสงบ หลังจากเดินได้สามสี่วัน หลายคนก็ทำใจได้ดีขึ้น รู้ทันเวลาใจมีปฏิกิริยาทางลบต่อทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น

    แต่อุปสรรคไม่ได้มีแค่นั้น พอใกล้ถึงวันสุดท้ายมีฝนตกพรำ ๆ แต่เช้า มดแตกรังออกมาเพ่นพ่านตลอดทาง พอเดินจงกรมผ่าน มดก็ไต่มาตามร่างกาย มีเสียงปัดมด บางคนคนก็กระทืบเท้าเพื่อสลัดมดออกไป ไม่มีอาการสำรวมเลย อาตมาจึงย้ำว่าที่จริงร่างกายเราทนได้ แต่ใจต่างหากที่ไม่ยอมทน ทั้ง ๆ ที่ทนได้เหมือนกัน จึงแนะให้เขาดูปฏิกิริยาของใจเวลาโดนมดกัด วันรุ่งขึ้นหลายคนก็ลองทำอย่างที่อาตมาแนะนำ ใจก็สงบมากขึ้น

    ผู้หญิงคนหนึ่งในกลุ่มนี้เล่าให้ฟังว่า เธอเดินมาหยุดตรงรังมดพอดี เห็นความกลัวเกิดขึ้น เพราะมีสติเห็นความกลัว ความกลัวก็คลายไป ทีนี้พอมดกัด เธอก็เห็นความเจ็บเกิดขึ้น ทั้งเจ็บทั้งร้อน เหมือนโดนธูปจี้เธอก็ดูเวทนาที่เกิดขึ้น แล้วยังเห็นต่อไปด้วยว่ากล้ามเนื้อเกร็ง หัวใจเต้นแรงเร็วขึ้น เม้มปากกัดฟัน กะพริบตา แล้วเธอกลับมาดูใจ เห็นใจกระสับกระส่าย พอเห็นเท่านั้น ใจก็สงบลง

    ถ้าเป็นคนที่ยังไม่ผ่านการฝึกมา พอมดกัด ใจจะพุ่งไปที่มดด้วยความโกรธเคือง แต่นักปฏิบัติคนนี้ไม่ส่งจิตออกไปนอกตัว แต่กลับมาดูกายและใจของตน ทำให้ใจสงบ รู้สึกผ่อนคลาย ทั้ง ๆ ที่โดนมดกัด แม้รู้สึกเจ็บ แต่เมื่อมีสติใจก็สงบ ตอนแรกเธอก็แปลกใจว่าทำไมใจสงบได้ ทั้งๆ ที่ความเจ็บปวดยังมีอยู่ แล้วเธอก็รู้ว่ากายกับใจนั้นเป็นคนละส่วนกัน ความเจ็บเป็นเรื่องของกาย แต่ใจไม่จำเป็นต้องเจ็บด้วย เมื่อพบว่าใจสามารถสงบได้แม้กายจะปวด เธอก็ดีใจมาก บอกขอบคุณมด แทนที่จะโกรธมด เธอเรียกมดว่าเป็นอาจารย์ของเธอ

    ผู้หญิงคนนี้อยู่กับความเจ็บปวดได้ ไม่ใช่เพราะความอดทน แต่เพราะใช้สติเป็นเครื่องรักษาใจ ปกติเวลาเราเจอสถานการณ์แบบนี้ก็ต้องเดินหนีมด หรือไม่ก็ทำร้ายมด แต่เนื่องจากเธอต้องเดินจงกรมอยู่ในแถวจะเดินหนีมดก็ไม่ได้ ตบมดก็บาป ก็เลยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวดให้ได้ นั่นก็คือใช้สติช่วยให้ปวดแต่กาย ใจไม่ปวด

    คนส่วนใหญ่เวลามีอะไรมากระทบกาย ใจก็ทุกข์ไปด้วย อันนี้รวมถึงเรื่องความไม่สมหวังด้วย แต่ถ้าหากไม่อยากเป็นทุกข์ เราก็ต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับทุกข์ให้ได้โดยที่ใจไม่ทุกข์ ซึ่งรวมถึงเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเศร้า เรียนรู้ที่จะอยู่กับความเบื่อให้ได้ โดยไม่ต้องวิ่งหนีมัน เพราะการทำเช่นนั้นบางครั้งไม่ได้แก้ปัญหาจริง เพราะไป ๆ มา ๆ กลับวิ่งไปหาความทุกข์ มีลูกของเพื่อนคนหนึ่งมาปรึกษาว่าเพิ่งเลิกกับแฟน เพราะแฟนเป็นคนเจ้าชู้ แต่เธอก็ยังกลับไปหาเขา ทั้งๆ ที่รู้ว่าผู้ชายคนนี้คบไม่ได้ เธอบอกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ มันเหงา จึงอดไม่ได้ที่จะกดโทรศัพท์ไปคุยกับผู้ชายคนนั้น เธอบอกว่าทรมานใจมากเวลาอยู่คนเดียว เธอพยายามหนีความเหงาแต่กลับวิ่งไปหาคนที่ไม่ซื่อต่อเธอ ถ้าเอาแต่หนีความเหงาแบบนี้ก็ไม่มีทางที่จะพ้นทุกข์จากความเหงาได้

    เราต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเหงาให้ได้ ด้วยการมีสติเห็นมัน สติทำให้เราเห็นว่า ใจเหงา ไม่ใช่ฉันเหงา การปรุงแต่งจะไม่เกิดขึ้นถ้าเรามีสติ แต่ถ้าเรามีสติ ก็จะไม่ปรุงว่าฉันเหงา ฉันปวด ฉันเศร้า ที่จริงไม่มีฉันผู้เหงา ผู้ปวด ผู้เศร้า มันมีแต่ความเหงา ความปวด ความเศร้าเท่านั้นที่เกิดขึ้น วิธีการอยู่กับความทุกข์ด้วยสติ ต้องเริ่มต้นจากความตระหนักว่า ทุกข์เกิดขึ้นเพราะความเผลอ ความลืมตัว ความไม่มีสติ เมื่อใดที่เราลืมตัว ตัวตนก็เกิดขึ้น พูดอย่างนี้พอเข้าใจไหม ถ้าตอนนี้ไม่เข้าใจก็ไม่เป็นไร ให้ลองสังเกตดูว่าเมื่อใดที่ลืมตัว ตัวตนก็จะเกิดขึ้น เช่น เรารู้สึกเป็นทุกข์เป็นร้อนก็เพราะลืมตัว ถ้าใจไม่มีสติ ก็จะปรุงแต่งตัวตนให้เกิดขึ้น ดังนั้นจึงอยากให้เราหมั่นดูกาย ดูใจ ดูเวทนา ด้วยใจที่เป็นกลาง ๆ คือดูเฉย ๆ ไม่ยินดียินร้าย ไม่ผลักไสไม่ไขว่คว้า ถ้าเราดูกาย ดูใจ ดูเวทนาเวลามันเกิดขึ้นโดยไม่ปรุงแต่งมัน หรือไม่มีปฏิกิริยาต่อมัน ก็จะเห็นว่ามันมีอยู่ แต่ทำอะไรใจเราไม่ได้ แม้กายจะทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ ต่อไปเราก็จะเป็นมิตรกับความทุกข์ ความเหงา ความเศร้าได้ เพราะต่างคนต่างอยู่ ไม่มารังควาญใจเรา

    ถ้าเรารู้จักอยู่กับความทุกข์ได้ เมื่อถึงคราวที่เราจะตาย เราก็จะยอมรับมันได้ ความตายก็ทำอะไรเราไม่ได้ เราสามารถเป็นมิตรกับความตายได้ ถึงตอนนั้นความตายจะไม่ใช่สิ่งน่ากลัวต่อไป อันนี้เป็นศิลปะในการดำเนินชีวิต อะไรก็ตามที่เราหนีไม่พ้น เราควรเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ นี้คือศิลปะการอยู่ในโลกนี้อย่างไม่ทุกข์
    :- https://visalo.org/article/dhammamata6_2.htm

     
  17. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    บริหารชีวิตเพื่อจิตสดใส
    พระไพศาล วิสาโล
    คำว่า “ไม่มีเวลา” เป็นปัญหาใหญ่ของคนยุคนี้ ส่วนหนึ่งเป็นข้ออ้าง อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง เพราะเราไม่รู้จักจัดลำดับความสำคัญ เวลาส่วนใหญ่ของเรามักหมดไปกับสิ่งที่เร่งด่วน หรือมีเส้นตาย มีกำหนดเสร็จที่แน่นอน เช่น งานการ พรุ่งนี้ต้องเสร็จ อาทิตย์หน้าต้องส่งงาน

    สิ่งที่เร่งด่วนนั้นมี ๒ ประเภท คือ ๑.ด่วนและสำคัญ กับ ๒.ด่วนแต่ไม่สำคัญ ด่วนและสำคัญ เช่น งานที่ต้องทำให้เสร็จพรุ่งนี้ หรือ ป่วยหนักต้องรีบไปหาหมอวันนี้ ส่วนด่วนแต่ไม่สำคัญ เช่น คืนนี้มีมิดไนท์เซลที่ห้างดัง ต้องไป หรือ คืนนี้มีประกวดนางงามจักรวาล มีการถ่ายทอดตอนสุดท้ายของละครบุพเพสันนิวาส ต้องดู อย่างอื่นเอาไว้ก่อน บางครั้งก็เป็นงานสังคม เช่น งานเลี้ยงเย็นนี้ ทุกวันนี้เราหมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ จนไม่มีเวลาเหลือให้กับสิ่งอื่นไม่ด่วนแต่สำคัญ

    สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญคืออะไร ได้แก่ การฝึกฝนจิตใจ ทำสมาธิ หรือจิตภาวนาและปัญญาภาวนา รวมทั้งการให้เวลากับครอบครัว เช่น เยี่ยมเยียนพ่อแม่ สนทนากับลูก การออกกำลังกาย สิ่งเหล่านี้ แม้รู้อยู่ว่าสำคัญ แต่หลายคนชอบผัดผ่อนว่า ทำวันหลังก็ได้ เอาไว้ก่อน สุดท้ายก็ไม่ได้ทำเพราะไม่มีเวลา หรือหมดโอกาสเสียแล้ว เช่น อยากจะมีเวลาให้พ่อแม่แต่ผลัดไปเรื่อย จนท่านจากไป หรือรู้ว่าควรปฏิบัติธรรมแต่ก็ผลัดไปเรื่อย จนล้มป่วย เลยไม่สามารถทำอย่างที่คิดได้ เป็นเช่นนี้กันมาก

    มีผู้หนึ่ง มีข้อคิดเตือนใจได้ดี คือ หมอวิสุทธิ์ บุญเกษมสันติ รองศาสตราจารย์ที่จุฬา ลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีคนเคารพนับถือมาก เป็นอาจารย์แพทย์ด้านสูตินารีที่เก่ง ติดอันดับต้น ๆ ของอาเซียน มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพมากมาย แต่วันดีคืนดีถูกจับข้อหาฆ่าภรรยา ถูกลงโทษประหารชีวิต ตอนหลังถูกลดโทษ จนเหลือติดคุกตลอดชีวิต แล้วก็ถูกลดโทษอีก จนภายหลังพ้นโทษ เป็นอิสระ

    ตอนที่ใกล้จะพ้นโทษ หมอวิสุทธิ์พูดให้ข้อคิดที่ดีมากว่า “เสียดายที่ทุ่มเทกับงานมากเกินไป จนไม่ค่อยได้ฝึกปฏิบัติธรรม สมัยก่อนในหัวมีแต่เรื่องงาน ตำราวิชาการ งานวิจัย ไม่ค่อยมีเวลาฝึกจิตใจ เรียนรู้เรื่องการครองสติ บัดนี้รู้แล้วว่าสิ่งเหล่านี้สำคัญกว่าวิชาความรู้ ถ้าได้ย้อนกลับไปเป็นหนุ่มอีกครั้ง ผมจะให้เวลากับการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ไม่ใช่มัวมารอตอนแก่แล้วค่อยทำ”

    หมอวิสุทธิ์เห็นว่า การครองสติเป็นสิ่งสำคัญ แต่เป็นเพราะละเลย ไม่ใส่ใจกับการฝึกสติ เมื่อเกิดปัญหาชีวิตขึ้นมา จึงพลั้งพลาด เสียศูนย์ ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะทำได้ เป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคนที่สุภาพ ใจเย็น ในสายตาของเหล่าลูกศิษย์และหมอ ต่อเมื่อได้เผลอทำไปแล้วจึงมาตระหนักว่าการฝึกสติเป็นสิ่งที่มองข้ามไปไม่ได้
     
  18. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    (ต่อ)
    เรื่องนี้เป็นอุทธาหรณ์ที่ดีสำหรับคนที่หมดเวลาไปกับงานการ เพราะเป็นสิ่งที่เร่งด่วน ต้องรีบทำ จนมองข้ามสิ่งที่สำคัญและไม่เร่งด่วน เช่น การฝึกสติ คนส่วนใหญ่เป็นอย่างนี้ ชีวิตจึงขาดสมดุล ทั้งๆ ที่รู้ว่า งานเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่ใช่ทั้งหมดของชีวิต แต่ทั้งชีวิตก็หมดไปกับงานการ ไม่มีเวลาให้กับการฝึกจิต ไม่ว่าจิตภาวนา หรือปัญญาภาวนา พอชีวิตเกิดวิกฤตขึ้นมา เกิดปัญหาในครอบครัว ก็บันดาลโทสะ สติแตก ระเบิดออกไปจนเกิดความเสียหายมากมาย แต่ก็ยังดีที่คุณหมอวิสุทธิ์มีโอกาสกลับมาแก้ตัวใหม่ แต่จะมีกี่คนที่มีโอกาสกลับมาแก้ตัว หรือถึงแม้จะทำได้ ก็คงมีความรู้สึกผิดค้างคาใจ เป็นบาดแผล หรือปมในจิตใจ ที่ยากจะคลี่คลายได้ เพราะฉะนั้นเราอย่ารอให้เกิดเหตุร้ายแรงแล้วค่อยมาคิดแก้ไข

    บางคนอาจจะไม่ได้เสียใจเพราะทำร้ายใคร แต่เป็นเพราะไม่ได้ทำความดีกับคนรักมากเพียงพอ เช่นตั้งใจจะไปเยี่ยมพ่อแม่ ตั้งใจจะดูแลท่านในยามแก่ชรา แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ทำ เพราะเอาแต่ผัดผ่อนเนื่องจากงานรัดตัว แม้กระทั่งท่านป่วยก็ยังไม่มีเวลาไปเยี่ยม เอาแต่ผัดผ่อนว่าเดี๋ยวก่อนๆ จนท่านเสียชีวิต แล้วมานั่งเสียใจว่าเราไม่น่าทำอย่างนั้นเลย นี่เป็นเพราะว่ามัวแต่หมกมุ่นกับการงาน หรือไม่ก็เพลินอยู่กับความสนุกสนาน รู้ทั้งรู้ว่าควรจะให้เวลาแก่ท่าน เพราะท่านแก่ชราแล้ว เวลาของท่านลดน้อยถอยลงไปเรื่อย ๆ แต่เป็นเพราะไม่รู้จักจัดสรรเวลาอย่างจริงจัง รวมทั้งมีความประมาทด้วย ในที่สุดโอกาสทองจึงหลุดลอยไป ไม่สามารถเรียกคืนมาได้

    มีชายคนหนึ่งสนิทสนมกับพ่อมาก ตั้งแต่เล็กจนโต กินข้าวด้วยกันเช้า-เย็น พอเรียนจบ ก็ทำงาน ได้งานดี แม้อยู่บ้านเดียวกัน แต่แทบจะไม่มีเวลากินข้าวด้วยกันกับพ่อเลย เพราะตัวเองงานเยอะ ต้องกินข้าวนอกบ้าน พอกินเสร็จก็ประชุมต่อ พ่อก็รอลูกว่าเมื่อไหร่จะกลับมากินข้าวเย็นกับพ่อ โทรศัพท์ไปถามลูกเป็นประจำ ระยะหลังพอลูกเองเห็นเบอร์โทรศัพท์พ่อก็อารมณ์เสีย จนบางทีก็ขึ้นเสียงกับพ่อว่า “ผมยังไม่ว่าง พ่อกินข้าวเย็นไปก่อน” มีวันหนึ่งพ่อถามลูกว่าเมื่อไรจะพาพ่อไปเที่ยว เพราะลูกเคยรับปากว่าเรียนจบแล้วจะพาพ่อไปเที่ยว แต่ไม่เห็นพาไปเสียที ผัดผ่อนอยู่เรื่อย จนผ่านมาหลายปี แล้ววันหนึ่งพ่อก็ป่วยหนัก สุดท้ายก็ตายจากไป

    ลูกเสียใจมากที่ไม่ได้พาพ่อไปเที่ยวตามสัญญา ตอนหลังเวลาจะไปเที่ยวที่ไหน ก็จะเอารองเท้าคู่โปรดของพ่อขึ้นรถไปด้วย วางบนเบาะ แล้วบอกว่า “พ่อ เราไปเที่ยวด้วยกันนะ” นี่เป็นวิธีคลายปม บรรเทาความรู้สึกผิดของเขา อาตมาหวังว่าจะช่วยคลี่คลายความรู้สึกผิดได้ แต่ทำอย่างนั้นก็ไม่ดีเท่ากับการพาท่านไปเที่ยวตอนที่ท่านยังมีชีวิตอยู่


    จัดเวลาให้เป็น

    มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าสำคัญ แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะอะไร? เพราะงานด่วนเอาเวลาไปใช่ไหม? ที่จริงมันไม่ได้เอาเวลาไป แต่เป็นเพราะเราจัดเวลาไม่เป็น ฉะนั้น ถ้าเราตระหนักว่าสาเหตุที่แท้อยู่ที่เราจัดเวลาไม่เป็น ก็ควรมาแก้ที่ตรงนี้ คือจัดเวลาให้กับสิ่งที่สำคัญแม้ไม่ด่วน ไม่ใช่ปล่อยเวลาให้หมดไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งสำคัญและไม่สำคัญ จนไม่เหลือสำหรับอย่างอื่น แต่จะจัดเวลาให้กับสิ่งเหล่านี้ได้ถูกต้องเหมาะสมและครบถ้วน ก็ต้องรู้จักจัดลำดับความสำคัญให้ดี เช่น อะไรที่สำคัญมาก ควรมาก่อน และให้เวลามาก ๆ ส่วนอะไรที่สำคัญน้อย หรือไม่สำคัญ ควรมาทีหลัง หรือให้เวลาน้อยกว่า

    สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ ได้แก่ จิตภาวนา ปัญญาภาวนา หรือศีลภาวนา รวมไปถึงกายภาวนา เช่น การออกกำลังกาย มันไม่ใช่งานเร่งด่วน ผัดผ่อนได้ก็จริง แต่เราก็อย่าเอาแต่ผัดผ่อน ควรหาโอกาสทำทุกวันหรือทุกอาทิตย์ แม้นิดหน่อยก็ยังดี เช่น กำหนดว่าเราจะเจริญสติ ทำสมาธิ ทุกวัน เมื่อตื่นเช้าหรือก่อนนอน วันละ ๑๐ นาทีหรือครึ่งชั่วโมง ขณะเดียวกันก็จะให้เวลากับการออกกำลังกาย เช่น วิ่ง หรือ โยคะ ทุกวัน ๆ ละครึ่งชั่วโมง เช้าหรือเย็น ก็แล้วแต่ รวมทั้งจัดเวลาไว้สำหรับคนในครอบครัวทุกวันหรือทุกเสาร์-อาทิตย์ เช่น กินอาหารด้วยกัน หรือไปเยี่ยมเยียนพ่อแม่ นอกจากนั้นควรจัดเวลาให้กับการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งการทำงานเพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือผู้อื่น หรือการทำบุญด้วย ทั้งหมดนี้เรียกรวม ๆ ว่า สิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ

    พูดง่าย ๆ คือ ทำตารางประจำวันและประจำอาทิตย์ ว่า จะทำอะไร ช่วงไหน นานเท่าใด โดยให้ครอบคลุมทั้ง สิ่งที่ด่วนและสำคัญ สิ่งที่ด่วนแต่ไม่สำคัญ รวมทั้งสิ่งที่ไม่ด่วนแต่สำคัญ ดังที่กล่าวมา และมีเวลาเหลือบ้างสำหรับสิ่งที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งชูรสหรือสิ่งที่เป็นสีสันของชีวิต

    ถ้าเราสามารถให้เวลาสำหรับการพัฒนาตน ได้ โดยแทรกไว้ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ และทุกเดือน จะทำให้เรามีโอกาสพัฒนาชีวิตของเรา ทั้งในแง่กาย จิต และความสัมพันธ์ อันจะนำเราไปสู่ชีวิตที่สงบเย็น และเป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่ามีความสำเร็จด้านอาชีพการงาน มีตำแหน่งใหญ่โต มีเงินทองมากมาย แต่ป่วยด้วยโรคร้าย รักษาไม่หายเพราะละเลยสุขภาพมานาน หรือครอบครัวแตกแยก ลูกไปอยู่กับเมีย ร้าวฉานกับพ่อแม่ หรือว่าไม่มีความใส่ใจ เอื้ออาทรต่อส่วนรวม ต่อสังคม อย่างนี้ชีวิตที่สงบเย็นเป็นประโยชน์ ก็เกิดขึ้นได้ยาก

    ในแต่ละวัน แต่ละอาทิตย์ และแต่ละเดือน จะมีกิจกรรมอยู่ ๔ ประเภทที่อาตมาพูดถึง คือ ๑.ด่วนและสำคัญ ๒. ด่วนแต่ไม่สำคัญ ๓.ไม่ด่วนแต่สำคัญ กับ ๔.ไม่ด่วนและไม่สำคัญ การดูละคร ทีวี ฟังเพลงจัดเป็นสิ่งที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ ยิ่งสมัยนี้สามารถดูทีวีย้อนหลังได้ คือไม่ต้องรีบดูก็ได้ ทุกวันนี้นอกจากการงานซึ่งเป็นสิ่งที่ด่วนและสำคัญแล้ว ยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญ แต่ก็ดึงเวลาเราไปไม่น้อย เพราะมันสนุก มันตื่นตาตื่นใจ อย่างการช็อปปิ้ง มันไม่ด่วนและไม่สำคัญเท่าไร แต่ผู้คนก็หมดเวลาไปกับเรื่องนี้เยอะ เพราะมันมีรสชาติ

    การเล่นเฟสบุ๊ค เล่นไลน์ หรืออินสตาแกรม ก็เช่นกัน มันด่วนไหม? มันสำคัญไหม? ส่วนใหญ่ไม่ใช่เรื่องด่วน และไม่สำคัญด้วย แค่เป็นสิ่งที่ชวนให้เพลิดเพลิน แต่ทุกวันนี้ผู้คนจำนวนมากหมดเวลาไปกับสิ่งนี้วันละหลายชั่วโมง ปากก็บอกว่าไม่มีเวลาออกกำลังกาย ไม่มีเวลานั่งสมาธิ ไม่มีเวลาไปเยี่ยมพ่อแม่ แต่มีเวลาเล่นไลน์ เล่นเฟสบุ๊ควันละ ๕-๖ ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น อันนี้เป็นเพราะว่าขาดสติ จิตใจไม่เข้มแข็ง ขาดวินัย

    มีคำพูดหนึ่งอาตมาชอบมาก “ดีชั่วรู้หมด แต่อดใจไม่ได้” หลายคนรู้ทั้งรู้ว่าเฟสบุ๊คไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ก็หมดเวลาไปกับมัน ไม่ได้หมดเวลาไปกับการเสพ หรือการอ่านเท่านั้น แต่เสียเวลาไม่ใช่น้อยไปกับการเขียนคอมเมนต์ ต่อว่าด่าทอเรื่องการเมือง หรือเรื่องนั้นเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่ไม่ใช่เรื่องสำคัญเลย แต่เราก็เสียเวลาและเสียอารมณ์ไปกับมันวันละหลายชั่วโมง ไม่ใช่แค่เสียเวลาและเสียอารมณ์ตอนที่มันอยู่ข้างหน้าเราเท่านั้น แม้เวลาจะนอนก็ยังหงุดหงิด เครียดเพราะคิดถึงข้อความที่ได้อ่านเมื่อเช้า

    ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะขาดจิตภาวนา ขาดปัญญาภาวนา เป็นเพราะวางแผนชีวิตไม่เป็น จัดเวลาและลำดับความสำคัญไม่ถูก ดังนั้น เมื่อเห็นความสำคัญก็ต้องวางแผน กำหนดเวลาให้แน่ชัดว่า จะให้เวลากับเรื่องนี้เท่าไร จะออกกำลังกายเช้ากี่โมง นั่งสมาธิกี่โมง ต้องทำขนาดนี้ ไม่เช่นนั้นเวลาจะหมดไปกับสิ่งที่ด่วน ทั้งที่สำคัญและไม่สำคัญ รวมทั้งเรื่องที่ไม่ด่วนและไม่สำคัญแต่มีเสน่ห์ มีรสชาติ เป็นสีสันของชีวิต
    :- https://visalo.org/article/dhammamata14_2.html
     
  19. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    เสียงธรรมที่ซาบซึ้งใจ
    พระไพศาล วิสาโล
    เมื่อหลวงปู่ขาว อนาลโย มาปักหลักตั้งสำนักที่ถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เกือบ ๖๐ ปีที่แล้ว แม่ชีสาเป็นผู้หนึ่งที่ติดตามท่านมาด้วย แม่ชีสาไม่เพียงอุปัฏฐากหลวงปู่และพระเณรอย่างขยันขันแข็ง หากยังใส่ใจในการทำกรรมฐาน จนหลวงปู่ขาวกล่าวยกย่องแม่ชีสาว่าภาวนาดีมาก จนละ “ขี้” ได้สองกอง คือ “ขี้โลภ” และ “ขี้โกรธ”

    วันหนึ่งหลวงปู่ใช้ให้พระสองรูปไปด่าแม่ชีสาเพื่อทดสอบดูว่าละความโกรธได้แค่ไหนแล้ว ทั้งสองรูปจึงพากันไปที่กุฏิของแม่ชีสา สรรหาคำรุนแรงสารพัดมาด่า แม่ชีสาตอนแรกงงงวยว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ก็พนมมือนั่งฟังพระอาจารย์ทั้งสองอย่างสงบโดยตลอด

    หลังจากที่พระอาจารย์ทั้งสองด่าว่าจนพอใจ แม่ชีสาก็ถามว่า “ท่านอาจารย์ดุด่าดิฉันหมดหรือยัง หรือมีคำด่าว่าอยู่อีก ดิฉันได้ยินได้ฟังแล้วมันซาบซึ้งเหลือเกิน เสียงดุด่าเป็นเสียงธรรมทั้งหมดเลยเจ้าข้า”

    แม่ชีสายังปวารณาอีกว่า “ขอให้อาจารย์ทั้งสองมาด่าดิฉันให้บ่อย ๆ ด้วย มันจะได้หมดกิเลสสักที”

    คนทั่วไป เมื่อถูกต่อว่าด่าทอ ไม่เพียงรู้สึกโกรธ เจ็บปวดเหมือนถูกทำร้าย หากยังรู้สึกเสียใจที่ถูกมองในแง่ลบ หรือเสียหน้าเพราะความไม่ดีของตนถูกนำมาประจาน ยิ่งเป็นคนที่เคร่งครัดในศีล มุ่งมั่นทำความดีจนมีคนชื่นชมสรรเสริญ ก็ยิ่งรู้สึกแย่ที่กลายเป็นผู้ร้ายในสายตาของผู้อื่น ยิ่งผู้ที่ตำหนินั้นเป็นถึงครูบาอาจารย์ด้วยแล้ว ก็ย่อมรู้สึกอับอาย หรือถึงกับน้อยเนื้อต่ำใจว่า ทำไมทำดีจึงไม่ได้ดี เหตุใดความดีของเราจึงไม่มีใครมองเห็น และหากคิดต่อไปว่า ถ้าเรื่องนี้แพร่หลาย มีคนอื่นรับรู้มากขึ้น ชื่อเสียงของเราย่อมป่นปี้ ภาพลักษณ์ดี ๆ จะเสียหาย คิดอย่างนี้จิตก็เป็นทุกข์ทันที

    แต่ความรู้สึกนึกคิดแบบนี้ไม่มีในใจของแม่ชีสาเลย จึงฟังคำด่าว่าของพระอาจารย์ทั้งสองด้วยใจนิ่งสงบ ราวกับไม่สนใจภาพลักษณ์ของตนเลย หรือพูดให้ถูกคือ ไม่รู้สึกว่าตัวตนถูกกระทบกระแทกแต่อย่างใด อาจเป็นเพราะแม่ชีสามีความยึดติดในตัวตนน้อยมาก แต่เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ เป็นเพราะท่านเห็นว่าคำต่อว่าด่าทอนั้นมีประโยชน์ ช่วยขูดเกลากิเลสได้เป็นอย่างดี จึงมีค่าเสมือนธรรมะอย่างหนึ่ง ที่จริงท่านอาจมองด้วยซ้ำว่า คำต่อว่าด่าทอนั้นคือธรรมะในตัวเอง เพราะสอนให้เห็นถึงความจริงของโลกอย่างหนึ่งที่เรียกว่า โลกธรรม ๘ กล่าวคือ สรรเสริญกับนินทาเป็นของคู่กัน ถ้ายึดติดคำสรรเสริญ ก็ย่อมเป็นทุกข์เพราะคำติฉินนินทา ซึ่งไม่ว่าเป็นใครทำดีแค่ไหนก็ต้องเจอวันยังค่ำ

    เรื่องของแม่ชีสาเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า คำต่อว่าด่าทอนั้น ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ แต่ที่เราทุกข์ก็เพราะวางใจไม่ถูกต่อคำต่อว่าด่าทอต่างหาก เช่น มองเห็นเป็นสิ่งเลวร้าย หรือเพราะยึดติดถือมั่นในคำเหล่านั้น เช่น เอาแต่หมกมุ่นครุ่นคิดถึงมัน วนเวียนอยู่กับความสำคัญมั่นหมายว่า เขาด่ากู ๆ ๆ พูดอีกอย่างคือชูตัวตนขึ้นเป็นเป้าของคำต่อว่าด่าทอนั้น ยิ่งชูหรือยึดตัวตนมากเท่าไร ก็ยิ่งเป็นทุกข์มากเท่านั้น

    ในทางตรงข้ามหากเห็นว่าคำต่อว่าด่าทอมีประโยชน์ ช่วยขูดกิเลส หรือทรมานอัตตาให้หายผยอง ยิ่งได้ฟัง ก็ยิ่งขอบคุณ แม้จะมีความทุกข์เกิดขึ้น ก็เห็นว่าทุกข์นั้นของ “ตัวกู” หรือเป็นความดิ้นพล่านของกิเสลมากกว่า จึงไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจแต่อย่างใด

    ทุกครั้งที่เป็นทุกข์เมื่อถูกต่อว่าด่าทอ อย่ามัวโทษผู้พูดว่าเป็นตัวการ ควรหันมาสำรวจใจของตนและแก้ที่ตรงนั้น จะว่าไปแล้วความก้าวหน้าในการภาวนาวัดกันที่ตรงนี้ หากยังโกรธเคืองเมื่อถูกต่อว่าด่าทอ ก็แสดงว่ายังมีการบ้านให้ต้องทำอีกมาก จะหลงภาคภูมิใจในความเป็นนักปฏิบัติธรรมหรือผู้ทรงศีล หาควรไม่
    :- https://visalo.org/article/secret255903.html
     
  20. supatorn

    supatorn ผู้สนับสนุนเว็บพลังจิต ผู้สนับสนุนพิเศษ

    วันที่สมัครสมาชิก:
    14 กรกฎาคม 2010
    โพสต์:
    48,514
    กระทู้เรื่องเด่น:
    169
    ค่าพลัง:
    +33,049
    สิ่งที่น่ากลัวกว่าภัยพิบัติ
    พระไพศาล วิสาโล

    ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุแผ่นดินไหวและภัยธรรมชาติมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะเมื่อต้นปีที่ผ่านมาภัยพิบัติเกิดขึ้นใกล้บ้านเรามาก เริ่มจากญี่ปุ่นแล้วก็พม่า แม้ตอนนั้นอุทกภัยครั้งใหญ่ในเมืองไทยยังไม่เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ผู้คนทั่วทั้งประเทศตื่นตระหนกกันมาก นั่นเป็นเพราะมีความกลัวตายเป็นพื้นฐาน แต่เรามักจะลืมไปว่าถึงแม้ไม่เกิดภัยพิบัติเลย เราก็ต้องตายทุกคน และหลายคนก็จะต้องตายก่อนเกิดภัยพิบัติครั้งหน้าด้วยซ้ำ ดังนั้นแทนที่จะมัวตื่นตระหนกถึงภัยพิบัติครั้งต่อไป ซึ่งจะเกิดที่ไหนก็ไม่มีใครรู้ เราควรมาใส่ใจกับความจริงที่ตามติดเราไปทุกหนทุกแห่ง นั่นก็คือความจริงที่ว่าสักวันหนึ่งเราทุกคนต้องตาย ถึงจะไม่มีภัยพิบัติใด ๆ เกิดขึ้นในอีกร้อยปีข้างหน้า เราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น


    ดังนั้นเราจึงควรเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมรับความตายที่จะมาถึงดีกว่า เช่น หมั่นทำความดี หลีกหนีความชั่ว ปฏิบัติต่อคนรอบข้างด้วยความใส่ใจ ฝึกจิตให้ตระหนักรู้ถึงความไม่จิรังยั่งยืนของทุกสิ่ง และพร้อมปล่อยวางเมื่อเกิดความพลัดพรากสูญเสีย ถ้าทำเช่นนี้ได้ครบถ้วน ความกลัวตายก็จะลดลง และไม่ตื่นกลัวภัยพิบัติ กลับมองว่าภัยพิบัติเหล่านี้มีข้อดีด้วยซ้ำตรงที่ช่วยเตือนไม่ให้ประมาท เราควรมองภัยพิบัติทั้งหลายในแง่นี้บ้าง ไม่เช่นนั้นก็จะมัวตื่นตระหนกตกใจ จนไม่เป็นอันทำอะไร และพลาดโอกาสที่จะทำสิ่งดี ๆ ให้แก่ตนเองและผู้อื่น

    พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่า เราไม่ควรเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติ เช่น มีการวางแผนบรรเทาสาธารณภัยที่รัดกุม เตรียมสิ่งของเครื่องใช้ในยามฉุกเฉิน เป็นต้น การเตรียมการดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราไม่ควรมองข้ามความจริงข้อหนึ่งก็คือ ภัยพิบัติไม่ว่าจะเป็นแผ่นดินไหว น้ำท่วม ฝนแล้ง หรือคลื่นสึนามิ แม้จะรุนแรงเพียงใดก็ไม่น่ากลัวเท่ากับใจวิบัติ ถ้าใจวิบัติแล้วความเสียหายจะตามมามากมาย

    ใจวิบัติหมายถึงอะไร หมายถึงใจที่วิปริตผิดเพี้ยน คลาดเคลื่อนจากธรรม หรือถูกกัดกร่อนเผาลนด้วยความโกรธ ความเกลียด ความโลภ ความเห็นแก่ตัว ใจที่วิบัติสามารถทำให้มนุษย์มีพฤติกรรมไม่ต่างจากสัตว์ และสามารถทำร้ายซึ่งกันและกัน จนทุกหนทุกแห่งกลายสภาพเป็นนรกได้ฉับพลัน แต่ถ้าใจไม่วิบัติแล้วแม้จะเจอภัยพิบัติแค่ไหนก็ยังพอจะประคับประคองกันไปได้ อย่างเช่น ประเทศญี่ปุ่นหลังจากเกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิแล้ว ความเดือดร้อนแพร่กระจายไปทั่ว แต่ก็ยังมีเรื่องดีๆ ที่ผู้คนกล่าวขานด้วยความชื่นชมว่า คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยยังมีวินัย มีน้ำใจต่อกัน ขนาดเกิดภัยพิบัติร้ายแรง ก็ยังไม่มีการปล้นสะดม ไม่มีการฉวยโอกาสที่กระหน่ำซ้ำเติมผู้เดือดร้อน

    เมื่อเปรียบเทียบกับเมืองไทยแล้วจะเห็นว่าตรงกันข้าม ดังปรากฏเป็นข่าวเสมอว่า เมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนกันบนทางหลวง ผู้โดยสารบาดเจ็บติดอยู่ในรถ ช่วยตัวเองไม่ได้ ผู้คนที่อยู่ในละแวกนั้นแทนที่จะมาช่วยเหลือ กลับมารุมทึ้ง แย่งเอานาฬิกา สร้อยคอ เงินทองของผู้ประสบเหตุ คงคิดว่าเจ้าของทรัพย์เหล่านั้นเสียชีวิตแล้ว ก็เลยถือเอามาเป็นของตัวเสียเลย แต่ผู้โดยสารบางคนแม้ยังไม่ตาย ก็ยังมีคนมายื้อยุดนาฬิกาจากมือของเขา ทั้ง ๆ ที่เขาวิงวอนขอร้องว่าอย่าทำ นี้คือตัวอย่างของใจวิบัติที่ทำให้ผู้คนกลายเป็นยักษ์มาร ไร้เมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ หากใจวิบัติเกิดขึ้นกับคนทั้งประเทศ ก็ไม่ต้องสงสัยเลยว่าบ้านเมืองจะร้อนรุ่มปานสักเพียงใด

    ภาพเหล่านี้เห็นยากในประเทศญี่ปุ่น แม้กระทั่งเวลามีการแจกข้าวแจกน้ำ ผู้คนก็เข้าคิวกันเป็นระเบียบ ไม่มีการแย่งแซงคิวกัน มีคนเล่าว่า วันแรกที่เกิดแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ คนนับหมื่นนับแสนสูญเสียบ้านเรือน ปรากฏร้านค้าต่างๆ ที่ไม่ประสบภัยพิบัติพากันเปิดร้าน และเอาอาหารมาแจกคนที่เดือดร้อน ถ้าเป็นที่อื่นหรือที่เมืองไทยร้านค้าก็อาจจะขึ้นราคา เพราะถือว่าได้โอกาสแล้ว ถึงจะแพงอย่างไรคนก็ต้องซื้อ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรืออาหาร แต่ที่ญี่ปุ่นเหตุการณ์ดังกล่าวแทบไม่เกิดขึ้นเลย ซุปเปอร์มาร์เก็ตบางแห่ง สินค้าตกมากองระเกะระกะเพราะแรงแผ่นดินไหว แต่ลูกค้าก็ช่วยกันเก็บของ แล้วก็หยิบของที่ตนต้องการซื้อไปต่อคิวจ่ายเงิน

    ในโตเกียวมีคนมากมายกลับบ้านไม่ได้ เพราะรถไฟฟ้าหยุดวิ่ง หลายคนนอนข้างทางเพราะโรงแรมเต็ม ก็มีคนจรจัดซึ่งเป็นคนยากจนไม่มีบ้าน เขามีน้ำใจเจียดเอากระดาษแข็งที่ใช้ก่อเป็นเพิง มาแบ่งให้คนเหล่านั้นมีที่นอน เพราะช่วงเดือนมีนาคมที่ญี่ปุ่นนั้นอากาศหนาวมาก ขณะเดียวกันเจ้าของร้านยังเอาขนมปังมาแจกฟรีแก่คนที่กำลังเดินกลับบ้านเพราะหารถไม่ได้ มีพนักงานรถไฟคนหนึ่งประทับใจเด็กนักเรียนมาก เพราะเด็กนักเรียนมาพูดกับเขาว่า “ ขอบคุณครับ ที่เมื่อวานคุณลุงพยายามอย่างสุดชีวิตทำให้รถไฟเดินรถได้อีกครั้ง ” พนักงานรถไฟได้ยินถึงกับน้ำตาคลอ เรื่องเหล่านี้ทำให้ผู้คนมีกำลังใจ ทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า แม้เกิดภัยพิบัติแต่ถ้าใจไม่วิบัติ ก็ยังสามารถพบสุขท่ามกลางความทุกข์ แม้จะมีความทุกข์แค่ไหนผู้คนก็ไม่หมดหวัง

    เรามักเป็นห่วงกังวลกับอันตรายที่อยู่นอกตัว เช่น แผ่นดินไหว น้ำท่วม แต่กลับไม่ตระหนักว่า อันตรายที่น่ากลัวที่สุดนั้นไม่ได้อยู่ที่ไหนเลย อยู่ที่ใจของเรานั่นเอง เพราะถ้าใจของเราวิบัติเสียแล้ว ย่อมหาความสุขไม่ได้เลย แม้ไม่มีภัยพิบัติเกิดขึ้น มีความสะดวกสบายทุกอย่าง ก็ยังรู้สึกร้อนรุ่มจิตใจไม่เป็นสุข เพราะผู้คนต่างเบียดเบียนเอาเปรียบกัน

    คนเราใจวิบัติได้ด้วยหลายสาเหตุ นอกจากความโลภ ความเห็นแก่ตัว อย่างที่ยกตัวอย่างเมื่อสักครู่แล้ว ความโกรธก็ยังทำให้ใจวิบัติได้ เพราะว่าเมื่อเกิดความโกรธเกลียดกันแล้ว เราก็สามารถทำร้ายคนรักหรือคนใกล้ชิดได้ เช่นสามีทำร้ายภรรยา ลูกทำร้ายพ่อ พี่ฆ่าน้อง เป็นต้น อย่าว่าแต่ทำร้ายคนอื่นแล้ว แม้แต่ตัวเอง หากใจวิบัติแล้ว ก็ยังสามารถทำร้ายตัวเองได้ เช่น ฆ่าตัวตายเพราะน้อยเนื้อต่ำใจในคนรัก หรือต้องการประชดพ่อแม่ด้วยอำนาจของความโกรธ หลายคนฆ่าตัวตายทั้ง ๆ ที่พรั่งพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติ มีชีวิตที่สะดวกสบาย ไกลจากภัยพิบัติใด ๆ แต่ถึงแม้จะไม่ได้ฆ่าตัวตาย ก็สามารถล้มป่วยเพราะความโกรธได้ บางคนเส้นโลหิตในสมองแตกจนเป็นอัมพาตก็เพราะโกรธจัดจนคุมไม่ได้

    ความกลัวก็สามารถทำให้ใจเราวิบัติได้ เพราะเมื่อกลัวแล้วย่อมเกิดความตื่นตระหนกได้ง่าย ปรุงแต่งไปต่าง ๆ นานา ๆ จนกินไม่ได้ นอนไม่หลับ คนไข้บางคนพอรู้ความจริงจากหมอว่า ตนเองเป็นมะเร็ง อยู่ได้ไม่เกินสามเดือน ก็ตกใจ ทำใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าจะต้องตาย วิตกกังวลสารพัด จนเศร้าซึมไม่เป็นอันกินอันนอน ปรากฏว่าอยู่ได้แค่ ๑๒ วันก็ตาย และไม่ได้ตายสงบด้วย แต่ตายด้วยความทุรนทุราย

     

แชร์หน้านี้

Loading...