ติลักขณาทิคาถา พระธรรมเทศนาหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ

ในห้อง 'พระไตรปิฎก' ตั้งกระทู้โดย หลับอยู่, 9 มีนาคม 2018.

  1. หลับอยู่

    หลับอยู่ http://www.pramontien.com/shop.php?shop_no=185

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    928
    กระทู้เรื่องเด่น:
    2
    ค่าพลัง:
    +291
    กัณฑ์ที่ ๒๓
    ติลกฺขณาทิคาถา
    วันที่ ๔ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๗
    ...............................................................................
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส
    นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

    สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
    อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
    สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
    อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข
    สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
    อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
    อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน
    อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ
    เย จ โข สมฺมทกฺขาเต ธมฺเม ธมฺมานุวตฺติโน
    เต ชนา ปารเมสฺสนฺติ มจฺจุเธยฺยํ สุทุตฺตรํ
    กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต
    โอกา อโนกมาคมฺม วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ
    ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน
    ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต
    เยสํ สมฺโพธิยงฺเคสุ สมฺมา จิตฺตํ สุภาวิตํ
    อาทานปฏินิสฺสคฺเค อนุปาทาย เย รตา
    ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ.

    ณ บัดนี้ อาตมภาพจักได้แสดงธรรมิกถาแก้ด้วย วิปัสสนาภูมิปาท เป็นธรรมสำหรับประจำของพุทธบริษัท พระองค์ทรงตรัสแยกแยะธรรมเป็นหลายประเภท ประเภทนี้เรียกว่า วิปัสสนาภูมิปาท

    พระองค์ทรงประกาศตั้งแต่ครั้งพุทธกาลโน้น ในหมู่บริษัททั้ง ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในครั้งกระโน้น เมื่อพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว ธรรมอันนี้ ธรรมสังฆาหกาจารย์เถระเจ้าทั้งหลาย ร้อยกรองขึ้นสู่สังคายนา ตลอดมาจนกระทั่งถึงบัดนี้

    บัดนี้เราท่านทั้งหลายจะพึงได้สดับ ณ บัดนี้ จะชี้แจงแสดงตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา และตามมตยาธิบาย กว่าจะยุติการโดยสมควรแก่เวลาเบื้องต้นแห่งวิปัสสนาภูมิปาทนี้ ว่า

    สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
    อถ นิพฺพินฺทติ ทุกฺเข เอส มคฺโค วิสุทฺธิยา
    ถ้าบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นความหมดจดวิเศษ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ

    เมื่อใด ถ้าบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ

    เมื่อใด ถ้าบุคคลเห็นตามปัญญาว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ

    อปฺปกา เต มนุสฺเสสุ เย ชนา ปารคามิโน
    บรรดามนุษย์ทั้งหลายชนเหล่าใดถึงซึ่งฝั่งได้ ชนเหล่านั้นมีประมาณน้อยนัก
    อถายํ อิตรา ปชา ตีรเมวานุธาวติ
    หมู่สัตว์นอกนี้ย่อมเลาะชายฝั่งข้างนี้นั้นแล
    ก็ชนทั้งหลายเหล่าใดประพฤติตามธรรมในธรรม ที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว
    ชนทั้งหลายเหล่านั้นจักถึงซึ่งฝั่งอันล่วงเสียซึ่งวัฏฏะ อันเป็นที่ตั้งของมัจจุ
    อันบุคคลข้ามได้แสนยาก ข้ามได้ยากนัก

    บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ย่อมละธรรมดำทั้งหลายเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น
    ความยินดีอาศัยพระนิพพาน ไม่มีอาลัย จากอาลัย ยินดีได้ด้วยยากในพระนิพพาน
    ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันเป็นที่สงัดใด ควรละตัณหาทั้งหลายเสีย เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนาซึ่งความยินดียิ่งในพระนิพพานนั้น

    บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ชำระตนให้ผ่องแผ้ว เสียจากเครื่องเศร้าหมองของจิตทั้งหลาย
    จิตอันบัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดอบรมดีแล้วโดยชอบ ในองค์แห่งการตรัสรู้ทั้งหลาย บัณฑิตทั้งหลายเหล่าใดไม่ถือมั่นยินดีแล้ว ในการละการถือมั่น บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นไม่มีอาสวะ เป็นผู้โพลง ดับสนิทแล้วในโลกด้วยประการดังนี้

    นี้เนื้อความของพระบาลี คลี่ความเป็นสยามภาษาได้ความเท่านี้ ต่อนี้จะอรรถาธิบายขยายความในวิปัสสนาภูมิปาทเป็นลำดับไป เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกนัก
    เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งสิ้นไม่เที่ยง เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษ

    สตฺตานํ ของสัตว์ทั้งหลาย นี้เป็นหนทางหมดจดวิเศษของสัตว์ทั้งหลาย เห็นตามปัญญาว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงทั้งหมด รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ก็ดี ที่เป็นมนุษย์อยู่จะได้เป็นมนุษย์อยู่ตลอดกัป นับร้อยนับพันก็หาไม่ ไม่ถึง ๑๐๐ ปี

    ครั้งพุทธกาลยืนยาวที่สุดเพียง ๑๒๐ กว่าปีเท่านั้น ยืนจนที่สุดอายุมีพระพากุลเถระเจ้า ยืนมากขึ้นไปกว่านั้นอายุ ๑๖๐ ปี ในครั้งพุทธกาลอายุขัย ๑๐๐ ปี บัดนี้อายุขัยกัปอายุ ๗๕ ปี สัตว์อายุ ๑๐๐ ปีมีน้อยนัก ถึง ๑๐๐ ปีเท่านั้นแหละ หาไม่ค่อยได้แล้ว นี่ไม่เที่ยง

    รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์ก็ดี รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ของมนุษย์ละเอียด กายทิพย์กายทิพย์ละเอียด รูปพรหม รูปพรหมละเอียด อรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ทั้ง ๘ กายนี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เที่ยงสักกายหนึ่งก็ไม่มี ล้วนแต่ไม่เที่ยงทั้งนั้น ที่เครื่องอุปการะแก่กายเล่าไม่เที่ยงดุจเดียวกัน

    สิ่งที่เป็นปรากฏ ติณชาติ รุกขชาติ วัลลีชาติ พฤกษชาติต่างๆ ไม่เที่ยงทั้งนั้น หรือตึกร้านบ้านเรือนภูเขา ตลอดจนกระทั่งภูเขาพระสุเมรุ ภูเขาจักรวาล เมื่อโลกอันตรธานก็ย่อยยับเป็นจุลไปหมด ไม่เที่ยงเลย สิ่งที่อาศัยธาตุอาศัยธรรม สังขารขึ้นนี้ ไม่เที่ยงเลย

    เมื่อเห็นไม่เที่ยงจริงเช่นนี้แล้ว ก็ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นหนทางอันหมดจดวิเศษ ถ้าว่าปัญญาเห็นอยู่อย่างนี้ เห็นชัดๆ อยู่ดังนี้แล้ว เห็นด้วยปัญญาของตนเช่นนี้แล้ว ความถือมั่นใดๆ ในโลก ความถือมั่นใดๆ ในภพนั้นๆ ก็ย่อมไม่มีเป็นแท้

    ไม่ใช่ไม่เที่ยงอย่างเดียว สังขารทั้งปวงทั้งสิ้น ตัดสินว่าเป็นทุกข์ สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺชาติ เมื่อใดบุคคลเห็นตามปัญญาว่า สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี่เป็นหนทางหมดจดวิเศษ

    นึกดูเบญจขันธ์ ทั้ง ๕ ของกายมนุษย์เป็นสุขหรือเป็นทุกข์
    ถ้าว่าคนเจ็บไข้ละก็เห็นว่าเป็นทุกข์ คนแก่ชรานั่นเห็นเป็นทุกข์จริงๆ
    ถ้าว่าเป็นทุกข์จริงเป็นทุกข์ตลอด เด็กอยู่ในท้องก็ดี คลอดแล้วก็ดี เป็นเด็กเล่นโคลนเล่นทรายอยู่ก็ดี หรือรุ่นหนุ่มรุ่นสาวก็ดี หรือแก่เฒ่าชราปานใดก็ดี ถ้าว่าไม่พิจารณาตามความเป็นจริงแล้ว สุขหายากนัก ทุกข์มากเป็นทุกข์จริง

    ขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์จริงๆ กายมนุษย์หยาบ กายมนุษย์ละเอียด ก็เป็นทุกข์ ตลอดหมดทั้ง ๘ กายทุกข์ทั้งนั้น สุขหาไม่ค่อยจะเจอ มีแต่ทุกข์ มีสุขบ้างเล็กน้อยตามภาษาของสัตว์ที่เกิดในภพนั้น

    เมื่อมนุษย์รู้ชัดเช่นนี้ ก็เบื่อหน่ายในทุกข์ นี่แหละเป็นอย่างนี้แหละ เป็นหนทางหมดจดวิเศษ
    ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว เมื่อใดบุคคลเห็นตามความเป็นจริงว่า ธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัว รูปธรรม นามธรรมก็ไม่ใช่ตัว

    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ดวงธรรมที่ทำให้เป็นธรรมกาย ตลอดจนกระทั่งถึงพระอนาคาทั้งหลายเหล่านั้น ตลอดจนกระทั่งถึงพระอรหัต ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น

    ตัวต้องอาศัยธรรมนั้น ธรรมต้องอาศัยตัวนั้นอาศัยซึ่งกันและกัน แต่ว่าธรรมทั้งหลายเหล่านั้นไม่ใช่ตัวจริงๆ

    เมื่อเห็นจริงลงไปดังนี้ว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่ตัวแล้ว ย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี่เป็นหนทางหมดจดวิเศษ ลึกซึ้งดุจเดียวกัน

    ธรรมทั้งหลาย ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหมอรูปพรหมละเอียด กายธรรม กายธรรมละเอียด กายโสดา โสดาละเอียด กายสกทาคา สกทาคาละเอียด กายอนาคา อนาคาละเอียด กายอรหัต อรหัตละเอียด ทุกดวงธรรมไม่ใช่ตัวทั้งนั้น เห็นจริงๆ เข้าเช่นนี้

    ที่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์อยู่ เพราะอะไรล่ะ? เพราะสภาพของขันธ์ที่เป็นโลกีย์นั้นไม่เที่ยงเป็นทุกข์

    ถึงที่เป็นโลกุตตรที่ข้ามขึ้นจากโลกไป อ้ายนั่นไม่กล่าว จากภพ ๓ ไปเสียแล้ว ถ้าจะกล่าวลึกลับเข้าไปอีก ไม่มีเวลาจบ

    ต้องขอสรุปไว้ว่าเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ในภพทั้ง ๓ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ไม่เที่ยงเป็นทุกข์จริงๆ แล้วก็ธรรมทั้งหลายที่สัตว์เหล่านั้นอาศัยเป็นดวงๆ ๘ ดวงนั้นไม่ใช่ตัวจริงๆ

    แม้ถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายธรรมโคตรภู โคตรภูละเอียด โสดาโสดาละเอียด สกทาคา สกทาคาละเอียด อนาคา อนาคาละเอียด อรหัตอรหัตละเอียด ๑๐ ดวง หรือเกินไปเท่าไรๆ ก็ไม่ใช่ตัว ตัวอาศัยธรรมนั้น

    ทีนี้จะกล่าวถึงตัวละ เมื่อว่าไม่ใช่ตัวแล้ว อะไรเป็นตัวล่ะ?
    เรื่องนี้ได้แสดงแล้ว เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าโปรดภัทธิยะราชกุมาร ๓๐ หย่อนอยู่หญิงแพศยาคนหนึ่ง ทั้งราชกุมาร ๓๐ มเหสีอีก ๒๙ ก็รวมเป็น ๕๙ หย่อน ๖๐ อยู่คนหนึ่ง ไม่ใช่กัณฑ์ย่อย แสดงถึงตัวนี้

    กายมนุษย์ นี่แหละเป็นตัวโดยสมมุติ
    กายมนุษย์ละเอียด ก็เป็นตัวโดยสมมุติ ไม่ใช่ตัวจริงๆ ไม่ใช่ตัวโดยวิมุตติ ทั้ง ๘ กาย กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เป็นตัวโดยสมมุติทั้งนั้น

    เป็นตัวโดยวิมุตติล่ะ กายธรรม กายธรรมละเอียด กายโสดา โสดาละเอียด กายธรรมสกทาคา สกทาคาละเอียด กายธรรมอนาคา อนาคาละเอียด กายธรรมอรหัต อรหัตละเอียด นี่เป็นตัวโดยวิมุตติทั้งนั้น เป็นชั้นไปเป็นตัววิมุตติ

    แต่ว่าถึงกายพระอรหัต ถึงวิราคธาตุ วิราคธรรมทีเดียว ถึงวิราคธาตุ วิราคธรรม ถึงกระนั้นที่จะไปเป็นพระอรหัตเป็นตัววิมุตติแท้ๆ ทีเดียว เข้าถึง วิราคธาตุวิราคธรรม ออกจากสราคธาตุสราคธรรมไปทีเดียว

    นี่ความจริงเป็นอย่างนี้ ถ้าว่ามีวิปัสสนาเห็น มีวิปัสสนาก็มีธรรมกาย เห็นด้วยตาธรรมกายนั่นแหละเรียกว่า วิปัสสนา

    วิปัสสนา แปลว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ เห็นต่างๆ เห็นไม่มีที่สุด
    ตาธรรมกายโคตรภู เห็นแค่นี้
    ตาธรรมกายโสดา โสดาละเอียด เห็นแค่นี้
    สกทาคา สกทาคาละเอียด เห็นแค่นี้
    พระอนาคา อนาคาละเอียด เห็นแค่นี้
    พระอรหัตอรหัตละเอียด เห็นแค่นี้ หนักขึ้นไปไม่มีที่สุด นับอสงไขยไม่ถ้วน เห็นไม่มีที่สุด รู้ไม่มีที่สุด เห็น จำ คิด รู้ เท่ากัน

    เห็นไปแค่ไหน รู้ไปแค่นั้น
    จำไปแค่ไหน รู้ไปแค่นั้น
    คิดไปแค่ไหน รู้ไปแค่นั้น เท่ากัน ไม่ยิ่งไม่หย่อนกว่ากัน
    นี่อย่างนี้เรียกว่า วิปัสสนา เห็นอย่างนี้เห็นด้วยตาธรรมกาย
    เห็นด้วยตากายมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด เห็นเท่าไรก็เห็นไป เรียกว่าอยู่ในหน้าที่สมถะทั้งนั้น ไม่ใช่วิปัสสนา

    ถ้าวิปัสสนาละก็ต้องเห็นด้วยตาธรรมกาย นั่นแหละเป็นตัววิปัสสนาจริงๆ ละ
    เมื่อรู้จักหลักอันนี้ ในท้ายของพระรัตนตรัยนี้ได้ชี้หลักไว้ นี่กล่าวถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ว่าบรรดามนุษย์มากมาย น้อยคนนัก น้อยหน้าทีเดียวที่จะเข้าถึงฝั่งได้ น้อยนักที่เข้าถึงฝั่งน่ะ คือนิพพานทีเดียว

    เข้าถึงนิพพาน ไม่ใช่เป็นของเข้าถึงง่าย ในวัดปากน้ำนี้มีจำนวนภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ๑๕๐ กว่า

    แต่หมดประเทศไทย นอกจากวิชชานี้แล้ว ไม่มีใครไปนิพพานได้เลย ไปนิพพานได้ก็แต่ธรรมกายเท่านั้น

    นี่พึงรู้ชัดอย่างนี้ ถ้ารู้ชัดอย่างนี้ละก็หมู่สัตว์นอกนี้นี่ย่อมเลาะอยู่ชายฝั่งข้างนี้เท่านั้น เลาะอยู่ในสักกายทิฏฐิ

    ไต่อยู่แต่กายมนุษย์นี่เอง ใจไม่พ้นกายมนุษย์ไป
    พ้นจากกายมนุษย์ไป ไปไต่อยู่กับกายมนุษย์ละเอียดที่ฝันไป เลาะอยู่แต่ฝั่งข้างนี้
    พ้นจากกายมนุษย์ละเอียดไป ไปติดอยู่กับกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ออกจากภพไม่ได้ ติดอยู่ในภพ ติดอยู่กับกายเหล่านี้

    นี้ได้ชื่อว่าเลาะอยู่แต่ชายฝั่งข้างนี้ ไม่ไปถึงพระนิพพาน พวกมีธรรมกายนั้นไปถึงนิพพาน ผู้ที่ไปถึงนิพพานแล้วมามองดูผู้ที่ไม่ไปนั่น

    ผู้ที่ไปนิพพานได้หาว่าผู้ที่ไม่ไปนั่นตาบอด มองไม่เห็นนิพพาน งุ่มง่ามเงอะงะอยู่ในกายเหล่านี้เอง งุ่มง่ามอยู่ในนี้เอง ตาบอด แล้วไม่รู้ว่าตัวตาบอดด้วยนะ ใช่ว่าจะรู้ตัวเมื่อไรล่ะ?

    ไม่รู้เสียด้วย ถ้ารู้ตัวว่าตัวตาบอดก็รับทำให้ตาดี ให้เข้าถึงธรรมกายให้ได้ เข้าถึงธรรมกายก็เป็นตาดีกัน

    ไม่เข้าถึงธรรมกาย ก็เป็นตาบอด
    ไม่เข้าถึงนิพพาน ไปนิพพานไม่ได้
    เห็นนิพพาน ไปนิพพานได้ก็เรียกว่าตาดี นี่ตรงอยู่อย่างนี้
    เมื่อรู้จักหลักดังนี้แล้ว ก็คนทั้งหลายเหล่าใดแล ปฏิบัติตามธรรมในธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว พระตถาคตก็ธรรมกายนั่นแหละ
    ธรรมอะไรที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้วน่ะ
    ธรรมที่ทำให้เป็นกายเป็นลำดับไป จนกระทั่งถึงกายพระอรหัตนั่นแหละเป็นสวาขาตธรรมละ ธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวดีแล้วกล่าวชอบแล้ว ถูกหลักถูกฐานทีเดียว ไม่ใช่อื่นละ ไปตามร่องรอยนั้น

    ถ้าว่าปฏิบัติตามแนวนั้น คนทั้งหลายเหล่านั้นก็ย่อมถึงซึ่งฝั่ง ล่วงเสียซึ่งวัฏฏะเป็นที่ตั้งแห่งมัจจุ ยากที่บุคคลจะล่วงได้

    ล่วงซึ่งวัฏฏะนั่นมันอะไรล่ะ? กัมมวัฏฏ์ กิเลสวัฏฏ์ วิปากวัฏฏ์ ไม่ข้องขัดเรื่อยไป

    ล่วงเสียได้แล้ว ยากที่บุคคลจะล่วงได้ ไม่ใช่เป็นของง่าย
    แต่ว่าต้องปฏิบัติตามธรรมที่พระตถาคตเจ้ากล่าวชอบแล้ว จึงจะล่วงได้ ที่ล่วงได้ไปถึงนิพพานได้ เป็นพระอรหัตตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน นั่นล่วงได้แล้ว พวกนี้ล่วง ได้แล้วทั้งนั้น

    เมื่อล่วงได้ขนาดนี้ ตามวาระพระบาลีว่า ถ้าจะไปทางนี้ ผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญา ให้ละธรรมดำเสีย ยังธรรมขาวให้เจริญขึ้น ดำไม่ให้มีเลย เข้าถึงดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ ก็ใสเป็นแก้ว หาหลักอื่นไม่ได้

    ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายมนุษย์ละเอียด ดวงธรรมที่ทำให้เป็นกายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม รูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม อรูปพรหมละเอียด ใสหนักขึ้นไป สว่างหนักขึ้นไป ดำไม่มีไปแผ้วพานเลย

    นี่ให้ละธรรมดำเสียอย่างนี้ ยังธรรมขาวให้สะอาด ให้บังเกิดปรากฏขึ้นอย่างนี้ ให้เกิดปรากฏ จนกระทั่งถึงธรรมกายตลอดไป นั่นธรรมขาวทั้งนั้นพวกเหล่านี้
    กณฺหํ ธมฺมํ วิปฺปหาย สุกฺกํ ภาเวถ ปณฺฑิโต โอกา อ โนกมาคมฺม
    อาศัยซึ่งนิพพาน ไกลจากอาลัย อาศัยอาลัยไม่มีอาลัย จากอาลัย เมื่อถึงพระอนาคา ก็อาศัยนิพพานได้ เมื่อถึงพระอรหัตละก็ไปนิพพานเลย ไปนิพพานทีเดียวไม่ไปไหนละ

    อาศัยนิพพาน ไม่มีอาลัย จากอาลัย
    กามคุณาลัย อาลัยในรูป ในกลิ่น ในเสียง ในรส ในสัมผัส ไม่มีเลย ไปอยู่นิพพานเสีย ไม่มีอาลัยไปเจือปนระคนเลย

    มีธรรมกายไปได้ ไปนิพพานได้ ไม่เกี่ยวด้วยอาลัยเสียเลยทีเดียว
    วิเวเก ยตฺถ ทูรมํ ยินดีได้ด้วยยากในนิพพานอันสงัดใด
    ถ้าว่าไม่มีธรรมกายแล้วไปยินดีไม่ได้ ถ้าไม่ถึงไม่รู้รสชาติของนิพพานทีเดียว ถ้ามีธรรมกายแล้วยินดีนิพพานได้ นิพพานเป็นที่สงัด เป็นที่สงบ เป็นที่เงียบ เป็นที่หยุดทุกสิ่ง ถึงนิพพานแล้ว สิ่งที่ดีจริงอยู่ที่นิพพานทั้งนั้น

    เมื่อรู้จักนี้แล้ว ตตฺราภิรติมิจฺเฉยฺย หิตฺวา กาเม อกิญฺจโน ละกามทั้งหลายเสียได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีกังวลแล้ว ปรารถนายินดีจำเพาะในพระนิพพานนั้น

    นิพพานนั้นเป็นของสำคัญนัก ลึกลับ พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์มุ่งนิพพานทั้งนั้น เมื่อเป็นพระอรหัตนั้นมีจำนวนเท่าไรองค์ ก็มุ่งนิพพานทั้งนั้น ตั้งแต่อนาคาก็มุ่งนิพพาน ตั้งแต่มีกายธรรม ก็ถ้าว่าไปนิพพานบ่อยๆ ละก็ชอบนัก อยากจะอยู่ในนิพพาน เป็นที่เบิกบาน สำราญใจ กว้างขวาง ทำให้อารมณ์กว้างขวาง ทำให้เยือกเย็นสนิท ปลอดโปร่งในใจ ทำให้สบายมากนัก นิพพาน

    เหตุนั้น ปริโยทเปยฺย อตฺตานํ จิตฺตเกฺลเสหิ ปณฺฑิโต บัณฑิตผู้ดำเนินด้วยคติของปัญญาเรียกว่าคนฉลาด ชำระตนให้ผ่องแผ้ว ชำระตนให้สะอาด เมื่อตนผ่องแผ้วสะอาดจากธรรมเครื่องเศร้าหมองของใจแล้ว

    เหลือแต่ธรรมกายใส สะอาดเป็นชั้นๆ ไป โคตรภู โสดา สกทาคา อนาคา อรหัต นั่นเรียกว่าสะอาดละ อย่างนั้นเรียกว่าสะอาดจากธรรมเครื่องเศร้าหมองของใจไม่มีแล้ว ผ่องแผ้วดีแล้ว จิตอันบัณฑิตเหล่าใดอบรมด้วยดีแล้ว โดยชอบในองค์เหตุของความตรัสรู้ทั้งหลาย

    บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้นย่อมไม่ถือมั่น ยินดีในการละการถือมั่น ย่อมไม่ถือมั่น ยินดีในการไม่ถือมั่น เมื่อปล่อยเสียได้หมดเสียเช่นนี้นั้น

    ขีณาสวา ชุติมนฺโต เต โลเก ปรินิพฺพุตาติ.
    บัณฑิตทั้งหลายเหล่านั้น ย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ขีณาสวาย่อมเป็นผู้ไม่มีอาสวะ กามาสวะ ทิฏฐาสวะ อวิชชาสวะ ไม่มี หลุดหมด
    ชุติมนฺโต ย่อมเป็นผู้โพลงรุ่งเรืองสว่าง ดับสนิทในโลกด้วยประการดังนี้
    นี้เป็นผลสุดท้ายของพระสูตรนี้ ประสงค์พระอรหัต ตัดกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานทีเดียว นี่เป็นหลักเป็นประธานของพระพุทธศาสนาเป็นธรรมทางวิปัสสนา ธรรมนี้เป็นทางวิปัสสนาโดยแท้ กล่าวมานี้ แสดงมานี้ตามปริยัติเทศนา

    ถ้าว่าจักแสดงตามหลักปฏิบัติให้ลึกซึ้งลงไปกว่านี้ เป็นของที่ลึกล้ำคัมภีรภาพนัก

    เมื่อมีธรรมกายปรากฏเห็น อนิจจํ ทุกขํ อนตฺตา ในเบญจขันธ์ทั้ง ๕ ที่เป็นมนุษย์ก็ดี มนุษย์ละเอียดก็ดี กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียดก็ดี กาย รูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียดก็ดี

    เป็นกายสัตว์เดรัจฉานก็ดี เปรต อสุรกาย สัตว์นรกทั้งหมด ที่เรียกว่าประกอบด้วยเบญจขันธ์ ขันธ์ทั้งหลายเหล่านั้นแหละเกิดจากธาตุจากธรรม ธาตุธรรมเป็นตัวยืนให้เกิดขึ้นเป็นเบญจขันธ์

    เบญจขันธ์ทั้ง ๕ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ ขันธ์มีเท่าใด ก็ภพกี่ชาติเท่าใด ย่อมเป็น อนิจจํ ทุกขํ ทั้งนั้น แล้วก็ไม่ใช่ตัวด้วย

    ธรรมที่ทำให้เป็นขันธ์เหล่านั้น ดวงธรรมที่ทำให้เป็นขันธ์เหล่านั้น ทุกขันธ์ไป ทุกกายไป ก็ไม่ใช่ตัวอีกเหมือนกัน ได้ชื่อว่าเป็นทุกข์แล้ว ไม่ใช่ตัวด้วย

    เมื่อรู้จักว่าไม่เที่ยงไม่ใช่ตัวละก็ ต้องปล่อยปละละดังนี้เป็นชั้นๆ ไป ดังแสดงแล้วก่อนๆ โน้น สละละกายเหล่านี้เสียทุกชั้นไป เมื่อวานก็แสดงละเป็นชั้นๆ ไป
    ละกายมนุษย์หยาบ เข้าหากายมนุษย์ละเอียด
    ละกายมนุษย์ละเอียด เข้าหากายรูปพรหมอยู่กลางกายทิพย์ละเอียด
    ละกายรูปพรหม เข้าหากายรูปพรหมละเอียดอยู่กลางกายรูปพรหม
    ละกายรูปพรหมละเอียด เข้าหากายอรูปพรหมอยู่กลางกายรูปพรหมละเอียด
    ละกายอรูปพรหม เข้าหากายอรูปพรหมละเอียด
    ละกายอรูปพรหมละเอียด เข้าหากายธรรม ละเป็นชั้นๆ ไปอย่างนี้
    เมื่อถึงกายธรรมแล้วถึงขั้นวิปัสสนา
    ๘ กายข้างต้น กายมนุษย์ไปจนถึงอรูปพรหมละเอียด นั่นเป็นกายขั้น สมถะ
    ถ้าว่าเข้าไปถึงกายเหล่านั้นเป็นสมถะทั้งนั้น เข้าถึงวิปัสสนาไม่ได้ เพราะกายเหล่านั้นเป็นสมถะ

    ทำไมรู้ว่าเป็นสมถะ?
    ภูมิสมถะ บอกตำรับตำราไว้ ๔๐
    กสิน ๑๐
    อสุภ ๑๐
    อนุสสติ ๑๐ เป็น๓๐ ละ
    อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ กำหนดอาหารเป็นปฏิกูล
    จตุธาตุววัตถานะ ๑ กำหนดธาตุ ดิน น้ำ ไฟ ลม กำหนดธาตุเหล่านี้ ทั้ง ๒ นี้เป็น ๓๒
    พรหมวิหาร ๔ เป็น ๓๖
    อรูปฌาน ๔ รวมเป็น ๔๐
    นี่ภูมิของสมถะ เมื่อเข้ารูปฌานต้องอาศัยมนุษย์ กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหมเข้ารูปฌาน กายอรูปพรหมเข้าอรูปฌาน นี่หลักฐาน ฌานเหล่านี้ยืนยันว่า ตั้งแต่ตลอดรูปพรหมอรูปพรหมนี่แหละเป็นภูมิสมถะทั้งนั้น ไม่ใช่ภูมิวิปัสสนา

    ภูมิวิปัสสนา ยกวิปัสสนาขึ้นข่ม ขันธ์ ๕ อายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ ทั้ง ๖ หมวดนี้เป็นภูมิของวิปัสสนา

    ขันธ์ ๕ ได้แสดงแล้ว รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของมนุษย์มนุษย์ละเอียด กายทิพย์ กายทิพย์ละเอียด กายรูปพรหม กายรูปพรหมละเอียด กายอรูปพรหม กายอรูปพรหมละเอียด ๘ กายนี้ขันธ์ ๕ ทั้งนั้น

    ขันธ์ ๕ เหล่านี้แหละตาธรรมกายเห็นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวทั้งนั้น เห็นชัดๆ อย่างนี้ นี้เป็นวิปัสสนา

    อายตนะ ๑๒ มี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ ทั้ง ๑๒ นี้ ก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวอีกเหมือนกัน เช่นเดียวกัน แปรผันไปตามหน้าที่ของมัน เห็นชัดๆ

    ธาตุ ๑๘
    จักขุธาตุ
    รูปธาตุ
    จักขุวิญญาณธาตุ
    โสตธาตุ สัททธาตุ โสตวิญญาณธาตุ
    ฆานธาตุ คันธธาตุ ฆานวิญญาณธาตุ
    ชิวหาธาตุ รสธาตุ ชิวหาวิญญาณธาตุ
    กายธาตุ โผฏฐัพพะธาตุ กายวิญญาณธาตุ
    มโนธาตุ ธรรมธาตุ มโนวิญญาณธาตุ
    ธาตุ ๑๘ สาม ๖ เป็น ๑๘
    อายตนะ ๖ อายตนะหนึ่งแยกออกเป็น ๓

    จักขุ ก็เป็นธาตุ
    รูป ที่มากระทบจักขุก็เป็นธาตุ
    วิญญาณธาตุที่แล่นไปรับรู้รูปที่มากระทบนัยน์ตา ก็เป็นธาตุ
    หู ก็เป็นธาตุ
    เสียง ที่มากระทบหู ก็เป็นธาตุ
    วิญญาณธาตุที่แล่นไปรับรู้ทางหู ก็เป็นธาตุ
    จมูก ก็เป็นธาตุ
    กลิ่น ก็เป็นธาตุ
    รู้ ที่แล่นไปตามจมูก นั่นก็เรียกว่าธาตุ
    ลิ้น ก็เป็นธาตุ
    รส ก็เป็นธาตุ
    ความรู้ ที่แล่นไปตามลิ้น นั่นก็เป็นธาตุ
    กาย ก็เป็นธาตุ
    สัมผัสถูกต้อง ก็เป็นธาตุ
    วิญญาณ ที่รู้สัมผัสนั่นก็เป็นธาตุ
    ใจ ก็เป็นธาตุ
    อารมณ์ ที่เกิดกับใจก็เป็นธาตุ
    วิญญาณ ที่รู้อารมณ์ที่เกิดกับใจนั้นก็เป็นธาตุ
    รู้ว่าเป็นธาตุ

    ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาทั้งนั้น

    เมื่อรู้ชัดว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้ละ ก็รู้ชัดๆ เช่นนี้เห็นชัดๆ เช่นนี้
    นี้ก็ด้วยตาธรรมกาย
    ตากายมนุษย์ กายทิพย์ กายรูปพรหม อรูปพรหม ทั้งหยาบทั้งละเอียดเห็นไม่ได้

    เห็นได้แต่ตาธรรมกาย

    ธาตุ ๑๘ นี่ก็เห็นได้ชัดๆ

    อินทรีย์ ๒๒
    จักขุนทรีย์ นัยน์ตาเป็นใหญ่
    โสตินทรีย์ ความได้ยินเป็นใหญ่
    ฆานินทรีย์ ความรู้กลิ่นเป็นใหญ่
    ชิวหินทรีย์ ความรู้รสเป็นใหญ่
    กายอินทรีย์ กายรับถูกต้องเป็นใหญ่
    มนินทรีย์ ใจเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ตามหน้าที่ ที่เรียกว่าอินทรีย์ ๕ ในอินทรีย์ทั้ง ๕
    นี้เป็นใหญ่ตามหน้าที่ของมัน อินทรีย์ไม่ใช่มีน้อยมี ๒๒
    อิตถินทรีย์ สภาวรูปของหญิงเป็นใหญ่
    ปุริสินทรีย์ สภาวรูปของชายเป็นใหญ่
    ชีวิตินทรีย์ ชีวิตเป็นใหญ่ อยู่ดังนี้
    สุขินทรีย์ สุขเป็นใหญ่
    ทุกขินทรีย์ ทุกข์เป็นใหญ่
    โสมนัสสินทรีย์ ความดีใจเป็นใหญ่
    โทมนัสสินทรีย์ เสียใจเป็นใหญ่
    อุเบกขินทรีย์ อุเบกขาเป็นใหญ่
    สัทธินทรีย์ ความเชื่อเป็นใหญ่
    วิริยินทรีย์ ความเพียรเป็นใหญ่
    สตินทรีย์ สติเป็นใหญ่
    สมาธินทรีย์ สมาธิเป็นใหญ่
    ปัญญินทรีย์ ปัญญาเป็นใหญ่
    อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ พระโสดาเป็นใหญ่ เป็นหน้าที่ของพระโสดาปัตติมรรค
    อัญญินทรีย์ โสดาปัตติผลสกทาคาอนาคาถึงอรหัตมรรคเป็นใหญ่ของหน้าที่นั้นๆ
    อัญญาตาวินทรีย์ อรหัตเป็นใหญ่ เป็นใหญ่ในหน้าที่ของพระอรหัตผลนั้นๆ
    เมื่อว่าอินทรีย์ ๒๒ เป็นภูมิของวิปัสสนาแท้ๆ ถ้าไม่มีตาธรรมกายมองไม่เห็น มีตาธรรมกายมองเห็น
    อินทรีย์ ๒๒

    อริยสัจ ๔
    ทุกข์
    เหตุเกิดทุกข์
    ความดับทุกข์
    ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

    ทุกข์น่ะมีจริงๆ นะ หมดทั้งร่างกายนี้ทุกทั้งก้อน หรือใครว่าสุข ลองเอาสุขมาดู ก็จะไปหยิบเอาทุกข์ให้ดูทั้งนั้น ตลอดจนกระทั่งชาติ เกิดก็เป็นทุกข์
    ชาติปิทุกฺขา ความเกิดเป็นทุกข์

    เมื่อเกิดแล้วก็มี แก่ มีเจ็บ มีแปรไปตามหน้าที่ ก็ออกจากทุกข์นั่นทั้งนั้น ไม่ใช่ออกจากสุข

    ต้นนั่นเป็นทุกข์ทั้งนั้น
    เกิดนั่นแหละเป็นตัวทุกข์ละ ต้องกำหนดรู้มันไว้ ทำอะไรมันก็ไม่ได้
    เหตุให้เกิดมี กามตัณหาภวตัณหาวิภวตัณหา เป็นเหตุให้เกิดชาติ
    กามตัณหา ภวตัณหา วิภาวตัณหา
    กามตัณหาอยากได้เป็นกามตัณหา
    ภวตัณหาอยากให้มีให้เป็น เป็นภวตัณหา
    เมื่อมาเป็นมามีเห็นปรากฏแล้ว ไม่อยากให้แปรไปเป็นอย่างอื่น ให้ดำรงคงที่นั่นเป็นวิภวตัณหา
    เหมือนเราเป็นหญิงเป็นชาย ไม่มีลูก อยากได้ลูก นั่นเป็นกามตัณหาแล้ว
    ได้ลูกสมเจตนาเป็นภวตัณหาขึ้นแล้ว
    ไม่อยากให้ลูกนั้นแปรไปเป็นอย่างอื่น นั่นเป็นวิภวตัณหาอีกแล้ว
    เห็นไหมล่ะเป็นอยู่อย่างนี้แหละ
    กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี่แหละเป็นเหตุให้เกิดชาติ
    ต้องดับด้วยศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ดังกล่าวแล้ว ถอดกันไปเป็นชั้นๆ จนกระทั่งพระอรหัตดับหมด

    ดับนั่นแหละเป็นตัวนิโรธ
    ที่เข้าถึงซึ่งความดับนั่นเป็นมรรค
    สัจจธรรมทั้ง ๔ นี่ต้องมีตาธรรมกายจึงจะมองเห็น ไม่มีตาธรรมกายมองไม่เห็น
    ปฏิจจสมุปบาทธรรม ๑๒ ธรรมอาศัยซึ่งกันและกันเป็นแดนเกิดขึ้น
    อวิชชา ความรู้ไม่จริงเป็นเหตุให้เกิดสังขาร
    สังขาร เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ
    วิญญาณ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
    นามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
    สฬายตนะ เป็นปัจจัยให้ เกิดผัสสะ ผัสสะทั้ง ๖
    ผัสสะ เป็นปัจจัยให้เกิดอุปาทาน
    อุปาทาน เป็นปัจจัยให้เกิดภพ
    ภพ เป็นปัจจัยให้เกิดชาติ ความเกิด
    ชาติ ก็เป็นปัจจัยให้เกิด ชรา มรณะ โศก ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส
    อัปปิเยหิสมฺปโยโค ทุกฺโข ยมฺปิจฺฉํ นลภติ ตมฺปิ ทุกฺขํ

    โดยย่อก็ความยึดถือมั่นในปัญจขันธ์ทั้ง ๕ เป็นทุกข์ นี่เกิดจากอวิชชาทั้งนั้น ไม่ใช่อื่น

    ถ้าว่าเมื่อถึงพระอรหัตแล้ว อวิชชาหลุดหมด นี่เป็นตัววิปัสสนาชัดๆ อย่างนี้นะ
    พึงรู้จักนี่แหละตามปริยัติชัดๆ ทีเดียว

    เมื่อรู้จักละก็ให้จำไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติ
    จะได้พาตนหลีกลัดลุล่วงพ้นจากวัฏฏะสงสาร
    มีนิพพานเป็นที่ไปในเบื้องหน้า

    ที่ได้ชี้แจงแสดงมานี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบายพอสมควรแก่เวลา เอเตน สจฺจวชฺเชน ด้วยอำนาจความสัจที่ได้อ้างธรรมปฏิบัติตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้

    สทา โสตฺถี ภวนฺตุ เต ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดามาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมุติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงเท่านี้

    เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้
     

แชร์หน้านี้

Loading...