หมดสงสัย

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย น้ำมนต์, 18 มกราคม 2006.

  1. น้ำมนต์

    น้ำมนต์ เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    15 มิถุนายน 2005
    โพสต์:
    213
    ค่าพลัง:
    +1,159
    [​IMG]
    หมดสงสัย


    มีพระเถระองค์หนึ่งในครั้งพุทธกาล อยากจะปฏิบัติให้ถูกต้อง อยากจะรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด ให้มันแน่นอนเที่ยวออกไปอยู่องค์เดียว ว่าอยู่หลายองค์มันวุ่นวาย อยู่องค์เดียวทำสมาธิไปเรื่อยๆ สมาธิก็สงบบ้างไม่สงบบ้างเอาแน่นอนไม่ได้ บางทีก็ขี้เกียจ บางทีก็ขยัน เกิดความสงสัยเพราะกำลังหาทางปฏิบัติอยู่
    พอดีได้ยินกิตติศัพท์อาจารย์คณาจารย์ที่ปฏิบัติด้วยกันมีมากในสมัยนั้น ได้ยินกิตติศัพท์ว่า พระ ก เป็นอาจารย์สอนปฏิบัติ คนไปฟังธรรมมาก กิตติศัพท์ของท่านว่าปฏิบัติดี ก็มานั่งคิด เออ เผื่อองค์นี้จะถูก ก็ไปฟังท่านเทศน์.ไปปฏิบัติกับท่าน ฟังท่านเทศน์แล้วก็เอามาปฏิบัติอยู่องค์เดียว บางสิ่งก็เหมือนกับตัวเราคิดบ้าง บางอย่างก็ไม่เหมือนกัน ความสงสัยก็เกิดขึ้นเรื่อยไม่หยุด อยู่ไปอีกก็มีอาจารย์ ข ข่าวว่าท่านปฏิบัติดีด้วยเก่งด้วย เกิดความสงสัยก็ไปอีก ไปฟัง ได้ความแล้วก็มาปฏิบัติ เทียบองค์นี้กับองค์นั้น ก็ไม่เหมือนกัน เทียบองค์นั้นกับองค์นั้น ก็ไม่เหมือนกัน กับความคิดของเรานี้ ก็ไม่เหมือนกันอีก แปลกไปเรื่อย ความสงสัยก็ยิ่งมากขึ้น
    อยู่ไปได้ข่าวอีก พระ ค อาจารย์ ค เก่งเหมือนกัน เขาร่ำลือมา อดไม่ได้ อยากจะไปอีก ไปปฏิบัติกับท่าน ท่านจะเทศน์ยังไงปฏิบัติยังไง ก็ไป ไปฟังธรรมะท่านเหมือนกันบ้าง ไม่เหมือนกันบ้างเอามาคิด องค์นั้นทำไมทำอย่างนั้น องค์นี้ทำไมทำอย่างนี้ รวมความเห็นของอาจารย์เข้าด้วยกัน แล้วก็มารวมความเห็นของเราไปกันคนละอย่าง เลยไม่เป็นสมาธิ องค์นั้นเป็นยังไง องค์นี้เป็นยังไง ความฟุ้งซ่านยิ่งเกิดขึ้น ก็ยิ่งทำให้หมดกำลัง ไม่สบาย สงสัยไม่หาย
    วันหลังมาได้ข่าวว่าพระศาสดาพระโคดมเกิดขึ้นในโลก ยิ่งหนักใหญ่เลยทีนี้ อดไม่ได้อีก ไปอีก ไปกราบท่าน ไปฟังธรรมะท่าน ท่านก็เทศน์ให้ฟัง ท่านว่า ไปทำความเข้าใจกับคนอื่นให้หายความสงสัยนั้นไม่ได้ ยิ่งฟัง ยิ่งสงสัย ยิ่งฟังก็ยิ่งแปลก พระพุทธองค์ท่านตรัสว่าความสงสัย ไม่ใช่ว่าจะให้คนอื่นตัดให้เรา ไม่ใช่คนอื่นจะแก้ความสงสัยให้เรา องค์อื่นก็อธิบายเรื่องความสงสัยเท่านั้นแหละ เราก็จับมาปฏิบัติให้มันรู้เองเห็นเอง ท่านบอกว่า "อยู่ในกายของเรานี้แหละ รูปเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันนี้เป็นอาจารย์ของเรา ให้ความเห็นแก่เราอยู่แล้ว" แต่เราขาดการภาวนา ขาดการพิจารณา
    ท่านบอกว่าจะระงับความสงสัยให้พิจารณากายกับใจของตัวเองเท่านั้นแหละ อดีตก็ให้ทิ้ง อนาคตก็ให้ทิ้ง ให้รู้ทิ้ง ให้รู้ รู้แล้วทิ้งไม่ใช่ไม่รู้ รู้ทิ้ง อดีตทำดีมาแล้ว ชั่วมาแล้ว อะไรๆมาแล้ว อดีตที่ผ่านมาแล้วก็ทิ้ง เพราะว่าไม่เกิดประโยชน์อะไร ที่ดีก็ดีแล้ว ผิดก็ผิดแล้ว ถูกก็ถูกแล้ว ปล่อยทิ้งไป อนาคตก็ยังไม่มาถึง อะไรจะเกิดก็ในอนาคต จะดับก็ในอนาคต อันนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่น รู้แล้วก็ทิ้งทิ้งอดีต สิ่งที่เกิดในอดีตก็ดับไปแล้ว เอามาคิดมากทำไม คิดแล้วก็ปล่อยไป ธรรมนั้นเกิดในอดีต เกิดแล้วก็ดับไปแล้วในอดีต ปัจจุบันจะเอามาคิดทำไม รู้แล้วก็ปล่อย ให้รู้ปล่อย ไม่ใช่ไม่ให้คิดเห็นคิดเห็นแล้วก็ปล่อย เพราะมันเสร็จแล้ว อนาคตที่ยังไม่มาถึงนั้นธรรมในอนาคตเกิดในอนาคต อะไรที่เกิดในอนาคตก็จะดับในอนาคตนั้น ให้รู้แล้วปล่อยเสีย อดีตก็เรื่องของไม่เที่ยงเหมือนกัน อนาคตก็ไม่แน่นอนเหมือนกัน ให้รู้แล้วก็ปล่อย เพราะเป็นของไม่แน่นอน ดูปัจจุบันเดี๋ยวนี้ ดูปัจจุบันเราทำอยู่นี่ ท่านอย่าไปดูอื่นไกล


    ถูกของเขา-ถูกของเรา

    พระพุทธองค์ท่านสอนว่า คนที่ยังเชื่อคนอื่นอยู่นั้น ท่านไม่สรรเสริญ บุคคลยังดีใจเสียใจกับคำคนอื่นที่พูด หรือกระทำ ตรงนั้นพระพุทธเจ้ายังไม่สรรเสริญ เพราะเป็นของของคนอื่นเขา รู้แล้วต้องวาง ถึงแม้จะถูกก็ถูกคนอื่นเขา ถ้าเราไม่เอามาทำให้มันถูกที่ใจเราแล้วความถูกก็ไม่มาถึงเรา ถูกอยู่โน้น อาจารย์นั้นผิดอยู่โน้น ถูกอยู่โน้นไม่มาถูกถึงเรา ถูกก็จริงแต่มันถูกคนอื่น ไม่ถูกเรา หมายความว่าถ้าไม่ปฏิบัติในจิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านไม่สรรเสริญ
    ผมเคยเทศน์บ่อยๆว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามา ให้มันรู้ให้มันเห็นให้มันเป็น อย่างเขาว่าถูกแล้วก็เชื่อ ไม่ถูกก็เชื่อ อย่าทำอย่างนั้น ถูกก็ถูกเรื่องคนอื่นเขาพูด เอาเรื่องอันนั้นมาปฏิบัติให้เกิดกับจิตเจ้าของในปัจจุบันนี้ ให้มีพยานในตัวของตัวนี้ ผมเคยพูดให้ท่านฟังเสมอว่าผลไม้นี้เปรี้ยว อย่างนี้ เอาผลไม้นี้ไปทานเสีย เอาไปฉันมันเปรี้ยวนะนี่บางคนก็เชื่อ อย่างท่านก็จะเชื่อว่ามันเปรี้ยว ความเชื่อของท่านน่ะมันเป็นโมฆะ ไม่มีความหมายอะไรมากมาย เพราะที่ท่านว่าเปรี้ยวน่ะท่านเชื่อจากผมพูดว่ามันเปรี้ยว เท่านั้นละ พระพุทธเจ้ายังไม่สรรเสริญแต่เราก็ไม่ทิ้ง เอาไปพิจารณา เอาผลไม้มาฉันดูเสีย เมื่อความเปรี้ยวปรากฏขึ้นมานั้น เรียกว่าเรามีพยานในตัวแล้ว ท่านว่าเปรี้ยว เราเอามาฉันดู ก็เปรี้ยว นี่สองอย่างแล้ว เชื่อแล้วทีนี้ เพราะเรามีพยานท่านครูบาอาจารย์มั่นท่านเรียกว่าเป็น สิขีภูโต อันนี้เป็นพยานในตัวของตัวแล้ว สิ่งที่เรารู้จากคนอื่น ไม่มีใครเป็นพยาน เอาคนอื่นเป็นพยานเท่านั้น อันนี้ให้ห้าสิบเปอร์เซ็นต์เรารู้จากท่านว่าผลไม้นี้เปรี้ยว นี่ได้เพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราเอาผลไม้นั้นมาฉันดู เปรี้ยวอีก ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เพราะคนบอกมาว่าเปรี้ยว เราเอามาฉันดูก็เปรี้ยวอย่างนี้เป็นร้อยเปอร์เซ็นต์เลย เป็น สิขีภูโต ได้พยานกับตัวเกิดขึ้นมาแล้วอย่างนี้ ฉะนั้น จึงว่า โอปนยิโก น้อมเข้ามาให้เป็น ปัจจัตตัง (รู้เฉพาะตัว) เห็นอยู่กับคนอื่น ไม่ใช่เห็น ปัจจัตตัง เห็นนอกปัจจัตตัง ไม่เห็นเฉพาะจิตของเจ้าของ เฉพาะตัวของเรา เห็นจากคนอื่น แต่ก็ไม่ควรประมาท ให้เป็นที่ศึกษาของเรา เป็นข้อศึกษาของเราเหมือนกันคล้ายๆกับว่าเราเห็นในหนังสือ อ่านหนังสือพบ เราก็เชื่อ แต่จิตเรายังไม่เป็น นี่มันก็ยังไม่เกิดประโยชน์เต็มที่ มันเพียงห้าสิบเปอร์เซ็นต์เท่านั้น มาปฏิบัติในจิตของเจ้าของ ให้จิตเราเป็นอย่างนั้น รู้อย่างนั้นเป็นอย่างนั้น อย่างนี้มันจึงเป็นร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องสงสัยแล้ว ถ้าเรารู้ในตัวของเราเอง มันหายสงสัย มันหมดเลย
     
    แก้ไขครั้งล่าสุด: 18 มกราคม 2006
  2. kiwibird

    kiwibird เป็นที่รู้จักกันดี

    วันที่สมัครสมาชิก:
    29 พฤศจิกายน 2005
    โพสต์:
    49
    ค่าพลัง:
    +288
    ขออนุโมทนา สาธุครับ
     

แชร์หน้านี้

Loading...