จิตอิสระ จึงไร้ทุกข์ ตอนที่ ๑

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย 00p, 10 เมษายน 2007.

  1. 00p

    00p สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    5 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    13
    ค่าพลัง:
    +22
    มีปัญญาเพื่อดับทุกข์

    ๑. พระที่แท้จริง คือ พระอริยเจ้าผู้หมดกิเลสได้จริง ไม่มีลาภ ยศ ชื่อเสียง ไม่ยึดติดอยู่ในความสุข ไม่มีอัตตา นี่คือ พุทธศาสนาตัวแท้ นั่นคือ จิต ที่หยั่งรู้ เข้าถึงพุทธธรรม เราทุกคนจะต้องฝึกจิตใจให้มีปัญญา ให้เป็นเช่นนี้ แบบนี้
    ๒. สมาธิที่ถูกต้อง จิตจะเบาสบาย สงบระงับ จากการปรุงแต่ง ตั้งมั่น เป็นอารมณ์เดียว ไม่สนใจในรูป รส กลิ่น เสียง ภาพนิมิตต่างๆ เป็นต้น ต้องละทิ้งให้หมด เห็นแล้วให้ผ่านไป ไม่เอา ทำเพื่อพักผ่อนจิต ให้หายอ่อนเพลีย มีกำลัง พลังเกิดขึ้น
    ๓. การปฏิบัติธรรมที่ถูกต้อง เป็นไปเพื่อความสงบและเฉลียว - ฉลาด เพราะมีเหตุผลรู้เท่าทันชีวิตตนเอง อย่างถึงแก่นแท้ และ รู้จักสิ่งแวดล้อม ทุกสิ่งในโลกนี้ว่า มันเป็นของไม่เที่ยงแท้แน่นอน ไร้แก่นสาระ จะไปเอามายึดถือ ให้เป็นของเราจริง ๆ ไม่ได้
    ๔. เรื่องพิธีกรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ศาสนกิจ ศาสนพิธี ทั้งหลาย เป็นเรื่องสมมติ เป็นการเล่นตลกกัน เพราะกำหนดขึ้นมา ทำให้คนไป ยึดติดในรูปแบบวิธีการ ใจจึงไม่เกิดปัญญาตัวแท้จริง ที่จะดับทุกข์
    ๕. จงบูชาสิ่งที่ควรบูชา บูชาบุคคลที่ควรบูชา อย่าไปบูชา ลาภ ยศ ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ มันเป็นสิ่งที่เหลวไหลไร้สาระ แต่สิ่งที่ควรบูชา มากที่สุด คือ ปัญญาที่ถูกต้องของตนเอง ปัญญาที่ไม่เป็นทุกข์
    ๖. ทุกท่านจงพิจารณาโลกว่า ทุกอย่างมีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนในท่ามกลาง และ ดับสลายไปในที่สุด ไม่มีใครได้อะไรในโลกนี้จริงๆ
    ให้ยอมรับมัน แล้วจิตจะว่าง วางมันลงได้ จึงหมดทุกข์
    ๗. งานศพเป็นงานมหามงคล เป็นงานบุญกุศลยิ่งใหญ่ที่สุด เป็นประกาศนียบัตร และ ปริญญาของโลกนี้ ที่ทุกคนจะได้รับ ถือว่าจบหลักสูตร การเรียนรู้ ศึกษาชีวิตมันจะเรียนจบตรงนั้นเอง จบที่ความตาย แล้วจะรู้ว่าชีวิตนี้ มันไม่ได้อะไรจริงๆ เกิดมามีค่าเท่ากับศูนย์ เมื่อตายก็กลับไปสู่ความเป็นศูนย์อีก มันจึงเป็นสูญญตา คือ ความว่างเปล่าเท่านั้นเอง
    ๘. ชีวิตที่เกิดมากับความตาย คือ ธรรมชาติอันเดียวกัน เหมือน หัวไม้เท้ากับปลายไม้เท้า มันเป็นไม้เท้าอันเดียวกัน ตอนต้นคือการเกิด ตอนสุดท้าย คือ ความตาย การเกิดตายจึงเป็นกฏเกณฑ์ชีวิต ที่ทุกคนจะต้อง ได้รับอย่างแน่นอน จงรีบตาย ก่อนตายให้หมดความรู้สึกว่า เป็นตัวเราก่อนตาย
    ๙. ความสุขที่ยึดติดผูกพัน อยู่ในวัตถุสิ่งของทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นลาภ ยศ ความร่ำรวย การมีคนรักหรือของรัก เป็นความสุข จอมปลอม หลอกลวง เป็นภาพมายา กับดักให้เราไปหลงกินเหยื่อ ทำให้ตกเป็น ทาสของวัตถุ ต้องติ้นรนแสวงหามาด้วยความเหน็ดเหนื่อย เมื่อยล้า กว่าจะได้ ความสุขนั้นมา
    ๑๐. พุทธศาสนาสรุปให้สั้นที่สุด คือ เราต้องมีสัมมาทิฏฐิ มีความเห็นที่ถูกต้อง รู้เรื่องของความทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ ความดับทุกข์ และ วิธีปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ นี่คือ จุดสุดยอด คือ แก่นพุทธธรรม เราต้องมีปัญญาศึกษาปฏิบัติ ตามนี้ให้ถูกต้อง ความทุกข์ใจจะหมดไป
    ๑๑. การมองเห็นสุขเป็นสุขนั่นแหละ จะทำให้เกิดทุกข์ มีความสุข มีบ่อเกิดมาจากความทุกข์ เพราะ ความสุขไม่อยู่มั่นคงถาวรยั่งยืน จะกลับกลาย เป็นทุกข์อยู่เสมอ ตัวเราเป็นต้นเหตุแห่งสุขและทุกข์ จงสร้างเหตุให้ดีให้ถูกต้อง ความทุกข์จะได้ไม่เกิดขึ้น
    ๑๒. ศาสนามีมากมาย แต่เมื่อท่านเข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาแล้ว จะพบว่า ศาสนามีหนึ่งเดียวเท่านั้น คือ รู้จักการช่วยเหลือผู้อื่น ไม่เบียดเบียน ตัวเองและผู้อื่น และรู้จักการฝึกจิตใจให้สงบสุข ไม่มีทุกข์
    ๑๓. ความไม่ยึดถือ คือ การหลุดพ้น จะเกิดขึ้นได้เมื่อเราเห็นว่า ความสุข ความทุกข์ มิตร ศัตรู ของเขา ของเรา ตัวเขา ตัวเรา มีสภาพคุณค่า เท่าเทียมกัน เหมือนกันหมด ไม่มีการแบ่งแยก มองโลกและชีวิตด้วยสายตา ของผู้สงบ มันจึงเป็นอีกชื่อหนึ่งของความไม่ยึดถือ
    ๑๔. จุดมุ่งหมายที่สำคัญของชีวิต คือ การกิน อยู่ใช้ การกระทำ คำพูด ความรู้สึกนึกคิด ที่ถูกต้องบริสุทธิ์ ไม่ทำให้ผู้อื่นและตัวเองเดือดร้อน ใช้ชีวิตอยู่ด้วยความสงบสุข สบายใจ ไร้ทุกข์
    ๑๕. ถ้าท่านใช้ชีวิตอยู่ด้วยความมักน้อย สันโดษ ไม่ทะเยอทะยาน อยาก รู้จักความพอดี เมื่อนั้นเสรีภาพ อิสรภาพ อันสูงสุด ก็จะเกิดขึ้นในจิตใจ ของท่าน จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ได้อย่างมีความสุขสงบ ปลอดภัย ไร้ความกังวล วิถีแห่งปัญญาจะเกิดขึ้นทันที
    ๑๖. ข้าวมันงอกขึ้นมาได้ เพราะมีเชื้อพาให้เกิดขึ้นฉันใด จิตใจ ร่างกายที่พาให้เกิดตายวนเวียนไม่หยุด ก็เพราะมีเชื้อของความโลภ โกรธ หลง อยู่ภายในจิตใจ ท่านต้องทำลายขจัดเชื้อแห่งการเกิด - ตาย ออกไปจากจิตใจ ให้หมดสิ้นไป เมื่อนั้นจะสิ้นสุดการเวียนว่ายตาย - เกิด ไม่ต้องเกิดมาประสบ กับความทุกข์ทรมานในโลกนี้อีก จึงเป็นการสิ้นภพสิ้นชาติ

    ฝึกจิตให้เกิดสมาธิ ฝึกคิดให้ถูกต้อง

    ถ้ามีเวลาว่าง ให้กำหนดจิตเป็นสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวกัน สักระยะหนึ่ง เพื่อพักผ่อนจิตให้เบาสบาย มีพลังมากขึ้น ถึงแม้จะออกจากสมาธิ ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวกัน สักระยะหนึ่ง เพื่อพักผ่อนจิตให้เบาสบาย มีพลังมาก ขึ้น ถึงแม้จะออกจากสมาธิแล้ว ท่านจงตามรักษาจิตให้สะอาด ผ่องใส สงบ ระงับ ไม่ถึือมั่น ไม่แบกเอาสิ่งต่าง ๆ มาไว้ในใจ ให้หนักทรมานเปล่า ๆ ซึ่งวิธีนี้ สมาธิก็จะเกิดอยู่ในจิตตลอดเวลา
    จงพยายามรักษาจิตให้บริสุทธิ์ สงบเยือกเย็นอยู่เสมอ อย่าคิดอะไร ให้ตัวเองเป็นทุกข์ อย่าอยากได้ อยากเป็นอะไรจนเกินพอดี อย่าถือตัว อย่ามี มานะทิฏฐิ จงน้อมจิตให้มองเห็นสภาวะที่สงบเย็นผ่องใสอยู่เสมอ แล้วจิตใจ ของท่านจะไม่มีเรื่องรบกวนให้เดือดร้อนเลย
    ถ้าท่านหันไปอยากได้ อยากดีกับสิ่งของทางโลก ใจของท่านจะ สับสนวุ่นวาย เป็นทุกข์อย่างแน่นอน แต่ถ้าท่านมองเห็นความสงบของจิต จนสามารถควบคุมจิต ไม่ให้เกิดความทะเยอทะยานอยาก ที่ไม่รู้จักพอได้แล้ว จิตของท่านก็จะสงบเย็น เบาสบาย อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าท่านจะเป็นคนร่ำรวย หรือยากจน ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ไหน หรืออยุ่ในฐานะอะไรก็ตาม จิตของท่านก็จะ ไม่มีความทุกข์ใจเลย เพราะการคิดพิจารณาแบบนี้

    ไม่มีเจ้าของ

    ถ้าท่านได้ครอบครอง เป็นเจ้าของสิ่งใด ระวังตัวให้ดี สักวันหนึ่ง ท่านจะเป็นทุกข์เจ็บปวดทรมาน กับสิ่งนั้นอย่างแน่นอน ไม่ว่าท่านจะเป็น เจ้าของบ้าน รถ ผัวเมีย ลูกหลาน ทรัพย์สมบัติ ลาภ ยศ ตำแหน่ง หน้าที่การงาน เป็นต้น ถ้าวันใดสิ่งเหล่านี้ พลัดพราก สูญเสียไปจากท่าน ความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน จะเกิดขึ้นทันที
    ส่วนใครที่ไม่เป็นเจ้าของอะไรเลย ก็จะเบาสบายใจ เพราะ ไม่มีอะไร ที่จะต้องเสียใจ ไม่มีอะไรที่จะต้องพลัดพรากสูญเสีย จิตจึงเป็นอิสระ ไม่มีเรื่องใด ๆ ทำให้เป็นทุกข์ แต่ถ้าเราจำเป็นจะต้องเป็นเจ้าของสิ่งใด เพื่อ การกิน อยู่หรือใช้ ก็จงมีสติพิจารณา ให้รู้เท่าทันว่า เรามาใช้ มาอาศัยอยู่กับมัน เพียงชั่วคราวเท่านั้น จะไปยึดถือเอามาเป็นเจ้าของ อย่างจริงจัง ถาวร ตลอดไป ไม่ได้
    จงฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบันทุกขณะ ไม่ต้องไปห่วงอนาคต อย่าไปคิดถึงอดีต ไม่หวังอะไรกับวันพรุ่งนี้ เพราะพรุ่งนี้มันจะดูแลตัวมันเองได้ ตามเหตุปัจจัย อย่าวิตกกังวลกับอนาคต แม้แต่มดยังไม่อดตาย เรามีทุกอย่าง ดีกว่ามดเป็นพันเท่า จะอดตายได้อย่างไร
    การทำให้ตัวเรามีความสุข สิ่งที่สำคัญคือ ต้องไม่หวังอะไรจาก คนอื่น และไม่พยายามควบคุม บังคับอยากได้อะไร ต้องทำใจให้เป็นกลาง ๆ ไม่ติดในความสุข และ ความทุกข์ ไม่ยึดติดกับการได้ ดี มี เป็น ใช้ชีวิตอยู่ไป ตามเหตุปัจจัย อย่าดิ้นรนแสวงหาจนตัวเองเป็นทุกข์ รู้จักพอ ได้แค่ไหนก็พอใจ แค่นั้น

    ห้ยอมรับแต่ต้องแก้ไข

    คนเราทุกข์ใจ เพราะไปยอมรับในสิ่งที่ต้องแก้ไข และ ไปแก้ไขใน สิ่งที่ต้องยอมรับ ทุกคนต้องมีสิ่งที่บกพร่อง ไม่ประการใดก็ประการหนึ่ง ไม่ว่า จะเป็นข้อบกพร่องของความคิด การกระทำ คำพูด สิ่งเหล่านี้ สามารถปรับปรุง แก้ไขได้ อย่าพยายามให้ผู้อื่น หรือ สังคม ยอมรับเราท่าเดียว แต่เราต้องมีความคิด คำพูด การกระทำ ที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ถูกต้อง อย่าไปดูว่า ใครจะยอมรับหรือไม่ ให้ยอมรับตัวเราเองว่า เราทำดีที่สุดแล้ว จงเข้าใจ และ พอใจตัวเอง
    คนเราต้องแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด ปัญหาใดแก้ไขด้วยการยอมรับ ก็ควรฝึกจิตใจให้ยอมรับ สิ่งนั้นให้ได้ เช่น เรื่องการพลัดพรากสูญเสีย กับบุคคล หรือ สิ่งของอันเป็นที่รักผูกพัน หรือ ปัญหาถูกนินทาว่าร้าย อิจฉาริษยา หรือ มีหนึ้สิน กิจการล้มจนหมดตัว หรือ สามี แฟนทิ้งไปมีใหม่ จงยอมรับสภาพ ความจริงว่า มันเป็นเรื่องปกติธรรมดาของชีวิต ที่จะต้องพบเจอ กับเรื่องดีบ้าง ร้ายบ้าง ผิดหวังบ้าง สูญเสียบ้าง อย่าตกใจ ให้ทำใจยอมรับกับมัน แล้วลืมมันไป ให้คิดเสียว่า เรายังมีเส้นทางเดิน มีทางออกอีกมากมาย ที่จะไปสู่ความสุข จงสงบใจเข้าสู่สมาธิ แล้วพิจารณาปลดปล่อยอารมณ์ การยึดติด ทำจิตให้ว่าง เบาสบายที่สุด อย่าไปเป็นทุกข์กับมัน
    จงสลัดโยนทิ้งความคิดที่ทำให้เป็นทุกข์ ออกไปจากจิต แล้วจง คิดตรงข้ามแบบใหม่ ที่ทำให้ไม่เป็นทุกข์ ความคิด คือ ความทุกข์ คิดให้ถูก ให้เป็น ความทุกข์จะไม่มี

    ฝึกอยู่คนเดียว อยู่กับความสงบ

    ความสับสน วุ่นวาย ในสังคมคนรอบข้าง ทำให้เกิดเรื่องราว มากมาย การได้อยู่คนเดียวในที่สงบ จะทำให้จิตใจผ่อนคลาย สบายอารมณ์ขึ้น แล้วจงคิดทบทวนว่า ควรจะทำกับมันอย่างไร ให้ดีที่สุด โดยที่ใจเราไม่ต้องไป แบกมันไว้ให้หนักเปล่า ๆ
    เมื่อเรามีปัญหาชีวิต เจอเหตุการณ์ที่ทำให้เราเป็นทุกข์ ขอให้ท่านจง วางปัญหานั้นลงบนโต๊ะ หรือ เก็บใส่ลิ้นชักเอาไว้ก่อน แล้วจงไปอยู่กับต้นไม้ ภูเขา สายน้ำ หรือ ท้องฟ้า จงมองดูธรรมชาติ แล้วน้อมนำจิตเรา ให้เป็นอันหนึ่ง อันเดียวกันกับสิ่งแวดล้อมนั้น เมื่อดูท้องฟ้า ก็จงทำใจให้ว่างเปล่า เหมือนเช่นท้องฟ้า เมื่อดูต้นไม้ ก็จงทำใจให้เหมือนเช่น ต้นไม้ ให้ใจร่มรื่น เยือกเย็น เป็นที่พักร้อนได้ เมื่อมองดูภูเขา จงทำใจให้ หนักแน่นมั่นคง ไม่หวั่นไหว เหมือนภูเขา เมื่อมองดูสายน้ำ จงพิจารณาว่า สายน้ำเปรียบเหมือนกับปัญหาต่าง ๆ ที่มันไหลอยู่เรื่อย ถ้าเราไม่กระโดดลงไป ในกระแสน้ำ เราก็ไม่ต้องโดนน้ำซัดพาไป ให้ได้รับความทุกข์ เจ็บปวด แต่เราพิจารณาดูกระแสน้ำ หรือ ปัญหาอยู่บนฝั่ง ไม่กระโจนลงไป เราก็จะ ปลอดภัย ไม่เสี่ยงอันตราย
    จงมีปัญญา มองดูเหตุการณ์ต่าง ๆ ดัวยใจสงบ คิดพิจารณา ปัญหาต่าง ๆ ให้ดีที่สุด จะทำให้ใจไม่เครียด ไม่กลุ้มใจ แล้วเราจะมีทางออก แก้ไขปัญหาได้อย่างสบายใจ ไร้กังวล

    ชีวิตเสรี (จิตอิสระ จึงไร้ทุกข์) พระอาจารย์ ยุทธนา เตชปัญฺโญ

    สวัสดี

    00p
     

    ไฟล์ที่แนบมา:

    • 1.jpg
      1.jpg
      ขนาดไฟล์:
      11.1 KB
      เปิดดู:
      775

แชร์หน้านี้

Loading...