ร่างกายไม่ใช่เรา โดย พระจุลนายก (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต)

ในห้อง 'หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต' ตั้งกระทู้โดย aprin, 18 กรกฎาคม 2011.

  1. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กัณฑ์ที่ ๔๑๘ ร่างกายไม่ใช่เรา โดย พระจุลนายก (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี

    ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

    เรื่องของร่างกายก็คือเรื่องของการเกิดแก่เจ็บตาย เรื่องของอนัตตา ไม่ใช่ตัวเราของเรา ถ้าแยกใจออกจากร่างกายได้ ก็จะไม่เป็นปัญหา ร่างกายเป็นเหมือนเครื่องมือชิ้นหนึ่ง เช่นเครื่องอัดเสียงนี้ เวลาเสียเราก็ซ่อม ซ่อมไม่ได้ก็ทิ้งไป ร่างกายของคนเราก็เช่นกัน เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ดูแลรักษาไป รักษาได้ก็ดี รักษาไม่ได้ก็ดี เพราะร่างกายไม่ใช่เรา เราคือใจ ใจคือผู้รู้ ธาตุรู้ ร่างกายเป็นธาตุ ๔ เป็นดินน้ำลมไฟ เป็นเครื่องมือ เป็นวัตถุ ต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับร่างกาย ดูแลไปตามหน้าที่ เหมือนดูแลทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทองต่างๆ พอถึงเวลาที่ต้องแยกจากกันก็ต้องปล่อย ถ้าได้ศึกษาก็จะรู้จักวิธีปล่อย ถ้าไม่ได้ศึกษาก็จะไม่รู้ ก็จะยึดติด จะทุกข์ทรมานใจ ร่างกายไม่ได้ทุกข์ทรมานไปกับความแก่ ความเจ็บ ความตาย เครื่องอัดเสียงนี้ก็ไม่ได้ทุกข์เวลาที่ใช้งานไม่ได้ เพราะไม่มีความรู้สึกนึกคิด ผู้ที่มีความรู้สึกนึกคิดคือใจหรือธาตุรู้ เพียงแต่ว่าธาตุรู้นี้ ไม่มีปัญญา ไม่มีสัมมาทิฐิ ไม่เห็นว่าตัวธาตุรู้ ไม่ได้เป็นร่างกาย ไม่รู้ว่าร่างกายเป็นอนิจจัง ไม่เที่ยง มีการเปลี่ยนแปลง อนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับให้ร่างกายเป็นไปตามที่ใจต้องการได้ ไม่สามารถสั่งให้ร่างกายสาวไปตลอด ให้เป็นสาวล้านปี ร่างกายต้องเปลี่ยนไปตามวัย อนิจจังก็คือไม่นิ่งไม่คงที่ มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

    เริ่มเปลี่ยนตั้งแต่ตอนที่ปฏิสนธิในครรภ์ เพราะจะค่อยเจริญเติบโตขึ้นมาตามลำดับ พอเจริญเต็มที่ก็ต้องคลอดออกมาจากครรภ์ หลังจากนั้นก็ได้รับการดูแลด้วยอาหารน้ำลม แล้วก็ค่อยเจริญเติบโตต่อไป จนถึงขีดสูงสุดของความเจริญ หลังจากนั้นก็จะเริ่มเสื่อมชราภาพไปตามลำดับ จะเจ็บไข้ได้ป่วยแล้วก็ตายไป นี่คือธรรมชาติของร่างกาย อนิจจังคือเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา อนัตตาคือไม่สามารถควบคุมบังคับได้ ทุกขังคือทุกข์ใจ เพราะไปยึดติดกับร่างกาย ถึงแม้ไม่ใช่ร่างกายของเราก็ทุกข์ได้ เช่นร่างกายของคนที่เรารัก ถ้าไปยึดติดก็จะอยากให้เขาอยู่ไปนานๆ นี่ก็เป็นสมุทัย เป็นภวตัณหา เป็นอริยสัจข้อที่ ๒ ที่ทำให้เกิดอริยสัจข้อที่ ๑ คือทุกข์ขึ้นมาในใจของผู้ที่ไปยึดติดกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นร่างกายที่ได้มาจากการปฏิสนธิในครรภ์ หรือร่างกายของคนอื่น เช่นร่างกายของบิดามารดาสามีภรรยาบุตรธิดา ใจทุกข์เพราะใจมีอุปาทาน ไปยึดไปติดไปอยาก ให้ร่างกายเป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ สำหรับผู้ที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรม จะเห็นว่าร่างกายเป็นอนิจจังเป็นอนัตตา จะปล่อยวาง ไม่อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาแก่ก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น เวลาตายก็ไม่ได้อยากให้เป็นอย่างอื่น ถ้าไม่มีความอยากเหล่านี้ ทุกขังก็จะไม่เกิด เพราะความไม่อยากเป็นมรรค เป็นสัมมาทิฐิ เป็นสัมมาสังกัปโป คือเห็นว่าร่างกายต้องแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา เป็นการเห็นด้วยปัญญา เห็นแล้วก็จะปล่อยวาง ปล่อยให้เป็นไปตามความจริง นี่คือมรรค สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป พอปล่อยวางได้ก็จะละสมุทัย ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจได้ ทุกข์ก็จะไม่มีอยู่ในใจของผู้ที่มีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปโป มีมรรค จะเป็นใจที่สงบเย็นสบาย มีความสุข ไม่ว่าร่างกายจะเป็นอย่างไร ใจจะไม่ทุกข์ไปกับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย เพราะมีสัมมาทิฐิ มีสัมมาสังกัปโป มีมรรค

    อนิจจังทุกขังอนัตตานี้ก็เกี่ยวโยงไปถึงอริยสัจ ๔ เพราะทุกขังก็คืออริยสัจข้อที่ ๑ ถ้าเห็นทุกข์ก็จะเห็นว่าเกิดจากสมุทัย ถ้าไม่ได้พบพระพุทธศาสนา เวลาทุกข์จะไม่รู้ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร จะดับได้อย่างไร ต้องมีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้พระอริยสัจ ๔ แล้วนำออกมาเผยแผ่ให้แก่สัตว์โลกอย่างพวกเราถึงจะรู้กัน ถ้าพวกเราศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ แล้วนำเอาไปปฏิบัติได้ ก็จะดับความทุกข์ต่างๆภายในใจได้ ด้วยการละความอยากต่างๆ ที่เป็นต้นเหตุของความทุกข์ต่างๆภายในใจ การที่จะละความอยากต่างๆได้ ก็ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในสิ่งต่างๆนี้เอง แต่เรามักจะไม่เห็นกัน มักจะคิดว่าจะอยู่กับเราไปตลอด เวลาได้อะไรมา ไม่เคยคิดเลยว่าจะต้องเสียไป หรือต้องจากเขาไปสักวันหนึ่ง จะคิดว่าจะมีความสุขกับเขาไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่เคยคิดว่าเขาเป็นเหมือนระเบิดเวลา ทุกสิ่งทุกอย่างที่ได้มานี้เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาที่จะระเบิดใส่เรา เวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือดับไป พวกเราไม่ค่อยใช้ปัญญากัน จึงถูกความหลงหลอก พอเห็นอะไรก็หลอกว่าดี เอามาเถิด จะมีความสุข ไม่เคยคิดเลยว่าเป็นระเบิดเวลา จะต้องระเบิดใส่เราสักวันหนึ่งไม่ช้าก็เร็ว ร่างกายของเรานี้ก็เป็นเหมือนระเบิดเวลา รอเวลาระเบิดใส่เรา เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย ประสบอุบัติเหตุ ทำให้เสียอวัยวะไป ก็จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา ถ้าไม่รู้ทัน ไม่ยอมรับความจริงว่าต้องเป็นอย่างนี้

    ต้องเจริญสติอยู่ทุกเวลานาที จะได้รู้ว่าจิตกำลังคิดไปในทางมรรคหรือสมุทัย ถ้าคิดไปในทางมรรคก็จะคิดว่าต้องเป็นอย่างนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ห้ามไม่ได้ ขณะนี้เป็นอย่างไรก็ต้องเป็น ถ้าไม่อยากให้เป็นอย่างอื่นก็จะไม่ทุกข์ เช่นนั่งอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ได้อยากที่จะลุกไปไหน ก็จะไม่ทุกข์ ถ้าอยากแล้วไปไม่ได้ก็จะทุกข์ จะกระวนกระวาย ต้องเจริญสติอยู่ตลอดเวลา ถ้าไม่มีสติก็จะเจริญปัญญาไม่ได้ ใจจะลอยไปลอยมา จะไม่อยู่กับปัจจุบัน ไม่อยู่กับเหตุการณ์ จะไม่สามารถสอนใจให้ยอมรับกับเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีสติเวลาสัมผัสกับสิ่งที่ชอบก็จะอยากได้ สัมผัสกับสิ่งที่ไม่ชอบก็จะอยากหนีจากสิ่งนั้นไป ใจจะไม่นิ่ง จะทุกข์ทรมาน เวลาชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับไปหาสิ่งที่ชอบ เวลาไม่ชอบก็นั่งนิ่งๆไม่ได้ ต้องขยับหนีสิ่งที่ไม่ชอบไป เพราะไม่มีสติคอยควบคุมใจ ไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบนั่นเอง ด้วยการสอนใจให้เห็นว่าความชอบหรือไม่ชอบนี้เป็นสมุทัย เป็นภวตัณหา เป็นวิภวตัณหา ชอบก็เป็นภวตัณหาอยากได้ ไม่ชอบก็เป็นวิภวตัณหาไม่อยากได้ ถ้ามีปัญญาก็จะเห็นว่า ไม่มีอะไรทำร้ายใจได้ นอกจากใจทำร้ายใจเอง ด้วยความชอบหรือไม่ชอบ เพราะขาดเครื่องมือที่จะควบคุมใจให้นิ่ง ให้เป็นกลาง ไม่ให้ชอบหรือไม่ชอบ ก็คือสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปโป ที่เป็นมรรคนี่เอง

    มรรคนี้แหละที่จะหยุดความชอบหรือไม่ชอบ หยุดตัณหาทั้ง ๓ คือกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา หยุดด้วยสัมมาสติ สัมมาสังกัปโป ก็คือสติปัญญา ที่มีหลายระดับด้วยกัน ระดับปุถุชนก็ระดับหนึ่ง ระดับพระอริยบุคคล ก็แบ่งเป็น ๔ ขั้น มีกำลังที่จะหยุดตัณหาความอยากต่างๆได้ต่างกัน จึงแบ่งเป็น ๕ ระดับด้วยกันถ้านับระดับปุถุชนด้วย ปุถุชนก็มีสติปัญญาในระดับที่ดับความอยากต่างๆได้ไม่มาก คือดับความอยากที่จะไปทำบาปได้ รักษาศีล ๕ ได้ ถ้าต่ำกว่านั้นก็จะเป็นระดับของเดรัจฉาน ไม่มีกำลังพอที่จะรักษาศีล ๕ ได้ เวลาหิวก็จะหาอาหารมากิน จะเป็นสัตว์ที่ตายไปแล้วหรือที่ยังมีชีวิตอยู่ก็ได้ ไม่ได้คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายอะไร สัตว์ใหญ่จึงกินสัตว์น้อย เพราะสติปัญญาไม่ได้อยู่ในระดับที่จะรักษาศีล ๕ ได้ ไม่รู้เรื่องบาปบุญ ว่าการฆ่าสัตว์เป็นบาป จะมีโทษตามมา ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะได้การอบรมสั่งสอน จากพ่อแม่ครูบาอาจารย์ให้รักษาศีล ไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ก็จะรักษาศีล ๕ ได้ ไม่ฆ่ามนุษย์ด้วยกันเป็นอาหาร เหมือนสัตว์เดรัจฉาน เพราะระดับของสติปัญญาต่างกัน

    ถ้าเป็นขั้นพระโสดาบัน ก็จะมีสติปัญญาที่จะไม่ทำบาป ไม่ละเมิดศีล ๕ เลย มีปัญญาเห็นว่าการละเมิดศีล ๕ เป็นโทษมากกว่าการตาย จึงยอมตายไม่ต่อสู้ปล่อยให้เขาฆ่า เวลาตายไปแล้วไม่ต้องไปเกิดในอบาย ไม่ต้องไปใช้กรรมต่อ ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์เลย เพื่อมาปฏิบัติธรรมต่อ ถ้ายังปฏิบัติไม่ถึงขั้นสูงสุด ถ้าไปฆ่าผู้ที่จะฆ่าตน ตายไปก็ต้องไปใช้กรรมก่อน เช่นพระเทวทัต ท่านก็มีศีลมีสมาธิ แต่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า ยังไม่ได้เป็นพระโสดาบัน ยังเป็นปุถุชนอยู่ พอไปทำบาปต่อพระพุทธเจ้า พยายามฆ่าพระพุทธเจ้า พอตายไปก็ต้องไปใช้กรรมในนรกก่อน ก่อนที่จะกลับมาเกิดเป็นมนุษย์ มาบำเพ็ญจนได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าต่อไป ถ้าไม่ได้ทำร้ายพระพุทธเจ้า ตายไปไม่ต้องไปใช้กรรมในนรก ได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้บรรลุเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าเลย ถึงแม้จะมีฤทธิ์มีสมาธิ แต่ไม่เป็นธรรมขั้นอริยะ ขั้นอริยธรรมต้องมีปัญญา ต้องมีดวงตาเห็นธรรม ต้องเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาในร่างกายในขันธ์ ๕ เห็นว่าร่างกายเกิดแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้าไปปกป้องร่างกายด้วยการฆ่าผู้อื่น ก็จะต้องไปใช้กรรมในอบาย ท่านจึงไม่ฆ่าโดยเด็ดขาด ภพชาติก็จะเหลือไม่เกิน ๗ ชาติเป็นอย่างมาก เพราะจะสามารถปฏิบัติจนบรรลุเป็นพระอรหันต์ได้

    ขั้นพระโสดาบันนี้ จะมีปัญญาเห็นความไม่เที่ยงของร่างกาย ขั้นต่อไปก็ต้องเห็นความไม่สวยงามของร่างกาย ที่สวยเพราะได้รับการตบแต่ง ขัดสีฉวีวรรณ อาบน้ำอาบท่า แต่งกาย แต่งหน้า แต่งตา ให้ดูสวยสะอาด ถ้าดูเวลาที่พึ่งตื่นขึ้นมา เวลาที่ไม่ได้แต่งหน้าแต่งตา ไม่ได้แต่งกาย ไม่ได้อาบน้ำอาบท่า ก็จะเห็นว่าไม่สวย ถ้าเห็นเวลาเป็นซากศพก็ยิ่งไม่สวยใหญ่ ถ้าได้ดูอวัยวะต่างๆที่มีอยู่ภายในของร่างกาย ที่ถูกผิวหนังปกปิดหุ้มห่อไว้อยู่ เห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูลขับออกมาจากร่างกาย ก็จะเห็นว่าไม่สวยงามอย่างที่คิดเลย ถ้าเห็นอย่างนี้ก็จะเลื่อนขึ้นไป เป็นพระสกิทาคามีและพระอนาคามีตามลำดับ พระสกิทาคามีจะเห็นประมาณ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นบ้างไม่เห็นบ้างสลับกันไป จึงมีอารมณ์เบื่อๆอยากๆ เพราะยังไม่ได้เห็นอย่างต่อเนื่อง เวลาพิจารณาก็จะเห็น เวลาไม่ได้พิจารณาก็จะไม่เห็น ก็จะเกิดกามารมณ์ขึ้นมา นี่เป็นสติปัญญาขั้นที่ ๒ ถ้าเป็นขั้นที่ ๓ ขั้นพระอนาคามี ก็จะเห็นว่าไม่สวยเป็นปฏิกูลตลอดเวลา เวลาเห็นข้างนอกทีไรก็จะเห็นข้างในด้วย จะเห็นอวัยวะต่างๆ จะเห็นอาการ ๓๒ ที่มีอยู่ในร่างกาย ถ้าเห็นอย่างนี้ตลอดเวลา กามารมณ์ก็จะไม่เกิด จะอยู่คนเดียวได้ ไม่ต้องมีคู่ครอง ไม่ต้องมีสามี ไม่ต้องมีภรรยา พระโสดาบันกับพระสกิทาคามีนี้ยังมีกามารมณ์ ยังต้องมีสามีมีภรรยา เช่นนางวิสาขา เพราะสติปัญญาของพระโสดาบันยังไม่สามารถหยุดกามารมณ์ได้ ถ้าได้เจริญอสุภกรรมฐานอยู่ตลอดเวลา กามารมณ์ก็จะไม่เกิด ทุกครั้งที่โผล่ออกมา ก็จะถูกมรรค คือสัมมาทิฐิ คืออสุภกรรมฐานทำลายไปหมด นี่คือเรื่องของสติปัญญาเรื่องของมรรค ที่จะพัฒนาจิตใจให้มีความสุขมากขึ้น ความทุกข์น้อยลงไปเรื่อยๆ

    อยู่ตรงที่จะเห็นอนิจจังเห็นอนัตตาหรือไม่ ถ้าเห็นก็จะไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น ก็จะไม่เกิดทุกขังขึ้นมา การเห็นไตรลักษณ์หรือสัมมาทิฐินี้มีหลายระดับด้วยกัน คือระดับพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี และพระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์ต้องดูไตรลักษณ์ภายในจิต ไตรลักษณ์ภายในร่างกายเป็นหน้าที่ของพระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี พระโสดาบันก็จะเห็นว่าร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย พระสกิทาคามีจะเห็นอสุภะความไม่สวยงาม เห็นปฏิกูลความสกปรกของร่างกายเป็นพักๆ พระอนาคามีจะเห็นตลอดเวลา จะไม่เห็นว่าสวยงามว่าสะอาดเลย พอเห็นอย่างนี้แล้วปัญหาของร่างกายก็จะหมดไป สติปัญญาไม่ต้องพิจารณาร่างกายอีกต่อไป สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อก็คือปัญหาภายในจิต เพราะจิตยังมีไตรลักษณ์ปะปนอยู่ ยังมีขึ้นมีลง มีสุขมีทุกข์ ยังไม่เที่ยง ควบคุมบังคับไม่ได้ บังคับให้สุขตลอดเวลาไม่ได้ เวลาเข้าสมาธิก็จะสุข พอออกจากสมาธิก็ต้องใช้ปัญญาคอยรักษาไว้ เพราะจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ตามอารมณ์ที่มากระทบกับจิต สติปัญญาก็จะเห็นว่า จิตก็เป็นเหมือนร่างกาย มีการเปลี่ยนแปลง มีเกิดมีดับ เป็นอนัตตาเหมือนกัน ห้ามไม่ได้ ต้องยอมรับความจริง จะสุขก็รู้ว่าสุข จะเปลี่ยนไปก็ยอมรับ จะสว่างไสวหรือไม่ก็ยอมรับ ไม่ยึดติดกับความสว่างไสว ไม่ยึดติดกับความสุข เพราะไม่ใช่สุขแท้ ไม่ใช่สุขที่ถาวร ไม่ใช่สุขที่ไม่เปลี่ยนแปลง เป็นไตรลักษณ์ ถ้าอยากให้สุขให้สว่างไสวไปตลอด เวลาเปลี่ยนไปก็จะทำให้เกิดทุกข์ขึ้นมา เพราะต้องคอยทำให้สว่างไสวให้สุขไปเรื่อยๆ ก็จะรู้ว่ายังมีทุกข์อยู่

    วิธีที่จะดับทุกข์นี้ก็ต้องละสมุทัย คือความอยากให้สว่างไสวอยากให้สุขไปเรื่อยๆ ต้องปล่อยวาง จะสว่างก็ปล่อยให้สว่างไป จะสุขก็ปล่อยให้สุขไป ไม่สว่างไม่สุขก็ต้องปล่อยเช่นเดียวกัน พอปล่อยแล้วความสว่างความสุขก็จะหายไปเอง ต้องทำใจให้เป็นกลาง ให้สักแต่ว่ารู้ จะเปลี่ยนก็ปล่อยให้เปลี่ยนไป จะสว่างก็ปล่อยให้สว่างไป จะไม่สว่างก็ปล่อยให้ไม่สว่างไป พอปล่อยแล้วก็จะหายไป เหลือแต่ความว่างความสุขที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เหมือนกับท้องฟ้าที่ไม่มีเมฆหมอก ความว่างของท้องฟ้าไม่เปลี่ยน ความว่างรอบตัวเรานี้ก็ไม่เปลี่ยน ว่างอยู่อย่างนั้น สิ่งที่ทำให้ไม่ว่างก็คือสิ่งต่างๆ อย่างพวกเรานี้ ทำให้ความว่างตรงนี้ไม่ว่าง พอพวกเราไปจากที่นี่ก็จะว่างเหมือนเดิม ท้องฟ้าไม่ว่างเพราะเมฆหมอก พอไม่มีเมฆหมอกท้องฟ้าก็จะว่าง ใจก็เหมือนกัน พอไม่มีความสว่างไสวความสุขก็จะว่าง ความสว่างไสวและความสุขยังเป็นสมมุติอยู่ เป็นเหมือนเมฆหมอกบนท้องฟ้า ผู้ปฏิบัติจะเข้าใจเมื่อปฏิบัติถึงขั้นนี้ จะเห็นความแตกต่าง ระหว่างความสุขความสว่างไสว กับความว่างความสุขที่มหัศจรรย์นี้

    ถ้าปฏิบัติถึงความสว่างไสวความสุขภายในจิตแล้ว จะเห็นว่ามหัศจรรย์มาก แต่ไม่รู้ว่ายังมีสิ่งที่มหัศจรรย์กว่านี้ คือการไม่มีอะไรเลย ว่างหมดเลย ไม่มีอะไรเลย อันนี้แหละที่มหัศจรรย์กว่า ถ้าไม่ฉลาดก็จะติดอยู่ตรงนี้ ติดอยู่กับความสุขความสว่างที่มหัศจรรย์นี้ เวลาหายไปก็จะดึงกลับมา ก็จะต้องดึงอยู่เรื่อยๆ เวลาหายไปก็บริกรรมพุทโธๆ ก็จะดึงกลับมาได้ เพราะหลงยึดติดกับความมหัศจรรย์นี้ คิดว่านี่คือจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติ ถ้าไม่มีครูบาอาจารย์คอยสอนหรือสติปัญญาวิเคราะห์ ก็จะไม่เห็นว่ายังเป็นทุกข์อยู่ ถ้ามีสติปัญญามีครูบาอาจารย์คอยบอกทางก็จะรู้ทัน จะรู้ว่าเป็นปัญหาเหมือนกับร่างกาย เป็นสภาวธรรมเหมือนกัน ต่างกันตรงที่ร่างกายเป็นรูปธรรม จิตเป็นนามธรรม แต่การปฏิบัติต่อธรรมทั้ง ๒ นี้เหมือนกัน ต้องใช้ไตรลักษณ์เหมือนกันในการแก้ปัญหา ต้องเห็นว่าไม่เที่ยง เป็นอนัตตา บังคับไม่ได้ ต้องยอมรับตามสภาพ จะอยู่ก็อยู่ จะไปก็ไป จะได้ไม่เกิดทุกขังขึ้นมา จะดับทุกข์อย่างถาวร เพราะเป็นสมมุติชิ้นสุดท้ายที่เหลืออยู่ภายในใจ พอสมมุติที่เป็นไตรลักษณ์นี้หมดไปจากใจแล้ว ใจก็จะว่างจะสุขไปตลอด นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานัง ปรมัง สุขัง ถึงแม้ยังครองขันธ์ ๕ อยู่ ใจจะไม่ทุกข์ไปกับการเปลี่ยนไปของขันธ์ ๕ จะรู้ทัน จะไม่รักไม่ชัง

    นี่คือสติปัญญาขั้นสูงสุด คือมหาสติมหาปัญญา พอผ่านร่างกายไปแล้ว สติปัญญาก็จะเข้าสู่ระดับมหาสติมหาปัญญา จะทำงานเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องบังคับเหมือนในระดับร่างกาย ที่ยังต้องคอยบังคับให้พิจารณาความแก่ความเจ็บความตาย ให้พิจารณาอสุภะอยู่เรื่อยๆ ผ่านขั้นนี้ไปแล้ว จะเป็นปัญญาที่คอยขุดคุ้ย หาตัวสมุทัย หาภวตัณหา หาวิภวตัณหา จะคอยดูทุกข์ที่จะเกิดขึ้นภายในใจอยู่ตลอดเวลา พอเกิดขึ้นปั๊บก็จะพิจารณาเลยว่า เป็นเพราะอะไร อยากได้อะไร อยากให้อยู่หรืออยากให้ไป จะละไปเรื่อยๆ จนไม่มีตัณหา ไม่มีรักไม่มีชัง หลงเหลืออยู่ภายในใจ ก็จะไม่มีอะไรให้ทำอีกต่อไป เพราะปัญหาทั้งหมดได้ถูกกำจัดหมดสิ้นไปแล้ว กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา ที่เป็นเหตุของความทุกข์ ก็จะไม่มีหลงเหลืออยู่ภายในใจ ก็จะรู้ว่าไม่มีภพชาติอีกต่อไป เพราะภพชาติก็มาจากกามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหานี่เอง ถึงพูดได้อย่างเต็มปากว่าไม่เกิดอีกแล้ว พอไม่มีความอยากแล้วจะไปเกิดได้อย่างไร เป็นสันทิฐิโก อกาลิโก สดๆร้อนๆ เกิดจากการปฏิบัติของเรา เกิดจากสุปฏิปันโน อุชุปฏิปันโน ญายปฏิปันโน สามีจิปฏิปันโน ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ไม่ได้อยู่ที่ใครทั้งนั้น ไม่ได้อยู่ที่พระพุทธเจ้า ไม่ได้อยู่ที่พระธรรมคำสอน ไม่ได้อยู่ที่พระอริยสงฆ์สาวก แต่อยู่ที่ผู้ปฏิบัติเอง ไม่ได้อยู่ที่เพศอยู่ที่วัย จะเป็นหญิงเป็นชาย จะแก่หรือเด็ก จะเป็นนักบวชหรือเป็นฆราวาส ไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบหรือไม่ อยู่ตรงนี้

    นี่คือหลักประกันของมรรคผลนิพพาน คือการปฏิบัติ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า ตราบใดผู้ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมยังมีอยู่ โลกนี้จะไม่ปราศจากพระอรหันต์ เพราะธรรมเป็นอกาลิโก ไม่ได้อยู่กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าไม่ได้เอามรรคผลนิพพานไปกับท่าน ท่านฝากไว้ในสวากขาโต ภควตาธัมโม ในสุปฏิปันโน อุชุฯ ญายะฯ สามีจิปฏิปันโนนี่เอง อยู่ที่อัตตาหิ อัตตโน นาโถ อยู่ที่ตัวเรา เราต้องเป็นผู้แสวงหาความรู้ ต้องศึกษาพระธรรมคำสอน พอรู้แล้วว่าจะต้องปฏิบัติอะไรบ้าง ก็ต้องปฏิบัติ พระพุทธเจ้าพระสาวกปฏิบัติแทนเราไม่ได้ พ่อแม่พี่น้องปฏิบัติแทนเราไม่ได้ เราต้องปฏิบัติเอง ก็ต้องย้อนมาดูที่ตัวเราว่าปฏิบัติหรือเปล่า ถ้าไม่ปฏิบัติผลก็จะไม่เกิด อย่าไปโทษใคร อย่าไปโทษว่ายาก ยากที่ตรงไหน ยากที่ไม่ได้ปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติไม่เห็นว่ายากเลย คนที่ไม่ปฏิบัติต่างหากที่ว่ายาก ถ้าปฏิบัติก็จะไม่ยาก เป็นเพราะใจร้อนและขี้เกียจ อยากได้ผลเร็วๆแต่ทำน้อยๆ พอต้องทำมากก็ว่ายาก ต้องทำไปตามเหตุตามผล ทุกคนต้องทำเท่าๆกันหมด เหมือนกินข้าว ก็ต้องกินเท่าๆกันถึงจะอิ่มเหมือนกัน การปฏิบัติก็ต้องปฏิบัติเท่ากัน ถึงจะได้ผลเท่ากัน ไม่มีทางอื่น มีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ปฏิบัติด้วยตัวเราเอง อัตตาหิ อัตตโน นาโถ สู้ไม่ถอย

    ธรรมะนี้แหละที่จะทำให้คนเราตื่นจากความไม่ดีสู่ความดี ทำให้เราสุขให้เราเจริญ ทำให้ทุกข์น้อยลง ไม่มีอย่างอื่น อย่างอื่นมีแต่ทำให้เราทุกข์มากขึ้นสุขน้อยลง แต่เรามองไม่เห็นกัน กลับเห็นว่าเป็นสุขมากกว่าทุกข์ แต่ความจริงเรากอดความทุกข์มากกว่ากอดความสุข เพราะความสุขแบบนี้เป็นเหมือนเหยื่อที่ติดอยู่ปลายเบ็ด สุขเพียงนิดเดียวแต่ทุกข์มากกว่าหลายเท่า ทุกข์ตั้งแต่มหาเศรษฐีลงมาถึงขอทาน เพราะมีความอยากเหมือนกัน ความอยากจะไม่หมดไปเพราะได้สิ่งที่อยากได้มา แทนที่ความอยากจะน้อยลงไป กลับจะมีมากขึ้น ได้คืบก็อยากได้ศอก ได้ศอกก็อยากจะได้วา ได้แสนก็อยากจะได้ล้าน ได้ล้านก็อยากจะได้พันล้าน ความอยากจะน้อยลงไปด้วยการหยุดความอยาก ถ้าหยุดได้ความอยากจะอ่อนกำลังลงไปเรื่อยๆ ครั้งแรกๆจะแรง พอหยุดได้ความแรงก็จะลดลงไปเรื่อยๆ เวลาเลิกสุราใหม่ๆจะทุกข์ทรมานใจมาก เพราะความอยากมันรุนแรง แต่พออดไปได้เรื่อยๆ ความอยากก็จะเบาลงไปเรื่อยๆ การอดอาหารก็เช่นเดียวกัน เวลาอดช่วงแรกๆจะหิวมาก พออดไปได้เรื่อยๆก็จะหิวน้อยลงไปเรื่อยๆ พอผ่านวันที่ ๓ ไปแล้วจะไม่ค่อยหิว หมายถึงความหิวทางใจ ความหิวที่เกิดจากความอยากจะน้อยลงไปตามลำดับ ส่วนความหิวของร่างกายจะไม่ทุกข์ทรมาน เหมือนกับความหิวทางใจ จะรู้สึกอ่อนเพลีย แต่จะมีกำลัง เพราะกำลังอยู่ที่ใจ ถ้าทำจิตให้สงบได้ จะมีกำลังเดินจงกรมนั่งสมาธิ ได้มากกว่าตอนที่รับประทานอาหารเสียอีก เวลาได้รับประทานอาหาร จะขี้เกียจ จะคิดถึงหมอน ถ้านั่งสมาธิจะนั่งสัปหงก

    ถ้าจิตมีสมาธิมีปัญญาปล่อยวางความอยากได้จะมีพลัง ถึงแม้ร่างกายจะไม่มีเรี่ยวมีแรง พลังของจิตจะผลักให้ร่างกายปฏิบัติได้ ให้เดินจงกรมได้ให้นั่งสมาธิได้ นั่งแล้วก็ไม่ง่วงเหงาหาวนอน ไม่ขี้เกียจ เดินจงกรมพิจารณาธรรมไปด้วยความเพลิดเพลิน พิจารณาความไม่เที่ยงของรูปขันธ์ คือร่างกายของเราและของคนอื่น พิจารณาความไม่เที่ยงของสิ่งต่างๆ อย่างเพลิดเพลินแล้วปล่อยวางไปตามลำดับ ความอยากกับเรื่องต่างๆจะเบาบางลงไป ความสุขในใจจะมีเพิ่มมากขึ้นไป ความสุขความทุกข์ของร่างกายไม่แรงเหมือนความสุขความทุกข์ของใจ ถ้ามีสมุทัยความอยากมาก ความทุกข์ใจก็จะมีมาก ถ้ามีสติปัญญามากเห็นไตรลักษณ์มาก ความสุขใจก็จะมาก เพราะปล่อยวางได้มาก นี่เป็นเคล็ดลับที่พวกเราไม่รู้กัน พวกเราถูกกิเลสหลอกให้คิดว่า ต้องได้ตามความอยากแล้วถึงจะมีความสุข ร่างกายต้องอิ่มหมีพีมันถึงจะมีความสุข นี่เป็นความคิดของกิเลส ของกามตัณหาคือความอยากในกาม แทนที่จะอยากน้อยลงไปเวลาได้กินแล้ว กลับอยากจะกินมากขึ้น แทนที่จะเป็นความสุขกลับกลายเป็นความทุกข์ไป เวลาต้องอดอาหารก็จะทรมานกว่าคนที่มีความอยากน้อยกว่า เวลาอดอาหารถ้าพ้น ๓ วันไปแล้วจะไม่ค่อยหิว จะหิวช่วง ๓ วันแรก เพราะความอยากมีกำลังมาก พอผ่าน ๓ วันแล้ว ความอยากจะอ่อนลงไปมาก จะอดต่ออีก ๓ วันได้อย่างสบาย จะไม่หิวเหมือนกับอด ๓ วันแรก จึงต้องอดทีละหลายๆวันจะได้คุ้มค่า การจะอดอาหารได้ก็ต้องภาวนาเป็น ต้องควบคุมความอยากได้ ถ้าไม่เคยภาวนาทำจิตให้สงบเลย เวลาอดอาหารจะทนไม่ได้ จะคิดแต่เรื่องอาหารอยู่ตลอดเวลา ถ้านั่งสมาธิหรือเดินจงกรมบริกรรมพุทโธๆอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่มีโอกาสคิดถึงเรื่องอาหาร ความหิวที่เกิดจากกามตัณหาก็จะไม่เกิด แต่พอเผลอสติปั๊บก็จะคิดถึงอาหารจานเด็ด อาหารชนิดนั้นชนิดนี้ อาหารจานโปรดทันที น้ำลายจะไหล จะหิว จะรู้สึกทรมานใจขึ้นมาทันที

    การอดอาหารนี้เป็นอุบายที่จะบังคับให้เจริญสติ ควบคุมจิตใจให้อยู่กับกรรมฐาน ให้อยู่กับพุทโธ ให้นั่งสมาธิ ให้เดินจงกรม เพราะรู้ว่าเผลอไม่ได้ ถ้าเผลอจะทรมานใจ เหมือนกับนักมวยที่ขึ้นเวที เผลอไม่ได้ ถ้าเผลอจะโดนหมัด ถ้าชกกระสอบทรายนี่เผลอได้ เพราะกระสอบทรายไม่ชกกลับ ถ้ารับประทานอาหารก็เหมือนตอนที่ไม่ได้ขึ้นเวที มักจะเผลอปล่อยให้ใจคิดเรื่อยเปื่อย แต่พออดอาหารนี้จะเผลอไม่ได้เลย ถ้าเผลอจะคิดถึงอาหารจานโปรดทันที พอคิดปั๊บจะทุกข์ทรมานใจทันที จะคิดปรุงแต่งไม่หยุด เวลาอดอาหารจึงต้องคอยบังคับให้นั่งสมาธิ พอออกจากสมาธิก็ให้เดินจงกรมต่อ ต้องควบคุมจิตอยู่ตลอดเวลา ไม่คลุกคลี จะปลีกวิเวกอยู่คนเดียว เดินจงกรมนั่งสมาธิ จนติดเป็นนิสัย อยู่ที่วัดป่าบ้านตาด ถ้าไม่อดอาหารก็ต้องออกไปบิณฑบาต ออกไปทำกิจร่วมกับผู้อื่น ก็จะเผลอคุยกัน ใจก็จะไม่สงบ ไม่ก้าวหน้า ไม่คิดถึงทางจงกรม ไม่คิดถึงการนั่งสมาธิ เพราะไม่มีเหตุบังคับเช่นความหิว เหมือนกับยา ถ้าไม่เจ็บไข้ได้ป่วยจะไม่คิดถึงยา แต่เวลาเจ็บไข้ได้ป่วยจะคิดถึงยาตลอดเวลา เพราะอยากจะให้หาย เวลาอดอาหารก็เหมือนกัน จะคิดนั่งสมาธิเดินจงกรม ถ้าไม่ทำความทุกข์ทรมานใจก็จะตามมา เพราะจะคิดปรุงแต่งแต่เรื่องอาหาร

    การปฏิบัติเพื่อยกระดับจิตนี้ต้องบังคับถึงจะก้าวขึ้นไปได้ ถ้าอยู่อย่างสบายๆจะติดอยู่กับสภาพเดิม เคยกินอยู่อย่างไรก็จะกินอยู่อย่างนั้น จะไม่ได้พัฒนา เพราะไม่เจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม ถ้าต้องการจะยกระดับจิตก็ต้องบังคับตน ถ้าเป็นฆราวาสรักษาศีล ๕ ก็ให้รักษาศีล ๘ บังคับตนไม่ให้กินข้าวหลังเที่ยงวันไปแล้ว ไม่ให้ดูหนังฟังเพลง โทรทัศน์ไม่ต้องดู วิทยุไม่ต้องฟัง เอาเวลานั้นมานั่งสมาธิ เดินจงกรม ฟังเทศน์ฟังธรรม จิตใจจะได้เจริญเติบโต ถ้าเป็นต้นไม้ ถ้าไม่คอยใส่ปุ๋ยรดน้ำจะโตได้อย่างไร จิตใจก็จะเป็นอยู่เหมือนเดิมถ้าไม่ได้ปฏิบัติมากขึ้น ต้องดูว่าตอนนี้รักษาศีลได้กี่ข้อ ปฏิบัติธรรมวันละกี่ชั่วโมง ตัดกิเลสตัดรูปเสียงกลิ่นรสได้มากขึ้นหรือยังเหมือนเดิม ถ้ายังดูหนังฟังเพลง ยังไปเที่ยว ยังทำอะไรเหมือนเดิมอยู่ ก็จะไม่ก้าวหน้า ต้องตัดเรื่องบันเทิงตัดความสุขทางกามารมณ์ให้น้อยลงไป แล้วก็เพิ่มการปฏิบัติธรรมเพื่อความสุขสงบของใจให้เพิ่มมากขึ้น ด้วยการเจริญสติ นั่งสมาธิ เดินจงกรม เจริญปัญญาด้วยการพิจารณาอนิจจังทุกขังอนัตตา

    ถ้าไม่บังคับตัวเราให้ปฏิบัติธรรม ปล่อยให้เป็นไปตามอารมณ์ ก็จะเป็นเหมือนเรือที่ไม่มีหางเสือ จะลอยไปตามกระแสน้ำ อยากจะนั่งก็นั่ง ไม่อยากจะนั่งก็ไม่นั่ง ก็จะขึ้นๆลงๆ อยู่ที่เดิม ถ้ากำหนดไว้ว่าจะนั่งสมาธิกี่ชั่วโมง เดินจงกรมกี่ชั่วโมง ลดเวลาดูทีวีลงไปกี่ชั่วโมง ลดการหาความสุขจากการดื่มการรับประทาน จิตใจก็จะก้าวหน้า ดื่มและรับประทานตามเวลา นอกเวลาจะดื่มแต่น้ำเปล่า ถ้าดื่มเครื่องดื่มที่มีรส ก็จะเป็นการส่งเสริมกิเลสตัณหา เป็นนิวรณ์คือกามฉันทะ เป็นอุปสรรคต่อการทำจิตใจให้สงบ ต้องศึกษาให้รู้ว่าอะไรส่งเสริมให้จิตใจก้าวหน้า อะไรถ่วงไม่ให้ก้าวหน้า ถ้าไม่รู้ก็จะปฏิบัติผิดๆถูกๆ จะไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร หรือไม่ก้าวหน้าเลย ถ้าไม่รู้ก็ต้องศึกษาจากผู้รู้ ฟังเทศน์ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ วิธีที่ท่านปฏิบัตินี้ เป็นตัวอย่างที่เราควรนำเอามาใช้ อาจจะต้องดัดแปลงบ้าง เพราะจริตไม่เหมือนกัน เช่นอาจจะไม่ถูกกับการอดอาหาร เวลาอดอาหารแทนที่จิตจะสงบกลับฟุ้งซ่าน เพราะสติไม่มีกำลังที่จะควบคุมความคิด ไม่ให้คิดถึงเรื่องอาหารได้ การอดอาหารก็จะไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจจะไม่ถูกกับการถือ ๓ อิริยาบถคือเดินยืนนั่ง ไม่นอน พอไม่นอนก็จะสะลึมสะลือไม่มีกำลังปฏิบัติ ก็ต้องดูจริตว่าเหมาะกับอุบายใด นั่งมากหรือเดินมาก สถานที่แบบไหนถึงจะเหมาะ บางคนชอบในป่า บางคนชอบที่โล่ง ต้องพิจารณาความสัปปายะ ไม่เช่นนั้นแล้วจะปฏิบัติแบบลุ่มๆดอนๆ จะไม่ได้บรรลุผล

    ต้องรู้ว่าอะไรส่งเสริมเป็นสัปปายะ ต้องรู้ว่าอะไรไม่เป็นสัปปายะ แต่อย่าไปว่าไม่สัปปายะทุกอย่าง ไอ้นี่ก็ไม่สัปปายะ ไอ้นั้นก็ไม่สัปปายะ ถ้าจะสัปปายะก็ต้องอิ่มหมีพีมัน ต้องได้เที่ยวได้ดื่มได้กินตลอดเวลา ถ้าอย่างนี้ก็จะปฏิบัติธรรมไม่ได้ หวังได้อย่างมากก็แค่สวรรค์ ทำบุญให้ทานรักษาศีลไป ส่วนเรื่องสมาธิเรื่องปัญญานี้ให้เป็นเรื่องของคนอื่นไป เรายังพอใจกับการเวียนว่ายตายเกิด กับการเป็นมนุษย์เป็นเทพ ถ้าอยากจะหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ก็ต้องปฏิบัติธรรม บำเพ็ญจิตภาวนา สมถภาวนา วิปัสสนาภาวนา ที่เป็นเหมือนยานพาให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร เหมือนกับยานอวกาศที่จะออกจากโลกนี้ไปได้ ต้องมีจรวดที่มีพลังมาก ถึงจะสามารถหลุดพ้นจากแรงดึงดูดของโลกไปได้ เครื่องบินยังไม่สามารถหลุดพ้นไปได้ ขึ้นไปแล้วยังต้องกลับลงมาอีก แต่ยานอวกาศนี้ไปแล้วไม่ต้องกลับมาก็ได้ ถ้าอยากไปไม่กลับก็ต้องมีพลังจิตเท่ากับพลังจรวด ต้องปฏิบัติอย่างเต็มที่ ต้องปล่อยวางภารกิจการงานอย่างอื่น เช่นนักบวชทั้งหลาย พวกนี้ไปไม่กลับกัน พระอริยสงฆ์สาวกท่านไปไม่กลับ เพราะท่านทุ่มเทชีวิตจิตใจให้กับการปฏิบัติ ไม่มีอะไรดีเท่ากับการบวช พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติวิธีการปฏิบัติ เพื่อไม่ให้มีอะไรมาถ่วงมาดึงจิต ให้กลับมาสู่การเวียนว่ายตายเกิดอีก แต่ให้หลุดพ้นจากการดึงดูดของวัฏจักร

    ถ้าเบื่อกับการเกิดแก่เจ็บตาย ก็ต้องบวชปฏิบัติธรรม ถ้ายังรักการอยู่แบบฆราวาส ก็แสดงว่ายังไม่เบื่อกับการเวียนว่ายตายเกิด ตอนต้นเราก็ไม่คิดว่าจะบวช คิดว่านั่งสมาธิจะได้ความสุขทั้ง ๒ อย่าง ไปเที่ยวก็สุขอยู่บ้านก็สุข แต่ไม่ได้เป็นอย่างที่คิด เพราะเวลาไปเที่ยวจะทำลายความสุขที่เกิดจากการนั่งสมาธิ ที่ดีกว่าความสุขที่ได้จากการไปเที่ยว ก็เลยต้องเลือก รักพี่เสียดายน้องไม่ได้ จะเอาสุขร้อนหรือเอาสุขเย็น ถ้าเอาทั้งร้อนทั้งเย็นก็จะอุ่นๆ ต้องเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าเอาสุขร้อนก็จะทำให้ใจรุ่มร้อน ถ้าเอาสุขเย็นก็ทำให้ใจเย็นสบาย ก็เลยต้องเอาทางเย็น ทางเย็นก็ต้องมาบวช จะได้ปฏิบัติอย่างเต็มที่ เพราะงานของนักบวชก็คือการปฏิบัติศีลสมาธิปัญญา พระพุทธเจ้าทรงไม่ให้พระทำงานอื่นเลย ไม่ให้ก่อสร้าง ให้อยู่ตามมีตามเกิด อยู่ตามโคนไม้ก็ได้ ถ้ามีศรัทธาสร้างกุฏิให้อยู่ก็อยู่ได้ แต่ไม่ส่งเสริมให้พระสร้างกุฏิเอง จะเสียเวลา ให้สร้างเรือนใจดีกว่า เรือนใจสำคัญกว่าเรือนกาย เพราะร่างกายอยู่ได้เพียง ๘๐ ปี ๙๐ ปีเป็นส่วนใหญ่ แต่ใจไม่มีวันตาย ถ้าไม่มีเรือนใจก็จะวุ่นวาย ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีที่หลบภัย พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สร้างเรือนใจอย่างเดียว ด้วยศีลสมาธิปัญญา

    โอกาสที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์ แล้วก็ได้เจอพระพุทธศาสนานี้ มีไม่บ่อย นานๆจะเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง อย่าปล่อยให้โอกาสที่ดีนี้หลุดมือไป พยายามปฏิบัติให้มาก อย่างน้อยก็ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ให้มีสติดึงใจไว้ไม่ให้ลอยไปลอยมา เวลากลับบ้านไปนั่งสมาธิจะสงบได้ง่าย พอได้สัมผัสกับความสงบเพียงครั้งเดียว ก็จะเป็นเหมือนปลาติดเบ็ด เหมือนว่าวติดลม จะติดใจ จะเบื่อหน่ายกับความสุขอย่างอื่น จิตใจจะเจริญก้าวหน้า อยู่ที่สตินี้ สำคัญมาก ต้องเจริญให้มาก ตั้งแต่ตื่นจนหลับ แต่ไม่ค่อยเจริญกัน ปล่อยให้เวลาอันมีค่าผ่านไป โดยไม่ได้รับประโยชน์อะไรเลย เหมือนกับปล่อยน้ำประปาไหลทิ้งไป ไม่มีภาชนะมารองเก็บเอาไว้ จะได้มีน้ำใช้ในเวลาที่น้ำไม่ไหล ต้องเจริญสติอยู่เรื่อยๆ พอมีสติแล้วการปฏิบัติจะไม่ลำบาก ร่างกายจะเป็นอย่างไรก็จะปฏิบัติได้ เพราะปฏิบัติที่ใจ เจ็บไข้ได้ป่วยนอนอยู่บนเตียงก็ปฏิบัติได้ ด้วยการควบคุมความอยากต่างๆ ไม่ให้มาสร้างความทุกข์ ต้องมีสติคอยควบคุมใจ ต้องปฏิบัติให้มากๆ อย่างที่หลวงตาสอนให้สู้ไม่ถอย ถ้าถอยแล้วจะถอยไปเรื่อยๆ จะไม่ก้าวหน้า ถ้าไม่ถอยก็จะไม่ขาดทุน เคยปฏิบัติได้เท่าไหร่ก็ปฏิบัติไปก่อน อย่าปฏิบัติน้อยกว่าเดิม

    ถาม : ลูกมาฟังพระอาจารย์ทีไร รู้สึกอยากออกบวชทุกที

    ตอบ : ยังไม่ดีพอ เพราะยังไม่ได้ออกบวช ลองบวชดูสักปีหนึ่งก่อนก็ได้ ยังไม่ต้องบวชอย่างถาวร ถ้ายังไม่แน่ใจว่าจะบวชไปได้ตลอดรอดฝั่ง หลอกกิเลสว่าบวชปีเดียวก่อน ถ้าตั้งใจปฏิบัติจริงๆจะปฏิบัติได้ จะไม่สึก

    ถาม : เวลาอยู่ตรงนี้เหมือนสู้ไม่ถอย เวลาอยู่บ้านมีแต่ถอย

    ตอบ : อย่าไปอยู่บ้าน ต้องไปอยู่วัด

    ถาม : ขอถามเรื่องการอดนอนครับ มีอุบายอะไรที่จะสู้กับความง่วง

    ตอบ : ให้ถือ ๓ อิริยาบถ ยืนเดินนั่ง ไม่นอน ให้หลับอยู่ใน ๓ อิริยาบถนี้ จะได้หลับไม่นาน เวลาง่วงมากๆก็จะนั่งหลับไปสักชั่วโมง ๒ ชั่วโมง แล้วก็จะตื่นขึ้นมา ถ้านอนจะหลับนาน เวลาตื่นจะไม่อยากจะลุกขึ้น พอรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาก็ลุกขึ้นไปเดินจงกรมต่อ พอเดินจงกรมเมื่อยก็กลับมานั่งสมาธิต่อ ถ้าจะหลับก็ให้หลับอยู่ในท่านั่ง จะได้ไม่เสียเวลากับการหลับนอน ขึ้นอยู่กับจริต บางคนชอบ ๓ อิริยาบถ บางคนชอบอดอาหาร บางคนชอบไปอยู่ที่เปลี่ยวๆที่น่ากลัว นักปฏิบัติต้องเดนตาย นอนกับดินกินกับทรายได้ ไม่วิตกกับการอยู่การกินมากจนเกินไป ยอมตาย ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ ว่าเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่มีใครหนีพ้นความตายไปได้ ให้เอาความตายมากระตุ้นให้ปฏิบัติธรรม ไม่ช้าก็เร็วก็ต้องตาย ขณะที่มีชีวิตอยู่มีโอกาสปฏิบัติ ถ้าไม่รีบปฏิบัติพอถึงเวลาตายก็จะหมดโอกาส

    พอกลับมาเกิดใหม่ ก็ไม่รู้ว่าจะได้พบกับพระพุทธศาสนาอีกหรือไม่ ถ้าปฏิบัติจนมีดวงตาเห็นธรรมแล้ว ถึงแม้จะไม่พบพระพุทธศาสนา ก็จะไม่เป็นปัญหา เพราะมีพระพุทธศาสนาอยู่ในใจแล้ว เช่นพระโสดาบันนี้ ถึงแม้จะไม่ได้พบพระพุทธศาสนา ท่านก็ปฏิบัติต่อได้ เพราะมีพระธรรมคำสอนอยู่ในใจแล้ว ท่านรู้มรรค ๘ รู้อริยสัจ ๔ แล้ว ได้เข้าสู่กระแสแล้ว คำว่าโสดาบันมาจากโสตะ แปลว่ากระแส คือกระแสสู่พระนิพพาน พอเห็นไตรลักษณ์แล้ว เห็นว่ามีการเกิดการดับเป็นธรรมดาแล้ว ก็จะเข้าสู่กระแส ที่จะพาผ่านขั้นต่างๆไปจนถึงขั้นสุดท้าย โดยไม่ต้องมีใครมาสอน จะช้าหรือเร็วก็อยู่ที่ปัญญาความฉลาดของผู้ปฏิบัติ แต่จะบรรลุพระนิพพานได้อย่างแน่นอน เพราะมีไตรลักษณ์เป็นเครื่องมือ

    ถ้ายังไม่ได้เข้าสู่กระแส ก็ต้องพิจารณาความตายอยู่เรื่อยๆ เพื่อจะได้ผลักดันจิตให้เข้าสู่กระแส พิจารณาว่าเกิดมาแล้วต้องตายเป็นธรรมดา ทุกสิ่งทุกอย่างมีเกิดมีดับเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาอยู่เรื่อยๆ ก็จะไม่ยึดไม่ติดกับอะไร เพราะไม่อยากจะทุกข์นั่นเอง ถ้ายึดติดเวลาเขาตายไปก็จะเสียใจ เพียงแต่คิดว่าเขาจะตายก็ไม่สบายใจแล้ว ถ้าพิจารณาว่าเขาต้องตายและยอมรับได้ก็จะไม่ทุกข์ จึงควรพิจารณาความตายความไม่เที่ยงอยู่เรื่อยๆ เพราะเป็นกุญแจเปิดประตูเข้าสู่กระแสพระนิพพาน แต่พวกเรากลับกลัวกัน กลัวว่าถ้าคิดเรื่องความตายแล้ว จะเป็นการสาปแช่งตนเอง ไม่ได้สาปหรอก จะคิดหรือไม่คิดก็ต้องตายอยู่ดี ถ้าเป็นตามที่คิด เวลาคิดว่าไม่ตายก็จะต้องไม่ตาย แต่มันเป็นไปไม่ได้ จะตายหรือไม่ตายไม่ได้ขึ้นอยู่กับความคิด นี่คือกุญแจ ไตรลักษณ์ อนิจจังทุกขังอนัตตา ถ้าเห็นอนิจจังทุกขังอนัตตาก็จะปล่อยวางได้ จะไม่ทุกข์ ถ้ายังทุกข์อยู่ ก็แสดงว่ายังไม่ได้ปล่อย

    กัณฑ์ที่ ๔๑๘ ร่างกายไม่ใช่เรา โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 กรกฎาคม 2011
  2. karag

    karag Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2008
    โพสต์:
    48
    ค่าพลัง:
    +41
    กราบอนุโมธนา พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครับ
     
  3. aprin

    aprin เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    7,492
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +22,514
    กัณฑ์ที่ ๔๑๗ บวชจริง โดย พระจุลนายก (พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต) วัดญาณสังวราราม วรมหาวิหาร ต.ห้วยใหญ่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
    ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๓


    หลักสำคัญของการสืบทอดพระพุทธศาสนานี้ มีอยู่ ๓ ประการคือ ปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ ถ้ามีธรรมทั้ง ๓ ประการนี้ จะมีพระพุทธศาสนาไปเรื่อยๆ เพราะจะมีผู้รู้ ที่จะคอยสอนคอยบอก ให้ผู้ที่ยังไม่รู้ ได้ศึกษา ได้ปฏิบัติ ได้บรรลุ ได้ไปถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าศึกษาตามลำพังไม่มีใครสอน ก็อาจจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าไปถึงก็อาจจะใช้เวลานานมาก เช่นพระพุทธเจ้า ไม่มีใครสั่งใครสอน ตอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสวงหาพระนิพพาน ยังไม่มีพระพุทธศาสนา จึงต้องคลำทางไป ลองผิดลองถูก จนกว่าจะได้บรรลุเป็นพระพุทธเจ้า ได้บรรลุพระนิพพาน แต่หลังจากนั้น ผู้ที่ต้องการจะไปพระนิพพาน จะไปได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว และมีจำนวนมาก ตอนก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ ไม่มีพระอรหันต์แม้แต่รูปเดียวในโลกนี้ แต่หลังจากที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงประกาศพระธรรมคำสอนให้แก่สัตว์โลก ก็ปรากฏมีผู้บรรลุเป็นพระอรหันต์เป็นจำนวนมาก อย่างน้อยก็ ๑๒๕๐ รูป ภายในเวลาเพียง ๗ เดือน ทรงเริ่มประกาศพระธรรมคำสอนในวันเพ็ญเดือน ๘ วันอาสาฬหบูชา ๗ เดือนต่อมา ในวันเพ็ญเดือน ๓ วันมาฆบูชา ปรากฏมีพระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูป มาเฝ้าพระพุทธเจ้าจากทั่วทุกสารทิศ โดยไม่ได้นัดหมายกันไว้ก่อน พระอรหันต์ ๑๒๕๐ รูปนี้มีพระพุทธเจ้าเป็นอาจารย์สั่งสอนให้ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ทรงเป็นผู้บรรพชาอุปสมบทให้ ท่านเหล่านี้มีความซาบซึ้งในพระมหากรุณาของพระพุทธเจ้า จึงอยากจะเข้าเฝ้า นี่แสดงให้เห็นว่าการจะมีศาสนาหรือไม่นั้น อยู่ที่การศึกษา การปฏิบัติ และการบรรลุธรรม เพราะผู้บรรลุธรรมจะสอนได้อย่างถูกต้อง ถ้าไม่มีผู้บรรลุธรรมมาสอน ถึงแม้จะมีพระธรรมคำสอนอยู่ แต่ผู้ศึกษาอาจจะหลงผิดได้ จะเห็นผิดเป็นชอบ จะหลงทางได้

    การศึกษาด้วยการอ่านหนังสือธรรมะ แล้วปฏิบัติโดยไม่มีอาจารย์สอน จะยากและอาจจะไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เพราะมักจะถูกกิเลสหลอกให้หลง ให้เข้าข้างตัวเอง เช่นคิดว่าบรรลุแล้ว ทั้งที่ยังติดอยู่กับการเป็นฆราวาส คิดว่าถ้าไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่โลภไม่อยากก็บรรลุแล้ว แต่ไม่ทราบว่าการอยู่ของฆราวาสนั้นยังติดอยู่กับรูปเสียงกลิ่นรส ถ้าไปอยู่แบบพระที่อยู่ในป่า ใจจะเป็นปกติเหมือนอยู่บ้านหรือไม่ ยังนิ่งสงบ ไม่วุ่นวายไม่เดือดร้อนหรือไม่ ถ้าไม่ได้พิสูจน์ก็จะไม่รู้ ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องพิสูจน์ เช่นพิสูจน์ดูว่าความกลัวหมดไปหรือยัง อาจจะคิดว่าความกลัวหมดไปแล้ว เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่มีอะไรมากระตุ้นให้ความกลัวเกิดขึ้นมา ถ้าไปอยู่ในสภาพที่มีภัยรอบด้าน เช่นอยู่ในป่า จิตยังจะสงบนิ่งอยู่หรือไม่ เคยมีฆราวาสมาอยู่บนเขานี้ อยู่ได้ไม่ถึง ๒ ทุ่มก็ขอกลับบ้านเพราะกลัวมาก ถ้ายังไม่ได้พิสูจน์จิตใจในสภาพต่างๆ ก็อาจจะหลงผิดได้
    ในภาวะปกติจะไม่มีปัญหาอะไร เพราะอยู่ท่ามกลางความอุดมสมบรูณ์ของทุกสิ่งทุกอย่าง ของรูปเสียงกลิ่นรส ของปัจจัย ๔ ก็อาจจะคิดว่าไม่โลภไม่อยากไม่กลัว แต่ถ้าไปอยู่ในภาวะที่อัตคัดแร้นแค้นมีภัยรอบด้าน ใจยังเป็นปกติหรือไม่ นี่คือเรื่องของผู้ที่ศึกษาจากหนังสือจากพระไตรปิฎก แล้วปฏิบัติในเพศฆราวาสผู้ครองเรือน พอได้รักษาศีลบ้าง นั่งสมาธิบ้าง พิจารณาบ้าง ก็คิดว่าไม่มีกิเลสหลงเหลืออยู่ภายในใจแล้ว เพราะยังไม่ได้เจอขั้นวิกฤต เช่นเวลาเจ็บไข้ได้ป่วย หมอบอกว่ารักษาไม่ได้แล้ว ใจยังจะเป็นปกติหรือไม่ ถ้ารอให้ถึงเวลานั้นแล้วค่อยพิสูจน์ดู ก็อาจจะไม่ทันการณ์ ผู้ที่ไม่ประมาทมักจะพิสูจน์ตั้งแต่ตอนที่ยังมีสุขภาพสมบรูณ์แข็งแรง เช่นบวชเป็นพระป่า ก่อนบวชก็ได้ศึกษามาพอสมควรแล้ว ถ้าบวชจริงจะต้องเคยปฏิบัติมาก่อน ถ้าบวชตามประเพณีมักจะไม่เคยปฏิบัติมาก่อน บวชเพื่อสึก ไม่ได้บวชเพื่อบรรลุธรรม พอบวชวันแรกก็เริ่มนับถอยหลังแล้ว เหลืออีกกี่วันจะออกพรรษา รับกฐินแล้วจะได้ลาสิกขาไป บวชอย่างนี้ไม่ได้บวชเพื่อปริยัติปฏิบัติปฏิเวธ บวชตามประเพณี บวชเพื่อทดแทนบุญคุณของพ่อแม่ตามความเชื่อ

    ถ้าบวชจริงก็จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมขั้นต่างๆ ตอนที่เป็นฆราวาสก็ได้ศึกษาและปฏิบัติ แต่ไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร ก็เลยต้องออกบวช จะได้มีเวลาปฏิบัติมากขึ้น จะได้อยู่ในภาวะที่บีบคั้นมากขึ้น ชีวิตของฆราวาสเป็นเหมือนกรงใหญ่ ส่วนชีวิตของพระจะเป็นเหมือนกรงเล็ก จะไม่มีที่วิ่งไปมาเหมือนกับกรงของฆราวาส เป็นฆราวาสยังไปเที่ยวตามสถานที่ต่างๆได้ แต่เป็นพระแล้วจะเที่ยวอย่างฆราวาสไม่ได้ การเที่ยวนี่เป็นเรื่องของกิเลส เป็นเรื่องของกามตัณหากามฉันทะ ที่ต้องออกไปเที่ยวเพราะอยากจะไปสัมผัสกับรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ซึ่งไม่ใช่เป็นการปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติจะต้องตัดกามฉันทะ ตัดกามตัณหา ไม่หาความสุขจากการเสพรูปเสียงกลิ่นรสต่างๆ ต้องทำให้จิตเข้าข้างในเพื่อสัมผัสกับความสงบของสมาธิ นักบวชจึงไม่ไปอยู่ตามสถานที่ที่ฆราวาสญาติโยมอยู่กัน ต้องอยู่ในสถานที่ที่ฆราวาสญาติโยมไม่ชอบอยู่กัน เพราะเป็นสถานที่ที่กิเลสไม่ชอบอยู่ คือตามป่าตามเขา ตามสถานที่ที่มีภัยต่างๆ เป็นสถานที่ที่จะได้ฆ่ากิเลส เช่นความรักตัวกลัวตาย ความอยากในรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ ความอยากมีอยากเป็น อยากเป็นใหญ่เป็นโตมีหน้ามีตา พออยู่ในป่าคนเดียวก็จะมีแต่ใจกับกิเลสต่อสู้กัน ถ้าสามารถนำเอาธรรมะของพระพุทธเจ้าเข้ามาสู่ใจ เพื่อทำลายกิเลสได้ ใจก็จะสะอาดขึ้นไปตามลำดับ ความโลภโกรธหลงความอยากต่างๆ ก็จะเบาบางลงไปแล้วหายไปในที่สุด

    ตอนนั้นจะรู้อยู่แก่ใจว่าได้หลุดพ้นจริงๆได้บรรลุจริงๆ เพราะรู้ว่าไม่มีอะไรทำให้หวั่นไหวให้หวาดกลัว ให้อยากได้อะไรอีกแล้ว ใจมีความอิ่มมีความพอ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนเวลาใด ไม่มีวันเปลี่ยนแปลง ความสุขที่ไม่พร่อง ไม่เหมือนความสุขทางโลกที่จะพร่องไปอย่างรวดเร็ว หลังจากที่ได้เสพไม่นาน ก็จะอยากเสพสัมผัสอีก แสดงว่าความสุขที่ได้จากการเสพสัมผัสที่ผ่านมาได้พร่องไปแล้ว ต้องเติมใหม่ เป็นเหมือนตุ่มน้ำที่มีรอยรั่ว เติมน้ำให้เต็มได้ไม่นาน น้ำก็จะซึมออกมาตามรอยรั่ว ต้องคอยเติมอยู่เรื่อยถึงจะเต็มตุ่ม จิตที่ไม่ได้กำจัดความโลภความอยากต่างๆ ก็จะเป็นอย่างนั้น ต่อให้ได้เสพได้สัมผัสมากน้อยเพียงไรก็ตาม ความอยากได้ก็จะไม่หมดไป จะหยุดชั่วคราวตอนที่ได้เสพ ตอนนั้นจะรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ สบายอกสบายใจ พอเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง ความอยากได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ก็จะกลับมากระตุ้นจิตใจอีก จะอยู่เฉยๆไม่ได้ ต้องไปแสวงหาสิ่งต่างๆที่ความอยากต้องการ จะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ไม่มีวันสิ้นสุด แต่ถ้าได้ศึกษาได้ปฏิบัติจริงๆ จนได้บรรลุธรรมจริงๆแล้ว จะอิ่มจริงๆ เหมือนได้อุดรอยรั่วของตุ่มน้ำ เติมน้ำให้เต็มหนเดียวแล้วจะไม่พร่องอีกแล้ว จะเต็มไปตลอด
    รอยรั่วของใจก็คือกามตัณหา ความอยากในกาม ในรูปเสียงกลิ่นรส ภวตัณหา ความอยากมีอยากเป็น วิภวตัณหา ความอยากไม่มีอยากไม่เป็น ความอยากทั้ง ๓ ประการนี้ จะทำให้ใจรู้สึกว่าบกพร่อง ยังขาดสิ่งนั้นยังขาดสิ่งนี้ ได้มามากน้อยก็ไม่เคยพอ เป็นนายร้อยก็อยากจะเป็นนายพัน เป็นนายพันก็อยากจะเป็นนายพล อยากจะได้ขั้นสูงขึ้นไปเรื่อยๆ อยากเป็นส.ส. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกฯ อยากจะกลับมาเป็นใหม่อีกเมื่อครบวาระแล้ว ไม่มีวันสิ้นสุด เพราะความอยากไม่ได้ทำให้เกิดความอิ่มความพอในจิตใจ ความพอจะเกิดจากการปฏิบัติทานศีลภาวนา ที่พวกเรากำลังบำเพ็ญกันอยู่นี้ เป็นการอุดรอยรั่วรอยร้าวของตุ่มน้ำ คือใจของพวกเราให้หายรั่ว พอหายแล้วก็จะไม่หิวไม่อยากได้อะไร พอแล้ว พอดี ใครจะชมก็พอดี ใครจะด่าก็พอดี ใครจะให้อะไรมาก็พอดี ใครจะเอาอะไรไปก็พอดี ความพอที่มีอยู่ในใจนี้ไม่มีใครให้เราได้ ไม่มีใครเอาจากเราไปได้ มีเราเท่านั้นที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ พอทำให้ใจอิ่มแล้วก็จะอิ่มไปตลอด
    ถ้าอยากจะได้ผลที่พระพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้รับกัน ก็ต้องบำเพ็ญ ต้องศึกษาพระธรรมคำสอนแล้วก็ปฏิบัติตาม คำสอนโดยสรุปก็คือทานศีลภาวนา ที่พวกเรามาทำกันในวันนี้ เราทำทานกัน นำข้าวของต่างๆมาถวาย ศีลก็สมาทานกันรักษากันไป เราก็รู้อยู่แล้วว่าศีลมีอะไรบ้าง ศีล ๕ ศีล ๘ ก็รักษาไปตามความสามารถ ภาวนาก็ต้องทำกัน ต้องเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนา ขั้นต้นก็ให้เจริญสมถะก่อน แล้วค่อยเจริญวิปัสสนา การจะเจริญสมถภาวนาได้ต้องมีสติ ที่จะทำให้จิตเข้าสู่ความสงบได้ เพราะจิตโดยปกติจะลอยไปลอยมาเหมือนกับว่าว ถ้าไม่มีเชือกก็จะลอยไปตามลม จะอยู่นิ่งได้ต้องมีเชือกดึงเอาไว้ จิตจะนิ่งเหมือนว่าวที่ไม่ลอยไปกับลม ก็ต้องมีเชือกคือสตินี่เอง เราจึงต้องมีสติผูกจิตผูกใจไว้ ไม่ให้ลอยไปตามอารมณ์ต่างๆ ที่เหมือนกับลมในท้องฟ้า ที่จะฉุดให้จิตคิดเรื่อยเปื่อย ร่างกายอยู่ตรงนี้แต่ใจไปอยู่รอบโลกก็ได้ เพราะไม่มีสติดึงใจเอาไว้

    ถ้าฝึกสติอยู่เรื่อยๆ คอยดึงใจให้อยู่กับร่างกาย ไม่ให้ลอยไปที่อื่น ต่อไปก็จะไม่ลอยไปไหน เวลาจะให้จิตทำอะไรก็จะอยู่กับงานนั้น เช่นเวลาจะทำจิตให้สงบ ด้วยการบริกรรมพุทโธก็ดี หรือด้วยการดูลมหายใจเข้าออกก็ดี ก็จะทำงานนั้นอย่างเดียว จะอยู่กับพุทโธๆ อยู่กับลมหายใจเข้าออก ผู้ปฏิบัติจะใช้วิธีไหนในการเจริญสมถภาวนาก็ได้ มีหลายวิธีด้วยกัน ในตำราท่านแสดงไว้ถึง ๔๐ วิธีด้วยกัน เรียกว่ากรรมฐาน ๔๐ ถ้าตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก ก็เป็นอานาปานสติ ให้จิตรู้อยู่กับลมหายใจเข้าออกเพียงอย่างเดียว อย่าไปรู้เรื่องอื่น ถ้าจะใช้การบริกรรมพุทโธ ก็เป็นพุทธานุสติ มีสติอยู่กับการบริกรรมพุทโธๆ หรือจะใช้ทั้ง ๒ อย่างผสมกันก็ได้ เช่นหายใจเข้าก็ว่าพุท หายใจออกก็ว่าโธก็ได้ หรือจะเอาลมอย่างเดียวก็ได้ เอาพุทโธอย่างเดียวก็ได้ มีหลายวิธีด้วยกัน ขึ้นอยู่กับจริตของแต่ละท่านว่าจะถนัดกับวิธีใด ก็เลือกเอาวิธีนั้น แล้วก็พยายามใช้วิธีนั้น อย่าเปลี่ยนในขณะที่กำลังทำ ถ้าจะเปลี่ยนก็ค่อยเปลี่ยนในคราวหน้า คราวนี้ถ้าใช้พุทโธอย่างเดียวไม่ได้ผล คราวหน้าก็ลองเอาพุทโธกับลมหายใจดูก็ได้ ในขณะที่กำลังทำอยู่นี้ ให้ทำอยู่กับวิธีที่ได้เลือกเอาไว้ในตอนต้น ทำไปจนกว่าจะหยุดทำ ถ้าเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาในขณะที่ทำ ก็จะถูกกิเลสหลอก วิธีนี้ก็ไม่ดี วิธีนั้นก็ไม่ดี ก็จะวิพากษ์วิจารณ์วิธีต่างๆ ไม่ได้ภาวนา ได้แต่นั่งปรุงแต่งจนฟุ้งซ่าน ทั้งๆที่คิดว่ากำลังทำสมถภาวนา แต่ความจริงกำลังทำความฟุ้งซ่านภาวนา จึงไม่เกิดผล เพราะไม่มีสติดึงจิตให้อยู่กับงานที่ทำนั่นเอง จิตจะสงบได้จิตจะต้องเป็นหนึ่ง มีอารมณ์เดียว ถ้าคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้จะมีหลายอารมณ์ เป็นเหมือนลูกตุ้มนาฬิกาที่แกว่งไปแกว่งมา ถ้าต้องการให้จิตนิ่ง ต้องอยู่กับอารมณ์เดียว เช่นลูกตุ้มนาฬิกาก็ให้อยู่ตรงกลาง อย่าให้แกว่ง จิตก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากจะให้นิ่งสงบก็ต้องอยู่กับอารมณ์เดียว เช่นพุทโธ หรือลมหายใจเข้าออก อย่าไปคิดเรื่องนั้นเรื่องนี้ นี่คือหลักของการทำสมาธิ

    มีอีกวิธีหนึ่งที่เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ เป็นการใช้ความคิดมาหยุดความคิด ถ้าคิดฟุ้งซ่านอยู่กับเรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่สามารถหยุดด้วยการบริกรรมพุทโธหรือดูลมหายใจ เพราะมีความผูกพัน เช่นเป็นห่วงเป็นใยเรื่องสุขภาพร่างกาย ถ้าใช้ปัญญาสอนใจว่า ร่างกายเกิดมาแล้วต้องแก่ ต้องเจ็บไข้ได้ป่วย และต้องตายเป็นธรรมดา ถ้าพิจารณาเห็นว่า การเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา จะหายหรือไม่หายไม่มีใครรู้ ถ้าหายแล้วจะเป็นอีกหรือไม่ ไม่มีใครรู้เหมือนกัน จึงต้องยอมรับความจริงนี้ จะหายก็หาย จะไม่หายก็ไม่หาย ถ้าจะตายก็ต้องปล่อยให้ตายไป เพราะไม่สามารถยับยั้งหยุดมันได้ เหมือนกับเราไม่สามารถหยุดการเคลื่อนไหวของดวงอาทิตย์ได้ ดวงอาทิตย์จะต้องเคลื่อนไหวไปตามเรื่องของเขา ร่างกายก็ต้องเคลื่อนไหวไปตามเรื่องของเขา ต้องเคลื่อนไปตามความแก่ความเจ็บความตาย พอพิจารณาได้อย่างรอบคอบและยอมรับความจริงนี้ได้แล้ว ความฟุ้งซ่านเกี่ยวกับการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกายก็จะหายไป จิตก็จะสงบเป็นปกติ สามารถทำสมาธิต่อไปได้ อย่างนี้เรียกว่าปัญญาอบรมสมาธิ

    ถ้านั่งแล้วเกิดอาการเจ็บปวดขึ้นมาก็อย่าลุก ต้องคิดว่าความเจ็บของร่างกายเป็นเรื่องปกติ ปล่อยให้เจ็บไป พยายามข่มใจด้วยการบริกรรมพุทโธให้ถี่ขึ้น ไม่ให้คิดถึงความเจ็บของร่างกาย ปล่อยให้เจ็บไป ไม่ขยับไม่ลุก ให้จิตอยู่กับการบริกรรม ก็จะทำให้จิตสงบได้ ปล่อยวางความเจ็บปวดได้ ถ้าจะใช้ปัญญาอบรมสมาธิ ก็ต้องพิจารณาว่าเป็นธรรมดา เราสั่งให้หายไปไม่ได้ ต้องเป็นไปจนกว่าจะหายไปเอง เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของร่างกาย ที่จะต้องเกิดขึ้น ร่างกายจะต้องเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แต่ใจไม่ต้องเจ็บด้วย ไม่ต้องไปรังเกียจ ไปอยากให้หาย เพราะจะทำให้เกิดความทุกข์ใจขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งเป็นความเจ็บที่เราทนไม่ได้ เวลาร่างกายเป็นอะไรไปใจจะเป็นไปด้วย จะกลัวจะอยากให้มันหายไป อยากจะหนีจากมันไป จะทำให้รับกับความเจ็บของร่างกายไม่ได้ ถ้ายอมรับความเจ็บของร่างกาย ก็จะดับความทุกข์ทรมานใจได้ จิตก็สงบ ความเจ็บของร่างกายบางทีก็หายไปด้วย ถ้าไม่หายก็จะไม่รบกวนใจ เพราะใจไม่ได้ไปยุ่งกับมันแล้ว นี่ก็เป็นปัญญาอบรมสมาธิ

    ผลที่เราต้องการจากการนั่งสมาธิคือความสงบนิ่ง ไม่ออกไปรับรู้เรื่องราวต่างๆ บางคนเวลาจิตสงบแล้ว จะไม่นิ่งอยู่กับที่ จะออกไปรับรู้เรื่องต่างๆ เป็นเรื่องภายใน ไม่ใช่เรื่องภายนอก ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายในใจ เป็นนิมิตต่างๆ จะเห็นเรื่องนั้นเรื่องนี้ เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ เห็นเทพเห็นผี เห็นอะไรต่างๆ ถ้าไปตามรู้ จิตก็จะไม่นิ่ง จิตจะทำงาน ถึงแม้จะมีความสุขเพลิดเพลินกับสิ่งที่เห็น แต่จะไม่เป็นฐานของปัญญา ไม่ได้สร้างความแข็งแกร่งให้กับใจ เวลาออกจากสมาธิแบบนี้จะเป็นเหมือนกับไม่ได้นั่งสมาธิ เพราะอารมณ์โลภโกรธหลงไม่ได้ถูกกดเอาไว้ ไม่เหมือนกับสมาธิที่ไม่ไปรับรู้นิมิตต่างๆ อารมณ์โลภโกรธหลงจะถูกกดเอาไว้ พอออกจากสมาธิแล้วอารมณ์ที่ถูกกดเอาไว้ จะไม่มีกำลังมากพอที่จะมารบกวนใจได้ ออกจากสมาธิแล้วจิตยังมีความเย็นสบาย เป็นโอกาสที่ดีที่จะเจริญปัญญาต่อไป

    จะเจริญปัญญาได้ จิตต้องเป็นอุเบกขา เป็นกลาง ไม่มีอคติ ไม่รักไม่ชัง ไม่กลัวไม่หลง ถ้ามีอคติแล้วเวลาพิจารณาจะไม่เห็นตามความจริง เช่นพิจารณาร่างกาย ว่าเกิดมาแล้วต้องแก่ต้องเจ็บต้องตาย ถ้ามีอคติจะทำให้เกิดความกลัวขึ้นมา ไม่กล้าคิดถึงความตาย พวกเรายังไม่กล้าคิดถึงความตายกัน กลัวว่าถ้าคิดแล้วจะตาย เราไม่ตายจากความคิดหรอก เป็นการสอนจิต แต่กิเลสคือความกลัวจะขวางไม่ให้คิดถึงความตายกัน ไม่ให้สอนใจว่าร่างกายสักวันหนึ่งจะต้องตาย ต้องสอนใจให้รับความจริงนี้ให้ได้ ถ้าออกจากสมาธิที่สงบนิ่ง ไม่รับรู้เรื่องราวต่างๆ เวลาออกมาแล้วอคติคือความกลัว จะไม่มีกำลังมาขวางการพิจารณาทางปัญญาได้ พิจารณาอะไรก็จะเห็นตามความจริง พิจารณาว่ารูปเสียงกลิ่นรสไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง พิจารณาลาภยศสรรเสริญสุขว่าไม่เที่ยง ก็จะเห็นว่าไม่เที่ยง เห็นว่าชีวิตของเราไม่แน่นอน วันนี้มีทรัพย์สมบัติข้าวของเงินทอง วันพรุ่งนี้อาจจะไม่มีก็ได้ อาจจะมีสงคราม มีภัยพิบัติต่างๆ ทำให้เกิดการสูญเสียต่างๆขึ้นมา เรื่องเหล่านี้เราจะไม่กล้าคิดกันเพราะมีความกลัว เพราะจิตไม่สงบนิ่งเวลานั่งสมาธิ

    ถ้าสงบนิ่งเวลาออกมาจากสมาธิจะกล้าพิจารณา จะพร้อมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ จะไม่ทุกข์กับการเปลี่ยนแปลง ชีวิตจะตกต่ำ จะเจ็บไข้ได้ป่วย จะแก่ จะตาย ก็พร้อมที่จะรับ เพราะมีปัญญามีสมาธิมีสติ เป็นเครื่องมือ ที่จะควบคุมจิตใจให้รับความจริง ก็จะตัดตัณหาต่างๆได้ ความกลัวก็คือวิภวตัณหานี่เอง กลัวความแก่ กลัวความเจ็บ กลัวความตาย กลัวความสูญเสีย กลัวการพลัดพรากจากกัน กามตัณหาก็จะตัดได้ จะไม่หิวกับรูปเสียงกลิ่นรส ภวตัณหาก็จะตัดได้ จะไม่มีความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ เป็นอะไรก็ได้ ถ้าไม่เป็นก็ไม่เป็นไร ยอมรับได้กับทุกสภาพ เป็นก็ได้ ไม่เป็นก็ได้ นี่คือการหลุดพ้นของจิต ต้องหลุดพ้นอย่างนี้ หลุดพ้นด้วยการศึกษาและปฏิบัติ แล้วก็ต้องทดสอบสิ่งที่ได้ศึกษาได้ปฏิบัติ ต้องไปอยู่ตามสถานที่ต่างๆ อยู่ในสภาพที่สูญเสียทุกอย่าง เช่นนักบวชนี้ก็เหมือนผู้ที่สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีอะไรติดตัวมาเลย เวลามาบวชมาแต่ตัวเปล่าๆ มาด้วยศรัทธา แล้วก็ได้สมบัติเพียง ๘ ชิ้นไว้ดูแลรักษาร่างกาย ก็คืออัฐบริขาร เช่นจีวรบาตรเป็นต้น แล้วก็ไปอยู่ในสภาพที่แร้นแค้น สภาพที่ไม่มีอะไร ไม่มีโทรทัศน์ ไม่มีวิทยุไม่มีเครื่องอำนวยความสุขต่างๆ ทางตาหูจมูกลิ้นกาย แล้วดูว่าจะอยู่ได้หรือไม่ มีความสุขได้หรือไม่ ถ้าอยู่ได้มีความสุขก็ถือว่าใช้ได้ ถ้ายังต้องมีสิ่งนั้นสิ่งนี้มาบำรุงบำเรอ ก็แสดงว่ายังมีความอยากอยู่ ถ้ารู้อย่างนี้แล้วก็จะสามารถสอนให้ผู้อื่นรู้ตามได้ ถ้าไม่รู้แบบนี้ก็จะสอนแบบผิดๆถูกๆ คิดว่าบรรลุแล้ว คิดว่าไม่มีกิเลสแล้ว แต่เป็นเพียงความคิดเท่านั้นเอง ไม่ได้เป็นความจริง จึงควรเห็นความสำคัญของการศึกษา การปฏิบัติ และการบรรลุธรรม เพราะจะทำให้เราได้หลุดพ้นจากความทุกข์ และจะได้ช่วยสืบทอดพระพุทธศาสนา ให้มีอายุยืนยาวนานขึ้นไปอีก

    ถาม : เวลาดูจิตเป็นสมุทัย หรือจิตเป็นมรรคนี่ ดูอย่างไร

    ตอบ : ถ้าไม่กลัวก็เป็นมรรคเป็นวิมุตติ ถ้ายังไม่แน่ใจ ก็ยังไม่เป็นวิมุตติ ยังมีสมุทัยอยู่ เพราะยังไม่ได้เข้าไปในห้องสอบจริงๆ ยังไม่ได้เจอกับเหตุการณ์ใกล้เป็นใกล้ตาย ต้องไปอยู่ในป่า ตอนกลางคืนก็ออกไปเดินในป่าตามลำพัง ดูว่ากลัวหรือไม่ ถ้ายังไม่กลัวเพราะยังฉายไฟอยู่ ก็ลองปิดไฟดู ถ้ายังไม่กลัวก็ลองเดินออกจากทางดู เดินเข้าไปในรกในพงดู ดูว่ายังกลัวอยู่หรือเปล่า หรือเดินไปหาสิ่งที่กลัว ถ้ากลัวซากศพ ก็ลองเดินเข้าไปในป่าช้าดู ว่ายังมีความกลัวอยู่หรือเปล่า ต้องไปทดสอบดู

    ถาม : แสดงว่าจิตจะเป็นมรรคได้ ก็ต้องเป็นวิมุตติแล้วใช่ไหมเจ้าคะ

    ตอบ : ไม่ใช่ มรรคมาก่อนวิมุตติ มรรคคือการเข้าห้องสอบ ถ้าผ่านก็จะเป็นวิมุตติคือไม่กลัว

    ถาม : จะแน่ใจว่าเป็นมรรคได้ ก็ต่อเมื่อได้ทดสอบจนแน่ใจแล้ว

    ตอบ : มรรคเป็นเครื่องมือ คือสติสมาธิและปัญญา ถ้ามีสติมีสมาธิมีปัญญา ก็จะสามารถควบคุมจิตให้นิ่งได้ ถ้าอยู่แบบฆราวาสก็จะมีสติมีสมาธิมีปัญญาในระดับหนึ่ง ถ้าไปอยู่ในเหตุการณ์คับขัน สติสมาธิปัญญาที่มีอยู่นี้ จะหยุดสมุทัยคือความกลัวได้หรือไม่ ต้องไปทดสอบดู เหมือนนักมวยที่ซ้อมชกกระสอบทราย หรือซ้อมกับคู่ซ้อม แต่ยังไม่ได้ขึ้นเวทีจริง ไม่ได้เจอคู่ต่อสู้ที่แท้จริง จะชนะหรือไม่ก็ต้องขึ้นเวทีถึงจะรู้ ถ้าชนะก็แสดงว่ามรรคมีกำลังพอ ที่จะเอาชนะสมุทัยได้ ก็จะเป็นแชมป์ได้ เป็นวิมุตติได้

    ถ้ากลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ต้องนั่งให้เจ็บแล้วอย่าลุก ให้จิตปล่อยวางความเจ็บ แล้วสงบตัวลงด้วยมรรค ด้วยสติด้วยสมาธิด้วยปัญญา ถ้าทำได้ก็จะไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นโรคชนิดใดก็ตาม ก็เป็นความเจ็บปวดเหมือนกัน ถ้าปล่อยวางความเจ็บปวดที่เกิดจากการนั่งนานๆได้ ก็จะไม่กลัวความเจ็บปวดอีกต่อไป บางทีไม่ต้องกินยาแก้ปวดเลย ปวดก็ปล่อยให้ปวดไป นี้ไม่ได้คุยนะ เราไม่เคยมียาแก้ปวดอยู่ในกุฏิแม้แต่เม็ดเดียว แต่มีธรรมโอสถมียาแก้ปวดอยู่ในใจแล้ว นี่คือมรรคที่เราต้องสร้างขึ้นมา ถ้ามีธรรมโอสถแล้วจะไม่กลัวความเจ็บไข้ได้ป่วย ไม่กลัวความตาย

    ถาม : แล้วยาแก้โกรธละคะ

    ตอบ : ยาแก้โกรธก็แบบเดียวกัน คือสติสมาธิปัญญา

    ถาม : ถ้าจะฝึกไม่ให้โกรธละคะ

    ตอบ : ก็ให้เขาด่าเรา ให้เขาตบหน้าเรา

    ถาม : ข้างในก็ยังกรุ่นอยู่ค่ะ

    ตอบ : กรุ่นไม่ได้ ถ้ากรุ่นก็แสดงว่ายังโกรธอยู่ มรรคยังไม่มีกำลังพอ ถ้ามองเห็นว่า การด่าก็ดี การถูกทำร้ายก็ดี เป็นสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา ที่จะไปควบคุมบังคับได้ เกิดมาในโลกนี้ก็ต้องเจ็บตัวไม่ช้าก็เร็ว จะเจ็บแบบไหนเท่านั้นเอง เจ็บด้วยการเจ็บไข้ได้ป่วย เจ็บเพราะถูกหักหลัง เจ็บเพราะถูกด่า เจ็บเพราะถูกทำร้าย ต้องเกิดขึ้นได้เสมอ ให้คิดว่าไม่เลวร้ายกว่านี้ก็ดีแล้ว ถ้าเขาด่าเราก็ให้คิดว่าเขายังไม่ได้ตีเรา เขาตีเราก็ให้คิดว่าเขาก็ยังไม่ได้ฆ่าเรา ถ้าเขาฆ่าเราก็ให้คิดว่า เกิดมาแล้วก็ต้องตายด้วยกันทุกคน ถ้าคิดอย่างนี้ได้ ก็จะนิ่งได้ จะไม่โกรธ ต้องไปฝึกดู

    ต้องรู้ว่าความโกรธเกิดจากความอยาก เช่นอยากให้เขาดีกับเรา พอเขาไม่ดีก็โกรธ ทำไมไม่โกรธคนอื่นที่ไม่ดีกับเรา เพราะไม่ได้อยากให้เขาดีกับเรา เราก็ไม่โกรธ แต่คนที่เราอยากให้ดีกับเรา พอเขาไม่ดีกับเราๆโกรธเขา เพราะความโกรธนี้เกิดจากความอยาก ถ้าตัดความอยากทั้ง ๓ นี้ได้แล้ว ความโกรธก็จะไม่มี ส่วนความอยากนี้ก็เกิดจากความหลง ไม่รู้ว่าไม่มีอะไรในโลกนี้ที่น่าอยาก เพราะไม่มีอะไรให้ความสุขอย่างเดียว ต้องมีความทุกข์ตามมาด้วยทั้งนั้น ถ้ารู้อย่างนี้ก็จะไม่อยากได้อะไร ไม่อยากให้ใครชอบเราหรือดีกับเรา ดีก็ได้ ไม่ดีก็ได้ ด่าก็ได้ ชมก็ได้ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็จะไม่โกรธ ต้องทำใจให้เป็นกลาง เป็นอุเบกขา สักแต่ว่ารู้ ด่าก็รู้ว่าด่า ชมก็รู้ว่าชม ปล่อยให้ด่าไป ปล่อยให้ชมไป ใครจะทำอะไรก็ทำไป เราอย่าไปอยากกับเขาก็แล้วกัน จะได้ไม่มีปัญหา ปัญหาของพวกเราอยู่ที่ตัณหาทั้ง ๓ นี้แหละ ที่ต้องตัดให้ได้

    ถาม : เวลาเขาชมเราใจเราฟูขึ้น พอเขาไม่ชมใจเราก็แฟบลง ถ้ารู้ว่ากำลังฟูกำลังแฟบอยู่ อย่างนี้ยังไม่พอใช่ไหมคะ

    ตอบ : ต้องไม่ฟูไม่แฟบเลย ต้องทำสมาธิให้มาก เวลาจิตเป็นสมาธิจะเฉย

    ถาม : ไม่รู้ว่าเฉยจริงหรือเปล่า

    ตอบ : ถ้าเป็นสมาธิใจจะเฉย ใจจะสงบ ใจจะนิ่ง ไม่มีอารมณ์ เวลาออกจากสมาธิใหม่ๆ ก็จะยังมีความรู้สึกอย่างนั้นอยู่ แต่จะค่อยๆจางไป เวลาสัมผัสรับรู้เรื่องต่างๆ ตอนที่ออกมาใหม่ๆจะเฉย ใครจะพูดอะไรทำอะไรก็จะเฉย พอผ่านไปสักระยะหนึ่ง จะเริ่มไม่เฉยแล้ว เพราะกิเลสเริ่มฟื้นขึ้นมา กำลังของสมาธิที่กดกิเลสไว้ค่อยๆจางไป ก็จะเริ่มมีปฏิกิริยา นักปฏิบัติพอรู้ว่าเป็นอย่างนั้น ก็จะกลับเข้าไปในสมาธิใหม่ แต่ญาติโยมทำไม่ได้ เพราะปฏิบัติสมาธิน้อย ชอบออกข้างนอก แต่พระจะเข้าข้างในมาก ออกมาน้อย เวลาไม่ต้องออกมาทำกิจ ท่านจะเดินจงกรมนั่งสมาธิ เพื่อที่จะกดกิเลสไว้ ถ้าอยู่ในขั้นสมาธิ ก็กดมันไว้ก่อน ถ้าอยู่ในขั้นปัญญาก็ไม่ต้องเข้าสมาธิ ถ้าปัญญาทันก็จะตัดมันได้ ตัดความอยากได้ รู้ว่าความอยากเป็นเหตุของความทุกข์ใจ ก็เลยไม่อยาก พอตัดความอยากได้ ก็จะไม่มีความทุกข์ตามมา ไม่มีความโกรธตามมา ไม่มีอารมณ์ต่างๆตามมา

    ถาม : เริ่มด้วยการใช้สมาธิกดไว้ก่อน หลังจากนั้นค่อยใช้ปัญญา

    ตอบ : ใช่ เพราะสมาธิทำง่ายกว่า แล้วก็เป็นฐานของปัญญาด้วย ถ้าไม่มีสมาธิจิตจะมีอารมณ์ตลอดเวลา เราจะไม่รู้ว่าการไม่มีอารมณ์เป็นอย่างไร ต้องไปอยู่จุดที่สูญจากอารมณ์ก่อน พออยู่จุดนั้นแล้ว เวลามีอารมณ์เกิดขึ้นจะรู้เลย เพราะมีความแตกต่างกัน ขณะที่ไม่มีอารมณ์กับมีอารมณ์ จะรู้ว่านี่เกิดอารมณ์แล้ว ก็จะพิจารณาได้ทันทีว่าอารมณ์นี้เกิดจากความอยาก ต้องอยากใน ๓ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง การที่มีพระพุทธเจ้ามาสอนเรื่องนี้ก่อนทำให้บรรลุง่าย ไม่ต้องไปคลำหาต้นตอหาสาเหตุ ว่าอารมณ์เหล่านี้เกิดจากอะไร พระพุทธเจ้าทรงบอกเลยว่าเกิดจากตัณหาทั้ง ๓ นี้ เวลาหงุดหงิดใจ ต้องถามตัวเองว่าหงุดหงิดเพราะอะไร เพราะไม่ได้ดื่มกาแฟหรือ ไม่ได้ดูหนังหรือ ไม่มีใครชมหรือ ไม่ได้ขึ้นเงินเดือนหรือ ต้องมีอะไรสักอย่าง ลองคิดดู เวลามืดฟ้ามัวดินก็หงุดหงิดได้ ถ้าอยากจะให้สว่างไสว ต้องถามตัวเองดู พอรู้ว่าเป็นอะไรก็จะตัดมันได้ ไม่ชอบดินฟ้าอากาศแบบนี้หรือ จะทำอย่างไรได้ เราไปเปลี่ยนดินฟ้าอากาศได้อย่างไร พอตัดความอยากได้ อารมณ์หงุดหงิดก็จะหายไป ถ้ายังไม่สามารถวิเคราะห์ด้วยปัญญา ก็นั่งสมาธิก่อน เวลาหงุดหงิดก็นั่งสมาธิ บริกรรมพุทโธๆ หรือดูลมหายใจเข้าออก พอสงบปั๊บ ความหงุดหงิดก็จะหายไป แต่จะไม่หายแบบถาวร พอออกมาใหม่เจอเหตุการณ์ที่ไม่ถูกใจก็จะเป็นอีก ถ้าใช้ปัญญาตัดได้แล้ว จะเจออีกกี่ ๑๐๐ ครั้ง ก็จะไม่เป็นปัญหา จะไม่หงุดหงิด เพราะรับกับเหตุการณ์นั้นได้แล้ว อย่างนี้ถึงเป็นวิมุตติ วิมุตติด้วยปัญญา ไม่ได้วิมุตติด้วยสมาธิ สมาธิทำให้วิมุตติได้ชั่วคราว

    ถาม : เวลาทำงานทำการนี่ รู้ว่าเริ่มหงุดหงิด แต่หาต้นเหตุไม่เจอ จะไปหาเจอตอนที่นั่งสวดมนต์นั่งภาวนา

    ตอบ : พอไปทำสมาธิ ก็จะเห็นความแตกต่าง ระหว่างจิตที่สงบกับจิตหงุดหงิด จะรู้ว่าหงุดหงิดเพราะเรื่องนั้นเรื่องนี้

    ถาม : ใช่ค่ะ ก็เลยคิดว่าควรจะใช้เวลานี้ทำสมาธิต่อ มาวุ่นวายกับการหงุดหงิดเมื่อกลางวันทำไม เราควรจะหาสาเหตุ หรือควรจะนั่งสมาธิต่อไป อย่าไปยุ่งกับการหาเหตุผลว่าหงุดหงิดเพราะอะไร

    ตอบ : ถ้าไม่หาเหตุผล เดี๋ยวก็หงุดหงิดใจได้อีก ถ้าหาเหตุผลได้แล้วต่อไปเวลาเจอเหตุการณ์ที่เหมือนกันก็จะไม่หงุดหงิด

    ถาม : หาเหตุผลให้จบให้เรียบร้อยก่อน แล้วค่อยสวดมนต์ภาวนา

    ตอบ : อยู่ที่ความสามารถของสติปัญญา ถ้าไม่แหลมคมพอก็จะหาไม่เจอ
    ถาม : ต้องสวดมนต์ไปก่อน

    ตอบ : แล้วแต่กรณี แต่ละคนไม่เหมือนกัน บางเรื่องก็แก้ได้เลย บางเรื่องก็แก้ไม่ได้ หรือแก้ได้ช้า ต้องใช้เวลาวิเคราะห์

    ถาม : วางไว้ก่อน อย่าพึ่งไปยุ่งกับมัน

    ตอบ : เข้าสมาธิไปก่อน พักจิตก่อน ทำใจให้สบาย พอใจสบายแล้วกลับมาดูอีกทีก็อาจจะเห็นก็ได้

    ถาม : ฝรั่งสอนให้คิดในแง่บวก จะทำให้ปัญหาที่มีอยู่ในใจเบาบางลง

    ตอบ : ความคิดอะไรที่สามารถดับความทุกข์ใจได้ ก็ถือว่าใช้ได้

    ถาม : ถึงแม้ยังไม่ลงทางไตรลักษณ์

    ตอบ : ต้องลงไปในไตรลักษณ์ถึงจะดับได้ ถ้าไม่ลงในไตรลักษณ์ก็จะดับแบบปลอมๆ คือวางปัญหานี้ไว้ก่อน ทำเรื่องนี้ไม่ได้ ก็ไปทำเรื่องอื่นก่อน อย่างนี้ก็ยังไม่ได้ดับปัญหาเดิม ถ้าจะใช้ปัญญาทางศาสนาก็ต้องเข้าไปที่ไตรลักษณ์ ให้เห็นว่าเราไปหลงไปยึดไปติดไปอยากกับเขาเองต่างหาก อยากให้เป็นอย่างนั้นเป็นอย่างนี้ พอไม่ได้ก็เกิดความทุกข์เกิดความวุ่นวายใจขึ้นมา ก็เลยคิดว่าไม่ได้ก็ไปทำอย่างอื่น ถ้าคิดอย่างนี้ก็ไม่ได้แก้ปัญหา เพราะยังไม่ได้ตัดความอยาก ถ้ามีปัญหากับคนนี้ เจอหน้าทีไรไม่สบายใจทุกที จะแก้อย่างไร ก็ต้องพิจารณาจนเห็นว่าเขาเป็นอย่างนั้น เราไปแก้เขาไม่ได้ เขาจะด่าเราจะทำร้ายเรา ก็ถือว่าเป็นกรรมของเราก็แล้วกัน เคยมีกรรมกันมา อย่าไปยุ่งกับเขาก็แล้วกันถ้าไม่จำเป็น ถ้าจำเป็นต้องยุ่งกับเขา ถ้าเขาด่าเราก็ต้องคิดว่าเขาไม่ตีเราก็ดีแล้ว ต้องทำใจ

    ทำใจด้วยการมองให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นอนัตตา เราไปห้ามเขาไม่ได้ ไปควบคุมบังคับให้เขาเป็นอย่างที่เราต้องการไม่ได้ ความต้องการของเราก็คือสมุทัย ถ้าไม่อยาก เขาจะเป็นอย่างไรก็รับได้ทุกอย่าง ก็จะไม่มีความทุกข์ใจ เขาจะเป็นอย่างนี้ก็ปล่อยให้เขาเป็นอย่างนี้ไป ไม่ต้องไปเปลี่ยนเขา เปลี่ยนเราดีกว่า เปลี่ยนใจเราให้รับเขาให้ได้ เขาจะดีก็รับได้ เขาจะร้ายก็รับได้ ต้องยอมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ หรือสิ่งต่างๆที่เราสัมผัสรับรู้ ว่าเป็นอย่างนั้น ถ้าไม่มีความอยากให้เป็นอย่างอื่น ก็จะไม่ทุกข์ ความทุกข์เกิดจาก ความอยากจะให้เป็นอย่างอื่น เช่นผมของเรานี้เป็นสีขาวไปหมดเลย ถ้าอยากจะให้ดำก็จะทุกข์ แต่ถ้าช่างมันได้ ขาวก็ขาว ก็จะไม่ทุกข์ ไม่ต้องไปย้อมตลอดชีวิต ถ้ายังย้อมอยู่ก็ต้องย้อมไปเรื่อยๆ อายุ ๗๐ หรือ ๘๐ ก็ยังย้อมอยู่ เพราะไม่ยอมรับผมสีขาวของเรา เวลาเห็นแล้วจะเกิดความทุกข์ใจขึ้นมา

    ถาม : ที่เขาว่าขณะที่เขาสวดมนต์ไป แล้วปัญหาที่เกิดเมื่อเช้านี้ก็คลี่คลายไป เป็นไปได้ไหมว่าคลี่คลายเพื่อให้ได้แก้ปัญหาตรงนั้น

    ตอบ : เวลาจิตสงบเราจะมองปัญหาไปอีกแง่หนึ่ง ในขณะที่จิตไม่สงบ จะมีความอยากเอาแพ้เอาชนะ อยากจะแก้ปัญหาแบบนี้ ต้องเป็นอย่างนี้ เขาต้องเป็นอย่างนี้ เขาต้องทำอย่างนี้ พอมาทำใจให้สงบ ความอยากที่จะให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ก็หายไป พอมองกลับไปใหม่ก็เห็นว่า เขาจะเป็นอย่างนั้นก็ได้ เราก็ตัดความอยากที่จะให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไป ปัญหาก็จะหมดไป เช่นเราอยากจะให้เขาไปข้างนอกกับเราแต่เขาไม่ยอมไป เราก็ไปนั่งสวดมนต์นั่งทำสมาธิ พอนั่งเสร็จแล้วใจเราสบาย ก็จะคิดว่าไปคนเดียวก็ได้ ไม่เป็นปัญหาเลย เราจะมองอีกมุมหนึ่ง เวลาจิตสงบแล้วไม่ต้องมีอะไรก็ได้ ไปคนเดียวก็ได้ หรือไม่ไปเลยก็ได้ นั่งสมาธิแล้วจะสบายใจ จะเป็นฐานของวิปัสสนา พอจิตสงบแล้วจะเป็นอุเบกขา จะเห็นว่าปัญหาเกิดจากความอยาก แต่ในขณะที่เกิดความอยากจะมองไม่เห็น จะเห็นแต่ความอยากอย่างเดียว จะให้ได้ดังใจอย่างเดียว ใจจะร้อน จะต้องทำอะไรก็จะทำ

    ถาม : ในขณะที่ทำสมาธิอยู่นี้ ปัญหายังแวบเข้ามา แต่เราไม่เก็บมาคิด เราปล่อยไป เพื่ออยู่กับปัจจุบัน จะได้ไหมคะ ผลจะต่างกันไหมคะ

    ตอบ : ถ้าปัญหายังเข้ามาได้ แสดงว่ายังไม่สงบ ถ้าสงบแล้วจะไม่มีอะไรเข้ามาได้ ถ้าเข้ามาก็ต้องรู้แล้วปล่อยวาง ไม่มีปฏิกิริยา ไม่มีอารมณ์กับสิ่งที่รับรู้ ถึงจะเป็นสมาธิ เช่นเวลานั่งแล้วเกิดความเจ็บปวดขึ้นมา เราก็นั่งต่อไปจนกระทั่งจิตนิ่ง ความเจ็บปวดถึงแม้ยังมีอยู่ แต่ไม่รบกวนจิตใจ อย่างนี้ก็เป็นสมาธิเหมือนกัน

    ถาม : เวลาที่นั่งแล้วเจ็บปวด ก็พยายามพิจารณา ให้เห็นว่าเป็นอนิจจังทุกขังอนัตตา แต่ใจยังไม่ยอมรับ ใจยังดิ้น ดิ้นที่จะออก

    ตอบ : เพราะสมุทัยกำลังทำงานอยู่ ยังอยากจะหนีจากความเจ็บไป อยากให้ความเจ็บหายไป

    ถาม : พอไม่หายไป ก็เลยกลับมาดูที่ร่างกาย ทำใจเบาๆสบายๆ หลังจากนั้นรู้สึกว่าขาที่ชาอยู่ค่อยๆหายไป

    ตอบ : พอเราปล่อยวางความอยาก ที่จะให้ความเจ็บหายไป ปล่อยวางความอยากจะลุก อยากจะเปลี่ยนอิริยาบถ ความทุกข์ทรมานใจก็จะหายไปหมดเลย ความเจ็บของร่างกายจะไม่รุนแรง ที่รุนแรงที่ทนไม่ได้นี้ คือความทุกข์ทรมานใจ ที่เกิดจากความอยากให้ความเจ็บหายไป พอระงับความอยากได้แล้ว ร่างกายจะเจ็บขนาดไหนก็ไม่เป็นปัญหา

    ถาม : เพราะเราพิจารณาแล้วปล่อยวาง หรือมารู้อยู่กับร่างกาย อยากรู้ตรงนี้

    ตอบ : ถ้าเบนจิตมาดูที่ร่างกายแทน ก็จะเป็นอุบายของสมาธิ เช่นมาดูลมหายใจเข้าออก ไม่ไปรับรู้ความเจ็บ ความคิดรังเกียจความเจ็บ ก็จะไม่มีโอกาสทำงาน เหมือนเวลานั่งดูหนังหรือนั่งเล่นไพ่ทั้งคืน จะไม่รู้สึกเจ็บ เพราะใจไม่ได้อยู่กับความเจ็บของร่างกาย แต่อยู่กับการดูหนัง ถ้าเป็นวิปัสสนาต้องพิจารณาความเจ็บ ว่าเจ็บเพราะอะไร เพราะไม่อยากให้เจ็บใช่ไหม ถ้าพิจารณาดูก็จะรู้ว่า เพราะใจรับความเจ็บไม่ได้ ถ้ารับได้ก็จะไม่เจ็บ เวลาที่เรานั่งแล้วเจ็บเราก็ถามตัวเองว่า ทำไมจึงรับไม่ได้ ก็เลยเปรียบกับเสียงที่เข้ามาทางหูแล้วไปรับรู้ที่ใจ กับความเจ็บที่เข้ามาทางร่างกายแล้วก็ไปรับรู้ที่ใจเหมือนกัน ถ้าเป็นเสียงที่เราชอบถึงแม้จะดังลั่นเราจะไม่เดือดร้อนเลย ถ้าเป็นเสียงที่เราไม่ชอบนี้ ถึงแม้จะไม่ดังเลยเราจะเดือดร้อนทันที ก็เลยเห็นว่าที่เราเดือดร้อนเพราะเราไม่ชอบ ความเจ็บของร่างกายก็เหมือนกัน ถ้าเราไม่ชอบเราก็จะเดือดร้อนเหมือนเอามีดมากรีดหัวใจ ถ้าเราชอบก็จะไม่เดือดร้อนแต่อย่างใด พอใจยอมรับความเจ็บของร่างกายได้ ใจก็จะเฉย ไม่ต่อต้าน ไม่มีความอยาก ไม่มีสมุทัย ทุกข์ในใจก็จะไม่มี ที่ทนนั่งอยู่ไม่ได้เพราะมีความทุกข์อยู่ในใจ ถ้ามีความสุขอยู่ในใจก็จะนั่งได้ เช่นนั่งดูหนัง บางทีปวดปัสสาวะก็ยังไม่ยอมลุกไปถ่ายเลย เพราะอยากจะดูต่อ ต้องรอให้ถึงเวลาโฆษณาก่อน ความทุกข์นี้อยู่ในใจเรา ไม่ได้อยู่ที่ไหน ทุกสิ่งทุกอย่างเขาเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เราไปรักไปชังเขาเอง

    ถาม : ความเจ็บยังอยู่ แต่เราไม่รับความรู้สึกนั้นใช่ไหมคะ

    ตอบ : รับรู้อยู่ แต่ไม่มีปฏิกิริยา ไม่รักไม่ชัง เช่นเพลงนี่ ทำไมคนหนึ่งชอบ อีกคนหนึ่งเกลียด อาหารชนิดเดียวกันจานเดียวกัน คนหนึ่งกินได้อย่างเอร็ดอร่อย อีกคนกินไม่ได้ เพราะความชอบความชังนี้เอง เราจึงต้องฝึกไม่ให้ชอบในสิ่งที่เราชอบ จะได้ไม่ติด ให้ชอบในสิ่งที่เราชัง จะได้ไม่รังเกียจ จะได้ไม่มีปฏิกิริยา

    ถาม : ถ้าเราชังนี่ อย่างทำงานเกี่ยวกับหนังสือ บางบทความบางคนเราไม่ชอบเราก็จะไม่อ่าน ทีนี้วิธีแก้จะใช้วิธีอย่างท่านอาจารย์ว่าได้ไหม คืออ่านจนกว่าใจจะเป็นอุเบกขา

    ตอบ : ถ้าเป็นการงานก็ต้องยึดหลักเหตุผล ถึงแม้จะไม่ชอบแต่เป็นหน้าที่ต้องอ่านก็ต้องอ่าน ถ้าไม่ใช่หน้าที่การงานก็เลือกได้ ควรเลือกอ่านในสิ่งที่เราไม่ชอบ และไม่อ่านในสิ่งที่เราชอบ เช่นอ่านหนังสือธรรมะ ไม่อ่านหนังสือบันเทิง

    ถาม : อ่านในสิ่งที่เราไม่ชอบ จนกว่าเราจะไม่คิดอะไรกับมันเลย

    ตอบ : ใช่ ถ้าไม่ชอบพิจารณาความตาย ก็ต้องพิจารณาจนไม่รู้สึกอะไรกับความตาย สิ่งที่เราชอบคือเที่ยวอย่างนี้ ก็อย่าไปคิดถึงเรื่องเที่ยว จะได้ไม่เที่ยว พวกเราติดอยู่กับสิ่งที่เราชอบกัน ถึงไปอยู่วัดไม่ได้ เพราะชอบดูหนังฟังเพลง ชอบรับประทานอาหาร ๔ หรือ ๕ มื้อ พอไปอยู่วัดก็ต้องทำในสิ่งที่เราไม่ชอบ ก็ทำไม่ได้ ถ้าทำได้แล้วจะสบาย จะไม่ติดไม่ชอบสิ่งที่เราเคยชอบ เพราะให้ผลไม่ดีเท่ากับสิ่งที่เราไม่ชอบ การไปอยู่วัดไปนั่งสมาธิไปปฏิบัติธรรมนี้ พอติดใจแล้วจะไม่อยากทำ เมื่อก่อนเคยชอบดูหนังฟังเพลงกินเหล้าเมายา พอรู้ว่ามีผลเสียตามมา เวลาไม่ได้ทำจะเศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่ พอมาปฏิบัติธรรม ตอนต้นก็เศร้าสร้อยหงอยเหงาว้าเหว่เพราะต้องอยู่คนเดียว พอจิตสงบก็จะไม่เหงาแล้ว ไม่เศร้าสร้อยแล้ว เกิดปีติเกิดความสุขขึ้นมา จะอยากปฏิบัติให้มากขึ้น

    พยายามทำในสิ่งที่ไม่ชอบเถิด สิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนนี้ เป็นสิ่งที่พวกเราไม่ชอบทำกัน พยายามทำให้มาก พอติดแล้วจะสบายจะมีความสุข เพราะสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้เราชอบนี้ ไม่เป็นพิษภัยกับจิตใจ มีแต่คุณอย่างเดียว เป็นที่พึ่งของจิตใจได้ แต่สิ่งที่เราชอบนี้ไม่ได้เป็นที่พึ่ง แต่เป็นยาพิษกับจิตใจ จะสร้างความทุกข์ให้กับเรา เวลาสูญเสียสิ่งที่เราชอบไป สูญเสียบุคคลนั้นบุคคลนี้ สูญเสียงานการตำแหน่งต่างๆ แล้วในที่สุดก็ต้องสูญเสียชีวิตร่างกายไป นี่คือสิ่งที่เราชอบ เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ไม่ให้ชอบ ร่างกายก็อย่าไปชอบ อย่าไปรัก อย่าไปอยากให้อยู่นานๆ ปล่อยให้อยู่ไปตามอัตภาพ เมื่อถึงเวลาที่จะไปก็ปล่อยไป อย่าไปชอบไปยึดไปติด แล้วเวลาไปจะไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้ารักถ้าหวง เวลาจากไปจะทุกข์ทรมานใจมาก เพียงแต่คิดก็ยังไม่กล้าคิดเลย นี่คือปัญหาของพวกเรา ที่จะต้องเอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาแก้ การให้ทานนี่ ก็เป็นการสละของที่เราชอบไป มีใครบ้างที่ไม่ชอบเงินบ้าง แต่วันนี้เรามาสละกัน ทำในสิ่งที่เราไม่ชอบทำกัน คือเอาเงินมาให้คนอื่น ถ้าทำด้วยความยินดีก็จะมีความสุข ถ้าไม่ยินดีก็จะเสียดาย

    ถาม : เราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม มั่นคงในพระรัตนตรัยนี้ ควรปฏิบัติตัวต่อเทวดาอย่างไร ที่บ้านมีศาลพระภูมิ เราไหว้ท่านได้หรือเปล่าคะ

    ตอบ : ถ้าไหว้แบบไหว้ผู้หลักผู้ใหญ่ก็ไหว้ได้ แต่ไม่ไหว้แบบเป็นสรณะเป็นที่พึ่งเป็นครูเป็นอาจารย์ ถ้าเป็นเทพที่รู้ธรรมะ จะนับถือเป็นอาจารย์ก็ได้ ถ้าเป็นอริยเทพเป็นพระโสดาบัน อย่างพระพุทธมารดา เราก็นับถือเป็นพระอริยสงฆ์ได้ จะเป็นเทพเป็นพรหมหรือเป็นมนุษย์ ก็มีจิตใจที่มีความโลภโกรธหลงหรือมีธรรมะ ถ้ามีธรรมะก็บูชาได้ ถ้ามีอริยธรรมเป็นพระอริยสงฆ์ จะเป็นเทพเป็นพรหมเป็นมนุษย์ก็เหมือนกัน ถ้าไม่รู้ว่าเขาเป็นอะไร ก็ให้ถือว่าเป็นเพื่อนร่วมโลกร่วมเกิดแก่เจ็บตาย ที่มีบุญมากกว่าเราจึงได้เป็นเทพ เราไม่มีบุญเท่าเขาจึงเป็นมนุษย์ ก็นับถือเขาในฐานะที่มีบุญมากกว่าเรา เช่นเรานับถือคนที่มีศีลมากกว่าเรา เช่นพระภิกษุที่เรานับถือเพราะมีศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ไม่ได้นับถือท่านเพราะเป็นอริยสงฆ์ ถ้าจะไหว้พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์ ก็ต้องไหว้ที่คุณธรรม

    ถาม : แล้วอย่างคนที่จัดผลไม้ไหว้พระภูมิอย่างนี้ถูกหรือเปล่าคะ

    ตอบ : ไม่เห็นผิดอะไร เขาเคารพนับถือแล้วอยากจะเซ่นจะไหว้ แต่ถามว่าได้บุญไหม คำตอบคือไม่ได้ เพราะไม่ได้ให้ใคร เหมือนเอาของไปตั้งไว้ในป่าช้าที่ฝังศพพ่อแม่ พอไหว้เสร็จก็เอามากินกัน

    ถาม : แล้วคนที่ตั้งกระทงแล้วปักธูปให้สัมภเวสี

    ตอบ : เหมือนกัน ไหว้ไปตามความเชื่องมงาย

    ถาม : แล้วเขามากินหรือเปล่าคะ

    ตอบ : กินได้ที่ไหน เขาเป็นนามธรรม กินรูปธรรมไม่ได้ เขารับรู้แล้วก็มีความอิ่มเอิบใจ มีความสุขใจ ที่มีคนรักเขา เคารพบูชาเขา เหมือนกับไปรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ เราไม่ได้ให้อะไรท่าน เราเพียงเอาน้ำไปรด แต่ก็ทำให้ท่านมีความสุขใจ ที่เราเป็นห่วงเป็นใย มีความเคารพนับถือท่าน

    ถาม : แล้วอย่างคาถาต่างๆ ของหลวงพ่อหลายๆองค์ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมควรจะนำมาท่องหรือเปล่าคะ

    ตอบ : คาถาต่างๆในพระไตรปิฎก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเข้าใจความหมายก็จะเป็นปัญญา ถ้าไม่เข้าใจความหมายท่องไปก็จะได้สมาธิ ไม่ว่าจะเป็นคาถาบทใดก็ตาม จะเป็นธรรมจักรก็ได้ เป็นมหาสติปัฏฐานสูตรก็ได้ ทั้งหมดนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ถ้าเราท่องแล้วเกิดความเข้าใจ ก็จะเสริมปัญญาบารมีให้แก่กล้าขึ้น ถ้าไม่เข้าใจความหมายแล้วท่องไปเรื่อยๆ ก็จะเป็นเครื่องผูกใจไว้ไม่ให้ไปคิดฟุ้งซ่าน ก็จะเป็นสมาธิ ในทางพระพุทธศาสนาก็มีผลเพียง ๒ ประการนี้ แต่ลัทธิอื่นมีผลเป็นอย่างอื่นก็ได้ เช่นคาถาเรียกเสือ หลวงตาเคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่ท่านเป็นฆราวาส ท่านรู้จักโยมคนหนึ่งที่สอนคาถาเรียกเสือ จะพาลูกศิษย์ที่อยากจะขี่เสือเข้าไปในป่า แล้วสอนให้ท่องคาถานี้ ไม่นานเสือก็จะเดินสะลึมสะลือมา อันนี้เป็นเรื่องไสยศาสตร์ ไม่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา

    ถาม : แล้วอย่างคาถาป้องกันภัย ถ้าเราสวดแสดงว่ายังยึดติดใช่ไหมคะ

    ตอบ : ป้องกันภัยทางจิตใจ เช่นเกิดความกลัวมากๆ ก็ท่องคาถาไปจนหายกลัว ไม่ได้ไปป้องกันภัยทางร่างกาย แต่ป้องกันภัยทางจิตใจ

    ถาม : แล้วคาถาเงินล้านละคะ

    ตอบ : ต้องพิสูจน์ดูเอาเอง ถ้าท่องจนได้ความสงบ ก็จะมีคุณค่ายิ่งกว่าเงินล้าน ถ้าได้ความสงบแล้วจะไม่อยากได้เงินล้าน เพราะดีกว่ามีคุณค่ามากกว่า เราถึงลาออกจากงานได้เลย เพราะได้สมาธิได้ความสงบนี้ มีคุณค่ากว่าเงินเดือนไม่กี่พันบาทในตอนนั้น ต้องเสียเวลาวันละ ๘ ชั่วโมง อาทิตย์ละ ๕ วันเพื่อจะได้เงินมาไม่กี่พันบาท สู้เอาเวลามานั่งสมาธิไม่ได้ คุณค่ามันต่างกันมาก ความสงบนี้เงินล้านซื้อไม่ได้ เป็นอุบายของนักปราชญ์ ให้พวกที่อยากรวยนี้ได้รวยจริงๆ คือได้จิตที่สงบ แล้วจะรู้ว่าความรวยอยู่ตรงนี้เอง ภัยต่างๆก็อยู่ในใจ ที่ไปคิดฟุ้งซ่าน ไปคิดกลัว ไปคิดรักชังหลงกับสิ่งต่างๆ พอสวดคาถาไปจนจิตสงบปั๊บ ความรู้สึกต่างๆเหล่านี้ก็จะหายไปหมด เป็นอุบายของนักปราชญ์

    ถาม : เฉพาะมนุษย์หรือเปล่า ที่สามารถปฏิบัติธรรมบำเพ็ญภาวนา อย่างเทวดาและพรหมนี่ สามารถปฏิบัติธรรม สามารถเข้านิพพานได้ไหมคะ หรือต้องกลับมาเป็นมนุษย์ก่อน

    ตอบ : ได้ ถ้าสนใจธรรมะ ไม่จำเป็นต้องกลับมาเป็นมนุษย์ก่อน ถ้ามีคนสอนในขณะที่เป็นเทพ เช่นพระพุทธเจ้าทรงไปสอนพระพุทธมารดาให้บรรลุเป็นพระโสดาบัน พอเป็นโสดาบันแล้วก็จะปฏิบัติเองได้ สามารถเลื่อนขั้นขึ้นไปตามลำดับ จนถึงขั้นพระอรหันต์ เพราะรู้ทางแล้ว เพียงแต่ว่าจะไปช้าหรือไปเร็ว ถ้ามีอาจารย์คอยกำกับอยู่ทุกขั้นก็จะไปเร็ว ถ้าไม่มีอาจารย์ก็จะไปช้า เพราะจะติดตามขั้นต่างๆ ในแต่ละขั้นจะมีปัญหา เป็นปริศนาธรรม ที่ต้องแก้ถึงจะข้ามไปได้ ถ้าไม่มีคนบอกก็จะช้า แต่จะรู้จนได้จะแก้จนได้ ท่านถึงแสดงไว้ว่าถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว พระนิพพานก็จะเป็นผลที่จะตามมา ๗ ชาติเป็นอย่างมาก จะไปได้เอง เพราะได้หลักได้แนวแล้ว เข้าใจหลักของพระอริยสัจ ๔ แล้ว ว่าความทุกข์เกิดจากสมุทัย คือความอยากต่างๆ ทีนี้ก็อยู่ที่ว่าจะตัดความอยากต่างๆ ที่มีอยู่ในใจให้หมดไปได้เมื่อไหร่ พระโสดาบันก็กำจัดไปได้เพียงส่วนหนึ่ง ต้องปฏิบัติต่อไปเพื่อกำจัดให้หมดไป พอเป็นพระอนาคามีแล้วถ้าตายไปก็ไปเกิดบนชั้นพรหม ก็สามารถปฏิบัติในชั้นพรหมได้ แล้วก็บรรลุพระนิพพานได้ ไม่ต้องมีใครมาสอน เพราะมีคำสอนอยู่ในใจแล้ว มีดวงตาเห็นธรรมแล้ว แต่ยังไม่สามารถชำระใจให้สะอาดบริสุทธิ์ได้เต็มที่เท่านั้นเอง ถ้าเป็นปุถุชนแล้วตายไป จะไม่มีแสงสว่างนำทางไปพระนิพพาน

    ถาม : ถ้าเป็นฆราวาสเป็นผู้หญิง ไม่มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ จะมีสิทธิ์เหมือนกันไหม

    ตอบ : มี ถ้าบวชทางใจ เพราะทุกอย่างอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ถ้าอยากจะถือศีลของภิกษุณีก็ถือได้เลย เปิดหนังสือดูว่าภิกษุณีถือข้อไหนบ้าง เราก็ถือไป เราก็เป็นภิกษุณีทางใจแล้ว แต่ทางกายคนอื่นเขาไม่รู้ว่าเราเป็น แต่เราเป็นภิกษุณีทางใจ ดีกว่าพระบางรูปเป็นภิกษุทางกาย แต่ทางใจมีศีลไม่ครบ ไม่ได้อยู่ที่กาย อยู่ที่ใจ ทานศีลภาวนาอยู่ที่ใจ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย ทุกคนมีสิทธิ์เท่ากันหมด ในการบรรลุมรรคผลนิพพาน ไม่ว่าจะเป็นหญิงเป็นชายเป็นเด็กเป็นผู้ใหญ่เป็นคนแก่ ไม่ได้อยู่ที่ร่างกาย อยู่ที่ใจ ถ้ามีบารมีแก่กล้าพอก็สามารถเป็นพระอริยบุคคลขั้นต่างๆได้

    ที่พวกเรามาทำบุญกันมาฟังเทศน์ฟังธรรมกัน ก็เพื่อมาเสริมสร้างทานบารมีปัญญาบารมี กลับไปที่บ้านไปนั่งทำสมาธิก็สร้างอุเบกขาบารมีขึ้นมา ถ้าในชีวิตประจำวันเจริญสติอยู่เรื่อยๆ ก็จะมีสติคอยดึงใจให้เข้าสู่ความสงบได้ พวกเราเป็นนักบวชได้ทุกคนทุกเวลา ถ้าชีวิตของเรามีเรื่องมากมีภาระมาก ก็ทำให้เราไม่สามารถปฏิบัติได้อย่างเต็มที่ ไม่เหมือนกับพวกที่บวชจริงๆ พอบวชเป็นพระก็ไม่ต้องทำมาหากินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เช้าอุ้มบาตรเข้าไปในหมู่บ้านก็ได้อาหารแล้ว ถ้าเป็นญาติโยมก็ต้องทำงาน ๘ ชั่วโมง ๑๐ ชั่วโมง เพื่อหารายได้มาจุนเจือ เวลาก็หมดไปมาก เวลาที่จะปฏิบัติธรรมก็เลยมีน้อย ฆราวาสส่วนใหญ่จึงทำได้แต่ทาน ศีลก็อาจจะได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนภาวนานี้แทบจะไม่ได้เลย ให้รู้ไว้ว่ามรรคผลนิพพานนี้ ไม่ได้ขึ้นกับเพศกับวัย ไม่ได้ขึ้นกับฐานะการเงินการทอง จะรวยหรือจนไม่สำคัญ อยู่ที่จะสามารถปฏิบัติตาม ที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอน ได้หรือไม่เท่านั้นเอง ถ้าปฏิบัติได้ก็บรรลุได้

    กัณฑ์ที่ ๔๑๗ บวชจริง โดย พระอาจารย์สุชาติ อภิชาโต
     

แชร์หน้านี้

Loading...