อาหารเสริมพลังงาน

ในห้อง 'จิตวิทยา & สุขภาพ' ตั้งกระทู้โดย HONGTAY, 21 กันยายน 2008.

  1. HONGTAY

    HONGTAY ผู้ดูแลเว็บบอร์ด ทีมงาน ผู้ดูแลเว็บบอร์ด

    วันที่สมัครสมาชิก:
    27 กุมภาพันธ์ 2007
    โพสต์:
    36,551
    กระทู้เรื่องเด่น:
    151
    ค่าพลัง:
    +147,876
    [​IMG]

    ภญ.อรอนงค์ กังสดาลอำไพ

    คนเราจำเป็นต้องใช้พลังงานตลอดเวลาแม้กระทั่งในเวลาหลับ ในขณะนอนหลับร่างกายต้องใช้พลังงานในการหายใจ การสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ การควบคุมอุณหภูมิ การกำจัดของเสียออกจากร่างกาย และการสร้างเนื้อเยื่อสำหรับการเจริญเติบโตและซ่อมแซมส่วนที่ถูกทำลายไป ในขณะที่ตื่นร่างกายต้องการพลังงานเพิ่มขึ้นสำหรับการเคลื่อนไหว เช่น ยืน เดิน วิ่ง คุย กิน และย่อยอาหาร ในภาวะที่ร่างกายได้รับอาหารที่ให้พลังงานไม่เพียงพอ หรือไม่สามารถเผาผลาญอาหารได้เต็มที่จะทำให้อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย

    ร่างกายใช้คาร์โบไฮเดรตเป็นแหล่งพลังงานหลัก ถ้าร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตไม่เพียงพอก็จะนำโปรตีนและไขมันมาใช้เป็นพลังงาน อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูงได้แก่ ข้าว แป้ง ขนมปัง น้ำตาล เผือก มัน เป็นต้น อาหารเหล่านี้จะให้พลังงานแก่ร่างกายได้จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ ตั้งแต่การย่อยในทางเดินอาหารจนได้โมเลกุลขนาดเล็กเรียกว่ากลูโคส หลังจากนั้นกลูโคสจะถูกดูดซึมผ่านผนังลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดเพื่อนำไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายเพื่อเผาผลาญให้เป็นพลังงานออกมา ซึ่งการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงานนี้จะต้องผ่านกระบวนการต่างๆ อีกหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนจะต้องใช้เอนไซม์ วิตามินและเกลือแร่ช่วยในกระบวนการเผาผลาญนี้


    วิตามินและแร่ธาตุที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานได้แก่ วิตามินบี1 บี2 ไนอาซิน ไบโอติน กรดแพนโทธินิก เหล็ก และทองแดง การขาดสารอาหารเหล่านี้จะทำให้ร่างกายเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงานได้ช้าลง ส่งผลให้รู้สึกอ่อนเพลียเหมือนกับการขาดพลังงานได้ คนที่รับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่ ในปริมาณที่เหมาะสมและรับประทานอาหารหลากหลายน่าจะได้รับวิตามินและแร่ธาตุดังกล่าวเพียงพอกับความต้องการ เช่น วิตามินบี1 มีมากในเนื้อหมู ข้าวซ้อมมือ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง ส่วนข้าวขาวหรือข้าวขัดสีแล้วมีวิตามินบี1 น้อยกว่าข้าวซ้อมมือ เนื่องจากวิตามินบี1 ส่วนใหญ่จะอยู่ที่จมูกข้าวและรำข้าว นอกจากนี้อาหารบางชนิด เช่น ปลาร้าดิบ ชาและกาแฟต่างมีสารทำลายวิตามินบี1

    ส่วนอาหารที่มีวิตามินบี2 สูงได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ไข่และน้ำนม อาหารที่มีไนอาซินสูงได้แก่ เครื่องในสัตว์ เนื้อสัตว์ ถั่วเมล็ดแห้ง รำข้าว ส่วนไบโอตินพบในเนื้อสัตว์ ไข่ น้ำนม ผัก

    ใครที่นิยมรับประทานไข่ดิบเป็นประจำ (สังเกตจากไข่ขาวที่ยังใสอยู่) ต้องระวังอาจทำให้ร่างกายขาดไบโอตินได้ เนื่องจากในไข่ขาวดิบจะมีสารอะวิดิน (avidin) ซึ่งจะจับกับไบโอตินทำให้ร่างกายไม่สามารถดูดซึมไบโอตินไปใช้ได้ ดังนั้นถ้าชอบรับประทานไข่ลวกก็ควรลวกให้สุกสักหน่อยเพื่อทำลายสารอะวิดินนี้ สำหรับกรดแพนโทเธนิกจะพบในอาหารทั่วไป


    เหล็ก มีมากในตับ เนื้อสัตว์ ถั่ว เมล็ดพืช ผักใบเขียว ร่างกายสามารถดูดซึมเหล็กในตับและเนื้อสัตว์ได้ดีกว่าเหล็กที่มีในพืช ดังนั้นผู้ที่นิยมรับประทานอาหารมังสวิรัติอาจขาดเหล็ก ทำให้เกิดโรคโลหิตจางได้ แต่พบว่าวิตามินซีจะช่วยให้ร่างกายดูดซึมเหล็กที่มีในพืชได้ดีขึ้น ดังนั้นผู้ที่รับประทานมังสวิรัติควรรับประทานอาหารที่มีวิตามินซีสูง เช่น น้ำส้มคั้น ฝรั่ง พร้อมอาหาร การขาดเหล็กนอกจากจะมีผลต่อกระบวนการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานแล้วยังส่งผลให้เกิดภาวะโลหิตจาง เลือดไม่สามารถนำออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายได้เพียงพอ ทำให้เฉื่อยชา เหนื่อยง่าย ประสิทธิภาพในการทำงานและการเรียนรู้ลดลง ส่วนทองแดงพบมากในเครื่องในสัตว์ อาหารทะเล เมล็ดพืช ถั่ว เป็นต้น



    [​IMG]


    จึงเห็นได้ว่าสารอาหารที่เกี่ยวข้องกับการเผาผลาญอาหารให้เป็นพลังงานเหล่านี้พบได้ในอาหารที่เรารับประทานตามปกติอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องรับประทานอาหารเสริม แต่ในคนที่เบื่ออาหารและรับประทานอาหารได้น้อยเป็นเวลานานอาจเกิดภาวะการขาดวิตามินและแร่ธาตุเหล่านี้ได้ ซึ่งจะยิ่งส่งผลให้เบื่ออาหารมากขึ้น ถ้าเป็นเช่นนี้อาจจำเป็นต้องให้วิตามินและแร่ธาตุเสริมเพื่อให้กระบวนการย่อยและการเผาผลาญอาหารในร่างกายกลับสู่ภาวะปกติ หลังจากรับประทานอาหารได้ตามปกติแล้วก็ไม่จำเป็นต้องรับประทานเสริม แต่ในผู้สูงอายุซึ่งระบบการย่อยและการดูดซึมอาหารเสื่อมลงไปบ้าง อาจจำเป็นต้องเสริมวิตามินและแร่ธาตุ เช่น ให้รับประทานพวกวิตามินรวม โดยให้พิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณของวิตามินและแร่ธาตุในผลิตภัณฑ์ 0.5-1.5 เท่า และไม่ควรเกิน 10 เท่า ของปริมาณสารอาหารที่ควรได้รับต่อวัน สำหรับไบโอตินและกรดแพนโทธินิกอาจไม่จำเป็นต้องมีในผลิตภัณฑ์ที่รับประทานเสริมเนื่องจากวิตามินทั้งสองนี้พบได้ในอาหารทั่วไป และพบภาวะการขาดน้อยมาก

    อย่างไรก็ตามใครที่มักมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ควรพิจารณาตัวเองด้วย เช่น การนอนหลับพักผ่อนเพียงพอหรือไม่ ซึ่งผู้ใหญ่ควรนอนหลับวันละ 7-8 ชั่วโมง และได้ออกกำลังกายบ้างหรือไม่ การออกกำลังกายช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่า ระบบต่างๆ ในร่างกายจะทำงานได้ดีขึ้น ช่วยกระตุ้นความอยากอาหาร และช่วยให้สุขภาพดีขึ้น หากได้ดูแลตัวเองและรับประทานอาหารเหมาะสม ร่างกายก็สามารถใช้พลังงานจากอาหารได้เต็มที่โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารเสริมเกินความจำเป็น



    ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today
    http://women.impaqmsn.com/articles/647/47001881.html

    -----------------------------------------------------------------------
     
  2. ~Lolita~

    ~Lolita~ สมาชิก

    วันที่สมัครสมาชิก:
    18 กันยายน 2008
    โพสต์:
    31
    ค่าพลัง:
    +12
    ขอบคุณนะคะ ที่นำสาระดีดีมาให้กันทุกวัน
     

แชร์หน้านี้

Loading...