สติ ศีล นิโรธะ หลวงปู่ขาว อนาลโย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย jinny95, 19 สิงหาคม 2010.

  1. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    สติ


    พากันมาฟังมาก ไม่รู้จะพูดอะไรให้ฟังแล้ว


    การฟังธรรมก็เปรียบได้แก่การเตรียมเครื่องทัพสัมภาระสำหรับทำการงาน ครั้นเตรียมมาแล้ว เครื่องกลเครื่องไกที่เตรียมมาแล้ว ไม่ทำก้ขึ้นขี้สนิมเปล่า ฉันใดก็ดี การสดับรับฟังโอวาทคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็อย่างเดียวกัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้บอกทางให้เท่านั้นแหละ ครั้นเราเชื่อคำสอนของพระองค์แล้ว เป็นผู้ดำเนินตาม เป็นผู้ลงมือดำเนินตาม เราเองกระทำด้วยตนเอง เพราะเหตุนั้น จะว่าโดยย่อ ๆ เท่านั้นแหละ อาตมาไม่มีความพูดหลาย เพราะอยู่ป่าอยู่ดง จะว่าให้ฟังย่อ ๆ พอเป็นหลักดำเนินปฏิบัติของพวกเราทั้งหลาย ศาสนา คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ตามตู้ ตามใบลาน อันนั้นเป็นเครื่องชี้ขอกทางผู้จะดำเนินตามศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือก้อนธรรมอยู่จำเพาะใคร จำเพราะเรา แก่นของธรรมแท้อยู่ที่สติ ให้พากันหัดทำสติให้ดี ให้สำเหนียก ให้แก่กล้า สติน่ะทำเท่าไรไม่ผิด สติน่ะให้มันมีกำลังสติดีแล้ว จิตมันจึงรวม เพราะสติคุ้มครองจิต เพราะสติก็แม่นจิตนั่นแหละ หากลุ่มลึกกว่า ครั้นใจนึกขึ้นว่าสติ ก็ใจนั่นแหละเป็นผู้นึกขึ้น เรียกว่า “สติ” เพราะสติก็แม่นใจนั้นแหละ พวกเดียวกัน ทำให้มันดีแล้ว ไม่พลาด ทำก็ไม่พลาด พูดก็ไม่พลาด คิดก็ไม่พลาด ย่อมถูก ไม่ผิด พากันทำเอา


    ธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์อยู่กับสติอันเดียว พระพุทธเจ้าว่าแล้วในโอวาทปาฏิโมกข์ไม่ใช่เรอะ ยานิกานิจิ ชงฺคลานํ ปาณานํ ปทชาตานิ สพฺพานิ ตานิ หตฺถิปเท สโมธานํ คจฺฉนฺติ หตฺถิปทํ เตสํ อคฺคมกฺขายติ ครั้นเทียบในบรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารจักร ท่องเที่ยวอยู่ในพื้นปฐพี รอยสัตว์ทั้งหลายไปรวมอยู่ในรอยเท้าช้างอันเดียว มีรอยเท้าช้างเป็นใหญ่กว่าเขารวมโม๊ด ราชสีห์อะไรลงไปรวมโม๊ด ฉันใดก็ดี ธรรมะคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า มันอยู่ในสติ เย เกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อปฺปมาทมูลกา อปฺปมาทสโมสรณา อปฺปมาโท เตสํ อคฺคมกฺขายตีติ กุศลธรรมทั้งหลาย คุณงามความดีทั้งหลาย จะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลอยู่กับสติแล้ว บุญกุศล เค้ามูลกุศลทั้งหลาย มาสโมสรรวมอยู่ในสติ สติเป็นใหญ่ เพราะเหตุนั้น ครั้นรฝุ้อย่างนี้แล้วว่า สติเป็นแก่นธรรม แก่นธรรมก็แม่น อันนี้อยู่สำหรับทุกคนทีเดียว ทุกขณะมีอยู่ทุกคน พระพุทธเจ้าตรัสรู้ของจริง ผู้จะรู้เท่าตามจริงทั้งหลายทั้งปวง มีอยู่ทุกรูปทุกนาม แต่อาศัยว่าเราหลง จิตของเราเปรียบแปมาเหมือนเด็กอ่อน อ่อนแออยู่ เพราะเหตุนั้นแหละ สติเปรียบเหมือนพี่เลี้ยง ก็เจ้าของนั่นแหละจิต นั่นแหละ พอมันระลึกขึ้นก็แม่นสติแล้ว สตินั่นอบรมจิต ครั้นอบรมจนมันรู้เท่าตามความเป็นจริงแล้ว มันจึงหายความหลงความสว่าง ความหลงความสว่างนั่นก็หลง เพราะไม่มีสติ ครั้นมีสติคุ้มครอง หัดทำให้มันแน่วแน่ ให้มันแม่นยำ ให้มันสำเหนียกแล้ว มันจะรู้แจ้งทุกสิ่งทุกอย่าง สติเป็นเครื่องตี่ คือตีสนิมของมัน เปรียบดวงจิตเรียกว่าความหลง เรียกว่าอวิชชา จิตนั่นแหละตัวอวิชชา มันหลงเรียกอวิชชา จิตมันหลง ขี้สนิมมันก็อยู่กับอวิชชา มันหลงนั่นแหละ ขี้สนิมโอบมัน ความหลงนั่นแหละ


    แต่ก่อนจิตผ่องใส พระพุทธเจ้าจึงว่า ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจ โข อาคนฺตุเกหิ อุปกฺกิเลเสหิ อุปกฺกิลิฏฺฐํ จิตเดิมธรรมชาติเลื่อมประภัสสร แต่อาศัยอาคันตุกะกิเลสคือ รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัสทั้งหลาย เข้ามาสัมผัสแล้วมันหลงไปตาม จึงเป็นเหตุให้จิตนั้นเศร้าหมองขุ่นมัว ไม่รู้เท่าอวิชชา ปัจจัยของมัน ความโง่เรียกอวิชชาเหมือนกันกับเหล็ก เหล็กนั้นมันก็ดี ๆ อยู่นั่นแหละ แต่สนิมมันเกิดขึ้นในเหล็กนั่นแหละ แต่เขาตีขัดเกลาจนเป็นดาบคมได้ ใช้การได้ ถ้าไม่ตีมันก็อยู่อย่างนั้น สนิมกินเสียจนใช้การไม่ได้ จิตของเราก็ดี อาศัยสติเป็นผู้ขัดเกลา อาศัยสติเป็นผู้คุ้มครองเชื่อมั่น อันที่จริงอาคันตุกะกิเลสก็ไม่เป็นปัญหา คือรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก ไม่เป็นปัญหา เค้ามูละมูเลของมันก็คือ กาม กามาสวะ อวิชชาสวะ สามอันนี้เป็นอนุสัย เป็นสนิมของมัน เป็นสนิมหุ้มห่อจิตให้มืดมนอนธการ เพราะเหตุนี้แหละ เราหัดสติ ทำสติให้มีกำลัง เมื่อสติมีกำลังแล้ว จิตมันก็จะรู้เท่าตามความเป็นจริง ครั้นในมีสติแล้ว ก็เกิดสัมปชัญญะ ความรู้ตัวพร้อม ก็หมายความว่า ดวงปัญญานั่นแหละ ญาณก็ว่า ปัญญาก็ว่า


    สติกับความรู้ถึงพร้อม ธรรม ๒ อย่างนี้เป็นของคู่กัน พอเราระลึกขึ้นแล้ว สัมปชัญญะรู้ว่าถูกหรือผิด รู้พร้อม ๆ จิตรู้พร้อมนี่แหละอบรมดีแล้ว มันจะมีกำลังความสามารถ สามารถทุกสิ่งทุกอย่าง สามารถแทงตลอดได้ทุกสิ่งทุกอย่าง จะทำอะไรก็ดี จิตดีเท่ากัน มันสามารถ อย่างไฟไหม้บ้าน มันมีกำลัง จิตของเราแม้นอบรมดีแล้วมันมีกำลัง มีกำลังที่สุดทีเดียว สามารถจะหอบเอาของหนักนั่นออกจากไฟได้ ดับไฟได้แล้ว ไฟดับแล้วจะหาม ๓-๔ คนยังหามไม่ไหวเลย กำลังจิตเท่านั้นน่ะแหละ เพราะเหตุนั้น เราหัดดีแล้วก็เหาะได้ เหาะได้เหมือนพระโมคคัลลาเจ้า พวกเราสงสัย สงสัยว่าเหาะขึ้นก็คือนั่งอยู่นี่แหละ แต่จิตนั้นไปสวรรค์ ไปนรก ไปนั่น ๆ ละ อันนั้นก็แม่น แต่ว่าไปได้จริง ๆ หอบเอากายไปได้จริง ๆ คิดดูเถอะ นั่นแหละให้พากันอบรมจิต


    พวกเราอะไร ๆ ก็ดี สมบูรณ์บริบูรณ์ทุกสิ่งทุกอย่างแล้ว พวกศรัทธาทั้งหลายก็นับว่าเป็นผู้สูง เป็นผู้สูงอยู่แล้ว ศรัทธาก็มีอยู่แล้ว ให้สดับรับฟังแล้วก็มีแต่จะทำเอาเท่านั้นแหละ ให้พากันทำเอา มันจะไหน ธรรมทั้งหลายมันก็อยู่นี่แหละ แก่นมันแท้คือสติ ให้ทำเอา ทำให้มีกำลัง ครั้นสติดีแล้ว มันรักษาจิตของมันไม่ให้ส่ายออกไปตามอารมณ์ สติขนาบเข้ามา ๆ สติแก่กล้ามันเป็นอย่างนั้นแหละ ครั้นสงบลงแล้ว เดี๋ยวนี้มันไม่มีปัญญา ไม่มีปัญญามันก็ส่ายไป พอมันไปหลาย ๆ ครั้ง มันเป็นอาการของมัน มันไปตามแง่ของมันคือเวทนา มันเป็นเพียงแสงของจิต สัญญามันก็เป็นแสงของจิต สังขารความปรุงมันก็เป็นแสงของจิต วิญญาณที่รู้ทวารทั้ง ๖ ก็เป็นแสงของจิตออกไปทั้งนั้น ผู้รู้แท้ ๆ ถ้าจะสมมติว่าตนก็แม่นจิต เจ้าสตินั่นแหละสมมติว่าตน นอกจากนั้นเป็นอาการทั้งนั้น


    รูปอันนี้ก็เป็นแต่เพียงธาตุประชุมกัน ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมกันเท่านั้น ดังนั้นเมื่อจิตสงบลงไป เวทนาก็ดับแล้ว พอมันสงบลงไป คนไม่มี อะไรล่ะมันจะมาเจ็บ มาทุกข์ อะไรล่ะมันจะมาจำ คนไม่มี มันสว่าง ๆ ขึ้น เมื่อจิตสงบลงละมันสว่างโร่ขึ้น ว่าง ๆ ความจำหมายก็ไม่มี ความปรุงก็ไม่มี วิญญาณที่รู้ไปทางทวารทั้ง ๖ มันก็ไม่มี มันดับเอง เพราะว่าของไม่มีหมดแล้ว


    ของเหล่านี้เป็นของหนัก ครั้นใครยึดถือไว้เป็นของหนัก ไปถือขันธ์ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ อันนี้ก็ไปยึดไว้ ไปยึดก็ได้ชื่อว่าถือหาบอันหนัก พระพุทธเจ้าท่านว่า ภารา หเว ปญฺจกฺขนฺธา ภารหาโร จ ปุคฺคโล ภาราทานํ ทุกฺขํ โลเก ภารนิกฺเขปนํ สุขํ ผู้วางภาระ คือวาง ไม่ยึดถือว่าขันธ์ ๕ อันนี้เป็นตัวเป็นตนแล้ว ไม่ยึดไม่ถือแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางภาระ ไม่ยึดไม่ถือแล้ว ต้องมีความสุข จะนั่ง จะยืน เดิน ก็มีความสุข นิกฺขิปิตฺวา ครุ ภารํ เมื่อไม่ถือเอาขันธ์ ๕ นี้เป็นภาระแล้ว เพราะรู้เท่าตามความเป็นจริงของมันแล้ว ไม่ยึดถือเอา อญฺญํ ภารํ อนาทิย สมูลํ ตณฺหํ อพฺพุยฺห คือได้ชื่อว่าเป็นผู้ตัดตัณหาขึ้นได้ทั้งราก นิจฺฉาโต ปรินิพฺพุโตติ ฯ เป็นผู้เที่ยงแล้ว เที่ยงว่าจะได้เข้าสู่ความสุขตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นผู้เที่ยงแล้ว


    เมื่อจิตมันรวมแล้ว มันจะรู้ตามความเป็นจริง มันจะว่าง วางนั่นแหละ พอจิตรวมแล้วมันก็ว่าง ค้นหาตัวไม่มี พอมันสงบแล้ว ปัญญามันเกิดขึ้นของมันเอง ครั้นมันสงบลงถึงฐานถึงที่ มันถึงอัปปนาแล้ว มันเกิดขึ้นเองนะ พอนึกเท่านั้น มันปรุงฟุ้งขึ้น มันปรุงแล้ว มันไม่ไปยึดแสงสว่าง สว่างหมดทั้งโลกนี้ก็ตาม มันไม่ไปยึด มันสาวเข้าหาคน ไหนคน คนอยู่ที่ไหน มันมาอวดว่าตนว่าตัว ไล่เข้าไป ถ้ามันรวมลงอย่างนั้น มันอาศัยสติควบคุมให้มันอยู่ อย่าให้มันไป จิตรวมลงอย่างนี้ แจ่มใสทีเดียว ไม่ใช่มันง่วงนอน มันไม่ใช่วิสัยของสมาธิ อันนั้นละ มันแจ่มใสอย่างนั้น เรียกว่าสัมมาสมาธิ เป็นสมาธิอันถูกต้อง แล้วก็แม่นมันนั่นแหละ แม่นจิตนั่นแหละ เป็นตัวศีลละ จิตนั่นแหละเป็นตัวสมาธิ จิตนั่นแหละเป็นตัวปัญญา อันเดียวนั่นแหละ มันจะถึง อธิจิต อธิศีล อธิปัญญาได้ ก็อาศัยสติควบคุม


    พวกศรัทธาได้ยินได้ฟังแล้วก็ให้พากันตั้งใจทำ มันไม่อยู่ที่อื่นหนา ไม่ได้ไปหาเอาที่อื่นหนา อยู่จำเพาะใคร จำเพาะเรานี่หนา ไม่ได้ไปคว้าเอาที่ไหนดอก ธรรมน่ะ ยกขึ้นก็ปะไปโลด เห็นไปโลด นึกขึ้นก็เห็นไปโลด แล้วก็คุมสติเอา มันจะรู้เอง ปัจจัตตังน่ะ สันทิฏฐิโก จะเห็นเองนั่น อกาลิโก ไม่อ้างกาลอ้างเวลา จิตของเราจะหายจากราคะแล้ว ก็รู้จำเพาะตน จิตเรายังมีราคะก็จะรู้ จิตมีโทสะก็จะรู้ หายจากโทสะก็จะรู้ จิตมีโมหะ ความหลงงมงายก็จะรู้ จิตหายโมหะก็จะรู้ จิตหดหู่ก็จะรู้ จิตฟุ้งซ่านก็จะรู้ รู้แล้วก็จะได้จัดการแก้ไข รู้ก็ดี จะได้เพิ่มศรัทธา ริบเร่งความเพียรเข้าอีก เอาละ พากันทำเอา ไม่อ้างที่อ้างฐานดอก อยู่ที่ไหนก็ได้ เวลามันสงบ มันก็จะมีอยู่นั่นแหละ

    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-02.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2010
  2. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    ศีล


    เรื่องจิตนี่ พวกฝรั่งเขาทำกันจริง ๆ จัง เขาสนใจอยู่ปานนั้น มันจึงเป็นเรื่องใหญ่ มาเอาทางภาวนา ยากจริง พวกนี้เขาทำกันหลายคน สนใจแท้ ๆ เรื่องทำบุญ รักษาศีล ให้ทาน ก็เข้าใจหมดแล้ว เรื่องภาวนามันสำคัญ อบรมบ่มอินทรีย์ อบรมกายนี่แหละ อบรมใจของตนนี่แหละ มันยากอยู่ ครั้นอบรมได้แล้ว ไม่มีความเดือดร้อย ใจเยือกเย็น ใจสบาย ไม่มีความหวั่นไหว อวิชชาคือใจ ใจดวงเดียวนั่นเรียกว่าอวิชชา คือมันไม่รู้ต่อสิ่งทั้งปวง ไม่รู้ในกองสังขาร แล้วหลงยึด ชอบเข้าก็หลงยึด ไม่ชอบก็ยึดเข้ามาเผาตน มันไม่รู้มันจึงหวั่นไหว พวกเราพากันฝึกหัดใจของตนให้ดี

    พระพุทธเจ้าว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจถึงพร้อม มีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด ครั้นทรมานใจดีแล้ว ฝึกฝนดีแล้ว อบรมดีแล้ว มีใจประเสริฐสุด ถ้าไม่ทรมาน ไม่ฝึกฝนอบรม อันนี้มันก็ทำพิษ เผาอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน มันเป็นเพราะใจนี่แหละ ใจไม่ดี ใจไม่รู้เท่า ใจโง่ มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ใจอันมีโทษประทุษร้ายมันอยู่แล้ว เพราะราคะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขสบาย มีแต่ความเดือดร้อนเผาผลาญ ท่านเปรียบไว้เหมือนโคที่เข็นภาระอันหนักไปอยู่ ใจไม่ดีแล้ว ผู้ไม่ฝึกฝนอบรมใจของตนแล้ว ทำไปตามความพอใจความชอบใจใจเศร้าหมองไม่มีความสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่มีความสุข ใจที่อบรมดีแล้ว ฝึกฝนทรมานดีแล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข พูดอยู่ก็เป็นสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ทำอะไรอยู่ ก็เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน มนสาเจ ปสนฺเนน บุคคลผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้ดีแล้ว จิตผ่องใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ไปที่ไหนก็ตาม ความสุขย่อมติดตามไปอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

    พวกเราทำความฝึกฝนจิตใจของตน ให้เอาสติประจำใจ จะพูดก็ให้มีสติ จะทำก็ให้มีสติ จิคิดก็ให้มีสติควบคุมใจของตน อย่าไปปล่อยสติ ครั้นไม่ปล่อยสติแล้ว นั่นแหละได้ชื่อว่า เป็นผู้นั่งอยู่ใกล้ความสุข ใกล้ทางที่สุด ทางที่เราจะเดินไปหน้าละ ใกล้เข้า ๆ พวกเราเหมือนกันกับเดินทางไกล ไม่รู้ว่าจะเดินมาจากไหน นับวัน นับคืน นับปี นับเดือนไม่ถ้วน การเดินทางเพื่อจะไปสู่จุดหมายปลายทาง คือที่สุด เหมือนว่าเราจะไปกรุงเทพฯ นั่นแหละ เป็นที่สนุกสุขสบาย เข้าใจว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองพระนคร เป็นเมืองสวรรค์ อยากไป พวกเราอยากไปสู่จุดหมายปลายทาง คือพระนิพพานนั่นแหละ ว่าเป็นจุดอันเลิศ ว่าเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ มีแต่ความสุข ที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านไปแล้ว จุดอันนั้นแหละ



    เราเกิดมานี่ เทียวไปเทียวมาอยู่นี่น่ะ ไม่ต้องการอะไรทั้งหมด ทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ต้องการวันตาย ต้องการหาความสุข แต่หาไม่พบ เพราะศรัทธาของเราไม่เพียงพอ เชื่อไปตามกามกิเลส ประพฤติไปทางอื่น ไปทางโลกเสีย ทางธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เอาใจใส่ ไม่มีความสนใจ ไม่พอใจ ที่จริงถึงเราไม่อยากไปก็ตาม พระนิพพานน่ะ แต่ก็ควรปฏิบัติไว้ อบรมไว้ บางทีไปชาติหน้า ชาติใหม่ เราเกิดความเบื่อหน่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะกลับมาปฏิบัติมันจะได้บรรลุคุณวิเศษโดยเร็ว ไม่เฉื่อยช้าไป พวกเราได้คบหากับนักปราชญ์อาจารย์บ่อย ๆ สนใจบ่อย ๆ ทำไป ๆ ก็จะเป็นไปวันหนึ่งนั่นแหละ จะได้รับผลอยู่นั่นแหละ ทำแล้วจะเปล่าประโยชน์? ไม่เปล่าดอก ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนพวกคุณหมอทั้งหลาย ได้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์มาแล้ว ก็ได้มาแล้ว รู้อย่างนั้น รู้อย่างนี้ ทำอย่างนั้น อย่างนี้ แล้วก็ได้ผล เมื่อทำลงก็ได้รับผล มีผลตอบแทนอยู่อย่างนั้นแหละ ผลคือลาภยศ เพราะเรามีวิชาศิลปศาสตร์ เพราะเราทำคุณความดี ทางที่ไปสู่ความสงบสุขนี่ พระพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว ถ้าเรามีความสนใจ พอใจ ตั้งใจทำ ก็คงได้รับผลตอบแทนเหมือนกัน ไม่ตอบแทนกันไม่มีดอก ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ ความดีก็ดี ความชั่วก็ดี ตอบแทนครือกัน ถ้าทำชั่วลงไปแล้วก็ได้รับความเดือดร้อนขึ้นกับตัว กับบ่อนนั่นแหละ คนทั้งหลายเขาสงสัยว่า บาปไม่มี บุญไม่มี มันไม่พิจารณาให้เห็นว่า ทำแล้วก็ได้รับเหมือนกันในเรื่องนั้น ๆ แหละ พอทำเข้าแล้วก็เดือดร้อนหละ วิ่งเข้าป่าเข้าดง ไปอยู่ตามถ้ำตามเหว ไม่มีที่ไหนมันจะพ้นดอก ความชั่วนี่ พวกเราเป็นผู้ทำความดีความชอบ อาชีพของเราเป็นไปเพื่อเป็นศีลเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนใคร แล้วเราก็ได้รับความพอใจ ความชอบใจ ดีใจ เห็นกันอยู่อย่างนั้นแล้ว ที่จะว่าไม่เป็นบุญเป็นบาปยังไง มันเป็นอยู่อย่างนั้นนี่ เป็นกับที่นั้นแหละ ผู้ให้ทานก็ได้รับความดีใจกันที่นั่นแหละ ผู้มีศีลก็ได้ความดีใจ

    ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลพระปาฏิโมกข์ของพวกพระ ฆราวาส ศีลห้า ศีลแปด เราก็ศึกษาให้มันดี ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วไม่ยาก เรื่องงดเว้นทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ พวกเราก็รู้แล้ว เรื่องจะไม่ต้องสมาทานเอากับพระภิกษุสามเณรก็ตาม รู้แล้ว เจตนางดเว้นเอา เรียกว่าวิรัติ เจตนา งดเว้นเอา เข้าใจแล้ว ไม่ต้องสมาทานก็ได้ เอาเจตนานี่แหละ เราจะไม่ทำ สมมติว่า ศีลห้า บาปห้าอย่าง กรรมห้า ย่างนี้เราจะไม่ทำต่อไปเด็ดขาด นี่ก็เป็นอุปนิสัยปัจจัยอยู่ พวกเราสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ควรรักษามันให้ดี เรื่องกรรมห้าอย่างนั้นแหละ ครั้นเว้นวิรัติให้มันขาดลงไปแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้หมดกรรมหมดเวรหมดภัย ให้มันขาดห้า อย่างเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าว่ามันไม่ใช่ศีลนะ บาปนะ เวรนะ ครั้นเว้นห้าอย่างนี้ เป็นสุจริตธรรม ผู้หญิงผู้ชายก็ตาม ผู้น้อยผู้หนุ่มก็ตาม ผู้แก่ผู้เฒ่าก็ตาม เป็นสมบัติของมนุษย์ ปาณาติปาตา ปฏิวิรโตโหติ ให้มีเจตนางดเว้น อทินนาทานา ปฏิวิรโตโหติ เจตนาวิรัติงดเว้น มีสติประจำใจ กาเมสุมิจฉาจารา ปฏิวิรโตโหติ ให้เจตนางดเว้น มุสาวาทา ปฏิวิรโตโหติ ความไม่จริงจะไม่พูด พูดมีสัจมีศีล คำที่ไม่จริงจะไม่พูดต่อไป มีจึงพูด ไม่มีไม่พูด สุราเมรย มชฺฌปมาทฏฺฐานา ปฏิวิรโตโหติ นี่แหละห้าอย่างนี่แหละ งดเว้นห้าอย่างนี่ ได้ชื่อว่าเป็นผู้หมดกรรมหมดเวร นี่เป็นเค้าเป็นมูลของศีลทั้งหลาย มันจะตั้งอยู่ได้

    ศีลแปดนั้น ครั้นเรารักษาไม่ได้ ก็ไม่เป็นโทษเป็นภัยอะไรดอก เป็นแต่เศร้าหมอง สามข้อเบื้องปลายนั่นแหละเป็นศีลสูงขึ้นไป รักษาไม่ได้มันก็พาเศร้าหมองเท่านั้น ศีลห้าข้อเบื้องต้นนั่นแหละสำคัญ เว้นให้มันเด็ดขาดเรื่อยไป ท่านจึงเปรียบไว้เหมือนต้นไม้ ครั้นไปตัดกิ่งก้านสาขาออกแล้วไม่ตาย มันต้องเป็นขึ้นอีก แตกกิ่งก้านสาขาขึ้นอีก แต่ถ้าตัดรากแก้วมันหมดแล้ว มันตาย ไม่มีอะไรจะงอกขึ้นอีกต่อไป เค้ามูลมันคือศีลห้า อาตมาจะพูดให้ฟัง พูดซื่อ ๆ นี่แหละ ศีลนี่มีตัวเดียวเท่านั้น มีใจดวงเดียวเท่านั้น ไม่มีอื่นอีก หมู่นั้นมันเป็นอาการมัน ถ้าเราไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่มารยาสาไถยกับใคร นอกจากเมียของตนซึ่งอยู่ในปกครองของตน พูดแต่ความจริง ไม่ดื่มสุรายาเมา นี่แหละ ๕ อย่างนี่มีแต่บาปทั้งนั้น

    พระพุทธเจ้าจึงว่า เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาก็ใจเท่านั้นแหละ เจตนางดเว้น ใจมีอันเดียวเท่านั้นแหละ และให้มีสติควบคุม ระวังจิตมันคิดจะทำอะไรก็ดี จะพูดอะไรไม่เป็นศีลเป็นธรรม ก็มีสติยับยั้ง รู้สึกตน สติคือความระลึก สัมปชัญญะ ความระลึกว่าผิดหรือถูก มันต้องตัดสิน สัมปชัญญะเป็นผู้ตัดสิน พวกเราให้หัดทำสติให้แม่นยำ ให้สำเหนียกแล้ว จะทำอะไรก็ถูกต้อง พูดถูกต้อง คิดถูกต้อง มันก็เป็นศีลแล้ว เพียง ศีลห้ามันก็ดีอยู่ ศีลแปดเป็นบางครั้งเป็นคราวก็ได้อยู่ ครั้นรักษาให้ดี เป็นบริสุทธิ์แล้ว ได้อยู่ ราชาก็ได้อยู่ จักรพรรดิ์ก็ได้อยู่ มหาเศรษฐีก็ได้อยู่ ไม่ต้องสงสัย

    พระพุทธเจ้าพูดความจริง ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจ กล้าหาญต่อหน้าประชุมชน ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ท่านบอกไว้นะ เมื่อรับศีลด้วยปากแล้วท่านว่า สีเลน สุคตึยนฺติ กุลบุตรผู้รักษาศีล ถึงพร้อมด้วยศีลบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีความสุข แม้จะเข้าไปคบหาสมาคมกับบริษัทใด ๆ ก็ตาม บริษัทกษัตริย์ก็ตาม บริษัทคหบดีก็ตาม บริษัทสมณพราหมณ์ก็ตาม เป็นผู้องอาจกล้าหาญ ไม่มีความครั่นคร้ามต่อผู้คน เพราะคิดว่าเราบริสุทธิ์ดีแล้ว ถึงไม่มีความรู้ก็ตาม ไม่คิดกลัวว่าคนอื่นเขาจะมาโทษเราว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิยังงั้นยังงี้ ไม่คิดอย่างนั้น ไม่กลัว แล้วก็เป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นที่รักแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยกัน คนผู้มีศีลแล้วย่อมใจเย็น จิตมันหยั่งเข้าไปถึงกัน สัตว์เดรัจฉานก็ตาม สัตว์ใด ๆ ก็ตาม ได้เห็นแล้ว มันหยั่งเข้าไปถึงกันเหมือนกันยังกับไฟฟ้า ไปถึงจิตถึงใจกันแล้ว แล้วจิตของเรามันเย็นแล้ว มันก็ไม่กลัว ถ้ามันเห็นพวกคฤหัสถ์พวกที่เขาจะฆ่ามันแล้ว มันไม่รอ มันวิ่งเข้าป่าเข้าดงไปเลย นี่แหละ ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา ศีลนำความสุขมาให้ตลอดชีวิต ศีลนำความสุขไปให้ตลอดและมีสุคติเป็นที่ไป สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่ยากไม่จน ก็เพราะเป็นผู้รักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์นี้แล เป็นแท้ เป็นกรรมดีแท้ เป็นกรรมร้ายแท้ ให้คิดดู ถ้าบุญไม่มีแล้ว บาปไม่มีแล้ว มันเป็นเพราะกรรมดีกรรมชั่ว

    พระพุทธเจ้าว่าคนเกิดมา สัตว์เกิดมาในโลกนี้คงเพียงกัน ไม่มีสูงมีต่ำ มีดำ มีขาว ถ้าขาวก็ขาวอย่างเดียวกัน จะมั่งคั่ง ก็มั่งคั่งอย่างเดียวกัน จะจนก็จนอย่างเดียวกัน โง่ก็โง่อย่างเดียวกัน แต่ความจริงนี้ มันมีสูงมีต่ำกว่ากัน มีต่ำลง มีสูงที่สุด เห็นเป็นพยานอยู่นี่แล้ว จะโง่ ผู้โง่ก็โง่ลืมตาย ผู้ฉลาดเหมือนพวกคุณหมอนี่ก็ฉลาด จนก็จนลืมตาย ทำไมเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ ไม่เหมือนกันเพราะความประพฤตินั่นหรอก ถ้าประพฤติดี มีการรักษาศีลให้ทาน มีการสดับรับฟังธรรม เขาจะมีปัญญาก็ดี เขาเป็นผู้เล่าเรียน เพราะเหตุนี้แหละ เป็นเพราะกรรม กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่างกํน มันเป็นเพราะกรรม พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ดอกว่า ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วเกิดอีก อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ ไม่ว่า เราไม่พยากรณ์สัตว์นี้มันจะเกิดอีกหรือไม่เกิด ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ มันต้องได้รับผลของกรรม ทำกรรมดี ทำกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทนอยู่ ทำแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนนั้นไม่มี คิดดู เหมือนเขายืมปัจจัยของเราไป เราก็ให้ เขาจะต้องตอบแทนใช้ให้เรา ครั้นไม่ใช้ให้ ก็ต้องเป็นถ้อยเป็นความกันละ ได้รับความเดือดร้อน เขาก็ต้องตอบแทน คิดดู เหมือนพวกเราเห็นกัน ถามกัน ตอบแทนกัน ทำดีก็ตอบแทนกันอยู่อย่างนั้น ผลร้ายก็ตอบแทนกันให้ได้รับความลำบากอยู่อย่างนั้น



    ถ้ารักษาศีลดีแล้ว เมื่ออบรมสมาธิเข้า มันจะมีความสงบ มันลงเร็ว ถ้ามันขัดข้อง ก็หมายว่าศีลของเราข้อใดข้อหนึ่งผิดพลาดไป มันจึงขัดข้อง ไม่ลง ถ้าศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว เหมือนกับเขาจะปลูกบ้านปลูกช่อง เขาจะปราบพื้นที่เสียก่อน ฉันใดก็ดี ศีล พวกเรารักษาดีแล้ว ก็เหมือนปราบพื้นที่จนไม่มีหลักมีตออะไรแล้ว ปลูกบ้านมันก็ได้ดี ไม่มีความเดือดร้อน จิตมันก็ไม่มีความเดือดร้อน มันก็สงบอยู่ จะลงอยู่ เพราะมันเย็น มันราบรื่น ไม่มีสิ่งลุ่มดอน พากันทำไป อุตส่าห์ทำไป อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แล้วก็ไม่ใช่เป็นของหนักของลำบาก นึกเอาแต่ในใจ จะเอาอะไรก็ตาม แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริตของเรา มันถูกอันใด สะดวกใจ สบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้อง ไม่ฝืดเคือง อันนั้นควรเอามาเป็นอารมณ์ของเรา

    เอา พุทโธ ๆ หมายว่าให้ใจหยุด เอาพุทโธเป็นอารมณ์นั่นแหละ ต้องการไม่ให้จิตมันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก อารมณ์ภายนอกมันก็ไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่าง มันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจึงไม่ลง พวกนี้เรียกว่านิวรณ์ เรียกว่าเป็นมาร จึงว่าให้มีสติ อย่าให้มันไป กุมไว้ให้มันอยู่กับที่นี้ ให้เอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระธรรมเป็นอารมณ์ พระสงฆ์เป็นอารมณ์ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ตาม หรือจะเอาอัฐิ ๆ กระดูก ๆ ก็ตาม ให้นึกอยู่อย่างนั้น ยืนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เอามันอยู่อย่างนั้นแหละ หลับไปแล้วก็แล้วไป อุตส่าห์ มันก็เป็นของไม่เหน็ดไม่เหนื่อย พระพุทธเจ้าก็ว่าไว้อยู่ ผู้ที่ภาวนา จิตสงบลง แม้ชั่วเวลาช้างพับหู งูแลบลิ้น อานิสงส์ก็อักโขอักขัง ทำไป มันมีสามสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธินี่เราบริกรรมไป บริกรรมไป ว่าพุทโธก็ตาม อะไรก็ตาม รู้สึกว่าสบาย ๆ เข้าไปสักหน่อย จิตสงบเข้าไปสักหน่อย ถอนขึ้นมา ก็กลับเป็นอารมณ์ของเก่ามัน นี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ลงไปนาน ๆ สักหน่อย ถอนขึ้นมาอีก ไปสู่อารมณ์อีก

    ภาวนาไป ๆ มา ๆ อย่าหยุดอย่าหย่อน แล้วมันจะค่อยเป็นไปเอง ทำไป ๆ จะให้มันเสียผล มันไม่เสีย ต้องทำไป เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่า แล้วแต่ อย่าไปนึกว่าเมื่อไรมันถึงจะลง จิตนี่ อย่าไปนึก ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำความเพียร เราทำเพื่อจะเอาเนื้อและเลือด ชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า ถวายบูชาพระธรรม บูชาพระสงฆ์ต่างหาก ความอยากนี่ให้เข้าใจว่า นั่นแหละคือหน้าตาของตัณหา อยากให้มันเป็น อยากให้มันลงเร็ว ๆ อันนั้นมันตัวร้ายละ หน้าดำละ ความอยากของมันมืดละ ให้ตั้งใจไว้ เจตนาไว้ว่า เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่า จะเอาเลือดเนื้อชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้าตลอดวันตาย อย่างนี้ได้ชื่อว่า มชฺฌิมา ปฏิปทา อยากมันเป็นตัณหาเสีย ยืนขวางหน้าเสีย ยิ่งไม่ลงละ เอาละ ให้พากันทำไป



    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-09.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2010
  3. jinny95

    jinny95 เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 ตุลาคม 2007
    โพสต์:
    6,074
    กระทู้เรื่องเด่น:
    1
    ค่าพลัง:
    +9,666
    นิโรธะ


    การปฏิบัติอานาปานสติถ้าไม่ถูกกับจริต มีความอึดอัดใจ หายใจไม่สะดวก ไม่สบาย ถ้าถูก มันจึงสบาย หายใจเบาลง ปต่คนก็ชอบแต่ความสบาย ถ้าไม่สบายไม่ค่อยชอบ ถ้ามันสบาย มันก็หลงไปเสียกับความสบายละ ถ้าเปลี่ยนบ้างมันจึงจะดี เปลี่ยนคือความเจ็บป่วยนั้น มันเปลี่ยนบ้างมันจึงรู้ มันจึงตื่น หมายความว่าเปลี่ยนมันไม่เพลิน เวทนามัน ทรมานให้เขาปราบเอาบ้าง มันจึงดี เหมือนกันกับเด็กมันดื้อ มันคะนอง พ่อแม่ต้องเฆี่ยนเอาบ้าง มันจึงหายความคะนอง จิตของเรามันเป็นอย่างนั้น ถ้าอยู่ดี สบายแล้ว มันลืม ให้นั่งภาวนา เป็นสมาธิ ให้มันเป็นปัญญา คอยเตือนอย่าดื้อ อย่าคะนอง ให้กำหนดให้มันรู้ทุกข์ พระพุทธเจ้าสอนว่า ให้มารู้จักทุกข์ ถ้ามันสบายแล้ว มันไม่รู้จักทุกข์ มันมัวแต่เพลินไปถ้ามันสบายแล้ว ให้มันไม่สบาย แล้วมันจึงกำหนดรู้จักทุกข์


    พระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ว่า ให้มันรู้จักทุกข์ ให้มันรู้จักพิจารณาแต่ทุกข์ พิจารณาให้มันเห็นชัด มันอยู่ที่ใจแล้ว มันจึงจะค้นหาเหตุ ทุกข์เป็นผล แล้วความทะเยอทะยานนั้นเป็นต้นเหตุให้เกิดทุกข์ ค้นไปให้เห็นเหตุเกิดทุกข์ จะปล่อยวางความทะเยอทะยานความหลง อันสมุทัยนั่นแหละเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ สมุทัยสมมุติ สมมุติว่าผู้หญิง ผู้ชาย ว่าคน ว่าสัตว์ นั่นไปหลงสมมุติ พอใจเพราะความหลง สมุทัยก็มาจากความหลง พอมันขี้หลงเข้า หลงอยากเป็นอยากมี หลงสิ่งที่ไม่ชอบ รู้เหตุอันนี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเหตุให้ท่องเที่ยวในสังสารวัฏจักร ไม่มีที่สิ้นสุด ให้ปล่อยวางอันนี้


    ปล่อยวางคือไม่ยึดไม่ถือ รู้เท่ามัน เมื่อปล่อยวางแล้วนั่นแหละ จิตมันถึงจะสงบ จิตมันถึงจะมีความสุข ความสบาย จิตไม่ดิ้นรน จิตสงบนั่นแหละให้รู้ว่าจิตเราสงบ จิตเราไม่เพลิดเพลินกับอารมณ์ ดีก็ตาม ไม่ดีก็ตาม ไม่เพลิดเพลิน เฉย เป็นกลาง เรียกว่านิโรธะ ปล่อยวางอันนี้ ความทะเยอทะยานหรือสมุทัย วางอันนี้ได้ชื่อว่าปล่อยเหตุ วางเหตุแล้วจิตสงบ จิตเป็นกลาง


    การค้น การพิจารณาเรื่องจิตนี้เรียกว่า มัคคปฏิปทา เรียกว่าข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เราภาวนาบริกรรมอันใด มันสบายใจ บริกรรมแล้วก็ต้องพิจารณา สมถะ การบริกรรม วิปัสสนาเรียกว่ากำหนดพิจารณา เรื่องพิจารณาสังขารร่างกาย อันนี้เรียกว่าวิปัสสนา ทำไปพร้อม เมื่อบริกรรมไป บริกรรมไป พอจิตสงบสักหน่อย มันไม่ลงถึงที่ มันก็ต้องค้นคว้า ก็ค้นคว้าร่างกายของเรา ต้องพิจารณาสกนธ์กายของเรานี่แหละ กรรมฐานทุกคนนั่นแหละ พวกพระ พวกเณร พวกญาติโยมนั่นก็เป็นกรรมฐาน กรรมฐานหมด มีอยู่หมดทุกรูปทุกนาม พระพุทธเจ้าว่า ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เรียกว่าปัญจกรรมฐาน กรรมฐานแท้ ให้พิจารณาอันนี้ ผมมันก็ตั้งอยู่บนศีรษะ พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณา ผมไม่ใช่คน เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก ขนก็ไม่ใช่คน เรามาสำคัญว่าขนเรา เล็บเรา ผมเรา ฟันก็ไม่ใช่คน เป็นแผนกหนึ่งต่างหาก หนังก็ไม่ใช่คน หนังสำหรับห่อกระดูกไว้เท่านั้นแหละ อาการ ๓๒ นี่ พระพุทธเจ้าท่านให้พิจารณา แยกออกเป็นสัดเป็นส่วน อะไรเป็นคน เป็นสัตว์ ไม่สำคัญว่าผู้หญิง ผู้ชาย ว่าเขา ว่าเรา สำคัญที่คนเห็นผิด อาการ ๓๒ นี้มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า เยื่อในสมองศีรษะ เป็นต้น หมู่นี้เป็นคนละอย่าง ๆ มันไม่ใช่คน พระพุทธเจ้าว่า มันไม่ใช่คนนะ


    อีกอย่าง พระพุทธเจ้าว่า ธาตุ ๔ ดิน น้ำ ลม ไฟ ประชุมรวมกัน เรียกว่ารูป รูปใหญ่ มหาภูตรูป สิ่งที่อาศัยธาตุ ๔ดิน น้ำ ลม ไฟ คือ เวทนา ความเสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ก็ดี สัญญา ความจำหมายโน่น หมายนี่ จำโน่น จำนี่ จิตเจตสิก คือ ความคิดความอ่าน ความปรุงขึ้นที่จิต คือวิญญาณสังขา ความรู้ทางอายตนะทั้ง ๖ อันนี้เราว่ารูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ วิญญาณขันธ์ เรียกว่าขันธ์ ไม่มีคน ไม่มีสัตว์ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ตน ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ วิญญาณเป็นความรู้เท่านั้น รู้กันอยู่นี่แหละ ค้นไปค้นมาอยู่นั่น มองดูคนอยู่ไหน


    สมถะคือการบริกรรม วิปัสสนาการค้นคว้า อาการ ๓๒ นี่แหละ ค้นไป ไม่ส่งจิตไปที่อื่น เวลาเราทำสมาธิ เราต้องตั้งใจว่า เวลานี้ เราจะทำหน้าที่ของเรา หน้าที่ของเราคือ จะกำหนดให้มีสติประจำใจ ไม่ให้มันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก ให้มีสติประจำใจอยู่ ไม่ให้ไปภายนอก เดี๋ยวนี้ หน้าที่ของเราจะภาวนา จะทำหน้าที่ของเรา ไม่ต้องคิดการงานข้างนอก เมื่ออกแล้วจะทำอะไรก็ทำไป เวลาเราจะทำสมาธิ ทำความเพียรของเรา ต้องตั้งสัจจะลง ตั้งใจกำหนดอยู่ในสกนธ์กายนี้ กำหนดสติให้รู้กับใจ เอาใจรู้กับใจ ให้จิตอยู่กับจิต กำหนดจิตขึ้น ให้ทำให้มันพออาศัย ศรัทธา วิริยะ เหตุทำให้มาก ๆ อันนี้แหละก้อนธรรม

    พระพุทธเจ้าว่า ก้อนธรรมอันนี้แหละ ก้อนธรรมหมดทั้งก้อน ธรรมไม่มีที่อื่น ไม่มีที่อยู่อื่น จำเพาะรูปใครรูปเราเท่านั้น เป็นธรรมหมดทั้งก้อน ก้อนธรรมอันนี้ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน

    พระพุทธเจ้าว่า ปัญจุปาทานักขันธา อนิจจา ขันธ์ทั้ง ๕ นี้ไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความเกิดขึ้นตั้งขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง มีความแตกสลายไปในเบื้องปลาย ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา ขันธ์อันนี้เป็นทุกข์ มีทุกข์บีบคั้นอยู่ มีแต่ทุกขเวทนานั่นแหละ ความสุขมีนิดเดียว ผู้ที่พิจารณาเห็นตามความเป็นจริงแล้ว ไม่มีสักหน่อยความสุขในโลกนี้ โลกคือสกนธ์โลกอันนี้ สกนธ์กายนี้ ปัญจุปาทานักขันธา อนัตตา ธรรมทั้งหลายสกนธ์กายอันนี้ ขันธ์ ๕ อันนี้ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่คน

    พระพุทธเจ้าว่า สัพเพ ธัมมา อนัตตา ธรรมทั้งหลาย จะเป็นสังขตธรรม หรือ อสังขตธรรมก็ตาม ไม่มีความประเสริฐ ไม่มีความดี พิจารณาเห็นสกนธ์กายว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแล้ว อันนี้เรียกว่าผู้ถึงวิราคะ วิราโค เสฏโฐ เป็นธรรมอันประเสริฐ วิราคะคือความคลายกำหนัดจากอารมณ์ทั้งหลาย นี่เป็นธรรมอันประเสริฐ นั่นแหละ เมื่อถึงวิราคะ เรียกว่านิโรธ ทุกข์ดับ มีความเบื่อหน่าย เหนื่อยหน่ายในความเป็นอยู่ของอัตตภาพ นี่แหละเรียกว่าปล่อยวาง เห็นตามความเป็นจริง แล้วปล่อยวางตัณหา ความทะเยอทะยาน ความอยาก ความใคร่ในทางกิเลสกาม ความอยากเป็น อยากมี ถึงขั้นนี้ก็กิจสำเร็จแล้ว



    http://www.dharma-gateway.com/monk/preach/lp_kao/lp-kao-10.htm
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 19 สิงหาคม 2010
  4. karag

    karag Active Member

    วันที่สมัครสมาชิก:
    23 กันยายน 2008
    โพสต์:
    48
    ค่าพลัง:
    +41
    อนุโมธนา สาธุครับ

    "จิตไม่รวมลง ให้พิจารณาอยู่แต่กายนี้"
     
  5. หลบภัย

    หลบภัย เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2009
    โพสต์:
    2,207
    ค่าพลัง:
    +3,123
    เมื่อคืนได้มีโอกาสฟังเรื่องราว ของหลวงปู่ขาว ที่ท่านกำลังบรรลุธรรม
    และท่านบอกว่ามองทางไหน ก็อิ่มไปหมด รู้สึกมีปิติร่วม
    เลยนึกอิจฉา ชาวบ้าน ที่เขาได้มีโอกาสใส่บาตร กับพระอรหันต์วันนั้น
    แต่ก็ขออนุโมทนา สาธุร่วมกับชาวบ้านวันนั้น แค่คิดก็ปิติ ถ้าอิ่มเองจะขนาดไหน
    หนอ
     

แชร์หน้านี้

Loading...