ฝึกใจไม่ให้โกรธ โดย..สมเด็จพระญาณสังวร ฯ..

ในห้อง 'พุทธศาสนา และ ธรรมะ' ตั้งกระทู้โดย rinnn, 3 ตุลาคม 2006.

  1. rinnn

    rinnn เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    19 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    7,666
    ค่าพลัง:
    +24,024
    วิธีฝึกใจไม่ให้โกรธ



    ปรกตินั้น เมื่อโกรธก็มักจะไปเพ่งโทษคนอื่น ว่าเป็นเหตุให้ความโกรธเกิดขึ้น คือมักจะไปคิดว่าผู้อื่นนั้นพูดเช่นนั้น ทำเช่นนั้นที่กระทบกระเทือนถึงผู้โกรธ การเพ่งโทษผู้อื่นเช่นนี้ ไม่ใช่การทำให้จิตใจตัวเองสบาย ตรงกันข้าม กลับเป็นการเพิ่มความไม่สบายให้ยิ่งขึ้น ยิ่งเพ่งเห็นโทษคนอื่นมากขึ้นเพียงใด ใจตัวเองก็ยิ่งจะไม่สบายยิ่งขึ้นเท่านั้น



    แต่ถ้าหยุดเพ่งโทษผู้อื่นเสีย เขาจะพูดจะทำอะไรก็ตาม ที่เป็นการกระทบกระเทือนถึงตนเองจริงหรือไม่ก็ตาม อย่าไปเพ่งดู ให้ย้อนเขามาเพ่งดูใจตนเอง ว่ากำลังมีสุขทุกข์อย่างไร มีอารมณ์อย่างไร ใจจะสบายขึ้นได้ด้วยการเพ่งนั้น



    กล่าวสั้น ๆ การเพ่งโทษผู้อื่นทำให้ตัวเองไม่เป็นสุข แต่การเพ่งดูใจตนเองทำให้เป็นสุขได้ แม้กำลังโกรธมาก หากเพ่งดูใจตัวเองให้เห็นว่ากำลังโกรธมาก ความโกรธก็จะลดลง หากเพ่งดูใจตัวเองให้เห็นว่ากำลังโกรธน้อย ความโกรธก็จะหมดไป



    จึงกล่าวได้ว่า ไม่ว่าจะมีอารมณ์ใดก็ตาม โลภ หรือโกรธ หรือหลงก็ตาม หากเพ่งดูใจให้เห็นอารมณ์นั้นแล้ว อารมณ์นั้นจะหมดไป ได้ความสุขมาแทนที่ ทำให้มีใจสบาย



    วิเคราะห์สาเหตุของความโกรธ



    บัดนี้มาลองแยกความโกรธที่เกิดจากรูปไม่ถูกตา เห็นหน้าตาท่าทางคนนั้นคนนี้แล้วขัดตา ดูไม่ได้กวนโทโส บางคนบ่นตำหนิการแต่งกายของเด็กสาวสมัยใหม่ว่าไม่น่าดู เห็นแล้วเกิดโทสะ เป็นลูกเป็นหลานก็อยากตีอยากว่า บางคนดูภาพตามหนังสือพิมพ์แล้วส่ายหน้า ตำหนิว่าดูไม่ได้น่ารังเกียจ ยังมีรูปไม่ถูกตาอีกหลายประการ



    เช่นเดียวกับเสียงที่ไม่ถูกหูเพราะเหตุผลเดียวกัน คือทุกคนที่เป็นปุถุชน ย่อมจะมีรูปไม่ถูกตาของตนอยู่ด้วยกันทั้งนั้น และไม่ตรงกันก็มีเป็นอันมาก ดังตัวอย่าง บางคนโดยเฉพาะเด็กหนุ่ม ๆ สาว ๆ เห็นผมทรงสมัยใหม่ของพวกเขาน่าดูที่สุด บางคนดูภาพตามหนังสือต่าง ๆ แล้วถึงกับต้องเก็บรวบรวมไว้เพื่อดูแล้วดูอีก เพราะชอบมาก ขณะที่ดังกล่าวแล้ว บางคนตำหนิภาพเหล่านั้นรุนแรงว่าน่ารังเกียจไม่น่าให้ผ่านสายตา



    พิจารณาตามตัวอย่างที่ยกมานี้ ก็จะเห็นเหมือนเมื่อพิจารณาตัอย่างเสียงที่ไม่ถูกหูที่กล่าวไว้แล้ว คือจะเห็นว่าสาเหตุเดียวกันแต่ก่อให้เกิดผลไม่เหมือนกัน คนหนึ่งชอบคนหนึ่งไม่ชอบ



    สาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่การปรุงของใจ มิใช่อยู่ที่อะไรอื่น จะโลภก็เพราะใจปรุงให้โลภ จะโกรธก็เพราะใจปรุงให้โกรธ จะหลงก็เพราะใจปรุงให้หลง หรือจะสุขก็เพราะใจปรุงให้สุข จะทุกข์ก็เพราะใจปรุงให้ทุกข์ ดังนั้นสิ่งที่ควรระมัดระวังที่สุด คือ การปรุงของใจตนเองนี้แหละมิใช่การกระทำของคนอื่น คนอื่นจะทำอะไรอย่างไร ถ้าเราระวังการปรุงของใจของเราเองให้ถูกต้องแล้ว ความทุกข์ของเราจะไม่เกิด เพราะการกระทำของเขาเลย…



    เมื่อพิจารณามาถึงตรงนี้ คือตรงผู้โกรธเท่านั้นที่เป็นทุกข์ พิจารณาจนเห็นจริงว่า ผู้โกรธเท่านั้นที่เป็นทุกข์จริง ๆ ซึ่งจะต้องเห็น แม้จะเห็นเพียงครู่ยามแล้วลืมก็จะต้องเห็น เพราะตนเองเป็นทุกข์อยู่เพราะความโกรธจริง ๆ



    เมื่อเห็นแล้วว่าผู้โกรธเท่านั้นที่เป็นทุกข์ ให้พิจารณาย้อนไปอีกว่าความโกรธเกิดเพราะความปรุงเช่นใด ก็จะเห็นว่าตนได้คิดปรุงไปเช่นใด เมื่อจะแก้ไม่ให้เกิดความโกรธ ก็จะ ต้องไม่คิดปรุงเช่นนั้น จะต้องเปลี่ยนวิธีปรุงคิดเสียใหม่



    ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ความปรุงของใจเป็นสิ่งสำคัญ ทำความรู้ความเข้าใจในเรื่องความปรุงของใจเสียก่อน ให้เห็นแน่ชัดเสียก่อนว่า ความโกรธหรือความไม่โกรธ ไม่ได้เกิดจากเสียงภายนอกมากระทบหู แต่ความโกรธหรือไม่โกรธ ชอบหรือไม่ชอบ เกิดจากความคิดปรุงแท้ ๆ ความปรุงคิดของใจเรานี้แหละ ที่ทำให้เกิดความชอบไม่ชอบ ความโกรธหรือไม่โกรธ เมื่อความชอบหรือไม่ชอบ ความโกรธหรือไม่โกรธ



    เกิดขึ้นเพราะความปรุงคิด จึงมิได้เกิดเพราะบุคคลภายนอก แต่เกิดจากตัวเองเท่านั้น ตัวเองนี้แหละเป็นเหตุให้ชอบหรือไม่ชอบ โกรธหรือไม่โกรธ เวลาเกิดความไม่ชอบหรือความโกรธ จึงควรมีสติรู้ว่าตัวเองเป็นผู้ทำให้เกิด



    ไม่มีผู้อื่นมาทำ เมื่อใจไม่ส่งออกไปโทษผู้อื่นว่าเป็นเหตุ ใจรับความจริงว่าตนเองเป็นเหตุ ความโกรธก็จะลดน้อยถึงหยุดลงได้ สำคัญต้องมีสติรู้ว่า ความโลภ ความโกรธ ความหลง เกิดเพราะความปรุงในจิตใจของเราเอง มิได้เกิดเพราะบุคคลหรือวัตถุภายนอก



    นี่พูดถึงเมื่อความโกรธเกิดขึ้นแล้ว ให้ดับด้วยการมีสติรู้ความจริงว่าตนเป็นผู้ทำ แต่ถ้าพูดถึงการป้องกันมิให้ความโกรธเกิด จะต้องฝึกให้สติเกิดเร็วขึ้นอีก และดังกล่าวแล้วในตอนต้น ๆ จะต้องฝึกให้เกิดเหตุผลและปัญญา รวมทั้งเมตตากรุณาด้วย การฝึกในเรื่องเหล่านี้จำเป็นต้องทำเมื่อความโกรธยังไม่เกิดขึ้นในจิตใจ หรือเมื่อเกิดแล้วแต่ดับแล้ว



    ... สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก...
     
  2. sutthida

    sutthida เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 มิถุนายน 2006
    โพสต์:
    624
    ค่าพลัง:
    +3,388
    โดยปกติแล้ว เอเอ ก็เป็นคนที่ไม่โกรธใครนะ เป็นคนอารมณ์ดี ยิ้มง่าย จนคนเขาหาว่าเราอารมณ์ดีผิดปกติเกินไปหรือเปล่า พยายามที่จะไม่โกรธใคร เพราะว่าถ้าลองได้โกรธใครแล้วจะโกรธนาน เรามีเคล็ดลับที่เราลองใช้แล้วได้ผลมาฝากเพื่อนๆด้วย เราเป็นคนที่ชอบสวดมนต์ แล้วเราก็นับถือเจ้าแม่กวนอิมมาก เราสวดบทเจ้าแม่กวนอิมเป็นบทสวดที่ดีมาก ตั้งแต่สวดบทเจ้าแม่กวนอิม เรารู้สึกว่าเราใจเย็นขึ้นมาก ไม่โกรธใครเลย ต่อให้โดนด่าเรายังยิ้มให้คนที่ด่าเราด้วยซ้ำ จนคนอื่นเขาหาว่าเราติ๊งต๊องกัน เราว่าคงเป็นอานิสงค์ของการสวด เพราะว่าเจ้าแม่กวนอินท่านเป็นพระโพธิสัตย์แห่งความเมตตา เราก็เลยพลอยได้อานิสงค์ไปด้วย
     
  3. motana

    motana เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    28 สิงหาคม 2006
    โพสต์:
    54
    ค่าพลัง:
    +233
    การโกรธคือการจุดไฟเผาให้ตัวเอง
    จุดไฟเผาอย่างไร เมื่อโกรธร่างกายจะร้อน ตาจะร้อน หูจะร้อน หน้าจะร้อน และใจจะร้อน เหมือนมีคนเอาไฟมาสุมที่ตัว เมื่อกายร้อนก็ไม่สบายสะสมมะเร็งสะสมความเครียดเกิดทุกขเวทนา คนที่ทำให้เราโกรธนั้นไม่ได้ทุกข์ตาม เมื่อใจร้อนก็ขาดสติ เมื่อขาดสติ ทำการอันใดก็ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควร ก็ทุกข์ ผู้ทำให้เราโกรธนั้นหาทุกข์ตามไม่ เมื่อใจร้อนกายร้อนอยากหาที่ระบายก็ไปพาลกับคนรอบตัวทำให้คนรอบตัวเศร้าหมอง ทำให้ผู้น่ารักกลายเป็นผู้น่าเกลียดในสายตาผู้ถูกพาล และโดนตำหนิว่ากล่าว เมื่อโดนตำหนิว่ากล่าว เราก็ทุกข์ ผู้ทำให้โกรธหาทุกข์ด้วยไม่

    ดังนี้เมื่อปฏิบัติตรงกันข้ามฝ่ายที่ยั่วยุให้โกรธย่อมประหลาดใจเพราะทำให้เราทุกข์ตามปราถนาเขาไม่ได้ ใจเขานั้นกลับโดนสุมไฟแทน เราจึงควรแผ่เมตตาใ้ห้ไฟของเขาดับลง

    อีกประการหากพิจารณาว่าถ้าผู้ทำให้เราโกรธโดนการกระทำกลับอย่างรุนแรงกว่าที่เราตั้งใจจนเขาเกิดทุกขเวทนาแสนสาหัสเราจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ และหากเขาเป็นตัวเราแล้วเราจะพอใจให้เป็นเช่นนั้นหรือไม่ อนึ่งหากยังไม่มีสติยั้งคิดได้ดังนี้ก็ทำการนับเลขในใจไปเรื่อยๆหรือพิจารณาสติตามไป

    เรื่องของใจนั้นมันเป็นลูกโซ่โทสะหรือความโกรธมาจากสิ่งใดก็มาจากมานะยึดมั่นใจตนมากว่าเรานี้ดีโดยแท้หามีข้อตำหนิไม่ หากพิจารณาตามสภาพให้เห็นโทษของการถือตัวก็อาจลดโทสะได้ด้วยส่วนนึง
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 4 ตุลาคม 2006

แชร์หน้านี้

Loading...