ความสำคัญของวันออกพรรษา !!

ในห้อง 'ธรรมทาน - วิทยาทาน' ตั้งกระทู้โดย Dharaya, 18 ตุลาคม 2021.

  1. Dharaya

    Dharaya ศรัทธาอันประณีต

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2020
    โพสต์:
    150
    ค่าพลัง:
    +51
    uKfUyN.jpg
    วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสววรค์ ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนา โปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนา ที่ชั้นดาวดึงส์
    วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้

    ประวัติวันออกพรรษา

    ประวัติวันออกพรรษา มีเหตุการณ์ในพุทธประวัติเล่าว่าพระพุทธเจ้าเสด็จโปรดเทวดาชั้นดาวดึงส์ ผู้เคยมาเกิดเป็นพระนางสิริมหามายา เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ถึงเมืองสังกัสสะ ชาวบ้านต่างร่วมใจกันเดินทางไปรับเสด็จพระพุทธเจ้า เป็นที่มาของการตักบาตรเทโวโหรณะ และพระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาท เรียกว่า “ไตรโลกวิวรณปาฏิหาริย์”

    ความสำคัญของวันออกพรรษา เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ พุทธศาสนิกชนเตรียมอาหารเพื่อถวายพระภิกษุสงฆ์หลังวันออกพรรษา 1 วัน ในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 และพระภิกษุสงฆ์จัดพิธีกรรม “มหาปวารณา” ให้ว่ากล่าวตักเตือนซึ่งกันและกันได้ เนื่องจากพบเห็นข้อบกพร่องระหว่างจำพรรษาอยู่ด้วยกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ซักถามข้อสงสัยระหว่างพระภิกษุสงฆ์ พระผู้ใหญ่กล่าวตักเตือนพระผู้น้อยได้ และพระผู้น้อยก็ชี้แนะพระผู้ใหญ่ที่อาวุโสกว่าได้ เพื่อจะได้ระมัดระวัง ไม่ประมาท ให้อยู่ในกรอบของพระวินัย

    เมื่อสิ้นสุดวันเข้าพรรษา ตลอดระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ศาสนิกชนชาวพุทธคนไทยอย่างเรานั้น ก็จะเตรียมตัวเข้าสู่วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาอีกวันหนึ่ง นั่นก็คือวันออกพรรษา หลายคนพอทราบกันดีอยู่แล้วว่า ในวันเข้าพรรษามักจะมีประเพณีและกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ไม่ว่าจะเป็นการแห่เทียนเข้าพรรษา การทำบุญตักบาตร และที่ฮิตติดหูนั่นก็คือการงดเหล้าเข้าพรรษา แต่เมื่อถึงวันออกพรรษา และสิ่งที่เป็นข้อปฏิบัติ ของศาสนิกชนชาวพุทธที่ควรปฏิบัติในช่วงวันออกพรรษานั้นก็มีอยู่เช่นกัน ดังนี้

    1. ทำบุญตักบาตร อุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติผู้ที่ล่วงลับ
    การทำบุญตักบาตรและการอุทิศส่วนกุศลเป็นหนึ่งในการสร้างบุญ เพราะถือได้ว่าการทำบุญจะเริ่มต้นจากการมีจิตใจที่บริสุทธิ์ มีความคิดที่ตั้งมั่น มีความเสียสละ รู้จักแบ่งปัน และมีการเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น การทำบุญตักบาตร จึงเป็นสิ่งหนึ่งในการสร้างกุศลและเชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งวิธีของการสะสมบุญและเป็นเหตุที่ทำให้นำความสุขมาให้ตนและครอบครอบ

    • ไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรม ฟังพระธรรมเทศนา
    การเข้าวัดปฏิบัติธรรมฟังธรรมเทศนาเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้จิตใจเราเข้าสู่ทางธรรมที่จะทำให้เรา เข้าใจความ เป็นจริงของชีวิตธรรมะ อีกทั้งยังสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวัน และช่วยแก้ปัญหาความทุกข์ใจให้หมดไป การฟังธรรมจะช่วยให้จิตที่เป็นอกุศลเปลี่ยนมาเป็นจิตที่เป็นกุศลได้

    • ร่วมกุศลกรรม ตักบาตรเทโว
    ประเพณีการตักบาตรเทโว เป็นอีกหนึ่งประเพณีโบราณของไทยหลังวันออกพรรษาเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน “เทโว” ย่อมาจาก “เทโวโรหณะ” แปลว่า การเสด็จจากเทวโลก การตักบาตรเทโวจึงเป็นการระลึกถึงวันที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากการโปรดพระพุทธมารดาในเทวโลก

    • ปัดกวาดบ้านเรือนให้สะอาด
    เมื่อจิตใจเรามีความบริสุทธิ์แล้ว สิ่งหนึ่งที่เราไม่ควรที่จะมองข้ามไม่ได้นั่นก็คือการมีบ้านเรือนที่สะอาดเหมือนดั่งจิตใจสะอาดนั่นเอง ดังนั้นเมื่อถึงช่วงวันออกพรรษาศาสนิกชนชาวพุทธคนไทยอย่างเรา ก็ควรที่จะปัดกวาดเช็ดถูให้บ้านเรือนมีความสะอาดตาน่าอยู่เช่นกัน

    • ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้น ตลอดการเข้าพรรษา
    ตลอดระยะเวลาการเข้าพรรษาหลายคนอาจมีความคิดที่ตั้งมั่นว่าจะปฏิบัติตนให้ดีขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการงดดื่มสุรา งดเว้นการเที่ยวเตร่ การละเว้นอบายมุข รวมทั้งการละเว้นการฆ่าสัตว์ และบริโภคเนื้อสัตว์ และเมื่อผ่านพ้นการเข้าพรรษาแล้วหากเราได้ทบทวนกับสิ่งที่ทำตลอด จะทำให้ทุกคนได้เห็นว่า การใช้ชีวิตอยู่บนพื้นฐานความไม่ประมาท และการสร้างกุศล นั่นคือความสุขที่แท้จริงของชีวิต

    ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นเพียงสิ่งเล็กๆสิ่งหนึ่งที่ทำให้ พุทธศาสนิกชนชาวพุทธ มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความสำคัญของวันออกพรรษา รวมถึงหลักธรรม การมีเจตคติที่ดีต่อวันออกพรรษา และการเห็นคุณค่าของการดำเนินชีวิตตามหลักธรรม พุทธศาสนิกชน ความศรัทธา ความซาบซึ้ง และตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนา และรู้จักปฏิบัติตนตามหน้าที่ชาวพุทธได้อย่างถูกต้อง

    กิจกรรมวันออกพรรษา

    กิจกรรมวันออกพรรษาของแต่ละภาคในประเทศไทยนั้นปฏิบัติไม่เหมือนกัน โดยเริ่มต้นด้วยวิธีการตักบาตรเทโว เพื่อสมมติจำลองถึงวันที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

    ตักบาตรเทโว หรือ ตักบาตรเทโวโรหณะ

    อาหารที่ใช้ตักบาตรเทโว นิยมใช้ ข้าวต้มมัด และข้าวต้มลูกโยน ชาวบ้านรอพระภิกษุ สามเณร เดินลงมาจากบันไดอุโบสถ หลังจากทำวัตรเช้า เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นก็สมมติว่าพระพุทธเจ้าเสด็จบันไดสวรรค์ โดยบางแห่งเปิดเพลง หรือบรรเลงดนตรี สมมติว่าเป็นเทวดาบรรเลง ชาวบ้านที่รออยู่ก็จะใส่บาตรด้วยอาหารหวาน อาหารคาว ข้าวต้มลูกโยน

    คำว่า ตักบาตรเทโว มาจากคำเต็มว่า ตักบาตรเทโวโรหณะ คือการตักบาตรเนื่องในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งคัมภีร์อรรถกถาธรรมบทบันทึกไว้ว่า เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ (ปาฏิหาริย์เป็นคู่ๆ) ที่ต้นมะม่วงใกล้เมืองสาวัตถีแล้วก็เสด็จขึ้นไปจำพรรษาที่ 7 บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์เพื่อเทศนาพระอภิธรรมโปรดพุทธมารดาเป็นเวลา 3 เดือน ครั้นออกพรรษาแล้วพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเสด็จลงสู่มนุษย์โลกทางบันไดพาดลงใกล้เมืองสังกัสสะ

    ทอดกฐิน

    ชาวบ้านนำผ้าใหม่ มาเย็บเป็นจีวรเพื่อถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ที่จำพรรษาครบ 3 เดือน นิยมทำหลังจากออกพรรษา 1 เดือน

    ทอดผ้าป่า

    ทอดผ้าป่ามีประวัติมาจากในอดีตพระภิกษุสงฆ์นำผ้าที่ชาวบ้านทิ้งไว้ มารวบรวมทำความสะอาดทำผ้านุ่ง แต่เนื่องจากพระพุทธเจ้ายังไม่ได้บัญญัติให้พระภิกษุรับจีวรจากชาวบ้านได้ ชาวบ้านที่อยากถวายก็นำมาทิ้งตามทางให้พระภิกษุพบ พิธีทอดผ้าป่าในไทยถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) โดยไม่ได้กำหนดฤดูกาลว่าต้องทำใน 1 เดือนหลังออกพรรษา

    ซึ่งวันออกพรรษาในปี พ.ศ. 2564 ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564 / วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือนสิบเอ็ด(11) ปีฉลู
     

แชร์หน้านี้

Loading...