การปฏิบัติเบื้องต้น โดย พระอาจารย์ประเสริฐ ฐานังกโร

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jetrockman, 26 กรกฎาคม 2018.

  1. jetrockman

    jetrockman สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 เมษายน 2011
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +21
    การปฏิบัติเบื้องต้น (ถอดข้อความจากไฟล์เสียง)


    ผู้ที่เคยฝึกนะ เคยปฏิบัติมาแล้ว ถึงมาใหม่ก็เคยปฏิบัติอย่างอื่นมาแล้วใช่ไหม? เคยปฏิบัติวิธีอื่นมาแล้ว ปฏิบัติยังไง? ฝึกแบบไหน? พองยุบนะ อ๋อ ดีแล้ว ข้างหลังโยมเคยฝึกมาหรือยัง? ฝึกแบบไหน? อ๋อ ที่เสถียร กำหนดยังไง? อ๋อ สวดมนต์ นั่งหลับตา กำหนดลมหายใจนะ งั้นดีแล้วนะ


    งั้นผู้ที่เคยฝึกแล้ว ยกจิตได้เลยนะ ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ความสงบ ทำจิตให้ว่าง แล้วจะสอน จะบอกวิธีปฏิบัติ สำหรับผู้มาใหม่เราก็สานต่อเหมือนที่เคยมา ฝึกยกจิตขึ้นสู่ความว่าง แยกรูปนามได้แล้วนะ ยกจิต สานต่อของเราก่อน ยกจิตขึ้นสู่ความว่าง เติมความสุข แล้วก็รู้อาการเกิดดับที่เกิดขึ้นที่รูป ขณะกำหนดลมหายใจ หรือกำหนดพองยุบก็ตาม ให้รู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาวะนั้นๆ งั้นลองดูนะ.. ผู้ที่มาใหม่ เพิ่งมาฝึกใหม่ๆ อาจจะแตกต่างกันนิดหนึ่ง คงจะได้ฟังแล้ว ฟังการแนะนำบ้างแล้วใช่ไหม? ได้ฟังการแนะนำบ้างแล้วว่า เวลาเราปฏิบัติเนี่ยทำอย่างไร เพราะฉะนั้นลองดู


    จะบอกวิธีทำใจให้ว่างให้เร็ว เราปฏิบัติ ถ้าเราทำให้ว่างได้เร็ว จิตเราก็จะสงบเร็ว เพราะฉะนั้นโดยธรรมชาติของจิตเรา จิตเราไม่ค่อยอยู่กับตัว เดี๋ยวก็ไปโน่นไปนี่ เพราะฉะนั้นทำอย่างไรเราถึงจะควบคุมจิตตรงนั้นได้ หรือทำให้สงบลงได้ การที่เราจะทำให้จิตสงบลงได้ จิตเราต้องว่าง หรือจิตเราต้องมีกำลังนะ ทีนี้สงสัยว่าเมื่อไม่สงบแล้วจะว่างได้อย่างไร ลองดูนะ.. ให้มองมาที่ดอกไม้ ขณะที่เห็นรู้สึกยังไงก็อย่างนั้นนะ เราจะจับที่ความรู้สึกเป็นหลัก


    อย่างเช่นเวลาเราสบายใจ จิตใจเรารู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ รู้สึกอย่างไรก็อย่างนั้น เพราะความรู้สึกตรงนี้คือลักษณะของจิต อันนี้คือลักษณะของจิต รู้สึกเบา รู้สึกโล่ง รู้สึกโปร่ง รู้สึกอึดอัด เวลาเราไม่สบายใจ ก็จะรู้สึกหนักๆ อึดอัดใช่ไหม? นี่คือการเห็นจิตตัวเอง รู้สึกทันทีโดยไม่ต้องคิด เพราะฉะนั้นนี่ต่อไปเดี๋ยวอาจารย์จะถาม ขณะที่เห็นดอกไม้ใจเราอยู่ที่ไหน? อยู่ที่ตัวหรืออยู่ที่ดอกไม้? ให้มอง ขณะที่มองดอกไม้ ใจเราอยู่ที่ดอกไม้หรืออยู่ที่ตัว? อยู่ที่ดอกไม้นะ ถูกแล้วนะ อันนี้คือธรรมชาติของจิต เพียงแต่ให้สังเกตต่อว่า ขณะที่จิตอยู่ที่ดอกไม้ จิตกับดอกไม้เป็นอันเดียวกันหรือคนละส่วน? คนละส่วนนะ


    ต่อนะ.. จิตกับดอกไม้เป็นคนละส่วนกัน ขณะเห็นรู้สึกไหมว่าจิตเราอยู่ในตัวหรือนอกตัว? อยู่ในตัว ไหนใครเห็นต่าง? ต้องขณะหนึ่งนะ เมื่อกี้บอกว่าขณะที่เห็นปุ๊บ จิตเรามาที่ดอกไม้ใช่ไหม? เพราะฉะนั้นขณะที่จิตมาที่ดอกไม้ จิตเราอยู่ในตัวหรือนอกตัว? นอกตัว อืม..เก่ง เก่งนะ ทีนี้สังเกตต่อ ถูกแล้ว เพียงแต่สังเกตต่อว่า ขณะที่จิตอยู่นอกตัว ให้สังเกตจิตที่อยู่ข้างนอกเนี่ย รู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ สังเกตต่อนะ.. ความรู้สึกที่เบากับดอกไม้ อันไหนกว้างกว่ากัน? ความรู้สึกกว้างกว่านะ ความรู้สึกที่เบาสามารถย้ายที่ได้ไหม? เคลื่อนย้ายที่ได้ไหม? ได้นะ


    ต่อไปให้ย้ายจิต ย้ายความรู้สึกที่เบาอันนี้แหละ เขาเรียกฝึกใช้จิต เรารู้ว่าจิตเบาแล้ว เอาจิตที่เบามาใช้งานให้ได้ ไม่ใช่แค่เบาๆ แล้วหยุด อันนี้สำคัญ เพราะทุกๆอารมณ์ที่เกิดขึ้น จิตทำหน้าที่รับรู้ ไม่ว่าจะเกิดทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย หรือใจ ก็ตาม จิตเป็นผู้ทำหน้าที่รับรู้ เพราะฉะนั้นเราสามารถย้ายจิตดวงนี้ได้ เราก็สามารถรับรู้ได้ทุกอารมณ์ ลองดูนะ ให้จิตที่เบา ย้ายจิตที่เบาไปที่มือ ลองดูว่าที่มือรู้สึกยังไง? เมื่อจิตที่เบาไปที่มือ มือรู้สึกหนักหรือเบา? หนัก ให้ดูที่จิตไม่ใช่ดูมือ เราย้ายจิตไปที่มือก็จริง แต่ให้ดูจิตเรา ให้จิตกว้างกว่ามือ จิตที่เบาความรู้สึกที่เบากว้างกว่ามือหน่อย รู้สึกเป็นยังไง? เบา ย้ายความรู้สึกที่เบาไปที่แขน แขนรู้สึก? เบา ย้ายความรู้สึกที่เบาไปที่สมอง ลองดูรู้สึกเป็นยังไง? เบานะ ตรงนี้จิตที่เบาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ ย้ายไปรู้ตรงไหน ตรงนั้นก็เบา


    ลองสังเกตอีกนิดหนึ่ง จิตที่เบาเนี่ยให้กว้างกว่าตัวได้ไหม? ขณะที่จิตกว้างกว่าตัว ตัวเป็นยังไง? ตัวรู้สึก? เล็กลง ขณะที่ตัวเล็กลง รู้สึกหนักหรือเบา? สังเกตจิตที่เบา ความรู้สึกที่เบากับตัวที่นั่งอยู่เป็นส่วนเดียวกันหรือคนละส่วน? คนละส่วนนะ อืม.. ถูกแล้ว ตรงนี้เป็นการแยกรูปแยกนาม จิตที่เบาคือนาม ตัวที่นั่งอยู่คือรูป คือการแยกรูปแยกนาม ต่ออีกนิดหนึ่งนะ ทำถูกแล้ว


    เพราะฉะนั้นต่อไปสังเกตต่อว่า จิตที่เบาเนี่ย ลองขยายจิตที่เบาให้เท่ากับห้องนี้ได้ไหม? ปล่อยจิตที่เบาให้กว้างออกเท่ากับห้องนี้ ลองดู พอกว้างออกแล้วรู้สึกเป็นยังไง? กว้างออกแล้วรู้สึกยังไง? จิตที่กว้างนะ โล่ง โล่งมากขึ้นหรือเท่าเดิม? มากขึ้น ทีนี้ลองต่อนะ นี่เป็นการฝึกจิต นี่คือการเห็นจิตตัวเอง เห็นไหม.. เราสามารถรู้ขอบเขตของจิตเราได้ เพราะเรารู้ถึงลักษณะของจิตว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าเราไม่รู้ว่าจิตเป็นอย่างไร เราก็จะดูขนาด ขอบเขตของจิตเราไม่ได้ บางทีจิตเราอยู่แคบๆ เราก็จะไม่รู้ว่าจิตเราแคบ


    ทีนี้ลองดู.. ให้ความรู้สึกหรือจิตที่เบาเนี่ยกว้างไม่มีขอบเขต ไม่มีประมาณ ให้กว้างเท่าท้องฟ้าไปเลย ปล่อยไปไกลๆ รู้สึกเป็นยังไง? ปล่อยให้กว้าง ปล่อยความรู้สึกหรือจิตที่เบาให้กว้างเท่ากับท้องฟ้า ให้กว้างเท่ากับจักรวาล พอกว้างออกไปแล้ว จิตที่กว้างรู้สึกอย่างไร? เบาสบายนะ รู้สึกโล่งขึ้น ตรงนี้สังเกตอีกนิดหนึ่ง สังเกตต่อนะ จิตที่โล่งรู้สึกเป็นไง? วุ่นวายไหม? สงบ ตรงนี้คือดูจิตตัวเอง เขาเรียกเห็นจิตในจิต เพราะฉะนั้นให้จิตที่เบาทำหน้าที่รับรู้อารมณ์


    สังเกตดู ขณะที่จิตที่เบา โล่ง สงบ ถามว่าจิตที่กว้าง ที่โล่ง เบา เขาบอกว่าเป็นเราหรือเปล่า? เขาไม่บอกว่าเป็นใคร และย้อนกลับมาดูนะ จิตที่เบาย้อนกลับมาดูตัวที่นั่งอยู่ ตัวเราที่นั่งอยู่เขาบอกว่าเป็นใครหรือเปล่า? บอกไหมว่าเป็นใคร? ไม่บอกนะ ขณะที่ไม่บอกว่าเป็นใคร รูปที่นั่งอยู่รู้สึกหนักหรือเบา? เบานะ ตรงนี้เขาเรียกว่าเห็นความเป็นอนัตตา คือความไม่มีตัวตน ไม่บอกว่าเป็นเราเป็นเขา หรือไม่บอกว่าเป็นใคร เราถาม ไม่ใช่คิด เราเป็นผู้ถาม พอถามก็จะเห็นคำตอบที่เกิดขึ้น เมื่อไม่บอกว่าเป็นเรา ไม่บอกว่าเป็นใคร สังเกตดูนะ จิตขณะนั้นมีกิเลสตัวไหนเกิดบ้าง? ไม่มีเลย นี่คือจิตที่บริสุทธิ์ สงบ เบา โปร่ง อิสระ ตรงนี้ถูกแล้วนะ ทำได้ดี


    ต่อไปให้เอาจิตที่เบามาใส่ตรงที่ส่วนที่ ๒ จากคอถึงลิ้นปี่ ลองเอาความเบาใส่เข้าไป รู้สึกเป็นไง? รู้สึกยังไงแล้วบอกได้เลยนะ ถ้าใส่ไม่ได้ก็บอกว่าไม่ได้ แค่นั้นเองนะ ไม่ผิด ใส่ไม่ได้นะ วิธีใส่เข้าไปก็คือ จำได้ไหมขณะที่เราย้ายความรู้สึกเบาไปที่สมอง สมองรู้สึกโล่งได้ใช่ไหม? เราก็ย้ายแบบนั้นแหละ ใช้วิธีเดียวกัน เอาความรู้สึกที่เบาย้ายมาไว้ที่ตัว ตรงนี้ที่หทยวัตถุ เขาเรียกระหว่างคอถึงลิ้นปี่ ตรงนี้ทั้งหมดเลยนะ ทั้งตัว ไม่ใช่เฉพาะเป็นเล็กๆ ยังไม่ได้ไม่เป็นไร ไม่ต้องรีบ ต่อไปรู้สึกเป็นไง? ได้ไหม? ไม่แน่ใจ รู้สึกว่าเบา เออ.. ถูกแล้วนะ จริงๆลองใหม่นะ คนทำได้แล้ว ถูกแล้ว


    ต่อไปให้จิตที่เบา พอนั่งหลับตา พอเราเคยกำหนดพองยุบ ก็เอาความรู้สึกที่เบาเกาะติดไปกับพองยุบ พร้อมกับสังเกตการเปลี่ยนแปลงของอาการพองยุบว่าเหมือนกันหรือแตกต่างกันอย่างไร อย่างเช่น เวลาพองออกเนี่ยเขาเป็นกลุ่มก้อน เป็นเส้น หรือว่าเป็นคลื่น มีอาการกระเพื่อมหรือว่าเป็นอย่างไร อันนี้นั่งแล้วกำหนดอย่างนี้ คนที่กำหนดลมหายใจเข้าออก ก็เอาความรู้สึกหรือจิตของเราเกาะติดไปกับลมหายใจ พร้อมกับสังเกตการเปลี่ยนแปลง ขณะที่เราหายใจเข้า หายใจเข้าไปลึกถึงไหนก็ปล่อยให้ถึงนั่น ไม่ต้องบังคับนะ ให้ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ถ้าเขาสั้น ก็ให้รู้ชัดว่าสั้นๆเบาๆ แต่ถ้ายาวก็ตาม ตามอาการนั้นไปเรื่อยๆจนสิ้นสุด แล้วก็สังเกตระหว่างขณะที่หายใจเข้าไปแต่ละครั้ง ต้องสังเกตเป็นขณะๆแต่ละครั้งเลยนะ ขณะที่เข้าไปแต่ละครั้ง มีความแตกต่าง มีการเปลี่ยนแปลง มีความแตกต่างกันอย่างไรโดยไม่ต้องบังคับ ตามรู้อย่างเดียว ตามรู้อย่างเดียว


    ถ้าสติเราสามารถเกาะติดกับอาการของลมหายใจนั้นได้ยิ่งดีนะ เพราะการกำหนด หรือจิตที่เกาะติดกับอาการนั้น เขาเรียกว่าเป็นการกำหนดได้ปัจจุบัน ยิ่งเห็นการเปลี่ยนแปลง เห็นความเกิดดับหรือเปลี่ยนแปลง เห็นความแตกต่างกันมากเท่าไหร่ สติเราก็จะอยู่กับปัจจุบันมากเท่านั้น หลักของวิปัสสนาคือ การกำหนดรู้การเกิดดับการเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้นอารมณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะตั้งอยู่ในกฎของไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป หน้าที่ของเราคือ เข้าไปรู้ถึงธรรมชาติของเขาเท่านั้นเอง เข้าไปรู้ถึงลักษณะการเกิด การตั้งอยู่ และดับไป โดยไม่ต้องบังคับ และการเข้าไปรู้ ไม่ใช่เพียงเป็นผู้ดูอยู่ห่างๆ หรืออยู่ไกลๆ ต้องเข้าไปเกาะติดกับอาการ เราถึงจะเห็นชัด เขาเรียกการยกจิต ก็คือการยกจิตขึ้นสู่อาการนั้น วิจารณ์คือเกาะติดกับอาการ ดูการเปลี่ยนแปลง ดูการเปลี่ยนแปลงของสภาวะเหล่านั้นไปเรื่อยๆ ดูว่าเขาเป็นอย่างไร ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ตาม


    สภาวะที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งปฏิบัติ หรือเจริญกรรมฐานนั้น อารมณ์หลักๆที่เกิดเป็นประจำ หรือต้องเกิดอย่างแน่นอน ซึ่งเรียกว่าอารมณ์หลัก ก็คือ ๑. ลมหายใจเข้าออก หรือพองยุบ ๒. ก็คือเวทนา เวทนาหมายถึงความปวด ความเมื่อย อาการชา อาการคัน อันนี้เรียกว่าเวทนา อีกอย่างหนึ่งก็คือ ความคิด เวลาเรานั่งแล้วมีความคิดเกิดขึ้น เวลาปฏิบัติเมื่อไหร่ก็จะมีความคิดแว่บไปโน่น แว่บไปนี่ เปลี่ยนแปลงอยู่เรื่อย ไม่อยู่กับที่ สภาวะเหล่านี้จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ๓ - ๔ อย่าง อีกอย่างหนึ่งก็คือสีสัน สีสันต่างๆ หรือว่านิมิตที่เกิดขึ้นในขณะที่เรานั่งสมาธิ ตรงนี้เรียกว่าอารมณ์หลัก


    ไม่ว่าอารมณ์ไหน สภาวะไหนเกิดขึ้นก็ตาม หน้าที่ของเราคือ ตามกำหนดรู้ หรือเอาจิตเข้าไปที่อาการนั้น เข้าไปกำหนดรู้ให้ชัดว่าเขาเกิดอย่างไร เกิดแล้วดับอย่างไร เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่ว่าจะเห็นขณะเกิดอย่างเดียว บางครั้งเห็นแต่ตอนที่เกิดใหม่ เกิดใหม่ เกิดใหม่.. อย่างเดียว ตอนดับไม่เห็น ก็ไม่ผิดนะ ไม่ผิดนะ แม้จะเห็นเกิดอย่างเดียวก็ตาม บางครั้งเห็น แต่ว่าการเกิดไม่ทัน รู้แต่ว่า รู้แล้วก็หมด รู้แล้วก็หมด รู้แล้วหมด รู้แล้วหมดก็คือ รู้อาการ รู้แล้วหมดไป รู้อาการดับอย่างเดียว ไม่เห็นตอนเกิดแต่เห็นตอนดับ ถามว่าผิดไหม? ไม่ผิด บางครั้งเห็นเฉพาะตอนเกิด เกิดอย่างเดียวดับไม่เห็น ก็ไม่ผิด เพียงแต่ว่าสภาวะช่วงนั้นขณะนั้นเป็นอย่างนั้นเองนะ เป็นอย่างนั้นเอง


    เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้ แต่ต้องรู้ให้ชัด ไม่งั้นนี่จะหลับนะ ถ้าดูเผินๆ ไม่ได้ใส่ใจ ดูแค่รู้เฉยๆ ไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง พอสมาธิมากขึ้น ก็จะทำให้ง่วง แล้วหลับ เพราะฉะนั้นต้องเกาะติดนะ ใช้ความรู้สึกที่เบาเกาะติดอาการ ให้เวลาสัก ๑ ชั่วโมง หลังจากนั้นค่อยเล่าสภาวะเห็นยังไงเดี๋ยวเล่าให้ฟัง ใครมีคำถาม ใครสงสัย อยากถามก็ถามได้ จะได้เล่าสภาวะพร้อมกัน


    การกำหนดไม่ว่าจะเป็นการกำหนดลมหายใจหรือพองยุบก็ตาม ถ้าเขาเบาลง น้อยลง บางลง หรือหายไป ก็ให้รู้ชัดตามที่เขาเป็น ไม่ต้องบังคับ ไม่ต้องบังคับนะ บางทีรู้สึกลมหายใจเบาลงๆ และเราก็บังคับให้มันแรงขึ้นมาใหม่ อันนั้นไม่ต้อง แต่ให้รู้ชัดว่าเขาเบา เขาบาง แต่ไม่ใช่ไม่ใส่ใจหรือไม่สนใจที่จะดู อันนั้นไม่ได้ อันนั้นก็ไม่ถูก เพราะการเจริญสติคือ การทำให้สติเราอยู่กับปัจจุบัน อารมณ์ปัจจุบันเราไม่ต้องหาให้ยาก ก็คืออารมณ์ที่เกิดขึ้นกับรูปของเราหรือที่ตัวของเรานั่นเอง เพราะธรรมชาติที่รูป หรือที่ตัวของเรามีอาการเกิดดับ มีอาการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มีอาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ไม่ใช่ว่างเปล่านิ่งๆอย่างเดียว ถ้าสังเกตดีๆเราจะเห็น ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน


    สำหรับบางคนที่มีสมาธิดีนะ มีกำลัง ฝึกแล้วเนี่ย ขณะที่จิตว่าง พอนิ่งในความว่าง เมื่อยกจิตขึ้นสู่ความว่าง ให้นิ่งในความว่าง พอนิ่งในความว่างปุ๊บเนี่ย สังเกตว่าในความว่างข้างหน้ามีอะไรเปลี่ยนแปลง มีอะไรเกิดขึ้น ถ้ามีอาการเกิดดับปรากฏขึ้นมา ให้เกาะติดตามรู้อาการเกิดดับนั้นๆ ถ้าเรากำหนดหรือรู้ชัดว่า ขณะที่ตามรู้อาการเกิดดับของสภาวะที่เกิดขึ้น ถ้าบอกได้ด้วยว่าเป็นอาการเกิดดับของอารมณ์อะไรจะเป็นสิ่งที่ดีมากๆ เป็นสิ่งที่ดีมากๆ เพราะจะรู้ที่มาที่ไปของสภาวะที่เกิดขึ้น จะไม่มีอาการอยู่ๆก็เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่มีที่มาที่ไป เพราะธรรมชาติของจิตในการกำหนดอารมณ์ เราต้องรู้อารมณ์หลักที่เรากำหนดว่าคืออะไร


    ถ้าเรารู้อารมณ์หลักว่าเรากำหนดอะไร ก็จะรู้ว่าสภาวะที่เกิดขึ้นเหล่านั้นเกิดจากอารมณ์ไหน ถ้าความรู้สึกเราว่างจริงๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย ให้นิ่งในความว่าง แล้วจับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รู้ความว่าง พร้อมกับสังเกตว่า เมื่อจิตไปจับที่ความรู้สึกที่รู้ว่าว่างแต่ละขณะ ความรู้สึกที่รู้ว่าว่างหรือใจรู้อันนั้นมีอาการอย่างไร มีการเกิดดับ มีการเปลี่ยนแปลงหรือเปล่า? มีอาการดับไปเกิดใหม่หรือเปล่า? หรือตั้งนิ่งเฉยๆ? ให้เข้าไปดูที่อาการนะ ขณะที่รู้สึกมีอาการเคร่งตึง ให้เข้าไปที่อาการ และทะลุรูปออกไป ทำรูปให้ว่าง ถ้ามีหลายอารมณ์ มีหลายๆอารมณ์ ให้เลือกอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง เลือกกำหนดอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งเป็นหลัก อารมณ์ไหนชัดที่สุดหมายถึงชัดที่สุดในความรู้สึก ไม่ใช่ใหญ่ที่สุด คือชัดที่สุดในความรู้สึก ให้เอาความรู้สึกเราไปกำหนดอาการนั้น


    เมื่อเราเลือกอารมณ์ที่ชัดที่สุด กำหนดไปสักพัก อารมณ์นั้นหมดไป มีอารมณ์ใหม่เด่นชัดขึ้นมาต่อ ก็กำหนดอารมณ์ใหม่ที่เด่นชัดขึ้นมาต่อ เมื่อกำหนดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ อารมณ์ก็จะน้อยลง สภาวะต่างๆที่รู้สึกว่ามีเยอะแยะมากมายก็จะน้อยลง ก็จะเหลือแค่อารมณ์ที่ชัดที่สุดเฉพาะหน้าที่ปรากฏขึ้นมาให้เรากำหนด ต่อไปก็จะกำหนดง่ายขึ้น กำหนดอารมณ์ข้างหน้าอย่างเดียว เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้ถึงลักษณะการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของสภาวะต่างๆเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพองยุบ หรือลมหายใจเข้าออก เวทนาคืออาการเจ็บปวด เมื่อยคัน ชา หรือความคิดก็ตาม เรามีหน้าที่ตามกำหนดรู้อาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงของเขาเท่านั้น ต้องกำหนดอย่างไม่มีความอยาก อยากรู้ได้นะ อยากรู้เป็นการทำให้เกิดปัญญา อยากรู้การเปลี่ยนแปลง อยากรู้ถึงลักษณะการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ตรงนี้ยิ่งอยากรู้ ความเพียรยิ่งมาก แต่ถ้าอยากได้ อยากให้เป็น หรืออยากให้ตั้งอยู่ตรงนั้นเกิดจากกิเลสนะ ตรงนั้นจะเป็นกิเลส จะทำให้สติเราอ่อนลง แต่ถ้าอยากรู้เมื่อไหร่ สติยิ่งตื่นตัว จิตยิ่งตื่นตัว สติมีกำลัง สมาธิก็จะเพิ่มขึ้น


    ดังนั้นเวลาเราปฏิบัติ การพิจารณาสภาวะธรรมต่างๆ ต้องมีความรู้สึกอยากรู้ หรืออยากเห็นว่าต่อจากนั้นเป็นอย่างไร เมื่อสภาวะนี้เปลี่ยนแล้ว ต่อไปสภาวะใหม่เกิดขึ้นเปลี่ยนอย่างไร หรือเกิดดับอย่างไรต่อไป การตามรู้ ตามกำหนดรู้ให้ชัดนะ ไม่ใช่ว่าอยากให้เป็นอย่างนี้ตลอด อยากให้อยู่อย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างนี้ อยากให้เป็นอย่างนั้น อันนั้นเรียกว่ากิเลส ความอยากที่เกิด อยากอย่างมีตัวตนเป็นกิเลส ความอยากที่จะพาเราพ้นทุกข์คือ อยากรู้ธรรมชาติ อยากรู้สัจธรรม ต้องอาศัยความอยาก ทำให้เรามีความเพียร มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติ เมื่อเราพิจารณา ยิ่งเห็นอาการเปลี่ยนแปลง การเกิดดับของอารมณ์ของสภาวะที่เกิดขึ้นข้างหน้ามากเท่าไหร่ จิตก็ยิ่งมีความตื่นตัว หรือเพลิดเพลิน ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่เซื่องซึม นิวรณ์ไม่เกิดนะ พอใจที่จะกำหนดรู้ ตามกำหนดรู้ให้ชัดในสิ่งที่เกิดขึ้น ในสภาวะที่เกิดขึ้น


    ถ้ารู้สึกว่ามีความคิดหรือจิตไม่ค่อยสงบ ทำให้กำหนดอารมณ์อื่นไม่ได้ ให้เข้าไปรู้ความไม่สงบ ให้เอาความรู้สึกเข้าไปรู้ความไม่สงบนั้น เมื่อเอาความรู้สึกเข้าไปรู้และยังเห็นอาการไม่สงบอยู่ เห็นความไม่สงบ ต่อไปให้ความรู้สึกที่ว่างเบาเข้าไปชน ให้ความรู้สึกใหญ่กว่าอารมณ์นั้น แล้วเข้าไปชน ชนไปเรื่อยๆ พอชนแต่ละครั้ง ให้สังเกตว่าอาการนั้นเขาดับไป สลายไป จางไป หรือว่าดับเด็ดขาด นี่คือสังเกตการเกิดดับ สังเกตอาการเกิดดับของอารมณ์นั้น


    สำหรับคนที่รู้สึกว่านั่งแล้วยังมีอะไรวุ่นๆ แต่บอกไม่ถูก ไม่สงบ รู้สึกมันมีอะไรรบกวน การที่เราฝึกย้ายจิตได้ เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น หรือมีสภาวะต่างๆเกิดขึ้น เราจึงสามารถย้ายจิต หรือเอาจิตของเราไปที่อารมณ์นั้นได้ เข้าไปที่อาการนั้นได้


    ถ้าใครเห็นสภาวะเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ไกลๆ เบาๆ ไม่สามารถเข้าถึงสภาวะนั้นได้ ให้นิ่ง แล้วสังเกตดู ให้นิ่งก่อน นิ่งๆ สังเกตดู ต่อไปก็ให้มาจับที่ความรู้สึกที่นิ่ง จับที่ความรู้สึกที่ทำหน้าที่รู้สภาวะนั้น เพราะการจับที่ความรู้สึกคือผู้ดู หรือจิตที่นิ่งอยู่ จะทำให้เรากำหนดได้ปัจจุบัน จับนามถูก สภาวะก็จะชัดขึ้นมา


    การเจาะสภาวะคือ การมุ่งอยู่กับอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างเดียว อย่างต่อเนื่อง เกาะติด ตามกำหนดรู้การเปลี่ยนแปลงอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งอย่างต่อเนื่อง จนอาการเหล่านั้นสิ้นสุดลงในแต่ละขณะ แต่ละขณะ ในขณะหนึ่งอาจจะตามได้ กำหนดอาการเกิดดับที่มีความต่อเนื่องได้ประมาณสัก ๒ นาที แล้วก็สิ้นสุดลง สิ้นสุดลงแล้วเกิดใหม่อีก เกาะติดไปอีกสัก ๓ นาที อันนี้เค้าเรียกสิ้นสุดแต่ละขณะ แต่ละขณะ แต่ละครั้ง หรืออาจจะเกิดขึ้นประมาณสัก ๑ นาที แต่ภายใน ๑ นาทีนั้น มีอาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จนสิ้นสุดลงหรือว่างไป อันนี้เรียกว่าสิ้นสุด สภาวะแต่ละขณะ แต่ละช่วง

    เพราะฉะนั้นถ้าสังเกตอย่างนี้ เราจะเห็นว่าแต่ละขณะ อย่างเช่นขณะที่กำหนดประมาณสัก ๒ นาทีแรก อาการเปลี่ยนแปลง หรือเกิดดับนั้นมีการเกิดดับในลักษณะอย่างนี้ อย่างนี้ พอช่วงต่อไป พอหมดไปก็เกิดใหม่อีก อาการเกิดดับที่เกิดใหม่ยังเหมือนเดิมหรือเปลี่ยนต่างออกไปจากเดิม นั่นคือวิธีสังเกต


    จุดที่ต้องสังเกต การที่เรามีเจตนาที่จะรู้ถึงความแตกต่าง ความเปลี่ยนแปลง ลักษณะของอาการเกิดดับ เป็นการพัฒนาปัญญา เป็นการฝึกการพิจารณาสภาวะให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพราะสภาวะที่เกิดขึ้นภายในที่เกิดจากการนั่งสมาธิหรือการปฏิบัติธรรมเป็นสภาวะที่ละเอียดลึกซึ้ง แต่สภาวะที่ละเอียดเหล่านี้แหละ ในชีวิตหนึ่งที่เป็นบัญญัติสมมติโลก อาการต่างๆก็เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงในลักษณะอย่างนี้ แต่เป็นของหยาบแค่นั้นเอง ดังนั้นถ้าเราสามารถพิจารณาสภาวะที่ละเอียดอ่อน ความละเอียดอ่อนที่เกิดขึ้นภายในได้ สภาวะภายนอกเราก็จะสามารถกำหนดได้ พิจารณาได้อย่างละเอียด อย่างรอบคอบได้เช่นกัน


    การพิจารณาตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ การกำหนดรู้อาการเกิดดับ การเปลี่ยนแปลง จะต้องไม่เป็นการปรุงแต่งนะ ไม่มีการปรุงแต่ง อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างนี้ แต่ให้รู้ตามความเป็นจริงว่าเขาเป็นอย่างไร ขณะที่เห็นการเปลี่ยนแปลง หรืออาการเกิดดับขณะที่ตามกำหนดรู้อยู่นั้น ให้สังเกตสภาพจิตเราด้วยว่ารู้สึกอย่างไร เช่น ยิ่งตามรู้อาการเกิดดับเปลี่ยนแปลงมากเท่าไหร่ สภาพจิตยิ่งรู้สึกตื่นตัว ใสขึ้น นิ่งขึ้น สงบขึ้น หรือว่ายิ่งดูยิ่งเบลอ ยิ่งเบลอ ยิ่งคลุมเครือ ยิ่งเป็นหมอกๆ มัวๆ สลัวๆ รู้สึกยังไงตรงนี้ให้รู้ชัด


    มีเวลาอีก ๕ นาที เดี๋ยวค่อยๆถอนออกจากสมาธิ ค่อยๆลืมตา การถอนจากสมาธิก็ให้เราค่อยๆลืมตาธรรมดานะ จิตเราก็จะถอนออกมา ไม่มีพิธีอะไรมาก สมาธิเราถอน รู้สึกตื่นตัว หรือถอยออกมาจากอาการ
     
  2. jetrockman

    jetrockman สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 เมษายน 2011
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +21
    ขออนุโมทนาแก่ผู้เข้ามาอ่านทุกท่านด้วยครับ
     
  3. เล่าปัง

    เล่าปัง เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    1 พฤศจิกายน 2007
    โพสต์:
    4,806
    ค่าพลัง:
    +7,940
  4. Supop

    Supop เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    4 มิถุนายน 2010
    โพสต์:
    587
    ค่าพลัง:
    +3,154
    ขออนุโมทนาครับ

    ข้าพเจ้าปฏิบัติแบบที่ท่านสอนเลย ไม่คิดว่าจะมีพระที่สอนแบบนี้อยู่

    ขอให้เจริญในธรรมทุกท่านครับ
     
  5. jetrockman

    jetrockman สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    3 เมษายน 2011
    โพสต์:
    11
    ค่าพลัง:
    +21
    ขออนุโมทนาและขอความเจริญในธรรม มีแก่ท่านด้วยครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...