เลาะราชบุรี ชมเสน่ห์เมืองโบราณ

ในห้อง 'ท่องเที่ยว - อาหารการกิน' ตั้งกระทู้โดย vacharaphol, 23 สิงหาคม 2009.

  1. vacharaphol

    vacharaphol เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    26 ตุลาคม 2005
    โพสต์:
    8,849
    ค่าพลัง:
    +27,172
    นับเป็นความกล้าหาญของท้องถิ่นที่มีจิตใจตั้งมั่นในการดูแลโบราณสถานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอันน่าภาคภูมิใจ ราชบุรีเป็นหนึ่งในท้องถิ่นเหล่านั้น เมื่อกรมศิลปากรชวนให้เราร่วมเส้นทางเมืองโบราณราชบุรี โดยมีจุดหมายปลายทางที่ได้แรงบันดาลใจจากความศรัทธาของชุมชนที่ปกป้องดูแลรักษามรดกของชาติ ชุมชนโบราณโพหัก อ.บางแพ และเมืองโบราณคูบัว อ.เมืองฯ ดูจะเป็นทำเลที่น่าไปเยี่ยมเยือนมากที่สุด
    ไม่ใช่หวังเพียงยลความเก่าแก่ของเมืองโบราณ หรือเจาะจงไปซึมซับความงดงามของศิลปะสมัยก่อน ทว่าเหตุผลสำคัญของการมาเยือนเมืองนี้อยู่ที่ความน่าสนใจของการจัดสถานที่เป็นแหล่งเรียนรู้ทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าที่น่าพิศวง เป็นเพชรเม็ดงามที่ชาวบ้านตระหนักในคุณประโยชน์ และช่วยกันปกปักรักษาไว้อย่างดี ชวนให้ต้องติดตามไปดู
    เส้นทางเมืองโบราณราชบุรี มีจุดเริ่มต้นอยู่ที่วัดใหญ่โพหัก ต.โพหัก อ.บางแพ ที่น่าสนใจก็คือ พระอุโบสถหลังเก่าวัดใหญ่โพหัก ตามคำบอกเล่าของ ลุงเลี่ยม แก้วทิมา วัย 76 ปี ผู้ที่เห็นโบราณสถานแห่งนี้มาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันเป็นหนึ่งอาสาสมัครท้องถิ่นดูแลมรดกศิลปวัฒนธรรมและประธานสภาผู้อายุตำบลโพหัก วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ของชุมชน นับอายุได้ 170 ปีแล้ว โดยถือตามประวัติการสร้างในสมัยเจ้าประคุณในโกษฐ หรือหลวงพ่อทองดี อดีตเจ้าอาวาส
    อาคารก่ออิฐถือปูน หลังคาเครื่องไม้มุมกระเบื้องทรงทึบชั้นเดียว มีชายคาปีกนกโดยรอบ ไม่มีช่อฟ้าใบระกา ปั้นลมตกแต่งด้วยปูนปั้นรูปเถาไม้ประดับเครื่องถ้วยชามเคลือบและเครื่องปั้นดินเผา หน้าบันลวดลายมังกรเป็นปูนปั้นเช่นกัน เมื่อพินิจพิเคราะห์ศิลปะความงามที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า ก็รับรู้ถึงอิทธิพลศิลปะจีนแบบพระราชนิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่วัดแห่งนี้ได้รับ เช่นเดียวกับวัดอื่นๆ ที่มีอยู่ในเมืองหลวง
    เดินเข้าสู่พระอุโบสถ มีพระพุทธรูปหินทรายแดงลงรักปิดทองประทับนั่ง ที่เป็นศิลปะสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายประดิษฐานอยู่หลายองค์ ร่องรอยความเก่าแก่ของวัดใหญ่โพหักยังมีให้ดูจากพระวิหารอุดหลังเก่าอายุประมาณ 300 ปี ซึ่งมีเจดีย์ตั้งเรียงรายอยู่กับวิหารแห่งนี้ สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยอยุธยาตอนปลาย
    ลุงเลี่ยม ชาวโพหักมองดูวัดแห่งนี้ด้วยความเคารพ ศรัทธา และพูดถึงตำนานชุมชนโบราณโพหักนี้ว่า พญาพานได้ยกทัพจะไปรบกับพญากง ผู้เป็นบิดา ผ่านมาบริเวณบ้านโพหักนี้ เห็นทำเลดีจึงหยุดพักไพร่พล กองทัพได้เอาศาสตราวุธที่นำมาด้วยไปพิงไว้กับต้นโพธิ์ ทำให้ต้นโพธิ์หัก เป็นอาเพทบอกเหตุว่า พญาพานจะฆ่าพ่อตัวเอง จึงได้ชื่อว่า "ตำบลโพหัก" อีกตำนานเล่าขานมาสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พม่ายกทัพมาตีกรุงศรี หยุดพักพลที่ตำบลนี้ ทหารพม่าเอาปืนใหญ่ไปพิงไว้กับต้นโพธิ์ทำให้ต้นโพธิ์หักลง ก็เรียกที่พบปะกัน บริเวณนี้ว่า "โพหัก"
    กาลเวลาผ่านมา วัดเก่าแก่แห่งนี้ในชุมชนโพหักทรุดโทรมลง เดิมทีชาวโพหักต่างช่วยกันบูรณะซ่อมแซมตามวิถีพื้นถิ่น อาจมีความเปลี่ยนแปลงกับศาสนสถานแห่งนี้บ้าง ถึงกระนั้นวัดแห่งนี้ก็ไม่ถูกละเลย วัดยังคงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางชุมชน แหล่งเรียนรู้ของอนุชนคนรุ่นหลังอย่างแข็งขันจวบจนทุกวันนี้ และเมื่อถึงเทศกาลสงกรานต์จะมีการแห่พระ ลานโล่งในวัดจะคลาคล่ำด้วยผู้คน
    นอกจากสงกรานต์แล้วเข้าพรรษาจะจัดงานสืบสานประเพณีวิถีดั้งเดิมชาวโพหัก มีร่ายรำเพลงนวดข้าว เพลงรำวง และอีกสิ่งหนึ่งกำลังจะเกิดขึ้นเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้สื่อถึงวิถีคนโพหักนักท่องเที่ยวจะเยี่ยมชมได้ปีหน้า ขณะที่การทำนุบำรุงวัดใหญ่โพหักในเวลานี้ ชุมชนนำโดยสภาผู้สูงอายุที่มีสมาชิกกว่าสองพันคนจับมือกับกรมศิลปากรเพื่อดูแล รักษา และคุ้มครองมรดกเข้มข้นยิ่งขึ้น เรียกว่า ที่นี่มีคุณสมบัติชุมชนเข้มแข็งจริงๆ
    หลังเพลินเดินชมวัดใหญ่โพหักจนทั่ว ช่วงบ่ายเราลัดเลาะเส้นทางราชบุรีไปถึงวัดโขลงสุวรรณคีรี อ.เมืองฯ ซึ่งเป็นโบราณสถานหนึ่งของเมืองคูบัว การค้นพบเมืองโบราณนี้ทำให้วงการโบราณคดีตื่นตะลึงและทำให้ชื่อเมืองคูบัวโด่งดังในฐานะเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยทวารดี ดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาคูบัวเพื่อจะได้ชมโบราณสถานด้วยตาของตนเองสักครั้งหนึ่งในชีวิต เราประทับใจเมืองคู่บัวตรงที่มีคนในพื้นที่ร่วมมือร่วมใจบำรุงรักษามรดกคู่เมืองราชบุรีแห่งนี้ ทำให้สถานที่เป็นระเบียบและดูสะอาดตา
    และยิ่งประทับใจมากขึ้นเมื่อการเดินชมโบราณสถานสำคัญ คือ โบราณสถานหมายเลข 18 วัดโขลงสุวรรณคีรี ได้มัคคุเทศก์น้อยที่มีดีกรีชนะเลิศโครงการสถานศึกษาดีเด่นในการรักษามรดกทางวัฒนธรรม ปี 2552 จากสำนักศิลปากรที่ 1 ราชบุรี พาเราย้อนเวลาหาอดีตทำให้เห็นภาพเมืองคูบัวเด่นชัดยิ่งขึ้น น้องริน-เด็กชายสาริน มูลเมือง นักเรียนชั้น ม.3 โรงเรียนแคทรายวิทยา ช่วยอธิบายให้ฟังว่า ที่แห่งนี้มีการสำรวจตั้งแต่ปี 2500 จนถึงปัจจุบันก็ยังสำรวจเพิ่มเติม พบโบราณถานแล้วมากกว่า 60 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา ทั้งลัทธิเถรวาทและมหายาน ส่วนฐานโบราณสถานจะตกแต่งด้วยประติมากรรมดินเผาและปูนปั้น ภาพเล่าเรื่องชาดก โบราณสถานส่วนใหญ่สร้างด้วยอิฐขนาดใหญ่ พบเพียง 2 แห่งที่ใช้ศิลาแลงเป็นฐาน คือ โบราณสถานหมายเลข 18 และ 19
    นอกจากโบราณสถาน ยังมีโบราณวัตถุที่ทำขึ้นด้วยความศรัทธาในพุทธศาสนา อย่างพระพุทธรูป เทวรูป ส่วนโบราณวัตถุที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ที่น่าสนใจ เช่น ภาชนะดินเผา เบี้ยดินเผา เครื่องมือเครื่องใช้ ตลอดจนเครื่องประดับและอาวุธที่ทำจากหิน แล้วยังมีตุ้มหู แหวน กำไล ลูกปัด "หลักฐานทางโบราณคดีชี้ว่าดินแดนราชบุรีนี้เคยเป็นเมืองท่าที่เจริญรุ่งเรืองในยุคทวารวดี และแสดงให้เห็นว่าพุทธศาสนาเข้ามาในไทยมากกว่า 1,000 ปี" น้องริน เด็กรุ่นใหม่ผู้มีใจรักวัฒนธรรมย้ำ วันนั้นเราเลือกชมเฉพาะโบราณสถานสำคัญ ระยะทางระหว่างโบราณสถาน แม้จะต้องขับรถไป แต่ทางกรมศิลปากรทำป้ายบอกทางไว้อย่างดี และที่สำคัญจะได้สัมผัสบรรยากาศชุมชนที่มีความสืบเนื่องมาจากชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณแถบนี้
    ถ้ายังไม่จุใจ แนะนำให้เดินมาในบริเวณวัดโขลงสุวรรณคีรี จะมี "จิปาถะภัณฑ์สถานบ้านคูบัว" ของ ดร.อุดม สมพร จัดแสดงเมืองจำลองสมัยทวารวดี "เมืองคูบัว" ตลอดจนวัตถุโบราณที่เป็นเศษเหลือจากการค้นพบในเมืองคูบัว ทั้งพวกชิ้นส่วนเทวรูป ภาชนะดินเผา และพวกลูกปัดในบรรยากาศคล้ายสถานที่จริง ที่สำคัญคือ จัดแสดงวิถีชีวิตชาวไท-ยวน ชาติพันธุ์หนึ่งในราชบุรี ซึ่งอพยพจากเมืองเชียงแสนมาลงหลักปักฐานที่ราชบุรีนานกว่า 200 ปีแล้ว ทำมาหากินสืบเนื่องมาจนทุกวันนี้ ชาวไท-ยวนบ้านคูบัวปัจจุบันสืบทอดกันมาเป็นรุ่นที่ 5
    เครื่องมือทำมาหากินและของใช้ถูกนำเสนออย่างแยบยล แถมยังมีห้องจัดแสดงภูมิปัญญาทอผ้าจก ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่อยู่ในสายเลือดชาวไท-ยวนทุกคน และห้องอนุรักษ์ผ้าโบราณ แต่ละผืนเป็นผ้าซิ่นตีนจกโบราณ ได้ซึมซาบถึงความประณีตของช่างทอ ที่นี่รวบรวมหลายต่อหลายเรื่องราวที่เป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน แม้ผู้ก่อตั้งสถานที่แห่งนี้จะไม่เรียกตัวเองว่าเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่เราในฐานะผู้มาเยือนได้อิ่มเอมกับวัฒนธรรมพื้นถิ่น ยลของดีมีค่า หาดูได้ยาก ขอยกย่องให้เป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นที่สมบูรณ์และน่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของไทย ที่สำคัญคือไม่เก็บค่าเข้าชม แต่มีตู้บริจาคให้ร่วมทำนุบำรุงตามอัธยาศัย ตลอดหนึ่งวันได้เต็มอิ่มกับเมืองโบราณราชบุรี ได้เยี่ยมชมโบราณสถาน ซึมซาบกับบรรยากาศแห่งอดีต นับเป็นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่น่าประทับใจไปอีกแบบ

    เลาะราชบุรี ชมเสน่ห์เมืองโบราณ | ไทยโพสต์
     
  2. yookuso

    yookuso เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    11 ธันวาคม 2008
    โพสต์:
    99
    ค่าพลัง:
    +165
    อนุโมทนาค่ะ ถ้าไปแล้ว อย่าลืมไปไหว้เจ้าแม่กวนอิม บนยอดเขา ที่วัดหนองหอยด้วยนะคะ
     

แชร์หน้านี้

Loading...