อารมณ์พระอนาคามีผล

ในห้อง 'อภิญญา - สมาธิ' ตั้งกระทู้โดย ยศวดี, 18 พฤศจิกายน 2019.

สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้
  1. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
    อารมณ์พระอนาคามีผล

    line1.jpg


    เมื่อวันพุธที่ ๒ มิ.ย. ๒๕๓๖ หลวงพ่อฤๅษีท่านเมตตามาโปรดลูกสาวในอดีตชาติของท่าน ๒ เรื่อง คือ เรื่องอารมณ์พระอนาคามีผล กับเรื่องไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้ มีความสำคัญดังนี้

    ขณะที่ลูกสาวในอดีตของท่านกำลังทำกรรมฐานตอนเที่ยง เมื่อจิตสงบดีแล้วก็ยกเอาเวทนาของอารมณ์ขึ้นมาพิจารณาว่า ถ้าหากเราไม่สามารถสงบกาย-วาจา-ใจของเราเองให้ได้ ตามที่พระท่าน-หลวงปู่-หลวงพ่อมาสอนให้แล้ว โทษหรือผลไม่ดีย่อมเกิดกับตัวเราเอง หากเราเกิดคิดไม่ดีครั้งใด ท่านย่อมทราบแน่ เมื่อคิดได้ถึงจุดนี้ จิตก็พลันรวมตัว กาย-วาจา-ใจสงบขึ้นมาเองอย่างประหลาด (มีรายละเอียดของอารมณ์ที่เกิดขึ้นดังนี้) เป็นอารมณ์เบา ๆ สบาย ๆ เฉย ๆ ไม่สุข-ไม่ทุกข์ ไม่มีอารมณ์เบื่อเจือปน สามารถจะพิจารณาไปด้วย รู้ลมไปด้วย แต่ไม่มีการภาวนา อารมณ์เบาอย่างประหลาด หลวงพ่อฤๅษีท่านก็มาสอนว่า นี่เป็นตัวอย่างของอารมณ์พระอนาคามีผล แค่ตัวอย่างเท่านั้นนะ ยังไม่ใช่ของจริง ถ้าจริง ๆ อารมณ์นี้จะทรงตัว ท่านถามว่าสบายไหม ก็ตอบว่า สบายอย่างบอกไม่ถูก

    เมื่อกลับจากกรรมฐานแล้ว อารมณ์นั้นก็ยังทรงได้อยู่จนถึงเย็น แล้วก็มาพังเอาตอนก่อนกรรมฐานเย็น สาเหตุจากคำพูดที่มากระทบหู เข้าสู่จิต จิตหวั่นไหวไปกับสิ่งที่มากระทบทางหูนั้น แล้วเกิดอุปาทานคืออารมณ์ปรุงแต่งขึ้น จิตสร้างอกุศลกรรมต่อไป (หมายความว่า จิตถูกกระทบ จิตหวั่น ไหวไปยึดติดกับคำพูดเหล่านั้นมาเป็นเราเป็นของเรา สักกายทิฏฐิก็เกิดคือ เกิดเป็นอัตตา เป็นตัวตนขึ้นมา ทุกข์ก็เกิดตรงนั้น อุปาทานหรืออารมณ์ ๒ พอใจกับไม่พอใจ หรือราคะกับปฏิฆะก็เกิด เพราะจิตไปยึดกับอดีตธรรม คือ คำพูดของเขาไว้ มาเป็นปัจจุบันธรรม เพราะคำพูดทุกคำที่เข้ามากระทบหูแล้ว ก็เป็นอดีตทันที ในทางที่ถูกเมื่อถูกกระทบหู หูรับรู้ แต่รู้แล้ว รับทราบแล้ว จิตแยกโดยฉับพลันว่ามีสาระหรือไม่มีสาระ แล้วปล่อยวาง โดยไม่ปรุงแต่งต่อ เพราะจิตเห็นว่าเป็นธรรมดา จะเห็นได้ว่ามันง่ายนิดเดียว หากใครทำได้อย่างต่ำก็ต้องเป็นพระอนาคามีผลหรือพระอรหันต์เท่านั้น)

    ส่วนรายละเอียด ผมจะขอผ่านไป เพราะรู้แล้วไม่เกิดประโยชน์ บุคคลส่วนใหญ่อ่านแล้วมีผลทางลบมากกว่าทางบวก อ่านแล้วเดี๋ยวไฟลุกเผาใจตนเอง คือ สอบตกเพราะขาดเมตตาเบียดเบียนจิตตนเอง จุดไฟเผาตนเอง จิตกลับมาโง่ใหม่ เพราะนิวรณ์ข้อ ๑-๒ เกิด ทำปัญญาให้ถอยหลังทุกครั้ง ปิดกั้นมรรคผลนิพพานของตนเอง ทิ้งอริยทรัพย์ ซึ่งเพิ่งสัมผัสได้เมื่อตอนกลางวันเสีย กลับมาเก็บโลกียะทรัพย์แทน ผมขออธิบายไว้สั้น ๆเพียงแค่นี้

    ผมขอวิจารณ์ธรรมจุดนี้ไว้ดังนี้

    ๑. ให้ใช้หลักของพระพุทธองค์ที่ทรงตรัสสอนพระไว้ ๔ ข้อ เป็นตัวพิจารณา ดังนี้

    ก) โลกไม่เที่ยง ทั้งโลกภายนอกและโลกภายใน คือ ร่างกายหรือขันธโลก (ขันธ์ ๕)

    ข) ไม่มีใครเอาสมบัติของโลกไปได้

    ค) ไม่มีใครเป็นใหญ่ได้ในโลก เพราะมีความตายเป็นที่สุด

    ง) โลกพร่องอยู่เป็นนิจ เพราะตกเป็นทาสของตัณหา (ความทะยานอยาก)

    ๒. วัตถุธาตุใด ๆ ในโลกไม่เที่ยง ทรงตรัสสอนไว้มีความสำคัญที่ต้องจำติดใจเสมอไว้ดังนี้ สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นไม่ควรยึดถือ ว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ขอทุกท่านถ้าหากจะเอาดีในการปฏิบัติธรรม เพื่อนำไปสู่ความพ้นทุกข์ จงจำพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์จุดนี้ไว้ตลอดชีวิต

    ๓. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในโลกนี้ เช่น แก้วจักรพรรดิ , พระบรมสารีริกธาตุ , พระธาตุ , พระเครื่องต่าง ๆ เป็นต้น ล้วนยังเป็นวัตถุประจำโลกทั้งสิ้น ไม่มีใครสามารถจะเอาติดตัวไปได้ เมื่อร่างกายหรือขันธ์ ๕ พังไปแล้ว จริงอยู่ หากร่างกายตายไปตอนนั้น จิตที่อาศัยกายอยู่จะไม่ตกนรก แต่ก็เป็นได้เทวดารักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ไว้เท่านั้น ไม่สามารถจะไปถึงพระนิพพานได้ อ่านแล้วกรุณาใช้ปัญญาพิจารณาด้วย เพราะแดนพระนิพพานนั้น หากจิตเกาะติดอะไรแม้แต่นิดเดียวก็ไปไม่ถึง การที่จิตยังเกาะติดวัตถุ ซึ่งจัดว่าเป็นของหยาบอยู่ แล้วจะไปพระนิพพานได้อย่างไร ยังจัดว่าล้วนเป็นโลกีย์ทรัพย์ทั้งสิ้น

    ๔. สิ่งที่เราควรยึดถือ แล้วนำไปปฏิบัติให้เกิด มรรค ผล นิพพาน ก็คือพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ ซึ่งไม่ใช่วัตถุและเที่ยงเสมอ จึงยึดถือได้ เป็นสมบัติที่คุณค่าสูงที่สุดในโลกนี้ จัดเป็นอริยทรัพย์ที่ทุกคนจะต้องสนใจ และยึดถือเพื่อนำไปปฏิบัติให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์ได้ตามลำดับจนถึงพระนิพพาน ทุกสิ่งจึงอยู่ที่วิริยะหรือความเพียรของตัวเราเอง ใครเพียรมากพักน้อยก็ถึงเร็ว ใครเพียรน้อยพักมากก็ถึงช้า

    เรื่องทรัพย์ภายนอกกับทรัพย์ภายใน

    ก่อนที่สมเด็จองค์ปฐมจะทรงพระเมตตามาสอนเรื่องนี้ให้หลวงพ่อฤๅษีท่านมาสอนว่า เอ็งอย่าไปห่วงสมบัตินอกกายเลย ห่วงสมบัติในกายคือจิตของเอ็งดีกว่า ทรัพย์สมบัตินอกกายมันเคลื่อนไปเป็นปกติ ไม่มีอะไรมันจะจีรังยั่งยืนได้หรอก รักษาสมบัติภายในคืออริยทรัพย์เอาไว้ดีกว่า ทรัพย์นี้ถ้ารักษาได้จนมั่นคงแล้ว มันไม่เคลื่อนไปไหน มีความจีรังยั่งยืนตลอดกาล ตลอดสมัย

    จากนั้น สมเด็กองค์ปฐมทรงตรัสสอนเรื่องทรัพย์ภายนอกกับทรัพย์ภายในต่อ มีความสำคัญดังนี้

    ๑. เพียงเจ้ากระทบเรื่องราวทรัพย์ภายนอกเคลื่อนไป ยังทำความหวั่นไหวให้ทรัพย์ภายในเคลื่อนไปอีกด้วย จดจำอารมณ์สงบระงับกาย-วาจา-ใจ เมื่อตอนกลางวันเอาไว้ให้ดี ๆ พยายามเข้าถึงอารมณ์นี้ไว้ให้มาก ๆ (ก็รู้สึกเสียดายอารมณ์นั้น)

    ๒. อย่ามีจิตเสียดาย เพราะเป็นเพียงอารมณ์ตัวอย่างเท่านั้น ที่ให้เจ้าได้รับทราบอารมณ์แท้จริงของพระอนาคามีผล และให้เห็นตัวอย่างของปฏิปักษ์อารมณ์ที่มาตัดตอนอารมณ์สุขสงบระงับนั้นด้วย กิเลสมันเข้าได้ทางทวารทั้ง ๖ ตัวอย่างเย็นนี้คือเสียงที่กระทบหู จิตไม่รู้เท่าทัน ก็ไหวไปในอารมณ์ปฏิฆะ เป็นตัวลบล้างความดีที่กำลังรักษาอยู่ให้เคลื่อนไป นี่ด้วยเหตุที่ไม่สำรวมอายตนะ

    ๓. หมั่นพิจารณาถึงกฎธรรมดาให้มากๆ เห็นทุกข์ เห็นโทษของอารมณ์กระทบ ค่อย ๆ คิดพิจารณาให้ละเอียด จนกระทั่งจิตยอมรับทุกข์และโทษนั้น จิตจักยอมรับและปล่อยวางอารมณ์กระทบนั้นลงได้ในที่สุด

    ๔. ความสงบระงับจักเกิดขึ้นได้อย่างถาวร อันเกิดจากอายตนะสัมผัสนั้น ๆ

    ๕. พิจารณาให้ดี ๆ ทบทวนธรรมที่กระทบนั้นไป ๆ มา ๆ แยกทุกข์ แยกโทษให้กระจ่าง เป็นการใคร่ครวญในธรรมอันเป็นที่ควรละเสียจากจิต หาสาระธรรมให้พบว่าควรยึดหรือควรละ เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เลือกเอานำมาเก็บเป็นอริยทรัพย์ได้หรือไม่ได้ ควบคุมอารมณ์จิตเอาไว้ให้ดี ๆ ธรรมกระทบยังมีให้พวกเจ้าได้ศึกษาอีกมากมาย

    พล.ต.ท.นพ.สมศักดิ์ สืบสงวน ผู้รวบรวม
     
  2. ยศวดี

    ยศวดี ยายแก่แล้ว*_*

    วันที่สมัครสมาชิก:
    12 เมษายน 2010
    โพสต์:
    4,255
    กระทู้เรื่องเด่น:
    11
    ค่าพลัง:
    +5,796
สถานะของกระทู้:
กระทู้ถูกปิด ไม่สามารถโพสต์ตอบกลับได้

แชร์หน้านี้

Loading...